มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มิถุนายน 2547
เดวิด โบห์ม ศาสตราจารย์ฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้ที่อธิบายเรื่องควันตัมฟิสิกส์ให้ไอน์สไตน์เข้าใจได้ เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “ถ้าหากเราต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคลที่ฉาบฉวย หรือความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนั้น มิอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างจริงจังได้ หากจะต้องเปลี่ยนจิตสำนึกเลยทีเดียว”
ทุกวันนี้การจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มักจะรอ วีรบุรุษหรือวีรสตรี มาเปลี่ยนให้ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ ฉาบฉวย เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจกเท่านั้น แต่เมื่อใดที่เราหมดศรัทธาในตัวท่านเหล่านั้น ทุกอย่างก็จะกลับมาสู่จุดเดิมอีกครั้ง และรอ วีรบุรุษหรือวีรสตรี คนใหม่มาเปลี่ยนให้อยู่เช่นนั้นเอง
วีรบุรุษ หรือ ฮีโร่ (Hero) เป็นคำที่เรามักจะนึกถึงบุคคลที่ ดีและเก่ง สามารถก่อการใดการหนึ่งแทนคนอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ ดี บุคคลผู้นี้เป็นคนที่มีความสามารถเหนือคนอื่น และเป็นผู้ที่เติมเต็มในสิ่งที่สังคมขาดหายไป ในเหตุวิกฤตใด ๆ เรามักจะรีรอให้มีวีรบุรุษเข้ามากู้สถานการณ์ และบางครั้งเหตุการณ์ก็สร้างวีรบุรุษขึ้นมา ซึ่งเราจะเห็นได้จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับวีรบุรุษมากมายนับไม่ถ้วนบนโลกนี้ แม้ว่าอาจจะมีทั้งวีรบุรุษแท้และวีรบุรุษเทียมก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นไร เราเองก็รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องเล่าเหล่านั้น และไม่มีความจำเป็นต้องทำลายความภาคภูมิใจของใคร ถึงกระนั้นก็ตาม เราน่าจะมีการพูดคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น เพราะถ้าตีประเด็นนี้ได้แตก ย่อมจะทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังและถาวร
สองประเด็นหลัก ๆ ที่น่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก็คือ ทัศนะของสังคมที่มีต่อคำว่าวีรบุรุษ และบทบาทของวีรบุรุษในอุดมคติ ในประเด็นแรกนั้น หากเรามองอย่างเมตตา วีรบุรุษในสังคมไทยนั้นเป็นบุคคลที่น่าสงสารมาโดยตลอดตามประวัติศาสตร์ เพราะได้รับการคาดหวังจากสังคมอย่างสมบูรณ์แบบ เรายังไม่ยอมรับความจริงที่ว่า คนคนหนึ่งมีได้ทั้งจุดเด่นและจุดด้อย ดังนั้นวีรบุรุษย่อมมีจุดด้อยได้เช่นกัน แต่เราให้คุณค่ากับคำว่า ดีและเก่ง มากเกินไปจนลืมเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เมื่อเราเห็นความผิดพลาดของวีรบุรุษ เราก็พยายามที่จะลืมมันและลบเลือนออกจากบันทึกประวัติศาสตร์ หรือไม่เราก็จะผิดหวังอย่างมากและมองหาวีรบุรุษคนใหม่อยู่ร่ำไป อันที่จริงเราน่าจะพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และเรียนรู้เพิ่มเติมได้ว่า คนทุกคนสามารถเป็นวีรบุรุษได้ทั้งสิ้น อาจจะเป็นวีรบุรุษเฉพาะด้านก็ได้ นอกจากนั้น เราควรเพิ่มจำนวนวีรบุรุษในสังคมไทยให้มากขึ้นด้วย
ประเด็นที่สองที่ตามมาก็คือ บทบาทของวีรบุรุษในอุดมคติ หรือ อาการติดดีของวีรบุรุษ ครั้งหนึ่งเราเคยฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับวีรบุรุษฉบับไม่มีที่ติ ทำให้เราอยากจะเป็นวีรบุรุษกับเขาบ้าง จึงตั้งเป็น ต้นแบบ หรือ Role Model ส่วนตัว ที่จะดำเนินรอยตาม แต่กลับหลงลืมข้อธรรมะไปข้อหนึ่งว่า การประจักษ์แจ้งนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตน ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวเสมอว่า “การประจักษ์แจ้งไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์หรือระบบความคิด แต่เป็นเรื่องประสบการณ์ตรง และเป็นเรื่องเฉพาะตน” นอกจากนั้น เรื่องเล่าเกี่ยวกับฮีโร่เหล่านั้นยังไม่สมบูรณ์อย่างแท้จริง เพราะวีรบุรุษอาจจะไม่ได้ดีและเก่งทุกเรื่อง ซึ่งไม่ต่างจากคนทั่วไปที่มีความผิดพลาดได้ บางทีเราอาจจะเผลอเจริญรอยตามบนอุดมคติ “สมบูรณ์แบบ” และมีค่านิยมในเรื่องความดีความเก่งมากจนเกินไป วันหนึ่งที่ได้ก้าวไปเป็นวีรบุรุษในเหตุการณ์ใดก็ตาม จึงไม่ยอมปล่อยวาง กลับกลายเป็นว่า เราเท่านั้นที่แก้ปัญหาได้ และเกิดอาการติดดี ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ยอมรับจุดด้อยหรือความผิดพลาดของตนเอง ไม่อยากได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งไม่ยอมรับจุดด้อยของคนอื่น เหตุนี้เองที่จะทำให้เกิดความแตกแยก อยู่ด้วยกันอย่างหวาดระแวง โดยเฉพาะคนที่โดนตีตราว่า ไม่เก่ง ก็ไม่มีพื้นที่จะยืน หากปัจเจกในสังคมไทยยังเจ็บป่วยเพราะตีประเด็นเรื่องวีรบุรุษไม่แตกฉันใด นับวันสังคมไทยก็คงจะยิ่งเจ็บป่วยมากขึ้นเท่านั้น
อาการเหล่านี้ขัดกับหลักธรรมชาติโดยสิ้นเชิง หรือแม้กระทั่งในทางวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ไม่รังเกียจต่อ ความผิดพลาด (Error) ที่เกิดขึ้น แต่ถือว่าความผิดพลาดนั้นเป็นครู ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้เราเข้าใจและสามารถควบคุมหรือลดทอนให้น้อยลงไปได้ในที่สุด หากตั้งสมมติฐานแล้วผลการทดลองเป็นไปตามนั้น เราคงไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ แต่ถ้าเราสามารถหักล้างสมมติฐานของเราได้ เราย่อมจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แน่นอน ท่านติช นัท ฮันห์ เคยกล่าวต่อลูกศิษย์ในเช้าวันหนึ่งว่า “ถ้าฉันพูดอะไรขึ้นมาซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในใจเธอ เธอก็จะพยักหน้าเห็นด้วย แต่ถ้าฉันพูดอะไรที่ไม่เคยอยู่ในใจเธอมาก่อน เธอก็จะนิ่งเงียบและไม่เห็นด้วย ทั้งสองประการ เธอไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่เลย” ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง มองอย่างเมตตา ไม่มีอคติต่อถูกหรือผิด ดีหรือเลว เก่งหรือไม่เก่ง เราคงจะเรียนรู้อะไรได้อีกมากมาย
ศาสตราจารย์ ประเวศ วะสี ท่านมักจะบอกกับบรรดาครูอาจารย์อยู่เสมอว่า “เราต้องให้พื้นที่กับคนทุกคน” ทั้งคนเก่งและคนไม่เก่ง ดีและไม่ดี ฮีโร่และไม่ฮีโร่ เพราะล้วนแล้วแต่อยู่ร่วมกันเป็นสังคม หากมัวแต่รอคนดีคนเก่งที่สมบูรณ์แบบมาเปลี่ยนแปลงสังคม ก็คงไม่ไปไหน เพราะไม่รู้จะเอาไม้บรรทัดที่ไหนมาวัดเสกลเหล่านี้ได้ชัดเจน หรือไม่ก็น่าจะมองว่าทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้เช่นกัน เป็นคนเก่งในเรื่องที่เขาถนัด ถ้าต่างฝ่ายต่างช่วยกันในเรื่องที่ตนถนัดแล้ว ย่อมจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ทันที คงทนและถาวร
สุดท้ายความเป็นวีรบุรุษอยู่ในตัวคนทุกคน เราควรช่วยกันเปลี่ยนฮีโร่แบบอีโก้ มาเป็นฮีโร่ภายใต้จิตสำนึกใหม่ ด้วยการมองธรรมชาติของการอิงอาศัยกัน ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ปลดเปลื้องพันธนาการของวีรบุรุษในรูปแบบเดิม ๆ ดังคำของกฤษณมูรติที่กล่าวว่า “บุคคลต้องเดินทางโดยปลดแอกออกจากบ่า เดินอย่างสง่า ไม่รีบร้อน ไม่แวะตามศาลเจ้าหรือตามอาศรมใด ๆ ไม่ติดคุยกับดาวสังคม หรือวีรบุรุษคนใด แต่เดินไปตามลำพัง อย่างสง่างาม และด้วยความเมตตา”
โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2547
มนุษย์ในทุกวัฒนธรรมมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจและอธิบายการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง ทฤษฎีต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกและจักรวาลจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้อธิบายว่าสรรพสิ่งมีความเป็นมาอย่างไร ดำรงความเป็นอยู่ด้วยกฎเกณฑ์อะไร และจะมีความเป็นไปอย่างไรในอนาคต สังคมต่างวัฒนธรรมมักมีวิธีคิดที่ใช้อธิบายจักรวาล (หรือที่เรียกว่า จักรวาลวิทยา) แตกต่างกัน
บางวัฒนธรรมถือว่าโลกและจักรภพมีกำเนิดมาจากพระผู้สร้าง
ซึ่งอาจเรียกขานต่าง ๆ กันไปในนามของ พระเจ้า พระพรหม หรือ พญาแถน
ในขณะที่บางวัฒนธรรมความคิดอธิบายว่าโลกและจักรภพนั้นเกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่ที่เรียกกันว่า บิ๊กแบง (Big Bang)
ทฤษฎีเกี่ยวกับจักรวาลหรือจักรวาลวิทยาที่แตกต่างกันเหล่านี้ อธิบายกฎเกณฑ์การดำรงอยู่ของโลกและจักรวาลไม่เหมือนกัน บ้างถือว่าสรรพสิ่งเป็นไปตามเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้า บ้างว่าสรรพสิ่งเป็นไปตามกรรม บ้างก็ว่าผีหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้กำหนดให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปอย่างที่มันเป็น
ทัศนะเกี่ยวกับจักรวาลนี้ หากดูเผิน ๆ อาจเห็นเป็นเรื่องไกลตัวหรือไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน แต่แท้ที่จริงแล้ว คำอธิบายชุดใหญ่เกี่ยวกับจักรวาลนี้เป็นกรอบอ้างอิงสำหรับสร้างคำอธิบายชุดเล็ก ๆ ที่ใช้ทำความเข้าใจโลกในชีวิตประจำวัน เช่น จักรวาลทัศน์ตามคติพื้นบ้านอีสานนั้นถือว่าสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ป่าเขา หรือลำธารล้วนมีผีหรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์ดูแลรักษา ชาวบ้านอีสานจึงมีความเคารพยำเกรงต่อธรรมชาติ จะเข้าป่าหาสมุนไพร หรือล่าสัตว์ ตัดไม้ ก็ต้องขออนุญาตจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า ต้องนอบน้อมขอเอาจากท่านก่อน
ไม่ใช่นึกจะฆ่า จะฟัน จะตัด จะโค่น ก็เอากันเลย อย่างนี้ ไม่ได้
หรืออย่างในยุโรป คติพื้นบ้านดั้งเดิมนั้นถือว่าสรรพสิ่งมีเทพคุ้มครอง โลกคือพระแม่ธรณีที่อุ้มชูหล่อเลี้ยงมนุษย์ แร่ธาตุ โลหะ หรืออัญมณีเป็นสิ่งมีค่าที่เกิดขึ้นและถูกบ่มจนสุกอยู่ในมดลูกของพระแม่ธรณี ผู้ที่จะเข้าไปขุดแร่ในเหมืองจึงต้องถือศีลและประพฤติพรหมจรรย์ให้ร่างกายและจิตใจบริสุทธิ์ไร้มลทินเป็นเวลาสามวันห้าวัน ก่อนที่จะรุกล้ำเข้าไปในมดลูกของพระแม่เพื่อขุดแต่งเอาสินแร่เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์
ในจักรวาลทัศน์พื้นบ้าน การทำลายล้างธรรมชาติขนานใหญ่ หรือแม้แต่การละเมิดธรรมชาติในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมจรรยา
เพราะจักรวาลและสรรพสิ่งถูกรับรู้และเข้าใจในฐานะของสิ่งมีชีวิต
คนไทยสมัยก่อนจึงเคารพนบนอบต่อข้าว ซึ่งไม่ใช่มีแค่คาร์โบไฮเดรต แต่มีพระแม่โพสพดูแลรักษาอยู่ เราจึงไม่เดินเหยียบและไม่ก้าวข้ามข้าวสารหรือข้าวเปลือกที่หกหรือตกหล่นอยู่ตามพื้น แต่เดินอ้อม และไม่ใช้ไม้กวาดขยะมาปัดกวาด แต่ใช้มือของเรากอบเอาจากพื้น
เป็นการแสดงความเคารพอ่อนน้อมต่อพระแม่โพสพที่หล่อเลี้ยงโอบอุ้มชีวิตเรามา
ทัศนะต่อจักรวาล (หรือจักรวาลทัศน์) จึงกำหนดท่าทีของมนุษย์ต่อชีวิตและธรรมชาติ
ในสังคมสมัยใหม่ วัฒนธรรมความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ได้นำเสนอจักวาลวิทยาอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากคติพื้นบ้านอย่างสิ้นเชิง สำหรับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้น จักรวาลเป็นเพียงจักรกลที่เคลื่อนไหวไปตามกฎแห่งสสารและพลังงาน
จักรวาลในทัศนะเช่นนี้จึงไม่มีที่ทางสำหรับความศักดิ์สิทธิ์หรือจิตวิญญาณ เพราะทุกสิ่งถูกลดทอนลงมาอธิบายด้วยคุณสมบัติทางเคมีและฟิสิกส์ของสสาร
จักรวาลจึงไม่ได้เป็นอย่างคติพื้นบ้านที่ว่า มีเขาพระสุเมรุ เขาไกรลาส และป่าหิมพานต์ จากสวรรค์ลดหลั่นลงมาเป็นโลกมนุษย์และนรกภูมิ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ถูกกำกับไว้ด้วยกฎเกณฑ์ของการเวียนว่ายตายเกิดและกรรมดี กรรมชั่ว ที่ลิขิตชะตาชีวิตของผู้คน จักรวาลในทัศนะสมัยใหม่นั้นไม่มีเมขลาที่ร่ายรำกับดวงแก้วจนเกิดเป็นแสงระยิบระยับของฟ้าแลบ หรือรามสูรที่ขว้างขวานไปปะทะโคนเขาไกรลาสจนเกิดฟ้าร้องดังลั่นสนั่นหวั่นไหวไปทั้งไตรภพ
หากแต่ฟ้าแลบและฟ้าร้อง เกิดขึ้นตามคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของน้ำที่ระเหยกลายเป็นไอ และจับตัวกันเป็นก้อนเมฆเมื่อไอน้ำลอยขึ้นไปกระทบกับความเย็นในชั้นบรรยากาศ เมื่อก้อนเมฆเสียดสีกับอณูของอากาศ ก็เกิดประจุไฟฟ้า ฟ้าผ่าจึงเกิดจากการที่ประจุไฟฟ้าวิ่งแหวกอณูของอากาศจนเกิดเป็นประกายแสงและเสียงที่ดังสนั่นหวั่นไหว ส่วนสาเหตุที่เราเห็นฟ้าแลบก่อนได้ยินเสียงฟ้าร้องก็เพราะแสงเดินทางได้เร็วกว่าเสียงในตัวกลางที่เป็นอากาศ
จักรวาลทัศน์เช่นนี้ไม่มีเทพเทวดาให้ต้องบูชากราบไหว้
ไม่มีนรกสวรรค์ และที่สำคัญไม่มีกรรมดีกรรมชั่ว ที่จะตัดสินให้มนุษย์ต้องตกไปอยู่เพื่อชดใช้ผลกรรมที่ได้ทำมาในภพภูมิต่าง ๆ
มีแต่สสารและพลังงานที่มนุษย์สามารถควบคุมได้ เพราะมนุษย์สามารถรู้ถึงกฎเกณฑ์ที่กำกับความเป็นไปของสสารและพลังงานเหล่านี้
ในจักรวาลทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีความผิดถูก ชั่วดี และสรรพสิ่งถูกลดทอนให้เป็นเพียงวัตถุธรรมนี้ ธรรมชาติและชีวิตถูกทำให้หมดความศักดิ์สิทธิ์ ทุกอย่างจึงเป็นเพียงวัตถุที่เคลื่อนไหวไปตามกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์เคมีอย่างเครื่องยนต์กลไก
และชีวิตก็ไม่มีมิติของความดี ความงาม หรือความเป็นมนุษย์
เพราะสิ่งเหล่านี้หากจะมีอยู่ ก็เป็นเพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีในโครงสร้างสมองของมนุษย์เท่านั้น
ธรรมชาติที่เคยถือกันว่ายิ่งใหญ่จึงหมดสิ้นความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเอาเข้าจริง ๆ ก็เป็นแค่ปรากฏการณ์ที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ไม่กี่ข้อ ที่สำคัญ กฎเกณฑ์เหล่านี้ มนุษย์สมัยใหม่รู้ได้ เข้าใจได้ และยังสามารถใช้จัดการกับสรรพสิ่งได้ตามใจมนุษย์อีกด้วย
มนุษย์สมัยใหม่ในวัฒนธรรมความคิดเช่นนี้ จึงมีความอหังการ มมังการ
และสิ่งที่เหือดหายไปจากจักรวาลทัศน์แบบวัตถุนิยมกลไกนี้ ก็คือ
ความอ่อนโยนต่อชีวิตและความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2547
สำหรับคนทั่วไป คนส่วนใหญ่ หรือคนในกระแสหลัก ที่ติดอยู่ในความกลัว ตกอยู่ในร่องอารมณ์และเทปม้วนเก่าเสียเป็นส่วนใหญ่ การแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เรื่องแรกที่สำคัญก็คือการเข้าสู่สัมผัสแรกในมณฑลแห่งพลังซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน
บางคนจะเข้ามาผ่านการปฏิบัติ เราอาจจะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีกิจกรรมการสัมผัส อย่างเป็นสัมผัสแรกที่จะแปรเปลี่ยนการรับรู้ เพราะเมื่อเปลี่ยนการรับรู้ได้ก็จะเปลี่ยนความคิดและอารมณ์ความรู้สึกได้เช่นกัน
บางคนอาจเข้ามาทางความคิดและทฤษฎีก่อน เพราะชอบคิดใคร่ครวญ และได้เรียนรู้ว่า เราอาจมองและตีความโลกได้หลายอย่าง ไม่จำต้องติดอยู่ในกรอบๆ เดียวที่คุ้นเคย ซึ่งจะทำให้เขาหรือเธอเริ่มรู้สึกฉงนฉงายและเปิดเผยตัวตนออกมา
ในวงสุนทรียสนทนา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน การก่อประกอบโลก และความเข้าใจโลก ด้วยถ้อยคำ เรื่องเล่า และอุปไมยอุปมาจะเกิดขึ้น เมื่อทุกคนเข้าใจกติกา และเริ่มเห็นประโยชน์ในการตั้งวงสนทนาเช่นนี้ การฟังของเขาหรือเธอจะเปลี่ยนคุณภาพไป เมื่อการฟังเปลี่ยนคุณภาพ วิธีคิดและมุมมองต่อโลกก็จะเปลี่ยนไปด้วย เพราะการฟังที่มีคุณภาพ ได้เปิดโอกาสให้ถ้อยคำของผู้อื่นหรือแม้แต่ของตัวเองที่พูดออกไป เข้ามาเปลี่ยนแปลงการมองโลกของตัวเรา
เมื่อผ่านพิธีอภิเษก (คำนี้เป็นคำเดียวกับราชาศัพท์ที่หมายถึงการแต่งงาน แต่ในมหายาน จะใช้กับการเริ่มต้นหรือสัมผัสแรกที่จะเข้าสู่กระแสธรรม) โลกก็จะเปลี่ยนไป ทุกอย่างทุกประสบการณ์ล้วนก่อให้เกิดความแตกต่างทั้งสิ้น ที่สำคัญก็คือ คุณภาพใหม่ที่นำไปสู่ความไร้ขอบเขตจำกัดในทางปริมาณ กล่าวคือ คุณภาพใหม่จะแตกออกดังเช่นระเบิดปรมาณู ส่งผลให้เกิดการปะทุแห่งความคิดใหม่ มุมมองใหม่อยู่ตลอดเวลา
เส้นแบ่งระหว่างคนเริ่มต้นใหม่กับคนเก่ามลายหายสูญไปสิ้น
บางคนอาจจะมีแนวโน้มในทางพุทธิปัญญามากกว่าบางคน และบางคนอาจจะออกไปทางงานศิลปะและการปฏิบัติมากกว่า นั้นเป็นแนวโน้มของแต่ละคน แต่ในคุณภาพลึกๆ แล้ว ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าใครแต่อย่างใด
ถ้าคนๆ นั้นเป็นคนที่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิด เช่นได้ทำงานด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือการหย่อนตัวกวนเข้าไปแทรกแซงในสารบบชีวิตของเขาหรือเธอ
แบบฝึกหัดหลายอย่าง ที่คุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ เขียนไว้ในหนังสือ หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่ จะช่วยให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโยคะ ชี่กง ไท้เก๊ก การปฏิบัติธรรม การเจริญสติในชีวิตประจำวัน การมองอย่างลึกซึ้ง การฟังอย่างลึกซึ้ง เมื่อได้ผ่านแบบฝึกหัดเล่านี้มาบ้างแล้ว คนๆ นั้นก็พร้อมสำหรับตัวกวนที่เราจะหย่อนลงไป
ตัวกวนที่ว่านี้ มีความคล้ายคลึงกับโกอานของเซน แต่อาจจะเป็นโกอานที่ปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับยุคสมัยแล้ว โดยมุ่งไปกระทำกับเทปม้วนเก่า หรือบางตอนของเทปม้วนเก่า เพราะเมื่อเทปม้วนเก่านั้นสั่นคลอน โอกาสที่องคาพยพทั้งหมดจะสั่นคลอนย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน
อย่างเช่น แต่ละคนมักจะมีความคิดเกี่ยวกับตัวเองและโลกรอบๆ ตัวบางอย่างบางประการ ดังนั้น เราก็อาจจะแหย่ว่า “คุณไม่ได้เป็นเพียงเท่าที่คุณคิดเกี่ยวกับตัวเองหรอกนะ” คือคุณเป็นมากกว่า หรืออาจจะเป็นในทางตรงกันข้ามเลยก็ได้ การที่คุณบอกว่าตัวเองเป็นอย่างไร ก็คือการจำกัดความเป็นไปได้ของตัวเอง ถ้าคุณลองพูดใหม่ว่าคุณเป็นคนอย่างไร อย่างตรงกันข้ามกับที่เคยพูดกับตัวเอง ก็จะพบว่า คุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างที่เคยคิดเกี่ยวกับตัวเองแต่อย่างใด!
อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ผมใช้บ่อยก็คือ “ไม่ว่าคุณจะมีประสบการณ์อย่างไร ชีวิตของคุณไม่จำเป็นต้องถูกกำหนดหรือขึ้นต่อตัวประสบการณ์นั้น สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับว่า คุณจะให้ความหมายแก่ประสบการณ์นั้นอย่างไรต่างหาก”
และผมก็ให้ตัวอย่าง ของการเป็นเด็กกำพร้าแบบของผม ที่แตกต่างจากแบบของคนบางคน และความแตกต่างนี้ ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของเขาหรือเธอนั้นเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวประสบการณ์
ข้อสำคัญในการใส่ “ตัวกวน” อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คือการรับรู้ความเป็นไปของคนๆ นั้นอย่างลึกซึ้ง และควานหาที่คันให้พบ ที่คันก็คือชนวนที่จะนำไปสู่การจุดระเบิด อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คนที่จะนำทาง ต้องฝึกฝนสุขุมรสหรือสัมผัสอันลุ่มลึกที่จะเข้าถึงอารมณ์ ความคิด ความปรารถนาของผู้คน จึงจะเกาถูกที่คันได้ และแบบอย่างของคนที่ทำเรื่องนี้ได้ดีคนหนึ่งก็คือพระพุทธเจ้านั้นเอง โดยท่านจะมีวิธีสอนธรรมให้คนแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย!
โดย เดวิด สปินเลน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2547
ในแต่ละวัน มีคำที่เราได้ใช้ ได้อ่าน หรือได้ยินได้ฟังมากมาย และเราต่างก็ยอมรับโดยปราศจากข้อสงสัยหรือปฏิกิริยาใดๆ เพราะนึกเอาว่าเราเข้าใจความหมายของคำเหล่านั้นแล้ว คนส่วนใหญ่ก็คงเข้าใจเช่นเดียวกัน แต่ถ้าลองถามใครถึงความหมายของคำนั้นๆ ก็จะถูกมองเหมือนคนโง่เขลา ไร้การศึกษา หรือมาจากป่าจากดอยไปทันที และหลายครั้งมักได้คำตอบว่า “ใครๆ ก็รู้ว่าหมายถึงอะไร” แต่เราเคยพิจารณาให้ลึกไปกว่านั้นบ้างไหม เคยตั้งคำถามถึงความหมายสมมติที่ซ่อนอยู่ในคำเหล่านั้นบ้างหรือไม่
บางทีตัวอย่างง่ายๆ ต่อไปนี้อาจช่วยให้เราเข้าใจกระจ่างขึ้น เพราะล้วนเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยครั้งจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ หรือนักการเมือง คำเหล่านี้ถูกจัดว่าเป็นคำสำคัญ จึงมักจะพบเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ภาคเช้า หรือในข่าวภาคค่ำเสมอๆ ยกตัวอย่างเช่น
“ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” หรือ จีดีพี (Gross Domestic Product) ซึ่งมีความหมายอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือ มูลค่ารวมของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศในระยะเวลา ๑ ปี เราถูกบอกมาโดยตลอดว่า ความสำคัญของสิ่งนี้อยู่ที่การเพิ่มขึ้นของตัวเลข ยิ่งสูงมากยิ่งดี แต่เราเคยพิจารณาถึงความหมายที่แฝงอยู่ในคำๆ นี้บ้างหรือไม่ เช่น หากเราคำนวณหามูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์จากโรงงานยาสูบ อันเป็นสินค้าที่รู้กันดีว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ และในแต่ละปีต้องสิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนับพันๆ ราย ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันต่างมุ่งค้ากำไรจากการรักษาผู้ป่วยโรคปอด มะเร็ง และโรคอื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ตัวเลขที่ได้จะถูกคิดเป็นส่วนหนึ่งของค่าจีดีพี ไม่เพียงเท่านั้น การเจ็บไข้ได้ป่วยหรือปัญหาสุขภาพที่สามารถป้องกันได้ ก็ถูกคิดรวมอยู่ในค่าจีดีพีด้วยเช่นกัน หากปีนี้ค่าจีดีพีสูงกว่าปีที่ผ่านมา นั่นแสดงว่าเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ลองคิดดู จะว่าไปแล้ว คำว่า “มวลรวม” (Gross) สามารถหมายถึง ความมากเกินไป อาการบวมพอง หรือพะอืดพะอม ก็ได้
“การพัฒนา” (Development) เป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอเมริกา แต่การพัฒนาส่วนใหญ่มักไม่สมดุลกับธรรมชาติและความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ แน่ละ เราต่างต้องการไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง และการรักษาพยาบาลที่ดี แต่เราต้องการอยู่ท่ามกลางป่าคอนกรีตที่ไร้พื้นที่สีเขียว เต็มไปด้วยควันพิษ รถติด ๒๐ ชม.ต่อวัน ผู้คนตกอยู่ในภาวะตึงเครียด ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกล้นทะลักไปด้วยผู้ป่วยโรคเครียดอย่างนั้นหรือ คนส่วนมากถูกโฆษณาล้างสมอง ถูกความโลภครอบงำ จนไม่ใส่ใจกระทั่งพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
หลายปีก่อน ข้าพเจ้ามีโอกาสสนทนากับท่านทูตคนหนึ่งซึ่งมาจากประเทศที่ยากจนมาก ท่านได้พูดประโยคหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยลืมว่า ความฝันแบบอเมริกัน (American Dream) กำลังทำให้โลกตกอยู่ในฝันร้าย หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ หากผู้คนทั่วโลกหันมาใช้ชีวิตแบบอเมริกันชน ใช้ข้าวของเกินจำเป็น ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการอย่างฟุ่มเฟือย อีกไม่นานโลกคงต้องถึงกาลหายนะ
“ความสำเร็จ” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่พ่อแม่มักใช้พูดกับลูกตั้งแต่ยังเล็ก พ่อกับแม่อยากเห็นลูกประสบความสำเร็จนะ คนนั้นช่างประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเสียจริง แต่งตัวสวยๆ เรียนมหาวิทยาลัยดีๆ แล้วรับประกันว่าลูกจะประสบความสำเร็จในอนาคต ครั้นถามว่า เรานิยามความสำเร็จกันอย่างไร หลายคนมักโยงไปหายศฐาบรรดาศักดิ์ ความมั่งคั่ง อำนาจ ทรัพย์สมบัติ หรือรางวัลต่างๆ ที่จะประกาศศักดิ์ศรี แต่ตรงกันข้าม ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่หลายประการบนโลกใบนี้ กลับเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง ความเสื่อมทราม ไร้ศีลธรรม ขาดจรรยา และเลวร้ายลงทุกขณะ
ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีบุคคลเพียงสองท่านที่ข้าพเจ้าชื่นชมศรัทธาที่สุด คือพระพุทธเจ้า และพระเยซูเจ้า เราเคยฉุกคิดสักนิดไหม ว่าหากใช้บรรทัดฐานหรือเกณฑ์ในปัจจุบันดังที่กล่าวถึงข้างต้นมาวัดมาตรฐานชีวิตของท่านทั้งสอง จะพบว่าไม่มีท่านใดประสบความสำเร็จในชีวิตเลย เพราะต่างก็ไร้ทรัพย์สินเงินทอง ไร้ยศ ไร้ตำแหน่ง ไร้เสื้อผ้าสวยงาม ไร้บ้านหลังใหญ่ ข้าพเจ้าจะไม่แปลกใจเลยว่า คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะวัยรุ่นทุกวันนี้ ดูเหมือนจะไม่ยอมรับหรือเห็นคุณค่าควรนำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติ
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราคิดว่าพระพุทธเจ้า และพระเยซูเจ้า ท่านไม่ประสบความสำเร็จหรือ ?
ยังมีคำอีกมากมาย ที่เราควรพินิจพิเคราะห์ให้ถ่องแท้ อย่างเช่น สงครามศักดิ์สิทธิ์ (Holy War) ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป