มิถุนายน 2017

ค้นหาความบรรสานของชีวิตเพื่อสุขภาพ ปัญญา และความรัก



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2560

ขอเริ่มต้นด้วยคำว่า ค่าผันแปรของชีพจร (heart rate variability) ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์สุขภาพมีวิธีตรวจวัดค่าการผันแปรชีพจรออกมา และบอกว่าหากชีพจรมีการผันแปร นับเป็นเรื่องดีกับสุขภาพ คนที่ไม่ค่อยมีการผันแปรหรือค่าผันแปรต่ำกลับกลายเป็นคนที่จะมีปัญหาสุขภาพ

ผมจะไม่ลงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวว่าคืออะไร วัดอย่างไร ถ้าสนใจให้ไปหาค้นคว้าศึกษาเอาเอง แต่ผมจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้

ค่าผันแปรชีพจรที่ดี แสดงถึง หนึ่ง สุขภาพทางกายที่ดี มีประสิทธิภาพ สอง อารมณ์ดี มีความผาสุก สาม ประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองส่วนหน้า (executive brain) อันหมายถึงเจตจำนง ความสามารถที่จะวางแผนและกระทำการตามแผนได้ สี่ การมีชีวิตที่ยืนยาว ห้า ความสามารถในการปรับตัวกับความเครียดและการฟื้นคืนจากความเครียดกลับสู่สภาพปกติได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


กับคำว่าบรรสาน

มีคำว่า coherence ผุดขึ้นมา คือธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตหรือระบบชีวิตเป็นระบบที่บรรสานกันอยู่แล้ว เมวัน โฮ นักชีวฟิสิกส์คนสำคัญของโลกผู้ล่วงลับ ได้ระบุว่า องค์ประกอบทั้งหมดของชีวิตเป็นผลึกเหลว (liquid crystalline) ที่ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงอย่างมีระเบียบสูงสุด แต่ร่างกายเรามีทั้งสภาวะที่บรรสานและไม่บรรสาน เวลาสูญเสียความบรรสาน พลังจะรั่วไหล ความไม่ลงรอยและความขัดแย้งของระบบต่างๆ ทำให้พลังงานถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการสูญเสียมากมาย

ปกติในสภาวะบรรสาน พลังงานจะถูกหมุนเวียนส่งกลับมาให้ใช้งานได้อย่างเหลือเฟือ ไม่ร่อยหรอ เป็นช่วงที่เรามีพลังงานดีที่สุด ระบบขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างดีที่สุด โดยใช้พลังน้อยที่สุด และในขณะเดียวกัน ระบบย่อยอาหารและระบบซ่อมแซมฟื้นคืนพลังก็ทำงานได้ดี

อ่านต่อ »

คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม: ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2560

สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์มาบ้าง จะเข้าใจได้ว่าจุดร่วมของกระบวนการในลักษณะนี้ คือ นำพาแต่ละคนเข้าไปสำรวจ เรียนรู้เข้าใจตนเอง ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจบกระบวนการ หลายคนพบว่าการนำกระบวนการเรียนรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันกลับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

สถานการณ์นี้นำไปสู่ประเด็นคำถามที่ว่า กระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์สามารถนำมาปฏิบัติจริงในพื้นที่ทางสังคม (ที่มีความสลับซับซ้อนกว่าช่วงเข้าร่วมกระบวนการ) ได้อย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ดำรงอยู่ได้

ผู้เขียนนำประเด็นคำถามข้างต้นไปสอบถามกับกระบวนกร/ นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และวิทยากรที่เชิญมาร่วมจัดกระบวนการในงานประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม: ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง” ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งประกอบไปด้วย คุณอลงกรณ์ วินัยกุลพงค์ และทีมกระบวนกรจากเครือข่ายพุทธิกา คุณธนัญธร เปรมใจชื่น จากสถาบัน Sevenpresents และ รศ.นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยแต่ละท่านช่วยให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องงานกระบวนการที่นำมาใช้การพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์ในมุมมองที่หลากหลายกันไป

อ่านต่อ »

สังคมภิวัฒน์



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2560

เกือบสามสิบปีที่แล้ว ธนาคารโลกให้ทุนแก่การเคหะฯ สำหรับปรับปรุงที่อยู่อาศัยรูปแบบต่างๆ เมื่อเจ้าหน้าที่การเคหะฯ เข้าไปในชุมชนบ้านครัว แจ้งว่าจะทำทางระบายน้ำ โดยอธิบายว่าเป็นการใช้เงินที่กู้มาจากธนาคารโลก จึงจะขอให้ชุมชนช่วยกันชดใช้เงินคืน ชาวบ้านคนหนึ่งจึงลุกขึ้นยืนถามเจ้าหน้าที่ว่า ทำไมรัฐจึงไปสร้างทางระบายน้ำที่สุขุมวิท ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้มีอันจะกิน โดยไม่คิดเงิน แต่ในชุมชนที่ยากจนรัฐกลับจะคิด

เรื่องเล่าด้านบนนั้นมาจากบทความกึ่งวิชาการ “ชาวบ้าน ชาวเมือง: ชุมชนแออัดกับการจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง” ของ ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ ผู้บุกเบิกงานมานุษยวิทยาในประเทศไทย โดยแสดงให้เห็นถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ซึ่งมีพื้นฐานจากวิธีคิดของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ทั้งยังแสดงให้เห็นประเด็นถกเถียง ๓ ประการ ได้แก่ (หนึ่ง) รัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการเรื่องอะไรบ้าง? (สอง) ประชาชนมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร? และ (สาม) อะไรที่รัฐกับประชาชนต้องทำร่วมกัน?

ประเด็นถกเถียงดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีผู้เสนอว่าประชาชนต้องร่วมจ่าย โดยให้เหตุผลว่า ประชาชนมีหน้าที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพตนเองไม่ให้ป่วยเช่นกัน ภาคประชาชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็แย้งว่า บริการสุขภาพเป็นหน้าที่ของรัฐ และความเจ็บป่วยมิได้เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพแต่เพียงอย่างเดียว หากยังมีปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health) ในระดับต่างๆ อีกมาก ส่งผลให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ โดยผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มประชากรชายขอบต่างๆ จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด

อ่านต่อ »

กิจกรรมพิเศษของชีวิต



โดย เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2560



สำหรับเด็กอายุไม่ถึงสิบขวบที่ต้องผ่าตัดไส้เลื่อน มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้ค้างแรมนอกบ้าน ได้นอนเตียงใหญ่ในห้องพักเดี่ยวของโรงพยาบาล ในช่วงหัวค่ำ ผมจะได้เจอกับพ่อแม่และน้องๆ ในบรรยากาศกึ่งปาร์ตี้ มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้กินช็อกโกแลตแท่งโตที่เย็นฉ่ำและหอมอร่อย ได้เกาะกระจกใสจากตึกชั้นสิบ มองลงมาและเห็นทิวทัศน์เบื้องสูงของกรุงเทพฯ

ผมรู้สึกว่าได้เห็นการแสดงความรักของคนใกล้ชิด ซึ่งแตกต่างออกไปจากวันธรรมดาอื่นๆ การป่วยจึงเป็นกิจกรรมพิเศษของชีวิต ความป่วยได้มอบสีสันใหม่ๆ ภูมิทัศน์ใหม่ๆ แนะนำผู้คนและความสัมพันธ์ใหม่ๆ มาสู่ชีวิตของเรา



เมื่อผมโตขึ้น ผมมีความสุขกับการไปโรงพยาบาลน้อยลง ผมเริ่มเรียนรู้ว่า การป่วยหนักเป็นความทรมานอย่างหนึ่ง คนป่วยต้องตื่นแต่เช้าไปโรงพยาบาล ต้องรู้วิธีหาบัตรคิว ต้องประคองใจอดทนรอคิวพบหมอ รอคิวตรวจร่างกาย รอคิวจ่ายยา

ผมได้เรียนรู้ว่า การรักษานั้นมีต้นทุนและเหน็ดเหนื่อย ได้เรียนรู้ว่าเออหนอ โรงพยาบาลของรัฐมีความจำกัดอย่างนี้เอง บุคลากรสุขภาพประเทศไทยเครียดอย่างนี้เอง

เมื่อผมป่วยหนัก ทำอะไรอื่นไม่ได้นอกจากการนอนพักอยู่ที่บ้าน หรือทำกิจกรรมเบาๆ ผมตระหนักถึงความจำเป็นของการพักผ่อนและการอยู่เฉยๆ ผมได้เรียนรู้ว่า การหยุดทำงานก็เป็นงานอย่างหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย

อ่านต่อ »

Back to Top