เมษายน 2007

เรียนรู้ชีวิต คือการสร้างจริยธรรม

โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 เมษายน 2550

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีหน้าที่ผลิตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย การเรียนการสอนของคณะแพทย์นี้ ใช้หลักปรัชญาการศึกษา Andragogy หรือ Adult leaner นั่นคือการดูแลอบรมนักศึกษาแพทย์แบบเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว โดยใช้ระบบการเรียนการสอนแบบ problem-based learning ที่เน้นการศึกษาจากเรื่องราวของคนไข้จริง หรือใช้เรื่องสมมติเป็นโจทย์ปัญหา (case scenario) เป็นการเรียนรู้ตามบริบท ใช้การเรียนเป็นกลุ่มย่อย ศึกษาปัญหาของคนไข้ ตั้งสมมติฐาน ตั้งวัตถุประสงค์การเรียนของบทเรียน และนำไปศึกษาค้นคว้าจากแหล่งความรู้ต่างๆ ที่คณะฯจัดเตรียมไว้ให้อย่างครบครัน โดยมีอาจารย์ทำหน้าที่เป็นกระบวนกร (facilitator) ให้กระบวนการกลุ่มดำเนินไปบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งจะต่างจากวิธีการสอนแบบบรรยาย นั่นคือกระบวนกรจะเฝ้าสังเกตว่าการดำเนินงานของกลุ่มนั้น เป็นไปด้วยดีไหม ถ้านักศึกษาทำได้ดี กระบวนกรจะไม่แทรกแซงอะไรเลย แต่ถ้าทำท่าจะเกิดอุปสรรค ก็จะให้คำแนะนำประเภทชี้ให้คิด หรือป้อนคำถามชี้แนวทาง แทนที่จะบอกไปตรงๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากที่สุด

ส่วนการเรียนรู้ตามบริบท (context-based learning) เป็นหลักการศึกษาที่เชื่อว่า ถ้าตอนเรียนรู้ เป็นการเรียนตามบริบทจริง หรือใกล้เคียงบริบทจริงมากที่สุด นักศึกษาจะสามารถใช้ความรู้ได้ดีกว่า เมื่อพบสถานการณ์นั้นในชีวิตจริง การเรียนแบบนี้พบว่าจะเสริมความเข้าใจ และทำให้นักศึกษาสามารถเชื่อมโยงความรู้ในตำราต่างๆ เข้ากับชีวิตจริงได้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยศึกษาจากบทเรียนสมมติว่าเมื่อคนไข้จริงๆ มีความผิดปกติแล้วจะเกิดอะไรขึ้นแทน เป็นโจทย์ย้อนกลับไปให้ค้นหาหรือศึกษาองค์ความรู้ที่จำเป็นอีกที การเรียนรู้แบบนี้มีประโยชน์และจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับการเป็นแพทย์ เพราะแพทย์จะต้อง เข้าใจเรื่องชีวิต และชีวิตในที่นี้ ไม่ใช่แค่ชีววิทยาเท่านั้น แต่รวมทั้งสังคมศาสตร์ประเภทต่างๆ ด้วย ได้แก่ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และจริยศาสตร์ด้วยเป็นต้น

อยากจะนำเสนอประสบการณ์ตัวอย่างของการเรียนการสอนโดยการปฏิบัติจริง ในบริบทจริง มาเล่าสู่กันฟัง รองคณบดีกิจการนักศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. อานนท์ วิทยานนท์ และผู้ช่วยคณบดีกิจการนักศึกษา รองศาสตราจารย์ พญ.จารุรินทร์ ปิตานุพงศ์ ได้มีโครงการพิเศษจัดขึ้นสำหรับนักศึกษาแพทย์กลุ่มหนึ่ง ที่หลังจากสอบสัมภาษณ์เข้ามาเรียนแล้ว คณะกรรมการสอบสัมภาษณ์สรุปว่า กิจกรรมเสริมพิเศษนี้น่าจะเกิดประโยชน์สำหรับนักศึกษาที่ยังไม่ค่อยเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้งจนอาจจะเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจกับเรื่องของคนไข้ หรือบางคนก็อาจจะมีประสบการณ์และวิธีการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น โดยกลุ่มหนึ่งประมาณ ๓๐ คน และโครงการพิเศษนี้จะมีกิจกรรมตลอดปีการศึกษาแรก

ครั้งหนึ่งเราเคยมอบโจทย์ให้นักศึกษาทั้งกลุ่ม ลองคิดโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่มารับการรักษาที่ รพ.สงขลานครินทร์ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล แต่จะอยู่ในอาคารเย็นศิระ ในเขตบริเวณของวัดโคกนาวหน้าโรงพยาบาล อาคารนี้ก่อสร้างโดยเงินพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวส่วนหนึ่ง และเงินของโรงพยาบาลอีกส่วนหนึ่ง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน และขัดสนไม่มีเงินพอที่จะพักโรงแรม โดยตั้งโจทย์ให้นักศึกษาไปว่าเห็นควรอยากทำอะไรบ้าง นักศึกษาก็ช่วยกันคิดกันใหญ่ บางคนอยากจะทาสีอาคารให้ใหม่ บางคนอยากจะซื้อของไปแจก มีมากมายหลายโครงการ หาข้อสรุปไม่ได้ จะทำอย่างไรดี? ในที่สุดทั้งกลุ่มก็เลยไปหาคนไข้ที่อาคารเย็นศิระ เพื่อซักถามพูดคุย จะได้ทราบว่าเขาต้องการอะไร

ปรากฏว่าเด็กกลับมาหาอาจารย์ที่ปรึกษา ยิ้มแห้งๆ บอกว่า โครงการทั้งหมดที่คิดออกมา คนไข้ไม่ได้อยากได้เลย บางโครงการกลายเป็นว่าอาจจะทำให้เดือดร้อนเสียด้วยซ้ำ เช่น ถ้าจะทาสีห้อง ก็ต้องให้คนไข้ออกมาก่อน รอสีแห้ง รอให้กลิ่นหมด ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เป็นต้น ผลสรุปออกมา นักศึกษาทั้งกลุ่มก็เลยไปคุยเป็นเพื่อนคนไข้ดีกว่า ดูจะง่ายสุด และท่าทางส่วนใหญ่ก็ไม่ขัดข้อง

ก่อนจะไป หลายๆ คนก็ลังเล เอ... จะไปพูดอะไรดีหนอ บางคนก็มาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานเป็นคนเมือง ไม่ค่อยแน่ใจว่าคนไข้เขาสนใจเรื่องอะไร แล้วจะคุยอะไรกัน พอจัดกิจกรรมไปคุยเสร็จ ก็กลับมารวมกลุ่มกัน มาสะท้อนกันและกันว่าได้อะไรบ้าง เห็นอะไร เจออะไรบ้าง

ปรากฏว่า อือ.. ที่เคยคิดว่าไม่รู้จะคุยอะไร กลับไม่ค่อยเป็นปัญหา พอคนไข้ทราบว่ามีนักศึกษาแพทย์มาคุยด้วย ก็ดีใจกันใหญ่ และเป็นคนเล่าเรื่องราวต่างๆ มากมายให้นักศึกษาฟังเอง บางคนก็เล่าว่าที่ป่วยครั้งนี้มีผลอย่างไรต่อตัวเขา ต่อครอบครัว ต่อการงานบ้าง บางคนเล่าว่ากว่าจะหาเงินค่ารถมาจากบ้านได้ก็แทบจะใช้เงินออมจนหมดแล้ว บางคนก็พูดถึงเรื่องความไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ ว่าตนเองเป็นโรคอะไร จะอยู่ได้นานขนาดไหน และส่วนหนึ่งก็ขอบอกขอบใจนักศึกษาที่อุตส่าห์มาฟัง มาพูดคุยกับเขา

ผลปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่ชอบกิจกรรมนี้มาก มีการจัดกิจกรรมติดตามผลต่อเนื่องต่อไปอีก จากที่แต่แรกเริ่มเดิมที พอรู้ว่าตนเองถูกคัดเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ (เราเรียกว่ากลุ่ม Sunshine group เพราะเรามักจะนัดวันอาทิตย์) ก็อึดอัดใจ บางคนก็เสียใจ บางคนก็ไม่พอใจ เพราะดูแปลกกว่าเพื่อนๆ แต่ตอนปลายปี ปรากฏว่าพอกลุ่ม Sunshine จะนัดทำกิจกรรม ตัวแทนก็เดินออกไปประกาศทางไมโครโฟนหน้าห้องเรียนใหญ่ อย่างองอาจ ผ่าเผย ว่า “Sunshine ขอนัดพบ เย็นนี้ที่หอนะครับ” กลายเป็นว่าเพื่อนๆ ที่ไม่ได้ถูกคัดมาเข้าโครงการ พอไปซักถามกลุ่มว่าทำอะไรกัน ได้อะไรบ้าง กลับเป็นฝ่ายเดินมาถามหน่วยกิจการนักศึกษาบ้างว่า ทำไมพวกที่เหลือจึงไม่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรม เพราะมีหลายๆ คนอยากจะเข้าร่วม

จากประสบการณ์ของนักศึกษากลุ่มนี้ และของอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้พวกเราเกิดความคิดว่าบางทีการจะสอนจริยธรรม นั้น ไม่ได้อยู่ที่นักเรียนต้องรู้ทฤษฎีอะไรมากมาย มนุษย์นั้นมีความดีอยู่ในจิตใจอยู่แล้ว เพียงให้ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิต มีโอกาสไตร่ตรองชีวิต ความภาคภูมิใจในความเป็นมนุษย์นั่นเอง ที่จะเป็นแรงผลักดันจริยธรรมให้เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ดีที่สุด อันความเมตตากรุณานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากการอ่านตำรา หรือการอธิบายว่าเมตตาแปลว่าอะไร กรุณาคืออะไร แต่จะเกิดขึ้นเมื่อบริบทที่มนุษย์พึงเกิดความเมตตากรุณานั้น ได้มีขึ้น ได้ถูกนำมาสะท้อน และนำมาเสริมคุณค่าในการดำรงชีวิตของตนเอง

ตรรกะกับเหตุผล: ทิ้งหรือไม่ทิ้งก็ไม่ได้

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 เมษายน 2550

มองจากความคิดของนักปรัชญาและนักจิตวิทยาระดับโลกชาวตะวันตกหลายๆ คน ตั้งแต่สมัยกรีกเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นพลาโต้, โพลตินัส, ค้านท์ ไล่มาถึง เตยา เดอ ชาดัง, คาร์ล จุง กระทั่งโกร๊ฟ และ เค็น วิลเบอร์ ในปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่านักคิดผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์ “สมัยใหม่” (คงรวมนักวิทยาศาสตร์แทบทั้งหมดในบ้านเรา) มีความเป็นจิตนิยมหรือเชื่อในเรื่องของพระเจ้าไม่มากก็น้อย นั่นคือในรูปแบบหนึ่ง นักคิดนักปราชญ์เหล่านี้ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาบนหลักตรรกะและเหตุผล แต่กลับไปเชื่อในเรื่องความไม่มีเหตุผลว่าเป็นความจริงแท้ในอีกด้านหนึ่งด้วย

ที่เกริ่นนำมาทั้งหมดนั้น ผู้เขียนขอย้ำว่า - ความหมายของคำว่าจิตนิยมนั้น - เป็นการมองปรากฏการณ์ธรรมชาติของวิวัฒนาการมนุษย์ที่สัมพันธ์หรือสัมพัทธ์กับมโนทัศน์หรือวัฒนธรรมในเวลาปัจจุบัน นั่นคือกระบวนทัศน์เก่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่จะต้องไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สู่กระบวนทัศน์ที่ใหม่กว่าและสูงกว่าตลอดกาล

นอกจากโลกทัศน์ของนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ทุกวันนี้ ยังมีนักฟิสิกส์ยุคใหม่จำนวนมาก ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นนักคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นตรรกะอย่างหนึ่ง แต่ก็พากันไม่เชื่อในตรรกะและเหตุผลไปด้วย เช่น เดวิด ฟิงเกลสไตน์ นักฟิสิกส์ควันตัมชื่อดังระดับโลก อดีตหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ทฤษฏี สถาบันจอร์เจียเทค และบรรณาธิการวารสารฟิสิกส์ทฤษฏีนานาชาติ เคยพูดว่า “ไอน์สไตน์ทำให้เรา (นักวิทยาศาสตร์) ต้องทิ้งมโนทัศน์ในเรื่องของเวลา นีลส์ บอห์ร ทำให้เราโยนทิ้งความจริง (ทางวิทยาศาสตร์กายภาพที่เคยเชื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมด) ไป เราอยู่กับตรรกะที่ผิดๆ มาตลอดเวลา ต่อไปนี้เราต้องเรียนที่จะอยู่กับความถูกต้องเสียที นั่นคืออยู่กับตรรกะ (ที่ไม่มีเหตุผล) ทางควันตัม” คำในวงเล็บเป็นของผู้เขียนที่อาจสรุปต่อได้ว่า ในความเห็นของ เดวิด ฟิงเกลสไตน์ (นักวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ที่ตอนหลังมาสนใจในพุทธศาสนา) ตรรกะและเหตุผลไม่ควรมีขึ้นมาในโลกตั้งแต่ต้น - สำหรับความเห็นของผู้เขียน - ว่าไปแล้ว ในด้านหนึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากพระธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้ว...ที่ทุกคนสามารถปฏิบัติ...โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา...ควรน้อมใส่ตัว...การรู้ที่ได้มาด้วยตนเอง...นั่นคือปัญญาเหนือปัญญาและทัศนะ (wisdom and vision) ที่นักปฏิบัติทางจิตหรือสมาธิในคริสต์ศาสนา เช่น ลอเร็นซ์ ฟรีแมน หรือ จอห์น เมน บอกว่าองค์ความรู้สูงสุดนั้น (real knowledge or gnosis) หากมนุษย์เราหวังจะได้มา ต้องทิ้งตรรกะและเหตุผลไปเสียก่อน (unknowing of the known)

เรา - ในอดีตตั้งแต่ ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ปีมาแล้วหรือตั้งแต่เริ่มมีประวัคิศาสตร์ตราบจนปัจจุบัน - แทบทุกคนจะมีความอวดดีอหังการ์หรืออีโก้โดยไม่รู้ตัวจากการมองตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (anthropocentric) ดังที่แสดงออกโดยปโตเลมี (Ptolemy’s conceit) ที่นักจิตวิทยาและนักเทววิทยาบอกว่า มนุษย์เราต่างมีและแสดงออกอยู่ทุกวินาที นั่นคือช่วงเวลาที่เราตื่นทางจิตจากการหลับลึก (magic) และหลับไหลมาอยู่กับนิยายปรัมปรา (mythic) ประหนึ่งความงมงายจากจิตใต้สำนึก (sub - consciousness) มาสู่จิตระดับใหม่หรือจิตสำนึกแห่งอัตตาตัวตน (self - consciousness) ที่มีขึ้นเมื่อร่วม ๑๕๐ ชั่วคนก่อนและอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

จิตสำนึกแห่งอัตตาอหังการ์ที่ตั้งบนการรับรู้ตามที่ตาเห็น (หรือเวทนาที่ประสาทสัมผัสบอกเรา) นั้นคือตรรกะที่เกิดจากตากับการเห็น (vision-logic) ของ เค็น วิลเบอร์ ด้วยระยะเวลากว่าหนึ่งร้อยชั่วคนเช่นนั้น คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงไม่รู้หรือลืมเลือนไปหมดสิ้น และคิดว่าอัตตาตัวตนที่พัฒนาเป็นความเห็นแก่ตัวและกิเลสตัณหาต่างๆ นานา รวมทั้งความอวดดีที่มองตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แล้วคิดว่าทั้งหมดนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ (human nature) ที่ติดตัวเรามาตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงแก้ไขไม่ได้นั้น เป็นความเข้าใจผิดที่ผู้เขียนได้ชี้ - บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์กับโบราณคดีศึกษา - มาตลอดเวลาว่า การมองตัวเองเป็นศูนย์กลางหรือไม้บรรทัดวัดธรรมชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันนี้เอง ที่พัฒนาขี้นมาเป็นตรรกะและเหตุผลที่เราใช้วัดโลกหรือสิ่งอื่นๆ มาจนถึงวันนี้ โดยคิดว่าสิ่งอื่นๆ ไม่สำคัญและไม่แยแสว่าเผ่าพันธุ์อื่นๆ เขาจะเห็นด้วยหรือไม่ และตรรกะและเหตุผลที่ไม่สมบูรณ์และไม่จริงแท้เช่นนี้เอง ที่เรานำมาเป็นรากฐานของวิธีคิดและมโนทัศน์ของเรา เป็นรากฐานของระบบการศึกษาและสังคมของเรามาตลอด

ตราบใดที่เรายังคงทัศนคติที่ยึดถือตรรกะและเหตุผลเข้าข้างตนเองอยู่อย่างนี้ สัทธรรมความจริงแท้ย่อมจะหวนกลับมาแก้ไขความผิดพลาด - การเสียสมดุลย์หรือเสียลักษณะธรรมชาติการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งของจักรวาลลงไป - ที่เกิดจากความอวดดีอหังการ์ของมนุษย์เรา ไม่อย่างหนึ่งอย่างใดในเร็ววันนี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังคิดว่าแม้ตรรกะและเหตุผลจะไม่จริงหรือไม่สมบูรณ์ หรือเป็นเรื่องของมนุษย์ สำหรับมนุษย์ และเพื่อมนุษย์เพียงเผ่าพันธุ์เดียว แต่เราจะโยนทิ้งไปทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วตรรกะ เช่น ภาษาและคณิตศาสตร์ การวิพากษ์หรือการวิเคราะห์สังเคราะห์โลกและธรรมชาติรอบตัวบนเหตุผลนั้น เป็นผลผลิตของวิวัฒนาการของจิตจากระดับหนึ่งไล่สูงขึ้นไปสู่อีกระดับหนึ่ง ในที่นี้จากจิตแห่งความหลับลึกและหลับไหลประหนึ่งเป็นความงมงายของจิตใต้สำนึก (sub-consciousness) ไปสู่ระดับจิตรู้ตัวตนที่มีแต่ในมนุษย์เท่านั้น โดยมี “สถานที่” หรือ “ที่ว่าง” ในสมองที่เหมาะสมกับการบริหารสามารถเอื้อให้จิตมีวิวัฒนาการได้ต่อไป (สำหรับมนุษย์เท่านั้น) นั่นคือวิวัฒนาการของจิตที่มนุษย์เรามีอยู่ในปัจจุบัน ใช้แยกอัตตาตัวตนออกจากธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง (vision-logic) สร้างทวิลักษณ์แห่งความเป็นสอง (dualism) เพื่อปลดปล่อยความจริงสูงสุดที่ถูกกักขังด้วยจิตใต้สำนึกและความหลับไหลงมงายให้เป็นอิสระ ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยตรรกะและเหตุผล อันเป็นเรื่องสำคัญกับวิวัฒนาการของจิต ซึ่งจิตแห่งอัตตาตัวตน (self-consciousness) มีหน้าที่ต้องทำเช่นนั้น อย่าลืมว่า จิตรู้แห่งความมีอัตตาอหังการ์ที่มาจากการบริหารใน “ที่ว่าง” ของสมอง พร้อมกับศักยภาพของความเป็นไปได้อันหลากหลายของการมองเห็นโลกและธรรมชาติด้วยตรรกะและเหตูผลนั้น ย่อมเป็นระดับจิตที่อยู่กว่าและเป็นอิสระกว่าจิตที่ถูกกักขังและหลับไหลอยู่กับความงมงายของตำนานโบราณ (mythic)

นอกจากนี้ ด้วยจิตอิสระที่เป็นไปเองจากการดิ้นรนหรือวิวัฒนาการที่ “เนื้อใน” ภายในจิต แม้ว่าจะยังมีอุปาทานปรุงแต่งด้วยปัจจัยจากภายนอกอยู่บ้าง กระนั้น จิตสำนึกแห่งตัวตนและเหตุผลก็ยังเป็นจิตที่อยู่ในระดับสูงกว่าเดิมอยู่ดี ที่เอื้อต่อการวิวัฒนาการต่อไปได้ นั้นคือ การ “ตื่น” อีกครั้งจากระดับจิตแห่งอัตตาตัวตนสู่ระดับจิตเหนือสำนึก (super–consciousness) ความจริงสูงสุด เมื่อสปิริต (Spirit) ได้ค้นพบสปิริต - หรือเมื่อจิตแห่งพุทธะค้นพบนิพพาน - ได้ในภายหลัง ทั้งนี้ สุดแล้วแต่ว่าเรา โดยผ่านศาสนาต่างๆ จะแปลคำว่าสปิริต – หนึ่งที่ให้ความหลากหลาย - ว่าอย่างไร

ในความคิดของผู้เขียน การอุบัติขี้นของจักรวาล โลก และสรรพสิ่ง ที่รวมชีวิต มนุษย์ กับสังคมของมนุษย์ จิตและจิตวิญญาณ เป็นห่วงโซ่ที่แยกออกจากกันไม่ได้ ดังที่นักคิดทั้งหลายในอดีตโดยเฉพาะพลาโต้เรียกว่า ห่วงโซ่ของการมีขึ้นของสรรพสิ่ง (the great chain of being) ซึ่งมาจาก “หนึ่ง” ที่มีหนึ่งเดียว (The One) แล้วเดินทางสู่ความหลากหลาย (The Many) - ที่เกิดจากการเปรียบเทียบระหว่างกันและกัน ระหว่างภาพลักษณ์ของความเป็นสอง (dualism) - โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพียงประการเดียว นั่นคือเพื่อให้สรรพสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น - ในทางศาสนา - เรียนรู้และค้นพบธรรมะหรือสัทธรรมความจริงสูงสุด หรือเพื่อให้สปิริตได้ค้นพบสปิริต การเดินทางเพื่อเรียนรู้ผ่านกระบวนการธรรมชาติที่ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าวิวัฒนาการที่มีสองกระบวนการคือ หนึ่ง วิวัฒนาการทางชีววิทยาหรือทางกายภาพผ่านรูปกายของมนุษย์ และสอง วิวัฒนาการทางจิตวิทยาผ่านจิตของมนุษย์ (ที่บริหารโดยสมอง) นั่นคือหน้าที่ทั้งหมดของมนุษย์เรา

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เราอาจพอมองเห็นได้ว่า แม้ตรรกะและเหตุผลจะเป็นเรื่องของมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์แต่เพียงเผ่าพันธุ์เดียว ทั้งยังเป็นผลผลิตของระดับจิตแห่งอัตตาอหังการ์ที่ได้มาจากทวิลักษณ์ของความเป็นสอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ตรรกะและเหตุผลสำคัญหรือไม่สำคัญชนิดที่มนุษย์เราจะโยนทิ้งหรือไม่โยนทิ้งไปเสียทั้งหมด อย่างที่ เดวิด ฟิงเกลสไตน์ กล่าวไว้ ผู้เขียนคิดว่าการเจริญเติบโตหรือวิวัฒนาการของโลกของจักรวาล เพื่อให้มนุษย์แต่ละคนหรือมนุษย์โดยรวมเรียนรู้สัทธรรมความจริงสูงสุดนั้น แต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ล้วนมีความหมายและความสำคัญในตัวเองอย่างขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไปไม่ได้ แต่ละขั้นตอนนั้นๆ ล้วนมีความหมายจำเพาะและความถูกต้องแตกต่างกัน ซี่งสองประเด็นที่กล่าวมานั้นไม่เหมือนกัน ความจำเพาะเป็นลักษณะหรือคุณสมบัติ “เนื้อใน” ของแต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการของจิตจักรวาลที่อยู่ในแต่ละสรรรพสิ่งรวมทั้งในมนุษย์แต่ละคน เป็นปัจเจกที่ต้องคลี่ขยายหรือ “โผล่ปรากฏ” ออกมา ในขณะที่ความถูกต้องเป็นการตรวจวัดหรือเปรียบเทียบระหว่างกันของภาพที่ปรากฏของจิตวิวัฒนาการของสังคมโดยรวม โดยมีช่วงเวลานั้นๆ เป็นสิ่งกำหนด

ความจำเพาะเป็นเรื่อง “เนื้อใน” ที่ภายใน - การคลี่ขยายรูปลักษณ์ของสปิริต (ของจิตวิวัฒนาการ) ของมนุษย์แต่ละคน - ในขณะที่ความถูกต้องชอบธรรมหรือความยุติธรรม (legitimacy) แม้จะเป็นเรื่องของภายใน แต่ก็เป็นเรื่องของจิตแห่งสังคมโดยรวม เมื่อมองกันจากจุดยืนที่ต่างกัน ด้วยมุมมองที่ไม่เหมือนกัน เรื่องของตรรกะและเหตุผล - ที่ไม่ควรเป็นประเด็นเพราะเป็นธรรมชาติของวิวัฒนาการทางจิตของมนุษย์ - จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมา จากการมองบนประเด็นของวิวัฒนาการทางกายภาพระหว่างปัจเจกบุคคลและสังคมโดยรวม มาเป็นตรรกะและเหตุผลด้วยการเปรียบเทียบระหว่างกัน

ภูมินิเวศภาวนา
แสวงหาปัญญาจากแผ่นดิน

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 เมษายน 2550

ภูมินิเวศภาวนา เป็นแนวทางการพัฒนาจิตและคุณธรรมที่มาจากพื้นฐานความคิดว่า ทุกชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน สอดประสานเชื่อมโยงกันและกันอย่างแนบแน่น มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและมีร่างกายที่เป็นธรรมชาติด้วย แต่จิตของเรานั้นมักตีตนให้แปลกแยกออกจากธรรมชาติทั้งภายในและภายนอกตัว โดยอาจหลงคิดไปว่า เราสามารถควบคุมหรือกำหนดทิศทางวิถีทางของร่างกายได้ ให้จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นนายหรือบ่าว เป็นเพียงแต่เหตุปัจจัยของกันและกัน ส่งผลต่อกันและกันอย่างแยกไม่ออก

จิตของเรานั้นเชื่อมโยงกับสถานที่ ผู้คน และผัสสะต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวมากเกินกว่าที่เราจะรับรู้ได้ สมองของเราทำงานบันทึกเหตุการณ์หรือสิ่งที่ผ่านเข้ามาในประสบการณ์ชีวิตของเราตลอดเวลา ดังนั้นเราไม่สามารถแยกตัวเรา กายจิตของเราออกจากสิ่งแวดล้อมได้ อย่างเช่น กายจิตที่ดำรงอยู่ในเมืองกับกายจิตที่ดำรงอยู่ในป่าเขาลำเนาไพรจะต่างกัน เป็นต้น

ตอนนี้ทางตะวันตกมีการศึกษาถึงพลังแห่งการบำบัด เยียวยาและเสริมสร้างพัฒนาการทางจิตใจด้วยการกลับไปพึ่งพาธรรมชาติ ที่เรียกว่า จิตวิทยาเชิงนิเวศ (Ecopsychology) เป็นการกลับไปเรียนรู้จักตัวเองในอ้อมแขนของแผ่นดินและธรรมชาติ

ภูมินิเวศภาวนา เป็นการเดินทางเพื่อเรียนรู้ที่จะระลึกถึงสัมพันธภาพอันเก่าแก่ของมนุษย์กับจักรวาล ซึ่งก็คือตัวเราที่กว้างใหญ่ไพศาลออกไป (Ecological Self) มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาในดินแดนต่างๆ และในรูปแบบวิธีการที่แตกต่างกันออกไป แต่ในที่นี้รูปแบบวิธีการที่ผู้เขียนใช้อยู่เป็นสิ่งที่เรียนรู้มาจากรากฐานของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันหรือที่บ้านเราเรียกว่าอินเดียนแดง โดยเรียกในภาษาอังกฤษว่า Vision Quest หรือการแสวงหานิมิตหรือปัญญาจากธรรมชาติ

กล่าวคือธรรมชาติจะช่วยทำให้เรามองเห็นความจริงที่สำคัญ เช่น ช่วยให้เห็นว่าเราเกิดมาเพื่อปฏิบัติภารกิจชีวิต อะไรที่จะช่วยรับใช้ชีวิต สังคมมนุษย์และโลก โดยถือว่าทุกคนล้วนมีภารกิจอันทรงเกียรติที่ติดตัวมาพร้อมกับการเกิด อันพึงกระทำในฐานะของผู้หล่อเลี้ยง ผู้ให้และผู้เยียวยาสังคม เราล้วนมีพรสวรรค์ติดตัวมาเพื่อจะได้ตอบแทนคุณต่อครอบครัวใหญ่ของชีวิตทั้งมวล

ในวิถีดั้งเดิมนั้น ภูมินิเวศภาวนาเป็นการทำพิธีส่งตัวเยาวชนที่กำลังย่างเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ให้ออกไปอยู่กับธรรมชาติเพื่อค้นพบศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของตัวเอง เป็นการค้นหาปัญญา และพรที่แต่ละคนได้รับจากสวรรค์ แผ่นดิน พระเจ้า หรือธรรมชาติ โดยถือว่าทุกคนเกิดมาอย่างมีเป้าประสงค์อันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อรับใช้ชีวิต ชุมชน สังคมและโลกในวิถีทางต่างๆ ตามพรหรือของขวัญที่ได้รับ บุตรธิดาทั้งหลายเมื่อถึงเวลาจะต้องกลับไปดำรงอยู่ร่วมกับพระแม่ธรณีและผืนฟ้าพสุธากว้าง ผ่านความยากลำบากทางกาย บางคนอดอาหารและน้ำหลายวัน เพื่อให้จิตวิญญาณเติบโตและแก่กล้า รับพลังจากธรรมชาติ แล้วจึงกลับคืนสู่ชุมชน

ซึ่งจะทำการต้อนรับและยืนยันความแปรเปลี่ยนอย่างสมเกียรติ ดังนั้น การเดินทางของเราแต่ละคน แม้ดูว่าเป็นส่วนเสี้ยวที่เล็กน้อย แต่ก็ต้องถือว่า ปฏิบัติการนี้เป็นไปเพื่อมนุษยชาติและธรรมชาติทั้งมวล ความยากลำบากทางกายหรือใจภายในตัวเราทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น ล้วนหมายถึงโอกาสแห่งวิวัฒนาการทางจิตของมนุษยชาติทั้งหมดด้วย

หากเปรียบเทียบกับบ้านเราก็อาจคล้ายคลึงกับการออกบวชของผู้ชาย ซึ่งมีความเชื่อว่าคนที่ยังไม่ได้บวชเป็นคนดิบอยู่ เพราะยังไม่ได้ผ่านพิธีกรรมแห่งการแปรเปลี่ยนชีวิต (พิธีกรรมอื่นๆ ที่เป็นการสื่อสารและยืนยันการแปรเปลี่ยนสถานะ เช่น งานเลี้ยงวันเกิด การรับปริญญา การแต่งงาน หรือพิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย เป็นต้น) ส่วนการภาวนาในป่านั้นก็คล้ายกับธรรมเนียมปฏิบัติของพระสายวัดป่า คือให้ธรรมชาติเป็นครูสอนลักษณะความจริงคือ ลักษณะแห่งความเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง และความไม่มีตัวตน

น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ กระบวนการหรือพิธีกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบในการดูแลหล่อเลี้ยงให้สังคมและครอบครัวดีงามนั้น เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวยและไร้ความหมายในทางชุมชนและจิตวิญญาณเอามากๆ มีเพียงการรับปริญญาที่เป็นพิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ ที่เน้นตรงความพร้อมทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุเท่านั้น คือสามารถออกไปทำงานได้ แต่ไม่มีอะไรบ่งชี้ถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตและสังคมในมิติที่ไปพ้นวัตถุเลย

ผมคิดว่าเยาวชนยุคนี้โหยหาการยอมรับ ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ได้รับเกียรติจากสังคม น่าเสียดายที่ระบบโรงเรียนสมัยใหม่ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทุกคนต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางความคิด ว่าใครจะผ่านชีวิตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ได้ดีอย่างไรนั้น หาได้มีมิติของการค้นหาความงอกงามทางจิตไม่ ตราบใดที่มุ่งเน้นไปที่ความเก่ง ความสามารถและความสำเร็จเพียงอย่างเดียว อัตตาก็ยิ่งจะแก่กล้า ความรู้ตัวหรือรู้ตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมของตนก็น้อยลงไปด้วย ทั้งเด็กที่เรียนเก่งและไม่เก่งต่างไม่มีที่ทางที่ตัวเองจะยืนหยัดได้อย่างสง่าผ่าเผยหรือภาคภูมิใจในทางจิตวิญญาณเลย ดังที่ บิล มอยเยอร์ นักคิดและนักวิทยุโทรทัศน์ชาวอเมริกันได้ตั้งข้อสังเกตว่า

“สังคมยุคใหม่นี้ปราศจากพิธีกรรมที่จะช่วยทำให้เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตัวเป็นส่วนหนึ่งที่มีค่าต่อเผ่าพันธุ์และชุมชน เยาวชนทุกคนต้องการการเกิดอีกครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อจะตระหนักรู้และยอมรับหน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง และละทิ้งชีวิตอันเยาว์วัยไว้เบื้องหลัง” (Bill Moyers, quoted in Cohen, 1991, p. 45)

จริงๆ แล้ว ชีวิตของผู้ใหญ่ก็ต้องผ่านช่วงแปรเปลี่ยนที่สำคัญๆ และต้องการกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจความหมายของการแปรเปลี่ยนแต่ละครั้งด้วยเช่นกัน พิธีกรรมแห่งการแปรเปลี่ยนชีวิต (Rite of Passage) สามารถใช้ในวาระต่างๆ เช่น การยอมรับความชราภาพ ความเป็นอนิจจังของสังขาร ความเจ็บป่วยของร่างกายตัวเองหรือคนรัก ในขณะเดียวกันก็น้อมรับบทบาทแห่งการเป็นผู้เฒ่าหรือผู้นำทางจิตวิญญาณหรือปัญญาของเผ่าพันธุ์ หรือวาระแห่งการหย่าร้างเลิกรากับความสัมพันธ์ในอดีต หรือสำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน สามารถใช้เป็นพิธีแห่งการละทิ้งความสามารถในการมีบุตร เพื่อเข้าสู่ช่วงชีวิตแห่งการแสวงหาด้านในและการให้กำเนิดทางปัญญา หรือวาระแห่งการแปรเปลี่ยนอื่นๆ ที่ช่วยสร้างหมายเหตุสำคัญๆ ของชีวิตไว้ โดยย้ำเตือนถึงการแปรเปลี่ยนแต่ละครั้งที่มีความหมายต่อตนเอง

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว ภูมินิเวศภาวนา เป็นกรรมพิธีหนึ่งที่สามารถสร้างอานิสงส์ได้หลากหลาย ได้แก่ ๑) เป็นการสร้างหลักหมาย หรือหมายเหตุให้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิต (Mark life transition) ๒) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ฟื้นคืนพลังชีวิต และความศักดิ์สิทธิ์ให้กับความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างเรากับจิตอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ผืนแผ่นดินและจักรวาล (Renewal and strengthen connection to Earth and Nature) ๓) เพื่อแสวงหาความเข้าใจอันลึกซึ้งลงไปในการดำรงชีวิต ผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยอาศัยญาณทัศนะจากธรรมชาติที่อาจชี้แนะทิศทางชีวิต (Guidance, deepening understanding, vision, direction in life) ๔) เพื่ออุทิศผลบุญอันเกิดจากการภาวนาให้กับเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในชีวิตเราเอง และแผ่ไปยังผองเผ่าผู้คนทั้งหลายให้มีความเป็นอยู่ที่ดี พ้นทุกข์ภัยอันตรายทั้งปวง (Dedication to life purpose or to the well-being of people)

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ ๓-๙ มี.ค. ๒๕๕๐ กลุ่มจิตตปัญญาศึกษาได้ร่วมกันเดินทาง เพื่อประกอบการเรียนรู้มิติของความศักดิ์สิทธิ์ ณ นิเวศต้นน้ำ หมู่บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นการจาริกสู่ขุนเขาและนิเวศต้นน้ำอันเป็นวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ที่นั่น และชีวิตน้อยใหญ่ทั้งหลาย เพื่อช่วยให้เกิดการมองเห็นภูมิปัญญาจากแผ่นดิน การได้ภาวนาและเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยสร้างหลักหมายแห่งการแปรเปลี่ยนในชีวิตของผู้จาริกแต่ละคน และเป็นโอกาสในการได้สัมผัสชีวิตแบบชนเผ่าที่ยังคงดำรงความดั้งเดิม เรียบง่ายและมีคุณค่า ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้มนุษย์เมืองอย่างเราๆ ได้สืบสานความเป็นชนเผ่าของมนุษย์ไว้ในชีวิตชาวเมืองต่อไป

ชุมชนสบลานเป็นขุมพลังชีวิตของความ “ปกติ” ที่อ่อนน้อม อ่อนโยน และกรุณาอย่างไม่ต้องใช้ความพยายาม บางคนที่เคยมาที่นี่แล้วจะสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนและความเป็น “ปกติ” ในวิถีชีวิตของการไม่ทำร้ายไม่ทำลายและพึ่งพาธรรมชาตินั้น อาจเป็นคำตอบเชิงรูปธรรมอันหนึ่งต่อวิกฤตจิตวิญญาณ พลังงานและระบบนิเวศของโลกยุคนี้

เราได้ใช้เวลา ๒ วัน ในการอยู่หมู่บ้านและเรียนรู้กับชุมชนที่นั่น แล้วก็เดินทางสู่พื้นที่ธรรมชาติ เพื่อการปฏิบัติภูมินิเวศภาวนา เมื่อแต่ละคนได้ละทิ้งความสะดวกสบายและความคุ้นชินเดิมๆ แล้วตั้งสัจจาธิษฐาน เดินทางเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการแปรเปลี่ยน ที่มีการอดอาหาร กินแต่น้ำเป็นเวลา ๒ คืน ๑ วัน แล้วกลับออกมาบอกเล่าเรื่องราวที่ธรรมชาติเผยปรากฎ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองในช่วงของการอยู่วิเวก อย่างมีความหมายในวงล้อมของกัลยาณมิตรที่รับฟังอย่างเกื้อกูล การเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตของตัวเองและผู้อื่นก็เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น เปลือยเปล่าและถึงรากถึงโคน เป็นดังปาฏิหาริย์ที่เกิดจากความเรียบง่าย ธรรมดาๆ และจิตที่นอบน้อมต่อภูมิปัญญาของแผ่นดิน

หากคนในยุคใหม่นี้ได้มีโอกาสเดินทางไปด้วยกัน ใช้เวลาอย่างศักดิ์สิทธิ์ โดยให้เวลาแก่การใคร่ครวญถึง วาระชีวิตในปัจจุบัน และค้นหาคำตอบจากจิตนิเวศอันยิ่งใหญ่ก็น่าจะดีไม่น้อย อาจมีสิ่งที่เราอยากสร้างหมายเหตุให้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตเราเองในแต่ละช่วงด้วย เพื่อว่าจิตวิญญาณของเราจะได้ค้นพบและดำรงอยู่ในวิถีทางของการเติบใหญ่และสุกงอมจากด้านในยิ่งๆ ขึ้นไป

ขอบคุณการโอบอุ้มและความความกรุณาของชุมชนสบลาน ของธรรมชาติ สายน้ำและขุนเขาอันศักดิ์สิทธิ์ ในการเดินทางที่ผ่านมานี้ ที่แม้ว่าเราจะละทิ้งความสะดวกสบายของชีวิตเมือง เราก็ยังค้นพบความสบายใจอันหฤหรรษ์ ความลี้ลับและมนตราอันศักดิ์สิทธิ์ ของขุนเขา ป่าใหญ่ และธารน้ำน้อยๆ อันเป็นพลังให้ชีวิตเราได้ดำเนินต่อไปอย่างเกื้อกูล

Back to Top