พฤศจิกายน 2012

สองด้านของเหรียญ


โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2555

แม่กลุ้มใจที่ลูกชายวัย ๑๑ ขวบทำตัวเหินห่าง มีปัญหาอะไรก็ไม่เคยบอกแม่ จนแม่รู้จากปากของคนอื่นว่าลูกถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนแกล้งเป็นประจำ กลายเป็นคนเงียบขรึม ไม่สุงสิงกับใคร ซ้ำยังมีปัญหากับครูที่ชอบดุด่า จนลูกไม่อยากไปโรงเรียน บางวันถึงกับแกล้งป่วย ครั้นแม่พยายามคะยั้นคะยอให้เปิดใจคุยกับแม่เรื่องเหล่านี้ ลูกก็มีอาการหงุดหงิด และถึงกับหัวเสียเมื่อแม่ให้คำแนะนำลูก

แม่เสียใจจนร่ำไห้ที่ลูกไม่เห็นตัวเองอยู่ในสายตา แถมมีอาการต่อต้านแม่ด้วย แต่วันหนึ่งเธอได้ร่วมกิจกรรมไตร่ตรองชีวิตและได้สนทนากับกัลยาณมิตรที่มีประสบการณ์ เธอก็พบความจริงอย่างหนึ่งว่า ตอนเธอเป็นเด็กนั้น เธอก็ทำกับพ่ออย่างเดียวกับที่ลูกทำกับเธอทุกวันนี้ แม้อยู่บ้านเดียวกันแต่เธอแทบไม่คุยกับพ่อเลย รู้สึกว่าห่างได้เป็นดี เจอหน้าทีไรก็รู้สึกมึนตึง ในใจนั้นรู้สึกเกลียดพ่อด้วยซ้ำ

เธอไม่ชอบพ่อก็เพราะพ่อชอบจู้จี้ขี้บ่น ต่อว่าเธอเป็นประจำ และไม่เคยฟังเธอเลย มีหลายครั้งที่พ่อระบายอารมณ์ใส่เธออย่างรุนแรง ยิ่งนึกถึงพ่อก็ยิ่งโกรธ แต่ชั่วขณะหนึ่งเธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า สิ่งที่พ่อทำกับเธอนั้น เธอก็เอาไปทำกับลูกเช่นกัน แม้จะรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม เธอชอบจู้จี้กับลูกและต่อว่าเขาเป็นประจำ และไม่ค่อยฟังเขาเลย เธออดแปลกใจไม่ได้ว่า ทั้งๆ ที่เธอไม่ชอบนิสัยของพ่อ แต่เธอกลับรับเอานิสัยของพ่อมาใช้กับลูกของเธอ

เธอได้พบว่าลูกคือภาพสะท้อนของเธอตอนเป็นเด็ก ส่วนเธอก็เป็นภาพสะท้อนของพ่อในอดีต ตอนเป็นเด็กเธอรู้สึกว่าตนถูกกระทำจากพ่อ แต่ตอนนี้เธอกำลังเป็นฝ่ายกระทำต่อลูก มาถึงตอนนี้เธอเข้าใจลูกมากขึ้น ลูกไม่ใช่ตัวปัญหา ปัญหาอยู่ที่ตัวเธอเองต่างหาก นับแต่วันนั้นเธอพยายามระมัดระวังคำพูดมากขึ้น ไม่จู้จี้ขี้บ่น ขณะเดียวกันก็เปิดใจฟังลูก ไม่คิดแต่จะให้คำแนะนำสั่งสอนอย่างเดียว ไม่นานเธอก็พบว่าลูกเปิดใจให้เธอมากขึ้น นอกจากฟังเธอแล้ว ยังพร้อมจะเล่าความในใจให้เธอฟังเพราะรู้ว่าเธอจะฟังเขาอย่างจริงจังโดยไม่ด่วนตัดสิน

เราต่างเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว แม่รู้สึกว่าลูกปฏิบัติไม่ดีกับแม่ แต่เมื่อสืบสาวก็จะพบว่า นั่นเป็นเพราะแม่ปฏิบัติไม่ดีกับลูกก่อน ที่ลูกไม่ฟังแม่ ก็เพราะแม่ไม่ฟังลูกหรือเอาแต่จู้จี้ขี้บ่น อย่างไรก็ตามหากสืบสาวไปให้ไกลอีกหน่อยก็จะพบว่า ที่แม่ทำตัวเช่นนั้นก็เพราะเคยถูกกระทำอย่างเดียวกันกับพ่อ (หรือแม่) ของตน

จากเรื่องราวข้างบน ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูแปลกก็คือ ลูกสาวไม่ชอบสิ่งที่พ่อทำกับตน แต่พอเป็นแม่ก็ทำอย่างเดียวกันนั้นกับลูกของตน ราวกับว่าซึมซับรับเอาการกระทำของพ่อมาไว้กับตัว คงไม่ผิดหากจะพูดว่าความรุนแรงนั้นถ่ายทอดกันได้ ด้วยเหตุนี้คนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยความรุนแรง จึงมักลงเอยด้วยการกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงนั้นเสียเอง

ในสังคมวงกว้างเรามักพบเช่นกันว่า คนที่ก่อความรุนแรงกับผู้อื่นนั้น ในอดีตก็เคยเป็น “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำมาก่อน โดยอาจจะเริ่มจากครอบครัว เยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ก่ออาชญากรรมทางเพศหรือยกพวกตีกันจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย ล้วนเป็นคนที่มีบาดแผลในวัยเด็ก เช่น ถูกพ่อแม่ละทิ้งหรือทำร้ายร่างกาย ถูกเหยียดหยามจากคนรอบข้าง หรือถูกยัดเยียดให้รู้สึกว่าเป็นคนไร้ค่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นธรรมดาที่คนเหล่านี้ย่อมซึมซับความรุนแรงรวมทั้งความเกลียดชังไว้ในใจ และพร้อมจะระบายใส่คนอื่นเมื่อมีโอกาส ยิ่งถูกกระทำทารุณกรรมเมื่อถูกจับเข้าสถานพินิจฯ หรือเรือนจำ ก็ยิ่งสะสมความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อคนรอบตัว



ประสบการณ์อันเลวร้ายที่ได้รับทำให้คนเหล่านี้เกลียดชังคนทั้งโลก ยกเว้นพวกเดียวกัน เพราะคนกลุ่มหลังนี้เป็นพวกเดียวที่ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า หรือมี “ตัวตน” อยู่ในโลกนี้ ดังนั้นเขาจึงพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ แม้นั่นจะหมายถึงการทำร้ายคู่อริหรือรุมโทรมหญิงก็ตาม

เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะยอมรับว่า คนที่มีพฤติกรรมเลวร้ายนั้น แท้จริงเขาคือ “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ หาได้แยกจากกันไม่ ทำนองเดียวกับสองด้านของเหรียญเดียวกัน

ความจริงดังกล่าว ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ถ่ายทอดเป็นบทกวีอย่างงดงามและสะเทือนใจ




“ฉันคือแมลงเม่า ที่กำลังกลายรูปบนผิวน้ำ
และฉันคือนก โฉบลงขยอกกลืนเจ้าแมลง
ฉันคือกบแหวกว่ายอย่างเป็นสุข
และฉันคืองูเขียว เลี้ยวลดกินกบอย่างเงียบเชียบ
ฉันคือเด็กในอูกันดา มีแต่หนังหุ้มกระดูก
ขาฉันเล็กบางราวลำไผ่
และฉันคือพ่อค้าอาวุธ ขายเครื่องประหัตประหารแก่อูกันดา
ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ ลี้ภัยในเรือน้อย
โถมร่างลงกลางสมุทร หลังถูกโจรสลัดข่มขืน
และฉันคือโจรสลัด
หัวใจฉันยังขาดความสามารถในการเห็นและรัก”
(จากบทกวี “เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง” แปลโดย ร.จันเสน)


ผู้ที่ก่อความรุนแรงนั้นล้วนเป็นผลมาจากการที่เคยเป็นเหยื่อมาก่อน การรุมประณามหยามเหยียดหรือใช้ความรุนแรงกับเขา จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การทำเช่นนั้นเป็นความยุติธรรมจริงหรือ ประสบการณ์ของทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปฏิบัติด้วยความรักความเคารพและให้เกียรติแก่เยาวชนที่ต้องโทษเพราะก่ออาชญากรรมนั้น สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ เพราะจิตใจได้รับการเติมเต็ม รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเกิดความเคารพในตนเอง จนไม่อยากทำชั่วอีกต่อไป พูดอีกอย่างคือ ความใฝ่ดีในจิตใจของเขาถูกกระตุ้นให้กลับมีพลังจนเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ เมื่อบาดแผลในใจที่เกิดจากการเป็น “เหยื่อ” ในอดีตได้รับการเยียวยา ความโกรธเกลียดที่เคยผลักดันให้เป็นผู้ก่อความรุนแรงก็เจือจางไป สามารถอยู่อย่างมีสันติกับตนเองและผู้อื่นได้ (อ่านเรื่องราวของเธอได้จากหนังสือเรื่อง เด็กน้อยโตเข้าหาแสง โดย “มิลินทร์” สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา)

คนที่แสดงแต่ด้านมืดออกมา มักเป็นเพราะมีเงามืดของคนอื่นมาทาบทับชีวิตของเขานานเกินไป การเปิดโอกาสให้เขาได้รับแสงสว่างในชีวิต ย่อมช่วยขยายด้านสว่างและลดทอนด้านมืดในใจเขา จนสามารถส่องสว่างให้แก่ผู้อื่นได้ในที่สุด

สวรรค์มีจริง ... แล้วไง?



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

เราท่านทั้งหลายคงเคยผ่านตาหนังสือประเภทสวรรค์มีจริง นรกมีจริง ชีวิตหลังความตายมีจริง มาแล้ว ยิ่งในระยะหลังหนังสือประเภทนี้ขึ้นอันดับต้นๆ บนแผงหนังสือตามร้านใหญ่ๆ หรือไม่พวกเราก็คงเคยได้ยินเรื่องราวทำนองนี้มาบ้าง ระดับของความน่าเชื่อถือก็แตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลและองค์ประกอบรอบข้าง

เมื่อเดือนที่แล้ว มีนายแพทย์ชาวอเมริกันออกมายืนยันอีกรายว่า สวรรค์มีจริง! โดยตีพิมพ์ข้อค้นพบและหลักฐานสนับสนุนในหนังสือ Proof of Heaven: A Neurosurgeon's Journey into the Afterlife การบอกกล่าวว่าสวรรค์มีจริงครั้งนี้ต่างจากเรื่องอื่นๆ อยู่สองประการ หนึ่งคือตัวผู้บอกเล่า คือ ดร. Eben Alexander III เป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทที่ได้ปริญญามาจากไอวีลีก ทำงานด้านนี้มากว่ายี่สิบห้าปี รวมถึงที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสิบห้าปี เดิมทีเขาเป็นผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายโดยสิ้นเชิง โดยใช้เหตุผลค้านจากความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองและระบบประสาท

ความพิเศษประการที่สองคือ ลักษณะประสบการณ์ของผู้เล่า ในปี ๒๕๕๑ ดร.อเลกซานเดอร์ติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อนี้พบได้ยาก มักจะเป็นแต่กับเด็กเล็ก และอาการรุนแรงมาก หลังจากเริ่มมีอาการปวดศีรษะเพียงไม่กี่ชั่วโมง สมองส่วนคอร์เท็กซ์ก็หยุดทำงานโดยสิ้นเชิง โดยสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมทั้งความคิดและอารมณ์ความรู้สึก ว่าโดยง่ายเป็นส่วนที่ทำให้เราเป็นคนนั่นเอง และที่เขาทราบว่าสมองส่วนนี้หยุดทำงานก็ด้วยคุณหมอท่านนี้ทำงานในแผนกดังกล่าวอยู่แล้วจึงถูกติด ตรวจ และวัดด้วยเครื่องมือศึกษาการทำงานของสมองอย่างละเอียด ทางคณะแพทย์ผู้รักษาพบว่าเชื้ออีโคไลนั้นได้แทรกเข้าไปยังน้ำหล่อสมองไขสันหลังและเริ่มกินเนื้อเยื่อ ทำให้สมองตกอยู่ในอาการช็อกและหยุดทำงาน โอกาสรอดนั้นแทบจะไม่มีเลย

หลังจากนอนเป็นผักไม่ไหวติง ๗ วัน ในขณะที่คณะแพทย์กำลังคิดว่าจะหยุดเครื่องพยุงชีวิตนั้นเอง อาการของเขาก็ดีขึ้นและหายในที่สุด แต่เรื่องราวไม่ได้จบเท่านั้น เพราะเขาได้บอกเล่าประสบการณ์ในช่วงที่เขาอยู่ในอาการโคม่านั้นว่าเขาได้ไปยังดินแดนที่เขาเชื่อว่าคือสวรรค์

ดร.อเลกซานเดอร์ได้บรรยายถึงลักษณะของสถานที่ที่เขาเดินทางไปอย่างละเอียด มีนางฟ้าดวงตาสีฟ้าผู้เป็นมิตรที่สื่อสารกับเขาด้วยโทรจิต หมู่เมฆสีชมพูอ่อนเป็นปุยลอยอยู่ในท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม ที่ล่องลอยอยู่เบื้องบนมิได้มีแต่เมฆ ยังมีอะไรบางอย่างที่คนไทยคงเรียกว่าเทวดาอยู่ด้วย เทวดาเหล่านั้นเปี่ยมด้วยปีติอย่างล้นเหลือจนต้องเปล่งเสียงแห่งความสุขออกมา ที่นั่นภาพและเสียงไม่ได้แยกออกจากกัน เฉกเช่นเดียวกับผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต อีกทั้งยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก

ในอดีตมีคนนับร้อยที่เคยผ่านประสบการณ์ใกล้ตาย (หรือหลังตาย) มาก่อน แล้วกลับมาเล่าเรื่องสวรรค์ (หรือนรก) แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปมักเชื่อว่า เป็นสิ่งที่เกิดจากการทำงานของสมองซึ่งอยู่ในสภาพผิดปรกติ แต่ ดร.อเลกซานเดอร์ บอกว่าประสบการณ์ของเขาแตกต่างไป เพราะเขาเป็นคนแรกที่ตลอดระยะเวลาของการมีประสบการณ์นั้นมีหลักฐานชัดเจนว่าสมองส่วนคอร์เท็กซ์นั้นไม่ได้ทำงานเลย แสดงว่าสวรรค์ที่เขาไปพบมานั้นเป็นของจริง ไม่ใช่เป็นแค่การทำงานผิดพลาดของสมองตามที่มักเชื่อกัน แต่เป็นการรับรู้ เป็นประสบการณ์ที่อยู่นอกสมองไปโดยสิ้นเชิง

ไม่แปลกใจว่าหนังสือของเขาขึ้นอันดับหนึ่งของ New York Times Best Sellers และปัจจุบันก็ยังเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของเว็บไซต์อเมซอนในหลายหมวด ผู้คนจำนวนมากที่ควักกระเป๋าหรือรูดบัตรซื้อหนังสือคงสงสัยอยากรู้ว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่ ลักษณะเป็นอย่างไร ตายไปแล้วฉันจะได้ไปไหม?

แต่จากมุมมองของจิตวิวัฒน์แล้ว เรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับสวรรค์ว่ามีจริงไหม หน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ใช่สาระ สิ่งที่ควรตั้งคำถามมากกว่า คือประสบการณ์ใกล้ตาย การได้พบดินแดนสวรรค์นั้นมีความหมายอย่างไรต่อโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตของคุณหมอ

ประสบการณ์ใกล้ตายหรือการได้ไปสวรรค์เป็นเพียงจุดเริ่มหรือประตูเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ไปสู่การปรับเปลี่ยนระดับจิตสำนึก (Consciousness) ซึ่งก็คือการเปลี่ยนมุมมอง โลกทัศน์ ความเข้าใจต่อตนเอง ชีวิต และโลกที่เราอาศัยอยู่

หากประสบการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแล้วกระบวนการถัดมาคืออะไร

สถาบันไอออนส์ (Institute of Noetic Science) ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในหนังสือ Living Deeply: The Art & Science of Transformation in Everyday Life พูดถึงงานชิ้นสำคัญของสถาบัน เป็นงานวิจัยที่ใช้เวลาหลายปี เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักวิชาการ คุรุ นักปฏิบัติชั้นนำจำนวน ๕๐ ท่าน โดยคัดเลือกเพื่อให้เป็นตัวแทนของศาสนา สำนักปฏิบัติ และกระบวนการเคลื่อนไหวสมัยใหม่ ที่มีรากฐานจากทั้งวัฒนธรรมตะวันออก ตะวันตก และประเพณีชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกับข้อมูลจากแบบสอบถามจากผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมากกว่า ๙๐๐ คน ผลการวิจัยอธิบายถึงกระบวนการโดยสรุปดังนี้

๑. ประตูเข้าสู่ประสบการณ์ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานนั้นเริ่มเข้าสู่เส้นทางจากการพบความทุกข์ความเจ็บปวดในชีวิต เรื่องนี้อาจไม่เป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวพุทธ ดังเช่นที่ครูบาอาจารย์บางท่านกล่าวว่า “ถ้าอยากสุข ให้เอาทุกข์เป็นทางเดิน” แต่สำหรับชาวตะวันตกแล้วเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยนัก แต่ความทุกข์ความเจ็บปวดก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ผู้คนจึงมีโอกาสที่จะได้พบเจอช่องทางเข้าทางนี้เสมอๆ ผ่านความเจ็บป่วยหรือประสบการณ์ใกล้ตายของตนเอง เช่นที่ ดร.อเลกซานเดอร์พบมา ผ่านความเจ็บป่วยหรือการสูญเสียของบุคคลอันเป็นที่รักที่มีความหมายในชีวิต และก็ไม่ใช่แค่ความเจ็บปวดภายนอกเท่านั้น หากประสบการณ์ความล้มเหลวหรือสูญเสียอาจจะเป็นเรื่องภายในก็ได้ เช่นคุณค่าความหมายของชีวิต

ประตูช่องอื่นๆ นั้นผ่านทาง ก) ประสบการณ์ที่รู้ได้เฉพาะตน เช่น เกิดจากการฝึกฝนปฏิบัติสมาธิภาวนา ข) การพบคุรุหรือครูบาอาจารย์ ในแง่นี้ครูมิใช่เป็นเรือจ้าง แต่เป็นเสมือนแผนที่การเดินทางเลยทีเดียว ค) เรื่องราวที่อาจดูเหมือนเล็กๆ ไม่สลักสำคัญอะไร แต่เป็นการปิ๊งแว้บอะไรบางอย่าง เช่นที่มาซาโนบุ ฟูกุโอกะ ผู้เขียนหนังสือปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว หรือ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ค้นพบ หรือจะมาจากการอ่านหนังสือพบเจอข้อคิดที่มีความหมายสำหรับเราก็ยังได้ ง) การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักปฏิบัติว่าธรรมชาตินั้นมีพลังพิเศษบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้มนุษย์เปิดรับกับประสบการณ์ความรู้บางอย่างได้ พระพุทธเจ้าจึงมักแนะนำให้สาวกในศาสนาไปฝึกฝนในป่า สำหรับสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่ กิจกรรมอย่างเช่น นิเวศภาวนา (Eco Quest หรือ Vision Quest) จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้สนใจแสวงหาประสบการณ์ดังกล่าว

แต่ผู้คนไม่น้อยที่พบประสบการณ์ดังว่า ได้มาถึงประตูนี้แล้ว กลับปฏิเสธ ไม่ยอมรับ หรือใช้ความเชื่อเดิมไปอธิบาย เท่ากับการละทิ้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานและไม่ได้เข้าสู่ลำดับขั้นต่อไป

๒. สำรวจค้นคว้า ผู้ที่ไม่ปฏิเสธประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนกับเมล็ดพืชที่พร้อมจะงอก หรือผีเสื้อที่พร้อมจะออกจากดักแด้ เขาต้องพร้อมที่จะเปราะบางและยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยอาจเริ่มจากความเชื่อเกี่ยวกับตนเองหรือเกี่ยวกับโลก ด้วยเพราะชุดความเชื่อเดิมเล็กเกินไปหรือไม่เพียงพอที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น การค้นหานั้นอาจนำไปสู่การค้นพบชุดคำสอน ชุดคำอธิบาย รวมถึงกระทั่งพบเจอการฝึกฝนที่ใช่สำหรับตน

๓. พบแนวปฏิบัติ เพื่อที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นยั่งยืน ผู้ที่ตั้งใจค้นหาต้องหมั่นฝึกฝนปฏิบัติอะไรบางอย่าง เรื่องแนวการปฏิบัตินี้มีให้เลือกมากมาย อาจจะเป็นแนวเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ไทเก๊ก ชี่กง โยคะ เดินจงกรม หรือยกมือสร้างจังหวะ แนวอยู่นิ่ง เช่น การนั่งสมาธิภาวนา แนวผ่านกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ เช่น สร้างงานจิตตศิลป์ แนวผ่านกระบวนการเชิงความสัมพันธ์ เช่น สุนทรียสนทนา การเขียนบันทึก การสะท้อนการเรียนรู้ แนวผ่านพลังพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น นิเวศภาวนา แนวผ่านกิจกรรมรังสรรค์ เช่น การสวดมนต์ หรือแม้กระทั่งแนวผ่านการทำกิจกรรมทางสังคม เช่น การเจริญสติในการทำงานในชีวิตประจำวัน หรือทำงานจิตอาสา เป็นต้น

๔. มีวิถีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับการปฏิบัติ การฝึกฝนนั้นจะต้องไม่แยกออกจากชีวิต มิใช่ชีวิตตามปรกติเป็นแบบหนึ่ง ส่วนการปฏิบัติก็เป็นไปอีกแบบหนึ่งแยกหรือขัดแย้งกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าใจถึงแก่นของการปฏิบัติมิใช่แค่รูปแบบภายนอกเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความแปลกแยกระหว่างการใช้ชีวิตทางโลกด้านนอกและการค้นหาความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในก็จะลดน้อยลง ในระยะนี้มีข้อพึงระวังไม่ให้การปฏิบัติเป็นไปเพื่อตนเองเพียงอย่างเดียว

๕. จากฉันสู่เรา จากเดี่ยวสู่กลุ่ม เมื่อวิถีชีวิตกับการปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเข้าถึงศักยภาพที่สูงขึ้นของตนเอง รวมถึงความรักความเมตตากรุณาที่มีให้กับผู้อื่นสิ่งอื่น การฝึกฝนจะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตนกับสังคมรอบข้าง เห็นโยงใยที่เกาะเกี่ยวทุกชีวิตเข้าด้วยกัน การฝึกฝนและการดำรงอยู่ของตนจึงเป็นไปเพื่อคนอื่นด้วย แต่ในทางกลับกัน จะต้องไม่สุดโต่งไปจนกระทั่งลืมที่จะมีวิถีชีวิตที่ดูแลโจทย์และเป้าหมายของตนเองพร้อมกันไป

๖. ชีวิตที่ลุ่มลึก ในท้ายที่สุด ชีวิตจะมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในสมดุลระหว่างการเข้าใจโลกภายนอกและโลกภายใน ระหว่างการเห็นและดูแลประโยชน์ตนเองและผู้อื่น แบบแผนความคิดและการกระทำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งส่วนใหม่ที่สำคัญของความเป็นตัวเรา ตัวเราที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพใหม่ที่มีบางส่วนของคุณภาพเดิม แต่ก็มิใช่คุณภาพเดิมแต่อย่างเดียว เป็นตัวเราที่พร้อมจะนำการเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่ชุมชนวงกว้าง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานแบบสมุหะและในระดับที่สูงขึ้นไป

ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจิตวิวัฒน์หรือการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานนี้ ยืนยันให้เห็นว่าความสุขจากยกระดับจิตสำนึกนี้เป็นความสุขที่หาง่าย เข้าถึงได้ทุกคน เพราะราคาถูก ที่อาจารย์ประเวศ วะสีใช้คำว่า Happiness at low cost ไม่จำเพาะผู้ที่มีฐานะดีมีโอกาสมีเวลาไปเข้าสปาเข้าคอร์สภาวนาเท่านั้น

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ต้องเริ่มจากการที่เราเปิดใจ เปิดโอกาสให้ตนเองได้เปราะบาง ได้ยอมรับประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับเรา ให้กรอบความคิด ชุดความเชื่อเดิมๆ ได้ขยายออก

ดังนี้แล้วคำถามสำคัญต่อเรื่องราวของ ดร.อเลกซานเดอร์ ที่ว่าสวรรค์มีจริง จึงอาจไม่ใช่แค่การตรวจสอบและพิสูจน์ว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่ มีลักษณะเป็นอย่างไร ตายไปแล้วเราจะได้ไปไหม แต่เป็นคำถามที่ว่า ประสบการณ์บอกเล่าเรื่องแดนสวรรค์ที่ ดร.อเลกซานเดอร์ ได้ไปพบมานั้นมีความหมายอย่างไรต่อโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตของตัวเราอย่างไร?

ขวัญเจ้าเอย



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555

จริงๆ ช่วงชีวิตของผมช่วงนี้มีความเข้มข้นมากที่สุดช่วงหนึ่ง แต่กลับผ่านเวลาไปอย่างไร้ถ้อยคำ

แล้วก็ได้หาหนังสือเกี่ยวกับ “ขวัญ” มาอ่านมากมายหลายเล่ม เมื่อก่อนอ่านงานเขียนของเจมส์ ฮิลแมน (James Hillman) ไม่รู้เรื่อง มาช่วงนี้ก็เริ่มจับต้นชนปลายงานของฮิลแมนได้ และเห็นว่า คนเขียนหนังสือเกี่ยวกับขวัญหลายคนอ้างอิงถึงเขาบ่อยๆ

คนหนึ่งที่อ้างอิงก็คือ บิล พลอตกิน (Bill Plotkin) ผู้เขียนเรื่อง Soulcraft: Crossing into the Mysteries of Nature and Psyche ซึ่งได้ให้แผนที่ที่อาจจะเทียบเคียงเรื่องขวัญ หรือ soul เข้ากับเรื่องอื่นๆ ได้

พลอตกินเขียนว่า เรื่องของ จิตวิญญาณ (spirit) นั้นคือการเดินทางขึ้นไปสู่ที่สูง ในขณะที่ ขวัญ (soul) เดินทางลงล่าง ลงใต้ดิน และ ตัวตน (ego) อยู่แดนกลาง แดนที่เราคุ้นเคย

อันหนึ่งที่จะจับความได้จากสายธารความรู้สายขวัญนี้ ก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องเมล็ดพันธุ์ (seed) ที่จะต้องค้นพบตัวเองว่า ตัวเองจะเติบโตไปเป็นอะไรในที่สุด หรือการให้ความสำคัญกับเรื่องเป้าหมายปลายทาง

ในเรื่องขวัญนี้ ปลายทางของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ในขณะที่เรื่องจิตวิญญาณ เรื่องราวของผู้คนทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน และการหลุดพ้นของคนทั้งหมด ก็เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเป้าหมายเดียวกัน

ในมุมมองทางจิตวิญญาณ ธรรมชาตินั้นดำรงอยู่อย่างเป็นกลางอย่างนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง ที่สำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้จิตของเรามองสิ่งต่างๆ หรือมองธรรมชาติอย่างบิดเบี้ยว หากจิตปกติ จิตเป็นอิสระ การมองธรรมชาติก็จะเป็นไปตามความเป็นจริง ซึ่งถือว่าใช้ได้

ส่วนในมุมมองของขวัญ ธรรมชาติก็มีขวัญ มีเส้นทาง มีปลายทาง และสามารถบอกอะไรเราได้เช่นกัน ในโลกของขวัญ ทุกสิ่งติดต่อปฏิสัมพันธ์กันได้ และธรรมชาติสามารถนำพาให้เราเข้าถึงเป้าหมายปลายทางที่จริงแท้ของเราได้ด้วย ถ้าเราเปิดใจออกให้ธรรมชาติเข้ามาเชื่อมโยงกับขวัญของเรา


กลับสู่ชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติธรรมเหมือนจะนำเราออกไปจากโลกนี้ ไปให้พ้นโลกนี้ที่เป็นทุกข์ แต่ขวัญจะนำพาเรากลับมาหาโลก กลับมาสนิทแนบกับโลก เพื่อจะอ่านสาส์นจากโลก จากธรรมชาติ จากใบไม้ สายฝน พายุ คลื่นลม สิงสาราสัตว์และอื่นๆ เพื่อจะเรียนรู้ว่าชีวิตของเรามายังโลกนี้เพื่ออะไร เรามีอะไรเป็นเมล็ดพันธุ์ แม้ว่าเรา ณ เวลานี้อาจจะดำรงอยู่อย่างตรงกันข้ามกับเมล็ดพันธุ์ของเราเลยก็ตาม เพราะขวัญจะเป็น mysterious other คือเป็น “อื่น” ที่ลี้ลับ

แล้วก็จะมีเสียงเรียกให้เราออกจากความสำเร็จหรือล้มเหลวแบบโลกๆ หรือให้ตายจากโลกของตัวตน (ego อันนี้มีส่วนคล้ายแต่ก็แตกต่างกับ อัตตวาทุปาทาน หรือการยึดมั่นถือมั่นในตน คือมันไม่ได้เป็นด้านลบอย่างเดียว หากเป็นด้านดีก็ได้ เป็นการพัฒนาตัวเองในหลายๆ ทางก็ได้ด้วย ego ของฝรั่งจึงมีความหมายต่างจากคำว่า อัตตาที่เรามักจะใช้กัน) เสียก่อน เพื่อจะได้ไปเกิดใหม่ในโลกของขวัญ ไปเริ่มต้นควานหาความหมายที่แท้จริงที่ทำให้เรามาเกิดบนโลกนี้

ขวัญจะกลับไปในโลกปกติ แต่ด้วยมุมมองใหม่ และจะทำให้ชีวิตร่ำรวยขึ้นในทุกๆ ทาง ไม่ใช้เงินทอง วัตถุสิ่งของ ทรัพย์สมบัติ แต่เป็นคุณภาพใหม่ของชีวิต มิติใหม่ในทุกๆ เรื่องราว ทุกๆ สิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสในชีวิตประจำวัน เราจะรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ เดิมๆ อย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


กระบวนการกับเนื้อหา (process and content)

กลับมามองพุทธศาสนาหรือพุทธธรรม (สำหรับท่านที่นับถือศาสนาอื่นอาจลองเทียบเคียงไปด้วยกันก็ได้)

ในการปรับตัวตามตะวันตกให้ทันในทางพุทธิปัญญา เราได้ทิ้งสิ่งดีๆ ในพุทธศาสนาไปมากมาย โดยเฉพาะทางด้านการปฏิบัติ ผมได้เรียนจากพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ว่า พระพุทธเจ้าท่านเรียงลำดับคุณค่ากิจต่างๆ ของพระสงฆ์ไว้ดังนี้ คือเริ่มต้นที่การปฏิบัติก่อน หมายถึงการปฏิบัติอันเข้าถึงวิมุตติ หรือทางหลุดพ้นอันประเสริฐ และตามมาด้วยการศึกษา คือปริยัติ และสุดท้ายคืองานก่อสร้าง แต่เราจะเห็นว่าพระสมัยนี้นิยมงานก่อสร้างกันมากที่สุด

พอเราไปตามตะวันตก พุทธศาสนาก็จะเน้นไปทางพุทธิปัญญา ซึ่งยังไม่เข้าถึงภาวนามยปัญญา หากเพียงเป็นสุตมยปัญญากับจินตมยปัญญาเท่านั้น การปฏิบัติหากจะยังมีบ้าง ก็เน้นไปทางสมถะภาวนา ซึ่งเป็นงานระดับโยคีบางสำนักในสมัยพุทธกาลเท่านั้น ยังไปไม่ถึงพุทธศาสนา ยังไปไม่ถึงวิปัสสนา

เมื่อผมอ่านงานของ ดร.ฮัล และ ดร.ซิดรา สโตน (สามีภรรยาร่วมกันเขียน) ใน Embracing Each Other อีกรอบหนึ่ง เรื่องที่เด่นขึ้นมาก็คือ การลงไปมีประสบการณ์ในตัวตนต่างๆ ไม่ใช่หลบไปหาความสงบ โดยไม่เผชิญ หากแต่ต้องลงไปในตัวตนต่างๆ และพัฒนาความตื่นรู้ขึ้นมา จิตวิทยาตัวตนของสามีภรรยาคู่นี้ การลงไปในประสบการณ์นั้นสำคัญมาก และตัวตนต่างๆ หรือด้านต่างๆ ของความเป็นตัวเราเหล่านี้ ที่มันมีปัญหาขึ้นมา เพราะตัวตนเหล่านี้เคยเข้ามาในตัวเรา ในอดีตครั้งหนึ่ง ในภาวะที่เราเปราะบาง และบางทีอ่อนแอ ไร้เรี่ยวแรง พวกเขาเข้ามาเพื่อพิทักษ์ปกป้องอาการเปราะบางของเรา พวกเขาจึงเข้ามาแรง อย่างเข้มข้น ซึ่งก็ทำร้ายตัวเองบ้าง ทำร้ายคนอื่นบ้าง

ในจิตวิทยาตัวตน เราจะต้องเข้าไปในประสบการณ์ด้านนั้นของเรา เมื่อก่อนเราเข้าไปและดำรงอยู่ในด้านนั้นๆ ของตัวเรา (ซึ่งเราเรียกว่าเป็นตัวตนต่างๆ ตัวนั้นตัวนี้ ด้านนั้นด้านนี้) อย่างไม่รู้ตัว อย่างไม่ได้เรียน อย่างไม่มีความรู้เท่าทัน เข้าไปโดยไม่มีกระบวนการตื่นรู้และเลือกเฟ้นที่เรียกว่า aware ego ก็คือเราใช้ชีวิตอย่างไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ตื่นรู้ แต่เมื่อเอากระบวนการตื่นรู้เข้าไป เราเริ่มเห็น เริ่มรับรู้ ด้วยประสบการณ์จริง ทั้งศักยภาพและข้อจำกัดของตัวตนต่างๆ เราจะเริ่มเห็นอาการป่วยไข้ หรือความวิปริตของตัวตนต่างๆ ด้วย เป็นไปได้ไหม เมื่อเราตื่นรู้ ความวิปริตต่างๆ ถ้ามี จะบรรเทาเบาบางลงและได้เห็นถึงพลังบริสุทธิ์ของตัวตนต่างๆ ของด้านต่างๆ ในเรา

เมื่อเรานำเรื่องวงจรของสมองมาเปรียบเทียบ ด้านหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ ก็คือเครือข่ายของสมองหนึ่งๆ คือมันก่อประกอบขึ้นเป็นวงจรด้วยสมองส่วนต่างๆ มีทั้งความคิด อารมณ์ความรู้สึก และเจตจำนง เป็นต้น เครือข่ายนั้นๆ อาจจะมีความทรงจำ หรือบาดแผล อาจจะมีความทรงจำซึ่งเป็นปฏิกิริยา หรืออาการปกป้องที่เคยเกิดขึ้น และเมื่อกลับสู่ตัวตนนั้นๆ ด้านนั้นๆ ของตัวเรา เราก็กลับไปสู่อาการปกป้อง อาการเป็นปฏิกิริยานั้นๆ อีก เหมือนการตกลงไปในร่องเดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่พัฒนา แล้วเราก็จะออกอาการผีเข้า และทำลายข้าวของหรือทำร้ายจิตใจผู้คน

แต่เมื่อกระบวนการตื่นรู้เข้าไป ดุจดั่งแสงใสกระจ่างส่องทาบทาเข้าไป สิ่งที่ถูกมอง ถูกส่องก็อาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนเชื่อมโยงวงจรใหม่ๆ เข้ามาอีก ในเครือข่ายแห่งการตัดแต่งเก่าและเชื่อมโยงใหม่ ทำให้เกิดการรื้อสร้างเครือข่ายเซลล์สมอง ทำให้เกิดการก่อประกอบความเข้าใจใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ ในด้านเดิมๆ หรือเสี้ยวเดิมๆ หรือตัวตนเดิมๆ ดร.สโตนสองสามีภรรยาเคยเขียนไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งว่า ตัวตนต่างๆ เหล่านี้อาจจะเติบโต เยียวยาตัวเองได้ในกระบวนการตื่นรู้เช่นนี้

ไถ่ - นัท ฮันห์ เคยเขียนไว้เช่นกันว่า เพียงเราสามารถโอบกอดความไม่ปกติของเราทั้งหลายไว้ด้วยการตื่นรู้ ด้วยสติ ด้วยการรู้เท่าทัน บางทีความไม่ปกตินั้นๆ ไม่ว่าโกรธ เกลียด เบื่อ เหงา เศร้า เซ็งอันใด ก็จะบรรเทาเบาบางลงไปเองบ้าง และหาโอกาสในช่วงขณะที่จิตเข้มแข็ง กลับเข้าไปดูใหม่อีกครั้งก็ได้ เพราะความทรงจำนั้นๆ ยังอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา ถ้าเรากลับเข้าไปด้วยความตื่นรู้ ความรัก และการใคร่ครวญ ก็อาจจะสามารถคลี่คลายบาดแผลและปมนั้นๆ ได้ ในระดับนี้ของพุทธศาสนากระมัง ที่อาจล้วงลึกเข้าไปแก้ไขความทุกข์ได้อย่างถาวร

โรงเรียน “ปิ๊งแว้บ”



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555

นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไปมักจะเกิดจากการที่ผู้สร้างนวัตกรรมนั้นๆ ได้มีเวลาสงบนิ่งอยู่กับตัวเอง ใคร่ครวญทบทวนสิ่งที่กำลังศึกษาค้นคว้าที่ยังไม่มีคำตอบหรือยังหาคำตอบไม่ได้

การใคร่ครวญทบทวน เป็นกระบวนการคิดแบบเชื่อมโยงสัมพันธ์ ระหว่างสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการศึกษาค้นคว้า และมีบ่อยครั้งที่เราพบว่า เมื่อความคิดตีบตัน เพราะติดกับดัก กับความพยายามที่จะแก้ปัญหาเฉพาะจุด เมื่อได้เอาตัวเองออกไปจากปัญหาเฉพาะเหล่านั้น แล้วไปทำอย่างอื่น เช่น เดินเล่นในสวน พักผ่อน อ่านหนังสือ หรือทำสมาธิ... เรามักจะมีปรากฏการณ์ ”ปิ๊งแว้บ” ในเรื่องที่ค้างคาอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะการได้นำตัวเองออกไปจากการคิดและการติดกับในปัญหาเฉพาะจุด ทำให้เรามองไม่เห็นมุมใหม่ แนวทางใหม่ แต่การได้สัมผัสสิ่งใหม่ ช่วยให้เราเกิดมุมมองใหม่และกลับมาจัดการกับปัญหาเดิมได้ เป็นอานิสงส์ของความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างสิ่งใหม่กับเก่า ช่วยให้เรามองเห็นและเข้าใจ “กับดัก” ของการคิดแก้ปัญหาแบบเดิม มองเห็นและเข้าใจแนวทางใหม่ของการจัดการกับปัญหา ด้วยการผนวกควบรวมระหว่างสิ่งใหม่กับสิ่งเก่า แล้วเกิดเป็นความคิดความเข้าใจใหม่ เกิด “ปิ๊งแว้บ” ที่กว้างกว่า ลุ่มลึกกว่า จึงมีความหมายมากกว่าการจำและการเข้าใจของเดิม มีความท้าทาย สนุกและมีความสุขในการค้นพบมากกว่า

คำถามคือ ในโรงเรียน และในสถานศึกษาโดยทั่วๆ ไป ทุกระดับและประเภทของการศึกษา มีกระบวนการและจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เกิด “ปิ๊งแว้บ” หรือไม่

หากพิจารณาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน คำตอบคือ ไม่มี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาคือ สอน สอน สอน เรียน เรียน เรียน จำ จำ จำ สอบ สอบ สอบ แล้วก็ลืมหรือทิ้งไป แล้วก็เริ่มกระบวนการเดิมใหม่ กับวิชาใหม่ ผู้เรียน (และผู้สอน) ไม่มีเวลาในการใคร่ครวญ ทบทวนสิ่งที่เรียนร่วมกัน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ว่าเกิดการเรียนรู้ (ปิ๊งแว้บ) หรือไม่ ในกระบวนการเรียนการสอน ไม่มีเวลาให้กับการสะท้อนการเรียนรู้ (Learning Reflection) ของผู้เรียน ระหว่างผู้เรียน และผู้สอน ไม่มีเวลาในการ “บ่ม” และ “ฟัก” สิ่งที่เรียน เพื่อให้เกิดการปิ๊งแว้บ หรือที่ผู้เขียนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การระเบิดใหญ่สีขาว” (White Big Bang) เลย เพราะทุกอย่างเร่งรีบไปหมด

การเรียนและการเรียนรู้ จึงอยู่ในลักษณะของ “การเลียน” และ “การเลียนรู้” ความรู้เดิม กระบวนการเดิม ภายใต้เงื่อนไขและกติกาเดิม ไม่เกิดสิ่งใหม่ เพราะไม่เกิดปิ๊งแว้บ

ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ดูเหมือนจะไม่มีความสุขกับการเรียนการสอนสักเท่าไหร่ ไม่ตื่นเต้นท้าทายเท่าที่ควร เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดการ “ปิ๊งแว้บ” ในเรื่องที่กำลังเรียนกำลังสอน เพราะการศึกษาในกระแสหลักเป็นการ “ถ่ายทอด” ข้อมูลและความรู้เดิม จึงไม่เกิดสิ่งใหม่ ไม่มีการแตกกิ่ง ต่อยอด

กระบวนการวัดการประเมินก็เน้นไปที่การวัดการประเมินความรู้เก่าตามวัตถุประสงค์และเนื้อหาที่กำหนดไว้

คำถามคือ ผลการสอบ หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สะท้อนว่าผู้เรียนเกิด “ปิ๊งแว้บ” ในสิ่งที่เรียนหรือเปล่า

คำตอบคือ เปล่า เพราะไม่ได้ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ และที่สำคัญ “ปิ๊งแว้บ” ไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นกระบวนการและสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ ผลของปิ๊งแว้บ จะเป็นความรู้ความเข้าใจหรือเนื้อหาสาระใหม่ของผู้เรียนรู้ ที่จะเก็บไว้ สานต่อ และเชื่อมโยงไปยังความรู้ใหม่ๆ ที่ใหญ่และครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิมไปเรื่อยๆ มีความหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นกระบวนการและทิศทางที่ควรจะเป็นของการศึกษา ที่เป็นกระบวนการในการสร้างและให้ความหมายใหม่กับสิ่งที่ศึกษา แต่การศึกษาในกระแสหลัก เน้นและให้ความสำคัญกับการจำกัดความหมาย จึงมักจะเริ่มต้นด้วยการให้คำจำกัดความของสิ่งที่จะเรียนก่อนเสมอ

ลองพาผู้เรียนออกไปนอกห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบๆ เป็นระยะๆ เพื่อสัมผัสกับสิ่งที่ใหญ่กว่า “เนื้อหาวิชา” คือชุมชน สังคม และธรรมชาติ แล้วร่วมกับผู้เรียนตั้งคำถาม เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าสิ่ง (เนื้อหาวิชา) ที่เรียนนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิต ชุมชน สังคม และธรรมชาติหรือไม่ อย่างไร สิ่งที่สอนและเรียนนั้น เป็นประโยชน์กับตนเอง กับผู้อื่น และสรรพสิ่งหรือไม่ อย่างไร ถ้าหาคำตอบไม่ได้ ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วเรียนวิชาเหล่านั้นไปเพื่ออะไร

ลองพาผู้เรียนกลับเข้าสู่มิติภายในของตนเองเป็นระยะๆ เพื่อสำรวจ ทบทวนสิ่งที่ได้เรียน ความเข้าใจ ความไม่เข้าใจ ความรู้สึก ทัศนคติ ความคาดหวังเกียวกับสิ่งที่เรียน แล้วแลกเปลี่ยนเรีบนรู้กับเพื่อนและครู ผ่านสามกระบวนการคือสุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้

ลองพาผู้เรียนออกไปสัมผัสโลกภายนอกเป็นระยะๆ พาผู้เรียนกลับเข้าไปสัมผัสโลกภายในเป็นระยะๆ เพราะสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง ความสัมพันธ์เชื่อมโยงก่อให้เกิดความหมายใหม่ หากมองเห็นและเข้าใจความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ มากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเห็นและเข้าใจความหมายของตนเองและสิ่งต่างๆ ที่สัมพันธ์กันได้มากขึ้นเท่านั้น การเรียนแบบแยกส่วน ก็จะเห็นและเข้าใจแบบแยกส่วน การ “ปิ๊งแว้บ” ถ้าหากจะเกิด ก็จะเป็นการปิ๊งแว้บที่แคบแบบแยกส่วน

ห้องเรียนไม่ได้หมายถึงแค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แคบๆ แออัดยัดเยียด (ห้องเรียนเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะอยู่ในห้องหรือนอกห้องก็ได้ ภายใต้บรรยากาศและกระบวนการที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ต่อการเกิดปิ๊งแว้บทั้งของผู้เรียนและผู้สอน)

การเรียน ไม่ได้หมายถึงแค่การบอก การจด การจำ การอ่าน การทำการบ้าน การฟังการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาและเทคนิคการทำข้อสอบจากผู้สอน

วิชาไม่ได้หมายถึงแค่เนื้อหาที่ปรากฏในตำราเรียน หรือความรู้ที่ครูบอก ที่ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม และสรรพสิ่ง

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่ได้หมายถึงแค่คะแนนที่ได้จากการทำข้อสอบแต่ละวิชา

ความสำเร็จในการดำรงชีวิตอย่างสันติสุข สำคัญกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใช่หรือไม่

ลองใส่ความรัก ความเมตตา ลงไปในกระบวนการเรียนการสอนเป็นระยะๆ แล้วเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับการเรียนการสอนแบบเดิม

ความรู้ที่ไม่มีความรัก ไม่ควรเป็นศาสตร์ของมนุษย์

ความรู้ที่ไม่มีความรัก มักจะถูกนำมาเป็นศาสตราที่ทิ่มแทงและทำลายมนุษย์ เช่นความรู้เกี่ยวกับการสร้างอาวุธที่ใช้ในการทำลายล้างผู้อื่น หากมนุษย์มีความรัก มนุษย์ก็จะเรียนรู้และสร้างศาสตร์ที่จะเอื้ออำนวยต่อมนุษย์และสิ่งอื่น ไม่ทำร้าย ไม่ทำลายล้างตนเอง ผู้อื่นและสิ่งอื่นด้วยศาสตราวุธที่สร้างขึ้น

ความรู้ที่มีคุณค่า จึงต้องเป็นความรู้ที่มีความรักความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกและต่อตนเอง

โรงเรียนปิ๊งแว้บ จึงควรเป็นพื้นที่ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้และความรักความเมตตา เพื่อก่อให้เกิดความรู้และความรักความเมตตาภายในตัวผู้เรียน ภายใต้บรรยากาศของการยอมรับและความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างแท้จริง บนความเชื่อที่หนักแน่นว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง (ปิ๊งแว้บ) เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ แต่เอื้อให้เกิดขึ้นได้ ผ่านกระบวนการและกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่มีมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกคน แต่ละคนไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเรียนรู้เหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่ากัน

ครู อาจารย์จึงต้องมีความรู้ มีความรักความเมตตาเป็นฐาน

โรงเรียนปิ๊งแว้บจึงจะเต็มไปด้วยความรู้และความรักความเมตตา

ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความรู้ (หัว) เป็นชีวิตที่แข็งกระด้าง คล้ายเครื่องจักรและหุ่นยนต์

ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความรักความเมตตา (หัวใจ) เป็นชีวิตที่อ่อนโยน คล้ายสายลม สายน้ำ และแสงแดดในยามเช้า

ระหว่างความรู้ (หัว) และความรักความเมตตา (หัวใจ) คือชีวิต (ศาสตร์และศิลป์) ของความเป็นครู



"Wisdom tells me I am nothing. Love tells me I am everything. And between the two my life flows." --Nisargadatta Maharaj

ระบบปฏิบัติการคู่ สู้การเปลี่ยนแปลง


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555

ผมมีโอกาสจัดวงสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับองค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงมาได้สักระยะ พบว่าพวกเขาต้องการเวทีที่จะพูดถึงปัญหาต่างๆ ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกบีบบังคับหรือตั้งกำแพงใส่กัน เหมือนตอนประชุมไล่ตามงานกันตามโครงสร้างบัญชาการแนวดิ่ง

เดิมทีผมและทีมต้องการจะจัดกระบวนการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง แต่ก็ต้องเปลี่ยนกระบวนการกระทันหัน เพราะเมื่อเริ่มกระบวนการ “นำเข้า” (check-in) พบว่า ใจของคนไม่มากับกระบวนการที่วางแผนไว้เดิม ผมจึงบอกข้อสังเกตดังกล่าวที่ผมและทีมเห็นในการนำเข้า และปรึกษาว่า พวกเขาต้องต้องการทำตามแผนที่วางไว้ หรือต้องการสนทนาประเด็น “ช้างในห้อง” (ปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครอยากจะพูดถึง) มีเสียงตอบรับว่าต้องการเวทีที่จะได้พูดคุยเปิดใจกันมากกว่า

แม้ว่าการสนทนาจะจบลงแบบไม่มีทางออก แต่ตลอดเวลาสามชั่วโมงกว่า สมาชิกทุกคนได้พูดความในใจกัน และตั้งใจฟังกันอย่างลึกซึ้ง มีการพูดคุยถึง “ช้างในห้อง” แม้ว่าอาจจะไม่ครบถ้วนทุกแง่มุมก็ตาม ถ้าผลการประชุมแบบไม่มีทางออกแบบนี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในองค์กร พนักงานอาจเดินออกจากห้องประชุมด้วยความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ และหมดหวังต่อความพยายามในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ต่างออกไปในครั้งนี้คือ เวทีนี้กำลังทำหน้าที่ติดตั้ง “ระบบปฏิบัติการ” ใหม่ให้กับองค์กร นั่นคือระบบปฏิบัติการในแนวราบ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้พนักงานในองค์กรหลากหลายระดับ มาพูดคุยกัน แบบถอดหัวโขนถอดตำแหน่งวางไว้นอกห้อง แล้วเปิดใจคุยกัน

วารสารฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว (Harvard Business Review) ฉบับฉลองอายุครบ ๙๐ ปี (พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๑๒) ตีพิมพ์บทความ “เร่งเปลี่ยน” (Accelerate!) ของจอห์น คอตเตอร์ (John P. Kotter) ศาสตราจารย์ด้านการสร้างภาวะผู้นำในองค์กรจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่กล่าวถึงการต้อนรับความท้าทายที่ต้องการให้องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ว่าองค์กรจำเป็นต้องติดตั้งระบบปฏิบัติการคู่ คือ ๑. ระบบการบริหารจัดการในแนวดิ่ง ระบบนี้เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี มีการสั่งการตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง และพนักงานปฏิบัติการ จากบนลงล่างตามลำดับ และ ๒. ระบบเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ในแนวราบ ซึ่งประกอบไปด้วยพนักงานทุกระดับที่อาสาเข้ามาพูดคุยกัน ส่งต่อข้อมูลที่อาจส่งได้ยากในระบบแนวดิ่ง เพื่อทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร

คอตเตอร์มองว่าระบบปฏิบัติการแนวดิ่ง เป็นระบบที่ได้รับการติดตั้งในองค์กรต่างๆ มาช้านาน และยังคงใช้ได้ผลเป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้ ด้วยการวางระบบการบริหารจัดการเป็นสายลำดับชั้นบัญชาการ ทำให้การทำงานแบบวันต่อวันเป็นไปได้ด้วยดี และช่วยให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าหลายองค์กรในปัจจุบันพยายามทำให้องค์กรแบนราบมากขึ้น ด้วยการปรับลดลำดับชั้นให้น้อยลง ปรับลดการทำงานแบบเจ้าขุนมูลนาย (bureaucratic) เพื่อให้องค์กรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ทำได้ถึงแค่จุดหนึ่ง ก็จะเริ่มตัน ไปต่อไม่ได้

สิ่งที่ผมพบคือ เมื่อพนักงานเริ่มทนทานต่อความท้าทายและอุปสรรคต่อไปไม่ไหว ระบบนี้พร้อมเปลี่ยนเป็นการ “ไล่บี้” จากบนลงล่าง บรรยากาศการทำงานเริ่มอบอวลไปด้วยความอึมครึม เหนื่อยหน่าย และบั่นทอนกำลังใจพนักงานที่ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ จนบางครั้งเกิดความรู้สึกอยากลาออก

คอตเตอร์อธิบายต่อไปว่า ระบบปฏิบัติการแนวราบ เป็นการสร้างเครือข่ายของพนักงานในองค์กร ที่มีลักษณะ “กองทัพอาสาสมัคร” (Volunteer Army) เกิดจากการรวมตัวกันของพนักงานในองค์กรทุกระดับ โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่มีจิตอาสาช่วยเหลือองค์กรฝ่าฟันการเปลี่ยนแปลง พวกเขาเป็นกองทัพที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลได้อย่างเป็นอิสระ นอกกรอบโครงสร้างเป็นชั้นๆ ของระบบแนวดิ่ง ทำหน้าที่วางกลยุทธ์เร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันหรือล้ำหน้ายุคสมัย

สิ่งที่ผมพบจากวงสนทนาข้างต้นและการเปิดใจในวงอื่นๆ ที่ผ่านมาคือ ความกล้าในการอาสานำปัญหามาแบ่งปันกันในวงสนทนาอย่างเปิดเผย อาสาเปิดใจพูดถึงความอึดอัดขัดข้องที่เกิดขึ้นกับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน อาสาให้และรับคำวิจารณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากระบบแนวดิ่ง การเปิดเวทีให้กับการสื่อสารแบบนี้ ยากจะเกิดขึ้นเมื่อองค์กรทำงานภายใต้ระบบเดียว คือระบบปฏิบัติการแนวดิ่ง แต่เมื่อองค์กรเริ่มติดตั้งระบบปฏิบัติการแนวราบควบคู่ไปด้วยกัน องค์กรจะเพิ่มศักยภาพการไหลเวียนข้อมูล และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

การติดตั้งระบบปฏิบัติการคู่ มีหลักด้วยกัน ๕ ประการคือ


๑. ต้องการคนสร้างการเปลี่ยนแปลงประมาณร้อยละ ๑๐ ของพนักงานทั้งองค์กร
๒. ขับเคลื่อนด้วยพลังจิตอาสา
๓. ใช้ทั้งหัว ใช้ทั้งใจ
๔. สร้างภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง
๕. สองระบบ หนึ่งองค์กร


อธิบายหลักการทั้งห้ารวบยอดคือ องค์กรต้องการกองทัพอาสาสมัครที่มีจำนวนมากพอ สักประมาณร้อยละ ๑๐ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารส่วนหนึ่ง และพนักงานปฏิบัติการอีกส่วนหนึ่ง มารวมตัวกันเพื่อพูดคุยกันอย่างเปิดใจ มีการจัดเวทีให้ได้พูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีตำแหน่งหรือภาระหน้าที่มาปิดกั้น ไม่มุ่งเน้นก่อตั้งเพียงแค่กลุ่มแกนนำ แต่มุ่งไปให้ถึงการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกระดับ กลุ่มนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังจิตอาสา ไม่ใช่บังคับให้มาเข้ากลุ่ม คนอาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เสียสละตนในการใช้ทั้งหัว ทั้งใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลง นั่นคือทำความเข้าใจตรรกะของการเปลี่ยนแปลง และเห็นคุณค่าและความหมายของการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อชีวิตตนและผู้คนในองค์กร เสียสละฝึกฝนตนเองให้เกิดภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ ร่วมกันวิเคราะห์โอกาส ร่วมกันลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสุดท้าย เมื่อระบบปฏิบัติการในแนวราบเริ่มเกิดขึ้น จะต้องเชื่อมโยงบูรณาการกับระบบปฏิบัติการในแนวดิ่งได้อย่างลงตัว เนียนไร้รอยต่อ ไม่ใช่สองระบบคู่ขนานที่แยกขาดจากกัน แต่เป็นสองระบบ หนึ่งองค์กร

กองทัพอาสาสมัครนี้หากมีผู้บริหารระดับสูงเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้น และปฏิบัติกับเครือข่ายนี้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับระบบแนวดิ่ง จะยิ่งทำให้เครือข่ายเข้มแข็ง เมื่อนั้นระบบปฏิบัติการแนวราบจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ในฐานะ “ตัวเร่ง” กระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับองค์กรอยู่เสมอ

คอตเตอร์อธิบาย “๘ ตัวเร่ง” ของกระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ได้แก่ ๑. การรับรู้ความเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงเพื่อต้อนรับโอกาสใหญ่ที่กำลังเข้ามา ๒. การก่อตั้งกลุ่มแกนนำสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มาจากพนักงานทุกระดับและมีความเท่าเทียมกันในการสื่อสาร ๓. การสร้างวิสัยทัศน์ที่เป็นเข็มทิศให้กับระบบปฏิบัติการคู่และริเริ่มกลยุทธ์สำคัญและจำเป็นต่อวิสัยทัศน์อันเกิดจากการมีส่วนร่วมจากทุกคนในเครือข่าย ๔. การสื่อสารวิสัยทัศน์ทั่วทั้งองค์กรและเพิ่มจำนวนคนที่ซื้อแนวคิด (buy-in) ให้มาเข้าร่วมกองทัพอาสาสมัครให้ได้ถึงประมาณร้อยละ ๑๐ ของพนักงานทั้งองค์กร ๕. เร่งขับเคลื่อนองค์กรเข้าหาวิสัยทัศน์ โดยมีเครือข่ายคอยทำหน้าที่ทะลายกำแพงต่างๆ ที่ขวางกั้นการขับเคลื่อนนี้ และปรับปรุงการทำงานในระบบปฏิบัติการในแนวดิ่ง ๖. การวางแผนสร้างชัยชนะระยะสั้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเพื่อสร้าง “ความศักดิ์สิทธิ์” ให้กับเครือข่าย ๗. พยายามอย่างต่อเนื่อง ไม่เลิกกลางคัน ด้วยการสะท้อนการเรียนรู้ และสานต่อสู่การเปลี่ยนแปลงก้าวต่อไป และ ๘. การลงหลักปักฐานให้กับการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

สิบห้าปีที่ผ่านมา เขาพบว่าคนมักนำเอาแนวคิดของเขาไปใช้เป็น “ขั้นๆ” ทำให้ขาดมิติความต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ผลลัพธ์คือการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ จบโครงการก็จบการเปลี่ยนแปลง องค์กรส่วนใหญ่จึงยังไม่สามารถสร้างความต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลง ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมและยุคสมัยที่เกิดขึ้นตลอดเวลา การติดตั้งระบบปฏิบัติการคู่ แนวดิ่งและแนวราบ จึงเป็นการทำความเข้าใจใหม่ต่อ “๘ ขั้นตอน” ว่าเป็น “๘ ตัวเร่ง” เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้มีลักษณะต่อเนื่องเป็นกระแสสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรอยู่เสมอ เพื่อให้องค์กรอยู่รอดและก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้ ท่ามกลางอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงจากตลาด สังคม และยุคสมัย

คอตเตอร์ทิ้งทายไว้ในบทความนี้ว่า ๘ ตัวเร่งและกองทัพอาสาสมัครอาจจะมีอุปสรรคหรือจัดการยากในช่วงแรก องค์กรจำเป็นต้องให้เวลากับการฟูมฟักระบบปฏิบัติการในแนวราบสักระยะหนึ่ง แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึง ผมหวังว่าการริเริ่มที่ยังไม่มีทางออกจากวงสนทนาข้างต้น จะมีแรงส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นการสร้างระบบปฏิบัติการคู่ในองค์กรแห่งนั้น

Back to Top