มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 20 พฤษภาคม 2549
กิจกรรมง่ายๆ กิจกรรมหนึ่งที่กลุ่มจิตวิวัฒน์เชียงรายนำมาใช้เสมอๆ ในการทำเวิร์กชอปกับกลุ่มต่างๆ และได้ผลดีมากเสมอก็คือกิจกรรมที่ชื่อว่า “ชีวิตในวัยเด็ก”
กิจกรรมนี้เริ่มต้นด้วยการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่กันแบบสุ่มแล้วให้กำหนดกันเองว่าใครจะเป็นหมายเลขหนึ่งใครจะเป็นหมายเลขสอง เริ่มด้วยการกำหนดเวลาช่วงหนึ่งประมาณสามถึงห้านาทีให้หมายเลขหนึ่งเล่าเรื่องชีวิตในวัยเด็กของตัวเองให้หมายเลขสองฟัง ในระหว่างนั้นให้หมายเลขสองฟังอย่างลึกซึ้งโดยไม่มีการขัดจังหวะใดๆ จากนั้นเมื่อครบกำหนดเวลาหรือเล่าเรื่องจบก็จะใช้เวลาช่วงต่อไปให้หมายเลขสองซึ่งเป็นฝ่ายฟังก่อนนั้นลองสะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินมาจากหมายเลขหนึ่งว่าเล่าอะไรไปให้ฟังบ้าง
จากนั้นสลับหน้าที่กัน ให้หมายเลขสองเล่าเรื่องของตัวเองให้หมายเลขหนึ่งฟังบ้างภายในเวลาประมาณใกล้ๆ กันแล้วให้หมายเลขหนึ่งสะท้อนสิ่งที่ได้ยินในเวลาต่อมา
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ นี้เอง ภายใต้คำเชื้อเชิญของท่านรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์หมอลำดวน วงศ์สวัสดิ์ ผมและทีมเชียงรายได้มีโอกาสไปจัดกิจกรรมกลุ่มให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปี 3 จำนวนประมาณหนึ่งร้อยกว่าคน และมีเวลาให้กับกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ประมาณหนึ่งวันครึ่ง พวกเราตัดสินใจใช้กิจกรรม “ชีวิตในวัยเด็ก” นี้เป็นกิจกรรมแรกกับนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นในบ่ายของวันแรกนั้นหลังจากที่ให้นักศึกษาทั้งหมดล้มตัวลงนอนบนพื้นห้องโถงของอาคารเรียนรวมและผ่อนคลายด้วยการทำ Body Scan ภายใต้การนำของอาจารย์ฌานเดช พ่วงจีนครูไท้เก็กหนึ่งในทีมของพวกเรา
หลังจากนั้นเมื่อนักศึกษาได้ผลัดกันเล่าเรื่องของตัวเองให้กับเพื่อนฟังและสลับหน้าที่กันแล้ว เราก็จัดให้มีการรวมกลุ่มจากสองคนเป็นสี่คน โดยให้แต่ละคนเล่าเรื่องที่ตัวเองได้ยินมาให้กับกลุ่มฟัง โดยมีกติกาในกลุ่มว่าถ้าใครจะเป็นคนพูดให้ยกมือแล้วเล่าเรื่อง เพื่อนอีกสามคนจะฟังโดยไม่มีการขัดจังหวะและเมื่อพูดจบแล้วก็ให้พูดคำว่า “จบ” ทิ้งท้ายด้วย
จากนั้นเราก็รวมกลุ่มนักศึกษาจากสี่คนเป็นแปดคน แล้วแจกกระดาษโปสเตอร์แผ่นใหญ่และสีเทียนให้กับกลุ่มแปดคนนี้กลุ่มละหนึ่งชุด โดยให้แต่ละคนลองวาดรูปที่สะท้อนถึงชีวิตในวัยเด็กที่แต่ละคนประทับใจลงไปในกระดาษแผ่นเดียวกันด้วนสีสันต่างๆ ตามจินตนาการตามชอบใจ จากนั้นให้เล่าให้เพื่อนในกลุ่มแปดคนนี้ฟังถึงความหมายของรูปภาพที่วาดออกมานั้น ภายใต้กติกาเดิมคือให้ผู้ฟังเคารพผู้พูดด้วยการตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง ผมไปสังเกตการณ์ดูมีนักศึกษาคนหนึ่งวาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ ด้วยดินสอสีเทียนสีเขียวแล้วระบายภายในสี่เหลี่ยมด้วยสีส้ม เขียนบรรยายด้วยตัวอักษรสีเขียวไว้อย่างน่ารักมากว่า “พื้นที่เล็กๆ ขอพื้นที่เล็กๆ ให้ยังเป็นเด็กอยู่ได้มั้ย…ให้ความสดใสคงอยู่กับเรา ไม่อยากให้ใครเขามาแย่งไป”
เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรที่ทุกคนได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองแล้ว เราให้แต่ละกลุ่มกำหนดผู้ที่จะเป็น “เจ้าบ้าน” ของกลุ่มจากนั้นให้อีกเจ็ดคนที่เหลือออกไปเดินสำรวจภาพในกระดาษโปสเตอร์ของกลุ่มอื่นๆ ตามชอบใจ ถ้าชอบรูปวาดหรือเจ้าบ้านคนไหนก็ให้ไปอยู่ในกลุ่มนั้น โดยให้กลุ่มใหม่มีจำนวนประมาณแปดคนเหมือนเดิม เมื่อพร้อมแล้วก็ให้เจ้าบ้านบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มเดิมจากภาพวาดที่ทุกคนได้วาดเอาไว้เกี่ยวกับชีวิตในวัยเด็กของแต่ละคนแล้วแลกเปลี่ยนกัน
กิจกรรมง่ายๆ เพียงแค่นี้กินเวลาไปประมาณสองชั่วโมงกว่า นักศึกษาส่วนใหญ่สะท้อนออกมาในวันต่อมาว่า ในทีแรกรู้สึกงงๆ กับกิจกรรมแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะให้ประโยชน์อะไรกับเขา บางคนสะท้อนว่าในตอนแรกดูว่าจะเป็นอะไรที่ “เสียเวลา” แต่ก็ “รู้สึกดี” และยิ่ง “รู้สึกดีมาก” ขึ้นไปอีกเมื่อทราบในภายหลังว่ากิจกรรมเด็กๆ แบบนี้ได้นำพาพวกเขาไปสู่การเรียนรู้มากมายในวันต่อมา
หลายคนสะท้อนออกมาว่ารู้สึกแปลกใจว่าทำไมตัวเองถึงไม่เคยมีโอกาสหรือไม่เคยมีเวลาที่จะได้คุยกับเพื่อนๆ ในชั้นปีในลักษณะแบบนี้มาก่อนเลยทั้งๆ ที่เรียนด้วยกันมาตั้งสองปีเต็มๆ แล้ว
กิจกรรมในช่วงค่ำ เราให้คงกลุ่มแปดคนที่เกาะกลุ่มกันในครั้งสุดท้ายก่อนเลิกกิจกรรมในช่วงบ่าย เราเริ่มด้วยการผ่อนคลายจากนั้นผมใช้เวลาช่วงสั้นบอกเล่าเรื่องราวความเป็นเด็กของผมบ้างโดยลองเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นแพทย์ เพราะแพทย์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะแพทย์ที่จบใหม่ๆ มักจะต้องพยายามวางมาดให้ดูเป็นผู้ใหญ่และบางทีการพยายามทำตัวเป็นผู้ใหญ่มากเกินไปอาจจะทำให้เราหลงลืม “สิ่งที่ดีๆ ของความเป็นเด็ก” ที่มีประโยชน์ไปหลายเรื่องได้หรือไม่
จากนั้นตั้งโจทย์ให้กับนักศึกษาว่า “เราจะสามารถคงความเป็นเด็กของเราในชีวิตความเป็นแพทย์ได้หรือไม่ ถ้าได้-ได้อย่างไร?” แล้วให้กลุ่มแปดคนลองแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในหัวข้อนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการเรียนรู้ในช่วงบ่ายที่ต่อมาถึงในช่วงค่ำ
เราแจกกระดาษโปสเตอร์แผ่นใหม่และสีเทียน ให้นักศึกษาลองวาดรูปถึงเรื่องราวที่พูดคุยกันคือความเป็นเด็กกับความเป็นแพทย์และเมื่อเราขอให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มจำนวนสิบกว่ากลุ่มออกมานำเสนอเรื่องราวบนเวทีตามความสมัครใจ พวกเราก็ได้พบกับความมหัศจรรย์มากมาย
นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดบนเวทีในที่ประชุมว่า “ข้อดีอย่างหนึ่งของความเป็นเด็กคือความกล้า กล้าที่จะสร้างสรรค์ กล้าคิดนอกกรอบแต่ไม่ใช่นอกกรอบแบบที่ไม่เป็นระเบียบหรือไปทำร้ายผู้อื่นนะครับ” นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “เด็กๆ มีความจริงใจ มีอิสรภาพในการคิดในการทำสิ่งต่างๆ บางทีเราไม่ควรจะมาแบ่งแยกว่าความเป็นเด็กจะต้องสิ้นสุดเมื่อไร คือเราน่าที่จะคงความเป็นเด็กและนำสิ่งดีๆ ของความเป็นเด็กไปใช้ได้ตลอดไป”
นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “เด็กๆ มีความเครียดน้อยกว่า เด็กพบกับความแปลกใหม่ในชีวิตเสมอ มีวิธีการมองโลกในแง่ดี เราอาจจะทดลองความเป็นเด็กด้วยตัวอย่างเช่นถ้าเราวิ่งออกกำลังกายก็ให้ลองวิ่งแบบไม่ทับเส้นทางเดิมๆ ดูบ้าง” นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “บางทีการเรียนในคณะแพทย์เราอาจจะต้องช่วยกันและเรียนรู้ร่วมกันมากกว่าแอบหนีไปอ่านหนังสือกันตามลำพัง”
นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “การคบเพื่อนในตอนเด็กๆ เราสามารถคบหาได้ทุกคน แต่พอเป็นผู้ใหญ่แล้วชอบสร้างกำแพงกั้น เรื่องนี้บางที่เราน่าจะนำไปใช้ในชีวิตแพทย์นะคือเราไม่ควรที่จะปิดกำแพงกั้นระหว่างตัวเรากับคนไข้ เพราะบางทีเราอาจจะไม่สามารถรักษาคนไข้ได้สำเร็จด้วยโรคร้ายอะไรบางอย่าง แต่เราจะสามารถรักษาจิตใจของเขาได้เสมอ-ถ้าเราไม่สร้างกำแพงระหว่างแพทย์กับคนไข้”
นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “เป็นผู้ใหญ่แล้วคิดมากเกินไป” นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งพูดว่า “โลกนี้สวยงาม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการมองโลก เด็กๆ มองโลกสวยงามแต่ผู้ใหญ่ไม่ได้มองแบบนั้น” และอื่นๆ อีกมากมายที่ท่านอาจารย์หมอลำดวนได้เป็นประจักษ์พยานได้เห็นได้ยินการแสดงออกของนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ด้วยตัวเอง
ไม่น่าเชื่อว่าด้วยการจัดกิจกรรมง่ายๆ เช่นนี้เพียงแค่เปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงเรื่องราวของ “ชีวิตในวัยเด็ก” เท่านี้ได้ก่อให้เกิด “ความรู้ที่ผุดพรายขึ้นมาได้เอง” ของนักศึกษาแพทย์เหล่านี้โดยที่ “กระบวนกร” (ผู้จัดกระบวนการ) ไม่ได้พูดไม่ได้บรรยายองค์ความรู้ใดๆ ให้กับพวกเขาเลย
การเรียนรู้แบบนี้พอจะใช้เป็นตัวอย่างหนึ่งให้เห็นถึงลักษณะของ “การเรียนรู้จากด้านใน” หรือ “จิตตปัญญาศึกษา” ได้บ้างกระมัง?
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2549
กระบวนการ (Process) ระบบ (System) การจัดการ (Management) การวางแผน (Planning) การประยุกต์ (Application) การพัฒนาองค์กร (Organization Development) การทำให้ง่าย (Simplification) ฯลฯ ล้วนเป็นถ้อยคำที่คุ้นเคยสำหรับผู้ที่ทำงานทางด้านวิศวกรรม วิศวกรมักจะพอใจเมื่อได้จัดการทุกอย่างอย่างเป็นระบบ มีการประยุกต์และทำให้ง่ายขึ้น ดังที่ ลีโอนาโด ดาวินชี ปราชญ์ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม กล่าวไว้ว่า
“Knowing is not enough; we must apply. Being willing is not enough; we must do. Simplicity is the ultimate sophistication.”
(การที่เราจะมีความรู้อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่เราต้องประยุกต์ใช้ด้วย ความตั้งใจอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เราต้องลงมือทำด้วย และการทำให้ทุกอย่างง่าย เป็นศาสตร์อันสุดยอด)
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2549
ริชาร์ด มัวร์ เด็กหนุ่มชาวไอริช ผู้สูญเสียดวงตาทั้งสองข้างไปเมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ เนื่องจากอุบัติเหตุลูกกระสุนยางจากทหารปราบจลาจลพุ่งเข้าใส่ ได้ยึดถือคำสอนของพ่อที่บอกว่า “อย่าได้ให้เมฆก้อนเดียว มาทำลายวันที่แจ่มใสไปได้” เป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งมูลนิธิ Children in Crossfire ช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาในเอเชีย อาฟริกา และละตินอเมริกา
หญิงสาวชาวอาฟริกาใต้ผู้หนึ่งถูกเรียกตัวไปสอบสวนที่โรงพัก เธอถูกบังคับให้ก้มตัวแนบหน้ากับโต๊ะ หน้าอกของเธอถูกลิ้นชักหนีบกระแทกซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังจากเล่าให้คณะกรรมการค้นหาความจริงและสมานฉันท์แห่งชาติฟังก็กล่าวว่า “เราต้องอโหสิกรรมเพื่อสมานบาดแผลร่วมกัน”
และเมื่ออาซิม กามิซา สูญเสียบุตรชาย นักศึกษาหนุ่มนิสัยดีอนาคตไกล ด้วยกระสุนปืนเพียงนัดเดียว จากมือของเด็กวัยรุ่นอายุไม่ถึงสิบห้าปี ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งความโศกเศร้า เขาไม่พบเชื้อไฟแห่งความโกรธแค้น หากพบว่า “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น เหยื่อก็ปรากฏอยู่ทั้งสองด้านของปืน” ทั้งยังได้เดินทางไปพบกับเพล็ส เฟลิกซ์ ปู่ของฆาตกร เพื่อแบ่งปันความรู้สึกสูญเสียร่วมกัน ทั้งสอง – หนึ่งมุสลิม หนึ่งคริสเตียน - ได้ก่อตั้งมูลนิธิ และตระเวนนำละครไปแสดงตามโรงเรียนต่างๆ ในเมืองซาน ดิเอโก เพื่อบอกว่า เด็กวัยรุ่นหนุ่มรุ่นสาวล้วนแล้วแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในตนเอง พวกเขาเหล่านั้นย่อมมีสติปัญญาในการเลือกหาวิถีทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้
ความสามารถในการให้อภัย ไม่โกรธเกลียดต่อผู้ที่ทำร้าย ทั้งยังประกอบด้วยพลังสร้างสรรค์ทางบวก ของผู้คนเหล่านี้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นได้เอง แม้ในหมู่ศาสนิกชนก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้มีให้เป็นได้โดยง่าย หากต้องผ่านการสั่งสมต้นทุนทางจิตวิญญาณมาระดับหนึ่ง
ท่านทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ซึ่งต้องลี้ภัยทางการเมืองจากจีนออกมานอกประเทศเป็นเวลาหลายศตวรรษ ก็ยืนยันว่า แม้ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นองค์อวตารของพระโพธิสัตว์มาหลายภพหลายชาติ แต่ท่านก็ต้องปลูกฝังความกรุณา และพยายามให้อภัยต่อชาวจีน ทั้งยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานับเนื่องติดต่อกันหลายเดือนหลายปีทีเดียว
ท่านชี้ให้เห็นว่า หากเราตกอยู่ในความโกรธเกลียดต่อผู้ที่ทำร้ายเรา ตัวเราเองนั้นแหละที่จะเป็นทุกข์ แต่หากเราให้อภัย เราก็จะพบกับความสุข และมีอิสรภาพ
และถ้าเราไม่รู้เท่าทันอำนาจของความโกรธเกลียด อัจฉริยภาพทางสมองของมนุษย์ก็จะถูกชักนำไปสู่หายนะได้ ดังเหตุการณ์ในวันที่ ๑๑ กันยา หรือสงครามระหว่างจ. บุช กับ บ. ลาเดน
หลักการที่นำไปสู่การให้อภัยตามวิถีพุทธทิเบตที่ท่านทะไล ลามะได้เล่าให้ วิคเตอร์ ชาน ผู้สื่อข่าวและนักเขียนชาวจีนฟัง ในหนังสือ Wisdom of Forgiveness นั้น ดูไม่ง่ายไม่ยาก สรุปรวมอยู่ที่คำสองคำ คือ ความกรุณา และปัญญา
ในการฝึกฝนเพื่อปลูกฝังความกรุณานั้น ท่านให้นึกถึงผู้อื่นหรือผู้ที่เราเรียกว่าศัตรู ว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา ปรารถนาที่จะมีความสุข และไม่อยากมีความทุกข์เช่นเดียวกับเรา
ที่น่าสนใจก็คือการภาวนาแบบให้และรับ หรือที่เรียกว่า ทองเลน นั้น ใช้วิธีเปลี่ยนแปรความเลวร้ายให้กลายเป็นความบริสุทธิ์ เมื่อหายใจเข้าก็รับเอาพิษร้ายแห่งความเกลียด ความกลัว ความโหดร้าย รุนแรง ของผู้ที่ทำร้ายเราเข้าไป เมื่อหายใจออก ก็ทดแทนความชั่วร้ายเหล่านั้นด้วยความดีงาม เช่น ความกรุณา การอโหสิกรรม
ส่วนการฝึกฝนปัญญาญาณนั้น ท่านเน้นการพิจารณาเรื่องความว่าง ความเป็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เมื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่าอนาคตของเราย่อมเกี่ยวพันกับผู้ที่ทำร้ายเรา การดูแลผู้อื่นก็คือการดูแลตนเอง
การทดลองหนึ่งของแอนดรู นิวเบิร์ก และยูจีน ดากิลี ที่ทำกับพระทิเบตรูปหนึ่ง พบว่า ในขณะที่เข้าสู่ภาวะสมาธิขั้นสูง สมองส่วน OAA (Orientation Association Area) ซึ่งเป็นส่วนที่ประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับทิศทาง ได้บล็อกข้อมูลไว้ ทำให้ไม่มีข้อมูลไหลผ่านบริเวณดังกล่าว และเกิดภาวะไร้ขอบเขตขึ้น ซึ่งพระทิเบตรูปนั้นก็อธิบายว่า เป็นความรู้สึกที่ไม่แบ่งแยกกับสิ่งต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่ง การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติภาวนานั้นย่อมทำให้เกิดโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากเดิมได้
บางครั้งความร้าวฉานเกลียดชังไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างบุคคลต่อบุคคล บางครั้งเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ระหว่างเชื้อชาติ ระหว่างผิวสี ระหว่างความเชื่อ ดังเช่น การฆ่าหมู่และถูกทำร้ายจำนวนนับล้านในอาฟริกาใต้ โจทย์หลักร่วมกันก็คือ ผู้คนที่เกลียดชังกันจำนวนมากเหล่านี้จะอยู่ร่วมกันในวันข้างหน้าได้อย่างไร?
สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ประธานคณะกรรมการค้นหาความจริงและสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าวว่า “ค่าใช้จ่ายของการอโหสิกรรมไม่ใช่เรื่องถูก การคืนดีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” ทั้งยังยืนยันว่า “เราจำต้องเปิดแผลมาดู ล้างทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และทายา เผื่อว่า – เผื่อว่าแผลจะหาย” ดังนี้ จึงเป็นที่มาของกระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้กับการยอมรับผิด อโหสิกรรม และการคืนดี
สังเกตได้ว่า ความรู้เกี่ยวกับการให้อภัยหรืออโหสิกรรมนั้นส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในศาสนธรรม เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาด้านในของมนุษย์ก็ว่าได้
ถ้าเช่นนั้น คนทั้งโลกควรปฏิบัติภาวนากันให้หมดจะดีไหม?
“ไร้สาระน่า” – ท่านทะไล ลามะ ตอบ
และทั้งที่คำถามไร้สาระ ท่านยังอุตส่าห์อธิบายต่อว่า “โลกน่าจะมองเรื่องด้านในให้มากกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องทางศาสนา หากเป็นการดึงเอาศักยภาพด้านในของเราออกมา”
เรื่องเล่าว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านตนเองด้านในเพื่อนำไปสู่การให้อภัยเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า คำตอบแห่งการสมานฉันท์คืนดีเพื่ออยู่ร่วมกันในอนาคตนั้นมีอยู่ ทั้งในอดีตและอนาคต
แม้ไม่อาจนิรมิตขึ้นมาได้โดยง่าย หากละทิ้งนิสัยมักง่ายในการซื้อของดีราคาถูกและหวังผลเร็ว อาศัยความเชื่อมั่น และเพียรพยายาม เพชรแห่งปัญญาญาณภายในตัวของมนุษย์ก็จักค่อยฉายแสงขับไล่ความมืดของอวิชชา และเมื่อความกรุณาและปัญญาบรรจบกันเข้า ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงความสุขแท้