ปัญญาญาณแห่งการให้อภัย

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2549

ริชาร์ด มัวร์ เด็กหนุ่มชาวไอริช ผู้สูญเสียดวงตาทั้งสองข้างไปเมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ เนื่องจากอุบัติเหตุลูกกระสุนยางจากทหารปราบจลาจลพุ่งเข้าใส่ ได้ยึดถือคำสอนของพ่อที่บอกว่า “อย่าได้ให้เมฆก้อนเดียว มาทำลายวันที่แจ่มใสไปได้” เป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งมูลนิธิ Children in Crossfire ช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาในเอเชีย อาฟริกา และละตินอเมริกา

หญิงสาวชาวอาฟริกาใต้ผู้หนึ่งถูกเรียกตัวไปสอบสวนที่โรงพัก เธอถูกบังคับให้ก้มตัวแนบหน้ากับโต๊ะ หน้าอกของเธอถูกลิ้นชักหนีบกระแทกซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังจากเล่าให้คณะกรรมการค้นหาความจริงและสมานฉันท์แห่งชาติฟังก็กล่าวว่า “เราต้องอโหสิกรรมเพื่อสมานบาดแผลร่วมกัน”

และเมื่ออาซิม กามิซา สูญเสียบุตรชาย นักศึกษาหนุ่มนิสัยดีอนาคตไกล ด้วยกระสุนปืนเพียงนัดเดียว จากมือของเด็กวัยรุ่นอายุไม่ถึงสิบห้าปี ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งความโศกเศร้า เขาไม่พบเชื้อไฟแห่งความโกรธแค้น หากพบว่า “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น เหยื่อก็ปรากฏอยู่ทั้งสองด้านของปืน” ทั้งยังได้เดินทางไปพบกับเพล็ส เฟลิกซ์ ปู่ของฆาตกร เพื่อแบ่งปันความรู้สึกสูญเสียร่วมกัน ทั้งสอง – หนึ่งมุสลิม หนึ่งคริสเตียน - ได้ก่อตั้งมูลนิธิ และตระเวนนำละครไปแสดงตามโรงเรียนต่างๆ ในเมืองซาน ดิเอโก เพื่อบอกว่า เด็กวัยรุ่นหนุ่มรุ่นสาวล้วนแล้วแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในตนเอง พวกเขาเหล่านั้นย่อมมีสติปัญญาในการเลือกหาวิถีทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้

ความสามารถในการให้อภัย ไม่โกรธเกลียดต่อผู้ที่ทำร้าย ทั้งยังประกอบด้วยพลังสร้างสรรค์ทางบวก ของผู้คนเหล่านี้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นได้เอง แม้ในหมู่ศาสนิกชนก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้มีให้เป็นได้โดยง่าย หากต้องผ่านการสั่งสมต้นทุนทางจิตวิญญาณมาระดับหนึ่ง

ท่านทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ซึ่งต้องลี้ภัยทางการเมืองจากจีนออกมานอกประเทศเป็นเวลาหลายศตวรรษ ก็ยืนยันว่า แม้ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นองค์อวตารของพระโพธิสัตว์มาหลายภพหลายชาติ แต่ท่านก็ต้องปลูกฝังความกรุณา และพยายามให้อภัยต่อชาวจีน ทั้งยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานับเนื่องติดต่อกันหลายเดือนหลายปีทีเดียว

ท่านชี้ให้เห็นว่า หากเราตกอยู่ในความโกรธเกลียดต่อผู้ที่ทำร้ายเรา ตัวเราเองนั้นแหละที่จะเป็นทุกข์ แต่หากเราให้อภัย เราก็จะพบกับความสุข และมีอิสรภาพ

และถ้าเราไม่รู้เท่าทันอำนาจของความโกรธเกลียด อัจฉริยภาพทางสมองของมนุษย์ก็จะถูกชักนำไปสู่หายนะได้ ดังเหตุการณ์ในวันที่ ๑๑ กันยา หรือสงครามระหว่างจ. บุช กับ บ. ลาเดน

หลักการที่นำไปสู่การให้อภัยตามวิถีพุทธทิเบตที่ท่านทะไล ลามะได้เล่าให้ วิคเตอร์ ชาน ผู้สื่อข่าวและนักเขียนชาวจีนฟัง ในหนังสือ Wisdom of Forgiveness นั้น ดูไม่ง่ายไม่ยาก สรุปรวมอยู่ที่คำสองคำ คือ ความกรุณา และปัญญา

ในการฝึกฝนเพื่อปลูกฝังความกรุณานั้น ท่านให้นึกถึงผู้อื่นหรือผู้ที่เราเรียกว่าศัตรู ว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา ปรารถนาที่จะมีความสุข และไม่อยากมีความทุกข์เช่นเดียวกับเรา

ที่น่าสนใจก็คือการภาวนาแบบให้และรับ หรือที่เรียกว่า ทองเลน นั้น ใช้วิธีเปลี่ยนแปรความเลวร้ายให้กลายเป็นความบริสุทธิ์ เมื่อหายใจเข้าก็รับเอาพิษร้ายแห่งความเกลียด ความกลัว ความโหดร้าย รุนแรง ของผู้ที่ทำร้ายเราเข้าไป เมื่อหายใจออก ก็ทดแทนความชั่วร้ายเหล่านั้นด้วยความดีงาม เช่น ความกรุณา การอโหสิกรรม

ส่วนการฝึกฝนปัญญาญาณนั้น ท่านเน้นการพิจารณาเรื่องความว่าง ความเป็นเหตุปัจจัยของสรรพสิ่ง สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เมื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่าอนาคตของเราย่อมเกี่ยวพันกับผู้ที่ทำร้ายเรา การดูแลผู้อื่นก็คือการดูแลตนเอง

การทดลองหนึ่งของแอนดรู นิวเบิร์ก และยูจีน ดากิลี ที่ทำกับพระทิเบตรูปหนึ่ง พบว่า ในขณะที่เข้าสู่ภาวะสมาธิขั้นสูง สมองส่วน OAA (Orientation Association Area) ซึ่งเป็นส่วนที่ประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับทิศทาง ได้บล็อกข้อมูลไว้ ทำให้ไม่มีข้อมูลไหลผ่านบริเวณดังกล่าว และเกิดภาวะไร้ขอบเขตขึ้น ซึ่งพระทิเบตรูปนั้นก็อธิบายว่า เป็นความรู้สึกที่ไม่แบ่งแยกกับสิ่งต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่ง การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติภาวนานั้นย่อมทำให้เกิดโลกทัศน์ที่แตกต่างไปจากเดิมได้

บางครั้งความร้าวฉานเกลียดชังไม่ได้เป็นเรื่องระหว่างบุคคลต่อบุคคล บางครั้งเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ระหว่างเชื้อชาติ ระหว่างผิวสี ระหว่างความเชื่อ ดังเช่น การฆ่าหมู่และถูกทำร้ายจำนวนนับล้านในอาฟริกาใต้ โจทย์หลักร่วมกันก็คือ ผู้คนที่เกลียดชังกันจำนวนมากเหล่านี้จะอยู่ร่วมกันในวันข้างหน้าได้อย่างไร?

สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ประธานคณะกรรมการค้นหาความจริงและสมานฉันท์แห่งชาติ กล่าวว่า “ค่าใช้จ่ายของการอโหสิกรรมไม่ใช่เรื่องถูก การคืนดีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” ทั้งยังยืนยันว่า “เราจำต้องเปิดแผลมาดู ล้างทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และทายา เผื่อว่า – เผื่อว่าแผลจะหาย” ดังนี้ จึงเป็นที่มาของกระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้กับการยอมรับผิด อโหสิกรรม และการคืนดี

สังเกตได้ว่า ความรู้เกี่ยวกับการให้อภัยหรืออโหสิกรรมนั้นส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ในศาสนธรรม เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาด้านในของมนุษย์ก็ว่าได้

ถ้าเช่นนั้น คนทั้งโลกควรปฏิบัติภาวนากันให้หมดจะดีไหม?

“ไร้สาระน่า” – ท่านทะไล ลามะ ตอบ

และทั้งที่คำถามไร้สาระ ท่านยังอุตส่าห์อธิบายต่อว่า “โลกน่าจะมองเรื่องด้านในให้มากกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องทางศาสนา หากเป็นการดึงเอาศักยภาพด้านในของเราออกมา”

เรื่องเล่าว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านตนเองด้านในเพื่อนำไปสู่การให้อภัยเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่า คำตอบแห่งการสมานฉันท์คืนดีเพื่ออยู่ร่วมกันในอนาคตนั้นมีอยู่ ทั้งในอดีตและอนาคต

แม้ไม่อาจนิรมิตขึ้นมาได้โดยง่าย หากละทิ้งนิสัยมักง่ายในการซื้อของดีราคาถูกและหวังผลเร็ว อาศัยความเชื่อมั่น และเพียรพยายาม เพชรแห่งปัญญาญาณภายในตัวของมนุษย์ก็จักค่อยฉายแสงขับไล่ความมืดของอวิชชา และเมื่อความกรุณาและปัญญาบรรจบกันเข้า ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงความสุขแท้

Back to Top