2004

“อะไรง่ายๆ” กับจิตวิวัฒน์ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 25 ธันวาคม 2547

ครั้งหนึ่งที่เมื่อ ท่าน ศ.ดร.สุจินต์ จินายนต์ ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่เชียงรายได้มีโอกาสพบปะและได้พูดคุยกับ ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ท่าน อ.สุจินต์ จึงมีความคิดที่อยากจะนำไอเดียเรื่องจิตวิวัฒน์เข้ามาลองใช้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยดูบ้าง จึงได้มอบหมายให้ อ.อภิสม อินทรลาวัณย์ ทำการประสานงานโดยมี อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู และผม เข้ามาลองช่วยทำโครงการนี้กับนักศึกษา

จิตวิวัฒน์ครั้งแรกในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจึงเกิดขึ้นในเย็นวันหนึ่งหลังเลิกเรียนในต้นฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ นี้ โดยรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่เกิน ๓๐ คน โดยคิดกันว่าอาจจะเริ่มจากการพูดคุยสนทนากันถึงความเป็นมาเป็นไปของจิตวิวัฒน์ และ/หรือ ลองให้ความหมายของคำว่า “จิตวิวัฒน์คืออะไร” กับนักศึกษา

มีความเห็นกึ่งคำถามหนึ่งจากนักศึกษาที่ผมคิดว่าน่าจะถือโอกาสทำความเข้าใจประเด็นนี้ในบทความนี้เสียเลย เพราะเข้าใจว่าท่านผู้อ่านหลายท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มานานพอสมควรแล้วก็อาจจะมีคำถามประมาณนี้เช่นกัน

ว่า “จิตวิวัฒน์เป็นลัทธิอะไรหรือเปล่า” “เป็นพวกล้างสมองอะไรหรือเปล่า”

ผมไม่เชื่อว่าใครจะล้างสมองใครได้ มีแต่ว่าคนๆ นั้นเลือกที่จะมองโลกแบบไหนเท่านั้นเอง ผมอยากจะเรียนว่าพวกเราที่อยู่ในโครงการจิตวิวัฒน์นี้ต่างก็ได้มีโอกาสศึกษางานทดลองงานวิจัยทั้งทางสังคมและโดยเฉพาะงานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก พวกเราพบและเห็นตรงกันว่าการศึกษางานเหล่านี้ในระยะหลังๆ ล้วนชี้นำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “วิวัฒนาการขั้นต่อไปของมนุษย์” จะต้องเป็นการ “พัฒนาที่จิตใจและความคิด”

คำว่า “พัฒนาจิตใจและความคิด” ไม่ได้หมายความว่าให้มนุษย์ทุกคนต้องมา “นั่งสมาธิ” ไม่ได้หมายความว่า “ทุกคนจะต้องเข้าวัด” (แต่ถ้าคุณมองเห็นและเข้าใจประเด็นนี้แล้วอยากจะเข้าวัดก็เป็นเรื่องที่ดีนะ) ยิ่งไม่ได้หมายความไปไกลถึง “การฝึกพลังจิต” ประเภทใช้จิตใจยกช้อนได้หรือ “การสร้างปาฏิหาริย์แบบเหาะเหินเดินอากาศ” อะไรแบบนั้น

แต่หมายความถึง “อะไรง่ายๆ” ที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน “อะไรง่ายๆ” ที่ปรับเพียง “มุมมองและความคิด” แล้ว “เราจะมีความสุขมากขึ้น” “ทำงานได้ดีขึ้น” “มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้น” และผมคิดว่านี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ “จิตวิวัฒน์” ก็คือ “คุณก็ยังคงเป็นคุณ” ใช้ชีวิตเหมือนเดิมเพียงแต่ไม่ใช่แบบเดิมเท่านั้น ถ้าคุณมองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

คุณยังสามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม เพียงแต่เมื่อคุณเข้าใจ “จิตวิวัฒน์” คุณอาจจะมีวิธีการทำมาหากินในรูปแบบที่ทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น เรียนหนังสือได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อช่วงชิงกันแบบเดิมๆ อีกต่อไปเท่านั้นเอง เป็นต้น

ผมขอเล่าสั้นๆ พอสังเขปถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สนับสนุนถึง “การเคลื่อนไหวของแนวคิด” ของคนทั้งโลก คืองานวิจัยของ พอล เอ็ช เรย์ (Paul H. Ray, Ph.D.) ที่ทำในช่วงปี ๑๙๙๙ สรุปว่าประชากรของสหรัฐอเมริกาจำนวน ๒๕% หรือประมาณ ๕๐ ล้านคน ถูกเรียกว่าเป็น “กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม” (Cultural Creatives) เป็นกลุ่มที่มองเห็นคุณค่าและความสำคัญในเรื่องจิตเรื่องใจมากกว่าคุณค่าวัตถุภายนอก ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย นิยมการศึกษาทางเลือกและการแพทย์ทางเลือก ฯลฯ มีจำนวนประชากรสูงขึ้นจากเดิมที่ในช่วงทศวรรษ ๘๐ มีประชากรกลุ่มนี้เพียงไม่ถึง ๑% ของประชากรสหรัฐ พอล เรย์ พบปรากฏการณ์ทำนองนี้ในกลุ่มประชากรยุโรปด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เขายังคำนวณไว้ด้วยว่า จำนวนประชากรของคนที่เป็นกลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมนี้จะมีจำนวนมากขึ้นประมาณ ๑% ทุกๆ ปี นั่นหมายความว่า ณ เวลานี้จำนวนประชากรชาวสหรัฐอเมริกาที่มีแนวคิดแบบนี้ได้เพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ ๓๐% แล้ว

แบบนี้จะเรียกว่าเป็นลัทธิหรือเปล่า ผมเองก็คงจะตอบไม่ได้เหมือนกัน

ในวันนั้นมีคำถามอีกหลายคำถามจากนักศึกษาที่ยังไม่สามารถตอบได้ตรงๆ เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะตอบได้ด้วย “กิจกรรม” ที่ให้ลองสัมผัสประสบการณ์บางอย่างด้วยตัวเอง ผมคิดว่าเหมือนกับที่ท่าน อ.หมอประเวศ วะสี ได้ยกตัวอย่างอยู่เสมอถึงเรื่องการขี่จักรยาน การตอบคำถามเกี่ยวกับการขี่จักรยานว่าจะต้องใช้แรงยังไง ทรงตัวยังไง ถีบยังไง คงจะตอบได้ไม่ดีเท่ากับให้ “ลองขี่ดู” แล้วก็น่าจะได้คำตอบด้วยตัวเอง

กิจกรรมแรกที่ อ.วิศิษฐ์ ให้ลองทำในวันนั้นก็คือกิจกรรมการฟังแบบสะท้อนกลับ โดยให้จับคู่กันแบบสุ่มด้วยการเดินเป็นกลุ่มแล้วให้หันเข้าหาคนที่อยู่ใกล้ที่สุดจับคู่กัน กำหนดคนที่หนึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งคนที่สองเป็นหมายเลขสอง เริ่มจากการให้หมายเลขหนึ่งเล่าเรื่องของตัวเองสามนาที ว่าในวัยเด็กที่มีความสุขมีอะไรบ้าง มีจินตนาการที่ดีๆ อะไรบ้างให้หมายเลขสองฟัง เมื่อครบสามนาทีก็ให้หมายเลขสองทวนกลับเล่าให้หมายเลขหนึ่งฟังว่าได้ยินได้ฟังอะไรมาบ้าง จากนั้นให้ทำสลับกันโดยให้หมายเลขสองเล่าเรื่องของตัวเองสามนาทีให้หมายเลขหนึ่งฟัง เมื่อครบเวลาให้หมายเลขหนึ่งสะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินมาบ้าง

เมื่อกิจกรรมผ่านไปก็ให้ทั้งวงสนทนา ลองสะท้อนความรู้สึกออกมาว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง หลายคนสะท้อนว่ารู้สึกแปลกๆ ไม่นึกและไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถเล่าเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวให้กับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนฟังได้ แต่ก็รู้สึกดีและรู้สึกสนิทสนมกับคู่สนทนาได้อย่างรวดเร็ว รู้สึกว่าการจับคู่เล่าเรื่องแบบมั่วๆ นี้กลับทำให้ได้พบกับคนที่มีส่วนคล้ายๆ กัน เช่นชีวิตในวัยเด็กที่คล้ายๆ กัน อยู่จังหวัดที่ใกล้ๆ กัน ชอบกินหรือเล่นอะไรที่เหมือนๆ กัน ฯลฯ หลายคนบอกว่าไม่เคยมาย้อนดูตัวเองในเรื่องความสุขที่เคยมีมาก่อนเลยเพราะมัวแต่ยุ่งกับการเรียนการสอบและเกิดความเครียด ไม่นึกว่าแค่การลองนึกถึงเรื่องราวที่เคยมีความสุขในวัยเด็กจะทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้

จากเพียงแค่กิจกรรมง่ายๆ แบบนี้ ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตตรงนี้ว่า ด้วยทฤษฎีทางชีววิทยาพื้นฐาน เพียงแต่เรามองย้อนกลับไปเราจะพบว่า มนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาจากเซลล์ๆ เดียวกัน มีความผูกพันซึ่งกันและกันที่ซึมลึกฝังรากอยู่ในโครงสร้างดีเอ็นเอของพวกเรากันอยู่แล้ว เสมือนหนึ่งมี “ความเป็นญาติกัน” อยู่แล้ว ยิ่งเกิดมาในประเทศเดียวกัน หน้าตาผิวพรรณที่คล้ายๆ กัน ก็ยิ่งแสดงถึง “ความใกล้ชิดกัน” ของสายพันธุ์

“แล้วทำไมหรืออะไรที่ทำให้” มนุษย์ในสังคมปัจจุบันถึง “ขาดความไว้วางใจ” ซึ่งกันและกัน เมื่อพบกับคนที่ไม่รู้จัก “เราจะตั้งการ์ดตั้งแง่วางฟอร์ม” “หวาดระแวงระแวดระวัง” ไว้ก่อนเสมอหรือเผลอไปตัดสินก่อนแล้วว่า “ต้องไม่มาดีแน่” อะไรแบบนั้น การทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ “ทดลองให้” เราได้มีโอกาส “หลุดไปจากเกราะกำบัง” ชั่วคราว ย่อมทำให้เรารู้สึกดีขึ้น รู้สึกคุ้นเคยกับคนที่ไม่รู้จัก มองเห็นสิ่งดีงามในเพื่อนมนุษย์และฝึกการ “ไว้ใจชีวิตได้มากขึ้น

จิตวิวัฒน์ที่ ม.แม่ฟ้าหลวง จึงเริ่มต้นด้วยกิจกรรมง่ายเพียงแค่ “การฝึกฟังกันธรรมดาๆ” เป็น “อะไรที่ง่ายๆ” แบบนี้นั่นเอง

จากมะเร็งทางความคิด สู่วิปริตทางสังคมและวัฒนธรรม

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2547

ความคิดที่ผิดๆ ความคิดที่มองแบบทางเดียว ความคิดแบบแยกส่วนลดทอน ความคิดที่ติดยึด ความคิดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดเหนือสิ่งอื่น หรือระบบหนึ่งระบบใดเหนือระบบอื่น ภายใต้อิทธิพลของระบบคิดวิทยาศาสตร์แบบเก่า และเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่เน้นเรื่องการ “เอาชนะ” ธรรมชาติ และการแข่งขันเพื่อความ “เป็นหนึ่ง” เหนือผู้อื่น โดยขาดจิตสำนึกว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรดีอะไรไม่ดี ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น กำลังแผ่ขยายไปในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าเป็นห่วง

ความบกพร่องทางศีลธรรม และความแปลกแยกทางวัฒนธรรม เริ่มกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ภายใต้ข้ออ้างความเป็นมืออาชีพ ความเป็นนานาชาติ ความทันสมัย…

คนที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย คนที่ทำผิดโดยที่กฎหมายลงโทษไม่ได้ เป็นคนเก่ง เป็นคนฉลาด

ครู อาจารย์ คือพนักงานกินเงินเดือน ต้องสร้างผลงานที่จับต้องได้จึงจะได้รางวัลตอบแทนด้วยเงิน ความเป็นอาจารย์และจิตวิญญาณของความเป็นครูถูกละเลย เพราะจับต้องไม่ได้

ถ้ามนุษย์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่จะล้มเลิกหรือยุติความคิดที่ผิดๆดังกล่าว ความคิดเหล่านั้นจะกลายเป็นมะเร็งทางความคิด ที่นำไปสู่ความวิปริตทางการกระทำ ทั้งทางกาย วาจา ใจ ก่อให้เกิดทุกขภาวะทางจิตวิญญาณ ที่บั่นทอนศานติสุขของคน ครอบครัว ชุมชน สังคม โลก และสรรพสิ่ง สังคมนี้จะเต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงดี ชิงเด่น การแบ่งพรรคแบ่งพวก เอารัดเอาเปรียบ รังเกียจ เดียดฉันท์ คนต่างผิว ต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม จะถูกมองว่าเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรู เป็นผู้ต่ำต้อย เป็นพันธุ์พิเศษ...

ทั้งที่จริงควรยอมรับและให้ความเคารพในความแตกต่างและความหลากหลาย มองและปฏิบัติต่อกันในลักษณะที่เป็นเพื่อนร่วมโลก เพราะความแตกต่างช่วยทำให้เห็นความหลากหลายของสุนทรียภาพ ความหลากหลายคือหัวใจของความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนของระบบชีวิต ระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และวัฒนธรรม

โดยนัยนี้ การวิจัยค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาวุธ เรื่อง GMO เรื่อง Cloning มนุษย์และสัตว์... ที่เน้นเพื่อความรู้ (แต่ขาดปัญญา) ที่มีเป้าหมายเพื่อการค้า แปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสินทรัพย์เป็นหลัก จึงไม่สมควรกระทำ

โดยนัยนี้สิทธิบัตร และสิทธิทางปัญญาที่มุ่งเพื่อประโยชน์ทางการค้ามากกว่าคุณภาพชีวิตของมวลมนุษยชาติ เน้นเศรษฐกิจโดยขาดมนุษยธรรมและความเคารพในภูมิปัญญาท้องถิ่นและถิ่นกำเนิดของแหล่งปัญญา จึงสมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากประชากรโลก

โดยนัยนี้ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มุ่งเน้นเฉพาะด้านเศรษฐกิจ คอยจ้องจะเอาเปรียบ หรือหวังผลประโยชน์จากกันและกัน จึงต้องมีการทบทวนอย่างจริงจังกันใหม่

และโดยนัยนี้ การอ้างความมั่นคงทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นเหตุผลในการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองพรรคเดียว (ยกเว้นรัฐบาลแห่งชาติ) จึงสมควรถูกวิจารณ์เพ่งเล็ง เพราะความมั่นคงทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาจากการมีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองพรรคเดียว

เป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศต่างๆ ในโลกจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทย มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศโดยให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำ แต่ขาดสติปัญญาที่จะคำนึงถึงความสูญเสียของระบบอื่นๆ ที่จะตามมา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นระบบครอบครัว ระบบนิเวศ วัฒนธรรม คุณธรรมและศีลธรรมจรรยา ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเชื่อแบบผิดๆ ที่ว่า ถ้าเรารวย มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ระบบอื่นๆ จะดีตามมาเอง หรือสามารถใช้เงินซื้อและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ ใช้เงินซื้อและฟื้นฟูระบบนิเวศได้ ใช้เงินซื้อและทำนุบำรุงรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่ได้ ใช้เงินซื้อและสร้างคุณธรรม ศีลธรรมจรรยาได้ เงินคือพระเจ้าบันดาลได้ทุกสิ่ง

ตัวอย่างมะเร็งทางความคิดในสังคมไทยก็มีหลายเรื่อง ที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่อง “หวยบนดิน” และที่กำลังจะตามมาคือ “ซ่อง” และ “บ่อน” ถูกกฎหมาย และถ้าจะคิดเลยเถิดต่อไปก็อาจจะมีโรงยาเสพติดถูกกฎหมาย โรงอบายมุขทุกชนิดถูกกฎหมาย... โดยมีข้ออ้างเรื่องการบริหารจัดการและการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม

ดารา และนางแบบบางคนเต็มใจ และตั้งใจเปิดเผยอวัยวะและร่างกายบางส่วนหรือทั้งหมด โดยอ้างว่าเป็นงาน อ้างความเป็นมืออาชีพ รวมไปถึงความเป็นอินเตอร์ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของมะเร็งทางความคิด

การมีและการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการพนัน มีซ่อง มีกิจกรรมและกิจการที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่ดีทั้งหลายอย่างถูกกฎหมาย ไม่สามารถเปลี่ยนหรือฟอกสิ่งไม่ดีให้ดีได้ ซ้ำร้ายยังเป็นการปลูกฝังและสร้างค่านิยมที่ผิดๆ ให้แก่คนในสังคม โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นหลังว่า การพนัน ซ่อง บ่อน การเปิดเผยอวัยวะและร่างกายในการประกอบอาชีพ เป็นสิ่งถูกกฎหมาย จึงทำได้และควรทำ เพราะประเทศที่เจริญแล้ว (ทางวัตถุ) เขาก็ทำกัน แถมยังมีรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือสังคมได้ด้วย

แต่อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้น นี่เป็นวิธีคิดที่ผิด มันเป็นมะเร็งทางความคิด ก่อให้เกิดความวิปริตทางการกระทำ นำไปสู่ความวิปริตทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีคุณค่ามากกว่ามูลค่าที่เป็นตัวเงินมากมาย

ประสิทธิภาพทางการบริหารจัดการ ความเป็นมืออาชีพ รวมไปถึงความเป็นสากล ควรเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ และมีความหมายไปในทางที่ดี ไม่ใช่นำมาเป็นข้ออ้างในการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องดีงาม

การทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่ขาดจิตสำนึกแห่งความดีความงามทางคุณธรรมและจริยธรรม ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ไม่สมควรคิด เพราะกฎหมายโดยสาระสำคัญ ควรมีขึ้นเพื่อรักษาความเป็นระเบียบ ความดีงาม ความถูกต้อง และความสมานฉันท์ของคนในสังคม ไม่ใช่การรับรองความไม่ถูกต้อง ความไม่ดีไม่งาม ของคนบางคนในสังคม

การทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร ให้ถูกกฎหมาย เป็นการพยายามแยกความดี ความงาม และความถูกต้องทางจริยธรรม คุณธรรม รวมถึงวัฒนธรรม ออกจากความถูกต้องทางกฎหมาย ทั้งที่ทั้งหมดนี้ควรจะไปด้วยกัน ไม่แยกออกจากกัน กฏหมายควรเป็นส่วนหนึ่งของความดีความงา ที่สะท้อนวัฒนธรรมของสังคม

ผู้บริหารที่ดีและเก่ง จึงควรทำและส่งเสริมในสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the right things) ไม่ใช่เก่งเฉพาะ Doing things right. (ทำสิ่งต่างๆ (ที่อาจไม่ถูกต้อง) ให้กลายเป็นเรื่องถูกต้อง)

ขอให้เราเริ่มต้นด้วยความคิดที่ถูกต้อง จะได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มะเร็งทางความคิดก็จะไม่เกิด ความวิปริตทางการกระทำก็จะไม่มี สังคมนี้ก็จะมีศานติสุข มีสันติวัฒนธรรม

ทำความเข้าใจเรื่องไอคิว
เมื่อเด็กชายไอน์สไตน์ไม่ใช้บัตรคำ

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2547

ไม่จำเป็นเสมอไปที่อัจฉริยะจะมีไอคิวสูง และหลายกรณีก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างเช่น วัตสัน (James Dewey Watson) ที่ได้รางวัลโนเบลในการค้นพบโครงสร้างโมเลกุลของดีเอ็นเอ ก็มีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับเด็กส่วนใหญ่ (๖๘ % ของเด็กร่วมสมัยกับเขา) เท่านั้น

นอกจากนี้ ไอคิวก็วัดได้เฉพาะปัญญาที่ใช้ในการเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น หนังสือได้ยกตัวอย่างว่า เด็กคนหนึ่งมีผลการเรียนในโรงเรียนแย่มาก พ่อแม่จึงพาไปวัดไอคิว ปรากฏว่าไอคิวของเด็กสูงพอสมควร วิธีนี้ช่วยให้พ่อแม่ได้รู้ว่าลูกของตัวเองปกติ บางทีโรงเรียนอาจจะมีปัญหาในการดูแลและให้การศึกษาเด็ก บางทีการย้ายโรงเรียนอาจจะเป็นคำตอบ หรือบางทีการที่พ่อแม่เพิ่งจะหย่าร้างกันอาจมีผลกระทบต่อเด็ก การให้เวลาและความใส่ใจที่จะเยียวยาบาดแผลในเรื่องเหล่านั้นแก่เด็ก อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าก็เป็นได้

“ปัญญาของเด็ก เกิดจากเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเด็ก” ประโยคง่ายๆ นี้เป็นข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์สามคนที่ศึกษาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กและได้เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา

บางทีกิจกรรมง่ายๆ เช่นเด็กอายุสี่ขวบที่ตามแม่เข้าไปในร้านอาหารแดกด่วนอย่างแมคโดนัลด์ จะยืนไปต่อแถว นั่นหมายถึงเธอเรียนรู้ว่า ร้านอาหารนี้หรือร้านอาหารอย่างนี้ เขาไม่ได้บริการอาหารตามโต๊ะ แต่ลูกค้าต้องไปเข้าแถวบริการตัวเอง และอื่นๆ อีกมากมายที่เด็กได้เรียนรู้ แต่เราไม่ได้ทันสังเกตว่านั่นคือการเรียนรู้แล้ว!

เปียเจ เป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการที่ช่างสังเกตอย่างยิ่งคนหนึ่ง เขาแบ่งกิจกรรมการทำซ้ำของเด็กเล็กๆ ออกเป็นสามช่วงตอน ตอนแรกเป็น sensory-motor หรือการเคลื่อนไหวกายกับสัมผัส หรือประสาทรับรู้ อย่างเช่นเด็กสามเดือนจะเอานิ้วเข้าปากครั้งหนึ่ง อาจจะโดยบังเอิญคือเข้าได้ตรงปาก เพราะหลายครั้งที่เขาทำเช่นนั้น มันไม่ได้เข้าปากเสมอไป แต่เขาหรือเธอก็พยายามจะเอานิ้วเข้าปากอีก ลองผิดลองถูก จนสามารถเอานิ้วเข้าปากได้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการเรียนรู้แล้ว!

ตอนที่สองของการทำซ้ำ เป็นขั้นตอนเมื่อเด็กเคลื่อนกาย คือเขาได้สังเกตเห็นผลกระทบที่การเคลื่อนไหวของเขาไปมีผลกับสิ่งอื่นๆ รอบตัว เช่นถ้าสั่นขา เก้าอี้ก็อาจจะสั่นตาม เป็นต้น ส่วนในการทำซ้ำขั้นที่สามนั้น เด็กจะทำกิจกรรมซ้ำๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมนั้นไปบ้างเล็กน้อยในแต่ละครั้ง เช่นการขว้างช้อนลงพื้นก็อาจจะทำแรงไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง เป็นต้น และทั้งหมดนี้ก็คือการเรียนรู้โลกของเด็ก การทำซ้ำเหล่านี้เป็นอิฐพื้นฐานในการก่อสร้างปัญญาของเด็ก

อีกเรื่องหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง และให้ความสำคัญว่าเป็น “เรื่องราวปกติในชีวิต” ที่จะพัฒนาปัญญาของเด็ก ก็คือการพูดคุยกับเด็กธรรมดาๆ นี้เอง ซึ่งอาจจะรวมการเล่านิทานเอาไว้ด้วยก็ได้ พวกเขากล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า แบบทดสอบไอคิว ส่วนใหญ่แล้วก็คือการตรวจสอบความร่ำรวยมากน้อยของคำศัพท์ที่เด็กมีใช้อยู่นั้นเอง คำศัพท์ทำให้โลกของเด็กกว้างใหญ่ขึ้นและร่ำรวยขึ้น และหนทางที่จะเพิ่มพูนคำศัพท์นั้นมา ก็โดยผ่านการพูดคุยระหว่างเด็กกับคนอื่นๆ ในครอบครัว ตรงนี้เองที่เด็กชายไอน์สไตน์ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูขึ้นมาด้วยบัตรคำ (แผ่นกระดาษแข็งที่มีภาพหรือคำต่างๆ ที่ใช้ในการสอน) ไอน์สไตน์บอกว่า ถ้าต้องการให้เด็กฉลาด ให้เล่านิทานให้เด็กฟัง และถ้าต้องการให้ฉลาดกว่านั้นขึ้นไปอีก ก็เล่านิทานให้เด็กฟังมากขึ้น แค่นั้นเอง

มีนักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้คิดแบบทดสอบสำหรับวัดสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศภายในบ้านว่าเกื้อกูลต่อการก่อเกิดปัญญาของเด็กเพียงใดหรือไม่ โดยเรียกแบบทดสอบนี้ว่า HOME ชื่อเต็มว่า Home Observation for the Measurement of Environment แบบทดสอบนี้ ถ้าได้คะแนนต่ำ แสดงว่าสิ่งแวดล้อมภายในบ้านหลังนั้น อาจจะมีส่วนลดทอนไอคิวเด็กได้ถึง ๑๕-๒๐ แต้ม ส่วนคะแนนสูงย่อมมีส่วนเสริมสร้างปัญญาให้แก่เด็กอย่างแน่นอน แบบทดสอบนี้จะรวบรวมข้อมูลจากคุณภาพชีวิตของเด็กภายในบ้าน โดยวิธีสังเกตการณ์และสัมภาษณ์พ่อแม่ คะแนนที่ได้จะเกี่ยวกับว่า มีความเอาใจใส่ดูแล การให้กำลังใจ และการเข้าร่วมกับเด็กจากผู้ใหญ่ขนาดไหน? พวกเขายอมรับเด็ก ไว้วางใจเด็กขนาดไหน? เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างปัญญาของเด็ก ไม่ใช่วิธีการให้ข้อมูลโดยตรงกับชุดเสริมปัญญาต่างๆ ที่มีขายอยู่ในท้องตลาด!

สู่การปรับวิธีคิดในการดับไฟใต้

โดย ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2547

เหตุการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้มีแต่เรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์ เศร้าหมองและวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลายเป็นวิกฤตการณ์ระดับชาติแล้ว ร้อนถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านต้องเสด็จออกมาทรงให้สติให้คำแนะนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ช่วยกันดับความทุกข์ร้อนของพสกนิกรที่ท่านทรงรักและห่วงใย หากแต่ภารกิจหนักหนาสาหัสและซับซ้อนที่มีเหตุปัจจัยสั่งสมมานานก็ยังจะต้องสะสางกันต่อไป เพื่อให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ในการนี้ ผู้มีอำนาจหน้าที่ทุกระดับทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องคิดและทำงานด้วยจิตใจที่สูง สะอาด ฉลาด และเฉลียวเป็นอันมาก

ในฐานะประชาชนที่เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งที่ถือกำเนิดเป็นคนใต้ ได้รู้เห็นและสัมผัสทุกข์สุขของคนใต้มามากพอสมควร และด้วยสำนึกในบุญคุณแผ่นดินเกิด ผมขอเสนอความเห็นเพื่อท่านผู้มีอำนาจหน้าที่ได้โปรดรับไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลในการดับไฟใต้ ดังนี้

๑. ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบริบทของความไม่เข้าใจกันเป็นพื้นฐานครั้งนี้ ก่อนอื่นผู้ใช้อำนาจรัฐทุกระดับจะต้องยกใจไว้ให้อยู่เหนือความโกรธ ความแค้นเคือง และความหลงผิดว่าท่านเป็นผู้มีอำนาจเหนือประชาชน รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในประชาคมมุสลิมก็ต้องยกระดับจิตใจไว้เหนืออารมณ์ดังกล่าวเช่นกัน ในประเด็นนี้ โต๊ะครูท่านหนึ่งจากอำเภอรือเสาะเคยพูดในที่ประชุมแห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ฟังแล้วจับใจผมมาก ท่านบอกว่า “ความจริงชาวพุทธที่ดีกับพี่น้องมุสลิมที่ดีเขาเข้าใจกัน เขาอยู่กันได้ดีเป็นปกติ เขาพึ่งพาอาศัยและร่วมมือกันทำสิ่งดีงามได้เสมอมา” ยิ่งกว่านั้นผมออกจะทึ่งมากที่ท่านรอบรู้พุทธธรรมหลายข้ออย่างถูกต้อง ทำให้ผมได้คิดต่อมาว่า ถ้าเช่นนี้ก็สมควรที่ชาวพุทธจะศึกษาหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมะของทางอิสลามให้มากกว่านี้ จะได้ปฏิบัติต่อกันได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่ออะไร? ก็เพื่อเราจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากทำได้เราก็จะสามารถเข้าใจปัญหาเข้าถึงความจริงได้อย่างผู้ใหญ่ที่ปลอดอคติ

๒. ถ้ายอมรับต่อกันอย่างกล้าหาญว่าความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ ที่นำไปสู่การทำร้ายต่อกันหลายหลากวิธี มิใช่ความผิด ความเลวร้ายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความผิดความเลวร้ายของทั้งสองฝ่าย ต่างกรรมต่างวาระกัน ก็ชอบที่จะหันหน้าเข้าหากัน ใช้ธรรมะแห่งศาสนาของเราแต่ละฝ่ายเป็นพื้นฐาน พร้อมใจกัน ขอโทษและอโหสิกัน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชน เพราะเราเป็นคนของแผ่นดินเดียวกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานานหลายชั่วคน ถ้าทำได้ดังนี้ก็จะได้รับการแซ่ซ้องสาธุการไปทั่ว จะทำได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมใจกันยกระดับมโนธรรมสำนึกของเป็นผู้ใหญ่ที่มีน้ำใจที่สงบ ใสสะอาดและสว่างด้วยปัญญา ยิ่งเมื่อรู้ตรงกันแล้วว่า มิใช่พี่น้องมุสลิมที่อยู่ในศีลในธรรมเป็นผู้ก่อการ แต่เป็นคนที่หลงผิด เข้าใจผิดต่างหาก เช่นเดียวกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ลุแก่อำนาจทำไปเกินกว่าเหตุในบางครั้ง ก็น่าที่จะร่วมใจร่วมมือกันระงับเหตุระงับภัยที่จะมาได้ดียิ่งขึ้น

๓. พื้นฐานทางจิตที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ การให้อภัยและการอโหสิกันดังเสนอข้างต้น จักต้องประกอบด้วย ความเมตตากรุณา รวมทั้งอุเบกขา และขันติธรรมที่พึงมีต่อความแตกต่างทาง ความเชื่อ
และวัฒนธรรม จะว่าไปถ้าเราถือหลัก “แลหลังรู้ที่มา แลหน้ารู้ที่ไป” ตรงกัน และลองสืบสาวสาแหรกความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ทางศาสนาต่างวัฒนธรรม ถึงที่สุดแล้วเราจะพบว่าไม่ว่าจะนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู หรือศาสนาใดๆ เราทั้งหมดก็เป็นมนุษย์ด้วยกันดังที่ท่านมหาตมะ คานธี ได้กล่าวไว้ว่า “โลกทั้งผองพี่น้องกัน” ยิ่งเมื่อดูให้ใกล้แคบเข้ามา พวกเราในแว่นแคว้นสุวรรณภูมิล้วนมีสายสัมพันธ์กันมานาน พึ่งพาอาศัยกันมาหลายชั่วคน เราทะเลาะกันบ้าง ดีกันบ้าง เป็นธรรมดา ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจน่าจะนำไปสู่การให้อภัยและการอโหสิกันได้มิใช่หรือ

๔. ว่าจำเพาะผู้มีอำนาจหน้าที่ของรัฐ ต้องขอร้องตรงไปตรงมาว่า ท่านต้องปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นว่าท่านเป็นนายของชาวบ้าน และท่านกำลังทำหน้าที่ขจัด “เสี้ยนหนาม” ของแผ่นดิน ทำไมต้องปล่อยวาง? ต้องขอให้ปล่อยวางก็เพราะอีกฝ่ายหนึ่งเขาไม่แคร์เลยว่าท่านใหญ่แค่ไหน เขาแคร์ว่าเขาได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ต่างหาก การวางตัวว่าเสมอกันพูดกันได้ น่าจะมีผลดีกว่าในทางจิตวิทยา จะว่าไปก็คงคล้ายๆ กับผู้ใหญ่ที่ย่อตัวลงไปหาผู้น้อยและจริงใจที่รับฟังปัญหาข้อโต้แย้งจากมุมมองของการฟังด้วยเมตตาธรรมและขันติธรรม ถ้าทำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้มากขึ้นบนฐานความเสมอภาค และความยอมรับนับถือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง อะไรๆ ก็น่าจะพูดกันได้ดีขึ้น

๕. เราได้อ้างถึงกันมาก ถึงคำสั่ง นรม.ที่ ๖๖/๒๕๒๓ ของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ต่อเนื่องกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีผลให้ยุติการต่อสู้กันด้วยความรุนแรง ระหว่างคนของรัฐกับผู้ที่สังคมไทยเรียกเขาว่าคอมมิวนิสต์ ซึ่งในแก่นแท้ของคำสั่งดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงวุฒิภาวะระดับสูงและจิตใจที่ถึงธรรมของระดับผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจรัฐ ยังผลให้การเข่นฆ่ากันยุติลงโดยสิ้นเชิง บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบสุข นานาอารยะประเทศเมื่อได้ทราบทั่วกันต่างก็แซ่ซ้องสรรเสริญรัฐประศาสนศาสตร์ของไทยไปทั่วโลก ก็ในเมื่อเราทำสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่ง เหตุไฉนเราจะทำให้สำเร็จอีกครั้งหนึ่งไม่ได้? ผมเชื่อมั่นว่าเราน่าจะทำได้ โดยความสนับสนุนของประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมผู้ใฝ่สันติ สำหรับการแทรกแซงจากภายนอกก็เป็นเรื่องที่เราจะประมาทมิได้ แต่ในเมื่อเรามีทั้งความฉลาดและเฉลียวอย่างเพียงพอ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวิตกจนเกินไป (ถ้าการข่าวและดุลยพินิจของเราดีพอไวพอ) โดยสรุปก็คือ เป็นการสมควรยิ่งที่รัฐบาลจะออกประกาศนิรโทษกรรมให้กับทุกคนทุกฝ่ายดังที่ได้มีผู้เสนอหนาแน่นขึ้นทุกที

๖. เพื่อให้บรรลุผลดังเสนอข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้รับผิดชอบของบ้านเมืองทุกระดับทุกฝ่ายด้วยความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องมุสลิมทั้งในและนอกพื้นที่จะต้อง เจริญสติ และระดมปัญญาในการคิด พูดและทำทุกอย่างด้วยความสุขุม เพื่อให้สันติสุขของพี่น้องประชาชนกลับคืนมา เลิกเสียเถิด สำหรับคำว่า “ผมขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” หรือ “ไอ้คนพวกนั้นผมไม่เอามาทำพ่อ” มันเป็นการแสดงความโอ้อวด แสดงสีสันที่เป็นการยั่วยุซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดเลย ให้โอกาสให้กำลังใจคนทำงานทุกฝ่ายช่วยกันคิด และทำให้ดีที่สุด เพื่อช่วยกันดับไฟใต้ให้สำเร็จดีกว่า

ด้วยข้อเสนอข้างต้น (และข้อเสนอดีๆ อีกมากมาย อาทิเช่น ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี , ศ.ดร.เขียน ธีรวิทย์ ฯลฯ) ผมมั่นใจว่าอะไรๆ กำลังจะดีขึ้น ประชาชนผู้ใฝ่สันติและมีใจเป็นธรรมทั่วประเทศ รู้กันทั่วแล้วว่าอะไรเป็นอะไร เรากำลังพร้อมใจกันตั้งจิตอธิษฐานให้ความสุขสงบร่มเย็นของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลับคืนมาโดยเร็ว

การพับนกให้ได้ ๖๓ ล้านตัว เป็น “อภิมหาสัญลักษณ์” เพื่อส่งไปโปรยลงไปที่สามจังหวัดภาคใต้ แม้ดูจะฮือฮาและไร้เดียงสาไปบ้าง แต่ก็เป็นเสรีภาพในการแสดงออกถึงพลังมหาชนที่ได้ถูกจุดประกายขึ้นแล้ว ซึ่งจะว่าไปก็อาจทำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรโหมกระพืออารมณ์ชาตินิยมรุนแรง จนเกิดผลเสียทางจิตวิทยาขึ้นมาอีกจนได้ เอาเป็นว่าได้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มีขอบเขตพอดีพองาม มิให้เกิด “ผลพลอยเสีย” จากการแสดงออกแบบสุดโต่ง อย่างไรก็ตาม ในเบื้องลึกของมโนธรรมสำนึกของคนไทยทั้งประเทศ ขอให้น้อมจิตแสดงออกให้ทั่วกันว่าเราต้องการความสงบร่มเย็นให้แก่พี่น้องทุกชีวิตกลับคืนมา เราต้องการให้อภัยกัน อโหสิกัน และประกาศนิรโทษกรรมถ้วนหน้า

ผมเชื่อมั่นว่า พลังจิตของเราทั้งหมด หากแสดงออกพอเหมาะพองาม จะสัมฤทธิ์ผลในที่สุดในเวลาไม่นานเกินรอ

สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้ใช้อำนาจเพื่อการทำงานครั้งนี้ทุกท่านจงเจริญรอยตามพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำรัสไว้เป็นพระราชปณิธาน เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ มีใจความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” โปรดถือว่า นี่คือ คาถาในการดับไฟใต้ให้สำเร็จ

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ

โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2547

มีคำภาษาอังกฤษคำหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ท้าทายของนักการศึกษาในวงการศึกษากระแสหลักและขณะเดียวกันก็เป็นที่ดึงดูดใจต่อนักการศึกษาทางเลือกในโลกตะวันตก คือคำว่า Contemplative Education ซึ่งประกอบด้วยคำสองคำที่มีความหมายกำกวม ตีความไปได้หลายทิศหลายทาง ถูกนำมารวมกันเพื่ออธิบายความคิดหนึ่งที่ฉีกออกไปจากความหมายเดิมๆ ของการศึกษาที่คนทั่วไปเข้าใจกัน...

contemplative แปลเป็นไทยในการทึกทักเอาเองของผู้เขียนว่า “ที่ใคร่ครวญครุ่นคิดคำนึงด้วยใจโดยแยบคาย” พอตีความไปในทำนองนั้น ทำให้นึกถึงคำบาลีในพุทธศาสนาที่ว่า “โยนิโสมนสิการ” (การพิจารณาโดยแยบคาย) ที่ดูแล้วสองคำจากสองภาษาต่างให้ความหมายอันเดียวกันนั่นเอง

education เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันดี แปลเป็นไทยได้ว่า “การศึกษา” เราใช้คำว่าการศึกษากันจนลืมความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้ไป การศึกษากลายเป็นภาพของรั้วโรงเรียน ห้องเรียน ครู นักเรียน เครื่องแบบ ปริญญา อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่เรารับเอาระบบการศึกษาจากทางตะวันตกมา ด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษาแบบนั้นจะพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อการพาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ ทัดเทียมเท่าทันประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก แต่ในทางพุทธของเรา คำว่าศึกษาหรือสิกขาหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่กอปรด้วยความพร้อมพรั่งใน ศีล สมาธิ และปัญญา ไม่แยกขาดออกจากกัน

contemplative education จึงหมายถึง การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ นัยที่ซ่อนอยู่ของคำๆ นี้ มิใช่แสดงถึงรูปแบบของการศึกษา หรือ ระบบการศึกษา แต่เน้นไปที่ “กระบวนการ” คำๆ นี้เหมือนเป็นการจุดประกายความหมายใหม่ ให้เราย้อนกลับไปหาราก คุณค่า และความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ ที่มีผลระยะยาวต่อชีวิตของคนๆ หนึ่งทั้งชีวิต contemplative education สะท้อนให้เห็นกระบวนการ ความเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ...นำไปสู่การตั้งคำถามอย่างถึงราก ต่อการศึกษาในระบบ ที่ได้จำกัดการเรียนรู้ให้แน่นิ่ง อยู่ในกรอบในขั้นตอน ที่ถูกจัดวางไว้แล้วอย่างตายตัว

มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพของการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนจน คนรวย คนบ้านนอก คนกรุง คนต่างชาติต่างวัฒนธรรม คนทุกคนต่างมีธรรมชาติของจิตแบบเดียวกัน เป็นจิตใจที่สามารถเป็นอิสระจากภาพลวงตาของอัตตาตัวตน ก้าวพ้นสู่การสัมผัสความดี ความงาม และความจริง จนก่อให้เกิดความสุขสงบเย็นอย่างยั่งยืนภายใน

ปัญหาของการศึกษาก็คือ เรากลับไปเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง พยายามจะผลิตคนเก่งและคนฉลาด ขณะเดียวกันก็ได้ตีตราคนอีกกลุ่มว่าเป็นคนโง่ไม่เอาไหน เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งกันเป็นผู้ชนะ และเหยียบย่ำผู้แพ้ราวกับเขาไม่มีเลือดเนื้อจิตใจ

ทางที่ถูก เราต้องไม่เอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเป็นความรู้ทางปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ ทั้งนี้ลักษณะของการเชื่อมโยงหาได้เป็นการสร้างสะพานเชื่อมโดยที่ยังมองสามเรื่องแยกขาดออกจากกัน

หากเราเข้าใจและได้สัมผัสกับกระบวนการการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เราจะเห็นได้ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงของการเรียนรู้ เพราะความรู้ที่แท้จริงนั้น คือประสบการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการได้รู้จักเพื่อนใหม่ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ที่เราไม่เคยไป การอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม การได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้าง และเมื่อเราเพิ่มมิติของการใคร่ครวญด้วยใจ เราจะสัมผัสได้ถึงคุณค่าและความงามที่ทำให้จิตใจของเราขยายขึ้น เรียนรู้ที่จะรัก เรียนรู้ที่จะให้ เรียนรู้ที่จะยอมรับความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น อันเป็นผลมาจากอัตตาตัวตนที่ลดลง กระบวนการการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จึงนำไปสู่ความตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ดำรงชีวิตเพื่อให้เกิดคุณค่าแก่คนรอบข้างอย่างแท้จริง

ในขณะที่กระบวนการเรียนรู้ในภาคความรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา...เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์และกระบวนการมากกว่าการท่องจำจากตำรา เมื่อความรู้ได้แตกยอดงอกงามขึ้นภายในใจจนถึงจุดหนึ่ง เสียงข้างในจะบอกเราให้เข้าใจถึงความหมายของการเรียนรู้ในภาควิชาชีพในแง่มุมที่ต่างออกไป นั่นคือ...งานหรือการประกอบอาชีพ แท้จริงคือ ผลที่สุกงอมจากการเรียนรู้ เสียงข้างในที่ไม่ถูกทำให้พร่าเลือนด้วยอำนาจของอัตตาจะนำมาซึ่งความตั้งใจที่จะทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ในด้านที่ตนถนัด เป็นการทำงานด้วยความสนุก ด้วยความรัก ด้วยความดีไปพร้อมๆ กัน เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ซึ่งก็คือการผุดบังเกิดของความร่ำรวยทางความรู้ของจิตที่ขยายกว้าง

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยสิ่งแวดล้อมที่สบาย สถาบันการศึกษาในปัจจุบันโดยมากกลายเป็นที่อบายมิใช่สบาย เพราะเต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อทางวัตถุ เป็นที่บ่มเพาะอัตตา สภาวะความคับแคบของจิต สบายในที่นี้มาจาก สัปปายะ คือสภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การเรียนรู้จะเกิดได้ในสิ่งแวดล้อมที่เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ด้านใน ผู้คนรู้จักรดน้ำใจให้คนรอบข้าง ให้ความสำคัญและเอาใจใส่จิตใจของผู้เรียนรู้ในทุกขณะ

การเอาใจใส่จิตใจในกระบวนการการเรียนรู้นั้น สามารถทำได้ใน ๓ ลักษณะ คือ

๑. การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) หมายถึง ฟังด้วยหัวใจ ด้วยความตั้งใจ อย่างสัมผัสได้ถึงรายละเอียดของสิ่งที่เราฟังอย่างลึกซึ้งด้วยจิตที่ตั้งมั่น ในที่นี้ยังหมายถึงการรับรู้ในทางอื่นๆ ด้วย เช่น การมอง การอ่าน การสัมผัส ฯลฯ

๒. การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (Contemplation) เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการฟังอย่างลึกซึ้ง กอปรกับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในทางอื่นๆ เมื่อเข้ามาสู่ใจแล้ว มีการน้อมนำมาคิดใคร่ครวญดูอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องอาศัยความสงบเย็นของจิตใจเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็ลองนำไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลจริง ก็จะเป็นการพอกพูนความรู้เพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่ง

๓. การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (Meditation) การปฏิบัติธรรมหรือการภาวนา คือการเฝ้าดูธรรมชาติที่แท้จริงของจิต นั่นคือการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ความบีบคั้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง และสภาวะของการเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่เลื่อนไหลต่อเนื่อง การปฏิบัติภาวนาฝึกสังเกตธรรมชาติของจิต จะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงจากภายในสู่ภายนอก เห็นความเป็นจริงที่พ้นไปจากอำนาจแห่งตัวตนของตน ที่หาได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เป็นเพียงการเห็นผิดไปของจิตเพียงเท่านั้น

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่พรั่งพร้อมด้วยศีล สมาธิ อันเป็นบาทฐานของการก่อกำเนิดความรู้ที่ถึงพร้อม นั่นคือปัญญา ที่สามารถมองเห็นสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง เห็นถึงความสัมพันธ์ เชื่อมโยง การเปลี่ยนแปลงไหลเลื่อนไม่หยุดนิ่ง เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ที่จะทำให้เรากลับมาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ...เป็นการศึกษาด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยสายตาแห่งความสดใหม่อยู่เสมอ ผลที่งอกงามภายในจะสุกงอมหอมหวาน ก่อเกิดผลเป็นการงานอันสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์อันกว้างขวางต่อสังคมและผู้คนรอบข้าง

อนาคตศึกษา

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2547

อนาคตศึกษาเป็นคำที่แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Futures Studies ซึ่งหมายถึงวิชาสาขาใหม่ที่ศึกษาถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาอนาคต ตลอดจนระเบียบวิธีที่ใช้ในการศึกษาแนวโน้ม และทางเลือกต่าง ๆ ที่มีความเป็นไปได้ในอนาคต

โดยนัยนี้อนาคตศึกษา จะประกอบไปด้วยเนื้อหาอย่างน้อย ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ

๑. ส่วนที่เป็นแนวคิด (Perspectives) และทฤษฎี (Theories) ซึ่งอาจใช้คำรวมว่าอนาคตนิยม (Futurism)

๒. ส่วนที่เป็นระเบียบวิธี (Methodologies) ซึ่งอาจเรียกว่าการวิจัยอนาคต (Futures Research)

ความหมายที่ให้ไว้ข้างบนนี้ เป็นความหมายที่ผู้เขียนสรุปไว้เพื่อให้ผู้อ่านที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับสาขาวิชานี้ได้เข้าใจเป็นเบื้องต้นเท่านั้น ผู้อ่านอาจจะพบความหมายของคำนี้ในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่ผู้เขียนให้ไว้ได้ในตำราหรือบทความอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาในวงวิชาการ ยิ่งไปกว่านั้นผู้อ่านอาจจะพบคำอื่น ๆ ที่มีความหมายเหมือนหรือใกล้เคียงกับคำ ๆ นี้อีกหลายคำ เช่น Futurics, Futurology, Futuribles, Prognostics, และ Anticipatory Science เป็นต้น แต่ละคำก็มีความหมายและลักษณะพิเศษเฉพาะตัวตามแนวคิดของคนที่คิดขึ้น แต่สิ่งที่เหมือนกัน ก็คือการเน้นเรื่องอนาคต ผู้ที่ทำการศึกษาอนาคตอย่างเป็นระบบโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยอนาคตแบบต่าง ๆ เรียกว่า นักอนาคตนิยม

การศึกษาหรือการทำนายอนาคตของนักอนาคตนิยมแตกต่างไปจากการทำนายของหมอดูโดยทั่ว ๆ ไป ถึงแม้ว่าคนทั้งสองกลุ่มจะทำนายเรื่องที่เกี่ยวกับอนาคตเหมือนกัน แต่ความเชื่อและวิธีการของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน โดยจะเปรียบเทียบให้เห็นพอสังเขปดังนี้




นักอนาคตนิยม หมอดู
๑. เชื่อว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ควบคุมได้และเปลี่ยนแปลงไปตามการตัดสินใจ และการกระทำของมนุษย์ มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย มนุษย์เป็นผู้กำหนดและให้ความหมายแก่สรรพสิ่ง๑. อนาคตเป็นไปตามโชคชะตาราศี ดวงดาว หรือพรหมลิขิต นั่นคือเชื่อว่า มีผู้อื่น หรือสิ่งอื่นเป็นผู้กำหนดอนาคต ไม่ใช่มนุษย์
๒. ใช้เหตุผล และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาความเป็นไปได้ของอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ๒. ใช้ไพ่ ลายมือ วันเกิด เวลาตกฟาก ดูโหงวเฮ้ง ... ในการทำนายอนาคต
๓. เน้นการศึกษาถึงอนาคตของมนุษย์ โดยส่วนรวม เช่น ลักษณะของ ครอบครัวไทยใน ๒๐ ปีข้างหน้า๓. เน้นอนาคตของแต่ละบุคคลเป็นส่วนใหญ่ เช่น นาย ก. จะพบเนื้อคู่เมื่อไหร่เป็นคนอย่างไร เป็นต้น
๔. ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้แนวโน้ม ๔. หมอดูเป็นผู้ให้ข้อมูล


จะเห็นได้ว่านักอนาคตนิยมและหมอดูมีความเชื่อและวิธีการ “ทำนาย” อนาคตที่แตกต่างกัน

การศึกษาและการวิจัยอนาคตมีประโยชน์หลายประการดังต่อไปนี้

๑. การศึกษาและการวิจัยอนาคตช่วยให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ และจำเป็นเกี่ยวกับอนาคตที่จะนำมาใช้ใน
กระบวนการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย และการวางแผน เพราะการศึกษาและการวิจัยอนาคตมักจะให้หรือนำไปสู่สิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑.๑ ให้กรอบสำหรับการตัดสินใจหลายรูปแบบ

๑.๒ บ่งชี้ถึงอันตรายและโอกาสต่าง ๆ

๑.๓ แนะวิธีแก้ปัญหาแบบต่าง ๆ

๑.๔ ช่วยประเมินนโยบายและการปฏิบัติต่าง ๆ

๑.๕ ช่วยให้มองเห็น และเข้าใจปัจจุบันและอดีตดีขึ้น

๑.๖ ช่วยเพิ่มทางเลือก

๑.๗ กำหนดจุดหมายและแสวงหาวิธีที่จะบรรลุจุดหมาย

๒. ช่วยเตรียมมนุษย์ให้มีความพร้อมที่จะเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยการ

๒.๑ ให้ประสบการณ์ล่วงหน้า (Pre-experience) แก่มนุษย์ว่าอนาคตอาจจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมพร้อมว่าควรจะทำตัวอย่างไร จะได้ไม่เกิดหรือลดอาการ Future Shock

๒.๒ ให้การรับรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตบนโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและสับสน การรับรู้หรือมโนทัศน์ดังกล่าว ได้แก่

- การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการปกติตามธรรมชาติ

- การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอาจจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อมา

- การเลือก (Choice) เป็นสิ่งจำเป็น การปฏิเสธที่จะเลือกก็คือการเลือก

- โลกในอนาคตน่าจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในหลาย ๆ ด้านจากโลกปัจจุบัน

- มนุษย์มีความรับผิดชอบต่ออนาคตของเขา อนาคตมิใช่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นต่อหน้าเขาเท่านั้น

- วิธีการที่ได้ผลในอดีต อาจจะไม่ได้ผลในอนาคต เพราะสภาพการณ์มันเปลี่ยนไป

๒.๓ กระตุ้นให้มนุษย์ทำการศึกษาอนาคตอย่างมี “สติ”

๓. ช่วยให้มนุษย์เห็นถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของระบบต่าง ๆ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น

๔. ช่วยชี้นำและเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และความคิด

๕. ช่วยให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะไม่ติดอยู่กับปัญหาในอดีตและปัจจุบัน

๖. ช่วยกระตุ้นให้มนุษย์ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) ใฝ่หาความรู้โดยการเป็นผู้สร้างความรู้มากกว่าเรียนสิ่งที่ผู้อื่นบอกหรือทำมาแล้วแต่เพียงอย่างเดียว

๗. ให้แนวคิดในการพัฒนาปรัชญาชีวิตที่ผสมกลมกลืน

๘. ให้สันทนาการและความสนุกเพลิดเพลิน

เป้าหมายหลักของการศึกษาและการวิจัยอนาคต มิใช่อยู่ที่การทำนายที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะเรื่องของอนาคตเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่มีข้อเท็จจริง (Facts) เกี่ยวกับอนาคต มีแต่เพียงการคาดการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มที่เป็นทางเลือกที่คาดว่าจะมีความเป็นไปได้ (Possible Alternative Trends) เท่านั้น

แต่เป้าหมายหลักของการศึกษาและการวิจัยอนาคต อยู่ที่การสำรวจและศึกษาแนวโน้มที่เป็นไปได้ หรือน่าจะเป็นของเรื่องที่ศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์เพื่อหาทางทำให้แนวโน้มที่พึงประสงค์เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็หาทางป้องกันหรือขจัดแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์ด้วยการกระทำในปัจจุบัน

The Future is NOW.

หลักการสำคัญของอนาคตนิยม อยู่ที่การสร้างอนาคตที่พึงประสงค์มากกว่าการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ความท้าทายของมนุษยชาติ อยู่ที่การร่วมกันคิดร่วมกันสร้างสังคมที่พึงประสงค์ในอนาคต บนการยอมรับและเคารพความแตกต่างที่หลากหลายอย่างแท้จริง

Unity Through Diversity.

ดับไฟในใจก่อนลามไหม้ทั้งประเทศ

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2547

ความตายของผู้ชุมนุมประท้วง ๘๕ คนในกรณีตากใบ มิใช่เป็นเพียงความสูญเสียของครอบครัวและญาติพี่น้องเท่านั้น หากยังเป็นความสูญเสียของชาติไทยอีกด้วย

ใช่หรือไม่ว่าผู้ตายล้วนเป็นคนไทย ครอบครัวและญาติพี่น้องของเขาเหล่านั้นก็เป็นคนไทยเช่นเดียวกับเรา หากเขาเหล่านั้นตายเพราะน้ำท่วม แผ่นดินไหว ก็นับเป็นความสูญเสียที่มากพออยู่แล้ว ยิ่งเขาเหล่านั้นต้องมาตายในเหตุการณ์ที่คนไทยจับอาวุธทำร้ายกันเอง ยิ่งเป็นความสูญเสียที่มหาศาลเกินจะกล่าว

สิ่งที่ชาติสูญเสียมิใช่ชีวิตผู้คนเท่านั้น หากยังรวมถึงความไว้เนื้อเชื่อใจและสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติ และระหว่างประชาชนจำนวนไม่น้อยกับรัฐ ชาตินั้นอยู่ได้ด้วยสายใยแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจและสมานฉันท์ เมื่อสูญเสียสิ่งนี้ไปความเป็นชาติก็สั่นคลอน และนี้คือความสูญเสียที่ร้ายแรงกว่าภาพลักษณ์ของชาติที่เสื่อมโทรมไปในสายตาของนานาชาติเสียอีก

ความตายของบุคคลเหล่านี้อาจทำให้หลายคน “สะใจ” แต่ก็พึงระลึกว่านี้คือความสะใจที่แลกมาด้วยราคาที่แพงอย่างยิ่ง ลองตั้งสติ ทำใจให้เป็นกลาง และพิจารณาถึงผลเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน เราคงสะใจไม่ออกเพราะผลเสียนั้นมหาศาลนัก ชนิดที่อาจส่งผลไปถึงลูกหลานของเราในอนาคต

ไม่ว่าเราจะโกรธแค้นผู้ที่ลอบสังหารพระ ตำรวจ ทหาร ผู้พิพากษา ครู และผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมายเพียงใดก็ตาม เราไม่ควรที่จะโกรธแค้นคนมุสลิมทั้งภาคใต้หรือทั้งประเทศ ความคิดแบบเหวี่ยงแหเหมารวมนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะความคิดเช่นนี้ นักเรียนอาชีวะจึงฆ่าและทำร้ายคนบริสุทธิ์เพียงเพราะว่าอยู่สถาบันเดียวกับคู่อริ หากเราไม่เห็นด้วยที่นักเรียนอาชีวะเหมารวมนักเรียนต่างสถาบันว่าเป็นศัตรูที่ต้องขจัด เหตุใดเราผู้เป็นชาวพุทธจึงเหมารวมคนมุสลิมทั้งหลายว่าเป็นปฏิปักษ์ที่ควรได้รับโทษทัณฑ์ให้สาสมใจ

เราไม่ควรเอาการกระทำของคนส่วนน้อยมาเป็นเหตุให้โกรธแค้นคนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเอาการกระทำของอาชญากรที่ฆ่าผู้บริสุทธิ์มาเป็นเหตุผลสำหรับกระทำทารุณกรรม(หรือสะใจในการทำทารุณกรรม) กับผู้ชุมนุมประท้วง ถึงแม้การกระทำของผู้ชุมนุมที่ตากใบ (หรือที่อื่นๆ ) จะไม่ถูกใจเรา แต่ก็ไม่ควรลืมว่าเขาไม่ใช่อาชญากร เขามีสิทธิที่จะชุมนุมประท้วงตามรัฐธรรมนูญตราบใดที่เป็นไปโดยสันติวิธี หากเขาก่อความวุ่นวาย เขาสมควรได้รับโทษทัณฑ์ แต่นั่นไม่ใช่หมายถึงการทำให้เขาตายหรือพิการ หากเขาตาย (ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไร) เพียงเพราะว่าร่วมชุมนุมประท้วง นั่นคือเรื่องที่เราควรเสียใจ มิใช่ดีใจหรือสะใจ หากเราไม่อยากให้ลูกหลานของเรากลายเป็นศพเพียงเพราะประท้วงรัฐบาล เราก็ไม่ควรยินดีที่คนทั้ง ๘๕ คนเป็นศพเพียงเพราะประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐ (แม้เราอาจไม่เห็นด้วยกับการประท้วงของเขาก็ตาม)

เรามีสิทธิไม่เห็นด้วยกับใครต่อใคร แต่ไม่ควรกล่าวหาว่าเขา “ไม่ใช่ไทย” เพียงเพราะเขาทำสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา หรือทำสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย และที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งก็คือการหาว่าเขาไม่ใช่ไทยเพียงเพราะเขานับถือศาสนาหรือพูดภาษาต่างจากเรา เป็นมุสลิมและพูดยาวีก็มีสิทธิเป็นไทย เขาเหล่านี้ต้องการตายที่เมืองไทยและรักแผ่นดินไทยไม่น้อยไปกว่าบรรพบุรุษของพวกเราหลายคนที่เป็นเจ๊กมาจากจีนและพูดไทยไม่ได้

สำหรับผู้ที่เป็นชาวพุทธ พึงตระหนักว่าเวรมิอาจระงับได้ด้วยการจองเวร ความรุนแรงมีแต่จะก่อเวรกรรมมิรู้จบ การใช้กำลังนั้นถึงที่สุดแล้วย่อมมิอาจแก้ปัญหาได้ มันทำได้อย่างมากก็แค่ขจัดคนชั่วร้ายออกไป แต่ไม่สามารถขจัดความชั่วร้ายไปได้ ความชั่วร้ายนั้นมิได้หายไปไหนหากเติบโตและฟูฟ่องในใจของผู้ที่ใช้ความรุนแรง ปาณาติบาตเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาปฏิเสธในทุกกรณีก็เพราะมันทำลายความดีงามในใจของผู้กระทำ ทำให้ความเป็นมนุษย์เสื่อมถอย และเข้าใกล้ความเป็นดิรัจฉาน

บาปกรรมนั้นมิได้เกิดขึ้นแก่ผู้ฆ่าเท่านั้น ผู้ที่สนับสนุนหรือยินดีในการฆ่าก็ถือว่าทำบาปเช่นกัน ดังมีพุทธพจน์ว่า ผู้ฆ่า ผู้สรรเสริญการฆ่า และผู้ยินดีการฆ่า ย่อมมีนรกเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพึงดูแลจิตใจของตนเองให้ดี อย่าได้ยินดีกับการตายของผู้ใด จะทำเช่นนั้นได้ต้องระมัดระวังอย่าให้ความโกรธครองใจ พึงระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ผู้ใดโกรธตอบผู้โกรธ ผู้นั้นย่อมโง่และเลวร้ายกว่าเขา เพราะได้ทำลายทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

ชาวพุทธนั้นต้องมีขันติธรรมและเมตตาธรรมเป็นพื้นฐาน นอกจากอดกลั้นต่ออารมณ์แล้ว ยังควรอดกลั้นต่อความแตกต่างโดยเฉพาะในทางความเชื่อ คนเรานั้นแม้จะเห็นต่างกัน ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าขาดขันติธรรมและเมตตาธรรมแล้ว เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

สถานการณ์บ้านเมืองยามนี้กำลังทดสอบความเป็นไทยและความเป็นพุทธของเราว่ามีความเข้มแข็งและสามารถพาเราฟันฝ่าวิกฤตไปได้หรือไม่ หรือว่าอ่อนแอและคับแคบจนพาประเทศชาติสู่หายนะ ถึงที่สุดแล้วมันกำลังทดสอบความเป็นมนุษย์ของเราด้วยว่าเรามีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์มากน้อยเพียงใด หรือเรากำลังปล่อยให้ความพยาบาทครอบงำจนปรารถนาเห็นความพินาศเกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ในยามนี้เชื้อแห่งความรุนแรงกำลังแพร่หลายไปทั่ว ความโกรธเกลียดกำลังแผ่ซ่านและพร้อมจะปะทุเป็นไฟไหม้ลามทั้งประเทศ สิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งคือประกายไฟจากผู้นำประเทศ จากกลไกรัฐ และจากประชาชนทั่วไป เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องช่วยกันป้องกันมิให้ผู้นำประเทศและกลไกรัฐจุดประกายไฟขึ้นมาอีก นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้เลยวันนี้ก็คือช่วยกันป้องกันมิให้ประกายไฟเกิดจากประชาชน ทั้งนี้โดยเริ่มต้นที่ตัวเราและคนใกล้ตัว พยายามยับยั้งชั่งใจ อดกลั้นต่อความโกรธเกลียด อย่ายินดีในความตายของผู้ใด และอย่าเห็นคนที่ต่างศาสนาต่างความเชื่อจากเราเป็นศัตรู ศัตรูของเราแต่ละคนมีมากอยู่แล้ว อย่าพยายามผลักไสคนอื่นให้เป็นศัตรู ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักชื่อหรือเห็นหน้ากันด้วยซ้ำ

ประเทศชาตินั้นอยู่ได้ด้วยสมานฉันท์และความปรองดองของคนในชาติ หากผู้คนแบ่งฝักฝ่ายและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน บ้านเมืองก็ย่อมลุกเป็นไฟ เมืองไทยกำลังเสี่ยงต่อการลุกเป็นไฟเหมือนที่ศรีลังกาประสบ หากไฟจะลุกไหม้ทั้งประเทศนั่นก็มิใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่ง หากเป็นเพราะประชาชนต่างช่วยกันจุดไฟเผานั่นเอง ไฟนั้นมิได้มาจากไหนหากมาจากกลางใจนี้เอง

วันนี้ถามตัวเราเองว่าไฟกำลังลุกไหม้กลางใจเราหรือไม่ วันนี้การช่วยชาติและช่วยลูกหลานของเราอย่างหนึ่งก็คือการพยายามดับไฟในใจของตนเอง และช่วยให้คนอื่นดับไฟในใจของเขาด้วย หากวันนี้เราไม่ทำ พรุ่งนี้เราอาจเสียใจที่มีส่วนทำให้ไฟไหม้ลามทั้งประเทศ

ไว้ใจชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 30 ตุลาคม 2547

ในการประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งที่ ๙ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ ทางกลุ่มได้เชิญคุณณัฐฬส วังวิญญู มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกันเกี่ยวกับแนวคิดของมหาวิทยาลัยนาโรปะและเรื่องของนิเวศวิทยาแนวลึก ซึ่งคุณณัฐฬสได้ร่ำเรียนมา

นาโรปะเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ปรัชญาแบบพุทธเป็นพื้นฐานในการเรียนการสอน เป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยพระชาวทิเบตท่านหนึ่งที่ชื่อ เชอเกียม ตรุงปะ ซึ่งเป็นผู้ที่เขียนหนังสือไว้หลายเล่มและมีแปลเป็นภาษาไทยอยู่บ้างพอสมควร เช่น ชัมบาลา: หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ, ลิงหลอกเจ้า: ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา (Cutting Through Spiritual Materialism)

แนวคิดหลักๆ ของนาโรปะคือ เน้นให้นักศึกษาเรียนรู้จากภายในตัวเอง ต้องรู้จักตัวเองก่อน
คุณณัฐฬสเล่าหลายเรื่องได้อย่างสนุกและน่าสนใจมากในช่วงเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมง แล้วปล่อยให้มีการแลกเปลี่ยนในกลุ่ม

เรื่องที่สะดุดใจผมมากที่สุด เห็นจะไม่เกินเรื่องที่คุณณัฐฬสบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่นาโรปะสอนไว้ก็คือ “การเรียนรู้” ที่จะ “ไว้ใจชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข” เรื่องที่เป็นรูปธรรมเรื่องหนึ่งก็คือ นักศึกษาปีแรกที่ไปเรียนที่นั่น จะมีหลักสูตรหนึ่งที่จะต้องออกไปอยู่ในทะเลทรายตามลำพังประมาณสามวัน ให้อดอาหารแต่มีน้ำให้ดื่ม โดยที่มีมาตรการด้านความปลอดภัยระดับหนึ่งในเรื่องของระบบบัดดี้ที่อยู่ห่างกันพอสมควร แต่โดยหลักๆ คือเน้นให้อยู่ตามลำพังและใช้เวลาอยู่กับ “ธรรมชาติ” แล้ว “ฟังเสียงภายใน” ของแต่ละคนว่ากำลังต้องการอะไร หรือฝึกการเรียนรู้ที่จะไว้ใจกับธรรมชาติ ว่าจะสามารถทำให้ตัวเองมีชีวิตรอดอยู่ได้ในสภาวะแบบนั้น

ด้วยการฝึกการ “ฟังเสียงจากภายใน” ของตัวเราเอง ว่าต้องการจะทำอะไร เราจะค่อยๆ พบว่าเราสามารถที่จะไว้ใจเสียงที่ได้ยินเหล่านั้นได้ และให้ลองเชื่อ “ความคิดแรก”

น่าสนใจที่ “เสียงจากภายใน” ตัวเราเองที่ว่านี้ เป็นเรื่องราวเดียวกันกับเรื่องของ “ญาณทัศนะ” ซึ่งเป็นการฝึกการใช้สมองชั้นที่สี่ตามที่โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ (Joseph Chilton Pearce) ได้เขียนไว้อย่างละเอียดแล้วในหนังสือที่ชื่อ The Biology of Transcendence คือส่วนของ Prefrontal Lobe ซึ่งล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้เป็นส่วนที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำงานวิจัยและพบว่ามีอยู่จริงในมนุษย์ที่ฝึกฝนเป็นพิเศษเรื่อง “สมาธิ” ซึ่งแดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาผู้โด่งดังมากจากเรื่อง E.Q. เขียนไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่ชื่อ Destructive Emotions ซึ่งเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู นำมาย่อยอย่างละเอียดในวงจิตวิวัฒน์แห่งนี้ด้วยเช่นกัน (ท่านที่สนใจสามารถอีเมล์ไปขอรายละเอียดได้)

กระบวนการเรียนรู้แบบนี้เป็น “วิธีการสร้างคน” ที่เริ่มจาก “การสร้างความมั่นคงด้านในก่อน”

แต่ปัจจุบันพวกเรากลับมีระบบการศึกษาที่เน้นถึง “ความมั่นคงภายนอก” ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ถ้าคุณไม่มีปริญญาใบโตๆ จากสถาบันดังๆ คุณก็จะรู้สึกไม่มั่นใจ ถ้ามหาวิทยาลัยของคุณไม่มีตึกใหญ่โตโอ่อ่ายิ่งใหญ่อลังการ คุณหรืออย่างน้อยผู้บริหารสถาบันของคุณก็จะรู้สึกไม่มั่นใจ โยงใยไปถึงความพยายามในการสร้าง “ความมั่นใจภายนอก” ในรูปแบบอื่นๆ เช่น มือถือรุ่นล่าสุด เสื้อผ้านำสมัย รถยนต์คันใหญ่ ฯลฯ

ผมคิดว่าเรื่องนี้ระบบการศึกษาต้องหันมามองอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่เพียงเฉพาะระบบมหาวิทยาลัยแต่เป็นการศึกษาทั้งระบบที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ปัจจุบันนี้เพียงแค่คนสองคนเริ่มจีบกัน ก็ต้องคิดไปถึงโรงเรียนอนุบาลของลูกแล้ว ว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียน “มีชื่อ” โรงเรียนไหน

อีกหน่อยสงสัยว่าต้องคิดข้ามช็อตไปขนาดว่า คลอดลูกคนนี้แล้วโรงเรียนอนุบาลของหลานจะเป็นโรงเรียนไหนด้วยกระมัง

ความมั่นใจและความมั่นคงด้านในของพวกเราหายไปไหนกันหมด

ผมคิดว่าตรงนี้ถ้าพวกเราช่วยกันเริ่มสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้กันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนและเกิดขึ้นกับตัวผมเลยในขณะที่ฟังคุณณัฐฬสพูดในวันนั้น ก็คือ “ความสุข” “ความรู้สึกมั่นคงลึกๆ” และเห็นด้วยอย่างยิ่งเลยว่า “เราต้องฝึกและเรียนรู้ที่จะไว้ใจชีวิต” ของเรากันจริงๆ เสียที

และผมคิดว่าธรรมชาติมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า “ไม่มีคำว่าสายเกินไป” สำหรับการเรียนรู้ เช่น ตัวผมเพิ่งเข้าใจสิ่งที่คุณณัฐฬสพูดเมื่ออายุสี่สิบกว่าแล้ว แต่คุณณัฐฬสรู้เรื่องเหล่านี้ตั้งแต่อายุยี่สิบกว่า ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าสายเกินไป ผมกลับรู้สึกขอบคุณและดีใจที่ตัวเองได้เริ่มเห็น “มุมมอง” ตรงนี้ของชีวิต

ลองคิดดูนะครับว่า แค่เราไว้ใจชีวิตและใช้ “ญาณทัศนะ” ในการดำเนินชีวิตนั้น มันช่างเป็นชีวิตที่วิเศษมีความสนุกสนานและมีความเบาสบายเพียงไร

ไม่ต้องแบกภาระให้วุ่นวายใจ-ปล่อยให้เป็นไป แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรหรือขี้เกียจทำ ตรงกันข้ามเลย กลับทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมหาศาล เพราะไม่ต้องเสียเวลาคิดเรื่องไร้สาระ

เป็นชีวิตที่เหมือนกับหนังสือเล่มดังของ เปาโล โคเอโย เรื่อง The Alchemist ที่บอกว่าเหมือนกับมีใครมาคุ้มครองให้เราเดินทางในทิศทางที่ควรจะเป็นไป

ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตเป็น “การเรียนรู้” ความไม่พอเหมาะหรือขัดสนบางประการ “ไม่ใช่ความผิดพลาด” หากแต่เป็นเสมือน “สัญญาณ” ที่บอกอะไรบางอย่างกับชีวิต เช่น ถ้าคุณเดินชนประตูก็ควรจะแปลความหมายว่า คุณควรจะระวังตัวให้มากกว่านี้ หรือถ้าคุณป่วย ก็เป็นสัญญาณที่แสดงว่าคุณไม่ได้ดูแลตัวเองเลยนะ หรืออะไรประมาณนี้

การศึกษาในปัจจุบันที่ไม่ได้เน้นวิธีการสร้างคน หากแต่จะทำให้คนเกิด “ความมั่นใจจากภายนอก” ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ใหญ่โต ชื่อสถาบันและใบประกาศที่บอกว่าสำเร็จการศึกษาตามที่ได้เกริ่นมานั้น ทำให้ใบปริญญาบัตรไม่ได้มีความหมายใดๆ เลย นอกจากเศษกระดาษแผ่นเดียว ที่แม้แต่ในปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้คุณมีงานทำได้ตามที่ต้องการด้วยซ้ำไป ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ “เจ้าเศษกระดาษ” แผ่นนั้นกลับทำให้ “อัตตา” ภายในของพวกเราแต่ละคนเติบโตไปผิดทิศทาง กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้าง “ความขัดแย้ง” ในสังคมให้รุนแรงขึ้นอีกด้วย

กลับมาเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านในที่น่าจะดีกว่ากันเถอะครับ

รักชาติแบบจิตวิวัฒน์

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2547

สำนึกในความเป็นชาติเมื่อเกิดขึ้นกับคนหมู่ใด ย่อมช่วยให้คนหมู่นั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวกันได้ง่าย เพราะมองข้ามความแตกต่างที่มีอยู่ เมื่อรู้สึกว่าเป็นคนไทยขึ้นมา ความเป็นคนเชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ คนนครศรีธรรมราช ก็มิใช่ความแตกต่างที่สำคัญ ตรงกันข้ามหากไม่มีสำนึกในความเป็นคนไทย ภูมิลำเนาที่แตกต่างกันก็อาจเป็นเหตุให้วิวาทบาดหมางกันได้ ดังที่เคยก่อศึกสงครามกันหลายครั้งหลายคราสมัยที่ “ประเทศไทย” ยังไม่เกิดขึ้น

พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่า เมื่อมีประเทศไทยเกิดขึ้นแล้ว คนจังหวัดต่างๆ ก็เลิกทะเลาะกัน การวิวาทบาดหมางระหว่างคนต่างภูมิลำเนาก็ยังมีอยู่ เช่นเดียวกับการตีกันระหว่างสถาบัน แต่นั่นก็เพราะตอนนั้นสำนึกในความเป็นไทยเลือนราง ขณะที่สำนึกหรือ “อัตลักษณ์” ในด้านอื่นโดดเด่นขึ้นมาแทน เมื่อสำนึกในความเป็นอีสานโดดเด่น ก็ย่อมเห็นคนภาคอื่น เป็นคนละพวก และเมื่อสำนึกในความเป็นนักเรียนช่างกลปทุมวันเด่นชัดขึ้นมา ก็ง่ายที่จะเห็นนักเรียนสถาบันอื่นเป็นศัตรู แต่เมื่อไปอยู่ต่างประเทศด้วยกัน อาจจะกอดคอกันใหม่เพราะรู้สึกว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน หรือเมื่อต่างชาติดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศไทย ก็อาจร่วมกันเดินขบวนประท้วงสถานทูตของชาตินั้น เพราะสำนึกในความเป็นไทยถูกปลุกขึ้นมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม สำนึกในความเป็นชาติใช่ว่าจะทำให้คนในชาติกลมเกลียวกันเสมอไป บางครั้งสำนึกดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดการแตกแยกหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมากขึ้น เช่นเมื่อมีคนที่แสดงความเห็นต่างไปจากคนส่วนใหญ่ หรือเพียงแค่ไม่ถูกใจตัวเอง ก็จะประทับตราบุคคลผู้นั้นหรือกลุ่มนั้นทันทีว่า “ไม่ใช่คนไทย” หรือตั้งคำถาม (อย่างที่นายกฯ ทักษิณชอบถาม) ว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า?” สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือการกล่าวหาว่า “ไม่รักชาติ”

เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไม่รักชาติหรือไม่หวังดีต่อชาติเสียแล้ว ก็ง่ายที่จะถูกตีตราว่าเป็น “คนชั่ว” ถึงตรงนี้ก็ต้องเตรียมตัวเป็นเหยื่อรองรับความรุนแรงได้ ดังที่ได้เกิดมาแล้วกับนักศึกษาประชาชนที่ประท้วงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นนั้นอีก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้ความเป็นไทยเพื่อเล่นงานคนไทยด้วยกันที่มีความเห็นแตกต่างจากคนอื่นก็ยังมีอยู่ เช่น เมื่อมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับวีรกรรมของท้าวสุรนารี หรือไม่เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือไม่เห็นด้วยกับการห้ามผู้หญิงเข้าไปในเขตชั้นในของพระเจดีย์ที่มีพระธาตุอยู่ข้างใต้ คนเหล่านั้นก็ถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทยไปในทันที ผลที่ตามมาคือถูกกลุ่มพลังมวลชนเผาพริกเผาเกลือและสาปแช่ง มิพักต้องพูดถึงถ้อยคำหยาบคายที่ปรากฏในเว็บบอร์ดต่างๆ

ความเป็นไทยนั้นควรทำให้คนไทยรักกัน มิใช่ทำให้เกลียดกัน แต่รักและเกลียดนั้นเป็น ๒ ด้านของเหรียญเดียวกัน รักกันเพราะเหมือนกันมากเท่าไร ก็ย่อมเกลียดกันเมื่อแตกต่างกันมากเท่านั้น ตรงนี้คือปัญหาของความเป็นไทยในปัจจุบัน นั่นคือเน้นเรื่องความเหมือนมากเกินไป ทุกวันนี้ความเป็นไทยหมายความว่าพูดภาษาและนับถือศาสนาเดียวกัน มีประวัติ ศาสตร์ร่วมกัน และอาจรวมไปถึงมีเชื้อชาติเดียวกันคือเชื้อชาติไทย เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยถามนักศึกษาในชั้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นคนไทยหรือไม่ ?” ปรากฏว่า ในจำนวน ๙๑ คนมีผู้ตอบว่า ตนไม่ได้เป็นคนไทย ๑๐ คน และตอบอย่างกำกวม ๒๔ คน ผู้ตอบเหล่านั้นอธิบายเหตุผลว่าเพราะตนนับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ก็อิสลาม เป็นลูกจีนหรือไม่ก็มีเชื้อแขก มิได้มีเชื้อไทยแท้ๆ

ความเป็นไทยที่เน้นความเหมือนเพียงไม่กี่อย่างได้สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้คนมาก เพราะไม่เพียงทำให้คนที่นับถือศาสนาอื่นหรือไม่มีเชื้อไทย รู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสองแล้ว ยังมีการพยายามบีบบังคับให้เขาละทิ้งภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมของตนเพื่อจะได้เหมือนกับคนส่วนใหญ่ นอกจากชาวเขาและคนกลุ่มน้อยอื่นๆ แล้ว ผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้คือผู้ที่ทุกข์ทรมานเพราะความเป็นไทยประเภทนี้ และนี้คือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความไม่สงบในภาคใต้ขณะนี้

ความเป็นไทยที่เน้นแต่ความเหมือน ทำให้เรายอมรับความแตกต่างได้ยาก ขันติธรรมจึงมีน้อย และเมตตาธรรมก็พลอยน้อยลงด้วย ลำพังการจดจ่อเน้นย้ำความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว ระยะหลังยังผู้คนยังทนได้ยากขึ้นกับความคิดที่แตกต่างหรือไม่ถูกใจ (ความเห็นที่ร้อนแรงในเว็บบอร์ดต่างๆ คือตัวอย่างที่ชัดเจน) นี้คือการที่น่าเป็นห่วงเพราะในยุคโลกาภิวัตน์ ผู้คนนับวันจะมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในด้านวิถีชีวิต อาชีพการงาน ความเป็นอยู่ ความคิดความเชื่อ ขณะเดียวกันคนต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม และต่างเชื้อชาติก็หลั่งไหลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมากขึ้น สิ่งที่จำเป็นต้องมีคือ ขันติธรรมที่เพิ่มพูนขึ้น ยอมรับความแตกต่างได้มากขึ้น และมีเมตตาต่อกันให้มากขึ้น

ความเป็นไทยหรือความรักชาติที่คับแคบมีแต่จะทำให้เกิดความตึงเครียดและแตกแยกกันมากขึ้นในประเทศ ขณะเดียวกันก็ทำให้จิตใจของผู้คนถอยต่ำลง เพราะคอยแต่จะมองคนที่ต่างจากตนเป็นคนละพวก เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์และไร้น้ำใจต่อกัน

ความเป็นไทยที่พึงประสงค์น่าจะได้แก่ความเป็นไทยที่ยอมรับความแตกต่างได้มากขึ้น ไม่ว่าจะแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ แม้จะคิดไม่ตรงกันก็มีสิทธิเป็นคนไทยได้เช่นเดียวกับเรา หรือแม้จะมีประวัติศาสตร์ต่างกัน ไม่ได้มีบรรพบุรุษอพยพจากเทือกเขาอัลไต ก็เป็นคนไทยได้ (เอาเข้าจริงๆ น่าสงสัยว่ามีคนไทยกี่คนกันที่บรรพบุรุษมาจากเทือกอัลไต)

แน่ละเราต้องมีอะไรร่วมกันบ้าง ถึงจะเรียกว่าเป็นไทยเหมือนกัน ถ้าไม่ใช่ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม เชื้อชาติ หรือประวัติศาสตร์ แล้ว อะไรที่จะมีร่วมกัน คำตอบหนึ่งของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็คือ ความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะ “สร้างปัจจุบันร่วมกัน ปัจจุบันที่ทุกคนภาคภูมิใจ อยากปกปักรักษาไว้เพราะเป็นคุณทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม” ความเป็นไทยอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความเคารพ คุณค่าประชาธิปไตยได้รับการปกป้อง ผู้คนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและปกป้องชุมชนของตน เป็นต้น

ความเป็นไทยที่พึงประสงค์นั้นต้องรวมผู้คนมาเป็นหนึ่งเดียวกัน มิใช่ผลักไสออกไปหรือแบ่งซอยออกเป็นคนละพวก มนุษย์นั้นมีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย โดยเอาความแตกต่างทั้งหลายเท่าที่จะนึกได้ มาเป็นเส้นแบ่งเพื่อกีดกันใครต่อใครออกไปจนเหลือแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ความเป็นไทยที่พึงประสงค์ต้องไม่ไปเสริมสัญชาตญาณถดถอยดังกล่าว แต่ควรช่วยให้ผู้คนเจริญก้าวหน้าในทางจิตใจมากขึ้น นั่นคือมองข้ามความแตกต่างทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะตระหนักถึงคุณสมบัติร่วมที่ทุกคนมีเหมือนกัน นั่นคือความเป็นมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือความเป็นไทยที่เคารพความเป็นมนุษย์ ถือว่าความเป็นมนุษย์นั้นศักดิ์สิทธิ์กว่าความเป็นไทย แม้เขาจะไม่ใช่ไทย เราก็ไม่มีสิทธิจะไปทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงกับเขา เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นมนุษย์ ความเป็นไทยแบบนี้จะทำให้ขันติธรรมและเมตตาธรรมเจริญขึ้นในจิตใจ

รักชาติแบบจิตวิวัฒน์คือรักมนุษยชาติด้วย มิใช่เห็นชาติสำคัญกว่าความเป็นมนุษย์ รักชาติแบบนี้แหละที่จะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ ภาคใต้เกิดสันติ และจิตใจสงบเย็น

ความท้าทายของวิวัฒนาการ

โดย เดวิด สปินเลน
วรนุช ชูเรืองสุข แปล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2547

ชาร์ล ดาร์วิน บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเราต้องการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ เราควรจะศึกษาพวกเอป (Ape) มากกว่าเอาเวลามานั่งอ่านงานเขียนของนักปรัชญาทั้งหลาย ในช่วง ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา นักสัตววิทยา เช่น เจน กูดอลล์ (Jane Goodall ) ได้ศึกษาพฤติกรรมของไพรเมตในเชิงลึก (ไพรเมต คือสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรวมถึง ลิง เอป และมนุษย์) การศึกษาเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมพื้นฐานบางอย่างของไพรเมตชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ๑. สัตว์กลุ่มนี้สนใจหาอาหารเพื่อประทังชีวิตแบบวันต่อวัน หรือสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ๒. ต้องการสืบเผ่าพันธุ์ของตัวเอง ๓. มีความห่วงใยเฉพาะกับตัวเอง ครอบครัวและกลุ่มของตัวเองเท่านั้น

มนุษย์เองก็มีคุณลักษณะดังกล่าวเช่นกัน แต่กระนั้น เรายังมีคุณสมบัติเฉพาะอย่างประกอบด้วย เช่น มีความสามารถในการคิดทบทวน ไตร่ตรอง คือสามารถรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หรือรู้อะไรบ้าง นอกจากนี้ มนุษย์ยังสามารถพัฒนาจินตนาการเชิงสร้างสรรค์ และสามารถจัดการกับปัญหาได้ด้วย ดังนั้นพอจะกล่าวได้ว่า มนุษย์มีทั้งคุณลักษณะทางวิวัฒนาการแบบเก่า คือ ต้องการอาหารและความปลอดภัยในชีวิต ต้องการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตัวเอง และมีกรอบความห่วงใยแคบๆ เฉพาะภายในครอบครัว นอกจากนี้ มนุษย์เรายังสามารถมีศักยภาพในการตระหนักรู้ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และเริ่มขยายกรอบความห่วงใยที่กว้างกว่าเดิม ขยายกรอบความห่วงใยคืออะไรนะหรือครับ? ก็คือเริ่มสนใจและห่วงใยในเรื่องที่มากกว่าแค่การหาอาหาร หาข้าวของเครื่องใช้ไว้ใช้แค่ในช่วงสั้นๆ ใส่ใจดูแลแค่สมาชิกในครอบครัว พวกพ้อง หรือคนในประเทศของตัวเองเท่านั้นนะสิครับ

ตอนนี้เราลองมาดูกันคร่าวๆ ถึงปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และดูว่าผู้นำของแต่ละประเทศส่วนใหญ่ ตลอดจนประชาชนทั้งหลาย จะยังคงมีปฏิกิริยาต่อพฤติกรรมทางวิวัฒนาการแบบเก่ากันอย่างไร ทุกวันนี้ความกลัวในเรื่องที่ว่า เรา (ประเทศของเรา) จะไม่มีอาหารและทรัพยากรที่จำเป็น เช่น น้ำ น้ำมัน เพียงพอแก่การบริโภคแพร่ขยายไปทั่ว ฉะนั้นเราจึงพัฒนานโยบาย หรือแม้แต่ยุทธวิธีทางการทหาร เพื่อยึดหรือครอบครองทรัพยากรเหล่านั้นไว้ สิ่งนี้สร้างความตึงเครียด โกรธเคือง และคับแค้นใจให้กับประชาชน และนานาประเทศอย่างยิ่ง ทั้งยังก่อให้เกิดความไม่สมดุลด้านทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย กิจกรรมหลายอย่างของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกอย่างกว้างขวางและรุนแรง การแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะ “น้ำ” ของประชากรโลกเริ่มส่อเค้าเข้มข้นขึ้นทุกขณะ อัตราการผลิตอาวุธทำลายล้างสูงเพิ่มขึ้น จำนวนประชากรในเมืองใหญ่ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน มีการเพิ่มขึ้นของบรรดาลัทธิจารีตนิยมทางศาสนา ซึ่งก็เป็นวิถีของวิวัฒนาการทางพฤติกรรมและความเชื่อแบบเก่านั่นแหละครับ คือเชื่อว่าพวกของข้าดีกว่าพวกของเจ้า ขณะเดียวกันก็มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน ที่สามารถแพร่กระจายไปทั้งโลกอย่างรวดเร็ว

ท่าทีของบรรดาผู้นำเกือบทุกประเทศที่มีต่อปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นไปในลักษณะวิวัฒนาการแบบเก่า คือใช้เทคโนโลยีและวิธีการบีบบังคับ เข้าจัดการจากบนสู่ล่าง (Top-Down) สร้างความอึดอัดโกรธแค้นไม่พอใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่ที่รู้สึกไร้อำนาจ จึงไม่น่าแปลกที่ทุกวันนี้เรามีทั้งขบวนการผู้ก่อการร้ายและระเบิดพลีชีพกระจายอยู่ทั่วไป

โปรดสังเกตนะครับว่าปัญหาเหล่านี้มีลักษณะที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเป็นปัญหาสากล เป็นปัญหาระดับโลก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณหรืออาณาเขตประเทศใดประเทศหนึ่ง ปัญหาเหล่านี้กำลังจะชี้ให้เห็นว่ามนุษยชาติกำลังเผชิญกับปัญหาทางวิวัฒนาการอยู่ ว่าจะสามารถฝ่าฟันกระบวนการคิด การกระทำและพฤติกรรมอันจำกัด ไปสู่การมองที่เห็นว่ามนุษยชาติล้วนเป็นพี่น้องกันได้หรือไม่ หากไม่เช่นนั้นก็อาจต้องล้มตายกันเป็นจำนวนมาก

ก็ทำไมเราไม่ทำเช่นนั้นละครับ ไม่เพียงแค่ลักษณะทางวิวัฒนาการที่เราได้รับสืบทอดมาดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่เราพึงตระหนักไว้ นักจิตวิทยาได้จำแนกสภาวะของปฏิกิริยาที่คนหรือกลุ่มคนแสดงออกเมื่อเผชิญกับปัญหาวิกฤตเป็น ๔ ระยะ ดังนี้ ระยะที่ ๑ ระยะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความจริง ยกตัวอย่างเช่น คนที่ติดเหล้าติดยาส่วนมากมักไม่ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาเวลาหมอบอกว่าตัวเองติดสิ่งเหล่านี้ พฤติกรรมแบบนี้มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไปไม่ใช่หรือครับ เกือบ ๓๐ ปีมาแล้วที่บรรดารัฐบาลและผู้นำทางด้านเศรษฐกิจต่างพร้อมใจกันไม่ยอมรับว่าทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาทางนิเวศและสิ่งแวดล้อม ระยะที่ ๒ ระยะแสดงอาการโกรธและชอบกล่าวโทษสิ่งรอบข้างว่าเป็นตัวสร้างปัญหา คือถ้าไม่ใช่เพราะ “มัน” ฉันหรือเราก็คงไม่เดือดร้อนยุ่งยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ กำจัดมันเสีย หรือถ้าจำเป็นก็ “ฆ่า” มันเสียเลย ระยะที่ ๓ ของการตอบสนอง คือการแสดงอาการท้อแท้ สิ้นหวัง เพราะคิดแต่ว่าปัญหาต่างๆ ช่างใหญ่เกินกำลัง รับมือไม่ไหว เอาชนะไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ระยะสุดท้ายคือ ยอมรับความเป็นจริง ว่าพวกเรากำลังเผชิญปัญหาซึ่งยากและซับซ้อนมาก มันทำให้ฉันโกรธและหดหู่ ฉันเห็นและยอมรับว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เอาล่ะ ถ้าเช่นนั้น เราควรจะทำอย่างไรกันดี

ตามความเห็นของผม วิวัฒนาการกำลังนำเราไปไกลพ้นจากตัวเอง จากการที่เราเป็นห่วงเฉพาะเรื่องแคบๆ เล็กๆ เห็นแก่ตัว เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาระดับโลก ซึ่งต้องการทางออกในระดับโลกด้วยเช่นกัน ผู้นำในหลายประเทศไม่พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ แต่ธรรมชาติไม่ให้โอกาสเราเลือกมากนักหรอกครับ เราจะถูกผลักให้หันหน้ามาร่วมมือกัน หรือไม่ก็ตายไปด้วยกัน คุณสมบัติเฉพาะของมนุษย์กำลังถูกเรียกร้องให้นำออกมาใช้ นั่นคือ ต้องนำจินตนาการเชิงสร้างสรรค์มาใช้สร้างวิสัยทัศน์สำหรับโลกอนาคต อันเป็นจุดหมายหลักของชุมชนโลกนั่นเอง

อุปสรรคยากเย็นที่เราเผชิญอยู่คือโอกาส เนื่องจากเราไม่ได้ต่อสู้อยู่กับวิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือศาสนา แต่เป็นวิกฤตทางวิวัฒนาการ วิวัฒนาการที่นับจากนี้ไปเป็นเรื่องของจิต หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ มันขึ้นอยู่กับคุณและผมแล้วละครับว่า จะก้าวข้ามการไม่ยอมรับความจริง ความโกรธ ความหดหู่ มายอมรับความจริงได้อย่างไร แล้วลงมือกระทำการต่างๆ ตามวิถีทางเล็กๆ ของตัวเองอย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และพาตัวเองก้าวพ้นจากพฤติกรรมทางวิวัฒนาการแบบเก่าอันคับแคบให้ได้

เราคงไม่สามารถพูดได้อีกต่อไปว่า ถ้าคุณไม่อยู่ฝ่ายเรา คุณก็เป็นศัตรูกับเรา แต่เราจะต้องตระหนักและเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า เรากำลังเผชิญกับสิ่งนี้ด้วยกันทั้งหมด

สนทนา ศรัทธา และความรู้

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2547

เคยลองสังเกตบ้างไหมครับว่า เวลาเราพูดคุยกันเพื่อให้ได้ทั้งความรื่นรมย์และความรู้ใหม่ๆ อะไรคือเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคในการพูดคุย

ผมตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยเหล่านี้มักดำรงอยู่เวลาเราหันหน้ามาพูดกัน

ประการแรก ชุดภาษาที่เลือกใช้ บ่อยครั้งทำให้ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงความหมายร่วมกันได้ แม้ว่าจะมีความรู้ก็ตาม เช่น หากพูดเรื่องป่าหรือระบบเกษตร ชาวบ้านจะมีความรู้เยอะ เพียงแต่ไม่ได้ใช้ภาษาวิชาการ ดังนั้น แม้จะพูดเรื่องเดียวกัน แต่เมื่อใช้ภาษาไม่เหมือนกัน ก็จำต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเข้าใจ หรือความหมายร่วมในการสนทนาเสียก่อน

ประการที่สอง มิติเชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ในทัศนคติของบุคคลและกลุ่ม อำนาจที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความตั้งใจที่จะมีอำนาจ หรือเพื่อกดทับการแสดงออกทางความรู้ของกลุ่ม มิติเชิงอำนาจนั้นไม่มีตัวตนในทางวัตถุ แต่ดำรงอยู่เพราะได้รับการยอมรับ เช่น ในวงสนทนาที่มีเจ้านายกับลูกน้อง ครูใหญ่กับครูน้อย หรือคนทั่วไปกับผู้เชี่ยวชาญ

ประการที่สาม วิธีการถ่ายทอดความคิดออกไป โดยส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเป็นการนำเสนอด้วยความมั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นเช่นนั้นจริง เป็นสัจจะ ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือไม่อยากให้เปลี่ยน ทั้งที่โดยทั่วไป ความคิดจะตั้งอยู่บนกรอบคิดหรือสมมติฐานหนึ่งๆ เสมอ

ประการที่สี่ การถือว่าความคิดเห็นเป็นของตน มีเจ้าของ ปัญหาจึงอยู่ที่ความคิดเห็นนั้นถูกยึดว่า “เป็นของ” เป็นสมบัติที่ต้องได้รับการปกป้อง หวงแหน ราวกับชีวิตตัวเอง

แต่หากวงสนทนานั้นๆ รู้เท่าทันและพยายามเป็นอิสระจากเงื่อนไขเหล่านี้ ก็ย่อมมีโอกาสก่อประกอบความรู้หรือปัญญาใหม่ๆ ร่วมกัน บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อน ความไว้วางใจ ความปรารถนาดีและความศรัทธา

เมื่อก่อนผมก็ไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องศรัทธากับการแสวงหาความรู้เท่าไรนัก เพราะรู้สึกว่าศรัทธาเป็นผลมาจากความไม่รู้ เมื่อไม่รู้จึงต้องอาศัยแรงศรัทธาในการต่อกรกับความไม่รู้ ยิ่งในทางวิทยาศาสตร์แบบเดิม ศรัทธาเป็นอุปสรรคต่อความรู้เลยทีเดียว เพราะเป็นการเลือกเปิดให้กับความรู้บางชุด (ที่ศรัทธา) และปิดความรู้ชุดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด แต่ในทางศาสนานั้น ศรัทธาเป็นที่มาของประสบการณ์ตรงอันเป็นความรู้ของจิต จึงเป็นกิริยาที่ช่วยเปิดประตูเพื่อเข้าถึงความรู้ชุดหนึ่งซึ่งมีลักษณะกว้างใหญ่กว่าความรู้ที่อยู่ในรูปแบบของความคิดหรือคำพูด คือเป็นอวจนปัญญานั่นเอง

จากมุมมองของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ในฐานะผู้เรียนรู้ เราไม่สามารถปลอดพ้นไปจากทัศนะใดๆ ได้ แต่มักจะมีกรอบหรือสมมติฐานในการมองเรื่องต่างๆ ซึ่งมีส่วนในการกำหนดตัวความรู้ที่เกิดจากการตีความของเรา ไม่มีความรู้ที่ปราศจากการตีความ ลักษณะที่ว่า เห็นอย่างเป็นเช่นนั้นเอง หรือ อย่างเป็นตถตา นั้น คงต้องฝึกกันอย่างมากเพื่อให้เท่าทันสมมติฐานของตัวเอง

แล้วศรัทธามันมาเกี่ยวอะไรกับการสนทนาเพื่อหาความรู้ล่ะ ก็ในการสนทนาแบบสืบค้นร่วมกัน (collective inquiry) หรือที่ตอนนี้เรียกกันอย่างคุ้นหูว่าสุนทรียสนทนานั้น ความสามารถในการเดินทางหรือนำพาตัวเองเข้าสู่พรมแดนของความไม่รู้นั้น จำต้องอาศัยความอดทนและศรัทธาเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า การเดินทางนั้นจะสิ้นสุดลงที่ใด เนื่องจากเป้าหมายของการสนทนาในลักษณะนี้ไม่ต้องการให้ไปพบที่สิ้นสุดของขอบแดนแห่งความรู้ หากต้องการเดินออกจากพรมแดนของความรู้อันจำกัดที่มีมาแต่เดิมมากกว่า

ดังนั้น การดำรงอยู่ในความไม่รู้นั้น จึงเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของการเดินทาง การที่เรายังไม่สามารถหาข้อสรุปรวบยอดได้นั้นไม่เป็นไร หรือแม้จะไม่มีความจริงสูงสุดหรือสัจจะ แต่ก็กระทำการแบบเดินไปค้นหาไป ยิ่งค้นหาความหมายร่วมกับคนอื่นอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันก็ยิ่งไม่เปล่าเปลี่ยว หากแช่มชื่นและมีพลัง เหมือนกับการเดินเก็บก้อนกรวดของเด็กน้อย ดังกวีบทข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในจดหมายรักการแต่งงานของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ที่ได้กล่าวถึงศรัทธาไว้อย่างชัดเจนว่า

ยังมีอะไรอีกมากรอให้เราค้นหา
เหมือนเด็กน้อยเดินเก็บก้อนกรวด
ฉันมีความสุขเหลือเกิน
เพราะเธอคือต้นธารแห่งปีตินั้น
เพราะเธอส่องรัศมีสว่างใส

ประตูนี้เปิดคอยเธออยู่
เพียงเธอก้าวเท้าเข้ามา
เธอก็จะพบความสัตย์ซื่อที่จริงใจ

ศรัทธานั้นสำคัญยิ่ง
อะไรอื่นก็ช่างมัน
เพราะศรัทธาคือช่องทางสู่ทุกสิ่ง

มาสิที่รักของฉัน
เริ่มต้นด้วยกัน
เผชิญการค้นพบที่ยิ่งใหญ่
เธอจะไม่มีวันเปล่าเปลี่ยว
ถ้าเราจูงมือไปด้วยกัน


เมื่อเปิดใจให้กับความไม่รู้ ให้ความหมายใหม่กับความไม่รู้ของเรา ว่าเป็นเรื่องที่น่ารื่นรมย์ยินดี มากกว่าเป็นความขาดพร่องที่จำต้องเติมเต็ม หรือกลบเกลื่อนปิดช่องโหว่ด้วยกลัวเสียหน้า หากสร้างความไว้วางใจว่า เมื่อสืบค้นร่วมกันแล้วก็จะไม่เปล่าเปลี่ยวเดียวดายอยู่ในจองจำของความรู้เดิม เราก็จะพบกรวดก้อนสวย สีสันแปลกตาแปลกใจออกไปเรื่อยๆ

องค์รวมกับสุขภาวะบูรณาการ

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ตุลาคม 2547

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนได้รับหนังสือเชิญให้ไปเข้าร่วม “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ ๑” งานชุมนุมการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ โดยอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๑-๕ กันยายน หนังสือเชิญไม่ได้ระบุให้ผู้เขียนเป็นวิทยากรหรือมีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด เนื่องจากไม่ทราบเรื่องนี้มานานพอที่จะจัดเวลาให้เหมะสมได้ จึงไม่ได้ไปร่วมการชุมนุมตามคำเชิญ ซึ่งจนวันนี้ก็ยังไม่ได้ขอโทษท่านอธิบดีที่เป็นแพทย์รุ่นน้อง เป็นคนดีมีฝีมือและเรียกกันฉันญาติมานานร่วม ๓๐ ปี

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกนี้จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๔๖ นี้เอง และวัตถุประสงค์อันหนึ่งคงจะต้องการแสดงว่าไทยไม่ล้าหลังฝรั่งโดยเฉพาะอเมริกา (สำหรับเรื่องอื่นๆ เช่นการแพทย์ทางเลือกหรือองค์รวมคืออะไร? ผู้ตั้งกรมนี้ขึ้นมาอาจคิดว่า ไม่เป็นไร เราคนไทยที่มักเรียนอะไรได้เร็ว อีกไม่นานก็คงจะสามารถเรียนได้ทั้งหมด) เพราะขณะนี้ ที่เมืองนอกนั้น ผู้ป่วยที่ไปหาแพทย์สมัยใหม่มีน้อยลงไปมาก (The Alternative Medicine Invades Medical Establishment, Clive Daniels, New Life, ๑๙๙๙) วันนี้อาจมีไม่ถึงหนึ่งในสามคน ในขณะที่สองในสามเขาหันไปหาแพทย์ทางเลือกแทน การสำรวจเมื่อสองปีก่อนพบว่า คนอเมริกันใช้เงินเพื่อสุขภาพและการรักษาโรคโดยวิธีอื่นๆ ของการแพทย์ทางเลือกไปถึงหนึ่งล้านล้านบาท (ไม่รวมอาหารเสริม) ส่วนที่บ้านเรานั้น ผู้เขียนบังเอิญได้มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเป็นวิทยากรหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม โดยรูปแบบของการจัดตั้งเป็นกรมเป็นองค์กรขึ้นมานั้น หากพิจารณาจากชื่อตามที่ยกมาข้างบน ไม่ว่าโดยปรัชญาหรือนิยามที่ยอมรับกัน อาจรู้สึกว่าเหมือนกับมีความขัดแย้งกับคำว่าองค์รวมและสร้างความไม่เข้าใจกับผู้ที่สนใจอย่างจริงจังในเรื่องของการแพทย์องค์รวม หรือการแพทย์ผสมผสาน หรือการแพทย์ทางเลือกเป็นอย่างมาก เพราะจริงๆ แล้ว เท่าที่เข้าใจกัน ปรัชญาและหลักการของธรรมชาติของชีวิต (ในที่นี้คือมนุษย์) คือการไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงแบบเชื่อมโยงกันของทุกๆ ส่วน ทุกๆ ระบบ และทุกๆ มิติที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์ ในระดับแรกคือ กาย จิตใจ (ที่รวมอารมณ์ความรู้สึก) และจิตวิญญาณ และในระดับต่อมา ครอบครัว สังคมตลอดไปจนถึงสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในไบโอสเฟียร์ ประหนึ่งทั้งหมดคือหนึ่งเดียวกันโดยไล่ความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างกันไปตามลำดับ ผู้เขียนเชื่อว่า มีแต่ความเป็นองค์รวมดังที่กล่าวมานี้เท่านั้นที่จะทำให้เราเข้าใจในคำว่า “สุขภาพ” และคำว่าการแพทย์องค์รวมหรือการแพทย์ทางเลือก (ชื่อที่ใช้กันบนความเคยชิน) ซึ่งรวมผู้บำบัดรักษา บุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วย และวิธีการอันหลากหลายได้อย่างชัดแจ้ง

ความเห็นที่เป็นส่วนตัวจากการได้คิดได้เขียนเรื่องของมนุษย์กับสังคม และโลกกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติมานาน ผู้เขียนจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจทุกครั้งกับอะไรก็ตามที่เน้นความเป็นสอง (dualism) และแยกส่วน (reductionism) ซึ่งผิดกระบวนการธรรมชาติอย่างเป็นตรงกันข้าม ดังนั้นชื่อของกรมนี้หรือกรมกองไหนกระทรวงใดที่ชี้บ่งโลกทัศน์ของผู้ตั้งไปในทางนั้น (ส่วนมากเป็นนักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์สังคมที่กลายมาเป็นผู้นำหรือผู้ทรงอิทธิพลต่อกรมกองหนึ่งใดในขณะนั้นๆ) ผู้เขียนจึงเข้าใจดีต่อการที่เรายังจำเป็นต้องใช้คำเหล่านั้น การแพทย์ทางเลือกที่ต่างประเทศใช้กันในเบื้องแรกก็มีที่มาไปทางด้านนั้น และคิดว่าเรื่องนี้เรา ที่ไม่จำเพาะเจาะจงแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่รวมสาธารณชนคนทั่วไปด้วย ต้องมาพูดกันและแลกเปลี่ยนความเห็นกันโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปหรือโต้แย้งกันจนหน้าตาแดงใส่กัน

ว่าจริงๆ แล้ว ทำไมต้องมีการแพทย์องค์รวมหรือการแพทย์ทางเลือก? การแพทย์ที่ใช้กันอยู่มันไม่ถูกไม่ดีตรงไหน หรือมีปัญหาอย่างไร? ตอบรวมๆ ทั้งสองคำถามได้ว่า หนึ่ง การแพทย์แผนปัจจุบันนั้นตั้งบนหลักการสำคัญของวิทยาศาสตร์เก่าเดิมสมัยนิวตัน กาลิเลโอ เมื่อปีมะโว้ และชีววิทยาของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เมื่อปีมะแว้ง ที่ทุกวันนี้ เราต่างรู้ดีว่าไม่สมบูรณ์ หรือกระทั่งผิด หรือไม่จริงเอามากๆ นั่นก็คือ วัตถุ (Materialism) เครื่องจักร (Machinism) และแยกส่วน (Reductionism) จึงเยือกเย็น แข็งกระด้าง ไร้ชีวิตชีวา และเครื่องจักรแห่งชีวิตที่ว่ามานั้นเป็นผลโดยตรงและโดยอ้อมของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) สอง สุขภาวะและการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเป็นสหปรากฏการณ์หรือสหมิติ (Multidimensional) และมิติขององค์ชีวิตนั้น ไม่ได้มีเพียงร่างกาย แต่ยังมีอารมณ์ความรู้สึก มีจิตใจ มีจิตวิญญาณ แถมยังมีสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทั่งปุ๋ยหรือสารเคมี (คนเราจะมีสุขภาวะดีพร้อมได้อย่างไร? หากอากาศก็ป่วย ดินและน้ำก็ป่วยจากการปนเปื้อนสารเคมี) หรือแม้แต่ระบบการเมืองสังคมและเศรษฐกิจที่ป่วย ก็มีส่วนในการกำหนดสุขภาพและสภาวะโรค (คุณจับเอาผู้ก่อการร้ายไปตรวจ จับเอาตัวฮิตเล่อร์ หรือประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีบางคนไปเจาะเลือด เอ็กซ์-เรย์ แล้วทำ MRI ผลออกมาดีหมดแจ๋วแหวว แต่สุขภาวะของประชาชนในที่นั้นๆ จะสมบูรณ์ได้อย่างไร?) เด็กวัยรุ่นที่วิ่งแทงคนบนรถเมล์ชี้บ่งโรคจิตแห่งสังคมได้อย่างชัดเจน หากพ่อก็ทุบตี แม่ก็ติดเหล้า ทะเลาะกันเป็นรายชั่วโมง แล้วจะให้เด็กวัยรุ่นเหล่านั้นมีสุขภาวะดีเลิศหรือสมประกอบได้อย่างไร? อย่าได้คิดว่าที่พูดมานั้นไม่เกี่ยวกับการแพทย์หรือสุขภาพของประชาชน

ทุกวันนี้ ที่เมืองนอกมีนักเรียนแพทย์ที่ต้องการเป็นแพทย์เฉพาะทางน้อยลงไปมาก (Noetic Model Of Medicine, Marilyn Schiltz, IONs ๑๙๙๘) ก็เพราะไม่ต้องการเป็นหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่รักษาหุ่นยนต์ (คำพูดของ เคน วิลเบอร์ ที่ขยายจากคำว่า biophysical) ดังที่เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์แพทย์มักย้ำแล้วย้ำอีกกับนักเรียนหรือแพทย์ฝึกหัดว่า “จงอย่ามีความใกล้ชิดจนรู้สึกผูกพันหรือสงสารผู้ป่วยมากนัก เพราะจะทำให้การรักษาโรคหรือการตัดสินใจและประสิทธิภาพของแพทย์ต้องหย่อนยานลง” นั่นจริงๆ เป็นความหวังดีอย่างแท้จริงและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์เก่า (วัตถุและแยกส่วน) แห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ภายในทศวรรษเศษๆ มานี้อาจารย์แพทย์ทุกคนที่อเมริการู้ดีว่า ที่เคยพูดเช่นนั้น มันผิดไปอย่างไร? เมื่อผลของการวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์สายหลักสายตรงจำนวนมากเหลือเกินต่างล้วนชี้บางอย่างชัดแจ้งว่า อารมณ์กับความรู้สึกและความเมตตาของผู้รักษาและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งจิตใจและความรู้สึกของคนไข้ต่อแพทย์และการรักษา ให้ผลดีอย่างที่สุดกับผู้ป่วยและแพทย์ ที่เทียบกันกับหลักการรักษาแบบเดิมไม่ได้เลย ไม่ว่าโอกาสของการหายจากโรคได้ดีกว่าและเร็วกว่าแล้ว ยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงไปมาก (Integral Medicine: A Noetic Reader, Marilyn Schiltz and Tina Hyman, , to be published in ๒๐๐๕) นั่นอาจสรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า การรักษาแบบที่หมอไม่ได้ใส่ใจหรือไม่มีความเมตตากับคนไข้นั้น นอกจากทำให้การรักษาต้องใช้เวลามากกว่าแล้ว แพทย์เองอาจกลายจากการเป็นผู้รักษาไปเป็นผู้ที่ทำร้ายผู้ป่วยของตนเองก็ได้

ผู้เขียนคิดว่า การแพทย์ต้องมีเรื่องของจิตใจและจิตวิญญาณของผู้รักษาเป็นปฐม หรืออย่างน้อยก็ต้องมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิธีการซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิค กับประสบการณ์และศิลปะ การแพทย์ทางเลือกจึงเป็นรูปแบบและแนวทางที่เราต้องนำมาผสมผสานกับการแพทย์ “สมัยใหม่” โดยที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องทำหน้างอ กระนั้นก็ดี แพทย์ทางเลือกเอง ที่คิดว่าตนเข้าใจในธรรมชาติของความเป็นองค์รวมของจักรวาลได้หมดแล้ว ก็คงต้องสำรวจตัวเองบ่อยๆ ว่า ตนมีความเข้าใจในเรื่องของสุขภาวะในรูปแบบขององค์รวมอย่างไร

สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 กันยายน 2547

คำว่าสิ่งในที่นี้หมายรวมถึงคนสัตว์สิ่งของ ซึ่งมีทั้งรูปลักษณ์ให้เห็นได้ และมีนามธรรมฝังแฝงอยู่ภายในที่ไม่สามารถมองเห็น จนกว่าสิ่งนั้นจะแสดงตัวตนและแก่นแท้ที่เป็นจริงออกมา

สิ่งที่เห็นแวววาวมิใช่ทองเสมอไป มหาโจรไม่จำเป็นต้องเป็นบุรุษหน้าตาเหี้ยมโหดและท่าทางดุร้าย งูพิษมันจะเลื้อยเชื่องช้าเงียบกริบ สุนัขเห่ามักจะไม่กัด ครอบครัวหนึ่งในบ้านหลังใหญ่ มั่งมีมหาศาล อยากได้อะไรเว้นแต่ดาวกับเดือนก็ย่อมได้ แต่ทุกคนทะเลาะกัน จะหาความสุขสักน้อยหนึ่งก็ไม่มี

สังคมไทยมีลักษณะแปลกอย่างหนึ่งคือ เป็น “สังคมประทับตรา” ใครก็ตามที่เคยทำผิด หรือแสดงความกักขฬะ คดโกงสักครั้งหนึ่ง คนนั้นจะเลวตลอดชาติ สังคมได้ประทับตราแล้วว่าคนนี้เป็นคนไม่ดี เป็นพวกยี้ ไม่ว่าภายหลังเขารู้ตัว กลับใจ ทำความดีสักเท่าใด เขาก็เป็นคนดีไม่ได้ ก็คนมันเคยเลว

ในทางกลับกัน คนที่ทำความดีออกมาเด่นจนสังคมชื่นชมอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เขาจะได้รับการประทับตราจากสังคมว่าเป็นคนที่แสนดี ไม่มีทางที่คนดีจะกลายเป็นคนชั่วไปได้ ภาพลักษณ์ของเขาจะดูสง่าสงบและซื่อสัตย์ สังคมไทย (ซึ่งแปลความได้หลายนัย) เชื่อว่า เขาไม่มีวันคิดอะไรที่ผิดเพี้ยน ฉ้อฉล ก็คนเขาเคยดีก็ต้องดีอยู่วันยังค่ำ

ผู้ที่ศึกษาและเข้าถึงศาสนธรรมจะไม่คิดเช่นนั้น หลักธรรมสอนว่าความเป็นจริงของสรรพสิ่ง คือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงได้ทั้งทางวิวัฒน์และวิบัติ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงเกื้อหนุน หรือบั่นทอนซึ่งกันและกัน ยิ่งเป็นมนุษย์ด้วยแล้ว ย่อมมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ ต้องได้รับผลของกรรมนั้น

กรรมหรือการกระทำที่เคยทำมา กำลังทำอยู่ และคิดจะทำต่อไป ต้องส่งผลแก่ตนเองตามเวลา สถานะ และเหตุการณ์ที่เผชิญ

พระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) เทศนาว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำดีด้วยตนเอง ย่อมได้ผลดีด้วยตนเอง ไม่ได้สอนให้คนอื่นทำให้หรือทำให้คนอื่น”

เราย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองนั้นดีหรือชั่ว พฤติกรรมคำพูดและจิตของเราบอกชัด คนอื่นจะยกยอปอปั้นหรือนินทาว่าร้ายอย่างไร ถ้าเรารู้จักตรวจสอบตนเอง และรู้ตัวอยู่เสมอ ก็จะไม่เผลอตัว นี่คือจิตตระหนักรู้ที่ควรฝึกฝนเอาไว้

ในประเด็นของกลุ่มคนหรือสังคม การประเมินว่าใครเป็นคนดีนั้น นอกจากสังเกตติดตามดูความสุจริตทั้งกายวาจาใจแล้ว น่าจะใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ เป็นเกณฑ์วัดคุณสมบัติของคนดี

พระไพศาล วิสาโล ได้เขียนเรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธไว้ตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการรับรู้ สรุปได้ว่า คนเรานั้นอาจมีความคลาดเคลื่อนในการรับรู้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน เกิดจากการได้ยินได้เห็นอย่างหนึ่งกลับเข้าใจไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง การรับรู้ที่คลาดเคลื่อนยังเกิดจากอารมณ์ปรุงแต่งหรือทิฏฐิ ที่ฝังแน่นอยู่ในใจ รวมถึงสถานะทางสังคมของแต่ละคนทำให้ได้รับการประเมินคุณค่าที่ผิดไปจากความจริงได้ด้วย

ดังนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าคนที่จบจากสถาบันนั้นต้องดี มาจากโรงเรียนนั้นไม่ดี อาชีพนั้นลำบากต่ำต้อย อาชีพนั้นสบาย รวยเร็ว ภาพลวงที่เห็น อาจไม่ใช่ความจริงที่เป็น

ยังไม่เคยเห็นเครื่องประดับรูปควายหรือรูปกาดำเลย มีแต่เข็มกลัดรูปนกยูงรำแพน เราตัดสินเสียแล้วว่าควายหรืออีกา เป็นสัตว์ที่ไม่น่ายกย่อง ทั้งๆ ที่รู้ว่า ควายนั้นเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์

กลับมาพิจารณาสิ่งของบ้าง ของดีคือของที่มีประโยชน์และมีคุณค่า ไม่ใช่ของที่มีแต่ราคา วิธีการตลาดต้องการเพิ่มราคาก็ต้องเคลือบฉาบทา และสร้างภาพลวงว่ามีประโยชน์ยิ่งต่อชีวิต

ทั้งคนและของต่างก็มีดีมีชั่วผสมกันอยู่ ของที่เห็นถูกกระทำให้มันเป็น คนที่เห็นก็มีพฤติกรรมทั้งเปิดเผยซ่อนเร้น สังคมมีส่วนช่วยปรุงแต่งให้ดูดีและดูไม่ได้

ถ้าเราจะพัฒนาจิตให้รู้จักเลือกและตัดสินได้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ เราต้องฝึกคิดและพิจารณา คำว่าคิดทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้ว ในที่นี้เน้นการพิจารณาโดยวางตนเป็นกลาง ไตร่ตรองตรวจสอบเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ก่อนจะตัดสินประเมินค่า

จะใช้สามัญสำนึกบ้างก็ไม่ผิดบาป แต่ปัญญาการรู้วิธีแสวงหาความจริงต้องเป็นตัวนำ คนเรานี้ก็ชอบกล บทจะเกลียดจะรักใครไม่มีเหตุผล เช่น ความรักแรกพบ หรือมองหน้าแล้วศรศิลป์ไม่กินกัน เป็นอารมณ์ของปุถุชน แต่สามัญสำนึกและอารมณ์ไม่ควรครอบงำจิตจนไม่เกิดปัญญา

การพัฒนาจิตโดยการตระหนักรู้ ลดอคติ ลดการใช้อารมณ์ แล้วเพิ่มการพิจารณาหาความจริงอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินว่าใครหรืออะไรดีชั่ว ทำให้เราไม่ผิดหวังรุนแรง เมื่อพบว่าคนเคยดีกลับไม่ดี คนที่เรารักชื่นชอบกลับเปิดเผยเล่ห์เหลี่ยมร้ายกาจออกมา เราจะไม่เสียใจมาก ถ้าพบว่าของรักของหวงที่สรรหามาราคาแพงกลับไร้ประโยชน์และนำความทุกข์มาให้

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี คิดได้อย่างนี้ก็รับได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง จิตจึงตั้งมั่น เมื่อทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่หวัง

ใครเล่าจะรู้จริงว่าใครดีใครชั่ว นอกจากตัวคนนั้นเอง

ตัดแต่งยีน (Gene) ให้หายดื้อ

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กันยายน 2547

จีเอ็มโอ (GMO) หรือ Genetic Modified Organism กำลังเป็นที่กล่าวขานกันทั่วเมือง ทุกวันนี้มนุษย์อยากได้อะไร ก็แทบจะสามารถบันดาลให้เป็นจริงได้หมด ไม่อยากให้แมลงกัดกินพืช ก็ตัดแต่งพันธุกรรมของพืชเสียใหม่ให้มีภูมิต้านทานต่อแมลงชนิดนั้นๆ ในไม่ช้า คงจะมีคนที่คิดตัดแต่งยีนลูกหลานของเราให้ “หายดื้อ” เป็นแน่แท้ อันที่จริงเขาว่ากันว่า “เด็กดื้อเป็นเด็กฉลาด” แต่สังคมไทยเรานิยม “เด็กว่าง่าย เด็กหัวอ่อน” เสียมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กที่เถียงหรือมีปากมีเสียงจึงถูกจำแนกว่าเป็น “เด็กดื้อหรือเด็กก้าวร้าว” นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็นสักที นับว่าเป็นการจำกัดโอกาสของเด็ก ในการที่จะฝึกสื่อสารกับผู้อื่นอย่างน่าเสียดาย ไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้ เด็กบางคนขาดความมั่นใจและไม่สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ยิ่งสังคมปัจจุบันอยู่ในช่วงสับสนทางวัฒนธรรม เด็กๆ ไม่รู้จะเลือกใช้ชีวิตหรือประพฤติตัวอย่างไรให้เหมาะสม จึงเลือกรับวัฒนธรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับในหมู่คณะก็เพียงพอแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เด็กจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้การยอมรับจากเพื่อนฝูง

ปัญหาส่วนใหญ่ของเยาวชนในปัจจุบันจึงเป็นปัญหาความรุนแรง ดังที่เห็นได้จากหน้าหนังสือพิมพ์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กวัยรุ่นภาคเหนือตั้งแก๊งค์ซามูไร เด็กวัยรุ่นภาคกลางยกพวกตีกันเป็นพันคน บางกลุ่มฉุดเด็กสาวไปข่มขืน บางกลุ่มก็ตั้งเป็นแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ หรือเด็กวัยรุ่นภาคใต้บางกลุ่มร่วมขบวนผู้ก่อการร้าย เป็นต้น แต่ไม่ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใด ผู้ใหญ่ในพื้นที่นั้นต่างก็ปวดใจไม่แพ้กัน ดังนั้นปัญหาการใช้ความรุนแรงจึงเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องย้อนกลับมามองว่า อันที่จริงแล้ว การที่เขาเหล่านั้นเลือกที่จะใช้ความรุนแรง เป็นเพราะมีสภาพจิตใจที่อ่อนแอลงไป ใช่หรือไม่ ถ้าจะมองกันให้ลึกซึ้งลงไปอีก ภาวะความเครียดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศ สังคมผู้ใหญ่ก็มีความเครียดไม่น้อย หากแต่ผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานต่อความเครียดมากกว่า เนื่องจากมีครอบครัว มีความรับผิดชอบ มีความเชื่อ มีศาสนา ที่สามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจได้ระดับหนึ่ง แต่กลุ่มวัยรุ่นซึ่งไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหรือมีปัญหาทางบ้าน ย่อมไม่พร้อมที่จะรับกับปัญหาต่างๆ รอบๆ ตัวและพ่ายแพ้ต่อสภาพแวดล้อมที่กดดันในปัจจุบันได้ง่าย จึงแสดงอาการเครียดและสับสน ซึ่งเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันและใช้พลังในทางที่ไม่เหมาะสม คือแทนที่จะทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ กลับทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อนเพียงเพื่อต้องการแสดงว่าตนเองมีพละกำลังความสามารถ แต่ด้วยสภาพจิตใจที่อ่อนแอ จึงถูกชักจูงและครอบงำด้วยพลังด้านลบได้โดยง่าย จนบางครั้งกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ไปโดยปริยาย

หากจะเปรียบเทียบเยาวชนของชาติ เสมือนกับต้นไม้น้อยๆ ที่กำลังถูกชอนไชด้วยแมลงหรือศัตรูพืช อันได้แก่ วัฒนธรรมความรุนแรง ที่กระหน่ำผ่านสื่อต่างๆ เข้ามาอย่างไร้ปราการป้องกัน เมื่อเยาวชนของเรามีภูมิต้านทานที่ไม่ดีพอ ขาดเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ความรุนแรงก็จะสามารถกัดกินความคิดของลูกหลานเราอย่างง่ายดาย

ผู้ใหญ่ที่เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่และมีภูมิต้านทานที่สูงกว่า จำเป็นที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ ป้องกันและให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เยาวชน กลั่นกรองให้เห็นถึงประโยชน์และโทษของวัฒนธรรมบางประเภท ปลูกฝังจิตสำนึกและเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ ผู้ใหญ่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันสิ่งดีงามให้แก่กันและกัน เป็นการให้คุณค่าและสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกหลาน ประดุจร่มเงาที่ปกคลุมต้นไม้เล็กต้นไม้น้อยที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ได้พึ่งพาอาศัย แม้ขณะนี้ อนาคตของชาติจะถูกแมลงหรือหนอนกัดกินไปบ้าง แต่ในที่สุดธรรมชาติก็จะสร้างภูมิต้านทานให้แก่เขาได้ในไม่ช้า แล้วต้นไม้น้อยๆ เหล่านี้ก็จะเติบใหญ่เป็นต้นไม้ที่แข็งแรง สามารถให้ความรู้และแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่ลูกหลานในรุ่นต่อไปได้ในอนาคต

สุดท้ายนี้ แม้เทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าไปมากมายเพียงใดก็ตาม กระทั่งสามารถตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตระดับต่างๆ ได้ แต่เทคโนโลยีก็ไม่สามารถตัดแต่งพันธุกรรมให้เยาวชน “หายดื้อ” หรือเป็นไปอย่างที่สังคมต้องการ รวมทั้งไม่สามารถทำให้คนหายเครียดหรือพ้นทุกข์ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คนรุ่นเราต้องกลับมาคิดและช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุอันแท้จริงของความเครียดในสังคม เพราะความรุนแรงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครชนะ แต่ทำร้ายจิตใจทุกคน ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่สังคมต้องเอาใจใส่ หาหนทางป้องกัน ช่วยกันสร้างจิตของสังคมให้วิวัฒน์งอกงาม เป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง สามารถแผ่กิ่งใบปกคลุมให้ต้นไม้เล็กๆ เจริญเติบโตภายใต้ร่มเงาได้อย่างปลอดภัย ดังที่ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี พูดเสมอว่า “จงทำจิตให้ใหญ่” เพื่อสร้างภูมิต้านทานต่อโรคร้าย ที่กำลังเรื้อรังในสังคมปัจจุบัน ไม่ให้คุกคามถึงเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป มิฉะนั้นอนาคตของประเทศก็คงจะไม่สดใสอย่างที่คิดแน่นอน

เรียนรู้จากเซลล์มะเร็ง

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ื 14 กันยายน 2547

ผมอยากจะเชิญชวนท่านผู้อ่านมาท่องโลกของเซลล์กันเล็กน้อย สัญญาว่าจะพยายามเขียนให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมาก และจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อแนวคิดการมองโลก ซึ่งสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงในวิถีชีวิตของเราได้

ถ้าเราเปรียบเทียบเซลล์เป็นไข่ดาว ส่วนของนิวเคลียสก็คือ “ไข่แดง” แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า “นิวเคลียส” เป็นเสมือน “สมอง” หรือหัวใจหลักของเซลล์ เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การทำงานของเซลล์นั้นมาจาก “โปรตีน” ชนิดต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนหรือเอ็นไซม์ที่ใช้ในปฏิกิริยาทางชีวเคมีต่างๆ และโปรตีนก็สร้างมาจาก “ตัวต้นแบบ” ที่มีรหัสต่างๆ กัน จึงทำให้เกิดโปรตีนชนิดต่างๆ กัน ทั้งยังพบว่า “เจ้าตัวต้นแบบ (DNA)” เหล่านั้นถูกเก็บไว้ในนิวเคลียสของเซลล์นี่เอง

นั่นเป็นความเดิมที่เป็นมาตั้งแต่ ๕๐ ปีก่อน (ค.ศ. ๑๙๕๓) โดยเริ่มเมื่อวัตต์สันและคริกส์ค้นพบรูปจำลองของ DNA เป็นภาพสามมิติ ด้วยแนวคิดที่ว่า ยีนส์ หรือ DNA ในนิวเคลียสกำหนดการสร้างโปรตีน การทำงานของร่างกายที่ผิดปกติก็เป็นเพราะโปรตีน ดังนั้นถ้าเราสามารถสร้าง “ตัวต้นแบบ” ที่ดีๆ ได้ก็น่าจะทำให้เกิดโปรตีนดีๆ ได้ และโปรตีนดีๆ ก็จะนำไปสู่การทำงานของร่างกายที่ดีๆ ได้เป็นทอดๆ แบบนี้ ทำให้เกิดความคิดที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับยีนส์”

แนวคิดแบบนี้นำไปสู่ “โครงการเขียนรหัสพันธุกรรมของมนุษย์” หรือที่เรียกกันว่า Genome Project ซึ่งเป็นอภิมหาโปรเจค ใช้เงินทุนมหาศาล และใช้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากช่วยกันทำงาน เพราะคิดว่าถ้าสร้างแผนที่ทางพันธุกรรมสำเร็จ เราก็จะสามารถแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดจากธรรมชาติได้ทั้งหมด โครงการนี้สำเร็จออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๑ นี้เอง แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะค้นหาเท่าไรก็เขียนรหัสพันธุกรรมมนุษย์ออกมาได้เพียงไม่เกิน ๓๔,๐๐๐ ยีนส์ ทั้งๆ ที่จำนวนโปรตีนในร่างกายมนุษย์มีมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ชนิด

นักวิทยาศาสตร์ในอีกซีกหนึ่งของความคิดและเป็นคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้คือ บรู๊ซ ลิปตัน (Bruce Lipton) ได้ศึกษาการทำงานของเซลล์และเขียนบทความเป็นรายงานการวิจัยที่สำคัญหลายชิ้น หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “The Biology of Belief” เล่าถึง “ทฤษฎีใหม่” เกี่ยวกับการทำงานของเซลล์ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใน “วิธีคิด” ของนักวิทยาศาสตร์ได้เป็นจำนวนมาก

ลิปตันได้แนวคิดหนึ่งมาจากแบคทีเรียซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีนิวเคลียส ว่าทำไมเจ้าสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างแบคทีเรียถึงมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องอาศัย “สมอง” อย่างนิวเคลียส แถมยังอยู่ยงคงกระพันมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ล้านปีก่อนและไม่มีทีท่าถ้าจะสูญพันธุ์ไปได้เลย

ศึกษาไปศึกษามาพบว่า ที่ผนังเซลล์ของแบคทีเรียนั้นมี “ความพิเศษ” คือในผนังสามชั้นของผนังเซลล์นั้น เปรียบเสมือนแซนวิชเนยที่มีลูกมะกอกสอดไส้อยู่ด้วย แบคทีเรียมีเจ้าลูกมะกอกสอดไส้อยู่ที่ผนังเซลล์ประมาณ ๖ เม็ด เป็นโปรตีนชนิดพิเศษที่เรียกว่า IMP (Integral Membrane Protein) เจ้า IMP นี้มีขั้วด้านนอกที่เรียกว่า “ตัวรับหรือเสาอากาศ” คอยรับข้อมูลจากภายนอกเซลล์ ลิปตันพบว่า ข้อมูลที่เซลล์รับไม่เพียงแต่เป็นเฉพาะปฏิกิริยาทางชีวเคมีเหมือนกับที่เคยเข้าใจกันมาเท่านั้น หากแต่สามารถรับข้อมูลในรูป “คลื่น” ได้ด้วย เหมือนกับเสาอากาศของโทรศัพท์มือถือนั่นเอง

การรับสัญญาณในรูปคลื่นของเสาอากาศของเซลล์นี้ไม่ธรรมดา มีนักวิทยาศาสตร์คำนวณออกมาแล้วว่า “การเลือกรับ” สัญญาณคลื่นที่มีข้อมูลอยู่มหาศาลของขั้วนอกของ IMP นี้ เป็นไปในรูปแบบของสมการฟูเรียร์ (Fourier’s Equation) ซึ่งเป็นสมการของนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่นโปเลียนใช้ในการคำนวณเวลาที่เหมาะสมในการยิงปืนใหญ่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยที่ปากกระบอกปืนไม่แตก ขั้วนอกของ IMP จึงสามารถเลือกรับข้อมูลที่เหมาะสมเข้ามาเพื่อประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อได้ข้อมูลเข้ามาแล้ว IMP จะส่งสัญญาณไปยังนิวเคลียสก่อนว่า พอจะมีซอฟแวร์หรือข้อมูลอะไรบ้างที่เซลล์จะสามารถตอบสนองด้วยการสร้างโปรตีนจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่ หากข้อมูลเดิมที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียส (ยีนส์ที่คุณพ่อคุณแม่ให้มา) เหมาะสมที่จะตอบสนอง IMP ก็จะมอบหมายให้นิวเคลียสทำงานด้วยการสร้างโปรตีนส่งอออกมาในไซโตพลาสซึ่มซึ่งเปรียบเสมือนไข่ขาว เฉพาะการทำงานของนิวเคลียสตรงนี้ เป็นเรื่องเป็นราวที่เข้าใจกันดีในตำราวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้บอกว่า IMP ที่ผนังเซลล์เป็นผู้ส่งข้อมูลมาก่อนเท่านั้นเอง นักวิทยาศาสตร์ก็เลยเข้าใจว่าเป็นนิวเคลียสที่สั่งงานให้สร้างโปรตีน นี่เป็นตัวอย่างของความรู้ที่ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่รู้ไม่สุด เห็นไม่กว้าง เหมือนกับที่กลศาสตร์ของนิวตันก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่อธิบายไม่ได้หมด เช่น อธิบายวัตถุที่มีความเร็วเหนือแสงไม่ได้เป็นต้น แต่ควอนตัมฟิสิกส์สามารถอธิบายได้ ทั้งยังอธิบายกลศาสตร์แบบนิวตันได้อีกด้วย ความรู้ใหม่เรื่องเซลล์ตรงนี้จึงเหมือนกับการต่อยอดความรู้เดิมที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ทีนี้หากว่า “ซอฟแวร์” หรือ “ข้อมูล” ที่มีอยู่ในยีนส์หรือในนิวเคลียสไม่ดีพอไม่เหมาะสมพอที่จะตอบสนองต่อ “ข้อมูล” ที่ขั้วด้านนอกของ IMP ได้รับเข้ามา IMP ก็จะ “สร้างยีนส์” เอง แล้วส่งผ่านขั้วด้านในของเจ้าลูกมะกอกนี้เข้าไปในเซลล์ด้วยตัวเองเพื่อทำการสร้างโปรตีนที่เหมาะสม

นิวเคลียสของเซลล์จึงทำหน้าที่เป็นเพียงอวัยวะสืบพันธุ์มากกว่าเป็นสมองอย่างที่เคยเข้าใจ

นี่จึงเป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมอภิมหาโปรเจคอย่างโครงการจีโนมจึงล้มเหลว เพราะไปเข้าใจว่ากระบวนการทำงานทั้งหมดขึ้นอยู่กับนิวเคลียสหรือไข่แดงนั่นเอง และเป็นคำอธิบายถึงโปรตีนที่เหลืออีกร่วมหกเจ็ดหมื่นชนิดที่คนเขียนจีโนมไม่สามารถเขียนออกมาจากนิวเคลียสของเซลล์ได้ เพราะไม่ได้สร้างที่นั่น ข้อมูลของยีนส์ในนิวเคลียสเป็นเพียง “ข้อมูลเก่า” ที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษเท่านั้น การสร้างยีนส์ขึ้นใหม่โดยผนังเซลล์จึงมีความสำคัญมากกว่า เพราะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เป็นอยู่จริงในปัจจุบันและความเป็นไปในอนาคต ที่สำคัญก็คือจำนวนยีนส์ที่ผนังเซลล์สร้างออกมาใหม่นี้ยังเป็นพลวัตมากขึ้น คือมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับการรับรู้ข้อมูลจน “อาจจะ” ไม่มีทางเขียนออกมาเป็นรหัสได้อย่างเด็ดขาด หรือเขียนได้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเขียน

ยังไม่จบแค่นี้ครับ เราจะเห็นแล้วว่าขั้วนอกของ IMP นั้นมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการรับข้อมูลจากภายนอก ในแบคทีเรียที่มี IMP เพียง ๖ อัน ซึ่งหมายความว่ารับข้อมูลได้เพียง ๖ ข้อมูลนั้นกลับมีความมหัศจรรย์ในการ “ดื้อยา” ได้อย่างรวดเร็วมาก กล่าวคือน่าสนใจว่า ทำไมแบคทีเรียถึงได้สามารถผลิตยีนส์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อผลิตโปรตีนสำหรับการดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว บรู๊ซ ลิปตัน อธิบายว่า แบคทีเรียนั้นมีความเป็นชุมชน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันเป็นเครือข่าย มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างมหัศจรรย์ เจ้าแบคทีเรียจะไม่อยู่กันเดี่ยวๆ แต่จะรวมกลุ่มกัน เช่น สมมติว่าเมื่ออยู่รวมกัน ๑๐๐,๐๐๐ ตัวก็จะสามารถมีข้อมูลถึง ๖๐๐,๐๐๐ ข้อมูลที่มาแลกเปลี่ยนกัน แบคทีเรียสื่อสารระหว่างกันได้ดีมากถึงขนาดว่าเป็นไปได้ที่แบคทีเรียสามารถแลกหรือส่งผ่านยีนส์ถึงกันและกันได้ เช่นถ้าหนึ่งในหกแสนข้อมูลนี้นำไปสู่การสร้างโปรตีนที่ต่อต้านยาปฏิชีวนะได้ แบคทีเรียจะสามารถส่งยีนส์ดื้อยานี้ผ่านไปมาระหว่างกันได้แบบเป็น worldwideweb ของแบคทีเรีย (http://www.bacteria....) เลยทีเดียว

มีความเป็นไปได้ที่เซลล์ของร่างกายมนุษย์จะทำงานในรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าจำนวน IMP ที่ผนังเซลล์ของมนุษย์มีจำนวนมากกว่าแบคทีเรียมาก เซลล์ของมนุษย์สามารถทำงานแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ผ่านขั้วนอกของ IMP เช่นกัน และทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เช่น มีการศึกษาพบว่า ในเซลล์สมองของมนุษย์ที่มีมากเกือบ ๑ ล้านล้านเซลล์ (เลขประมาณ ๑๓ หลัก หลายร้อยพันล้านเซลล์) ไม่มีสองเซลล์ไหนเลยในสมองมนุษย์ที่ไม่ได้ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน และถ้าทฤษฎีผนังเซลล์นี้เป็นจริง ผมคิดว่าเซลล์ทั้งร่างกายทั้ง ๕๐-๗๕ ล้านล้านเซลล์ก็คงจะต้องมีการสื่อสารส่งข้อมูลระหว่างกันในรูปคลื่นพลังงานแบบควอนตัมตลอดเวลาด้วยเช่นกัน ไม่ได้ติดต่อผ่านกันแต่เพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีแบบเดียวอย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น

เซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ที่แบ่งตัวผิดปกติ ดังนั้นเซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ที่ไม่ได้ติดต่อสื่อสารระหว่างเซลล์อื่นๆ หรือไม่สามารถติดต่อได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การขาดการสื่อสารระหว่างเซลล์ก็คือการทำให้เกิดเซลล์มะเร็งนี่เอง

ถ้าเราย้อนไปดูกระบวนการรับข้อมูลของ IMP ของเซลล์ข้างต้น เราก็จะเห็นได้ว่าการขาดการสื่อสารระหว่างเซลล์อาจเกิดจากสาเหตุสองประการคือ

หนึ่ง การ “รับรู้ข้อมูล” ที่ผิดพลาด หมายความว่า IMP ทำงานผิดพลาดเอง

หรือสอง มีสิ่งหรือคลื่นรบกวนจากภายนอก ตัวอย่างเช่น คลื่นกัมมันตรังสีสามารถทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ก็สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีนี้เช่นกัน เพราะคลื่นกัมมันตรังสีเหล่านั้นรบกวนการทำงานในรูปคลื่นของขั้วนอกของ IMP นั่นเอง ทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดปกติ ทำให้เซลล์ไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจึงแบ่งตัวและเติบโตผิดปกติ

นั่นเป็นทฤษฎีเซลล์แบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ “การสื่อสาร” ระหว่างกันแบบเป็นองค์รวม

ในอีกทฤษฎีหนึ่งซึ่งมีความเป็นวิทยาศาสตร์แบบใหม่ด้วย ก็คือทฤษฎีส่วนเสี้ยว (Fractal Theory) บอกว่า ความเป็นไปหรือรวมถึงการทำงานของส่วนย่อยนั้นเป็นภาพสะท้อนของส่วนใหญ่ด้วย เช่น กระหล่ำดอกหรือบร็อคคอรี่ที่เราหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก็จะยังคงมีรูปทรงของกระหล่ำดอกทั้งอัน ก้อนเมฆแต่ละก้อนไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วนมีรูปทรงที่มองทีเดียวก็รู้ว่าเป็นก้อนเมฆ รวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ในเรื่องภาพสามมิติแบบโฮโลแกรมที่แสดงในภาพยนตร์เรื่อง สตาร์วอร์ นักวิทยาศาสตร์พบว่าส่วนเสี้ยวของแผ่นโลหะที่บันทึกข้อมูลนั้นสามารถสะท้อนภาพทั้งภาพได้ แม้จะแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพียงใด

การทำงานของเซลล์จะสะท้อนการทำงานของมนุษย์ในสังคมด้วย ถ้าเซลล์ประกอบเป็นร่างกายมนุษย์ มนุษย์ก็ก่อรวมกันเป็นสังคมในรูปแบบเดียวกัน ไม่ใช่แค่เป็นเพียงการเปรียบเทียบเปรียบเปรยเฉยๆ แต่มีความหมายแบบนั้นอย่างจริงจัง และถ้าเราย้อนมาดูการทำงานของเซลล์แบบใหม่ของ บรู๊ซ ลิปตัน เราก็จะสามารถมองเห็นและอธิบายภาพรวมของสังคมได้ว่า

สังคมปัจจุบันกำลังเป็นมะเร็ง

เพราะสังคมในปัจจุบันที่ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ คนในสังคมขาดการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน หนึ่งในสาเหตุสำคัญของความล้มเหลวในการติดต่อสื่อสารกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นก็คือ การใช้อำนาจระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็น รัฐกับประชาชน ครูกับนักเรียน พ่อแม่กับลูก แพทย์กับคนไข้ ผู้เชี่ยวชาญกับคนที่ถูกคาดว่าเป็นผู้ไม่รู้ ฯลฯ

เมื่อมีอำนาจเหนือกว่า ก็จะขาดมิติของการรับฟังกัน เมื่อขาดการรับฟังกันก็สื่อสารระหว่างกันไม่ได้ เปรียบได้ชัดเจนกับการที่ขั้วด้านนอกของ IMP ไม่สามารถรับสัญญาณหรือข้อมูลจากภายนอกที่ถูกต้องเข้ามาเพื่อประมวลผลในเซลล์ได้ เมื่อข้อมูลมาผิด ก็ย่อมนำไปสู่การตอบรับที่ผิด จนเติบโตผิดปกติกลายเป็นมะเร็งไป เซลล์มะเร็งในที่นี้จึงอาจจะมีความหมายเป็นนัยๆ ถึงคนที่มีอำนาจเหนือกว่านั่นเอง เพราะจะเป็นเซลล์ที่ไม่รับฟังไม่รับรู้ข้อมูล

ความรู้ดังกล่าว นำเราไปสู่แนวคิดเพื่อการแก้ปัญหาว่า ควรจะต้องแก้ที่การสื่อสารระหว่างเซลล์ซึ่งเป็น “ต้นเหตุ” มากกว่าที่จะแก้ที่ปลายเหตุคือการทำลายเซลล์มะเร็ง

หรือถ้าในกรณีของแบคทีเรีย ถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งบอกว่า “ฉันมีอำนาจ-ฉันเป็นใหญ่” แบคทีเรียตัวนั้นก็จะสามารถรับข้อมูลได้เพียง ๖ ข้อมูลจาก ๖ IMP เท่านั้นไม่สามารถได้รับ “ข้อมูลร่วมจำนวนมหาศาลของเว็บไซต์ของแบคทีเรียจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ ข้อมูลนั้นได้เลย

เมื่อดูด้วยทฤษฎีนี้ เราจะเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนได้ว่า การใช้ความรุนแรงหรือการใช้อำนาจเพื่อการควบคุมมากขึ้นไม่เกิดประโยชน์ใดๆ หากแต่จะต้องพยายาม “สื่อสาร” ระหว่างกันให้มากที่สุด เชื่อมโยงระหว่างกันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มนุษย์แต่ละคน (เซลล์แต่ละเซลล์) ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างเท่าเทียม

ในทางปฏิบัติ การสร้างการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้น ก็คงจะต้องกลับมาที่เรื่อง “การหันหน้าเข้าหากัน” ด้วยการฝึก “การรับฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งเป็นมิติหลักเรื่องหนึ่งของ “สุนทรียสนทนา” นั่นเอง

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีเพื่ออะไร? และเพื่อใคร?

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2547

ในระยะที่ผ่านมา ข่าวคราวเรื่องการทดลองปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ในไร่นาในประเทศไทย ก่อให้เกิดการตื่นตัวและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยมากพอควร ทั้งในแง่วิชาการ เศรษฐกิจ และการเมือง ทั้งสองฝ่าย คือผู้ที่เห็นด้วยกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย ต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนความคิดเห็นของตนเอง และในขณะเดียวกันก็โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

บทความนี้ไม่ต้องการตัดสินหรือลงสรุปว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด แต่ต้องการให้ทุกฝ่ายฟังซึ่งกันและกันอย่างมีสติ ใช้ปัญญา โดยไม่โจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างไปหาข้อมูลเพิ่ม พิจารณาให้รอบด้าน แล้วหันมาคุยกันใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์สุขของทุกฝ่าย

ผู้เขียนเองได้ติดตามและรวบรวมข้อมูล ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์และส่วนที่เป็นโทษเป็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับ GMO มากพอควร แต่จะไม่นำมาสรุป ณ ที่นี้ แต่จะนำเสนอข้อมูลและประเด็นที่น่าสนใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นำไปคิด และอาจนำมาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันได้ในอนาคต ไม่ใช่แค่เรื่อง GMO แต่เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า GMO คือ การแสวงหาและนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใด จึงจะช่วยให้สังคมมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และโลกของเรามีการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development)

เราคงไม่ปฏิเสธว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่และที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบันและในอนาคต เป็นความรู้แบบลดทอนแยกส่วนของตะวันตก (Reductionist Knowledge of the West) เป็นหลัก ซึ่งเป็นฐานคิดและทิศทางของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ลดทอนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความรู้ สถาบันการศึกษา ทรัพยากรทางธรรมชาติ คุณภาพชีวิต และทุกสิ่งให้เป็นตัวเงิน ให้เป็นรายได้

ฐานคิดดังกล่าวนำไปสู่รูปแบบใหม่ของการร่วมมือระหว่างธุรกิจอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา มีการให้ทุนทำวิจัย และนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาพัฒนาเป็นธุรกิจการค้า เป็นการตัดแต่งต่อเติมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นการพาณิชย์ (Commercialization of Science) และความรู้ที่ค้นพบก็จะถูกจดลิขสิทธิ์เป็นของส่วนบุคคล (Privatization of Knowledge) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำมาค้าขายได้

ความก้าวหน้าเฉพาะทางของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปราศจากการยั้งคิดและพิจารณาผล กระทบอย่างรอบด้านและกว้างไกล ทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบางด้านไปไกลถึงขั้นที่ยากจะควบคุมได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาอาวุธเพื่อการทำลายล้างแบบอภิมหาทำลาย (Weapons of Mass Destruction) ทั้งที่เป็นไปโดยเจตนา เช่น อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และที่อาจจะไม่เจตนาหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เช่น GMO, Human Cloning หรือแม้แต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและการแข่งขันเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ก็อาจนำไปสู่การทำลายล้างระบบสังคมและสายใยทางศีลธรรมของมนุษย์ได้ในอนาคต

ลองทำใจให้เปิดกว้าง หันหน้ามาคุยกันอย่างกัลยาณมิตร แล้วพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ ที่กลุ่ม
นักวิทยาศาสตร์เพื่อความรับผิดชอบต่อโลก (Scientists for Global Responsibility: SGR) ร่างโดย Dr. Mae-Won Ho นำเสนอเพื่อการอภิปรายในที่ประชุม World Summit on Sustainable Development (WSSD)

ความรู้ที่เหมาะสมและส่งเสริมความยั่งยืนของโลก ควรหรือไม่ควรมีลักษณะใด
๑. ความรู้ควรเป็นของชุมชน และไม่สามารถนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวได้
๒. ความรู้ควรต้องช่วยให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืนกับธรรมชาติ และมีความรับผิดชอบต่อสภาพนิเวศ ๓. ความรู้ควรตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นอิสระจากการพาณิชย์และการควบคุมของรัฐบาล
๔. ความรู้ต้องไม่นำไปใช้เพื่อการทำลายล้าง การกดขี่ และการก้าวร้าวทางการทหาร
๕. ความรู้ควรมีลักษณะเป็นองค์รวม (Holistic) คำนึงถึงอารมณ์ จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของมนุษย์ด้วย ไม่ใช่แค่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพเท่านั้น
๖. ความรู้ไม่ควรทำร้ายสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเผ่าพันธุ์อื่นๆ ควรเคารพในสิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ฯลฯ

ความรู้ที่ควรสนับสนุน
๑. ความซับซ้อนและความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตรกรรม
๒. ตัวบ่งชี้สภาพแวดล้อมทางสังคมของความยั่งยืน
๓. ตัวบ่งชี้ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และชีวภาพของสุขภาพ
๔. ท้องถิ่นและภูมิภาค vs. โลกาภิวัตน์ ฯลฯ

เทคโนโลยีที่ควรระงับ ได้แก่อะไรบ้างเช่น อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ อาวุธเคมี

เทคโนโลยีที่ควรจะค่อยๆ ลดหายไป เช่น พลังงานและการผลิตพลังงานจากฟอสซิล แอนติไบโอติกในทางเกษตรกรรม เคมีการเกษตรทั้งหลายเช่น สารเคมีฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี

เทคโนโลยีที่ควรนำเข้าสู่การพิจารณากำกับดูแลอย่างสันติจากประชาคมโลก
๑. พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)
๒. นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)

งานวิจัยที่ควรยุติ
๑. งานวิจัยที่เกี่ยวกับ WMD (Weapons of Mass destruction) และสงครามชีวเคมี
๒. การดัดแปลงพันธุกรรมในสัตว์เพื่อการเกษตร เภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
๓. การดัดแปลงพันธุกรรมในพืชทุกชนิดที่จะนำไปแพร่ในสภาพแวดล้อม เพื่อการเกษตร เภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
๔. การโคลนนิ่งมนุษย์ (Human Cloning)
๕. การบำบัดรักษาทางยีน (Gene Therapy)

ประเด็นทั้งหมดเป็นประเด็นสาธารณะ ที่ควรนำมาพิจารณาให้ลึกซึ้ง รอบด้าน ไม่รีบด่วนสรุป ไม่เอาความรู้หนึ่งใดมาข่มหรืออยู่เหนือความรู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้แบบลดทอนของตะวันตก หรือความรู้แบบองค์รวมของตะวันออก หรือความรู้เฉพาะของกลุ่มชน (Indigenous Knowledge) ที่หลากหลายในโลก โดยมีเป้าหมายร่วมคือ การแสวงหาและพัฒนาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และความรู้อื่นๆ เพื่อการพัฒนาโลกแบบยั่งยืน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างมนุษย์และสรรพสิ่ง

วิกฤติน้ำมัน อนาคตอยู่ที่จิตของเรา

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 กันยายน 2547

เร็วๆ นี้ได้หนังสือใหม่มาเล่มหนึ่งเรื่อง Out of Gas: The End of the Age of Oil, David Goodstein, ๒๐๐๔) ที่อ่านแล้วตกใจว่าน้ำมันกำลังจะหมด อย่างน้อยจากตลาดน้ำมันโลกในเร็วๆ นี้ อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า น้ำมันที่ผูกติดกับสังคมวัตถุ ระบบเศรษฐกิจเสรี และเทคโนโลยีดุจฝาแฝด กำลังจะหมดจากตลาด (ข้อมูลของบริษัทเชลล์ เรียกว่าฮับเบิร์ทพีค หรือจุดสูงสุดที่เราสามารถดูดน้ำมันสำรองใต้ดินสู่ตลาดได้ หลังจากนั้น แม้ว่าน้ำมันสำรองใต้ดินยังมีอยู่ แต่ตลาดจะไม่มี) อย่างเร็วอาจในอีก ๕ ปีเศษๆ (www.hubbertpeak.com) หรืออย่างช้า ๔๐ ปี (บริษัทบีพี, www.bp.com) ซึ่งไม่นานพอสำหรับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่จะปรับตัวได้ทัน นั่นเป็นเรื่องน่ากลัวและร้อนแรงสำหรับคนที่มองอะไรไม่เห็นนอกจากเงินกับเทคโนโลยี ที่เอามาบอกจนเราทุกคน (ยกเว้นส่วนน้อยนิดที่ปัดเศษทิ้งก็ได้) เชื่อว่านั่นคืออารยธรรม ความก้าวหน้า และเป็นวิถีแห่งชีวิตของมนุษย์ (ที่จะต้องอยู่เหนือธรรมชาติอันป่าเถื่อนและล้าหลัง) ดำรงอยู่แบบมีคุณภาพและศักดิ์ศรี เช่น ใส่สูท นั่งรถเบ็นซ์ เป็นต้น

เดวิด กู๊ดสไตน์ บอกว่าเวลาน้ำมันหมดนั้น มันหมดตลาด “ทันที” ซึ่งอาจจะขยายเพิ่มเติมว่า ก่อน“ทันที” คือวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่จะเลวร้ายต่อเนื่อง ช้าหรือเร็วขึ้นกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อันที่จริง วิกฤติดังกล่าว ได้เริ่มไปบ้างแล้วตั้งแต่หลายเดือนหรือหลายปีก่อน แต่ถูกบดบังและเร่งให้เลวร้ายยิ่งขึ้นโดยสงครามอัฟกันและอิรัก ทำให้คนทั่วไปมองไม่เห็น แต่ไม่ว่าจะมีสงครามหรือไม่ก็ตาม น้ำมัน (ซากฟอสซิลคาร์บอน) ก็กำลังจะหมดลงจริงๆ และนั่นคือจุดสุดท้ายของอารยธรรมแบบที่เรารู้จัก (วัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ที่ขึ้นกับเงินและเทคโนโลยี) ชื่นชมและคิดว่าเป็นจริงได้มาถึงแล้ว ประเด็นคือ สิ่งที่จะตามมาใน ๕– ๒๐ ปีข้างหน้านี้ มนุษย์ชาติจะอยู่รอดได้อย่างไร?

ที่มองเห็นเฉพาะหน้าสั้นๆ คือตั้งแต่หน้าหนาวปีนี้ น้ำมันอาจจะมีราคา ๖๐-๗๐ เหรียญต่อบาร์เรล และคงไม่มีทางลดลงมาอีก ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนก็ยังห่างไกลมากจนไม่ทันกับความวุ่นวายที่จะเกิดจากสภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ และกระทบกับทุกๆ สังคมแทบจะทันทีทันใด ตามมาด้วยสภาวะอนารยธรรมในทุกๆ หนแห่ง มากหรือน้อยเร็วหรือช้าขึ้นกับสถานภาพทางวัฒนธรรมและการศึกษาของคนในประเทศนั้นๆ

สิ่งที่ตามมา หากสรุปจากผลงานวิจัยของ ซูซาน แคนนอน (Susan Cannon) แห่ง California Institute of Integral Studies (CIIS) ที่ตีพิมพ์ใน Yes! A Journal of Positive Futures, Spring 2000 Issue, “Whose Story, What Future” คาดการณ์อนาคตของสังคมโลกในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ (ซูซานเชื่อว่า จะมีภัยจากธรรมชาติที่ปรับตัวไม่ทันกับอารยธรรมวัตถุ เช่น น้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำชายฝั่ง พื้นที่ด้านในจะแห้งแล้ง มีโรคระบาดร้ายแรงใหม่ๆ มากมาย และสาธารณูปโภคขาดแคลนในทุกๆ ด้าน เรียกว่า “The Shock of 2012”) สังคมอนาคตจะมี ๔ รูปแบบขึ้นกับสภาพการณ์ในตอนนั้น ๒ ประการคือ หนึ่ง มนุษย์สามารถมีวิวัฒนาการของจิตสู่กระบวนทัศน์ใหม่หรือวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Cultural Creatives)ได้ทันหรือไม่? หรือยังคงวัฒนธรรมเดิมคงวัตถุนิยมเดิมๆ ต่อไป สอง สังคมหรือรัฐบาลของประเทศใด มีความแข็งแกร่งมั่นคง เป็นประชาธิปไตย และสามารถรักษาองค์กรการเมืองและสถาบันต่างๆไว้ได้เพียงใด ซูซานชี้ว่าสังคมหรือประเทศในโลกอนาคต (อาจเริ่มแต่ปี ๒๐๑๒) จะมีสภาพ ๑ ใน ๔ แบบ ๔ สมมติฐาน ต่อไปนี้

สมมติฐานที่หนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ จิตใหม่ และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ได้ทัน แต่ระบบต่างๆ ของสังคมหรือประเทศล่มสลาย ผล เกิดสังคมแห่งความจำเป็นที่เรียบง่าย (Necessary Simplicity) ประชากรจะกระจายอยู่เป็นชุมชนธรรมชาติทั่วทุกหนแห่ง กินใช้เรียบง่ายและเท่าที่จำเป็น สร้างความสุขทางจิตใจร่วมกันทางอินเตอร์เน็ต รัฐบาลและระบบต่างๆ รวมทั้งสาธารณูปโภคแทบทั้งหมดล่มสลาย เพราะไม่มีงบประมาณหรือถูกใช้ในการต่อสู้กับภัยธรรมชาติที่เป็นผลสะท้อนกลับของอารยธรรมวัตถุแบบเก่า

สมมติฐานที่สอง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยน ยังคงยึดมั่นกับวัฒนธรรมวัตถุ และสังคมอ่อนแอ ทั้งรัฐบาลก็ไร้สมรรถภาพ ผล เข่นฆ่าวุ่นวายทุกหย่อมหญ้า (War and Pieces) ชีวิตขึ้นกับการดูแลตัวเองและการเอาตัวรอด ไร้ความปลอดภัยแบบบ้านป่าเมืองเถื่อน มีแต่การปล้นจี้หรือข่มขืนกันทุกๆ ซอกตรอกถนนในทุกๆ ก้าวย่าง แม้คนของรัฐเองก็ไว้ใจไม่ได้

สมมติฐานที่สาม ประชาชนยังแสวงหาวัตถุที่มีอยู่น้อย แถมสิ่งแวดล้อมก็ล่มสลาย โดยไม่มีวิวัฒนาการทางจิตเหมือนในปัจจุบัน แต่รัฐบาลและระบบยังเข้มแข็งมั่นคง ผล เกิดการเดินขบวนประท้วงประจำวันแบบที่ต่างฝ่ายต่าง “ไร้จิตไร้วิญญาณ” โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายที่ “มี” กับ “ไม่มี” (Soul-less Confrontation) รัฐบาลจะปกป้องทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปตามกฎหมาย ยังผลให้มีการแบ่งแยกเขตแดน กั้นรั้วสร้างกำแพงระหว่างนายทุนกับคนจนเหมือนในภาพยนตร์ หรือ ยิวกับปาเลสไตน์ ที่ยูเอ็นมีมติออกไป แล้วทำอะไรไม่ได้ นอกจากหัวเราะแหะๆ ตีขาตัวเองแปะๆ แก้เขิน

สมมติฐานที่สี่ ประชาชนเปลี่ยนไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ ร่วมกันสรรค์สร้างสังคม โดยรัฐบาลกับระบบมีความเข้มแข็งและเป็นธรรม ผล เกิดบุพนิมิตแห่งการร่วมใจกันและรวมกันเป็นหนึ่ง (Integral Dawn) เป็นสังคมใหม่แห่งกระบวนทัศน์ใหม่ ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นความพอเพียง พอดีและยั่งยืน เป็นสังคมใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ เน้นความเป็นชุมชน เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน หรือเป็นสังคมแห่งจิตวิญญาณ

เชื่อว่าเราทุกคนต้องการเห็นสังคมในรูปแบบสมมติฐานที่สี่ แต่ความอยากเห็นกับการเปลี่ยนแปลงจริงเป็นคนละเรื่องกัน การเปลี่ยนแปลงในมิติทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องยากที่ท้าทาย เพราะเราเคยชินกับวัตถุนิยมและแยกส่วนมานาน ที่สำคัญกว่านั้นคือเรามีเวลาน้อยเหลือเกิน

แต่เราส่วนใหญ่ต้องพยายามและอดทน (วิริยะและขันติธรรม) อย่ากลับไปที่เดิมอีก เผ่าพันธุ์ของเราจึงอาจจะอยู่รอดต่อไปได้

อะลิซาเบ็ต ซาทัวริส (Elisabet Sahtouris) นักชีววิทยากรีก เขียนในหนังสือ Earth Dance (๒๐๐๐) ว่า “วิกฤติคือคาตาลิสต์สู่การเปลี่ยนแปลง” หรือ “จี่เว่ย” วิกฤติคือโอกาสของเต๋านั้นเอง เธอบอกว่าทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ต่างรู้ดีว่าวิถีอารยธรรมวัตถุนิยมคือวิถีแห่งความพินาศหายนะ ริชาร์ด ลีกตีย์ (Richard Leakey) นักดึกดำบรรพ์วิทยาศาสตร์ เขียนใน The Sixth Extinction (๑๙๙๖) ว่า โลกเราได้พบกับความพินาศอันยิ่งใหญ่มาแล้ว ๕ ครั้ง แต่ละครั้ง (ยกเว้นครั้งที่แล้ว ซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปเมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อน) เราไม่รู้สาเหตุแท้จริงทั้งหมด แต่ความพินาศครั้งที่ ๖ นี้ เรารู้ว่าเป็นเราเอง!

นับแต่ปี ๑๙๙๒ การประชุมสุดยอดโลกครั้งแรกที่ ริโอ เดอจาเนโร รวมทั้งอีกสิบกว่าครั้งหลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่พยายามชี้ประเด็นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมกับการยั่วยุให้คนคลั่งไคล้วัตถุอย่างไม่บันยะบันยังของบรรษัทข้ามโลกข้ามชาติ เป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับกระบวนการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้านโดยไม่ยกเว้น แต่นักอุตสาหกรรมและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนมากปฏิเสธที่จะเชื่ออย่างเด็ดขาด เหมือนกับผู้โดยสารเรือ “ติตานิก” (Titanic) ที่ชื่นชมและภูมิใจในเทคโนโลยีของเรือยักษ์ ไม่เชื่อว่านั่นคือสิ่งที่จะนำพาพวกเขาไปตายที่ก้นมหาสมุทร ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้โดยสารบนนาวาโลกที่สุดภูมิใจในเทคโนโลยี “ไฮ-เทค” ใหม่ๆ ที่นักประดิษฐ์ผู้รับใช้บรรษัทยักษ์ใหญ่ผลิตขึ้นมาล่อใจเป็นรายวัน และภูมิใจกับความเป็นอิสรชน “สิทธิของกู” ที่จะคลั่งไคล้อย่างไรก็ได้กับเทคโนโลยีนั้นๆ จึงยากที่คนรุ่นใหม่หัวเก่าจะยอมเชื่อว่าความอิสระและเทคโนโลยี คือสิ่งที่จะนำความฉิบหายและความตายมาให้ตนและชาวโลกอีกมาก เราประมาท อหังการ และโลภมากจนนำตัวเองสู่กับดักของตัวเอง

บางที น้ำมันที่จะขึ้นราคาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายจากตลาดไปอย่างรวดเร็วภายในทศวรรษนี้ (Hubbert’s Peak, Kenneth S. Deffeyes, ๒๐๐๑) หรือหมดเกลี้ยงใน ๔๐ ปีอย่างที่บริษัทบีพีคาดไว้ ผลที่จะตามมา คือความทุกข์ของเราแต่ละคนที่จะต้องอยู่กับความไม่เคยชิน จากความวุ่นวายของเราไปจนถึงสังคมประเทศชาติ แต่ความทุกข์ความวุ่นวายเหล่านั้นจะสะท้อนให้เราได้คิดมากขึ้นและล้ำลึกขึ้น ไม่ว่าในตอนนั้นเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม สมมติฐานทั้ง ๔ ที่ ซูซาน แคนนอน วิจัยมานั้น ทำให้เราได้คิดว่า มนุษยชาติคงกลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเก่าเดิมคือ ยึดถือตัวตน คิดแยกส่วน วัตถุนิยม และฟุ่มเฟือยอย่างที่เคยเป็นเคยทำไม่ได้อีกแล้ว เราคงต้องเรียนรู้ใหม่มีวิธีคิดใหม่ว่า เราในฐานะเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ย่อมจะต้องมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกันหรือเป็นส่วนของกันและกันกับธรรมชาติทั้งหลายนั้นๆ น้ำมันที่หมดลงไปในด้านหนึ่ง คือตัวดึงดูด (attractor of the chaos system) หรือคาตาลิสต์ที่ อะลิซาเบ็ต ซาทัวริส ว่า ทำให้เราเรียนรู้กับเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ว่าทั้งหมดเป็นเราเองที่จงใจแยกตัวออกจากธรรมชาติและล้างผลาญธรรมชาติเพราะความไม่รู้ เรียนรู้ว่าเป็นเราเองที่อหังการ หยิ่งผยองในปัญญาด้านเทคโนโลยีที่แท้จริงแล้วเป็นอวิชชา ทำให้ธรรมชาติหวนกลับมาสนองตอบต่อเราทั้งเผ่าพันธุ์อย่างไร? การเรียนรู้ที่สุดเจ็บปวดนี้ สำหรับบางคนในเวลานี้และหลายคนในตอนนั้น อาจมีจิตวิวัฒน์ได้ ทำให้เราไม่กลับไปที่เดิมหรือใช้ชีวิตแบบเดิมๆอีกต่อไป

เห็นจะมีแต่การเรียนรู้ที่ว่านี้เท่านั้น ที่จะนำเราไปสู่สมมติฐานรูปแบบที่ ๔ คือบุพนิมิตแห่งกระบวนทัศน์ใหม่ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Integral Dawn)

Back to Top