สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 กันยายน 2547

คำว่าสิ่งในที่นี้หมายรวมถึงคนสัตว์สิ่งของ ซึ่งมีทั้งรูปลักษณ์ให้เห็นได้ และมีนามธรรมฝังแฝงอยู่ภายในที่ไม่สามารถมองเห็น จนกว่าสิ่งนั้นจะแสดงตัวตนและแก่นแท้ที่เป็นจริงออกมา

สิ่งที่เห็นแวววาวมิใช่ทองเสมอไป มหาโจรไม่จำเป็นต้องเป็นบุรุษหน้าตาเหี้ยมโหดและท่าทางดุร้าย งูพิษมันจะเลื้อยเชื่องช้าเงียบกริบ สุนัขเห่ามักจะไม่กัด ครอบครัวหนึ่งในบ้านหลังใหญ่ มั่งมีมหาศาล อยากได้อะไรเว้นแต่ดาวกับเดือนก็ย่อมได้ แต่ทุกคนทะเลาะกัน จะหาความสุขสักน้อยหนึ่งก็ไม่มี

สังคมไทยมีลักษณะแปลกอย่างหนึ่งคือ เป็น “สังคมประทับตรา” ใครก็ตามที่เคยทำผิด หรือแสดงความกักขฬะ คดโกงสักครั้งหนึ่ง คนนั้นจะเลวตลอดชาติ สังคมได้ประทับตราแล้วว่าคนนี้เป็นคนไม่ดี เป็นพวกยี้ ไม่ว่าภายหลังเขารู้ตัว กลับใจ ทำความดีสักเท่าใด เขาก็เป็นคนดีไม่ได้ ก็คนมันเคยเลว

ในทางกลับกัน คนที่ทำความดีออกมาเด่นจนสังคมชื่นชมอยู่ระยะเวลาหนึ่ง เขาจะได้รับการประทับตราจากสังคมว่าเป็นคนที่แสนดี ไม่มีทางที่คนดีจะกลายเป็นคนชั่วไปได้ ภาพลักษณ์ของเขาจะดูสง่าสงบและซื่อสัตย์ สังคมไทย (ซึ่งแปลความได้หลายนัย) เชื่อว่า เขาไม่มีวันคิดอะไรที่ผิดเพี้ยน ฉ้อฉล ก็คนเขาเคยดีก็ต้องดีอยู่วันยังค่ำ

ผู้ที่ศึกษาและเข้าถึงศาสนธรรมจะไม่คิดเช่นนั้น หลักธรรมสอนว่าความเป็นจริงของสรรพสิ่ง คือความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงได้ทั้งทางวิวัฒน์และวิบัติ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงเกื้อหนุน หรือบั่นทอนซึ่งกันและกัน ยิ่งเป็นมนุษย์ด้วยแล้ว ย่อมมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ ต้องได้รับผลของกรรมนั้น

กรรมหรือการกระทำที่เคยทำมา กำลังทำอยู่ และคิดจะทำต่อไป ต้องส่งผลแก่ตนเองตามเวลา สถานะ และเหตุการณ์ที่เผชิญ

พระราชนิโรธรังสี (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) เทศนาว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำดีด้วยตนเอง ย่อมได้ผลดีด้วยตนเอง ไม่ได้สอนให้คนอื่นทำให้หรือทำให้คนอื่น”

เราย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าตนเองนั้นดีหรือชั่ว พฤติกรรมคำพูดและจิตของเราบอกชัด คนอื่นจะยกยอปอปั้นหรือนินทาว่าร้ายอย่างไร ถ้าเรารู้จักตรวจสอบตนเอง และรู้ตัวอยู่เสมอ ก็จะไม่เผลอตัว นี่คือจิตตระหนักรู้ที่ควรฝึกฝนเอาไว้

ในประเด็นของกลุ่มคนหรือสังคม การประเมินว่าใครเป็นคนดีนั้น นอกจากสังเกตติดตามดูความสุจริตทั้งกายวาจาใจแล้ว น่าจะใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ เป็นเกณฑ์วัดคุณสมบัติของคนดี

พระไพศาล วิสาโล ได้เขียนเรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบพุทธไว้ตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการรับรู้ สรุปได้ว่า คนเรานั้นอาจมีความคลาดเคลื่อนในการรับรู้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมากในชีวิตประจำวัน เกิดจากการได้ยินได้เห็นอย่างหนึ่งกลับเข้าใจไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง การรับรู้ที่คลาดเคลื่อนยังเกิดจากอารมณ์ปรุงแต่งหรือทิฏฐิ ที่ฝังแน่นอยู่ในใจ รวมถึงสถานะทางสังคมของแต่ละคนทำให้ได้รับการประเมินคุณค่าที่ผิดไปจากความจริงได้ด้วย

ดังนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าคนที่จบจากสถาบันนั้นต้องดี มาจากโรงเรียนนั้นไม่ดี อาชีพนั้นลำบากต่ำต้อย อาชีพนั้นสบาย รวยเร็ว ภาพลวงที่เห็น อาจไม่ใช่ความจริงที่เป็น

ยังไม่เคยเห็นเครื่องประดับรูปควายหรือรูปกาดำเลย มีแต่เข็มกลัดรูปนกยูงรำแพน เราตัดสินเสียแล้วว่าควายหรืออีกา เป็นสัตว์ที่ไม่น่ายกย่อง ทั้งๆ ที่รู้ว่า ควายนั้นเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์

กลับมาพิจารณาสิ่งของบ้าง ของดีคือของที่มีประโยชน์และมีคุณค่า ไม่ใช่ของที่มีแต่ราคา วิธีการตลาดต้องการเพิ่มราคาก็ต้องเคลือบฉาบทา และสร้างภาพลวงว่ามีประโยชน์ยิ่งต่อชีวิต

ทั้งคนและของต่างก็มีดีมีชั่วผสมกันอยู่ ของที่เห็นถูกกระทำให้มันเป็น คนที่เห็นก็มีพฤติกรรมทั้งเปิดเผยซ่อนเร้น สังคมมีส่วนช่วยปรุงแต่งให้ดูดีและดูไม่ได้

ถ้าเราจะพัฒนาจิตให้รู้จักเลือกและตัดสินได้ว่าสิ่งใดดีหรือไม่ เราต้องฝึกคิดและพิจารณา คำว่าคิดทุกคนเข้าใจดีอยู่แล้ว ในที่นี้เน้นการพิจารณาโดยวางตนเป็นกลาง ไตร่ตรองตรวจสอบเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์ก่อนจะตัดสินประเมินค่า

จะใช้สามัญสำนึกบ้างก็ไม่ผิดบาป แต่ปัญญาการรู้วิธีแสวงหาความจริงต้องเป็นตัวนำ คนเรานี้ก็ชอบกล บทจะเกลียดจะรักใครไม่มีเหตุผล เช่น ความรักแรกพบ หรือมองหน้าแล้วศรศิลป์ไม่กินกัน เป็นอารมณ์ของปุถุชน แต่สามัญสำนึกและอารมณ์ไม่ควรครอบงำจิตจนไม่เกิดปัญญา

การพัฒนาจิตโดยการตระหนักรู้ ลดอคติ ลดการใช้อารมณ์ แล้วเพิ่มการพิจารณาหาความจริงอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินว่าใครหรืออะไรดีชั่ว ทำให้เราไม่ผิดหวังรุนแรง เมื่อพบว่าคนเคยดีกลับไม่ดี คนที่เรารักชื่นชอบกลับเปิดเผยเล่ห์เหลี่ยมร้ายกาจออกมา เราจะไม่เสียใจมาก ถ้าพบว่าของรักของหวงที่สรรหามาราคาแพงกลับไร้ประโยชน์และนำความทุกข์มาให้

ในดีมีเสีย ในเสียมีดี คิดได้อย่างนี้ก็รับได้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง จิตจึงตั้งมั่น เมื่อทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่หวัง

ใครเล่าจะรู้จริงว่าใครดีใครชั่ว นอกจากตัวคนนั้นเอง

Back to Top