มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 กันยายน 2547
จีเอ็มโอ (GMO) หรือ Genetic Modified Organism กำลังเป็นที่กล่าวขานกันทั่วเมือง ทุกวันนี้มนุษย์อยากได้อะไร ก็แทบจะสามารถบันดาลให้เป็นจริงได้หมด ไม่อยากให้แมลงกัดกินพืช ก็ตัดแต่งพันธุกรรมของพืชเสียใหม่ให้มีภูมิต้านทานต่อแมลงชนิดนั้นๆ ในไม่ช้า คงจะมีคนที่คิดตัดแต่งยีนลูกหลานของเราให้ “หายดื้อ” เป็นแน่แท้ อันที่จริงเขาว่ากันว่า “เด็กดื้อเป็นเด็กฉลาด” แต่สังคมไทยเรานิยม “เด็กว่าง่าย เด็กหัวอ่อน” เสียมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กที่เถียงหรือมีปากมีเสียงจึงถูกจำแนกว่าเป็น “เด็กดื้อหรือเด็กก้าวร้าว” นานๆ ครั้งจึงจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็นสักที นับว่าเป็นการจำกัดโอกาสของเด็ก ในการที่จะฝึกสื่อสารกับผู้อื่นอย่างน่าเสียดาย ไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้ เด็กบางคนขาดความมั่นใจและไม่สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ยิ่งสังคมปัจจุบันอยู่ในช่วงสับสนทางวัฒนธรรม เด็กๆ ไม่รู้จะเลือกใช้ชีวิตหรือประพฤติตัวอย่างไรให้เหมาะสม จึงเลือกรับวัฒนธรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับในหมู่คณะก็เพียงพอแล้ว ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เด็กจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้การยอมรับจากเพื่อนฝูง
ปัญหาส่วนใหญ่ของเยาวชนในปัจจุบันจึงเป็นปัญหาความรุนแรง ดังที่เห็นได้จากหน้าหนังสือพิมพ์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น เด็กวัยรุ่นภาคเหนือตั้งแก๊งค์ซามูไร เด็กวัยรุ่นภาคกลางยกพวกตีกันเป็นพันคน บางกลุ่มฉุดเด็กสาวไปข่มขืน บางกลุ่มก็ตั้งเป็นแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ หรือเด็กวัยรุ่นภาคใต้บางกลุ่มร่วมขบวนผู้ก่อการร้าย เป็นต้น แต่ไม่ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใด ผู้ใหญ่ในพื้นที่นั้นต่างก็ปวดใจไม่แพ้กัน ดังนั้นปัญหาการใช้ความรุนแรงจึงเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องย้อนกลับมามองว่า อันที่จริงแล้ว การที่เขาเหล่านั้นเลือกที่จะใช้ความรุนแรง เป็นเพราะมีสภาพจิตใจที่อ่อนแอลงไป ใช่หรือไม่ ถ้าจะมองกันให้ลึกซึ้งลงไปอีก ภาวะความเครียดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศ สังคมผู้ใหญ่ก็มีความเครียดไม่น้อย หากแต่ผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานต่อความเครียดมากกว่า เนื่องจากมีครอบครัว มีความรับผิดชอบ มีความเชื่อ มีศาสนา ที่สามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจได้ระดับหนึ่ง แต่กลุ่มวัยรุ่นซึ่งไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหรือมีปัญหาทางบ้าน ย่อมไม่พร้อมที่จะรับกับปัญหาต่างๆ รอบๆ ตัวและพ่ายแพ้ต่อสภาพแวดล้อมที่กดดันในปัจจุบันได้ง่าย จึงแสดงอาการเครียดและสับสน ซึ่งเห็นได้จากการรวมกลุ่มกันและใช้พลังในทางที่ไม่เหมาะสม คือแทนที่จะทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ กลับทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อนเพียงเพื่อต้องการแสดงว่าตนเองมีพละกำลังความสามารถ แต่ด้วยสภาพจิตใจที่อ่อนแอ จึงถูกชักจูงและครอบงำด้วยพลังด้านลบได้โดยง่าย จนบางครั้งกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ไปโดยปริยาย
หากจะเปรียบเทียบเยาวชนของชาติ เสมือนกับต้นไม้น้อยๆ ที่กำลังถูกชอนไชด้วยแมลงหรือศัตรูพืช อันได้แก่ วัฒนธรรมความรุนแรง ที่กระหน่ำผ่านสื่อต่างๆ เข้ามาอย่างไร้ปราการป้องกัน เมื่อเยาวชนของเรามีภูมิต้านทานที่ไม่ดีพอ ขาดเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ความรุนแรงก็จะสามารถกัดกินความคิดของลูกหลานเราอย่างง่ายดาย
ผู้ใหญ่ที่เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่และมีภูมิต้านทานที่สูงกว่า จำเป็นที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ ป้องกันและให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เยาวชน กลั่นกรองให้เห็นถึงประโยชน์และโทษของวัฒนธรรมบางประเภท ปลูกฝังจิตสำนึกและเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ ผู้ใหญ่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี สร้างสังคมแห่งการแบ่งปันสิ่งดีงามให้แก่กันและกัน เป็นการให้คุณค่าและสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกหลาน ประดุจร่มเงาที่ปกคลุมต้นไม้เล็กต้นไม้น้อยที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ได้พึ่งพาอาศัย แม้ขณะนี้ อนาคตของชาติจะถูกแมลงหรือหนอนกัดกินไปบ้าง แต่ในที่สุดธรรมชาติก็จะสร้างภูมิต้านทานให้แก่เขาได้ในไม่ช้า แล้วต้นไม้น้อยๆ เหล่านี้ก็จะเติบใหญ่เป็นต้นไม้ที่แข็งแรง สามารถให้ความรู้และแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่ลูกหลานในรุ่นต่อไปได้ในอนาคต
สุดท้ายนี้ แม้เทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าไปมากมายเพียงใดก็ตาม กระทั่งสามารถตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตระดับต่างๆ ได้ แต่เทคโนโลยีก็ไม่สามารถตัดแต่งพันธุกรรมให้เยาวชน “หายดื้อ” หรือเป็นไปอย่างที่สังคมต้องการ รวมทั้งไม่สามารถทำให้คนหายเครียดหรือพ้นทุกข์ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คนรุ่นเราต้องกลับมาคิดและช่วยกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุอันแท้จริงของความเครียดในสังคม เพราะความรุนแรงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครชนะ แต่ทำร้ายจิตใจทุกคน ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่สังคมต้องเอาใจใส่ หาหนทางป้องกัน ช่วยกันสร้างจิตของสังคมให้วิวัฒน์งอกงาม เป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง สามารถแผ่กิ่งใบปกคลุมให้ต้นไม้เล็กๆ เจริญเติบโตภายใต้ร่มเงาได้อย่างปลอดภัย ดังที่ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี พูดเสมอว่า “จงทำจิตให้ใหญ่” เพื่อสร้างภูมิต้านทานต่อโรคร้าย ที่กำลังเรื้อรังในสังคมปัจจุบัน ไม่ให้คุกคามถึงเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป มิฉะนั้นอนาคตของประเทศก็คงจะไม่สดใสอย่างที่คิดแน่นอน
แสดงความคิดเห็น