กันยายน 2013

เดิน – ปฏิบัติการแห่งความหมาย



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 กันยายน 2556

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ วิโนพา ภาเว (Vinoba Bhave) เริ่มตั้งต้นการเดินเท้าเพื่อขอรับบริจาคที่ดินมาจัดสรรให้กับคนยากไร้และคนไร้ที่ดินในอินเดีย และถือเป็นจุดเริ่มแรกของขบวนการปฏิรูปที่ดินในอินเดีย

วิโนพา ภาเว เป็นปัญญาชน นักคิด และนักเขียน เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นครูแห่งประเทศอินเดีย ในยุคหลังได้รับเอกราช เป็นมือขวาและได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้สืบทอดทางจิตวิญญาณของมหาตมะ คานธี ทั้งในฐานะของนักสันติวิธีและนักสิทธิมนุษยชน

ในเวลานั้น วิโนพา ภาเว อายุ ๕๖ ปี เขาเดินเท้าไปขอรับบริจาคที่ดินจากคนรวยทั่วประเทศ เดินจากเหนือไปใต้ จากตะวันออกไปตะวันตก ในช่วงระยะเวลา ๒๐ ปีนั้น รวมระยะทางไม่ต่ำกว่า ๘๐,๐๐๐ กิโลเมตร ตอนเริ่มเดินก็มีผู้บริจาคให้ ๑๐๐ เอเคอร์ และในที่สุดก็เพิ่มเป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐ เอเคอร์ (๑๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร) เขาเดินไปทุกหนทุกแห่ง แม้ในพื้นที่ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ ที่มีกลุ่มชาวบ้านในวรรณะจัณฑาลพร้อมอาวุธเป็นกำลังสำคัญ เขาก็ประสบความสำเร็จในการขอบริจาคที่ดินจากคนรวยมาให้เพื่อแลกกับการวางอาวุธและขอให้มีการทำการเกษตรร่วมกันแบบสหกรณ์บนผืนดินที่รับบริจาคนั้น

ทุกครั้งที่เขาเดินจะมีผู้ร่วมเดินด้วยจำนวนมาก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการภูทาน (แปลว่า การขอบริจาคที่ดิน) และขบวนการสรรโวทัย (แปลว่า การตื่นรู้ หรือความก้าวหน้า สำหรับผู้คนทั้งหมด) ทั้งในและนอกประเทศอินเดีย เรื่องราวของวิโนพา ภาเว มีแปลเป็นภาษาไทยในเล่ม “ปฏิบัติการการุณย์รัก” ซึ่งแปลจาก Moved by Love: The Memoirs of Vinoba Bhave ที่เขียนโดยตัวเขาเอง

สาทิส กุมาร (Satish Kumar) อดีตนักบวชในศาสนาเชน ผู้หันมาสมาทานแนวทางของคานธี และยอมตนมาเป็นลูกศิษย์ของวิโนพา ภเว ก็เริ่มการเดินเท้าเพื่อสันติภาพในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยมุ่งเดินทางไปยังเมืองหลวงของประเทศผู้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ๔ ประเทศ นั่นคือ วอชิงตัน ลอนดอน ปารีส และมอสโคว์

เวลานั้น เขาอายุ ๒๖ ปี เห็นข่าวที่เบอร์ทรันด์ รัสเซล นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบล อายุ ๙๐ ปี ถูกคุมขังด้วยเหตุที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เลยรู้สึกว่าคนหนุ่มอย่างเขาควรจะลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง

การเดินทางกว่า ๘,๐๐๐ ไมล์ หรือราว ๑๒,๐๐๐ กิโลเมตร ของเขา จึงเริ่มขึ้น เขาเดินผ่านเข้าไปในปากีสถาน ประเทศที่กำลังขัดแย้งกับอินเดียอย่างหนัก ผ่านทะเลทราย เผชิญพายุหิมะ และถูกขังในคุกปารีส โดยตลอดทางนั้นเขายึดมั่นในคำสอนของครู – วิโนพา ภเว – อย่างเคร่งครัด นั่นคือ ไม่พกเงิน และเป็นมังสวิรัติ ทำให้เขาได้พบเจอผู้คนจำนวนมากที่ให้ที่พักและอาหาร และได้สนทนาสื่อสารในประเด็นสันติภาพ เรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำของเขาในเล่ม No Destination ที่แปลเป็นไทยในชื่อ นักเดินเท้าแปดพันไมล์ นั้นแหละ

พ.ศ. ๒๕๔๘ ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยอายุ ๕๑ ปี ลาออกจากราชการ เริ่มเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปสมุย ระยะทาง ๑,๒๐๐ กิโลเมตร ใช้เวลา ๖๖ วัน ถือศีลสองข้อคือ ไม่พกเงินและไม่ขอใครเลย เดินโดยไม่ได้ประกาศ ไม่ได้ครองเพศบรรพชิต ไม่มีใครรู้จักเขา เมีย – ผู้อนุญาตให้เขาเดิน - รับทราบสัญญาณความมีชีวิตของเขาจากโปสการ์ดที่เขาเขียนส่งมาระหว่างนั้น เป็นการเดินเงียบ-เงียบแต่เกิดมิตรภาพมากมาย เขาไม่อดตาย และพิสูจน์ได้ว่าสังคมไทยมีความกรุณามากพอ การเดินทางของเขาเป็นการเดินทางภายใน ได้สัมผัสกับความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความเศร้าหมองที่ซ่อนตัวอยู่ โลกของเขาเปลี่ยน และเรื่องราวของเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลายคน

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เขากับเพื่อนจำนวนมากเดินเท้าจากศาลายาสู่ปัตตานี เป็นธรรมยาตราสู่พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงและเกิดเหตุรุนแรงต่อเนื่องยาวนานจนผู้คนรู้สึกหมดหวังกับสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ ปฏิบัติการสันติวิธีของเขาจึงเป็นการส่งข่าวสารแห่งความหวังและสันติภาพสู่สังคมไทยในช่วงระยะเวลา ๕๓ วัน ตลอดเส้นทาง ๑,๑๐๐ กิโลเมตรนั้น

พฤ โอ่โดเชา ปะกากะญอจากเชียงใหม่ ก็เริ่มเดินในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เช่นกัน เขาใช้เวลา ๕๐ วัน เดินเท้าจากป่าเชียงดาวสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับพี่น้องชุมชนรายทางเรื่องร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนซึ่งเสนอโดยภาคประชาชน และกำลังจะถูกปฏิเสธในสมัยประชุมสภานิติบัญญัติ

แม้ว่าเพื่อนร่วมเดินทั้งหมดจะตัดสินใจเดินอย่างรีบเร่งเข้าสู่เมืองหลวงให้ทันก่อนหมดสมัยประชุมสภา พฤก็ยังมุ่งมั่นตามเจตนารมณ์เดิมที่จะพูดคุยกับชาวบ้านตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะถือว่าเป็นสัญญาใจกับเจ้าป่าเจ้าเขา จึงเห็นว่าแม้กฎหมายจะสำคัญ แต่ธรรมะสำคัญกว่า และพวกเขาเองก็เดินทางไปเรียกร้องที่กรุงเทพฯ หลายครั้งแล้ว แต่การเดินเท้าด้วยความมุ่งหมายเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้คนนั้นเพิ่งทำเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุนี้ แม้พฤจะเดินทางมาถึงที่หมายช้ากว่าคนอื่นในทางกายภาพ แต่สำหรับเขาเองนั้นการบรรลุจุดหมายของการเดินทางภายในนั้นสำคัญยิ่ง

ในปัจจุบัน พฤก็ยังเป็นปากเสียงสำคัญของผู้คนที่ยืนยันการใช้ชีวิตในวิถีแห่งความเคารพต่อธรรมชาติ ใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเขานั้น มักจะพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่นที่จะดำรงชีวิตอยู่กับป่าในฐานะบ้านและกำเนิดแห่งชีวิต ไม่ว่าโลกจะหมุนไปสู่ความเจริญในทางวัตถุนิยมและบริโภคนิยมเพียงใด

๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ศศิน เฉลิมลาภ นักวิชาการและเลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เริ่มเดินเท้าจากป่าแม่วงก์สู่กรุงเทพฯ เพื่อประท้วงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยไม่คำนึงถึงพื้นที่ป่าและระบบนิเวศอันเป็นหัวใจของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยแบกรายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA (Environmental and Health Impact Assessment) มาด้วย ระหว่างทางนั้น เขาได้รับการต้อนรับจากผู้คนจำนวนมาก และหลายคนที่เขาไม่รู้จักก็มาร่วมเดินจนเป็นกลุ่มใหญ่ แม้สื่อกระแสหลักจะไม่นำเสนอเรื่องราวการเดินและเหตุผลในการประท้วงของเขา แต่ผู้คนในโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสรองให้ความสนใจต่อเรื่องราวของเขามาก จนอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงระยะเวลา ๑๒ วัน ระยะทาง ๓๘๘ กิโลเมตรนี้ ศศินและผองเพื่อนสร้างแรงกระเพื่อมต่อความตระหนักรับรู้ต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและจุดอ่อนในกระบวนการทำ EHIA ในสังคมไทยได้อย่างกว้างขวางมากทีเดียว

การเดินของผู้คนเหล่านี้ แม้จะต่างกรรมต่างวาระ ต่างสถานที่ต่างวัฒนธรรม แต่ก็เป็นปฏิบัติการที่เปี่ยมล้นด้วยความหมาย ในนัยยะของความพยายามเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มต้นจากตัวเราเอง บนวิถีที่ปราศจากความรุนแรง จึงเกิดเป็นพลังหรือบารมี ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของคนอื่นด้วย

การเปลี่ยนแปลงตัวเองจึงมิใช่การหวนกลับเข้าไปสู่ภายในของตนเองจนหลงลืมและมองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสังคมก็ไม่ใช่การมุ่งผลสำเร็จภายนอกจนละทิ้งการเดินทางภายใน

ดังนี้เอง การสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและมีพลังก็คือ ความสามารถที่จะเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมในระดับฐานรากได้อย่างลึกซึ้งนั่นเอง

การสวัสดีผู้ป่วย



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กันยายน 2556

ตอนที่เรียนจบแพทย์ใหม่ๆ ผมไม่เคยสวัสดีผู้ป่วยเลย พยายามนึกย้อนหลังก็ไม่แน่ใจว่าอาจารย์ไม่สอนหรือสอนแล้วเราไม่จำกันแน่ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ผมคนเดียวที่ไม่สวัสดีผู้ป่วย สังเกตว่าเพื่อนร่วมงานเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็ไม่มีใครสวัสดีผู้ป่วยเช่นกัน

คุณพ่อของผมป่วยด้วยเส้นเลือดสมองข้างซ้ายแตกเป็นก้อนเลือดขนาดใหญ่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ตอนที่ผมไปเยี่ยมคุณพ่อที่โรงพยาบาล มีแพทย์ประจำบ้านมาตรวจร่างกายท่าน คุณหมอไม่ได้มองหน้าผม ไม่ได้สวัสดีผู้ป่วย เข้ามาถึงก็ตรวจร่างกายตามระบบเงียบๆ เสร็จแล้วก็เดินจากไปไม่พูดจา ก่อนหน้าที่ผมจะไปเรียนจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ผมก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน

ตอนที่เป็นแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพียงสัปดาห์แรกของการเรียนและการทำงาน อาจารย์ก็สอนให้สวัสดีผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยเดินเข้ามาในห้อง ถ้าเป็นผู้ป่วยใหม่ ให้สวัสดีครับและแนะนำว่าผมชื่อหมออะไรให้เรียบร้อยก่อนจะสนทนาต่อไป ถ้าเป็นผู้ป่วยเก่า ให้สวัสดีครับทุกครั้ง ถ้าเราเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหาผู้ป่วยที่ข้างเตียง ห้องพัก หรือใต้ต้นไม้ ก็ต้องสวัสดีครับทุกครั้ง

คำสอนนั้นชัดเจน ผมทำตามเสมอมาจนถึงทุกวันนี้

การสวัสดีผู้ป่วยเป็นการให้เกียรติ ในกรณีผู้ป่วยจิตเวช เขาจะรับรู้ว่าเขากำลังพบแพทย์ที่พร้อมจะพูดคุยกับเขาหรืออย่างน้อยก็พบแพทย์ที่จะดูแลเขา “ในรูปแบบที่เขาไม่เคยได้รับมาก่อน” การสวัสดีผู้ป่วยจึงเป็นทั้งมารยาทที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาในอนาคต

นอกเหนือจากนี้ การสวัสดีผู้ป่วยยังเป็นการเตรียมตนเอง การรักษาโรคทางกายว่ายากแล้ว การรักษาโรคทางใจยากกว่ามาก การสวัสดีผู้ป่วยกลับเป็นประโยชน์แก่ตัวผมเอง คือเตือนให้ตัวเองระลึก เตรียมพร้อม และเตรียมรับมือปัญหาสารพันที่คาดไม่ถึงนับจากนี้ การสวัสดีทำให้ใจผมเองเป็นฝ่ายสงบ

ผมสวัสดีผู้ป่วยมาเรื่อยๆ จนเป็นมาตรฐาน มิใช่จนเป็นนิสัย การสวัสดีเป็นมาตรฐานการแพทย์ที่ดี เป็น good practice มิใช่ทำจนชินเป็นนิสัยไม่มีความหมายอะไรในคำพูดนั้น การสวัสดีทำให้ตัวผมเองที่ถูกเตือนให้ธำรงตัวอยู่ในสถานะแพทย์ คืออนุญาตให้สัมพันธ์กับผู้ป่วยได้ในเชิงรักษาเท่านั้น เรียกว่าสร้าง ความสัมพันธ์เชิงรักษา (therapeutic relation) แม้ว่าเราจะอยู่ในสถานะเหนือกว่าเพราะเป็นแพทย์ เราก็เท่าเทียมกับผู้ป่วยในสถานะความเป็นมนุษย์ด้วยกัน นั่นคือพบกันก็สวัสดี แต่เราก็จะไม่เลยเถิดจนก้าวล่วงไปเป็นความสัมพันธ์เชิงสังคม (social relation) ทำให้เกิดมาตรฐานอีกหลายข้อตามมา เช่น การใช้สรรพนามให้ถูกต้องเหมาะสมและเป็นทางการ ไม่ให้ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์หรืออนุญาตให้มีการพบกันนอกสถานที่รักษา ไม่รับของขวัญที่สื่อนัยยะไม่เหมาะสม เป็นต้น

การสวัสดีจึงเป็นเครื่องมือทางคลินิกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น

ผมสวัสดีผู้ป่วยเรื่อยมาจนถึงปีที่ได้ติดตามคณะดูงานของระบบสุขภาพไปที่มูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ที่นั่นผมได้เรียนรู้มาว่า การให้ของคนอื่น เช่น การให้ของบริจาคผู้ประสบภัยใดๆ ผู้ให้ต้องก้มหัวลงให้ต่ำกว่าผู้รับ เมื่อกลับจากการดูงานครั้งนั้น ผมจึงเริ่มไหว้ผู้ป่วย

เมื่อตรวจผู้ป่วยเสร็จ เขียนใบสั่งยาเรียบร้อย เมื่อแน่ใจว่าการพบกันจบแล้ว ผมจะไหว้ผู้ป่วยอย่างดีอีกครั้งก่อนที่จะยื่นใบสั่งยาให้เขารับ ปัญหามีอยู่ว่าเวลาเรายื่นใบสั่งยาให้เขารับ เขาจะไหว้เราก่อนทุกที มือเราก็กำใบสั่งยาอยู่จะรับไหว้ไม่ถนัดและไม่งาม จึงไหว้ผู้ป่วยเสียก่อนง่ายกว่า

การไหว้ผู้ป่วยขาออกทำให้ตนเองใจสงบ ด้วยความที่ตนเองตรวจผู้ป่วยวันละเกือบร้อยหรือเกินร้อย การทำงานซ้ำๆ ติดๆ กันนานหกเจ็ดชั่วโมงทำให้เครียด เบื่อ เซ็ง และอยากตายเสมอๆ การไหว้ผู้ป่วยวันละร้อยครั้งช่วยใจตนเองได้มาก ใจสงบครั้งละสองวินาทีหลายๆ ครั้ง วันนั้นเราก็สงบได้เหมือนกัน

การไหว้จึงไม่ใช่พิธีกรรม เป็นเครื่องมือรักษาด้วยเช่นกัน เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการรักษาตนเองให้สามารถทำงานปริมาณมากๆ ได้ดีขึ้น ไม่เละเทะจนเกินไป

แน่นอนว่ายังคงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจเมื่อผมให้เวลาน้อย อีกจำนวนหนึ่งไม่พอใจเมื่อผมไม่ตามใจ และมีบางครั้งที่ผมรู้สึกไม่พอใจญาติผู้ป่วยที่ชอบกระทำรุนแรงต่อผู้ป่วยทางจิตเสมอๆ เหล่านี้ทำให้ใจผมขุ่นมัว ปรากฏว่าการไหว้ที่ดีช่วยดับไฟของเราเองได้

สองปีที่ผ่านมา ผมได้รับคำสั่งให้สอนนักศึกษาแพทย์ด้วยท่ามกลางภาระงานที่หนักอยู่แล้ว การสอนนักศึกษาแพทย์เป็นเรื่องดี แต่หลักสูตรการสอนที่เป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย การจ่ายค่าตอบแทนการสอนเป็นหลักพันหลักหมื่นเพิ่มให้เป็นพิเศษ (on top) จากเงินเดือนประจำเป็นปัญหาทางจริยธรรม มีเขียนในตำราว่าเป็น problematics สร้างปัญหาการบริการประชาชนทั่วไปอย่างรุนแรง เกิดปัญหาจริยธรรมองค์กร ในที่สุดผมตัดสินใจหยุดสอนไปเมื่อพบว่ามีแพทย์รุ่นน้องมาช่วยสอนมากพอแล้ว ระหว่างที่สอนนั้นมีเรื่องหนึ่งที่ผมพบเห็นเป็นประจำ คือนักศึกษาแพทย์ไม่สวัสดีผู้ป่วย ทำให้ตอบข้อสงสัยในย่อหน้าแรกได้ว่าทำไมตอนผมจบแพทย์ใหม่ๆ ผมก็ไม่สวัสดีผู้ป่วย เพราะที่แท้แล้วอาจารย์คงจะลืมสอน

วันนี้ผมสวัสดีและไหว้ผู้ป่วยไปประมาณแปดสิบคนในตอนเช้า สิ่งที่ได้คือใจตนเองสงบ ผู้ป่วยทุกรายก็ดูเหมือนจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ดีตามที่ควร

จึงว่างานหนักเพราะเราทำตัวเองให้หนัก งานเบาเพราะเราทำตัวเองให้เบา

K กับ M : สองโหมดของความรัก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กันยายน 2556

ผมห่างหายจากการทำอบรมไปพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเริ่มในสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว คือการนำเอากระบวนการละครมาใช้ในเชิงจิตตปัญญา การทำงานครั้งนี้ทำให้ผมได้ค้นพบในสิ่งที่เฝ้าเพียรหาคำตอบมานาน คือการบรรจบกันระหว่างภูมิปัญญาตะวันตกและตะวันออก ระหว่างวัตถุนิยมวิภาษวิธีกับจิตวิญญาณ และที่สำคัญระหว่างความรักแบบเมตตาของมหายานและรักแบบกรุณาของเถรวาท

กระบวนการละครของผมมีพื้นฐานมาจากกระบวนการแสวงหาความรู้ความจริงที่เรียกว่า วัตถุนิยมวิภาษวิธี ผสมกับการแสดงออกในลักษณะผู้ก่อการทางสังคม หมายถึงผู้เข้าร่วมกระบวนการจะถูกกระตุ้นให้คิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และลงมือทำตามความคิด (rehearsal for life) จุดประสงค์คือไม่ให้งอมืองอเท้ายอมรับและมองทุกอย่างว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ซึ่งมีแต่จะทำให้ผู้มีอำนาจแต่ไม่มีคุณธรรมเอาเปรียบเหยียบย่ำอยู่เรื่อยไป จุดที่ดูเหมือนว่ากระบวนการละครไปกับความคิดแนวพุทธไม่ได้คือ ละครสอนให้ลุกขึ้นมา “ทำอะไรสักอย่าง” (being actor) ไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องเวรกรรม แต่เอาเข้าจริงเป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ รวมทั้งผมด้วย เพราะพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เป็นคนงอมืองอเท้า แต่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการยอมรับสภาพ หรือแหย

ในงานของศาลเยาวชนฯ จังหวัดนครสวรรค์ ผมได้บอกให้ผู้จัดเชิญผู้ปกครองของเด็กที่กระทำความผิดเข้าร่วมด้วย เพราะถ้าหากเราอ้างอิงมโนทัศน์แบบกระบวนระบบ (System Thinking) ซึ่งอธิบายเรื่อง “ทั้งหมดในส่วนย่อยและส่วนย่อยในทั้งหมด” (Parts and Whole) เราย่อมเข้าใจว่าสิ่งที่เราเรียกว่าปัญหาของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ “ปัญหา” แต่เป็น “อาการ” ที่แสดงออกโดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งเชื่อมโยงถึงกันไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้นในขณะที่ผมกำลังนั่งพิมพ์งานอยู่ในห้องแอร์ การกระทำของผมก็ย่อมส่งผลถึงเด็กตัวดำๆ สักคนหนึ่งที่ไหนสักแห่งในชุมชนหนองปลิง นครสวรรค์ หรือเด็กคนอื่นๆ ทั่วโลกด้วย

แต่ก่อนนี้เรามักจะพูดว่าเด็กและเยาวชนที่ขาดความอบอุ่นส่งผลทำให้เกิดปัญหาสังคม และปัญหาสังคมเริ่มที่หน่วยย่อยที่สุดคือครอบครัว ทุกวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะปัญหาจะอยู่ตรงนั้นอีกมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เพราะเท่าที่สัมผัสหลายครอบครัวพ่อแม่น่ารักมาก รักลูก ตามใจลูก หรือไม่ก็เป็นเพราะตามลูกไม่ทัน เพราะแทบไม่รู้เลยว่าลูกไปติดยาบ้า ติดกัญชา ผมคิดว่าไม่ถูกต้องที่เราจะพูดถึงครอบครัวเดี่ยวๆ โดดๆ โดยไม่คำนึงถึงการปะทะสังสรรค์ของครอบครัวที่ตั้งอยู่ (situated) ในชุมชน การเหมารวมว่าจน โง่ เลยต้องเจ็บ จึงไม่ถูกต้อง

เด็กคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าที่ตนได้ลองยาบ้าก็เพราะเด็กบางคนเป็นลูกคนรวย มีเงินเหลือใช้จึงได้มาชักชวนตน บ้างก็บอกว่ามีเพื่อนร่วมห้องเป็นเอเย่นต์ค้ายา แถมยังบอกว่าแถวบ้านมีเอเย่นต์ค้ายา ซึ่ง “คนแถวนี้ ใครๆ เขาก็รู้กัน” เด็กอายุไม่ถึงสิบแปด จู่ ๆ เป็นเอเย่นต์ไม่ได้ ถ้าหากไม่มีผู้ใหญ่ชักนำ ตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนเป็นเอเย่นต์ไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเป็นผู้จัดหาและรองรับ โดยทำกันเป็นกระบวนการระดับชาติ ระดับโลก

ในยุคที่องค์กรทางศาสนาอ่อนแรง และระบบการศึกษาของไทยก็แย่กว่าเขมรและเวียดนาม จะเหลืออาวุธอะไรในคลังแสง (สว่าง) ที่จะไปต่อกรกับสารเสพติดที่เด็กบอกว่า “เม็ดแรกไม่เท่าไหร่ แต่อย่าให้มีเม็ดที่สอง หลังจากเม็ดที่สองไม่เคยเห็นว่าจะเหลือรอดสักราย”

กลับมาที่เรื่อง “ความรักสองโหมด” ที่ผมจั่วหัวเอาไว้ การทำงานครั้งนี้ผมได้เห็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างความรักโหมดแรกคือ M สำหรับ “เมตตา” และความรักโหมดที่สองคือ K สำหรับ “กรุณา” แบบแรกเปรียบเหมือนสายฝนชุ่มฉ่ำไม่มีประมาณ เช่นความรักของแม่ที่ให้กับลูกเสมอไม่ว่าลูกจะเลวร้ายแค่ไหน ส่วนกรุณาคือความรักในแบบพ่อ คือการกำหนดขอบเขต การตัดพฤติกรรมที่ส่อว่าจะพาลูกไปสู่ความเดือดร้อน ความรักทั้งสองแบบนี้จำเป็นจะต้องมีให้กับเด็กและเยาวชนของเรา ในจังหวะและสัดส่วนที่พอเหมาะ

ผมยังจำได้ว่าเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผมอยากได้รถมอเตอร์ไซค์มาขี่ เพื่อให้ “สาวเหลียว” แต่บอกแม่ไปว่าเอาไว้ขี่ “ซื้อกับข้าว” ปกติแม่ผมจะตามใจทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้แม่กลับปฏิเสธเสียงแข็ง มิวายที่ผมจะอ้อนวอนเท่าไรแม่ก็ไม่ให้ โดยให้เหตุผลว่า “รถยนต์น่ะเหล็กหุ้มเนื้อ มอเตอร์ไซค์เนื้อหุ้มเหล็ก” แรกๆ ผมก็โกรธแม่อยู่เหมือนกัน แต่ต่อมาพอเกิดความรู้สึกดีที่แม่ห้าม เวลาพูดถึงเรื่องมอเตอร์ไซค์ผมจะเอาไปเล่าอย่างภาคภูมิใจต่อหน้าเพื่อนว่า “เฮ้ย มอเตอร์ไซค์น่ะเหรอ ไม่เอาหรอก เพราะเรื่องนี้แม่อั๊วขอไว้”

การตามใจทุกเรื่องจึงไม่ใช่คำตอบของคำว่า “รัก” การบังคับห้ามปรามทุกเรื่องก็ไม่ใช่คำตอบอีกเช่นกัน การหาสมดุลระหว่างความรักสองโหมดนี้จึงเป็นศิลปะและทักษะที่ต้องฝึกฝน ปัญหาก็คือทุกวันนี้ “ทีมไทย” ที่เรียกว่าครอบครัวกำลังจะตกรอบ เพราะตีกันอยู่ข้างสนาม พ่อแม่แยกทางกันเดิน หรือไปทำมาหากินต่างจังหวัด เหลือแต่คุณลุงคุณป้าเลี้ยงหลาน พ่อแม่ทำงานหนักไม่มีเวลาให้ลูก การฝึกฝนทักษะของการให้ความรักสองแบบนี้จึงกระพร่องกระแพร่ง ขาดๆ เกินๆ ได้อย่างใดอย่างหนึ่งมาก แต่ไม่ได้อีกอย่างหนึ่งเลย หรือในเวลาที่ควรจะได้รับอีกอย่าง กลับให้อีกอย่างหนึ่ง ผลก็คืออาการป่วยของสังคมซึ่งแสดงออกมาไม่เพียงแค่ที่เด็กและเยาวชน แต่รวมถึงผู้ใหญ่ที่โตแต่ตัวแต่วุฒิภาวะไม่พัฒนาอีกด้วย

ไม่ว่าครอบครัวจะรวยหรือจนทุกคนล้วนแต่ต้องทำความเข้าใจเรื่อง “สองโหมดของความรัก” ให้ดี เพราะในเวลาที่ต้องใช้ M คือ “เมตตา” เราก็ไม่ควรใช้ K คือ “กรุณา” หมายถึงเวลาที่เด็กจะต้องได้เรียนรู้เรื่องความรักแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นเวลาแห่งการโอบอุ้ม บ่มเพาะ มีพื้นที่ให้กับความผิดพลาด ไม่ต้องทำอะไรเพื่อผลงาน เช่น คะแนนสอบ เกรดดีๆ ถ้วยรางวัล ชนะเลิศกีฬา ได้ถ่ายสปอตโฆษณา ฯลฯ เด็กจะได้เรียนรู้ว่าเพียงแค่กระบวนการที่เขาอยู่กับตนเอง เล่นสนุกไปเงียบๆ หรือวาดรูป ปั้นดินอะไรที่ไม่ต้องส่งประกวด ไม่ต้องเปรียบเทียบ แต่เกิดเป็นความชุ่มฉ่ำในใจ หล่อเลี้ยงจิตใจให้ชุ่มชื่น เพียงแค่นี้พ่อแม่ก็ควรจะดีใจและสนับสนุน ถ้าหากใช้ K เร็วเกินไป หรือไม่ถูกจังหวะ เด็กจะไม่ได้เผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งเป็นผลมาจากการ “ลองผิด” พ่อแม่บางคนมีคำตอบที่ดีที่สุดให้กับลูกจนเด็กไม่เคยได้เรียนรู้อะไรด้วยตนเอง เด็กเหล่านี้จะเติบโตมาโดยหาความสุขง่ายๆ ในใจของเขาไม่เจอ เพราะค้นไม่พบความหรรษา (joy) จากการได้ทำในสิ่งที่เขาชอบและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเขา

ในทางกลับกันถ้าเราใช้ M ในเวลาที่ควรจะใช้ K เด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้ ตัวอย่างมีให้เห็นมาก อย่างเช่น ลูกคนรวยขับรถสปอร์ตหรูชนตำรวจเสียชีวิต และไม่ยอมมามอบตัว รถสปอร์ต กับ รถมอเตอร์ไซค์ไม่ต่างกัน เพราะเด็กส่วนใหญ่หาซื้อเองไม่ได้ แล้วใครเป็นคนซื้อให้ ให้ไปด้วยความรักแบบไหน คือใช้แบบ M ในเวลาที่จะต้องใช้ K เด็กอายุ ๑๒ หาดูคลิปโป๊แล้วอยากจะลองทำกับหลานสาวข้างบ้านอายุ ๕ ขวบ แล้วใครซื้อโน้ตบุ๊ก ซื้อไอแพดให้ ใครต่ออินเทอร์เน็ตให้โดยไม่หาวิธีป้องกัน ของแบบนี้มันเปิดหาดูง่ายแค่กระดิกนิ้ว สำหรับผู้ที่ขาด M คือ เมตตา ต้องฝึกเมตตาภาวนา ฝึกฝนการ “ละความตระหนี่” เพราะคนตระหนี่ย่อมให้ไม่เป็น ให้แล้วชอบมีเงื่อนไข ให้ไม่ขาด ให้ไปแล้วรู้สึกเสียดาย การฝึกให้โดยไม่หวังผลจะทำให้จิตขยายใหญ่ขึ้น (สำนวนอาจารย์หมอประเวศ วะสี) เข้าใจว่าความรู้สึกของเขากับเราก็ไม่แตกต่างกัน เพราะมีหัวจิตหัวใจความเป็นมนุษย์เหมือนกัน

ส่วนผู้ที่ขาด K คือ กรุณา ต้องฝึกฐานกาย และ “ความรู้สึกตัว” ให้มาก เพราะถ้าไม่ฝึกออกจากความคิดด้วยการกลับมาที่ฐานกาย ความคิดจะลากจูงไปนัวเนียกับสถานการณ์ ไม่สามารถจะหลุดออกไปจากการเป็นผู้เล่น จากวงจรของความอยากจะได้ความรักตอบแทนได้ เพราะเรากลัวว่าเด็กไม่รักจึงทำให้เราไม่กล้าปฏิเสธ ไม่กล้าขัดใจลูก แต่ถ้าหากเข้าใจว่าแท้จริงแล้วความรักที่เราให้เด็กนั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็นความ “กรุณา” ซึ่งย่อมจะขัดใจเด็กหรือทำให้เขาไม่พอใจอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่เป็นการตัดวงจรแห่งภัยอันตรายที่จะก้าวเข้ามาหาเขาในอนาคต ก็ต้องมั่นคงกับการตัดสินใจของเรา การไม่เข้าไปโอบอุ้มเมื่อเด็กทำผิดพลาดก็เป็นวิถีแห่ง K หรือความกรุณาด้วยเช่นกัน บางครั้งการใช้ K นำมาซึ่งความอึดอัดคับข้องใจของคนที่เป็นพ่อแม่เอง (เพราะอยากเห็นเด็กมีความสุข) แต่ด้วยเข้าใจว่าสุขเฉพาะหน้านำมาซึ่งความหายนะในภายหลัง ก็ต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจระหว่างผู้ปกครองด้วยกัน จึงจะข้ามผ่านเหตุการณ์หนักหนาไปได้

ถ้าสามารถใช้ความรักสองโหมด คือ K กับ M ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะเกิดปรากฎการณ์สองแบบ คือ KM และ MK ขึ้นในชีวิตของเด็กและเยาวชน KM ที่ผมพูดถึงนี้คือ Knowledge of Maturity คือความรู้ที่จะทำให้มีวุฒิภาวะ มีภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกไปสู่สังคมที่ชั่วร้าย และมี MK คือ Master of Karma คือเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเองด้วยความมั่นคง ไม่หวั่นไหวตามกระแสง่ายๆ และไม่ปล่อยให้มายาคติหรือไวรัสทางสังคมมามีอิทธิพลเหนือเจตจำนงเสรีของตนเอง ผลก็คือเด็กของเราก็จะ “อยู่ได้” และ “อยู่เป็น” แค่นี้ก็เหลือกินแล้ว

เรียกร้อง คือ ร้องขอ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๖


เมื่อวานในขณะที่ผมนั่งคุยงานอยู่ที่โต๊ะกินข้าว โดยมีลูกสาวสองคนนั่งให้แม่ป้อนข้าวอยู่ใกล้ๆ พร้อมกับร่วมพูดคุยกันไปด้วย ผมได้ยินเสียงโมโม่ ลูกสาวคนโตพรึมพรำออกมาในเชิงตัดพ้อเบาๆ แต่ไม่ได้ยินชัดนัก เพราะข้าวยังเต็มปาก สักพักก็เริ่มได้ยินเสียงเคาะปากกากับโต๊ะกระจก ดัง “แก๊ก แก๊ก แก๊ก แก๊ก…” ตอนแรกๆ ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก แต่สักพักดูเหมือนเสียงจะดังขึ้นและถี่ขึ้นเหมือนอยากให้เราได้ยิน แม่เขาก็หันไปเตือนลูกสาวว่า “โมโม่อย่าเคาะ พ่อกำลังคุยงานกับป้าเขาอยู่ รีบๆ กินข้าวให้เสร็จแล้วค่อยเล่น เสียงมันกวนพ่อเขา” ดูเหมือนเสียงจะเบาลงไปสักพัก ทำให้ผมรู้สึกว่าได้ความสงบคืนมาสักครึ่งนาที แต่แล้วเสียงเคาะโต๊ะก็ดังขึ้นมาอีก “แก๊ก แก๊ก แก๊ก แก๊ก…”

ผมหันไปมองหน้าลูกสาว เห็นหน้าเขาดูบูดๆ บึ้งๆ และแอบคิดในใจว่า “นี่ลูกก็โตจะ ๕ ขวบอยู่แล้ว ทำไมคุยไม่รู้เรื่องและดื้ออย่างนี้” ผมละจากการพูดคุยแล้วหันไปหาโมโม่ มองเข้าไปในตาเขาแล้วพูดว่า “โมโม่ พ่อขอร้องล่ะ พ่อขอคุยกับป้าเขาอีกนิดเดียว โมโม่ช่วยหยุดเคาะหน่อยได้ไหม พ่อไม่มีสมาธิเลย โมโม่กวนพ่ออย่างนี้” แล้วผมก็หันกลับไปคุยต่อ คิดว่าการขอร้องแบบสุภาพและแสดงความความจริงจังอย่างนี้ น่าจะทำให้โมโม่ให้ความร่วมมือด้วยดี แต่ก็ต้องประหลาดใจเมื่อเสียงอันน่ารำคาญหูได้ดังขึ้นอีก “แก๊ก แก๊ก แก๊ก แก๊ก…” พร้อมกับคำรำพึงรำพันเบาๆ อยู่ในปากว่า “ก็แม่อ้อไปป้อนน้องมุกทำไม”

เสียงเริ่มดังขึ้นและถี่ขึ้น “แก๊ก แก๊ก แก๊ก แก๊ก…” จนน้าสาวที่นั่งอยู่ใกล้ๆ ถึงกับลุกขึ้นจัดการด้วยตัวเอง “นี่ถ้าโมโม่ไม่หยุด เดี๋ยวอี๊จะตีล่ะนะ” โมโม่เคาะโต๊ะช้าลงๆๆ จนหยุด แล้วเริ่มร้องไห้โฮออกมา ตอนนั้นผมรู้สึกแล้วว่าการที่ผมละเลยไม่ใส่ใจความรู้สึกลึกๆ ของลูกสาวนำมาสู่การระเบิดอารมณ์ของทุกฝ่าย เลยหันไปถามโมโม่ว่า “ที่โมโม่เคาะโต๊ะอย่างนี้เพราะอยากให้แม่รู้ว่าโมโม่น้อยใจที่แม่หันไปป้อนน้อง แล้วไม่ป้อนให้โมโม่ใช่ไหมลูก” โมโม่พยักหน้าพร้อมกับน้ำตานองหน้า และพูดว่า “ก็แม่เขาไม่เอาคำนั้นมาให้โมโม่ แต่กลับเอาไปให้น้อง” ผมรู้สึกดีใจที่เข้าใจโมโม่ “อ๋อ พ่อเข้าใจแล้ว ที่โมโม่เคาะโต๊ะเนี่ย โมโม่ไม่ได้อยากกวนพ่อหรือป้า แต่อยากบอกให้แม่รู้ว่าโมโม่อยากให้แม่ป้อนข้าวหนูต่อใช่ไหม” โมโม่พยักหน้าแล้วร้องไห้สะอึกสะอื้นต่อ เหมือนกับเมฆดำเริ่มแปรสภาพกลายเป็นเม็ดฝนหยาดน้ำตา

ส่วนแม่ก็พูดว่า “แม่เข้าใจแล้ว โมโม่ยังอยากกินอยู่และอยากให้แม่ป้อนอยู่ใช่ไหม ที่แม่ไม่ได้ป้อนเมื่อกี้ เพราะเห็นโมโม่คายออกมา นึกว่าไม่กินแล้ว แม่ก็เลยหันไปป้อนน้อง” ว่าแล้วแม่ก็ลุกขึ้นเดินไปโอบลูกสาว โมโม่ร้องไห้โฮ แต่ดูเหมือนว่าเป็นการร้องไห้แห่งความเสียใจปนดีใจที่แม่หันกลับมาเข้าใจ

ผมรู้สึกเข้าใจลูกสาวมากขึ้นและค้นพบว่า “เด็กดื้อไม่เคยนั่งอยู่ตรงนั้นเลย” มีแต่ “ผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจ” ที่เต็มไปด้วยคำตัดสินและตีตราลงโทษในรูปแบบต่างๆ ที่รุมล้อมความต้องการอันบริสุทธิ์ของเด็ก ด้วยความคาดหวังและคำตัดสินของตัวเอง

ผมรู้สึกสะเทือนใจที่หลายๆ ครั้ง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นและทำให้ลูกรู้สึกเสียใจที่ผู้ใหญ่อย่างเราไม่ เข้าใจ แถมยังรุมตัดสินและลงโทษด้วยน้ำเสียงและวิธีการที่นับวันดูจะรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ความเชื่อที่ว่า “ถ้าดื้อนัก ก็ต้องลงโทษ” เพื่อให้เขาหลาบจำ เป็นการแสดงถึง “ขอบเขต” ที่ชัดเจน เพื่อ “อบรมบ่มนิสัย” ให้ทำตาม “เหตุผล” มากกว่าทำตาม “อารมณ์ความรู้สึก” ของตัวเอง

ยิ่งเรากลัวว่าลูกของเราจะเข้าข่าย “ตามใจตัวเอง” เราก็เริ่มกระหน่ำโบยตีหัวใจของลูกด้วยมาตรการ ต่างๆ เพื่อควบคุมพฤติกรรมของเขาให้เป็นไปตามความต้องการและความคาดหวังของเรา ไม่ว่าจะเป็นการขู่ ว่า “ถ้าทำตัวอย่างนี้เดี๋ยวแม่ไม่รักนะ” หรือตำหนิต่อว่า “ดื้ออย่างนี้ไม่น่ารักเลย” แม้ผมจะไม่ได้ลงโทษลูกด้วยการตี แต่การฟาดฟันด้วยอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดฉุนเฉียวแบบหลุดๆ ก็นับว่ารุนแรงและน่ากลัวสำหรับเด็กตัวเล็กๆ ยังไม่ต้องนับการลงโทษทางร่างกายอื่นๆ ที่เด็กถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการตี เขกหัว สับ ฟาด โบย ขัง หยิก เพื่อให้ “บทเรียน” ในนามของความรักและความหวังดี ที่อาจนำไปสู่บาดแผลในใจ ความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ความห่างเหินและความหวาดระแวง และที่น่ากลัวกว่านั้นคือ การตีตรา ติดป้าย ประณาม จนพวกเขาเริ่ม “เชื่อ” ว่านั่นคือพวกเขาจริงๆ

บทเรียนที่ผมได้รับ ทำให้ผมมีคำถามที่เกี่ยวโยงกันไปว่า สังคมไทยจะเป็นสังคมที่ผู้ใหญ่เข้าใจเด็กได้อย่างไร ครูเข้าใจนักเรียนมากกว่าตีตราตัดสิน จะเป็นสังคมที่ครอบครัวมีเวลาใส่ใจความต้องการของกันและกันได้อย่างไร จะเป็นสังคมที่ผู้มีอำนาจมากกว่าใส่ใจ ไม่ละเลยผู้มีอำนาจน้อยกว่าได้อย่างไร

การที่ฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่าพยายามให้บทเรียนกับพวกเขา ยิ่งจะทำให้พวกเขามีทางเลือกสองทาง ทางแรกคือการ “ยินยอม” แต่ก็อาจรู้สึกว่าต้องละเลยความต้องการของตัวเองไป และเก็บกักความขุ่นเคืองไว้ หรือไม่ก็ “ต่อต้าน” เหมือนกรณีลูกสาวของผม การเคาะโต๊ะด้วยปากกา เจตนาไม่ได้ต้องการก่อกวน แต่ต้องการ “สื่อสาร” ให้ผู้ที่มีอำนาจเข้าใจและเห็นใจเขา

หากโยงเรื่องที่ดูเล็กๆ ในครอบครัวมาสู่ภาพใหญ่ในสังคม เราจะสังเกตเห็นวิธีการสื่อสารที่หลาก หลายของคนกลุ่มน้อยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ก็ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ ถ้าการตัดสินของ “ผู้ใหญ่” หรือผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่เป็นเสียงด้านที่มีอำนาจมากกว่า ได้เปรียบกว่า จะตัดสินและประณามพฤติกรรมของพวกที่เสียเปรียบ หรือด้อยว่าเป็นพวก “ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล” พวก “ดื้อหัวรุนแรง” เห็นแต่ประโยชน์ของตัวเองมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม มองเห็นการ “เรียกร้อง” ต่างๆ ว่าเป็นการ “ก่อกวน” ด้วยอุบายและเล่ห์กล มากกว่าการ “ร้องขอ” ให้เข้าใจและแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เสียงตีกระทบก็จะยิ่งดังขึ้นๆ แรงขึ้นๆ และยิ่งถูกจัดการด้วยความรุนแรงและการควบคุม แรงส่งเหล่านี้ก็จะยังคงเติบโตแข็งแกร่งขึ้น

วิธีการเดียวเท่านั้นที่จะจัดการได้ คือเปลี่ยนความเป็น “ผู้ใหญ่ที่ไม่รับฟัง” ของตัวเองให้เป็น “ผู้ใหญ่ที่พร้อมรับฟังและเข้าใจ” เสียงที่ดูเหมือนจะรบกวนเราให้ได้ ใช้ความรักความเห็นอกเห็นใจ เป็นตัวชี้นำเพื่อเข้าไปรับรู้และเข้าใจ มากกว่าใช้เหตุผลคำอธิบายร้อยแปดพันประการ

Back to Top