โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กันยายน 2556
ผมห่างหายจากการทำอบรมไปพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเริ่มในสิ่งที่อยากทำมานานแล้ว คือการนำเอากระบวนการละครมาใช้ในเชิงจิตตปัญญา การทำงานครั้งนี้ทำให้ผมได้ค้นพบในสิ่งที่เฝ้าเพียรหาคำตอบมานาน คือการบรรจบกันระหว่างภูมิปัญญาตะวันตกและตะวันออก ระหว่างวัตถุนิยมวิภาษวิธีกับจิตวิญญาณ และที่สำคัญระหว่างความรักแบบเมตตาของมหายานและรักแบบกรุณาของเถรวาท
กระบวนการละครของผมมีพื้นฐานมาจากกระบวนการแสวงหาความรู้ความจริงที่เรียกว่า วัตถุนิยมวิภาษวิธี ผสมกับการแสดงออกในลักษณะผู้ก่อการทางสังคม หมายถึงผู้เข้าร่วมกระบวนการจะถูกกระตุ้นให้คิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และลงมือทำตามความคิด (rehearsal for life) จุดประสงค์คือไม่ให้งอมืองอเท้ายอมรับและมองทุกอย่างว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ซึ่งมีแต่จะทำให้ผู้มีอำนาจแต่ไม่มีคุณธรรมเอาเปรียบเหยียบย่ำอยู่เรื่อยไป จุดที่ดูเหมือนว่ากระบวนการละครไปกับความคิดแนวพุทธไม่ได้คือ ละครสอนให้ลุกขึ้นมา “ทำอะไรสักอย่าง” (being actor) ไม่ยอมรับว่าเป็นเรื่องเวรกรรม แต่เอาเข้าจริงเป็นความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ รวมทั้งผมด้วย เพราะพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เป็นคนงอมืองอเท้า แต่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการยอมรับสภาพ หรือแหย
ในงานของศาลเยาวชนฯ จังหวัดนครสวรรค์ ผมได้บอกให้ผู้จัดเชิญผู้ปกครองของเด็กที่กระทำความผิดเข้าร่วมด้วย เพราะถ้าหากเราอ้างอิงมโนทัศน์แบบกระบวนระบบ (System Thinking) ซึ่งอธิบายเรื่อง “ทั้งหมดในส่วนย่อยและส่วนย่อยในทั้งหมด” (Parts and Whole) เราย่อมเข้าใจว่าสิ่งที่เราเรียกว่าปัญหาของเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ “ปัญหา” แต่เป็น “อาการ” ที่แสดงออกโดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งเชื่อมโยงถึงกันไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ดังนั้นในขณะที่ผมกำลังนั่งพิมพ์งานอยู่ในห้องแอร์ การกระทำของผมก็ย่อมส่งผลถึงเด็กตัวดำๆ สักคนหนึ่งที่ไหนสักแห่งในชุมชนหนองปลิง นครสวรรค์ หรือเด็กคนอื่นๆ ทั่วโลกด้วย
แต่ก่อนนี้เรามักจะพูดว่าเด็กและเยาวชนที่ขาดความอบอุ่นส่งผลทำให้เกิดปัญหาสังคม และปัญหาสังคมเริ่มที่หน่วยย่อยที่สุดคือครอบครัว ทุกวันนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะปัญหาจะอยู่ตรงนั้นอีกมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เพราะเท่าที่สัมผัสหลายครอบครัวพ่อแม่น่ารักมาก รักลูก ตามใจลูก หรือไม่ก็เป็นเพราะตามลูกไม่ทัน เพราะแทบไม่รู้เลยว่าลูกไปติดยาบ้า ติดกัญชา ผมคิดว่าไม่ถูกต้องที่เราจะพูดถึงครอบครัวเดี่ยวๆ โดดๆ โดยไม่คำนึงถึงการปะทะสังสรรค์ของครอบครัวที่ตั้งอยู่ (situated) ในชุมชน การเหมารวมว่าจน โง่ เลยต้องเจ็บ จึงไม่ถูกต้อง
เด็กคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าที่ตนได้ลองยาบ้าก็เพราะเด็กบางคนเป็นลูกคนรวย มีเงินเหลือใช้จึงได้มาชักชวนตน บ้างก็บอกว่ามีเพื่อนร่วมห้องเป็นเอเย่นต์ค้ายา แถมยังบอกว่าแถวบ้านมีเอเย่นต์ค้ายา ซึ่ง “คนแถวนี้ ใครๆ เขาก็รู้กัน” เด็กอายุไม่ถึงสิบแปด จู่ ๆ เป็นเอเย่นต์ไม่ได้ ถ้าหากไม่มีผู้ใหญ่ชักนำ ตัวเล็กตัวน้อยในชุมชนเป็นเอเย่นต์ไม่ได้ ถ้าไม่มีตัวใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเป็นผู้จัดหาและรองรับ โดยทำกันเป็นกระบวนการระดับชาติ ระดับโลก
ในยุคที่องค์กรทางศาสนาอ่อนแรง และระบบการศึกษาของไทยก็แย่กว่าเขมรและเวียดนาม จะเหลืออาวุธอะไรในคลังแสง (สว่าง) ที่จะไปต่อกรกับสารเสพติดที่เด็กบอกว่า “เม็ดแรกไม่เท่าไหร่ แต่อย่าให้มีเม็ดที่สอง หลังจากเม็ดที่สองไม่เคยเห็นว่าจะเหลือรอดสักราย”
กลับมาที่เรื่อง “ความรักสองโหมด” ที่ผมจั่วหัวเอาไว้ การทำงานครั้งนี้ผมได้เห็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างความรักโหมดแรกคือ M สำหรับ “เมตตา” และความรักโหมดที่สองคือ K สำหรับ “กรุณา” แบบแรกเปรียบเหมือนสายฝนชุ่มฉ่ำไม่มีประมาณ เช่นความรักของแม่ที่ให้กับลูกเสมอไม่ว่าลูกจะเลวร้ายแค่ไหน ส่วนกรุณาคือความรักในแบบพ่อ คือการกำหนดขอบเขต การตัดพฤติกรรมที่ส่อว่าจะพาลูกไปสู่ความเดือดร้อน ความรักทั้งสองแบบนี้จำเป็นจะต้องมีให้กับเด็กและเยาวชนของเรา ในจังหวะและสัดส่วนที่พอเหมาะ
ผมยังจำได้ว่าเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผมอยากได้รถมอเตอร์ไซค์มาขี่ เพื่อให้ “สาวเหลียว” แต่บอกแม่ไปว่าเอาไว้ขี่ “ซื้อกับข้าว” ปกติแม่ผมจะตามใจทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้แม่กลับปฏิเสธเสียงแข็ง มิวายที่ผมจะอ้อนวอนเท่าไรแม่ก็ไม่ให้ โดยให้เหตุผลว่า “รถยนต์น่ะเหล็กหุ้มเนื้อ มอเตอร์ไซค์เนื้อหุ้มเหล็ก” แรกๆ ผมก็โกรธแม่อยู่เหมือนกัน แต่ต่อมาพอเกิดความรู้สึกดีที่แม่ห้าม เวลาพูดถึงเรื่องมอเตอร์ไซค์ผมจะเอาไปเล่าอย่างภาคภูมิใจต่อหน้าเพื่อนว่า “เฮ้ย มอเตอร์ไซค์น่ะเหรอ ไม่เอาหรอก เพราะเรื่องนี้แม่อั๊วขอไว้”
การตามใจทุกเรื่องจึงไม่ใช่คำตอบของคำว่า “รัก” การบังคับห้ามปรามทุกเรื่องก็ไม่ใช่คำตอบอีกเช่นกัน การหาสมดุลระหว่างความรักสองโหมดนี้จึงเป็นศิลปะและทักษะที่ต้องฝึกฝน ปัญหาก็คือทุกวันนี้ “ทีมไทย” ที่เรียกว่าครอบครัวกำลังจะตกรอบ เพราะตีกันอยู่ข้างสนาม พ่อแม่แยกทางกันเดิน หรือไปทำมาหากินต่างจังหวัด เหลือแต่คุณลุงคุณป้าเลี้ยงหลาน พ่อแม่ทำงานหนักไม่มีเวลาให้ลูก การฝึกฝนทักษะของการให้ความรักสองแบบนี้จึงกระพร่องกระแพร่ง ขาดๆ เกินๆ ได้อย่างใดอย่างหนึ่งมาก แต่ไม่ได้อีกอย่างหนึ่งเลย หรือในเวลาที่ควรจะได้รับอีกอย่าง กลับให้อีกอย่างหนึ่ง ผลก็คืออาการป่วยของสังคมซึ่งแสดงออกมาไม่เพียงแค่ที่เด็กและเยาวชน แต่รวมถึงผู้ใหญ่ที่โตแต่ตัวแต่วุฒิภาวะไม่พัฒนาอีกด้วย
ไม่ว่าครอบครัวจะรวยหรือจนทุกคนล้วนแต่ต้องทำความเข้าใจเรื่อง “สองโหมดของความรัก” ให้ดี เพราะในเวลาที่ต้องใช้ M คือ “เมตตา” เราก็ไม่ควรใช้ K คือ “กรุณา” หมายถึงเวลาที่เด็กจะต้องได้เรียนรู้เรื่องความรักแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นเวลาแห่งการโอบอุ้ม บ่มเพาะ มีพื้นที่ให้กับความผิดพลาด ไม่ต้องทำอะไรเพื่อผลงาน เช่น คะแนนสอบ เกรดดีๆ ถ้วยรางวัล ชนะเลิศกีฬา ได้ถ่ายสปอตโฆษณา ฯลฯ เด็กจะได้เรียนรู้ว่าเพียงแค่กระบวนการที่เขาอยู่กับตนเอง เล่นสนุกไปเงียบๆ หรือวาดรูป ปั้นดินอะไรที่ไม่ต้องส่งประกวด ไม่ต้องเปรียบเทียบ แต่เกิดเป็นความชุ่มฉ่ำในใจ หล่อเลี้ยงจิตใจให้ชุ่มชื่น เพียงแค่นี้พ่อแม่ก็ควรจะดีใจและสนับสนุน ถ้าหากใช้ K เร็วเกินไป หรือไม่ถูกจังหวะ เด็กจะไม่ได้เผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งเป็นผลมาจากการ “ลองผิด” พ่อแม่บางคนมีคำตอบที่ดีที่สุดให้กับลูกจนเด็กไม่เคยได้เรียนรู้อะไรด้วยตนเอง เด็กเหล่านี้จะเติบโตมาโดยหาความสุขง่ายๆ ในใจของเขาไม่เจอ เพราะค้นไม่พบความหรรษา (joy) จากการได้ทำในสิ่งที่เขาชอบและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเขา
ในทางกลับกันถ้าเราใช้ M ในเวลาที่ควรจะใช้ K เด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้ ตัวอย่างมีให้เห็นมาก อย่างเช่น ลูกคนรวยขับรถสปอร์ตหรูชนตำรวจเสียชีวิต และไม่ยอมมามอบตัว รถสปอร์ต กับ รถมอเตอร์ไซค์ไม่ต่างกัน เพราะเด็กส่วนใหญ่หาซื้อเองไม่ได้ แล้วใครเป็นคนซื้อให้ ให้ไปด้วยความรักแบบไหน คือใช้แบบ M ในเวลาที่จะต้องใช้ K เด็กอายุ ๑๒ หาดูคลิปโป๊แล้วอยากจะลองทำกับหลานสาวข้างบ้านอายุ ๕ ขวบ แล้วใครซื้อโน้ตบุ๊ก ซื้อไอแพดให้ ใครต่ออินเทอร์เน็ตให้โดยไม่หาวิธีป้องกัน ของแบบนี้มันเปิดหาดูง่ายแค่กระดิกนิ้ว สำหรับผู้ที่ขาด M คือ เมตตา ต้องฝึกเมตตาภาวนา ฝึกฝนการ “ละความตระหนี่” เพราะคนตระหนี่ย่อมให้ไม่เป็น ให้แล้วชอบมีเงื่อนไข ให้ไม่ขาด ให้ไปแล้วรู้สึกเสียดาย การฝึกให้โดยไม่หวังผลจะทำให้จิตขยายใหญ่ขึ้น (สำนวนอาจารย์หมอประเวศ วะสี) เข้าใจว่าความรู้สึกของเขากับเราก็ไม่แตกต่างกัน เพราะมีหัวจิตหัวใจความเป็นมนุษย์เหมือนกัน
ส่วนผู้ที่ขาด K คือ กรุณา ต้องฝึกฐานกาย และ “ความรู้สึกตัว” ให้มาก เพราะถ้าไม่ฝึกออกจากความคิดด้วยการกลับมาที่ฐานกาย ความคิดจะลากจูงไปนัวเนียกับสถานการณ์ ไม่สามารถจะหลุดออกไปจากการเป็นผู้เล่น จากวงจรของความอยากจะได้ความรักตอบแทนได้ เพราะเรากลัวว่าเด็กไม่รักจึงทำให้เราไม่กล้าปฏิเสธ ไม่กล้าขัดใจลูก แต่ถ้าหากเข้าใจว่าแท้จริงแล้วความรักที่เราให้เด็กนั้นเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็นความ “กรุณา” ซึ่งย่อมจะขัดใจเด็กหรือทำให้เขาไม่พอใจอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่เป็นการตัดวงจรแห่งภัยอันตรายที่จะก้าวเข้ามาหาเขาในอนาคต ก็ต้องมั่นคงกับการตัดสินใจของเรา การไม่เข้าไปโอบอุ้มเมื่อเด็กทำผิดพลาดก็เป็นวิถีแห่ง K หรือความกรุณาด้วยเช่นกัน บางครั้งการใช้ K นำมาซึ่งความอึดอัดคับข้องใจของคนที่เป็นพ่อแม่เอง (เพราะอยากเห็นเด็กมีความสุข) แต่ด้วยเข้าใจว่าสุขเฉพาะหน้านำมาซึ่งความหายนะในภายหลัง ก็ต้องอาศัยความอดทน และความเข้าใจระหว่างผู้ปกครองด้วยกัน จึงจะข้ามผ่านเหตุการณ์หนักหนาไปได้
ถ้าสามารถใช้ความรักสองโหมด คือ K กับ M ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะเกิดปรากฎการณ์สองแบบ คือ KM และ MK ขึ้นในชีวิตของเด็กและเยาวชน KM ที่ผมพูดถึงนี้คือ Knowledge of Maturity คือความรู้ที่จะทำให้มีวุฒิภาวะ มีภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกไปสู่สังคมที่ชั่วร้าย และมี MK คือ Master of Karma คือเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเองด้วยความมั่นคง ไม่หวั่นไหวตามกระแสง่ายๆ และไม่ปล่อยให้มายาคติหรือไวรัสทางสังคมมามีอิทธิพลเหนือเจตจำนงเสรีของตนเอง ผลก็คือเด็กของเราก็จะ “อยู่ได้” และ “อยู่เป็น” แค่นี้ก็เหลือกินแล้ว
แสดงความคิดเห็น