มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
ชั่งใจอยู่นานโขทีเดียว
แรกเริ่มเดิมที เรามองบล็อกด้วยความรู้สึกว่า เป็นของเล่นทางเทคโนโลยีใหม่อีกชิ้นหนึ่งเท่านั้น กระทั่งพื้นที่สาธารณะอย่างเว็บบอร์ดเราก็ยังคิดว่า ตราบที่ไม่มีเวลาจะดูแลให้เกิดชุมชนได้ ก็อย่าเพิ่งไปเปิดช่องทางแห่งความไม่รับผิดชอบเพิ่มอีกทางเลยจะดีกว่า
แต่ครั้นถูกทักถามบ่อยเข้า ทั้งมีเหตุให้มองเห็นการขยายตัวของเครือข่ายจิตอาสา คนรุ่นใหม่เหล่านี้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในเจเนอเรชันของตน อย่ากระนั้นเลย องคุลีมาลเคยคิดผิดทำผิดก็กลับตัวกลับใจได้ ถั่วงอกรู้พลั้งก็ย่อมมีสิทธิ์เปิดบล็อกน้อมรับพรชัยจากทุกสารทิศได้ แม้จะช้าไปหน่อยก็ตามที
คำถามน่าสนใจก็คือ - ใครจะร่วมสังฆกรรมเขียนบล็อกด้วย?
จิตใต้สำนึกของเราตอบอย่างไม่ลังเล - ยังตอบไม่ได้
คำถามถัดมา – เขียนอะไรมั่ง?
ตาคู่งามของเราเหลือบขึ้นไปคุยกับท้องฟ้าหน่อยหนึ่ง - ก็ยังตอบไม่ได้อยู่ดี
หัวคิ้วเริ่มปรึกษากัน ก่อนเอ่ยถามอีกข้อ – จิตวิวัฒน์แล้วหรือยัง?
ตอบอย่างจริงใจ - ให้คำตอบของคำถามทั้งหมดทั้งนั้นอยู่ในมือของกาลเวลาเถิด
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มกราคม 2549
แนวคิดที่น่าสนใจของ ติช นัท ฮันห์ แนวคิดหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของท่านพุทธทาส ก็คือแนวคิดว่าด้วย “สังฆะ”
สังฆะในที่นี้หมายถึง ชุมชน หรือกลุ่มกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางธรรม
ชุมชนประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน หากปราศจากความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นชุมชน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนจำนวนมากที่ยืนรวมกันอยู่ตรงป้ายรถเมล์ หรือผู้คนที่เข้าชมภาพยนตร์รอบเดียวกัน จึงไม่อาจนับเป็นชุมชนได้
ขณะเดียวกัน หากความสัมพันธ์นั้นนำไปสู่อบายภูมิ เป็นต้นว่า รวมหัวกันฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสังฆะ เพราะสังฆะจำต้องประกอบด้วยธรรม มีกัลยาณมิตรที่เอื้อเฟื้อชี้แนะให้เห็นความบกพร่องและแสดงหนทางอันถูกต้อง ในหมู่พาลชนย่อมบังเกิดสังฆะไม่ได้
การกำเนิดของกลุ่มสังฆะแห่งสติในปีพ.ศ. ๒๕๔๖ และกลุ่มสุขวิหารในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในพลังแห่งสังฆะ
ผู้คนสามัญธรรมดาเหล่านี้ มีทั้งแม่บ้าน ข้าราชการ นักธุรกิจ อาสาสมัครเพื่อสังคม ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจริตความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาคุณค่าด้านใน ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับจิตใจและหรือจิตวิญญาณเพื่อธำรงเนื้อหาสาระอันเป็นความหมายของชีวิต
กัลยาณมิตรเหล่านี้มารวมตัวกันเดือนละครั้งสองครั้งอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อภาวนาร่วมกัน พบกันที่พุทธมณฑลบ้าง เรือนร้อยฉนำที่คลองสานบ้าง กิจกรรมในการภาวนามีหลากหลาย เป็นต้นว่า นั่งสมาธิ เดินเล่นผ่อนคลายด้วยความเบิกบาน รับประทานอาหารอย่างมีสติ ผ่อนพักตระหนักรู้ รายงานสภาพอากาศของชีวิตในช่วงที่ผ่านมา และรดน้ำเมล็ดพันธุ์ให้ซึ่งกันและกัน
บางครั้งบางคราก็มีนักบวชเข้าร่วมด้วย ท่านมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) แห่งวัดเบญจมบพิตร ก็เน้นย้ำบ่อยครั้งว่าพระภิกษุสงฆ์จำต้องเรียนรู้จากฆราวาสเช่นเดียวกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพระสูตรจากพระไตรปิฎกก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมสานเสวนาอย่างใหม่ขึ้นระหว่างวัดและบ้าน เป็นไปด้วยกิริยาอาการถ้อยทีถ้อยอาศัย ฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้งบนหนทางแห่งหัวใจนักปราชญ์ และเต็มไปด้วยอาการแห่งความกรุณา
การภาวนาของกัลยาณมิตรกลุ่มนี้มิได้มีขึ้นเฉพาะวันนัดพบเท่านั้น หากถือเอาชีวิตของตนเป็นการภาวนาเสียด้วยซ้ำ การพบปะเป็นการหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพ แบ่งปันประสบการณ์การประยุกต์ใช้หลักธรรมในชีวิตประจำวันของตน ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน ใช้จักษุปัญญาร่วมกัน เพื่อค้นพบปัญญาญาณในตนเอง
ผู้คนในสังฆะมิได้ปรารถนาจะก่อตั้งเผ่าพันธุ์มนุษย์แบบใหม่ที่แปลกแยกไปจากโลกและสังคม หากแต่ตระหนักรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจำต้องเริ่มจากตนเอง และเนื่องจากมนุษย์ทุกคนยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับโลกและสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงตนเองก็คือการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคม ไม่ได้แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เป็นความเชื่อมโยงตามหลักอิทัปปัจจยตาและเป็นเช่นเดียวกับที่ฝรั่งอธิบายไว้ในทฤษฎีผีเสื้อกระหยับปีกนั่นเอง
มนุษย์ทุกผู้ย่อมเกลียดทุกข์รักสุข หากการมีชีวิตอยู่เป็นความทุกข์ มนุษย์ย่อมไม่รู้สึกว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีความหมาย การรวมกลุ่มสังฆะหรือการภาวนามีคุณประโยชน์หรือความหมายต่อชีวิตเพียงไร ความสุขย่อมเป็นดรรชนีชี้วัดได้ชัดเจนมากที่สุด
สิ่งที่ผู้คนในสังฆะแห่งสติและกลุ่มสุขวิหารให้ความสนใจค่อนข้างมากก็คือเรื่องของความสุขที่แท้ ความสุขที่แท้ไม่ใช่ความสุขประเดี๋ยวประด๋าว หัวเราะหัวใคร่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ความสุขที่แท้เป็นเป็นความพึงพอใจ เป็นความเรียบง่าย เป็นสันติภาวะภายใน
มนุษย์แต่ละคนย่อมมีสุขวิหารภายในตัว เราอาจสร้าง หล่อเลี้ยง ดูแลสุขวิหารภายในตน เมื่อพบกับความสุข รังสีแห่งความสุขย่อมแผ่กำจายออกมาโอบกอดคนรอบข้าง แผ่ขยายออกไปยังสังคม โลก และจักรวาล ด้วยเหตุนี้ ความสุขจึงมิใช่เรื่องส่วนเฉพาะตัวของปัจเจกบุคคล การเข้าถึงสุขวิหารย่อมเป็นการหลอมละลายตัวตนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับโลก สันติภาพภายในของเราก็คือสันติภาพของโลก ความสุขของเราก็เกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับความสุขของโลก
แน่ล่ะ! การเข้าถึงความสุขที่แท้มิได้หมายถึงการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับความทุกข์ ไม่ใช่ว่าผู้ที่อยู่ในสังฆะจะไม่รับรู้ถึงความทุกข์ของบุคคลอื่น เขาย่อมมองเห็นความทุกข์ของพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ มองเห็นความทุกข์ของพี่น้องพม่า เขมร ลาว เวียดนาม อันเกิดจากอยุติธรรมของประเทศที่มีกำลังมากกว่ามาเบียนเบียด มองเห็นความเจ็บปวดของรุกขเทวดา แม่คงคา และแม่โพสพ ที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบแม่โลกอย่างน่าอดสู มองเห็นความทุกข์อันมีรากเหง้ามาแต่บรรพบุรุษที่กำลังส่งต่อไปให้ลูกหลานที่ยังไม่ได้ถือกำเนิด แต่การมองเห็นของเขานั้นย่อมพ้นไปจากอำนาจของความโกรธเกลียด และเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา
หากตกอยู่ในร่องอารมณ์แห่งความโกรธเกลียด แม้จะเป็นความโกรธเกลียดที่มีต่อผู้ที่เรามองเห็นว่าเป็นคนเลวร้ายฉ้อฉล สิ้นไร้หิริโอตตัปปะทั้งโคตรตระกูล มิช้ามินานนัก อารมณ์ด้านลบเหล่านี้ย่อมกัดกร่อนทำลายตัวเรา ทั้งยังอาจสั่งสมเป็นระเบิดเวลาทำร้ายคนรอบข้าง ภายใต้เงื่อนไขจิตใจเช่นนี้ ปัญหาที่แท้ย่อมไม่ได้รับการแก้ไข ความสุขที่แท้ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้
สังฆะนั้นอาจเปรียบได้กับชุมชนแนวปฏิบัติ Community of Practice – CoP ตามทฤษฎีการจัดการความรู้แบบตะวันตก ซึ่งเชื่อว่าความรู้บางอย่างไม่อาจถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือหรือเอกสารได้ จำต้องส่งผ่านคนต่อคน แต่แนวความคิดเรื่องสังฆะของ ติช นัท ฮันห์ และท่านพุทธทาสนั้นครอบคลุมมิติทางจิตวิญญาณไว้ด้วย นับว่าล้ำหน้าฝรั่งไปหลายช่วงก้าวทีเดียว
กลุ่มปัจเจกนิยมแบบสุดโต่งมักจะรู้สึกเหนื่อยล้าและระโหยโรยแรงเกินกว่าจะลุกขึ้นมาต้านทานอวิชชาในกระแสสังคมร่วมสมัย แต่หากปัจเจกบุคคลเหล่านี้มองเห็นคุณค่าของกัลยาณมิตร มีอุปายโกศลในการเล่นพรรคเล่นพวกอย่างสร้างสรรค์ พลังกลุ่มของผู้คนอันน้อยนิดนี้แหละจะช่วยขับเคลื่อนโลกให้เข้าสู่ยุคของพระศรีอาริย์ได้
สังฆะแห่งสติและกลุ่มสุขวิหารเป็นตัวอย่างอันดีของสังฆะแห่งความสุข เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า จิตวิวัฒน์เป็นสิ่งที่ผู้คนทุกลำดับชั้นเข้าถึงได้ เป็นสิ่งสากล มิได้จำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นนำทางปัญญาเท่านั้น การสร้างสังฆะแห่งความสุขก็คือการเดินทางเข้าไปสัมผัสกับความสุขภายในตนเองและแผ่ขยายเชื่อมโยงกับโลกและจักรวาลนั่นเอง
ร่างกายของมนุษย์จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอีกมากนัก เมื่อแสนปีที่แล้วเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น และอีกแสนปีข้างหน้าก็คงจะเป็นคล้ายๆกับปัจจุบัน แต่จิตของมนุษย์ยังจะวิวัฒน์หรือเติบใหญ่ได้อีกมาก
อนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่การมีจิตใหญ่ จิตของมนุษย์มีขนาดแตกต่างกันได้มาก เช่น ระหว่างจิตของโจรกับจิตของพระพุทธเจ้า
จิตเล็ก คือความรู้สึกนึกคิดแคบๆ ไม่รู้เห็นทั้งหมด ติดอยู่ในความคับแคบในตัวเอง ขัดแย้งกับธรรมชาติ เพราะธรรมชาตินั้นใหญ่ เมื่อจิตเล็กจึงขัดแย้งกับธรรมชาติ เกิดความบีบคั้น เกิดความติดขัด เกิดความทุกข์ และก่อทุกข์ โลกวิกฤตเพราะมนุษย์มีจิตเล็ก
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า "ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง" (We shall require a substantially new manner of thinking if mankind is to survive.)
ท่านทะไลลามะตรัสว่า อนาคตของมนุษยชาติอยู่ที่การปฏิวัติจิต (Spiritual Revolution)
โกรฟ, ลาซโล และรัสเซลล์ (Grof, Lazlo and Russell) กล่าวว่า ทางรอดจากวิกฤตปัจจุบันคือ "การปฏิวัติจิตสำนึก" (Consciousness Revolution)
จิตใหญ่ หรือจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดที่มีปริมณฑลกว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด หรือความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ หลุดพ้นจากความบีบคั้นจากความคับแคบ เป็นอิสระ มีความสุข เกิดมิตรภาพอันไพศาล รักเพื่อนมนุษย์ และรักธรรมชาติทั้งหมด
นักบินอวกาศอเมริกัน ชื่อเอ็ดการ์ มิตเชลล์ ยืนอยู่บนดวงจันทร์มองมาเห็นโลกทั้งใบ การเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของโลกทั้งหมด ทำให้จิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เอ็ดการ์ มิตเชลล์ กล่าวว่า "ผมกลับมายังโลก กลายเป็นคนที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง" (I came back to Earth, a totally changed man.) เกิดความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการเกิดจิตสำนึกใหม่หรือการปฏิวัติจิตสำนึก จากจิตเล็กเป็นจิตใหญ่ ที่เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง เอ็ดการ์ มิตเชลล์ ได้ตั้งสถาบันชื่อ The Institute of Noetic Sciences (IONS) ที่แคลิฟอร์เนีย อันเป็นสถาบันที่ศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่เกี่ยวกับจิตสำนึกใหม่ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้คนในโลกต่างตระหนักกันมากขึ้นทุกทีว่า จิตสำนึกที่คับแคบก่อให้เกิดความทุกข์ ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน จิตสำนึกใหม่อันเป็นจิตใหญ่ก่อให้เกิดความเป็นอิสระ ความสุข และมิตรภาพอันไพศาล ทำให้ได้ประสบความงาม จนรู้ว่าถ้าเข้าถึงความจริงจะเจอความงาม ถ้ายังไม่เจอความงาม แปลว่ายังไม่เข้าถึงความจริง
การมีจิตใหญ่ จึงเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
มนุษย์ได้ค้นพบวิธีการอันหลากหลายในการเกิดจิตสำนึกใหม่ เช่น การเข้าถึงธรรมชาติจากการศึกษาจักรวาล จากการทำงาน จากศิลปะ จากกระบวนการชุมชน จากการเจริญสติ จากการเจริญความเมตตา ฯลฯ มีหนังสือและสื่อในรูปอื่นมากมายทั่วโลกที่ว่าด้วยการเกิดจิตสำนึกใหม่
มีคนไทยกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันศึกษาเรื่องจิตวิวัฒน์ หรือการเกิดจิตสำนึกใหม่ หรือจิตใหญ่ โดยศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งจากการปฏิบัติของตัวเองด้วย เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปส่งต่อให้เพื่อนคนไทย
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) มีการตีพิมพ์บทความจากสมาชิกของกลุ่มสัปดาห์ละครั้งติดต่อกันไป ผ่านหนังสือพิมพ์ มติชน นอกจากนั้น ถ้าหากสาธารณะมีความสนใจ ทางกลุ่มก็ยินดีไปร่วมในการปาฐกถาหรืออภิปรายเป็นครั้งคราว
จะเป็นการดีอย่างยิ่ง ถ้าในแต่ละจังหวัดมีการรวมตัวของผู้ที่สนใจในเรื่องจิตสำนึกใหม่ จะเรียกว่า กลุ่มจิตวิวัฒน์จังหวัด หรือชื่อใดอื่นก็ตาม เพื่อศึกษาค้นคว้า เผยแพร่การพัฒนาจิตให้สูงยิ่งๆ ขึ้น เพื่อการเกิดขึ้นแห่งสันติวัฒนธรรม ดังที่มีเกิดขึ้นแล้วในบางจังวัด
กลุ่มจิตวิัวัฒน์มีความยินดีที่จะส่งเสริมและร่วมมือกับกลุ่มจิตวิวัฒน์ที่จะเกิดขึ้น ณ ที่ต่างๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายตัวไปทั่วประเทศ
จิตวิวัฒน์ทำให้เกิดสุข เป็นความสุขที่ราคาถูก - Happiness at low cost เมื่อราคาถูกจึงเป็นไปได้สำหรับทุกคน
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มกราคม 2549
เงินไม่ใช่ทุกสิ่ง และความสุขก็ไม่จำต้องมาจากการเสพ
เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาว่า “พี่ชายคนหนึ่ง มาใช้แรงงานที่สิงคโปร์ตั้งแต่ลูกเล็กๆ จนลูกอายุ ๒๒ปี และลูกก็เสียคน เหมือนคนป่วย เป็นกระเทย ติดผู้ชาย ใช้เงินเยอะมาก
มันมีรายละเอียดในชีวิตมากกว่านั้น คือการใช้เงินหรือวัตถุเข้าไปชดเชยสิ่งอื่นในชีวิต มันทำให้การรับรู้ที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ขาดหายไป วัตถุมันกดทับภูมิต้านทานในชีวิตด้วย
ผมสนใจความเป็นพี่น้องในสังคมไทย มันช่วยเยียวยารักษาโรคเรื้อรังได้หลายโรค เมื่อก่อน พี่อีกคนหนึ่งดื่มเหล้าบ้าง เพราะคิดถึงครอบครัวที่เมืองไทย
หลังจากที่เราสนิทกันมาก ผมพูดกับพี่เขาบ่อยๆ ว่า “พี่เป็นพี่ชายผมนะ ผมเป็นห่วง...” พี่เขาก็รู้สึกอย่างนั้น (ปริญญาแพทย์ศาสตร์ ไม่ได้สอนเราใช่ไหม) ทุกวันนี้ พี่เขาไม่ดื่มเหล้า เวลาโทรกลับบ้าน ก็คุยกันรู้เรื่องดี”
เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า เราไม่เข้าใจเรื่องการเลี้ยงลูกกันเลย คนรุ่นที่ผ่านมา เวลานี้อายุสามสิบถึงหกสิบ เลี้ยงลูกด้วยการปรนเปรอทางวัตถุ มันเป็นการชดเชยอะไรบางอย่างที่เราก็ไม่รู้ว่าหายไป เวลากระมัง เราเอาเวลาของเราทั้งหมดไปแลกกับเงิน เราไปด่าโสเภณี ที่จริงการเอาชีวิตไปแลกกับเงิน แม้เราไม่ได้ขายเซ็กส์ แต่มันจะแตกต่างอะไรกันมากมาย ในเมื่อเราก็ได้ขายชีวิตของเราไป
ชีวิตเราจึงดำรงอยู่กับความน่าเบื่อหน่าย เราจึงต้องเสพ ต้องบริโภค นั่นหมายความว่าเราต้องหาเงินมากขึ้น ชีวิตเราจึงวนเวียนอยู่กับการหาเงินและการบริโภค พอมีลูกออกมา เราก็ปรนเปรอเขาด้วยการเสพต่างๆ ลูกเราก็เป็นแต่เสพ ความสามารถในการทำ ในการสร้าง ในการสัมพันธ์กับผู้คนก็หายไป ปากและท้องโตขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ทุกอย่างเล็กลีบลงหมด รูปร่างออกมาคล้ายๆ เปรตนั่นเอง หรือชีวิตเราทุกวันนี้เป็นเพียงเปรต ที่หวังจะเสพโดยไม่ต้องทำ ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องก่อสร้างสานฝันหรือแรงบันดาลใจอะไรให้เป็นจริง
เราจะเริ่มต้นอย่างไรที่จะแหวกออกมาจากการขายตัวขายวิญญาณเช่นนั้น โดยไม่ใช่แต่ขายตัวเอง โดยไม่รู้ตัว เราขายลูกเราออกไปด้วย ทำให้พวกเขาง่อยเปลี้ยเสียขา เสียแขนและมือ โดยทำอะไรไม่เป็น ได้แต่เสพ
เราจะเริ่มต้นอย่างไร?
เฉลิมฉลองชีวิต
หญิงสาวคนหนึ่ง มาเล่าให้ฟังในช่วงเคลิ้มฝันว่า เธอสร้างภาพไว้ในใจว่า ผู้ชายของเธอจะต้องหน้าตาแบบฝรั่งๆ แต่แล้ววันหนึ่ง ผู้ชายคนนั้นก็เข้ามาในชีวิตของเธอ หน้าตาเขาไม่เข้ากับภาพที่สร้างเอาไว้เลย อยู่กันมาหลายปี จนกระทั่งคืนวันหนึ่ง ก่อนนอนเธอจึงนึกเรื่องราวทั้งหมดออก ผู้ชายคนนี้หน้าตา เหมือนคุณตาของเธอนี่เอง ไม่เคยคิดมาก่อนเลย ใช่แล้ว หน้าตาเหมือนคุณตาของเธอนี่เอง คุณตาใจดีที่เธอรัก คุณตาที่อยู่กับเธอในวัยเด็ก สนับสนุนเธอทุกอย่างในเงามืดอย่างไม่แสดงตัว กลมกลืนอยู่ในทุกอย่างที่เป็นเธอ
เธอเพิ่งได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง ชื่อ Final Cut นำแสดงโดย โรบิน วิลเลียม คนๆ นี้แสดงหนังให้คนคิดกันมากๆ และหนังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้คนคิดกันมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง จะไม่ลงรายละเอียดในเรื่องหนังที่เธอเล่า เพียงมีข้อสรุปหนึ่งจากหนังเรื่องนี้ว่า ความทรงจำของเราไม่ได้เป็นตัวประสบการณ์จริงเสมอไป พวกมันมักจะถูกตีความด้วยอคติของเราเสียแล้ว หรือว่าข้อเท็จจริงก็ไม่มี เพราะมันถูกตีความเสียก่อนเช่นนี้นี่เอง กระมัง
เธอคิดว่า อะไรที่เธอเคยคิดเคยเชื่ออย่างจริงจังก่อนหน้านี้ ช่างเป็นเรื่องตลกสิ้นดี สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรจะเป็น ไม่ได้มีที่ทางที่แท้จริงเลย มันล้วนเป็นเพียงความหมายที่เรากำหนด ให้ค่ากับสิ่งต่างๆ นั้นเอง ที่พบในการปะทุของญาณทัศนะครั้งนี้ก็คือ ถ้าเราดำรงตนอยู่ในปัจจุบันขณะ และพยายามไม่ตีความ เราจะพบกับความประหลาดใจเท่านั้น มันไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากความประหลาดใจ และยิ่งเข้าใจเรื่องราวในมุมมองเช่นนี้ ยิ่งเห็นเรื่องราวทั้งหมดเป็นความประหลาดใจทั้งสิ้น
ในความประหลาดใจนั้น สิ่งที่คิดว่าควรจะเป็น สิ่งที่คิดว่าจะต้องเป็นไป เป็นเพียงความโง่เขลาทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าความโง่เขลาเลย ผมหยอดไปว่า สมเด็จองค์ทะไลลามะคงจะพูดว่า ความประหลาดใจเหล่านี้ ก็คือความว่าง และความว่างคือความเป็นไปได้ที่อยู่เหนือการพยายามบังคับควบคุม เราอาจจะหล่อเลี้ยงดูแลเรื่องราวต่างๆ ได้ แต่เราบังคับควบคุมเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้
เธอบอกว่า มันคือความเป็นไปของมันเช่นนั้น ทุกอย่างล้วนเป็นไปเองเช่นนั้น ผมว่าท่านพุทธทาสก็ชอบใช้คำว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” หรือที่จริงก็คือคำ “ตถาตา” ของพระพุทธองค์
เมื่อเราหลุดออกจากการพยายามตีความ การให้ความหมาย เมื่อเรามีอิสระอย่างแท้จริงที่จะอยู่กับสิ่งต่างๆ ตามความเป็นไปของมัน เราได้ร่วมเฉลิมฉลองกับชีวิตแล้ว แต่มีอยู่กี่มากน้อยที่เราจะมีโอกาสเช่นนี้
ปลดปล่อยแรงบันดาลใจด้วยการสานฝัน
คำหลักที่จะเป็นประตูที่ปลดปล่อยเราออกจากกรงขังของบริโภคนิยมก็คือ “แรงบันดาลใจ”
ชีวิตที่ดำเนินไปในร่มเงาของแรงบันดาลใจ ก็คือชีวิตที่สามารถสานฝันได้ เชื่อในฝัน และกระทำตามฝัน ดำเนินชีวิตตามฝัน ชีวิตปัจจุบันเป็นชีวิตที่แล้งฝัน จึงแห้งผาก เหือดแห้ง ไร้พลัง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราต้องเสพ บริโภคนิยมคือการเสพที่ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอ เหมือนใครบางคนถามขึ้นว่า ทำไมคนบางคนจึงเสพอย่างไม่รู้จักพอ คำตอบก็คือชีวิตของพวกเขาแห้งแล้งจากฝัน ชีวิตของพวกเขาแห้งแล้งจากแรงบันดาลใจ
แรงบันดาลใจเป็นเหมือนกับแหล่งน้ำใต้ดินที่อยู่ลึกๆ ใสเย็น เมื่อเราสัมผัสถึงหรือเมื่อมันโผล่ขึ้นมาบนดิน มันคือน้ำพุแห่งชีวิต ความอยากเป็นอะไรที่สั้นๆ ไม่คงทน แต่แรงบันดาลใจจะไหลลึก ไหลนาน และทรงพลัง เมื่อเราค้นพบแรงบันดาลใจ ชีวิตจะมีความหมายและไม่เหือดแห้งพลังที่จะนำพาชีวิตไปข้างหน้า
Talking Self หรือ ไออาโก (ชื่อตัวละครในบทละครของเชกสเปียร์) จะมีแรงขับเคลื่อนของมันอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากแรงบันดาลใจโดยสิ้นเชิง มันมีความจริงอีกชุดหนึ่งอันโหดร้ายทารุณ ทำให้เราไม่ไว้วางใจต่อโลก ต่อจักรวาล เราจะไม่ไว้ใจใคร เหมือนกับว่าเราต้องอยู่แบบตัวใครตัวมัน เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงต้องหาวัตถุมาให้ความมั่นคงปลอดภัยต่อตัวเองและครอบครัวของเรา พวกเรา ประเทศเรา บริษัทเรา และอื่นๆ ที่เป็นของเรา เราต้องดำรงอยู่ท่ามกลางคนอื่นและพวกอื่นที่ไว้ใจไม่ได้ Talking Self มันไม่เชื่อเรื่องความประหลาดใจ ไม่เชื่อในความว่างและความเป็นไปได้ ไม่เชื่อในฝันและการสานฝัน มันเห็นว่าคนที่เชื่อเช่นนี้เป็นคนเพ้อเจ้อ ชีวิตจึงเหือดแห้ง ชีวิตจึงต้องบริโภคและสะสมเพื่อตัวเองและพวกของตัวเอง เพื่อความอยู่รอดของสัตว์ที่สมบูรณ์ที่สุด
แล้วเราจะเลือกทางไหนดี?
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
ในยุคสมัยนี้ใครจะเชื่อว่า “ปาฏิหาริย์มีจริง” แต่ก็แปลกที่หนังสือและภาพยนตร์อย่างแฮรี่ พอตเตอร์ขายดีมาก หรือว่าในส่วนลึก มนุษย์ยังหวนหาปาฏิหาริย์
ผมอ่าน ชัมบาลา ภาคภาษาอังกฤษของเชอเกรียม ตรุงปะ ถึงวิธีเรียกมนตราแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สองประเด็นแรก เขาพูดเรื่องการจัดพื้นที่รอบตัว เช่น จัดห้อง จัดบ้าน จัดที่ทำงาน คือสิ่งแวดล้อมรอบตัว และการแต่งกาย เมื่อสิ่งแวดล้อมและการแต่งกายเป็นไปอย่างมีระเบียบ สง่างาม เราก็มีความพร้อมที่จะเข้าสู่พื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์
ประเด็นที่สาม ก็คือเรื่องทางจิต เมื่อเตรียมกายภาพ คือทั้งสิ่งแวดล้อมและร่างกายของเราเรียบร้อย ที่เหลือก็คือการเตรียมเรื่องทางจิต การเพรียกมนตราแห่งปาฏิหาริย์ทางจิตนั้น ตรุงปะพูดถึงสองเรื่องด้วยกัน
เรื่องแรก ก็คือเรื่องของการจัดการกับอหังการ์ หรือ “อัตตา” เพราะอัตตาหรืออหังการ์เป็นอุปสรรคต่อการเรียกความศักดิ์สิทธิ์หรือการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เราสามารถจัดการหรือชำแรกอหังการ์ได้ด้วย “ความอ่อนโยน” หรือ “ความรัก” เมื่อเรามีความอ่อนโยน เราจะสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้
เรื่องที่สอง ก็คือเรื่องของการจัดการกับวิถีแห่งความคุ้นชิน แบบแผนที่เราคุ้นชิน ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ความรู้สึก หรือพฤติกรรม ที่เราจะทำไป ทำไป อย่างเป็นอัตโนมัติ อย่างหลับใหล ไม่ได้ตื่นรู้ สิ่งที่จะมาขัดลำกับแบบแผนแห่งความคุ้นชินนี้ก็คือ “การตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน” การตื่นขึ้นย่อมอยู่ตรงกันข้ามกับความหลับใหล
เพราะฉะนั้น การเข้าสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางจิต จะต้องผ่านความอ่อนโยนและการตื่นรู้ อย่างสามารถดำรงอยู่ในปัจจุบันได้
เพราะในรักหรือความอ่อนโยน ความกลัวและความวิตกกังวลจะไม่มีที่ตั้งอยู่ได้ หรือในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่มีความกลัวและความวิตกกังวลอยู่ สิ่งเหล่านั้นจะปลาสนาการไปเอง ด้วยฤทธาแห่งความอ่อนโยนและการตื่นรู้อยู่ในปัจจุบันนั้น
การตื่นรู้จะหล่อเลี้ยงความอ่อนโยน และความอ่อนโยนจะหล่อเลี้ยงการตื่นรู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะสามารถดำรงอยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตจึงสามารถเฉลิมฉลองชีวิตได้ตลอดเวลา ใช่หรือไม่?
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มกราคม 2549
ในเทศกาลขึ้นปีใหม่ เรามีวิธีการรับ-ส่งความสุขกันอย่างไรบ้าง ตัวแทนของความสุขอาจจะไม่เหมือนกัน เช่น บัตรอวยพร กระเช้าของขวัญ ขนมหวานอาหารอร่อย โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นล่าสุด สร้อยทองหนักสัก ๒ บาท หรือเครื่องเพชรชุดใหญ่ แล้วแต่ฐานะและวิธีคิดของแต่ละคน บางกลุ่มก็จัดงานรื่นเริง เล่นดนตรี ร้องเพลงคาราโอเกะ ดื่มสุรากันจนเมา เข้าสถานบันเทิง ดูโชว์กินดื่มท่ามกลางเสียงอึกทึกสะเทือนแก้วหู เพื่อจะสนุกสุดเหวี่ยง แล้วโซเซกลับบ้านเมื่อรุ่งสาง บางทีก็กลับไม่ถึงบ้าน
เสียงดังกล่าวเป็นเสียงของความสุข ความร่าเริง สนุกสนาน เป็นเสียงที่ดึงตัวเราออกไปร้อง ออกไปเต้น คละเคล้ากับสิ่งชวนเสพนานาชนิด
เมื่อตัวเรากับสิ่งเสพผสมผสานกันได้ที่ เราจะเคลิบเคลิ้ม เมามัว และลืมตัวไปชั่วขณะ มันมีความสุข แต่หลายครั้งความสุขนั้นได้กลายเป็นเรื่องร้อน เกิดผลเป็นความทุกข์ ถ้าไม่สามารถควบคุมสติ และพฤติกรรมของตนได้
ความร่าเริงบันเทิงใจเป็นความสุขชนิดหนึ่งซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาอารมณ์และสังคม เป็นสภาวะที่เกิดจากสิ่งเร้าและการแสดงออก ซึ่งถ้าอยู่ในระดับที่พอดี เหมาะสมกับวัย เวลา สถานที่ และผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะ ควบคุมจิตใจอยู่ ย่อมเป็นสีสันหนึ่งของชีวิต แต่เมื่อใดที่บุคคลเสพสุขเกินขนาด แสดงสุดเหวี่ยง หรือลืมตัว เมื่อนั้นความสุขก็จะกลายเป็นความสนุกชั่วครู่ชั่วยาม ไม่มีความประทับใจดีๆ อันใดที่จะพึงจดจำ
วันหยุดเทศกาลปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนวางแผนว่าจะไม่เดินทางไปต่างจังหวัด ขออยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกลายเป็นเมืองที่เงียบสงบและมีความปลอดโปร่ง สบาย ไม่มีโทรศัพท์และโทรสารมามอบหมายงาน ไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปผจญกับรถติดและควันพิษ มีเวลาอยู่บ้าน จัดเอกสารและหนังสือที่กองสุมอยู่เกลื่อนห้อง ได้เดินดูต้นไม้ดอกไม้ ฟังเสียงนกกาเหว่า ที่สำคัญคือได้นั่งเงียบๆ สบายๆ ทบทวนชีวิตของตนเองตลอดปีที่ผ่านมา
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ ผู้เขียนโชคดีอย่างยิ่งที่ได้เดินทางไปดูงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ไต้หวัน จัดโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม การดูงานครั้งนี้ ได้พบคนดีจำนวนมาก ได้สร้างกำลังใจและรับประสบการณ์ที่ดีหลายเรื่อง ในบทความนี้จะขอเล่าถึงความสุขประการหนึ่งที่ได้รับ คือความสุขลึกซึ้งจากความเงียบ
เช้าวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ คณะดูงานเตรียมตัวพร้อมตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. เพื่อออกเดินทางไปดูงานที่สมณารามจิ้งซือ เมืองฮวาเหลียน เราไปถึงสมณารามเมื่อใกล้รุ่ง หมอกลงจางๆ ผู้คนหลั่งไหลไปฟังท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนแสดงธรรม และทำกิจกรรมอาสาสมัคร ซึ่งเป็นงานบุญยิ่งใหญ่ อากาศเย็นสบาย หอมกลิ่นสนที่ยืนต้นรายรอบ ไม่น่าเชื่อว่าสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากมาทำบุญร่วมกัน จะเงียบถึงเพียงนั้น ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสและมีกิริยาสำรวมตน บทความนี้จะไม่พรรณนาถึงสารธรรมที่เราได้รับรู้ แต่จะเล่าถึงความสุขสงบจากความเงียบท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม
ผู้เขียนได้มีเวลานั่งอยู่คนเดียวที่สนามหน้าห้องแสดงธรรม ทบทวนภาพที่ได้เห็นได้ฟังได้สัมผัสตลอด ๒ ชั่วโมงที่ผ่านมา ท่ามกลางชาวพุทธฉือจี้ที่มาฟังเทศน์และอาสาสมัครทำงานนับร้อย คุยกันค่อยๆ ช่วยกันทำงานเย็บถุงเท้า เสื้อผ้า ตัดผมแก่คนยากจน ทำครัว หล่อเทียนเล่มเล็กๆ รักษาพยาบาล ตรวจสุขภาพชาวบ้าน ฯลฯ ทั่วบริเวณสมณารามมีความเคลื่อนไหว กระฉับกระเฉง เงียบแต่ไม่เหงา ผู้เขียนพบแต่คนยิ้มแย้ม พร้อมที่จะต้อนรับและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ในความเงียบนั้น ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ซื้อมาจากร้านเล็กๆ ในสมณาราม เวลาชั่วขณะนั้นอ่านได้เพียงบทกวี ซึ่งเป็นบทนำของหนังสือ “The Cycle of Beauty” รวมบทสารธรรมของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน
“We must show our love for the earth with our actions,
and not just with words.
The strength of each person is limited,
but when we join our efforts together,
the earth is sure to feel our love.”
“จงแสดงความรักต่อโลกหล้า
ปฏิบัติบูชาอย่างมุ่งมั่น
ดีกว่ากล่าวถ้อยคำรักรำพัน
คนหนึ่งนั้นเพียงพลังยังน้อยนัก
แต่เมื่อเราร่วมแรงและร่วมใจ
โลกก็ย่อมสดใสได้ตระหนัก
สัมผัสความงามละมุนอุ่นไอรัก
คือความงามที่ประจักษ์เป็นวงจร”
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มกราคม 2549
การอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอด ไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิดที่อยู่กันเป็นฝูงก็ “รู้” เช่นกัน สัตว์เหล่านี้รู้ดีว่ามันไม่อาจอยู่ได้ด้วยลำพังตนเอง แต่ต้องพึ่งพาอาศัยตัวอื่นด้วย ความสมัครสมานสามัคคีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่ในการอยู่ร่วมกันนั้น การกระทบกระทั่งหรือความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ในกรณีเช่นนั้นมันจะทำอย่างไร?
สัตว์หลายชนิดเลือกใช้วิธี “คืนดี” กัน เมื่อแพะทะเลาะกันเรื่องอาหาร ไม่นานมันจะกลับมาแสดงความเป็นมิตรต่อกัน เช่น เลียขนหรือเอาจมูกไซ้ลำตัวของปรปักษ์ที่เพิ่งปะทะกัน ปลาโลมาก็เช่นกัน หลังจากต่อสู้กันแล้ว มันจะเอาตัวมาสีกันเบา ๆ หรือไม่ก็เอาปากดุนหลังของอีกตัว แม้แต่หมาป่าไฮยีน่าซึ่งขึ้นชื่อว่าดุร้ายและเจ้าอารมณ์ ก็ยังหันหน้าเข้าหากันหลังจากทะเลาะกันอย่างดุเดือด มีการเลียตัวหรือถูสีข้างกัน ยิ่งญาติที่สนิทกับมนุษย์ด้วยแล้ว ไม่ว่าชิมแปนซี กอริลลา หรือโบโนโบ ล้วนเป็นนักคืนดีที่มีลูกเล่นพราวแพรว ไม่ใช่แค่หาเหาหรือเกาหลังให้เท่านั้น หากยังยอมให้ขึ้นคร่อม อย่างหลังนี้เป็นลักษณะเด่นของโบโนโบเลยทีเดียว
น่าสังเกตว่าในการคืนดีกันนั้น สัตว์ตัวที่อ่อนแอหรือพ่ายแพ้ในการต่อสู้จะเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าหาก่อน (ยกเว้นโบโนโบ ซึ่งตัวที่ชนะจะเป็นฝ่ายริเริ่มก่อน) มองจากสายตาของมนุษย์ นี้เป็นเรื่องของกฎป่าที่ถือว่าอำนาจเป็นใหญ่ ดังนั้นตัวที่อ่อนแอก็ต้องสยบยอมตัวที่แข็งแรง แต่มองในอีกแง่หนึ่ง จะสังเกตว่าสัตว์เหล่านี้ไม่เคยเถียงกันว่า ใครผิด ใครถูก แน่ละมันคงไม่มีปัญญาพอที่จะตั้งมาตรฐานถูก-ผิดอย่างมนุษย์ แต่อย่างน้อยมันก็รู้ว่าการเป็นศัตรูกันนั้นไม่มีผลดีทั้งต่อตัวมันเองและต่อทั้งฝูง มันอาจโง่ในหลายเรื่อง แต่มัน “ฉลาด”พอที่จะรู้ว่าเป็นมิตรกันนั้นดีกว่าเป็นศัตรูกัน จะโดยการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือการส่งผ่านทางพันธุกรรมก็แล้วแต่ การคืนดีจึงเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของสัตว์เหล่านี้
ในฐานะที่เป็นสัตว์ชั้นสูง มนุษย์ก็มีสัญชาตญาณคืนดีเช่นเดียวกัน ถึงแม้เราจะเลิกเลียตัวหรือหาเหาให้กันมานานแล้ว แต่เรามีวิธีหลากหลายมากในการคืนดีและผูกไมตรีกัน การให้ของขวัญเป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่วิธีหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับมนุษย์เราก็คือ การขอโทษ
การขอโทษเป็นสิ่งสะท้อนถึงพัฒนาการของมนุษย์ จากการอาศัยพละกำลังเป็นเครื่องตัดสิน (might is right) มาเป็นการตัดสินโดยอาศัยความถูกต้องเป็นใหญ่ (right is might) กล่าวอีกนัยหนึ่งการขอโทษได้ช่วยให้การคืนดีพัฒนาไปอีกก้าวหนึ่ง แทนที่การริเริ่มคืนดีจะเป็นหน้าที่ของผู้อ่อนแอ ก็กลายเป็นภาระของผู้ที่ทำผิดพลาด แม้ว่าผู้นั้นจะมีอำนาจหรือพละกำลังเหนือกว่าก็ตาม
การขอโทษมิใช่เครื่องหมายแสดงความอ่อนแอ มีแต่ในอาณาจักรสัตว์เท่านั้นที่ตัวอ่อนแอเป็นฝ่ายคืนดีก่อน แต่สำหรับมนุษย์ผู้มีวัฒนธรรมแล้วผู้ที่เอ่ยปากขอโทษก่อนต่างหากคือผู้ที่เข็มแข็งกว่า เข้มแข็งเพราะเขากล้ารับผิด เข้มแข็งเพราะเขากล้าขัดขืนคำบัญชาของอัตตาที่ต้องการประกาศศักดาเหนือผู้อื่น
การขอโทษเป็นเครื่องแสดงถึงความมีอารยะของบุคคลผู้กระทำการดังกล่าว เพราะแสดงให้เห็นถึงความรู้ผิดรู้ชอบในมโนธรรมสำนึกของเขา เป็นมโนธรรมสำนึกที่บอกเขาว่าความถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าอำนาจ เยอรมนีเป็นประเทศที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าโปแลนด์ แต่เมื่อนายวิลลี่ บรันดท์นายกรัฐมนตรีเยอรมันคุกเข่าต่อหน้าอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์ที่กรุงวอซอเมื่อ ๓๕ ปีก่อน เพื่อแสดงการขอโทษแทนชาวเยอรมันที่ก่อกรรมทำเข็ญแก่ชาวโปแลนด์ในสงครามโลกครั้งที่สอง เขามิได้ทำให้เยอรมนีตกต่ำหรืออ่อนแอลงเลย ตรงกันข้ามเยอรมนีกลับมีเกียรติภูมิสูงส่งขึ้นในสายตาของชาวโลก เป็นเกียรติภูมิที่ไม่อาจสร้างขึ้นได้ด้วยแสนยานุภาพทางทหารหรือความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
การขอโทษ แม้จะกล่าวด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำว่า “ผม (ฉัน) ขอโทษ” แต่ก็มีพลังพอที่จะสมานไมตรีที่ขาดสะบั้นให้กลับมั่นคงดังเดิมได้ในชั่วพริบตา คำขอโทษเปรียบเสมือนน้ำเย็นที่ดับเพลิงแห่งโทสะ เป็นดังมนต์วิเศษที่สยบความโกรธ และทำลายความพยาบาทในปลาสนาการไป
เด็กคนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัด หนึ่งในคณะศัลยแพทย์เสียใจมากที่เกิดความผิดพลาดขึ้น เมื่อออกจากห้องผ่าตัด เขาเดินไปหาแม่เด็กและกล่าวคำขอโทษ ในเวลาต่อมาแม่ของเด็กได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหมอ ปรากฏว่าศัลยแพทย์ถูกฟ้องทุกคนยกเว้นหมอผู้นั้นผู้เดียว ทนายความของคณะศัลยแพทย์เกิดความฉงนสงสัย แต่หมอผู้นั้นก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ ทนายความจึงถามแม่ของเด็กระหว่างการซักพยานว่าทำไมถึงไม่ฟ้องหมอผู้นั้นด้วย คำตอบของเธอก็คือ “เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ใส่ใจ”
มีคำไม่กี่คำที่สามารถเยียวยาจิตใจของผู้สูญเสียและเจ็บปวดได้ หนึ่งในนั้นคือคำขอโทษ แต่ทุกวันนี้คำขอโทษกลับเป็นคำที่ผู้คนเปล่งออกมาได้ยากที่สุด คนจำนวนไม่น้อยกลัวว่าการขอโทษเป็นการเปิดเผยจุดอ่อนของตน และเปิดช่องให้ผู้อื่นเล่นงานตนได้ หากหมอขอโทษก็แสดงว่ายอมรับผิด เท่ากับเปิดช่องให้ผู้เสียหายทำการฟ้องร้องได้ ดังนั้นจึงปิดปากเงียบ แต่ใช่หรือไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นกลับทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้น เพราะยั่วยุให้อีกฝ่ายทำการตอบโต้หรือกดดันด้วยวิธีที่รุนแรงขึ้น จนอาจลงเอยด้วยความเสียหายของทั้งสองฝ่าย
ทุกวันนี้เราใช้ “หัว” กันมากเกินไป จึงนึกถึงแต่ผลได้กับผลเสีย เราใช้ “ใจ” กันน้อยลง จึงไม่รู้สึกถึงความทุกข์ของผู้ที่เจ็บปวดจากการกระทำของเรา ยิ่งไปกว่านั้นนับวันเราจะมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีกันน้อยลงทุกที การคิดคำนวณถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นทำให้เราปิดใจไม่รับรู้ความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ และเฉยชาต่อเสียงร้องของมโนธรรมสำนึกภายใน แต่เราจะรู้หรือไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นยิ่งทำให้จิตใจของเราแข็งกระด้าง และลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราให้เหลือน้อยลง
การขอโทษอาจทำให้เรารู้สึกเสียหน้า แต่แท้จริงแล้วตัวที่เสียหน้านั้นคือกิเลสมารต่างหาก เมื่อเราขอโทษ สิ่งที่จะเสียไปคืออหังการของอัตตา แต่สิ่งที่เราจะได้มานั้นมีคุณค่ามหาศาล นอกจากมิตรภาพแล้ว เรายังฟื้นความเป็นมนุษย์และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีให้กลับคืนมา
อย่าโยนหน้าที่ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินความถูก-ผิด ไม่ว่าจะทำอะไรไปก็ตาม ควรให้มโนธรรมสำนึกในใจของเราเป็นเครื่องตัดสิน เมื่อผิดควรยอมรับด้วยตนเองว่าทำผิด ไม่ใช่ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน เพราะหากปล่อยให้เป็นหน้าที่ของศาลหรือใครก็ตาม ไม่ช้าไม่นานสำนึกในความผิดชอบชั่วดีของเราก็จะปลาสนาการไป ถึงตอนนั้นเราจะยังมีความเป็นมนุษย์อยู่อีกหรือ
อันที่จริงการขอโทษไม่จำเป็นต้องหมายถึงการยอมรับผิดเสมอไป เมื่อดารายอดนิยมเกิดตั้งครรภ์ก่อนแต่ง แม้เธอจะไม่เห็นว่านั่นเป็นความผิด แต่ก็สมควรที่เธอจะเอ่ยปากขอโทษที่ทำให้แฟน ๆ เจ็บปวดหรือผิดหวังในตัวเธอ คำขอโทษไม่ได้เกิดจากสำนึกในความผิดพลาดเท่านั้น หากยังเกิดจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในความทุกข์ของเขา และพร้อมรับผิดชอบในความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพราะเรา
การขอโทษไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแต่เปิดใจรับรู้ความทุกข์ของผู้อื่น เมื่อนั้นความเห็นอกเห็นใจก็จะตามมา จิตใจของเราจะอ่อนโยนและพร้อมที่จะช่วยปลดเปลื้องเขาให้พ้นจากทุกข์ ถึงตอนนั้นคำขอโทษจะออกมาเองโดยแทบไม่ต้องพยายาม ด้วยการขอโทษ เราไม่เพียงลดทอนความเจ็บปวดของเขาเท่านั้น แต่ยังช่วยปลดเปลื้องทั้งเราและเขาให้พ้นจากวังวนแห่งความขัดแย้งและการเป็นปฏิปักษ์กัน
มนุษย์เรายากที่จะหลีกเลี่ยงการทำร้ายกันได้ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม การรู้จักขอโทษช่วยให้เราคืนดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยไม่ถืออำนาจเป็นใหญ่ บ้านเมืองจะมีความสุขมากกว่านี้หากผู้มีอำนาจรู้จักขอโทษผู้ด้อยอำนาจ พ่อแม่รู้จักขอโทษลูก เจ้านายรู้จักขอโทษลูกน้อง เจ้าอาวาสรู้จักขอโทษลูกวัด หมอรู้จักขอโทษคนไข้ และนายกรัฐมนตรีรู้จักขอโทษประชาชนกัน
การขอโทษเป็นวิธีสร้างสันติที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุด เพราะอาศัยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ เป็นเพราะเราไม่รู้จักขอโทษกัน จะเพราะกลัวเสียหน้าหรือเพราะอหังการก็ตาม เราจึงสูญเสียกันอย่างมากมาย ยิ่งใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งโดยวาจาและการกระทำด้วยแล้ว ความสูญเสียก็ยิ่งทวีคูณ
ไม่มีการขออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าการขอโทษ เพราะเป็นการขอที่ไม่ได้ออกมาจากจิตที่เห็นแก่ตัว แต่มาจากจิตที่มีมโนธรรมสำนึก รู้สึกรู้สากับความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ และอ่อนน้อมถ่อมตน ไร้อหังการ เป็นการขอที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสูญเสียเลยแม้แต่น้อย
คำขอโทษเป็นประดิษฐกรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ไม่ใช่เพราะมันทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เท่านั้น หากยังเพราะช่วยให้มนุษย์คืนดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยไม่ใช้ความฉลาดที่ได้มาเพื่อการทำลายล้างกันเท่านั้น