เมษายน 2006

จิตตปัญญาศึกษากับคลื่นสมอง

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 29 เมษายน 2549

น่าจะประมาณเกือบปีแล้วกระมังที่คุณวิจักขณ์ พานิช ได้เขียนบทความในคอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้อธิบายถึงความหมายของคำว่า “Contemplative Education” ที่ในขณะนั้นยังไม่มีศัพท์ที่เป็นภาษาไทยและวิจักขณ์ก็ได้ลองให้ความหมายของคำๆ นี้ว่าเป็น “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” และต่อมาท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิตท่านได้กรุณาบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “จิตตปัญญาศึกษา” และวันที่ผมเขียนร่างของบทความชิ้นนี้ขึ้นมาก็พบว่า ดร.จารุพรรณ กุลดิลก ได้เขียนบทความถึงเรื่องนี้ลงในคอลัมน์นี้พอดีโดยไม่ได้นัดหมายกัน

ในบทความชิ้นนี้ผมอยากขอลองทำความเข้าใจในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ผ่านความเข้าใจในเรื่องทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คือเรื่องคลื่นสมองเพราะผมคิดว่า ณ เวลาปัจจุบันนี้เรื่องราว “Contemplative Education” หรือ “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” หรือ “จิตตปัญญาศึกษา” นี้มีความสำคัญมากและจะมากยิ่งขึ้นไปทุกวันที่ผ่านไป

ความเข้าใจในความหมายของคำๆ นี้ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะสำหรับผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาเท่านั้น แต่มีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับพวกเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพอะไร

ยกตัวอย่างเช่นปัญหาหลักๆ ทางสาธารณสุขก็เกิดจากความไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้ เพราะจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขไม่สามารถ “ถ่ายทอด” ความรู้ไปสู่ผู้ป่วยหรือประชาชนทั่วไปได้ เกิดการบล็อคเกิดการติดขัดในการสื่อสารระหว่างผู้คิดว่ารู้-คือแพทย์กับผู้ถูกคิดว่าไม่รู้-คือคนไข้ ผู้คนทั้งหมดไม่มีทางเข้าใจเข้าไปถึงแก่นของ “สุขภาพองค์รวม” ซึ่งหมายถึงการมีสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืนและมีความสุขได้เลยหากขาดเครื่องมือชิ้นนี้

และทั้งนี้ถ้ามองให้ดีๆ ก็จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้รวมไปถึงปัญหาหลักๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาในเรื่องการทำงานแล้วเครียด ปัญหาในทางทางการเมืองก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจาก “ความไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง” ในความหมายของคำๆ นี้

ผมพบว่าความแตกต่างที่เห็นได้ “ชัดเจนที่สุด” เรื่องหนึ่งระหว่าง “จิตตปัญญาศึกษา” กับการศึกษาทั่วไปนั้นก็คือ “จิตตปัญญาศึกษา” เป็นการศึกษา “โลกภายในตัวเอง” แต่การศึกษาทั่วไปในสังคมบริโภคนิยมนั้นเป็นการศึกษา “โลกภายนอกของตัวเรา”

ทำไมต้องศึกษา “โลกภายในตัวเอง” ?

คำตอบก็คือการศึกษาที่มุ่งทำความเข้าใจกับ “โลกภายนอกตัวเรา” โดยที่ไม่ได้เข้าใจตัวเองมาก่อนเลยย่อมทำให้มองเห็น “โลกภายนอก” บิดเบี้ยวและผิดรูปไปจากความเป็นจริงเพราะงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นค้นพบว่า “เราจะมองเห็นโลกภายนอกเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นโลกภายในของตัวเราเป็นอย่างไร

และเมื่อลองเทียบเคียง “จิตตปัญญาศึกษา” กับความเข้าใจในเรื่องคลื่นสมอง ผมพบว่าสามารถอธิบายเหตุผลถึงความสำคัญของเรื่องนี้ได้ในมุมหนึ่ง คลื่นสมองของมนุษย์สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ แบบ เรียงลำดับตั้งแต่เร็วไปหาช้าดังนี้

๑. เบต้าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่เร็วที่สุดมีความถี่ได้ตั้งแต่ ๑๔ Hz (รอบต่อวินาที) ไปจนถึง ๒๑ Hz หรือในกรณีที่ต้องเร่งรีบมากๆ หรือวุ่นวายใจมากๆ คลื่นสมองชนิดนี้อาจจะวิ่งเร็วได้มากถึง ๔๐ Hz นักวิทยาศาสตร์พบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่จะมีคลื่นสมองชนิดนี้เป็นหลัก คลื่นสมองชนิดนี้ก็คือความคิดในขณะตื่นของพวกเราทุกคนนั่นเอง (Conscious Mind) ซึ่งก็คือ “เรื่องราว” ที่เรามองเห็นโลกภายนอกนั่นเอง และการศึกษาในกระแสหลักมุ่งเน้นอยู่แต่การเรียนรู้ที่อยู่แต่ในคลื่นชนิดนี้

๒. อัลฟ่าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่เริ่มช้าลงมา มีความถี่อยู่ในช่วงประมาณ ๗-๑๓ Hz เป็นคลื่นสมองที่จะปรากฏบ่อยในเด็กที่มีความสุข กำลังฝันกลางวัน (Daydream) ในผู้ใหญ่จะพบคลื่นชนิดนี้ได้ในผู้ที่ฝึกฝนตัวเองให้สงบนิ่งมากขึ้น อัลฟ่าเวฟเป็น “ประตู” ระหว่างจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก คนส่วนใหญ่จะขาดคลื่นชนิดนี้ ทำให้คลื่นเบต้ามีมากเกินไปและมีลักษณะเป็น “คอขวด” ที่อุดตันไม่สามารถทะลุเข้าไปสู่โลกภายในตัวเองได้ การสร้างคลื่นชนิดนี้จึงมีความสำคัญที่จะทำให้สภาวะอุดตันแบบคอขวดของคลื่นสมองหายไป เกิดความสมดุล ส่วนหนึ่งของ “จิตตปัญญาศึกษา” จะเน้นการสร้างคลื่นอัลฟ่าเพื่อให้เกิด “สะพาน” หรือ “ประตู” ที่เชื่อมต่อลงไปสู่ “จิตใต้สำนึก” หรืออาจจะไปได้ถึง “จิตไร้สำนึก” ที่แสดงให้เห็นโดยลักษณะคลื่นสมองที่ “ช้าลงกว่าเดิม” ไปอีกเป็นคลื่นแบบเธต้าและเดลต้า

๓. เธต้าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่ช้าลงมากว่าอัลฟ่าเวฟ มีความถี่อยู่ในช่วงประมาณ ๒-๖ Hz เป็นคลื่นสมองที่พบเป็นปกติในช่วงที่ทุกคนกำลังหลับ “หรือ” อยู่ในการภาวนาสมาธิที่ลึกระดับหนึ่ง เป็นคลื่นสมองที่สะท้อนการทำงานของ “จิตใต้สำนึก” (Subconscious Mind) ซึ่งเป็นการทำงานของเนื้อสมองส่วนใหญ่ของมนุษย์

๔. เดลต้าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด (๐.๕-๒ Hz) เป็นคลื่นสมองที่แสดงถึงการทำงานเชื่อมต่อกับส่วนที่เป็น “จิตไร้สำนึก” (Unconscious Mind) ซึ่งเป็นส่วนที่เป็น “ปัญญาร่วม” ของมนุษย์
ผมพบว่า “ความหมายในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์” ของ “โลกภายในตัวเอง” นั้นน่าจะหมายถึง “จิตใต้สำนึก” และอาจจะสามารถก้าวลงลึกไปถึง “จิตไร้สำนึก” ซึ่งอันหลังนี้จะรวมไปถึง “ปัญญาร่วมของมนุษยชาติ” (Collective Wisdom) และเมื่อเราสามารถเข้าไปสู่ “จิตใต้สำนึก” หรือถึงระดับ “จิตไร้สำนึก” ได้บ่อยๆ โดยที่มี “จิตสำนึก” กำกับอยู่ด้วย ก็จะ “จำได้” และสามารถลงไปสู่ “แหล่งข้อมูลที่มหาศาล” ตรงนั้นได้บ่อยมากขึ้นเร็วมากขึ้น ข้อมูลที่ได้จาก “จิตใต้สำนึก” และ “จิตไร้สำนึก” นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ จะออกมาในลักษณะที่เรียกว่า “ญาณทัศนะ” (Intuition) หรือ “ปิ๊งแว้บ” หรือ “ยูเรก้า” ซึ่งเป็น “ชุดภาษา” อีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่คำพูด แต่มีความพอเหมาะพอดีแบบที่คาดไม่ถึง (Synchronicity) แบบที่เคยมีสำนวนกำลังภายในที่บอกว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” อะไรทำนองนั้น

“การช้าลง” ด้วยการ “ใคร่ครวญ” จึงเป็น “สัญลักษณ์” ที่มีนัยสำคัญยิ่งของการศึกษาด้านในแบบนี้ เพราะถ้าไม่ช้าลงหรือไม่ใคร่ครวญ เราก็ย่อมจะไม่มีทางทำให้คลื่นสมองของเรากลายมาเป็นคลื่นอัลฟ่า ถ้าไม่เกิดคลื่นอัลฟ่าแล้วก็ยิ่งไม่มีทางเข้าไปสู่คลื่นเธต้าหรือเดลต้าได้เลย

โลกแห่งบริโภคนิยมนั้นเต็มไปด้วยความ “เร่งด่วน” ไปหมด ทุกอย่างถูกทำให้ “เร็ว” และ “เร่ง” ผู้คนถูกทำให้คิดว่า “ถ้าช้าแล้วจะไม่ทันการ” คลื่นสมองของผู้คนส่วนใหญ่จึงกลายเป็นคลื่นเบต้าที่เร็วและเร่งไปเสียหมด “สูญเสียโอกาส” ที่ได้เข้าไปท่องเที่ยวชม “ความงดงามภายในของตัวเอง” เกิดความเครียด ป่วยเป็นโรคเร่งรีบไม่ต้องนับไปถึงเรื่องการเรียนรู้และประสิทธิภาพในการทำงานที่ด้อยลง ในความหมายนี้ “จิตตปัญญาศึกษา” จึงเป็นการ “ปรับสมดุล” ของคลื่นสมองให้ดีขึ้นมากกว่าเดิม

บางทีระบบการศึกษาของพวกเราทั้งหมดอาจจะต้อง “กลับขั้ว” คืออาจจะต้องหันมาสนใจศึกษา “เรื่องราวภายในตัวเราเอง” เสียก่อนทั้งนี้เพราะถ้าพวกเราสามารถที่จะ “เข้าใจโลกภายใน” ของตัวเราได้ เราก็จะสามารถ “เข้าใจโลกภายนอก” ได้โดยไม่ยากเย็นอะไร

อย่างไรก็ตามเราก็คงจะต้อง “ไม่หลงทาง” ไปติด “กับดักผู้รู้กับผู้ไม่รู้” “กับดักหลักสูตรตายตัว” “กับดักเกิดผลแน่นอน” และอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ “จิตตปัญญาศึกษา” ด้วยเช่นกัน

ความสุข จิตสำนึก และคุณธรรมจริยธรรม




ช่วงนี้ดูเหมือนเหล่ายอดมนุษย์จะตกงาน เพราะเกือบทุกฝ่ายต่างก็ออกมาปราบอธรรมกันถ้วนหน้า วิกฤติคราวนี้ทำให้ภาคประชาชนต้องออกมาเอ็กซ์เซอร์ไซส์เยอะหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังทางปัญญา

ช่วงก่อนได้มีความพยายามจากหลายฝ่ายขับเคลื่อนเรื่องธรรมาธิปไตย ให้ใช้คุณธรรมและจริยธรรมเป็นธงนำในการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลง แต่เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมไม่ได้เป็นเรื่องที่แยกตัวโดดเดี่ยวออกจากเรื่องอื่นๆ วิกฤติหรือปัญหาในทุกวันนี้ก็เกิดจากกระบวนทัศน์แบบแยกส่วนนี้เอง

การขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมจึงต้องแฝงฝังอยู่ในทุกเรื่อง เราจำต้องใช้กระบวนทัศน์แบบใหม่ แบบองค์รวม - ที่ไม่ได้แปลว่าเอามากองรวมกัน ในการแก้ไขปัญหา

ทั้งหมดทั้งนั้นต่างก็เป็นเรื่องเดียวกับเรื่องของคุณค่า เป็นการดึงศักยภาพในตัวของมนุษย์ออกมาเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อให้ได้รับสิ่งประเสริฐสูงสุดร่วมกัน เป็นเรื่องเดียวกับแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ และเป็นเรื่องเดียวกับจิตวิวัฒน์

ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์เคยพูดคุยกันถึงเรื่องการสร้างความเข้าใจมิติเชิงคุณค่า หรือจิตวิญญาน ผ่าน ๓ ช่องทาง คือ ความสุข จิตสำนึก และคุณธรรมจริยธรรม


ความสุขที่แท้ย่อมโน้มนำไปสู่ความกรุณา

จิตสำนึกที่ตั้งอยู่บนสัมมาทิฏฐิย่อมนำไปสู่ปัญญา

คุณธรรมจริยธรรมย่อมนำไปสู่ความเป็นปรกติสุข


ความกรุณาที่แท้ย่อมเป็นปัญญา ปัญญาที่แท้ย่อมประกอบด้วยความกรุณา ความปรกติสุขที่แท้ย่อมประกอบด้วยความกรุณาและปัญญา

เรื่องนามธรรมเหล่านี้ต้องอยู่ในรูปธรรมของทุกอย่าง

ขอน้อมเชิญมาร่วมเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

เมื่อก้าวร้าวก็รุนแรง ครั้นอ่อนโยนก็ยินยอม

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 เมษายน 2549

แม้จะมีเสียงกู่ก้องตะโกนว่าไม่มีความเป็นกลางระหว่างความดีกับความชั่ว

ผู้เขียนก็ยากที่จะทำใจ เพราะไม่แน่ว่าฝ่ายหนึ่งชั่วจริง และอีกฝ่ายหนึ่งดีจริงหรือเปล่า

ได้ติดตามเหตุการณ์ตลอดเดือนมีนาคม และต้นเดือนเมษายน อย่างตามติดประชิดทุกความเคลื่อนไหว สังเกตกิริยาท่วงท่าของผู้คน กลยุทธ์การสร้างบรรยากาศให้ฮึกเหิม สงครามข่าวสารที่เข้มข้นดุเดือด ฝ่ายหนึ่งยิ่งได้รับข่าวสารก็ยิ่งเกลียด อีกฝ่ายหนึ่งยิ่งได้รับข่าวสารก็ยิ่งรัก

สู้กันด้วยเสียงเพลง ดนตรี และดอกไม้ สู้กันด้วยเสียงผรุสวาท หัวเราะ โห่ฮา และน้ำตาที่หลั่งรินด้วยความเสียใจ

น่าแปลกที่สายธารแห่งความโกรธแค้น ชิงชัง หลั่งไหลในสายน้ำเดียวกันกับความสงบ สันติ อหิงสา

แต่มีเกาะแก่งกั้นขวาง เพราะไม่ให้อภัยกัน

เมื่อฝ่ายหนึ่งด่าว่าอีกฝ่ายเป็นพวกต่ำช้า หลงอำนาจ อีกฝ่ายหนึ่งก็ด่าตอบว่าไอ้พวกหน้าง่าว หวังผลประโยชน์

มีการใช้ภาษาและสร้างศัพท์ใหม่กันอย่างแตกฉาน ที่นักภาษาจะต้องบันทึกความนัยที่แฝงไว้ เพื่อให้เยาวชนอีก ๑๐ ปีข้างหน้าอ่านเข้าใจ เช่น พันธมิตร ดาวกระจาย จรจัด อารยะขัดขืน มหาพารากอน หมอผีเขมร เว้นวรรค และแม้แต่คำว่า จตุรังคบาท ก็มีนัยแตกต่างจากที่เรียนในวิชาวรรณคดี บางคนที่ฟังคำผวนในภาษาไทยไม่รู้เรื่อง ก็ไม่เข้าใจเนื้อเพลงที่ร้องกันทั้งเมือง

ยิ่งด่าว่ากันเท่าใด ความร้อนก็สูงขึ้นใกล้จุดเดือด สงครามความคิดใกล้จะระเบิดสร้างความหายนะให้ประเทศชาติ

ฝ่ายหนึ่งยิ่งห้าวหาญ อีกฝ่ายหนึ่งก็ฮึกเหิม ไม่มีใครยอมใคร

ประเทศไทยใกล้จะแตกเป็นเสี่ยงๆ แบ่งภาค แบ่งกลุ่ม แบ่งด้วยความรักและความชัง

บ้างก็ว่าเป็นเพราะใช้อารมณ์ล้วนๆ บ้างก็ว่าเป็นเพราะใช้เหตุผลและความรู้ลึกๆ

ทุกฝ่ายยึดมั่นกติกา แต่กติกาต่างกัน

วันหนึ่ง หัวใจที่วิตกกังวลก็ผ่อนคลาย เพราะฝ่ายหนึ่งอ่อนโยนลง อีกฝ่ายหนึ่งก็ยินยอมหยุดพักสงคราม

แม้จะมีเงื่อนไขเวลา มีความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจกัน จับจ้องกันอยู่ แต่ความร้อนก็เย็นลงระยะหนึ่ง

แล้วเทศกาลสงกรานต์ก็มาถึง น้ำหอมๆ ลอยดอกมะลิเย็นชื่นใจ จะกล่อมเกลาให้ความอ่อนโยนยังคงอยู่ และชำระล้างความหยาบกระด้างในอารมณ์ได้หรือเปล่า

นายทหารใหญ่บอกว่ากำลังนับหนึ่งถึงร้อย ก็จงนับต่อไป

นายตำรวจบอกว่าต้องอดทนอดกลั้น ก็ทำต่อไป

ฝูงชนทั้งสองฝ่ายหยุดพักกันชั่วครู่ เมื่อปากหยุดตะโกน หูก็เริ่มมีโอกาสได้ฟัง ท่ามกลางความเงียบ ความรู้คิดก็เริ่มก่อตัว

ทบทวนดูให้ดีเถิด ฝ่ายที่คิดว่าตนเองชนะก็พ่ายแพ้อยู่ในที ผู้นำแห่งชัยชนะก็ถูกติฉินนินทาอยู่ทุกหนทุกแห่ง

มีใครบ้างที่หัวเราะได้เต็มสียง เมื่อยามแย่งยื้ออำนาจอยู่ ปล่อยวางเมื่อใดก็โล่งใจเมื่อนั้น

คิดถึงแนวทางสู่ความปรองดองสมานฉันท์ แม้จะมีการพบปะ พูดคุยกันระหว่างกลุ่มคนที่ขัดแย้ง ก็ยากยิ่งที่จะตกลงกันได้ ถ้าแต่ละฝ่ายต่างก็พกเงื่อนไขของตนมาเต็มกระเป๋า มุ่งสู่จุดหมายของแต่ละคนซึ่งอยู่ต่างขั้ว อย่าว่าแต่จะเจรจากันเลย เพียงแต่พบหน้ากัน ก็อยากจะเบือนหน้าหนีเสียแล้ว

คนเราคุยกันไม่ได้ ถ้าใจมันขุ่นมัว แม้จะเสแสร้งยิ้มแย้มโอบไหล่กัน ก็ดูขัดเขิน

ผู้เขียนนึกถึงประสบการณ์การพูดคุยแบบสุนทรียสนทนา ที่คุณวิศิษฐ์ วังวิญญู เป็นผู้ดำเนินการ เรานั่งล้อมวงกันบนศาลาวัดท่าตอน ทุกอย่างเรียบง่าย และทุกคนจิตใจปล่อยวาง

ศรัทธา และเมตตาต่อเพื่อนสมาชิกของกลุ่ม ลดความถือตน เงียบ สงบ และฟังเมื่อเพื่อนพูด ถ้อยคำของแต่ละคนบางครั้งก็ร้อยเรียงต่อกัน บางครั้งก็เป็นเรื่องใหม่ แล้วแต่ใครจะพูดอะไร พูดค่อยๆ พูดจากความคิดที่เกิดขึ้นฉับพลัน

น่าแปลกที่การพูดคุยกันของเราได้เกิดคลื่นความคิดก่อตัวเป็นความรู้ใหม่ เป็นความรู้ที่ออกมาจากหัวใจของสมาชิกแต่ละคน เป็นความรู้ภายในตัวเรา ที่พูดออกมาแล้วฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ ในที่สุดก็เกิดความรู้กลับเข้าไปภายในตนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบการสนทนาแล้ว รู้สึกสบาย อิ่มเอิบใจ ไม่มีความขัดแย้ง แม้ว่าเพื่อนสมาชิกมีความแตกต่างกัน

จุดเด่นของสุนทรียสนทนา คือความอ่อนโยน ยอมรับฟัง ยิ่งอ่อนโยนเท่าใด คลื่นความคิดของกลุ่มก็เชื่อมโยงกันมากขึ้นเท่านั้น ตรงกันข้ามกับการโต้วาที ที่ต้องเตรียมประเด็นหักล้างกันรุนแรงจนราบคาบกันไปข้างหนึ่ง

ผู้เขียนฝันว่า เช้าวันหนึ่งอากาศเย็นสบาย มีคนประมาณ ๒๐ คน เดินมาจากที่ต่างๆ มาพบกันที่ศาลากลางสวนสวยริมน้ำ ทั้งหมดมานั่งล้อมวงกันเงียบๆ แล้วคนหนึ่งก็พูดขึ้นถึงทางออกจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ทุกคนตั้งใจฟัง ฟังแล้วคิด และผลัดกันพูดความคิดของตนที่ผุดขึ้นมาสดๆในขณะนั้น ปล่อยวางตำแหน่ง ผลประโยชน์ และความถือตนทั้งหมด บรรยากาศการสนทนามีแต่ความเมตตาต่อกัน

เมื่อไม่วางเงื่อนไขของตนไว้อย่างดื้อดึง เมื่อคิดถึงความอยู่รอดของประเทศ เมื่อลดทิฐิมานะและความอหังการ แต่ละคนตัวตนเล็กลง จิตสำนักยิ่งใหญ่ขึ้นสูงขึ้น ทางออกและวิธีการแก้ไขปัญหาก็ผุดขึ้นในวงสนทนาเป็นขั้นเริ่มต้น

เมื่อเขาลุกขึ้นยืน มือที่เคยไพล่หลัง ก็ยื่นมาข้างหน้า หันมาจับมือกับเพื่อนร่วมสนทนาก่อนจะลาจาก เพื่อจะมาพบกัน และคุยกันแบบนี้อีก

แล้วผู้เขียนก็สะดุ้งตื่น ความฝันย่อมไม่เป็นจริง แต่สิ่งที่ยังตกค้างอยู่ในใจขณะนี้ก็คือ พยายามนึกทบทวนว่า คน ๒๐ คนในฝันนั้นเป็นใครบ้าง

ชื่อที่นึกออกก็เป็นไปไม่ได้ ทุกวันนี้เห็นไล่เบี้ยคิดบัญชีกันวุ่นวายจนคดีเต็มโรงศาล มีการแสดงละครกันทุกวันโดยผู้แสดงเขียนบทกันเอง ทั้งรัก โศก ตลกแกนๆ ให้ตัวเองเป็นตัวเอกเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ยืนหยัดเพื่อประชาชน

ไม่แน่นัก ปาฏิหาริย์ย่อมเกิดขึ้นได้ อาจมีคนกลุ่มหนึ่ง เป็นตัวแทนของพลังปัญญา พลังการเมือง และพลังประชาสังคม มาพูดคุยกันแบบสุนทรียสนทนา หาวิธีแก้เงื่อนปมที่ผูกมัดรัดแน่น จนคนไทยจะหายใจไม่ออกอยู่ในขณะนี้

ว่าแต่ท่านช่วยคิดได้หรือไม่ ว่าคน ๒๐ คนในกลุ่มสนทนานี้ น่าจะเป็นใคร

จริงอยู่ สุนทรียสนทนาไม่ใช่กุญแจวิเศษที่ไขประเด็นทางแก้ปัญหาทั้งหมด แต่เป็นจุดเริ่มต้นและก้าวแรกที่นำไปสู่กระบวนการขั้นต่อไป

ถ้ากระบวนการประชาธิปไตย หมายถึงการยอมรับในคุณค่าของทุกคน ภราดรภาพก็เป็นหลักหนึ่งของระบอบนี้ เหตุไฉนจึงหาความเป็นพี่น้องร่วมชาติกันได้ไม่ชัดเจน

วิวาทกันก็วุ่นวายไปเปล่าๆ อ่านพระพุทธวจนะในธรรมบทที่อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก แปลไว้กันก่อนดังนี้

ปเร จ น วิชานนติ
มยเมตถ ยมามเส
เย จ ตตถ วิชานนติ
ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ฯ

สามัญชนมักนึกไม่ถึงว่า ตนกำลังฉิบหาย
เพราะการทะเลาะวิวาทกัน
ส่วนผู้ที่รู้ข้อเท็จจริงนี้
ย่อมไม่ทะเลาะวิวาทกัน

สื่อสารกับปัญญาธรรมชาติ





วันจันทร์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา กลุ่มจิตวิวัฒน์พูดคุยกันในหัวข้อ นิเวศน์วิทยาแบบบูรณาการ - จากจิตวิญญานท้องถิ่น สู่ตลาดสีเขียว

คุณเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ และคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนอิสระ เป็นวิทยากรในช่วงเช้า โดยเล่าถึงประสบการณ์ว่าด้วยการสื่อสารกับปัญญาธรรมชาติ ซึ่งในที่นี้ก็คือเทพเจ้าต่างๆ ในธรรมชาตินั่นเอง

กระบวนการติดต่อกับเทพก็คือการปรับคลื่นในตัวเราให้เข้ากับพลังธรรมชาติ ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการปรับจิต หรือทำสมาธิ

คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้วเองได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อดังกล่าวมาแล้ว ก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ ที่ได้ทำการทดลองติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้ากล้วยไม้ เทพเจ้าข้าว เทพเจ้าต้นไทร พระภูมิเจ้าที่ และเทพเจ้าประจำประเทศไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ พิธีกรประจำกลุ่ม ได้ขอให้ห้อยแขวนมาตรวัดและวางองค์ความรู้ปรกติออกไปก่อน

ส่วนอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ก็ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า วิทยาศาสตร์เก่าบังคับให้เราอับอายในการพูดถึงเทพ

ที่น่าสนใจก็คือ คุณเดชาได้กล่าวถึงความพิอักพิอ่วนของสังคมไทยต่อเรื่องดังกล่าว นั่นคือ มองว่าเรื่องนี้เป็นไสยศาสตร์ ทั้งที่รากเหง้าของสังคมไทยก็ตั้งอยู่บนไสยศาสตร์ แต่กลับไปน้อมรับไสยศาสตร์ฝรั่งคือ เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมศาสตร์ หรือการบอกว่าสังคมต้องตั้งอยู่บนฐานของเทคโนโลยี แต่กลับมีหมอดูอยู่มากมาย เป็นต้น

ถ้าหากเรามองเรื่องการสื่อสารกับธรรมชาติเป็นองค์ความรู้หนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นวิทยาศาสตร์ ที่อาจยังประโยชน์ให้เราได้ อย่างเช่นการพูดคุยกับต้นข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย สารเคมี หรือเครื่องจักรขนาดใหญ่ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี

เป็นการพูดคุยที่น่าประทับใจมาก เสียดายที่มีเวลาน้อย

ทุกอย่างของวันพรุ่งนี้จะหวนสู่องค์รวม

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 เมษายน 2549

นักวิชาการด้านการศึกษาหลายท่านทีเดียว ที่คิดทำนองเดียวกับ ฟรานซิส เบคอน คือคิดว่ามนุษย์แยกจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง และเป้าหมายของมนุษย์คือการเอาชนะธรรมชาติ ขอเพียงได้เรียนรู้ - ด้วยศักยภาพที่แทบไร้ข้อจำกัด - มนุษย์สามารถควบคุมและนำ “ธรรมชาติ” มาใช้ได้ทั้งหมดตามแต่ใจปรารถนา

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนน่าจะเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวและผิวเผิน ผู้เขียนคิดว่าการแยกตัวเองออกจากธรรมชาติอันเป็นปฐมหลักการของการแยกส่วน โดยอาศัยอายตนะภายนอกทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ฯลฯ เป็นเครื่องมือกำหนด “ความจริง” พฤติกรรมและสามัญสำนึกที่เราคุ้นเคยนั้น จริงๆ แล้วเป็นกับดักที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องว่ายเวียนอยู่ในวัฏสงสาร

เนื้อหาสาระของอวตัมสกสูตรของมหายานพุทธศาสนา มีศูนย์กลางอยู่ที่ “แหของพระอินทร์” (Indra’s jewel net) ที่ทุกจุดเชื่อมต่อของแหประกอบด้วยแก้วมณีที่เจียรนัยเป็นเหลี่ยมซึ่งสะท้อนแก้วมณีทั้งหมดเอาไว้อยู่ในเม็ดหนึ่งเม็ดใด นั่นคือ ทั้งหมดคือหนึ่ง และหนึ่งคือทั้งหมด อันเป็นหลักการนำของความเป็นองค์รวม (Holism) ที่บันทึกไว้ในพุทธศาสนา เท่าๆ กับที่ - ความรู้ที่อธิบายความจริงของธรรมชาติในช่วงหลังๆ - เป็นความจริงทางแควนตัม (ฟิสิกส์) อันเป็นหลักการนำในจักรวาลวิทยาใหม่ด้วย (Cosmological Anthropic Principle)

ทุกวันนี้ ทั่วทั้งโลกอาจมีนักวิทยาศาสตร์สายธรรมชาติโดยตรงรวมกันอยู่ประมาณสี่หรือห้าหมื่นคน นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นคือผู้ค้นพบสิ่งใหม่และตอบคำถามว่าด้วยวิวัฒนาการใหม่ๆ ให้กับชาวโลกมากกว่าหกพันล้านคนได้รับรู้ ความก้าวหน้าใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ของมนุษย์ชาติและสังคมมาจากผลงานร่วม ๒๐ ล้านวัน/คนของนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้น น่าเสียดายที่คนเหล่านี้ - ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด - เป็นนักวิทยาศาสตร์ซึ่งอยู่กับเหตุที่ก่อผลที่ทำนายได้ หรือเป็นนักเทคโนโลยีที่มองทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งชีวิตเยี่ยงเครื่องจักรเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตาม มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนแค่หยิบมือจำนวนหนึ่ง คงราวๆ ๕ เปอร์เซ็นต์เห็นจะได้ ที่มองเห็นว่ากระบวนทัศน์ที่มีแต่เทคโนโลยีสนองความอยากของมนุษย์ หรือคำตอบของวิทยาศาสตร์กายภาพแยกส่วนอย่างที่ว่า ไม่พอที่จะให้ความหมายต่อชีวิต หรือแม้แต่จะอธิบายธรรมชาติหรือความจริงได้เลย พวกเขาจึงต้องแสวงหาองค์ความรู้ใหม่หรือวิทยาศาสตร์ใหม่มาตอบ ที่น่าคิดคือ นักวิทยาศาสตร์จำนวนเพียงน้อยนิดดังกล่าวนั้นกลับมีอิทธิพลอย่างยิ่ง สามารถทำให้นักวิทยาศาสตร์แทบทั้งหมดพากันนั่งนิ่งเงียบและตั้งใจฟัง เพราะว่าพวกท่านล้วนเป็นผู้ที่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ และอยู่ห่างไกลจากผลประโยชน์ส่วนตัวในทุกๆ ทาง (Arne Wyller : Creating Consciousness, 1999) นักวิทยาศาสตร์ส่วนน้อยเหล่านี้ เชื่อว่าจักรวาลนี้มีความหมายและเป้าหมาย “ว่าด้วยชีวิต” มาตั้งแต่ต้น และวิทยาศาสตร์กายภาพที่มองทุกสิ่งบนความบังเอิญกับบนเหตุผลของวัตถุที่แยกส่วน น่าจะถึงจุดจบสิ้นได้แล้ว

เราลองหันมาดูเรื่องของชีวิต ที่วิทยาศาสตร์เก่าเห็นว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับจักรวาลแห่งวัตถุและความบังเอิญเลย เราจะพบว่า - หากทำใจให้กว้างและคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ - ชีวิตและโดยเฉพาะมนุษย์คือ “จุดหมายปลายทาง” ของจักรวาล เป็นเรื่องที่เราจะมองผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ แท้ที่จริง ชีวิต - มนุษย์และจิตวิญญาณ - เป็นเป้าหมายของจักรวาลมาตั้งแต่ต้น ซึ่งการรู้และคิดเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติทางความคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “อย่างถอนรากถอนโคน” ต่อทัศนคติการดำรงอยู่ของเรา นั่นคือโลกทัศน์ของสังคมเราจะต้องเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดและโดยสิ้นเชิง

เรารู้ว่า จักรวาลมีฝุ่นละอองอวกาศอยู่ระหว่างทุกๆ กาแล็คซี่ รวมทั้งทางช้างเผือกของเราด้วย และในฝุ่นอวกาศเหล่านี้มีโมเลกุลแห่งชีวิตเต็มไปหมด นักฟิสิกส์ทฤษฏีรู้ต่อไปด้วยว่า โมเลกุลแห่งชีวิต “จริงๆ ไม่ใช่เพียง” สารเคมีอินทรีย์ เช่น อะมิโน แอซิด ฯลฯ เท่านั้น ที่เดินทางโดยอาศัย “ดาวหาง” วิ่งมาชนหรือมาปลูกฝังพืชพันธุ์แห่งชีวิตให้กับโลกของเรา (และโลกอื่นใดในจักรวาล หรือ Panspermia Theory of Origin of Life) มาตลอด ไม่ว่านั่น - จะทำให้เราคิดไปไกลถึง “ อาภัสราพรหม” ในอัคคัญสูตรของพุทธศาสนาเรา - หรือไม่?
จอร์จ วอลด์ นักชีววิทยารางวัลโนเบลถึงได้บอกว่า “ที่โลกเราต้องใช้เวลานานร่วม ๔.๘ ล้านปี “เรา” ถึงจะ “รู้” ว่าโลกมีชีวิต” สนับสนุนว่าโลก (และจักรวาล) มีเป้าหมายของการเป็นที่มาของชีวิตและมนุษย์ตั้งแต่ต้น (George Wald : Cosmology of Life and Mind; 1994)

เซอร์ เฟร็ด ฮอยล์ (Sir Fred Hoyle) นักฟิสิกส์ผู้ก่อตั้งภาควิชาดาราศาสตร์ทฤษฏีให้กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์บอกว่า โมเลกุลแห่งชีวิตที่อยู่ในฝุ่นอวกาศระหว่างกาแล็คซี่ทั้งหลายนั้น - ในทางวิทยาศาสตร์ - ด้วยอายุของจักรวาลของเรา (ข้อมูลใหม่เรื่องเวลาที่แน่นอน จักรวาล “ของเรา” มีอายุ ๑๓.๗ พันล้านปี) ไม่มีทางเลยที่สารเคมีแห่งชีวิต - โฮโดรเจน คาร์บอน และอะตอมอื่นๆ - ที่กล่าวมาข้างต้นจะสามารถมารวมตัวกันเป็นสารแห่งชีวิตได้บนโอกาสแห่งความบังเอิญ ผลจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์โดยนักฟิสิกส์หลากหลายบอกว่านั่น - เป็นไปไม่ได้ เพราะโอกาสที่อะตอมจะมารวมกันเป็นสารแห่งชีวิตได้แม้เพียงหนึ่งโมเลกุลยังต้องใช้เวลาถึง ๑๐๒๐๐ ปี ในขณะที่จักรวาลของเรามีอายุเพียงประมาณ ๑๐๙ ปี เท่านั้น แปลว่าโอกาสของการเกิดสารเคมีแห่งชีวิตในฝุ่นอวกาศมีความเป็นไปได้เทียบเท่ากับศูนย์

ในการให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางสถานีบีบีซีก่อนกลางปี ๑๙๘๑ โดย จอห์น แมดด็อกซ์ (John Maddox) เซอร์ เฟร็ด ฮอยล์ ถูกถามว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเชื่อในเรื่องของ “มือที่ซ่อนตัว” (invisible hand) คือผู้ที่ทำเช่นนั้นหรือ?” เซอร์ เฟร็ด ฮอยล์ ตอบว่า “แน่นอน ผมเชื่อเช่นนั้น และตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจะใช้ชีวิตที่เหลือทั้งหมด ทำการวิจัยและค้นหาสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างแน่นอนซึ่ง “ธรรมชาติ” (มหาปัญญาแห่งจักรวาล) ที่ละเอียดยิ่งนั้น” ความเชื่อของฮอยล์ ต่อมาได้นำมาซึ่งหนังสือที่อุดมไปด้วยสมการคณิตศาสตร์อันเขย่าวงการฟิสิกส์ทฤษฏีในช่วงก่อนกลางทศวรรษที่เก้าสิบ (Sir Fred Hoyle : The Intelligent Universe, 1983)

เกวิน เดอ เบียร์ นักชีววิทยาชาวอังกฤษ (Gavin De Beer : Homology, The Unsolved Problem) ได้เล่าให้ฟังถึงงานวิจัยของเขาที่ทำกับแมลงหวี่ (Drosophila) ว่า แมลงหวี่นั้นส่วนหนึ่งจะตาบอด (มันจึงชอบบินมาตอมตาของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ??) โดยมียีนส์พันธุกรรม (recessive gene) ที่ชื่อว่า “ไร้ตา” กำหนดและควบคุมให้เป็นเช่นนั้น (ถ้าทั้งพ่อกับแม่ต่างมียีนส์แบบนั้นพร้อมๆ กัน) แต่เมื่อ เดอ เบียร์ นำแมลงหวี่ที่ตาบอดและมียีนส์ “ไร้ตา” มาผสมพันธุ์กันซ้ำซ้อนไปเรื่อยๆ ประมาณสามหรือสี่ชั่ววัย แมลงหวี่ในรุ่นต่อๆ มากลับจะมีตาเป็นปกติ ทั้งๆ ที่แมลงหวี่เหล่านี้ ทุกตัวต่างมีหน่วยพันธุกรรมของยีนส์ “ไร้ตา” ตั้งแต่ต้นไม่เปลี่ยนแปลงเลย แล้วเราจะเรียกหน่วยพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอว่าเป็นเจ้านายผู้กำหนดพันธุกรรม (master genes or master DNA) ได้อย่างไร?

อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฟิสิกส์นิเวศวิทยาของสถาบันเทคโนโลยีเครนฟิลด์ที่อังกฤษ (CIT) ที่เป็นนักแควนตัมฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชื่อ เกล็น เชฟเฟอร์ (Glen Shaeffer : The Holistic Philosophy of Nature, in David Lorimer’s The Spirit of Science,1999) เขียนว่า “ในความเห็นส่วนตัว ผมขอสรุปว่า ยีนส์หรือสารเเคมีทางชีววิทยาในร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอันหลากหลาย จริงๆ แล้วเป็นทาสผู้รับใช้ (มากกว่าที่จะเรียกว่าเป็นนาย) ยีนส์เป็นทาสของเจ้านายที่อยู่เหนือขึ้นไป องค์กรที่เป็นองค์รวมที่อยู่เหนือ ๑๐๒๐๐ ที่ว่ามาข้างต้น ยีนส์จึงเป็นเพียงทาสซึ่งมีหน้าที่สรรค์สร้างความแปลกแยกย่อยย่อโดยกลไกแยกส่วน กลไกที่ทาสมีหน้าที่ทำตามเจ้านายที่มีความเป็นองค์รวม ดังนั้น จริงๆ แล้วยีนส์เป็นเพียงทาสที่มีหน้าที่แยกย่อยไปตามคำสั่งเท่านั้น หากเราทำคำสั่งให้มืดมัวไร้ความชัดเจน หรือลบคำสั่งนั้นๆ ออกไป มันจะมีช่องใหม่คำสั่งใหม่มาแทน ฉะนั้น ยีนส์จึงมีความยืดหยุ่น กลไกก็มีความยืดหยุ่น ในที่นี้ ชีวิตเช่นแมงหวี่จึงมีความยืดหยุ่นตามไปด้วย”

เกล็น เชฟเฟอร์ ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า “หากมองในภาพรวม เรามองอะไรกลับหัวกลับหางไปทั้งหมด ในความเป็นจริง เราเรียนวิทยาศาสตร์มาอย่างผิดๆ - เพราะหลักการแยกส่วนที่เราคิดว่า สรรพสิ่งประกอบขึ้นจากเล็กไปหาใหญ่ - หากเรียนรู้ชิ้นส่วนเรียนรู้อะไหล่ เราย่อมเรียนรู้สรรพสิ่งนั้นทั้งหมด - แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เช่นนั้นหากเป็นตรงกันข้าม คือจากใหญ่มาหาเล็ก - จากจักรวาลมาสู่โลกสู่สรรพสิ่ง - ดังนั้น ในความเห็นของข้าพเจ้า สิ่งที่อยู่เหนือ ๑๐๒๐๐ ก็ดี ความยืดหยุ่นของยีนส์ก็ดี หรือความยืดหยุ่นของกลไกหรือช่องของการทำงานก็ดี ล้วนเป็นเรื่ององค์รวม - ในรูปแบบหนึ่งใดของ “แสง” ทั้งสิ้น” ซี่งไปตรงกับความเห็นของศรีอรพินโท และตรงกับกลไกของจักรวาลที่มีพลังงานจิต ซึ่ง คาร์ล กุสต๊าฟ จุง เรียกว่า “อาร์คีไทป์” (archetype) ที่ถูกบดบังโดยกระแสนีโอดาร์วินนิสม์ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๕๐

ทั้งหมดที่เอามาเขียนเล่านี้ ไม่ได้พิสูจน์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่า เหนือคนยังมีฟ้า และเหนือฟ้ายังมีฟ้าในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือมีปัญญาของจักรวาลหรือองค์รวมที่ยิ่งใหญ่สุดยอด ซึ่งทำหน้าที่กำหนดและควบคุมการสรรค์สร้างชีวิตและมนุษย์มาแต่ต้น ตั้งแต่บิ๊กแบ็งของการอุบัติของจักรวาลของเรา หรือจะสรุปว่าจักรวาลมีเป้าหมายของอุบัติการณ์ของชีวิตและมนุษย์มาตั้งแต่ต้น (Cosmological Anthropic Principle) เพียงแต่ว่าคณิตศาสตร์บางส่วนบอกว่า จริงๆ เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ว่านักวิทยาศาสตร์จำนวนหยิบมือน้อยๆ (แต่น้ำหนักมากๆ ) ต่างคิดเช่นนั้น

แต่หากเป็นไปเช่นนั้นจริงๆ โลกแห่งความแปลกแยกย่อยย่อ สังคมที่แยกส่วน แยกก๊กแยกพวกออกเป็นหมู่เป็นเหล่า เป็นชาติและศาสนา (เฉพาะรูปแบบภายนอก) ที่เอื้อแต่ความแปลกต่างแข่งขันเป็นศัตรูกัน - อย่างที่เรากำลังประสบอยู่ในวันนี้ - น่าจะต้องถึงจุดจบกันเสียที การเปลี่ยนแปลงของสังคมและของเราแต่ละคน จะได้ก้าวล่วงวุฒิภาวะของเด็กอมมือกันเสียที

จุดเล็กๆ ของการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ทางการเมือง

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 เมษายน 2549

ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง พอได้ไปทำงานใกล้กรุงเทพฯ ก็ได้เข้าไปร่วมในม็อบพันธมิตรขับไล่ทักษิณ เขาประทับใจวินัยทางสันติวิธีของม็อบมาก แต่คนในม็อบก็เครียด บางคนกลับไปบ้านแล้ว นอนไม่หลับ ผมเกิดความคิดบางอย่าง แนะไปว่าไหนๆ ม็อบอย่างนี้ก็เป็นเวทีสำหรับการศึกษาทางการเมืองอยู่แล้ว สิ่งที่อยากเห็นก็คือ การนั่งล้อมวง หันหน้าเข้าหากัน สืบค้นทางออกจากทางตันทางการเมืองร่วมกัน เป็นกลุ่มเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ ๑๕-๒๐ คน ทอดยาวไปทั่วทั้งม็อบ แล้วจุดเทียนไว้ตรงกลาง อันนี้เป็นภาพที่อยากจะเห็น

แต่คนที่อยู่ในม็อบ มีคลื่นสมองที่เป็นคลื่นเบต้าอย่างแก่ หรือที่มีความถี่สูงกันมาก หมายความว่า เราอยู่กับความคิดมาก เป็นความคิดที่ตัดสินวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นมาก แต่เราไม่ค่อยได้อยู่ในเบต้าอย่างอ่อน และอัลฟา อันได้แก่การใคร่ครวญพิจารณา ตลอดจนการห้อยแขวนการตัดสินคนอื่น เพื่อนผมก็พยายาม และรวมกลุ่มได้เพียงหนึ่งกลุ่ม มีคน ๖-๗ คนนั่งล้อมวงกัน แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า แม้จะทำไดอะล็อคได้ยากในเบื้องต้น แต่ในที่สุดก็เป็นไดอะล็อคได้ และคืนนั้นคนที่นอนไม่หลับก็นอนหลับ ความเครียดก็คลายออกไป ความรู้สึกดีๆ ตลอดจนแรงบันดาลใจก็ไหลเวียนกลับมาอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่จะทำงานทางการเมืองต่อไป

อีกประสบการณ์หนึ่ง ผมได้เรียนกับครูของผม คือ ส. ศิวรักษ์ ผมได้มาพบอาจารย์ที่เชียงใหม่และเชียงแสน ผมนึกถึงตอนที่ผมพบท่านติช นัท ฮันห์ เมื่อคราวที่เวียดนานใต้แตก เมื่อปี ๒๕๑๘ ท่านพูดถึงพระอาจารย์ของเวียดนามคนหนึ่ง ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ที่ท่านมีชีวิตธรรมดา สมถะ เรียบง่าย และไม่ได้โดดเด่นแต่ประการใด แต่ครั้นเมื่อจีนรุกรานเวียดนามลงมาทางใต้นั้น ท่านกลายเป็นสัญลักษณ์ที่รวมใจของผู้คน ที่มารวมตัวกันสู้จีนจนประสบความสำเร็จ

บางทีบารมีของครูของผมตอนนี้ เพียงยกหูโทรศัพท์พูดกับใครบางคน ผลดีๆ ก็อาจจะก่อเกิดขึ้นในประเทศชาติได้แล้ว ด้วยบารมีและภูมิธรรมที่ท่านสั่งสมมาช้านาน

มองในมุมมองหนึ่ง การขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างกลุ่มทักษิณกับกลุ่มพันธมิตรเวลานี้ แม้ทั้งสองฝ่ายพยายามประคับประคองตัวให้อยู่ในแนวทางสันติวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพันธมิตร หรืออย่างน้อยก็พยายามให้ภาพปรากฏออกมาเป็นสันติวิธี แต่ทั้งสองฝ่ายก็ตัดสินกันและกัน แม้ว่าต่างก็ต่อสู้เพื่อชัยชนะทางการเมืองด้วยกติกาสันติวิธีทีระดับใดระดับหนึ่ง แต่แท้จริงก็ยังคุกรุ่นไปด้วยความรุนแรงและรังสีของการประหัตประหารกัน

มีคนเสนอว่า ถ้าฝ่ายทักษิณกับฝ่ายพันธมิตรต้องการจะคุยกัน ผมจะยินดีเป็นกระบวนกรให้ทั้งสองฝ่ายได้คุยกันไหม?

ตอนที่ได้ยินคำถามก็ไม่ได้โพล่งออกไปทันทีทันใด แต่เก็บเอามาคิด ก็ได้คำตอบในที่สุดว่า ถ้าให้เวลาสักเจ็ดวันเจ็ดคืน และทั้งสองฝ่ายอาสาที่จะทำตามกติกาแบบเต็มร้อย ผมก็พร้อมที่จะจัดให้ และคิดว่า จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายแน่นอนไม่มากก็น้อย

มองอีกมุมมองหนึ่ง ตอนนี้การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยลงไปถึงระดับครอบครัวเลยทีเดียว ในขณะที่กิจกรรม “หันหน้าเข้าหากัน” ของพวกเราที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น ได้สร้างสรรค์ความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน และในชีวิตของผู้คนจำนวนไม่น้อยแล้ว

ที่สำคัญก็คือคุณภาพแห่งความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้น มันเป็นสันติสุขที่แท้อันเกิดขึ้นภายใน จากการได้รู้จักตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง เป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำให้ได้พบสันติสุขภายใน อันทำให้เกิดสันติในความสัมพันธ์ในภายนอก และสันติในตัวเองในภายใน เมื่อเป็นเช่นนี้ การ “หันหน้าเข้าหากัน” ยังทำให้เกิดปัญญาร่วมหรือสมุหปัญญา อันเป็นการระเบิดออกของการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ที่จะผ่าทางตันออกไปได้ อันจะเป็นการคลี่บานของชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

ครูของผมบอกว่า อย่าไปหวังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นแบบฝึกหัดครั้งใหญ่อีกครั้งในวิวัฒนาการของมนุษย์ แม้ว่าต่อไปจะมีคนดีๆ เข้าไปเล่นการเมืองบ้าง ก็อย่าไปหวังในทางอำนาจอย่างรวดเร็ว ควรใช้โอกาสนั้นๆ ให้การศึกษากับประชาชน เมื่อไม่มุ่งอำนาจ ก็มีอิสระภายในตัว การกระทำก็จะเป็นกระบวนการทางการศึกษาที่สำคัญต่อสังคม

ผมมาคิดต่อว่า จริงสินะ หากการกระทำของพวกเราเป็นเหมือนโจทย์มากกว่าคำตอบ เป็นแบบฝึกหัดมากกว่าการยัดเยียด หรือเป็นตัวกวนมากกว่าจะเป็นอะไรที่ลงตัว ไปทำให้ผู้คนสะดุดสักนิด คิดมากขึ้นสักหน่อย ตื่นรู้ขึ้นอีกมากๆ แทนที่จะตัดสินคนอื่น แทนที่จะคิดการเมืองเป็นขั้วเป็นฝักฝ่าย หัดมองมุมมองใหม่ หัดกระทำการด้วยพฤติกรรมแบบใหม่ๆ บ้าง บางทีความหวังในการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ทางการเมือง ก็น่าจะเป็นไปได้

กล้าที่จะก้าวข้าม...

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2549

วิกฤติการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมือง อันเนื่องมาจากความข้องใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านคุณธรรมจริยธรรมและการหาประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีและบุคคลใกล้ชิดซึ่งมีผลกระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ นำไปสู่การชุมนุมของเครือข่ายพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย การยุบสภาของรัฐบาล การประท้วงไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของฝ่ายค้าน การจ้องจับผิดระหว่างกัน การพูดจากล่าวโทษซึ่งกันและกัน ดูเหมือนจะเพิ่มความร้าวฉาน และการแบ่งพรรคแบ่งพวกมากขึ้น จนอาจบานปลายกลายเป็นการใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกัน นำไปสู่การสูญเสียโดยรวมของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ในฐานะที่เป็นอาจารย์อาวุโส เป็นครูของครูอยู่ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องด้วยความเป็นห่วง ทุกครั้งที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเสนอทางออกเพื่อนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ด้วยเจตนาที่ดี จะรู้สึกยินดีและชื่นชมเสมอ จึงขอสนับสนุนให้กลุ่มคนจากทุกภาคส่วนเสนอทางออกเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศเพิ่มมากขึ้น สำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่า เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในสังคมไทย จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักในบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของตน กระทำการโดยคำนึงถึงความสุจริต ถูกต้องเป็นธรรม มีความอดทนอดกลั้น เสียสละ มองการณ์ไกล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติในอนาคต

ด้วยจิตสำนึกและจิตวิญญาณของความเป็นครู อาจารย์ ที่หวังให้ทุกฝ่ายในสังคมประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ยุวชน และเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ปวงชนโดยส่วนรวม ผู้เขียนไม่ขอเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายถอยกันคนละก้าว แต่ขอร้องให้ทุกฝ่ายก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ด้วยการเดินหน้าเข้าหากันอย่างมีสติและใช้ปัญญาในการก้าวข้ามตัวตน ก้าวข้ามพรรค ก้าวข้ามฝ่าย และก้าวข้ามวิกฤติการณ์ เพื่อแสวงหาทางเลือกที่พึงประสงค์ร่วมกัน ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวมอย่างแท้จริงโดยสันติวิธี

อยากเห็นแต่ละคน แต่ละกลุ่ม มีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าที่จะก้าวข้ามความเป็นตัวกู ของกู สู่ความเป็นส่วนรวม สู่การสร้างประโยชน์สุขแก่ปวงชน เกิดผลดีมีสันติสุขในชาติ

ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) โครงการวิจัยนี้ชื่อว่า “การวิจัยและพัฒนากระบวนการสร้างความดี มีคุณธรรม” ในงานวิจัยนี้มีการศึกษารวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับความหมาย เกณฑ์ และกระบวนการส่งเสริมคน ครอบครัว และชุมชนดี มีคุณธรรม และที่สำคัญ มีการรวบรวมพระบรมราโชวาทส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และความดีที่ทรงพระราชทานให้แก่คณะบุคคล ในวาระต่างๆ กัน จึงจะขออัญเชิญนำมาเสนอในบทความนี้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติแก่ผู้จงรักภักดีทั้งมวล

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๘

“… ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น ความเจริญที่แท้นี้มีลักษณะเป็นการสร้างสรรค์ เพราะอำนวยประโยชน์ถึงผู้อื่นและส่วนรวมด้วย ตรงกันข้ามกับความเจริญ อย่างเท็จเทียม ที่เกิดขึ้นมาด้วยความประพฤติไม่เป็นธรรมของบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นการทำลายล้าง เพราะให้โทษเบียดเบียนทำลายผู้อื่นและส่วนรวม การเบียดเบียนทำลายนั้น ที่สุดก็จะกลับมาทำลายตน ด้วยเหตุที่เมื่อส่วนรวมถูกทำลายเสียแล้ว ตนเองก็จะยืนตัวอยู่ไม่ได้ จะต้องล่มจมลงไปเหมือนกัน …”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๑

“...บัณฑิตทั้งหลายคงจะมีความหวังตั้งใจอยู่เต็มเปี่ยมที่จะออกไปทำการงานด้วยความรู้ ความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยความพากเพียรเข้มแข็ง เพื่อให้บังเกิดความเจริญก้าวหน้าแก่ชาติบ้านเมือง แต่บางคนก็อาจกำลังคิดอยู่ด้วยว่า ถ้าเราทำดีแล้วคนอื่นเขาไม่ทำด้วยจะมิเสียแรงเปล่าหรือ ความรู้ ความตั้งใจ ความอุตสาหะพากเพียรของเราทั้งหมดจะมีประโยชน์อันใด ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนทำความเข้าใจเสียใหม่ให้ชัดแจ้ง ตั้งแต่ต้นนี้ว่า การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีที่ทำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน และยิ่งทำมากเข้า นานเข้า ยั่งยืนเข้า ผลดีก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น และแผ่ขยายกว้างออกไปทุกที คนที่ไม่เคยทำดีเพราะเขาไม่เคยเห็นผล ก็จะได้เห็น และหันเข้ามาตามอย่าง หลักประกันสำคัญในการทำดีจึงอยู่ที่ว่า แต่ละคนต้องทำใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวกับสิ่งแวดล้อมที่เห็นอยู่ทราบอยู่มากเกินไป จนเกิดความท้อถอย เมื่อใจมั่นคงแล้ว ก็ขอให้ตั้งอกตั้งใจสร้างนิมิตและค่านิยมใหม่ขึ้นสำหรับตัว ตามที่พิจารณาเห็นดี ด้วยเหตุผลอันถูกต้องเที่ยงตรง แล้วมุ่งหน้าปฏิบัติดำเนินไปให้เต็มกำลังจนบรรลุผลสำเร็จ ในที่สุด ความดีความเจริญที่ปรารถนาก็จะเกิดทวีขึ้น และจะเอาชนะความเสื่อมทราม ต่าง ๆ ได้ไม่นานเกินรอ ...”

พระราชดำรัสในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๕

“…คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป ดังประสงค์…”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรี ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๘ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพรเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙

“… การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว ตำรวจแต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ที่จะสร้างเสริมและสั่งสมรักษาความดีให้สมบูรณ์อยู่เสมอ...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๘

“…ประโยชน์และความเจริญมั่นคงของส่วนรวมย่อมขึ้นอยู่กับประโยชน์และความเจริญมั่นคงของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ เพราะส่วนรวมนั้นประกอบขึ้นด้วยบุคคลที่รวมกันอยู่เป็นสำคัญ เป็นชาติบ้านเมือง ดังนี้ ผู้ใดก็ตามที่มุ่งหวังให้ส่วนรวมเจริญ มั่นคง จะต้องพยายามสร้างความมั่นคงให้แก่การงาน แก่อาชีพ และแก่ฐานะของตนเองให้ได้เป็นข้อแรกและข้อใหญ่ แต่ในการสร้างประโยชน์สร้างความเจริญให้แก่ตนเองนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถือหลักปฏิบัติสองข้ออย่างเคร่งครัด ข้อแรก จะต้องมุ่งหมายกระทำแต่เฉพาะกิจการงานที่สุจริต ที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ และที่ถูกต้องเป็นธรรม พร้อมกับจะต้องระมัดระวังควบคุมตนเองอยู่เสมอ มิให้ประพฤติปฏิบัติการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ดำเนินทวนกระแสความถูกต้องเป็นธรรม และที่เบียดเบียนบ่อนทำลายผู้อื่นอย่างเด็ดขาด ครั้นเมื่อทำดีมีผลแล้ว ข้อต่อไป จะต้องพยายามขวนขวายประสานประโยชน์ของแต่ละคนเข้าด้วยกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญและจริงใจต่อกัน โดยไม่เพ่งเล็งถึงผลประโยชน์เฉพาะตัวจนเกินพอดี หรือจนทำให้เกิดความโลภเห็นแก่ตัวขึ้นมาปิดบังความสำคัญและประโยชน์ของคนอื่นเสียหมด การปฏิบัติตามหลักการดังนี้ แม้จะยากลำบากอยู่บ้างสำหรับบางคน แต่เมื่อฝึกหัดตั้งตัวตั้งใจให้ประพฤติปฏิบัติมั่นคงเหนียวแน่นอยู่ได้จนเป็นปรกติ ก็จะประคับประคองส่งเสริมให้สามารถสร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตัวแก่ส่วนรวมได้สำเร็จอย่างงดงามและแน่นอนที่สุด …”

หลังจากอ่านพระบรมราโชวาทข้างบนอย่างมีสติและใช้ปัญญาแล้ว ผู้เขียนขอเชิญชวนทุกท่านปฏิบัติตนเจริญตามคำสอนของพ่อหลวงของปวงชาวไทย มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีความกล้าที่จะก้าวข้ามประโยชน์สุขเฉพาะตัวสู่ประโยชน์สุขของชาติบ้านเมือง

มาร่วมกันก้าวไปข้างหน้า มาร่วมกันก้าวข้ามจากการมีชีวิตอยู่เฉพาะเพื่อตัวเองสู่การมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นและสรรพสิ่ง

จิตที่คิดให้ โปร่งใส...เบา
จิตที่คิดเอา มัวเมา...หนัก
ให้เมตตา กรุณา ให้ความรัก
จึงเปลี่ยนหนัก เป็นเบา ไม่เขลาเอย

Back to Top