มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕
ผู้เขียนชอบและนับถือ คาร์ล กุสต้าฟ จุง หรือยุงมากเป็นพิเศษ และพูดหรือเขียนโดยอ้างหนังสือของเขาตลอดเวลา และเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดเป็นคนแรก (โดยไม่มีคำถามจากใครทั้งสิ้น) และผู้เขียนจำได้ว่า ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ หรือ ยุค ศรีอารยะ คงจะมีส่วนในการเชิญเพราะ ดร.เทียนชัยเพิ่งได้รับให้เป็นบรรณาธิการและผู้อำนวยการสถาบันและวารสารวิถีทรรศน์ และในวันนั้น ก็มีผู้คนมากมายเช่น คุณหมอวิจารณ์ พานิช ที่เป็นโต้โผใหญ่ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ฯลฯ ผู้เขียนได้พูดถึง ปิแอร์ เตยัง เดอ ชาดัง นักบรรพชีวินวิทยาในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก
เมืองนอกหรือฝรั่งตะวันตกมีวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง เช่น โลกนี้จักรวาลนี้มีความจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว คือความจริงทางโลกเท่าที่ตามนุษย์เห็น ซึ่งเอามาจากชาวกรีกเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อน และผู้เขียนคิดว่ามาจากอียิปต์ และนั่น - แตกต่างจากเราที่เป็นชาวตะวันออกมากนักในแบบที่เราบางคนที่ไม่รู้จักคิด คิดว่าฝรั่งหรือชาวตะวันตกอยู่เหนือจากชาวตะวันออกแทบจะทุกอย่าง ยกตัวอย่างเรื่องขององค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องของวัตถุและเรื่องของรูปกาย แต่เราต้องรู้ว่าฝรั่งหรือชาวตะวันตกนั้นไม่รู้เรื่องของจิตหรือจิตวิญญาณเลย มิน่าเล่า จิตวิทยาแท้ๆ ก็เกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่ ๑๙๖๐ และ ๑๙๗๐ นี้เอง และสำหรับเมืองไทยแม้แต่ในปัจจุบันวันนี้ วิชาจิตวิทยาโดยทั่วๆ ไปแยกจากพฤติกรรมศาสตร์ไม่ได้ ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่าเราคนไทยเป็นชาตินิยมหรือภูมิภาคนิยมจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแม้แต่ความรู้เอง แต่ฝรั่งชาวตะวันตกนั้นไมรู้เรื่องจิตจริง ยกเว้นนักวิชาการบางคน กระทั่ง ๕๐ – ๖๐ ปีมานี้
วัฒนธรรมหนึ่งที่ชาวตะวันตกมี นอกจากมองเห็นความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียวอันเป็นที่มาของหลักการวัตถุนิยมและเลือดเนื้อนิยมหรือกายภาพดังกล่าวมาแล้ว คือ ความเป็นตัวของตัวเอง บ่อเกิดขบวนการบุปผาชนหรือฮิปปี้ ในทศวรรษ ๑๙๕๐ ขบวนการนิวเอจในทศวรรษที่ ๑๙๘๐ และขบวนการแห่งจิตและภาวะจิตวิญญาณ เมื่อเร็วๆ นี้
เพื่อนรุ่นน้องของผู้เขียนคนหนึ่งเป็นชาวมุสลิมและเป็นทหารบกที่รู้จักมาตั้งแต่มียศเป็นร้อยโท แต่ – ก่อนเกษียณราชการมียศเป็นถึงพลโท – ได้ยืมหนังสือลูกสาวของตนที่ผู้เขียนให้ชื่อ ชีวิตใหม่ พออ่านได้ครึ่งเล่มก็รีบมาหาผู้เขียนที่บ้าน เขาได้ถามสองคำถาม คำถามหนึ่งเป็นที่มาของบทความนี้ ส่วนอีกหนึ่งคำถามคือผู้เขียนลืมอะไรหรือไม่ เพราะพูดถึงแต่ศาสนาพุทธ ไม่ได้พูดถึงศาสนาอิสลามเลย แล้วลัทธิซูฟีของศาสนาอิสลามจะว่าอย่างไร ได้ตอบไปว่า สังเกตไหมว่าผู้เขียนไม่ได้พูดถึงศาสนาใดๆ เลยนอกจากศาสนาพุทธ และอีกประการหนึ่ง ผู้เขียนหมายมุ่งที่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่นับถือพุทธศาสนามากกว่า ที่มีความจริงทางธรรมที่พุทธศาสนาถือว่าเป็นความจริงแท้ซึ่งฝรั่งชาติตะวันตกเชื่อว่าเป็นความรู้เร้นลับ กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เองที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าจิตมีจริง จากที่แต่ก่อนนี้ไม่เชื่อและไม่ยอมรับว่ามี
สำหรับจักรวาลนั้น มีจักรวาลวิทยาใหม่ – ราวๆ สิบปีมานี้ – ที่มีส่วนคล้ายๆ วัฒนธรรมพระเวทและพุทธศาสนา นั่นคือจักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด หรือเป็นนิรันดรในแง่ของจำนวน คือเกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนกับเป็นสายโซ่ที่ไม่สิ้นสุด
สำหรับคำถามอันเป็นที่มาของบทความนี้ เกี่ยวกับจักรวาลซึ่งผู้เขียนชอบเป็นพิเศษ คำถามนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงนักวิทยาศาสตร์ ๒ คนที่เป็นนักปรัชญาด้วย และพูดถึงจักรวาลแต่น่าจะพูดได้ว่ามีความคิดตรงกันข้ามกัน
คนหนึ่งมีชื่อว่า ปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง นั้น พูดได้ว่าพูดถึงแต่รูปกายและวัตถุ และวิวัฒนาการที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษเหมือนกัน เตยา เดอ ชาดัง สอนให้เรามองโลกและมองจักรวาลในเชิงวิวัฒนาการ คือเคารพเหตุผลตามที่ตาเห็น ซึ่งเมื่อใครพูดถึงเหตุผลที่มนุษย์คิดขึ้นและใช้กันแล้ว หรือเป็นสาธารณะที่ใครๆ ก็ใช้หรือเห็นแล้ว พูดได้เลยว่ามันไม่มีทางจบ เตยา เดอ ชาดัง จึงมองไปข้างนอกและข้างหน้า (outside and forward) ซึ่งประกอบเป็นบางส่วนของความจริงทางโลกหรือโลกียะ
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่ง คาร์ล กุสตาฟ จุง ซึ่งสอนให้เรามองในทางจิตไร้สำนึก และสอนให้เรามองโลกหรือมองสังคมแบบไปข้างในและไปข้างล่าง (inside and downward) ซึ่งประกอบเป็นบางส่วนของความจริงทางธรรมที่เป็นความจริงที่แท้จริง หรือโลกุตตระ แล้วเราจะเชื่อใครดี เพราะว่าทั้งสองได้เสนอแนวทางแก้ไขสังคมของเราให้เดินไปให้ไปถูกทาง – ตามที่ตนแต่ละคนคิด
ผู้เขียนคิดว่า เราต้องเชื่อทั้ง ๒ คน เพราะว่าในโลกในจักรวาลนี้ มีทั้งนามและรูป หรือทั้งจิตและกาย คือเป็นทั้งความจริงทางโลกและความจริงทางธรรม มีทั้งสติปัญญาธรรมดาๆ กับปรมัตถธรรม อันเป็นความจริงที่แท้จริงแทนพระเจ้าตามที่พุทธศาสนาบอก คือเป็นความจริงแท้ของเรา เราจะต้องมองอย่างนั้น เพราะนั่นคือธรรมชาติ (ที่ตาเห็น) เตยา เดอ ชาดัง พยายามที่จะแก้ไขสังคมที่ลดส่วนและแปลกแยก ด้วยการเสนอให้เรามองโลกนี้จักรวาลนี้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีวิวัฒนาการทั้งนั้น และเขามองวิวัฒนาการเป็นความเจริญและไปข้างหน้า และสังคมมนุษย์จะต้องเดินไปตามทางนั้นเท่านั้นถึงจะอยู่รอด นั่นเป็นวิทยาศาสตร์กึ่งหนึ่งและเป็นปรัชญาว่าด้วยสังคมอีกกึ่งหนึ่ง อย่าลืมว่า เตยา เดอ ชาดัง ในยุคสมัยของเขา (เตยา เดอ ชาดัง เป็นนักวิทยาศาสตร์ และได้ไปที่จีน [paleontologist ผู้ค้นพบมนุษย์ปักกิ่ง] และในยุคสมัยของเขา คือ ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ เขาตายในปี ค.ศ.๑๙๙๕ เป็นคนสมัยเดียวกับ คาร์ล จุง) แต่จริงๆ แล้วมันจะมีวิวัฒนาการที่ไหน ที่จะมีแต่ความเจริญโดยไม่มีความเสื่อมถอย รวมทั้งการแก่ชรา วิวัฒนาการน่าจะรวมทั้งความเจริญและความเสื่อมดังที่เป็นความจริงแห่งสังคมโลกียะกาม
ปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง และ คาร์ล จุง ต่างก็เกิดในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์ (เก่า) ที่มีนิวโตเนี่ยนฟิสิกส์เป็นแกนนำ และเจริญรุ่งเรืองที่สุด และตอบคำถามถึงธรรมชาติได้มากกว่าคริสต์ศาสนาสำหรับคนทั่วไป คนที่มีสติปัญญาความฉลาด (intelligence ธรรมดาๆ ) ที่เคารพต่อเหตุผลที่มนุษย์คิดขึ้นมาตามที่ตามองเห็น แล้วมนุษย์ใช้เอง ซึ่งพุทธศาสนากล่าวว่า ผู้ที่เชื่อเหตุผลที่มนุษย์มองเห็น คิดและใช้นั้น – กล่าวได้ว่า - ไม่จบ
คาร์ล จุง นั้นเป็นคนร่วมสมัยกับ ปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง เขาเสียชีวิตหลัง เตยา เดอ ชาดัง เพียง ๒ ปี เขาสนิทสนมกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มาก และตอนแรกฟรอยด์ประสงค์ให้ คาร์ล จุง เป็นบุตรบุญธรรมของเขาขนาดที่ฟรอยด์พาจุงไปอเมริกา โดยแนะนำให้ไอน์สไตน์รู้ว่าเขาประสงค์เช่นนั้น แต่จุงที่ชอบอภิปรัชาเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งฟรอยด์ที่ไม่ชอบเอาเสียเลย กับทฤษฏีของฟรอยด์เองที่มองอะไรทางจิตไร้สำนึก (เป็น subconsciousness ที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ถือว่าเป็นจิตอันเดียวกันกับ unconsciousness ของ คาร์ล จุง) ที่เกิดขึ้นจากกามารมณ์ที่บุคคลผู้นั้นมีในอดีตหมด แตกต่างกับความคิดของ คาร์ล จุง เป็นตรงกันข้าม ทำให้ คาร์ล จุง ต้องแตกแยกกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ไปคนละทาง
คาร์ล จุง นั้นผู้เขียนถือว่าสำคัญกว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ มากยิ่งนัก เพราะฟรอยด์นั้นเป็นผู้ที่มองว่าในโลกในจักรวาลนี้เป็นรูปเป็นกาย และมีความจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือความจริงทางโลกซึ่งเป็นตรงกันข้ามกับที่พุทธศาสนาสอนเรา และก่อนหน้านี้ชาวตะวันออกเชื่อว่ามันมีความจริงทางธรรมซึ่งเป็นความจริงที่แท้จริงอีกชั้น หรือขั้น หรือระดับหนึ่ง นั่นคือธรรมะในระดับโลกุตตระ
ได้กล่าวแล้วว่า คาร์ล จุง นั้นเป็นคนที่มองโลกมองสังคมของเราไปข้างในและข้างล่าง และเป็นคนที่ค้นพบและอธิบายสองสิ่งสองอย่างเท่านั้น และเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากยิ่งกว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ ใ นประเด็นทางจิตไร้สำนึก อันเป็นประเด็นใหญ่ทางจิตโดยรวม ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคนทั่วๆ ไปและนักวิชาการของไทยไม่รู้ และนักจิตวิทยาโดยทั่วไปนับวันจะค่อยๆ มองเห็นและเชื่อว่าจุงเกี้ยนนั้นสำคัญกว่าฟรอยเดี้ยนจริงๆ และ อาร์โนลด์ มินเดล นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงอย่างยิ่งในปัจจุบัน จะเป็นพยานในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี และที่ คาร์ล จุง ค้นพบนั้น คือจิตไร้สำนึกโดยรวม หรือจิตจักรวาลร่วม กับ อาร์คีไทป์ (archetype) หรือสัญชาตญาณ ซึ่ง อาร์โนลด์ ทอยน์บี บอกว่าก็คือพระเจ้า (สำหรับคนเป็นจิตนิยม) ส่วนจิตจักรวาลหรือจิตไร้สำนึกร่วมซึ่งอยู่ทุกหนแห่งทั่วๆ ไปในจักรวาล ก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในสมองเพื่อให้สมองของคนผู้นั้นๆ บริหารให้เป็นจิตสำนึกหรือจิตรู้ หรือวิญญาณขันธ์ของพุทธศาสนา หรือธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนนั้น เป็นทั้งความจริงทางโลกแห่งโลกียะและความจริงทางธรรมแห่งโลกุตตระ แต่เนื่องจากผู้เขียนที่เรียนมาทางวิทยาศาสตร์และรู้เรื่องทางควอนตัมฟิสิกส์มาบ้าง จึงคิดว่าความจริงทางธรรมเท่านั้นที่เป็นความจริงที่แท้จริงและพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่
ปิแอร์ เตยา เดอ ชาดัง และ คาร์ล จุง จึงเป็นสองนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาที่ร่วมสมัยกันในศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ และที่สำคัญมีอยู่ ๒ ประการคือ ทั้งสองคนนั้น มีชื่อเสียงอย่างยิ่งและพอๆ กัน กับทั้งคู่นั้นแตกต่างกันทางความคิดอย่างเป็นตรงกันข้ามกัน ดังที่ได้เขียนมา
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 มกราคม 2555
หากองค์กรมีชีวิตเหมือนคน สุขทุกข์ได้ ป่วยได้ หายได้ รักษาได้ และแย่ลงได้ เราก็อาจมององค์กรอย่างแยกแยะได้ว่ามีอาการอะไรบ้างที่แสดงถึงความเจ็บป่วย ไม่เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ต่างคนต่างทำงานแยกส่วนอย่างชัดเจน ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน การประชุมใช้เวลามาก แต่ไม่ได้ข้อสรุปหรือได้รับการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย แต่ละคนต่างปกป้องจุดยืนของตัวเองโดยอ้างหลักการเหตุผลเข้าหาตัว ยิ่งค้นหาว่าอะไรผิดอะไรถูกก็ยิ่งทำให้เกิดอาการปกป้องตัวเอง จนกลายเป็นองค์กรที่แปรปรวน ผู้คนหวั่นไหว รู้สึกไม่มั่นคง และเราสามารถรับรู้บรรยากาศเหล่านี้ได้เหมือนอุณหภูมิห้องที่มีร้อนมีหนาว มีอบอุ่น มีแบ่งแยกห่างเหิน หรือสิ้นหวัง
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเชิญให้ไปทำกระบวนการ “หันหน้าเข้าหากัน” ให้กับองค์กรเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่มีความขัดแย้งอย่างเงียบงัน เหมือนคลื่นใต้น้ำ ไม่มีใครกล้าพูดอย่างเปิดเผยในวงสนทนา ผมสัมผัสได้ถึงความเหนื่อยหน่ายของผู้คนที่ต้องมานั่งอยู่ต่อหน้ากันและกัน มองหน้ามองตากันอย่างไม่เต็มที่ ผมเองรู้สึกไม่แน่ใจในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นมากนัก ได้แต่หวังว่าเมื่อเราได้ค่อยๆ เปิดใจและรับฟังกัน สถานการณ์น่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อบางคนเริ่มพูด บางคนก็เริ่มเบือนหน้าหนี หันไปเล่นมือถือ หรือขีดเขียนบนสมุดบันทึกของตัวเอง เหมือนการหันหน้าออกจากวง เป็นอาการสั่งสมอย่างหนึ่งของโรคแห่งความขัดแย้ง
ผู้นำองค์กรแห่งนี้บอกกับผมว่า อยากจะให้มีการหันหน้าเข้ากัน คุยกันดีๆ ไม่ต้องคุยลับหลังที่จะยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจกันบานปลาย แต่หลายคนโดยเฉพาะผู้น้อยหรือคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่าจะรู้สึกว่า เคยพูดไปแล้ว แต่ไม่ได้รับความเข้าใจหรือไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร จึงรู้สึกเหนื่อยหน่ายและไม่อยากพูดอีก ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า เราต่างเก็บเอาความผิดหวังในอดีตมาบดบังอนาคตที่เป็นไปได้กันไม่น้อย อีกทั้งในองค์กรยังขาดทักษะการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถึงแก่น
ผมได้ชวนให้ผู้เข้าร่วมเปิดใจแสดงความรู้สึกที่มีต่อความขัดแย้งและได้พบว่า ทุกคนกลัวความขัดแย้ง เพราะกลัวว่าจะนำไปสู่การกระทบกระทั่ง เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ ความโกรธ ความน้อยใจและผิดหวัง และกลัวว่า บรรยากาศการทำงานจะไม่ดี บางคนกลัวว่าตัวเองไม่มีทักษะในการสื่อสาร และการจัดการความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น กลัวว่ายิ่งคุยยิ่งไม่เข้าใจ ไม่ก่อเกิดผลดีขึ้นมา จึงเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ส่วนผู้เข้าร่วมบางคนอยากให้มีการพูดคุยกันเพื่อนำไปสู่การหาทางออกให้กับองค์กรโดยเร็ว ไม่อยากให้มานั่งฟังความรู้สึกกันมากเกินไป เพราะกลัวว่าจะแก้ไขปัญหาได้ไม่ทันการณ์
จากประสบการณ์ทำงานจิตวิทยากลุ่มของผม การเปิดใจคุยกันไม่จำเป็นต้องเกิดผลดีเสมอไป หากขาดทักษะในการทำความเข้าใจความคิดเห็นและอารมณ์ลบทั้งหลาย ยิ่งในองค์กรที่มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกันและกันผ่านการให้เสียงสะท้อนเชิงลบในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม มักจะไม่เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการใดๆ ขึ้นมา มีแต่แรงต้านหรือการหลบหลีกพรางตัว และมักจะทำให้เกิดการเหมาคิดไปว่า “พวกที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคือพวกที่ดื้อและต่อต้านอย่างไร้เหตุผล ขาดวุฒิภาวะ ถือเอาตัวเองเป็นใหญ่และไม่สนใจพัฒนาตัวเองหรือองค์กร”
เราใช้เวลาสามวันในการทำกิจกรรมและพูดคุยกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยอมรับความไม่พร้อมที่จะเปิดใจ หากแต่ใช้เวลาในการเรียนรู้ชีวิตของกันและกันมากขึ้น ว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร พร้อมๆ กับฝึกทักษะการทำความเข้าใจอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งบวกและลบ สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น คือผู้คนค่อยๆ เกิดความรู้สึกไว้วางใจกระบวนการมากขึ้น และกล้าพูดถึงสิ่งที่พวกเขาห่วงใยและใส่ใจจริงๆ มันทำให้หลายคนรู้สึกได้ถึงความหวังที่จะเห็นความเข้าอกเข้าใจเกิดขึ้นในที่สุด หากการหันหน้าเข้าหากันดำเนินไปอย่างใส่ใจกับความเป็นไปของทุกคน อย่างให้เกียรติและเห็นคุณค่าอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระบวนการนี้ไม่ปิดกั้นและหันหน้าหนีความเจ็บปวดหรือความทุกข์ที่อาจแสดงออกทางอารมณ์อย่างรุนแรงได้
เมื่อแต่ละคนได้ร่วมกันมองลึกลงไปและรับฟังอย่างเปิดกว้าง เราจะค้นพบว่าในหลายๆ เรื่อง เราต่างให้คุณค่าหรือต้องการคล้ายๆ กัน เช่น ต้องการความก้าวหน้า ความมั่นคงและความสุขในการทำงาน และที่ลึกลงไปอีกคือต้องการมีคุณค่าและการยอมรับจากสังคม รวมทั้งในใจของแต่ละ คนยังมีสิ่งที่พวกเขา “ใส่ใจ”
ดังที่ มาร์กาเร็ต วีทลีย์ นักเขียนและนักปฏิบัติด้านองค์กรที่มีชีวิต ได้กล่าววลีอันเรียบง่ายว่า “หากเราหันหน้าเข้าหากันเพื่อเรียนรู้และค้นพบว่าสิ่งที่แต่ละคนใส่ใจคืออะไร เมื่อนั้นพลังของการเปลี่ยนแปลงและความร่วมไม้ร่วมมือก็จะเกิดขึ้น” หากเราได้มาเข้าใจกันและกันผ่านการพูดคุย และรับฟังอย่างลึกซึ้งก่อนการแก้ปัญหาใดๆ อย่างถ้วนถี่ โอกาสที่องค์กรจะร่วมกันคิดและหาทางออกร่วมกันย่อมเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ แต่จะทำอย่างนี้ได้เราจำต้องพัฒนาความกล้าหาญและใจที่เปิดกว้างในการรับรู้อารมณ์ลบที่อยู่เบื้องหลังอาการติดขัดทั้งหลายภายในองค์กร
แต่น่าเห็นใจที่เงื่อนไขการทำงานในองค์กรส่วนใหญ่ที่เอา “งาน” และ “ตัวชี้วัด” รวมถึง “มาตรฐานและกฎเกณฑ์” ต่างๆ เป็นตัวตั้ง มักไม่ให้เวลาใส่ใจกับ “ความรู้สึกและคุณค่า” ของสมาชิกมากพอ ผู้คนจึงอาจจะเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อ เบื่อเซ็ง และขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน
การแก้ปัญหาองค์กรเชิงรูปธรรมที่มุ่งเน้นการออกแบบ การจัดการระบบ การวางโครงสร้าง การทำงาน การสร้างข้อตกลงและนโยบายที่มุ่งบรรลุผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่หากปราศจากการรับรู้และทำความเข้าใจกับมุมมอง ความรู้สึกนึกคิดและความต้องการที่ผู้คนทั้งหลายมีต่องานที่ตัวเองทำและต่อองค์กร การขับเคลื่อนงานก็จะเป็นไปอย่างแกนๆ เพราะใช้พลังไปกับการตรวจสอบ ควบคุมและติดตามการทำงานจนหมด ทำนองว่าเมื่อระบบเป็นใหญ่ ใจเป็นรอง เราทั้งผองต่างก็กลายเป็นเครื่องจักรกลที่ไร้ชีพ
หากมองจากมุมของกระบวนการจิตวิทยากลุ่ม องค์กรเปรียบเสมือนระบบนิเวศ สมาชิกทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเดียวกัน เสียงของทุกคนล้วนมีความหมายที่สะท้อนถึงความจริงของแต่ละฝ่ายแต่ละคน เราจำต้องพัฒนาสมรรถนะร่วมในการรับฟังและทำความเข้าใจกับเสียงทุกเสียงของระบบนิเวศ หากขาดเสียงใดเสียงหนึ่งไป การรับรู้จะขาดพร่องและขัดแย้ง
ความขัดแย้งมักไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเจตนาของใคร และไม่ได้เกิดจากความแตกต่าง เราแตกต่างกันได้แต่ไม่จำเป็นต้องขัดแย้ง หรือเราอาจขัดแย้งกันได้แต่ไม่จำต้องรู้สึกแย่ต่อกัน โดยความขัดแย้งมักเกิดขึ้นในระดับของความคิด ทัศนคติ และวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน
ความขัดแย้งปลุกเราให้ตื่นจากความไม่รู้ หลับไหล และการดำเนินชีวิตที่สะดวกสบาย แต่ส่งผลให้เกิดความทุกข์ร้อนแก่ผู้อื่นอย่างไม่เจตนา โดยกระตุ้นให้เราเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราอาจไม่สบอารมณ์ ปฏิเสธ หรือหลีกหนีทั้งภายนอกและภายในตัวเอง
ความขัดแย้งคือของขวัญที่ห่อด้วยไฟร้อน หากเรากล้าแกะห่อของขวัญนี้ออกมาดู เราจะพบกับความงดงามของสิ่งที่อยู่ภายใน เราอาจจะพบใจของกันและกันที่ต้องหุ้มห่อหรือปกป้องปิดบังอย่างเหนื่อยหน่ายและหวาดกลัว เพียงแต่กลับมาทำงานกับตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เราเชื่อและห่วงใย รวมทั้งเปิดใจรับฟังรับรู้ความเป็นไปในชีวิตของผู้อื่นให้มากขึ้น
โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มีนาคม 2555
ทุกวันนี้ความสุขของมนุษย์ได้ถูกฝากอิงไว้กับสิ่งสมมติมากมาย บ้างก็ยากที่จะหา บ้างก็ยากที่จะรักษาให้คงอยู่ แต่ก็แสดงถึงศักยภาพประการหนึ่งของมนุษย์ได้ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือการ “ให้ความหมาย” ต่อสิ่งต่างๆ มนุษย์สามารถที่จะกำหนด “สัญญลักษณ์” ให้กับวัตถุ คน กิจกรรม ฯลฯ และขยายความหมายออกไปจากเนื้อหาเดิมได้อย่างมากมาย เป็น “ความฉลาด” อีกประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องความพร่องของวจนภาษา ในการสื่ออะไรบางอย่างที่ยากจะจับต้องหรือเข้าใจ เช่น มิติทางอารมณ์ ทางจิต ทางเรื่องเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
สาเหตุที่เราต้องการตัวขยายความหมายนี้ก็น่าสนใจ บ้างเราก็ขยายเพื่อให้เกิดความสุข เช่น ดอกกุหลาบแดงในการแสดงความรัก บ้างเราก็ขยายเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางอารมณ์ จิตใจ เช่น พระพุทธรูป รูปบูชาต่างๆ เครื่องลาง เพื่อลบล้างความกลัว เพิ่มความมั่นใจ หรือความกล้า เช่น ตะกรุด ยันต์ รอยสักต่างๆ หรือแม้แต่เป็นตัวแทนของอารมณ์ความรู้สึกด้านลบก็มี เช่น การใส่ชุดไว้ทุกข์สีดำ สัญญลักษณ์ต่างๆ หากนำมารวมกันหลายประการ ผนวกกับกิจกรรม การกระทำอื่นๆ ก็จะกลายเป็นชุดพิธีกรรม ซึ่งยิ่งขยายความหมายออกไปจากเดิมให้มากขึ้นอีก
อาจจะเป็นเพราะความสุข หรือความทุกข์ของมนุษย์นั้น เป็น “ปฏิกิริยา” ผสมผสานของปัจจัยทั้งสภาวะภายใน และสภาวะภายนอก เราจะสุขหรือทุกข์ ก็เป็นสมดุลของปฏิกิริยา เป็นผลรวมจากการประสมกันของสิ่งเหล่านี้ หากมองเช่นนี้ มนุษย์เราก็มีเครื่องมือในการเยียวยา ในการรักษาสมดุลที่ทรงพลังมากอยู่ในตนเองนอกเหนือจากอาการ อาการแสดงของสมดุลภายในร่างกาย ความเจ็บ ความไข้ โรคาพยาธิต่างๆ มนุษย์สามารถดึงเอาปัจจัยภายนอกมาใช้ มาให้ความหมาย และก่อให้เกิดสมดุลใหม่ขึ้น
จะเห็นว่าจาก “คำ” ธรรมดาๆ พอเรานำมาเรียงร้อยต่อความ มีสัมผัส มีบังคับ เกิดเป็นบทกวี คำธรรมดาเหล่านั้นสามารถเสริมกัน และสร้างความหมาย ความรู้สึกใหม่ มากไปกว่าคุณสมบัติเดิมของคำเดี่ยวๆ บทกวีพอนำมาใส่ท่วงทำนอง จังหวะ เสียงสูงต่ำ ก็เกิดเป็นลำนำ เป็นเสียงดนตรี เป็นความสุนทรีย์ที่มากขึ้นไปอีก ลึกซึ้งมากขึ้นอีก และหากว่าคำก็ดี บทกวี บทเพลงก็ดี เล่าพรรณนาเป็นเรื่องราว เป็นชีวิต เป็นความจริง ความงาม ความดี สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นี้สามารถก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้คนจำนวนมากอย่างไร้ที่สิ้นสุด มนุษย์สามารถรับรู้ “เรื่องราว เรื่องเล่า” นำไปผสมผสานกับความรู้สึกนึกคิด คุณค่าของตนเอง และนำไปขยายต่อ ให้ความหมายต่อยอดไปเรื่อยๆ เปลี่ยนจากพลังงานศักย์ที่อยู่ในตัวตน กลายไปเป็นพลังงานจลน์ หรือเป็นการกระทำ พฤติกรรม กิจกรรม พิธีกรรมต่อๆ ไปได้อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกรับรู้อยู่ชั่วขณะแล้วก็จางหายไป แต่ส่วนหนึ่งจะถูกซึมซับและหล่อหลอม รวมกับตัวตนเดิมของแต่ละปัจเจก และกลายเป็นสมดุลใหม่ของคนๆ นั้นในที่สุด เป็นบุคลิกใหม่ แนวความคิด มีกรอบความคิดใหม่ รับรู้มุมมองต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้นจากเดิม
มนุษย์สามารถทำกิจกรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสำคัญมาก นั่นคือ “การเขียน การบันทึก” ซึ่งทำให้ความคิด จินตนาการ ความฝัน ของปัจเจกบุคคล ถูกถ่ายทอดต่อๆ ไปได้อย่างสมบูรณ์ คงอยู่ได้ยาวนานมากกว่าการถ่ายทอดเพียงคำพูด หรือคำบอกเล่าแต่เพียงอย่างเดียว
การอ่านเรื่องราว ความรู้ หรือแม้แต่ความคิดของผู้คน เสริมพลังให้แก่มนุษย์ และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันมาตลอด ที่ความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ ทั้งทางวัตถุ และจิตใจ ผูกพันกับพฤติกรรมการเขียน การบันทึกของบรรพบุรุษมาทุกยุคทุกสมัย แต่น่าเสียดายที่ไม่ว่าจะดูในแง่มุมใด ดูเหมือนว่าจำนวนคนอ่านจะมากกว่าจำนวนคนเขียนมากมายหลายเท่า จนเกิดความสงสัยเมื่อจินตนาการต่อไปว่า หากมนุษย์ทุกคนหันมาเขียน หันมาจดบันทึกกันให้มากขึ้น วิวัฒนาการของเราจะดำเนินไปในทิศทางใด
ในการจะเขียนเรื่อง บันทึกเรื่องนั้น ไม่เพียงแต่เราจะได้ “อ่าน” สิ่งที่เราเองเป็นคนเขียน แต่กระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการเขียนนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเกิดขึ้นต่อตัวผู้เขียนอยู่ตลอดเวลา ประโยชน์ส่วนนี้ คนที่อ่านแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่มีทางรับรู้ และยิ่งเป็นการเขียนโดย “รู้สติ” ยิ่งเกิดคุณูปการ
การเขียน แม้แต่การเขียนไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีสมาธิอะไรมาก แต่ปรากฏการณ์ที่ตัวอักษรได้ไหลลื่นลงมารวมเป็นคำ เป็นประโยค เป็นเรื่องราว เป็นสิ่งมหัศจรรย์ในตัวมันเอง เพราะเราเกิดสภาวะที่ “มองเห็นความคิด” (visualize thoughts) ซึ่งแต่เดิมความคิดนั้นจับต้องไม่ได้ เลื่อนลอย และพุ่งพล่านไปมาอย่างกำหนดทิศทางยาก กำหนดเรื่องราวก็ยาก มากันมากมาย ทั้งมีสาระและไม่มีสาระ แต่เมื่อเราเริ่มจัดการไหลของความคิดให้ออกมาทางปลายปากกา ดินสอ แป้นพิมพ์ เรื่องราวเหล่านี้ถูก “ชะลอลง” ในกระบวนการ และถูก “มองเห็น” ออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่เพียงเฉพาะความคิดเท่านั้นที่ถูกจัดทิศทางได้ แม้แต่ “ความรู้สึก” ก็เช่นกัน เมื่อเรื่องราว ความประทับใจ ความสุขทุกข์ อารมณ์ต่างๆ ถูกจัดทิศทางออกมาทางการบันทึก สิ่งเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียดอ่อนขึ้นในกระบวนการทั้งหมด
เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเรามาจากไหน เป็นใคร กำลังทำอะไร คิดอย่างไรและรู้สึกอย่างไร ไม่เพียงแค่ “รู้สึก” แต่ยัง “มองเห็น” ด้วยภาษาบรรยาย และพรรณนา ที่อยู่บนสื่อชนิดต่างๆ ได้ กระบวนการเยียวยาที่มหัศจรรย์เกิดขึ้นมาพร้อมกับการที่ “ชีวิต” ถูกเรียงร้อยเข้าด้วยกัน มีสาเหตุ มีการดำเนิน มีผลออกมาเชื่อมโยงกัน ความเข้าใจใหม่ที่เกิดขึ้นสามารถเป็นเสมือนการประสานแผล แก้อาการบาดเจ็บต่างๆ ลงได้
สังคมในปัจจุบัน ต้องการการเยียวยามากกว่าที่เราจะจินตนาการได้ เพราะบาดแผลนั้น มีทั้งทางกายภาพ และทางอารมณ์จิตใจ มีทั้งปัจเจกและแบบทุกข์ทั้งระบบ ทุกข์ทั้งนิเวศ เรากำลังต้องการโอสถทุกขนานโดยเร็วที่สุด ให้เรารอดจากการทำร้ายตนเองและการทำร้ายผู้อื่น บางทีลำนำชีวิต ความสุข และความทุกข์ของมนุษย์ ที่จะถูกบันทึกโดยการเขียน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยารักษาที่สังคมไทยกำลังต้องการอยู่อย่างมากอีกขนานหนึ่ง
โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 มีนาคม 2555
พระอาจารย์ญีมา ทรักปา รินโปเช (อ่าน นีมา ทรักปา) เจ้าอาวาสวัดลาตรี ในเมืองเดรเก แคว้นคาม ทิเบตตะวันออก เป็นพระอาจารย์ผู้สืบสายการปฏิบัติซกเช็น (Dzogchen) ซึ่งเป็นคำสอนสูงสุดของพุทธศาสนาทิเบตสายญิงมะและเพิน และเป็นการปฏิบัติที่ลัดสั้นและตัดตรงสู่การบรรลุธรรมในชาตินี้ คำสอนในสายนี้เป็นคำสอนที่ถ่ายทอดเฉพาะคุรุกับศิษย์เพียงแค่ไม่กี่คน มีการสืบสายกันมาอย่างไม่ขาดตอนหลายร้อยปี และเริ่มมีการนำออกมาสอนและเผยแพร่สู่สาธารณะทั่วโลกไม่นานมานี้
ผมได้มีโอกาสพบกับรินโปเชในเดือนที่ผ่านมา โดยรศ.ดร.กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ และมูลนิธิพันดารา นิมนต์ท่านมาสอนซกเช็นให้ในเมืองไทย คำสอนของท่านตรงเข้ามาสู่ใจของผมและเพื่อนๆ ทีมปลูกรักที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน แม้ว่าคณะของพวกเราจะพลาดโอกาสได้รับถ่ายทอดการปฏิบัติเบื้องต้นในปีนี้ (ซกเช็นระดับที่ ๑) เพียงแค่ได้รับฟังธรรมะจากท่าน ก็ปลุกจิตวิญญานของพวกเราให้ตื่นขึ้นแล้ว
ในคืนนั้น ณ ศูนย์ขทิรวัน หัวหิน ผมถามท่านว่าในระหว่างหนึ่งปีที่พวกเรายังไม่ได้พบกับท่าน เราควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อเตรียมตัวมาฝึกกับท่านอีก ท่านเมตตาตอบว่า ให้เราเริ่มจากการตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ แล้วบ่มเพาะความกรุณา (compassion) คือไม่นิ่งดูดายเวลาเห็นใครทุกข์ ให้เข้าไปช่วยเหลือ เหมือนกับที่เราจะช่วยเหลือตัวเอง เวลาตัวเองทุกข์
พวกเราได้รับคำสอนนี้ในเวลาใกล้ๆ กับที่เรามีประสบการณ์สูงสุดจากการอบรมของปลูกรัก น้องในทีมคนหนึ่งสะท้อนให้ฟังหลังการอบรมว่า เหมือนได้ผ่านหลักสูตรสอนความเป็นคน อันที่จริงเราอบรมเกี่ยวกับเรื่อง "การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" (transformational learning) ซึ่งมีเครื่องมือหลักคือ "การเอกซ์เรย์จิต" ที่คิดค้นโดย ศ.ดร.โรเบิร์ต คีแกน และ ลิซ่า ลาเฮ มุ่งเน้นการทำงานกับตัวเองเพื่อเปลี่ยนจิตให้มีขนาดใหญ่ขึ้น (เข้าใจตัวเอง คนอื่น และความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ มากขึ้น) สำหรับผมแล้ว เครื่องมือนี้เปรียบเสมือนกุญแจที่ไขประตูใจ ให้คนเข้าไปค้นพบกับความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่แล้วในตนเอง ทั้งความกลัวและความเปราะบาง ทั้งความปรารถนาและแรงจูงใจ
ผมได้มีโอกาสได้พบท่านรินโปเชอีกสองครั้งในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งท่านสอนว่า ซกเช็นเป็นการสอนที่ง่ายที่สุด ตรงที่สุด และไม่อาศัยกระบวนการอะไรซับซ้อนเลย คำสอนนี้ทำให้ผมกลับมาคิดทบทวนกับตัวเองว่า ที่ผ่านมาผมมักจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ซับซ้อนเกินไป (โดยนิสัยของตัวผมเอง) การทดลองทำแล้วทำอีก และการให้ข้อมูลย้อนกลับกันและกันในทีมงานปลูกรัก ก็เพื่อทำให้กระบวนการเรียนรู้ลดความเยิ่นเย้อ และง่ายที่สุด หลายครั้งเราสะท้อนกันแบบตรงๆ ด้วยความรักความห่วงใย ตัวอย่างเช่น บางทีผมออกแบบกระบวนการติดภาคทฤษฎีเกินไป ทีมทำงานภาคปฏิบัติสะท้อนกลับว่า ผมกลัวอะไรจึงทำให้ง่ายไม่ได้ มันก็เป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับที่ตรงเข้ามาที่ใจเลย ไม่ต้องอ้อมไปอ้อมมา
ผมได้รับความกรุณาจากเพื่อนร่วมงาน ไม่นิ่งดูดายเวลาผมติดขัด ช่วยเหลือกันจนผ่านมาได้ ผมพบว่า การให้ข้อมูลย้อนกลับด้วยความกรุณา (compassionate feedback) เป็นการเรียนรู้ที่ไร้กระบวนการ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การจัดกระบวนการเรียนรู้ของปลูกรักประสบความสำเร็จมากขึ้นๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของทีมจัดอบรมเองที่มีการให้และรับข้อมูลย้อนกลับกันเอง หรือในส่วนของผู้เข้าร่วมอบรมที่ได้มีโอกาสให้และรับข้อมูลย้อนกลับกันด้วยความกรุณา
คำสอนโบราณที่ว่า "เมื่อศิษย์พร้อม ครูก็ปรากฏ" แจ่มชัดมากขึ้น เมื่อคำสอนของรินโปเช ต่อยอดพอดีกันกับประสบการณ์การทำงานที่เพิ่งผ่านไป ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณค่าความเป็นมนุษย์อะไรบ้างที่เราตระหนักได้แล้ว ก็รักษาไว้ไม่ให้จางหายไป คุณค่าอะไรที่ยังไม่ตระหนัก ก็เรียนรู้เพิ่มเติม ความกรุณาที่มีอยู่ในใจของเรามีขอบเขตแค่ไหน ก็ขยายออกไปให้กว้างกว่าเดิม ลงมือช่วยเหลือให้มากกว่าเดิม
ผมได้มีโอกาสพบท่านอีกครั้ง ในวันที่มูลนิธิพันดารามีประชุมกรรมการเรื่องงานพระสถูป (พระศานติตารามหาสถูป) ส่วนตัวผมตั้งปณิธานไว้ว่า จะช่วยเหลือสนับสนุนการสร้างพระสถูปให้สำเร็จ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพในพุทธศาสนา ในวันนั้น ผมได้ฟังรินโปเชกล่าวถึงความหมายที่แท้ของพระสถูป ทำให้ผมเข้าใจอะไรมากขึ้นไปจากเดิมว่า ท่านเริ่มจากอธิบายว่า พระสถูปเริ่มสร้างแล้วในใจของพวกเราทุกคน เราเพียงแค่ทำให้พระสถูปนั้นปรากฏเป็นวัตถุที่มองเห็นได้ เพื่อยังประโยชน์ให้กับผู้ที่พบเห็น และยั่งยืนสู่คนรุ่นต่อๆ ไป
ท่านอธิบายว่า พระพุทธรูป คัมภีร์ และพระสถูป เป็นสิ่งแทนกาย วาจา ใจ ของพระพุทธเจ้า พระพุทธรูปสี่พระองค์จะประดิษฐานในพระสถูปแห่งนี้ พระพุทธรูปองค์แรกหมายถึง สุญญตา (Emptiness) อันเป็นพื้นที่ว่าง (space) ให้สรรพสิ่งปรากฏขึ้น พระพุทธรูปองค์ที่สอง หมายถึง แสงกระจ่าง อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของความว่าง เพราะความว่างที่แท้ไม่ได้ว่างแบบไม่มีอะไร แต่เป็นความว่างที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณาและศักยภาพของการก่อเกิดและปรากฏ ความเป็นไปได้ต่างๆ ของโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากๆ ที่เราคาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้ ต่างมีศักยภาพที่จะปรากฏได้ เช่น โลกเคลื่อนสู่ยุคใหม่ที่ไม่มีความรุนแรง ยุคที่คนมีจิตสำนึกใหม่ ยุคที่สิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลอย่างใส่ใจ เป็นต้น พระพุทธเจ้าองค์ที่สาม หมายถึง อุบายอันแยบยล หมายถึงการฝ่าฟันอุปสรรคด้วยอุบายต่างๆ การกล้าเผชิญความท้าทายต่างๆ การก่อเกิดและปรากฏใหม่ไม่ว่าจะเป็นสังคม ชีวิต หรือการงาน ต้องพบกับอุปสรรค ความท้าทาย และแรงเสียดทานทั้งสิ้น อุบายอันแยบยลจึงจะนำไปสู่การเอาชนะอุปสรรคได้
พระพุทธรูปองค์ที่สี่ หมายถึง การบรรลุผลอย่างสมบูรณ์ ในพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก่อนหน้านี้เป็นตัวแทนของคุณภาพภายในทั้งหมด ส่วนพระพุทธรูปองค์ที่สี่นี้ เป็นตัวแทนของการมาปรากฏในกายเนื้อของพระพุทธเจ้า ท่านเป็นตัวอย่างให้ผู้คนและเหล่าสรรพสัตว์ได้ปฏิบัติตาม จนถึงซึ่งการหลุดพ้น แล้วท่านก็จากไป เช่นเดียวกับสัตว์โลกทั้งหลาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นอนิจจัง
ผมฟังท่านเล่าความหมายของพระพุทธรูปแต่ละองค์ด้วยความสนใจ ช่างเป็นคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่งดงามที่สุดที่ผมเคยได้ยินมา ผมเชื่อมโยงกลับมาที่การอบรมเรื่องการเปลี่ยนแปลงจิตใจของคน ศักยภาพของการเปลี่ยนแปลงมีอยู่แล้วใจของทุกคน เพียงแค่ภายในใจมีที่ว่าง พลังของศักยภาพการเปลี่ยนแปลงก็จะฉายแสงออกมา และเมื่อผสานกับความรักความกรุณา กลายเป็นความมุ่งมั่นที่จะเผชิญความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลง เมื่อมุ่งมั่นอย่างมีพลัง ก็ลงมือทำต่างอย่างมีอุบาย แยบยล ไม่ทำแบบตกร่องนิสัยเดิมๆ ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงจิตใจตนเองก็จะปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดกับตัวเองและทุกๆ คน การเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดจึงยังประโยชน์ให้กับคนอื่นต่อไปได้ ด้วยการแสดงให้คนอื่นเห็นเป็นตัวอย่าง แล้วคนอื่นปรารถนาจะเปลี่ยนตาม นี่คือผู้นำที่ดีที่สุดที่ทุกคนจะเป็นได้ ก่อนตายจากโลกนี้ไป
รินโปเชบอกกับพวกเราว่า พระสถูปเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้คนที่ร่วมกันสร้าง และผู้คนที่มาศึกษาเรียนรู้ความหมายที่แท้ของพระพุทธรูปแต่ละองค์ในพระสถูปแห่งนี้ ผมพบว่าการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ยังมีอะไรให้ค้นพบอีกมากมาย เพียงเราเปิดใจให้กว้างเข้าสู่โลกภายใน นำพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงจากภายในออกไปช่วยเหลือคนอื่น ผมเชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงประทานพรให้กับทุกคนและสรรพสัตว์บนโลกใบนี้ และพรนั้นจะนำความสำเร็จมาสู่คนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายใน
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มีนาคม 2555
เพื่อนรักผมคนหนึ่งเรียนไดอะล็อคกับผมเมื่อหกเจ็ดปีที่แล้ว ก็เหมือนกับได้คัมภีร์กำลังภายในไปครึ่งเล่ม แต่จะว่าไป เมื่อหกเจ็ดปีที่แล้ว ผมก็ไม่ได้กั๊กคัมภีร์อีกครึ่งเล่มไว้หรอก เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้คลอดออกมา ผมเองก็เรียนจากการอ่านสุดยอดคัมภีร์ของโลกตะวันตก แล้วเอามา "ปฏิบัติ" จนเกิดปัญญาปฏิบัติ แล้วค่อยๆ ก่อรูปเป็นศิลปวิทยาการ หรือศิลปศาสตร์ จากนั้นจึงนำมาถ่ายทอดสู่ผู้คนที่สนใจ
สิ่งที่ขาดหายไปในคัมภีร์ครึ่งแรก
ที่จริงหากปฏิบัติคัมภีร์ครึ่งแรกอย่างจริงจัง ผู้ปฏิบัติก็อาจได้มรรคผลเช่นเดียวกับคนที่ได้คัมภีร์เต็มเล่มเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะอ้อมไปหน่อย ยาวไกลไปหน่อย พอต้องเดินไกลๆ หลายคนก็อาจจะท้อและหยุดเดินไป อีกประการหนึ่ง ในระหว่างเส้นทางเดินนั้น จะมีอุปสรรคใหญ่หลวงมากมายหลากหลายขวางกั้นอยู่ อันยากที่จะฟันฝ่าไปได้
ส่วนคัมภีร์ครึ่งหลังนั้น เปรียบเหมือน "ทางลัด" ที่นำพาผู้คนข้ามอุปสรรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และเส้นทางก็ตรงขึ้น เสียเวลาน้อยลง ความสำเร็จที่ได้มาระหว่างทางก็จะหล่อเลี้ยงขวัญกำลังใจ ทำให้โอกาสเดินทางได้ตลอดรอดฝั่งมีมากขึ้น
สิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์ครึ่งหลัง
สิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์ครึ่งหลังแต่ไม่มีอยู่ในคัมภีร์ครึ่งแรก ได้แก่
หนึ่ง ความเข้าใจในเรื่อง "คนอื่น" ใหม่ทั้งหมดว่า ชีวิตไม่มีพระเอกผู้ร้าย ไม่มีศัตรู ไม่มีปฏิปักษ์ บางครั้งบางคนอาจจะดูเหมือนเป็นปฏิปักษ์ แต่ที่จริงแล้ว เขาเพียงสวมบทบาทเฉพาะกาลเหมือนผีเข้า ผี หรือ spirit เข้ามาและออกไป อาร์โนลด์ มินเดล เรียกมันว่า time spirit เมื่อมัน "ดูเหมือน" เป็นปฏิปักษ์ แต่ที่จริงไม่ได้เป็น มันมาแล้วก็จากไป มาเพียงชั่วขณะหนึ่งๆ กาละหนึ่งๆ คนๆ นั้นไม่ได้เป็นผีตัวนั้น และผีตัวนั้นก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอย่างยั่งยืน แต่เขามาเพื่อปรับเปลี่ยนท่าที กระบวนความคิด ความรู้สึกให้เรา ชุมชน เครือข่าย หรือสังคม เพียงแต่เราต้องเปิดใจรับเท่านั้น
สอง คนในองค์กร หน่วยงาน เครือข่าย หรือสังคม มักจะไม่พูดกันตรงๆ กับคนที่เห็นท่าจะพูดกันยาก หรือบางทีก็พูดผ่านคนอื่น หรือไม่ก็นินทาลับหลังไปเสียเลย คือไม่สื่อสารกันตรงๆ ไม่พูดความจริงจากใจลึกๆ ให้แก่กัน เพราะกลัวความขัดแย้ง หรือคิดว่าพูดไปก็ไม่เป็นประโยชน์ อาจจะคิดว่า อีกคนไม่มีสติปัญญาพอ หรือไม่เป็นคนดีพอที่เราจะพูดด้วย เรื่องนี้เป็นกันมาก เรียกได้ว่าเป็นกันเกือบทุกผู้ทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ในทุกๆ องค์กร หน่วยงาน เครือข่าย และสังคม
สิ่งที่จะมีมาในคัมภีร์ครึ่งหลัง ก็คือ "การพูดความจริงจากส่วนลึก" ซึ่งผู้พูดจะต้องมีศรัทธาในความดีงาม ในสติปัญญาของคนที่จะฟัง หากไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อมั่น เราจะไม่อยากพูดความจริง เพราะเราไม่คิดว่าเขาหรือพวกเขาจะรับได้ หรือหากพูดออกมา อาจจะเกิดผลเลวร้ายตามมา
อีกประการหนึ่ง ที่จะทำให้เราไม่พูดออกมาจากส่วนลึก คือความกล้าของเราเอง เพราะส่วนใหญ่ เราจะดำรงชีวิตอยู่ด้วย "ความกลัว" เราไม่ค่อยได้บ่มเพาะความกล้ากันเท่าไร ยิ่งในองค์กรเต็มไปด้วยความกลัวเท่าไร คนยิ่งไม่พูดกันเท่านั้น
สาม ลำดับขั้นพัฒนาการขององค์กร เครือข่าย หรือสังคมนั้นๆ ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นมา หรือวัฒนธรรมองค์กร หรือสังคมนั้นๆ ยังอยู่ในลำดับขั้นต่ำๆ อันนี้เป็น s ตัวหนึ่งใน s สามตัวของ เคน วิลเบอร์ คือตัว s ที่เป็น stages# หรือแปลตรงๆ ว่าลำดับขั้นต่างๆ ของพัฒนาการทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น สังคมศักดินา (สีน้ำเงิน) สังคมสมัยใหม่ (สีส้ม) เหล่านี้เป็นสังคมในระดับวิทยาศาสตร์เก่า ตรงทื่อ ทำลายล้างได้มากด้วย ก่อนมาเป็นสังคมนิเวศ (สีเขียว) และมาเป็นสังคมจิตวิญญาณ (สีฟ้า)
สี่ คัมภีร์ครึ่งแรกจะเน้นการปฏิบัติสมาธิแบบสมถะ เน้นเอาความสงบ แต่มันเป็น s ตัวแรกของวิลเบอร์ คือ state หรือ สภาวะจิต ซึ่งเหมือนกับก้อนเมฆที่ลอยไปลอยมา มันไม่มั่งคง ไม่อาจดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ หากไม่ทำงานกับ s ตัวสุดท้ายคือ shadow คือเงามืดที่ทาบทับชีวิตของเราเอาไว้ หรือปมต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในจิตของเราลึกๆ เราจะมีสติ มีสมาธิอยู่ได้ไม่นาน ไม่มั่นคง เกิดๆ ดับๆ
เราต้องทำงานกับจิตส่วนลึกของเรา จะเรียกว่าจิตใต้สำนึกในสำนักของฟรอยด์ หรือจะเรียกว่าจิตไร้สำนึกในสำนักของ คาร์ล จุง ก็แล้วแต่ เพราะในจิตส่วนลึกนี้ มีปมต่างๆ นอนก้นอยู่ มีบาดแผลของชีวิตต่างๆ หลบซ่อนอยู่ หากยังไม่คลี่คลาย มันจะผุดขึ้นมาเล่นงานเราได้เรื่อยๆ ไป ตรงนี้เราต้องปฏิบัติธรรมระดับวิปัสสนา ซึ่งผมนำเอาจิตวิทยาเชิงลึกของสาย คาร์ล จุง เข้ามาให้ผู้คนได้เรียนรู้ที่จะเยียวยาตัวเอง จากสองครอบครัวที่เป็นศิษย์สาย คาร์ล จุง คือครอบครัวสโตน (ดร.ฮัล และซิดรา สโตน) และครอบครัวมินเดล ดังที่ปรากฏในค่ายเรียนรู้ของ "อิสระในความสัมพันธ์" และใน "จิตวิทยากระบวนการ" เป็นต้น
ห้า เรื่องนี้คงไม่เรียกว่าเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในคัมภีร์ครึ่งแรกเสียทีเดียว คือมีอยู่ แต่ได้มีการเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์ทรงพลังยิ่งขึ้นในครึ่งหลัง ได้แก่ "ความเนียน" ของตัวกระบวนการ คือความเป็น how to หรือวิธีการ หรือพิธีการ ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็น "วิถี" มากขึ้น
คำว่าวิถีในที่นี้คือ มันลงไปกลมกลืนกับความเป็นเนื้อเป็นตัวมากขึ้น ไม่ได้ดำรงอยู่เพียงในระดับความคิด หากลงลึกไปถึงความรู้สึก จิตใจ แรงบันดาลใจ และเจตจำนง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือมันได้ลงไปในความเป็นจริงระดับเซลล์ หรือระดับสนามควอมตัมของชีวิต
มีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งเคยสะท้อนว่า เธอเคยเข้าค่ายเรียนรู้ของหลายสำนักในสายจิตตปัญญา เธอว่าส่วนใหญ่กระบวนการจะไม่เนียนเท่าไร เหมือนๆ จะแยกกันอยู่ระหว่างกระบวนการกับเนื้อหา เธออาจจะได้ถ้อยคำถ้อยความบางอย่างในเนื้อหาที่สะกิดใจ แต่ตัวกระบวนการยังแข็งๆ อยู่ พอได้มาเข้าค่ายของผม เธอรู้สึกว่า เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว รู้สึกผ่อนคลายมาก แต่การเรียนรู้ก็เป็นไปอย่างเข้มข้นด้วย บางทีไม่สามารถระบุเป็นถ้อยคำได้ แต่รู้ว่าลึกๆ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว
เมื่อได้ฟังเธอ ผมรู้สึกกับคำว่า "ผ่อนคลาย" หลายสำนักให้ความสำคัญกับคำๆ นี้ แต่แล้วหลายที่ก็อดใจไว้ไม่ได้ ที่อยากจะให้ได้เรียนรู้เยอะๆ ในเชิงปริมาณ หรือพยายามขับดันให้คนได้บรรลุถึงการเรียนรู้บางอย่างที่คาดหวัง ความอยากมากๆ เหล่านี้อาจจะมีผลต่อ "ความผ่อนคลาย" ที่ว่า
แต่ "ผ่อนคลาย" ในที่นี้ก็ไม่ใช่ผ่อนคลายไปเลยจนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนเป็นเพียงปาร์ตี้ที่ไม่ต้องการสาระอะไรครั้งหนึ่ง แต่เป็น open but charged ของ พาร์คเกอร์ เจ พาล์มเมอร์ มากกว่า คือให้เป็นวง "เปิด" แต่ก็ "เข้มข้น" แล้วการ "เปิด" อย่าง "เข้มข้น" นี้จะเป็นวิถีของผู้นำกระบวนการได้อย่างไร!!!
หก จุดมุ่งหมายของการพัฒนาคนในสายจิตวิทยาของ คาร์ล จุง จะอยู่ที่ wholeness หรือ ความครบครัน หรือความครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ในทุกๆ เสี้ยวส่วน เพื่อก่อประกอบขึ้นเป็นองค์รวมที่ครบครัน
ถ้าพูดถึงประชาธิปไตยก็จะต้องฟังเสียงทุกๆ เสียง ไม่ใช่ประชาธิปไตยของเสียงส่วนใหญ่ แต่จะต้องฟังเสียงทุกๆ เสียง และให้เสียงทุกเสียงเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อประกอบความเป็นไปในอนาคตร่วมกัน แม้กระทั่งเสียงของผู้คนที่ไม่ได้เข้ามาร่วมอยู่ในเวทีนั้นๆ
และที่จริงเสียงทุกเสียงของผู้คนภายนอก ก็ดำรงอยู่ในตัวเราด้วยอย่างครบครันในจิตไร้สำนึก ทั้งนี้เพราะปัจเจกและสมุหะ (individual and collective) ก็โยงใยเป็นหนึ่งเดียวกันในจิตไร้สำนึกนั้นเอง
ในการพัฒนาไปสู่ความครบครันนี้ โดยไม่รู้ตัว เรา และสังคม (ไม่ว่าสังคมระดับใดก็ตาม ในครอบครัว หน่วยงาน หรือชาติรัฐ) จะผลักบางเสี้ยวส่วนออกไป หากโอบกอดเข้ามาได้ แม้จะรู้สึกขัดขืนอยู่บ้าง การโอบกอดเข้ามานั้น จะทำให้เราค่อยๆ เติบโตสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ได้อย่างน่าอัศจรรย์!!!