สิงหาคม 2016

สังคม(ไม่)ปลอดเชื้อ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2559

ผมเพิ่งกลับจากแคนาดาไปอบรมหลักสูตร Theatre for Living ซึ่งเป็นการใช้กระบวนการละครเพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาวะ ระหว่างการอบรมได้สนทนากับเพื่อนฝูงร่วมชั้นเรียน และได้พบว่าประเทศแคนาดาที่เพิ่งถูกจัดให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกโดยกลุ่มประชากรมิลเลนเนียล (อายุระหว่าง ๑๘ ถึง ๓๕ ปี)* ก็มีเรื่องเลวร้ายที่ไม่น่าเชื่อซุกซ่อนอยู่เช่นกัน

ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙ รัฐบาลแคนาดาได้ออกกฎให้เด็กชาวอินเดียนแดงซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของแคนาดาทุกคนจะต้องไปเข้าโรงเรียนซึ่งจัดตั้งขึ้นร่วมกับองค์กรศาสนาคริสต์ ในโรงเรียนดังกล่าวนักเรียนชาวอินเดียนแดงจะถูกห้ามไม่ให้พูดภาษาของตัวเอง ห้ามดำเนินพิธีกรรมใดๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมของตนเอง และที่สำคัญเด็กจะถูกนำออกจากชุมชนของตนเองไปอยู่ยังโรงเรียนประจำ

“โรงเรียนขโมยเด็ก” คำของแมนนี่ปรากฏขึ้นในใจ

นักวิชาการบางคนเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม” และที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ มีรายงานมากมายในปัจจุบันที่ยืนยันได้ว่า เด็กอินเดียนแดงที่ถูกบังคับให้เข้าโรงเรียนเหล่านั้นถูกละเมิดและถูกทำทารุณกรรมจนตายไปมากกว่า ๖,๐๐๐ คน ที่น่าแปลกใจก็คือ โรงเรียนประจำแห่งสุดท้ายเพิ่งถูกปิดไปเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๖ หรือเมื่อ ๒๐ ที่แล้วนี่เอง เร็วๆ นี้ทางรัฐบาลแคนาดาเพิ่งออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการในเรื่องดังกล่าว แต่หลายๆ คนกลับรู้สึกว่ารัฐบาลทำน้อยไปและสายเกินไป

ที่ผมพูดเรื่องนี้ก็เพราะว่า ภายใต้สังคมที่ดูมีความสงบสุขของแคนาดานั้น มีเรื่องที่เป็นเหมือนผีร้ายที่ตามหลอกหลอนทุกๆ คนในสังคมอยู่ อย่างน้อยก็ในระดับจิตใต้สำนึก นอกจากนั้นบรรดาผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวก็ยังมีชีวิตอยู่ในสังคมโดยแบกเอาประสบการณ์เลวร้ายนั้นเอาไว้กับตัว ไม่ได้หายไปไหน ถ้าเราเชื่อเรื่องการพึ่งพาอาศัยกันและกันลึกลงไปถึงระดับจิตใจ อย่างที่ยุงพูดถึงเรื่องจิตใต้สำนึกรวมหมู่ของสังคม (Collective Unconscious) เราคงจะเห็นได้ว่ามันเป็นเหมือนกับสารกัมมันตรังสีที่แผ่เอารังสีร้ายออกมาตลอดเวลา

อ่านต่อ »

เป็นมิตรกับความเครียด



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2559

ความเครียดเป็นปัญหาสำคัญของคนในยุคนี้ มันไม่เพียงส่งผลต่อจิตใจเท่านั้น หากยังเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย มีการศึกษาพบว่าร้อยละ ๕๐-๗๕ ของความเจ็บป่วยที่ผลักดันให้ผู้คนไปหาหมอนั้นสืบเนื่องจากความเครียด ใช่แต่เท่านั้นเมื่อพิจารณาจากสาเหตุการตายแล้ว กล่าวได้ว่าความเครียดเป็นภัยที่ร้ายแรงกว่าเหล้าหรือบุหรี่เสียอีก

อย่างไรก็ตาม ความเครียดมิใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมด ความเครียดหากอยู่ในระดับพอประมาณก็ส่งผลดีได้ เช่น กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เป็นที่รู้กันว่าหากเรียนแบบสบายๆ ไม่มีการบ้านยากๆ หรือฝึกทำสิ่งที่แปลกใหม่ไม่คุ้นเคย ( พูดง่ายๆ คือ ถ้าไม่ออกจาก “ไข่แดง” เสียบ้าง) พัฒนาการในทางสติปัญญาหรือทักษะก็เกิดขึ้นได้ยาก ในทำนองเดียวกันความเครียดที่เกิดจากเส้นตายหรือการแข่งขัน นอกจากไม่เป็นโทษแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการงานด้วย ทำให้ผู้คนเอาศักยภาพที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่

แนวคิดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันแนวคิดนี้กำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้น งานวิจัยล่าสุดชี้ว่าสิ่งสำคัญมิได้อยู่ที่ระดับความเครียด แต่อยู่ที่มุมมองของเราที่มีต่อความเครียดต่างหาก ความเครียดอย่างเดียวกัน หากเรามองมันต่างกัน ปฏิกิริยาในร่างกายก็ออกมาต่างกัน ทำให้มีผลต่อสุขภาพและการทำงานต่างกันไปด้วย

เป็นที่รู้กันว่าเมื่อมีภัยคุกคาม คนเราจะมีปฏิกิริยาสองอย่าง คือ ไม่สู้ก็หนี ในภาวะดังกล่าวหัวใจจะเต้นเร็ว เส้นเลือดจะหดตัว เลือดจะถูกสูบฉีดเลือดไปยังกล้ามเนื้อมากขึ้น ขณะที่สมองจะจดจ่ออยู่กับภาพรวมและมองข้ามรายละเอียด ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เลวร้ายมาก และหากเรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นสิ่งท้าทายความสามารถ ร่างกายจะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน แม้หัวใจยังคงเต้นเร็ว แต่สมองจะคมชัดขึ้น และมีฮอร์โมนบางอย่างหลั่งออกมาเพื่อช่วยในการฟื้นตัวและการเรียนรู้ โดยเส้นเลือดยังคงเปิดกว้าง ในทางตรงข้าม แม้เจอสถานการณ์อย่างเดียวกัน (เช่น ทำข้อสอบ พูดในที่ชุมชน หรือเสนอแผนงาน) แต่เรามองว่ามันเป็นสิ่งเลวร้าย รู้สึกเหมือนกับว่ากำลังถูกกดดันบีบคั้น ร่างกายจะมีปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและงานที่กำลังทำอยู่

อ่านต่อ »

พลิกชีวิตด้วยนิวโรไซน์



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2559

เมื่อจิตเดิมแท้ถูกโจรสลัดปล้น

จิตเรานั้นเป็นจิตเดิมแท้ ส่องสว่าง สุข สงบ เบิกบาน เป็นธรรมชาติพื้นฐานอยู่แล้ว

แต่มีโจรสลัดสองพวก พวกแรกคือ โหมดค่าตั้งต้น ที่ดำเนินไปด้วยอัตโนมัติที่หลับใหล

เราจะต้องเข้าใจว่า สมองมีกลไกเพื่อให้ชีวิตของเราง่ายขึ้น สิ่งใดที่เราทำเป็นประจำ สมองจะช่วยจดจำ สร้างวงจรอัตโนมัติไว้ เพื่อให้เราทำงานง่ายขึ้นในครั้งต่อไป จนกลายเป็นวงจรอัตโนมัติ แต่เนื่องจากมันเป็นไปอย่างอัตโนมัติ มันจึงหลับใหล

ในอัตโนมัติที่หลับใหลนี้ สมองส่วนหน้าไม่ต้องตื่นขึ้นมาทำงาน เพราะสมองส่วนต่างๆ ดำเนินไปเอง ด้วยมีความจำของวงจรอัตโนมัติอยู่ สมองจึงแทบไม่ค่อยรับรู้เรื่องราวใหม่ๆ หากแต่ดาวน์โหลดการรับรู้เดิมๆ มา ดังนั้นการรับรู้จึงเป็นเพียงการประมาณการ และโน้มเอียงที่จะนำอคติเดิมๆ เข้ามาก่อประกอบ หากเราทำงานอยู่ในโหมดอัตโนมัติที่หลับใหล หรือโหมดค่าตั้งต้น มันจะอยู่ในความคุ้นชินเดิมๆ เหมือนเราเดินละเมอ เหมือนเราใช้ชีวิตอย่างหลับใหล ไม่ตื่น อยู่แต่ในกล่อง ไม่ออกไปนอกกล่อง ชีวิตจึงไม่มีการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเอง

โจรสลัดพวกที่สอง คือทรอม่า หรือปม หรือบาดแผลในอดีต โดยเฉพาะในวัยเยาว์

เวลาเกิดทรอม่า คือเมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบจิตใจอย่างรุนแรง ท่วมท้นเกินกว่าจิตใจจะรับได้ มันจะเกิดอาการช็อก สมองส่วนที่ใช้ในการพูดซึ่งเป็นสมองส่วนเดียวกับที่ใช้ในการประมวลผลจะหยุดทำงาน คลิปวิดีโอของการรับรู้ต่างๆ เลยไม่ก่อประกอบเป็นประสบการณ์ แต่เป็นเศษเสี้ยวความทรงจำต่างๆ ที่ไร้ความหมาย โดยสมองจะบันทึกไว้นอกเหนือจากระบบความทรงจำปกติ ทำให้เสี้ยวเศษความทรงจำเหล่านี้กลายเป็นโจรสลัดคอยปล้นสะดมความเป็นปกติและความแจ่มใสของจิตใจพื้นฐานไปครั้งแล้วครั้งเล่า

อ่านต่อ »

ชุมชนราชทรัพย์: กลุ่มผู้หญิงและการพัฒนาแบบนำร่วมในพื้นที่เมือง



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2559

พื้นที่เมืองเป็นศูนย์รวมของเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา เทคโนโลยี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง เมืองเป็นแหล่งรวม “ความเจริญ” ทางวัตถุ พร้อมกับเป็นแหล่งรวมของปัญหาหลากหลายรูปแบบ วิถีชีวิตของผู้คนในเมืองต่างเร่งรีบ มีความเป็นปัจเจกสูง ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่เมือง

ในพื้นที่เมืองผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างไร มีหลักคุณธรรมหรือชุดคุณค่าอะไร ที่ยึดโยงผู้คนให้อยู่ร่วมกันได้ จากคำถามนี้นำมาสู่การทำ “โครงการศึกษากระบวนการพัฒนาชุมชนเมือง: ชุมชนราชทรัพย์ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร” โดยทีมวิจัยและจัดการความรู้ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยมองผ่านบทเรียนของชุมชนราชทรัพย์ ชุมชนเมืองที่มีประสบการณ์ในการทำงานพัฒนามาอย่างเข้มข้น

ชุมชนราชทรัพย์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางโพ พื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และนนทบุรี วันที่พวกเราเข้าไป ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เขตบางซื่อ มาจัดโครงการฝึกอบรมทำน้ำหมักชีวภาพในชุมชน คุณรุจิรัตน์ หาญรวีกุลนันท์ หรือพี่แหม่ม ประธานชุมชนราชทรัพย์ และคุณธนิดา ทองสุข หรือพี่ปิ๋ว ประธานกลุ่มแม่บ้าน พร้อมกับสมาชิกกลุ่มกำลังเตรียมสถานที่ และอาหารอย่างขะมักเขม้นที่ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน

เมื่อถึงเวลานัด พี่แหม่ม และพี่ปิ๋วเดินมานั่งล้อมวงพร้อมพูดคุย พวกเราเริ่มจากนำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนที่เขียนเป็นเส้นเวลา (Timeline) มาเป็นสื่อกลางชวนคุย ซึ่งข้อมูลส่วนมากเป็นมุมมอง “คนนอก” ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนราชทรัพย์ การสนทนาในครั้งนี้พวกเราจึงตั้งใจว่าจะรับฟังเรื่องเล่าที่มาจากแง่มุมของ “คนใน” ชุมชนอีกทางหนึ่ง

ชุมชนราชทรัพย์เริ่มก่อรูปขึ้นมาในทศวรรษที่ ๒๕๒๐ พี่แหม่ม และพี่ปิ๋วเล่าว่า ผู้คนในชุมชนมาจากหลายพื้นที่ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนช่วงแรกเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ แบ่งตามพื้นที่ในซอย เป็นต้นซอย กลางซอย ท้ายซอย “สัญญาณ” ของความเป็นชุมชน เริ่มจากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๒๖ ที่ท่วมมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายซอย จนถึงถนนใหญ่หน้าปากซอยนานเป็นเดือน คนในชุมชนจึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสะพานไม้ เพื่อใช้เป็นทางเดินในชุมชน และชุมชนยังเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี ๒๕๓๘ ซึ่งนอกจากทำสะพานไม้ใช้เดินทางในชุมชนแล้ว ชาวชุมชนท้ายซอยยังร่วมกันทำแนวกันน้ำจากแม่น้ำด้วย

อ่านต่อ »

Back to Top