ตุลาคม 2009

การให้การศึกษาพลเมืองโลก
(Educating the World Citizens)



โดย อนุชาติ พวงสำลี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2552

เมื่อวันที่ ๘-๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมประชุมเรื่อง “การให้การศึกษาพลเมืองโลกสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ (Educating the World Citizens for the 21st Century)” ที่ DAR Constitution Hall ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จัดโดย Mind & Life Institute และมีองค์กรร่วมจัดเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงในสหรัฐอเมริการจำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สแตนฟอร์ด เพนซิลวาเนีย วิสเคาซิล-แมดิสัน จอร์จ วอชิงตัน มิชิแกน และสมาคมจิตวิทยาอเมริกา เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๒ พันคน

การจัดประชุมเป็นไปอย่างเรียบง่าย แบ่งเป็นการสนทนาในภาคเช้าและภาคบ่าย รวมเป็น ๔ ช่วง แต่ความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ นอกจากองค์ดาไล ลามะ ซึ่งเข้าร่วมประชุมและเป็นผู้ร่วมสนทนาตลอดการประชุมแล้ว ผู้เข้าร่วมสนทนาในแต่ละช่วง ยังประกอบด้วย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักบวช นักพัฒนา และครูอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานระดับโลก ซึ่งมีความร่วมมือกันในทางวิชาการมาเป็นระยะเวลายาวนาน

คำถามสำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือ ข้อท้าทายที่ว่าระบบการศึกษาหรือระบบการเรียนรู้ในปัจจุบันจะสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างไร? เราจะสามารถจัดการศึกษาหรือกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความเมตตากรุณา (Compassion) มีสมรรถนะ (Competent) มีจริยธรรม (Ethic) และเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม (Engaged Citizens) ในท่ามกลางพัฒนาการของโลกและสังคม ที่มีความสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงไร้พรมแดนกันได้อย่างไร?

ฐานคิดและความเชื่อของการประชุมนี้ เล็งเห็นว่าการสร้างพลเมืองแห่งอนาคตนั้น มิสามารถวัดได้ด้วยความรู้และทักษะ (Cognitive Skills and Knowledge) เพียงเท่านั้น แต่เราต้องสร้างเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งกาย ใจ และสมอง ให้เพียบพร้อมด้วย ทักษะเชิงอารมณ์ สังคม และความมีคุณธรรม ซึ่งโดยรวมๆ เรียกว่า กระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญศึกษา (Contemplative Practices)

การสนทนาในช่วงแรก เริ่มจากวิสัยทัศน์หรือมุมมองต่อการพัฒนาพลเมืองของโลก ซึ่งผู้เข้าร่วมสนทนาต่างเห็นพ้องกันว่า เยาวชนพลเมืองของโลกกำลังตกอยู่ในสภาวะที่เลวร้ายจากสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ปัญหาความรุนแรง สมคราม ความขัดแย้ง ระบบการแข่งขันที่เร่งเร้าความแตกแยกทั้งในด้านเชื้อชาติ สีผิว และฐานะทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาเอง พบว่าความรุนแรงต่อเยาวชนทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เพิ่มสูงขึ้นถึง ๓ เท่า เยาวชนในสหรัฐอเมริกากว่าร้อยละ ๖๐ กำลังตกอยู่ในสถานะล่อแหลมต่อความรุนแรง ปัญหาดังกล่าวจึงนับเป็นความน่าห่วงใยในอนาคตของสังคมโลกเป็นอย่างมาก

องค์ดาไล ลามะ แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวังและความรับผิดชอบต่อสังคม เราต้องสร้างระบบการศึกษาที่เติมเต็มด้วยความเมตตากรุณา (Education with Compassion) การศึกษาต้องสร้างให้คนมีความสุขด้านในอย่างแท้จริง (Truly Inner Happiness) ดังนั้น ในการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ ครู-อาจารย์ จึงมีบทบาทที่สำคัญมาก ครู-อาจารย์ต้องมี สติ (Mindfulness) มี ความเมตตากรุณา (Compassion) ในการพัฒนาปัญญา ในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ครูและนักเรียนต้องสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน โดยนัยนี้ การเตรียมความพร้อมของครู-อาจารย์ จึงนับเป็นหัวใจของการจัดการศึกษาเพื่ออนาคต

ในช่วงที่สอง ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง ความจดจ่อ (Attention) การควบคุมอารมณ์ (Emotion Regulation) และการเรียนรู้ (Learning) วิทยากรซึ่งเป็นจิตแพทย์ชี้ให้เห็นว่า ความมุ่งมั่นและการควบคุมอารมณ์มีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก หากเด็กมีภาวะอารมณ์ที่เป็นเชิงลบ มีอารมณ์โกรธที่มากเกินไป จะทำลายศักยภาพและความเมตตากรุณาในตน การสอนเยาวชนให้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์จึงมีความสำคัญมาก ซึ่งในเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการศึกษาถึงพัฒนาการของมนุษย์ ที่จะทำให้เข้าใจว่าพัฒนาการของร่างกายและสมองในช่วงใด ควรใส่การเรียนรู้ด้านจิตตปัญญาอย่างไรที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเยาวชน

นอกจากในเรื่องพัฒนาการของร่างกายและสมองของเด็กแล้ว นักการศึกษาอีกท่านยังชี้ให้เห็นว่า ความมั่นคง (Security) และความสัมพันธ์ในกระบวนการเรียนรู้ (Relationship in Learning) ก็นับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน หน้าที่ของครู คือการสร้างสำนึกของความรับผิดชอบ ความครุ่นคำนึง การเปิดใจ ความอดทน อุดมคติ เป้าหมายเชิงบวก และแรงจูงใจ เด็กจึงเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการการบ่มเพาะ รดน้ำพรวนดินอย่างดี ความรู้ว่าด้วยพัฒนาการของเด็ก (Child Development) จึงมีความสำคัญในการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ (มิใช่เพียงคำนึงถึงแต่เนื้อหาทางวิชาการ – ผู้เขียน) เช่นเดียวกับความร่วมมือและทำงานร่วมกับชุมชน มีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมากมายของการจัดการศึกษาในแนวใหม่นี้ เช่น การนำโยคะ ห้องเงียบ สมาธิภาวนา มุมส่วนตัว การฝึกสติ การฝึกความเมตตากรุณา เข้าไปสอดแทรกในกระบวนการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่างๆ เป็นต้น

ในช่วงที่สาม ลงลึกในส่วนของความเมตตากรุณา (Compassion) และความเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) วิทยากรในช่วงนี้อธิบายว่า แนวทางจิตตปัญญา (Contemplative Practices) มีความสำคัญต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของพลเมืองและสังคม กระบวนการศึกษาต้องสร้างความเอาใจเขามาใส่ใจเราให้เกิดขึ้นในหัวใจของคน ซึ่งจะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) ในเพื่อนมนุษย์ การทำงานในเรื่องนี้จำต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นระบบถึงปัจจัยแวดล้อมของแต่ละคน (Personal Environment) ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (Emotion Regulation) พันธุกรรม (Genetics) ตลอดจน อารมณ์ทางสังคม (Social Emotion)

นอกจากนี้ วิทยากรยังได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาครู-อาจารย์ อย่างมาก ปัจจุบัน ครู-อาจารย์ อยู่ในภาวะที่เครียดเกินไปที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เรียกร้องได้ ครู-อาจารย์ ไม่สามารถจัดการสมดุลต่างๆ ได้อย่างดี ครู-อาจารย์ ต้องได้รับการพัฒนาชีวิตด้านใน (Inner Life) ให้เข้มแข็งทั้ง กาย ใจ และจิตวิญญาณ การปฏิบัติภาวนาและการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Practices) จึงมีบทบาทที่สำคัญมากในการเตรียมความพร้อมและความเข้มแข็งของครู-อาจารย์ อย่างไรก็ตาม ท่านมาติเยอ ริการ์ นักบวชสายทิเบตชาวฝรั่งเศส ซึ่งร่วมอยู่ในวงสนทนาด้วย ก็ได้ตอกย้ำไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเราสนใจเรื่องความเมตตากรุณาและความรัก (Compassion and Love) ที่อยู่ในระดับชีววิทยาหรือร่างกายเท่านั้น คงจะไม่เพียงพอและยั่งยืน แต่เราต้องสนใจในการสร้างความเมตตากรุณาและความรักที่มาและเกิดขึ้นจากด้านในของมนุษย์อย่างแท้จริงด้วย

และในช่วงสุดท้าย เป็นบทบูรณาการและการมองทิศทางในอนาคต ศาสตราจารย์ลินดา คณบดีวิทยาลัยศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กล่าวว่า เราคงไม่สามรถทำเพียงแค่นำเรื่องปฏิบัติภาวนาหรือการนั่งสมาธิเข้าไปในระบบการศึกษาเฉยๆ เพราะระบบอาจจะยังไม่เอื้ออำนวย แต่เราต้องเน้นความสำคัญในเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราต้องสร้างเรื่องความสุขหรือสุขภาวะทั้งระบบโรงเรียน (Whole School Happiness) ซึ่งกินความรวมถึงความสุขส่วนบุคคล ความรับผิดชอบต่อสังคม กระบวนการเรียนรู้เติบโตและพัฒนาร่วมกัน และการทำงานเป็นทีมของครู-อาจารย์ในสถานศึกษานั้นๆ

ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องมีความหลากหลาย ระบบการเรียนรู้ใหม่ต้องเข้าใจพัฒนาการมนุษย์ มีทรัพยากรที่พอเพียง และต้องไม่ทอดทิ้งให้เยาวชนคนใดตกขบวน (No Child Left Behind) ซึ่งในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ทากาโอะ เฮนซ์ แพทย์ทางสมองแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ก็ยังย้ำว่า ประสบการณ์ในช่วงต้นของชีวิต (Early Life Experiences) นับว่ามีความสำคัญมากต่อพฤติกรรมของมนุษย์ และเราจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจกลไกการทำงานของสมองว่า ช่วงที่เป็นวิกฤต (Critical Period) นั้นมีความสำคัญมากสำหรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเมตตากรุณา

ศาสตราจารย์ริชาร์ด เดวิด แห่งมหาวิทยาลัยวิสเคาซิล-แมดิสัน ซึ่งทำงานวิจัยระยะยาวในเรื่องนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นที่น่ายินดีว่า สิ่งที่เหมือนกันระหว่าง Contemplative Science และ Basic Science คือต่างเห็นพ้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้ (Change is Possible) และยังเน้นย้ำถึงทิศทางการวิจัยที่มีความสำคัญในอนาคตว่า ๑) การศึกษาว่าด้วยความเมตตากรุณานั้น ไม่ควรจำกัดอยู่ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ควรศึกษาว่า ความเมตตากรุณามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรอบข้างหรือสังคมอย่างไร (Social Impacts) ๒) เราควรก้าวข้ามการทดสอบทางการศึกษาแบบปรนัย (Choice Test) เพราะไม่สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงได้เลย ดังนั้น เราควรเร่งศึกษาถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ๓) ความสุขคือเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์และสังคม ความสุขของมนุษย์จึงมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อสุขภาวะของสังคมโดยรวม ๔) นักวิทยาศาสตร์ต้องใส่ใจศึกษาเรื่อง ความจดจ่อ (Attention) เพราะความเข้าใจในเรื่องนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจในพฤติกรรมของเยาวชนและกระบวนการเรียนรู้ของเขา เด็กติดเกมส์ เพราะเกมส์สร้างให้เกิดความจดจ่อในเด็ก เราไม่ควรเพียงแค่ปฏิเสธเกมส์ แต่ความท้าทายคือทำอย่างไรให้เกมส์เป็นเกมส์ที่สร้างสรรค์และสร้างให้เกิดความรักความเมตตา อนึ่ง เราต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย วิธีการหนึ่งจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน และ ๕) สุดท้าย ทีมวิจัยแบบบูรณาการ (Transdisciplinary Team) และการเชื่อมโยงงานวิจัยพื้นฐานสู่ปฏิบัติการจริงในพื้นที่ (Translational Research to the Field) นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องนี้

ในตอนท้าย องค์ดาไล ลามะ ได้กลับมาสรุปเพื่อตอกย้ำอีกครั้งว่า การสร้างแรงจูงใจและความตระหนัก ต่อการสร้างการเรียนรู้เพื่อการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นมีความสำคัญมาก การสร้างทัศนะในเชิงบวก เราต้องสร้างสติทุกนาที เราต้องมีทั้ง วจีกรรม (Verbal Action) กายกรรม (Physical Action) และมโนกรรม (Mind Action)

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ อดสะท้อนย้อนนึกมาถึงกระบวนการเรียนรู้ของระบบการศึกษาของเราไม่ได้ว่า ณ ดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ เราดูเหมือนจะละเลยนำสิ่งที่ดีมีคุณค่ายิ่งในแผ่นดินมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์และเยาวชนคนรุ่นหลัง การจัดการศึกษาที่เดินรอยตามฝรั่งรังแต่จะสร้างสมปัญหาอย่างมากมายมหาศาล การศึกษาไทยเร่งสร้างให้เกิดการแข่งขันและเอาชนะ ในวันนี้การจัดการศึกษาในโลกตะวันตกกำลังเปลี่ยนไปเพื่อเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ของมวลมนุษยชาติ แต่การศึกษาของไทยและวงการวิชาการไทยกำลังติดกับอยู่กับการแข่งขันจนละเลยการพัฒนาความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง หากครู-อาจารย์ของเรายังอยู่ในภาวะเครียดและสับสน มุ่งถ่ายทอดความรู้จากเพียงตำราและเนื้อหาโดยไม่สนใจชีวิตของผู้เรียน แล้วเราจะสร้างเยาวชนในอนาคตที่มีความสุข มีความรักความเมตตา เป็นเยาวชนที่รู้จักการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างสันติสุขได้อย่างไร หากการปฏิรูปการศึกษารอบสองของเราไม่สามารถก้าวข้ามหลุมดำที่ยิ่งใหญ่นี้ไปได้ อนาคตของสังคมไทยคงอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

บ่มเพาะความดี



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2552

รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ และอาจารย์ทิชา ณ นคร หรือป้ามนผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก กระทรวงยุติธรรม เคยให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกับกลุ่มจิตวิวัฒน์เมื่อนานแล้ว และเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคมที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เชิญอาจารย์ทั้งสองท่านและผมขึ้นเวทีการประชุมวิชาการประจำปี เพื่อร่วมเสวนาในหัวข้อ “บ่มเพาะความดี”

ก่อนหน้าการเสวนา ผศ.นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ และ ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บรรยายนำเรื่อง “ความดี” เป็นการบรรยายวิชาการที่น่าสนใจ เมื่อพบว่าอะไรที่เรียกว่าความดีนั้นมีวิวัฒนาการและสามารถแยกองค์ประกอบได้ด้วย เนื้อหาสำคัญคือ ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาจริยธรรมที่เคยเรียนๆ กันมานั้นกำลังถูกท้าทายจากบรรทัดฐานและบริบทของสังคมในปัจจุบัน

อาจารย์ประภาภัทรและอาจารย์ธนาเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน “จิตตปัญญาศึกษา” ส่วนอาจารย์ปราโมทย์และผมเคยร่วมงานกันในแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพมาก่อน ไตรภาคีจิตวิวัฒน์-จิตตปัญญาศึกษา-แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ทำงานร่วมกับ สสส. เพื่อขับเคลื่อนประเด็น Spirituality จากแง่มุมที่ต่างกัน

เดิมเราเคยเชื่อว่าจริยธรรมพัฒนามาตามอายุ เมื่อยังเล็กกลัวการถูกลงโทษ ชอบได้รางวัล แยกผิดถูกชัดเจน จากนั้นจึงพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันที่เราทำความดีเพราะเป็นความดี เป็นระดับอุดมการณ์หรืออุดมคติ แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายทศวรรษ ก็พบว่าอะไรที่เรียกว่าการทำความดีเพราะอุดมการณ์หรืออุดมคตินั้นหายากหรือไม่ก็ไม่มีจริง รวมทั้งมีทฤษฎีใหม่ๆ ที่ว่าด้วยการพัฒนาจริยธรรมเกิดขึ้น เช่น ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron Theory) ที่ใช้ชีววิทยามาอธิบายปรากฏการณ์ที่เรียกว่าต้นแบบ (role model) และการเอาใจเราไปใส่ใจเขา (empathy) เป็นต้น

อาจารย์ประภาภัทรเล่าเป็นคนแรกว่า โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นโรงเรียนทางเลือก จัดการเรียนการสอนโดยครูอย่าสอนมากแต่นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้มาก อาจารย์มีข้อสรุปว่า ความดียังต้องบ่มเพาะมาจากบ้านโดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบ เมื่อมาถึงโรงเรียนต้องมีครูเป็นต้นแบบ ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่อาจารย์ธนาและอาจารย์ปราโมทย์บรรยาย บุคคลสำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีจำนวนมากได้รับการบ่มเพาะจากมารดาจริงๆ

อาจารย์ทิชาเล่าเรื่องเด็กบ้านกาญจนาภิเษก เด็กจำนวนมากเคยกระทำผิดด้วยคดีทำลายชีวิตผู้อื่น แต่บ้านกาญจนากลับเป็นบ้านที่ไม่มีรั้ว จนถึงกับญาติของผู้เสียหายต้องร้องเรียนและตำหนิการดำเนินงานของบ้านกาญจนาอย่างโกรธแค้น อาจารย์ทิชาใช้คำตำหนิอย่างโกรธแค้นของญาติเหล่านี้มานำกระบวนการให้เด็กบ้านกาญจนาฯ ได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า empathy คือ “ถ้าเราเป็นเขา ซึ่งคนที่รักถูกฆ่า ควรรู้สึกอย่างไร”

อาจารย์ทิชาใช้เครื่องมือหลายอย่างในการนำกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ จนกระทั่งเด็กๆ รู้จักให้อภัย นั่นคือให้อภัยสังคมที่ทอดทิ้งพวกเขา รวมทั้งให้อภัยพ่อแม่ที่ไม่เคยใส่ใจไยดีพวกเขา วิธีจัดกระบวนการเรียนรู้ของอาจารย์ทิชา ใช้ทั้งการอ่าน การเขียน การเล่าเรื่อง ไปจนถึงการใช้พละกำลัง โดยให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่มีเสรีภาพ เอื้อต่อการปลดปล่อย และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้ศักยภาพของสมองอย่างเต็มที่

ข้อพิสูจน์ว่าวิธีของอาจารย์ทิชาได้ผล คือเด็กๆ ไม่หนีทั้งที่ไม่มีรั้ว ซึ่งผมมีสมมติฐานว่าเพราะพวกเขามีความสุขที่นี่ มิได้หมายความว่ามีความสุขเพราะภูมิสถาปัตย์ของบ้านกาญจนาฯ สวยงาม แต่มีความสุขเพราะที่นี่กลับเป็นที่ที่มีเสรีภาพทางปัญญา

ตัวร่วมของโรงเรียนรุ่งอรุณและบ้านกาญจนาภิเษก คือเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพทางปัญญา

โดยส่วนตัว ผมมีประสบการณ์ได้ตรวจรักษาบุคคลซึ่งได้ชื่อว่า “ไม่ดี” ตามกฎหมายและบรรทัดฐานของสังคมจำนวนมาก นั่นคือเด็กที่ต้องคดียาเสพติด เด็กสถานพินิจฯ และผู้ต้องขังในเรือนจำกลาง หลังจากทำงานหลายปี ผมก็มีสมมติฐานเพิ่มเติมว่าเด็กๆ หรือบุคคลเหล่านี้มีลักษณะร่วมกัน ๓ ประการ

หนึ่งคือ เด็กๆ เหล่านี้ไม่รู้วิธีที่จะมีความสุขแบบช้าๆ รู้จักแต่การเสพสุขด้วยความเร็วสูง นั่นคือเล่นเกม มีเซ็กซ์ ใช้ยา และตีกัน รวมทั้งเสพสุขจากการดูคลิปตีกัน เด็กๆ เหล่านี้ไม่สามารถรอความสุขในอีกมิติหนึ่งที่เกิดจากการอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หรือฟังดนตรีดีๆ สักเพลง

เรื่องนี้อธิบายทางชีววิทยาได้ว่า เด็กๆ เหล่านี้รู้วิธีเหนี่ยวนำให้สมองของตนเองหลั่งโดปามีน (dopamine - สารเคมีจากต่อมไร้ท่อใต้สมอง มีผลทำให้จิตใจเบิกบานแจ่มใส มีความสุข) จำนวนมากในเวลาที่นับเป็นวินาที แล้วติดความสุขที่ได้นั้น

สองคือ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถทำนายผลลัพธ์ของการกระทำของตนเองได้ ทั้งผลลัพธ์ระยะสั้นหรือระยะยาว การขู่เป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้ผลกับเด็กๆ การอธิบายอนาคตอย่างละเอียดทุกขั้นตอนและช่วยพวกเขาวาดภาพอนาคตกลับได้ผลดีกว่า

เรื่องนี้อธิบายทางชีววิทยาได้ว่า เพราะสมองส่วนที่เรียกว่า พรีฟรอนทัล คอร์เทกซ์ (prefrontal cortex - มีความสำคัญในการเชื่อมโยงความนึกคิด และความจำ กับการตัดสินใจ) มิได้ถูกกระตุ้นหรือถูกฝึกให้ใช้งานมากพอ จึงทำนายอนาคตไม่ได้

สามคือ เด็กๆ เหล่านี้ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง ส่วนใหญ่มีประวัติถูกพ่อแม่ทิ้ง ไม่ทิ้งทางกายก็ทิ้งทางใจ เมื่อมาเรียนหนังสือก็เป็นพวกเด็กชั้นต่ำเพราะข้อหาเรียนหนังสือไม่เก่ง

กระบวนการหรือวิธีที่สถาบันทั้งสองแห่งใช้กับเด็กๆ ในความดูแล เป็นกระบวนการหรือวิธีการที่แก้ไขจุดอ่อนทั้งสามประการของเด็กๆ สมัยนี้ นั่นคือเปิดพื้นที่อิสระให้เด็กๆ ได้ใช้ศักยภาพสมองของตนเองอย่างเต็มที่ในการตอบโจทย์ที่อาจารย์กำหนดให้ โจทย์ที่ได้มิใช่โจทย์ข้อสอบ ถ้าเป็นโรงเรียนรุ่งอรุณคือโจทย์ชีวิตที่พบทุกวัน ถ้าเป็นบ้านกาญจนาฯ คือโจทย์ชีวิตที่เคยประสบในอดีต ขอเพียงเราสามารถปลดปล่อยสมองของเด็กๆ ได้ เด็กจะได้ทันทีสามประการ

ประการที่หนึ่งคือ ได้รับความสุขฉับพลัน อาจารย์ประเวศ วะสี ใช้คำว่า instant happiness เนื่องจากการได้คิด พูด และทำอย่างมีเสรีภาพ ไม่ถูกสกัดหรือถูกวิพากษ์ว่าผิดหรือโง่เง่าอย่างที่เคยได้รับในอดีต หรือที่ได้รับการจากการศึกษาในรูปแบบปกติ

ประการที่สองคือ เด็กได้เรียนรู้จิตใจของผู้อื่น เข้าอกเข้าใจผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้จักเอาใจเราไปใส่ใจเขา นั่นคือ empathy

ประการที่สามคือ เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง จากที่เคยมองตนเองว่าโง่และไม่เป็นที่ต้องการกลายเป็นมนุษย์คนใหม่ที่ไม่โง่ เป็นที่ต้องการ และสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วย

พูดง่ายๆ ว่าเปิดพื้นที่ปฏิบัติการที่มีเสรีภาพทางปัญญาให้แก่เด็กๆ นี่คือวิธีพัฒนาคนสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หนึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือก หนึ่งเป็นสถานกักกัน แต่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นสากล

วิธีทำงานแบบโรงเรียนรุ่งอรุณและบ้านกาญจนาภิเษก เกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ต่อสิ่งที่เรียกว่าความดี จริยธรรม และการศึกษา นั่นคือจิตวิวัฒน์สู่จิตสำนึกใหม่ หากเปลี่ยนได้แล้วที่เหลือก็ง่าย นั่นคือเพียงแค่ “เปิดพื้นที่” ให้แก่เด็กๆ และเยาวชน

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้จัดวงเสวนาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการ “บ่มเพาะความดี” เป็นเรื่องทำได้จริงและสังคมไทยไม่หมดหวัง

เหตุความแตกแยกของมนุษย์กับการเปลี่ยนผ่าน



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ตุลาคม 2552

หากเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี โดยเฉพาะในด้านของจิตวิทยาหรือของจิตแล้ว มนุษย์ – แม้ว่าจะมีร่างกายคล้ายๆ สัตว์โดยรูปร่าง – นั้น ไม่ใช่สัตว์อย่างแน่นอน เพราะมนุษย์มีจิตและวิวัฒนาการของจิตไปตามขั้นตอน (Spectrum of Consciousness) ดังที่เราเรียนรู้มาจากนักคิดนักปราชญ์หลายๆ คน เช่น โพลตินัส ศรีอรพินโท ฌอง เกบเซอร์ โดยเฉพาะ เคน วิลเบอร์ ฯลฯ ในเรื่องความรู้ทางจิตอย่างแทบเป็นเอกภาพ

มนุษย์สมัยแรกๆ จึงแยกตนเองออกจากแม่ (พ่อไม่เกี่ยว) และแยกออกจากธรรมชาติรอบตัวได้ยาก ค่อยๆ เรียนเป็นประสบการณ์ และจำ หรือสอน เรียนรู้กันมาเรื่อยๆ พร้อมๆ กับมีวิวัฒนาการทางกาย-จิตมาเรื่อยๆ เหมือนทารกที่ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น กายก่อน แล้วตามด้วยจิต จิตไร้สำนึกก่อน แล้วตามด้วยจิตใต้สำนึก หรือจิตรู้หรือจิตสำนึก ปัจเจกก่อน แล้วจึงถึงโดยรวม

การที่ผู้เขียนคิดว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์อย่างแน่นอนนั้น เป็นเพราะปู่ย่าตาทวด ไล่กลับไปถึงคนโบราณมองจิตไม่เห็น และการมองไม่เห็นนั้น คือ หนึ่ง ไม่มีจริง สอง อาจมี แต่ต้องมีอำนาจที่จะซ่อนตัวเองเป็นพิเศษ ได้แก่ พวกเทพเทวดา เจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหลาย หรือเป็นผีเป็นสางไปโน่น

ความแตกแยกกัน การรบราฆ่าฟันกัน หรือสงคราม คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อการเจริญเติบโตวิวัฒนาการเกิดความผิดปรกติ ของจิตที่เปลี่ยนไป ชะงักหรือถอยร่น (regress) ซึ่งความผิดปรกติของจิตที่ชักนำพฤติกรรมนั้น มักมีโอกาสมากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงกลับไปที่สัญชาตญาณ ซึ่งมีแต่การสืบพันธุ์ การกิน กับการอยู่ให้รอดปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดมีความรุนแรงของเวทนาและอารมณ์เป็นองค์ประกอบผลักดันที่สำคัญที่สุด สัตว์โลกรวมทั้งมนุษย์ จะจดจำเฉพาะเรื่องร้ายแรงหรือเจ็บปวดมากกว่าเรื่องดีๆ เพราะสัญชาตญาณเอาตัวรอดนี่แหละ

บทความดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการเมืองบ้านเราตรงๆ แต่เป็นเรื่องของมนุษยชาติทั้งเผ่าพันธุ์ในปัจจุบัน ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ไม่มีทางที่ประชาโลกจะหันมาสมานฉันท์หรือสามัคคีกันได้ ยกเว้นสองประการ คือ หนึ่ง ประชาโลกเหลือน้อยกว่านี้มากๆ และอย่างกะทันหันทันที กับ สอง ประชาโลกที่เหลือ -ต้องเป็นส่วนที่ไม่น้อยนัก - จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตสู่จิตวิญญาณ (spirituality) สูงกว่านี้

บ้านเรานั้น นักการเมืองใหญ่มากๆ คนหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จริงๆ ว่ารักชาติมากและเต็มไปด้วยความตั้งใจดีและบริสุทธิ์ ได้อาสามาประสานรอยร้าว ซึ่งจริงๆ แล้วคือความแตกแยกที่รุนแรงและยาวนานของประชาชนคนไทยชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้ในสมัยที่เมืองไทยยังมีคอมมิวนิสต์ หรือแม้แต่การแยกดินแดนของประชาชนใน ๔ จังหวัดภาคใต้สุดของเรา

โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า การประสานรอยร้าวความแตกแยกกันของคนไทยในครั้งนี้ คงไม่สำเร็จเพราะมูลเหตุปฐมไม่เหมือนกัน เพราะว่าความแตกแยกของประชาชนในโลกใบเดียวกันซึ่งกำลังเกิดขึ้น จะเกิดขึ้น และต้องเกิดในทุกๆ สถานที่ ทุกๆ ภูมิภาค ทุกๆ ทวีปของโลกในช่วงเวลาอันใกล้ - ไม่เกินสิบปี - ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ เศรษฐกิจ หรือเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรือวัฒนธรรม อันเป็นธรรมชาติง่ายๆ (ระดับล่างหรือตามที่ตาเห็น)

แต่ในความเห็นของผู้เขียนดังที่ได้เขียนมาตลอดว่า ธรรมชาติมีอยู่สองระดับ คือ ธรรมชาติระดับล่างหรือระดับสมอง ซึ่งเป็นระดับที่ตามองเห็นโดยไม่ต้องคิด เช่น ต้นไม้ ภูเขา ทะเล รวมถึงวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษเขียนด้วยเอ็นตัวเล็ก (nature) ส่วนธรรมชาติระดับบนที่ตามองไม่เห็น หรือรับรู้ทางชีววิทยากายภาพไม่ได้ แต่จะรับรู้ได้ด้วยจิตที่อยู่ภายในเท่านั้น คือ พระเจ้า เทพเทวดา เจ้าพ่อเจ้าแม่ (spirit) ไล่ตามกันมาตามลำดับ ภาษาอังกฤษเขียนด้วยเอ็นตัวใหญ่ (Nature)

ดังนั้น ในความเห็นของผู้เขียน มูลเหตุปฐมของความขัดแย้ง อันเป็นธรรมชาติระดับล่างที่เกิดขึ้นในทุกสถานที่ของโลกโดยไม่มีการยกเว้น เป็นเรื่องสัญชาตญาณของสัตว์เดรัจฉานที่มีอยู่ในคน เคน วิลเบอร์ เรียกว่าเป็นจิตพื้นฐานก่อนวิวัฒนาการด้วยซ้ำ (Ground Consciousness in Ken Wilber: Up From Eden, 1981) แต่มันยังไม่ได้คลี่ขยายหรือเบ่งบานถึงเขตสุด เพราะว่าช่วงเวลาของมันยังมาไม่ถึงและไม่มีวันจะมาถึง เหตุเพราะโลกและมนุษยชาติทั้งเผ่าพันธุ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ล้ำลึกแบบถอนรากถอนโคนไปก่อนแล้ว มนุษยโลกจะเหลือน้อยมากๆ ไปแล้ว และมีวิวัฒนาการทางจิตไปแล้วด้วย อย่างน้อยส่วนหนึ่ง

มูลเหตุความแตกแยกของคนทั้งโลกที่ผู้เขียนมองเห็น แต่ผู้อื่นอาจจะยุ่งมากจนไม่มีเวลาคิดจึงมองไม่เห็น คือ มนุษย์เรา – จากระดับจิตที่ยังมีวิวัฒนาการเพียงครึ่งทางอยู่ที่อัตตาตัวตนกับเหตุผล – ได้เอาอัตตาตัวตน (self) ทั้งหมดถอยร่น (regress) ไปผูกติดกับระบบต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมา และโครงสร้างธรรมชาติของสังคมหรือวัฒนธรรมที่ตาเห็น (ระดับล่าง) เพื่อการอยู่ให้รอด ในสภาพการณ์ที่เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจ จิตของเราที่คำนึงถึงความอยู่รอดเป็นอันดับแรก จึงดิ้นรนทุกวิถีทาง ใช้ทุกอย่างที่ผิดปรกติไปนั้นเพื่ออยู่รอดให้ได้ โดยระบบ คือระบบการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ส่วนโครงสร้างธรรมชาติ (ระดับล่าง) คือ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม

เราเอาอัตตาที่ถอยร่นไปยึดติด (identified) กับอีโก้ หรืออหังการของจิตที่ยังวิวัฒนาการไม่ถึงขั้น (ซึ่งผู้เขียนคิดและเขียนซ้ำๆ มาตลอดว่ามนุษยชาติ โดยธรรมชาติแล้วต้องมีวิวัฒนาการถึงขั้นจิตวิญญาณ ในระดับแรกๆ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีบ้างแล้ว คาดว่าจะมีถึงมวลอันวิกฤตเมื่อโลกธรรมชาติวิกฤตกว่านี้ – และเราในภาพรวม – เจ็บปวดมากกว่านี้ ราว ๔-๕ ปีข้างหน้า หรือปี ๒๐๑๓) ทั้งนี้และทั้งนั้น เพียงเพื่อแสดงว่า ธรรมชาติทั้งสองระดับนั้นสำคัญและจำเป็นที่สุด ส่วนความสามัคคีสมานฉันท์ที่เราผลิตสร้างสำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมรวมทั้งกฎหมายนั้น เมื่อมาถึงที่สุด เมื่อมาถึงปัจเจกบุคคลแล้ว การอยู่ได้รอดและปลอดภัย จะสำคัญและจำเป็นอย่างที่สุดโดยสัญชาตญาณ

แต่กาลเวลาไม่เคยถูกแช่แข็ง ทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่หยุดยั้ง รวมทั้งชีวิตของเราทุกคน ที่โดยรวมคือ วิวัฒนาการที่ไม่เคยเดินเป็นเส้นตรง เราอยู่ในช่วงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงสังคมกับระบบที่เราคิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของสังคมการเมืองหรือเศรษฐกิจอย่างลึกล้ำ รวมกับโครงสร้างอันเป็นการคัดเลือกของธรรมชาติ (ระดับล่าง) ที่หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมแยกส่วนอันเป็นความแปลกต่าง ซึ่งอาจจะกลายเป็นความแตกแยกได้หากเราไม่รู้และไม่เข้าใจตามที่ได้กล่าวมา

เราจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วทั่วทั้งโลก – โดยเฉพาะคนที่มีความเข้าใจอย่างล้ำลึกในแก่นแกนของพุทธศาสนาที่สอดคล้องต้องกันกับวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ หรือไปไกลยิ่งกว่านั้น ที่แทบจะไม่มีความเชื่อศรัทธาเท่าใดนัก มีแต่ตรรกะและเหตุผลโดยรวมที่พิสูจน์ได้ – นับต่อจากไปนี้ จะคิดและมีวิธีคิดแบบเก่าๆ เดิมๆ ตามนิสัยความเคยชินของเราไม่ได้อีกแล้ว ต้องมีความคิดและวิธีคิดใหม่บนหลักการใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม

แต่ทว่า ด้วยข้อจำกัดของเรา ด้วยความจำเจยาวนานของวิธีคิดของเราที่ไกลไปยิ่งกว่าสามัญสำนึก เราจึงคิดด้วยวิธีคิดใหม่บนหลักการใหม่ๆ ไม่ออกหรือไม่ได้ เพราะเหตุสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง วิธีการความรู้หรือการศึกษาของเราทั้งโลก ทำให้เราได้รับการศึกษากับข้อมูลความรู้ที่แยกส่วนหรือไม่สมบูรณ์ ผิดธรรมชาติขององค์รวม และความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียวกันที่แยกออกจากกันไม่ได้ และ สอง การตีค่าตีราคาของสรรพสิ่งทั้งหลายแม้แต่จิตหรือจิตวิญญาณเองเป็นเงิน ได้สร้างคนให้เห็นแก่เงินเหนือสิ่งอื่นใด แม้ต้องทุจริตคอรัปชั่น และเพราะข้อมูลที่แยกส่วนไม่สมบูรณ์ กับการเห็นแก่เงินนั้นเอง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งแปลกต่างและความลำเอียง แล้วก่อให้เกิดความแตกแยกและสงครามขึ้นได้ โดยเฉพาะเมื่อเราคิดแต่ “ตัวกูของกู” เอาตัวรอดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ

ผู้เขียนคิดว่า ช่วงเวลานี้ คือช่วงเวลาที่สำคัญต่อมนุษยชาติในภาพรวมยิ่งกว่าช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์เท่าที่ผู้เขียนเรียนรู้มา อาจจะกล่าวได้ว่า ศตวรรษนี้ – ในความเห็นส่วนตัว – เป็นช่วงเวลาปฏิวัติเปลี่ยนแปลง (transformation) ของตัวเองเป็นปัจเจก พร้อมกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวม นั่นคือเหตุผลที่ต้องมีชมรมจิตวิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อการก้าวย่างสู่กระบวนทัศน์ใหม่ที่มีจิตวิญญาณเป็นศูนย์กลาง หรืออีกนัยหนึ่ง คือช่วงเวลาที่จะตัดสินการอยู่รอด (เท่าที่เหลือ) และศักยภาพของความเป็นมนุษย์ “ผู้ประเสริฐ” เพื่อพิสูจน์ว่า ด้วยกระบวนการวิวัฒนาการของจักรวาล – ที่มีเพียงเป้าหมายเดียวเท่านั้น – มนุษยชาติและวิวัฒนาการทางจิตจะเป็นไปตามสเปคตรัมของจิตสู่จิตวิญญาณ (spirituality) และไล่สูงขึ้นไปจนถึงนิพพานอันเป็นเป้าหมายสุดท้ายของจักรวาลอย่างไร?

นั่นคือ มนุษยชาติกับจักรวาลจะต้องอยู่คู่กันเสมอ โดยอย่างหนึ่งอย่างใดจะขาดหายไปไม่ได้ ซึ่งตรงกับทางแควนตัมฟิสิกส์ข้อหนึ่งที่นักฟิสิกส์แห่งยุคใหม่ในปัจจุบันหลายคนเชื่อ (Anthropic Cosmological Principle) – ดังที่ เวสล่า ซิมมิก และโทเบียส โบดีน บรรณาธิการแห่งชิฟท์รายงานไว้ (The 2007 Shift Report: Evidence of a World Transforming) – โดยพูดว่า “กระบวนทัศน์ที่กำลังโผล่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ มีรากฐานมาจากวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) แห่งยุคใหม่ เท่าๆ กับได้รากฐานมาจากความรู้เร้นลับ (mysticism) ของศาสนาที่อุบัติขึ้นจากตะวันออก (เช่น พุทธศาสนาของเรา) ซึ่งทั้งฟิสิกส์ใหม่และความรู้เร้นลับต่างก็ให้ความจริงแท้หรือสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ หรือแม้แต่สาธารณชนทั่วไปหันมาสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวัน

เปิดหัวใจ เปิดพื้นที่



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2552

การมีโอกาสรับฟังเรื่องราวจากวิทยากรที่เชิญมาให้ความรู้กับวงจิตวิวัฒน์นั้นถือเป็นกุศลต่อการเสริมสร้างสติปัญญาให้ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งรับฟังเรื่องราวชีวิตของแต่ละท่านก็ยิ่งรู้สึกว่า การที่งานของหลายท่านก่อให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลต่อผู้คนในวงกว้าง และมีผลบวกในระยะยาวนั้น เกิดจากการที่ตัวตนของคนทำงานเล็กลง แต่หัวใจกลับเปิดกว้าง และเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนมากมายเข้ามามีส่วนร่วมกับความสำเร็จในการทำงานนั้น

อย่างไรก็ดี กว่าที่ฮีโร่ของเราทั้งหญิงชายเหล่านั้นจะพาตนเองเข้าไปสู่ภาวะการเปิดหัวใจ หรือเปิดพื้นที่ – นั้นดูเหมือนไม่ง่ายเลย

แม่ติ๋ว บ้านโฮมฮัก เมื่อพบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ในวัยที่อายุยังไม่ถึงห้าสิบปี และหอบสังขารหนีไปพักกายใจที่เสถียรธรรมสถาน เธอพบว่าตนเองกลัวตาย และที่กลัวยิ่งกว่าก็คือไม่มีคนดูแลเด็กที่บ้านโฮมฮักต่อ ซึ่งประกอบด้วยเด็กติดเชื้อเอชไอวี เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กถูกทำร้ายทุบตี ฯลฯ เมื่อรู้ว่าคนเก่งคนดีอย่างเธอก็ตายได้ หลังจากที่เยียวยาตนเองด้วยธรรมะและเมื่ออาการทางกายดีขึ้น เธอกลับไปที่บ้านโฮมฮัก และท่าทีในการทำงานก็เปลี่ยนไป

จากที่เคยคับแค้นใจว่า ทำไมเธอต้องทำงานอยู่คนเดียว ไม่มีใครเหลียวแลเด็กที่บ้านโฮมฮัก ถึงขนาดพาเด็กไปกินนอนประท้วงและอึฉี่ที่หน้าศาลากลางจังหวัด เธอสามารถยกมือไหว้ขอโทษผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ทั้งยังยินดีที่จะร่วมทำงานกับผู้คนหลากหลาย มองเห็นกุศลเจตนาของคนอื่นได้มากขึ้น แม้ว่าวิถีในการทำงานจะแตกต่างกันก็ตาม เธอยอมรับว่า สักวันเธอต้องตาย การที่คนอื่นได้มีโอกาสเข้ามาช่วยเหลือเด็กบ้านโฮมฮัก ไม่ว่าจะถูกใจเธอหรือไม่ ก็เป็นผลดีกับเด็กทั้งสิ้น

คุณพิมใจ อินทะมูลก็เช่นเดียวกัน หลังจากพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี แม้ว่าจะยอมรับสภาพได้ง่าย โดยเหตุที่เป็นคนร่างกายอ่อนแอ ป่วยกระเสาะกระแสะมาแต่เล็ก การที่พบว่าตนเองเป็นโรคร้ายและสังคมรังเกียจ กลับทำให้เธอเปลี่ยนแปลงชีวิตจากแม่บ้านธรรมดาไปสู่การรับใช้ผู้อื่น เธอทำนิคมผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มคนที่ไม่มีใครต้อนรับ รับทำงานฝีมือเพื่อหารายได้เลี้ยงชุมชน เยียวยาตนเองและชุมชนด้วยธรรมชาติบำบัด เพราะไม่มีปัญญาจ่ายค่าหมอค่ายา เธอทำให้เห็นว่า ๑๘ ปีของการเป็นผู้ติดเชื้อ ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยังมีความสุขความเบิกบาน และยังประโยชน์กับผู้อื่น

อย่างไรก็ดี เธอเคยสารภาพว่า การที่งานของเธอขยายตัวออกไปกว้างขวาง เธอก็เกิดกังวลขึ้นมาว่า ถ้าเธอตายแล้วจะเป็นอย่างไร? คำตอบที่ได้หลังจากนั้นก็คือ การทำงานในลักษณะที่มีความยั่งยืนขึ้น โครงการที่คิดและทำจะต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องมายึดติดกับบุคคลมาก เพราะฉะนั้นถ้าเธอจะตายไปไม่วันใดวันหนึ่ง งานก็น่าจะดำเนินต่อไปได้ หรือถ้าดำเนินต่อไปไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร

พวกเรา – คนหนุ่มสาวร่วมสมัย – มักจะคิดว่าตนเองทำงานเต็มที่แล้ว หากได้ทำในสิ่งที่ใช่ คือที่ชอบและเป็นประโยชน์ ก็พร้อมจะทุ่มเทพลังกายพลังใจลงไป แต่กลับปรากฏว่าการมุ่งผลสำเร็จของงานกลับทำให้ตัวตนใหญ่กว้าง ไม่แบ่งปันพื้นที่ให้คนอื่นได้เติบโต ตัวชี้วัดง่าย-ง่ายก็คือ หากคนเก่งคนดีทั้งหลายมองไปรอบกายแล้วมีแต่ผู้ร่วมงานไม่เก่ง คงต้องทบทวนกันอย่างจริงจัง ว่าทำไมทำงานมาตั้งนานตนเองถึงเก่งและดีอยู่คนเดียว? ที่สำคัญต้องตั้งคำถามว่างานนั้นเกิดประโยชน์ในวงกว้างจริงล่ะหรือ หากไม่มีคนทำงานด้านนี้เพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ปัญหาทุกวันนี้ก็ซับซ้อนมากขึ้นทุกที จะหวังพึ่งปัญญาเชิงเดี่ยว หรือฮีโร่เชิงเดี่ยวแบบโลกเก่า – นั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

อาจารย์ประเวศมักจะพูดเสมอว่า ให้หัดทำงานกันน้อย-น้อยแต่ได้ผลเยอะ นั่นคือ ถ้าหากงานนั้นมีคนทำอยู่แล้วก็คอยสนับสนุน อย่าไปแย่งคนอื่นทำ เราควรทำงานที่ยังไม่มีใครทำ บ้านเมืองจึงจะเคลื่อนตัวต่อไปข้างหน้าได้

ท่าทีเช่นนี้น่าประทับใจมาก สังคมไทยนอกเหนือจะต้องการอุเบกขา ความเมตตา ความกรุณาแล้ว ยังต้องการมุทิตาจิตอีกด้วย การที่มีคนทำเรื่องดีมีประโยชน์ หากยกย่องชื่นชมในวาระที่สมควร ถือเป็นเรื่องควรทำ และการมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ย่อมทำให้ไม่หวงความสำเร็จ งานดีมีประโยชน์ใครทำก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเรา

บางคนหรือบางองค์กรนั้นหวงความสำเร็จ เรื่องนั้นฉันก็ทำ เรื่องนี้ฉันก็ทำ เธออย่าทำเชียวนะ – กลัวคนอื่นจะประสบผลสำเร็จ – สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมก็รอจนเหงือกแห้ง กว่าคนดี-ดี หรือองค์กรดี-ดีนั้นจะทำงานเสร็จสักชิ้น เพราะไม่รู้จักการสร้างเครือข่าย ไม่เปิดพื้นที่ให้คนอื่นหรือองค์กรเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา และบางเรื่องตายแล้วเกิดใหม่อีกสักสองสามชาติก็อาจจะยังไม่สำเร็จ เป็นต้นว่า เรื่องการศึกษา เรื่องความเป็นธรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการสร้างสุขภาวะ ฯลฯ ดีไม่ดี คนทำงานก็อายุสั้นเกินควร ดูขงเบ้งเป็นตัวอย่างก็ได้ ตายตั้งแต่อายุเพียงห้าสิบสี่ ยังไม่ทันเกษียณอายุด้วยซ้ำไป

ในงานสานจิตรเสวนาที่ผ่านมา ก่อนเริ่มวงคุยจิตวิวัฒน์ มีเก้าอี้ว่างตั้งไว้ ๒ ตัว และมีผู้ “ฟัง” สองคน เดินขึ้นไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คุณศรชัย ฉัตรวิริยะชัย หนึ่งในสมาชิกจิตวิวัฒน์รุ่นเยาว์และข้าพเจ้าเห็นตรงกันว่า นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่ง เพราะเป็นเครื่องยืนยันว่า เมื่อมีการเปิดพื้นที่ สิ่งใหม่-ใหม่ก็เกิดขึ้นได้ และการเปิดพื้นที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อหัวใจได้เปิดออกแล้วอย่างจริง-จริง

จิตวิวัฒน์บนเวทีสานจิตรเสวนา



โดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ตุลาคม 2552

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ร่วมกับองค์กรพันธมิตร จัดงาน “สานจิตรเสวนา: มหกรรมความรู้เพื่อการพัฒนาจิต ครั้งที่ ๒” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ กันยายน ๒๕๕๒ มีชั่วโมงเสวนาของขุมปัญญาด้านจิตวิญญาณของสังคมไทย ๔ รายการ ได้แก่ จิตวิญญาณในมุมมองสามศาสนา เสวนาพัฒนาจิตวิญญาณจากการทำงานในชีวิตประจำวัน เสวนาจิตตปัญญาศึกษา และเวทีจิตวิวัฒน์

หลังเวทีจิตวิวัฒน์ คุณนุกุล พลอยบุตร จากโรงพยาบาลเชียงม่วน บรรยายความรู้สึกที่ได้รับจากการนั่งฟัง เผยแพร่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เรื่อง “มหัศจรรย์ใจกับงานสานจิตรเสวนา” มีเนื้อหาน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อ

“ณัฐฬส วังวิญญู สมาชิกของกลุ่มจิตวิวัฒน์เล่าว่า จิตวิวัฒน์เป็นเหมือนเผ่าพันธุ์หนึ่ง นอกจากความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมพูดคุยทุกเดือนแล้ว ยังได้ความสัมพันธ์ ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ ทำให้มองเห็นความหวังในการแสวงหาความอยู่รอดของสังคม การค้นหาทางออกอาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่การได้อยู่ร่วมกันอาจมีความหมายมากกว่า ประทับใจกับเรื่องราวของอาจารย์ประมวลที่เดินทางไกลด้วยเท้าจากเชียงใหม่ถึงสงขลา และการเดินทางในอินเดีย เรื่องเล่าจากอาจารย์ประมวลทำให้คิดถึงการทำงานใหญ่เพื่อแสวงหาคำตอบให้สังคม ในขณะเดียวกันก็อย่าละเลยการดูแลคนในครอบครัว”

“ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ เล่าว่า เป็นครูมาตลอดชีวิต ใช้ชีวิตอิงอยู่กับกรอบคิดและกฎเกณฑ์ของวิชาชีพครู ยึดเอาหลักการของวิชาครูมากำหนดตนเองนาน ๗๐ ปี จนกระทั่งมาพบกับจิตวิวัฒน์ แรกๆ เวลาเข้ากลุ่มแล้วได้ยินได้ฟังเรื่องราวอะไร จะดึงมาอิงกับทฤษฎีอยู่ตลอดเวลา กลับไปดูบันทึกเก่าๆ พบว่าเต็มไปด้วยทฤษฎี การเปลี่ยนแปลงของตนเองจะเป็นไปในลักษณะ transformation คือ ค่อยๆ เปลี่ยนความคิด ความรู้สึก วิธีฟัง คิด ไม่ด่วนตัดสิน เพราะอาจารย์ประสานสอนว่า อะไรที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ มันก็ยังมีอยู่

อาจารย์เล่าว่าได้เรียนรู้ตนเองมากกว่าเดิม กรงที่ขังตนเองไว้เริ่มหลุดไปทีละซี่ ยิ่งได้คุยกับคนหนุ่มสาว ยิ่งทำให้กรงขังหลุดมากขึ้นๆ มารู้อีกทีเมื่อรู้ว่าตนเองหลุดออกจากกรงขังแล้ว คนยึดทฤษฎีไม่มีความสุข ชีวิตต้องอยู่เหนือการยึดติด ทำให้เรามีเสรีภาพ เมื่อมีเสรีภาพทำให้อาจารย์สามารถเขียนนวนิยายได้ จากที่แต่เดิมเขียนได้เพียงสารคดี

อาจารย์พบจิตสำนึกใหม่ที่ทำให้มีกำลังใจที่จะทำงานกับคนที่คิดแบบเดิมๆ มีเมตตา นำไปสู่การปฏิวัติการศึกษาในตนเอง เพราะการศึกษาจะไปไม่รอดถ้าเรายึดวิธีสอนแบบเดิมๆ และการคิดใหม่ทำใหม่ทำอย่างไร”

“ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน เล่าว่าช่วงแรกของการทำงานกับ สสส. อาจารย์ทำการวิจัยด้านจิตวิญญาณ การเริ่มต้นด้วยความไม่รู้เป็นการเปิดมิติการเรียนรู้ที่ใหญ่มาก ทำงานโดยไม่มีอะไรมาครอบ เรียนรู้จากคนที่เราเชื่อว่าเขามีจิตวิญญาณอยู่ในตัว อาจารย์เปลี่ยนจากนักวิชาการที่อิงหลักวิชาการ ยึดติดกับทฤษฎี ไปเป็นคนธรรมดามากขึ้น เรียนรู้มากขึ้น การเข้าไปในจิตวิวัฒน์บางช่วงทำให้รู้สึกว่าเราเป็นเด็กไม่รู้อะไรเลย ฟังผู้ใหญ่และเด็กๆ พูด รู้สึกว่า ทำไมเราไม่รู้ บางช่วงรู้สึกว่าเราเป็นผู้รับ บางช่วงเป็นผู้ให้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนธรรมดามากขึ้น”

“ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย เล่าว่า ๒ ปีของการเข้าร่วมวง เริ่มต้นจากถูกชักชวนให้อ่านหนังสือ ๓ เล่ม แล้วนำไปเล่าในวงจิตวิวัฒน์ วันที่ไปเล่ามีแต่อาจารย์ผู้ใหญ่ รู้สึกว่าท่านตั้งใจฟังเรามาก รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากกลุ่มจิตวิวัฒน์ เพราะในกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นหมอ ขณะที่ตนเองเรียนด้านวิศวะ แต่บอกตนเองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ค่อยๆ ซึมซับไป รู้สึกว่าเป็นกลุ่มที่น่ารัก อาจารย์ผู้ใหญ่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่รู้ เห็นอาจารย์หมอประสาน อาจารย์ประเวศพูดคุยกันเหมือนเป็นเด็กๆ และประทับใจกับหลายเรื่องเล่าของผู้ที่ทำประโยชน์ให้สังคม”

“จารุพรรณ กุลดิลก เล่าว่าเรื่องเล่าในวงมีพลัง อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู จะนำ Dialogue มาใช้มากในการสนทนา เวลานั่งฟังอยู่ในวงก็จะยิ้ม ฟังแล้วได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ ฟังแล้วเห็นจิตวิญญาณของคนเล่า”

“อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ สนใจจักรวาล ศาสนา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม มักคิดแต่เรื่องใหญ่ๆ มองแต่เรื่องใหญ่ๆ การเรียนรู้ในจิตวิวัฒน์เป็นการเรียนในกลุ่มเล็กๆ เรื่องของการเสียสละ เรื่องเล่ากระตุ้นเร้าให้ทำสิ่งที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน”

“นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เล่าเรื่องการเชิญคนที่ทำงานเพื่อสังคมมาเล่า เช่น คนทำงานกับมูลนิธิฉือจี้ ที่เดินบนเส้นทางของพระโพธิสัตว์ เรื่องเล่าของ พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ที่ได้ใช้ศิลปะในการดูแลคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็ง เรื่องเล่าในวงมักเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ตนเองทำ แต่จิตวิญญาณที่ทำอยู่ยิ่งใหญ่ไพศาล เคารพชีวิตด้านในตลอดเวลา อาจารย์มีโครงการเชิญชวนให้พวกเราเขียนเรื่องที่ได้เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจจากการได้เรียนรู้กับจิตวิวัฒน์ แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้ยินได้ฟังออกมา”

“นพ.สกล สิงหะ เดิมเป็นครูที่คิดว่ามีหน้าที่เพียงถ่ายทอดเนื้อหาซึ่งมีมาก แต่หลังๆ อาจารย์เปลี่ยนวิธีเรียนวิธีสอนนักศึกษาแพทย์ โดยให้พวกเขาเล่าว่ารู้สึกอย่างไร ไม่มีผิดถูก พบว่านักศึกษามีความสุขมากขึ้น การเป็นครูไม่ได้มีหน้าที่ในการสอนเนื้อหาอะไรมากมาย เพียงแต่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง อาจารย์ขยายความต่อว่า ถ้าเราพยายามขอบคุณทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่การฟังเรื่องราวต่างๆ การมีชีวิตโดยใช้วิธีขอบคุณ ขวนขวายที่จะขอบคุณทุกสิ่ง จะทำให้เรามองงานเปลี่ยนไป”

คุณนุกุลปิดท้ายว่า การได้รับฟังเวทีจิตวิวัฒน์เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เกิดความรู้สึกเป็นสุข อิ่มเอม และเกิดกำลังใจเกิดแรงบันดาลใจเพิ่มขึ้นอย่างบอกไม่ถูก การได้พบ ได้ฟัง ได้เห็นครูบาอาจารย์มาตั้งวงนั่งพูด นั่งคุยกัน เห็นความงามของการสนทนา รู้สึกถึงมิตรภาพที่คนต่างรุ่นมอบให้กันและกันด้วยความรัก ประทับใจกับหลากหลายเรื่องเล่าของการเปลี่ยนแปลงตนเองจากครูบาอาจารย์ จนตัวเองรู้สึกมหัศจรรย์ใจไปกับคุณภาพของการฟังเรื่องเล่าดีๆ

จิตวิวัฒน์มิใช่เรื่องลึกลับ แค่ชวนให้เรามาพูดคุย ฟังจากใจ ไม่ตัดสิน ไม่ด่วนสรุป เพียงเท่านี้ก็จะเกิดการพัฒนาจิตขึ้นได้

Back to Top