มีนาคม 2008

เสียง

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 29 มีนาคม 2551

บทความชิ้นนี้เป็นบทความที่อยากเขียนมานานแล้ว

ในแง่ของอาณาเขตทางกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินซึ่งจับต้องได้ เราจะมีการแบ่งเขตแบ่งอาณาเขตกันอย่างชัดเจน โดยทำออกมาในรูปของหลักหมุดที่ดิน เขียนแบบแล้วบันทึกไว้ในรูปของโฉนดที่ดินหรือเอกสารอื่นๆ มากมาย

แต่อากาศ (ที่จับต้องไม่ได้) เหนือที่ดินขึ้นไปก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้ไม่น้อย ถ้าไม่ทำความเข้าใจกันให้ดี และ “ยึดถือ” แต่เฉพาะอาณาเขตที่จับต้องได้ เรื่องราวแบบนี้เป็นปัญหาตั้งแต่ในระดับบ้านใกล้เรือนเคียงกันไปจนถึงในระดับประเทศ

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น บ้านที่อยู่ใกล้กัน บ้านหลังหนึ่งจุดไฟเผาเศษใบไม้อยู่เป็นประจำ แต่ลมจะพัดเอาควันไฟจำนวนมากเข้าไปยังเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน แบบนี้จะเป็นอย่างไร เอาล่ะ เรื่องอากาศก็อาจจะมีหลายคนบอกว่า ก็มีกฎหมายระบุเพิ่มเติมเข้ามา หรือในระดับประเทศก็จะมีการกำหนดน่านฟ้าอะไรต่างๆ

ผมอยากจะขอมาถึงเรื่องราวของ “เสียง” ซึ่งอาจจะเป็นรูปธรรมในอีกลักษณะหนึ่ง

เพื่อนบ้านเอื้อเฟื้อเปิดเพลงดังลั่นเข้ามารบกวนในขณะที่เรากำลังนอนหลับสบายๆ

สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งอุตส่าห์ไปตั้งอยู่ไกลบนภูเขา วันดีคืนดีก็มีเสียงคาราโอเกะแผดดังลั่นไปถึงยอดเขา แทนที่ผู้คนจะได้นั่งสงบปฏิบัติธรรมหรือฟังเสียงแมลงยามค่ำคืน

เพื่อนผมคนหนึ่งอุตส่าห์ลงทุนไปเช่าบ้านอีกหลังนอกเมืองออกไปไกลๆ เป็นสวนลิ้นจี่ หวังว่าจะได้มีความสงบยามค่ำคืนเพื่อที่จะได้ครุ่นคิดใคร่ครวญอยู่กับความเงียบ ที่ไหนได้ต้องทนกับเสียงคาราโอเกะดังลั่น ไม่เที่ยงคืนตีหนึ่งไม่เลิกรา

เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง เสียงประทัดที่ดังมากและที่ “ไม่ได้รับเชิญ” ก็ได้สอดแทรกผ่านอากาศเข้ามาในหูของเรา

ปัจจุบันชุมชนต่างๆ นิยม “เสียงตามสาย” ประกาศข่าวตั้งแต่เช้าตรู่

งานเทศกาลประจำปีของจังหวัดจัดเครื่องเสียงที่แผดเสียงแบบบ้าระห่ำไปไกล ชนิดที่ดังไปรบกวนคนที่อยู่ไกลถึงอีกฟากหนึ่งของเมืองได้ด้วยความภาคภูมิใจ (คนอยู่ใกล้จะมีสภาพเป็นอย่างไรคงนึกภาพออกนะครับ)

เวลาที่ผมเดินทางโดยเครื่องบิน จะมีช่วงเวลาที่ต้อง “รอคอย” นานไม่น้อย เป็นช่วงเวลาที่ผม (และผมเชื่อว่าต้องมีคนอีกส่วนหนึ่งด้วย) ต้องการ “ความเงียบ” ในการพักผ่อน แต่ “เสียงจากโทรทัศน์” ที่ไม่พึงปรารถนาก็สอดแทรกเข้ามาในหูของเรา เรื่องนี้หลายคนอาจจะแย้งว่าก็เป็นเรื่องของสนามบินที่จะให้คนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่อย่าลืมว่าก็มีหลายคนไม่ได้ต้องการข้อมูลข่าวสารในเวลานั้นด้วยเหมือนกัน เพราะลำพังแค่เสียงประกาศตามปกติก็ถือว่าอึกทึกมากพอแล้ว

สนามบินน่าจะมีสถานที่ที่ “เงียบสงบ” บางส่วนด้วย อาจจะไม่จำเป็นถึงขั้นต้องสร้างเป็นห้องสำหรับการภาวนา (Meditation Room) แต่ขอให้มี “มุมสงบ” ไว้บ้าง ไม่ใช่ใช้การเปิดเสียงโทรทัศน์แบบดังลั่นตะพึดตะพืออย่างที่เป็นอยู่ อย่าลืมว่า “เสียง” ก็สามารถเป็นมลพิษได้แบบเดียวกันกับที่ “ควันบุหรี่” เป็นนะครับ

เรื่องนี้กินความไปถึง “สิ่งที่จับต้องไม่ได้” อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะยกตัวอย่างก็คือ เสาสะท้อนสัญญาณของบรรดาบริษัทมือถือต่างๆ ที่ปัจจุบันมีความพยายามในการติดตั้งเสาดังกล่าวให้กว้างขวางมากที่สุด ซึ่งผมก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไรนะครับ ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ทุกคนต้องการสัญญาณมือถือดีๆ ชัดๆ ผมเพียงอยากจะชี้ให้เห็นและสอดคล้องกับบทความชิ้นนี้ก็คือ บรรดาเสาสะท้อนสัญญาณมือถือเหล่านั้น ถ้าเรามองแบบทั่วๆ ไปก็จะเห็นได้ว่า กระชับ ใช้พื้นที่ไม่มากนักเพียงไม่กี่ตารางเมตร และในต่างจังหวัดก็สามารถไปเช่าพื้นที่ในสถานที่ต่างๆ ได้ตามสะดวก

แต่ถ้าลองนึกถึงพลังงานที่เป็น “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” ที่มีพลังมหาศาลที่ถูกปล่อยออกมาในบริเวณนั้น ที่เราไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบต่อเซลล์ของเรา อวัยวะของเรา หรือร่างกายของเราหรือไม่อย่างไร? หรือทำไมคนในปัจจุบันนี้จึงเป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้น เพราะเซลล์มะเร็งคือเซลล์ที่สื่อสารไม่ได้ ขาดการสื่อสารกับเซลล์อื่นๆ ของร่างกาย ทำให้มันเติบโตขึ้นโดยไม่สนใจเซลล์อื่นๆ

ผมไม่รู้ว่าคลื่นเหล่านี้จะไปรบกวนการสื่อสารของเซลล์ต่างๆ ทำให้เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย “รวน” และไม่สามารถ “สื่อสาร” ถึงกันได้หรือไม่ เหมือนกับตอนที่กัปตันเครื่องบินไม่ยอมให้ผู้โดยสารใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะจะไปรบกวนการสื่อสารของเครื่องบิน

ที่เขียนตรงนี้ไม่ได้มีเจตนานำเรื่อง “ความกลัวมะเร็ง” มาขู่นะครับ ในฐานะแพทย์ที่มีส่วนดูแลเรื่องสุขภาพ ผมไม่นิยมให้ใช้ “ความกลัว” มาเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้หรอกนะ ผมเพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นประเด็นว่า มันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกัน เป็นเรื่องที่เราควรตระหนักและให้ความสำคัญด้วย

เขียนถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องราวที่สถาปนิกหนุ่มไฟแรงคนหนึ่งของเมืองไทย คือ อาจารย์กรินทร์ กลิ่นขจร เคยเล่าให้ฟังว่า แม้แต่การติดป้ายโฆษณาต่างๆ ก็ส่งผลกระทบต่อ “ความรู้สึกรวม” ของเมือง ไม่ใช่ว่าใครนึกจะติดป้ายอะไรก็ได้ในที่ดินของฉัน ความรกรุงรังต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ที่พบเห็น ส่งผลกระทบต่อความเบาสบายของจิตใจของประชาชนทั่วไป อย่าว่าแต่ “เสียงที่ดังรบกวน” เซลล์สมองของเราแบบที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันแบบนี้เลย

ตอนนี้ อาจารย์กรินทร์เองกำลังทำโครงการที่มีชื่อประมาณว่า “หรี่เสียงกรุงเทพฯ” อะไรทำนองนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ และอยากจะชวนให้อาจารย์กรินทร์ทำเป็นโครงการ “หรี่เสียงประเทศไทย” ไปเลยจะดีกว่า

ซึ่งในเรื่องราวเหล่านี้ ผมคิดว่าความเข้าใจเรื่อง “วิทยาศาสตร์ใหม่” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ผมเขียนบทความชิ้นนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องหรือร้องเรียนอะไร เพียงแต่อยากจะลองชี้ให้เห็นถึงความคุ้นชินของพวกเราส่วนใหญ่ที่ยังมีแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าที่เชื่อเฉพาะสิ่งที่เห็นจริง จับต้องได้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “เรื่องที่จับต้องไม่ได้บางอย่าง” ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ใหม่ เช่น เรื่องของคลื่น เรื่องของพลังงานต่างๆ

ที่ลึกๆ แล้วหลายๆ คนก็อาจจะรับรู้ แต่ในเมื่อเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ก็เลยไม่เชื่อ ไม่ยอมรับเสียดื้อๆ แบบนั้นแหละ แต่ “เสียงที่ดังในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้” ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเราทุกคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับ “ผลกระทบ” ที่เกิดขึ้นว่าเป็นจริงหรือไม่ต่างหาก

หรือเราจะยังคงคิดว่า เสียงเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และไม่ต้องไปสนใจอะไรกับเสียงที่ดังมากและส่งผลกระทบอยู่ทั่วไปในสังคมขณะนี้??

“หยุด” เปลี่ยน

โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 มีนาคม 2551

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนิตยสารฉบับหนึ่งมาขอนัดสัมภาษณ์ผู้เขียน โดยหัวข้อการสัมภาษณ์เป็นเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ ถึงขนาดที่ทางทีมงานสัมภาษณ์ได้พกถ้วยกาแฟใบเบ้อเริ่มที่มีตัวหนังสือภาษาอังกฤษสีแดงตัวโตแปะเด๋ออยู่ข้างถ้วยว่า “CHANGE” เป็นมุกเก๋ๆ ประกอบการถ่ายภาพ แม้การสัมภาษณ์จะเป็นไปด้วยดี กระนั้นผู้เขียนก็ปฏิเสธที่จะโพสต์ท่าร่วมกับถ้วยกาแฟใบเขื่องดังกล่าว เนื่องด้วยความไม่ลงรอยส่วนตัวกับคำภาษาอังกฤษที่ฉายเด่นอยู่ข้างถ้วย

ดูเหมือนทุกวันนี้ คำว่า “การเปลี่ยนแปลง” ได้ถูกนำไปใช้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขายและการตลาดของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ กันอย่างถ้วนหน้า ไม่เฉพาะแต่แวดวงคนทำงานเพื่อสังคม นักปฏิวัติ หรือนักการเมือง เหมือนแต่ก่อน แม้แต่ในแวดวงธุรกิจ บันเทิง การศึกษา หรือสถาบันทางศาสนาเอง ต่างก็มีการตลาดที่หวังจะหยิบยื่นหนทางให้ผู้คนได้ไถลไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจากสภาวการณ์ในชีวิตที่เป็นอยู่ อาจจะเรียกได้ว่า “การเปลี่ยนแปลง” เป็นแพ็คเกจสีสันใหม่ของคำว่า “พัฒนา” ที่ออกจะเชยและล้าสมัยไปสักหน่อยแล้วสำหรับผู้คนในยุคนี้

จิตวิวัฒน์เองก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง แม้จะยืนยันนอนยันว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกด้านใน อย่างที่เรียกชื่อกลุ่มว่า กลุ่มจิตสำนึกใหม่ (new consciousness) สมาชิกในกลุ่มดูจะไม่ค่อยชอบคำว่า change แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า transformation แทน กระนั้นเมื่อฟังไปฟังมา ก็ชักเริ่มไม่แน่ใจว่าเส้นแบ่งของ “การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ” แบบจิตวิวัฒน์นั้นมีความแตกต่างอะไรไปจากคำว่า “การเปลี่ยนแปลง” ที่เราพบได้ในคำโฆษณาของสำนักต่างๆ ที่กำลังขายสิ่งที่ตนเองทำอยู่

สำหรับในแวดวงธุรกิจ ช่วงนี้มีการฝึกอบรมฮอตฮิตติดอันดับ ที่รู้จักกันในนามแลนด์มาร์ค ฟอรั่ม (Landmark Education) อันนี้ก็น่าตื่นใจไม่น้อย เพราะเขาถึงกับโฆษณากันตัวเป้งๆ เลยว่า เขาขาย “เทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงตนเอง” ขนาดที่ว่า “ไม่พอใจยินดีคืนเงิน” ส่วนจะเปลี่ยนอย่างได้ผลอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ เพราะผู้เขียนเองไม่เคยไป ได้ยินแต่ชาวบ้านเขาพูดถึง

ส่วนในแวดวงการศึกษา ตอนนี้มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ผ่านร่างหลักสูตรปริญญาโทจิตตปัญญาศึกษาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แว่วๆ ว่ามีผู้สมัครเข้าเรียนทะลุเป้าอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ เรียกเสียงฮือฮาในแวดวงการศึกษาได้อย่างถ้วนหน้า โดยตัวหลักสูตรเองก็มีชื่อเก๋ๆ ว่า “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” อ๊ะ เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว...ช่างตามสมัยจริงๆ

ยังไม่นับนักการเมืองทั้งหลายที่ต่างโพนทะนาสัญญาชวนเชื่อแบบขายฝันที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองและการเมืองไปในทิศทางที่ดีขึ้น แวดวงพุทธศาสนาก็ไม่น้อยหน้า ไม่ว่าจะเป็นแบบโลกๆ อย่างการสะเดาะเคราะห์ ดูหมอ ทำนายโชคชะตา ปัดรังควาน แก้กรรม ผูกดวง จนถึงแบบเข้าท่าขึ้นมาหน่อย อย่างการเข้าวิปัสสนากรรมฐานห้าวันเจ็ดวัน ดูแก้ว ดูจิต ดูกาย ฯลฯ ดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกกำลังรอการ “เปลี่ยนแปลง” “เปลี่ยน” “เปลี่ยน” “เปลี่ยน” บางคนก็ชี้ไปด้านนอก บางคนก็ชี้เข้าข้างใน คนนั้นบอกของฉันดีกว่า คนนี้บอกของฉันเร็วกว่า แต่ไม่ว่าจะหันไปทางใด ใครๆ ก็อยากเปลี่ยน เปลี่ยนนั่น เปลี่ยนโน่น เปลี่ยนนี่ จี้ไปที่ความพร่องและความกลัว ยิ่งสามารถหาหนทางการเปลี่ยนที่ลัดสั้น ประมาณว่า “เจ็ดวันบรรลุผล” หรือ “การันตีชีวิตเปลี่ยน” ได้นี่ยิ่งแจ๋วใหญ่ ขอให้บอกมาเถอะว่าจะต้องทำตามขั้นตอนอะไรบ้าง หนังสือ how-to ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สำนักเกจิผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด

ผู้เขียนไม่ได้แสร้งประชดประชัน เย้ยหยันกระแสความอยากเปลี่ยนที่กำลังเกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ ว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไปเสียทั้งหมด แต่ในความยิ่งใหญ่อลังการของหนทางการเปลี่ยนแบบฉับพลันที่เอามาโฆษณาขายกัน ถึงขั้นพัฒนาขึ้นเป็นกระแสการเชิญชวนให้คนอื่นเปลี่ยนในแบบที่เราเปลี่ยนนั้น เราเคยได้ลองตั้งคำถามถึงความอหังการของร่องความคิดแบบนี้บ้างหรือไม่ ด้วยคำถามแบบไร้เดียงสาประมาณว่า “เปลี่ยนอะไร” “ทำไมต้องเปลี่ยน” “เปลี่ยนแล้วไง” “ใครเปลี่ยนใคร” “อะไรเปลี่ยน” เป็นต้น

แม้การไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนี่ก็เป็นปัญหาที่ใหญ่ไม่ใช่เล่น แต่ไปๆ มาๆ ความทะเยอทะยานพยายามที่จะเปลี่ยนกันเกินเหตุก็ดูจะยิ่งสร้างปัญหาให้อีรุงตุงนังหนักขึ้นไม่แพ้กัน บางทีการที่สังคมเราจะน่าอยู่ขึ้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปลุกกระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่ ตรงกันข้ามจุดเริ่มต้นอาจเป็นเรื่องง่ายๆอย่างการหยุดความคิดที่จะเปลี่ยน และหันกลับมารู้เนื้อรู้ตัวกับสิ่งที่เราแต่ละคนกำลังทำๆ กันอยู่ให้มากขึ้น ไม่ว่าสิ่งที่คุณเป็นมันจะน่าเกลียดน่ากลัวขนาดไหน ไม่ว่าสถานการณ์ในชีวิตของคุณจะเต็มไปด้วยความทุกข์และอุปสรรคมากเพียงไร คุณก็พร้อมที่จะยอมรับ เผชิญ และเรียนรู้กับทุกประสบการณ์ตรงหน้าตามที่เป็น อย่างไม่รีบที่จะวิ่งหนี หรือขอเปลี่ยน

คุณค่าทางจิตวิญญาณที่ยั่งยืนหาได้อยู่ที่จุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่เพียงจุดเดียวของชีวิต แต่มันจะปรากฏขึ้นให้เราสัมผัสได้อย่างจริงแท้ ก็ต่อเมื่อเราได้เห็นถึงศักยภาพภายในที่เราสามารถดำรงอยู่ในภาวะความเป็นปกติอย่างไม่สั่นคลอน อันแสดงถึงความเต็มเปี่ยมและอิสรภาพสูงสุดที่มีอยู่แล้วภายในตัวเรา เราล้มเลิกความอหังการที่จะเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงคนอื่น หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงตัวเองแบบฉาบฉวย ในทางตรงกันข้ามเราพร้อมและยอมศิโรราบให้กับทุกสิ่งตามที่เป็นจริง กล้าที่จะตาย และกล้าที่จะเจ็บ ยอมให้โลกเปลี่ยนแปลง สะกิด และสัมผัสหัวใจของเราอย่างไม่ขัดขืน ทุกประสบการณ์ได้ถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของความกล้าหาญแห่งการเดินทางทางจิตวิญญาณอันปราศจากจุดหมาย ทุกท่วงทำนองคือการฝึกตนที่จะใช้ชีวิตอย่างสมดุลและสอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ จนเกิดเป็นความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองเป็นในทุกๆ ย่างก้าวอย่างอ่อนน้อม สัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างไม่แยกขาด

และคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ว่านั้น จะเป็นสิ่งเดียวในตัวคุณที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และไม่สามารถถูกทำลายได้...เป็นการตื่นรู้และพร้อมตายอย่างสูงสุดจน ”หยุด” ที่จะเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง

มหาวิทยาลัยมาม่า



โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 มีนาคม 2551

ผู้เขียนขออภัยที่นำชื่ออาหารยอดนิยมมาตั้งชื่อบทความนี้ “มาม่า” เป็นได้ทั้งชื่อเฉพาะและชื่อทั่วไป ซึ่งหมายถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อที่จำหน่ายสำหรับผู้ที่ต้องการกินอาหารอย่างรีบด่วน ปรุงง่าย อร่อย และอิ่มเร็ว แม้ว่าจะมีส่วนประกอบเป็นเส้นหมี่ วุ้นเส้น และมีรสชาติต่างกัน เราก็เรียกว่า มาม่า คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกัน เหมือนกับที่เรียกผงซักฟอกทุกยี่ห้อว่า แฟ้บ และเรียกบาล์มทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นอย่างน้ำหรือขี้ผึ้งว่า ยาหม่อง

ผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีจำนวนมากมายมหาศาลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การผลิตสนองความต้องการของตลาด จึงต้องใช้ระบบโรงงานที่มีตัวป้อน กระบวนการผลิต และตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตทุกชิ้นอย่างเข้มงวด

การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีสูตรที่แน่นอน กำหนดวัตถุดิบส่วนผสม วิธีปรุงอย่างแน่นอนในแต่ละรสชาติ เครื่องจักรในโรงงานมีกลไกที่ช่วยให้ผลิตได้รวดเร็ว ต่อเนื่องตามสายพานทุกขั้นตอนจนออกมาเป็นก้อนบะหมี่และผงปรุงรส บรรจุหีบห่อสวยงาม ดูน่ากิน ทั้งรสหมูสับ รสต้มยำกุ้ง รสผัดขี้เมา ผู้บริโภคได้ลิ้มรสหมูสับ แต่ไม่มีเนื้อหมู รสต้มยำกุ้งไม่มีกุ้ง ถ้าจะให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนจึงต้องเติมไข่ เนื้อสัตว์ และผักเข้าไปด้วย

มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาขั้นอุดมมาเกี่ยวอะไรกับบะหมี่มาม่า ขอตอบว่าผู้เขียนมองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในด้านดีมิใช่ด้านร้าย เพียงแต่อยากเปรียบเทียบระบบและกระบวนการผลิตบัณฑิต ตั้งแต่การคัดเลือกตัวป้อน กระบวนการเรียนการสอน และผลผลิตคือบัณฑิตจำนวนแสนในแต่ละปีนั้น มีคุณภาพและปัญญาหารเพียงใด มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรที่ลูกค้าทั่วประเทศใฝ่ฝันต้องการมาครอบครองจริงหรือ?

เมื่อมหาวิทยาลัยใช้วิธีการตามระบบโรงงาน มหาวิทยาลัยจึงต้องมีการคัดเลือกตัวป้อนเข้าสู่ระบบอย่างเข้มงวดสำหรับมหาวิทยาลัยแบบปิดหรือแบบจำกัดจำนวนรับ ส่วนมหาวิทยาลัยเปิดนั้น แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อให้โอกาสคนส่วนใหญ่ได้เข้าเรียน แต่ก็ต้องมีกฎเกณฑ์บางประการที่ตัวป้อนเหล่านั้นจะถูกกลั่นกรองทีละขั้น มิฉะนั้นก็ไม่สำเร็จการศึกษา ซึ่งมักจะมีคำกล่าวกันว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้าง่ายแต่จบยาก

ตัวป้อนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็คือ แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม และเครื่องชูรสต่างๆ ตามสูตรที่กำหนด ซึ่งก็จะต้องเลือกสรรวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพเป็นสำคัญ ส่วนตัวป้อนเข้าสู่ระบบอุดมศึกษานั้น นอกจากทรัพยากรต่างๆ แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ นักเรียนที่สมัครเข้าเรียน ซึ่งมีการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยและคณะวิชาที่สังคมวางค่านิยมไว้สูง ก็ยิ่งมีการแข่งขันเหมือนกับเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

วิธีการสอบเข้าเพื่อคัดเลือกตัวป้อนที่เป็นมนุษย์ จึงสร้างความสุขและความทุกข์อย่างใหญ่หลวง แม้ว่าจะมีการวิจัยศึกษาหาวิธีการที่จะคัดเลือกหลายรูปแบบ เพื่อมิให้เกิดความบีบคั้น ความเครียด พยายามสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นทั่วถึงมากที่สุด แต่ความเป็นมนุษย์มิใช่แป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม ตัวป้อนเข้ามหาวิทยาลัยจึงมีความรู้สึก มีความคาดหวัง มีอารมณ์สุขทุกข์ ลุกลามไปถึงพ่อแม่พี่น้องในครอบครัว ปลาบปลื้มลิงโลดใจเมื่อสอบเข้าได้ และเศร้าโศกเมื่อผิดหวัง ตัวเลขและแต้มเฉลี่ยเป็นเสมือนตราประทับที่หน้าผาก ว่าคนนี้เข้าได้และคนนั้นต้องไปหาที่เรียนใหม่

เมื่อขันแข่งแย่งชิงกันเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว กระบวนการพัฒนาให้นิสิตนักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ ยิ่งมีองค์ประกอบ วิธีการ และบริบทที่ซับซ้อนยิ่งนัก สายพานการผลิตไม่เลื่อนไหลรวดเร็วเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หากแต่ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานและเป็นพลวัต

กระบวนการพัฒนาบัณฑิตแตกต่างจากกระบวนการผลิตในโรงงานอย่างสิ้นเชิง นักเรียนที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย เติบโตและพัฒนาได้ไม่เหมือนกัน จนยากที่จะมีหลักสูตรและศาสตร์ที่ดิ่งเดี่ยว แข็งขึงตึงตัว เพียงหนึ่งเดียวมาเปลี่ยนแปลงนิสิตนักศึกษาได้ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันจึงเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการอุดมศึกษา ที่มุ่งพัฒนาบัณฑิตและพัฒนาหลักสูตรแบบองค์รวม เกิดความคิดเรื่อง humanized educare คือการพัฒนาบัณฑิตให้มีหัวใจเป็นมนุษย์ หลายมหาวิทยาลัยเริ่มศึกษากระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกลมกลืนระหว่างความรู้ภายนอกตนกับความรู้ภายในตน หลายสาขาวิชาเริ่มตระหนักว่า การเคี่ยวเข็ญให้นิสิตนักศึกษามีความรู้และเก่งในศาสตร์ของตนอย่างดิ่งเดี่ยวนั้น ไม่เกิดผลให้บัณฑิตประสบความสำเร็จในชีวิตการงานและการดำรงชีวิตในสังคม

มหาวิทยาลัยเริ่มปรับเปลี่ยนสาระและกระบวนการเรียนรู้ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป จากการที่มีรายวิชาซึ่งใช้เป็นฐานสำหรับต่อยอดในการเรียนวิชาเฉพาะ เช่น คณิตศาสตร์ สถิติเบื้องต้น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมวิทยา วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฯลฯ มาเป็นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร วิธีการคิดเชิงวิเคราะห์ การใช้เหตุผล ชีวิตกับธรรมชาติ ความเป็นพลเมืองดี สุนทรียภาพ และการพัฒนาบุคลิกภาพ โดยแทรกค่านิยมทางจิตวิญญาณ (spiritual value) เข้าไปตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑ จนถึงปีสุดท้าย

กระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้เพิ่มความรู้ทางสังคมและการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่หอคอยงาช้างอีกต่อไป แต่เป็นสถาบันหนึ่งของสังคมที่ต้องรับผิดชอบต่อความเจริญ ความเสี่ยง และความเสื่อมของชุมชนท้องถิ่น การสอนจึงต้องเน้นพลังกลุ่ม การทำงานเป็นทีม การช่วยเหลือเกื้อกูล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อความสุขและความทุกข์ของประชาชน

เมื่อมีข่าวว่าบัณฑิตหลายมหาวิทยาลัยฆ่าตัวตาย ข่าวเช่นนี้เกิดบ่อยเสียจนต้องคิดว่า กระบวนการผลิตบัณฑิต มิได้ฝึกให้รู้จักปรับตัวและแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี การพัฒนาสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญในมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ส่วนใหญ่ต่างก็เครียด คับข้องใจ และมุ่งแข่งขัน นิสิตนักศึกษาว้าเหว่ เหงาและโดดเดี่ยว ระบบอาจารย์ที่ปรึกษา ระบบการปรึกษาและแนะแนวจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม มหาวิทยาลัยเริ่มสนใจกระบวนการกัลยาณมิตรที่เปิดโอกาสให้บุคลากรและนิสิตนักศึกษาได้ช่วยเหลือเกื้อกูล แนะแนวทางซึ่งกันและกัน ตลอดจนกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เส้นทางดำเนินชีวิตอย่างไม่เป็นทางการ ทุกวันนี้ มี “การประชุม” มากเกินไปในมหาวิทยาลัย แต่ขาดแคลนกิจกรรมที่เราจะพบปะพูดคุยกันอย่างเปิดเผยและปลอดโปร่งโล่งใจ

เมื่อตัวป้อนของมหาวิทยาลัยเป็นมนุษย์ สถาบันนี้จึงต้องเป็นองค์กรที่มีชีวิต มีสุขภาวะ และสร้างปัญญาหาร ๔ หมู่ คือ ความรู้ ความคิด ความสามารถ และความดี ให้แก่ผู้ที่จะเป็นบัณฑิตเกิดความรู้ดี คิดดี และทำดี

ชีวิตของนิสิตนักศึกษามิได้อยู่เพียงในห้องเรียนและห้องปฏิบัติการเท่านั้น นอกเหนือจากคำบรรยาย ตำรา และโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ เขายังได้สัมผัสกับบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และผู้คนมากมาย บริบทเหล่านี้จะช่วยสร้างลักษณะที่เป็นทั้งคุณและโทษ ถ้าเขาคุ้นชินกับวิธีการเรียน ศึกษาค้นคว้าน้อยๆ แต่ต้องการคะแนนมาก คุ้นชินกับอาคารเรียน ห้องอาหาร ห้องน้ำที่สกปรก คุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมที่แห้งแล้ง มีเศษขยะทิ้งเกลื่อน และเสียงพูดคุยที่หยาบคาย ตะโกนตะคอกใส่กัน เมื่อเขาเป็นบัณฑิต เขาก็จะเคยตัวที่ต้องหาวิธีทำงานน้อยๆ เพื่อให้ได้เงินมากๆ เคยตัวต่อการผรุสวาทด่าทอ เคยตัวต่อการดำรงชีวิตที่สกปรกทั้งกายและใจ

มหาวิทยาลัยต้องการผลผลิตเช่นนี้หรือ?

จริงอยู่ มหาวิทยาลัยมีประเด็นหลายประการที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ความเป็นเลิศในการแข่งขัน การเข้าถึงความรู้ที่ก้าวไกลอย่างไม่หยุดยั้ง ความเสมอภาค และเป็นธรรมทางการศึกษา ประสิทธิภาพทางการวิจัยและวิชาการของคณาจารย์ คุณภาพของการเรียนการสอนและคุณภาพของบัณฑิต เป็นต้น แต่ผู้เขียนก็อยากเห็นมหาวิทยาลัยก้าวพ้นจากระบบคิดอย่างเดิมๆ ก้าวข้ามจากการเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตร ก้าวกระโดดจากการเป็นมหาวิทยาลัยมาม่าไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชีวิต สร้างปัญญาและแสงสว่างให้ชีวิตของบัณฑิตทุกคน

ในการบรรยายเรื่องวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้สรุปเบญจลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งของสังคมว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องสร้างคุณลักษณะของมหาวิทยาลัย ๕ ประการคือ

๑. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง (healthy organization)

๒. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนา (learning organization)

๓. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่มีเสรีภาพทางปัญญา (intellectual organization) คือไม่ตกอยู่ในกับดักของหลักเกณฑ์ที่เป็นกรอบตายตัว ไม่ยอมจำนนต่อความยากและอุปสรรคในการริเริ่มสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์

๔. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่มีพลัง (smart organization) มีการเสริมพลังทวีคูณอยู่เสมอ ถ้าจะใช้ภาษาทันสมัยก็คือ เท่อย่างมีท่วงท่า...มีเอกลักษณ์และศักยภาพ

๕. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่มีชีวิต (living organization) มีความเติบโตงอกงาม ไม่ชะงักงันและเหี่ยวเฉา มีบรรยากาศคึกคักทางวิชาการ เบิกบานด้วยกิจกรรมสัมพันธ์ และเปิดกว้างออกไปสู่สังคมส่วนรวม

ท่านระพินทรนาถ ตะกอร์ รัตนกวีชาวอินเดียได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ชื่อ “อาศรมศานตินิเกตัน” เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ เป็น “...สำนักศึกษาที่ประชาชนผู้แตกต่างกันด้วยอารยธรรมและประเพณี ได้เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกัน...เด็กที่มีสติปัญญาปานกลางหรือต่ำกว่าสามัญ ก็อาจได้รับการอบรมให้เป็นพลเมืองดีงามจนกลายเป็นบุคคลมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองได้...ท่านเห็นว่ามนุษย์เราเปรียบประดุจเมล็ดพืช ถ้าเพาะผิดวิธีก็ไม่งอกงาม แต่ถ้าถูกวิธี คือถูกแก่อัธยาศัย จิตใจ และสติปัญญาแล้ว พืชที่แม้จะมีทีท่าว่าจะไม่แตกดอกออกกอ ก็อาจเจริญเติบโตกลายเป็นไม้มีค่าต่อไปก็ได้...”

ความสดสวยของดอกไม้มิได้เกิดจากการระบายสี

แววขนที่เลื่อมลายระยับยามยูงรำแพนไม่มีใครแต่งแต้ม

ดวงไฟย่อมจุดไม่ติดหากขาดเชื้อเพลิงอยู่ภายใน

ยากนักที่เราจะเติมโอชารสที่เปลือกผลไม้

ใครเล่าจะผลิตบัณฑิตให้เป็นศึกษิตที่สง่างาม

คุณลักษณะทุกอย่างของทุกสิ่ง ทุกคนย่อมฉายออกจากภายในมากกว่าการห่อหุ้มฉาบทาจากภายนอก

นี่คือบทความที่เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของความคาดหวังต่อพันธกิจของมหาวิทยาลัย เป็นการมองภาพรวมของระบบมากกว่า การเจาะจงลงลึกในแต่ละด้าน เป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทัดทานมิให้มหาวิทยาลัยเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรและจัดการอุดมศึกษาเชิงพาณิชย์

จะเกิดผลอย่างไรก็แล้วแต่บุญกรรมที่จะกระทบต่ออนาคตของประเทศไทย

แพ้ชนะหรือกลุ้มใจทำไม เมื่อสิ่งที่เห็น - ล้วนไม่จริง

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มีนาคม 2551

จริงๆ แล้วเรื่องที่จะเขียนในวันนี้ เป็นเรื่องของมายา ที่เรามักจะเรียกว่าภาพลวงตา - เพราะตาเป็นประสาทการรับรู้ที่มนุษย์และสัตว์โลกได้รับข้อมูลจากภายนอกมากที่สุด - สำหรับมนุษย์ ตาเป็นอวัยวะที่ให้การรับรู้สิ่งแวดล้อมภายนอกถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเลยทีเดียว และเรื่องของมายานั้น มีคนเขียนมากมายอยู่แล้วในด้านของศาสนา คราวนี้เราจะพูดกันทางด้านของวิทยาศาสตร์บ้าง

แต่หากจะพูดในด้านของวิทยาศาสตร์ หลายตอนยังเป็นสมมติฐานหรือเพียงข้อสันนิษฐานที่มีความหมายทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง จึงไม่ใช่ข้อพิสูจน์ และอาจต้องขอให้ผู้อ่านช่วยคิดต่อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราและสัตว์โลกทั่วไปเห็นหรือรับรู้จากประสาทสัมผัสภายนอก แม้แต่สิ่งที่ได้จากความจำด้วยจิตสำนึกของเรา เช่น ความคิด ล้วนแล้วแต่เป็นความไม่จริงแท้ หรือหลอกให้หลง แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันทั้งสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของชีวิต (existence) นั้นๆ นั่นคือความจริงทางโลกที่สาธารณชนคนทั่วไปแย่งชิงต่อสู้กันเพื่อการได้มาหรือไม่ได้มา โดยคิดว่า ถ้ามีสิ่งนั้นหรือไม่มีสิ่งนั้น คือความสุข – โอ้! อนิจจา

นักปรัชญาได้พูดถึงโลกที่เราอยู่นี้ว่า “โลกแห่งภาพลวงตา” มาตั้งนานแล้ว แต่เพิ่งจะพิสูจน์ได้ว่า มันเป็นการรับรู้ที่ไม่ใช่ความจริงแท้ในทางวิทยาศาสตร์ – แควนตัม เมคคานิกส์ – เมื่อเพียง ๘๐ ปีมานี้เอง โดยเป็นความจริงทางแควนตัมข้อที่แปด (duplex world of Heisenberg) จากการแปลความจริงทางแควนตัมของการประชุมที่โคเปนเฮเกน (Copenhagen interpretation of quantum reality) กล่าวคือ เมื่อเรามองธรรมชาติรอบๆ ตัว เราจะมองเห็นคุณสมบัติที่ประกอบเป็นภาพลักษณ์ของสิ่งนั้น เช่น รูปร่าง สีสัน หรือกลิ่นของมัน ซึ่งคุณสมบัติที่ว่า ไม่มีโครงสร้าง มวล อะตอม หรือโมเลกุลอะไรทั้งนั้น เป็นเพียงเรื่องของ “ตา” และ “สมอง” ที่เห็นและแปลให้เป็นภาพลักษณ์นั้นๆ โดยที่ในสมองหรือลูกตาของเรา ไม่มีอะไรที่ชี้บ่งว่ามีรูปร่าง สีสัน หรือกลิ่น ของสิ่งที่เรากำลังดูและรับรู้นั้นๆ อยู่เลย พูดง่ายๆ คือ ทั้งรูปร่าง สีสัน หรือกลิ่น ล้วนไม่มีที่อยู่

โดยคุณสมบัติที่กำลังพูดถึงนี้เรียกว่า “ควาเลีย” (qualia) ที่ไม่เพียงไม่ดำรงอยู่จริงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเพียงความรู้สึกของการทำงานของสมองเรา “แต่ละคน” - ที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด - ให้รับรู้เช่นนั้น คือ สมองสามารถทำให้เราเชื่อ โดยรับรู้ว่า สิ่งๆ นั้นๆ มีอยู่จริง มีลักษณะหรือคุณสมบัติเช่นนั้นจริงๆ และเราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติ ด้วยความจำหลังจากที่เราเห็นมันอีกครั้งในภายหลัง

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อผู้เขียนอายุราวๆ ไม่ถึงสองขวบ ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจที่ดวงจันทร์บนฟ้าที่นอกชาน มันตามผู้เขียนมาถึงในห้องนอน ทำให้มองเห็นมันลอยอยู่นอกหน้าต่าง จำได้ว่านั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นพระจันทร์ที่มีรูปร่างกลมและมีสีเหลือง “กลมและสีเหลือง” คือคุณสมบัติหรือลักษณะที่จำได้ตามที่ “มองเห็น” ในครั้งแรก โดยที่ไม่รู้ว่ากลมนั้นต่างจากสี่เหลี่ยมหรือรูปทรงอื่นๆ อย่างไร และไม่รู้ว่าสีเหลืองต่างจากสีน้ำเงินหรือสีแดงอย่างไร และไม่รู้ว่าดวงจันทร์คืออะไร จนโตขึ้นมา ที่จำได้คือ ดวงจันทร์ (ที่มารู้จักชื่อในภายหลัง) นั้น มีลักษณะกลมและสีเหลือง นั่นคือ ผู้เขียนรู้ว่าดวงจันทร์จะต้องกลมและมีสีเหลืองมาตั้งแต่เห็นพระจันทร์เป็น “ครั้งแรก” เลย

นักวิทยาศาสตร์บางคนอธิบายว่า สมองของเรานั้นประกอบขึ้นมาจากเซลล์ที่ประกอบด้วยโมเลกุลจำนวนนับแสนโมเลกุล และแต่ละโมเลกุลประกอบขึ้นมาด้วยอะตอมที่ประกอบด้วยอนุภาค เช่น อิเล็กตรอน โปรตอน ฯลฯ อีกที ดังนั้น สมองของเราที่แท้จริงแล้ว คือแหล่งชุมนุมของอนุภาคแหล่งหนึ่ง แต่ละอนุภาคอาจจะมีธรรมชาติของลักษณะ หรือมีคุณสมบัติที่ให้รูปร่าง กลิ่น สีสัน หรือรสชาติ เป็นของมันเองโดยเฉพาะก็ได้

ข้อสันนิษฐานดังกล่าว อาจจะอธิบายความสัมพันธ์ต่อกันและกันระหว่างจิตกับกาย - จิตในสภาพของคลื่น และกายที่ประกอบขึ้นโดยอนุภาค - ได้ด้วย (V.S. Ramachandran, Reith Lecture, quoted in The Spiritual Brain, 2007) ว่านั่นคือ “ธรรมชาติของจิต” ที่นักวิทยาศาสตร์กายภาพและนักประสาทวิทยาศาสตร์ไม่ชอบได้ยินเพราะตอบไม่ได้ ดังเช่น ฟรานซิส คริก นักชีววิทยารางวัลโนเบล และ แดเนียล เด็นเน็ต นักปรัชญาชื่อดังที่เป็นนักวัตถุนิยมอย่างสุดขั้วบอกว่า “สรุปได้เลยว่าในโลกนี้ (สำหรับผม) ไม่มีคำว่าควาเลีย” โดยไม่อธิบายใดๆ เลยต่อจากนั้นแต่อย่างใด

เรื่องของควาเลียหรือลักษณะที่ปรากฏให้เราแต่ละคนรู้ เพื่อการสื่อสารข้อมูลต่อกันและกันนั้น ผู้เขียนเคยนำมาเล่าสั้นๆ ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์อยู่บ้าง แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะทำให้ผู้อ่านรู้เรื่องได้ แต่ทุกวันนี้มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก เพราะมีคนสนใจเรื่องของจิตมากขึ้น - จากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่าประมาณ ๗ ใน ๑๐ ของหนังสือขายดีที่อเมริกาจะเป็นเรื่องของจิต - และเพราะว่า “ควาเลียหรือธรรมชาติของจิต” แม้จะไม่มีมวล แต่เป็นประสบการณ์ที่มีจริง ซึ่งวิทยาศาสตร์กายภาพตอบอะไรไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่มันมีความสำคัญอย่างที่สุดต่อการดำรงอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนหรือสังคมของมนุษย์ เพื่อการ “รู้” ร่วมกัน เพื่อจะได้ “รอด” ด้วยกันนั้น เช่นเดียวกับ ข้อมูล (information) คณิตศาสตร์ หรือภาษา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสื่อ “ความหมาย” เพื่อให้จิตที่ “ตื่น” (self-awareness) ของแต่ละคนได้รู้ตัวและรู้ตัวเองว่า จะต้องทำอย่างไรในเวลานั้น เพื่อให้เราสามารถอยู่รอดและปลอดภัยได้ทั้งปัจเจกและโดยรวม

ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า ในทางวิทยาศาสตร์คลาสสิคหรือเทคโนโลยีทางกายภาพนั้น เขาจัดให้ข้อมูลและคณิตศาสตร์เป็นภววิสัย (object) หรือ “สิ่ง” ที่วัดได้ รู้ได้ สังเกตได้ คือเป็นเรื่องของภายนอก ส่วนด้านที่เป็นภายในนั้น ไม่มีการพูดถึง และไม่มีแม้แต่ทฤษฎีที่ยอมรับกัน

คำว่า “ควาเลีย” นั้น วิทยาศาสตร์กายภาพแทบจะไม่ได้พูดถึงเลย ดังนั้น ในบทความนี้จะพูดแต่เรื่องของ “ความหมาย” ที่วิทยาศาสตร์คลาสสิคตอบให้แน่นอนไม่ได้เลย ซึ่งนอกจากเรื่องของควาเลียแล้ว ยังมีอีกหลายคำ เช่น ข้อมูล คณิตศาสตร์ หรือภาษา เป็นต้น

ในเรื่องของข้อมูล (information) นั้น วิทยาศาสตร์กายภาพได้สร้างทฤษฎีว่าด้วยข้อมูลขึ้นมา พร้อมๆ กับความก้าวหน้าอย่างหวือหวาทางด้านคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ ที่แม้ผู้เขียนจะคิดว่าทฤษฎีดังกล่าวไม่ใช่ความจริง แต่ทว่ามันเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลทั้งหลาย นั่นคือ การวัดข้อมูลเป็นบิตส์ (bits) จากสภาพของอะโตรปี หรือ ความไร้ระเบียบขององค์กรทางกายภาพที่เกิดจากความร้อน - ซึ่งเป็นไปตามกฎเทอร์โมไดนามิกส์ - นั่นคือ การใช้ข้อมูลทำให้เกิดความร้อนที่สามารถวัดได้ โดยวัดจำนวนบิตส์ของการเกิดอะโตรปี พูดง่ายๆ เป็นการวัดอะโตรปีหรือความไร้ระเบียบจากการเกิดความร้อน (heat) ในกรรมวิธีของการบริหารข้อมูลนั้นๆ ซึ่งให้ประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี ทำให้ข้อมูลเหมือนกับว่าเป็นสิ่ง (object) ที่อยู่ข้างนอก เป็นประเด็นทางกายภาพ ทั้งๆ ที่ข้อมูล รวมทั้งภาษา และควาเลียเป็นเรื่องของ “ความหมาย” ที่สัมพันธ์กับจิต - ไม่ใช่สมองที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร (processing) เท่านั้น - ความหมายที่จำเป็นต่อการ “รู้รอด” และ “รู้ว่ากูเป็นผู้รู้หรือผู้มีความรู้” ซึ่งแควนตัมฟิสิกส์ได้พิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้น

ในทางแควนตัมฟิสิกส์ ไม่ว่าจะเป็นควาเลีย ข้อมูล ภาษา ความรู้ หรือคณิตศาสตร์ ล้วนเป็นเสมือนภาพสองภาพที่จิตรู้ของมนุษย์แต่ละคนมีในขณะที่ตื่นอยู่ อย่างที่ จอห์น เอ. วีลเลอร์ (John Archibald Wheeler) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้นิยามคำว่า “หลุมดำ” หมุนกลับความสัมพันธ์และการมีปฏิกิริยาต่อกันและกันเป็นตรงกันข้าม โดยเริ่มที่จิตจักรวาลแล้วมาถูกบริหารที่สมองโดยจิตรู้เป็นผู้สังเกต นั่นคือวีลเลอร์เรียงใหม่ว่า ผู้สังเกต - เป็นข้อมูล - เป็นสสารวัตถุ ซึ่งเป็นเรื่องของแควนตัมฟิสิกส์ แทนที่จะเป็นจาก สสารวัตถุ - เป็นข้อมูล - เป็นผู้สังเกตหรือผู้ตรวจ-วัด (measurement) อันเป็นเรื่องของคลาสสิคัลฟิสิกส์ (รวมทั้งทฤษฎีของข้อมูลจากอะโตรปีที่กล่าวมาข้างบน) ทฤษฎีของ จอห์น วีลเลอร์ อาจสรุปได้ว่า ข้อมูลที่ได้และมีความหมาย มาจากข้อมูลดิบ (ก่อนการบริหารที่สมอง) หรืออาจจะพูดได้ว่า ข้อมูลที่มีค่ามีความหมายมาจากการบริหาร “ข้อมูลดิบหรือจิตจักรวาล” ด้วยจิตรู้ที่สมอง (It from bits) ทำให้ จอห์น เอ.วีลเลอร์ โด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้เขียนคิดเหมือนกับทฤษฎีของ จอห์น เอ. วีลเลอร์ อยู่ครึ่งหนึ่ง กล่าวคือ ผู้เขียนคิดว่า จักรวาลไม่มีที่สิ้นสุดดังที่นักฟิสิกส์ส่วนหนึ่งเชื่อ (Michio Kaku: Parallel Worlds, 2005) เฉพาะจักรวาลของเรานี้ ประกอบขึ้นด้วยจิตที่มีมาก่อนจักรวาลแห่งปรากฏการณ์หรือก่อนมี “บิ๊ก-แบง” ซึ่งจิตปฐมภูมิที่มีลักษณะเป็นคลื่นพลังงานนี้ จะมีความถี่ของคลื่นเป็นไปตามมิติเฉพาะของจักรวาลนี้ (สามมิติบวกหนึ่ง) และเพราะว่าการสังเกตหรือการตรวจวัดในขณะที่เราใช้จิตรู้ที่สมองไปมองดู สังเกต ทดลอง หรือพัวพันกับสภาพทางแควนตัมของข้อมูลดิบหรือจิตจักรวาล ทำให้ข้อมูลดิบกลายเป็นข้อมูล “เปิดเผย” อย่างที่เราใช้และรู้ๆ กัน จากการสลายไปของสภาพคลื่น (wave function collapse)

ถ้าหากเรามองทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในจักรวาลว่า ประกอบด้วยจิตเป็นปฐม โดยจิตในรูปหนึ่งจะคล้ายๆ กับสภาพทางแควนตัมของสสารวัตถุและปรากฏการณ์ทางกายภาพทั้งหลาย แต่จิตจะเป็นทั้งคลื่นและเป็นพลังงานปฐมภูมิ ซึ่งมีความละเอียดกว่าและมีที่มาก่อนพลังงานทางกายภาพ – พระจิตของพระเจ้าในศาสนาที่มีพระเจ้า หรือ โลกแห่งอุดมคติบริสุทธิ์ (the world of pure Idea) โลกแห่งคณิตศาสตร์ (the mathematic world of Plato) ของพลาโต - ซึ่งมีทั้งหลักฐานและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์บางส่วนสนับสนุน

ถ้าหากเราคิดเช่นนี้ เราอาจนำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้กับลักษณะหรือคุณสมบัติของประสบการณ์ใดๆ ก็ได้ที่ไม่ใช่เป็นสสารวัตถุ (object) และรับรู้ไม่ได้ เช่น ควาเลีย ข้อมูล ความคิด จินตนาการ ฯลฯ

เรื่องของภาพลวงตาหรือมายานั้น ก่อนหน้านี้มีอธิบายไว้แต่ในทางศาสนา จึงทำให้นักวิชาการกับปัญญาชนส่วนหนึ่งเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ครั้งนี้เมื่อนำมาอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ โดยเฉพาะด้วยแควนตัมฟิสิกส์ ถึงอาจจะยากไปสักหน่อย แต่ความจริงแท้ย่อมเป็นความจริงแท้อยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าจากศาสนาหรือจากวิทยาศาสตร์ โดยที่ศาสดาของทุกๆ ศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธเจ้า ซึ่งผู้เขียนพอจะรู้อยู่บ้างนั้น สิ่งที่พระองค์ท่านเห็น ไม่เคยมีอะไรที่ไม่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่เลย

เมื่อทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ที่ให้ความรู้และความเชื่อเป็นอย่างเดียวกันเช่นนั้น ความรู้ที่เรามีอยู่ทั้งหมด ทั้งที่ให้ความจำ ความคิด มโนทัศน์ฯลฯ จึงเป็นเพียงภาพลวงตา แล้วจะเอาชนะกันไปถึงไหนกับสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงเช่นนั้น?

ความเงียบ

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้ไปศึกษาที่ประเทศเยอรมนีนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจประเทศนี้มากที่สุดคือ ความเงียบ ไม่ใช่เงียบเหงา หรือเงียบวังเวง แต่เป็นความเงียบสงบ ปราศจากเสียงรบกวนใดๆ ผู้เขียนได้สัมผัสกับความสงัดอันแสนวิเศษครั้งแรก เมื่อนั่งอยู่ในวัดไทยแห่งหนึ่งในเมืองเบอร์ลิน เป็นความเงียบที่เงียบเสียจนกระทั่งผู้เขียนได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจตนเอง เป็นสิ่งที่อัศจรรย์จริงๆ เมื่อนึกถึงครั้งใดก็รู้สึกประทับใจทุกครั้ง อยากให้บ้านเรามีบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมเช่นนั้นอยู่ทั่วไปบ้าง สถานที่ร่มรื่นที่ปราศจากเสียงเครื่องปรับอากาศ ปราศจากเสียงลม เสียงสัตว์เล็กๆ ผู้เขียนพยายามนึกว่าที่ใดในประเทศเราที่จะพบเจอกับความเงียบสงบเช่นนั้นได้จริงๆ แต่ยังนึกไม่ออก หากผู้อ่านท่านใดสามารถแนะนำสถานที่ดังกล่าวได้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก

ผู้เขียนเชื่อว่า ความเงียบจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาเรียนรู้เรื่องของจิตใจในเบื้องต้น เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้และสัมผัสคุณค่าด้านในของตนได้อย่างรวดเร็ว ในสภาวะที่เงียบ ปราศจากเสียงต่างๆ ภายนอกนั้น เราย่อมจะได้ยินเสียงอื่นๆ ภายในได้ชัดเจนขึ้น เช่น ความคิด ความรู้สึกของตน เพราะเราย่อมไม่สามารถพูดเต็มปากเต็มคำว่ารู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา หากไม่เคยกระทั่งได้ยินความรู้สึกนึกคิดภายในของตนเอง

คนเรามักจะได้ยินเสียงภายนอกตัวตลอดเวลา และรู้สึกยินดียินร้ายไปกับเสียงนอกตัวเหล่านั้น โดยไม่ทันตั้งตัว และไม่เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตนได้ จนกระทั่งผันออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำอันปราศจากสติยับยั้ง เป็นบ่อเกิดของปัญหามากมายดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

เมืองเบอร์ลินแม้จะเป็นเมืองหลวงของประเทศเยอรมนี และขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่วุ่นวายที่สุด แต่ก็มีมุมสงบร่มเย็นมากมาย คนเยอรมันมักจะชักชวนมิตรสหายไปนั่งดื่มกาแฟตามร้านเล็กๆ ข้างถนน ซึ่งปราศจากเสียงเพลงดังๆ หรือเสียงโทรศัพท์มือถือ คนเยอรมันเคร่งครัดมากที่จะไม่รับโทรศัพท์มือถือยามรับประทานอาหาร หรือในห้องประชุม เพื่อนฝูงมักจะไปนั่งสนทนากันในบรรยากาศสงบร่มรื่นในวันหยุดอย่างไม่เร่งรีบ วันหยุดจะเป็นวันหยุดจริงๆ ส่วนวันทำงานก็จะถือว่าเป็นวันทำงานจริงๆ เช่นกัน ตามร้านอาหารต่างๆ จะไม่ใช้เสียงดัง เพราะถือว่าผิดธรรมเนียมอย่างยิ่ง

ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อไปถึงประเทศเยอรมนีในตอนแรกนั้น ผู้เขียนจะได้ยินเสียงวี๊ดเบาๆ ก้องอยู่ในหูตลอดเวลา จึงไปขอคำปรึกษาจากหมอ หมออธิบายให้ฟังว่า ผู้เขียนไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร เพียงแต่เปลี่ยนที่อยู่จากที่ที่มีเสียงดัง มาเป็นที่ที่เงียบ จึงทำให้ได้ยินเสียงเช่นนี้อยู่พักหนึ่ง แล้วจะหายไปเอง หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เสียงวี๊ดเบาๆ ในหูของผู้เขียนก็หายไป ผู้เขียนจึงสนใจเรื่องของเสียงและการได้ยินมาโดยตลอด การไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีในหลายปีนั้น จึงถือว่าเป็นการปลีกวิเวกของผู้เขียนก็ว่าได้ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าใจความหมายของเพลง Silent Night เข้าใจว่าเงียบจริงๆ เป็นเช่นไร สงบจริงๆ เป็นเช่นไร ก็ตอนไปอยู่เยอรมนีนี่เอง

ส่วนในบ้านเรานั้น ไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องการใช้เสียง เรามักจะเปิดเพลงให้ดังที่สุดเท่าที่จะดังได้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นมลภาวะต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ผู้เขียนเองทำวิจัยเรื่องพลังงานเสียง และพบว่าพลังงานเสียงสามารถทำลายสิ่งมีชีวิตบางชนิดได้ เช่นเดียวกับงานวิจัยอันโด่งดังของ มาซารุ เอโมโตะ (Masaru Emoto) นักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องผลึกของน้ำที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นเสียงชนิดต่างๆ พบว่า เสียงที่ดังมากเกินไป จะทำให้คุณภาพการเรียงตัวของโมเลกุลน้ำอยู่ในระดับต่ำ และไม่สามารถเกิดผลึกที่สวยงามได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ร่างกายมนุษย์ที่ ๗๐ เปอร์เซนต์ประกอบไปด้วยน้ำ ก็อาจจะเกิดผลกระทบได้เช่นกัน

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปจัดกิจกรรมให้เยาวชนในสถานพินิจเด็ก เด็กคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า สิ่งที่เขาต้องการคือ ความเงียบ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาเขาไม่เคยเจอกับความเงียบเลย สังคมภายนอกอึกทึกครึกโครมเหลือเกิน ไม่มีที่ที่พอจะนั่งเงียบๆ ใคร่ครวญกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ เจ้าหน้าที่สถานพินิจเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของบรรยากาศ ซึ่งในการพัฒนาจิตใจ ความเงียบสงบมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงต่างก็พยายามจะหามุมสงบเพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสสำรวจจิตใจของตนเอง เรียนรู้ที่จะเป็นมิตรกับจิตใจ ฝึกที่จะให้อภัยตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะในการควบคุมอารมณ์เมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต

ผู้เขียนรู้สึกว่า มนุษย์ทุกคนจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ไม่ใช่จะต้องให้เกิดเรื่องผิดพลาดในชีวิตแล้วจึงค่อยเรียนรู้

ในปัจจุบัน นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ นักวิชาการทั่วทุกมุมโลกต่างก็หันมาศึกษาเรื่องจิตใจกันอย่างจริงจังแล้ว เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าการเรียนรู้เรื่องจิตใจเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิต สังคมของเราทุกวันนี้ซับซ้อนแต่ในเรื่องของวัตถุ หากแบนราบในเรื่องของจิตวิญญาณ จึงเกิดสงคราม ความขัดแย้ง การทำลายล้าง วิทยาการยิ่งสูงขึ้น ปริมาณคนที่ต้องเข้าเรือนจำ สถานกักกัน และสถานพินิจกลับมากขึ้นทุกที ปัญหาใหญ่ๆ ต่างก็เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของคนไม่กี่คนที่ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจตนเอง ไม่รู้จักการให้อภัย คอยแต่จะกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา

ทว่าจะกล่าวโทษเอาผิดคนไม่กี่คนนั้นก็ดูจะเหมารวมมากเกินไป เพราะทุกสิ่งย่อมเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายที่มิอาจแยกจากกันได้ เราเห็นผู้นำก็ย่อมเห็นประชาชนด้วย เมื่อเห็นประชาชนก็ย่อมเห็นผู้นำด้วย หากทั้งสังคมไม่สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงและสงคราม คนไม่กี่คนก็คงไม่มีพลังเพียงพอที่จะก่อสงครามได้

หากมนุษย์ต้องการความสงบสันติที่แท้จริง ก็ควรที่จะศึกษาเรียนรู้ว่าความสงบสันติที่แท้จริงเป็นอย่างไร โดยเริ่มจากสัมผัสให้ได้ด้วยตนเอง และช่วยให้ผู้อื่นสัมผัสได้ด้วย เมื่อเข้าใจแล้ว ย่อมไม่มาถกเถียงถึงวิธีจัดการความขัดแย้งหรือวิธียุติสงครามแบบเดิมๆ ต่อไป แต่จะเกิดการให้อภัยของคนในสังคม เกิดวันให้อภัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของนักสันติทั่วโลก แต่หากคนทั้งหลายไม่ศึกษาและฝึกฝนในเรื่องการพัฒนาจิตใจแล้ว ย่อมไม่สามารถเข้าใจเรื่องการให้อภัยได้เลย ที่แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติมาก เราต้องช่วยกันให้ผู้คนเกิดสันติภายในตนเองให้เป็นและให้มากที่สุด โดยเฉพาะเยาวชนที่เราต้องช่วยกันดูแลให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งภายในและภายนอก

พวกเขาสะท้อนออกมาแล้วว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญยิ่งคือ สถานที่ทั่วไปในชีวิตประจำวันของบ้านเราไม่มีความเงียบสงบพอที่จะบ่มเพาะจิตใจได้เลย แล้วในฐานะผู้ใหญ่ในสังคม ท่านจะช่วยอะไรได้บ้างเล่า...

Back to Top