มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2558
มีผู้เข้าร่วมในหลักสูตรหนึ่งของผมคนหนึ่งเล่าว่า เธอไปเรียนมาหลายอาจารย์ในแนวทางคล้ายคลึงกันนี้ แต่เหมือนยังวิ่งวนอยู่ในเขาวงกต คือได้อะไรบางอย่าง แต่ไม่ยั่งยืน แล้วกลับมาตีบตันเหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไปสองสามสัปดาห์ แต่เมื่อได้มาเรียนกับผมในเรื่องเยียวยาปม ทำให้เห็นแสงสว่าง หาทางเดินต่อไปได้
ทำไมต้องทำงานกับทรอม่า
ทรอม่าหรือปมหรือบาดแผลต่างๆ คือความปั่นป่วนที่ค้างคามาจากอดีต และพร้อมจะถูกสะกิดให้มีชีวิตขึ้นมาในปัจจุบัน เหมือนมีผีร้ายสิงสู่อยู่ในตัว และคนก็ไม่มีอำนาจบังคับควบคุม เมื่อผีร้ายกลับเข้ามา คนก็ถูกครอบครองด้วยระบบอัตโนมัติที่หลับใหลอย่างไม่เป็นตัวของตัวเอง และจะกระทำการรุนแรงทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ทำให้การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ยั่งยืน ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่คืบหน้า ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคน ก่อปัญหาอย่างหนักหน่วงให้กับสถาบันครอบครัวและองค์กรทุกประเภท
ในที่สุดผมได้ค้นพบว่า หากจะทำค่ายการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลอย่างยั่งยืน เราจะต้องทำงานเยียวยาปมและบาดแผลจากอดีตเหล่านี้ ข่าวดีคือ ในเวลานี้ หากประมวลผลรวบรวมงานวิจัยเรื่องดังกล่าวเข้ามาเชื่อมประสานและก่อประกอบกันเข้าแล้ว เราจะพบว่าการเยียวยาปมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้อีกต่อไป แต่เราอาจเรียนรู้กระบวนการเยียวยาและนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางได้ทุกๆ ภาคสนาม ไม่ว่าในเรื่องของการศึกษา สุขภาวะ การพัฒนาสังคม การเมือง หรือองค์กรต่างๆ อันหลากหลาย