บทบาทของทรอม่า (ความปั่นป่วนคงค้าง) ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2558

มีผู้เข้าร่วมในหลักสูตรหนึ่งของผมคนหนึ่งเล่าว่า เธอไปเรียนมาหลายอาจารย์ในแนวทางคล้ายคลึงกันนี้ แต่เหมือนยังวิ่งวนอยู่ในเขาวงกต คือได้อะไรบางอย่าง แต่ไม่ยั่งยืน แล้วกลับมาตีบตันเหมือนเดิมเมื่อเวลาผ่านไปสองสามสัปดาห์ แต่เมื่อได้มาเรียนกับผมในเรื่องเยียวยาปม ทำให้เห็นแสงสว่าง หาทางเดินต่อไปได้


ทำไมต้องทำงานกับทรอม่า

ทรอม่าหรือปมหรือบาดแผลต่างๆ คือความปั่นป่วนที่ค้างคามาจากอดีต และพร้อมจะถูกสะกิดให้มีชีวิตขึ้นมาในปัจจุบัน เหมือนมีผีร้ายสิงสู่อยู่ในตัว และคนก็ไม่มีอำนาจบังคับควบคุม เมื่อผีร้ายกลับเข้ามา คนก็ถูกครอบครองด้วยระบบอัตโนมัติที่หลับใหลอย่างไม่เป็นตัวของตัวเอง และจะกระทำการรุนแรงทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ทำให้การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ยั่งยืน ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่คืบหน้า ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคน ก่อปัญหาอย่างหนักหน่วงให้กับสถาบันครอบครัวและองค์กรทุกประเภท

ในที่สุดผมได้ค้นพบว่า หากจะทำค่ายการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลอย่างยั่งยืน เราจะต้องทำงานเยียวยาปมและบาดแผลจากอดีตเหล่านี้ ข่าวดีคือ ในเวลานี้ หากประมวลผลรวบรวมงานวิจัยเรื่องดังกล่าวเข้ามาเชื่อมประสานและก่อประกอบกันเข้าแล้ว เราจะพบว่าการเยียวยาปมเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้อีกต่อไป แต่เราอาจเรียนรู้กระบวนการเยียวยาและนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางได้ทุกๆ ภาคสนาม ไม่ว่าในเรื่องของการศึกษา สุขภาวะ การพัฒนาสังคม การเมือง หรือองค์กรต่างๆ อันหลากหลาย

ทรอม่าทำให้มองโลกอย่างบิดเบี้ยว

การรับรู้ของเรานั้น ไม่ได้เป็นการรับรู้โลกตามที่เป็น ณ ขณะนั้นๆ ในขณะที่ประสาทสัมผัสต่างๆ รับรู้โลก และส่งสัญญาณการรับรู้เข้ามาประมวลผลในสมอง สมองจะดึงความทรงจำ “เดิม” มาร่วมในการก่อประกอบด้วย ดึงแม้ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัสเดิมๆ เข้ามา หลายครั้งที่รับรู้สิ่งต่างๆ เราทราบไหมว่า เรารับรู้สิ่งเหล่านั้นจากความทรงจำเดิมกี่มากน้อย รับรู้อย่างใหม่สด ณ ขณะนั้นๆ กี่มากน้อย ส่วนใหญ่แล้วเรารับรู้โลกด้วยการดาวน์โหลดเรื่องราวเดิมๆ เข้ามามากกว่าที่เราคาดคิด คือหากไม่ตระหนัก ไม่รู้เท่าทัน ไม่ตื่นรู้ การรับรู้โลกของเราจะเป็นความทรงจำเดิมๆ เป็นส่วนใหญ่ แปลว่าการรับรู้ของเราถูกครอบงำจากอดีต

ทรอม่าจะทำให้เรามองเร็วๆ รับรู้เร็วๆ ตัดสินเร็วๆ เพราะทรอม่าคืออาการของโหมดปกป้อง เมื่อสมองส่วนอมิกดาลาในสมองชั้นกลางทำงาน จะสับสวิตช์ไปสู่โหมดปกป้อง ทำให้สมองชั้นต้นหรือสมองสัตว์เลื้อยคลานเข้ามาเป็นนาย การทำงานของสมองส่วนนี้ในโหมดปกป้องจะเป็นแบบลวกๆ เพราะการเอาตัวรอดสำคัญที่สุด ความเร็วสำคัญที่สุด อย่างอื่นเอาไว้ทีหลัง จึงไม่จำต้องพึ่งสมองชั้นนอกส่วนหน้าอันเป็นสมองแห่งปัญญา สมองแห่งการใคร่ครวญ สมองแห่งปัจจุบันขณะ สมองแห่งความตื่นรู้ สมองแห่งการประมวลผลอย่างใกล้เคียงความจริงมากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ การรับรู้โลกที่ปรากฏในสมอง ย่อมเป็นการดาวน์โหลดอดีตอันน่ากลัวมาเป็นส่วนใหญ่ แต่การรับรู้โลกตามความเป็นจริง อย่างใคร่ครวญ อย่างที่เป็นปัจจุบัน เกิดขึ้นน้อยมาก ด้วยเหตุนี้เอง เวลาเข้าสู่โหมดปกป้อง เราจึงพายเรือวนอยู่ในอ่าง ตีบตัน เหงา เศร้า เซ็ง อึดอัด โกรธ เคียดแค้น เพราะไม่มีทางออก ไม่มีความเป็นไปได้ มีแต่ความทึบตัน เราไม่ได้เห็นโลกอย่างที่เป็นไปในปัจจุบัน และไม่เชื่อมโยงกับสิ่งใหม่ๆ ที่จะก่อให้เกิดความเป็นไปได้ แต่เห็นโลกอย่างคล้อยตามอดีตที่เจ็บปวดของเรา


ทรอม่ากับ Dead Wood

ลำพังโหมดปกป้อง ชีวิตเราก็แย่แล้ว เพราะเราได้ใช้พลังงานไปอย่างสิ้นเปลือง ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และการซ่อมแซมส่วนสึกหรอในร่างกายหยุดทำงาน

แต่ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ทรอม่าจะทำหน้าที่ป้อนโหมดปกป้องให้เราตลอดเวลา เหมือนเป็นไกปืน เป็นปุ่มให้กด เมื่อเราเข้าสู่ทรอม่า ชีวะหรือร่างกายของเราจะเข้าสู่โหมดปกป้องทันที กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ทรอม่าทำให้เราตกอยู่ในสภาพของการอยู่ในโหมดปกป้องอย่างเรื้อรัง

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การรับรู้เรียนรู้ โหมดปกป้องทำให้การรับรู้เรียนรู้ลดทอนคุณภาพลงหรือหยุดไปเลย ที่สำคัญ ทรอม่าดำรงอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่ลึกลงไป ยากที่คนธรรมดาอันปราศจากองค์ความรู้และปัญญาปฏิบัติจะเข้าไปกระทำการอะไรได้ ทรอม่าได้สร้างกำแพงแห่งการไม่ยอมรับรู้เรียนรู้ให้แน่นหนาขึ้น จึงเกิดปรากฏการณ์ Dead Wood หรือไม้ล้ม (ไม้ที่ถูกตัดจากตอแล้ว ไม่อาจเติบโตได้อีก ได้แต่รอวันเน่าเปื่อย) ในองค์กรต่างๆ มากมาย


จิตเดิมแท้กับทรอม่า

ทรอม่าจะสร้างม่านความจริงอันบิดเบี้ยว เพราะมันเกิดอาการช็อค จึงหยุดการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง และจำลองอาการช็อคไว้ในโครงสร้าง แบบแผน และกระบวนการในระบบเครือข่ายของเซลล์สมอง

ที่จริงธรรมชาติของมนุษย์ พุทธศาสนานิกายเซนเรียกว่าจิตเดิมแท้ หรือธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์ จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ทรอม่าทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงชะงักงัน เราต้องทำอย่างไรถึงจะละลายอาการแช่แข็งของทรอม่าออกไปได้ นั่นคือกระบวนการเยียวยา

หากทรอม่าล้อมรอบตัวเรา ล้อมกรอบเรา เป็นกำแพงความจริงแห่งความเจ็บปวดในอดีตที่บิดเบี้ยวรอบตัวเรา กระบวนการเปลี่ยนแปลงอันเป็นธรรมชาติที่แท้ของจิตของเราถูกขัดขวาง สิ่งที่เราต้องทำคือการละลายปม บาดแผลให้ค่อยๆ เบาบางลงและสลายตัวไปในที่สุด

ข่าวดีคือ แม้จะมีทรอม่าอยู่ แต่ยังมีช่องว่างของกาลเวลาที่เราไม่มีทรอม่าหรือไม่ได้อยู่ในโหมดปกป้องอยู่ด้วย ซึ่งเราจะมีจิตแจ่มใสแม้ชั่วขณะ คือชั่วขณะแห่งจิตเดิมแท้ เป็นความตื่นรู้และปัญญาญาณ ทางหนึ่งของการพัฒนาตนเองคือ การขยายขอบเขตชั่วขณะเหล่านี้ให้ค่อยๆ กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ

อีกด้านหนึ่งคือ การเข้าไปทำงานเยียวยากับปมเหล่านี้โดยตรง ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่ผมจัดทำในหลักสูตรศิลปะแห่งการเยียวยา

Back to Top