มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553
อยากจะบอกท่านผู้อ่านที่ได้อ่านบทความของผู้เขียนในระยะหลังๆ ราวสี่ห้าปีมานี้ ผู้เขียนที่คงจะเขียนได้อีกไม่นาน จะเขียนหนักไปในเรื่องของจิตทั้งด้านปัจเจกบุคคล และด้านสังคมวัฒนธรรมโดยรวม และแน่นอนรวมไปถึงธรรมชาติสองระดับ ทั้งธรรมชาติที่ตาเห็น เช่น ภูเขา ต้นไม้ และป่าไม้ ฯลฯ และธรรมชาติที่ไม่มีทางเห็น เช่น จิต-พระจิต จิตวิญญาณหรือวิญญาณระดับสูงจนถึงระดับสูงสุดหรือนิพพาน ที่อยากบอกกับผู้อ่านคือ ขอให้อ่านไปอย่างช้าๆ และคิดไตร่ตรองลึกๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย หากไม่เข้าใจ ขอให้อ่านซ้ำๆ ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านจะได้อะไรติดตัวไปด้วยไม่มากก็น้อย
เมื่อกลางปี ๒๐๐๗ มีการประชุมใหญ่ของนักวิชาการสำคัญๆ ของอเมริกา อังกฤษ และแคนาดาจำนวนมาก เป็นเวลาสองวันที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา จุดมุ่งหมายของการประชุมคือ ต้องการให้นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนต่อหลักฐานและทฤษฏีต่างๆ ในการอธิบายเรื่องหรือปรากฏการณ์ทางจิตที่นักวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยนักฟิสิกส์ นักประสาทวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยาการทดลอง ฯลฯ ได้วิจัยและนำเสนอในที่ประชุม พร้อมกับเปิดโอกาสให้นักวิชาการทั้งหลายได้ถกเถียงกัน
สถาบันและมูลนิธิผู้จัดการประชุมต้องการให้นักวิชาการเหล่านี้ได้พิจารณาข้อนำเสนอของนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าว และตั้งคำถามเพื่อโต้เถียงกันอย่างจริงๆ จังๆ อย่าให้เป็นเช่นอดีตศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียที่อุทิศทั้งชีวิตร่วมเจ็ดสิบปีทำวิจัยเรื่องการระลึกชาติ (reincarnation) มาตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๓๐ และเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ คือ ศาสตราจารย์เอียน สตีเวนสัน ที่ได้เดินทางไปรอบโลกเพื่อการวิจัยนี้ รวมทั้งประเทศไทย (สองครั้ง) และมีส่วนทำให้สมาคมการค้นคว้าทางจิตแห่งประเทศไทยเกิดขึ้น เอียน สตีเวนสัน กล่าวถึงความเสียใจอย่างที่สุดของเขาต่อนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการ “สายหลัก” ถึงการวิจัยที่เขาได้อุตส่าห์เสียเวลาค้นคว้าอย่างตั้งใจและยาวนานว่า “นักวิชาการเหล่านี้แทบทั้งหมดไม่เชื่อเรื่องการระลึกชาติก็ไม่ว่า แต่นี่ – ดันไม่เชื่อ - ทั้งๆ ที่ไม่ได้อ่านหลักฐานจากผลของการวิจัยเลย” (อย่าลืมว่าการวิจัยของศาสตราจารย์เอียน สตีเวนสัน นั้นขัดกับทั้งวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม - ทางด้านของศาสนา - ของชาวตะวันตกอย่างรุนแรง)
ในช่วงนั้น “ชีววิทยาดาร์วินิซึ่ม” ในฐานะทฤษฏีที่อธิบายการกำเนิดของชีวิต และทั้งเป็นการกำเนิดของชีวิตมนุษย์เสียด้วย ซึ่ง - ในฐานะมนุษย์ที่สนใจเป็นพิเศษในอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ (anthropocentric) ทฤษฏีดังกล่าวจึงน่าเชื่อกว่าศาสนา นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์จึงหันไปยอมรับชีววิทยาดาร์วินิซึ่มกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งของเหมือนกับสสารวัตถุทั้งหลายทั้งปวง ทั้ง - วิวัฒนาการก็เป็นเรื่องของกายภาพสถานเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งชีวิตต่างล้วนแล้วแต่ก่อประกอบขึ้นมาจากวัตถุและความบังเอิญและบังเอิญๆๆ เหมือนนาฬิกาหรือเครื่องจักรเครื่องยนต์ที่ทำนายผลได้ และธรรมชาติจัดการควบคุมสิ่งต่างๆ ทั้งหมด เช่น น้ำ ลม อุณหภูมิ หิน ฯลฯ ด้วยความจำเป็นอีกที
นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่า - ดังคำถามที่ตั้งเป็นหัวข้อบทความ นั่นคือ ถามว่าอะไรหรือ? คือธรรมชาติของความรู้ การรู้ ความจริงของมนุษย์เรา (ซึ่งแตกต่างกันมากยิ่งนัก) - สำหรับเรื่องความรู้นั้น คำตอบของนักวิทยาศาสตร์กายภาพ นักวิชาการ นักวัตถุนิยม นักชีววิทยา และแพทย์ส่วนใหญ่ ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทยเราหรือประเทศเพิ่งจะพัฒนาใหม่ๆ ของเอเชีย ก็คือ ความรู้ที่มนุษย์เรามีแทบจะทั้งหมดเป็นการคลี่ขยายมาจากตัวของมนุษย์เอง นั่นคือมาจากธรรมชาติมาจากวิวัฒนาการทางกายภาพเพียงอย่างเดียว หรือพูดได้ว่า ความรู้ทั้งหลายของเรานั้น ส่วนใหญ่มากๆ ตั้งอยู่บนวิทยาศาสตร์ – ในราวๆ หนึ่งร้อยกว่าปีมานี้เท่านั้น – ทั้งหมด ซึ่งเมื่อไล่ต่อไปแล้ว ล้วนตั้งอยู่บนความบังเอิญๆๆ ที่ว่านั้น
แต่อีกประการหนึ่ง ดังได้กล่าวแล้วว่าความคิดของ เอียน สตีเวนสัน เรื่องการระลึกชาติ (reincarnation) ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีความขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ (กายภาพ - ที่ในตอนนั้นเรียกว่าวิทยาศาสตร์เฉยๆ) และยังขัดกับศาสนาคริสต์อย่างรุนแรง ได้ทำให้สาธารณชนคนทั่วไปรวมทั้งผู้ที่ได้รับการศึกษาอย่างดีและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนความเชื่อ เพราะว่าตั้งแต่เริ่มมีศาสนาคริสต์มาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ห้า ศาสนาคริสต์ก็เชื่อในเรื่องการระลึกชาติมาตลอด (G. McGregor: Reincarnation and the Christianity, 1978; Christopher Bache: Life Cycles, 1994) จนกระทั่งโป๊ปวิสิลิอุส (โดยการเมืองบีบบังคับ) บอกให้เลิกเชื่อเพราะว่าไม่ใช่คริสต์ศาสนา คนในศาสนาคริสต์ที่เชื่อโป๊ปยิ่งกว่าใครๆ จึงมีข้อห้ามไม่ให้พูดถึงการระลึกชาติมาตั้งแต่นั้น ส่งผลให้ชาวคริสเตียนค่อยๆ ลืมเรื่องดังกล่าวไป
เพราะฉะนั้นเรื่องความรู้ของมนุษย์ เป็นเพราะวิทยาศาสตร์บวกกับความเชื่อทางศาสนาที่กลายเป็นความรู้ไป เพราะเชื่อมั่นอย่างเคยชินมาเป็นเวลาที่ยาวนานมาก สำหรับวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ คือวิทยาศาสตร์กายภาพที่มีชีววิทยาดาร์วินิซึ่ม หรือ นีโอ-ดาร์วินิซึ่ม เป็นหัวหอก ส่วนการรู้ (ซึ่งไม่ใช่การมีสติที่รู้ตัวของตัวเอง หรือ primary awareness) คือการแยกตัวเองเป็นครั้งแรกของ “รูปธรรม กับ นามธรรม” นั่นคือความเป็นสอง ระหว่างการรู้ของจิตไร้สำนึก กับการรู้ของจิตสำนึก หรือจิตรู้ หรือจิตใจหรือใจ เช่น การตื่นขึ้นมาจากการหลับลึก การฟื้นตื่นขึ้นมาจากการหมดสติอย่างลึกหรือประสบการณ์ใกล้ตายนั่นเอง ซึ่งการรู้ของจิตรู้ หรือของจิตสำนึก (cognition) คือการรู้เพียงอย่างเดียวที่นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักการศึกษา นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ฯลฯ ส่วนใหญ่มากๆ คิดว่าการรู้มีเพียง “หนึ่ง” เดียวเท่านั้น (Ken Wilber: Cognitive Development)
แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับ คาร์ล ซี. จุง ที่พูดว่าการรู้มีสองอย่าง คือการรู้ของจิตจักรวาลซึ่งเป็นจิตไร้สำนึก กับการรู้ของจิตสำนึกที่ได้กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนยังคิดต่อไปว่า การรู้ของจิตไร้สำนึก หรือการรู้ของจิตจักรวาลเป็นการรู้ที่สำคัญกว่า กว้างกว่า ลึกซึ้งกว่า และนั่นคือความจริงที่แท้ซึ่งเราอาจพบการรู้แบบนี้ได้ในเวลาที่เราหลับลึกจริงๆ อันเป็นช่วงสั้นๆ ของการหลับลึก หรือการหมดสติอย่างลึกจริงๆ ก่อนที่จะตายไปจริง (หากว่าช่วยไม่ทัน) เช่น ระหว่างมีการตายทางคลินิกในผู้ที่มีประสบการณ์ใกล้ตาย (clinically dead in NDEs) เพียงร้อยละ ๗ – ๑๘ ของผู้รอดชีวิตที่ได้รับการสัมภาษณ์ทั้งหมด สองหรือสามวันหลังจากการช่วยชีวิตไว้ - จากรายงานของแพทย์ทางหัวใจที่อเมริกาคนหนึ่ง (Michael Sabom ที่มี ๑๖๐ ราย) กับแพทย์ที่เนเธอร์แลนด์อีกคนหนึ่ง (Pim van Lommel ที่มี ๓๔๔ ราย) - ซึ่งแสดงว่าคนที่มีประสบการณ์ใกล้ตาย “อาจจะ” ได้สภาวะจิตวิญญาณหรือขึ้นสวรรค์ก็ได้
การรู้ที่ คาร์ล ซี. จุง กับผู้เขียนแบ่งเป็นสอง คือ การรู้ของจิตไร้สำนึก และการรู้ของจิตสำนึกหรือจิตรู้ ก่อนจะมีการแยกออกเป็นสองนั้น จริงๆ แล้วเราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร? เพราะสิ่งที่เราและสัตว์มองเห็นเป็นเพียง “มายา” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เราอยู่รอดในโลกและจักรวาล (สามมิติบวกหนึ่ง) นั่นคือ ความจริงแท้ที่อาจเหมือนความจริงที่จิตไร้สำนึกเห็น เพราะจิตไร้สำนึกหรือจิตจักรวาลโยงใยติดต่อกันเป็นหนึ่งเดียว คนที่นอนหลับลึกแล้วฝันไป หรือคนที่มีประสบการณ์ใกล้ตาย หรือคนที่ตายไปแล้วใหม่ๆ จิตไร้สำนึกจะทำหน้าที่เป็นจิตสำนึก คนที่อยู่ในสภาวะเหล่านี้ รวมทั้งคนที่ตายไปแล้วจึงอาจเห็นจิตคนอื่น รู้ว่ามีอะไร ที่ไหนและอย่างไรทั่วทั้งจักรวาล เพราะว่ามีการโยงใยติดต่อกันเป็นหนึ่งเดียวของจิตไร้สำนึกของจักรวาล ดังหนังสือที่ ดีน ราดิน เขียนมา (Dean Radin : Entangled Mind, 2007)
จริงๆ แล้ว เราไม่รู้ว่าจิตไร้สำนึกของจักรวาล (หรือพระเจ้า) มีลักษณะเช่นไร? อาจจะเหมือนกับสภาพของควอนตัม สตัฟฟ์ (quiff) ที่นักควอนตัมฟิสิกส์ว่าไว้ก็ได้ หรือจะเป็นเช่นเดียวที่พระพุทธเจ้า และ ศรี อรพินโธ อธิบายไว้ก็ได้ คือเป็นเหมือนแสงชนิดหนึ่งที่กระจ่างใส และไม่มีที่มา (ไม่ใช่ดาว เดือน หรืออาทิตย์) ที่ลัทธิพระเวทเรียกว่า เสาวภาวิขะกายา
ท่านที่อ่านบทความนี้จบคงพอจะรู้แล้วว่า ผู้เขียนมีความเห็นอย่างไร? ในเรื่องของความรู้ (knowledge) และการรู้ (cognition) ของมนุษย์ที่เรามีอยู่ทั้งหมด และการรู้ของเรานั้นพุทธศาสนาบอกว่าจะเกี่ยวข้องกับจิตไร้สำนึกหรือจิตจักรวาล – ในฐานะที่มันคือสาเหตุ - เพียงอย่างเดียวไม่ว่าจะเป็นจิตร่วมโดยรวมหรือจิตของมนุษย์แต่ละคนและทุกคนเป็นปัจเจก จิตไร้สำนึกจักรวาลที่มาจากจิตปฐมภูมิ (primordial unconsciousness) ซึ่งมีมาก่อนจักรวาล ก่อนบิ๊กแบง และแยกจากพลังงานปฐมภูมิ (primordial energy) ไม่ได้และไม่มีทางได้ และที่ถูกเรียกว่าจิตจักรวาลเพราะซึมแทรกอยู่ในทุกที่ว่างของจักรวาล จิตไร้สำนึกของจักรวาลนี่เองที่เข้ามาอยู่ในสมองของทุกๆ คน – โดยเป็นชั้นๆ เช่นหัวหอมหรือไข่มุก – และชั้นนอกเท่านั้นที่ถูกบริหารเป็นจิตสำนึกใหม่ๆ ตลอดเวลา ส่วนชั้นในสุดๆ ก็คือจิตหนึ่ง หรือนิพพานหรือพระเจ้าในศาสนาที่มีพระเจ้า
ในตอนท้ายนี้ ผู้เขียนใคร่ขอบอกความจริงที่สุด และใคร่ขอเตือนมนุษย์ทุกๆ คนว่า ทุกๆ ศาสนาสอนแต่สัจธรรมความจริงของธรรมชาติทั้งนั้น พุทธศาสนาในมุมมองของผู้เขียนมีความสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับควอนตัมฟิสิกส์ กับจักรวาลวิทยาใหม่ที่เพิ่งมีไม่เกินเจ็ดปี จงอย่ากลัวตายเพราะเรา “ต้อง” เกิดใหม่เสมอในสังสารวัฏ ถ้ายังไม่รู้แจ้งซึ่งพิสูจน์ได้ ขอบอกว่า จงทำดี มีคุณธรรมไว้เสมอ และจงเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม!
โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553
ประมาณทุกๆ สิบปี หาดใหญ่จะมีน้ำท่วมเมืองไม่ถึงกับสม่ำเสมอตรงเวลา แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดบทสนทนาประจำปีในช่วงน้ำเยอะน้ำหลากได้เสมอ ปีนี้ก็ต้องเรียกว่าถึงเวลา (ที่ไม่มีใครอยากให้ถึง) อีกครั้งหนึ่ง ทุกครั้งที่มีอุทกภัยจะเกิดเรื่องราวมากมาย ความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ และตามมาด้วยการเคลื่อนไหวของสังคมที่มีการสะท้อนทั้งในด้านดีด้านบวกและด้านไม่ (ค่อยจะ) ดีด้านลบอยู่เสมอ
น้ำท่วมคราวนี้ต้องประเมินว่าน้ำเยอะกว่าครั้งก่อนๆ ก็จริง แต่ปรากฏว่าลงเร็วซึ่งไม่ใช่เรื่องโชคดี แต่เป็นเรื่องของการตระเตรียมผังเมือง ระบบป้องกัน ระบบระบายน้ำ แล้วสุดท้ายอาจจะเรียกว่าโชคก็ได้ คือฝนหยุดตกในเวลาอันสั้นเพียงพอ เว้นที่ไว้ให้หายใจและให้ผู้คนเรียกสติกลับมาหาหนทางแก้ไขต่อสู้กันต่อไป เมื่อเดินทางเข้าไปในตัวเมืองหาดใหญ่ จะพบร่องรอยในลักษณะต่างๆ มากมาย แต่ไม่มีรถที่จมคราบโคลนเต็มเมืองเหมือนอย่างปี ๒๕๓๑ ซึ่งทำให้เมืองดูน่ากลัวเหมือนหลังสงครามอยู่พักใหญ่ ปีนั้นท่วมอยู่นานหลายวัน สภาวะจิตสภาวะใจของผู้คนก็สึกกร่อนมากไปตามเวลาแห่งความทุกข์
ปีนี้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ร.พ. ม.อ.) ได้มีส่วนประสานงานบรรเทาทุกข์ โดยการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อแจกจ่ายยาและให้การตรวจรักษาพยาบาลแก่ผู้ประสบภัยเดือดร้อนจากน้ำท่วม ที่ผมรู้สึกดีมากคือได้เห็นน้องๆ นักศึกษาแพทย์ แพทย์ใช้ทุนแพทย์ประจำบ้าน อาจารย์แพทย์ พยาบาล บุคลากรของโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากออกไปให้บริการกัน เนื่องจากพวกเราที่ ม.อ. โชคดีที่มีพื้นที่ตั้งอยู่เชิงเขาคอหงส์ซึ่งเป็นที่สูง จึงไม่ถูกกระทบมากอย่างในเมือง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ได้ผันบทบาทของผู้ไม่ถูกกระทบไปในด้านการช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ ทำให้โรงพยาบาลรอบๆ ข้างที่โดนน้ำท่วมเข้าจังๆ พอจะได้มีที่ระบายคนไข้ทั้งคนไข้ประจำและเฉพาะกิจเข้ามากันเต็มไปหมด
เมื่อวานนี้ผมทำหน้าที่สอบนักศึกษาแพทย์ท่านหนึ่ง ได้เกิดข้อสังเกตว่างานของเรานั้นสามารถขยายไปได้มากขึ้นถ้าเรารับฟังคนไข้ทุกเรื่องราวจริงๆ คนไข้ที่น้องนักศึกษาเป็นคนเลือกมาเองนั้นได้รับอุบัติเหตุตอนพายุเข้า หลังคาถล่มมาทับทั้งตัวคนไข้เองและสามีบาดเจ็บทั้งคู่ แต่สามีอาการเบากว่าและได้กลับบ้านไปก่อน ส่วนภรรยามีกระดูกสันหลังท่อนหนึ่งแตก ทำให้ตอนนี้มีอาการอัมพาตไปครึ่งตัว เมื่อน้องนักศึกษาได้สัมภาษณ์ตรวจร่างกายคนไข้รายนี้เสร็จแล้ว เราก็ไปนั่งคุยกัน
สิ่งที่น้องนักศึกษาเลือกมานำเสนอ เน้นที่อาการอัมพาตอาการปวดของคนไข้เป็นหลัก มีข้อสังเกตที่น้องพูดว่า “คุณป้าดูจะเศร้าๆ” พอถามว่าเศร้าเรื่องอะไร น้องตอบว่า “น่าจะเป็นเรื่องที่เดินไม่ได้ค่ะ” เราจึงลองไปสัมภาษณ์ต่อ ปรากฏว่าตอนนี้ที่บ้าน สามีที่บาดเจ็บได้รับการดูแลโดยลูกชายซึ่งก็มีครอบครัวคือภรรยาและลูกเล็กอีกสองคน คนที่มาเฝ้าคุณป้าคือลูกชายอีกคนที่ทำงานและมีบ่อปลาดุก บ้านคุณลุงคุณป้าเดิมมีสวนยางอยู่สองไร่ ปลูกมาได้ ๕ ปียังไม่ได้เริ่มกรีดยางเต็มที่เลย (ยางต้องปลูกประมาณ ๕-๗ ปีกว่าจะเริ่มกรีดเอาน้ำยางมาขายได้) แต่ตอนที่พายุเข้า สวนยางก็ล่มหมด บ่อปลาดุกก็ถูกท่วมปลาหายไปหมดทั้งบ่อ มานอนโรงพยาบาล แม้ว่าจะใช้บัตรทองไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายประจำวันเกิดขึ้น
ถึงตอนนี้น้องนักศึกษาแพทย์เริ่มมองเห็นว่า “ทุกข์” ของคนไข้รายนี้อาจจะไม่ได้มาจากกายอย่างเดียวเสียแล้ว เราจึงลองให้ข้อมูลเพิ่มเรื่องสิทธิประโยชน์การลงทะเบียนผู้พิการ เรื่องรายได้เสริมที่ทางโรงพยาบาลจะจัดให้แก่ผู้เฝ้าสิทธิต่างๆ ที่คนไข้น่าจะได้รับการช่วยเหลือทั้งจากทางการและทางเอกชน ทำให้คุณป้าเริ่มมีสีหน้าดีขึ้น ลูกชายที่มาเฝ้าก็ดูจะมีหน้าตาแช่มชื่นขึ้น
และน้องนักศึกษาแพทย์ก็ดูจะเข้าใจมากขึ้นว่า “งานเยียวยา” นั้นเป็นเรื่องของอะไร
บางทีบทเรียนเรื่องของความทุกข์นั้น แตกต่างจากโรคภัยไข้เจ็บที่คนไข้มาหาหมอ เพราะเขาทุกข์ที่ไม่สามารถจะทำอะไรๆ ที่เคยมีความหมายมีค่าที่เรียกว่าเป็น “ชีวิตปกติ” อย่างแต่ก่อนได้ ซึ่งถ้าผู้เป็นแพทย์ไม่เข้าใจเรื่อง “ความทุกข์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติที่ซับซ้อน อาจจะหลงทิศทางหรือไม่เข้าใจว่า “หน้าตาทุกข์” นั้นจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรบ้าง
การไปออกหน่วยแจกจ่ายยานั้น จากที่ผู้เขียนได้ไปเห็นเองบ้าง จากรูปถ่ายกิจกรรมบ้าง รูปที่สวยงามคือรูปแห่งการให้และการรับ แม้ว่าจะมีเบื้องหลังมาจากภัยธรรมชาติและมีเรื่องราวข่าวร้ายความเจ็บปวดทรมานแฝงอยู่ในรูปเหล่านี้ แต่ภาพที่นักศึกษาแพทย์ตั้งใจฟังคนไข้ ทำแผลบาดแผลเปื่อยที่เท้าที่ขาคนไข้อย่างมีสมาธิ ภาพที่พยาบาลทำความสะอาดร่างกายของผู้เจ็บป่วยอย่างตั้งใจ เป็นการสะท้อนความเป็นมนุษย์ สะท้อนความแข็งแกร่งของพวกเราได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน ภาพเหล่านี้ไม่ต้องการจัดฉาก หรือเป็น photo opportunity แต่เป็นประวัติศาสตร์ เป็นการหล่อหลอมสรรค์สร้างสังคม สีหน้าแววตาที่จริงจังอย่างมืออาชีพ การฟังเรื่องราวอย่างตั้งใจมุ่งมั่นของผู้ให้บริการ นำมาซึ่งการเยียวยาเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี
ตอนเย็นเมื่อวาน ผู้เขียนได้เดินทางเข้าไปในเมืองอีกครั้ง ทำให้ได้เห็นภาพชีวิตอีกหลายๆ มุม มีภาพกองขยะสูงกว่าศีรษะ รวมกันบ้างกระจัดกระจายบ้าง แต่ก็มีภาพที่ชุมชนช่วยกันกวาดเก็บทำความสะอาดพื้นถนนหนทาง มีข่าวคนขโมยมิเตอร์น้ำบ้าง ขโมยป้ายโลหะบอกชื่อถนนชื่อซอย แต่ก็มีข่าวกลุ่มอาสาสมัครมากมายหลายกลุ่มรวบรวมข้าวของเครื่องใช้อุปกรณ์ของกินของแห้งเพื่อนำไปบริจาคแก่ผู้ต้องการ ฟังวิทยุมีข่าวผู้เดือดร้อนจากการไม่มีน้ำไม่มีไฟใช้ แต่ก็มีข่าวที่เจ้าหน้าที่การประปาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำตลอด ๒๔ ชั่วโมงเพื่อทำให้สถานการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็วที่สุด
เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของคนแต่ละคนในแต่ละโอกาส พบว่าการมีชีวิตเพื่อชีวิตอื่นนั้น เป็นวิธีที่ทำให้เราสวยงามจากภายใน ภาพยิ้มแย้มแจ่มใสบางทีก็ไม่สื่อเรื่องราวได้ดีเท่าภาพน้ำตาและสีหน้าอันมุ่งมั่นของมนุษย์ได้
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553
เมื่อไม่นานมานี้ “หมอนุ้ย” ลูกศิษย์ที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งบทความ “ส่งต่อ (ด้วย) หัวใจ” ที่เขียนโดยคุณวรรณวนัช มาให้อ่าน เป็นเรื่องราวชีวิตจริงของคุณพ่อท่านหนึ่งที่ต้องสูญเสียลูกชายที่กำลังจะจบเป็นเภสัชกรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยโรคหัวใจเต้นผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด ผมอ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจ เห็นใจ เข้าใจ และภูมิใจในตัวคุณพ่อท่านนี้มาก เพราะผมก็เคยมีประสบการณ์ความสูญเสียที่คล้ายคลึงกัน
เรื่องย่อๆ คือ คุณพ่อต้องพาลูกชายเข้าโรงพยาบาลหลังจากเกิดได้เพียงสองวัน เพราะมีอาการตัวเขียวมากเวลาร้องไห้และหายใจคล้ายหอบ จากการตรวจของแพทย์พบว่าลิ้นหัวใจของลูกปิดไม่สนิท ทำให้หัวใจบีบตัวผิดปกติ จังหวะการเต้นของหัวใจจึงผิดปกติไปด้วย แพทย์อธิบายว่า ถ้ารักษาโดยการผ่าตัด จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ที่สำคัญคือโอกาสรอดน้อยมาก คุณพ่อตอนนั้นอายุแค่ยี่สิบเอ็ด ฐานะยังไม่มั่นคง จึงต้องรักษาด้วยการใช้ยา ลูกต้องอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณห้าเดือน และต้องรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องอีกห้าปี ตามด้วยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โชคดีที่ผลการตรวจสุขภาพพบว่าปกติดี ลูกจึงดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไปหลังจากนั้นอีกสิบกว่าปี
ที่น่าสนใจคือคุณพ่อต้องเลี้ยงลูกชายคนนี้ตั้งแต่อายุหกขวบกับลูกชายคนที่สองอีกหนึ่งคน เพราะภรรยาเสียชีวิต คุณพ่อเล่าว่าลูกชายเป็นคนขยัน ตอนเรียนอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ปี ๕ เขาจะศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลทำรายงาน และมีความตั้งใจที่จะเป็นอาจารย์
เมื่อประมาณปี ๒๕๕๐ ตอนนั้นลูกชายอายุ ๒๐ ปี มาบอกให้ทราบว่าเขาได้ทำบัตรบริจาคอวัยวะและขอให้คุณพ่อเซ็นชื่อหลังบัตรเพื่อรับทราบ
คุณพ่อเล่าให้คุณวรรณวนัชฟังว่า “ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ลูกเริ่มมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติครั้งละห้านาทีบ้าง สิบนาทีบ้าง ซึ่งแต่ละครั้งค่อนข้างน่ากลัว เพราะมันเต้นแรงเหมือนกับจะทะลุออกมา วางมือลงไปนี่รู้สึกว่าหัวใจมันกระแทกมือเลย แต่ลูกดูแลตัวเองดี กินยาสม่ำแสมอ ไปหาหมอตรงตามนัด จึงคิดกันว่าไม่เป็นไร”
แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณพ่อต้องไปเยี่ยมลูกชายที่โรงพยาบาลกลาง ลูกชายอยู่ในห้องฉุกเฉิน ไม่หายใจ ต้องปั๊มหัวใจมาประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้ว คุณพ่อต้องขอร้องให้แพทย์ปั๊มหัวใจต่อจนเกือบสองชั่วโมง ชีพจรจึงกลับขึ้นมา แต่เป็นได้แค่ให้รู้ว่าลูกยังอยู่เท่านั้น
สองวันหลังจากลูกชายถูกย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ คุณพ่อก็ตัดสินใจนำบัตรบริจาคร่างกายไปยื่นให้โรงพยาบาล ในตอนนี้ คุณวรรณวนัชบันทึกไว้ว่า
“วันนั้นผมทำอะไรให้ลูกไม่ได้อีกแล้วนอกจากทำในสิ่งที่เขาตั้งใจ แต่กว่าจะผ่านเกณฑ์ผู้บริจาคซึ่งมีกฎว่าต้องรอเวลาอย่างน้อยที่สุดหกชั่วโมงเพื่อยืนยันภาวะสมองตายได้นั้นยากมาก เนื่องจากภาวะสมองตายมาหลายวันแล้ว เจ้าหน้าที่จึงต้องให้ยาเยอะมากเพื่อพยุงอวัยวะให้ผ่านเกณฑ์ผู้บริจาคได้ ผมผ่านช่วงเวลานั้นโดยคิดถึงสิ่งที่ลูกสอนผมเรื่องการเกิดแก่เจ็บตาย คิดว่ามีอีกหลายคนและหลายครอบครัวจะได้มีความสุขจากความตั้งใจดีของลูก และผมไม่อยากให้สิ่งสุดท้ายที่ลูกฝากไว้สูญเปล่า”
หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ทราบว่า ดวงตาสองข้าง ลิ้นหัวใจสองลิ้น ปอด ตับ และไตที่ลูกบริจาค สามารถนำไปช่วยผู้ป่วยซึ่งรอความหวังจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอยู่ได้ถึง ๗ คน
คุณพ่อท่านนี้ได้พูดถึงลูกชายด้วยความภาคภูมิใจว่า
“ผมอยากบอกลูกว่าชาตินี้ที่อยู่กับพ่อ แม้จะสั้น แต่เราก็มีความสุขด้วยกันอย่างเต็มเปี่ยม ความภูมิใจที่ลูกทิ้งไว้ให้ พ่อจะเก็บไว้ตลอดไป และดีใจที่ลูกเกิดมาเป็นลูกพ่อ”
ขอขอบคุณคุณวรรณวนัชที่นำเรื่องดีๆ มาถ่ายทอด ขอบคุณคุณพ่อ (คุณโสมนัส แซ่ลิ้ม) และลูกชาย (คุณอรรถพล) ที่ให้แง่คิดและให้สติกับผมและผู้อ่านอีกหลายท่าน
เราควรจะไปบริจาคอวัยวะ ดวงตา และร่างกายของเรากับโรงพยาบาลให้มากๆ นะครับ จะได้เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตและรอความหวังอยู่
มาร่วมกันเปลี่ยนความสูญเสียที่ปวดร้าวเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่
อ่านเรื่องนี้แล้วทำให้ผมคิดถึงการสูญเสียที่ปวดร้าวของครอบครัวผมเอง ผมต้องสูญเสีย "ลูกดร๊อบ (Drop)" ลูกชายที่น่ารักไป ด้วยความเสียใจและภูมิใจในการเกิดมาของลูก ลูกชายตัวน้อยเกิดมาพร้อมกับรูรั่วที่หัวใจสามรู แถมมีปัญหาที่ลิ้นหัวใจด้วย ผมจำคำศัพท์ทางการแพทย์ที่เพื่อนหมอที่ทำคลอดให้บอกไม่ได้ แต่รู้ว่าลูกมีความผิดปกติที่มีความเสี่ยงสูง ผมรับรู้ว่าลูกต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ในลักษณะที่เห็นความพ่ายแพ้อยู่ข้างหน้า นอกจากจะช่วยตัวเองไม่ได้เพราะเพิ่งเกิด ยังต้องพึ่งผู้อื่น พึ่งความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไม่ต้องห่วงเรื่องความช่วยเหลือของพ่อแม่เพราะทุ่มเทเกินร้อย หมอที่เป็นเพื่อนบอกว่า ความรู้และเทคโนโลยี ณ ขณะนั้น (เมื่อประมาณเกือบ ๒๐ ปีก่อน) ยังไม่ดีพอ ถ้าจะผ่าตัดรักษาเลย มีโอกาสรอดสูงสุดแค่ร้อยละ ๑๕ - ๒๐ ถ้ารอไปอีกสิบ ยี่สิบปี จะมีโอกาสรอดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ประมาณร้อยละ ๕๐
ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความสิ้นหวัง เสียใจ และความหวังของครอบครัวของผม คงคล้ายๆ กับครอบครัวของคุณโสมนัส ผมก็ไม่รู้จะบรรยายความสูญเสียครั้งนั้นให้ชัดเจนได้อย่างไร รู้แต่ว่าคนที่ไม่เคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้ด้วยตนเอง จะอธิบายอย่างไรก็คงไม่เข้าใจสภาวะและความรู้สึกโดยรวมได้ทั้งหมด ลูกที่น่ารักน่าสงสารอยู่กับเราได้ไม่กี่เดือนก็จากเราไป แต่เด็กชายตัวน้อยที่ชื่อว่า "คุรุรัฐ พูลภัทรชีวิน" ก็ได้มีโอกาสทำหน้าที่สมกับชื่อ ทำสิ่งที่ดีให้กับวงการแพทย์ (นํ้าตาผมซึมออกมา ตอนที่เขียน) เพราะพ่อแม่ตัดสินใจมอบร่างกายของลูกน้อยที่น่ารัก รวมถึงชีวิตจิตใจของครอบครัวให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกได้เป็นครู เป็นอาจารย์แพทย์โดยที่ไม่ได้จบแพทย์ ไม่มีตำแหน่งทางวิชาการ ลูกมีเพียงประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ปกติ เพียงไม่กี่เดือน แต่ลูกก็ได้ทำหน้าที่เป็นครูเต็มรูปแบบทุกอณูของร่างกาย ลูกสอนโดยไม่ต้องพูด ไม่ต้องบรรยาย ไม่มีอุปกรณ์ประกอบการสอน เพราะร่างกายของลูกคืออุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด ลูกสอนโดยไม่มีการเตรียมตัวหรือวางแผนล่วงหน้า แต่ลูกสอนด้วยความสงบนิ่ง มอบร่างกายและอวัยวะให้กับลูกศิษย์ได้ศึกษา ลูกทำหน้าที่ครู (โดยมิได้เป็นผู้กระทำ) ได้ดีกว่า อาจารย์ ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน ผู้เป็นพ่อหลายเท่านัก พ่อภูมิใจในตัวลูกมากจริงๆ ลูกรักของพ่อ...
บ่อยครั้งที่ผมนั่งอยู่คนเดียวคิดถึงลูก และสิ่งที่ลูกสอนผม...มีอยู่วันหนึ่งที่ผมแต่งกลอน คุยกับลูก สองต่อสอง กลอนนี้ชื่อว่า "เพื่อลูกรัก...ด้วยความคิดถึงและขอบคุณ"
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง บรรเลงแว่ว
อุแว้แล้ว ขวัญตา ขวัญใจพ่อ
ช่างน่ารัก น่าถนอม น่าเคลียคลอ
พ่อสุดหล่อ พ่อสุดปลื้ม จนลืมนอน
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง วังเวงแว่ว
เจ็บป่วยแล้ว ลูกรัก จงพักผ่อน
กินยานะ ลูกรัก แล้วพักนอน
นอนเถิดนอน ลูกนอน นอนเถิดนอน
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง วังเวงแว่ว
สิ้นเสียแล้ว ลูกพ่อ รอพ่อก่อน
ลูกหนีพ่อ พ่อทุกข์ และอาทร
รอพ่อก่อน ลูกพ่อ พ่ออยากนอน
บัดเดี๋ยวดัง หง่างเหง่ง บรรเลงแว่ว
เข้าถึงแล้ว สัจธรรม ซึ่งคำสอน
อนิจจัง ทุกขัง นั้นแน่นอน
ศพลูกสอน เตือนพ่อ กงล้อชีวิต...
I'll be right here waiting for you, my dear son.
ขอเชิญชวนให้ผู้อ่านบริจาคอวัยวะ ดวงตา เลือดและร่างกายให้กับสภากาชาดไทยหรือโรงพยาบาลนะครับ
มาร่วมมือ รวมใจกัน ก้าวข้ามความสูญเสียที่ปวดร้าวสู่การให้ที่ยิ่งใหญ่...
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2553
ถ้ามีฟักทองลูกหนึ่ง คุณกับเพื่อนอีกสองคนจะแบ่งกันอย่างไร?
คำตอบทั่วไปก็มักจะเป็นว่า ก็ตัดแบ่งสามส่วนให้เท่า-เท่ากัน
คำถามที่น่าสนใจก็คือ – มีวิธีแบ่งแบบอื่นอีกไหม?
ลองนึกภาพการพูดคุยของผู้คนสามคน พวกเขาหรือเธออาจจะถามไถ่กันว่า ใครอยากได้ส่วนไหนของฟักทองไป บางคนอาจจะอยากได้เนื้อไปทำฟักทองแกงบวด อีกคนอยากได้เปลือกฟักทองไปทำปุ๋ยชีวภาพ อีกคนอยากได้เมล็ดฟักทองเพื่อเอาไปอบแห้งหรือเพาะเมล็ดขาย – นี่ก็ได้วิธีแบ่งอย่างหนึ่งล่ะ
แล้วเป็นไปได้ไหม ที่คนหนึ่งอาจจะบอกว่า ยังไม่อยากใช้ฟักทองในตอนนี้ เพื่อนสองคนเอาไปแบ่งกันเองก่อน ไว้คราวหน้าถ้ามีฟักทองมา ก็ค่อยขอใช้ หรือถ้าใครอยากใช้ทั้งลูกก็เอาไปใช้ก่อน ถ้ามีฟักทองหรือของอย่างอื่นมาก็ค่อยให้เพื่อนอีกสองคนไป – นี่ก็เป็นอีกวิธี
เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่โคราชที่ผ่านมา กลุ่มประชาสังคมโคราชขนข้าวปลาอาหารและสิ่งของเข้าไปบริจาคในพื้นที่น้ำท่วม แล้วก็พบว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะจัดแบ่งข้าวของเหล่านั้นลงในถุงยังชีพเพื่อแจกให้ผู้ประสบภัยคนละถุง เนื่องจากสิ่งของที่จำเป็นสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก และคนแก่ มีความแตกต่างกันมาก ผู้หญิงอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัย เด็กอ่อนอาจจะต้องการผ้าอ้อม นม และขวดนม คนแก่อาจจะต้องการอาหารเคี้ยวง่าย ในขณะที่ผู้ชายไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้เลย – การแบ่งของบริจาคก็เลยกลายเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ เพราะแม้น้ำจะลดลงไปแล้ว แต่ยังต้องมีกระบวนการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัย ทั้งยังต้องวางแผนรับมือภัยหนาว ที่คาดว่าน่าจะร้ายกาจไม่แพ้กัน
กลุ่มประชาสังคมโคราชที่ประกอบไปด้วยนักธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ และเอ็นจีโอ เห็นตรงกันว่าการนำของส่งไปถึงมือของผู้ประสบภัยโดยเร็วเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน แต่กระบวนการแบ่งข้าวของในภาวะวิกฤติให้กับปัจเจกชนเป็นรายคนนั้นเป็นอุปสรรคอย่างมาก และผู้ให้ความช่วยเหลือก็ไม่อาจทราบได้ว่ามีใครหรือครอบครัวไหนประสบภัยบ้างในพื้นที่นั้น – คำถามก็คือ มีวิธีการแบ่งของบริจาคในแบบอื่นอีกไหม?
นักธุรกิจคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหมที่จะจัดแบ่งข้าวของให้เป็นรายกลุ่มหรือรายชุมชน โดยให้ผู้คนในพื้นที่ที่ประสบภัยรวมตัวกันและขอความช่วยเหลือเข้ามา โดยให้ข้อมูลอย่างชัดเจนว่าต้องการอะไรบ้าง เช่น ข้าวสารกี่กิโล นมกี่กระป๋อง ผ้าอนามัยกี่กล่อง ฯลฯ ผู้บริจาคเพียงแต่นำสิ่งของเข้าไป และให้ทางชุมชนไปจัดสรรและแบ่งปันกันเอง ตรวจสอบกันเอง
หากทำเช่นนี้ได้ กระบวนการช่วยเหลือก็จะรวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลากับการแบ่งของเป็นรายหัว แบ่งของลงถุงเหมือนใส่บาตร ทั้งยังเป็นการผลักดันให้มีการรวมตัวกันของภาคประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น และน่าที่จะเป็นรูปแบบของกระบวนการเยียวยาและการเตรียมการในภาวะปรกติเพื่อรับมือวิกฤติครั้งต่อไปได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า รูปแบบของการแบ่งทรัพยากร สามารถนำไปใช้ในฐานะของกลไกในการขับเคลื่อนหรือผลักดันกระบวนการทางสังคมได้ พูดโดยง่าย การแบ่งก็เป็นอุบายวิธีเชิงบวกได้ ไม่ใช่แค่เอาตัวเลขมาหารให้ลงตัว
รูปแบบคล้ายกันนี้ ประชาคมยุโรปก็ใช้ในกระบวนการขับเคลื่อนเครือข่ายงานวิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกัน ดังที่โครงการ FP7 บังคับให้บรรดาสถาบันวิจัยต้องจัดทำข้อเสนอโครงการร่วมกันไม่ต่ำกว่าสามแห่ง โดยบังคับให้เป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างกัน และยิ่งทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยต่างทวีป ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนในขอบเขตกว้างขวางขึ้น โดยวิธีการนี้เอง เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันวิจัยในยุโรปจึงขยายได้มาก และมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีไปยังประเทศโลกที่สามได้เร็วขึ้น
สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอง ในปัจจุบันก็ได้ริเริ่มนำวิธีการที่คล้ายคลึงกันมาใช้ ด้วยการผลักดันให้มีการพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกันระหว่าง ๕ องค์กร ในฐานะเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet – Social Inequity Reduction Network) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานลดความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นตัวเร่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ทั้งในระดับนโยบายและประชาสังคม ในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น สนับสนุนการดำเนินงานให้ไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ผ่านปัญญากลุ่มในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น
ความขัดแย้งในสังคมไทย มีสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งในเรื่องของการแบ่งปันทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน น้ำ คลื่นในอากาศ งบประมาณแผ่นดิน อำนาจหน้าที่ ฯลฯ การแบ่งสรรทรัพยากรที่ไม่ฉลาด ย่อมก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่ความไม่เสมอภาค กลายเป็นความทุกข์ความบีบคั้น และความขัดแย้งในที่สุด
แล้วแบ่งอย่างไรจึงจะเรียกว่าฉลาดและเกิดปัญญา? – คำถามนี้ก็คงต้องเชื้อชวนให้ช่วยกันตอบ แต่ที่เป็นของแน่ก็คือ การปล่อยให้คนไม่กี่คนไม่กี่กลุ่มครอบครองอำนาจในการตัดสินใจไม่ใช่เรื่องดี
ยุคสมัยนี้ มีผู้คนที่กล่าวถึงความศรัทธาในประชาธิปไตย รักมนุษยชาติ และห่วงใยโลก มากที่สุด แต่การแบ่งปันพื้นที่ให้กับความแตกต่างเชิงปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนข้างบ้าน คนในเฟซบุ๊ก ทั้งในเรื่องของความรู้ มุมมอง ความเชื่อ ทัศนะ ท่าที ฯลฯ น่าจะเป็นเรื่องท้าทายความเป็นมนุษย์ของเรามากที่สุดเช่นกัน
การนำพาผู้คนจำนวนมากเข้ามาสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาข้อตกลงหรือกติกาทางสังคมร่วมกันนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความอดทน ซึ่งนั่นก็หมายถึงราคาที่แท้จริงที่เราต้องจ่าย ถ้าไม่จ่ายในชั่วคนนี้ก็ต้องทบไปจ่ายในชั่วคนต่อไป หนี้ทางสังคมเป็นหนี้ที่สืบเนื่องไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จะแบ่งจ่ายกันอย่างไร คงต้องอาศัยปัญญาและกรุณาช่วยกันตอบ