มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551
นานมาแล้วมีโอกาสอ่านหนังสือที่สวยงามมากเล่มหนึ่ง คือ มีเธอจึงมีฉัน โดย สาทิส กุมาร ผู้ชายอินเดียที่เดินเท้าไปยุโรปและอเมริกาเพื่อมอบดอกไม้สันติภาพให้กับผู้นำประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เดินทางกว่าหมื่นไมล์ ฝ่าทะเลทราย พายุหิมะ ถูกขังคุกที่ปารีส ฯลฯ โดยทั้งเนื้อทั้งตัวไม่มีกะตังค์สักแดงเดียว (ตามอ่านอัตชีวประวัติเขาได้ใน นักเดินเท้าแปดพันไมล์ (No Destination) แปลโดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์) ปัจจุบัน เขาเป็นบรรณาธิการวารสาร รีเซอร์เจนต์ ซึ่งเป็นวารสารแนวหน้าด้านจิตวิญญาณ นิเวศวิทยาแนวลึก การพัฒนาแบบยั่งยืน นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยชูมัคเคอร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกเช่นเดียวกับนาโรปะ
เขากล่าวว่า ตอนที่ได้ยินว่า เบอร์ทรันด์ รัสเซล นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบลถูกจับขังคุกเพราะต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เขารู้สึกว่า หากคนแก่อายุ ๙๐ ยังกล้าที่จะถูกคุมขังเพื่อปกป้องสันติภาพ คนหนุ่มอย่างเขาจะอยู่นิ่งเฉยได้อย่างไร เขาจึงเริ่มออกเดินทาง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาได้พบกับรัสเซล ก็พบว่าการยกเลิกการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย หากวัฒนธรรมมนุษย์ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรุนแรง เราจำต้องสถาปนาวัฒนธรรมสันติภาพขึ้นมาในสังคมขึ้นมาให้ได้ รัสเซลไม่เข้าใจความคิดข้อนี้ของ สาทิส กุมาร เท่าใดนัก เพราะคำว่าสันติภาพเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้เหมือนตัวอาวุธนิวเคลียร์ นักคณิตศาสตร์อย่างรัสเซลจึงแตกต่างจากนักสันติภาพอย่างคานธี และ สาทิส กุมาร ก็ด้วยเหตุนี้
นักสันติวิธีอย่าง นารี เจริญผลพิริยะ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ความรุนแรงไม่อาจแก้ปัญหาได้ รังแต่จะก่อให้เกิดห่วงโซ่แห่งความรุนแรงใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเธอยังยืนยันถ้อยคำนี้แม้ในงานศพของพระสุพจน์ สุวโจ พระผู้สมถะผู้ถวายตนรับใช้พระศาสนา และช่วยเหลือชาวบ้านผู้กำลังต่อกรกับทุนอันธพาล
ความตายของพระสุพจน์นั้นน่าร้องไห้ เพราะเราต้องสูญเสียพระ สูญเสียผู้ปวารณาตนที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น สูญเสียเว็บมาสเตอร์ที่รังสรรค์งานเว็บไซต์ชั้นเยี่ยมอย่างสมาคมคนน่ารัก และพุทธทาสศึกษา แต่จะน่าร้องไห้กว่า หากสังคมไทยไม่ได้รู้สึกรู้สากับมรณกรรมของผู้ที่ปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมไทยและลูกหลานทั้ง ๑๙ คน เอาเสียเลย (นับตั้งแต่ยุคของรัฐบาลไทยรักไทยเป็นต้นมา มีผู้นำชาวบ้านนักอนุรักษ์ถูกสังหารไปแล้วไม่น้อยกว่า ๑๙ คน โดยแทบจะหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้เลย)
กฤษณมูรติยิ้มหัวเมื่อมองเห็นชาวอินเดียชำระร่างกายในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ เขาไม่ได้หัวเราะประเพณีฮินดู แต่หัวเราะเพราะชาวอินเดียที่กำลังชำระร่างกายตน และบูชาพระแม่คงคา ทำราวกับว่ามองไม่เห็นอสุภซากและความโสโครกของแม่คงคา พระแม่ยังทรงศักดิ์สิทธิ์อยู่ล่ะหรือในเมื่อลูกอินเดียไม่ดูแลท่านเลย
มีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้คนมีความเมตตากรุณามากขึ้น เห็นความเชื่อมโยงของตนกับผู้อื่น - น้ำและไฟฟ้าของคนเมืองมาจากไหนหรือ ข้าวปลาอาหาร คอมพิวเตอร์ กระดาษ ปากกา ดินสอ รถเมล์ รถไฟฟ้า มาจากไหนหรือ - มีเธอจึงมีฉัน ถ้อยคำนี้ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ไหม?
กัลยาณมิตรท่านหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า วิธีคิดที่ว่า “เราจะต้องพึ่งตัวเองให้ได้” นั้น ดูแปลกทะเร่อทะร่าเหลือเกิน เพราะมองไปทางไหน ไม่เห็นว่าเราจะอยู่ตัวคนเดียวได้เลย ข้าวยังต้องอาศัยชาวนาปลูก เรียนจบจากสถานศึกษาที่พ่อแม่ตนเองไม่ได้สร้าง ใส่เสื้อผ้าที่ทำโดยสาวแรงงาน ส่งผ้าไปซักรีดในร้านที่มีแรงงานพม่ายืนรีดตั้งแต่เจ็ดโมงเช้ายันสามทุ่มไม่มีวันหยุด รถประจำตำแหน่งก็มาจากเงินภาษีชาวบ้าน ยานพาหนะยังต้องอาศัยถนน น้ำมัน และค่าแรงขั้นต่ำ แต่งงานก็ยังต้องหาคนมาแต่งด้วย จะทำบุญหรือแผ่เมตตาก็ต้องมีใครหรืออะไรมารอรับ และแม้จะตายไปก็ยังต้องอาศัยคนอื่นทำงานศพให้
แม้กระนั้น วิธีคิดในเรื่องความสำเร็จของผู้คนจำนวนมากก็ยังเป็น ”ความสำเร็จของฉัน” เจ้านายหลายคนเข้าใจผิดว่าผลงานขององค์กรเป็นผลงานของตนเองล้วนๆ รางวัลเกียรติยศหลายอย่างมอบให้กับคนที่ไม่เคยกล่าวคำขอบคุณผู้สนับสนุนและผู้ร่วมงานอื่นๆ ทั้งที่งานอันซับซ้อนล้วนขับเคลื่อนไปด้วยกลไกของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่ปรากฏชื่อหลายๆ คน ร่วมกัน
การยอมรับองค์ประกอบเล็กๆ อันหลากหลายนั้น ย่อมมีความงามดังที่ปรากฏผ่านบทกวีของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งรจนาไว้ว่า
โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา
ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง
ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ
ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหนฯ
ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเอย
กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย
เมาสมมติจองหอง หินชาติ
น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์ฯ
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2551
ขณะนี้ สำหรับข่าววิทยาศาสตร์ ผู้เขียนไม่เห็นว่ามีอะไรจะสำคัญไปกว่าสภาวะโลกร้อน และปัญหาอยู่ที่คนเราส่วนใหญ่มากๆ ไม่รู้ตัวว่า โลกอาจจะพังหรือเหลือเผ่าพันธุ์มนุษย์แค่หยิบมือเดียวในอีกไม่กี่สิบปีนี้เพราะน้ำมือของเราเอง กับความรู้ที่ตั้งบนเหตุผลและมีบุคคลเป็นใหญ่ ซึ่งได้มาจากทั้งความเข้าใจผิดในการแปลศาสนาเป็นภาษามนุษย์ กับวิทยาศาสตร์ ทำให้เราทั้งโลก รวมทั้งที่บ้านเราแย่งกันเป็นใหญ่ แย่งกันมีอำนาจ แบบถึงจะตายก็ไม่ว่า ขอให้ใหญ่ให้รวยก่อน แต่อย่าคิดว่านั่นคือ “สันดานของมนุษย์” นะครับ บทความนี้จะวิเคราะห์ที่มานั้นและดูว่าเราจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง
วิวัฒนาการของมนุษย์กับสังคมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิวัฒนาการของกาย ที่ทำให้มนุษย์แยกจากธรรมชาติและใหญ่ขึ้นไปนั้น ว่าไปแล้วส่วนหนึ่งเกิดขึ้นดังที่ จอร์จ วอลด์ (George Wald) นักชีววิทยารางวัลโนเบลจากฮาร์วาร์ดว่า เราน่าจะแปล เจเนสิส (Genesis) ในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนาผิด คือแปลเป็นตรงกันข้ามว่า “ให้สร้างมนุษย์ในภาพลักษณ์ของพระเจ้า” แทนที่จะเป็น “ให้มีพระเจ้าในภาพลักษณ์ของมนุษย์” (in man’s image) และแถมให้มนุษย์มีสิทธิ์เหยียดหยามย่ำยีชีวิตอื่นๆ ที่พระเจ้าสร้างมาก่อนหน้านั้น อย่างกับว่าเราคือพระเจ้าผู้สร้างเสียเอง เพราะมนุษย์ยิ่งใหญ่เหลือเกิน - ฆ่า ตัด ขุด เจาะ ถาง เผา - แทนที่จะปกครองและคุ้มครอง “ทุกชีวิตด้วยความเคารพ” ดังนั้นบาปกรรมทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของฝรั่งชาวตะวันตกในทวีปยุโรปแต่เพียงสายพันธุ์เดียวในช่วงเวลานั้น ที่เข้าใจศาสนาผิดและคิดเช่นนั้น ส่วนคนที่อยู่ในทวีปอื่นๆ ไม่เกี่ยว
ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่จะต้องรับเคราะห์กรรมจากสภาวะโลกร้อนและรุนแรงเป็นพิเศษ จึงต้องคิดใหม่ให้ดี ในการจะเอาแต่ตามฝรั่งและการแปลคำพูดของพระเจ้า (Words of God) อย่างผิดๆ ดังที่ จอร์จ วอลด์ กล่าว (George Wald: The Cosmology of Life and Mind; in New Metaphysical Foundation of Modern Science, 1994)
จากวันนั้นถึงวันนี้ วิวัฒนาการของมนุษย์และสังคมของมนุษย์โดยรวม ทั้งการแยกตัวเองออกจากธรรมชาติได้ค่อยๆ มีมากขึ้นและเด่นชัดขึ้นเรื่อยมา - ซึ่งสำหรับนักวิชาการปัญญาชนบางคนรวมทั้งผู้เขียน - เชื่อว่าเป็นไปตามแม่แบบพิมพ์เขียวของจักรวาล
เพราะใหญ่เกิน สันดานของมนุษย์ส่วนใหญ่จึงรับผิดไม่เป็น ต้องหานายหน้าหรือตัวแทน - ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจมารับผิดแทนตัว - เรียกว่าแพะ ซึ่งเป็นคนธรรมดานี้เองที่มีผู้สวมเขาให้ คนที่ถูกสวมเขาไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดไหน จึงเป็นคนโง่ที่สุด หรือจำยอมเพื่อการอยู่รอด เมื่อคนทั่วไปไม่ชอบรับผิด และยิ่งไม่ต้องการเป็นคนโง่ เราส่วนใหญ่มากๆ จึงไม่ต้องการมานั่งคิดถึงความผิดสุดมหันต์ของเผ่าพันธุ์ ที่จะเป็นสาเหตุโดยตรงทำให้มนุษย์ต้องล้มตายไปเป็นพันๆ ล้านคนในช่วงเวลาไม่ช้าไม่นานนัก ด้วยสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเพราะความโลภและความไม่รู้ของเราเอง
เริ่มจากความตื่นเต้นดีใจอย่างสุดขีดของปวงมนุษย์ในประเทศทางตะวันตกเมื่อ ๔๐๐ กว่าปีก่อน ซึ่งตั้งชื่อยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงเสียสวยหรูว่า เป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ ยุคสมัยแห่งเหตุผล และยุคแห่งการรู้เเจ้งเห็นจริง (ages of reason and enlightenment) ทั้งๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเพียงอย่างเดียว เป็นการโผล่ปรากฏ - ของ “เหตุผลและองค์ความรู้” - จากการจัดองค์กรตนเองทางกายภาพหยาบดิบ แต่การโผล่ปรากฏของ “เหตุผล” ได้ทำให้ความเชื่อที่เป็นความรู้ของจิตและศาสนาในยุคมืดบอดทางปัญญาต้องสิ้นสุดลง กลายไปเป็นความงมงายและไสยศาสตร์ตราบจนปัจจุบันนี้
โดย “เหตุผล” ที่สำคัญที่สุดคือ “จิตและศาสนาไม่มีจริงและไม่จริง” เพราะศาสนาล้วนมีความแตกต่างกัน บางศาสนามีพระเจ้าเทวดา บางศาสนามีแต่เทพเทพี บางศาสนามีผู้สร้าง บางศาสนาไม่มีผู้สร้าง เมื่อศาสนาล้วนขัดแย้งกันเอง เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าอันไหนถูกอันไหนจริง? ศาสนามีแต่จะให้ความแตกต่าง สร้างความแปลกแยกระหว่างกัน มีแต่ “เหตุผล” เท่านั้นที่เป็นความจริง และนั่นคือความเชื่อมั่นที่ปัญญาชนส่วนนำของโลก รวมทั้งบ้านเรายึดถือมาตราบจนปัจจุบันนี้ นั่นคือช่วงเวลาเริ่มต้นของความจริงสูงสุดของมนุษยชาติ การตีจากยุคมืดบอดทางปัญญาของยุโรปและศิลปะโกธิคของเยอรมันตะวันออกในขณะนั้น
ความหลงผิดของมนุษยชาติด้วยการค้นพบหลักการของเหตุผล - การเริ่มต้นของสิทธิมนุษยชนในยุคปัจจุบันและความไม่มีอะไรแม้แต่สิทธิ์ที่จะดำรงอยู่ของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม - มนุษย์ในภาพรวม (collective universality) จึง “ใหญ่” ขึ้นเรื่อยๆ และหลงในศักยภาพความยิ่งใหญ่ของตนเองอย่างเกินขอบเขต (anthropocentric) จนลืมไปว่าไม่มีอะไรในจักรวาลที่เกิดขึ้นมาโดยเปล่าๆ ชนิดไม่ต้องทำอะไร การเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐนั้น มาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวง เพราะในด้านหนึ่ง มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีจิตใจดีงามกอปรไปด้วยความรักเมตตาอย่างไม่หวังผลตอบแทน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความหลงผิดที่มีอีโก้เป็นพื้นฐานและเหตุผลบนความรู้และจิตรู้ (anthropocentric) ตามที่ตาเห็น ทำให้มนุษย์แยกตัวเองออกจากธรรมชาติมากขึ้น มองธรรมชาติประหนึ่งอาณาจักรแห่งทาสผู้รับใช้ที่มนุษย์เราจะทำอะไรก็ได้ ความทะนงตนจากความสามารถในการเอาชนะธรรมชาติได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มนุษย์ค่อยๆ ลืมเลือนศักยภาพในด้านแรกหรือโยนทิ้งไป เพราะปรารถนาความสุขผิวเผินของตัวเองที่คิดว่าสำคัญที่สุด ภายใต้หลักการที่ว่า มนุษย์คือผู้ยิ่งใหญ่ในสากล (collective universality) ที่ว่านั้น
“ความรู้กับเหตุผลปลดโซ่ตรวนที่จำจองเราไว้
เป็นอิสระ - จึงเข้าใจว่าอะไรคือ “ความจริง”
ความจริงที่ตาเห็นจึงไม่ต้องแต่งไม่ต้องเสริม
สร้างสรรค์ “ความจริง” อันสากลให้มนุษย์โดยรวม”
โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2551
กระบวนความคิดนั้นมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพฤติกรรมมนุษย์ เพราะความคิดนั้นมีความซับซ้อน และมีองค์ประกอบของอารมณ์กับความรู้สึกนึกคิดด้วย โดยพฤติกรรมจะแสดงออกมาด้วยภาษาที่หลากหลาย ทั้งภาษาพูด ภาษาสีหน้าท่าทาง ภาษาเขียน วรรณกรรม หรือแม้แต่ภาษาศิลปะที่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่อาจจะบ่งบอกได้ด้วยวิธีธรรมดา การที่แพทย์จะดูแลรักษาผู้ป่วยสักรายหนึ่งนั้น เป็นความท้าทายของแพทย์ที่จะสามารถ “เข้าถึง” ก้นบึ้งแห่งสาเหตุของความเจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้ง “นิเวศสุขภาพ” ของตัวผู้ป่วยได้มากน้อยเพียงไร ยิ่งสามารถสืบสาวถึงต้นเหตุต้นตอได้ ยิ่งมีโอกาสช่วยเหลือคนไข้ได้มากขึ้น ยิ่งเข้าใจในบริบท สิ่งแวดล้อม ที่จะมีอิทธิพลต่อตัวคนไข้ได้ด้วย ยิ่งเปิดโอกาสให้เข้าใจภาพรวม ภาพชีวิต ที่มีองค์ประกอบต่างๆ ได้ครบถ้วนมากขึ้น
ในโรงพยาบาลนั้น คนไข้เดินมาหาหมอด้วยเป็นโรคภัยไข้เจ็บมาก่อน บางรายเพียงรักษาเป็นผู้ป่วยนอกก็หาย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล บางรายหมอต้องให้นอนที่โรงพยาบาล เพราะอาการหนัก ต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม หรือเพื่อการรักษาบางรูปแบบ คนไข้ส่วนหนึ่งรับการรักษาเสร็จเรียบร้อยก็หายขาด กลับบ้านได้ แต่จะมีคนไข้อีกส่วนหนึ่งที่มีโรคเรื้อรัง หรือเป็นโรคที่มีผลกระทบมาจากพฤติกรรม สิ่งแวดล้อมที่บ้าน หรือที่ทำงาน ดังนั้น เมื่อออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงเช่นเดิม ไม่ช้าไม่นานคนไข้ก็จะต้องย้อนกลับ มาหาหมอที่โรงพยาบาลใหม่ ด้วยอาการเก่า หรือผลแทรกซ้อนจากโรคเก่าๆ เมื่อมีคนไข้แบบนี้เป็นจำนวนมาก ก็จะสะสม และกลายเป็นภาระที่โรงพยาบาลจะต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ทั้งเวลา บุคคล และทรัพย์สิน โดยที่เป้าหมายคือสุขภาวะของคนไข้ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่เราหวัง
ระบบการแพทย์ในยุคก้าวหน้านี้ จึงควรที่จะเพิ่มและใช้ศักยภาพขององค์กรให้มากขึ้น ให้บุคลากร มีความเข้าใจในบริบท สิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาวะของคนไข้ เพราะทั้งหมอ พยาบาล คนไข้ โรงพยาบาล อนามัย ที่ทำงาน ชุมชน ล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสุขภาพของทุก สมาชิกในชุมชนทั้งสิ้น เมื่อเกิดปัญหาต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็จะส่งผลกระทบไปหาทั้งระบบนิเวศได้
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สองออกไปฝึกหัดเยี่ยมบ้านคนไข้ที่เพิ่งกลับจากโรงพยาบาล ก็ไปพบว่าคนไข้เป็นผู้ป่วยทางจิต เป็นมารดาของลูกสาวคนเดียว ลูกสาวเพิ่งจบปริญญาตรีมาได้ไม่กี่ปี แต่เนื่องจากมารดาป่วย จึงต้องอยู่ดูแลที่บ้าน ไม่ได้ออกไปทำงาน ภาระทางการหาเงินตกเป็นของสามีคนไข้ ซึ่งก็มีอายุมากแล้ว ตอนที่ทีมปฐมภูมิของโรงพยาบาลไปเยี่ยม ก็มีญาติพี่น้องเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆ เดินมาเยี่ยมๆมองๆดูกันหลายคน ว่าหมอ พยาบาล เขามาทำอะไรกันที่บ้านนี้ ปรากฏว่าคนไข้ไม่พอใจ ส่งเสียงด่า สะบัดมือสะบัดเท้า ไม่ยอมให้พยาบาลตรวจวัดความดัน หรือตรวจร่างกายอะไรเลย
นักศึกษาแพทย์สามารถบรรยายสภาพความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม และอาการต่างๆ ของคนไข้ได้ดีพอสมควร แต่พอถามถึงสุขภาพของลูกสาวผู้เป็นคนดูแลคนไข้ ก็ตอบได้ไม่ชัดเจนเท่าไร ถามว่าพยาบาลทำอย่างไร เวลาคนไข้ส่งเสียงดัง น้องนักศึกษาแพทย์ก็ลังเลไม่แน่ใจ เพราะไม่ทันได้สังเกต และไม่สามารถตอบได้ว่า ทำไมพี่ๆพยาบาลจึงยังรักษาอารมณ์ ความตั้งใจในการทำงานต่อไปได้ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย กรณีดังกล่าว ทำให้เราเริ่มมองเห็นจุดอ่อนในระบบการเรียนการสอนของเรา ที่เน้นระบบการให้บริการพยาบาลของหมอ และพยาบาลเป็นหลัก การรวบรวมข้อมูลเรื่องราวต่างๆ จะอิงประโยชน์ใช้สอยต่อการทำงานของเราเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังขาดความเชื่อมโยงไปถึงสาเหตุด้านอื่นของพยาธิสภาพไปอีกไม่น้อย
บางครั้งถ้าหากเรามองคนไข้แบบองค์รวม แบบเป็นระบบนิเวศ เราจะเริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลง และเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงด้านอื่นเพิ่มมากขึ้น เราอาจจะเริ่มตั้งคำถาม อาทิ ถ้าหากลูกสาวคนไข้รายนี้ ใช้ชีวิตเหมือนพยาบาล แต่มีเพียงคนเดียว เขาจะมีความสุขไหม อย่างไร ที่โรงพยาบาลเราใช้พยาบาล ๓ ผลัดต่อวัน ผลัดละ ๘ ชั่วโมงช่วยกันดูคนไข้ และพบว่าเป็นงานที่หนัก เหน็ดเหนื่อย ใช้พลังกาย พลังใจอย่างมากมาย แล้วเมื่อพิจารณาในมุมของลูกสาวคนไข้คนนี้ เขาจะรู้สึกเป็นงานหนักหรือไม่ เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนหรือไม่ จะมีโอกาสอะไรไหมที่ลูกสาวคนนี้จะได้ออกไปภายนอกบ้าง เจอะเจอผู้คนอื่นบ้าง แต่งงานมีครอบครัว มีชีวิตของตนเองบ้างและเมื่อไร ปริญญาที่เรียนจบมาจะได้ใช้ไปทำงานได้ไหม เมื่อไร
ตัวลูกสาวเองอาจจะไม่ได้นึกอะไรแบบที่ว่ามานี้เลยก็เป็นได้ เธออาจจะมองว่าเป็นการทำงานที่มีศักดิ์ศรี เป็นมงคลต่อชีวิตที่ได้มีโอกาสทดแทนพระคุณมารดา แต่ ณ ขณะนี้ ปัญหาคือ “เรายังไม่เข้าใจ” ระบบนิเวศหรือวิถีการดำเนินชีวิตของบ้านนี้ ว่าสมาชิกของครอบครัวนี้มีความสุขหรือไม่ และมีความสุขได้อย่างไร องค์ประกอบของสุขภาวะของครอบครัวนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? รวมทั้งความรู้สึกของญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน คนเหล่านี้รู้สึกอย่างไรที่คนไข้คนนี้อยู่ที่บ้านนี้ มีการช่วยเหลือพึ่งพากันอย่างไร และอะไรคือบทบาทของแพทย์ พยาบาล ที่อาจจะช่วยส่งเสริมศักยภาพ (empower) ให้สังคมนิเวศเล็กๆนี้ มีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง
การดูแลสุขภาพนั้น จึงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะการศึกษาแต่พยาธิสภาพ (Pathology) พยาธิกำเนิด (Pathogenesis) หรือศึกษาแค่เรื่องราวของโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่พันธกิจนี้ จะต้องอาศัยความเข้าใจใน “สุขภาวะกำเนิด” (Salutogenesis) ด้วย
สุขภาวะกำเนิด (Salutogenesis)
คำนี้มาจากภาษาละติน salus = health และภาษากรีก genesis = origin เป็นการแพทย์ที่เน้นปัจจัยที่ส่งเสริม และสนับสนุนสุขภาวะ ความเป็นอยู่ดี ไม่ได้เน้นที่เรื่องของการเกิดพยาธิสภาพ คนแรกที่ใช้คำๆ นี้คือ Aaron Antonovsky ในปีคริสตศักราช ๑๙๗๙ และพบว่าคนที่มีสุขภาวะที่ดีนั้น ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานต่อโรคไปด้วย และรวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ดี การดูแลปัจจัยต่างๆ อย่างมีความเกี่ยวโยงต่อเนื่องกัน (coherence) ได้แก่ การดูแลร่างกาย การดูแลจิตใจ สิ่งแวดล้อม เป็นการดูแลทั้งระบบนิเวศของคน เพื่อได้มาซึ่งสุขภาวะอันสมบูรณ์
ความเข้าใจในสุขภาวะกำเนิดนี้ ควรจะมีทั้งในฝ่ายประชาชน และฝ่ายผู้ดูแลสุขภาพ คือหมอ พยาบาล เพราะด้วยความเข้าใจ ความตระหนัก และการให้ความสำคัญ จึงจะเกิดเป็นแรงผลักดันต่อพฤติกรรม เพราะโรคจำนวนมากเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Behavior-related Diseases) อาทิ เบาหวาน ความดันสูง การติดยา อุบัติเหตุจราจร หรืออุบัติเหตุในที่ทำงาน สุขภาพจิตเสื่อมโทรม การดูแลพยาธิสภาพเหล่านี้ไม่สามารถจะทำได้โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น แต่ต้องเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่าย และรวมไปถึงระดับบริหาร นโยบาย ระบบการจัดงบประมาณบริหารประเทศด้วย
การผลิตแพทย์ในระบบสุขภาพใหม่ อาจจะต้องพิจารณาว่า เราควรจะทำอย่างไร จึงจะทำให้มีการบูรณาการของความเข้าใจในพยาธิสภาพ และความเข้าใจในสุขภาวะกำเนิด มาใช้ในทางปฏิบัติ เพื่อสุขภาวะของประเทศโดยรวม
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551
ผู้เขียนได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่อง “กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย” โดยมี ผศ. ดร. สุรภี รุโจปการ เป็นผู้ร่วมวิจัย และมีผู้ช่วยวิจัยที่เป็นลูกศิษย์อีกสามคนคือ ดร. วิศนี ศิลตระกูล ดร. ปาน กิมปี และ ดร. วิมลลักษณ์ ชูชาติ เห็นว่าผลการวิจัยมีคุณค่าที่จะเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รู้ในวงกว้าง จึงนำมาเสนอในคอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้
งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย และสังเคราะห์กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย โดยศึกษาเอกสาร กรณีศึกษาบุคคลจำนวน ๕ ราย คือ พระครูมานัสนทีพิทักษ์ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ นายยงยุทธ ตรีนุชกร นายฝาก ตรีถวัลย์ และนางสมหมาย หนูแดง สำหรับกรณีศึกษา นางสมหมาย หนูแดง ได้ใช้การวิจัยภาคสนามเพิ่มเติมด้วย งานวิจัยนี้ใช้วิธีการเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เจาะลึก และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม หลังจากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการจำแนกข้อมูลตามประเด็นต่างๆ แล้วสรุปเป็นรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย โดยที่กรอบแนวคิดไทยมาจากสามแนวคิดหลักคือ พุทธศาสนา เกษตรกรรม และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
๑. ปัญญา คือ ความสามารถในการคิด และการกระทำอย่างรู้รอบและรู้ลึก โดยใช้ความรู้ ประสบการณ์ ความเข้าใจ สามัญสำนึก และความหยั่งรู้ภายในที่มีอยู่ เพื่อแก้ปัญหาได้ทันกาลและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างสมดุล แบ่งได้เป็น ๓ ระดับตามแหล่งกำเนิด คือ
(๑) ความรู้รอบและรู้ลึกที่เกิดจากการรับข้อมูลจากแหล่งความรู้ภายนอกตัวเรา
(๒) ความรู้รอบและรู้ลึกที่เกิดจากการคิดซึ่งเป็นกระบวนการทำงานของจิตภายในตัวเรา
(๓) ความรู้รอบและรู้ลึกที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ
๒. กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย ประกอบด้วย ๔ ขั้นตอนหลัก ได้แก่ (๑) ขั้นการรับรู้และตระหนักถึงปัญหา ซึ่งอาจเริ่มต้นจากปัญหาหรือความสนใจ (๒) ขั้นค้นหาสาเหตุแห่งปัญหา ซึ่งมักจะมองปัญหาและสาเหตุอย่างเป็นระบบและมองในภาพรวม (๓) ขั้นแสวงหาทางออกของปัญหา ซึ่งมองหาทางป้องกันมากกว่าการแก้ไข (๔) ขั้นค้นพบทางออกของปัญหา ซึ่งเน้นความเรียบง่าย กลับคืนสู่ธรรมชาติ และสอดคล้องกับวิถีชีวิต
๓. รูปแบบของกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย มี ๓ รูปแบบ คือ
รูปแบบที่ ๑ กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาจากภายนอก
กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลเริ่มต้นจากการเรียนรู้ความรู้เดิม จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ได้รับการยอมรับและสืบทอดต่อกันมา วิธีการเรียนรู้มีทั้งการศึกษาด้วยตนเองจากตำรา จาก ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน จากครู ผู้สอน เป็นต้น
รูปแบบที่ ๒ กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาจากภายใน
กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลเริ่มต้นจากกระบวนการคิดแบบหนึ่งแบบใด หรือหลายแบบ ได้แก่ การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชื่อมโยง การคิดสร้างสรรค์ การคิดแบบอุปมา-อุปมัย เป็นต้น การคิดเหล่านี้จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่แตกต่างไปจากความรู้เดิมที่ได้จากตำรา
รูปแบบที่ ๓ กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาจากการปฏิบัติ
กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลในระดับนี้เป็นการนำความรู้หรือปัญญาที่เกิดทั้งจากรูปแบบที่ ๑ และ ๒ มาประกอบกัน เพื่อเป็นการสร้างปัญญาที่สูงขึ้น การเรียนรู้ในรูปแบบนี้ เน้นการลงมือทำจริง ปฏิบัติจริง หรือทำการทดลอง ทดสอบในรูปแบบต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งความรู้ที่เกิดขึ้นในระดับนี้มักเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ จากการสั่งสมองค์ความรู้ของบุคคลนั้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ผลการวิจัยที่สำคัญทั้งสามประเด็นสมควรนำไปเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาไทยสู่การเป็นภูมิปัญญาสากลต่อไป