มีเธอจึงมีฉัน – ถ้อยคำนี้ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ไหม?

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551

นานมาแล้วมีโอกาสอ่านหนังสือที่สวยงามมากเล่มหนึ่ง คือ มีเธอจึงมีฉัน โดย สาทิส กุมาร ผู้ชายอินเดียที่เดินเท้าไปยุโรปและอเมริกาเพื่อมอบดอกไม้สันติภาพให้กับผู้นำประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เดินทางกว่าหมื่นไมล์ ฝ่าทะเลทราย พายุหิมะ ถูกขังคุกที่ปารีส ฯลฯ โดยทั้งเนื้อทั้งตัวไม่มีกะตังค์สักแดงเดียว (ตามอ่านอัตชีวประวัติเขาได้ใน นักเดินเท้าแปดพันไมล์ (No Destination) แปลโดย พิภพ อุดมอิทธิพงศ์) ปัจจุบัน เขาเป็นบรรณาธิการวารสาร รีเซอร์เจนต์ ซึ่งเป็นวารสารแนวหน้าด้านจิตวิญญาณ นิเวศวิทยาแนวลึก การพัฒนาแบบยั่งยืน นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยชูมัคเคอร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกเช่นเดียวกับนาโรปะ

เขากล่าวว่า ตอนที่ได้ยินว่า เบอร์ทรันด์ รัสเซล นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบลถูกจับขังคุกเพราะต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เขารู้สึกว่า หากคนแก่อายุ ๙๐ ยังกล้าที่จะถูกคุมขังเพื่อปกป้องสันติภาพ คนหนุ่มอย่างเขาจะอยู่นิ่งเฉยได้อย่างไร เขาจึงเริ่มออกเดินทาง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาได้พบกับรัสเซล ก็พบว่าการยกเลิกการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย หากวัฒนธรรมมนุษย์ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรุนแรง เราจำต้องสถาปนาวัฒนธรรมสันติภาพขึ้นมาในสังคมขึ้นมาให้ได้ รัสเซลไม่เข้าใจความคิดข้อนี้ของ สาทิส กุมาร เท่าใดนัก เพราะคำว่าสันติภาพเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้เหมือนตัวอาวุธนิวเคลียร์ นักคณิตศาสตร์อย่างรัสเซลจึงแตกต่างจากนักสันติภาพอย่างคานธี และ สาทิส กุมาร ก็ด้วยเหตุนี้

นักสันติวิธีอย่าง นารี เจริญผลพิริยะ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ความรุนแรงไม่อาจแก้ปัญหาได้ รังแต่จะก่อให้เกิดห่วงโซ่แห่งความรุนแรงใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเธอยังยืนยันถ้อยคำนี้แม้ในงานศพของพระสุพจน์ สุวโจ พระผู้สมถะผู้ถวายตนรับใช้พระศาสนา และช่วยเหลือชาวบ้านผู้กำลังต่อกรกับทุนอันธพาล

ความตายของพระสุพจน์นั้นน่าร้องไห้ เพราะเราต้องสูญเสียพระ สูญเสียผู้ปวารณาตนที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น สูญเสียเว็บมาสเตอร์ที่รังสรรค์งานเว็บไซต์ชั้นเยี่ยมอย่างสมาคมคนน่ารัก และพุทธทาสศึกษา แต่จะน่าร้องไห้กว่า หากสังคมไทยไม่ได้รู้สึกรู้สากับมรณกรรมของผู้ที่ปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมไทยและลูกหลานทั้ง ๑๙ คน เอาเสียเลย (นับตั้งแต่ยุคของรัฐบาลไทยรักไทยเป็นต้นมา มีผู้นำชาวบ้านนักอนุรักษ์ถูกสังหารไปแล้วไม่น้อยกว่า ๑๙ คน โดยแทบจะหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้เลย)

กฤษณมูรติยิ้มหัวเมื่อมองเห็นชาวอินเดียชำระร่างกายในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ เขาไม่ได้หัวเราะประเพณีฮินดู แต่หัวเราะเพราะชาวอินเดียที่กำลังชำระร่างกายตน และบูชาพระแม่คงคา ทำราวกับว่ามองไม่เห็นอสุภซากและความโสโครกของแม่คงคา พระแม่ยังทรงศักดิ์สิทธิ์อยู่ล่ะหรือในเมื่อลูกอินเดียไม่ดูแลท่านเลย

มีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้คนมีความเมตตากรุณามากขึ้น เห็นความเชื่อมโยงของตนกับผู้อื่น - น้ำและไฟฟ้าของคนเมืองมาจากไหนหรือ ข้าวปลาอาหาร คอมพิวเตอร์ กระดาษ ปากกา ดินสอ รถเมล์ รถไฟฟ้า มาจากไหนหรือ - มีเธอจึงมีฉัน ถ้อยคำนี้ยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ไหม?

กัลยาณมิตรท่านหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า วิธีคิดที่ว่า “เราจะต้องพึ่งตัวเองให้ได้” นั้น ดูแปลกทะเร่อทะร่าเหลือเกิน เพราะมองไปทางไหน ไม่เห็นว่าเราจะอยู่ตัวคนเดียวได้เลย ข้าวยังต้องอาศัยชาวนาปลูก เรียนจบจากสถานศึกษาที่พ่อแม่ตนเองไม่ได้สร้าง ใส่เสื้อผ้าที่ทำโดยสาวแรงงาน ส่งผ้าไปซักรีดในร้านที่มีแรงงานพม่ายืนรีดตั้งแต่เจ็ดโมงเช้ายันสามทุ่มไม่มีวันหยุด รถประจำตำแหน่งก็มาจากเงินภาษีชาวบ้าน ยานพาหนะยังต้องอาศัยถนน น้ำมัน และค่าแรงขั้นต่ำ แต่งงานก็ยังต้องหาคนมาแต่งด้วย จะทำบุญหรือแผ่เมตตาก็ต้องมีใครหรืออะไรมารอรับ และแม้จะตายไปก็ยังต้องอาศัยคนอื่นทำงานศพให้

แม้กระนั้น วิธีคิดในเรื่องความสำเร็จของผู้คนจำนวนมากก็ยังเป็น ”ความสำเร็จของฉัน” เจ้านายหลายคนเข้าใจผิดว่าผลงานขององค์กรเป็นผลงานของตนเองล้วนๆ รางวัลเกียรติยศหลายอย่างมอบให้กับคนที่ไม่เคยกล่าวคำขอบคุณผู้สนับสนุนและผู้ร่วมงานอื่นๆ ทั้งที่งานอันซับซ้อนล้วนขับเคลื่อนไปด้วยกลไกของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่ปรากฏชื่อหลายๆ คน ร่วมกัน

การยอมรับองค์ประกอบเล็กๆ อันหลากหลายนั้น ย่อมมีความงามดังที่ปรากฏผ่านบทกวีของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งรจนาไว้ว่า

โลกนี้มิอยู่ด้วย มณี เดียวนา
ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง
ปวงธาตุต่ำกลางดี ดุลยภาพ
ภาคจักรพาลมิร้าง เพราะน้ำแรงไหนฯ

ภพนี้มิใช่หล้า หงส์ทอง เดียวเอย
กาก็เจ้าของครอง ชีพด้วย
เมาสมมติจองหอง หินชาติ
น้ำมิตรแล้งโลกม้วย หมดสิ้นสุขศานต์ฯ


ฐานภาพทางสังคมก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ คุณงามความดีเป็นเรื่องที่คนอื่นพิสูจน์ - ไม่ใช่เรื่องโฆษณาตน แม้แต่เกียรติยศก็เป็นเรื่องที่ผู้อื่นมอบให้ – ไม่ใช่บังคับเอา และแม้กระทั่งการบรรลุธรรมก็ยังต้องอาศัยคนอื่นด้วยอยู่ดี ดังกรณีที่นักบวชย่อมปฏิบัติธรรมได้ลำบากหากขาดการสนับสนุนจากฆราวาส อาทิ ภิกษุณีทิเบต ท่านเทนซิน พัลโม ยังต้องอาศัยผู้สนับสนุนทางทุนทรัพย์เป็นค่าเสบียงและลูกหาบในการปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมอยู่คนเดียวในถ้ำเป็นเวลายาวนานถึง ๑๔ ปี

หรือแม้การปฏิบัติธรรมก็ต้องอาศัยศัตรู ดังที่ท่านทะไล ลามะ ถูกบีบคั้นให้ละทิ้งแผ่นดินเกิดและประชาชนของตน ทำให้ท่านต้องฝึกฝนตนเองให้มีความอดทนข่มกลั้น และดำรงความกรุณาต่อชาวจีน จะเห็นว่า ถ้าไม่ถูกย่ำยีข่มเหง ก็คงไม่ได้ฝึกธรรมะ

ลองหันกลับไปดูเรื่องด้านลบบ้าง ความบกพร่องผิดพลาดพิกลพิการของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองรายวัน ละครเน่าซ้ำซาก เด็กติดเกมส์ แก๊งเด็กแว้น เด็กสก๊อย ฯลฯ แท้จริงแล้วพวกเราก็คงมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย

เด็กสมัยนี้เอาเงินมาจากไหนหรือ? ใครหนอที่เปิดร้านเกมส์? ใครหนอที่ขายเหล้าและบุหรี่ให้เด็กและเยาวชน? ใครหนอที่ทำให้เด็กไม่มีพื้นที่ทั้งในบ้านและโรงเรียน จนต้องไปหาพื้นที่ของตัวเองกลางท้องถนน ถ้าไม่ด้วยกำปั้น ก็ด้วยมีด ด้วยปืน ด้วยมอเตอร์ไซค์ – ใครหนอ?

หลายครั้งที่ข้าพเจ้าไม่พึงใจกับความหงุดหงิด ความขัดแย้ง ความเป็นไปของโลก ภายในรู้สึกทุรุนทุราย และหลายครั้งก็ระเบิดโทสะออกมาใส่โลกที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเส็งเคร็งเต็มทน พอสงบลง จึงค่อยนึกได้ว่า หากตัวเรายังเป็นทุกข์ โลกก็คงไม่หายจากทุกข์ที่เป็นอยู่ หากตัวเรายังโกรธ จะไปให้โลกเลิกโกรธก็คงไม่ได้ บ่นไปไยกับโลกร้อน ในเมื่อวิถีชีวิตเรายังกระแดะอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จะบ่นไปไยกับผู้ปกครองที่เต็มไปด้วยความอาสัตย์ ในเมื่อเรายังทนและยอมเขาได้

บางที ในวันที่เราสามารถเปลี่ยนปุ๋ยคอกให้กลายเป็นดอกไม้งามพิสุทธิ์ เราน่าจะเข้าใจอะไรบางอย่างมากขึ้นก็เป็นได้

Back to Top