โดย
สมพล ชัยสิริโรจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มีนาคม 2559
“ชายสองคนตายลงไปพบยมบาล ยมบาลถามชายคนแรกว่า แต่งงานหรือยัง เขาตอบว่า แต่งมาแล้วยี่สิบปี ยมบาลไล่คนแรกให้ไปขึ้นสวรรค์ ยมบาลถามคนที่สองคำถามเดียวกัน ชายคนที่สองบอกว่า ยังไม่ได้แต่งงาน ยมบาลสั่งให้คนที่สองไปลงนรก ชายคนที่สองประท้วงถามว่า ทำไมเขาต้องลงนรก ยมบาลตอบว่า เพราะคนแรกเขาลงนรกมาแล้วยี่สิบปี ส่วนเจ้าคนที่สองยังไม่เคย”
แม้นเรื่องเล่านี้จะเป็นเพียงเรื่องขำขันไว้เล่าบนโต๊ะอาหาร แต่ก็สะท้อนความรู้สึกลึกๆ ของผู้คนในสังคมยุคนี้ได้ไม่น้อยว่า เขารู้สึกอย่างไรกับชีวิตแต่งงาน ไม่ว่าตัวละครในเรื่องนี้จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม
ความรู้สึกแปลกแยกไม่สมหวังในการแต่งงาน นอกจากเกาะกินจิตใจของคนที่เกี่ยวข้อง ยังสั่นสะเทือนพื้นฐานของชีวิตครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และครอบครัวที่ไม่สามารถรับมือกับ “นรก” ของชีวิตแต่งงาน ก็แทบจะขาดทักษะที่จะรับมือกับวิกฤติของนรกรอบตัว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติในที่สุด
อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อะไรทำให้การแต่งงานซึ่งต่างเป็นที่ปรารถนาของชายหญิง จนถึงกับเฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก เชิญแขกเหรื่อเพื่อนฝูงผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วมอวยพร กลายเป็นเรื่องไม่สมปรารถนา จนเป็นนรกไปได้
อาจจะเป็นเพราะคู่แต่งงานต่างมีมโนจริตคิดไปเองว่า เมื่อปลงใจรักกันแล้ว จนตกลงอยู่กินด้วยกันนั้น เป็นเพราะต่างเข้าใจอกเข้าใจตรงกัน มีนิสัยใจคอที่ตรงกัน “น่า” จะเข้ากัน
เพราะมีอะไรเหมือนกันจึงมารักกัน จนอยู่ด้วยกัน ดังนั้น เมื่อมีอะไรขัดแย้งกันไม่เข้าใจกันเกิดขึ้น ต่างคนต่างเห็นว่า “ไม่น่า” จะเป็นเช่นนั้น ต่างจึงผิดหวังในกันและกัน และสวรรค์ที่วาดไว้พังลงกลายเป็นนรก ความสุขสดชื่นหายไปกลายเป็นความขมขื่น คนรักที่คุ้นเคยใกล้ชิดแปลกแยกกลายเป็นคนแปลกหน้า
อะไรจะเกิดขึ้นเล่า หากเราวางจริตซึ่งคิดไปเองว่า เราเหมือนกันใจตรงกันจึงอยู่กินกัน แล้วกลับมองว่า
เพราะเราต่างกัน แตกต่างอย่างคนละขั้ว สุดโต่งกันคนละข้างต่างหาก เราจึงโดนดึงดูดให้รักกัน ราวกับแม่เหล็กขั้วบวกดึงดูดขั้วลบ อะไรจะเกิดขึ้นหากเรารู้ทันความแตกต่างที่ว่านี้