2012

น้ำลายดิจิตอล



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2555

มีโอกาสได้สนทนากับเพื่อนสมัยเรียน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่สมัยผมไม่เคยมี นั่นคือการสนทนาผ่านการแชตด้วยมือถือสมาร์ตโฟน ผมพบว่าเพื่อนสมัยมัธยมไม่สนใจที่จะสนทนาอะไรมากนักนอกจากอำกันไปมาเรื่องหนีเมียไปเที่ยวซุกซน แต่ส่วนใหญ่ดีแต่พูดเพราะเป็นแฟมิลีแมนกันทั้งนั้น ผู้ชายรุ่นหลักสี่แบบผม หรือบางทีก็แซวกันด้วยคำแรงๆ แบบเจ็บแสบ อาจจะด้วยเพราะในหน้าที่การงานไม่สามารถพูดจา ด้วยภาษาสมัยพ่อขุนรามแบบนี้กับใครได้ จึงออกมาแซวกันเล่น เปื้อนกระเซ็นกันด้วยน้ำลายดิจิตอล

เทคโนโลยีทำให้เราใกล้ชิดกัน!

เพื่อนบางกลุ่มสนทนากันอย่างผิวเผินเหลือเกิน บ้างคุยเรื่องหุ้น บ้างชวนทำบุญสร้างองค์พระ บ้างก็แค่ใช้ช่องทางนี้ในการนัดหมาย แต่ไม่สนทนาลึกลงไปจนแตะความเชื่อความเห็นของแต่ละคน หลายคนบอกว่าการสนทนาด้วยช่องทางแชตที่มีแต่ตัวอักษรนั้น ไม่อาจจะสื่อถึงความรู้สึกได้เหมือนการคุยเห็นหน้ากัน นักจิตวิวัฒน์ไม่ควรจะเชื่อคำที่บอกต่อกันมาแบบนั้น ผมจึงทำการทดลองเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปีเห็นจะได้ คือการตั้งวงสนทนาเรื่องจิตวิวัฒน์เป็นกลุ่มผ่านช่องทางการแชตผ่านมือถือสมาร์ตโฟน

ผมพบความจริงว่าเราอาจจะใช้ช่องทางนี้คุยกันเรื่องจิตวิวัฒน์ได้ และอาจจะดีกว่าการพบเจอพูดคุยต่อหน้าเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุที่บางคนสบายใจที่จะพูดคุยเรื่องเหล่านี้แบบไม่เห็นหน้าค่าตา เพราะเมื่อคุยต่อหน้าไม่กล้าที่จะคุยลงลึก หรือทักษะและความคุ้นชินของการวางตัวต่อหน้าผู้คนเข้ามาแปรเปลี่ยนเจตนาในการสนทนาไป เช่น บางคนพูดเก่งเวลาอยู่ต่อหน้าผู้คน บางคนพอใจที่จะฟังเฉยๆ ไม่ออกความคิดเห็นใดๆ นี่คือตัวบทที่เราแต่ละคนเรียนรู้จากสังคมมาตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล เวลาผ่านไปนานเข้าเรายึดตัวบทนั้นไว้เป็นอุปนิสัย แต่การแชตผ่านมือถือเป็นกลุ่มได้สร้างระเบียบใหม่ เซาะกร่อนบทบาทเก่า ปรับทุกคนให้เท่าเทียมกันด้วยจำนวนพยัญชนะ ๔๔ ตัวที่ทุกคนมีเท่ากัน จำกัดไว้อยู่เพียงเชาวน์ปัญญาที่จะเปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นตัวอักษรเท่านั้น

ศาสนาพุทธพูดถึงเรื่องอสภาวรูปสองอย่างคือ กายวิญญัติ และวจีวิญญัติ ซึ่งหมายถึงเป็นอาการพิเศษซึ่งเกิดและแสดงออกทางกายและวาจา ถ้าทั่วไปเราอาจจะโมเมเรียกว่า “ภาษากาย” ไปก่อน ที่ผมพูดนี้เพื่อจะแสดงว่าช่องทางการแชตนั้น กายวิญญัติและวจีวิญญัติไม่สามารถจะสื่อและรับกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่ถึงไม่สมบูรณ์ผมก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราสังเกตดีๆ เราก็อาจจะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคู่สนทนาได้มากบ้างน้อยบ้าง เพราะการโต้ตอบกันด้วยภาษาแชต ไม่ใช่มีเพียงแค่ตัวอักษร แต่ยังมีการเว้นจังหวะ การรอคอยให้คู่สนทนาพูดจบในขบวนความคิด การแทรกคั่นจังหวะ การใช้สัญลักษณ์แทนความรู้สึก การเลือกชุดภาษา (ทีเล่นทีจริง หรือเป็นทางการ) การลาออกจากกลุ่ม การโดนแบน การขอเข้ากลุ่มใหม่ การไปเปิดกลุ่มใหม่ลับหลัง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ยังไม่ทิ้งสันดานของความเป็นมนุษย์ให้เราเรียนรู้ได้

กลุ่มสนทนาที่พูดคุยกันเพียงผิวเผิน ผมได้เรียนรู้ว่าบางทีด้วยถ้อยคำบางคำที่สอดใส่เข้าไปราวกับเป็น “ตัวกวนทางควอนตัม” (Strange Attractors) ได้ก่อเกิดปฏิกิริยาสร้างระเบียบใหม่บนความไร้ระเบียบของการสนทนา และผมพบว่ายิ่งผมใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย กักขฬะ กระด้างหู แปลกประหลาด เกินความคาดหมายมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดการจัดระเบียบใหม่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าแบบแผนการสนทนาเดิมๆ ซึ่งย่ำอยู่กับที่และตกร่องของความคุ้นชิน และถ้าผมหยุดสนทนาเมื่อใด พวกเขาก็จะ “หมดเรื่องคุย” หรือดำเนินไปในร่องเดิมๆ ต่อไป

มันเป็นเรื่องแปลกที่พวกเขาต้องการตัวร้าย!

ในสังคมหนูปั่นจักรของพวกเรา พวกเราแยกย้ายกันอยู่ตามกลุ่มและลำดับชั้นทางสังคมกันมากจนเกินไป พวกเราถูกทำให้เหมือนๆ กันไปหมด มีความปรารถนาเหมือนกัน ถูกกรอกหูด้วยข้อมูลชุดเดียวกัน โกรธแค้นและร้องไห้ในเรื่องเดียวกัน การสนทนาจึงเป็นไปอย่างจืดชืดเมื่อมาอยู่รวมกัน คนชั้นกลางรุ่นผมจะคุยกันเรื่องอะไรนอกจากเรื่องหุ้น เรื่องลูก เรื่องกอล์ฟ เรื่องการเมือง เรื่องความอยุติธรรมในสังคมไทยที่ต่างก็ทำอะไรไม่ได้ (แต่สนุกดีที่ได้บ่น) เรื่องคลิปโฆษณา มิวสิควีดีโอ สัพเพเหระ ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวทั้งหมดทั้งสิ้น

แต่ไม่ใคร่จะสนใจคุยเรื่องตัวเอง

คำว่าจิตตปัญญามาจากรากภาษาอังกฤษว่า Contemplation มีผู้รู้แปลว่า “ใคร่ครวญ” ซึ่งสำหรับผมหมายถึงความสามารถในการทบทวนตนเอง แต่ไม่ใช่ทบทวนความผิดจนเคร่งเครียดเกินไป อย่างน้อยรู้ตนอยู่เนืองๆ ว่ากำลังทำอะไร ทำอะไรไปแล้วบ้าง และมันก่อให้เกิดผลอย่างไรให้กับตนเองและผู้อื่น เบียดเบียนตนเองไหม เบียดเบียนผู้อื่นไหม ผมว่าแค่นั้นแหละจิตตปัญญาแล้ว

การใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา และบางครั้งดูเหมือนเป็น “ข้อห้าม”​ (taboo) ที่สังคมไม่พูดกัน แต่แฝงด้วยเจตนาดี ดูเหมือนจะสามารถทำลายกำแพงของการวางฟอร์มของผู้คนลง และเกิดการจัดระเบียบใหม่อย่างที่บอกมาแล้ว มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางคนจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างรุนแรง บ้างหันไปเล่นบทนักบุญใจพระผู้เมตตาปลอบโยนแต่ไม่รู้จะเลือกข้างไหนดี บางคนเลือกที่จะหลีบหนีออกจากความขัดแย้ง โดยสรุปแล้วผู้คนมักจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเมื่อได้พบกับถ้อยคำบางคำที่ตรงข้ามกับความเชื่อลึกๆ ในใจของเขา อาจจะเกิดความไม่พอใจ และแสดงออกโดยการโต้เถียง หรือยกเหตุผลมาลบล้าง ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นไม่ต่างอะไรกับการสนทนาแบบเห็นหน้า การประคับประคองให้ผ่านความขุ่นข้องหมองใจในช่วงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ จากประสบการณ์ มีบางกลุ่มที่สามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ และการสนทนาก็ลึกลงไปแตะตัวตนของเขาและเปิดโอกาสให้เกิดการทบทวนตนเองตาม “อัธยาศัย” แต่บางกลุ่มก็ไปต่อไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราคงจะทำให้ทุกคนหันมาคุยเรื่องที่ละเอียดและกระทบตัวตนของเขาไม่ได้ ถ้าหากเขาไม่ประสงค์จะทำเช่นนั้น

ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาบางส่วน (จริงบ้าง สมมุติขึ้นบ้าง) ที่ผมจะหยิบยกมาแบ่งปัน (นิสัยคนออนไลน์ต้องแบ่งปัน)

เพื่อน : “ความดีไม่มี บุญบาปเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น”

ผม : “แล้วเอ็งจะสอนลูกยังไงเวลาให้ไหว้ในหลวง ในเมื่อไม่เชื่อเรื่องคุณความดี?”

เพื่อน : (ไม่ตอบแต่ส่งอันนี้มาให้ผม) “☺”

ความเป็นพลเมืองของนักเรียนอนุบาล



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2555

จำนวนผู้ป่วยจิตเวชเด็กทวีจำนวนสูงขึ้นในทุกโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง


เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาการเรียนถูกนำตัวส่งแผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นของโรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทำงานอยู่โดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงง่ายๆ

หากเราปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยไป เชื่อได้ว่าเราน่าจะมีเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมรอคิวตรวจเป็นเรือนแสนในเวลาไม่นาน

ณ ปัจจุบัน คิวรอพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นของโรงพยาบาลต่างๆ อยู่ที่ ๒ ถึง ๑๒ เดือน แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละโรงพยาบาล


สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้คือผลลัพธ์ของการทำงานตามกระบวนทัศน์เดิม นั่นคือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาการเรียนเป็นผู้ป่วย เมื่อเป็นผู้ป่วยก็ต้องถูกส่งโรงพยาบาล เมื่อถูกส่งโรงพยาบาลก็ต้องเข้าสู่สายพานการตรวจรักษาของโรงพยาบาล (ซึ่งลอกแบบจากสายพานการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม)

การแพทย์แผนปัจจุบันสามารถช่วยเหลือเด็กได้ด้วยความช่วยเหลือหนึ่งต่อหนึ่งเป็นขั้นเป็นตอน เด็กที่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงทีย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดี (เพราะมาตรฐานที่ดีของการแพทย์แผนปัจจุบันนั่นเอง) แต่เด็กที่ตกค้างรวมทั้งเด็กที่ไม่ควรถูกนำส่งโรงพยาบาลตั้งแต่แรก มักมีอนาคตที่เสียหาย หากไม่ถูกออกจากโรงเรียนกลางคันก็ลงเอยด้วยยาเสพติด

กระบวนทัศน์ใหม่ควรเป็นอย่างไร

หากใช้กรอบการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มีวิชาที่นักเรียนควรได้เรียนเพียง ๗ วิชา อ้างอิงจากหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่๒๑ ซึ่ง วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป จิตตฤกษ์ แปลจากหนังสือ 21st Century Skills: Rethinking How Students Learn และหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

สามวิชาแรกคือวิชาพื้นฐาน ได้แก่ คณิตศาสตร์ การอ่าน และการเขียน


อีกสี่วิชาถัดมาคือวิชาที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษใหม่คือ สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง เด็กและเยาวชนควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเงินของตนเองด้วยตนเองให้ดีที่สุด รู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพและการเงินที่มีหลากหลายทั้งจริงและลวง พูดง่ายๆ ว่าเอาแต่เรียนเก่งแต่ไม่มีปัญญาดูแลสุขภาพและการเงินของตัวเอง มัวแต่คิดพึ่งพิงผู้อื่นอยู่เสมอก็จะเอาตัวรอดยาก


นอกจากนี้ควรรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ซึ่งทรัพยากรลดลงและโลกร้อนมากขึ้นทุกขณะ เราควรมีชีวิตอย่างไรและอยู่กับหายนะภัยอย่างไร

ที่คนพูดถึงน้อยคือเรื่องความเป็นพลเมือง (citizen) เวลาพูดถึงความเป็นพลเมืองมักหมายถึงการอยู่ร่วมกับความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง หรือศาสนา หรือชาติพันธุ์ที่แตกต่าง ด้วยเหตุที่โลกไร้พรมแดนทำให้ชาติพันธุ์และความเห็นต่างมากมายปรากฏตัวขึ้นในทุกภูมิภาคและชายแดนของทุกประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากเรียนเก่งแต่พูดจาหมิ่นชาติพันธุ์อื่นหรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างก็น่าจะเอาชีวิตรอดได้ยาก

สำหรับเด็กเล็ก ตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงชั้นประถม ความเป็นพลเมืองคืออะไร

เด็กเล็กไม่มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์และความเห็นต่างทางการเมือง แต่เด็กเล็กเผชิญกับปัญหาพฤติกรรมที่แตกต่างและผลการเรียนที่แตกต่างเสมอๆ เมื่อครูไม่เข้าใจข้อนี้ แล้วนำเด็กเล็กที่แตกต่างส่งโรงพยาบาลกันหมดทุกห้องเรียนทุกโรงเรียน สถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชเด็กจึงเป็นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

เด็กเล็กที่ถูกตีตราและส่งพบจิตแพทย์ ได้แก่ กลุ่มเด็กพิเศษทั้งหมด คือ เด็กสติปัญญาบกพร่อง เด็กแอลดี เด็กสมาธิสั้น เด็กแอสเปอร์เกอร์ เด็กออทิสติก นอกจากนี้ก็มีเด็กที่ชอบรังแกเพื่อน ที่เหลือก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปัสสาวะราด ขโมยของ ไม่ทำการบ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ถูกนำส่งโรงพยาบาลแทบทั้งสิ้น

มิพักต้องพูดถึงเรื่องที่ว่า เด็กที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเป็นอย่างที่ว่าจริงหรือเปล่า หรือถูกตีตราล่วงหน้าโดยไม่เป็นธรรม


กระบวนทัศน์ใหม่ของเรื่องนี้คือเรื่องความแตกต่างและการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง หากเราไม่คิดว่าเด็กเล็กเหล่านี้ป่วยหรือเป็นผู้ป่วย พวกเขาเพียงเป็นเด็กที่แตกต่าง วิธีทำงานของครูและของคุณหมอควรต่างออกไป

เด็กพิเศษเป็นเพียงกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการและการเรียนรู้แบบพิเศษในวิถีของตนเอง เขาไม่เรียนตามลำดับขั้นเหมือนเด็กส่วนใหญ่ (ซึ่งมิได้หมายความว่าใครปกติกว่ากัน)

เด็กชอบรังแกเพื่อนเป็นเพียงเด็กที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทักษะสังคม (ซึ่งครูมักถูกผู้ปกครองของเด็กๆ ที่ถูกรังแกกดดันให้นำส่งโรงพยาบาล)

เด็กปัสสาวะราด ไม่ทำการบ้าน หรือขโมยของ (ซึ่งไม่ควรใช้คำนี้เพราะเด็กอาจจะมิได้ขโมย พวกเขาเพียง “หยิบของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนกลับบ้าน”) เหล่านี้เป็นเพียงเด็กที่มีปัญหากับการปรับตัว

ทั้งหมดนี้คือความแตกต่างซึ่งเป็นเรื่อง “ปกติ” การศึกษาและครูควรจัดการกับเรื่อง “ปกติ” นี้อย่างไร แทนที่จะทำให้เป็นเรื่อง “อปกติ” ด้วยการพานักเรียนไปโรงพยาบาล แล้วทางโรงพยาบาลก็รับลูกต่ออีกต่างหาก


วิธีที่ทำได้คือเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนอย่างถอนรากถอนโคน จัดการศึกษาเสียใหม่ให้นักเรียนชั้นเด็กเล็กได้เรียนรู้เป็นกลุ่มด้วยกระบวนการที่เรียกว่า active learning นั่นคือครูเลิกสอนแต่จ่ายโจทย์ปัญหาให้นักเรียนได้ทำงานเป็นทีม โดยมีเงื่อนไขว่าสมาชิกของทีมมีเด็กๆ ที่แตกต่างหลากหลาย

ระหว่างการทำงานเป็นทีมโดยมีครูคอยโค้ช จะเปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้จักเพื่อนในทีมที่แตกต่างและพัฒนาไปด้วยกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าความแตกต่างนั้นจะเป็นศาสนา ชาติพันธุ์ ความร่ำรวยหรือยากจน เก่งหรือไม่เก่ง ขยันหรือขี้เกียจ ขี้อายหรือขี้ประจบ นิสัยดีหรือไม่ดี อยู่นิ่งหรือไม่นิ่ง เรียนรู้ช้าหรือเรียนรู้เร็ว พิการหรือไม่พิการ นำมาอยู่ในทีมเดียวกันเสีย

นี่คือการผนวกชีวิตจริงของเด็กๆ เข้าสู่การศึกษาในศตวรรษใหม่

มีรายละเอียดของวิธีการที่ต้องพูดคุยกันมาก แต่ขั้นแรกคือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่เสียก่อน นั่นคือเด็กเล็กก็มีอะไรที่เรียกว่าความแตกต่าง มีอะไรที่เรียกว่าความเป็นพลเมือง และมีอะไรที่เรียกว่าการอยู่ร่วมกับความแตกต่างเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

เรื่องพฤติกรรมเด็กนี้เกินความสามารถของโรงพยาบาล เป็นหน้าที่ที่ต้องทำร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและโรงเรียน

ทางรอดจากความรุนแรง


โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2555

จำนวนคนไทยที่มีความตื่นตัวทางการเมืองขณะนี้ ไม่ว่าจะเรียกว่าสีแดง สีเหลือง หลากสี ไม่มีสี คงจะมีหลายล้านคน การมีคนตื่นตัวทางการเมืองมากขนาดนี้ จึงเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย จุดเปลี่ยนนี้อาจเปลี่ยนไปเกิดความรุนแรงถึงขั้นมิคสัญญีกลียุคก็ได้ หรือเปลี่ยนไปสร้างศานติสุขก็ได้

ถ้าการเมืองยังเป็นการเมืองแห่งความเกลียดชัง ความรุนแรงคงหลีกเลี่ยงไม่พ้น เครือข่ายคนเสื้อแดงอันมีจำนวนมากนั้น มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านรัฐประหาร หากมีรัฐประหารไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ คงนองเลือดขนานใหญ่แน่ เครือข่ายคนเสื้อเหลืองนั้นเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อกล่าวหาว่าคิดล้มล้างสถาบันเป็นข้อหาที่รุนแรงยิ่ง และความขัดแย้งเรื่องสถาบันในที่สุดจะนำไปสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ในแผ่นดินไทย

สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเมื่อ ค.ศ.๑๘๖๒ มีคนตายไปกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน ในอินโดนีเซียการไล่ฆ่าคอมมิวนิสต์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๕ มีคนตายไป ๕๐๐,๐๐๐ คน ในศรีลังกาความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสิงหลกับทมิฬยืดเยื้อถึง ๒๕ ปี และมีคนตายไปหลายหมื่นคน ถามว่าถ้ามีการนองเลือดในประเทศไทย มีการฆ่ากันตายไป ๕๐๐,๐๐๐ คน หรือถ้ายังขัดแย้งรุนแรงเรื้อรังต่อไปอีก ๒๕ ปี ประเทศของเราจะเป็นอย่างไร

ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะ ๘ ประการ เพื่อความรอดพ้นจากความรุนแรง

๑. ทุกฝ่ายต้องมีสติ หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำไปสู่ความรุนแรง

๒. พรรคการเมืองต้องทำให้ระบบรัฐสภาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยมีความสุจริต ใช้ความรู้ เหตุผล หลักฐาน ข้อเท็จจริง และสัมมาวาจา นักการเมืองเป็นคนที่เจริญ อย่าเป็นคนไม่เจริญ บ้านเมืองจึงจะรอดพ้นความรุนแรง

๓. การชุมนุมประท้วงรัฐบาลและการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาล ควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และสันติ โดยฝ่ายชุมนุมประท้วงควรมีข้อเสนอเชิงนโยบาย รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีควรมารับข้อเสนอ ข้อเสนอใดดีและปฏิบัติได้ก็สั่งให้มีการปฏิบัติ ข้อเสนอใดดีแต่ยังปฏิบัติไม่ได้ก็ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันไปศึกษารายละเอียดจนถึงขั้นปฏิบัติได้ วิธีนี้จะทำให้ประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยทางอ้อมเข้ามาบรรจบกันอย่างสร้างสรรค์ และลดแรงกดดันที่อาจระเบิดเป็นความรุนแรงได้

๔. ทุกฝ่ายควรจะระลึกรู้ว่า เราต้องมุ่งร่วมสร้างอนาคตประเทศไทยมากกว่าจะติดอยู่กับการทะเลาะกันเรื่องอดีต อดีตมีรากยาวไกลและมีบุคคลเกี่ยวข้องมาก การติดอยู่ในอดีตมากเกินไปทำให้เราเคลื่อนไปสู่อนาคตไม่ได้ และมาจ่ออยู่ปากเหวแห่งมิคสัญญีกลียุคแล้ว

ความจริงประเทศไทยมีทุนต่างๆ มาก ทั้งทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางศาสนธรรม ทุนทางปัญญา ทุนภาครัฐ ทุนภาคธุรกิจเอกชน ทุนเหล่านี้มากเกินพอที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดสำหรับทุกคน การรวมตัวกันทำสิ่งที่ใหม่ที่ดี คนไทยจะไม่ทะเลาะกัน เพราะอนาคตยังไม่มีจำเลย แต่การปัญหาเก่าจะทะเลาะกันมากขึ้น เพราะอดีตมีจำเลย

ประเทศไทยควรเข้าเกียร์ใหม่ เป็นเกียร์หน้า คือมุ่งสร้างอนาคตประเทศไทย แล้วจะรักกันมากขึ้น

๕. ประเทศที่น่าอยู่คือประเทศที่มีความเป็นธรรมและไม่มีความเหลื่อมล้ำมากเกิน อนาคตประเทศไทยที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ทุกฝ่ายควรร่วมสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมาตรการที่สำคัญ ๒ ประการคือ





๕.๑ กระจายอำนาจไปให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด จัดการตนเองให้ได้มากที่สุด

๕.๒ พัฒนานโยบายเพื่อความเป็นธรรม เช่น การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม


๖. การปฏิบัติตาม ๕.๑ และ ๕.๒ ทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง และนักวิชาการสามารถทำงานเสริมกันได้ ดังนี้





๖.๑ เครือข่ายคนเสื้อแดงจะเตรียมพร้อมต่อต้านรัฐประหารก็เป็นการสมควร แต่ก็สามารถทำให้ยิ่งกว่านั้น ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง และทำให้รัฐประหารทำไม่ได้เลย นั่นคือรวมตัวกันทำเรื่องชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง

การจัดการตนเองหมายถึงจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการและจัดการพัฒนานโยบาย

การพัฒนาอย่างบูรณาการนั้นพัฒนา ๘ เรื่องอย่างเชื่อมโยงกัน คือ เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย เมื่อชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองได้จะเข้มแข็ง หายจน อยู่เป็นสุข รัฐประหารทำไม่ได้เพราะอำนาจกระจายไปอยู่กับชุมชนท้องถิ่นโดยทั่วถึงหมดแล้ว

๖.๒ คนเสื้อเหลือง และนักวิชาการไม่ว่าสีใดๆ หรือไม่มีสี ควรสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น และจังหวัดจัดการตนเอง และพัฒนานโยบายเพื่อความเป็นธรรม เช่นการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม โดยที่นโยบายเพื่อความเป็นธรรมทำได้ยาก แต่ก็ต้องทำ โดยอาศัยพลังทางปัญญา และพลังทางสังคม พลังทางสังคมจากพื้นที่ตาม ๖.๑ จะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อความเป็นธรรม


๗. เมื่อบ้านเมืองมีสติ มีทิศทาง มีกรอบที่จะร่วมกันสร้างอนาคตประเทศไทยตามที่กล่าวในข้อ ๑-๖ ข้างต้น ระบบราชการทั้งพลเรือนและกองทัพจะตั้งตนไว้ชอบได้ง่ายขึ้น ระบบราชการต้องตั้งอยู่ในความสุจริต มีอิสระ มีความรู้ มีสมรรถนะสูง ที่จะไม่ทำให้เกิดสภาวะรัฐล้มเหลว สนับสนุนการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ

๘. ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ดี จะทำให้ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๗ เป็นไปได้จริง และประเทศไทยมีความสวัสดี

การที่ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงมิคสัญญีกลียุค และมีอนาคตที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มรรควิธี ๘ ประการดังกล่าวจะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ ถ้าทุกฝ่ายมุ่งร่วมสร้างอนาคตประเทศไทย ยังสามารถทำเรื่องดีๆ อื่นๆ ได้อีกมาก ซึ่งรวมทั้งบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสันติภาพ ประเทศไทยควรมีบทบาทสำคัญในเรื่องสันติภาพโลก

ผ่าตัดโรงเรียน



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2555


เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสทำงานกับโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งในเชียงราย บรรยากาศตอนแรกที่ได้เข้าไป ผมสัมผัสได้ว่าทั้งครูและพนักงานต่างรู้สึกท้อแท้ กังวล และหวาดระแวง ไม่มีใครกล้าพูดอย่างเปิดเผย ความเงียบงำทำให้วงประชุมดูอึมครึม เก็บกดมากกว่าผ่อนคลาย ทั้งๆ ที่ในอดีตโรงเรียนแห่งนี้มีบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุข ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างแข็งขัน ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองต่างรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ แต่มีบางอย่างเกิดขึ้นราวกับโรคระบาดในชุมชนแห่งนี้ จนทำให้เกิดอาการต่างคนต่างอยู่ และทำงานไปวันๆ หลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา แม้แต่ในกลุ่มผู้ปกครองเองก็ได้รับโรคนี้ไปด้วย แบ่งเป็นพรรคเป็นพวก เกิดความไม่มั่นใจในการดำเนินงานของโรงเรียน หลายคนตัดสินใจพาลูกออกไปหาที่เรียนใหม่ จำนวนนักเรียนตกฮวบเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ครูและคนทำงานสนับสนุนต่างเสียขวัญและ กำลังใจในการทำงาน

ครั้งแรกที่ผมเข้าไปจัดประชุมเพื่อเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของทุกคนในโรงเรียน ก็สังเกตเห็นจากสีหน้าท่าทางของผู้คนที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่หลากหลาย มีทั้งรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย และไม่อยากพูดอะไร เพราะคิดว่า “พูดไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น เปลืองเนื้อเปลืองตัว เสียเปล่า” หรือไม่ก็เป็นความรู้สึกโกรธที่ไม่ได้รับการดูแลและใส่ใจให้คุณค่าจากผู้บริหาร หลายคนพูดถึงความห่วงใยที่มีต่อเด็กๆ และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และกังวลว่าอนาคตของโรงเรียนและตัวเองที่ดูง่อนแง่นไม่มั่นคงจะดำเนินไปอย่างไร

การเปิดวงสนทนาเพื่อนำเองความในใจจากมุมมืดทั้งหลายออกมาสู่ที่แจ้ง จากการพูดคุยถึง “คนอื่น” ในกลุ่มย่อยมาสู่ “พื้นที่ร่วม” กันนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ไม่มีใครสามารถบังคับและกะเกณฑ์ให้ใครต้องพูดได้ อำนาจสั่งการและตัดสินของผู้บริหารยิ่งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และดูจะเป็นอุปสรรคต่อการเปิดใจแบบนี้เสียด้วยซ้ำ บางคนบอกว่าที่ไม่อยากพูดเพราะเคยพูดหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้รับความเข้าใจ กลับมีการตีความตัดสินไปต่างๆ นานา

นอกจากจะพยายามรับฟังทุกๆ เสียงอย่างเป็นกลางและด้วยความเห็นอกเห็นใจแล้ว ผมค่อยๆ ให้ ความหมายกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญในการที่ทำให้ทุกคน “ตื่นขึ้น” และเรียนรู้จัก “กันและกันมากขึ้น” และอธิบายถึงธรรมชาติของความขัดแย้งว่าเป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกันที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมที่แตกต่าง และมีความเป็นอัตโนมัติที่ปรารศจากเจตนาของใครคนใดคนหนึ่ง และความขัดแย้งก็ก่อตัวขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่ดูเล็กๆ สองสามเหตุการณ์ ผ่านกระบวนตีความตัดสินอย่างเงียบๆ และการสื่อสารที่ไม่ทั่วถึงหรือตรงไปตรงมา ต่างฝ่ายต่างพูดถึงอีกฝ่ายตามที่ตัวเองรู้สึก กลายเป็นเสียงผีที่คอยหลอกหลอนอยู่ในบรรยากาศของโรงเรียน แม้ทุกคนจะพยายาม “ยิ้ม” สู้ แต่ก็ต่างรับรู้ถึงความคับข้องหมองใจนี้ได้

อาร์โนล มินเดล ปรมาจารย์ในศาสตร์ด้านความขัดแย้งกล่าวว่า ความขัดแย้งคือ “ทางลัด” สู่หัวใจของชุมชน เอกภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเข้าถึงใจของกันและกัน ทะลุทะลวงผ่านความเกรงอกเกรงใจ ความกลัวและอำนาจที่กดทับทั้งหลาย ความขัดแย้งจะกลายเป็น “ของขวัญ” สำหรับองค์กรก็ต่อเมื่อมันได้รับการต้อนรับและดูแลด้วยความเข้าใจ มากกว่ากดข่ม หลีกเลี่ยง หรือกระทำการอย่างก้าวร้าวรุนแรง การสร้างท่าทีที่เป็นมิตรต่อความขัดแย้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเยียวยาตัวเองและองค์กรที่กำลังบาดเจ็บและสิ้นหวัง

ในประสบการณ์ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงองค์กรของผม พบว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ ความไม่เท่าเทียม อำนาจกดทับ ทั้งจากตำแหน่งหน้าที่และความรู้ บางครั้งยิ่งเรารู้มากเท่าไร “ความไม่รู้” ก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่งเรามีอำนาจหรือศักดิ์เหนือกว่าคนอื่นเท่าไร เรายิ่งรับรู้ถึงผลกระทบที่ตัวเรามีต่อคนอื่นมากขึ้นตามลำดับ การมีระดับชั้นระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยก็ยิ่งทำให้เป็นเหมือนกับแปลงเพาะเชื้อโรคที่พร้อมจะผลิตเชื้อพันธุ์แห่งความกลัวและการแบ่งแยกให้แพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะพิกลพิการทั้งทางความคิดและการกระทำโดยรวม ทั้งๆ ที่โดยเนื้อหาสาระแล้ว การให้เกียรติและเคารพกันนั้นเป็นสิ่งที่ดีหากใช้ในทางที่ไม่ขัดแย้งต่ออิสรภาพและเอกลักษณ์ส่วนบุคคล

หลังจากที่ได้พูดคุยกันไปหลายรอบหลายวาระ เมื่อชุมชนของโรงเรียนกล้าเปิดเผยความรู้สึกที่เป็นจริงของตัวเองออกมา และยอมรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผู้คนก็ดูมีความหวัง บรรยากาศอืมครึมและหวาดระแวงในโรงเรียนเริ่มคลี่คลายลง ผู้คนกลับมากระตือรือล้นในการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันอีกครั้งหนึ่ง การประชุมกลับมามีพลังชีวิตและสีสันของการมีส่วนร่วมอีกครั้งหนึ่ง มีการแบ่งปันแรงบันดาลและความเป็นไปในชีวิตตัวเองแก่กันและกัน

หลังจากที่ทุกคนได้มีโอกาสไปพักในช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา แล้วกลับมาพบกันอีกครั้ง เราได้รับฟังถึงเรื่องราวสั้นๆ ของแต่ละคนในช่วงปิดเทอมที่มีผลต่อพลังชีวิตของพวกเขา รวมทั้งได้รับฟังความรู้สึกและความตั้งใจที่แต่ละคนมีต่อการเปิดเทอมที่จะมาถึง หลายคนบอกว่า คิดถึงเด็กๆ และโรงเรียน อยากกลับมาทำงานอีก บางคนได้เดินทางไกลกลับไปเยี่ยมครอบครัวของตัวเอง และรู้สึกดีที่จะได้กลับมาทำงานต่อร่วมกัน

ประสบการณ์ครั้งนี้ ช่วยให้ผมเรียนรู้ถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของความขัดแย้งที่มีต่อการอยู่ร่วมกันและการเติบโตของชุมชน ทำให้ผมนึกไปถึงโรงเรียนต่างๆ ในสังคมไทยที่คงยังมี “ครู” ที่มีใจจะสอนและนักเรียนที่มีใจจะเรียนอีกเป็นจำนวนมาก ที่อาจได้รับผลกระทบจากความขัดแยังภายในองค์กรจนเกิดความท้อแท้และไร้แรงบันดาลใจในการทำงาน ปัญหาของระบบการศึกษาคงไม่ได้เกิดจากการขาด “ความรู้” แต่อาจจะขาด “ความสัมพันธ์” ที่มีความเข้าใจภายในองค์กรเสียมากกว่า

สองด้านของเหรียญ


โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2555

แม่กลุ้มใจที่ลูกชายวัย ๑๑ ขวบทำตัวเหินห่าง มีปัญหาอะไรก็ไม่เคยบอกแม่ จนแม่รู้จากปากของคนอื่นว่าลูกถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนแกล้งเป็นประจำ กลายเป็นคนเงียบขรึม ไม่สุงสิงกับใคร ซ้ำยังมีปัญหากับครูที่ชอบดุด่า จนลูกไม่อยากไปโรงเรียน บางวันถึงกับแกล้งป่วย ครั้นแม่พยายามคะยั้นคะยอให้เปิดใจคุยกับแม่เรื่องเหล่านี้ ลูกก็มีอาการหงุดหงิด และถึงกับหัวเสียเมื่อแม่ให้คำแนะนำลูก

แม่เสียใจจนร่ำไห้ที่ลูกไม่เห็นตัวเองอยู่ในสายตา แถมมีอาการต่อต้านแม่ด้วย แต่วันหนึ่งเธอได้ร่วมกิจกรรมไตร่ตรองชีวิตและได้สนทนากับกัลยาณมิตรที่มีประสบการณ์ เธอก็พบความจริงอย่างหนึ่งว่า ตอนเธอเป็นเด็กนั้น เธอก็ทำกับพ่ออย่างเดียวกับที่ลูกทำกับเธอทุกวันนี้ แม้อยู่บ้านเดียวกันแต่เธอแทบไม่คุยกับพ่อเลย รู้สึกว่าห่างได้เป็นดี เจอหน้าทีไรก็รู้สึกมึนตึง ในใจนั้นรู้สึกเกลียดพ่อด้วยซ้ำ

เธอไม่ชอบพ่อก็เพราะพ่อชอบจู้จี้ขี้บ่น ต่อว่าเธอเป็นประจำ และไม่เคยฟังเธอเลย มีหลายครั้งที่พ่อระบายอารมณ์ใส่เธออย่างรุนแรง ยิ่งนึกถึงพ่อก็ยิ่งโกรธ แต่ชั่วขณะหนึ่งเธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า สิ่งที่พ่อทำกับเธอนั้น เธอก็เอาไปทำกับลูกเช่นกัน แม้จะรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม เธอชอบจู้จี้กับลูกและต่อว่าเขาเป็นประจำ และไม่ค่อยฟังเขาเลย เธออดแปลกใจไม่ได้ว่า ทั้งๆ ที่เธอไม่ชอบนิสัยของพ่อ แต่เธอกลับรับเอานิสัยของพ่อมาใช้กับลูกของเธอ

เธอได้พบว่าลูกคือภาพสะท้อนของเธอตอนเป็นเด็ก ส่วนเธอก็เป็นภาพสะท้อนของพ่อในอดีต ตอนเป็นเด็กเธอรู้สึกว่าตนถูกกระทำจากพ่อ แต่ตอนนี้เธอกำลังเป็นฝ่ายกระทำต่อลูก มาถึงตอนนี้เธอเข้าใจลูกมากขึ้น ลูกไม่ใช่ตัวปัญหา ปัญหาอยู่ที่ตัวเธอเองต่างหาก นับแต่วันนั้นเธอพยายามระมัดระวังคำพูดมากขึ้น ไม่จู้จี้ขี้บ่น ขณะเดียวกันก็เปิดใจฟังลูก ไม่คิดแต่จะให้คำแนะนำสั่งสอนอย่างเดียว ไม่นานเธอก็พบว่าลูกเปิดใจให้เธอมากขึ้น นอกจากฟังเธอแล้ว ยังพร้อมจะเล่าความในใจให้เธอฟังเพราะรู้ว่าเธอจะฟังเขาอย่างจริงจังโดยไม่ด่วนตัดสิน

เราต่างเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว แม่รู้สึกว่าลูกปฏิบัติไม่ดีกับแม่ แต่เมื่อสืบสาวก็จะพบว่า นั่นเป็นเพราะแม่ปฏิบัติไม่ดีกับลูกก่อน ที่ลูกไม่ฟังแม่ ก็เพราะแม่ไม่ฟังลูกหรือเอาแต่จู้จี้ขี้บ่น อย่างไรก็ตามหากสืบสาวไปให้ไกลอีกหน่อยก็จะพบว่า ที่แม่ทำตัวเช่นนั้นก็เพราะเคยถูกกระทำอย่างเดียวกันกับพ่อ (หรือแม่) ของตน

จากเรื่องราวข้างบน ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูแปลกก็คือ ลูกสาวไม่ชอบสิ่งที่พ่อทำกับตน แต่พอเป็นแม่ก็ทำอย่างเดียวกันนั้นกับลูกของตน ราวกับว่าซึมซับรับเอาการกระทำของพ่อมาไว้กับตัว คงไม่ผิดหากจะพูดว่าความรุนแรงนั้นถ่ายทอดกันได้ ด้วยเหตุนี้คนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยความรุนแรง จึงมักลงเอยด้วยการกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงนั้นเสียเอง

ในสังคมวงกว้างเรามักพบเช่นกันว่า คนที่ก่อความรุนแรงกับผู้อื่นนั้น ในอดีตก็เคยเป็น “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำมาก่อน โดยอาจจะเริ่มจากครอบครัว เยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ก่ออาชญากรรมทางเพศหรือยกพวกตีกันจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย ล้วนเป็นคนที่มีบาดแผลในวัยเด็ก เช่น ถูกพ่อแม่ละทิ้งหรือทำร้ายร่างกาย ถูกเหยียดหยามจากคนรอบข้าง หรือถูกยัดเยียดให้รู้สึกว่าเป็นคนไร้ค่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นธรรมดาที่คนเหล่านี้ย่อมซึมซับความรุนแรงรวมทั้งความเกลียดชังไว้ในใจ และพร้อมจะระบายใส่คนอื่นเมื่อมีโอกาส ยิ่งถูกกระทำทารุณกรรมเมื่อถูกจับเข้าสถานพินิจฯ หรือเรือนจำ ก็ยิ่งสะสมความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อคนรอบตัว



ประสบการณ์อันเลวร้ายที่ได้รับทำให้คนเหล่านี้เกลียดชังคนทั้งโลก ยกเว้นพวกเดียวกัน เพราะคนกลุ่มหลังนี้เป็นพวกเดียวที่ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า หรือมี “ตัวตน” อยู่ในโลกนี้ ดังนั้นเขาจึงพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ แม้นั่นจะหมายถึงการทำร้ายคู่อริหรือรุมโทรมหญิงก็ตาม

เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะยอมรับว่า คนที่มีพฤติกรรมเลวร้ายนั้น แท้จริงเขาคือ “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ หาได้แยกจากกันไม่ ทำนองเดียวกับสองด้านของเหรียญเดียวกัน

ความจริงดังกล่าว ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ถ่ายทอดเป็นบทกวีอย่างงดงามและสะเทือนใจ




“ฉันคือแมลงเม่า ที่กำลังกลายรูปบนผิวน้ำ
และฉันคือนก โฉบลงขยอกกลืนเจ้าแมลง
ฉันคือกบแหวกว่ายอย่างเป็นสุข
และฉันคืองูเขียว เลี้ยวลดกินกบอย่างเงียบเชียบ
ฉันคือเด็กในอูกันดา มีแต่หนังหุ้มกระดูก
ขาฉันเล็กบางราวลำไผ่
และฉันคือพ่อค้าอาวุธ ขายเครื่องประหัตประหารแก่อูกันดา
ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ ลี้ภัยในเรือน้อย
โถมร่างลงกลางสมุทร หลังถูกโจรสลัดข่มขืน
และฉันคือโจรสลัด
หัวใจฉันยังขาดความสามารถในการเห็นและรัก”
(จากบทกวี “เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง” แปลโดย ร.จันเสน)


ผู้ที่ก่อความรุนแรงนั้นล้วนเป็นผลมาจากการที่เคยเป็นเหยื่อมาก่อน การรุมประณามหยามเหยียดหรือใช้ความรุนแรงกับเขา จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การทำเช่นนั้นเป็นความยุติธรรมจริงหรือ ประสบการณ์ของทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปฏิบัติด้วยความรักความเคารพและให้เกียรติแก่เยาวชนที่ต้องโทษเพราะก่ออาชญากรรมนั้น สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ เพราะจิตใจได้รับการเติมเต็ม รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเกิดความเคารพในตนเอง จนไม่อยากทำชั่วอีกต่อไป พูดอีกอย่างคือ ความใฝ่ดีในจิตใจของเขาถูกกระตุ้นให้กลับมีพลังจนเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ เมื่อบาดแผลในใจที่เกิดจากการเป็น “เหยื่อ” ในอดีตได้รับการเยียวยา ความโกรธเกลียดที่เคยผลักดันให้เป็นผู้ก่อความรุนแรงก็เจือจางไป สามารถอยู่อย่างมีสันติกับตนเองและผู้อื่นได้ (อ่านเรื่องราวของเธอได้จากหนังสือเรื่อง เด็กน้อยโตเข้าหาแสง โดย “มิลินทร์” สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา)

คนที่แสดงแต่ด้านมืดออกมา มักเป็นเพราะมีเงามืดของคนอื่นมาทาบทับชีวิตของเขานานเกินไป การเปิดโอกาสให้เขาได้รับแสงสว่างในชีวิต ย่อมช่วยขยายด้านสว่างและลดทอนด้านมืดในใจเขา จนสามารถส่องสว่างให้แก่ผู้อื่นได้ในที่สุด

สวรรค์มีจริง ... แล้วไง?



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

เราท่านทั้งหลายคงเคยผ่านตาหนังสือประเภทสวรรค์มีจริง นรกมีจริง ชีวิตหลังความตายมีจริง มาแล้ว ยิ่งในระยะหลังหนังสือประเภทนี้ขึ้นอันดับต้นๆ บนแผงหนังสือตามร้านใหญ่ๆ หรือไม่พวกเราก็คงเคยได้ยินเรื่องราวทำนองนี้มาบ้าง ระดับของความน่าเชื่อถือก็แตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลและองค์ประกอบรอบข้าง

เมื่อเดือนที่แล้ว มีนายแพทย์ชาวอเมริกันออกมายืนยันอีกรายว่า สวรรค์มีจริง! โดยตีพิมพ์ข้อค้นพบและหลักฐานสนับสนุนในหนังสือ Proof of Heaven: A Neurosurgeon's Journey into the Afterlife การบอกกล่าวว่าสวรรค์มีจริงครั้งนี้ต่างจากเรื่องอื่นๆ อยู่สองประการ หนึ่งคือตัวผู้บอกเล่า คือ ดร. Eben Alexander III เป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทที่ได้ปริญญามาจากไอวีลีก ทำงานด้านนี้มากว่ายี่สิบห้าปี รวมถึงที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสิบห้าปี เดิมทีเขาเป็นผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายโดยสิ้นเชิง โดยใช้เหตุผลค้านจากความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองและระบบประสาท

ความพิเศษประการที่สองคือ ลักษณะประสบการณ์ของผู้เล่า ในปี ๒๕๕๑ ดร.อเลกซานเดอร์ติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อนี้พบได้ยาก มักจะเป็นแต่กับเด็กเล็ก และอาการรุนแรงมาก หลังจากเริ่มมีอาการปวดศีรษะเพียงไม่กี่ชั่วโมง สมองส่วนคอร์เท็กซ์ก็หยุดทำงานโดยสิ้นเชิง โดยสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมทั้งความคิดและอารมณ์ความรู้สึก ว่าโดยง่ายเป็นส่วนที่ทำให้เราเป็นคนนั่นเอง และที่เขาทราบว่าสมองส่วนนี้หยุดทำงานก็ด้วยคุณหมอท่านนี้ทำงานในแผนกดังกล่าวอยู่แล้วจึงถูกติด ตรวจ และวัดด้วยเครื่องมือศึกษาการทำงานของสมองอย่างละเอียด ทางคณะแพทย์ผู้รักษาพบว่าเชื้ออีโคไลนั้นได้แทรกเข้าไปยังน้ำหล่อสมองไขสันหลังและเริ่มกินเนื้อเยื่อ ทำให้สมองตกอยู่ในอาการช็อกและหยุดทำงาน โอกาสรอดนั้นแทบจะไม่มีเลย

หลังจากนอนเป็นผักไม่ไหวติง ๗ วัน ในขณะที่คณะแพทย์กำลังคิดว่าจะหยุดเครื่องพยุงชีวิตนั้นเอง อาการของเขาก็ดีขึ้นและหายในที่สุด แต่เรื่องราวไม่ได้จบเท่านั้น เพราะเขาได้บอกเล่าประสบการณ์ในช่วงที่เขาอยู่ในอาการโคม่านั้นว่าเขาได้ไปยังดินแดนที่เขาเชื่อว่าคือสวรรค์

ดร.อเลกซานเดอร์ได้บรรยายถึงลักษณะของสถานที่ที่เขาเดินทางไปอย่างละเอียด มีนางฟ้าดวงตาสีฟ้าผู้เป็นมิตรที่สื่อสารกับเขาด้วยโทรจิต หมู่เมฆสีชมพูอ่อนเป็นปุยลอยอยู่ในท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม ที่ล่องลอยอยู่เบื้องบนมิได้มีแต่เมฆ ยังมีอะไรบางอย่างที่คนไทยคงเรียกว่าเทวดาอยู่ด้วย เทวดาเหล่านั้นเปี่ยมด้วยปีติอย่างล้นเหลือจนต้องเปล่งเสียงแห่งความสุขออกมา ที่นั่นภาพและเสียงไม่ได้แยกออกจากกัน เฉกเช่นเดียวกับผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต อีกทั้งยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก

ในอดีตมีคนนับร้อยที่เคยผ่านประสบการณ์ใกล้ตาย (หรือหลังตาย) มาก่อน แล้วกลับมาเล่าเรื่องสวรรค์ (หรือนรก) แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปมักเชื่อว่า เป็นสิ่งที่เกิดจากการทำงานของสมองซึ่งอยู่ในสภาพผิดปรกติ แต่ ดร.อเลกซานเดอร์ บอกว่าประสบการณ์ของเขาแตกต่างไป เพราะเขาเป็นคนแรกที่ตลอดระยะเวลาของการมีประสบการณ์นั้นมีหลักฐานชัดเจนว่าสมองส่วนคอร์เท็กซ์นั้นไม่ได้ทำงานเลย แสดงว่าสวรรค์ที่เขาไปพบมานั้นเป็นของจริง ไม่ใช่เป็นแค่การทำงานผิดพลาดของสมองตามที่มักเชื่อกัน แต่เป็นการรับรู้ เป็นประสบการณ์ที่อยู่นอกสมองไปโดยสิ้นเชิง

ไม่แปลกใจว่าหนังสือของเขาขึ้นอันดับหนึ่งของ New York Times Best Sellers และปัจจุบันก็ยังเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของเว็บไซต์อเมซอนในหลายหมวด ผู้คนจำนวนมากที่ควักกระเป๋าหรือรูดบัตรซื้อหนังสือคงสงสัยอยากรู้ว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่ ลักษณะเป็นอย่างไร ตายไปแล้วฉันจะได้ไปไหม?

แต่จากมุมมองของจิตวิวัฒน์แล้ว เรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับสวรรค์ว่ามีจริงไหม หน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ใช่สาระ สิ่งที่ควรตั้งคำถามมากกว่า คือประสบการณ์ใกล้ตาย การได้พบดินแดนสวรรค์นั้นมีความหมายอย่างไรต่อโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตของคุณหมอ

ประสบการณ์ใกล้ตายหรือการได้ไปสวรรค์เป็นเพียงจุดเริ่มหรือประตูเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ไปสู่การปรับเปลี่ยนระดับจิตสำนึก (Consciousness) ซึ่งก็คือการเปลี่ยนมุมมอง โลกทัศน์ ความเข้าใจต่อตนเอง ชีวิต และโลกที่เราอาศัยอยู่

หากประสบการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแล้วกระบวนการถัดมาคืออะไร

สถาบันไอออนส์ (Institute of Noetic Science) ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในหนังสือ Living Deeply: The Art & Science of Transformation in Everyday Life พูดถึงงานชิ้นสำคัญของสถาบัน เป็นงานวิจัยที่ใช้เวลาหลายปี เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักวิชาการ คุรุ นักปฏิบัติชั้นนำจำนวน ๕๐ ท่าน โดยคัดเลือกเพื่อให้เป็นตัวแทนของศาสนา สำนักปฏิบัติ และกระบวนการเคลื่อนไหวสมัยใหม่ ที่มีรากฐานจากทั้งวัฒนธรรมตะวันออก ตะวันตก และประเพณีชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกับข้อมูลจากแบบสอบถามจากผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมากกว่า ๙๐๐ คน ผลการวิจัยอธิบายถึงกระบวนการโดยสรุปดังนี้

๑. ประตูเข้าสู่ประสบการณ์ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานนั้นเริ่มเข้าสู่เส้นทางจากการพบความทุกข์ความเจ็บปวดในชีวิต เรื่องนี้อาจไม่เป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวพุทธ ดังเช่นที่ครูบาอาจารย์บางท่านกล่าวว่า “ถ้าอยากสุข ให้เอาทุกข์เป็นทางเดิน” แต่สำหรับชาวตะวันตกแล้วเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยนัก แต่ความทุกข์ความเจ็บปวดก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ผู้คนจึงมีโอกาสที่จะได้พบเจอช่องทางเข้าทางนี้เสมอๆ ผ่านความเจ็บป่วยหรือประสบการณ์ใกล้ตายของตนเอง เช่นที่ ดร.อเลกซานเดอร์พบมา ผ่านความเจ็บป่วยหรือการสูญเสียของบุคคลอันเป็นที่รักที่มีความหมายในชีวิต และก็ไม่ใช่แค่ความเจ็บปวดภายนอกเท่านั้น หากประสบการณ์ความล้มเหลวหรือสูญเสียอาจจะเป็นเรื่องภายในก็ได้ เช่นคุณค่าความหมายของชีวิต

ประตูช่องอื่นๆ นั้นผ่านทาง ก) ประสบการณ์ที่รู้ได้เฉพาะตน เช่น เกิดจากการฝึกฝนปฏิบัติสมาธิภาวนา ข) การพบคุรุหรือครูบาอาจารย์ ในแง่นี้ครูมิใช่เป็นเรือจ้าง แต่เป็นเสมือนแผนที่การเดินทางเลยทีเดียว ค) เรื่องราวที่อาจดูเหมือนเล็กๆ ไม่สลักสำคัญอะไร แต่เป็นการปิ๊งแว้บอะไรบางอย่าง เช่นที่มาซาโนบุ ฟูกุโอกะ ผู้เขียนหนังสือปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว หรือ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ค้นพบ หรือจะมาจากการอ่านหนังสือพบเจอข้อคิดที่มีความหมายสำหรับเราก็ยังได้ ง) การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักปฏิบัติว่าธรรมชาตินั้นมีพลังพิเศษบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้มนุษย์เปิดรับกับประสบการณ์ความรู้บางอย่างได้ พระพุทธเจ้าจึงมักแนะนำให้สาวกในศาสนาไปฝึกฝนในป่า สำหรับสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่ กิจกรรมอย่างเช่น นิเวศภาวนา (Eco Quest หรือ Vision Quest) จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้สนใจแสวงหาประสบการณ์ดังกล่าว

แต่ผู้คนไม่น้อยที่พบประสบการณ์ดังว่า ได้มาถึงประตูนี้แล้ว กลับปฏิเสธ ไม่ยอมรับ หรือใช้ความเชื่อเดิมไปอธิบาย เท่ากับการละทิ้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานและไม่ได้เข้าสู่ลำดับขั้นต่อไป

๒. สำรวจค้นคว้า ผู้ที่ไม่ปฏิเสธประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนกับเมล็ดพืชที่พร้อมจะงอก หรือผีเสื้อที่พร้อมจะออกจากดักแด้ เขาต้องพร้อมที่จะเปราะบางและยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยอาจเริ่มจากความเชื่อเกี่ยวกับตนเองหรือเกี่ยวกับโลก ด้วยเพราะชุดความเชื่อเดิมเล็กเกินไปหรือไม่เพียงพอที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น การค้นหานั้นอาจนำไปสู่การค้นพบชุดคำสอน ชุดคำอธิบาย รวมถึงกระทั่งพบเจอการฝึกฝนที่ใช่สำหรับตน

๓. พบแนวปฏิบัติ เพื่อที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นยั่งยืน ผู้ที่ตั้งใจค้นหาต้องหมั่นฝึกฝนปฏิบัติอะไรบางอย่าง เรื่องแนวการปฏิบัตินี้มีให้เลือกมากมาย อาจจะเป็นแนวเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ไทเก๊ก ชี่กง โยคะ เดินจงกรม หรือยกมือสร้างจังหวะ แนวอยู่นิ่ง เช่น การนั่งสมาธิภาวนา แนวผ่านกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ เช่น สร้างงานจิตตศิลป์ แนวผ่านกระบวนการเชิงความสัมพันธ์ เช่น สุนทรียสนทนา การเขียนบันทึก การสะท้อนการเรียนรู้ แนวผ่านพลังพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น นิเวศภาวนา แนวผ่านกิจกรรมรังสรรค์ เช่น การสวดมนต์ หรือแม้กระทั่งแนวผ่านการทำกิจกรรมทางสังคม เช่น การเจริญสติในการทำงานในชีวิตประจำวัน หรือทำงานจิตอาสา เป็นต้น

๔. มีวิถีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับการปฏิบัติ การฝึกฝนนั้นจะต้องไม่แยกออกจากชีวิต มิใช่ชีวิตตามปรกติเป็นแบบหนึ่ง ส่วนการปฏิบัติก็เป็นไปอีกแบบหนึ่งแยกหรือขัดแย้งกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าใจถึงแก่นของการปฏิบัติมิใช่แค่รูปแบบภายนอกเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความแปลกแยกระหว่างการใช้ชีวิตทางโลกด้านนอกและการค้นหาความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในก็จะลดน้อยลง ในระยะนี้มีข้อพึงระวังไม่ให้การปฏิบัติเป็นไปเพื่อตนเองเพียงอย่างเดียว

๕. จากฉันสู่เรา จากเดี่ยวสู่กลุ่ม เมื่อวิถีชีวิตกับการปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเข้าถึงศักยภาพที่สูงขึ้นของตนเอง รวมถึงความรักความเมตตากรุณาที่มีให้กับผู้อื่นสิ่งอื่น การฝึกฝนจะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตนกับสังคมรอบข้าง เห็นโยงใยที่เกาะเกี่ยวทุกชีวิตเข้าด้วยกัน การฝึกฝนและการดำรงอยู่ของตนจึงเป็นไปเพื่อคนอื่นด้วย แต่ในทางกลับกัน จะต้องไม่สุดโต่งไปจนกระทั่งลืมที่จะมีวิถีชีวิตที่ดูแลโจทย์และเป้าหมายของตนเองพร้อมกันไป

๖. ชีวิตที่ลุ่มลึก ในท้ายที่สุด ชีวิตจะมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในสมดุลระหว่างการเข้าใจโลกภายนอกและโลกภายใน ระหว่างการเห็นและดูแลประโยชน์ตนเองและผู้อื่น แบบแผนความคิดและการกระทำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งส่วนใหม่ที่สำคัญของความเป็นตัวเรา ตัวเราที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพใหม่ที่มีบางส่วนของคุณภาพเดิม แต่ก็มิใช่คุณภาพเดิมแต่อย่างเดียว เป็นตัวเราที่พร้อมจะนำการเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่ชุมชนวงกว้าง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานแบบสมุหะและในระดับที่สูงขึ้นไป

ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจิตวิวัฒน์หรือการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานนี้ ยืนยันให้เห็นว่าความสุขจากยกระดับจิตสำนึกนี้เป็นความสุขที่หาง่าย เข้าถึงได้ทุกคน เพราะราคาถูก ที่อาจารย์ประเวศ วะสีใช้คำว่า Happiness at low cost ไม่จำเพาะผู้ที่มีฐานะดีมีโอกาสมีเวลาไปเข้าสปาเข้าคอร์สภาวนาเท่านั้น

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ต้องเริ่มจากการที่เราเปิดใจ เปิดโอกาสให้ตนเองได้เปราะบาง ได้ยอมรับประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับเรา ให้กรอบความคิด ชุดความเชื่อเดิมๆ ได้ขยายออก

ดังนี้แล้วคำถามสำคัญต่อเรื่องราวของ ดร.อเลกซานเดอร์ ที่ว่าสวรรค์มีจริง จึงอาจไม่ใช่แค่การตรวจสอบและพิสูจน์ว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่ มีลักษณะเป็นอย่างไร ตายไปแล้วเราจะได้ไปไหม แต่เป็นคำถามที่ว่า ประสบการณ์บอกเล่าเรื่องแดนสวรรค์ที่ ดร.อเลกซานเดอร์ ได้ไปพบมานั้นมีความหมายอย่างไรต่อโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตของตัวเราอย่างไร?

ขวัญเจ้าเอย



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555

จริงๆ ช่วงชีวิตของผมช่วงนี้มีความเข้มข้นมากที่สุดช่วงหนึ่ง แต่กลับผ่านเวลาไปอย่างไร้ถ้อยคำ

แล้วก็ได้หาหนังสือเกี่ยวกับ “ขวัญ” มาอ่านมากมายหลายเล่ม เมื่อก่อนอ่านงานเขียนของเจมส์ ฮิลแมน (James Hillman) ไม่รู้เรื่อง มาช่วงนี้ก็เริ่มจับต้นชนปลายงานของฮิลแมนได้ และเห็นว่า คนเขียนหนังสือเกี่ยวกับขวัญหลายคนอ้างอิงถึงเขาบ่อยๆ

คนหนึ่งที่อ้างอิงก็คือ บิล พลอตกิน (Bill Plotkin) ผู้เขียนเรื่อง Soulcraft: Crossing into the Mysteries of Nature and Psyche ซึ่งได้ให้แผนที่ที่อาจจะเทียบเคียงเรื่องขวัญ หรือ soul เข้ากับเรื่องอื่นๆ ได้

พลอตกินเขียนว่า เรื่องของ จิตวิญญาณ (spirit) นั้นคือการเดินทางขึ้นไปสู่ที่สูง ในขณะที่ ขวัญ (soul) เดินทางลงล่าง ลงใต้ดิน และ ตัวตน (ego) อยู่แดนกลาง แดนที่เราคุ้นเคย

อันหนึ่งที่จะจับความได้จากสายธารความรู้สายขวัญนี้ ก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องเมล็ดพันธุ์ (seed) ที่จะต้องค้นพบตัวเองว่า ตัวเองจะเติบโตไปเป็นอะไรในที่สุด หรือการให้ความสำคัญกับเรื่องเป้าหมายปลายทาง

ในเรื่องขวัญนี้ ปลายทางของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ในขณะที่เรื่องจิตวิญญาณ เรื่องราวของผู้คนทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน และการหลุดพ้นของคนทั้งหมด ก็เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเป้าหมายเดียวกัน

ในมุมมองทางจิตวิญญาณ ธรรมชาตินั้นดำรงอยู่อย่างเป็นกลางอย่างนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง ที่สำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้จิตของเรามองสิ่งต่างๆ หรือมองธรรมชาติอย่างบิดเบี้ยว หากจิตปกติ จิตเป็นอิสระ การมองธรรมชาติก็จะเป็นไปตามความเป็นจริง ซึ่งถือว่าใช้ได้

ส่วนในมุมมองของขวัญ ธรรมชาติก็มีขวัญ มีเส้นทาง มีปลายทาง และสามารถบอกอะไรเราได้เช่นกัน ในโลกของขวัญ ทุกสิ่งติดต่อปฏิสัมพันธ์กันได้ และธรรมชาติสามารถนำพาให้เราเข้าถึงเป้าหมายปลายทางที่จริงแท้ของเราได้ด้วย ถ้าเราเปิดใจออกให้ธรรมชาติเข้ามาเชื่อมโยงกับขวัญของเรา


กลับสู่ชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติธรรมเหมือนจะนำเราออกไปจากโลกนี้ ไปให้พ้นโลกนี้ที่เป็นทุกข์ แต่ขวัญจะนำพาเรากลับมาหาโลก กลับมาสนิทแนบกับโลก เพื่อจะอ่านสาส์นจากโลก จากธรรมชาติ จากใบไม้ สายฝน พายุ คลื่นลม สิงสาราสัตว์และอื่นๆ เพื่อจะเรียนรู้ว่าชีวิตของเรามายังโลกนี้เพื่ออะไร เรามีอะไรเป็นเมล็ดพันธุ์ แม้ว่าเรา ณ เวลานี้อาจจะดำรงอยู่อย่างตรงกันข้ามกับเมล็ดพันธุ์ของเราเลยก็ตาม เพราะขวัญจะเป็น mysterious other คือเป็น “อื่น” ที่ลี้ลับ

แล้วก็จะมีเสียงเรียกให้เราออกจากความสำเร็จหรือล้มเหลวแบบโลกๆ หรือให้ตายจากโลกของตัวตน (ego อันนี้มีส่วนคล้ายแต่ก็แตกต่างกับ อัตตวาทุปาทาน หรือการยึดมั่นถือมั่นในตน คือมันไม่ได้เป็นด้านลบอย่างเดียว หากเป็นด้านดีก็ได้ เป็นการพัฒนาตัวเองในหลายๆ ทางก็ได้ด้วย ego ของฝรั่งจึงมีความหมายต่างจากคำว่า อัตตาที่เรามักจะใช้กัน) เสียก่อน เพื่อจะได้ไปเกิดใหม่ในโลกของขวัญ ไปเริ่มต้นควานหาความหมายที่แท้จริงที่ทำให้เรามาเกิดบนโลกนี้

ขวัญจะกลับไปในโลกปกติ แต่ด้วยมุมมองใหม่ และจะทำให้ชีวิตร่ำรวยขึ้นในทุกๆ ทาง ไม่ใช้เงินทอง วัตถุสิ่งของ ทรัพย์สมบัติ แต่เป็นคุณภาพใหม่ของชีวิต มิติใหม่ในทุกๆ เรื่องราว ทุกๆ สิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสในชีวิตประจำวัน เราจะรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ เดิมๆ อย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


กระบวนการกับเนื้อหา (process and content)

กลับมามองพุทธศาสนาหรือพุทธธรรม (สำหรับท่านที่นับถือศาสนาอื่นอาจลองเทียบเคียงไปด้วยกันก็ได้)

ในการปรับตัวตามตะวันตกให้ทันในทางพุทธิปัญญา เราได้ทิ้งสิ่งดีๆ ในพุทธศาสนาไปมากมาย โดยเฉพาะทางด้านการปฏิบัติ ผมได้เรียนจากพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ว่า พระพุทธเจ้าท่านเรียงลำดับคุณค่ากิจต่างๆ ของพระสงฆ์ไว้ดังนี้ คือเริ่มต้นที่การปฏิบัติก่อน หมายถึงการปฏิบัติอันเข้าถึงวิมุตติ หรือทางหลุดพ้นอันประเสริฐ และตามมาด้วยการศึกษา คือปริยัติ และสุดท้ายคืองานก่อสร้าง แต่เราจะเห็นว่าพระสมัยนี้นิยมงานก่อสร้างกันมากที่สุด

พอเราไปตามตะวันตก พุทธศาสนาก็จะเน้นไปทางพุทธิปัญญา ซึ่งยังไม่เข้าถึงภาวนามยปัญญา หากเพียงเป็นสุตมยปัญญากับจินตมยปัญญาเท่านั้น การปฏิบัติหากจะยังมีบ้าง ก็เน้นไปทางสมถะภาวนา ซึ่งเป็นงานระดับโยคีบางสำนักในสมัยพุทธกาลเท่านั้น ยังไปไม่ถึงพุทธศาสนา ยังไปไม่ถึงวิปัสสนา

เมื่อผมอ่านงานของ ดร.ฮัล และ ดร.ซิดรา สโตน (สามีภรรยาร่วมกันเขียน) ใน Embracing Each Other อีกรอบหนึ่ง เรื่องที่เด่นขึ้นมาก็คือ การลงไปมีประสบการณ์ในตัวตนต่างๆ ไม่ใช่หลบไปหาความสงบ โดยไม่เผชิญ หากแต่ต้องลงไปในตัวตนต่างๆ และพัฒนาความตื่นรู้ขึ้นมา จิตวิทยาตัวตนของสามีภรรยาคู่นี้ การลงไปในประสบการณ์นั้นสำคัญมาก และตัวตนต่างๆ หรือด้านต่างๆ ของความเป็นตัวเราเหล่านี้ ที่มันมีปัญหาขึ้นมา เพราะตัวตนเหล่านี้เคยเข้ามาในตัวเรา ในอดีตครั้งหนึ่ง ในภาวะที่เราเปราะบาง และบางทีอ่อนแอ ไร้เรี่ยวแรง พวกเขาเข้ามาเพื่อพิทักษ์ปกป้องอาการเปราะบางของเรา พวกเขาจึงเข้ามาแรง อย่างเข้มข้น ซึ่งก็ทำร้ายตัวเองบ้าง ทำร้ายคนอื่นบ้าง

ในจิตวิทยาตัวตน เราจะต้องเข้าไปในประสบการณ์ด้านนั้นของเรา เมื่อก่อนเราเข้าไปและดำรงอยู่ในด้านนั้นๆ ของตัวเรา (ซึ่งเราเรียกว่าเป็นตัวตนต่างๆ ตัวนั้นตัวนี้ ด้านนั้นด้านนี้) อย่างไม่รู้ตัว อย่างไม่ได้เรียน อย่างไม่มีความรู้เท่าทัน เข้าไปโดยไม่มีกระบวนการตื่นรู้และเลือกเฟ้นที่เรียกว่า aware ego ก็คือเราใช้ชีวิตอย่างไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ตื่นรู้ แต่เมื่อเอากระบวนการตื่นรู้เข้าไป เราเริ่มเห็น เริ่มรับรู้ ด้วยประสบการณ์จริง ทั้งศักยภาพและข้อจำกัดของตัวตนต่างๆ เราจะเริ่มเห็นอาการป่วยไข้ หรือความวิปริตของตัวตนต่างๆ ด้วย เป็นไปได้ไหม เมื่อเราตื่นรู้ ความวิปริตต่างๆ ถ้ามี จะบรรเทาเบาบางลงและได้เห็นถึงพลังบริสุทธิ์ของตัวตนต่างๆ ของด้านต่างๆ ในเรา

เมื่อเรานำเรื่องวงจรของสมองมาเปรียบเทียบ ด้านหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ ก็คือเครือข่ายของสมองหนึ่งๆ คือมันก่อประกอบขึ้นเป็นวงจรด้วยสมองส่วนต่างๆ มีทั้งความคิด อารมณ์ความรู้สึก และเจตจำนง เป็นต้น เครือข่ายนั้นๆ อาจจะมีความทรงจำ หรือบาดแผล อาจจะมีความทรงจำซึ่งเป็นปฏิกิริยา หรืออาการปกป้องที่เคยเกิดขึ้น และเมื่อกลับสู่ตัวตนนั้นๆ ด้านนั้นๆ ของตัวเรา เราก็กลับไปสู่อาการปกป้อง อาการเป็นปฏิกิริยานั้นๆ อีก เหมือนการตกลงไปในร่องเดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่พัฒนา แล้วเราก็จะออกอาการผีเข้า และทำลายข้าวของหรือทำร้ายจิตใจผู้คน

แต่เมื่อกระบวนการตื่นรู้เข้าไป ดุจดั่งแสงใสกระจ่างส่องทาบทาเข้าไป สิ่งที่ถูกมอง ถูกส่องก็อาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนเชื่อมโยงวงจรใหม่ๆ เข้ามาอีก ในเครือข่ายแห่งการตัดแต่งเก่าและเชื่อมโยงใหม่ ทำให้เกิดการรื้อสร้างเครือข่ายเซลล์สมอง ทำให้เกิดการก่อประกอบความเข้าใจใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ ในด้านเดิมๆ หรือเสี้ยวเดิมๆ หรือตัวตนเดิมๆ ดร.สโตนสองสามีภรรยาเคยเขียนไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งว่า ตัวตนต่างๆ เหล่านี้อาจจะเติบโต เยียวยาตัวเองได้ในกระบวนการตื่นรู้เช่นนี้

ไถ่ - นัท ฮันห์ เคยเขียนไว้เช่นกันว่า เพียงเราสามารถโอบกอดความไม่ปกติของเราทั้งหลายไว้ด้วยการตื่นรู้ ด้วยสติ ด้วยการรู้เท่าทัน บางทีความไม่ปกตินั้นๆ ไม่ว่าโกรธ เกลียด เบื่อ เหงา เศร้า เซ็งอันใด ก็จะบรรเทาเบาบางลงไปเองบ้าง และหาโอกาสในช่วงขณะที่จิตเข้มแข็ง กลับเข้าไปดูใหม่อีกครั้งก็ได้ เพราะความทรงจำนั้นๆ ยังอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา ถ้าเรากลับเข้าไปด้วยความตื่นรู้ ความรัก และการใคร่ครวญ ก็อาจจะสามารถคลี่คลายบาดแผลและปมนั้นๆ ได้ ในระดับนี้ของพุทธศาสนากระมัง ที่อาจล้วงลึกเข้าไปแก้ไขความทุกข์ได้อย่างถาวร

โรงเรียน “ปิ๊งแว้บ”



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2555

นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไปมักจะเกิดจากการที่ผู้สร้างนวัตกรรมนั้นๆ ได้มีเวลาสงบนิ่งอยู่กับตัวเอง ใคร่ครวญทบทวนสิ่งที่กำลังศึกษาค้นคว้าที่ยังไม่มีคำตอบหรือยังหาคำตอบไม่ได้

การใคร่ครวญทบทวน เป็นกระบวนการคิดแบบเชื่อมโยงสัมพันธ์ ระหว่างสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการศึกษาค้นคว้า และมีบ่อยครั้งที่เราพบว่า เมื่อความคิดตีบตัน เพราะติดกับดัก กับความพยายามที่จะแก้ปัญหาเฉพาะจุด เมื่อได้เอาตัวเองออกไปจากปัญหาเฉพาะเหล่านั้น แล้วไปทำอย่างอื่น เช่น เดินเล่นในสวน พักผ่อน อ่านหนังสือ หรือทำสมาธิ... เรามักจะมีปรากฏการณ์ ”ปิ๊งแว้บ” ในเรื่องที่ค้างคาอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะการได้นำตัวเองออกไปจากการคิดและการติดกับในปัญหาเฉพาะจุด ทำให้เรามองไม่เห็นมุมใหม่ แนวทางใหม่ แต่การได้สัมผัสสิ่งใหม่ ช่วยให้เราเกิดมุมมองใหม่และกลับมาจัดการกับปัญหาเดิมได้ เป็นอานิสงส์ของความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างสิ่งใหม่กับเก่า ช่วยให้เรามองเห็นและเข้าใจ “กับดัก” ของการคิดแก้ปัญหาแบบเดิม มองเห็นและเข้าใจแนวทางใหม่ของการจัดการกับปัญหา ด้วยการผนวกควบรวมระหว่างสิ่งใหม่กับสิ่งเก่า แล้วเกิดเป็นความคิดความเข้าใจใหม่ เกิด “ปิ๊งแว้บ” ที่กว้างกว่า ลุ่มลึกกว่า จึงมีความหมายมากกว่าการจำและการเข้าใจของเดิม มีความท้าทาย สนุกและมีความสุขในการค้นพบมากกว่า

คำถามคือ ในโรงเรียน และในสถานศึกษาโดยทั่วๆ ไป ทุกระดับและประเภทของการศึกษา มีกระบวนการและจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เกิด “ปิ๊งแว้บ” หรือไม่

หากพิจารณาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน คำตอบคือ ไม่มี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาคือ สอน สอน สอน เรียน เรียน เรียน จำ จำ จำ สอบ สอบ สอบ แล้วก็ลืมหรือทิ้งไป แล้วก็เริ่มกระบวนการเดิมใหม่ กับวิชาใหม่ ผู้เรียน (และผู้สอน) ไม่มีเวลาในการใคร่ครวญ ทบทวนสิ่งที่เรียนร่วมกัน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ว่าเกิดการเรียนรู้ (ปิ๊งแว้บ) หรือไม่ ในกระบวนการเรียนการสอน ไม่มีเวลาให้กับการสะท้อนการเรียนรู้ (Learning Reflection) ของผู้เรียน ระหว่างผู้เรียน และผู้สอน ไม่มีเวลาในการ “บ่ม” และ “ฟัก” สิ่งที่เรียน เพื่อให้เกิดการปิ๊งแว้บ หรือที่ผู้เขียนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การระเบิดใหญ่สีขาว” (White Big Bang) เลย เพราะทุกอย่างเร่งรีบไปหมด

การเรียนและการเรียนรู้ จึงอยู่ในลักษณะของ “การเลียน” และ “การเลียนรู้” ความรู้เดิม กระบวนการเดิม ภายใต้เงื่อนไขและกติกาเดิม ไม่เกิดสิ่งใหม่ เพราะไม่เกิดปิ๊งแว้บ

ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ดูเหมือนจะไม่มีความสุขกับการเรียนการสอนสักเท่าไหร่ ไม่ตื่นเต้นท้าทายเท่าที่ควร เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดการ “ปิ๊งแว้บ” ในเรื่องที่กำลังเรียนกำลังสอน เพราะการศึกษาในกระแสหลักเป็นการ “ถ่ายทอด” ข้อมูลและความรู้เดิม จึงไม่เกิดสิ่งใหม่ ไม่มีการแตกกิ่ง ต่อยอด

กระบวนการวัดการประเมินก็เน้นไปที่การวัดการประเมินความรู้เก่าตามวัตถุประสงค์และเนื้อหาที่กำหนดไว้

คำถามคือ ผลการสอบ หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สะท้อนว่าผู้เรียนเกิด “ปิ๊งแว้บ” ในสิ่งที่เรียนหรือเปล่า

คำตอบคือ เปล่า เพราะไม่ได้ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ และที่สำคัญ “ปิ๊งแว้บ” ไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นกระบวนการและสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ ผลของปิ๊งแว้บ จะเป็นความรู้ความเข้าใจหรือเนื้อหาสาระใหม่ของผู้เรียนรู้ ที่จะเก็บไว้ สานต่อ และเชื่อมโยงไปยังความรู้ใหม่ๆ ที่ใหญ่และครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิมไปเรื่อยๆ มีความหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นกระบวนการและทิศทางที่ควรจะเป็นของการศึกษา ที่เป็นกระบวนการในการสร้างและให้ความหมายใหม่กับสิ่งที่ศึกษา แต่การศึกษาในกระแสหลัก เน้นและให้ความสำคัญกับการจำกัดความหมาย จึงมักจะเริ่มต้นด้วยการให้คำจำกัดความของสิ่งที่จะเรียนก่อนเสมอ

ลองพาผู้เรียนออกไปนอกห้องเรียนสี่เหลี่ยมแคบๆ เป็นระยะๆ เพื่อสัมผัสกับสิ่งที่ใหญ่กว่า “เนื้อหาวิชา” คือชุมชน สังคม และธรรมชาติ แล้วร่วมกับผู้เรียนตั้งคำถาม เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าสิ่ง (เนื้อหาวิชา) ที่เรียนนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิต ชุมชน สังคม และธรรมชาติหรือไม่ อย่างไร สิ่งที่สอนและเรียนนั้น เป็นประโยชน์กับตนเอง กับผู้อื่น และสรรพสิ่งหรือไม่ อย่างไร ถ้าหาคำตอบไม่ได้ ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วเรียนวิชาเหล่านั้นไปเพื่ออะไร

ลองพาผู้เรียนกลับเข้าสู่มิติภายในของตนเองเป็นระยะๆ เพื่อสำรวจ ทบทวนสิ่งที่ได้เรียน ความเข้าใจ ความไม่เข้าใจ ความรู้สึก ทัศนคติ ความคาดหวังเกียวกับสิ่งที่เรียน แล้วแลกเปลี่ยนเรีบนรู้กับเพื่อนและครู ผ่านสามกระบวนการคือสุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้

ลองพาผู้เรียนออกไปสัมผัสโลกภายนอกเป็นระยะๆ พาผู้เรียนกลับเข้าไปสัมผัสโลกภายในเป็นระยะๆ เพราะสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง ความสัมพันธ์เชื่อมโยงก่อให้เกิดความหมายใหม่ หากมองเห็นและเข้าใจความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ มากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งเห็นและเข้าใจความหมายของตนเองและสิ่งต่างๆ ที่สัมพันธ์กันได้มากขึ้นเท่านั้น การเรียนแบบแยกส่วน ก็จะเห็นและเข้าใจแบบแยกส่วน การ “ปิ๊งแว้บ” ถ้าหากจะเกิด ก็จะเป็นการปิ๊งแว้บที่แคบแบบแยกส่วน

ห้องเรียนไม่ได้หมายถึงแค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ แคบๆ แออัดยัดเยียด (ห้องเรียนเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะอยู่ในห้องหรือนอกห้องก็ได้ ภายใต้บรรยากาศและกระบวนการที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ต่อการเกิดปิ๊งแว้บทั้งของผู้เรียนและผู้สอน)

การเรียน ไม่ได้หมายถึงแค่การบอก การจด การจำ การอ่าน การทำการบ้าน การฟังการถ่ายทอดเนื้อหาวิชาและเทคนิคการทำข้อสอบจากผู้สอน

วิชาไม่ได้หมายถึงแค่เนื้อหาที่ปรากฏในตำราเรียน หรือความรู้ที่ครูบอก ที่ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม และสรรพสิ่ง

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่ได้หมายถึงแค่คะแนนที่ได้จากการทำข้อสอบแต่ละวิชา

ความสำเร็จในการดำรงชีวิตอย่างสันติสุข สำคัญกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใช่หรือไม่

ลองใส่ความรัก ความเมตตา ลงไปในกระบวนการเรียนการสอนเป็นระยะๆ แล้วเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น เมื่อเทียบกับการเรียนการสอนแบบเดิม

ความรู้ที่ไม่มีความรัก ไม่ควรเป็นศาสตร์ของมนุษย์

ความรู้ที่ไม่มีความรัก มักจะถูกนำมาเป็นศาสตราที่ทิ่มแทงและทำลายมนุษย์ เช่นความรู้เกี่ยวกับการสร้างอาวุธที่ใช้ในการทำลายล้างผู้อื่น หากมนุษย์มีความรัก มนุษย์ก็จะเรียนรู้และสร้างศาสตร์ที่จะเอื้ออำนวยต่อมนุษย์และสิ่งอื่น ไม่ทำร้าย ไม่ทำลายล้างตนเอง ผู้อื่นและสิ่งอื่นด้วยศาสตราวุธที่สร้างขึ้น

ความรู้ที่มีคุณค่า จึงต้องเป็นความรู้ที่มีความรักความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกและต่อตนเอง

โรงเรียนปิ๊งแว้บ จึงควรเป็นพื้นที่ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้และความรักความเมตตา เพื่อก่อให้เกิดความรู้และความรักความเมตตาภายในตัวผู้เรียน ภายใต้บรรยากาศของการยอมรับและความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างแท้จริง บนความเชื่อที่หนักแน่นว่า การเรียนรู้ที่แท้จริง (ปิ๊งแว้บ) เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ แต่เอื้อให้เกิดขึ้นได้ ผ่านกระบวนการและกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่มีมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกคน แต่ละคนไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเรียนรู้เหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่ากัน

ครู อาจารย์จึงต้องมีความรู้ มีความรักความเมตตาเป็นฐาน

โรงเรียนปิ๊งแว้บจึงจะเต็มไปด้วยความรู้และความรักความเมตตา

ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความรู้ (หัว) เป็นชีวิตที่แข็งกระด้าง คล้ายเครื่องจักรและหุ่นยนต์

ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยความรักความเมตตา (หัวใจ) เป็นชีวิตที่อ่อนโยน คล้ายสายลม สายน้ำ และแสงแดดในยามเช้า

ระหว่างความรู้ (หัว) และความรักความเมตตา (หัวใจ) คือชีวิต (ศาสตร์และศิลป์) ของความเป็นครู



"Wisdom tells me I am nothing. Love tells me I am everything. And between the two my life flows." --Nisargadatta Maharaj

ระบบปฏิบัติการคู่ สู้การเปลี่ยนแปลง


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555

ผมมีโอกาสจัดวงสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับองค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงมาได้สักระยะ พบว่าพวกเขาต้องการเวทีที่จะพูดถึงปัญหาต่างๆ ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกบีบบังคับหรือตั้งกำแพงใส่กัน เหมือนตอนประชุมไล่ตามงานกันตามโครงสร้างบัญชาการแนวดิ่ง

เดิมทีผมและทีมต้องการจะจัดกระบวนการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง แต่ก็ต้องเปลี่ยนกระบวนการกระทันหัน เพราะเมื่อเริ่มกระบวนการ “นำเข้า” (check-in) พบว่า ใจของคนไม่มากับกระบวนการที่วางแผนไว้เดิม ผมจึงบอกข้อสังเกตดังกล่าวที่ผมและทีมเห็นในการนำเข้า และปรึกษาว่า พวกเขาต้องต้องการทำตามแผนที่วางไว้ หรือต้องการสนทนาประเด็น “ช้างในห้อง” (ปัญหาใหญ่ที่ไม่มีใครอยากจะพูดถึง) มีเสียงตอบรับว่าต้องการเวทีที่จะได้พูดคุยเปิดใจกันมากกว่า

แม้ว่าการสนทนาจะจบลงแบบไม่มีทางออก แต่ตลอดเวลาสามชั่วโมงกว่า สมาชิกทุกคนได้พูดความในใจกัน และตั้งใจฟังกันอย่างลึกซึ้ง มีการพูดคุยถึง “ช้างในห้อง” แม้ว่าอาจจะไม่ครบถ้วนทุกแง่มุมก็ตาม ถ้าผลการประชุมแบบไม่มีทางออกแบบนี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในองค์กร พนักงานอาจเดินออกจากห้องประชุมด้วยความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้ และหมดหวังต่อความพยายามในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ต่างออกไปในครั้งนี้คือ เวทีนี้กำลังทำหน้าที่ติดตั้ง “ระบบปฏิบัติการ” ใหม่ให้กับองค์กร นั่นคือระบบปฏิบัติการในแนวราบ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้พนักงานในองค์กรหลากหลายระดับ มาพูดคุยกัน แบบถอดหัวโขนถอดตำแหน่งวางไว้นอกห้อง แล้วเปิดใจคุยกัน

วารสารฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิว (Harvard Business Review) ฉบับฉลองอายุครบ ๙๐ ปี (พฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๑๒) ตีพิมพ์บทความ “เร่งเปลี่ยน” (Accelerate!) ของจอห์น คอตเตอร์ (John P. Kotter) ศาสตราจารย์ด้านการสร้างภาวะผู้นำในองค์กรจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่กล่าวถึงการต้อนรับความท้าทายที่ต้องการให้องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ว่าองค์กรจำเป็นต้องติดตั้งระบบปฏิบัติการคู่ คือ ๑. ระบบการบริหารจัดการในแนวดิ่ง ระบบนี้เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี มีการสั่งการตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง และพนักงานปฏิบัติการ จากบนลงล่างตามลำดับ และ ๒. ระบบเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ในแนวราบ ซึ่งประกอบไปด้วยพนักงานทุกระดับที่อาสาเข้ามาพูดคุยกัน ส่งต่อข้อมูลที่อาจส่งได้ยากในระบบแนวดิ่ง เพื่อทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร

คอตเตอร์มองว่าระบบปฏิบัติการแนวดิ่ง เป็นระบบที่ได้รับการติดตั้งในองค์กรต่างๆ มาช้านาน และยังคงใช้ได้ผลเป็นอย่างดีจนถึงทุกวันนี้ ด้วยการวางระบบการบริหารจัดการเป็นสายลำดับชั้นบัญชาการ ทำให้การทำงานแบบวันต่อวันเป็นไปได้ด้วยดี และช่วยให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าหลายองค์กรในปัจจุบันพยายามทำให้องค์กรแบนราบมากขึ้น ด้วยการปรับลดลำดับชั้นให้น้อยลง ปรับลดการทำงานแบบเจ้าขุนมูลนาย (bureaucratic) เพื่อให้องค์กรมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ทำได้ถึงแค่จุดหนึ่ง ก็จะเริ่มตัน ไปต่อไม่ได้

สิ่งที่ผมพบคือ เมื่อพนักงานเริ่มทนทานต่อความท้าทายและอุปสรรคต่อไปไม่ไหว ระบบนี้พร้อมเปลี่ยนเป็นการ “ไล่บี้” จากบนลงล่าง บรรยากาศการทำงานเริ่มอบอวลไปด้วยความอึมครึม เหนื่อยหน่าย และบั่นทอนกำลังใจพนักงานที่ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ จนบางครั้งเกิดความรู้สึกอยากลาออก

คอตเตอร์อธิบายต่อไปว่า ระบบปฏิบัติการแนวราบ เป็นการสร้างเครือข่ายของพนักงานในองค์กร ที่มีลักษณะ “กองทัพอาสาสมัคร” (Volunteer Army) เกิดจากการรวมตัวกันของพนักงานในองค์กรทุกระดับ โดยไม่หวังผลตอบแทน แต่มีจิตอาสาช่วยเหลือองค์กรฝ่าฟันการเปลี่ยนแปลง พวกเขาเป็นกองทัพที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลได้อย่างเป็นอิสระ นอกกรอบโครงสร้างเป็นชั้นๆ ของระบบแนวดิ่ง ทำหน้าที่วางกลยุทธ์เร่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันหรือล้ำหน้ายุคสมัย

สิ่งที่ผมพบจากวงสนทนาข้างต้นและการเปิดใจในวงอื่นๆ ที่ผ่านมาคือ ความกล้าในการอาสานำปัญหามาแบ่งปันกันในวงสนทนาอย่างเปิดเผย อาสาเปิดใจพูดถึงความอึดอัดขัดข้องที่เกิดขึ้นกับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน อาสาให้และรับคำวิจารณ์เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากระบบแนวดิ่ง การเปิดเวทีให้กับการสื่อสารแบบนี้ ยากจะเกิดขึ้นเมื่อองค์กรทำงานภายใต้ระบบเดียว คือระบบปฏิบัติการแนวดิ่ง แต่เมื่อองค์กรเริ่มติดตั้งระบบปฏิบัติการแนวราบควบคู่ไปด้วยกัน องค์กรจะเพิ่มศักยภาพการไหลเวียนข้อมูล และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

การติดตั้งระบบปฏิบัติการคู่ มีหลักด้วยกัน ๕ ประการคือ


๑. ต้องการคนสร้างการเปลี่ยนแปลงประมาณร้อยละ ๑๐ ของพนักงานทั้งองค์กร
๒. ขับเคลื่อนด้วยพลังจิตอาสา
๓. ใช้ทั้งหัว ใช้ทั้งใจ
๔. สร้างภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง
๕. สองระบบ หนึ่งองค์กร


อธิบายหลักการทั้งห้ารวบยอดคือ องค์กรต้องการกองทัพอาสาสมัครที่มีจำนวนมากพอ สักประมาณร้อยละ ๑๐ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารส่วนหนึ่ง และพนักงานปฏิบัติการอีกส่วนหนึ่ง มารวมตัวกันเพื่อพูดคุยกันอย่างเปิดใจ มีการจัดเวทีให้ได้พูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่มีตำแหน่งหรือภาระหน้าที่มาปิดกั้น ไม่มุ่งเน้นก่อตั้งเพียงแค่กลุ่มแกนนำ แต่มุ่งไปให้ถึงการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกระดับ กลุ่มนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังจิตอาสา ไม่ใช่บังคับให้มาเข้ากลุ่ม คนอาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เสียสละตนในการใช้ทั้งหัว ทั้งใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลง นั่นคือทำความเข้าใจตรรกะของการเปลี่ยนแปลง และเห็นคุณค่าและความหมายของการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อชีวิตตนและผู้คนในองค์กร เสียสละฝึกฝนตนเองให้เกิดภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง สามารถสร้างแรงบันดาลใจ ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ ร่วมกันวิเคราะห์โอกาส ร่วมกันลงมือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสุดท้าย เมื่อระบบปฏิบัติการในแนวราบเริ่มเกิดขึ้น จะต้องเชื่อมโยงบูรณาการกับระบบปฏิบัติการในแนวดิ่งได้อย่างลงตัว เนียนไร้รอยต่อ ไม่ใช่สองระบบคู่ขนานที่แยกขาดจากกัน แต่เป็นสองระบบ หนึ่งองค์กร

กองทัพอาสาสมัครนี้หากมีผู้บริหารระดับสูงเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้น และปฏิบัติกับเครือข่ายนี้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับระบบแนวดิ่ง จะยิ่งทำให้เครือข่ายเข้มแข็ง เมื่อนั้นระบบปฏิบัติการแนวราบจะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ในฐานะ “ตัวเร่ง” กระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับองค์กรอยู่เสมอ

คอตเตอร์อธิบาย “๘ ตัวเร่ง” ของกระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ได้แก่ ๑. การรับรู้ความเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงเพื่อต้อนรับโอกาสใหญ่ที่กำลังเข้ามา ๒. การก่อตั้งกลุ่มแกนนำสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มาจากพนักงานทุกระดับและมีความเท่าเทียมกันในการสื่อสาร ๓. การสร้างวิสัยทัศน์ที่เป็นเข็มทิศให้กับระบบปฏิบัติการคู่และริเริ่มกลยุทธ์สำคัญและจำเป็นต่อวิสัยทัศน์อันเกิดจากการมีส่วนร่วมจากทุกคนในเครือข่าย ๔. การสื่อสารวิสัยทัศน์ทั่วทั้งองค์กรและเพิ่มจำนวนคนที่ซื้อแนวคิด (buy-in) ให้มาเข้าร่วมกองทัพอาสาสมัครให้ได้ถึงประมาณร้อยละ ๑๐ ของพนักงานทั้งองค์กร ๕. เร่งขับเคลื่อนองค์กรเข้าหาวิสัยทัศน์ โดยมีเครือข่ายคอยทำหน้าที่ทะลายกำแพงต่างๆ ที่ขวางกั้นการขับเคลื่อนนี้ และปรับปรุงการทำงานในระบบปฏิบัติการในแนวดิ่ง ๖. การวางแผนสร้างชัยชนะระยะสั้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเพื่อสร้าง “ความศักดิ์สิทธิ์” ให้กับเครือข่าย ๗. พยายามอย่างต่อเนื่อง ไม่เลิกกลางคัน ด้วยการสะท้อนการเรียนรู้ และสานต่อสู่การเปลี่ยนแปลงก้าวต่อไป และ ๘. การลงหลักปักฐานให้กับการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

สิบห้าปีที่ผ่านมา เขาพบว่าคนมักนำเอาแนวคิดของเขาไปใช้เป็น “ขั้นๆ” ทำให้ขาดมิติความต่อเนื่องเป็นกระบวนการ ผลลัพธ์คือการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ จบโครงการก็จบการเปลี่ยนแปลง องค์กรส่วนใหญ่จึงยังไม่สามารถสร้างความต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลง ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมและยุคสมัยที่เกิดขึ้นตลอดเวลา การติดตั้งระบบปฏิบัติการคู่ แนวดิ่งและแนวราบ จึงเป็นการทำความเข้าใจใหม่ต่อ “๘ ขั้นตอน” ว่าเป็น “๘ ตัวเร่ง” เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้มีลักษณะต่อเนื่องเป็นกระแสสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรอยู่เสมอ เพื่อให้องค์กรอยู่รอดและก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้ ท่ามกลางอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงจากตลาด สังคม และยุคสมัย

คอตเตอร์ทิ้งทายไว้ในบทความนี้ว่า ๘ ตัวเร่งและกองทัพอาสาสมัครอาจจะมีอุปสรรคหรือจัดการยากในช่วงแรก องค์กรจำเป็นต้องให้เวลากับการฟูมฟักระบบปฏิบัติการในแนวราบสักระยะหนึ่ง แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแบบคาดไม่ถึง ผมหวังว่าการริเริ่มที่ยังไม่มีทางออกจากวงสนทนาข้างต้น จะมีแรงส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นการสร้างระบบปฏิบัติการคู่ในองค์กรแห่งนั้น

ความรู้สึกแบบใหม่



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2555


งานวิจัยที่สำคัญมากชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า งานวิจัยไวท์ฮอลล์ เริ่มขึ้นที่อังกฤษในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ด้วยการเก็บข้อมูลจากข้าราชการเพศชาย ๑๘,๐๐๐ คน ต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันถึง ๑๐ ปี ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ก็คือ ยิ่งทำงานอยู่ในตำแหน่งต่ำลงไปเท่าไหร่ อายุก็จะยิ่งสั้นมากขึ้นเท่านั้น และมักจะตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเสียด้วย

๒๐ ปีถัดมา ข้อมูลจากข้าราชการ ๑๐,๓๐๘ คน เป็นชาย ๒ ใน ๓ ที่เหลือเป็นผู้หญิง ก็ถูกจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง และยืนยันข้อค้นพบเดียวกันกับงานวิจัยชิ้นแรก คือ ตำแหน่งงาน หรือสถานะทางสังคม สัมพันธ์เกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ดี และทำให้ผู้คนกลุ่มหนึ่งอายุสั้นต่างกับผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง

นับจากนั้น งานวิจัยทางสุขภาพส่วนหนึ่งจึงหันมาให้ความสนใจกับการสืบค้นเหตุปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อความมีอายุสั้น/ยาวของผู้คน หรือที่เรียกว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพมากขึ้น งานชิ้นสำคัญล่าสุดที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ “ถมช่องว่างทางสุขภาพในช่วงชีวิตเรา: บรรลุความเป็นธรรมทางสุขภาพ ด้วยปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” ซึ่งเป็นผลงานวิจัย ๔ ปีของนักวิจัยกลุ่มใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก โดยรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกมาวิเคราะห์ และมีข้อเสนอในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เพื่อยกระดับสุขภาพของผู้คนในสังคมโดยรวม

ที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากงานวิจัยเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อออกมานอกเขตแดนของประชาคมวิจัยมากขึ้นตามลำดับ เซอร์ ไมเคิล มาร์ม็อต นักวิจัยหัวเรือหลักทางด้านปัจจัยสังคมต่อสุขภาพ ปรากฎตัวในสารคดีโทรทัศน์อเมริกัน UNNATURAL CAUSES: Is Equality Making Us Sick? ทั้งยังใช้ข้อมูลจากงานวิจัยมานำเสนอ ในปีเดียวกันนั้นเอง เขาก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลอังกฤษให้เป็นที่ปรึกษา

ส่วนหนังสือที่ทำให้เกิดบทสนทนาสาธารณะมากที่สุดก็คือ THE SPIRIT LEVEL: Why Equality is Better for Everyone โดย ริชาร์ด วิลกินสัน หนึ่งในนักวิจัยทีมเดียวกับมาร์ม็อต (ปัจจุบันมีแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ ความ(ไม่)เท่าเทียม โดย สฤณี อาชวานันทกุล) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังคมที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำมาก จะมีปัญหาทางสุขภาพและสังคมมากตามไปด้วย ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา ท้องวัยรุ่น ยาเสพติด นักโทษล้นคุก ความรุนแรง ความไว้วางใจต่อกันของคนในสังคม ฯลฯ หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านต่างกล่าวถึง และทำให้ ส.ส.อังกฤษ ๗๕ คน ลงนามให้สัญญาก่อนเลือกตั้งทั่วไปว่า จะสนับสนุนทุกนโยบายที่นำไปสู่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจน

เมื่อย้อนกลับมามองสังคมไทย งานวิจัยทั้งของสภาพัฒน์และทีดีอาร์ไอก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาประเทศ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะทางรายได้และการศึกษา ไม่ได้ลดลงเลย จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัญหาหลายอย่างจึงปะทุคุกรุ่นอยู่เต็มไปหมด

หลายคนมองว่า การประสบความสำเร็จเป็นผลจากการทำงานหนัก และคนที่ทำงานหนักและประสบความสำเร็จควรได้รับผลตอบแทนสูง ไม่เห็นจะต้องไปสนใจใยดีอะไรกับคนจนรายได้น้อยอะไรนั่นเลย แต่สิ่งที่มองว่าเป็นความสำเร็จของนักการเงินหรือที่ปรึกษาทางการลงทุน ก็ยังเป็นเรื่องของโชคมากกว่าความเป็นมืออาชีพ ดังที่ ศ. แดเนียล คาเนแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เล่าและวิเคราะห์ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา Thinking, Fast and Slow และหลายครั้งก็เป็นเรื่องของความฉ้อฉลมากกว่าฝีมือ ดังนั้นเอง คนที่ได้รับเงินเดือนสูงและมีโบนัส จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่คนที่สมควรจะได้รับ แถมความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มคนเหล่านี้สร้างขึ้นมายังส่งผลกระทบด้านลบกับสังคมอีกด้วย ทั้งที่กลุ่มที่รวยที่สุดมีเพียงร้อยละ ๑ ของประชากรในโลกนี้เท่านั้น

วิธีคิดบางอย่างกำกับโครงสร้างที่ผิดปรกติเหล่านี้ อุดมคติที่ผิดเพี้ยนนำไปสู่มาตรการลดภาษีคนรวย กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการรวมตัวของคนทำงาน กลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกำกับการแข่งขันในตลาด ทั้งยังส่งเสริมให้บูชาเงินและหรือความร่ำรวยที่ไม่ได้มาจากการทำงาน มองสังคมและโลกเป็นการแข่งขันมากกว่าการอยู่ร่วมและแบ่งปันอย่างเกื้อกูล

ในสังคมที่คนรวยและคนชั้นกลางกินอาหารในห้างสรรพสินค้าและมอลล์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นตามชานเมือง และคนจนกินอาหารในซอยติดกันข้างๆ และเป็นเมนูที่แตกต่างกันอย่างฟ้ากับเหว ในสังคมที่ความแตกต่างดำรงอยู่และมีให้เห็นมากกว่าวันละ ๓ มื้อเช่นนี้ - เราจะไม่รู้สึกอะไรบ้างล่ะหรือ?

จังหวะชีวิตที่ตื่นเช้ามาก็ต้องออกไปทำงาน ฝ่าทะเลจราจรทั้งขาไปขากลับ ถึงบ้านก็ฟ้ามืด การเปิดโทรทัศน์ดูละครที่ “ไม่เครียด” เห็นอกเห็นใจตัวละครอย่างมุตตา สะใจไปกับมุนินทร์ (ตัวเอกในละครหลังข่าวภาคค่ำเรื่องหนึ่ง) จึงเป็นการกลับไปสู่ธรรมชาติของมนุษย์ที่โหยหาการใช้อารมณ์ความรู้สึก

ในภาวะที่ชีวิตไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เวลาทำงานก็ต้องแสดงความเป็นมืออาชีพที่ต้องเก็บงำอารมณ์ความรู้สึก ตัวชี้วัดมีแต่คำว่าประสิทธิภาพ มนุษย์ย่อมกลายเป็นเครื่องจักรกล เมื่อมองเห็นข้อมูลและตัวเลขว่าด้วยช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ทั้งในการถือครองตัวเลขในบัญชีธนาคาร ที่ดิน สุขภาพ และการศึกษา จึงยากที่จะรู้สึกรู้สากับความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์คนอื่นในสังคม

ก็ในเมื่อเรายังมีความต้องการที่จะมีอารมณ์ความรู้สึก ถึงขนาดว่าต้องเสพละครหลังข่าวทุกวันทั้งที่ปากก็บ่นว่าชีวิตไม่ค่อยมีเวลา แสดงว่าเรามีเวลาและศักยภาพเพียงพอที่จะรู้สึกรู้สากับความทุกข์ยากไม่เป็นธรรมของคนอื่นได้เช่นกัน

บางที นอกจากความรู้และงานวิจัยแล้ว วิธีคิดใหม่ และอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่ อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่ไม่อาจยอมรับความไม่ถูกต้อง ความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกนี้เองก็จะเป็นเสมือนการเปิดตาน้ำของความกรุณาให้หลั่งไหลหล่อเลี้ยงให้กับโลกภายในและภายนอกของเรา

จิตวิวัฒน์สู่การศึกษา



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2555

การศึกษาไทยเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องใช้กระบวนทัศน์ใหม่ทั้งหมดในการแก้ปัญหาและปฏิรูป สิ่งที่ทำกันอยู่มักเป็นวิธีใหม่ การเรียนแบบใหม่ การสอนแบบใหม่ และการสอบแบบใหม่ แต่ไปไม่พ้นกรอบความคิดชุดเดิม

การเรียน การสอน และการสอบ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น มีการเรียนด้วยแท็บเล็ต การสอนที่น่าตื่นตาตื่นใจ การสอบที่วัดผลแม่นยำ แต่ถ้าอยู่ภายใต้เป้าหมายของศตวรรษที่ ๑๙ หรือ ๒๐ นั่นคือผู้รู้มากคือผู้มีการศึกษา ก็ยังคงมีความเสี่ยงว่าเด็กไทยจะก้าวตามอาเซียนไม่ทัน มิพักจะพูดถึงโลกทั้งใบที่ไร้พรมแดน



หากการศึกษาไทยอยากได้จิตวิวัฒน์ใหม่ไปสู่เป้าหมายในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ซึ่งโลกแบนราบลงแล้วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เด็กของประเทศต่างๆ รวมทั้งเด็กจากชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกได้จากทุกสถานที่รวมทั้งทุกเวลา เราจะปล่อยให้เด็กไทยเรียนหนังสือในห้องเรียนด้วยการท่องจำตำรา และสอบวัดผลด้วยการท่องจำหรือใช้วิจารณญาณให้สอดคล้องกับเฉลยคำตอบที่ตายตัวได้อย่างไร

เราควรช่วยกันค้นหาหนทางให้เด็กไทย “อยากเข้า” และ “เข้าถึง” แหล่งเรียนรู้ต่างๆ โดยเสรีให้เต็มศักยภาพ

ที่สำคัญกว่าความรู้หรือรู้มาก จึงควรเปลี่ยนเป็นความใฝ่รู้และรู้วิธีที่จะเรียนรู้ รู้ว่าจะตนเองอยากรู้อะไรและจะไปหาความรู้ได้จากที่ไหน เมื่อได้มาแล้วรู้จักไม่เชื่อในทันทีและฝึกตั้งคำถาม จากนั้นจึงค้นหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง นี่จึงเป็นเป้าหมายใหม่ของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑

กระบวนทัศน์ใหม่คือวิธีหาคำตอบสำคัญกว่าตัวคำตอบเอง เด็กไทยควรเก่งในเรื่องกระบวนการหาคำตอบมากกว่าที่จะหลงเชื่อหรือติดกับกับคำตอบตายตัวใดๆ ของโจทย์ปัญหาใดๆ เพราะที่แท้แล้วปัญหาใดๆ ไม่เคยมีคำตอบเพียงหนึ่งเดียวอยู่ก่อนแล้ว

ความรู้มาพร้อมอบายมุขและเรื่องชั่วร้ายเสมอ

ดังนั้นนอกจากเด็กไทยควรเป็นคนอยากรู้ ใฝ่เรียนรู้ รู้วิธีหาความรู้และตั้งคำถามเป็นแล้ว ระหว่างที่ใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความรู้นั้นเอง เด็กไทยต้องเผชิญปัญหาเรื่องอบายมุข เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเห็นที่แตกต่างกับของตนตลอดชีวิต ที่สำคัญเท่าๆ กับ “ทักษะเรียนรู้” จึงเป็น “ทักษะชีวิต”



เด็กไทยจะใช้ชีวิตเผชิญกับอบายมุขและเรื่องยั่วยวนที่อยู่รอบตัวอีกทั้งมากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างไร จะดูแลการเงินของตัวเองอย่างไร จะเผชิญความผันผวนของธรรมชาติจากวิกฤตโลกร้อนได้อย่างไร และจะเคารพความเห็นต่างทางการเมืองหรือชาติพันธุ์ได้อย่างไร สี่ประเด็นนี้คือประเด็นด้าน health, economics, environment และ civil society เป็นเรื่องท้าทายชีวิตคนทุกคน ที่ซึ่งการใช้ชีวิตไม่ควรแยกออกไปจากการเรียนหนังสือ

การศึกษาต้องทำให้เด็กใฝ่เรียนรู้และรู้จักใช้ชีวิตไปพร้อมกัน

ครูยังคงเป็นคนสำคัญสำหรับกระบวนทัศน์ใหม่และจะสำคัญมากยิ่งขึ้น

แต่ครูจำเป็นต้องละทิ้งกระบวนทัศน์เดิมและวิธีการเดิม เลิกเป็นผู้สอน เลิกคิดว่าตนเองต้องเก่งกว่านักเรียน เปลี่ยนตนเองให้เป็นผู้อยากรู้และใฝ่เรียนรู้ไปพร้อมกันกับนักเรียน เป็นโค้ชและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเสรีและเต็มศักยภาพโดยไม่มีผิดถูก ชวนนักเรียนร่วมออกแบบการเรียนการสอนที่วิวัฒน์ไปสู่จิตสำนึกใหม่ นั่นคือการศึกษาที่แท้เริ่มด้วยการลองผิดลองถูกและสุนทรียสนทนา(Dialogue) โดยมีหลักสูตรเป็นเป้าหมาย

ครูด้วยกันเองควรจับกลุ่มกันเพื่อสนทนาเรื่องนักเรียนทุกวัน หลักสูตรต้องการให้นักเรียนรู้อะไร เราจะออกแบบการเรียนการสอนให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร ที่ออกแบบและทดลองทำไปแล้วนักเรียนได้รู้สิ่งที่ต้องรู้จริงหรือเปล่า และนักเรียนได้เพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตจริงหรือไม่ ครูยังสามารถทำอะไรให้ดีกว่าเดิมได้อีกหรือไม่และอย่างไร นี่คือการพูดคุยระหว่างเพื่อนครูในรูปแบบที่เรียกว่า After Action Review หรือ AAR

ครูที่ดีจะพูดคุยเรื่องลูกศิษย์ทุกวัน

การสอบจะมิใช่ทำไปเพื่อวัดผลได้ตก แต่ทำเพื่อประเมินและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของเด็กๆ ทักษะทั้งสามจะเดินคู่ขนานกันไปตลอดชีวิตการเรียนของเด็กนักเรียนหนึ่งคน อย่างน้อยก็จากอนุบาลจนกระทั่งจบชั้นมัธยมปลาย การสอบเพื่อวัดความรู้ในศตวรรษที่ ๒๐ วิวัฒน์ไปสู่การสอบเพื่อวัดทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑



ที่เขียนมาทั้งหมดสามารถทำได้จริงเพราะโรงเรียนทางเลือกหลายแห่งทำแล้ว ครูส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถทำได้ โดยเริ่มด้วยการจับคู่ช่วยกันเปลี่ยนวิธีสอนหนังสือ แล้วประเมินตนเองว่านักเรียนได้อะไรด้วยการพูดคุยแบบ AAR ทุกวัน เมื่อครูเริ่มจากจุดเล็กๆ จับกันเป็นคู่ๆ จะนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มครูเพื่อการศึกษาในศตวรรษใหม่ได้อย่างแน่นอน เพราะครูสองคนที่จับเป็นคู่นั่นเองจะเป็นสองคนแรกที่ได้สัมผัสความสุขจากการได้ทำอะไรบางอย่างให้เด็กได้เจริญเติบโตอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อเรียนเก่งสอบได้อย่างดาษดื่น และครูสองคนนั้นเองจะพบว่าสองคนไม่พอ มองรอบข้างและพบเพื่อนครูที่พร้อมจะร่วมทางไปสู่การศึกษาแบบใหม่



เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จะยังความสุขให้ทั้งแก่ครูและนักเรียน

โรคหมอทำ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2555

"ดูจากผลทดสอบแล้ว ถ้าหากคุณยังไม่ดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ คุณอาจจะอยู่ได้ไม่ถึงอายุสี่สิบ" นายแพทย์วินิจฉัยอาการเพื่อนของผม ปีนี้เขาอายุ ๓๖ ถ้าเป็นจริงอย่างที่หมอว่า เขาจะเหลือเวลามีชีวิตอยู่อีกเพียง ๔ ปี หมอยังบอกอีกว่าผลการทดสอบทางกายภาพของเขา "ต่ำกว่ามาตรฐาน" โดยเฉพาะเรื่องแรงบีบมือและแรงดึงขาซึ่งต่ำกว่าคนปกติ ส่วนปอดก็หายใจเอาออกซิเจนเข้าไปในร่างกายยได้ต่ำกว่าคนทั่วไป หมอแนะนำให้เขาไปออกกำลังกายและยกเวทเสียบ้าง กล้ามเนื้อจะได้มีความแข็งแรง เขายิ้มรับคำวินิจฉัยของหมออย่างไม่สะทกสะท้าน สิ่งที่หมอไม่รู้เลยก็คือ ชายหนุ่มรูปร่างท้วมคนนี้เป็นลูกศิษย์เอกคนหนึ่งของปรมาจารย์ไทเก๊กที่มีผู้รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย

ผมเพิ่งมาฝึกวิชาไทเก๊กอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงสองปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งที่เขามาเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนวิชาที่สำนัก ผมทดลองผลักมือกับเขาปรากฏว่าเขาผลักผมไปซ้ายทีขวาที ราวกับเป็นตุ๊กตาหมียัดนุ่น น้ำหนักหกสิบห้ากิโลของผมมันไร้ความหมายสำหรับเขา และยิ่งผมฝืนออกแรงต้านเขามากเท่าใด ผมก็ยิ่งกระเด็นไปไกลมาขึ้นเท่านั้น ดังนั้นที่บอกว่าเขาไม่แข็งแรงเห็นทีจะไม่ใช่ แล้วจะอธิบายอย่างไรเรื่องแรงบีบมือและแรงดึงขาที่ต่ำกว่าคนปกติ ต้องยอมรับว่าอุปกรณ์วัดนั้นไม่ผิด แต่สิ่งที่ผิดก็คือไปสรุปว่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแบบนั้นจะแปลผลมาเป็นความแข็งแรงของร่างกาย ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเขา แต่อยู่ที่เครื่องมือที่มีอยู่ไม่สามารถวัดความแข็งแรงของร่างกายเขาได้อย่างแท้จริง

เมื่อฝึกวิชามวยไทเก๊ก ผู้ฝึกจะถูกฝึกให้คลายกล้ามเนื้อที่เรียกว่า "ซง" การออกแรงใดๆ ก็ตามที่มาจากการเกร็งกล้ามเนื้อภายนอกจะถือเป็นเรื่องต้องห้าม ถ้าไม่ใช้แรงแล้วจะใช้อะไรขยับกล้ามเนื้อ ผู้อ่านอาจจะมีความสงสัย แต่วิชานี้มีคำตอบว่าต้องใช้ "จิต" ในการสั่งการให้เกิดความเคลื่อนไหว ผู้ฝึกใหม่ๆ จะไม่สามารถสัมผัสถึงความละเอียดอ่อนของการบูรณาการระหว่างกายกับจิต การเกร็งกล้ามเนื้อจึงยังมีอยู่ แต่สำหรับผู้ที่ฝึกไปจนถึงขั้นหนึ่งแล้วจะพบว่าการใช้แรงกล้ามเนื้อภายนอกที่คนทั่วไปใช้นั้นมันช่างเป็นเรื่องที่ "ไร้ความศิวิไลซ์" สิ้นดี ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงจะเหมือนกับการเปิดประตูโดยเอาเท้าถีบแทนที่จะบิดลูกบิดประตูแล้วเปิดเข้าไป อาจารย์ของผมเคยเปรยว่า

"พอฝึกมาถึงระดับหนึ่งแล้วเกิดความสงสัยว่า คนเรามันจะใช้แรงกันไปทำไม(วะ)"

เรื่องแบบนี้คนที่ยังไม่เคยได้สัมผัสก็จะมองว่ามันแปลก หรือมองเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่ความจริงเป็นเพราะรากฐานของการแพทย์แผนปัจจุบันของเราถูกวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่าครอบงำเอาไว้จนหมดสิ้น ซึ่งระบบเก่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แต่ให้ความสำคัญกับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด ซึ่งมองมนุษย์คล้ายกับเครื่องจักรกลที่จะต้องซ่อมหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่บกพร่องหรือใช้การไม่ได้ แพทย์จึงรักษาด้วยการจ้อง "จับผิด" ผู้ป่วย ซึ่งในบางครั้งก็ผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย อย่างในรายเพื่อนผมอีกคนหนึ่ง

เขาเป็นนักบริหารหนุ่ม อายุย่างสี่สิบ มีภาระต้องดูกิจการของทางครอบครัว ครั้งหนึ่งเขารู้สึกเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก จึงไปให้แพทย์ตรวจเช็ค แพทย์ก็สั่งทดสอบวัดค่าต่างๆ เมื่อได้ผลแล้วก็บอกกับเพื่อนผมว่าเขาเป็น "โรคหัวใจ" และอาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานถ้าหากไม่รีบผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสห้าสิบห้าสิบ เพื่อนผมได้ยินดังนั้นก็เข่าอ่อน กลับบ้านไปนอนไม่หลับ ร้องไห้สั่งเสียภรรยาเสียดิบดี หมดแรงใจจะทำอะไร กินอะไรก็ไม่ลง เกิดฉุกใจขึ้นมาได้ก็เลยไปหาหมออีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนละคนกับคนแรก หมออีกท่านตรวจแล้วบอกว่าไม่เห็นเป็นไร ไล่กลับบ้านให้ไปเตะบอล สรุปคือเขาแข็งแรงดี แต่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกมีอาการอักเสบ เขานึกอยู่สักพักก็ถึงบางอ้อว่าเป็นเพราะตัวเองชอบก้มหยิบแฟ้มเอกสารหนักๆ ที่อยู่บนพื้นด้วยมือข้างเดียว จึงน่าจะเป็นสาเหตุทำให้เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก พอรู้อย่างนั้นแล้วเขาโล่งใจเดินกลับบ้านตัวลอย กินข้าวกินปลาได้เหมือนเดิม นอนหลับสนิทอย่างมีความสุข ผมเลยบอกเพื่อนว่า "เอ็ง เป็นโรคหมอทำ!"

คำวินิฉัยของแพทย์ในระบบสุขภาพของเรามันเหมือนกับคำประกาศิตจากพระเจ้า เพราะมันเป็นระบบนิเวศน์สมมุติที่เฟื่องฟูขึ้นโดยการผลิตซ้ำความเชื่อและกรอบคิดชุดหนึ่ง โดยอิงอาศัยบุคลากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญผนวกกับอำนาจของความรู้ซึ่งกดทับความเป็นคนธรรมดาสามัญอย่างเราให้รู้สึกว่ากระจอกงอกง่อยและช่วยเหลือตนเองไม่ได้

รุ่นพี่อีกคนหนึ่งของผมเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนวดจับเส้น วิชานี้ตกทอดมาจากแพทย์แผนไทยโบราณที่ใกล้จะหายสาบสูญ ทุกวันนี้เขารับรักษาคนไข้เฉพาะที่สนิทกันจริงๆ เท่านั้น

"ถ้าหากไม่ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง จะมีใครเชื่อว่าวิชาแบบนี้มีจริง" เขาพูดพลางแกะเส้นให้ผมไปพลางโดยใช้ "นิ้ว" อย่างเดียวเท่านั้น แต่พลังที่ออกมาจากนิ้วเขาเหมือนกำลังใช้ศอก หรือแก่นไม้

"ในร่างกายของเรามีเส้นเอ็นอยู่เยอะแยะไปหมด แม้กระทั่งในเบ้าตาก็มี” แล้วเขาก็ลองแกะเส้นที่อยู่ในเบ้าตาด้านบนให้ผม มันปวดไม่ใช่เล่น แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันรู้สึกตาสว่างขึ้นมาทันที จากนั้นเขาลองไปแกะเส้นที่หัวให้ผม "ที่หัวเราก็มีเส้นหรือ" ผมถาม "มีสิ แต่เส้นตามตัวต้องหลุดออกมาในระดับหนึ่งก่อน จึงจะแกะเส้นที่หัวได้" เขาลงมีแกะเส้นที่หัวให้ผม ผมพบว่าอาการปวดตึ้บๆ ที่มีมานานจนคิดว่าเป็น "ปกติ" ของชีวิต ตอนนี้ได้อันตรธานหายไปหมด พบกับความโล่งเบาสบาย แม้แต่จะทำหน้าเครียดยังทำไม่ได้ พี่เขาก็รู้ว่าผมรู้สึกผ่อนคลาย อมยิ้ม เล็กน้อยแล้วบอกว่า

"ถ้าหากเส้นพวกนี้คลายตัวหมด อาการปวดหัว ไมเกรน อัมพฤกษ์อัมพาต เส้นโลหิตในสมองแตก ไอ้โรคบ้าบอคอแตก มันจะมาจากไหน ถ้าไปหาหมอเขาก็จ่ายยาให้กินอย่างเดียว เพราะหมอเขาไม่สนใจเรื่อง(ความรู้)พวกนี้"

พูดเรื่องยาขึ้นมา ทำให้ผมนึกถึงพี่สาวคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคที่หมอบอกว่าแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง เธอต้องทานยาสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิ ซึ่งส่งผลทำให้เธอบวมตามเนื้อตามตัว แต่ถ้าไม่ทาน เธอก็บอกว่าตาจะมองไม่เห็น โรงพยาบาลดังๆ ในกรุงเทพฯ เธอไปหามาหมด ผมถามว่าแล้วไม่ลองไปดูพวกแพทย์ทางเลือกดูบ้าง เธอก็แบ่งรับแบ่งสู้ ผมรู้ว่าเธอไม่เชื่อเรื่องแบบนี้ การเปลี่ยนแปลงมันช่างยากจริงๆ สำหรับคนที่ถูกกระบวนทัศน์เก่าครอบงำ

กระบวนทัศน์เก่าทางชีววิทยาเชื่อว่าความเจ็บป่วยของคนเราถูกกำหนดมาในยีน หลังจากการค้นพบ DNA เรายิ่งปักใจเชื่อว่ารหัสพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของสิ่งมีชีวิต ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีของเราก้าวหน้าจนกระทั่งสามารถหาจีโนมของมนุษย์ได้ทั้งหมด เราจึงได้ค้นพบความจริงอันน่าสนเท่ห์ว่า ยีนของสัตว์เดรฉานอันน่าสกปรกอย่าง “หนู” นั้นมีจำนวนพอๆ กันกับยีนของมนุษย์ ส่วนหนอนตัวกลมที่ชื่อว่า Caenorhabditis ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีจำนวนยีนถึง ๒๔,๐๐๐ ยีน น้อยกว่ามนุษย์ประมาณ ๑,๕๐๐ ยีนเท่านั้น

รู้อย่างนี้แล้วเรายังจะคิดว่ามนุษย์ถูกกำหนดด้วยรหัสพันธุกรรมอะไรนั่นอีกหรือ? ถ้าเชื่ออย่างนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีระดับสติปัญญาใกล้เคียงกับพยาธิ!

ดร. บรูซ ลิปตัน บอกกับเราว่า การแพทย์สมัยใหม่ยังคงถูกขังอยู่ในกระบวนทัศน์ของนิวตันฟิสิกส์ ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์กายภาพจะล่วงหน้าไปทางควอนตัมฟิสิกส์มานานแล้ว วิทยาศาสตร์สายชีววิทยากลับหยุดอยู่ที่การมองโลกแบบนิวตัน จึงมองโลกของเซลล์เป็นวัตถุธาตุเพียงอย่างเดียว ไม่เห็นพลวัตของความเชื่อมโยง การแลกเปลี่ยน และการสื่อสารกันด้วย “พลังงาน” ปัจจุบันพบหลักฐานมากมายที่ระบุว่าเซลล์ไม่ใช่เพียงแลกเปลี่ยนสารเคมีระหว่างกัน แต่ยังสื่อสารกันด้วยพลังงานซึ่งนำสัญญาณชีวะได้รวดเร็วกว่ากันมาก

“พลังงาน” ฟังดูคุ้นๆ เพราะศาสตร์การแพทย์แผนตะวันออกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจับเส้น กดจุด ฝังเข็ม ชี่กง หรือการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างไทเก๊ก หรือโยคะ ก็ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับพลังงานที่เรียกว่า “ชี่” หรือ “ปราณ” การแพทย์แผนโบราณนี้เข้าใจว่าเมื่อร่างกายของคนเราเจ็บป่วยนั้นก็แสดงว่ามีความไม่สมดุลเกิดขึ้นในร่างกายของเรา การแก้ไขจุดที่ขัดข้องจะทำให้ “พลังงาน” ไหลเวียนโดยสะดวก โรคภัยไข้เจ็บก็จะค่อยๆ ถูกรักษาไปเอง

แพทย์แผนตะวันออกยังให้ความสำคัญกับ “จิต” เพราะรู้มานานแล้วว่า จิตใจที่ป่วยย่อมนำมาสู่ความป่วยไข้ของร่างกาย มีกรณีจริงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ เมื่อแพทย์วินิจฉัยนายแซม ลอนดี ว่าเป็นมะเร็งชนิดที่วงการแพทย์ขณะนั้นเชื่อว่ารักษาไม่หาย อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเขาก็เสียชีวิต เมื่อชันสูตรศพแล้วน่าแปลกใจที่ไม่พบว่ามีเซลล์มะเร็งชนิดนั้นในตัวเขาเลย พบแต่เซลมะเร็งชนิดอื่นแต่ก็น้อยมากไม่เพียงพอที่จะฆ่าเขา แบบนี้คงสรุปได้ว่าแซมคงจะ “ขี้เกียจหายใจ” เพราะหมดกำลังใจจะมีชีวิตอยู่ต่อไป!

ลิปตันบอกว่า “ความคิด” นี่เองเป็นตัวร้ายที่ให้กระบวนการทางชีวเคมีของร่างกายชะงักงัน แต่ในทางกลับกันก็สามารถที่จะทำให้ร่างกายของเราเยียวยาตัวเองได้ ผมไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะเคยพบเจอหัวหน้าพยาบาลคนหนึ่งซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่ต่อมาภายหลังทุเลาลงจนแทบตรวจไม่พบ เธอไม่ได้ใช้ยาขนานไหน ใช้เพียงยารักษาใจ คือการกลับมาทำความรู้สึกตัว หรือการเจริญสติแบบพุทธศาสนา



ลำพังผมคงไม่อาจจะเปลี่ยนความเห็นของท่านได้ ทำได้แค่สะกิดให้ท่านย้อนกลับมาดูว่า มันเป็นไปได้หรือที่เราจะเหมารวมสุขภาพของมนุษย์โดยดูเพียงจากเส้นรอบเอว หรือแรงบีบมือ ฝากให้ท่านมาตรองดูว่าการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อมันไม่ใช่ทางออก มีผลการวิจัยทำที่สหรัฐอเมริกาในปี ๒๐๐๓ พบว่าอัตราการเสียชีวิตเพราะผลข้างเคียงของการใช้ยานั้นมาเป็นอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตจากการรักษาพยาบาล และถ้าหากวงการแพทย์ยังคงมองข้ามการักษาทางเลือก เช่น การฝังเข็ม การนวดจับเส้น การกดจุด ชีวจิต ฯลฯ ยังคงไม่ยอมรับการมีอยู่ของพลังงาน “ชี่” หรือ “ปราณ” และความสำคัญของ “จิต” ที่มีผลต่อเซลล์ในร่างกาย จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผมก็หวังว่าผู้อ่านของผมคงจะสามารถพาตัวเองออกจากกรอบคิดอันคับแคบแบบนั้น ไปสู่อิสรภาพของชีวิตที่มีความสุขทั้งกายและใจ และระลึกอยู่เสมอว่าท่านยังมี “ทางเลือก”

ยาลดไข้สังคมไทย


โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2555

วันนี้วันเสาร์ที่ ๖ ตุลาคม เป็นสังเวชนียวารอีกวันหนึ่งของคนชาติไทย เพราะเมื่อ ๓๖ ปีก่อนในวันนี้ได้มีการเข่นฆ่านักศึกษาอย่างเหี้ยมโหดที่ท้องสนามหลวงกลางพระนคร การฆ่าได้ก่อให้เกิดบาดแผลในจิตใจของสังคมอย่างยากที่จะเยียวยา และส่งวิบากกรรมต่อๆ มา ความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้าวลึกทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเป็นวิบากกรรมของการฆ่าเมื่อ ๖ ตุลาคม ความขัดแย้งทางการเมืองจะดำรงอยู่ต่อไป แต่ไม่ควรใช้การฆ่าเพื่อนมนุษย์หรือชักนำเพื่อนมนุษย์ไปสู่ความตาย เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะเป็นบาป และก่อความยุ่งยากตามมาอย่างสางไม่ออก เช่นทุกวันนี้

ควรยอมรับว่าความหลากหลายเป็นธรรมชาติธรรมดา ผู้คนมีรากฐานและมุมมองต่างกัน จะให้คิดเหมือนกันคงจะไม่ได้ ความแตกต่างไม่ควรเป็นเหตุให้ทำร้ายหรือเข่นฆ่ากัน คนที่คิดเชิงเผด็จการเท่านั้นที่อดทนต่อความแตกต่างไม่ได้ คนที่คิดเชิงประชาธิปไตยต้องมีปัญญาเห็นธรรม (ชาติ) ตามความเป็นจริง มีความอดทนอดกลั้น หรือขันติธรรม ในโอวาทปาฏิโกมข์ประโยคแรก พระพุทธองค์ตรัสว่า “ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา” หรือขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ขันติจะชนะทุกสิ่งทุกอย่าง

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ถ้ามีปรอทวัดความเกลียดชังกันในสังคม ปรอทคงจะพุ่งปรี๊ดเหมือนเป็นไข้สูง ความเกลียดพุ่งเป้าไปที่บุคคล องค์กร และสถาบันต่างๆ กัน และมีการใช้สื่อกระพือความเกลียดชังให้กว้างขวางออกไป ไข้แห่งความเกลียดชัง (hatred fever) จึงขึ้นสูง ไข้ชนิดนี้นำไปสู่ความรุนแรงและมิคสัญญีกลียุคได้

สังคมไทยจึงควรกินยาลดไข้

ยาลดไข้อย่างหนึ่งได้พูดไปแล้วคือขันติธรรม ยาที่เป็นข้าศึกต่อความโกรธความเกลียดคือความเมตตา ความโกรธกับความเมตตาจะอยู่ที่เดียวกันไม่ได้ ที่ใดมีความโกรธที่นั่นไม่มีความเมตตา ที่ใดมีความเมตตาที่นั่นไม่มีความโกรธ ในพระไตรปิฎกจึงมีเป็นอันมากที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้บุคคลแผ่เมตตาจิตออกไปทุกทิศทุกทาง ว่าเป็นหนทางที่ทำให้พบอิสรภาพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำไม่มีอิสระที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ในสังคมที่มีปัญหาซับซ้อนและยาก การไม่สามารถรู้ความจริงจะทำให้วิกฤตยิ่งขึ้นและในที่สุดเกิดมิคสัญญีกลียุค ก็ลองดูเอาเถิด สังคมที่เต็มไปด้วยความโกรธความเกลียดในปัจจุบัน แทบไม่มีพื้นที่ให้ความจริงเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย

ยาลดไข้ความโกรธความเกลียด ๒ ตัวแรกที่กล่าวไปคือขันติธรรม และเมตตาธรรม เปรียบเสมือนยารักษาตามอาการ ประดุจพาราเซตามอลที่มีฤทธิ์ลดไข้ แต่ไม่ได้รักษาสมุฏฐานของโรค ถ้าสมุฏฐานของโรคยังอยู่ ยารักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ อาจบรรเทาอาการได้ชั่วขณะ หรือไม่ได้เลย ขณะที่โรคอาจลุกลามมากขึ้น ยารักษาสมุฏฐานของโรคคือปัญญา

เบื้องต้น ปัญญาทำให้รู้เท่าทันว่าอะไรที่เกิดขึ้นก็เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นอย่างนั้น ที่เราโกรธเพราะเราอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น หรือให้เป็นอย่างอื่น แต่มันก็ไม่เป็นไปตามความอยากของเรา เพราะมีเหตุปัจจัยให้มันเป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเองเพราะมีเหตุปัจจัยให้มันเป็นเช่นนั้น แล้วเราจะไปโกรธมันทำไมที่มันเป็นเช่นนั้น การรู้เท่าทันความเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัย เป็นปัญญาที่ทำให้เราหลุดจากความไม่รู้หรืออวิชชา อวิชชาเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์

แล้วเหตุปัจจัยอะไรเล่าที่นำมาซึ่งความขัดแย้ง ความโกรธ ความเกลียดอย่างรุนแรงในสังคมไทย เหตุปัจจัยนั้นคือ การรวมศูนย์อำนาจ ในระบบใดๆ ถ้ามีการรวมศูนย์อำนาจจะเกิดความเครียดในระบบ ทำให้แตกหักได้ง่าย แต่ถ้าอำนาจกระจายไปทั่วถึง ระบบก็มีความสมดุล มีความเป็นปรกติและยั่งยืน

ประเทศไทยปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจ ผู้ที่ใช้อำนาจรวมศูนย์ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือทหาร หรือนักธุรกิจการเมือง จะเผชิญกับความขัดแย้งสูง การแย่งชิงอำนาจที่รวมศูนย์จะรุนแรง ทั้งโดยใช้พละกำลังและการใช้เงิน ทำให้การเมืองมีคุณภาพต่ำ คอร์รัปชั่นสูง ทำรัฐประหารง่าย หลุมดำแห่งการรวมศูนย์อำนาจทำให้เกิดวัฏฏจักรแห่งความด้อยคุณภาพและความรุนแรง ฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่หาใช่ศัตรูกันไม่ แต่ต่างตกเป็นเหยื่อของระบบรวมศูนย์อำนาจด้วยกัน ที่ทำให้ต้องมาโกรธมาเกลียดมารบราฆ่าฟันกัน เหมือนไก่อยู่ในเข่งที่รอถูกนำไปเชือด แต่ยังจิกตีกันจนเลือดตกยางออก เข่งคือระบบอำนาจที่กักขังไก่ทั้งหลายไว้ ศัตรูร่วมของทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกันคือระบบรวมศูนย์อำนาจ

จึงควรร่วมกันกระจายอำนาจไปสู่สังคมโดยทั่วถึง การกระจายอำนาจมีส่วนที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ส่วนนามธรรมเป็นส่วนลึก และเป็นฐานให้การกระทำที่เป็นรูปธรรม นั่นคือ หนึ่ง ต้องมีการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน ในสังคมไทยได้สร้างมายาคติไว้ให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนเล็กคนน้อยคนยากคนจนไร้ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ จะด้วยชาติกำเนิด หรือยศถาบรรดาศักดิ์ โภคทรัพย์ การศึกษา ก็ตาม เรื่องนี้ดูเหมือนยากแต่ไม่ยาก กุญแจอยู่ที่การเข้าใจความรู้ในตัวคน ความรู้มีสองชนิด คือความรู้ในตัวคน กับความรู้ในตำรา ในตัวคนทุกคนมีความรู้ที่ได้มา จากการทำงานและประสบการณ์ชีวิต เป็นความรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แม่จึงเป็นครูที่ดีที่สุดของลูก ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้รับการศึกษาตามระบบ ถ้าเราเคารพแต่ความรู้ในตำรา คนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีเกียรติ คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติ แต่ถ้าเคารพความรู้ในตัวคน คนทั้งหมดจะมีเกียรติ การเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินในเวลาอันรวดเร็ว คือระบบการศึกษา แทนที่จะศึกษาแต่ความรู้ในตำรา ให้ไปเรียนรู้จากชาวบ้าน ชาวบ้านจะมีเกียรติขึ้นทันที และนักเรียนเมื่อเรียนจากใครเขาก็จะเคารพผู้นั้นว่าเป็นครู เรามีนักเรียน นิสิต นักศึกษา หลายล้านคน สามารถทำข้อมูลชาวบ้านจากทุกหมู่บ้านว่าแต่ละคนมีความรู้อะไรในตัวบ้าง ประเทศจะเปลี่ยนเพราะทำอย่างนี้ การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นฐานของความดีงามต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ความเป็นธรรม

สอง กระจายอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเองให้ได้มากที่สุดในรูปของชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง การจัดการตนเองได้หมายถึงความเข้มแข็ง หมายถึงสมรรถนะ หมายถึงการมีอิทธิปัญญา หรือปัญญาที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ความสำเร็จในการพัฒนาอย่างบูรณาการ คือพัฒนา ๘ เรื่องอย่างเชื่อมโยงกัน อันได้แก่ “เศรษฐกิจ – จิตใจ – สังคม – วัฒนธรรม – สิ่งแวดล้อม – สุขภาพ – การศึกษา – ประชาธิปไตย” ชุมชนท้องถิ่นที่มีการพัฒนาอย่างบูรณาการกลายเป็นสังคมศานติสุข บางแห่งมีศานติสุขประดุจสวรรค์บนดิน

ประชาธิปไตยชุมชนเป็นประชาธิปไตยอัตถประโยชน์ และประชาธิปไตยสมาฉันท์ เพราะอำนาจกระจายไปถึงประชาชนทุกคน ทำให้สามารถรวมตัวร่วมคิดร่วมทำได้เต็มพื้นที่และในทุกเรื่อง



เรื่องการจัดการตนเองกำลังมีเสน่ห์ที่ดึงดูดใจของผู้คนเข้ามาร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งระดับชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง เครื่องมือสำคัญของการจัดการตนเองคือ “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ของทุกฝ่าย การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏบัติทำให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญที่ทำให้เกิดความสุขและความสำเร็จ

ในกระบวนการจัดการตนเองนี้ พลัง ๕ ประการหรือเบญจพละเข้ามาผนึกกัน คือ พลังทางสังคมหรือพลังความสามัคคี พลังทางปัญญา พลังทางการจัดการ พลังความถูกต้อง และพลังแห่งสันติวิธี จึงมีพลังมากเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ปรกติสุข และยั่งยืน

อาการไข้ขึ้นสูงของสังคมไทยนั้นรักษาได้ ไม่ใช่รักษาไม่ได้ มีทั้งยารักษาตามอาการคือยาลดไข้ และยารักษาตามสมุฏฐาน คือ การกระจายอำนาจที่รวมศูนย์ไปให้ประชาชนปกครองตนเอง เมื่อประชาชนสามารถจัดการตนเองได้ในพื้นที่ คือชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัด ประเทศจะเกิดการร่วมกันอย่างสมดุล ปรกติสุข ยั่งยืน สันติ เป็นทางแห่งสันติอันประเสริฐที่ท่านเรียกว่า สันติวรบท

การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 กันยายน 2555

หนังสือ The Dance of Change: The Challenges to Sustaining Momentum in Learning Organizations (1999) โดย ปีเตอร์ เซงเก (Peter Senge) และคณะ จับแก่นสารของกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กรได้อย่างน่าสนใจว่า

คำถามพื้นฐานแรกของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์กรคือ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ให้มีพลังอย่างยั่งยืนได้อย่างไร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจาก “การสั่งการ” นั้นเกิดผลรวดเร็ว มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในระยะแรก และหากก่อให้เกิดผลกำไรมากขึ้นด้วยแล้ว ก็จะยิ่งสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานได้เป็นอย่างดี และทำให้ทุกคนเห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ก่อผล พลังขับเคลื่อนนี้ก็อาจแผ่วลงหากขาดการผลักดันจากคำสั่ง เพราะมันพึ่งพิงแรงขับจากภายนอกมากกว่าแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง ระดับความสนใจและความกระตือรือร้นที่เคยมีเริ่มร่วงหล่น และหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่คอยผลักดันโครงการ ต้องเปลี่ยนหน้าที่และตำแหน่ง โครงการก็อาจชะงักลง

หากจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยการเอา “การเรียนรู้” นำหน้า ที่อาจเริ่มจากคนกลุ่ม เล็กๆ ที่มีความสนใจในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ร่วมกันคิด ออกแบบ ทดลอง ปรับปรุงพัฒนา ร่วมกันไป สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์หน้างานและชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรม และจากกลุ่มคนหนึ่งก็ค่อยๆ ขยายออกไปสู่ผู้คนที่สนใจ ให้คุณค่า และมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การสร้างความสุขในการทำงาน การสร้างสมดุลให้กับชีวิต เป็นต้น

โครงการที่สร้างกระแสความสนใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ดีและยั่งยืน มักจะมีองค์กรประกอบดังต่อไปนี้
  • เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายและพัฒนากระบวนการทำงานจริง
  • มีกลุ่มคนที่มีอำนาจในการกระทำการให้บรรลุผลได้จริงเกี่ยวข้อง
  • สร้างสมดุลระหว่างการทำงาน (Action) และการทบทวน (Reflection) โดยเปิดโอกาสให้กับการทดลองเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
  • สร้างโอกาสที่เป็นเหมือน “พื้นที่สีขาว” ให้ทีมงานในการคิด ใคร่ครวญ และทบทวน โดยไม่ต้องรู้สึกกดดันที่จะต้องตัดสินใจ
  • สามารถเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรและทีมงานรวมได้จริง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายการเปลี่ยนแปลงที่จำกัดการเรียนรู้และการเติบโตที่คนทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงจำต้องทะลวงผ่านไปให้ได้ ได้แก่

๑. ไม่มีเวลาพอ ยิ่งถ้ามีงานเยอะอยู่แล้ว จะยิ่งมีแนวโน้มมองว่าไม่มีเวลาสำหรับโครงการ พิเศษต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามา จึงต้องมีการบริหารจัดการเวลาให้เป็นระบบขึ้น และหลอมรวมโครงการพัฒนาต่างๆ มาด้วยกัน บางองค์กรเต็มไปด้วยโครงการนั่นโครงการนี่ มีคณะกรรมการหลายชุดหลายการประชุมที่ต้องเข้า แทนที่จะนำมาร่วมกันทำเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เหมือนกัน

๒. ขาดความช่วยเหลือ การขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นถูกมองว่า “ไม่มีความสามารถ” ทำให้ผู้ริเริ่มเรื่องใหม่ๆ หลายกรณีต้องทำอยู่ลำพังโดยขาดความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ ในองค์กรเดียวกัน ดังนั้นในเรื่องนี้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจำต้องลงทุนลงแรงในการขอ ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ นับตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่มีการระดมความคิดเห็น แบ่งปันปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นจริง องค์กรจำต้องสร้างศักยภาพของการโค้ชชิ่งให้เกิดขึ้นได้จริง โดยการรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญที่เคยผ่านประสบการณ์ตรงมาก่อน ผู้ที่สามารถรับฟังเป็น ตั้งคำถามได้และเอื้อเฟื้อความช่วยเหลือได้ ผู้นำต่างๆ จำต้องหาผู้ที่จะช่วยรับฟังและแบ่งเบาปัญหาที่เกิดขึ้นในใจ ต้องละวางความคิดที่ยึดอยู่ว่า “ผมแก่เกินว่าที่จะต้องมีครูคอย แนะนำแล้ว” การสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายพัฒนาองค์กร (OD) หรือฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) เท่านั้น แต่ต้องเกิดจากความช่วยเหลือและความร่วมมือของทุกฝ่าย

๓. การไม่เห็นความสำคัญ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่สามารถทำให้คนในองค์กรเห็น ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีพลัง ดังนั้นระดับจัดการสักคนควรจะช่วยทำให้ผู้คนเห็นว่า โครงดังกล่าวนี้จะทำให้สถานที่และบรรยากาศในการทำงานดีขึ้นอย่างไร รวมทั้งร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรร่วมกันตั้งแต่ต้น ควรเปิดโอกาสให้มีการตั้งคำถามเพื่อคลี่คลายความสงสัยหรือความสับสนเกี่ยวกับความสำคัญของโครงการได้อย่างเต็มที่ โดยเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ปลายทางที่องค์กรต้องการเห็น

๔. การเป็นตัวอย่างที่ดี การพูดอย่างทำอย่าง กัดกร่อนความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจได้อย่างง่ายดาย และยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเปิดเผย ผู้นำจะต้องรู้ว่าการสร้างความน่าเชื่อถือนั้นต้องกระทำผ่านการลงมือเห็น เป็นให้ดูมากกว่า การพูดจาแบบจับประเด็นได้ และพวกเขาจะต้องฝึกบ่มเพาะความอดทนอดกลั้นในการทำงานภายใต้แรงกดดัน โดยไม่ไประเบิดอารมณ์ใส่ลูกน้องแบบใช้อำนาจเหมือนอย่างที่ทำๆ มา ในทางกลับกันลูกน้องก็พัฒนาทักษะในการสื่อสารกับหัวหน้าได้อย่างเปิดเผย และช่วยเหลือให้หัวหน้าและทีมงานได้รับรู้ภาพรวมของปัญหาก่อนการแก้ไข

๕. ความกลัวและความวิตกกังวล เป็นความรู้สึกที่เป็นปกติธรรมดาที่มักเกิดขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากมีมากเกินไปอาจบั่นทอนและกีดขวางการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้คนอาจรู้สึกไม่มั่นใจถึงความสามารถในหน้าที่หรือบทบาทใหม่ของตัวเอง หรือจะสามารถสร้างความไว้วางใจหรือความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงานใหม่ได้หรือไม่

สิ่งที่จะช่วยได้คือ การจัดให้มีกิจกรรมสร้างสัมพันธภาพก่อนการเข้าสู่ภาวะท้าทายและตึงเครียด และเปิดรับฟังความรู้สึกของทีมงานเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ

๖. การวัดผลและประเมินผล วิธีการประเมินผลที่ใช้กันอยู่ทั่วไปอาจไม่สามารถนำมาวัดผล ความสำเร็จของโครงการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ดังนั้นต้องฝึกรอคอยผลของการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีความสุข ต้องชักชวนผู้บริหารและผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายร่วมกันออกแบบ และประเมินกระบวนการวัดผล และต้องยอมรับว่าผลการประเมินอาจไม่ได้น่าพึงพอใจเสมอ เพราะการสร้างสิ่งใหม่จำต้องอาศัยการเรียนรู้ผ่านความไม่สำเร็จ

๗. แบ่งพรรคแบ่งพวก ระหว่างพวกที่ทำการเปลี่ยนแปลงและพวกที่ไม่เอาด้วย ทีมงานที่ทำงานด้านนี้ควรฝึกเปิดใจรับคำติเตียน วิพากษ์วิจารณ์หรือฟีดแบคจากผู้ที่ได้รับผลกระทบและไม่เห็นด้วยจากการเปลี่ยนแปลง และพึงแยกแยะเพื่อให้มองเห็นประโยชน์จากการสื่อสารเชิงลบเหล่านี้ และเข้าไปรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ทีมงานจำต้องฝึกท้าทายสมมติฐานและความเชื่อของตัวเองและขยายการรับรู้ให้ทั่วถึงทุกฝ่ายในองค์กร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วย

๘. การบริหารจัดการ ทั้งทางนโยบายและโครงสร้าง ควรสนับสนุนให้การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอ ในการขยายผลให้ข้ามขอบเขตระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ข้ามสายงานให้มากขึ้นเรื่อยๆ ทีมงานพึงเคารพขอบเขตเหล่านี้และทำความเข้าใจกับผู้นำที่อยู่ในเขตแดนต่างๆ และขยายผลลัพธ์ให้ตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กรไปด้วย

๙. การแพร่กระจาย ในการเปลี่ยนแปลงจะต้องพบเจอสิ่งกีดขวางการเปลี่ยนแปลง ทีมงานจะต้องศึกษาเครือข่ายทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร ทั้งแบบที่เป็นและไม่เป็นทางการ เพื่อหาช่องทางการสื่อสารและขยายผลให้แผ่กว้างออกไปสู่ส่วนต่างๆ ขององค์กรผ่านกลุ่มคนที่มีทักษะและได้รับการยอมรับในพื้นที่ของตัวเอง

๑๐. ยุทธศาสตร์และเป้าหมาย ประสบการณ์และบทเรียนที่ทีมงานได้รับรู้จะเป็นประโยชน์ สำหรับองค์กรให้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และเป้าหมายขององค์กร เพื่อสร้างตัวเองไปในทางทิศทางที่สอดรับกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เป็นจริง

รู้เท่าทันภาพตัวตน


โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 กันยายน 2555

เป็นคนเก่ง หรือ คนขยัน อย่างใดจะดีกว่ากัน

แครอล ดเว็ค แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีคำตอบ เขาได้ทำการทดลองกับนักเรียนนับร้อย ส่วนใหญ่เพิ่งย่างเข้าวัยรุ่น ทุกคนได้ทำแบบทดสอบที่ค่อนข้างยาก จากนั้นบางคนก็ได้รับคำชมที่เน้นเรื่องความสามารถ เช่น “คุณเก่งมาก” แต่บางคนได้รับคำชมที่เน้นเรื่องความพยายาม เช่น “คุณพยายามมากเลย”

เขาพบว่านักเรียนที่ได้รับคำชมว่าเก่ง มีความสามารถ มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงทำสิ่งยากๆ ที่ไม่เคยทำ ทั้งๆ ที่เขาสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากสิ่งนั้น เหตุผลก็คือเขากลัวว่าจะทำได้ไม่ดี ซึ่งทำให้คนอื่นเห็นจุดอ่อนของตน และสงสัยในความสามารถของตัว

ในทางตรงข้ามร้อยละ ๙๐ ของเด็กที่ได้รับคำชมว่าขยัน สู้งาน กลับกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งยากๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขาไม่กลัวความล้มเหลว ถึงแม้ผลจะออกมาเป็นลบ ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกแย่หรือรู้สึกลบกับตนเอง เพราะเขาได้ทำเต็มที่แล้ว

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สำหรับคนที่ได้รับคำชมว่าขยัน ผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่กระทบกับสำนึกในตัวตนของเขา ต่างจากคนที่ได้รับคำชมว่าเก่ง เขาจะสร้างภาพตัวตนว่าเป็นคนเก่ง ดังนั้นหากประสบความล้มเหลว มันไม่เพียงส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเขาในสายตาของคนอื่นเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับตัวตนที่เป็นคนเก่งของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจทำให้ภาพตัวตนดังกล่าวคลอนแคลน จนเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่เก่ง ซึ่งนั่นย่อมสร้างความทุกข์ใจแก่เขาอย่างมาก ดังนั้นเขาจึงมักเลี่ยงทำงานที่ยากหรือเสี่ยงต่อความล้มเหลว และพอใจที่จะทำงานที่ถนัดหรือมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า

การทดลองดังกล่าวให้ข้อคิดที่ดี ไม่เฉพาะกับเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้ใหญ่ด้วย ไม่ใช่ในแง่ที่ว่า ควรชมลูกหลานของตนอย่างไรเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าในแง่ที่ว่า เราควรจะเลือกสร้างสำนึกเกี่ยวกับตัวตนอย่างไร รวมทั้งตระหนักถึงจุดอ่อนจุดแข็งของภาพตัวตนแต่ละอย่างที่ตนสร้างขึ้นมาหรือเลือกรับเอามาด้วย

อันที่จริง ความเป็นคนเก่ง กับความเป็นคนสู้งาน นั้นไม่จำเป็นต้องแยกกัน คนๆ หนึ่งสามารถมีภาพตัวตนทั้งสองอย่างควบคู่กันได้ แต่สำนึกดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้อันใด หรือมีอะไรมากระตุ้นให้สำนึกอันใดผุดขึ้นมาในจิตใจของเรา จะว่าไปแล้วนอกจากความเป็นคนเก่ง หรือความเป็นคนสู้งานแล้ว ยังมีภาพตัวตนอีกมากมายที่ก่อตัวขึ้นในใจของเรา เช่น ความเป็นหญิง เป็นชาย เป็นไทย เป็นพุทธ เป็นพ่อแม่ เป็นคนสุภาพ เป็นคนหัวก้าวหน้า ฯลฯ ภาพตัวตนแต่ละอย่างที่ผุดขึ้นมานั้นสามารถส่งผลให้เกิดพฤติกรรม หรือความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันได้ รวมทั้งความสามารถที่แสดงออกมาด้วย

มาร์กาเร็ต ชิน และคณะ ได้เคยทำการทดลองกับผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยขอให้ทำแบบทดสอบด้านคณิตศาสตร์ แต่ก่อนหน้านั้นมีการแบ่งผู้หญิงดังกล่าวออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศของเธอ (เช่น ถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับหอพักรวม) เพื่อปูทางให้พวกเธอตระหนักถึงเพศของตน ส่วนกลุ่มที่สองนั้นถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเชื้อชาติ (เช่น ภาษาที่เธอใช้ในบ้าน รวมถึงประวัติครอบครัวของพวกเธอ) เพื่อปูทางให้พวกเธอตระหนักถึงเชื้อชาติของตน

เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จ ผลปรากฏว่า ผู้หญิงที่ถูกเตือนใจว่าตนเป็นผู้หญิงนั้นทำผลงานได้แย่กว่าผู้หญิงที่ถูกเตือนใจว่าตนเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำอธิบายก็คือ เมื่อพวกเธอถูกกระตุ้นให้เกิดสำนึกว่าเป็นผู้หญิง ก็จะนึกไปถึงทัศนคติที่ผู้คนทั่วไปมีต่อผู้หญิงว่า เรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่ง ผลก็คือไม่มีความมั่นใจในการทำแบบทดสอบนั้น ส่วนอีกกลุ่มนั้นเมื่อถูกปูทางให้เกิดสำนึกว่าเป็นอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ก็จะรู้สึกมั่นใจในการทำแบบทดสอบนั้น เพราะคนทั่วไปมองว่าคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียเก่งคณิตศาสตร์



การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าความคาดหวังหรือสายตาที่ผู้อื่นมองเรานั้น มีผลต่อพฤติกรรมของเราด้วย แต่จะมีผลในทางบวกหรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาพตัวตนอันใดที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาในจิตสำนึกของเรา ภาพตัวตนเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักส่งผลต่อพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว ทั้งความรู้สึกนึกคิด ความคาดหวัง และการแสดงออก

เมื่ออยู่กับลูก ภาพตัวตนว่าเป็นพ่อแม่ก็เกิดขึ้น แต่เมื่อไปทำงานเจอเจ้านาย ภาพตัวตนว่าเป็น ลูกน้องก็มาแทนที่ แต่ถ้าเจอลูกน้อง ภาพตัวตนว่าเป็นเจ้านายก็ผุดขึ้น ในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละบริบทนั้น เราจะแสดงอาการต่างกัน เช่น ตอนที่มีสำนึกว่าเป็นเจ้านาย ก็วางตัวขึงขัง พูดเสียงห้วน แต่พอเกิดสำนึกว่าเป็นลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ก็มีทีท่าอ่อนน้อม พูดจาสุภาพ มีน้ำเสียงนุ่มนวล ครั้นกลับถึงบ้าน ก็ใช้อำนาจกับลูก สั่งให้ลูกหยุดเล่นวีดีโอเกม และรีบทำการบ้านทันที

การเกิดภาพตัวตนหรือมีสำนึกว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ พุทธศาสนาเรียกว่า “ชาติ” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเกิดจากท้องแม่เท่านั้น แต่รวมถึงการเกิดทางใจด้วย คือ เกิด “ตัวกู” ขึ้นมา ซึ่งมักนำไปสู่ความทุกข์ในที่สุด เพราะตัวกูแต่ละอย่างนั้นจะมีกิเลสและความยึดติดถือมั่นบางอย่างพ่วงติดมาด้วยเสมอ เริ่มตั้งแต่กิเลสที่อยากให้ตัวกูคงอยู่ยั่งยืน (หรือดับไปหากเป็นตัวกูที่ไม่ปรารถนา) กิเลสที่อยากให้ผู้อื่นสนองปรนเปรอตัวกูให้เติบใหญ่มั่นคง (ดังนั้นจึงทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นเก่งกว่าตน รวยกว่าตน หรือมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมมากกว่าตน) รวมทั้งกิเลสที่อยากให้ใครก็ตามที่ขัดขวางการเติบใหญ่ของตัวกูนี้มีอันเป็นไป

เมื่อเกิดสำนึกในความเป็นแม่ หญิงสาวย่อมมีความสุขที่เห็นลูกเจริญเติบโตและมีความสุข แต่จะเป็นทุกข์ทันทีหากลูกไม่เชื่อฟังแม่หรือพูดจาไม่สุภาพกับแม่ เพราะแม่ย่อมคาดหวังความเคารพของลูก แม่ผู้หนึ่งตำหนิลูกที่เอาแต่เล่นวีดีโอเกมจนไม่สนใจทำการบ้าน แถมยังนอนดึก ไปโรงเรียนสายเป็นประจำ พอแม่ว่าลูกมากๆ ลูกก็โกรธ ไม่ยอมคุยกับแม่ แม่พยายามพูดคุยกับลูก แต่ลูกก็ไม่สนใจ เอาแต่เล่นวีดีโอเกม สุดท้ายแม่ยื่นคำขาดว่า ถ้าลูกไม่หันมาคุยกับแม่ แม่จะฆ่าตัวตาย แต่ลูกก็ยังทำหูทวนลม แม่ทนไม่ได้อีกต่อไป จึงปราดไปที่ระเบียงแล้วโดดลงมาจากตึกสูง ร่างกระแทกพื้นตายคาที่

เมื่อเกิดสำนึกหรือภาพตัวตนว่าเป็นแม่ ก็ย่อมมีกิเลสหรือความยึดติดถือมั่นอย่างแม่ คือต้องการให้ลูกเคารพเชื่อฟัง เมื่อลูกไม่เคารพเชื่อฟัง ก็เป็นทุกข์ ตัวกูถูกบีบคั้นอย่างแรง จึงต้องการตอบโต้เพื่อเอาชนะ หากใช้วิธีอื่นไม่ได้ผล ก็อาจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งหาได้เป็นประโยชน์แก่ใครเลยไม่

มีสำนึกว่าเป็นอะไร ก็มีทุกข์ทั้งนั้น การพ้นทุกข์ในพุทธศาสนาก็คือการไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรเลย มีก็แต่รับรู้สมมติว่าเป็นอะไรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อพราหมณ์ผู้หนึ่งถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านเป็นเทวดาหรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ถามว่าเป็นคนธรรพ์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ถามว่าเป็นยักษ์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ครั้นถามว่า ท่านเป็นมนุษย์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธเช่นกัน สุดท้ายพราหมณ์ถามว่า ท่านเป็นอะไรเล่า พระองค์ตรัสตอบว่า อาสวะหรือกิเลสที่ทำให้เป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ พระองค์ละได้หมดสิ้นแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้พราหมณ์สับสน จึงตรัสว่า “ท่านจงถือว่าเราเป็นพุทธะเถิด”

ปุถุชนอย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องมีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ แต่อย่างน้อยมีบางสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ รู้เท่าทันภาพตัวตนที่สร้างขึ้นในใจ ว่ามีจุดอ่อนตรงไหน มีความอยากหรือหรือความยึดมั่นในเรื่องอะไรที่จะทำให้เป็นทุกข์ได้ เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็ไม่ปล่อยให้ความอยากความยึดมั่นนั้นครอบงำใจ จนบีบคั้นผลักไสให้เราเป็นทุกข์เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจ ขณะเดียวกันก็รู้จักเลือกใช้ภาพตัวตนให้เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมชักนำให้เราทำความดี มีความเพียร ขัดเกลาตนเอง เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว รวมทั้งบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้สำนึกในตัวตนเพื่อละความยึดมั่นในตัวตน เช่นเดียวกับที่พระสาวกหลายท่านใช้ตัณหาละตัณหาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์

Back to Top