น้ำลายดิจิตอล



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2555

มีโอกาสได้สนทนากับเพื่อนสมัยเรียน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่สมัยผมไม่เคยมี นั่นคือการสนทนาผ่านการแชตด้วยมือถือสมาร์ตโฟน ผมพบว่าเพื่อนสมัยมัธยมไม่สนใจที่จะสนทนาอะไรมากนักนอกจากอำกันไปมาเรื่องหนีเมียไปเที่ยวซุกซน แต่ส่วนใหญ่ดีแต่พูดเพราะเป็นแฟมิลีแมนกันทั้งนั้น ผู้ชายรุ่นหลักสี่แบบผม หรือบางทีก็แซวกันด้วยคำแรงๆ แบบเจ็บแสบ อาจจะด้วยเพราะในหน้าที่การงานไม่สามารถพูดจา ด้วยภาษาสมัยพ่อขุนรามแบบนี้กับใครได้ จึงออกมาแซวกันเล่น เปื้อนกระเซ็นกันด้วยน้ำลายดิจิตอล

เทคโนโลยีทำให้เราใกล้ชิดกัน!

เพื่อนบางกลุ่มสนทนากันอย่างผิวเผินเหลือเกิน บ้างคุยเรื่องหุ้น บ้างชวนทำบุญสร้างองค์พระ บ้างก็แค่ใช้ช่องทางนี้ในการนัดหมาย แต่ไม่สนทนาลึกลงไปจนแตะความเชื่อความเห็นของแต่ละคน หลายคนบอกว่าการสนทนาด้วยช่องทางแชตที่มีแต่ตัวอักษรนั้น ไม่อาจจะสื่อถึงความรู้สึกได้เหมือนการคุยเห็นหน้ากัน นักจิตวิวัฒน์ไม่ควรจะเชื่อคำที่บอกต่อกันมาแบบนั้น ผมจึงทำการทดลองเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปีเห็นจะได้ คือการตั้งวงสนทนาเรื่องจิตวิวัฒน์เป็นกลุ่มผ่านช่องทางการแชตผ่านมือถือสมาร์ตโฟน

ผมพบความจริงว่าเราอาจจะใช้ช่องทางนี้คุยกันเรื่องจิตวิวัฒน์ได้ และอาจจะดีกว่าการพบเจอพูดคุยต่อหน้าเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุที่บางคนสบายใจที่จะพูดคุยเรื่องเหล่านี้แบบไม่เห็นหน้าค่าตา เพราะเมื่อคุยต่อหน้าไม่กล้าที่จะคุยลงลึก หรือทักษะและความคุ้นชินของการวางตัวต่อหน้าผู้คนเข้ามาแปรเปลี่ยนเจตนาในการสนทนาไป เช่น บางคนพูดเก่งเวลาอยู่ต่อหน้าผู้คน บางคนพอใจที่จะฟังเฉยๆ ไม่ออกความคิดเห็นใดๆ นี่คือตัวบทที่เราแต่ละคนเรียนรู้จากสังคมมาตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล เวลาผ่านไปนานเข้าเรายึดตัวบทนั้นไว้เป็นอุปนิสัย แต่การแชตผ่านมือถือเป็นกลุ่มได้สร้างระเบียบใหม่ เซาะกร่อนบทบาทเก่า ปรับทุกคนให้เท่าเทียมกันด้วยจำนวนพยัญชนะ ๔๔ ตัวที่ทุกคนมีเท่ากัน จำกัดไว้อยู่เพียงเชาวน์ปัญญาที่จะเปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นตัวอักษรเท่านั้น

ศาสนาพุทธพูดถึงเรื่องอสภาวรูปสองอย่างคือ กายวิญญัติ และวจีวิญญัติ ซึ่งหมายถึงเป็นอาการพิเศษซึ่งเกิดและแสดงออกทางกายและวาจา ถ้าทั่วไปเราอาจจะโมเมเรียกว่า “ภาษากาย” ไปก่อน ที่ผมพูดนี้เพื่อจะแสดงว่าช่องทางการแชตนั้น กายวิญญัติและวจีวิญญัติไม่สามารถจะสื่อและรับกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่ถึงไม่สมบูรณ์ผมก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราสังเกตดีๆ เราก็อาจจะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคู่สนทนาได้มากบ้างน้อยบ้าง เพราะการโต้ตอบกันด้วยภาษาแชต ไม่ใช่มีเพียงแค่ตัวอักษร แต่ยังมีการเว้นจังหวะ การรอคอยให้คู่สนทนาพูดจบในขบวนความคิด การแทรกคั่นจังหวะ การใช้สัญลักษณ์แทนความรู้สึก การเลือกชุดภาษา (ทีเล่นทีจริง หรือเป็นทางการ) การลาออกจากกลุ่ม การโดนแบน การขอเข้ากลุ่มใหม่ การไปเปิดกลุ่มใหม่ลับหลัง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ยังไม่ทิ้งสันดานของความเป็นมนุษย์ให้เราเรียนรู้ได้

กลุ่มสนทนาที่พูดคุยกันเพียงผิวเผิน ผมได้เรียนรู้ว่าบางทีด้วยถ้อยคำบางคำที่สอดใส่เข้าไปราวกับเป็น “ตัวกวนทางควอนตัม” (Strange Attractors) ได้ก่อเกิดปฏิกิริยาสร้างระเบียบใหม่บนความไร้ระเบียบของการสนทนา และผมพบว่ายิ่งผมใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย กักขฬะ กระด้างหู แปลกประหลาด เกินความคาดหมายมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดการจัดระเบียบใหม่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าแบบแผนการสนทนาเดิมๆ ซึ่งย่ำอยู่กับที่และตกร่องของความคุ้นชิน และถ้าผมหยุดสนทนาเมื่อใด พวกเขาก็จะ “หมดเรื่องคุย” หรือดำเนินไปในร่องเดิมๆ ต่อไป

มันเป็นเรื่องแปลกที่พวกเขาต้องการตัวร้าย!

ในสังคมหนูปั่นจักรของพวกเรา พวกเราแยกย้ายกันอยู่ตามกลุ่มและลำดับชั้นทางสังคมกันมากจนเกินไป พวกเราถูกทำให้เหมือนๆ กันไปหมด มีความปรารถนาเหมือนกัน ถูกกรอกหูด้วยข้อมูลชุดเดียวกัน โกรธแค้นและร้องไห้ในเรื่องเดียวกัน การสนทนาจึงเป็นไปอย่างจืดชืดเมื่อมาอยู่รวมกัน คนชั้นกลางรุ่นผมจะคุยกันเรื่องอะไรนอกจากเรื่องหุ้น เรื่องลูก เรื่องกอล์ฟ เรื่องการเมือง เรื่องความอยุติธรรมในสังคมไทยที่ต่างก็ทำอะไรไม่ได้ (แต่สนุกดีที่ได้บ่น) เรื่องคลิปโฆษณา มิวสิควีดีโอ สัพเพเหระ ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวทั้งหมดทั้งสิ้น

แต่ไม่ใคร่จะสนใจคุยเรื่องตัวเอง

คำว่าจิตตปัญญามาจากรากภาษาอังกฤษว่า Contemplation มีผู้รู้แปลว่า “ใคร่ครวญ” ซึ่งสำหรับผมหมายถึงความสามารถในการทบทวนตนเอง แต่ไม่ใช่ทบทวนความผิดจนเคร่งเครียดเกินไป อย่างน้อยรู้ตนอยู่เนืองๆ ว่ากำลังทำอะไร ทำอะไรไปแล้วบ้าง และมันก่อให้เกิดผลอย่างไรให้กับตนเองและผู้อื่น เบียดเบียนตนเองไหม เบียดเบียนผู้อื่นไหม ผมว่าแค่นั้นแหละจิตตปัญญาแล้ว

การใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา และบางครั้งดูเหมือนเป็น “ข้อห้าม”​ (taboo) ที่สังคมไม่พูดกัน แต่แฝงด้วยเจตนาดี ดูเหมือนจะสามารถทำลายกำแพงของการวางฟอร์มของผู้คนลง และเกิดการจัดระเบียบใหม่อย่างที่บอกมาแล้ว มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางคนจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างรุนแรง บ้างหันไปเล่นบทนักบุญใจพระผู้เมตตาปลอบโยนแต่ไม่รู้จะเลือกข้างไหนดี บางคนเลือกที่จะหลีบหนีออกจากความขัดแย้ง โดยสรุปแล้วผู้คนมักจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเมื่อได้พบกับถ้อยคำบางคำที่ตรงข้ามกับความเชื่อลึกๆ ในใจของเขา อาจจะเกิดความไม่พอใจ และแสดงออกโดยการโต้เถียง หรือยกเหตุผลมาลบล้าง ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นไม่ต่างอะไรกับการสนทนาแบบเห็นหน้า การประคับประคองให้ผ่านความขุ่นข้องหมองใจในช่วงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ จากประสบการณ์ มีบางกลุ่มที่สามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ และการสนทนาก็ลึกลงไปแตะตัวตนของเขาและเปิดโอกาสให้เกิดการทบทวนตนเองตาม “อัธยาศัย” แต่บางกลุ่มก็ไปต่อไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราคงจะทำให้ทุกคนหันมาคุยเรื่องที่ละเอียดและกระทบตัวตนของเขาไม่ได้ ถ้าหากเขาไม่ประสงค์จะทำเช่นนั้น

ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาบางส่วน (จริงบ้าง สมมุติขึ้นบ้าง) ที่ผมจะหยิบยกมาแบ่งปัน (นิสัยคนออนไลน์ต้องแบ่งปัน)

เพื่อน : “ความดีไม่มี บุญบาปเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น”

ผม : “แล้วเอ็งจะสอนลูกยังไงเวลาให้ไหว้ในหลวง ในเมื่อไม่เชื่อเรื่องคุณความดี?”

เพื่อน : (ไม่ตอบแต่ส่งอันนี้มาให้ผม) “☺”

2 Comments

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณที่่ให้อ่าน

Unknown กล่าวว่า...

บางคำพูดก็อาจจะใช้คำที่รุนแรงไป เพราะเราไม่ได้ยินน้ำเสียงในการพูด อาจทำให้คนที่ได้รับข้อความเสียความรู้สึก เพราะฉะนั้นเราควรกลั่นกรองคำพูดก่อนที่จะ กดส่งข้อความนะคะ http://www.naddate.com/

Back to Top