ความเป็นพลเมืองของนักเรียนอนุบาล



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2555

จำนวนผู้ป่วยจิตเวชเด็กทวีจำนวนสูงขึ้นในทุกโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง


เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาการเรียนถูกนำตัวส่งแผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นของโรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทำงานอยู่โดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงง่ายๆ

หากเราปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยไป เชื่อได้ว่าเราน่าจะมีเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมรอคิวตรวจเป็นเรือนแสนในเวลาไม่นาน

ณ ปัจจุบัน คิวรอพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นของโรงพยาบาลต่างๆ อยู่ที่ ๒ ถึง ๑๒ เดือน แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละโรงพยาบาล


สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้คือผลลัพธ์ของการทำงานตามกระบวนทัศน์เดิม นั่นคือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาการเรียนเป็นผู้ป่วย เมื่อเป็นผู้ป่วยก็ต้องถูกส่งโรงพยาบาล เมื่อถูกส่งโรงพยาบาลก็ต้องเข้าสู่สายพานการตรวจรักษาของโรงพยาบาล (ซึ่งลอกแบบจากสายพานการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม)

การแพทย์แผนปัจจุบันสามารถช่วยเหลือเด็กได้ด้วยความช่วยเหลือหนึ่งต่อหนึ่งเป็นขั้นเป็นตอน เด็กที่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงทีย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดี (เพราะมาตรฐานที่ดีของการแพทย์แผนปัจจุบันนั่นเอง) แต่เด็กที่ตกค้างรวมทั้งเด็กที่ไม่ควรถูกนำส่งโรงพยาบาลตั้งแต่แรก มักมีอนาคตที่เสียหาย หากไม่ถูกออกจากโรงเรียนกลางคันก็ลงเอยด้วยยาเสพติด

กระบวนทัศน์ใหม่ควรเป็นอย่างไร

หากใช้กรอบการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มีวิชาที่นักเรียนควรได้เรียนเพียง ๗ วิชา อ้างอิงจากหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่๒๑ ซึ่ง วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป จิตตฤกษ์ แปลจากหนังสือ 21st Century Skills: Rethinking How Students Learn และหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

สามวิชาแรกคือวิชาพื้นฐาน ได้แก่ คณิตศาสตร์ การอ่าน และการเขียน


อีกสี่วิชาถัดมาคือวิชาที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษใหม่คือ สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง เด็กและเยาวชนควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเงินของตนเองด้วยตนเองให้ดีที่สุด รู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพและการเงินที่มีหลากหลายทั้งจริงและลวง พูดง่ายๆ ว่าเอาแต่เรียนเก่งแต่ไม่มีปัญญาดูแลสุขภาพและการเงินของตัวเอง มัวแต่คิดพึ่งพิงผู้อื่นอยู่เสมอก็จะเอาตัวรอดยาก


นอกจากนี้ควรรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ซึ่งทรัพยากรลดลงและโลกร้อนมากขึ้นทุกขณะ เราควรมีชีวิตอย่างไรและอยู่กับหายนะภัยอย่างไร

ที่คนพูดถึงน้อยคือเรื่องความเป็นพลเมือง (citizen) เวลาพูดถึงความเป็นพลเมืองมักหมายถึงการอยู่ร่วมกับความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง หรือศาสนา หรือชาติพันธุ์ที่แตกต่าง ด้วยเหตุที่โลกไร้พรมแดนทำให้ชาติพันธุ์และความเห็นต่างมากมายปรากฏตัวขึ้นในทุกภูมิภาคและชายแดนของทุกประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากเรียนเก่งแต่พูดจาหมิ่นชาติพันธุ์อื่นหรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างก็น่าจะเอาชีวิตรอดได้ยาก

สำหรับเด็กเล็ก ตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงชั้นประถม ความเป็นพลเมืองคืออะไร

เด็กเล็กไม่มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์และความเห็นต่างทางการเมือง แต่เด็กเล็กเผชิญกับปัญหาพฤติกรรมที่แตกต่างและผลการเรียนที่แตกต่างเสมอๆ เมื่อครูไม่เข้าใจข้อนี้ แล้วนำเด็กเล็กที่แตกต่างส่งโรงพยาบาลกันหมดทุกห้องเรียนทุกโรงเรียน สถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชเด็กจึงเป็นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

เด็กเล็กที่ถูกตีตราและส่งพบจิตแพทย์ ได้แก่ กลุ่มเด็กพิเศษทั้งหมด คือ เด็กสติปัญญาบกพร่อง เด็กแอลดี เด็กสมาธิสั้น เด็กแอสเปอร์เกอร์ เด็กออทิสติก นอกจากนี้ก็มีเด็กที่ชอบรังแกเพื่อน ที่เหลือก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปัสสาวะราด ขโมยของ ไม่ทำการบ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ถูกนำส่งโรงพยาบาลแทบทั้งสิ้น

มิพักต้องพูดถึงเรื่องที่ว่า เด็กที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเป็นอย่างที่ว่าจริงหรือเปล่า หรือถูกตีตราล่วงหน้าโดยไม่เป็นธรรม


กระบวนทัศน์ใหม่ของเรื่องนี้คือเรื่องความแตกต่างและการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง หากเราไม่คิดว่าเด็กเล็กเหล่านี้ป่วยหรือเป็นผู้ป่วย พวกเขาเพียงเป็นเด็กที่แตกต่าง วิธีทำงานของครูและของคุณหมอควรต่างออกไป

เด็กพิเศษเป็นเพียงกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการและการเรียนรู้แบบพิเศษในวิถีของตนเอง เขาไม่เรียนตามลำดับขั้นเหมือนเด็กส่วนใหญ่ (ซึ่งมิได้หมายความว่าใครปกติกว่ากัน)

เด็กชอบรังแกเพื่อนเป็นเพียงเด็กที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทักษะสังคม (ซึ่งครูมักถูกผู้ปกครองของเด็กๆ ที่ถูกรังแกกดดันให้นำส่งโรงพยาบาล)

เด็กปัสสาวะราด ไม่ทำการบ้าน หรือขโมยของ (ซึ่งไม่ควรใช้คำนี้เพราะเด็กอาจจะมิได้ขโมย พวกเขาเพียง “หยิบของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนกลับบ้าน”) เหล่านี้เป็นเพียงเด็กที่มีปัญหากับการปรับตัว

ทั้งหมดนี้คือความแตกต่างซึ่งเป็นเรื่อง “ปกติ” การศึกษาและครูควรจัดการกับเรื่อง “ปกติ” นี้อย่างไร แทนที่จะทำให้เป็นเรื่อง “อปกติ” ด้วยการพานักเรียนไปโรงพยาบาล แล้วทางโรงพยาบาลก็รับลูกต่ออีกต่างหาก


วิธีที่ทำได้คือเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนอย่างถอนรากถอนโคน จัดการศึกษาเสียใหม่ให้นักเรียนชั้นเด็กเล็กได้เรียนรู้เป็นกลุ่มด้วยกระบวนการที่เรียกว่า active learning นั่นคือครูเลิกสอนแต่จ่ายโจทย์ปัญหาให้นักเรียนได้ทำงานเป็นทีม โดยมีเงื่อนไขว่าสมาชิกของทีมมีเด็กๆ ที่แตกต่างหลากหลาย

ระหว่างการทำงานเป็นทีมโดยมีครูคอยโค้ช จะเปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้จักเพื่อนในทีมที่แตกต่างและพัฒนาไปด้วยกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าความแตกต่างนั้นจะเป็นศาสนา ชาติพันธุ์ ความร่ำรวยหรือยากจน เก่งหรือไม่เก่ง ขยันหรือขี้เกียจ ขี้อายหรือขี้ประจบ นิสัยดีหรือไม่ดี อยู่นิ่งหรือไม่นิ่ง เรียนรู้ช้าหรือเรียนรู้เร็ว พิการหรือไม่พิการ นำมาอยู่ในทีมเดียวกันเสีย

นี่คือการผนวกชีวิตจริงของเด็กๆ เข้าสู่การศึกษาในศตวรรษใหม่

มีรายละเอียดของวิธีการที่ต้องพูดคุยกันมาก แต่ขั้นแรกคือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่เสียก่อน นั่นคือเด็กเล็กก็มีอะไรที่เรียกว่าความแตกต่าง มีอะไรที่เรียกว่าความเป็นพลเมือง และมีอะไรที่เรียกว่าการอยู่ร่วมกับความแตกต่างเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

เรื่องพฤติกรรมเด็กนี้เกินความสามารถของโรงพยาบาล เป็นหน้าที่ที่ต้องทำร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและโรงเรียน

Back to Top