กรกฎาคม 2006

ความอัตโนมัติของสมอง
ญาณทัศนะหรือพัฒนาการถดถอย

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2549

เรื่องราวความเข้าใจในการทำงานของสมอง อาจจะทำให้ง่ายขึ้นพอที่เราจะสามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกและความคิดของเราเองได้ ถ้าเราสังเกตตัวเองอย่างเนิ่นนานเพียงพอ จะพบว่ามีอยู่หลายครั้งที่เราทำอะไรไปอย่างอัตโนมัติ ในด้านหนึ่งเหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความเป็นอัตโนมัติก็ทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายหลายประการ ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจการทำงานของสมองในสิ่งเหล่านี้ และเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันได้ในฐานะของผู้กระทำ ไม่ใช่ในฐานะของผู้ถูกกระทำ

Reflexes and State Specifics (การตอบสนองอย่างอัตโนมัติกับสภาวะจำเพาะ)

ชีวิตได้ติดตั้ง “การตอบสนองอย่างอัตโนมัติ” (Reflexes) ขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่ตัวชีวิตเอง การติดตั้งนั้นทำโดยการหุ้มเซลล์ประสาทสำคัญๆ (Mylination) ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว ซึ่งได้ก่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพ แต่หากมองอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นแนวต้านทานการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน แล้วเราจะเริ่มเห็นว่าการติดตั้ง “การตอบสนองอย่างอัตโนมัติ” นั้นมีทั้งผลดีผลเสียอย่างไร กล่าวคือความเป็นอัตโนมัติทำให้มนุษย์สามารถกระทำการได้อย่างไม่ต้องคิดมาก มันให้ความฉับไวในการตอบสนองต่อเรื่องราวต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันนั้นมันก็จะไม่เปิดช่องว่างให้กับการใคร่ครวญ ตลอดจนช่องว่างหรือพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเพียงพอ

ส่วนสภาวะจำเพาะ (State Specifics) มันเป็นส่วนที่เข้ามาร่วมกับการตอบสนองอย่างอัตโนมัติ ตรงที่แต่ละการตอบสนองอย่างเป็นอัตโนมัติจะมีสภาวะจำเพาะ ซึ่งจะช่วยให้เราจดจำการตอบสนองอย่างอัตโนมัติหนึ่งๆ ได้ และกลับเข้าไปใช้มันได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน

สภาวะจำเพาะมันเป็นสีสันหรือแต้มสีที่ทำให้เราสามารถค้นหาไฟล์หรือซอฟต์แวร์นั้นๆ ได้อย่างรวดเร็ว และนำกลับมาใช้การได้อีก เหมือนบรรยากาศหรือฉากประกอบในหนังที่ทำให้เรากลับไปจดจำบทสนทนาที่เกิดขึ้นในฉากนั้นๆ ได้

แต่เวลาไปสู่สภาวะจำเพาะหนึ่งใด เราจะกลับไปสู่ความทรงจำของสมองทั้ง ๓ ชั้น บางสภาวะจำเพาะมันจะมีความกลัวของสมองชั้นต้น ร่องอารมณ์ของสมองชั้นกลาง เช่นความเกลียด และสุดท้ายคือเทปม้วนเก่า หรือความคิดของสมองชั้นนอก อันเป็นความทรงจำของความคิดที่เราคิดกับเรื่องราวนั้นๆ ทุกสภาวะจำเพาะจะมีสามระนาบของความเป็นไปในสมอง ๓ ชั้นกลับเข้ามาเสมอ

การตอบสนองอย่างอัตโนมัติแบบลบกับแบบกลาง ๆ

การตอบสนองอย่างอัตโนมัตินี้ เป็นกลไกที่สำคัญในการดำเนินชีวิตตามปกติของมนุษย์ มันช่วยย่นย่อเรื่องราวจำเจที่ต้องทำเป็นประจำ ให้ดำเนินไปได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะฉะนั้นการตอบสนองอย่างอัตโนมัติหลายๆ ประการ จึงเป็นอะไรกลางๆ เพียงพอกับที่ชีวิตจะดำเนินไปตามปกติ แต่การตอบสนองอย่างอัตโนมัติของอีกกลุ่มหนึ่ง จะเป็นไปในท่วงทำนองลบๆ ตั้งแต่ลบน้อยไปถึงลบมาก มันเป็นวงจรวิวัฒนาการแบบถอยหลังเข้าคลอง (devolution) คือมันไปเอาความกลัว ความวิตกกังวล ความหวาดระแวงของสมองสัตว์เลื้อยคลานมาเป็นนายใหญ่ เอา “ร่องอารมณ์” หรืออารมณ์ติดลบทั้งหลายมาเป็นนายรอง และเอาสมองซีกซ้ายแบบฉลาดแกมโกงมาเป็นผู้รับใช้ สมองซีกซ้ายจะชอบการทำงานแบบเทปม้วนเก่า คือไม่ต้องใคร่ครวญอะไร ไม่ต้องห้อยแขวนหรือรีรอ แต่จะตัดสินความ ตัดสินผู้คนไปเลย แม้เพียงแวบเดียวที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง

ถ้ามองจากจุดยืนของความเข้าใจเรื่องคลื่นสมอง ๔ ชนิด คือ เบต้า อัลฟ่า เธต้า และเดลต้า ดังที่กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้า ความเป็นอัตโนมัติเหล่านี้จะทำงานในคลื่นเธต้าเป็นหลัก คือทำงานในปริมณฑลของจิตใต้สำนึก เบต้าในจิตสำนึกจะล่วงรู้บ้างแต่เป็นไปแบบผิวเผิน หากเราได้ฝึกการตื่นรู้แบบปฎิบัติธรรมหรือแบบมณฑลแห่งพลังก็ดี คลื่นอัลฟ่าจะถูกบ่มเพาะให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อที่จิตรับรู้ในเบต้าจะเข้าไปรับรู้ว่า เราจะใช้อะไรที่เป็นอัตโนมัติอยู่บ้าง ไม่ปล่อยให้กิจกรรมอัตโนมัติดำเนินไปอย่างไม่ล่วงรู้หรือในอาการแบบครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ให้มันกระทำการอยู่บนพื้นที่แห่งการตื่นรู้เต็มๆ เพื่อมีโอกาส “ใคร่ครวญ” “พิจารณา” ความเหมาะสมของมัน สามารถหยุดได้ ช้าลงได้ และเปลี่ยนจากการให้เครื่องขับไปแบบอัตโนมัติ มาเป็นการขับเครื่องเอง (manual) หรือให้จิตสำนึกในคลื่นเบต้าเป็นผู้ขับเองอย่างไม่ปล่อยไปตามอัตโนมัติได้ด้วย สามารถรื้อสร้าง คือรื้อโปรแกรมอัตโนมัติเก่า เพื่อสร้างโปรแกรมอัตโนมัติใหม่ ได้อย่างตื่นรู้และไม่ตกเป็นเพียงเบี้ยล่างต่อโปรแกรมอัตโนมัติทั้งหลาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ได้ เราอาจค่อยๆ ปรับโปรแกรมอัตโนมัติแบบลบๆ ทั้งหลาย ให้ย้ายมาเป็นกลางหรือให้เป็นบวกทีละเล็กละน้อย จนในที่สุดไม่มีโปรแกรมอัตโนมัติที่เป็นลบเหลืออยู่อีกเลย นั่นเท่ากับเป็นการจัดตั้งแบบแผนคลื่นสมองแบบตื่นรู้ (Awakening Mind) อย่างยั่งยืนขึ้นในชีวิตของเรา

สัญชาตญาณกับญาณทัศนะ

คำสองคำนี้ ไทยแปลอังกฤษ-อังกฤษแปลไทยกันอย่างวุ่นวายพอสมควรทีเดียว จึงควรให้เวลากับเรื่องภาษา และทำความเข้าใจให้ชัดเจนกับคำเหล่านี้ในระดับหนึ่งเสียก่อน

ภาษาอังกฤษอาจจะมีคำว่า instinct, intuition, insight, enlightment เป็นต้น ภาษาไทยก็มีสัญชาตญาณ, ญาณทัศนะ, รู้แจ้ง, ตรัสรู้ แต่ในที่นี้จะเน้นให้ความสำคัญกับคำไม่กี่คำที่จะนำมาใช้งาน

ในภาษาไทย สัญชาตญาณอาจจะแปลว่าความรู้ที่เกิดเองแบบไม่ต้องเรียนไม่ต้องสอน อย่างในสัตว์ เช่นลูกจระเข้เกิดมาก็ว่ายน้ำได้แล้ว ไม่ต้องสอน ซึ่งความหมายนี้จะตรงกับคำว่า instinct ของฝรั่ง

แต่ ส. ศิวรักษ์ ครูของผมก็ใช้คำว่าสัญชาตญาณนี้ในความหมายของ intuition ด้วยซึ่งก็ไม่ผิด โดย intuition แม้จะมีความหมายเหลื่อมล้ำออกมาจาก instinct อยู่บ้างแล้ว แต่ intuition มันก็อาจจะมาจากความรู้สึกลึกๆ ทางสัญชาตญาณได้ด้วย คือมาจากฐานกึ๋น หรือ gut ในภาษาฝรั่ง อันนี้จะมาตรงกับตันเถียนล่างในภาษากำลังภายในหรือมวยจีน มันเป็นความรู้สึกลึกๆ ในช่องท้องตอนล่าง ว่าเราจะเอาอย่างไรดีกับสถานการณ์บางอย่างที่เผชิญอยู่ข้างหน้า ความรู้สึกนั้นไม่ได้เกิดจากความคิดในจิตสำนึกหรือเบต้า แต่มาจากเธต้าที่ขมุกขมัว แต่แรงและสัมผัสได้

แต่ในภาษาอังกฤษ intuition ก็ไม่ได้จบลงแค่ความรู้สึกที่มาจากช่องท้องช่วงล่าง แต่อาจจะมาจากจิตไร้สำนึกที่มาจากฐานของหัวใจและฐานของหัวหรือศีรษะได้ทั้งนั้น ในความหมายเช่นนี้ intuition จะใกล้เคียงกับ “ญาณทัศนะ”ได้มากกว่า

แน่นอนญาณทัศนะจะแปลกลับไปเป็น intuition ก็ได้ insight ก็ได้ แม้ enlightment ก็ได้ โดยคำหลังอาจจะกินความไปถึงขั้นตรัสรู้ได้เลยก็ตาม

แต่ถ้าเดินตามคติท่านพุทธทาส เราไม่จำเป็นต้องประเมินจนมากความ โดยเฉพาะถ้าการประเมินนั้นเกินประสบการณ์ตรงของเรา แนวทางของเราในตอนนี้ก็ขอเดินทางสายสามัญชนเอาไว้ก่อน เอาเป็นนิพพานน้อยๆ การรู้แจ้งเล็กๆ เพื่อบ่มเพาะให้เกิดความยั่งยืนแห่งสภาวะจิตตื่นรู้ในภายหลังก็แล้วกัน

การเติบโตของสมองแบบโย้หน้าหรือโย้หลัง

มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เกิดมาจากท้องแม่ที่มีความเครียด ความกลัว วิตกกังวล สมองของเด็กจะโตด้านหลังมากกว่าด้านหน้า

คำว่า ด้านหน้า (Fore brain) และด้านหลัง (Hind brain) ก็คือบรรดาสมองดึกดำบรรพ์หรือสมองในอดีตทั้งหลาย อันได้แก่สมองสัตว์เลื้อยคลานและสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สมองในช่วงแรกๆ ของวิวัฒนาการจะเป็นสมองที่เน้นความอยู่รอด ส่วนสมองด้านหน้าคือสมองปัจจุบันและอนาคต อันได้แก่สมองชั้นนอก (Neo cortex) และสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า Pre-frontal lobe อันเป็นวิวัฒนาการล่าสุดในมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาอันสุขุมลุ่มลึกยิ่งขึ้น ตลอดจนญาณทัศนะ

ภาพคลาสสิกอันเป็นเรื่องเล่าของการถดถอยทางวิวัฒนาการ คือภาพที่เด็กเล็กๆ กำลังจะเดินไปคว้าแจกันคริสตัลของคุณแม่ที่โต๊ะรับแขก และคุณแม่แผดเสียง “อย่า” ขึ้นมา เด็กก็หันกลับมามองคุณแม่ แต่ยังเดินไปข้างหน้าด้วยโมเมนตัมของความอยากสำรวจโลก แต่ด้วยความที่เด็กจะพึ่งพาพ่อแม่ในฐานะเสาหลักที่จะคอยบอกว่าอะไรปลอดภัยอะไรไม่ปลอดภัย อาการหันรีหันขวางอย่างนั้นเอง ทำให้เด็กไขว่คว้าแจกันอย่างสะเปะสะปะ แล้วแจกันคริสตัลใบสวยก็แตกกระจาย พ่อหรือแม่ก็ตีลูก และลูกก็ร้องไห้ด้วยความสับสนไม่เข้าใจ

การส่งสัญญาณความไม่ปลอดภัยในสัตว์ของสัตว์ที่เป็นพ่อแม่ จะส่งให้เฉพาะเรื่องราวที่เป็น “ภัย” แก่ลูกจริงๆ แต่ในโลกของมนุษย์ มันมีเรื่องการไม่เหมาะควรทางมารยาทสังคมเข้ามาด้วย ข้อตกลงในโลกของผู้ใหญ่ที่เด็กยังไม่ได้เรียนรู้รับรู้ แต่เมื่อกระทำไปอย่างไม่เหมาะสมสอดคล้องกับกาลเวลา ตลอดจนพัฒนาการของเด็ก และกระทำต่อเด็กบ่อยๆ นั่นคือการส่งสัญญาณให้สมองด้านหลังหรือสมองในวิวัฒนาการต้นๆ กลับมาเติบโตมากกว่าสมองด้านหน้าหรือสมองในวิวัฒนาการหลังๆ มันไปสร้างการกระทำอย่างเป็นอัตโนมัติที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองจากการเข้าไปสำรวจโลก เรียนรู้โลก แต่กลับมาจมอยู่กับชุดอัตโนมัติต่างๆ ที่เดินตามกรอบ ธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมไปวันๆ อย่างน่าเบื่อหน่ายและปราศจากแรงบันดาลใจ

เรามักจะมีคำถามแก่เด็กๆ และลูกของเราว่า “ทำไมโตป่านนี้ยังไม่รู้อีกว่าตัวเองต้องการอะไร จะเป็นอะไร?” หรือเราจะพบลูกน้องในที่ทำงานของเราทำงานไปวันๆ อย่างเฉื่อยแฉะ ไม่มีความริเริ่ม ไม่มีแรงบันดาลใจ แต่เราไม่เคยได้เรียนรู้เลยว่า การเลี้ยงลูกของเรา ระบบโรงเรียนของเรา วัฒนธรรมองค์กรของเรา ได้เข่นฆ่าความอยากสำรวจเรียนรู้โลกของทุกคนไปตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว และเราก็ได้กระทำการเช่นนั้นตลอดมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหวังผลพวงที่แตกต่างออกมาได้อย่างไร?

ห้วงขณะที่หลุดออกจากโปรแกรมอัตโนมัติ

ห้วงขณะที่หลุดออกจากโปรแกรมอัตโนมัติ หรือการตอบสนองอย่างเป็นอัตโนมัติทั้งหลายคืออะไร?

มันคือห้วงขณะจิตที่ตื่นรู้อยู่กับปัจจุบันขณะ มันคือจิตตื่นรู้อันมีแบบแผนของคลื่นสมองทั้ง ๔ ซึ่งในภาพกราฟฟิกของ แอนนา ไวส์ (Anna Wise) จะเป็นรูปตุ๊กตา มันคือจิตที่เป็นสมาธิ เหมาะควรแก่การงาน มันคือจิตในขณะที่เฝ้าดูอย่างเนิ่นนานต่อเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง และมันคือจิตที่เฝ้ารอญาณทัศนะให้ผุดพรายขึ้นมาเอง

พลังทางศีลธรรมในสังคมไทย







ช่วงนี้ข้างขึ้นแรมหรืออย่างไรหนอ?

เห็นงานแล้วโมโห ความอยากเอาชนะมีพลังมากเหลือเกิน นั่งทำจนถึงหกโมงเช้าวันเสาร์ สัปประหงกอยู่หน้าคอมฯ แล้วทิฏฐิมานะก็ยกธงขาว ยอมแพ้แล้ว ตัวใหญ่เหลือเกิน ต้องเคี่ยวให้มันหมดแรงด้วยวิธีนี้

แล้วกรรมก็ตามสนอง

มีนัดแปดโมงเช้า ตื่ีนแปดโมงครึ่ง ไปถึงสักสิบโมง โอ้ พระแม่กาลี เหตุผลใดใดในปฐพีก็ไม่อาจช่วยลูกได้ (โฮ)

งานสวนโมกข์เสวนาสัญจรครั้งที่ ๖/๒๕๔๙ วันเสาร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาฯ เครือข่ายพุทธิกาเป็นหัวเรือใหญ่ หนนี้จัดเต็มวัน ช่วงเช้าเป็นกิจกรรมภาวนา ช่วงบ่ายเป็นปาฐกถา

ผ่อนพักตระหนักรู้ ในช่วงเช้ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมราวสี่สิบคน น่าสนใจมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เปิดประตูเข้าไปยังตกใจ ผู้ชายหายไปไหน?

ในช่วงบ่าย หลวงพี่ไพศาล วิสาโล เป็นองค์ปาฐก การเสริมสร้างพลังทางศีลธรรมในสังคมไทย ได้นิมนต์ท่านนำเสนอหัวข้อนี้ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ด้วย น่าจะเป็นช่วงออกพรรษาแล้ว

นั่งฟังท่านด้วยอาการหลับ เพราะเซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายตะโกนว่า ง่วงจังว้อยยยย แต่ก็พอจับเนื้อความได้ว่า

วิกฤติของสังคมไทยนั้นอยู่ที่ทุนนิยม บริโภคนิยม และอำนาจนิยม การต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้จำต้องส่งเสริมพลังทางศีลธรรมในสังคมบนพื้นฐานที่ดี ๖ ประการ คือ

  1. ครอบครัว
  2. ชุมชน
  3. การศึกษาคณะสงฆ์
  4. สื่อสารมวลชน
  5. การศึกษาที่ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้
  6. องค์กรประชาสังคม

ที่น่าสนใจก็คือ พื้นที่ของชุมชนและวัดนั้น ได้จางหายไปจากสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ไปนานแล้ว เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ ต่างดำเนินชีวิตไปบนวิถีของปัจเจกบุคคลนิยมแบบสุดโต่ง แต่เราอาจช่วยกันสร้างพื้นที่ชุมชนแบบใหม่ ที่เกาะเกี่ยวผู้คนในเมืองให้มีพลังร่วมกันได้ เป็นต้นว่า ชุมชนกิจกรรม ซึ่ีงองค์กรอาสาสมัครน่าจะเข้ามามีบทบาทได้มาก

พอได้ยินถึงตรงนี้ เราก็ลืมตาตื่น นึกถึงกลุ่มสังฆะแห่งความสุขขึ้นมาทันใด อย่างนี้เรียกปิ๊งแว้บหรือเปล่าหนอ?


ง่วงแล้วก็ตื่นได้ ตื่นแล้วก็ง่วงได้อีก ฉันใด

ฉันนั้น สีกาจะไปนอน คุณโยมทั้งหลายโปรดติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยใจระทึกพลัน


สาธู้

การวัดผลและตัวชี้วัดในวิทยาศาสตร์ใหม่

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 22 กรกฎาคม 2549

ต้องขอบอกก่อนนะครับว่าผมเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะ “ประเมินผล” กับคนหรือหน่วยงานองค์กรต่างๆ ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อที่จะให้คนหรือหน่วยงานต่างๆ เหล่านั้นอยู่ใน “เกณฑ์” ที่มีมาตรฐานใช้งานได้ ทั้งนี้รวมความไปถึงการประเมินผลงานต่างๆ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่มีความปรารถนาดีที่จะทำให้เกิด “งานที่ดีที่สุด” “มีประสิทธิภาพที่สุด” แต่ผมไม่เห็นด้วยกับ “วิธีการประเมิน” ที่กำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างของการประเมินผลในระดับของบุคคล ก็ได้แก่การสอบต่างๆ ทุกระดับทั้งในระดับการสอบของนักเรียน นักศึกษาหรือคนทำงาน รวมไปถึงการประเมินผลงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตัวอย่างของการประเมินผลในระดับองค์กรต่างๆ ก็ได้แก่ระบบพัฒนาคุณภาพต่างๆ ระบบมาตรฐานต่างๆ ที่มีออกมามากมายเต็มไปหมด

ผมอยากจะขอย้ำว่าแนวคิดเรื่องการประเมินเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะจะทำให้คนในสังคมได้สิ่งที่ดีที่สุดตามที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นสิ่งที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นมาในสังคมก็คือ คนหรือหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่จะได้รับการประเมิน ถึงได้เกิด “ความเครียด” หรือเกิด “สภาวะที่ไม่ปกติ” ขึ้นมา

ทำไมนักเรียนถึงเครียดกับการเรียนการสอบและแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย แทนที่จะสนใจว่าความรู้อะไรบ้างที่เป็นประโยชน์และเอาไปใช้ให้เกิด “ความดีงาม” ในสังคม

ทำไมครูถึงได้เครียดกับการประเมินคุณภาพต่างๆ และเอาเป็นเอาตายกับงานเอกสารการประเมินที่ทำให้ร้านซีร็อกต่างๆ ร่ำรวยเพราะเต็มไปด้วยงานถ่ายเอกสารต่างๆ เหล่านั้น (แล้วมีใครอ่านบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้) แทนที่จะเอาเวลาไปใช้กับนักเรียนอย่างแท้จริง

ทำไมเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่จะต้องได้รับการประเมินระบบคุณภาพ ถึงไม่เกิดความสุขหรือความสนุกในการทำงาน กลับรู้สึกเครียด รู้สึกว่าเป็นภาระ ทำไปทำมาพยาบาลห้องผ่าตัดบางแห่งสะท้อนว่า มัวแต่เสียเวลากับการกรอกเอกสารเรื่องการประเมินผล แทนที่จะเอาเวลาเหล่านั้นไปพูดคุยปลอบโยนผู้ป่วยที่กำลังเครียดก่อนที่จะเข้าห้องผ่าตัด ไม่รู้ไม่แน่ใจว่าเอกสารการประเมินเหล่านั้นสำคัญกว่าคนไข้ไปตั้งแต่เมื่อไร

ที่สำคัญที่สุดแน่ใจแล้วหรือว่าเอกสารการประเมินต่างๆ เหล่านั้น “เป็นจริง” ไม่ได้เป็นการ “ปั้นแต่งข้อมูล” ขึ้นมา แน่ใจแล้วหรือว่า เราได้สิ่งที่ดีที่สุด มาตรฐานที่ดีที่สุดตามที่เราต้องการ แน่ใจแล้วหรือว่า เราไม่ได้ตกเป็นทาสของเครื่องมือที่เราสร้างขึ้น เพราะมนุษย์มักจะตกเป็นทาสของเครื่องมือที่ตัวเองสร้างขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ก็คือเครื่องมือในการประเมินผลต่างๆ ตัวชี้วัดต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นมา

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะ “เข้าใจผิด” หรือ “หลงลืม” ไปมองว่าคนหรือองค์กรต่างๆ เหล่านี้เป็น “เครื่องจักร”

พวกเราอยู่ในสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันมานานร่วมสามร้อยปี เป็นไปได้หรือไม่ว่า บางทีเราก็ “เผลอไปบ้าง” คือไปเผลอมองคนเป็นวัตถุด้วยความเคยชิน มองสิ่งที่เป็นสิ่งมีชีวิตภายใต้โมเดลของสิ่งที่ไม่มีชีวิต

หลงหรือเผลอไปมองว่าการประเมินมาตรฐานคุณภาพของคน เป็นแบบเดียวกับการที่เราประเมินคุณภาพของหลอดไฟสักดวงหนึ่งที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม หรือไปใช้มาตรฐานของการประเมินคุณภาพรถยนต์สักคันหนึ่งเป็นแบบเดียวกับมาตรฐานที่เราใช้ประเมินองค์กรหรือหน่วยงานสักหน่วยงานหนึ่ง

ในบทความชิ้นนี้ผมคงจะไม่เสียเวลาเถียงหรอกว่า ในแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นเชื่อว่าองค์กรเป็นสิ่งมีชีวิต หน่วยงานเป็นสิ่งมีชีวิต แต่เอาง่ายๆ กันแค่ว่าองค์กรหรือหน่วยงานเหล่านั้นจะไม่มีชีวิตไปได้อย่างไรในเมื่อสิ่งที่ขับเคลื่อนองค์กรหรือหน่วยงานเหล่านั้นก็คือคนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต มีความคิด มีอารมณ์ความรู้สึก

ในระบบของสิ่งมีชีวิตนั้น มีการ “ประเมินผลตลอดเวลา” ผมอยากจะยกตัวอย่างร่างกายมนุษย์ มีการประเมินผลในระบบของร่างกายมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าในทุกเสี้ยววินาทีเซลล์ต่างๆ ของร่างกายมนุษย์มีการประเมินผลเป็นการภายในอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ก็จะกลายไปเป็น “สัญญาณ” ที่ส่งไปยังสมองส่วนที่ควบคุมความหิวเพื่อให้ร่างกายได้รับอาหารเข้าไป หรือเมื่อระดับอุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไปหรือร่างกายเสียเหงื่อมากเกินไปก็จะมี “สัญญาณ” หรืออื่นๆ

“สัญญาณ” ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบของร่างกายนั้นก็คือ “ตัวชี้วัด” ในการประเมินผลที่มีอยู่ตลอดเวลาของร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง เพราะถ้าไม่มีสัญญาณหรือการประเมินผลเหล่านี้ ร่างกายของสิ่งมีชีวิตก็คงจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้

ถ้าเราจะลองนำพาเอาแนวคิดแบบ “วิทยาศาสตร์ใหม่” แบบที่คิดว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิต องค์กรที่ประกอบด้วยคนทำงานเป็นสิ่งมีชีวิตมาใช้ในเรื่องของการประเมินผลและตัวชี้วัดนี้ เราจะมองเห็นอะไรบ้าง

หนึ่ง ลักษณะที่สำคัญที่สุดของตัวชี้วัดแบบสิ่งมีชีวิต ก็คือตัวชี้วัดและการประเมินผลนั้นมาจากภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเอง ไม่ได้มาจากภายนอกร่างกาย

สอง ตัวชี้วัดเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลาไปตามสถานการณ์ ในขณะที่ตัวชี้วัดจากภายนอกมักจะมีมาตรฐานเดียวและตายตัว

สาม ตัวชี้วัดเหล่านี้เกิดจากการได้ข้อมูลที่แท้จริงจำนวนมากมายมหาศาลในระบบ ในขณะที่ตัวชี้วัดจากภายนอกไม่มีทางที่จะได้ข้อมูลเหล่านั้น ย่อมเกิดความผิดพลาดในการประเมินมากกว่า

ด้วยคุณสมบัติของ “ตัวชี้วัด” ที่มาจากภายในขององค์กรแบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้เลย ถ้าในองค์กรนั้น “ไม่มีกระบวนการ” ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งหรือสามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกับที่เกิดขึ้นในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าในสภาวะปกติเซลล์ต่างๆ ของมนุษย์จะสามารถสื่อสารถึงกันได้เป็นอย่างดี

ในอีกทางหนึ่งสมมติว่าถ้าเราสามารถมี “กระบวนการ” ที่ทำให้องค์กรๆ หนึ่งสามารถสร้าง “ตัวชี้วัด” ได้ด้วยตัวเอง สามารถจัดการประเมินผลด้วยตัวเองเหมือนกับที่เกิดขึ้นในร่างกายของสิ่งมีชีวิต อะไรจะเกิดขึ้น?

จากประสบการณ์ที่พวกเราที่เชียงรายใช้ “สุนทรียสนทนา” เป็นตัวร้อยเรียงเพื่อทำให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างคนในองค์กร เราพบว่าเมื่อเราสามารถสร้าง “ชุมชนปฏิบัติการ” ขึ้นมาเป็น “กระหย่อม” ในองค์กรได้ เราก็จะสามารถใช้ “ชุมชนปฏิบัติการ” หรือ “กระหย่อม” เหล่านี้ในการสร้างตัวชี้วัดและการประเมินผลที่มาจากความคิดของคนในองค์กรเอง เราพบว่าเราได้มองเห็น “ประกายตา” จำนวนมากมายที่ฉานฉายถึง “ความสดใส” “ความมุ่งมั่น” และเต็มเปี่ยมไปด้วย “แรงบันดาลใจ” ที่จะทำงานให้กับองค์กร

เพราะผู้คนเหล่านี้ได้มองเห็นแล้วว่า ผลพวงจากสิ่งที่เขาเหล่านั้นได้ “คิดร่วมกัน” ได้ก้าวไปพ้นการประเมินและไปพ้นระบบมาตรฐานคุณภาพต่างๆ จากภายนอกที่มีแต่งานเอกสารหรือตัวเลขที่ “ปั้นแต่ง” ขึ้นมาอย่างไร้สาระไปแล้ว

จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2549

ในวันพุธที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙ จะมีการเสนอโครงการจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยมหิดล

แนวคิดหลักของโครงการการศึกษานี้ ก็คือ การศึกษาที่มีอยู่ในโลกโดยทั่วไปขณะนี้ ซึ่งเน้นที่การเรียนรู้วิชาความรู้เรื่องต่างๆ อันเป็นเรื่องนอกตัวเท่านั้น แม้มีความจำเป็น แต่เมื่อขาดการเรียนรู้เรื่องในตัว ก็ขาดความสมบูรณ์ เอียงข้าง แยกส่วน เมื่อมนุษย์ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง ก็ทำให้โลกทัศน์และวิธีคิดเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง เกิดความบีบคั้น ทั้งในตัวเองและระหว่างกันในสังคม เป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ ในสังคมจนวิกฤต

อนึ่ง การขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง ผลักดันให้ผู้คนในปัจจุบันต้องไปหาอะไรมาเติม สิ่งที่หามาเติมคือ หนึ่ง ยาเสพย์ติด สอง ความฟุ่มเฟือย สาม ความรุนแรง ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนอันนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ให้ทับทวีมากขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้จะแก้ไม่ได้เลยตราบใดที่มนุษย์ยังขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง หากมีความสมบูรณ์ในตัวเอง มนุษย์จะมีความเป็นอิสระ มีความสุข และมีไมตรีจิตอันไพศาล อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยดี และเนื่องจากมีความสุขสมบูรณ์ในตัวเอง จึงไม่มีความต้องการจะไปเอายาเสพย์ติด หรือความฟุ่มเฟือย หรือความรุนแรง มาเติมให้ตัวเองด้วยประการใดๆ

อีกประการหนึ่ง การศึกษาปัจจุบันที่เน้นการเรียนวิชา เกือบไม่มีเลยที่เรียนแล้วเข้าใจเพื่อนมนุษย์และเข้าใจตัวเอง เมื่อไม่เข้าใจเพื่อนมนุษย์และไม่เข้าใจตัวเอง เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ไม่เข้าใจ แก้ไขไม่ได้หรือแก้ผิดๆ ทำให้ปัญหาหมักหมมเพิ่มพูน นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง ถึงการนองเลือดได้ ความรุนแรงทั้งในประเทศและในโลกเพิ่มมากขึ้นทุกทีอย่างไม่มีคำตอบ และจะไม่มีคำตอบตราบใดที่การศึกษายังเป็นเฉพาะการศึกษาวิชา แต่ไม่ศึกษาให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์และเข้าใจตนเอง

นอกจากนั้น โครงสร้างขององค์กรต่างๆ ทั้งทางการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา ล้วนเป็นโครงสร้างทางดิ่งหรือโครงสร้างเชิงอำนาจ ที่เน้นการใช้กฎหมาย กฎระเบียบ และการบริหารสั่งการจากบนลงล่าง ในโครงสร้างแบบนี้ขาดความสัมพันธ์ที่ดีของคนในองค์กร การเรียนรู้และความร่วมมือกันจะมีน้อย แต่จะมีการวิ่งเต้นเส้นสาย นินทาว่าร้าย ออกใบปลิว กั๊กข้อมูล แอบแทงข้างหลัง ขาดความสุขความสร้างสรรค์ในความเป็นมนุษย์อย่างน่าเสียดาย เพราะในศักยภาพของความเป็นมนุษย์นั้น มนุษย์สามารถมีความสุขและความสร้างสรรค์ในการทำงานร่วมกันได้

กุญแจแห่งอนาคตของมนุษยชาติจึงอยู่ที่การเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning) ทั้งในตัวเอง (Personal Transformation) และเชิงองค์กร (Organizational Transformation)

จิตตปัญญาศึกษา คือการศึกษาที่ทำให้เข้าใจด้านในของตัวเอง รู้ตัว เข้าถึงความจริง ทำให้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกและผู้อื่น เกิดความเป็นอิสระ ความสุข ปัญญา และความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

โดยเน้นการศึกษาจากการปฏิบัติ เช่น จากการทำงาน ศิลปะ โยคะ ความเป็นชุมชน การเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม สุนทรียสนทนา การเรียนรู้จากธรรมชาติ และจิตตภาวนา เป็นต้น

เป็นเวลาพอสมควร ที่เครือข่ายของคนกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ โครงการจิตวิวัฒน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สถาบันขวัญเมือง จังหวัดเชียงราย โรงเรียนสัตยาไส สถาบันอาศรมศิลป์ แห่งมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และจากที่อื่นๆ อีก รวมทั้งผู้อาวุโสอย่างนายแพทย์ประสาน ต่างใจ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เพื่อขับเคลื่อนจิตตปัญญาศึกษา อันเป็นที่มาของโครงการจิตตปัญญาศึกษา ที่จะนำเสนอสภามหาวิทยาลัยมหิดลในวันดังกล่าวข้างต้น

ในโครงการนี้ สมาชิกในเครือข่ายดังกล่าวประมาณ ๓๐ คน จากสาขาวิชาอันหลากหลาย เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ แพทย์ วิศวกรรม การศึกษา ศาสนา สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ เป็นต้น จะพัฒนาตัวเองไปเป็นวิทยากร และเปิดหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญขึ้นไว้ให้สังคมไทยจำนวนมากขึ้นๆ เพื่อไปเป็นกำลังที่จะทำให้จิตตปัญญาศึกษาเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทั่วไปในหลักสูตรการศึกษาทุกประเภทและทุกระดับ

เป้าหมายคือ การที่มนุษย์ทั้งหมดสามารถเรียนรู้เพื่อยกระดับจิตวิญญาณของตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพื่อความสุขและการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ดังกล่าวแล้ว

หวังว่า การก่อตัวเรื่องจิตตปัญญาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล จะก่อให้เกิดกำลังใจแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะทำทำนองเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ยิ่งทำได้ดีกว่ายิ่งดี เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันในการเคลื่อนไปข้างหน้า เพื่อช่วยให้มนุษยชาติใช้ศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ยกระดับตัวเองไปให้พ้นวิกฤตการณ์ของอารยธรรมปัจจุบัน

จิตตปัญญาศึกษาจึงเป็นเรื่องดีๆ เรื่องหนึ่งที่เพื่อนคนไทยหลายคนร่วมกันรังสรรค์ขึ้นด้วยความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ ขอให้เพื่อนคนไทยและองค์กรต่างๆ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นกระแสใหญ่ของมนุษย์ต่อไปในอนาคต

วิกฤติแห่งวิวัฒนาการ ๒




วิธีจัดการเก่าแบบ hierarchy ในทุกสถาบันทั่วโลก ไม่ว่าข้าราชการ ศาสนา กองทัพ การเงิน

ที่หัวหน้าตัดสินใจแล้วทุกคนทำตาม กำลังสลายไป สิ่งที่น่าสนใจคือ องค์กรของผู้ก่อการร้าย ไม่จัดการแบบนั้น แต่เป็นแบบ Individual - Node - Network และกำลังขยายเป็นเครือข่ายอย่างเงียบในหลายๆ แห่งทั่วโลก

วิธีสู้กับผู้ก่อการร้ายก็ต้องใช้วิธีเหมือนกัน แต่เป็นไปเพื่อสันติภาพ และถ้าจะแก้ปัญหาทั่วโลก ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน แต่วิธีคิดแบบชาตินิยมจะเป็นอุปสรรค เช่นถ้าทำอย่างนั้นจะเสียเปรียบ ฝ่ายตรงข้ามจะได้รับประโยชน์มากกว่า

สัตเปรม บอกว่า A Crisis of Evolution ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา สังคม แต่เป็นวิกฤตของวิวัฒนาการ มนุษย์จะสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ทันท่วงทีหรือไม่

สิ่งเหล่านี้กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นแล้ว ดังเช่นการเกิดกลุ่มจิตวิวัฒน์ขึ้นมา แสดงว่ามีบางคนเห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แม้ว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นก็ตาม

โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีแบบใหม่กำลังเผยแพร่ขยายออกไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถติดต่อกับใครที่ไหนก็ได้ในโลก ไม่ต้องขออนุญาตหัวหน้าก่อน เหมือนควอนตัมฟิสิกส์

หนังสือเรื่อง Maverick เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือผู้เขียนเป็นนักธุรกิจที่ได้รับกิจการจากพ่อ กำลังมีหนี้สิน เขาจึงปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารใหม่ และไม่มีใครเชื่อว่า ระบบจัดการแบบนี้จะประสบความสำเร็จได้ เช่น ไม่มีพนักงานต้อนรับ พนักงานจะแต่งตัวแบบไหนก็ได้และเป็นคนกำหนดเงินเดือนตัวเอง จะต้องหยุดพักปีละอย่างน้อย ๑ เดือน ถ้าจะมาสมัครงาน ต้องได้รับการสัมภาษณ์จากทุกคนในแผนก ไม่ใช่จากหัวหน้าเท่านั้น การเลื่อนตำแหน่ง ต้องประชุมร่วมกันทุกคนว่าเหมาะสมหรือไม่

การติดต่อทางอินเตอร์เน็ต เป็นการสื่อสารแบบใหม่ ที่ทุกคนเสมอภาคกัน เรียกว่า Peer To Peer (P2P) หรือคนที่อยู่ในระดับเดียวกันทั่วโลก เช่น คุณเดวิดซื้อหนังสือส่วนใหญ่จาก www.amazon.com ซึ่งไม่มีร้านหนังสือเป็นของตนเอง แต่ถ้าสนใจหนังสือเล่มไหน เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ จะมีรายละเอียดออกมา ทั้งผู้อ่านยังสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับหนังสือได้อีกด้วย ซึ่งเป็นความคิดดีมาก ดังนั้น คุณไม่ต้องถามครูว่าต้องอ่านหนังสือนี้ไหม แต่สามารถเข้าไปดูได้ด้วยตนเอง

จะเห็นได้ว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ระบบเก่าที่ไม่ยืดหยุ่น เปลี่ยนยาก เปลี่ยนช้า ยังดำรงอยู่ และสองสิ่งนี้กำลังต่อสู้กัน

วิธีคิดเก่า จะต้องมีผู้แพ้และผู้ชนะ เป็นไปได้ไหมที่ทุกฝ่ายชนะ เราบอกว่าต้องการความยุติธรรม หมายถึงคุณต้องแพ้ เมื่อเราประหารชีวิตคุณ เราได้รับความยุติธรรม

คุณเดวิด ได้ยกตัวอย่างประเทศอาฟริกาใต้ ที่ เนลสัน แมนเดลา กับ เดสมอนด์ ตูตู สามารถป้องกันสงครามหลังจากรัฐบาลของคนผิวขาวแพ้การเลือกตั้ง เพราะการแบ่งแยกคนผิวสีออกจากกันเกิดขึ้นมานาน และคนผิวดำถูกทรมานต่างๆ นาๆ หลายคนคิดว่า จะเกิดการล้างแค้น แต่ก็ไม่มี เพราะแมนเดล่าหาวิธีแก้ปัญหาด้วยสันติภาพ โดยจัดตั้ง The Commission of Truth and Reconciliation หรือกรรมการสำหรับความจริงและการไกล่เกลี่ย โดยเปิดโอกาสให้คนสารภาพผิด ไม่ต้องติดคุก จึงเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาแล้วทั้งสองฝ่ายชนะ

การที่คุณเดวิดชอบเล่าประวัติของตัวเอง เพราะเชื่อว่า จะเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เช่นเดียวกับผู้เขียนหนังสือ At Hell's Gate ที่เคยเป็นทหาร ติดเหล้ากับยาเสพติด จนเกือบจะตาย สุดท้ายก็สามารถเลิกสิ่งเหล่านี้ได้ ครั้งที่เป็นทหารในเวียดนาม ผู้เขียนไม่เคยรู้จักคนเวียดนามเลย เพราะอยู่แต่ในค่ายทหาร เมื่อความรู้สึกเก่าเกิดขึ้น เขากลัวคนเวียดนาม มีคนเสนอว่าควรไปปฏิบัติธรรมกับ ติช นัท ฮันห์ ซึ่งเป็นชาวเวียดนาม เขากลัวว่าถ้าคนอื่นรู้ว่าเขาเคยทำอย่างไรกับคนเวียดนาม ทุกคนจะเกลียดเขาแน่นอน แต่สุดท้ายก็ไป แล้วไม่ใครเกลียด ปัจจุบันนี้เขาออกเดินไปทั่วโลก เพื่อเผยแพร่สันติภาพ จึงเป็นไปได้ที่คนจะเปลี่ยน เหมือนกับองคุลีมาลในพุทธศาสนา

ในอดีต วิวัฒนาการเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่ก็มีตัวอย่างของมนุษย์ผู้มีสติ รู้ตัวเอง และสามารถเปลี่ยนตัวเองได้เช่นกัน เรียกว่า Consciousness Evolution

ณ ปัจจุบัน มนุษย์ได้มาถึงจุดที่จะต้องตัดสินใจว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

แต่คนส่วนมากยังไม่รู้เรื่องเหล่านี้ เพราะเป็น Collective Unconsciousness คือคนส่วนมากจะไม่รู้จักจิตใต้สำนึกของตัวเอง ถ้าสังคมทั่วไปปฏิเสธความจริงในอดีต แต่เก็บกดเอา สักวันจะระเบิด มีวิธีเดียวที่จะระบายความรู้สึกนั้นให้เบาบางลงได้ คือยอมรับความจริง คนที่ไม่ยอมรับความจริง ยิ่งกดความรู้สึกในจิต เช่นในอดีตเคยทำอะไรแย่มากในชีวิต ในอนาคตเรื่องนั้นจะเกิดขึ้นโดยระเบิดออกมา

โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับวิวัฒนาการหลายพันปีของสมองมนุษย์ ว่ามีสมองอยู่ ๓ ชั้น สมองเก่าชั้นแรก จำเป็นต้องมี ไม่อย่างนั้นมนุษย์อยู่รอดไม่ได้ และปัจจุบัน มี pre frontal lope ที่ยังไม่แน่ใจว่ามีไว้เพื่ออะไร เพียร์ซคิดว่า คนส่วนมากยังไม่ได้ใช้สมองส่วนนี้ เพราะต้องใช้สมองทุกชั้นเสียก่อน ถึงจะใช้สมองส่วนนี้ได้ แต่ถ้าดูประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ธรรมชาติจะเตรียมการไว้ล่วงหน้าเสมอ เช่น ฟันกราม ภาษาอังกฤษเรียกว่า wisdom teeth จะไม่ขึ้นจนอายุ ๑๒-๑๓ ปี โดยฟันน้ำนมจะขึ้นก่อน จากนั้นฟันชุดที่สอง แล้วฟันกรามจึงเป็นชุดสุดท้าย เรารู้ได้อย่างไรว่าจะเกิดขึ้นเวลาไหน แสดงว่าธรรมชาติเตรียมการไว้ล่วงหน้า เป็นไปได้ไหมที่สมองส่วนล่าสุดของมนุษย์นี้ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติเตรียมไว้สำหรับอนาคต แต่ยังไม่ถึงเวลาที่เราจะใช้ได้

นอกจากนี้ วิธีทำงานของวิวัฒนาการ จะมาจากวิกฤตบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เท่าที่นักวิชาการรู้ สิ่งมีชีวิตแรกอยู่ในน้ำ ต่อเมื่อขึ้นบกในวันหนึ่ง จะหายออกได้อย่างไร จะเดินอย่างไร จึงต้องหาวิธีใหม่ เช่นจระเข้ จะมีเท้าสั้นๆ นี้เป็นตัวอย่างของสถานการณ์บังคับให้สิ่งใหม่เกิดขึ้น

คุณเดวิดรู้สึกว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ระบบเก่าจะทำลายตัวเองและสิ่งใหม่จะเกิดขึ้น

แต่ไม่รู้ว่าเป็นแบบไหน และไม่มีพูดใครพูดได้ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร ที่ไหน

อย่างไรก็ตาม คุณเดวิดไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านระบบเก่า เป็นเรื่องเสียเวลา พลังงานไปโดยใช่เหตุ และจะเป็นการทำลายตัวเอง วิธีต่อต้านระบบเก่าที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ The best form of resistance is to be creative คือใช้ความคิด ความเชื่อ ความสร้างสรรค์ จินตนาการ ให้กับการสร้างระบบใหม่วิธีใหม่ เหมือนกลุ่มจิตวิวัฒน์กำลังทำอยู่ หรือเหมือนกับคุณวิศิษฐ์ กับคุณหมอวิธาน ทำหลายอย่างที่เชียงราย

มีหนังสือเล่มใหญ่เมื่อประมาณ ๑๐ ปีแล้ว เรื่อง Future of the Body รวบรวมเรื่องของผู้มีอิทธิฤทธิ์ หรือคนที่ทำอะไรได้เหนือธรรมดา เช่น โยคี พระทิเบต นักบุญคริสต์ หรือนักกีฬาที่ทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ในห้องสมุดที่โรมจะมีเรื่องเหล่านี้มาก เพราะนิกายคาธอลิกก่อนที่ประกาศว่าใครเป็นนักบุญ ต้องมีกรรมการตรวจสอบชีวิตของคนนั้น สัมภาษณ์คนที่อยู่กับคนนั้น แล้วรวบรวมไว้ ทำให้มีพยานหลายคน เป็นการวิจัยที่ดีมาก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้รวมรวบทั้งหมดเป็นเล่มใหญ่ เพื่อแสดงว่า ความเป็นไปได้ในโลก มีมากกว่าที่เราคิดมาก ในอนาคต เป็นไปได้ไหมที่จะมีคนจำนวนมากกว่าเดิมทำอย่างนั้นได้

สำหรับปัญหาภาคใต้ ในเมื่อนายกเป็นคนอยากมีชื่อเสียง การเสนออะไรถึงผู้นำแบบนั้น ควรจะบอกว่า ประเทศไทยมีโอกาสทองที่จะแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าเราแก้ปัญหาโดยสันติภาพได้ และจะเป็นตัวอย่างสำหรับโลกทั้งหมด

เพราะแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับนายกฯ หลายอย่าง แต่ต้องยอมรับในความขยันขันแข็ง และควรเอาความอยากดังให้เป็นจุดดี ว่านายกมีโอกาสจะได้รางวัลโนเบลสันติภาพ ถ้าแก้ปัญหาด้วยวิธีพุทธศาสนา เช่นเดียวกับที่นายเนลสัน แมนเดลา และ เดสมอนด์ ตูตู ได้รับในกรณีของอาฟริกาใต้

พระพุทธเจ้ากับพระเยซูพูดเหมือนกัน ว่าเราทุกคนเป็นพี่น้องกัน องค์ทะไลลามะเคยไปพูดกับนักการเมืองออสเตรเลีย ว่าเราทุกคนเกิดจากแม่ของเรา ดังนั้น เราจึงเป็นพี่น้องกัน เป็นวิธีพูดง่ายๆ แต่ดีมาก สิ่งที่อันตรายคือชาตินิยม แม้ชาตินิยมอาจมีด้านดีด้วย ถ้าจะแสดงให้ทั่วโลกเห็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีพุทธ แต่ถ้าไปอีกทางหนึ่ง คนจะล้มตายเป็นอันมาก

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต วิกฤตของโลกจะถึงจุดที่ทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหา โดยไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนตัว

ไม่มีใครรู้เกี่ยววิวัฒนาการแน่นอนร้อยเปอร์เซนต์ เพราะเรื่องนี้เป็น self organizing แต่เป็นไปได้ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าคนส่วนมากจะไม่คิดเช่นนี้ แต่มีคนคิดถึงทางเลือก และกำลังมีตัวตน โหนด กับเครือข่าย มากขึ้นเรื่อยๆ

วิธีทำงานของสมอง เมื่อเผชิญกับปัญหาใหญ่มาก ยังเป็นแบบเก่า เรายังยอมรับถึงส่วนรวมทั้งหมดไม่ได้ เป็นปัญหาในเรื่องกายภาพด้วย แต่ในอนาคตสมองอาจเปลี่ยนไปก็ได้ เพราะสมองเปลี่ยนมาแล้วอย่างน้อย ครั้ง ปัจจุบัน ขนาดของปัญหาที่ใหญ่มาก บังคับให้วิธีคิดของเราออกจากขอบเขตเก่า เพื่อหลุดออกจาก dualism นี้เป็นความท้าทายของปัจจุบัน

ครั้งแรกที่มาทำงานในเมืองไทย คุณเดวิดไม่ชอบการประนีประนอมของคนไทย แต่ชอบการตัดสินแบบขาวหรือดำ เดี๋ยวนี้ คุณเดวิดชอบวิธีคิดแบบนี้มาก และเห็นว่าน่าจะเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ เพราะเมืองไทยมีภาพพจน์ที่ดีในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เห็นได้จากโครงการ Dialogue for Peace เลือกมาประชุมที่ประเทศไทย หรือเมื่อ - ปีก่อน มีการเจรจาสันติภาพในศรีลังกาที่ประเทศไทย เป็นต้น

ดังนั้น ไม่ควรต่อต้านรัฐบาล เพราะจะทำให้รัฐบาลมีศัตรู แต่ต้องหาวิธีสันติ และสนับสนุน เหมือนการพับนก ทำให้เด็กทั่วประเทศคิดถึงสันติสุข เอาความรู้สึกชาตินิยมให้มีประโยชน์ ทำให้คนไทยมีความภูมิใจที่แก้ปัญหาด้วยสันติภาพได้


หมายเหตุ

บทความนี้ วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ ได้เคยสัมภาษณ์ไว้ช่วงวันที่ ๒๔ - ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ แม้เวลาจะผ่านไปสองปี แต่ก็ยังคงความน่าอ่านไว้อยู่มาก ควรที่จะนำมาต่อยอดเรียนรู้กันได้อีก และเนื่องจากบทความค่อนข้างยาว จึงแบ่งไว้เป็นสองตอน

วิกฤติแห่งวิวัฒนาการ ๑



บทความนี้ วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ ได้เคยสัมภาษณ์ไว้ช่วงวันที่ ๒๔ - ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ แม้เวลาจะผ่านไปสองปี แต่ก็ยังคงความน่าอ่านไว้อยู่มาก ควรที่จะนำมาต่อยอดเรียนรู้กันได้อีก และเนื่องจากบทความค่อนข้างยาว จึงแบ่งไว้เป็นสองตอน


การจะเข้าใจความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องจิตวิญญาณ มีความจำเป็นต้องเข้าใจประวัติของคนคนนั้น ว่ามีความเป็นมาอย่างไร จึงจะเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารออกมา

คุณเดวิด สปิลเลนจึงเล่าประวัติตัวเองเพื่อเป็นตัวอย่าง ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในชีวิต

พ่อแม่ของคุณเดวิดเป็นชาวคาธอลิก ที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่เป็นแบบโบราณ คุณพ่อเป็นคนขี้โมโห เคยติดเหล้า ทำให้ที่บ้านมีปัญหามาตลอด เพราะเมื่อพ่อเมา จะโมโหมาก ทำให้ทุกคนกลัว เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตของคุณเดวิดเป็นอย่างมาก

เมื่อเติบโตขึ้น คุณเดวิดเข้าศึกษาในโรงเรียนคาธอลิก ผู้ชายล้วน ซึ่งเข้มงวดมาก ทำให้เป็นคนมีวินัย แต่ข้อเสียคือมีวิธีการสอนแบบคับแคบเกินไป

คุณเดวิด มีผลการเรียนที่ดี และเล่นกีฬาเก่ง แต่พ่อไม่เคยพอใจ แม้จะทำอย่างดีที่สุดแล้ว เช่น ถ้าสอบได้๙๕ คะแนน ก็จะถามว่าทำไมไม่ได้ ๑๐๐ คะแนน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ

เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี อยากจะเป็นพระคริสต์ และเป็นนักกีฬาดัง ในเวลาเดียวกัน แต่พ่อแม่อยากให้เรียนมหาวิทยาลัย เมื่อได้รับทุน จึงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย แต่ยังอยากจะเป็นพระ

ดังนั้น เมื่อเรียนไปได้ ๑ ปี จึงขออนุญาตพ่อแม่ไปเรียนเพื่อเป็นบาทหลวงคริสต์ แต่เรียนได้เพียง ๒ ปี จาก ๙ ปี ก็ตัดสินใจได้ว่าไม่เหมาะกับตนเอง เพราะชอบผู้หญิงมากเกินไป รู้สึกผิดหวังในตัวเอง และเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของคุณเดวิด

จึงกลับไปเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เพราะดื่มเหล้าและเที่ยวผู้หญิงมากเกินไป สุดท้ายจึงสอบตก ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย

ปี ค.ศ. ๑๙๖๑ ไปสมัครเป็นทหาร เพราะผู้ชายทุกคนในครอบครัวของคุณเดวิดล้วนเคยเป็นทหาร คิดว่าการป้องกันประเทศ เป็นหน้าที่ของทุกคน พี่ชายเป็นทหารเรือนาน ๒๐ ปี และลุงเคยไปสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามเกาหลี

คุณเดวิดสมัครเป็นเป็นทหารบก ศึกษาภาษาเวียดนาม แล้วทำงานเป็นทหารหน่วยข่าวกรองในสงครามเวียดนาม ๒ ปี มีหน้าที่สัมภาษณ์เชลยสงคราม ทำให้มีโอกาสเดินทางไปหลายแห่ง

ปี ๑๙๖๕ มาเมืองไทยครั้งแรก ขณะเป็นทหารที่เวียดนาม มีนิสัยชอบอาละวาด เพราะความกลัวตาย แต่ทหารส่วนมากไม่ยอมรับว่าตัวเองกลัว เลยแสดงออกด้วยอาการบ้าๆ บอๆ

หลังจากเป็นทหารได้ ๖ ปี จึงลาออกจากทหาร ตำแหน่งสุดท้ายเป็นจ่า ทั้งที่เดิมคิดจะเป็นทหารอาชีพ แต่เห็นว่านายทหารโง่มาก จึงไม่ต้องการถูกคนโง่สั่งการและไม่สามารถปฏิเสธได้

อย่างไรก็ตาม ชีวิตทหารทำให้เป็นคนมีวินัย เมื่อกลับไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีก ๒ ปี จึงเรียนได้ดีมาก โดยที่ไม่ได้ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เพราะคุณเดวิดเป็นนักศึกษาเพียงคนเดียวที่เคยเป็นทหาร ภายใต้บรรยากาศการต่อต้านสงครามในมหาวิทยาลัยที่เข้มข้นมาก

คุณเดวิดไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมต่อต้านสงครามในขณะนั้น เพราะคิดว่าคนส่วนมากไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง คิดแบบชาตินิยม แต่ขณะนี้ ได้เปลี่ยนความคิดหมดแล้ว เพราะเห็นว่าชาตินิยมเป็นอัตตาของกลุ่ม ประเทศผมดีกว่าประเทศคุณ ถ้าไม่ชอบ จะต้องฆ่ากัน

เมื่อเรียนจบ ซีไอเอติดต่อให้ไปทำงานด้วย เพราะต้องการคนมีประสบการณ์ และพูดภาษาเวียดนามได้

จึงกลับไปอยู่เวียดนามอีก ๓ ปี

แต่งงานกับคนอเมริกันที่เรียนด้วยกัน แต่มีปัญหาหลายอย่าง เพราะงานซีไอเอเหมือนกับทหาร ต้องเดินทางไปตามคำสั่งตลอดเวลา

ปี ๑๙๗๔ เมื่อเดินทางไปเขมร เป็นปีสุดท้ายก่อนเขมรแตก ภรรยาไม่ค่อยสบายใจ เพราะช่วงนั้น ครอบครัวไปอยู่ด้วยไม่ได้ เนื่องจากอันตรายมาก เมื่อเขมรแดงชนะ จึงอพยพไปเวียดนาม ๒ - ๓ อาทิตย์ ในเดือนสุดท้ายของสงคราม ก่อนอพยพกลับสหรัฐ ๑๐ วัน ก่อนเวียดกงประกาศชัยชนะ

เมื่อเดินทางกลับสหรัฐ คุณเดวิดกลายเป็นคนติดเหล้า อันเป็นอาการเหมือนทหารเก่าส่วนใหญ่ เพราะเคยมีประสบการณ์ที่โหดเหี้ยม แต่ไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้ ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทุกคนต้อนรับทหารผ่านศึกราววีรบุรุษ แต่สงครามเวียดนาม ประชาชนอเมริกาส่วนมากไม่สนับสนุน จนไม่มีใครอยากจะใส่เครื่องแบบทหาร

ปี ๑๙๗๖ มาทำงานที่สถานทูตในกรุงเทพฯ (เป็นซีไอเอ ๒๕ ปี) ประมาณ ๓ อาทิตย์ก่อน ๖ ตุลาคม อยู่ในค่ายผู้อพยพญวน ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับการเมืองไทย แต่มีเพื่อนที่ไปธรรมศาสตร์ บอกว่าสถานการณ์แย่มาก ช่วงนั้น คุณเดวิดมีความคิดว่าคอมมิวนิสต์เป็นศัตรู เพราะถูกปลูกฝังเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก และเชื่อรัฐบาลที่บอกว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์

ต่อมา ได้หย่ากับภรรยา เพราะดื่มเหล้ามากเกินไป ไม่มีความรับผิดชอบ จนเคยคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะชีวิตสิ้นหวัง ไม่มีความหมาย และไม่รู้จะทำอย่างไร

ปี ๑๙๘๐ กลับไปวอชิงตัน เพื่อหาหมอและเข้าโปรแกรมบำบัดจนสามารถเลิกดื่มเหล้าเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๑๙๘๐ แล้วไม่เคยดื่มเหล้าแม้สักแก้วเดียวมาเป็นเวลา ๒๔ ปีกว่าแล้ว

หลังเลิกดื่มเหล้า จึงเริ่มพิจารณาทบทวนตัวเอง ทำไมตนเองถึงเป็นคนอย่างนี้ ปัญหาหลักคืออะไร ทำไมถึงไม่ชอบตัวเอง พบว่าการที่เป็นคนดูถูกตัวเอง เพราะคุณพ่อไม่เคยพอใจในสิ่งที่ทำเลย ทำให้หลายครั้งเวลาทำสิ่งดี ก็ยังไม่สบายใจ ต่อเมื่อเห็นแล้วว่าจะต้องปล่อยวางความรู้สึกเหล่านั้น จึงค่อยๆ ฝึกจิต แม้จะพูดเหมือนง่าย แต่ทำยาก เพราะความรู้สึกเก่าๆ เกิดเองดับเอง อยู่เหนือการควบคุม

นอกจากนี้ คุณเดวิดยังสนใจเรื่องการเลี้ยงเด็ก เคยไปสัมมนากับโจเซฟ เพียร์ซ เมื่อ ๑๐ ปีก่อน เรื่องวิธีสอนลูก และการพัฒนาของสมอง และเมื่อได้อ่านหนังสือขอเพียร์ซ ทำให้รู้ว่าการที่เป็นคนมีปัญหาสารพัด เพราะมีปัญหากับวิธีสอนของศาสนาที่ได้รับตอนเป็นเด็ก

หลังจากทำงานในซีไอเอนาน ๒๕ ปี จึงเกษียณก่อนกำหนด เมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่เห็นแก่ตัวของอเมริกา

คุณเดวิดมีความเห็นว่า ชาตินิยมเป็นความเห็นแก่ตัวของชนชาติหนึ่ง สังคมผม ประเทศผม ดีกว่าชาติของคุณ เช่นในวัฒนธรรมไทย คุณจะได้รับความเชื่อว่า คนไทยดีกว่าเขมร ลาว พม่า แล้วพม่าจะคิดว่า พม่าดีกว่าไทย ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ

ปี ๑๙๘๒ หลังจากเลิกดื่มเหล้า ๒ ปี ได้ไปฝึกสมาธิในวัดคริสต์ นาน ๓ เดือน รู้สึกมีประโยชน์มาก หลังจากนั้น จะตื่นนอนตี ๔ นั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง อ่านหนังสือก่อนไปทำงาน และเริ่มแสวงหาวิธีฝึกจิตจากทุกศาสนา ความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะพ่อไม่ค่อยอยู่บ้าน แม่เป็นนางพยาบาล ทำให้มีเวลาว่างเยอะ ดังนั้น จึงติดเป็นนิสัยศึกษาจากการอ่านหนังสือมาก หากสนใจเรื่องอะไร ก็จะอ่านหนังสือในเรื่องนั้นเยอะๆ

คุณเดวิดมีความเห็นว่า การเปลี่ยนตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา เพราะเราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ ถ้าเขาไม่ยอมเปลี่ยน เช่นเดียวกับปัญหาระหว่างประเทศ เกิดจากวิธีคิดที่ว่า ถ้าคนอื่นเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะเราดีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ดูว่า จะต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างไร เพราะการดูออกไปภายนอกเป็นเรื่องง่ายกว่า เหมือนกับปัญหายาเสพติด ยังไม่เคยได้ยินคำถามที่ว่า ทำไมคนถึงติดยาเสพติดมาก พูดแต่ว่าจะควบคุมอย่างไร จะฆ่า จะจับติดคุกอย่างไร ซึ่งไม่ช่วยแก้ปัญหา สังคมทั่วไปหรือสังคมโลกล้วนมีวิธีคิดแบบเดียวกัน แต่เราเปลี่ยนสังคมโลกไม่ได้ จึงต้องพยายามเปลี่ยนตัวเอง แล้วค่อยๆ ขยายออกไปอีก ๒-๓ คนเหมือน Individual - Node - Network ของคุณหมอประเวศ

ประสบการณ์ในการฝึกจิตหลายประการ ทำให้คุณเดวิดค้นพบว่า สัจธรรมมีความลึกซึ้งกว่าสิ่งที่สังเกตเห็นในชีวิตประจำวันเป็นอันมาก แต่ถ้าไม่ฝึกจิต จะมองไม่เห็น เหมือนอย่างที่คุณหมอประสานพูดเรื่องควอนตัมฟิสิกส์ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลเชื่อมโยงกัน ถ้าไม่เคยเห็นความจริงนั้น จะไม่เชื่อ

คุณเดวิดอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ได้ ๑๐ ปีแล้ว โดย ๒-๓ ปีแรก จะใช้เวลาในการอ่านหนังสือกับนั่งสมาธิมาก แต่หลังจากเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ต้องกลับไปสหรัฐเพื่อรักษาปีกว่า ประกอบเศรษฐกิจไทยตกต่ำ

ทำให้ครอบครัวลำบาก แต่วิกฤตในครั้งนั้น เป็นโอกาสดีมาก ที่ทำให้ต้องกลับมาพิจารณาชีวิตตนเอง

ว่าอะไรสำคัญ อะไรเป็นความจริง และพบว่าหลายเรื่องที่คิดว่าสำคัญมาก แต่เมื่อจะตาย เอาอะไรไปด้วยไม่ได้

ช่วยให้ตนเองปล่อยวางได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ยากสุด คือการปล่อยวางความคิดที่ว่า ผมเป็นตัวของผมเอง ถ้าอนัตตาเป็นสัจธรรมที่ลึกซึ้งที่สุด ทำไมทุกคนจึงยึดติดตัวเอง เป็นคำถามที่สำคัญมาก คนส่วนมากไม่อยากจะดู เพราะถ้าดูจะรู้สึกกลัวมาก แต่ถ้าปล่อยวางได้ จะเบาสบายมากเช่นกัน

เมื่อได้คิดเช่นนั้น จึงเริ่มมองว่า จะช่วยคนอื่นได้อย่างไร ด้วยความที่เป็นคนชอบอยู่เงียบๆ วิเวก และสบายๆ แต่อ่านหนังสือมากกว่าคนทั่วไป บางครั้งเมื่ออ่านแล้ว คิดว่าคนนั้นคนนี้น่าจะชอบหนังสือเล่มนั้น ก็จะส่งไปให้อ่าน

บังเอิญได้ไปประชุมชาวคริสต์ที่ชอบฝึกสมาธิ และพบกับภรรยาคุณหมอประสาน ระหว่างทานอาหารร่วมกัน ได้พูดถึง เคน วิลเบอร์ ภรรยาคุณหมอจึงบอกว่าควรจะรู้จักกัน จึงเขียนจดหมายแนะนำตัวเอง และนัดพบกันที่กรุงเทพฯ และเมื่อ ๘ ปีที่แล้ว คุณคุณหมอประเวศมาประชุมที่เชียงใหม่ ได้โทรศัพท์มาที่บ้าน บอกว่าคุณหมอประสานแนะนำว่าเราควรจะรู้จักกัน จึงติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดกันนับจากนั้นมา

คุณเดวิดมีความเห็นว่า ปัญหาหลักของโลก คือความคิดความเชื่อแบบขาว-ดำ Dualistic

โอซามา บินลาเดน กับ ยอช บุช เหมือนกัน ๑๐๐ เปอร์เซนต์ คือคิดว่า ปัญหาอยู่ที่ศัตรู ถ้าฆ่าศัตรูให้หมดทุกคน โลกจะมีสันติภาพ ถ้าวิธีคิดยังเป็นอย่างนี้ ในอนาคต โลกจะแตกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

อีกประการหนึ่ง สิ่งที่คนส่วนมากไม่คิดถึงคือ Collective of Unconsciousness หรือจิตใต้สำนึกส่วนรวม เช่น ในทุกสังคมจะมีปัญหาของตัวเอง แต่คนส่วนมากปฏิเสธ หรือไม่เห็น แม้มีคนชี้ให้เห็นปัญหา ก็จะไม่ยอมรับ เช่น คนติดเหล้า จะปฏิเสธว่าไม่มีปัญหา

Collective of Unconsciousness ที่ชาวอเมริกันส่วนมากยังไม่ยอมรับความจริง คือการพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม แต่คิดว่าแพ้เพราะฮิปปี้ต่อต้าน หรือไม่ได้ทำสงครามเต็มที่ หนังอย่างเช่น แรมโบ้ ที่ลอบเข้าไปในเวียดนามเพื่อช่วยเชลยสงครามชาวอเมริกัน เป็นหนังแฟนตาซีที่แสดงให้เห็นว่าอเมริกาไม่ได้แพ้

แต่ถ้าไม่ยอมรับว่าแพ้ อเมริกาจะไม่ได้รับบทเรียนจากสงครามนั้นเลย ว่าการพ่ายแพ้เป็นเพราะวิธีสู้ของเวียดนามและของอเมริกันแตกต่างกันมาก เหมือนกับสงครามอิรักในขณะนี้ วิธีรบของกองทัพอเมริกันยังเป็นแบบเดิม แม้จะมีอาวุธทันสมัยขึ้น เมื่ออเมริกันโจมตีอิรักในวันแรกๆ จะใช้เครื่องบินและจรวดโจมตีก่อน ซึ่งเป็นวิธีที่ฝึกไว้เพื่อรบกับรัสเซีย แต่กองทัพอิรักรบแบบผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่การประจันหน้ากันตามธรรมดา ทำให้อเมริกาลำบากมาก ในขณะนี้ ทหารอเมริกันกำลังรู้สึกโมโห หงุดหงิด จากการถูกยิงถูกระเบิดตายวันละ ๓-๔ คน การที่ ยอช บุช ได้รับเลือกตั้งแสดงว่า จิตใจของอเมริกันส่วนใหญ่ มีแต่ความโมโหมากขึ้น แต่ไม่ยอมรับว่ากลัว

คนอเมริกันใจร้อน แม้ว่าในบางครั้งจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้มีความพยายามมาก เชนประธานาธิบดีเคเนดี้บอกว่า จะส่งคนไปดวงจันทร์ ก็สามารถทำได้ภายในเวลาเพียง ๑๐ ปี แต่จุดอ่อนคือไม่มีความอดทน อยากจะแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว

การที่อเมริกาโจมตีเมืองแห่งหนึ่งในอิรักเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แสดงให้เห็นว่า ทหารอเมริกาอึดอัด อยากจะสู้แบบเก่า แต่ทหารอิรักไม่สู้แบบนั้น วิธีจัดการของอิรักเป็นควอนตัมฟิสิกส์ แต่วิธีของอเมริกันเป็นแบบนิวตัน เดคาร์ต

คุณเดวิดสงสัยว่า มีโอกาสที่อเมริกาจะโมโหจนถึงจุดระเบิด และทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ อาจจะเป็นอิหร่านหรือซีเรียก็ได้ แล้วทั่วโลกจะลุกเป็นไฟ ปัญหาน้ำมันจะเกิดขึ้นทั่วโลก ผู้คนจะก่อการจลาจล

ณ ช่วงเวลานั้น จะมีโอกาสดีสำหรับแนวคิดใหม่ด้วยเช่นกัน

จิตวิวัฒน์ในความแตกต่าง

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2549

ในเมืองไทยเวลานี้ หรือว่าเรากำลังมีความสับสนแบบฝรั่ง ในขณะที่ฝรั่งกำลังสับสนน้อยลงไปทุกทีกับคำว่า “จิตวิญญาณ หรือจิตวิวัฒน์” เมื่อแรกมีโครงการสุขภาวะทางจิตวิญญาณใน สสส. อันเป็นหน่วยงานที่ได้รับเงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่เพื่อมาสร้างสำนึกให้คนกินเหล้าน้อยลง สูบบุหรี่น้อยลง และมีสุขภาพดีขึ้น แต่แล้วผู้บริหาร สสส. ก็ไม่เข้าใจในคำว่า “จิตวิญญาณ” โดยกล่าวกันเล่นๆ ว่า “จิตวิญญาณ” แปลว่า “ผี” หรือเปล่า? อันนี้ก็น่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน เพราะว่าหมอสมัยใหม่ที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ (ที่อาจจะเป็นกระบวนทัศน์เก่า) นั้น อาจจะเป็นการยากสำหรับเขาที่จะเห็น รับรู้ ในเรื่องราวที่ลึกซึ้งกว่าความเป็นไปทางกายภาพล้วนๆ ออกไป คุณหมอประเวศ วะสี ก็พยายามช่วยโดยเปลี่ยนชื่อเป็น “การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ” แต่ตอนนี้แม้คำนี้ ว่ากันว่าหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่เข้าใจ? หรือว่ากรุงศรีอยุธยาสิ้นคนดีแล้วจริงๆ

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนจิตวิวัฒน์ที่เชียงรายและเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันอยู่นี้ กลับสวนกระแสกับบรรดาหมอๆ ที่เข้ามาบริหารโครงการสาธารณะทั้งหลายอย่างน่าประหลาดใจ เพื่อนคนหนึ่งที่สงขลาเขียนอีเมล์มาดังนี้ครับ

เรียน พี่ใหญ่,

ทางสงขลามีแนวคิดที่จะหาลูกค้าเพื่อเพิ่มโอกาสฝึกหัดการเป็นกระบวนกรมากขึ้น
และคิดว่าชื่อกลุ่มการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเรา
ยังไม่เป็นที่รู้จักมากที่นี่ แต่คนจะรู้จัก “จิตวิวัฒน์” มากกว่า
จึงเรียนมาเพื่อขออนุญาตอ้างอิงเพิ่มเติมว่าเป็นเครือข่าย
หรือแฟรนไชส์สังคมวิวัฒน์ ที่เชียงราย หากพี่ใหญ่ไว้วางใจ และอนุญาตแล้ว
นุชก็จะทำการประชาสัมพันธ์ตั้งแต่บัดนี้ไปค่ะ
และขอขอบคุณที่ครอบครัวใหญ่ที่เชียงรายให้โอกาสแก่พวกเราผู้น้อย
มิฉะนั้นก็ไม่มีครอบครัวน้อยแตกหน่อที่สงขลาเวลานี้
เดือนสิงหาคมนี้ก็ครบ 1 รอบที่เราได้รวมตัวเพื่อปฏิบัติการร่วมกัน

ด้วยความเคารพรักอย่างสูงค่ะ
นุชและทีม


อันนี้ก็นับว่าแปลก อย่างเป็นการสวนทางกันเลยโดยสิ้นเชิง เพราะว่าในแวดวงคนทำความดีดังกล่าว คำว่า “พัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ” ก็ยังยากเกินไปสำหรับบางคน คุณหมอประเวศ วะสี ก็พยายามแปลต่อไปให้เป็นเพียงการดูแลสุขภาพอย่างเป็นมนุษย์ แต่ทางสงขลาบอกว่า “จิตวิวัฒน์” เป็นที่เข้าใจได้มากกว่า มีเสน่ห์กว่า “การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์” อันนี้หมายความว่าอย่างไร?

ผมอยากจะลองมองเรื่องนี้ในแง่มุมของการจัดการความรู้ดูบ้าง ผมเคยเขียนไว้ในการรับรู้เรียนรู้ว่า

“อดีตของปฏิสัมพันธ์ที่บันทึกอยู่ในโครงสร้าง กระบวนการและแบบแผนในระบบชีวิต เป็นโลกที่ชีวิตก่อกำเนิดขึ้นมา โลกนั้นจำเป็นต้องมีก่อนที่มาของการรับรู้เรียนรู้ใดๆ แต่การที่จะดำรงความเป็นอิสระในการเรียนรู้และวิวัฒนาต่อไป ชีวิตต้องเปิดให้กับกาละแห่งการเรียนรู้และไม่ตกเข้าไปอยู่ในกาละแห่งการปกป้องตัวเอง ปกป้องโลกใบเดิม โดยไม่ปล่อยให้มีการวิวัฒนาของโลกภายในของระบบชีวิตใบนั้น


“ความกล้าที่จะเผชิญความผันผวนปั่นป่วนเป็นโอกาสที่ดีของการเรียนรู้ และวิวัฒนาโลกแห่งความเป็นจริงภายในที่เราสร้างขึ้นมาให้กว้างไกลลุ่มลึกยิ่งขึ้น แต่ทำไมหลายๆ ครั้ง เราจึงตกไปอยู่ในกาละแห่งการปกป้องตัวเอง มีอะไรที่เราควรจะเรียนรู้หรือไม่ ที่จะทำให้เราสามารถคลี่คลายตัวเราเองออกจากกาละแห่งการปกป้องตัวเอง ไปสู่กาละแห่งการเปิดออกและพร้อมที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้น โลกใบเก่า แห่งโครงสร้าง กระบวนการและแบบแผน มีส่วนขัดขวางเราอย่างไรหรือไม่ ที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงอิสระที่เราสมควรจะเข้าถึงได้”


ข้อสรุปตรงนี้ทำให้เห็นว่า ชีวิตจะเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องราวใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้ ชีวิตจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง หรือเปิดให้รับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หรือเปิดให้กับอิทธิพลที่เรื่องราวหรือผู้คนอาจก่อเกิดได้ในตัวเรา

หนึ่ง แนวคิดของคนรุ่นก่อน หกสิบขึ้นไป บางทีอาจจะโน้มเอียงไปในทางการจัดการที่อาจจะหมายถึงการกำหนดวาระ ประเด็น หนทาง และควบคุมจัดการให้เป็นไปตามแนวทางนั้นๆ ตลอดจนในแนวคิดเก่าที่เชื่อความลดหลั่นของสติปัญญา ก็อาจจะเชื่อในระบบชนชั้นนิยมเพิ่มเติมเข้าไปอีก เป็นว่าชนชั้นนำจะต้องเข้ามากำหนดวาระ ประเด็น ความคุมผู้คนให้เกิดความดีงาม สิ่งที่เราค้นพบในจิตวิวัฒน์เชียงรายดำเนินไปอย่างเป็นตรงกันข้าม กล่าวคือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนานั้น เราค้นพบมากยิ่งขึ้นทุกทีว่า ความเหลื่อมล้ำทางสติปัญญานั้น เป็นมายาการที่ชนชั้นนำสร้างขึ้น เราค้นพบว่า เมื่อมนุษย์ค้นพบศักยภาพแห่งการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เส้นแบ่งกั้นระดับสติปัญญาก็มลายหายสูญ เป็นประสบการณ์ที่พานพบจริงในการทำงานกระบวนการเรียนรู้ทุกๆ ครั้งไป

สอง ในวงการทำความดี หรือในบรรดาองค์กรที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร ส. ต่างๆ ทำไมผู้คนจึงจำกัดอยู่ในแวดวงคนทำอาชีพหมอ เป็นความคิดเรื่องชนชั้นนำ หรือความเหลื่อมล้ำทางสติปัญญาหรือเปล่า หรือว่าจะเป็นเพราะความคุ้นเคยที่ดำรงอยู่ในแวดวงของตัวเอง และไม่ยอมเข้าไปในที่ที่ไม่สะดวกสบาย ที่ที่รู้สึกไม่ปลอดภัย เพื่อขยายโลกของตัวเองให้กว้างออกไป? พวกคนที่คิดว่าตนเองมีปัญญา คือผู้คนที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดจากการเรียนรู้หรือเปล่า? และการเรียนรู้ของพวกเขาเป็นเหมือนการจดจำเนื้อหา มากกว่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายใน หากพวกเขาต้องการควบคุมสร้างอิทธิพลให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงตามแนวความคิดของตนเท่านั้น

สาม มีประเด็นเรื่องการผูกพันตัวเองเข้าไปในกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเอง (engaged spirituality) ผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมิติทางจิตวิญญาณ ที่แปลงจากภาษาอังกฤษว่า Spiritual Dimension ทุกคนจะผูกพันตัวเองเข้ากับการเปลี่ยนแปลง ไม่แยกตัวออกจากการเปลี่ยนแปลงนั้น คือผู้สังเกตไม่แยกออกจากสิ่งที่ถูกสังเกต เมื่อผูกพันตัวเองเข้ากับการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะต้องเข้าสังกัด อย่างน้อยก็ในใจตัวเอง ไม่ต้องสังกัดองค์กรจัดตั้งอันใดก็ได้ แต่เพียงผูกพันตัวเองเข้ากับวิถีหนึ่งใด ลัทธิหรือสำนักหรือความเชื่อหรือสมมติฐานหนึ่งใด และเติบโตจากพื้นดินอันอุดมที่ตนเลือกนั้นๆ แต่ถ้าไม่เลือก และช็อปปิ้งไปเรื่อยๆ อะไรจะเกิดขึ้น มันแตกต่างกันอย่างไรกับการลงลึกเข้าไปในวิถีใดวิถีหนึ่ง สิ่งที่จิตวิวัฒน์เชียงรายเลือก นั่นคือการเข้าไปผูกพันในวิถีหนึ่งใด แล้วใช้ฐานของวิถีนั้นๆ เปิดรับวิถีอื่นๆ ทุกเรื่อง แปลกที่เมื่อลงลึกมากขึ้นเท่าไร กลับยิ่งรับวิถีอื่นๆ ได้มากขึ้น (อันนี้เกิดขึ้นเมื่อ โทมัส เมอตัน บาทหลวงคาทอลิก ฤษีชาวคริสต์ยุคใหม่ ได้แปลบทกวีของจางจื๊อด้วยรหัสยนัย) และเราได้พบว่า โลกกำลังเคลื่อนกระบวนทัศน์ไปทางเดียวกันทั้งหมด บรรดาความรู้ที่พรมแดนทั้งหลายในทุกวิชาชีพกำลังมุ่งตรงไปในทางเดียวกัน นั้นคือทิศทางแห่งจิตวิวัฒน์

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบางส่วน (ไม่ใช่ทั้งหมด) ในเวทีจิตวิวัฒน์ที่กรุงเทพฯ ก็คือเรากำลังมองความรู้อย่าง explicit (คือมองสิ่งต่างๆ จากภายนอก จากที่เห็นได้ด้วยอายตนะหรือประสาทสัมผัส) หรือมองอย่างเป็น content-based คือเพ่งไปที่ตัวความคิดหรือตัวศาสตร์ แต่เราไม่ได้มองมันอย่างเป็นกระบวนการ หรือ process-based หรือในเชิงศิลปะ หรือในเชิงการเข้าไปสู่วิถีการปฏิบัติ เมื่อเข้าไปสู่วิถีการปฏิบัติอันลุ่มลึก เป็น Phronesis (ปัญญาเชิงปฏิบัติ) อันมี tacit knowledge (คือความรู้ที่จะเข้าใจได้ ต้องเข้าไปสัมผัสตรงในบรรดาสิ่งที่ถอดความออกมาเป็นภาษา ความคิด และถ้อยคำไม่ได้) ตามแนวความคิดของอริสโตเติลเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว เราจะเห็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของความรู้และเทคนิควิธีการของโลกทั้งโลกเป็นเรื่องเดียวกัน เราจะได้หยุดช็อปปิ้งและลงลึกเรื่องการปฏิบัติกันให้มากขึ้นเสียที

ที่ทุกข์เพราะใช้กิเลสเป็นเหตุผล

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2549

การพบปะสนทนาของสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนได้มี “ผู้เล่าเรื่อง” คือ อาจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ มาแบ่งปันประสบการณ์ที่แสนประทับใจ เกี่ยวกับการเดินทางไกล ๖๐ วัน เพื่อค้นพบแก่นแท้ของชีวิตและสาระหลักของความเป็นมนุษย์

บนเส้นทางการเดินจากจังหวัดเชียงใหม่สู่เกาะสมุย ดร.ประมวล ไม่มีเงินและสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เขาเดินผ่านดอยสูง ป่าทึบ และถนนที่ร้อนด้วยแดดแผดเผา ทุกขเวทนาเพิ่มพูนขึ้นในแต่ละวันจนร่างกายอ่อนล้า แต่ในความยากเข็ญนั้น จิตใจของเขาเข้มแข็ง และได้ฝึกสติภาวนาอย่างแน่วแน่

ดร.ประมวลได้เกิดจิตสำนึกใหม่ และได้รับบทเรียนมากมายจากการเดินทางในแต่ละวัน การผจญกับความหนาวเย็นแล้วก็เปลี่ยนเป็นแล้งร้อน ความอดทนต่อความหิว เจ็บปวดจนเหมือนกับจะสิ้นใจตาย การเรียนรู้จากสุนัข ไส้เดือน มด งู และจากขอทาน คนขายก๋วยเตี๋ยว แม่ค้ากล้วยปิ้ง ลูกศิษย์วัด ฯลฯ ทุกบทเรียนดังกล่าวได้สอนว่าชีวิตนี้มีคุณค่า ทุกชีวิตล้วนพึ่งพาและเกื้อกูลกัน

“เรื่องเล่า” ในกลุ่มจิตวิวัฒน์วันนั้น ได้จุดประกายความคิดให้สมาชิกของกลุ่มพยายามละวางจากห่วงโซ่ของความอยากมีอยากเป็น ขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นมากขึ้น ความว่างที่เกิดจากการปล่อยวาง และลดความห่วงกังวลทั้งหลาย น่าจะนำไปสู่อิสรภาพที่มนุษย์แสวงหา แม้กระนั้นความสัมพันธ์อันเอื้อสุขแก่สังคมก็ยังมีคุณค่าต่อชีวิต นี่คือเหตุผลที่มนุษย์ต้องหมั่นฝึกสติ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นการภาวนาอย่างแน่วแน่ในชีวิตประจำวัน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เอ่ยข้อความหนึ่งในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งสับสนกันอยู่ขณะนี้ ก็เพราะเราต่างก็ยึดประโยชน์ตน และใช้กิเลสเป็นเหตุผล

คำว่า เหตุผล มีความหมายแตกต่างจากเหตุและผล เหตุผลเป็นหลักคิดและข้ออ้างที่สนับสนุนความคิด การกระทำของบุคคล ในขณะที่เหตุและผล เป็นปัจจัยที่เอื้อและเชื่อมโยงกัน เมื่อเหตุเป็นเช่นใด ผลที่ตามมาก็เป็นเช่นนั้น เหตุและผลเป็นหลักธรรมและหลักกรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

เหตุผลในวิถีชีวิตจึงน่าจะมี ๒ ลักษณะ คือเหตุผลที่มีฉันทะเป็นฐาน กับเหตุผลที่ใช้ตัณหาเป็นฐาน

ฉันทะ เป็นความต้องการ ความพอใจ และใฝ่ใจที่จะทำความดี ปฏิบัติในทางที่เป็นกุศล เพื่อให้เกิดผลดี มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ตัณหา เป็นความทะยานอยากที่สนองความใคร่ได้ใคร่ดีที่ไม่มีสิ้นสุด อยากได้ อยากมี อยากเป็น เพียงเพื่อตัวเองเป็นสำคัญ นอกจากอยากแล้ว ยังยึดติดที่จะครอบครองหวงแหนเอาไว้ จนพร้อมทุกเมื่อที่ต้องทำลายคนอื่น ทำลายธรรมชาติ ทำลายระบบที่ดี พฤติกรรมของคนที่มีตัณหา จึงเป็นปัญหา นำไปสู่ความวิบัติของตนเองและส่วนรวม

ผู้เขียนอยากยกตัวอย่างเหตุการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ แต่ก็มีเหตุผล ที่ไม่อยากเขียนถึง จึงขอยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้มาพิจารณา

พระสงฆ์รูปหนึ่ง นอนบนโลงผีเพื่อแสดงความเคร่งและความขลัง
พระรูปนี้ให้เลขเด็ดแก่ชาวบ้าน ตรงกับหวยที่ออกมาหลายงวด
ชาวบ้านนับร้อยแห่กันไปขอเลขหวย และซื้อเลข ๕๕๘ จนเกลี้ยงตลาด
หวยไม่ออกตามที่พระบอกใบ้
แม้กระนั้นชาวบ้านก็พากันไปขอเลขหวยอย่างไม่ลดละ
งวดต่อไป เลขที่ออกก็ไม่ตรงอยู่ดี
ความทราบถึงองค์กรปกครอง จึงสั่งอัปเปหิพระรูปนี้ออกไปจากวัด
เจ้าอาวาสไปขอร้องเจ้าคณะจังหวัดให้พระใบ้หวยอยู่ต่อเพราะการก่อสร้างถาวรวัตถุในวัดยังค้างอยู่
ชาวบ้านชุมนุมกันคัดค้านการย้ายวัด และโจมตีสื่อมวลชนดุเดือด
วัดอื่นๆ ต่างเชิญชวนพระใบ้หวยไปอยู่ที่วัดของตน
ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าท่านย้ายไปอยู่ที่ไหน แต่ให้ข่าวว่าจะให้หวยต่อไป
ชาวพุทธทั้งหลายรู้ข่าวนี้ก็ได้แต่บ่น ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดใด


ผู้คนแต่ละคนแต่ละกลุ่มในกรณีข้างต้น คิดและทำอะไรอย่างไรก็ล้วนมีเหตุผลทั้งสิ้น เพียงแต่เราจะตัดสินได้ว่า เหตุผลหลักและเหตุผลย่อยๆ ที่ประกอบกันเป็นพฤติกรรมนั้นๆ เกิดจากสัมมาทิฐิ หรือมิจฉาทิฐิ การกระทำเช่นไรที่นำไปสู่ความเจริญหรือความวิบัติ

ย้อนกลับไปสู่ “เรื่องเล่า” ของ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อีกครั้งหนึ่ง ทุกคนในกลุ่มจิตวิวัฒน์ฝึก “การฟังอย่างแน่วแน่” ฟังและติดตามการเดินทางของผู้เล่าเรื่องโดยไม่สะดุดกับการคิดหาเหตุผล การฟังด้วยจิตว่าง ทำให้ผู้ฟังหลุดพ้นจากความคุ้นชินเดิมๆ

ในความเคยชิน เรามักนำเอาประสบการณ์เดิมของตนเองไปเปรียบกับเรื่องที่กำลังฟัง ทำให้เกิดความสงสัย เกิดคำถามว่าทำไมๆ จึงเป็นอย่างนั้น บางครั้งก็รู้สึกว่าไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปได้ ความเคยชินเช่นนี้ทำให้สมาธิของการฟังสะดุด และการรับรู้เรื่องเล่าจะขาดตอนเป็นห้วงๆ ด้วยเหตุนี้ การฟังเรื่องเล่าต้องมีศรัทธาและสมาธิ จึงจะได้รับสาระและอรรถรสอย่างลึกซึ้ง

ชีวิตนี้จะเอาอะไรหนักหนา ชีวิตที่เหลวไหลสุดโต่งเป็นไม้หลักปักเลน ก็เลื่อนลอยไร้ค่า ชีวิตที่ยึดติดกับหลักการและเหตุผลจนเถียงกันไม่รู้จบ ก็มีแต่ความเครียดและอหังการเข้าข้างตนเอง การดำเนินชีวิตตามทางสายกลางให้เหมาะสมกับจังหวะ และมุ่งสู่ความสงบสุข จึงน่าจะเป็นทางเลือกบนฐานแห่งธรรม

เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เดือนที่พสกนิกรชาวไทยมีความปีติโสมนัสอย่างล้นเหลือกำลังจะผ่านไป เมฆทะมึนแห่งเหตุการณ์น่าหวั่นวิตกในเดือนกรกฎาคมก็ค่อยๆ เคลื่อนเข้ามา แม้กระนั้นก็ยังมีช่วงเวลาแห่งบุญกุศลให้เราได้น้อมจิตใจบูชาเป็นที่ระลึกที่พึ่ง คือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา

ขอเชิญทุกท่านปวารณาตัวโดยมีสัมมาทิฐิเป็นที่ตั้ง แผ่เมตตาให้มวลสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ใช้กิเลสเป็นเหตุผล ลดความเห็นแก่ตัว พูดน้อยลง ฟังมากขึ้น ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อสังคมไทยจะประคองตัวอยู่ได้ ท่ามกลางความผันผวนและวิกฤติการณ์

กบที่ว่ายเล่นเริงร่าอยู่ในหม้อต้ม มันหลงคิดอย่างมีความสุขว่าน้ำอุ่นสบาย กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว เมื่อน้ำเดือดเลยกลายเป็นกบต้มสุกอยู่คาหม้อ

กิเลสตัณหานั้นเหมือนไฟ น้ำเป็นสิ่งล่อเย้ายวนให้ติดใจในอำนาจและลาภยศ หม้อน้ำก็คือผู้คนที่แวดล้อมหวังประโยชน์คอยสรรเสริญให้ลืมตัว คนที่มีจิตสำนึกและมีสติรู้คิดก็จะรีบออกมาเสียจากความวิบัตินั้น เขาจึงรอดปลอดภัย ส่วนคนที่ยังหลงติดกับอำนาจอยู่ เขาย่อมทุกข์อย่างแสนสาหัส แม้จะทำหน้าชื่นก็อกตรม

บอกจนอย่างนี้แล้วยังไม่รู้จักละวางอีกหรือ ?

Back to Top