ที่ทุกข์เพราะใช้กิเลสเป็นเหตุผล

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2549

การพบปะสนทนาของสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนได้มี “ผู้เล่าเรื่อง” คือ อาจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ มาแบ่งปันประสบการณ์ที่แสนประทับใจ เกี่ยวกับการเดินทางไกล ๖๐ วัน เพื่อค้นพบแก่นแท้ของชีวิตและสาระหลักของความเป็นมนุษย์

บนเส้นทางการเดินจากจังหวัดเชียงใหม่สู่เกาะสมุย ดร.ประมวล ไม่มีเงินและสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เขาเดินผ่านดอยสูง ป่าทึบ และถนนที่ร้อนด้วยแดดแผดเผา ทุกขเวทนาเพิ่มพูนขึ้นในแต่ละวันจนร่างกายอ่อนล้า แต่ในความยากเข็ญนั้น จิตใจของเขาเข้มแข็ง และได้ฝึกสติภาวนาอย่างแน่วแน่

ดร.ประมวลได้เกิดจิตสำนึกใหม่ และได้รับบทเรียนมากมายจากการเดินทางในแต่ละวัน การผจญกับความหนาวเย็นแล้วก็เปลี่ยนเป็นแล้งร้อน ความอดทนต่อความหิว เจ็บปวดจนเหมือนกับจะสิ้นใจตาย การเรียนรู้จากสุนัข ไส้เดือน มด งู และจากขอทาน คนขายก๋วยเตี๋ยว แม่ค้ากล้วยปิ้ง ลูกศิษย์วัด ฯลฯ ทุกบทเรียนดังกล่าวได้สอนว่าชีวิตนี้มีคุณค่า ทุกชีวิตล้วนพึ่งพาและเกื้อกูลกัน

“เรื่องเล่า” ในกลุ่มจิตวิวัฒน์วันนั้น ได้จุดประกายความคิดให้สมาชิกของกลุ่มพยายามละวางจากห่วงโซ่ของความอยากมีอยากเป็น ขณะเดียวกัน ก็พร้อมที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นมากขึ้น ความว่างที่เกิดจากการปล่อยวาง และลดความห่วงกังวลทั้งหลาย น่าจะนำไปสู่อิสรภาพที่มนุษย์แสวงหา แม้กระนั้นความสัมพันธ์อันเอื้อสุขแก่สังคมก็ยังมีคุณค่าต่อชีวิต นี่คือเหตุผลที่มนุษย์ต้องหมั่นฝึกสติ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นการภาวนาอย่างแน่วแน่ในชีวิตประจำวัน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้เอ่ยข้อความหนึ่งในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งสับสนกันอยู่ขณะนี้ ก็เพราะเราต่างก็ยึดประโยชน์ตน และใช้กิเลสเป็นเหตุผล

คำว่า เหตุผล มีความหมายแตกต่างจากเหตุและผล เหตุผลเป็นหลักคิดและข้ออ้างที่สนับสนุนความคิด การกระทำของบุคคล ในขณะที่เหตุและผล เป็นปัจจัยที่เอื้อและเชื่อมโยงกัน เมื่อเหตุเป็นเช่นใด ผลที่ตามมาก็เป็นเช่นนั้น เหตุและผลเป็นหลักธรรมและหลักกรรมที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

เหตุผลในวิถีชีวิตจึงน่าจะมี ๒ ลักษณะ คือเหตุผลที่มีฉันทะเป็นฐาน กับเหตุผลที่ใช้ตัณหาเป็นฐาน

ฉันทะ เป็นความต้องการ ความพอใจ และใฝ่ใจที่จะทำความดี ปฏิบัติในทางที่เป็นกุศล เพื่อให้เกิดผลดี มีความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ตัณหา เป็นความทะยานอยากที่สนองความใคร่ได้ใคร่ดีที่ไม่มีสิ้นสุด อยากได้ อยากมี อยากเป็น เพียงเพื่อตัวเองเป็นสำคัญ นอกจากอยากแล้ว ยังยึดติดที่จะครอบครองหวงแหนเอาไว้ จนพร้อมทุกเมื่อที่ต้องทำลายคนอื่น ทำลายธรรมชาติ ทำลายระบบที่ดี พฤติกรรมของคนที่มีตัณหา จึงเป็นปัญหา นำไปสู่ความวิบัติของตนเองและส่วนรวม

ผู้เขียนอยากยกตัวอย่างเหตุการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ แต่ก็มีเหตุผล ที่ไม่อยากเขียนถึง จึงขอยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้มาพิจารณา

พระสงฆ์รูปหนึ่ง นอนบนโลงผีเพื่อแสดงความเคร่งและความขลัง
พระรูปนี้ให้เลขเด็ดแก่ชาวบ้าน ตรงกับหวยที่ออกมาหลายงวด
ชาวบ้านนับร้อยแห่กันไปขอเลขหวย และซื้อเลข ๕๕๘ จนเกลี้ยงตลาด
หวยไม่ออกตามที่พระบอกใบ้
แม้กระนั้นชาวบ้านก็พากันไปขอเลขหวยอย่างไม่ลดละ
งวดต่อไป เลขที่ออกก็ไม่ตรงอยู่ดี
ความทราบถึงองค์กรปกครอง จึงสั่งอัปเปหิพระรูปนี้ออกไปจากวัด
เจ้าอาวาสไปขอร้องเจ้าคณะจังหวัดให้พระใบ้หวยอยู่ต่อเพราะการก่อสร้างถาวรวัตถุในวัดยังค้างอยู่
ชาวบ้านชุมนุมกันคัดค้านการย้ายวัด และโจมตีสื่อมวลชนดุเดือด
วัดอื่นๆ ต่างเชิญชวนพระใบ้หวยไปอยู่ที่วัดของตน
ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าท่านย้ายไปอยู่ที่ไหน แต่ให้ข่าวว่าจะให้หวยต่อไป
ชาวพุทธทั้งหลายรู้ข่าวนี้ก็ได้แต่บ่น ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดใด


ผู้คนแต่ละคนแต่ละกลุ่มในกรณีข้างต้น คิดและทำอะไรอย่างไรก็ล้วนมีเหตุผลทั้งสิ้น เพียงแต่เราจะตัดสินได้ว่า เหตุผลหลักและเหตุผลย่อยๆ ที่ประกอบกันเป็นพฤติกรรมนั้นๆ เกิดจากสัมมาทิฐิ หรือมิจฉาทิฐิ การกระทำเช่นไรที่นำไปสู่ความเจริญหรือความวิบัติ

ย้อนกลับไปสู่ “เรื่องเล่า” ของ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อีกครั้งหนึ่ง ทุกคนในกลุ่มจิตวิวัฒน์ฝึก “การฟังอย่างแน่วแน่” ฟังและติดตามการเดินทางของผู้เล่าเรื่องโดยไม่สะดุดกับการคิดหาเหตุผล การฟังด้วยจิตว่าง ทำให้ผู้ฟังหลุดพ้นจากความคุ้นชินเดิมๆ

ในความเคยชิน เรามักนำเอาประสบการณ์เดิมของตนเองไปเปรียบกับเรื่องที่กำลังฟัง ทำให้เกิดความสงสัย เกิดคำถามว่าทำไมๆ จึงเป็นอย่างนั้น บางครั้งก็รู้สึกว่าไม่น่าเชื่อว่าเป็นไปได้ ความเคยชินเช่นนี้ทำให้สมาธิของการฟังสะดุด และการรับรู้เรื่องเล่าจะขาดตอนเป็นห้วงๆ ด้วยเหตุนี้ การฟังเรื่องเล่าต้องมีศรัทธาและสมาธิ จึงจะได้รับสาระและอรรถรสอย่างลึกซึ้ง

ชีวิตนี้จะเอาอะไรหนักหนา ชีวิตที่เหลวไหลสุดโต่งเป็นไม้หลักปักเลน ก็เลื่อนลอยไร้ค่า ชีวิตที่ยึดติดกับหลักการและเหตุผลจนเถียงกันไม่รู้จบ ก็มีแต่ความเครียดและอหังการเข้าข้างตนเอง การดำเนินชีวิตตามทางสายกลางให้เหมาะสมกับจังหวะ และมุ่งสู่ความสงบสุข จึงน่าจะเป็นทางเลือกบนฐานแห่งธรรม

เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เดือนที่พสกนิกรชาวไทยมีความปีติโสมนัสอย่างล้นเหลือกำลังจะผ่านไป เมฆทะมึนแห่งเหตุการณ์น่าหวั่นวิตกในเดือนกรกฎาคมก็ค่อยๆ เคลื่อนเข้ามา แม้กระนั้นก็ยังมีช่วงเวลาแห่งบุญกุศลให้เราได้น้อมจิตใจบูชาเป็นที่ระลึกที่พึ่ง คือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา

ขอเชิญทุกท่านปวารณาตัวโดยมีสัมมาทิฐิเป็นที่ตั้ง แผ่เมตตาให้มวลสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ใช้กิเลสเป็นเหตุผล ลดความเห็นแก่ตัว พูดน้อยลง ฟังมากขึ้น ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อสังคมไทยจะประคองตัวอยู่ได้ ท่ามกลางความผันผวนและวิกฤติการณ์

กบที่ว่ายเล่นเริงร่าอยู่ในหม้อต้ม มันหลงคิดอย่างมีความสุขว่าน้ำอุ่นสบาย กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว เมื่อน้ำเดือดเลยกลายเป็นกบต้มสุกอยู่คาหม้อ

กิเลสตัณหานั้นเหมือนไฟ น้ำเป็นสิ่งล่อเย้ายวนให้ติดใจในอำนาจและลาภยศ หม้อน้ำก็คือผู้คนที่แวดล้อมหวังประโยชน์คอยสรรเสริญให้ลืมตัว คนที่มีจิตสำนึกและมีสติรู้คิดก็จะรีบออกมาเสียจากความวิบัตินั้น เขาจึงรอดปลอดภัย ส่วนคนที่ยังหลงติดกับอำนาจอยู่ เขาย่อมทุกข์อย่างแสนสาหัส แม้จะทำหน้าชื่นก็อกตรม

บอกจนอย่างนี้แล้วยังไม่รู้จักละวางอีกหรือ ?

Back to Top