มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
บทความนี้ วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ ได้เคยสัมภาษณ์ไว้ช่วงวันที่ ๒๔ - ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗ แม้เวลาจะผ่านไปสองปี แต่ก็ยังคงความน่าอ่านไว้อยู่มาก ควรที่จะนำมาต่อยอดเรียนรู้กันได้อีก และเนื่องจากบทความค่อนข้างยาว จึงแบ่งไว้เป็นสองตอน
การจะเข้าใจความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องจิตวิญญาณ มีความจำเป็นต้องเข้าใจประวัติของคนคนนั้น ว่ามีความเป็นมาอย่างไร จึงจะเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารออกมา
คุณเดวิด สปิลเลนจึงเล่าประวัติตัวเองเพื่อเป็นตัวอย่าง ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในชีวิต
พ่อแม่ของคุณเดวิดเป็นชาวคาธอลิก ที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่เป็นแบบโบราณ คุณพ่อเป็นคนขี้โมโห เคยติดเหล้า ทำให้ที่บ้านมีปัญหามาตลอด เพราะเมื่อพ่อเมา จะโมโหมาก ทำให้ทุกคนกลัว เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตของคุณเดวิดเป็นอย่างมาก
เมื่อเติบโตขึ้น คุณเดวิดเข้าศึกษาในโรงเรียนคาธอลิก ผู้ชายล้วน ซึ่งเข้มงวดมาก ทำให้เป็นคนมีวินัย แต่ข้อเสียคือมีวิธีการสอนแบบคับแคบเกินไป
คุณเดวิด มีผลการเรียนที่ดี และเล่นกีฬาเก่ง แต่พ่อไม่เคยพอใจ แม้จะทำอย่างดีที่สุดแล้ว เช่น ถ้าสอบได้๙๕ คะแนน ก็จะถามว่าทำไมไม่ได้ ๑๐๐ คะแนน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ
เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี อยากจะเป็นพระคริสต์ และเป็นนักกีฬาดัง ในเวลาเดียวกัน แต่พ่อแม่อยากให้เรียนมหาวิทยาลัย เมื่อได้รับทุน จึงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย แต่ยังอยากจะเป็นพระ
ดังนั้น เมื่อเรียนไปได้ ๑ ปี จึงขออนุญาตพ่อแม่ไปเรียนเพื่อเป็นบาทหลวงคริสต์ แต่เรียนได้เพียง ๒ ปี จาก ๙ ปี ก็ตัดสินใจได้ว่าไม่เหมาะกับตนเอง เพราะชอบผู้หญิงมากเกินไป รู้สึกผิดหวังในตัวเอง และเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจของคุณเดวิด
จึงกลับไปเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เพราะดื่มเหล้าและเที่ยวผู้หญิงมากเกินไป สุดท้ายจึงสอบตก ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย
ปี ค.ศ. ๑๙๖๑ ไปสมัครเป็นทหาร เพราะผู้ชายทุกคนในครอบครัวของคุณเดวิดล้วนเคยเป็นทหาร คิดว่าการป้องกันประเทศ เป็นหน้าที่ของทุกคน พี่ชายเป็นทหารเรือนาน ๒๐ ปี และลุงเคยไปสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามเกาหลี
คุณเดวิดสมัครเป็นเป็นทหารบก ศึกษาภาษาเวียดนาม แล้วทำงานเป็นทหารหน่วยข่าวกรองในสงครามเวียดนาม ๒ ปี มีหน้าที่สัมภาษณ์เชลยสงคราม ทำให้มีโอกาสเดินทางไปหลายแห่ง
ปี ๑๙๖๕ มาเมืองไทยครั้งแรก ขณะเป็นทหารที่เวียดนาม มีนิสัยชอบอาละวาด เพราะความกลัวตาย แต่ทหารส่วนมากไม่ยอมรับว่าตัวเองกลัว เลยแสดงออกด้วยอาการบ้าๆ บอๆ
หลังจากเป็นทหารได้ ๖ ปี จึงลาออกจากทหาร ตำแหน่งสุดท้ายเป็นจ่า ทั้งที่เดิมคิดจะเป็นทหารอาชีพ แต่เห็นว่านายทหารโง่มาก จึงไม่ต้องการถูกคนโง่สั่งการและไม่สามารถปฏิเสธได้
อย่างไรก็ตาม ชีวิตทหารทำให้เป็นคนมีวินัย เมื่อกลับไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอีก ๒ ปี จึงเรียนได้ดีมาก โดยที่ไม่ได้ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เพราะคุณเดวิดเป็นนักศึกษาเพียงคนเดียวที่เคยเป็นทหาร ภายใต้บรรยากาศการต่อต้านสงครามในมหาวิทยาลัยที่เข้มข้นมาก
คุณเดวิดไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมต่อต้านสงครามในขณะนั้น เพราะคิดว่าคนส่วนมากไม่เข้าใจสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง คิดแบบชาตินิยม แต่ขณะนี้ ได้เปลี่ยนความคิดหมดแล้ว เพราะเห็นว่าชาตินิยมเป็นอัตตาของกลุ่ม ประเทศผมดีกว่าประเทศคุณ ถ้าไม่ชอบ จะต้องฆ่ากัน
เมื่อเรียนจบ ซีไอเอติดต่อให้ไปทำงานด้วย เพราะต้องการคนมีประสบการณ์ และพูดภาษาเวียดนามได้
จึงกลับไปอยู่เวียดนามอีก ๓ ปี
แต่งงานกับคนอเมริกันที่เรียนด้วยกัน แต่มีปัญหาหลายอย่าง เพราะงานซีไอเอเหมือนกับทหาร ต้องเดินทางไปตามคำสั่งตลอดเวลา
ปี ๑๙๗๔ เมื่อเดินทางไปเขมร เป็นปีสุดท้ายก่อนเขมรแตก ภรรยาไม่ค่อยสบายใจ เพราะช่วงนั้น ครอบครัวไปอยู่ด้วยไม่ได้ เนื่องจากอันตรายมาก เมื่อเขมรแดงชนะ จึงอพยพไปเวียดนาม ๒ - ๓ อาทิตย์ ในเดือนสุดท้ายของสงคราม ก่อนอพยพกลับสหรัฐ ๑๐ วัน ก่อนเวียดกงประกาศชัยชนะ
เมื่อเดินทางกลับสหรัฐ คุณเดวิดกลายเป็นคนติดเหล้า อันเป็นอาการเหมือนทหารเก่าส่วนใหญ่ เพราะเคยมีประสบการณ์ที่โหดเหี้ยม แต่ไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้ ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทุกคนต้อนรับทหารผ่านศึกราววีรบุรุษ แต่สงครามเวียดนาม ประชาชนอเมริกาส่วนมากไม่สนับสนุน จนไม่มีใครอยากจะใส่เครื่องแบบทหาร
ปี ๑๙๗๖ มาทำงานที่สถานทูตในกรุงเทพฯ (เป็นซีไอเอ ๒๕ ปี) ประมาณ ๓ อาทิตย์ก่อน ๖ ตุลาคม อยู่ในค่ายผู้อพยพญวน ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับการเมืองไทย แต่มีเพื่อนที่ไปธรรมศาสตร์ บอกว่าสถานการณ์แย่มาก ช่วงนั้น คุณเดวิดมีความคิดว่าคอมมิวนิสต์เป็นศัตรู เพราะถูกปลูกฝังเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก และเชื่อรัฐบาลที่บอกว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์
ต่อมา ได้หย่ากับภรรยา เพราะดื่มเหล้ามากเกินไป ไม่มีความรับผิดชอบ จนเคยคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะชีวิตสิ้นหวัง ไม่มีความหมาย และไม่รู้จะทำอย่างไร
ปี ๑๙๘๐ กลับไปวอชิงตัน เพื่อหาหมอและเข้าโปรแกรมบำบัดจนสามารถเลิกดื่มเหล้าเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๑๙๘๐ แล้วไม่เคยดื่มเหล้าแม้สักแก้วเดียวมาเป็นเวลา ๒๔ ปีกว่าแล้ว
หลังเลิกดื่มเหล้า จึงเริ่มพิจารณาทบทวนตัวเอง ทำไมตนเองถึงเป็นคนอย่างนี้ ปัญหาหลักคืออะไร ทำไมถึงไม่ชอบตัวเอง พบว่าการที่เป็นคนดูถูกตัวเอง เพราะคุณพ่อไม่เคยพอใจในสิ่งที่ทำเลย ทำให้หลายครั้งเวลาทำสิ่งดี ก็ยังไม่สบายใจ ต่อเมื่อเห็นแล้วว่าจะต้องปล่อยวางความรู้สึกเหล่านั้น จึงค่อยๆ ฝึกจิต แม้จะพูดเหมือนง่าย แต่ทำยาก เพราะความรู้สึกเก่าๆ เกิดเองดับเอง อยู่เหนือการควบคุม
นอกจากนี้ คุณเดวิดยังสนใจเรื่องการเลี้ยงเด็ก เคยไปสัมมนากับโจเซฟ เพียร์ซ เมื่อ ๑๐ ปีก่อน เรื่องวิธีสอนลูก และการพัฒนาของสมอง และเมื่อได้อ่านหนังสือขอเพียร์ซ ทำให้รู้ว่าการที่เป็นคนมีปัญหาสารพัด เพราะมีปัญหากับวิธีสอนของศาสนาที่ได้รับตอนเป็นเด็ก
หลังจากทำงานในซีไอเอนาน ๒๕ ปี จึงเกษียณก่อนกำหนด เมื่อ ๑๑ ปีที่แล้ว เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่เห็นแก่ตัวของอเมริกา
คุณเดวิดมีความเห็นว่า ชาตินิยมเป็นความเห็นแก่ตัวของชนชาติหนึ่ง สังคมผม ประเทศผม ดีกว่าชาติของคุณ เช่นในวัฒนธรรมไทย คุณจะได้รับความเชื่อว่า คนไทยดีกว่าเขมร ลาว พม่า แล้วพม่าจะคิดว่า พม่าดีกว่าไทย ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ
ปี ๑๙๘๒ หลังจากเลิกดื่มเหล้า ๒ ปี ได้ไปฝึกสมาธิในวัดคริสต์ นาน ๓ เดือน รู้สึกมีประโยชน์มาก หลังจากนั้น จะตื่นนอนตี ๔ นั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง อ่านหนังสือก่อนไปทำงาน และเริ่มแสวงหาวิธีฝึกจิตจากทุกศาสนา ความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เป็นเด็ก เพราะพ่อไม่ค่อยอยู่บ้าน แม่เป็นนางพยาบาล ทำให้มีเวลาว่างเยอะ ดังนั้น จึงติดเป็นนิสัยศึกษาจากการอ่านหนังสือมาก หากสนใจเรื่องอะไร ก็จะอ่านหนังสือในเรื่องนั้นเยอะๆ
คุณเดวิดมีความเห็นว่า การเปลี่ยนตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา เพราะเราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ ถ้าเขาไม่ยอมเปลี่ยน เช่นเดียวกับปัญหาระหว่างประเทศ เกิดจากวิธีคิดที่ว่า ถ้าคนอื่นเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะเราดีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ดูว่า จะต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างไร เพราะการดูออกไปภายนอกเป็นเรื่องง่ายกว่า เหมือนกับปัญหายาเสพติด ยังไม่เคยได้ยินคำถามที่ว่า ทำไมคนถึงติดยาเสพติดมาก พูดแต่ว่าจะควบคุมอย่างไร จะฆ่า จะจับติดคุกอย่างไร ซึ่งไม่ช่วยแก้ปัญหา สังคมทั่วไปหรือสังคมโลกล้วนมีวิธีคิดแบบเดียวกัน แต่เราเปลี่ยนสังคมโลกไม่ได้ จึงต้องพยายามเปลี่ยนตัวเอง แล้วค่อยๆ ขยายออกไปอีก ๒-๓ คนเหมือน Individual - Node - Network ของคุณหมอประเวศ
ประสบการณ์ในการฝึกจิตหลายประการ ทำให้คุณเดวิดค้นพบว่า สัจธรรมมีความลึกซึ้งกว่าสิ่งที่สังเกตเห็นในชีวิตประจำวันเป็นอันมาก แต่ถ้าไม่ฝึกจิต จะมองไม่เห็น เหมือนอย่างที่คุณหมอประสานพูดเรื่องควอนตัมฟิสิกส์ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลเชื่อมโยงกัน ถ้าไม่เคยเห็นความจริงนั้น จะไม่เชื่อ
คุณเดวิดอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ได้ ๑๐ ปีแล้ว โดย ๒-๓ ปีแรก จะใช้เวลาในการอ่านหนังสือกับนั่งสมาธิมาก แต่หลังจากเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ต้องกลับไปสหรัฐเพื่อรักษาปีกว่า ประกอบเศรษฐกิจไทยตกต่ำ
ทำให้ครอบครัวลำบาก แต่วิกฤตในครั้งนั้น เป็นโอกาสดีมาก ที่ทำให้ต้องกลับมาพิจารณาชีวิตตนเอง
ว่าอะไรสำคัญ อะไรเป็นความจริง และพบว่าหลายเรื่องที่คิดว่าสำคัญมาก แต่เมื่อจะตาย เอาอะไรไปด้วยไม่ได้
ช่วยให้ตนเองปล่อยวางได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ยากสุด คือการปล่อยวางความคิดที่ว่า ผมเป็นตัวของผมเอง ถ้าอนัตตาเป็นสัจธรรมที่ลึกซึ้งที่สุด ทำไมทุกคนจึงยึดติดตัวเอง เป็นคำถามที่สำคัญมาก คนส่วนมากไม่อยากจะดู เพราะถ้าดูจะรู้สึกกลัวมาก แต่ถ้าปล่อยวางได้ จะเบาสบายมากเช่นกัน
เมื่อได้คิดเช่นนั้น จึงเริ่มมองว่า จะช่วยคนอื่นได้อย่างไร ด้วยความที่เป็นคนชอบอยู่เงียบๆ วิเวก และสบายๆ แต่อ่านหนังสือมากกว่าคนทั่วไป บางครั้งเมื่ออ่านแล้ว คิดว่าคนนั้นคนนี้น่าจะชอบหนังสือเล่มนั้น ก็จะส่งไปให้อ่าน
บังเอิญได้ไปประชุมชาวคริสต์ที่ชอบฝึกสมาธิ และพบกับภรรยาคุณหมอประสาน ระหว่างทานอาหารร่วมกัน ได้พูดถึง เคน วิลเบอร์ ภรรยาคุณหมอจึงบอกว่าควรจะรู้จักกัน จึงเขียนจดหมายแนะนำตัวเอง และนัดพบกันที่กรุงเทพฯ และเมื่อ ๘ ปีที่แล้ว คุณคุณหมอประเวศมาประชุมที่เชียงใหม่ ได้โทรศัพท์มาที่บ้าน บอกว่าคุณหมอประสานแนะนำว่าเราควรจะรู้จักกัน จึงติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดกันนับจากนั้นมา
คุณเดวิดมีความเห็นว่า ปัญหาหลักของโลก คือความคิดความเชื่อแบบขาว-ดำ Dualistic
โอซามา บินลาเดน กับ ยอช บุช เหมือนกัน ๑๐๐ เปอร์เซนต์ คือคิดว่า ปัญหาอยู่ที่ศัตรู ถ้าฆ่าศัตรูให้หมดทุกคน โลกจะมีสันติภาพ ถ้าวิธีคิดยังเป็นอย่างนี้ ในอนาคต โลกจะแตกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่คนส่วนมากไม่คิดถึงคือ Collective of Unconsciousness หรือจิตใต้สำนึกส่วนรวม เช่น ในทุกสังคมจะมีปัญหาของตัวเอง แต่คนส่วนมากปฏิเสธ หรือไม่เห็น แม้มีคนชี้ให้เห็นปัญหา ก็จะไม่ยอมรับ เช่น คนติดเหล้า จะปฏิเสธว่าไม่มีปัญหา
Collective of Unconsciousness ที่ชาวอเมริกันส่วนมากยังไม่ยอมรับความจริง คือการพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม แต่คิดว่าแพ้เพราะฮิปปี้ต่อต้าน หรือไม่ได้ทำสงครามเต็มที่ หนังอย่างเช่น แรมโบ้ ที่ลอบเข้าไปในเวียดนามเพื่อช่วยเชลยสงครามชาวอเมริกัน เป็นหนังแฟนตาซีที่แสดงให้เห็นว่าอเมริกาไม่ได้แพ้
แต่ถ้าไม่ยอมรับว่าแพ้ อเมริกาจะไม่ได้รับบทเรียนจากสงครามนั้นเลย ว่าการพ่ายแพ้เป็นเพราะวิธีสู้ของเวียดนามและของอเมริกันแตกต่างกันมาก เหมือนกับสงครามอิรักในขณะนี้ วิธีรบของกองทัพอเมริกันยังเป็นแบบเดิม แม้จะมีอาวุธทันสมัยขึ้น เมื่ออเมริกันโจมตีอิรักในวันแรกๆ จะใช้เครื่องบินและจรวดโจมตีก่อน ซึ่งเป็นวิธีที่ฝึกไว้เพื่อรบกับรัสเซีย แต่กองทัพอิรักรบแบบผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่การประจันหน้ากันตามธรรมดา ทำให้อเมริกาลำบากมาก ในขณะนี้ ทหารอเมริกันกำลังรู้สึกโมโห หงุดหงิด จากการถูกยิงถูกระเบิดตายวันละ ๓-๔ คน การที่ ยอช บุช ได้รับเลือกตั้งแสดงว่า จิตใจของอเมริกันส่วนใหญ่ มีแต่ความโมโหมากขึ้น แต่ไม่ยอมรับว่ากลัว
คนอเมริกันใจร้อน แม้ว่าในบางครั้งจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้มีความพยายามมาก เชนประธานาธิบดีเคเนดี้บอกว่า จะส่งคนไปดวงจันทร์ ก็สามารถทำได้ภายในเวลาเพียง ๑๐ ปี แต่จุดอ่อนคือไม่มีความอดทน อยากจะแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว
การที่อเมริกาโจมตีเมืองแห่งหนึ่งในอิรักเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แสดงให้เห็นว่า ทหารอเมริกาอึดอัด อยากจะสู้แบบเก่า แต่ทหารอิรักไม่สู้แบบนั้น วิธีจัดการของอิรักเป็นควอนตัมฟิสิกส์ แต่วิธีของอเมริกันเป็นแบบนิวตัน เดคาร์ต
คุณเดวิดสงสัยว่า มีโอกาสที่อเมริกาจะโมโหจนถึงจุดระเบิด และทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ อาจจะเป็นอิหร่านหรือซีเรียก็ได้ แล้วทั่วโลกจะลุกเป็นไฟ ปัญหาน้ำมันจะเกิดขึ้นทั่วโลก ผู้คนจะก่อการจลาจล
ณ ช่วงเวลานั้น จะมีโอกาสดีสำหรับแนวคิดใหม่ด้วยเช่นกัน
2 Comments
เป็นบทความที่ดีมาก
การเข้าถึงความจริงนั้นอาจจะไม่เกี่ยวกับศาสนาด้วยซ้ำไป
บางทีคนที่ใกล้ศาสนากลับมองไม่ทะลุ
ไม่เหมือนคนเช่นเดวิด หรือพระสุเมธาจารย์
ที่สามารถก้าวข้ามขอบ-กรงของวัฒนธรรม
เข้ามาหาความจริงที่คนไทย/เอเซียส่วนใหญ่มองไม่เห็น
เรียนภาษาเวียดนามอยู่ค่ะ แต่เรื่องวัฒนธรรมและประวัติศาตร์ก็ไม่สามารถทิ้งได้ บทความนี้อ่านแล้วดีค่ะ ได้ทราบความรู้เยอะขึ้นด้วย ขอบคุณมากเลยค่ะ
แสดงความคิดเห็น