2014

หนุ่มสาวสร้างโลก (๒)
ทำงานกับคนจน สร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2557

อาณีช ธิลเลนเคอรีย์ (Aneesh Thillenkery) ชายหนุ่มหนวดเคราครึ้มดำ ผมดำ ตาดำ แววตาจริงจังมีประกายครุ่นคิดอยู่เสมอ เป็นโฆษกของขบวนการเคลื่อนไหวเอ็กตา ปาริฉัด (Ekta Parishad) ซึ่ง - ประกอบด้วยองค์กรระดับท้องถิ่น ๑๑,๐๐๐ องค์กร มีสมาชิกหลายแสนคน กระจายตัวอยู่ใน ๑๑ รัฐของอินเดีย และมีเป้าหมายในการผลักดันประเด็นสิทธิที่ดินของคนยากไร้ในอินเดีย - เขาเป็นผู้ประสานงานระดับชาติของขบวนการฯ และเข้าร่วมในแวดวงการเจรจาว่าด้วยนโยบายการปฏิรูปที่ดินระดับชาติของอินเดีย

อ่านต่อ »

เมื่อผู้นำกล้าเปราะบาง…
หัวใจแห่งการสร้างความไว้วางใจ ท่ามกลางภาวะวิกฤติ



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2557

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้ถูกขอความช่วยเหลือให้เป็นที่ปรึกษาองค์กรแห่งหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาความขัดแย้งและวิกฤติครั้งสำคัญ หลังจากผู้บริหารได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ แต่พนักงานระดับผู้จัดการรวมถึงระดับล่างไม่เข้าใจ เกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจ จนกลายเป็นเรื่องความไว้วางใจระหว่างผู้บริหารและพนักงาน สุดท้ายเกิดการประท้วง ตามมาด้วยการลาออกของพนักงานอีกหลายคน ทุกคนในองค์กรล้วนตกอยู่ในความทุกข์ ท้อและสิ้นหวังกับวิกฤติองค์กรในครั้งนี้ มองไม่เห็นทางออก

อ่านต่อ »

จิตวิวัฒน์หรือจิตตปัญญา คือการกล้านำ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2557

ช่วงที่ผ่านมา ได้ฟังหนังสือ (เดี๋ยวนี้มีทางเลือกในการอ่านหนังสือมาเป็นฟังหนังสือแทน) The Wisdom of Your Cells ของบรูซ ลิปตัน นักชีวะฟิสิกส์ (biophysicist) เขาเล่าเรื่องคลื่นว่า สสารทุกอย่างมีสภาพที่เป็นทั้งมวลสารและคลื่น เวลาคลื่นของคนสองคนมาพบกัน จะมีสภาพทั้งหักล้างหรือเสริมส่งกันก็ได้ หากเสริมส่งกัน เราก็จะสบายใจ มีกำลังใจ มีความสุข มีพลังชีวิตในการทำสิ่งต่างๆ แต่หากหักล้างกัน เราก็จะเหี่ยวแห้ง ไร้พลัง

ไม่กี่วันมานี้ ผมได้ไปพูดคุยกับองค์กรแห่งหนึ่งที่ต้องการจะให้เข้าไปทำเรื่องเสริมสร้างพลังให้ทีม แต่บางคนในองค์กรกลับต้องการอีกอย่างหนึ่ง เขาคิดว่าองค์กรของพวกเขายังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินไปอย่างไร มีแผนอนาคตอย่างไร และอยากจะทำความเข้าใจเป้าหมายองค์กรและแผนงานต่างๆ ให้ชัดเจนมากกว่า บางคนไม่สนใจการอบรมแบบจิตตปัญญา ออกจะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ บางคนในที่นี้คือคนที่เรียกกันว่ามีการศึกษาสูง จะบอกว่าการศึกษาสูงเป็นอุปสรรคกับการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาได้ไหม แน่นอน การศึกษาที่เป็นอยู่ยังอยู่ในโครงข่ายของกระบวนทัศน์เก่า (ใครสนใจรายละเอียดที่ลึกซึ้งขึ้นขอให้อ่านหนังสือเรื่อง Leadership and The New Science ของมาการ์เร็ต วีตเลย์) และจากประสบการณ์ทำค่ายอบรมจิตตปัญญามานาน เราจะพบว่าคนอยู่ในตำแหน่งสูงและมีการศึกษาสูงจะเรียนรู้เข้าใจได้ยากและช้ากว่าคนที่มีตำแหน่งล่างๆ และการศึกษาน้อย การปรึกษาหารือกันในครั้งนี้ สังเกตว่าคลื่นพลังชีวิตของตัวเองเหี่ยวแห้งอย่างไรพิกลอยู่

พอกลับมาถึงบ้าน ได้มีโอกาสมองลึกลงไปในอีกมิติหนึ่ง ผมชอบคำว่า มิติ หรือ dimensions หมายถึงการมองเรื่องเดียวกันได้หลายแง่ หลายมุมมอง มุมมองมีความหมายคล้ายกับคำว่ามิติ เหมือนจะใช้แทนกันได้ แต่สุ้มเสียงยังต่างกันอยู่บ้าง ผมคิดว่า คำว่ามิติจะลึกกว่าคำว่ามุมมอง

อีกมิติหนึ่งที่ปรากฏในใจในภายหลังคือ (ซึ่งจริงๆ ก็ปรากฏออกมาในการพูดคุยอยู่แล้วระดับหนึ่ง) มิติที่เกี่ยวพันกับซีอีโอขององค์กรที่ผมเข้าไปพูดคุยด้วย เรื่องนี้อธิบายยากสักหน่อย จะว่าไปผู้บริหารอันดับหนึ่งขององค์กรท่านนี้ดูเหมือนจะแสดงจุดยืนชัดเจน อย่างน้อยในระดับภาษา ว่าเขามีวิสัยทัศน์อย่างไร และต้องการให้องค์กรเติบโตไปในทางใด แต่ในระดับ episodic (ความรู้เชิงประสบการณ์) การฉายให้เห็นภาพที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ยังไม่ชัดในระดับพอที่จะเป็นภาพยนตร์แห่งอนาคตในใจคนได้

อีกฟากหนึ่ง ทีมงานส่วนใหญ่ซึ่งยังคงไม่เข้าใจกระบวนทัศน์ที่ผู้นำองค์กรต้องการจะพาไป และพวกเขาเองยังดำรงชีวิตอยู่ในโลกของกระบวนทัศน์เก่า อุโมงค์ประสบการณ์ของพวกเขายังเป็นเรื่องราวเก่าๆ ของโลกใบเก่า อันผุกร่อน ตีบตัน และไม่มีทางออก ไม่มีทางไป

ผมเล่าให้ซีอีโอท่านนี้ฟัง เรื่ององค์กรอีกแห่งหนึ่งที่มีพนักงานกว่าสองหมื่นคน ผู้นำอันดับสองขององค์กรยอมรับแนวทางการฝึกอบรมแบบจิตตปัญญาอย่างเต็มที่ ท่านวางยุทธศาสตร์ให้พนักงานสมัครมาเรียน ไม่บังคับหรือยัดเยียด ใครสนใจและพร้อมก็มา ท่านบอกว่า สำหรับคนไม่สมัคร พอมาทราบทีหลังว่าการอบรมดีอย่างไร ก็ปล่อยให้รู้สึก "เสียดายเสียให้เข็ด" เวลานี้ โปรแกรมอบรมสี่วันต่อหนึ่งรุ่นดังกล่าว เริ่มมีคนแย่งกันสมัครเข้ามาเรียนแล้ว และเริ่มมีคนระดับผู้จัดการสมัครเข้ามามากกว่าเดิมรอบละหลายคน ตอนนี้ ผู้บริหารท่านนั้นไม่ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้ว เพราะพนักงานเริ่มบอกปากต่อปาก และเริ่มเห็นประโยชน์ของการอบรมแบบนี้

ผมเรียนซีอีโอขององค์กรที่ไปคุยด้วยว่า หากเรียนรู้จากองค์กรมหาชนแห่งนี้ ท่านไม่ต้องไปงอนง้อคนที่ไม่สนใจหรือเห็นประโยชน์ของการอบรมแบบนี้ แต่ให้มาสนใจกลุ่มคนที่อยากจะเรียนมากกว่า และทุ่มเทให้พวกเขาได้เรียนอย่างเข้มข้นเป็นมรรคเป็นผล เริ่มจากสิบคน สิบห้าคน หรือร้อยละห้าร้อยละสิบขององค์กรก็นับว่าวิเศษแล้ว และถ้าพวกเขาได้เรียนอย่างหยั่งรากลึกลงไปในวิถี ก็จะกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความสุข มีพลังที่จะขับเคลื่อนการก่อร่างสร้างองค์กร ให้มีวิถีวัฒนธรรมชัดเจน มีอัตลักษณ์ มีพลัง และมีเสน่ห์ดึงดูดให้คนเข้าร่วมกระบวนการ สร้างสิ่งใหม่ที่วิเศษสุดขึ้นในสังคมไทย

กลับไปที่เสียงแย้งเสียงโต้อีกครั้ง พวกเขาบอกว่า ไม่อยากมาเรียนเรื่องทำนองผู้นำสี่ทิศ เรื่องเล่าวัยเด็ก ซึ่งบางคนเคยทำกับกระบวนกรสำนักหนึ่งใดมาแล้ว และไม่เห็นประโยชน์ของกิจกรรมเหล่านี้ บอกว่าปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นเด็กอมมือ เอากิจกรรมเด็กๆ มาให้เรียน เหมือนดูถูกสติปัญญาพวกเขา

ในใจผมขณะที่พูดคุยกับซีอีโอท่านนี้และกลุ่มคนทำงานโปรแกรมนี้ เห็นภาพว่า คนที่แย้งกำลังเข้าใจผิดในเรื่องใหญ่มากๆ หนึ่ง เขาเห็นว่า งานของผมเหมือนงานโอดี (พัฒนาองค์กร) บางประเภท (ที่ใช้บางประเภท เพราะอยากจะมองว่างานอบรมแบบโอดี หรือ organization development เท่าที่ทำกันอยู่ ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนี้) ซึ่งต้องยอมรับว่า งานอบรมโอดีแบบนั้นมีกิจกรรมแบบเด็กๆ ที่ดูถูกสติปัญญาผู้คนจริงๆ แต่การที่เขาเอาเราไปรวมกับโอดีแบบนั้น แสดงให้เห็นว่า เขาไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างงานจิตตปัญญากับงานโอดีแบบนั้นซึ่งแตกต่างกันราวฟ้ากับดินได้ เขาปราศจากสุขุมรสในทางสติปัญญาขนาดนี้เลยหรือ หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว เขาหรือพวกเขาไม่ต่างกับพวกไม้ล้ม หรือ dead wood ขององค์กรต่างๆ ที่ขังตัวเองอยู่ในความรู้เดิมๆ ในทัศนคติเดิมๆ กรอบการมองโลกเดิมๆ ไม่มีคุณลักษณะที่จะเป็นนักวิชาการที่ดีได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ หากได้คนแบบนี้มาร่วมกระบวนการเป็นส่วนใหญ่ องค์กรที่ทำงานด้านสติปัญญาแห่งนี้คงล้มเหลวเสียก่อนจะทำอะไรได้

หมอประสาน ต่างใจ เคยบอกผมว่า ท่านเคยสอนพวกวิศวกร แต่พวกเขาไม่สามารถเข้าใจอะไรได้สักเท่าไร ฟังแล้วไม่หือไม่อือ ผิดกับพวกสถาปนิก ที่สนใจและซักถามกันมาก หรือว่าทุกวันนี้ สถาบันสายวิทยาศาสตร์ของไทยเราผลิตได้เพียงแต่ระดับนักเทคนิค มากกว่าจะเป็นผู้นำความคิดหรืออาจหาญเป็นปัญญาชนชั้นนำได้ นี้นับว่าน่าเสียดายยิ่งนัก

หลังจากพูดคุยกันมาทั้งหมด สุดท้าย องค์กรแห่งนี้เพียงแต่ให้ผมไปทำโปรแกรมอบรมสองวันเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก แม้เพียงแค่จะทำความเข้าใจจิตตปัญญาศึกษาในระดับพื้นฐานไม่ลงลึกมากนัก (เพราะเวลาเท่านี้ยากจะทำให้ลุ่มลึก แตะลงไปถึงโลกภายในอย่างจริงจังได้) และหากผู้นำยังขลาดกลัว ไม่กล้าชนกับคนส่วนน้อยที่เอาแต่ใจตัวเองและแข็งตัวอยู่ในกระบวนทัศน์อันคับแคบ เพียงแค่เปิดทางความคิดยังเป็นไปไม่ได้ แล้วจะให้เปิดใจเข้าไปสัมผัสเรียนรู้โลกภายในของตนได้อย่างไรกัน หากเป็นเช่นนี้ อย่าหวังเลยว่าจะทำอะไรอย่างที่ฝันอย่างใหญ่โตมโหฬารได้

ชุมชนกับคนทำงานภาคสังคม



โดย พรรัตน์ วชิราชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2557

ในฐานะของคนรุ่นกลางๆ ที่เติบโตในเมือง ฉันไม่รู้จักชีวิตที่เป็น “ชุมชน” หากเมื่อได้ทำงานนักเขียน นักข่าว นักพัฒนาสังคม ก็ได้พบเจอชุมชนทางเลือกมากมาย ทั้งชุมชนทางศาสนา เช่น หมู่บ้านพลัม ซึ่งมีวิถีการปฏิบัติธรรมและการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง พันพรรณ ศูนย์การเก็บเมล็ดพันธุ์และการพึ่งพาตนเอง หรือชุมชนชาวบ้านที่จัดการดูแลตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น ดูแลป่า ป้องกันภัยพิบัติ ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้ล้วนเป็นความหวังของทางรอดในสังคมยุคปัจจุบันที่พึ่งพาระบบที่เบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่รู้ตัว เราได้ตัดขาดตัวเองจากตัวเอง ตัดขาดตัวเองจากคนอื่น และตัดขาดตัวเองจากธรรมชาติ

อ่านต่อ »

เสือใบ(ไม้)



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557

ถ้าพวกคุณเคยไป “คุ้มเสือ Tiger Kingdom” ที่ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ คุณอาจจะสงสัยว่าพวกเขาทำอย่างไรจึงสามารถทำให้คนเข้าไปถ่ายรูปกับเสือโคร่งตัวใหญ่ๆ ที่ตะปบคุณเพียงครั้งเดียวก็คอหัก

ที่ผมสงสัยไปกว่านั้นคือ เขาทำอย่างไรจึงจะต้อนเสือให้กลับออกจากกรงใหญ่ ซึ่งมีสระว่ายน้ำ มีพื้นที่ให้พวกเสือวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน กลับไปอยู่ในกรงแคบๆ

แล้วผมก็ต้องแปลกใจ เพราะวิธีการไม่ได้มีอะไรมาก เพียงแค่ “เบี่ยงเบนความสนใจของเสือ” ให้ไปสนใจที่พวงใบไม้ซึ่งพวกเขาเอาใบไม้มาต่อกับไม้ยาวๆ แล้วฟาดไปมา คล้ายกับที่เราเห็นเขาเชิดมังกรตอนตรุษจีน ตัวมังกรจะวิ่งตามแท่งไม้ที่ส่วนปลายสมมุติให้เป็นแก้วมณีไปทุกหนทุกแห่ง เช่นเดียวกัน เมื่อเสือสนใจพวงใบไม้นี้แล้ว เขาก็จะพาดใบไม้ไปที่กรง พร้อมกับเปิดประตูกรงออก เสือคงนึกว่าใบไม้นั้นจะหนีตนเข้าไปในกรง ก็เลยกระโจนตามเข้าไปในกรง แล้วผู้คุมก็ปิดกรงลงมา ก็แค่นั้น

อ่านต่อ »

ทักษะชีวิตที่ดีมิใช่หมายถึงเป็นคนดี



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557

การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มุ่งพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ และทักษะไอทีไปพร้อมกัน

ทักษะชีวิตที่ดีมิได้หมายถึงนิสัยดี มิได้หมายถึงคุณสมบัติดีๆ เช่น ความเมตตากรุณา รักษาศีลถือความสัตย์ หรือหมายถึงความเป็นคนเก่งประสบความสำเร็จในชีวิต

ทักษะชีวิต (life skills) ที่ดีหมายถึงความสามารถที่จะมองไปข้างหน้า กำหนดเป้าหมายและเดินไปให้ถึงจุดนั้น หากเป็นถนน ก็หมายถึงการกำหนดจุดหมายปลายทาง เดินทางไปให้ถึง หากพบอุปสรรคระหว่างทางก็แก้ไขแล้วไปต่อให้ถึงที่หมาย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อุปสรรคหมายถึงมีอะไรเสียหายก็ซ่อม หรือหากพบสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถข้ามไปได้ก็ถึงเวลาเลี้ยวเข้าซอยแล้วหาทางมุดออกมาใหม่

แต่ทักษะชีวิตมิได้หมายถึงถนนหนทาง ทักษะชีวิตหมายถึงการดำเนินชีวิต

อ่านต่อ »

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน ๒: เริ่มต้นเดินทาง


โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557

กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน (Amicable Contemplative Assessment-ACA) นวัตกรรมทางการประเมินที่ผู้เขียนริเริ่มพัฒนาทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติไว้ ได้มีโอกาสทดลองนำไปใช้อย่างเต็มรูปแบบแล้วกับโครงการประเมินผล โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน

ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจมากที่การประเมินแนวใหม่นี้มีโอกาสได้นำไปทดลองใช้ในภาคสนาม (มหาสารคาม ศรีสะเกษ กาญจนบุรี และพิษณุโลก) เพื่อจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง แล้วนำประสบการณ์ตรงเหล่านั้นมาพัฒนาทั้งแนวคิด แนวปฏิบัติ และกระบวนการประเมิน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ผู้เขียนจึงมุ่งมั่นตั้งใจทำโครงการนี้ร่วมกับทีมงานและชุมชนเป้าหมายอย่างเต็มที่และอย่างมีความสุข


อ่านต่อ »

พิษจากผลแห่งความดี



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557

สมัยหนึ่ง พระองคุลิมาล ซึ่งเพิ่งบวชใหม่ ได้สนทนาธรรมกับพระนันทิยะ พระนันทิยะได้เล่าให้ฟังว่าพระพุทธองค์ได้สอนอะไรแก่ท่านบ้าง ตอนหนึ่งมีความว่า “เมื่อผู้ใดสรรเสริญเยินยอหรือบูชาเราด้วยลาภสักการะ จงนึกว่าลาภสักการะหรือชื่อเสียงนั้นเป็นผลแห่งความดี หรือเป็นเพราะผู้อื่นสำคัญว่าเราดี” แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า “ผลแห่งความดีนั้นย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลยึดอยู่ในสิ่งนั้น จนกลายเป็นประมาทมัวเมา”

เวลาทำความดีแล้วมีคนยกย่อง มีลาภสักการะเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่มักเผลอคิดไปว่าเป็นเพราะเรา หรือเป็นเพราะกู แต่พุทธภาษิตดังกล่าวเตือนให้เราตระหนักว่า ลาภสักการะนั้นเกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพราะเรา แต่เป็นเพราะความดีที่เราทำต่างหาก ความดีที่ทำนั้นเรียกว่าธรรมะ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เราต้องแยกให้ดี หาไม่จะเกิดความหลงตัวว่าเป็นเพราะเรา สุดท้ายก็ทำให้ลืมตน

อ่านต่อ »

หนุ่มสาวสร้างโลก (๑)
การศึกษาเพื่อความเป็นไท ถูกและดี



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557

ยี่สิบปีที่แล้ว ระวี กุลาติ - ชายหนุ่มวัยยี่สิบ ลาออกจากบริษัทที่แคนาดา หลังจากเรียนจบด้านบริหารธุรกิจและเริ่มชีวิตทำงานไปได้ ๘ เดือน เขากลับมาที่อินเดีย ตั้งใจว่าจะไปทำเกษตรกรรมในชนบท ดำเนินชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่มาซาโนบุ ฟูกุโอกะ เขียนไว้ใน ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว แต่ก็พบว่าเด็กแถวบ้านเขาอยากได้ครูสอนพิเศษ และพบว่าเด็กที่คะแนนเลขห่วยแตกในโรงเรียนเป็นเด็กที่ฉลาดเป็นกรดและเรียนรู้ไว เขาเริ่มตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาในโรงเรียน?

ระวีเล่าว่า ในช่วงที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ระบบการศึกษาแบบอาณานิคมยังคงดำรงอยู่ นักคิดอินเดีย ๔ คน ได้แก่ มหาตมะ คานธี รพินทรนารถ ฐากูร กฤษณมูรติ และศรีอรพินโท ได้ตั้งคำถามกับระบบการศึกษา

อ่านต่อ »

แถบสีวิวัฒนาการทางสังคม
การก่อประกอบองค์กรขึ้นใหม่



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู และ ภัทระ กิตติมานนท์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2557

เรากำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งอย่างเมามัน เพราะไม่ค่อยมีหนังสือที่ต่อยอดสิ่งที่กำลังค้นคว้าแบบนี้มา นานแล้ว หนังสือเล่มนี้ชื่อ Reinventing Organizations โดย Frederic Laloux และมีเคน วิลเบอร์ เขียนคำนำ โดยเขาได้ให้เครดิตหนังสือเล่มนี้อย่างมากมาย

ผู้เขียนได้แบ่งช่วงของวิวัฒนาการทางสังคมออกเป็นช่วง ๆ แทนด้วยสีต่าง ๆ และในบรรดาสีหรือช่วงวิวัฒนาการเท่าที่สอดคล้องกับงานที่เราทำอยู่ น่าจะมี

สีแดง - Impulsiveness แปลว่า ผลักดันหรือกดดัน เป็นกระทิงในผู้นำสี่ทิศ ธาตุไฟ ตัวอย่างคือ มาเฟีย

อ่านต่อ »

จักรวาลกำลังเฝ้ามองตัวเอง…ผ่านเรา



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2557

ในชีวิตของเราเคยมีคำถามและรู้สึกสงสัยบ้างไหมว่า เราเกิดมาทำไม? เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร? ตัวเราเอง หรือมนุษย์คนอื่นนั้นเกิดมาในโลกอย่างบังเอิญเท่านั้นหรือ? …หรือชีวิตนั้นมีความหมายบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านิยามของแต่ละปัจเจกบุคคล? มีเจตจำนงอันลึกซึ้งของธรรมชาติบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังการมีอยู่ของมนุษย์และสรรพสิ่งหรือไม่

…ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย นอกจากชีวิตวัยรุ่นโดยทั่วไปแล้ว ด้านหนึ่งผมเป็นคนที่มีความสงสัยใคร่รู้มากมายเกี่ยวกับชีวิตและคำถามข้างต้น ทำให้ผมชอบศึกษาเรียนรู้ตั้งแต่ ปรัชญา จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ ศาสนา จนมาถึงธรรมะและการปฏิบัติสมาธิภาวนา เพื่อแสวงหาคำตอบให้กับชีวิต

อ่านต่อ »

ภาวนาผ่านโอเปร่า



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2557

“ที่ร้องมานี่พี่พอใจแล้วหรอ”

ครูสอนร้องเพลงของผมพูดขึ้น หลังจากที่ผมร้องเพลงที่ไปฝึกหัดมาอย่างดีให้เธอฟัง ผมรู้สึกว่าเสียงที่เปล่งออกมามัน “ใช่” มาก รู้สึกใจฟู จึงตอบครูสาวโดยไม่เฉลียวใจว่าครูพูดประชด

“ครับ พอใจมากเลย”​

“พอใจ งั้นก็ร้องแบบนี้ต่อไปก็แล้วกัน”

ผมก็เลยอึ้งไปชั่วขณะ อุทานเบาๆ ว่า “อ้าว”​ แล้วใจที่ฟูพองเมื่อสักครู่นี้ก็แฟบเหมือนลูกโป่งหมดลม

อ่านต่อ »

การท่อง การอ่าน และค่านิยม ๑ โหล



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 กันยายน 2557

การท่องเป็นกิจกรรมขั้นต่ำสุดของสมอง ไม่ตอบสนองการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ เชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการเข้าใจเรื่องนี้อย่างดีที่สุด

การอ่านเป็นกิจกรรมที่สูงกว่าการท่อง ต้องการความสามารถของสมองในระดับที่สูงกว่า สมองที่ดีจะอ่านหนังสือได้มาก อ่านหนังสือมากจึงได้สมองที่ดี การอ่านหนังสือหลากหลายและอ่านหนังสือบ่อยๆ มีส่วนอย่างมากต่อการกระตุ้นให้สมองส่วนที่รับผิดชอบการอ่านเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

การอ่านกระตุ้นสมองให้เติบโตอย่างไร?

อ่านต่อ »

ปฏิรูปการศึกษาไทย ๓:
ปฏิรูปการวัดและการประเมินการเรียนรู้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กันยายน 2557

วิวัฒนาการของวิชาการและศาสตร์ทางด้านการวัดและการประเมินผลทางการศึกษา พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ในประเทศไทยและทั่วโลกมีการเปิดหลักสูตรทางด้านนี้ในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกเกิดขึ้นมากมายเพื่อทำหน้าที่วัดและประเมินคุณภาพการศึกษาภายในแต่ละสถานศึกษา ในแต่ละประเทศ และเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศ

ศาสตร์และวิชาการด้านการวัดและการประเมินผลจึงเข้มแข็งมาก จนถึงมากที่สุด เมื่อการวัดและการประเมินผลกลายไปเป็นเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ และเป็นตัวกำหนดคุณภาพการศึกษา สถานศึกษาต่างพยายามจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดผลตามตัวชี้วัดและมาตรฐานกลางที่หน่วยงานกลางกำหนดไว้ แต่ตัวที่มีอิทธิพลและได้รับความสนใจมากที่สุดคือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (คะแนนสอบ) ที่ถูกกำหนดให้เป็นตัวแทนของความเก่ง ซึ่งเป็นเพียงมิติเดียวจากสามมิติ (เก่ง ดี มีสุข) ที่เป็นเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาครั้งก่อน

อ่านต่อ »

โบเมียนไดอะล็อค
ภารกิจอันสูงส่งที่จะทำให้การสนทนาเป็นศิลปศาสตร์แห่งการตื่นรู้



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กันยายน 2557

เราแตกต่างจริงหรือ?

เรามักจะคิดว่าเราแตกต่าง แต่ลองใคร่ครวญให้ลึกซึ้งหน่อยไหมว่าแท้ที่จริงแล้ว เราเป็นเพียงปัจเจกที่เหมือนๆ กัน เราโกหกตัวเองว่าแตกต่าง ลองใคร่ครวญอีกสักครั้งสิครับว่าเราแตกต่างจากคนอื่นที่ตรงไหน ที่แท้ พวกเราพากันซ่อนตัวอยู่ในความละม้ายคล้ายคลึงอย่างเงียบงัน ส่วนใหญ่กลัวที่จะยืนเด่นออกมาอย่างแตกต่าง ความกลัวนั้นยิ่งใหญ่มากถึงขนาดที่เราจะไม่กล้าฝ่าข้ามไป

อ่านต่อ »

วาระสุดท้ายของชีวิตในทัศนะของพุทธศาสนา



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กันยายน 2557

ในทัศนะของพุทธศาสนา ความทุกข์เป็นความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น เมื่อเกิดมาแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องประสบก็คือ ความแก่ ความเจ็บป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย และความตาย ทั้งนี้เพราะสรรพสิ่งล้วนไม่จีรังยั่งยืน มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา (อนิจจัง) เต็มไปด้วยความบีบคั้นทั้งจากภายในและภายนอก ทำให้ไม่อาจทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ในที่สุดต้องเสื่อมทรุดและดับสลายไป (ทุกขัง) ไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นสารอันเที่ยงแท้หรือเป็นอิสระ (อนัตตา) สภาวะดังกล่าว อันได้แก่ ความแก่ ความเจ็บป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย และความตายนั้น เราทำได้อย่างมากก็คือ หน่วงเหนี่ยวให้เกิดขึ้นช้าลง แต่ในที่สุดก็ต้องเกิดขึ้นกับเรา ถึงตอนนั้นทำได้อย่างมากก็แค่บรรเทาผลกระทบให้น้อยลง

อย่างไรก็ตามสภาวะดังกล่าวแม้จะก่อให้เกิดความทุกข์ทางกาย แต่ไม่จำเป็นต้องบีบคั้นจิตใจให้เป็นทุกข์ พุทธศาสนามองว่ามนุษย์ทุกคนสามารถฝึกฝนพัฒนาจิตใจจนสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ คือ แม้ต้องแก่ เจ็บป่วย สูญเสีย และตาย แต่จิตใจหาได้เป็นทุกข์ไม่ การยอมรับว่ามันเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่ปฏิเสธ ไม่ต่อต้านขัดขืนมัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้จิตใจไม่เป็นทุกข์เมื่อสภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นกับเรา นอกจากไม่เป็นทุกข์แล้ว เรายังสามารถหาประโยชน์จากมันได้ด้วย กล่าวคือ อาศัยสภาวะดังกล่าวเปิดใจให้เห็นความจริงจนเกิดปัญญาแจ่มแจ้งว่า ไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นได้อย่างแท้จริง ปัญญาดังกล่าวจะทำให้จิตใจเป็นอิสระจนความทุกข์ไม่อาจแผ้วพานได้ ดังมีพระและฆราวาสจำนวนไม่น้อยบรรลุธรรมในขณะที่เจ็บป่วยและใกล้ตาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากสูญเสีย และความตายนั้นเป็นตัวเร่งให้เห็นธรรมจนจิตหลุดพ้นได้


ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการดูแลในระยะสุดท้ายหรือไม่ โดยไม่เลือกว่าจะเป็นศาสนาใด?

ว่าเฉพาะวาระสุดท้ายของชีวิต พุทธศาสนามองว่า ความสุขใจในเวลาสิ้นชีวิตนั้นเป็นไปได้ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องทุกข์ทรมานเมื่อความตายใกล้มาถึง นี้เป็นศักยภาพที่มีอยู่ในคนทุกคน ไม่เลือกว่า นับถือศาสนาใด หรือแม้จะไม่นับถือศาสนาก็ตาม กล่าวได้ว่า ความสงบในวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น เป็นสิทธิของทุกคน


ชีวิตที่ดีคืออะไร?

ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มีสุขภาวะ ไม่ถูกเบียดเบียนด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ความยากจนข้นแค้น หรือการเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันก็เป็นชีวิตที่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม นอกจากไม่เอาเปรียบเบียดเบียนใครแล้ว ยังสร้างสรรค์คุณประโยชน์ทั้งแก่ผู้อื่นและส่วนรวม มีจิตใจที่สงบเย็น เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ไม่ถูกครอบงำด้วยความโลภ โกรธ หลง และไม่ถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์ เพราะเห็นความจริงของชีวิต อีกทั้งยังมีปัญญาสามารถแก้ทุกข์ให้แก่ตนเองได้


ตายดีคืออะไร?

ตายดีในทัศนะของพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ที่ว่า ตายด้วยสาเหตุใด ที่ไหน หรือตายในวัยใด แต่อยู่ที่คุณภาพจิตเป็นสำคัญ กล่าวคือ ตายอย่างสงบ จิตใจไม่ทุกข์ทรมาน ไม่ทุรนทุรายในวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะยอมรับความตายและปล่อยวางสิ่งทั้งปวง ไร้ความห่วงใยหรือหวงแหนในสิ่งใด ๆ อีกทั้งเมื่อตายไปแล้ว ก็ไปสุคติ คือไปเกิดในภพที่ดี (เช่น เกิดในโลกมนุษย์ หรือสวรรค์) ดียิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อจะตายใจก็สว่าง เกิดปัญญาเห็นสัจธรรม จนจิตหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นอิสระจากวัฏสงสาร ไม่ไปเกิดในที่ใดอีกต่อไป


ชีวิตที่ดีทำให้ตายดีเสมอไปหรือไม่?

ชีวิตที่ดีนั้นเอื้อให้เกิดการตายดีหรือตายสงบได้ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะหากว่าตอนใกล้ตายนั้น จิตเกิดอารมณ์ที่เศร้าหมอง เนื่องจากยังมีความห่วงใยในลูกหลาน พ่อแม่ คนรัก ปล่อยวางทรัพย์สินหรืองานการที่คั่งค้างไม่ได้ หรือยังมีความรู้สึกผิดติดค้างใจ ก็จะรู้สึกต่อต้านขัดขืนต่อความตาย มีอาการทุรนทุราย กระสับกระส่าย และเมื่อสิ้นลมก็อาจไปอบายได้หากจิตสุดท้ายยังถูกอารมณ์อกุศลดังกล่าวครอบงำ นอกจากนั้นความเจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดโทสะ จิตกระสับกระส่าย จนตายไม่สงบก็ได้


เป็นไปได้หรือไม่ที่จะตายดีแม้ไม่ได้มีชีวิตทีดี?

การตายดีสามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่ได้มีชีวิตที่ดี แต่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากความชั่วที่ได้ทำ มักทำให้รู้สึกหวาดหวั่นต่อความตาย เพราะกลัวจะไปอบาย หรือถูกหลอกหลอนด้วยภาพแห่งความผิดที่ทำในอดีต ส่วนโลภ โกรธ หลงที่สะสมไว้ตลอดชีวิต ก็ทำให้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ได้ยาก ไม่ว่าทรัพย์สินเงินทอง หรือความโกรธแค้นพยาบาท จึงมักจะตายด้วยความทุรนทุราย อย่างไรก็ตามหากมีผู้นำทางที่ดี สามารถน้อมใจให้ ระลึกถึงสิ่งดีงามอันน่าศรัทธา หรือความดีที่ตนได้ทำ จิตก็จะเป็นกุศล และช่วยให้ไปดีได้


เราจะเตรียมตัวรับมือกับความตายได้อย่างไร?

การเตรียมตัวเผชิญกับความตายเป็นสิ่งที่เราไม่ควรละเลยเนื่องจากเราทุกคนต้องตายอย่างแน่นอน เมื่อจะต้องตาย จึงควรรับมือกับความตายให้ดีที่สุด เพื่อไม่ทุกข์ทรมานและไปดี วิธีที่ช่วยให้เรารับมือกับความตายได้ดีก็คือ การระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เรียกว่ามรณสติ กล่าวคือ เตือนตนเป็นนิจว่าสักวันหนึ่งเราต้องตายอย่างแน่นอน แต่จะตายเมื่อไหร่มิอาจรู้ได้ อาจจะตายวันนี้วันพรุ่งก็ได้ จากนั้นก็ถามตนเองว่าหากต้องตายวันนี้วันพรุ่ง เราพร้อมตายหรือยัง กล่าวคือ ทำความดีมาพอหรือยัง ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือยัง และพร้อมจะปล่อยวางทุกสิ่งหรือยัง หากไม่พร้อมก็ต้องเร่งทำความดี ทำหน้าที่ที่สำคัญให้เสร็จสิ้น และฝึกปล่อยวางอยู่เสมอ การทำความดี ไม่มีความชั่วให้ต้องเสียใจ และพร้อมปล่อยวาง ช่วยให้เราพร้อมเผชิญความตายได้ทุกเมื่อ


จะจัดการกับความกลัวอย่างไร?

ความกลัวตายเกิดขึ้นเพราะไม่เคยนึกถึงความตายหรือเตรียมตัวตายเลย อีกทั้งยังมีสิ่งค้างคาใจ ห่วงคนรัก และหวงแหนทรัพย์สมบัติ นอกจากนั้นความกลัวตายยังเกิดจากความไม่มั่นใจว่าตายแล้วจะไปไหน หรือกลัวว่าจะไปอบาย ความกลัวตายจะบรรเทาได้ เมื่อเจริญมรณสติเป็นนิจ พยายามทำดีที่สุดกับคนรัก จนสามารถปล่อยวางได้ ไม่มีเรื่องติดค้างใจ ไม่มีภารกิจที่ค้างคา พูดง่าย ๆ คือมีการเตรียมตัวอยู่เสมอ ยิ่งถ้าได้เจริญภาวนา ก็จะช่วยให้จัดการกับความกลัวตายได้อย่างดี รวมทั้งเห็นความตายเป็นเรื่องธรรมดา สามารถยอมรับมันได้ โดยไม่ปฏิเสธผลักไสมัน


สมาธิภาวนาจะช่วยลดความเจ็บปวดในระยะสุดท้ายได้หรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่เคยฝึกสมาธิมาก่อนเลย?

สมาธิภาวนาช่วยลดความเจ็บปวดในระยะสุดท้ายของชีวิตได้ กล่าวคือ เมื่อมีความเจ็บปวด ก็น้อมจิตมาอยู่ที่ลมหายใจ เมื่อจิตแนบอยู่กับลมหายใจอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดสมาธิคือความสงบ ความสงบนั้นช่วยทำให้เกิดสารเคมีบางอย่างที่บรรเทาปวดได้ นอกจากนั้นการที่จิตไม่ไปรับรู้ความเจ็บปวดในร่างกาย ก็อาจทำให้ลืมปวด หรือรู้สึกปวดน้อยลง

นอกจากสมาธิแล้ว การเจริญสติ ก็ช่วยบรรเทาความปวดได้ กล่าวคือ เมื่อมีความเจ็บปวด สติช่วยให้ใจไม่ปักตรึงอยู่ในความปวด แต่จะถอนตัวออกมาเห็นความปวด ทำให้ใจไม่รู้สึกปวด แม้กายจะยังปวดอยู่ คือ เห็นความปวด แต่ไม่เป็นผู้ปวด ผู้ที่ไม่เคยทำสมาธิภาวนามาก่อน หากได้รับการแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ ก็สามารถลดความเจ็บปวดลงได้ สภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล เช่น สงบ หรือน้อมใจให้ระลึกถึงสิ่งที่ตนศรัทธาหรือความดีที่ตนได้ทำ ก็ส่งเสริมให้การทำสมาธิภาวนาของผู้ป่วยเกิดผลดีเช่นกัน

รับรองตัวเองได้ ก็ไม่ต้องให้ใครมารับรอง



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2557

“เหงาแล้วทำไม ไม่เห็นจะต้องเหงา”

พี่นิด สาวใหญ่นักบริหารพูดขึ้นในวงสนทนา ดูจากการพูดจาโผงผางของแกแล้ว เป็นคนที่คุยด้วยไม่ใช่ง่าย ถ้าพูดผิดหู รับรองเธอสวนกลับแน่นอน

“ถ้าเหงาขึ้นมาก็ไม่เห็นเป็นไร ก็เปิดเหล้านั่งกินคนเดียวที่บ้าน กินแล้วก็พูดกับตัวเอง เอ้า จริงนะ ไม่เห็นเป็นไร พี่ชอบพูดกับตัวเอง ตั้งคำถามเองแล้วก็ตอบ กินไปจนพูดไม่รู้เรื่องนั่นแหละถึงจะปิดสวิชท์ตัวเอง นอน!”

ระหว่างที่พี่นิดเล่า ผมอดนึกถึงตัวเองไม่ได้ ผมก็เคยดื่มเหล้าเมาอยู่คนเดียวที่บ้าน เพราะผิดหวังเรื่องความรัก ดื่มเกือบทุกวัน ผสมเหล้าดื่มเองไม่ต้องพึ่งบาร์เทนเดอร์ วอดกา เตกิล่า จิน แกรนมาเนียร์ คาลัวร์ ฯลฯ ให้เมา ๆ กึ่ม ๆ หน่อยแล้วก็ผล็อยหลับไป ทำอย่างนี้ติดต่อกันหลายเดือน จนมีอยู่วันหนึ่ง ผมได้อ่านหนังสือเรื่องอะไรจำไม่ได้ เหมือนพ่อกำลังสอนลูกชาย

อ่านต่อ »

ปฏิรูปการศึกษาไทย ๒: ปฏิรูป “ผู้เรียนรู้” และ “การเรียนรู้”



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2557

“ผู้เรียนรู้” ในที่นี้เป็นระดับบุคคลและหมายถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยเฉพาะ ผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครอง ซึ่งต่อไปนี้ จะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เรียนรู้และผู้ร่วมเรียนรู้ด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครองในความหมายและรูปแบบเดิมที่เคยทำกันอยู่

ในทางการศึกษา ผู้เรียนรู้ประกอบไปด้วยอย่างน้อยสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวตนที่รับรู้จับต้องได้ เป็นมิติภายนอก กับ “การเรียนรู้” โดยเฉพาะสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “การเรียนรู้ที่แท้จริง” ซึ่งเป็นมิติภายใน

ในทางจิตตปัญญาศึกษา “การเรียนรู้ที่แท้จริง” มีความหมายที่แตกต่างไปจาก “การเรียนรู้” ที่เราเข้าใจกันโดยทั่วๆ ไปในการศึกษากระแสหลัก ที่มีเป้าหมายเฉพาะหน้าเพื่อการสอบ การเรียนการสอนอยู่ในลักษณะเร่งรีบ รวบรัด ตัวใครตัวมัน มากกว่าการใคร่ครวญ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงมักเป็นไปในลักษณะของการขาดสติ โอกาสจะเกิดปัญญาจึงริบหรี่ ทั้งในระดับบุคคล และการเกิดปัญญาร่วม (Collective Wisdom) ในกลุ่มของผู้เรียนรู้

การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันมีการเรียนเยอะมาก ทั้งการเรียนในห้องเรียนตามปกติและการเรียนพิเศษ แต่มีการเรียนรู้เกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ทราบ การสอนและการสอบก็มีเยอะมาก แต่ก็ไม่ทราบว่าผู้สอนและผู้สอบเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งเน้นความสำคัญและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิต สังคม และสรรพสิ่ง การเรียนการสอนจึงอยู่ในลักษณะของการเรียน การรู้ แต่ไม่ใช้ “การรู้เท่าทัน” การสอบส่วนใหญ่ก็เน้นไปที่ความรู้ ความจำ ดีขึ้นมาหน่อยก็คือความเข้าใจ แต่ก็เป็นความเข้าใจแบบแคบๆ แยกส่วนเฉพาะเนื้อหาสาระของวิชา สะท้อนให้เห็นจากการเรียนการสอนที่มีลักษณะที่เป็นทางการ แห้งแล้ง จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา ขาดความสุขและความสนุกในการเรียนรู้

การวัดผลด้วยการสอบที่ทำกันอยู่ เป็นการวัดผลการเรียนของผู้เรียน มากกว่าการเรียนรู้ และไม่ใช่การวัดผลการสอน เพราะผลการเรียนถูกวัดและตัดสินด้วยผู้สอน ซึ่งเป็นผู้ออกข้อสอบ ผู้เรียนสอบตกไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้สอน ผู้สอนมีหน้าที่ถ่ายทอดเนื้อหาสาระ/ทักษะตามรายวิชาตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ ผู้สอนไม่ใช่ผู้เรียนรู้และ/หรือผู้ร่วมเรียนรู้ ความรับผิดชอบต่อผลการสอบอยู่ที่ผู้เรียน จึงมีโอกาสที่จะไม่เกิดการเรียนรู้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน มีแต่การเรียนกับการสอนและการสอบ อาจจะมีการปรับปรุงหลักสูตรและเนื้อหาสาระเพื่อให้ทันสมัยเป็นระยะๆ ตามมาด้วยระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติที่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อทำให้ดูเป็นระบบ มีมาตรฐานและการปฏิบัติทำนองเดียวกับการผลิตและการควบคุมคุณภาพที่ทำกันในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความคิดความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในเรื่องการศึกษา ยกตัวอย่างเช่นการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ภาคบังคับ) เราไม่ได้มองผู้เรียนเป็นเสมือนวัตถุดิบของระบบการผลิตที่สามารถคัดสรรหรือตัดทิ้งได้ เพราะเป็นเรื่องสิทธิ แต่ละคนที่เข้ามาล้วนแตกต่าง จะใช้กระบวนการและวิธีการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเหมือนในโรงงานไม่ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถรับประกันคุณภาพ/ผลผลิตเช่นเดียวกับการผลิตสินค้าได้ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของการเสริมสร้างและพัฒนาคุณค่าและคุณภาพของคน ไม่ใช่เรื่องของการควบคุมคุณภาพ จึงไม่ควรหมกมุ่นติดกับดักการควบคุมและการประกันคุณภาพที่เลียนแบบมาจากระบบการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม

ผู้เขียนขอเสนอว่า การปฏิรูปการศึกษา ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดความเชื่อที่เป็นมิติภายในก่อน ส่วนแนวทางและวิธีปฏิบัติจะค่อยๆ พัฒนาตามมา ในเบื้องต้น ควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปจาก “การเรียน การสอน การสอบ” ไปสู่ “การเรียนรู้ การร่วมเรียนรู้ และการพัฒนาสติปัญญาร่วมกัน”

ในระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ครู อาจารย์สมควรจะเป็นเป้าหมายหลักในการปฏิรูปตามที่ผู้เขียนเสนอไว้ในบทความแรก (มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๘ มิ.ย. ๒๕๕๗) ด้วยการเปลี่ยนความคิดความเชื่อ และบทบาทจากการเป็นผู้สอน/ผู้ถ่ายทอด มาเป็นผู้เรียนรู้และผู้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้เรียน ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เรียนรู้และผู้ร่วมเรียนรู้ไปกับคนอื่นๆ นำไปสู่การพัฒนาตนเองและผู้ร่วมเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสถานศึกษา ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ให้ดี มีคุณภาพและคุณธรรม

การเรียนรู้ที่แท้จริง หรือที่ผู้เขียนใช้ภาษาธรรมดาว่า การ “ปิ๊งแว้บ” เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ ไม่มีใครสอนใครได้ เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้เรียนรู้ ที่นักจิตวิทยาการเรียนรู้เรียกว่า Direct Experiential Learning

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้าการเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ แล้วครู อาจารย์จะมีบทบาทอย่างไร คำตอบเบื้องต้นก็คือ ปฏิรูปความคิดความเชื่อของครูเองก่อน ไม่ต้องรอสภาปฏิรูป หรือคณะปฏิรูปการศึกษาจากภาครัฐ ไม่ต้องรองบประมาณเพิ่ม ไม่ต้องรอคำสั่งจากกระทรวง จากผู้บริหาร ไม่ต้องรอคู่มือ... (ซึ่งเป็นมิติภายนอกที่กดทับจิตใจ จิตสำนึก และจิตวิญญาณความเป็นครูของเราไว้)

เริ่มที่ตัวเอง ให้เวลากับตัวเอง ใคร่ครวญ ทบทวน ประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะประสบการณ์ทางการศึกษาที่ผ่านมา ที่เป็นอยู่ และแนวโน้มที่กำลังจะเป็นไป ในระหว่างทางของการใคร่ครวญทบทวนด้วยใจอย่างลึกซึ้ง อาจจะเกิดการ “ปิ๊งแว้บ” หรือการเรียนรู้ที่แท้จริงบางอย่างก็ได้ แล้วถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งเป็นมิติภายใน (ความคิดความเชื่อ) ก็จะส่งผลต่อการคิด การพูด และการกระทำของตนเอง นำไปสู่การปฏิรูประบบ โครงสร้าง ซึ่งเป็นมิติภายนอก รวมถึงรูปแบบ กระบวนการ วิธีการทางการศึกษาที่หลากหลาย เหมาะเจาะเหมาะสมกับบุคคล และพื้นที่ชุมชนที่แตกต่าง แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งสังคม ไม่ใช่แบบเดียวหรือมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศหรือทั้งโลก

นี่น่าจะเป็นวิถีทางการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บนการยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างกันอย่างแท้จริง แต่ถ้ายิ่งมีความพยายามจะทำหรือบังคับให้ทำให้เหมือนหรือมีมาตรฐานเดียวกัน (ตามที่ผู้มีอำนาจเหนือกำหนด) ก็อาจจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง การแข่งขันกัน ดังแนวคิดและแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่ครอบคลุมและครอบงำวิธีคิดและวิธีปฏิบัติขององค์กรและคนในองค์กรทางธุรกิจ ภาคเอกชน และภาครัฐ

ผู้เขียนโชคดีที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ “โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา” ที่เชียงใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ ๔ สิงหาคม ที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของโรงเรียนที่ดี ที่งดงาม เปี่ยมไปด้วย “สุนทรียภาพทางการศึกษา” ที่มีลักษณะเฉพาะเหมาะกับชุมชนในพื้นที่ ไม่มี และไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานของรัฐ หรือของสากลเข้าไปประเมิน จัดระดับ หรือเทียบเคียงกับใครหรือที่ไหนทั้งสิ้น ผู้เขียนประทับใจมากกับแนวคิดและแนวปฏิบัติของผู้ริเริ่มและผู้ขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะพ่อครูมาลา คำจันทร์ และคุณชัชวาล ทองดีเลิศ โรงเรียนแห่งนี้เริ่มและทำด้วย “ใจ” กระบวนการเรียนรู้เริ่มจากและเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง “ใจ” ของผู้เรียน (ลูกศิษย์) กับ “ใจ” ของพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญาในพื้นที่ (ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น) เป็นกระบวนการที่ทั้งสองท่านเรียกว่ากระบวนการ “ต่อใจ” ที่เริ่มจากข้างในคือ “ใจ” เพื่อสืบสาน “จิตวิญญาณ” วิถีที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง

ในการเยี่ยมเยือนนี้ ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ที่เต็มใจ ให้ใจ และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะ “คาย” ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่าอย่างแยบยล เพื่อสืบสานภูมิปัญญาล้านนาให้ยั่งยืน ด้วยหลักคิดที่ว่า “อมไว้ก็หาย คายออกมาก็อยู่” ความรู้และภูมิปัญญา ไม่ใช่ให้อยู่แต่ในหนังสือ ในซีดี... แต่อยู่ในชีวิต และอยู่อย่างมีสติ ดังคำกล่าวที่ว่า “บ่หลงของเก่า บ่เมาของใหม่” ที่อาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ ถอดและขยายความเป็นภาษากลางว่า “เข้าใจรากเหง้า เท่าทันโลกาภิวัฒน์”

ขอขอบคุณและชื่นชมด้วยความจริงใจ ขอให้โครงการ “หน่อคำ ลำแก้ว” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ของการเป็นทองคำแท้ที่เป็น “ทองดีเลิศ” ได้รับความสำเร็จโชติช่วง “ชัชวาล” ทั้งในฐานะที่เป็น Best Practice ของตัวเองที่ไม่ต้องไปเทียบเคียงกับใคร และทั้งในฐานะที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับที่อื่นที่ต้องการสร้าง Best Practice ให้กับตัวเอง

กรรมที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2557

ทุกวันนี้มีความเชื่อที่แพร่หลายในหมู่คนจำนวนไม่น้อยว่า ความเจ็บป่วยนั้นเป็นผลจากกรรมไม่ดีในอดีต ใครก็ตามที่ล้มป่วยแสดงว่าเขากำลังรับกรรม แพทย์และพยาบาลจึงไม่ควรเยียวยารักษาผู้ป่วยมากนัก เพื่อให้เขาใช้กรรมให้หมดในชาตินี้

น่าเป็นห่วงก็ตรงที่แพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อยเชื่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง บางคนเชื่อถึงขั้นว่าหากช่วยเหลือคนไข้ที่ป่วยหนักให้รอดพ้นจากความตาย หรือช่วยดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายไม่ให้ทุกข์ทรมาน เจ้ากรรมนายเวรของคนนั้นจะไม่พอใจ และอาจมาแก้แค้นเอากับแพทย์และพยาบาล ทำให้เกิดความเดือดร้อนตามมา หลายคนจึงรู้สึกลังเลที่จะช่วยผู้ป่วยเหล่านั้น ที่เมินเฉยหรือทำไปอย่างแกนๆ ก็คงมีไม่น้อย

น่าสังเกตว่าคนที่มีความเชื่อดังกล่าวมักเป็นผู้ที่สนใจธรรมะ ชอบเข้าวัดทำบุญรักษาศีล หรือเป็นนักปฏิบัติธรรม คงเพราะเข้าใจว่าความเชื่อเช่นนี้เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ทั้งๆ ที่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

อ่านต่อ »

รากฐานไดอะล็อค



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2557

ในปัจจุบัน ไดอะล็อคหรือที่เรียกกันว่าสุนทรียสนทนาบ้าง สานเสวนาบ้าง เริ่มมีคนนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างแพร่หลาย ผู้เขียนจึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะที่ใช้ไดอะล็อคเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมานานกว่าสิบปี และพบว่ายังมีแง่มุมใหม่ๆ ให้เรียนรู้มาโดยตลอด
...

อ่านต่อ »

เสียหน้าไม่ได้...ก็เรียนรู้ไม่ได้



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2557

กระแสเรื่องโค้ชเทควันโดชาวเกาหลีกับนักกีฬาสาว ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงประสบการณ์ส่วนตัว มีครั้งหนึ่งผมไปทำกระบวนการอบรมละครให้กับกลุ่มเยาวชนที่จังหวัดแห่งหนึ่ง ผมได้เชิญน้องผู้หญิงซึ่งเป็นกระบวนกรฝึกหัด เธอเพิ่งเริ่มเข้าวงการได้ไม่นานและตอบรับคำเชิญของผม นัยยะคือการหาประสบการณ์เพิ่มเติม

ในครั้งนั้น หลังจากทำกระบวนการไปได้เพียงวันเดียว ผมรู้สึกได้ถึงแรงต่อต้านและการไม่ให้ความร่วมมือ โดยเธอปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการเตรียมการ หมายถึงเธอไม่ได้ร่วมพูดคุยเพื่อวางแผนงานโดยอ้างว่าติดงาน เป็นที่รู้กันว่าการทำงานอบรมในเชิงจิตตปัญญานั้น การ “วางแผนงาน” ไม่ได้หมายถึงการวางแผนอย่างเป็นทางการแบบในวงการธุรกิจหรือราชการ แต่เป็นการบรรสานปรับคลื่นใจให้สอดคล้องกันรับรู้จังหวะชีวิตของกันและกัน เพื่อที่จะ “เต้นรำ” ไปได้ในจังหวะที่ต่างฝ่ายต่างสามารถไว้เนื้อเชื่อใจกันได้

มันเป็นศิลปะของการทำกระบวนการ...

อ่านต่อ »

ผู้นำร่วม ผู้นำแห่งอนาคต



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2557

คนอย่างขงจื๊อ เจ้าชายสิทธัตถะ คานธี เนลสัน แมนเดลา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างเรา-เราท่าน-ท่าน แต่ทำไมผู้คนเหล่านี้จึงได้รับการยอมรับ มีผู้คนจำนวนมากให้ความเคารพศรัทธาเชื่อถือ และถือเป็นแบบอย่างของแรงบันดาลใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง?

เมล็ดพันธุ์แห่งภาวะผู้นำก็คงเหมือนกับเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ ซึ่งถ้าหากเราเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้อยู่ในตัวของทุกคนอยู่แล้ว และสามารถบ่มเพาะให้เติบโตขึ้นมาได้ ทุกคนก็ย่อมเป็นผู้นำได้ เหมือนกับที่ทุกคนสามารถบรรลุความเป็นพุทธะได้

กระนั้น ท่านทะไลลามะก็เคยกล่าวว่า แม้ว่าตัวท่านเองจะเชื่อว่าตนเองเป็นการกลับชาติมาเกิดใหม่ของทะไลลามะองค์ก่อนหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านเกิดมาแล้วท่านจะรู้เรื่องพระไตรปิฎก พระคัมภีร์ หรือเนื้อหาทางพุทธศาสนาเลย ท่านก็ต้องหัดอ่านหัดเขียนหัดท่องตำราอย่างหนักเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะใช้เวลาน้อยกว่าคนอื่นและเรียนเร็วกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง

กระทั่งกรณีจีนกับทิเบต ที่ทำให้ท่านต้องระเห็จออกมาจากบ้านเกิด และรับทราบเรื่องทารุณกรรมที่คนทิเบตถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง ท่านก็บอกว่า การฝึกฝนการให้อภัยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และใช้เวลาเป็นสิบปี และท่านเองก็ไม่เคยบอกว่าการบรรลุธรรมเป็นเรื่องง่ายหรือทำได้ในระยะเวลาอันสั้น และทุกวันนี้แม้จะมีภารกิจ ก็ยังต้องนั่งสมาธิภาวนาศึกษาพระคัมภีร์รวมแล้วไม่ต่ำกว่าวันละ ๖ ชั่วโมง

ดังนั้นเอง แม้ว่าทุกคนจะมีศักยภาพในการเป็นผู้นำ แต่หากปราศจากการฝึกฝนปฏิบัติ เมล็ดพันธุ์แห่งภาวะผู้นำก็ยากที่จะเติบโต

แล้ว “ผู้นำตามธรรมชาติ” ล่ะ? – ผู้นำตามธรรมชาติก็ฝึกฝนตนเองผ่านปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวการณ์ที่เผชิญหน้ากับปัญหาและต้องมีการตัดสินใจ และวิกฤติก็เป็นเครื่องมือทดสอบสำคัญ บางคนสอบผ่าน บางคนสอบตก และสำหรับผู้นำที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ เขา/เธอก็ยังเรียนรู้ได้แม้ในความล้มเหลวผิดพลาดนั้น ผู้นำตามธรรมชาติเป็นเครื่องยืนยันว่า ภาวะผู้นำไม่ได้เกิดจากการเข้าห้องเรียนหรือต้องเข้าฝึกอบรมหลักสูตรนั้นได้ประกาศนียบัตรนี้ หากเป็นกระบวนการฝึกฝนเรียนรู้

การประสบความสำเร็จไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการเป็นผู้นำ เพราะคนที่ประสบความสำเร็จในการเรียน/การงาน/ครอบครัวแต่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง/แรงบันดาลใจให้กับใคร ก็เป็นเพียงคนที่ประสบความสำเร็จ และถ้าถือว่าความมั่งคั่งทางสังคมเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จ คนอย่างขงจื๊อ เจ้าชายสิทธัตถะ คานธี เนลสัน แมนเดลาต้องถือว่าเป็นคนที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

โดยนัยยะนี้ คนที่จบการศึกษาสูง-สูง คนที่มีรายได้มาก-มาก คนที่มีชื่อเสียง คนที่มีตำแหน่งการงานหรือยศถาบรรดาศักดิ์ หรือคนที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร จึงไม่ใช่ผู้นำเสมอไป


แต่การเป็นผู้นำก็ไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกันกับการเป็นขงจื๊อ สิทธัตถะ คานธี เนลสัน แมนเดลา – สิ่งที่ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้มีร่วมกันในเบื้องต้นคือ การเป็นนายของตนเอง สามารถนำพาชีวิตตนเองให้อยู่ในครรลองที่ถูกต้อง ตั้งคำถามกับตนเองเกี่ยวกับคุณค่าและความหมายของชีวิต และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินชีวิตของตนไปสู่เป้าหมายแห่งชีวิตนั้น และสิ่งสำคัญคือ ผู้คนเหล่านี้มองเห็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเสมอกัน การฝึกฝนตนเองของผู้นำเหล่านี้เป็นไปเพื่อขัดเกลาตนเองไปสู่จุดหมายอันประเสริฐแห่งชีวิต และขณะเดียวกันก็เป็นการรับใช้ประโยชน์สุขของผู้อื่น

ดังนั้นเอง คนสามัญธรรมดาก็เป็นผู้นำได้ หากสืบค้นจนพบความปรารถนาอันมีความหมายในชีวิตของตนเอง และพยายามนำพาฝึกฝนตัวเองให้ไปสู่จุดหมายนั้นได้ โดยจุดหมายนั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเท่ากับที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง คนไร้บ้านอย่างลุงดำ-สุทิน เอี่ยมอิน แรงงานนอกระบบอย่างป้าจิน-สุจินต์ รุ่งสว่าง แรงงานในระบบอย่างพี่ปิ๊ก-สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ชาวบ้านผู้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่อย่างพี่หน่อย-จินตนา แก้วขาว ปกากะญอที่ยืนยันวิถีชีวิตอันสอดคล้องกับธรรมชาติอย่างพฤ โอ่โดเชา ผู้ชายที่ใส่เสื้อยืดเก่าขาดและทำงานเรื่องการพึ่งพาตนเองผ่านการลงมือทำในชีวิตตัวเองอย่างโจน จันได ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดี

ในปัจจุบันมีหลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำจำนวนมาก หลายหลักสูตรยกระดับจากการอบรมแบบเลคเชอร์เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ บางหลักสูตรขยายขอบเขตกระบวนการเรียนรู้ออกไปมากกว่าห้องเรียน น้อยหลักสูตรที่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และที่น้อยมากที่สุดคือหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาภาวะการนำเชิงสมุหภาพ (Collective Leadership) นั่นคือ เน้นไปที่ภาวะการนำร่วม

แนวคิดการศึกษาที่เน้นการสร้างองค์ความรู้และผู้ชำนาญเฉพาะทางไม่อาจตอบสนองต่อวิกฤติปัญหาในโลกแห่งความซับซ้อนหลากหลายในปัจจุบันได้ ภาวะการนำเดี่ยวตามทฤษฎีวีรบุรุษจึงไม่สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป ภาวะการนำร่วมจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในหลายแวดวง

ผู้นำเดี่ยวหลายคนมีความอึดอัดไม่สบายใจสูงเมื่อต้องทำงานที่ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หลายครั้งที่ขาดความผ่อนปรนยืดหยุ่น กระทั่งไปจนถึงเข้าใจว่าหลักการเชิงคุณค่าในโลกนี้มีอยู่เพียงชุดเดียว ในที่สุดก็ขอแยกตัวออกไปทำงานแบบปัจเจกเดี่ยวเหมือนเดิม แต่ก็ไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากในโลกที่เปลี่ยนแปลงล่วงหน้าเราไปเสียแล้ว

ภาวะการนำร่วมนั้นต้องมีการทำงานกับตัวตนแบบปัจเจกเชิงเดี่ยวค่อนข้างมาก ปัจเจกที่ทีอัตตาตัวตนสูง มุ่งความเป็นเลิศอย่างไม่ให้เกียรติและยอมรับในคุณค่าการดำรงอยู่และความสำคัญของผู้อื่นเท่ากับตนเอง ย่อมเป็นผู้ปราศจากมิตรไมตรี เมื่อปราศจากมิตร ก็ย่อมมีโอกาสได้ยินเสียงจากกัลยาณมิตรน้อยลง ปัญญาเดี่ยวก็ลดคุณภาพลง

ขณะเดียวกันนั้นเอง ความเป็นเลิศของภาวะการนำในปัจเจกแต่ละคนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มเครือข่ายของผู้ปราศจากมุทิตาจิต กัลยาณมิตรผู้มีใจสูงย่อมยินดีในความสุขและโชคของผู้อื่น และยินดีเกื้อกูลให้คนคนหนึ่งเข้าถึงศักยภาพที่ดีที่สุดที่เขาจะมีได้

ผู้นำเดี่ยวจึงเกิดขึ้นได้ในผู้นำกลุ่ม และกลุ่มผู้นำที่มีจิตใจเสมอกันก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณลักษณะของผุดบังเกิด นั่นคือ ทรงพลังกว่าเดิม มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

การพัฒนาภาวะผู้นำร่วมจึงมุ่งไปที่การฝึกฝนลดอัตตาตัวตน ให้เจ็บปวดน้อยลง คาดหวังน้อยลง เมื่อสิ่งที่เราประสงค์ไม่เป็นไปตามปรารถนาภายใต้การทำงานร่วมกันในกลุ่ม ส่วนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมก็ต้องออกแบบกระบวนการทำงานโดยเฉพาะการตัดสินใจ รวมทั้งเรื่องทิศทาง การใช้ทรัพยากร ฯลฯ ให้อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมมากขึ้น

นั่นคือ การฟังให้มากขึ้นจะทำให้ได้ยิน และเมื่อมีคนฟัง ความหลากหลายที่เป็นโจทย์ร่วมกัน และความขัดแย้งเชิงคุณค่าในแนวคิดก็จะมีพื้นที่ของการปรากฏตัว แนวทางการแก้ไขปัญหาจะถูกเปรียบเทียบวิพากษ์วิจารณ์อย่างรอบด้านก่อนที่จะมีการคัดสินใจร่วมกัน และ-รับผิดชอบร่วมกัน

เสียงผีกับการพัฒนาองค์กร



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2557

ทุกองค์กรที่มีระบบการบริหารจัดการแบบมีลำดับชั้นความแตกต่างของอำนาจ ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มผู้มีอำนาจมากกว่า (ผู้เป็นใหญ่ หรือ Majority) และผู้มีอำนาจน้อยกว่า (Minority) ที่อาจไม่กล้าแสดงความคิดเห็นแตกต่างหรือแสดงความรู้สึกในการทำงานได้อย่างเปิดเผยเต็มที่ ราวกับมีสิ่งที่หลอกหลอนอยู่ในบรรยากาศการทำงาน ซึ่งในทฤษฎีจิตวิทยากระบวนการ (Process-oriented Psychology) เรียกบทบาทดังกล่าวว่า ผี (Ghost roles) ที่ก่อให้เกิดเสียงผี สะท้อนมุมมองหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งพนักงานมีต่อการบริหารงานของผู้บริหารในองค์กร แต่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะพูดในที่ประชุมเพราะกลัวจะเป็นภัยกับตัวเอง เสียงผีเหล่านี้ล้วนมีข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการในองค์กร เพราะเป็นฟีดแบ็คที่ทีมบริหารพึงได้รับ แต่หากไม่มีเวทีหรือกระบวนการมีส่วนร่วม เสียงผีเหล่านี้ก็จะดังขึ้นตามกลุ่มย่อย ห้องน้ำ ห้องอาหาร ยกเว้นเวทีประชุม

เสียงที่ดูเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เราอาจรับรู้หรือได้ยินมาบ้าง แต่เลือกที่จะละเลยเพราะถือว่าไม่สำคัญ ไม่เกี่ยวกับ “เรา” หรือไม่มีประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมายงาน กระบวนการผลักไสออกไปอย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจนี้เรียกว่า การกีดกัน (marginalization) แต่หากเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องที่เราผลักออกก็มักจะวนเวียนกลับมาร้องเรียกให้เราใส่ใจจนได้ หากอยู่ในรูปแบบที่อาจจะรับได้ยากขึ้น เช่น ถ้าเราเป็นคนจริงจังมาก ทำงานอย่างเต็มที่ เราก็อาจจะผลักไสความต้องการด้านสุขภาพและความใกล้ชิดกับครอบครัวให้ห่างออกไปจากศูนย์กลางชีวิต และคิดว่า “ไม่มีปัญหาอะไร” แต่อนิจจา หลายคู่ต้องประสบกับความแตกแยกเพราะเราไม่รับรู้สัญญาณเล็กๆ ที่เรียกว่าเป็นสัญญาณซ้อน (Double signals) ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่มักไม่ตั้งใจ (unintentional communication) แต่กลับมีความหมายแฝงอยู่อย่างน่าค้นหา

อย่างเช่น ในองค์กรใดๆ ที่ทุกอย่างอาจจะดูราบรื่น ผู้คนทำงานไปอย่างปกติ ผู้บริหารอาจไม่สังเกตเห็นหรือไม่ใส่ใจอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ ทำงานไปวันๆ ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นเวลามีโครงการใหม่ๆ หรือเกี่ยงกันของคนทำงาน แต่มองว่าพนักงานเหล่านี้ “มีปัญหาเชิงทัศนคติ” และต้องอบรมเพื่อ “ฟื้นฟูจิตใจ” หรือ “ปรับทัศนคติให้เหมาะสม” เพื่อให้เกิดความคิดเชิงบวกต่อการทำงานให้เต็มที่มากขึ้น แต่กลับมองไม่เห็นว่าอาการเหล่านี้เป็นผลพวงของการขาดการมีส่วนร่วมจากระดับฐานราก เพราะมีแต่สั่งลงมาให้ทำนั่นทำนี่ ไม่เคยเปิดเวทีรับฟังความรู้สึกนึกคิดของคนทำงาน

ตัวอย่างการพัฒนาด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพของการผลิตรวมผ่านระบบการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยตัวเอง (TPM: Total Preventive Maintenance) ขององค์กรแห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งหากมีการทำกันทั้งองค์กร แต่เมื่อเราจัดเวลารับฟังเสียงของผู้ปฏิบัติงาน ภายใต้หัวข้อ "TPM ยาขมหรือขนมหวาน" เราจะได้ยินเสียงจากทั้งสองฝั่ง บ้างบอกว่าเป็นขนมหวานเพราะสภาพแวดล้อมสะอาด สะดวก และปลอดภัยขึ้น สะดวกในการดูแลรักษาเครื่องจักร และยังได้ค่าแรงนอกเวลาด้วย ในขณะที่อีกฝั่งรู้สึกว่าโครงการเป็นเรื่องที่ดี แต่หัวหน้างานไม่ได้อธิบายว่าทำไมถึงอยากให้ทำ หรือมีกระบวนการทำอย่างไร มีแต่สั่งว่าอยากได้แบบไหน หรือบางทีมาทำงานในโครงการนี้ แต่กลับถูกมองว่า “มาทำอะไร” ​ราวกับไม่เข้าใจหรือไม่เห็นความสำคัญจริงๆ ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำ บางทีคนทำงานอยากเสนอแนวคิดแต่ก็ไม่ได้รับการรับฟังหรือสนับสนุน อีกทั้งยังไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานข้างเคียง เพราะต่างฝ่ายต่างมีเรื่องต้องทำของตัวเองอยู่แล้ว เป็นต้น

โชคดีที่ผู้บริหารได้มีการตระเตรียมตัวเองเพื่อเปิดใจรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงาน และไม่ได้มองว่าเสียงเหล่านี้มาจากอคติหรือทัศนคติด้านลบ แต่เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวโดยขาดการสร้างกระบวนการทำความเข้าใจถึงหัวใจและเป้าหมายของโครงการ และขาดการส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมาตั้งแต่ต้น “เรารู้ว่าเราต้องการอะไร ผมเชื่อว่าเรามีความรู้มากพอที่จะทำมัน แต่ที่เราไม่รู้คือพนักงานที่อยู่ในระดับปฏิบัติการมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ผมอยากจะลองรับฟังเสียงพวกเขาดู เพราะอย่างไรเสียบริษัทของเราก็ต้องไปในทิศทางนี้แน่ๆ แต่ผมอยากให้ไปข้างหน้าอย่างเต็มอกเต็มใจ อย่างเข้าใจกัน”​

ผู้บริหารอีกท่านหนึ่งกล่าวกับผมว่า ได้ผลลัพธ์ดีกว่าที่คิด เพราะเมื่อมีการพูดคุยกันแล้ว ทำให้รู้ว่าผู้คนไม่ได้ต่อต้านโครงการดังกล่าว ตรงกันข้ามกลับมีใจอยากทำให้สัมฤทธิ์ผล เพราะรู้ว่าเป็นประโยชน์ต่องานของตัวเองและองค์กร “ตอนแรกผมนึกว่าจะออกมาแรงกว่านี้” เขาคิดอย่างนั้น แน่นอนว่าหากไม่มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผย เรื่องเหล่านี้อาจจะมีการพูดคุยกันนอกวงประชุม เป็นเสียงที่พูดถึง TPM อย่างไม่พอใจในฐานะผีตัวหนึ่ง ซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นแรงต้านที่ฉุดรั้งโครงการดีๆ ไม่ให้ไปถึงไหน

ดังนั้น ดูเหมือนว่าในกรณีแบบนี้ คนที่ต้องปรับทัศนคติก่อนใครคือผู้บริหารนั่นเอง และตั้งคำถามกับตัวเองว่า ได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เกิดการพูดคุยและการมีส่วนร่วมมากพอ โดยเฉพาะการเปิดรับฟังเสียงที่เรา “ไม่อยากได้ยิน” หรือรู้สึกขัดข้อง กวนใจ หรืออาจจะรู้สึก (ตัดสิน) ว่าเป็นพวกเหลือขอ เด็กหลังห้อง พวกมีปัญหาเชิงทัศนคติในการทำงาน ซึ่งเป็นกระบวนการผลักไสละเลยอย่างไม่รู้ตัว (marginalization)

การรับฟังปัญหาอย่างเต็มที่ จะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขและการร้องขอจากกันและกัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีชีวิตชีวาไม่แพ้กัน เพราะการร้องขอ (request) เป็นทักษะการสื่อสารอย่างหนึ่งที่องค์กรทั่วไปขาด เพราะส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการขอร้องที่ไม่ชัดเจน หรือใช้การเรียกร้องแทน เพราะไม่สนใจว่าอีกฝ่ายจะติดขัดอะไรเสียมากกว่า แต่หัวใจของการร้องขอ จำต้องสื่อสารความต้องการลึกๆ ของเรา และพร้อมเปิดใจรับฟังว่าอีกฝ่ายมีความคิดเห็นหรือข้อจำกัดอย่างไร การร้องขอที่ดีจะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน และค้นหาทางออกที่จะตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย รวมถึงทักษะการให้ฟีดแบ็คที่ไม่ใช่การกล่าวโทษ ตำหนิต่อว่าให้เป็นฝ่ายผิด ซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความบาดหมางหรือบาดเจ็บในใจ เกิดแผลในความสัมพันธ์อีกด้วย

เมื่อผมให้ผู้เข้าร่วมฝึกการร้องขอและเชื้อเชิญคนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน ห้องประชุมก็กลายเป็นวงสนทนาที่ประสานเสียงกันได้อย่างมีชีวิตชีวา คนที่ถูกร้องขอรู้สึกว่าได้รับเกียรติ ได้รับคุณค่า มีทางเลือกที่จะเสนอทางออกต่างๆ อย่างเหมาะสม ทำให้ปัญหาทางเทคนิคบางเรื่องที่ไม่ได้รับการแก้ไขมานานนับสิบปี เพราะติดปัญหาการสื่อสารแบบต่างฝ่ายต่างเรียกร้องหรือโยนความรับผิดชอบให้อีกฝ่ายเรื่อยมา แต่เพียงแค่เปลี่ยนทัศนคติและวิธีการพูดคุยก็ช่วยให้สามารถค้นพบทางแก้ไขได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ซึ่งทำให้ผมยิ่งตระหนักถึงความจริงที่ว่า เราไม่ได้อับจนปัญญาหรือความรู้สึกแต่อย่างใด แต่ที่เราขาดคือความเข้าใจในกันและกัน และขาดศิลปะสำคัญในการ “คิดร่วมกัน” เพื่อสร้างสรรค์ปัญญาร่วมเสียมากกว่า ซึ่งรวมถึงการเห็นคุณค่าของ “เสียงผี” ในองค์กรที่จะให้ข้อมูลสำคัญในการพัฒนาองค์กร

จิตวิวัฒน์ จิตอาสา และกระจกเงา



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2557

ก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ประเทศไทยยังไม่มีคำว่า “จิตอาสา”

เวลานั้นเราใช้คำว่า “อาสาสมัคร” และ “บำเพ็ญประโยชน์” เป็นหลัก เรามีคนกลุ่มหนึ่งทำงานอาสาสมัครอยู่ก่อนแล้ว มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งทำงานบำเพ็ญประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมัยนั้นได้เริ่มต้นแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพในปีแรกๆ ได้เข้าไปสนับสนุนเอ็นจีโอหลายกลุ่มเพื่อทำงานด้านพัฒนาจิตหลายรูปแบบ

หนึ่งในหลายกลุ่มที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันนั้นคือ “กลุ่มจิตวิวัฒน์”

อีกหนึ่งคือ “เครือข่ายจิตอาสา”

กลุ่มจิตวิวัฒน์เป็นการรวมตัวกันของนักคิดหลายท่าน เป็นที่สงสัยและไม่เข้าใจเสมอมาว่ากลุ่มจิตวิวัฒน์คุยกันเรื่องอะไร เมื่อผมเข้ามาช่วยดูแลงานใหม่ๆ นั้นก็ไม่เข้าใจเช่นกัน พยายามเทียบเคียงกับกลุ่ม นิวเอจ (new age) รูปแบบต่างๆ ก็พบว่าไม่เหมือนเสียทีเดียว พยายามเทียบเคียงกับกลุ่มพัฒนาจิตวิญญาณก็มิใช่อยู่ดี หลังจากนั่งฟังประชุมเป็นบางครั้งและตรวจรายงานการประชุมอยู่พักใหญ่จึงได้คำสำคัญมาสองสามคำ

คือ “วิทยาศาสตร์ใหม่” “จิตสำนึกใหม่” และ “กระบวนทัศน์ใหม่”

หากพิจารณาบทความที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์นี้ติดต่อกันมาหลายปี ก็คงเห็นได้ว่าบทความแต่ละบทอยู่ภายใต้แนวคิดของคำสำคัญสามคำนี้ ไม่คำใดก็คำหนึ่ง แต่จะนิยามให้ชัดนั้นทำไม่ได้

เมื่อจนปัญญา ตกลงไม่รู้ว่ากลุ่มจิตวิวัฒน์พูดคุยเรื่องอะไรกัน ก็เลิกพยายามแล้วปล่อยให้ผู้อ่านหรือสังคมภายนอกตัดสินเองจากบทความหลากหลายทุกวันเสาร์ ปีหนึ่งสอบถามกองบรรณาธิการครั้งหนึ่งก็ได้รับคำตอบว่าเสียงตอบรับยังดีอยู่ทุกครั้งไป ครั้นประเมินจากเว็บไซต์จิตวิวัฒน์ซึ่งรวบรวมผลงานเขียนหลายร้อยชิ้นเหล่านี้ก็ได้รับคำตอบเดียวกัน บทความเหล่านี้ถูกรวมเล่มเป็นหนังสือสามเล่ม ทั้งนี้ยังไม่นับว่าสมาชิกกลุ่มยังได้ปรากฏตัวในหนังสือเฉพาะกิจอีกหลายเล่ม ทุกเล่มล้วนได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี

เช่นนี้ก็ต้องยอมรับว่าบทความเหล่านี้ได้ช่วยจุดประกายความคิดใหม่ๆ ให้แก่สังคม มากบ้างน้อยบ้าง เข้าท่าบ้างพอใช้ได้บ้างเสมอมา

โดยส่วนตัว ผมเสียดายรายงานถอดเทปการประชุมของกลุ่มจิตวิวัฒน์นับร้อยครั้งที่ผ่านไป บันทึกถอดเทปครั้งละเป็นร้อยหน้าเหล่านั้น เมื่อนำมาอ่านครั้งใดก็ยังน่าตื่นเต้นได้ทุกครั้งว่าช่างยอดเยี่ยมเสียนี่กระไร ให้ความรู้แปลกใหม่ สร้างความคิดใหม่ๆ และกระตุ้นจิตสำนึกใหม่ได้สมดังจุดมุ่งหมายของกลุ่ม น่าจะมีใครสักคนอาจหาญจัดพิมพ์เผยแพร่แทนที่จะปล่อยให้เป็นที่เกาะฝุ่นอิเล็กตรอนอยู่ในฮาร์ดไดรฟ์

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวอีกเช่นกัน ผมมักวิจารณ์กลุ่มจิตวิวัฒน์ว่าออกจะลอยตัวขาดจากสังคมมากไปหน่อย เวลานั่งฟังกลุ่มคุยกันชวนให้คิดถึง สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง (Second Foundation) ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ไตรภาคคลาสสิกของ ไอแซ็ค อะสิมอฟ (อันที่จริงไม่ไตรภาคแล้ว อะซิมอฟเขียนเพิ่มอีก ๓ เล่ม มีนักเขียนอื่นมาเขียนเติมอีก ๓ เล่ม รวมแล้ว ๙ เล่ม หลังจากเล่มที่ ๙ ก็ไม่ได้อ่านอีก)

นวนิยายสามเล่มแรกเล่าเรื่องจักรวรรดิสากลจักรวาลกำลังล่มสลาย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเป็นสถาบันสถาปนา (Foundation) สร้างสารานุกรมจักรวาลเอ็นไซโคลปิเดีย กาแล็คติกา เพื่อสืบทอดความรู้ของมนุษยชาติให้คงอยู่ เป็นรากฐานของการเริ่มต้นอารยธรรมใหม่ แต่แล้วเป็นที่กังขาและเปิดเผยในภายหลังว่าสารานุกรมจักรวาลเป็นเพียงเป้าล่อ เป้าหมายที่แท้จริงของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้คือก่อตั้งกลุ่มพลังจิตที่สุดขอบจักรวาลเรียกว่า สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง ด้วยความที่สถาบันสถาปนาแห่งที่สองคุยกันด้วยจิต จึงจำเป็นต้องมีผู้ “พูด” คนที่หนึ่งเรียกว่า “เอกวาจก”

เมื่อคิดย้อนหลังก็อดขำมิได้ว่า กลุ่มจิตวิวัฒน์มีเอกวาจกจริงๆ เสียด้วย

ทั้งหมดที่เล่ามาคือเรื่องกลุ่มจิตวิวัฒน์ นักคิดนักปฏิบัติหลายคนจากกลุ่มจิตวิวัฒน์มีส่วนก่อตั้ง “จิตตปัญญาศึกษา” ในเวลาต่อมา ดังที่เรียนให้ทราบว่า ในเวลาใกล้เคียงนั้นประเทศไทยก็เกิด “เครือข่ายจิตอาสา” เป็นเอ็นจีโอมากหน้าหลายตาซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มจริงๆ สาวจริงๆ ในเวลานั้นมาช่วยกันทำงาน

ในตอนแรกไม่มีคำว่าจิตอาสา

ผู้จัดการแผนพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพสมัยนั้นกล่าวว่า เป็นสมาชิกเครือข่ายอาสาสมัครสามคนช่วยคิดคำว่า “จิตอาสา” ขึ้น โดยมีสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ซึ่งเป็นที่เคารพท่านหนึ่งสนับสนุนให้ใช้คำนี้อย่างต่อเนื่อง หนุ่มสาวที่ขยันขันแข็งพัฒนาจิตอาสาสมัยนั้นบางคนกล่าวว่าคำนี้เริ่มปรากฏเป็นทางการในชื่อโครงการ “ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” ของเครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม แล้วหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ท่านได้ใช้อย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

คำว่าอาสาสมัครหรือบำเพ็ญประโยชน์เป็นคำกิริยา ให้ความหมายเพียงการกระทำ แต่จิตอาสาเป็นคำนาม สะท้อนถึงจิตใจของผู้อาสาหรือผู้ให้ที่เปลี่ยนแปลงไป

พูดง่ายๆ ว่า ผู้ให้คือผู้ได้ ได้จิตใจที่ดีงามกลับมา

คำนี้ถูกใช้กันแพร่หลายทั่วไปจนถึงวันนี้ หากประเทศไทยจะมีผู้จัดทำพจนานุกรมแบบอ๊อกซฟอร์ดที่ไล่กำเนิดของคำภาษาอังกฤษทุกคำ คำว่าจิตอาสาเป็นคำหนึ่งที่เกิดใหม่ไม่เกินสิบปี น่าจะสืบเสาะจุดเริ่มต้นได้ไม่ยาก

เวลานั้นเครือข่ายจิตอาสามีมากมาย นอกจากเครือข่ายพุทธิกาฯ แล้ว มูลนิธิกระจกเงาเป็นองค์กรหนึ่งที่โดดเด่นและทำงานเกาะติดสม่ำเสมอในทุกๆ งานที่จับ

อาสาสมัครคนหนึ่งที่ทำงานหนัก จิตใจดีมาก อีกทั้งเป็นหนึ่งในสามคนที่ถูกอ้างอิงว่าอยู่ในที่ประชุมที่ช่วยคิดค้นคำนี้ขึ้นมาแต่แรกคือคุณหนูหริ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์

ปฏิรูปการศึกษาไทย : เพื่อใคร เพื่ออะไร และอย่างไร?



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2557

ตอบเป็นเบื้องต้นก่อนเลยว่า ปฏิรูปการศึกษาจะต้องคิดและทำเพื่อ “ผู้เรียนรู้” ซึ่งได้แก่ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง การพัฒนาระบบ และการจัดการศึกษาทุกระดับทุกประเภทของการศึกษา เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ เรียนรู้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวตนของผู้เรียนรู้ซึ่งเป็นมิติภายใน อันได้แก่อารมณ์ ความรู้สึก ความคาดหวัง ค่านิยม ทัศนคติ ความคิด และความเชื่อ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกด้านต่างๆ เช่นเทคโนโลยี การเมือง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ...ซึ่งเป็นมิติภายนอก

ปฏิรูปการศึกษาจะต้องคิดและทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อ “สร้างสรรค์สังคมคุณภาพและคุณธรรม” ไม่ใช่แค่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่ฉาบฉวย ผิวเผิน และชั่วคราวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อให้ดูดีมีความทันสมัย

การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องเริ่มต้น และให้ความสำคัญอย่างแท้จริงกับการสร้างและพัฒนาคุณภาพภายในของครู/อาจารย์ ในฐานะที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และในฐานะที่เป็นผู้ร่วมเรียนรู้ไปกับผู้เรียน

การพัฒนาครู เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นผู้เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานสำคัญ (Fundamental Transformation) ในระดับบุคคล นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร และสังคมโดยรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็น และเร่งด่วน นอกจากจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเพราะเป็นการพัฒนาจากภายในสู่ภายนอก จากบุคคลสู่สถานศึกษา ชุมชน และสังคมโดยรวมแล้ว การปฏิรูปโครงสร้าง และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องสอดรับกันอย่างเป็นองค์รวม

ผมเคยเขียนบทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในคอลัมน์จิตวิวัฒน์เป็นระยะๆ แต่ในการเป็นวิทยากร โดยเฉพาะในวงการศึกษา ผมจะพูดและย้ำตลอดเวลาว่า เราต้องปฏิรูปการศึกษาของเรา ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ทันสมัย ใกล้เคียงหรือเทียบเคียงกับประเทศอื่นที่เจริญ (ทางวัตถุ) แล้ว ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับบนสุดลงมาจนถึงแต่ละสถานศึกษา เพื่อให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพตามแนวคิดและแนวปฏิบัติขององค์กรทางธุรกิจ ซึ่งถูกครอบด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม และปรับหลักสูตรที่เนื้อหาสาระให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง (Change) ที่เป็นมิติภายนอก เพื่อจะได้เปลี่ยนปรับรับการเปลี่ยนแปลง

แต่เราต้องปฏิรูประบบและกระบวนการทางการศึกษาที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดอาการที่ผมเรียกว่า “ปิ๊งแว้บ” เป็นระยะๆ เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงภายนอก และภายในตัวตนของตนเอง และที่สำคัญคือการรับรู้ การตระหนักรู้ และการเรียนรู้ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมิติทั้งสองและสรรพสิ่ง

ผมจึงเสนอว่าในการปฏิรูปการศึกษา จะต้องคิดถึงการปฏิรูปครู/อาจารย์เป็นอันดับแรก ไม่ใช่โครงสร้าง ลำดับชั้นของตำแหน่ง ระบบการประเมิน ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาตามที่ทำกันอยู่ และระบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อหวังจะเพิ่มคุณภาพเชิงปริมาณภายนอก (คะแนนจากผลการสอบวัดประเภทต่างๆ ) แต่มีผลไปกดทับจิตวิญญาณของความเป็นครู/อาจารย์ แทนที่ครู/อาจารย์จะใช้เวลาอย่างมีคุณค่ากับลูกศิษย์ และชุมชน ก็กลับต้องมาใช้เวลาในการเตรียมรับการประเมินภายนอก และเตรียมตัวรับการประเมินเพื่อปรับระดับและเลื่อนตำแหน่งต่างๆ

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ระบบบริหาร โครงสร้างและสิ่งประกอบภายนอกอื่นๆ ไม่สำคัญ เพราะมันสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปทั้งหมด เพียงแต่จะเน้นให้เห็นความสำคัญของครู/อาจารย์ โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาจิตสำนึก/จิตวิญญาณของความเป็นครู ส่วนระบบ โครงสร้าง ระบบการให้ความดีความชอบ ระบบการวัดการประเมิน และส่วนประกอบอื่นๆ ที่จะปฏิรูป จะต้องไม่มาทำร้ายหรือทำลายจิตสำนึก/จิตวิญญาณของความเป็นครูไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความรู้ (รายวิชา หลักสูตร) และทักษะที่สำคัญและจำเป็นในแต่ละสาขาวิชาชีพไม่สำคัญ ยังสำคัญอยู่ครับ แต่ผมกำลังพูดถึงกระบวนการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาและแต่ละหลักสูตรเพื่อให้หยุดคิด ใคร่ครวญทบทวนอย่างมีสติ ว่าเราเน้นจากภายในสู่ภายนอก หรือเน้นเฉพาะเนื้อหาสาระ (ความรู้และทักษะ) ภายนอกเท่านั้น เราเน้นการเรียนรู้ หรือการสอน การเรียน และการสอบ ตามวิธีการแบบเดิมที่ทำกันอยู่ เราเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนหรือการสอนการถ่ายทอดเนื้อหาในรายวิชา เราเน้นการรู้เท่าทันซึ่งเป็นมิติภายในหรือการไล่ให้ทันความรู้และทักษะที่เป็นมิติภายนอก

ข้อสังเกตของผมก็คือ การศึกษากระแสหลัก มีการปฏิรูปมิติภายนอกเป็นหลัก เช่นปฏิรูประบบและโครงสร้างองค์กร ตำแหน่งและค่าตอบแทนตามตำแหน่ง มาตรฐานกลาง มาตรฐานสากล มากกว่าการสร้างและพัฒนาจิตสำนึก/จิตวิญญาณของความเป็นครู/อาจารย์ การปฏิรูปแต่ละครั้งไหลไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงภายนอกเพื่อให้มีคุณภาพเหมือนหรือใกล้เคียงกับที่อื่นที่เหนือกว่าเมื่อเปรียบเทียบตามมาตรฐานสากล การปฏิรูปแต่ละครั้งเราพยายามจะหาตัวแบบที่ดีที่สุดเพื่อที่จะเทียบเคียงกับเขาโดยมิได้คำนึงถึงบริบทและเป้าหมายที่แตกต่าง เราทำเพียงเพื่อให้ดูทันสมัย มีผลการจัดอันดับที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการไล่ล่าตามมาตรฐานสากลที่เปลี่ยนไปตลอด

การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ขออย่าให้ติดกับดัก “ความก้าวหน้าและความทันสมัย” จนสูญเสียความเป็นไทย และความดีความงามของความเป็นคนไทย

ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้ปฏิเสธหรือประท้วงความก้าวหน้าและความทันสมัย แต่ต้องการให้มีสติและปัญญาที่จะรู้เท่าทัน แล้วร่วมด้วยช่วยกันเลือกและสร้างสรรค์ความก้าวหน้าและความทันสมัยที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพและคุณธรรม เป็นตัวแบบที่ดีที่ให้ประเทศอื่นมาเรียนรู้และเทียบเคียงได้บ้าง

บทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของการศึกษาคือการสร้างสติและปัญญาให้ปวงชนทุกหมู่เหล่า ไม่ใช่ทำให้ใหลหลงจนขาดสติ และปัญญา เมามัวกับการตามไล่ล่ามาตรฐานของคนอื่น วิ่งหาความก้าวหน้าและความทันสมัยตามความหมายที่ผู้อื่นกำหนด

ความก้าวหน้าที่ขาดสติ และความทันสมัยที่ไร้ปัญญา ไม่น่าจะเกิดขึ้นในการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปประเทศครั้งนี้

เพราะผมไม่อยากให้ใครมาวิพากษ์หรือวิจารณ์ตามหลังว่า การศึกษาของไทยนั้น “ทันสมัยแต่ขาดสติ และไร้ปัญญา” ครับ

ที่จริงผมมีแนวทางที่เสนอว่าจะทำอย่างไร แต่เนื้อที่มีจำกัดครับ แต่ก็เคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แล้วหลายบทความ ลองหาอ่านดูได้ครับ

มองไปข้างหน้า มวลมหาประชาคุย


สัมภาษณ์ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด
เรียบเรียงโดย กลุ่มสันติทำ
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2557
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2557

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งอื่นๆ ในสังคม มีคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเพื่อพูดคุยในนามของ “มวลมหาประชาคุย” อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด คือหนึ่งในผู้จุดประกายความคิดของการพูดคุยรูปแบบนี้ อาจารย์ได้อธิบายให้เห็นว่ามวลมหาประชาคุยมีความเป็นมาและกระบวนการอย่างไร รวมทั้งสังคมจะได้อะไรจากการพูดคุยบ้าง และการพูดคุยจะช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งได้หรือไม่ แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะความขัดแย้งเดิมตอนที่กลุ่มสันติทำไปสัมภาษณ์อาจารย์ เหตุการณ์ต่างๆ จะดูเหมือนสงบนิ่งลงอย่างน้อยชั่วคราว แต่หากมองในระยะยาวแล้ว เราคงต้องเริ่มตระเตรียมกระบวนการบางอย่างเพื่อเป็นเครื่องมือในคลี่คลายความขัดแย้งในอนาคตโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงหรือลดทอนความเป็นประชาธิปไตยลงอีก


จุดเริ่มต้นของมวลมหาประชาคุย

มวลมหาประชาคุยเริ่มต้นภายหลังการเกิดความขัดแย้งทางการเมืองรอบล่าสุด (ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่ม กปปส.) ได้สักเดือนกว่าๆ ผู้คนมีความคิดที่อยากจะพูดอยากจะคุย แต่ในพื้นที่ที่ไปร่วมชุมนุม การแสดงความคิดอาจจะทำไม่ได้อย่างเต็มที่นัก ในพื้นที่อย่างโซเชียลมีเดียก็มักจะมีข้อขัดแย้งในการนำเสนอความคิดกันอย่างมาก จึงมีผู้คนมานั่งคุยกันว่า เราอาจจำเป็นต้องมีพื้นที่คุย ส่วนจะนำไปสู่สิ่งใดเราไม่ได้ตั้งไว้ ว่ามันจะต้องนำไปสู่การปฏิรูป ประชาธิปไตย หรือทางออก จุดสำคัญมีเพียงอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรให้คนสามารถที่จะมาคุยกันได้ เพราะเรามีความเชื่อในปัญญารวมหมู่ คือถ้ามีการรวมหมู่ของผู้คนมาพูดคุยกัน ใช้วิจารณญาณร่วมกันอย่างสันติ น่าจะมองเห็นทางที่ดีกว่าทางที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

เราจึงเชิญชวนกันมาทำเวทีว่าอำนาจของการพูดคุย ประชาธิปไตยของการพูดคุย มันควรจะเป็นยังไง เราเลยตั้งหลักว่า เราจะเปิดเวทีที่เราเรียกว่า มวลมหาประชาคุย


กระบวนการพูดคุย

ทุกคนมีโอกาสในการพูดการนำเสนอได้อย่างเสรีภายใต้เวลาที่มี แต่ไม่มีใครเป็นวิทยากรหลัก วิทยากรรอง หรือเป็นผู้ดำเนินรายการ มีแต่ทุกคนมานั่งพูดคุยกันในวงใหญ่ หลังจากนั้นชวนแบ่งกลุ่มย่อยตามแต่ความสนใจ โดยยึดหลักที่เรียกว่ากฎสองขา คือพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่มีประโยชน์ ถ้าเรานั่งอยู่ตรงนั้นแล้ว รู้สึกอึดอัดไม่มีประโยชน์ต่อวงที่คุยกัน เราก็ย้ายไปอยู่ในที่อื่น

เราเริ่มจัดครั้งแรกที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นจัดครั้งที่สองที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตดินแดง โดยเปลี่ยนรูปแบบนิดหน่อย คือจัดเป็นห้องย่อย ทุกคนนำเสนอได้ว่าใครจะเปิดห้องย่อยอะไรบ้าง และใครอยากจะเป็นคนฟังในห้องไหนบ้าง มีการโฆษณาคนละ ๓ นาที แล้วเราก็จัดห้องย่อยไปตามคะแนนเสียง คนฟังเยอะก็เป็นห้องใหญ่ คนฟังน้อยก็ห้องเล็ก แต่ทุกคนได้พูดกันหมด บางคนอาจจะเตรียมมาคุยเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะฟังมาจากครั้งแรกแล้วเรื่องนี้น่าสนใจ บางคนเตรียมมาเรื่องการปฏิรูประบบพลังงาน หลังจากนั้นยังกระจายไปจัดตามจังหวัดต่างๆ คือเชียงใหม่ แพร่ ชลบุรี เป็นต้น


เป้าหมายและประโยชน์ของการพูดคุย

การทำแบบนี้คงไม่ถึงขั้นนำไปสู่ทางออกของประเทศ แต่คงจะทำให้เรา โดยเฉพาะคนที่ได้เข้าร่วมเห็นว่า พื้นที่ของการพูดคุยมีความหมายจริงๆ ทำให้คนได้หาทางออกที่เราอาจจะนึกไม่ถึงตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งหลายๆ ครั้ง หลายๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี เช่น จังหวัดชลบุรีมีการพูดคุยกันสองสามรอบ จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมร่วมกัน มีการจัดตั้งสภาลุ่มน้ำโดยมีทุกภาคส่วนมาหารือ วางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน มีฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม ฝ่ายคัดค้านการขยายตัวของอุตสาหกรรม ฝ่ายชลประทาน ฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบ การพูดคุยลักษณะนี้ทำให้ทุกคนสามารถอยู่และแสวงหาทางออกร่วมกันได้

ถ้าคนที่มาคุย รู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์ จากที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยคิดมาก่อน นั่นแหละคือเป้าหมายของการพูดคุย ซึ่งจากการสอบถาม การพูดคุยช่วยในสิ่งนี้ ผมคิดว่ากฎสองขาทำหน้าที่สำคัญ สำหรับสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่ บางทีเราอยู่ในสังคมไทยที่ค่อนข้างจะเกรงอกเกรงใจกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อถูกใช้ในพื้นที่สาธารณะมากเกินไป บางครั้งในวงพูดคุยเราอาจรู้สึกว่าสิ่งที่พูดอยู่ไม่ถูกต้องเหมาะสมนัก แต่เราไม่ได้แสดงอาการใดๆ ออกมา รวมถึงไม่ได้เดินออกไปยังจุดที่เราทำประโยชน์ได้มากกว่า ส่งผลให้พื้นที่สาธารณะนี้ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นเหตุเป็นผลมากที่สุดสำหรับสังคมส่วนรวม แต่เมื่อเรานำกฎสองขามาใช้ เราพบว่าผู้คนจะต้องมีการปรับตัว โดยเฉพาะผู้พูด เมื่อพูดหรือแสดงความเห็นไปแล้ว ผู้คนมีความคิดเห็นอย่างไร จะมีส่วนช่วยสำคัญที่ทำให้เราปรับตัวเข้าหากัน แล้วนำไปสู่ทางออกร่วมกัน


การพูดคุยกันจะช่วยลดความรุนแรงหรือไม่

ความรุนแรงลดลงอยู่แล้ว ตั้งแต่เรารู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกัน เป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน ผมไปเวทีจังหวัดชลบุรี ความรู้สึกของเขา ปัญหาเรื่องน้ำเป็นยิ่งกว่าปัญหา เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ในนิคม ในชุมชน คุณคือผู้ร่วมชะตากรรม แน่นอนว่าเขามีความเห็นต่างกัน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราร่วมชะตากรรมกัน ทีละส่วนทีละประเด็น หาทางออกร่วมกันได้

แต่ผมคิดว่าความรู้สึกนี้ยังไม่เกิดในสังคมไทยนัก เราต่างยังรู้สึกว่าชะตากรรมเป็นสิ่งที่เรากำหนดเองฝ่ายเดียวได้ ถ้าเราทำอย่างนี้ๆ แล้วฝ่ายเราน่าจะถูก ซึ่งจริงๆ คำว่าถูกคำว่าผิดมันก็เป็นเรื่องน่าคิด ในแง่ที่ว่าบางสิ่งที่เราคิดว่าถูกมันอาจถูกจริงก็ได้ แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจต่อความคิดเห็นซึ่งแตกต่างจากเรา ในที่สุดสิ่งที่เรายึดมั่นว่าถูก มันไม่อาจนำเราไปสู่ทางออกที่ถูกที่ดีได้


ความคาดหวังต่อการพูดคุยเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง

ถ้าเรามองแคบคือ แค่ชัยชนะทางการเมืองระยะเฉพาะหน้า เราอาจจะรู้สึกว่า เราขับไล่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ จับกุมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พิพากษาหรือลงคะแนนเสียงแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องแพ้ไปได้ แต่ถ้าเรามองแบบระยะไกล ทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงไม่สามารถที่จะชนะและปกครองประเทศนี้ หรือมีอำนาจบริหารจัดการประเทศนี้โดยลำพังฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายต้องมาปรับเข้าหากัน

อีกส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญคือ เราต้องไม่มองว่าการพูดคุยต่างๆ นี้ เป็นเรื่องเฉพาะผู้บริหาร ผู้ที่มีอำนาจในการปกครองประเทศ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เรามีปัญหาอยู่คือ การกระจายอำนาจการพูดคุย เพราะอำนาจการพูดคุยตกอยู่ในคนกลุ่มเดียว คนทั่วไปมีอิทธิพลในการพูดบนเวทีไม่มากนัก เราเลยคิดว่าจำเป็นที่จะต้องกระจายอำนาจการพูดคุย


แนวทางการพูดคุยในอนาคต

ยังมีการพูดคุยกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพื่อจะจัดรายการให้เปิดกว้างให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถพูดคุย จัดวงคุยที่บ้านตัวเอง แต่ว่ามีการถ่ายทำและเผยแพร่ และต่อเชื่อมโยงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ ไม่ใช่มีเฉพาะที่เป็นแกนนำ เป็นผู้นำ เป็นตัวหลักเท่านั้น และอาจจะมีวงคุยที่มีทัศนคติทางการเมือง ทัศนคติต่อเรื่องๆ หนึ่งในแง่มุมที่ต่างกันและมาพูดคุยในรายการเดียวกัน

จุดสำคัญคือ เราต้องไม่รู้สึกเบื่อที่จะมีวงแบบนี้ แต่แน่นอน ถ้าเราเบื่อ เราใช้กฎสองขา ที่จะบอกว่าเราอยู่อย่างนี้ไปไม่ได้มีประโยชน์ แต่เมื่อเราไม่หยุดแสวงหาและใช้กฎสองขา มันจะนำไปสู่แนวความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้เราพูดคุยกันได้ คำว่าต้องคุยนี่ไม่ได้หมายความว่าถูกบังคับให้มาคุย แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่เราจะพูดคุยกันได้ ผมคิดว่าถ้าเรามีการพูดคุยกันมากกว่านี้ เราก็จะมีความเข้าใจกันมากกว่านี้ มีทางออกกันมากกว่านี้

ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2557

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้อาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง จนต่อมาอาจารย์เหล่านี้หาทางจัดกิจกรรมด้วยตัวเอง เพื่อต้องการนำความรู้และประสบการณ์แบบกระบวนกร มาใช้ในการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ เป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่ง ผมเลยอยากมีส่วนร่วมโดยการยกร่างข้อเสนอแปลกๆ แหวกแนวออกไป เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์และเข้าตากรรมการที่ไหนบ้าง

การเรียนการสอนแบบนี้ เริ่มต้นที่การตั้งโจทย์ ข้อแรก ทำอย่างไร โจทย์จึงจะท้าทายผู้เรียนคือนักศึกษาแพทย์ให้อยากค้นหา ข้อสอง ทำอย่างไรผู้เรียนจะมีทักษะในการเรียนรู้ สิ่งที่ผมค้นพบมาในงานค่ายต่างๆ คือ เราจะต้องให้พวกเขาประจักษ์เสียก่อนว่า สิ่งที่เขาเรียนรู้มาในห้องเรียนนั้นส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง แล้วการเรียนรู้ที่แท้จริงคืออะไรล่ะ? เราจะถ่ายทอดวิทยายุทธ์นี้ไปสู่พวกเขาได้อย่างไร?

แนวทางหนึ่ง คือการกลับไปหาต้นฉบับ ไปหาเอกสารชั้นต้นของคนที่ค้นคิดในเรื่องนั้นๆ อ่าน

ผมนึกถึงการเรียนรู้ของศัลยแพทย์คนหนึ่ง ที่เริ่มเรียนได้อย่างจริงจัง เมื่อเขาได้เข้าห้องผ่าตัด เขาบอกว่า ๓ เดือนที่เข้าห้องผ่าตัด เขาได้เรียนมากกว่า ๖ ปีที่เป็นนักศึกษาแพทย์ อันนี้คือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) ใช่ไหม? และเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงด้วย

อีกประการหนึ่ง คือการเรียนเป็นทีม เอาจุดเด่นข้อด้อยของแต่ละคนมาผสมผสาน เอาด้านบวกของแต่ละคนมาเสริมแรง และสร้างทีมขึ้นมา ให้ทีมเกิดความรักใคร่กลมเกลียวกันอย่างที่เกิดขึ้นกับพวกอาจารย์หมอใน ๓ วันที่อยู่ในค่ายเรียนรู้ของผม อย่างพี่สอนน้อง ลากจูงกันไป

ทำอย่างไรจะเอาท่าทีเล่นๆ เข้ามาในงาน เข้ามาในการเรียนรู้

เช่น ตั้งหัวข้อที่จะเรียน ลองให้แต่ละทีมของนักศึกษาไปค้นหาความรู้ในอินเทอร์เน็ต แล้วนำมาเสนอในห้องเรียน รอบแรกให้ เสนอภาพรวมของหัวเรื่องนั้นๆ ว่ามีอะไรที่เป็นแกนเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้ามาด้วยกัน และเชื่อมโยงกันอย่างไร แล้วให้ (จัดการกันเอง) แบ่งว่าทีมไหนจะศึกษาเรื่องอะไร ให้แต่ละทีมมานำเสนอในรอบต่อไป เมื่อทีมหนึ่งนำเสนอ ทีมที่เหลือให้คะแนน หรือบอกว่า หนึ่ง ข้อมูลเพียงพอหรือไม่ สอง การเชื่อมโยงเรื่องราวเป็นอย่างไร สาม การนำเสนอเป็นอย่างไร ชัดเจนไหม? น่าสนใจไหม? เป็นต้น

ลองเรียนแบบไม่ต้องอ่านตำราเลยได้ไหม? เรียนสดๆ จากอินเทอร์เน็ต เหมือนสมมุติขึ้นมาว่านักศึกษาแพทย์ทั้งหมดเป็นชุมชนนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าเรื่องนี้ รวมไปถึงการคาดเดาว่า เวลานี้วิทยาศาสตร์รู้อย่างนี้แล้ว ลองเดาซิว่า ก้าวต่อไปขององค์ความรู้นี้จะเป็นเช่นไร

แล้วลองเอาทั้งหมดที่ค้นคว้าขึ้นมาได้ไปเปรียบเทียบกับตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้ ลองให้คะแนนเปรียบเทียบอย่างยุติธรรมว่า ของใครดีกว่ากัน ของนักศึกษาแพทย์ หรืออาจารย์ผู้เรียบเรียงตำราขึ้นมา ลองไปศึกษาแนวทางอื่นบ้างก็ได้ เช่น แพทย์แผนจีน ว่าเขามองเรื่องเดียวกันนี้แตกต่างอย่างไรกับแพทย์แผนตะวันตก

เนื้อหาที่เรียน ลองตั้งโจทย์ว่า หากเราไม่สามารถเรียนทั้งหมด จำทั้งหมด หากเราจะย่อเรื่องราวลงเท่าที่จำเป็นจริงๆ จะต้องเรียนเรื่องอะไร ให้นักศึกษาไปลองนำสรุปมา สมมุติเนื้อหามี ๑๐๐ หน่วย ย่อเหลือสัก ๑๐ หน่วย เราต้องเรียนอะไร และใน ๑๐ หัวข้อใหญ่นั้น แต่ละทีมเอามาเพียงหัวข้อเดียว ให้เลือกเรื่องที่ยากที่สุด และศึกษาเรื่องนั้นอย่างกระจ่างแจ้ง ให้รู้เลยว่าได้ทำงานที่ยากที่สุดไปแล้ว จำเป็นไหมที่เราต้องเรียนเนื้อหาทั้งหมด คณะแพทยศาสตร์ในเยอรมันแห่งหนึ่ง หลังจะสืบค้นวิจัยทำนองนี้แล้ว เขาตัดหลักสูตรออกไปครึ่งหนึ่งเลย แต่กลับสามารถผลิตแพทย์ออกมาได้มีคุณภาพดีกว่าเดิม

เพื่อนของผมบางคนอาจจะแย้งว่า "ใช่ครับ เรียนแพทย์มา ๖ ปี ไม่เท่ากับผ่าตัด ๓ เดือน แต่หาก ไม่ได้เรียนมาก่อน ก็ผ่าไม่ได้ครับ ความรู้ความสามารถมันจะค่อยๆ เพิ่มตามการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น หลายๆ เรื่องต้องมีการเตรียมตัว ปูพื้นมาบ้าง ก่อนจะเข้าสู่จุดที่สำคัญ ไม่เช่นนั้นจะทำให้มองข้ามจุดที่อาจจะเป็นความเป็นความตายของคนไข้ได้ครับ"

ผมขออภิปรายต่ออย่างนี้ครับ คือ ผมไม่ได้เสนอให้ไม่เรียนมาก่อนแล้วเข้าห้องผ่าตัดเลย แต่ลองช่วยกันคิดดูไหมครับว่า การเรียนที่จะเตรียมนักศึกษาแพทย์ก่อนไปทำงานจริง ควรจะเป็นเช่นไร? หรือเราจะนำพานักศึกษาไปในเหตุการณ์จำลองของการผ่าตัดแบบเหมือนจริง (simulation)

ลองฟังผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา ผมเอาข้อมูลมาจากหนังสือ How Doctors Think โดย นายแพทย์เจอโรม กรู๊ปแมน (Jerome Groopman, M.D.) สำคัญมากเลยครับ คือ ผลจากการชันสูตรคนตายที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าร้อยละ ๓๐ อาจจะไม่ตายก็ได้ หากหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง และผลการวินิจฉัยโรคผิดๆ มาจากหลายทาง แต่เหตุผลใหญ่ๆ ๒ ประการเป็นอย่างน้อย คือ หนึ่ง ปัญหาทักษะการสื่อสารกับคนไข้ เช่น การฟังและการรับรู้อวัจนภาษา และสอง กระบวนการคิดของแพทย์ ผมอยู่กับอาจารย์หมอ ๑๐ คน ๓ วัน หมอบางคนบอกว่า หากหมอไม่ได้ตื่นรู้ และไม่ทำงานกับตัวเอง เพียงความรู้สึกไม่พอใจ หรือหงุดหงิดกับคนไข้บางบุคลิกภาพ เท่านั้น ก็อาจวินิจฉัยโรคพลาดได้แล้ว

มีเพื่อนอีกคนบอกว่า ที่พูดมาทั้งหมดไม่เห็นภาพ ลองยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมสักอย่างหนึ่งได้ไหมว่า เรียนรู้วิธีเรียนรู้ (learn how to learn) โดยไม่ใช่การเรียนที่เน้นการท่องจำจะทำได้อย่างไร

ผมจะเล่าเรื่องครั้งหนึ่งที่ผมเข้าไปแก้โจทย์ให้กับบริษัทจำหน่ายเครื่องมือแพทย์แห่งหนึ่ง ดังนี้

ผมเอาวิธี learn how to learn ไปแก้ปัญหา "พนักงานขายไม่มีความรู้ในตัวสินค้าเพียงพอ" แล้วพนักงานขายก็ไม่ยอมทำอะไรให้ดีขึ้นอีกด้วย แม้จะเคี่ยวเข็ญอย่างไรก็ตาม

ผมเริ่มจากการให้ผู้บริหารระบุว่า จะเอาตัวสินค้าตัวไหนมาให้ผมสาธิตวิธีเรียนรู้เรื่องสินค้าแบบกระบวนทัศน์ใหม่ พวกเขาเลือกสินค้ามาตัวหนึ่ง สมมุติว่าเป็นตู้อบเด็ก คือเวลาเด็กคลอดออกมาไม่แข็งแรง ตู้อบเด็กจะเป็นตัวช่วยดูแลเด็กให้มีโอกาสรอดได้มากขึ้น

ผมเริ่มสาธิตให้ดูโดยแบ่งพนักงานขาย ๑๐ คนเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มละ ๓ คน และมีกลุ่มหนึ่ง ๔ คน

ขั้นแรก ให้ ๓ กลุ่มนั้นไปหาความรู้และข้อมูลมา อย่างไรก็ได้ แล้วกลับมานำเสนอสินค้าให้ลูกค้าอย่างไม่ต้องอาศัยการจดอะไรมา จะกลับไปดูแคตตาล็อกหรือดูตัวสินค้าจริงเลยก็ได้ แล้วให้ทั้งสามทีมนำเสนอกันคนละรอบ พอพวกเขานำเสนอเสร็จ ก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า การนำเสนอของพวกเขา หากจะให้ดีกว่านี้ ยังขาดอะไรอยู่ ให้พวกเขาลงไปหาข้อมูลมาใหม่ และมานำเสนออีก ๑ รอบทั้ง ๓ ทีม พอเสร็จ ทีนี้ให้ผู้บริหารช่วยเติม เพื่ออุดช่องว่าง หรือจุดอ่อน หากต้องการให้ชนะคู่แข่งได้

ลองคิดดูสิครับว่า หนึ่ง พวกเขาผ่านการหาข้อมูล อ่าน ตีความและพยายามทำความเข้าใจข้อมูลกันกี่รอบ จนกระทั่งเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมด สอง ผมถามว่าเป็นไง เบื่อไหม สนุกไหม รู้สึกอย่างไรกับเวลาบ้าง พวกเขารู้สึกสนุกและเวลาผ่านไปเร็วมาก สาม การทำงานเป็นทีม ทั้งร่วมมือกันและแข่งขันกันในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม ทำให้พวกเขาสนิทสนมกันยิ่งขึ้นและพัฒนาความเป็นทีมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ จะจำลองไปใช้กับการเรียนการสอนในคณะแพทยศาสตร์ได้ไหม? ตัวดัชนีชี้วัดการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ก็คือความสามารถที่จะยักย้ายถ่ายเทความรู้ในบริบทหนึ่ง นำเอาไปใช้กับอีกบริบทหนึ่งไม่ใช่หรือ เราจะเอาเรื่องนี้ไปปรับประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในโรงเรียนเรียนแพทย์ได้หรือไม่?

สุดท้าย "ผมว่าในที่สุด เราเคารพสติปัญญาของเยาวชนของเราน้อยเกินไป เราเตรียมตัวกันน้อยเกินไปที่เราจะมาสอนพวกเขา เมื่อเตรียมตัวน้อย เราจึงใช้วิธีโบราณที่สุดในการเรียนการสอน ที่น่าเบื่อและไร้จินตนาการที่สุด และเราบอกว่าทำได้อย่างนี้อย่างเดียวแหละ จริงหรือครับ? หรืออันนี้มาจากความไม่รับผิดชอบ หรือความมักง่าย ที่คนที่เรียนมาอย่างไร้จินตนาการ จะได้ถ่ายทอดความไร้จินตนาการไปยังคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า??!!

บ่าวที่ดี นายที่เลว



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2557

“บ่าวที่ดี นายที่เลว” เป็นนิยามหนึ่งของเงิน เงินมีคุณประโยชน์มากมายหากเรารู้จักใช้มัน นอกจากช่วยให้เราและครอบครัวมีชีวิตที่ผาสุกแล้ว เงินยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเกื้อกูลผู้อื่นและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่หากเราปล่อยให้มันเป็นนายเรา ครอบงำชีวิตจิตใจของเรา ความเดือดร้อนก็จะตามมาทั้งกับเราและผู้อื่น คนจำนวนไม่น้อยยอมทำชั่วก็เพราะเงิน ไม่ใช่แค่คดโกงเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นทำร้ายผู้อื่น แม้กระทั่งบุพการีก็ไม่ละเว้นหากมีมรดกก้อนใหญ่รออยู่หลายคนแม้จะหักห้ามใจไม่ทำชั่วเพราะเงิน แต่ก็ยอมตายเพื่อมันหากมีใครมาแย่งชิงเอาไป หรือตรอมตรมจนล้มป่วยเมื่อสูญเสียมันไป ที่ฆ่าตัวตายก็มีไม่น้อย เมื่อยอมให้เงินมาเป็นใหญ่เสียแล้ว เป็นธรรมดาที่ใครๆ ก็ย่อมหวงแหนมันยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต

แต่จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่เงินเท่านั้น ความคิดก็เป็น“บ่าวที่ดี นายที่เลว” ด้วยเช่นกัน ความคิดเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัยไกลจากอันตราย เราใช้ความคิดเพื่อแก้ปัญหาก้าวข้ามอุปสรรคทั้งหลาย ถ้าคิดไม่เป็นหรือคิดไม่ถูก ชีวิตเราย่อมเต็มไปด้วยความยุ่งยากนานัปการ แต่ถึงจะคิดเป็นหรือคิดเก่ง ถ้าวางความคิดไม่ได้ ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ ชีวิตก็เป็นทุกข์เช่นกัน เช่น ฟุ้งซ่านจนนอนไม่หลับ วิตกกังวลจนป่วย คนที่คลุ้มคลั่งจนเป็นบ้าหรือถึงกับฆ่าตัวตายก็เพราะปล่อยให้ความคิดรุมเร้าจิตบงการใจอย่างมิอาจควบคุมได้ มิใช่หรือ

ความคิดใดความคิดหนึ่งเมื่อกลายมาเป็นนายเรา มันไม่เพียงสร้างปัญหาให้เราเท่านั้น หากยังก่อความทุกข์แก่ผู้อื่นได้ด้วย อาการที่เกิดขึ้นบ่อยก็คือ เมื่อรู้ว่าคนอื่นมีความคิดที่แตกต่างจากเรา เราจะรู้สึกทนไม่ได้ ทั้งนี้เพราะรู้สึกว่าความคิดของเรากำลังถูกท้าทายหรือมีคู่แข่ง เราจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องความคิดนั้น เริ่มจากโต้แย้ง หักล้าง คัดง้างและโจมตีความคิดของเขา รวมทั้งลดความน่าเชื่อถือของมันด้วย ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ทำอะไรเราเลย เพียงแค่แสดงความเห็นที่ต่างจากเรา เราก็รู้สึกไม่พอใจเขาเสียแล้ว นอกจากเล่นงานความคิดของเขาแล้ว เรายังอาจโจมตีตัวเขา ด้วยการต่อว่าด่าทอ หรือใช้ผรุสวาท หากเขาตอบโต้เพื่อปกป้องความคิดของเขา เราก็จะเล่นงานเขาหนักขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นการทะเลาะวิวาท

เมื่อความคิดกลายเป็นนายเรา ก็ง่ายมากที่เราจะมองคนอื่นที่คิดต่างจากเราเป็นศัตรู หรือปฏิบัติต่อเขาราวกับเป็นคนละพวก แม้จะเป็นมิตรสหาย พี่น้อง คู่รัก หรือพ่อแม่ เราก็อาจตัดสัมพันธ์กันได้ง่ายๆ เพียงเพราะคิดต่างกัน แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่ากับการทำร้ายกันถึงชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ สงครามระหว่างศาสนา สงครามระหว่างอุดมการณ์ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เพราะผู้คนปล่อยให้ความคิดกลายเป็นนายตน จนพร้อมที่จะฆ่าฟันผู้คนทั้งๆ ที่ไม่รู้จักเพียงเพื่อปกป้องความคิดที่ตนยึดถืออย่างหัวปักหัวปำ

ผู้คนปล่อยให้ความคิดกลายเป็นนายตนได้อย่างไร คำตอบก็คือ ความยึดติดถือมั่น นี้เป็นสาเหตุเดียวกับที่เงินกลายเป็นนายของใครต่อใคร เมื่อใดก็ตามที่เรายึดติดถือมั่นว่าเงินก้อนนี้เป็น “ของกู” เราก็กลายเป็น “ของมัน” ไปทันที ยิ่งยึดติดถือมั่นอย่างแรงกล้า เราก็พร้อมจะตายเพื่อมัน หรือทำร้ายคนอื่นเพื่อมัน ความคิดก็เช่นกัน ทันทีที่เรายึดติดถือมั่นว่าความคิดนี้เป็น “ของกู” อีกทั้งยังเป็นความคิดที่ประเสริฐและถูกต้อง เราก็กลายเป็น “ของมัน” ไปโดยไม่รู้ตัว ยอมทำทุกอย่างเพื่อมัน แม้จะต้องตัดญาติขาดมิตรกับผู้คน ก็ไม่ยี่หระ

ความยึดติดถือมั่นหากกระทำอย่างเหนียวแน่น ก็ทำให้เราหลงตัวลืมตนได้ง่าย จนยอมทำทุกอย่างแม้เป็นความเลวร้ายหรือเป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้ก็เพื่อสิ่งที่ตนยึดติดถือมั่นนั้น ผลก็คือ แทนที่มันจะเป็นเครื่องมือของเรา มันกลับมาเป็นนายเรา แม้ความคิดนั้นจะเป็นสิ่งประเสริฐหรือถูกต้อง แต่หากยึดติดถือมั่นจนลืมตัวแล้ว เราก็สามารถทำสิ่งต่ำทรามหรือความผิดอันมหันต์ได้ ดังคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดติดถือมั่นในศาสนาที่รักสันติ แต่กลับลงเอยด้วยการประหัตประหารผู้คนเพียงเพราะเขานับถือศาสนาต่างจากตน

ถ้าอยากเป็นนายความคิด แทนที่จะให้ความคิดเป็นนายเรา เราจำต้องมีสติรู้ทันความคิดนั้น เมื่อมันผุดขึ้นมาในใจ ก็รู้ว่ามันเป็นแค่ความคิดไม่ใช่ “ตัวกู” อีกทั้งสามารถวางมันลงได้เมื่อไม่ใช้งาน ที่สำคัญก็คือหมั่นตรวจสอบใคร่ครวญมันอยู่เสมอ ประหนึ่งหยิบเครื่องประดับมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทำให้เห็นตำหนิหรือข้อจำกัดของมัน ไม่สำคัญมั่นหมายว่ามันเลอเลิศสมบูรณ์พร้อม

มีท่าทีอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราไม่หลงยึดมั่นในความคิดใดความคิดหนึ่งจนคับแคบมืดบอด พระพุทธเจ้าเรียกว่า “สัจจานุรักษ์” (การคุ้มครองสัจจะหรือรักความจริง)นั่นคือ การไม่ยืนกรานยึดติดว่าสิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นที่ถูกต้องและเป็นจริง ดังมีพุทธพจน์ว่า “วิญญูชน เมื่อจะคุ้มครองสัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล(ทั้งนั้น)” ทัศนคติดังกล่าวช่วยให้เราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ดูถูกคนที่เห็นต่างจากตน หรือด่วนสรุปว่าเขา “โง่” “ผิด” หรือ “ชั่วร้าย”

ความคิดที่เรายึดถือนั้น แม้จะไตร่ตรองมาอย่างดี ก็ไม่ควรมั่นใจว่าเป็นความถูกต้องสมบูรณ์ ถ้าไม่อยากให้ความคิดพาเราเข้ารกเข้าพง ควรตรวจสอบหรือทักท้วงความคิดของตนอยู่เสมอ รวมทั้งคิดเผื่อไว้บ้างว่า ความคิดนั้นอาจมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดก็ได้ เพราะเราเป็นปุถุชน ย่อมมีการรับรู้ที่จำกัด หากเราตระหนักว่าสิ่งที่เราไม่รู้นั้นยังมีอีกมาก และอาจมากกว่าสิ่งที่เรารู้ด้วยซ้ำ เราจะไม่หลงยึดมั่นความคิดใดจนมืดบอด

เป็นธรรมดาที่ผู้ยึดติดถือมั่นในความคิด ย่อมรู้ตัวได้ยาก เพราะถูกความคิดนั้นครอบงำจิตใจจนลืมตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เตือนให้เรารู้ตัวว่ากำลังยึดติดถือมั่นก็คือ เกิดความขุ่นเคืองใจหรือความโกรธทันทีที่ความคิดที่ตนยึดถือนั้นถูกวิจารณ์ หรือมีการนำเสนอความเห็นอื่นมาเทียบเคียงเสมือนเป็นคู่แข่งขันท้าทาย หากไม่มัวส่งจิตออกนอก หมายตอบโต้ผู้ที่คิดต่างจากตน แต่กลับมาตามดูรู้ทันอารมณ์ของตน ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ที่เราโมโหโกรธาเขาก็เพราะยึดติดถือมั่นในความคิดของตนนั้นเอง นั่นจะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจไม่เผลอทำอะไรที่เลวร้าย แต่ถ้าไม่มีสติรู้ทันใจของตน หากความคิดสั่งให้ด่า เราก็จะด่าทันที ความคิดสั่งให้ทำร้ายเขา เราก็จะทำไม่ยั้ง มารู้ตัวอีกทีก็สายเกินแก้แล้ว

ผู้คนทุกวันนี้ทำร้ายจิตใจกัน ตัดสายสัมพันธ์กันจนขาดสะบั้น สร้างศัตรูมากมาย อีกทั้งยังทำร้ายร่างกายกันอย่างน่าสลดใจ ไม่ใช่เพราะความเห็นที่แตกต่างกัน แต่เป็นเพราะปล่อยให้ความคิดต่างๆ เถลิงอำนาจมาเป็นนายตน ยอมทำตามคำบงการของมัน เพื่อความเป็นใหญ่ของมัน หากเราไม่สามารถเป็นนายของมัน หรือนำมันกลับมาเป็นบ่าวได้ ก็ยากที่ชีวิตจะราบรื่นสงบสุข ซ้ำยังจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหนักขึ้นด้วย

กฤษณากับงาช้าง (Ebony and Ivory)



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2557

“Ebony and ivory live together in perfect harmony
Side by side on my piano keyboard, oh Lord, why don't we?

We all know that people are the same where ever we go
There is good and bad in ev'ryone,
We learn to live, we learn to give
Each other what we need to survive together alive.”

Paul McCartney and Stevie Wonder (1982)

ผมนึกถึงเพลงนี้ หลังจากได้อ่านงานของนักวิชาการที่พูดถึง “กับดักคู่ตรงข้าม” ซึ่งหมายถึงการคิดอะไรเป็นคู่ตรงข้าม เช่น ขาวย่อมตรงข้ามกับดำ กลางวันย่อมตรงข้ามกับกลางคืนเสมอ ฯลฯ คำว่า “เสมอ” นั้นเป็นเหมือนการฟันธง จะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เราจึงควรจะฝึกตัวเองให้ตั้งคำถามเสมอๆ เวลาได้ยินว่าใครพูดคำว่า “เสมอ”

ในระหว่างสีขาวกับสีดำ ย่อมมีเฉดสีเทา แม้แต่สีขาวเองก็ยังมีหลายเฉด ผู้อ่านคงจะเคยได้ยินสำนวนไทยว่า ขาวเหมือนหยวกกล้วย ขาวเหมือนงาช้าง ขาวเหมือนสำลี ดำเหมือนนิล หรือดำเป็นตอตะโก ฯลฯ​ คำสร้อยเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าในธรรมชาติเองไม่ได้สร้างสีเช่นสีขาว ให้เป็นสีขาวในอุดมคติอย่างที่เปลโต้ต้องการ เมื่อธรรมชาติมีความหลากหลาย และเตือนให้เราเห็นความหลากหลายเสมอ สีขาวหรือสีดำอันบริสุทธิ์ไม่มีสิ่งใดเจือปนจึงสามารถดำรงอยู่ได้เพียงในอุดมคติ หรือในความคิดของมนุษย์เท่านั้น

มนุษย์สร้างอุดมคติขึ้นในความคิด แต่ความคิดไม่ใช่ความจริง (reality) และนี่เป็นถ้อยคำประกาศสัจจะ (truth) หมายถึงว่าเถียงไม่ได้ แต่หลายคนกลับไม่ตระหนักรู้ในสัจธรรมข้อนี้ เมื่อใครก็ตามพยายามทึกทักความคิดว่าเป็นความจริง สักวันหนึ่งโลกก็จะทำให้คนคนนั้นผิดหวัง หรือสับสนงุนงง นั่นหมายถึงใครคนนั้นได้ตกลงสู่ “กับดักของคู่ตรงข้าม” ไปเรียบร้อยแล้ว

ถึงแม้ “ความคิดไม่ใช่ความจริง” แต่ความคิดก็เป็นปัจจัยให้กับพฤติกรรมซึ่งส่งผลต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะหากมันได้ผนวกกับ “เจตจำนง” ที่มุ่งมั่น เจตจำนงของบุคคลหนึ่งเมื่อผนวกรวมเข้ากับเจตจำนงของคนหลายๆ คน ทั้งหมดย่อมกลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนของสังคม และประกอบสร้างประเทศชาติของเรา

เป็นธรรมดาที่ต่างคนต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป และต่างก็มีภาพอนาคตที่ต้องการจะเห็นจากประเทศของเราแตกต่างกันไป นี่เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ไม่ปกติก็คือการไม่ยอมแยกแยะระหว่าง “ความเห็น” ของเราซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราเชื่อ กับ “กระบวนการทางความคิด” ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปซึ่งเป็นความเห็นที่เรายึดมั่นไว้ในใจ ผมได้กล่าวไปแล้วว่า กระบวนการทางความคิดของมนุษย์นั้นมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในกับดักของคู่ตรงข้าม ซึ่งก็คือการสร้างอุดมคติขึ้นเอาไว้ในใจ โดยไม่คำนึงถึงว่าความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร

การยึดมั่นใน “ความคิดความเห็น” ของตน ก็ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าสีขาวจะต้องขาวเหมือนสำลีเท่านั้น จะเป็นสีขาวเหมือนก้อนเมฆไม่ได้ ส่วนสีดำก็ควรต้องดำเหมือนนิลจะไปดำเหมือนคีย์เปียโนไม่ได้ ซึ่งทุกคนย่อมทราบว่านั่นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ดังนั้นความพยายามจะให้ผู้อื่นมาคิดเห็นเหมือนเราจึงเป็นไปได้ยาก ที่ง่ายกว่าคือการกลับมาแก้ไขตนเอง เมื่อเราแก้ไขตัวเองให้พ้นไปจากกับดักทางความคิดทั้งหลายได้ มายาคติต่างๆ จะถูกปลดเปลื้องออกไป เมื่อนั้นเราจึงจะมีอิสรภาพทางความคิดได้อย่างแท้จริง

เราจะไปถึงอิสรภาพทางความคิดได้อย่างไร? ส่วนตัวผมไม่เห็นอะไรจะดีไปกว่าการพัฒนาทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการบริภาษด่าทอหรือวิจารณ์ผู้อื่นอย่างเสียๆ หายๆ แต่เป็นการพัฒนาความสามารถในการแยกแยะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราด้วยปัญญา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมีขึ้นในระบบการศึกษาของเราตั้งแต่วันนี้

หลายคนไม่เห็นด้วย และเข้าใจผิดไปว่าการสนับสนุนการศึกษาที่จะปลูกฝังความคิดเชิงวิพากษ์นั้น สร้างความวุ่นวายให้กับโรงเรียนและสังคม และอาจจะแย้งว่าเรามีนักเรียน นักศึกษาที่ทำตัว “เกรียน” ลุกขึ้นมาสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมมากเพียงพอแล้ว และไม่อยากจะมีเพิ่มอีก นั่นเป็นเพราะสังคมเรายังใหม่ต่อเรื่องนี้จนเกิดปฏิกิริยาโต้กลับที่รุนแรงเกินไป เราจึงขาดสิ่งที่นานาประเทศเรียกว่า Tolerant หรือความ “อดกลั้น” ต่อความแตกต่าง ถ้าเรายังรักที่จะส่งลูกหลานไปโรงเรียนอินเตอร์ รักที่จะส่งครูอาจารย์ไปศึกษาต่างประเทศ รักที่จะเปิดให้ต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย เราก็จะปิดกั้นลูกหลานของเราให้รับวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์ที่มาจากต่างประเทศไม่ได้

วิธีที่ถูกต้องก็คือจับเอาเรื่องนี้มาสอนและปลูกฝังอย่างจริงจังในสถาบันการศึกษาของเราตั้งแต่ยังเล็กๆ และให้ความรู้อย่างถูกต้องว่าความคิดเชิงวิพากษ์นั้นเป็นคนละเรื่องกับความรุนแรง และไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยความรุนแรงเลยแม้แต่น้อย ถ้าในห้องเรียนของเรามีเด็กคนหนึ่งคิดไม่เหมือนเด็กคนอื่น เด็กคนนั้นไม่สมควรจะต้องรู้สึกว่าเขาไม่เป็นที่ต้องการของเพื่อน แต่ถ้าเด็กคนใดทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด เด็กคนนั้นต่างหากที่ควรจะต้องถูกคุณครูตักเตือน ถูกเพื่อนตักเตือน แต่ไม่ควรมีเด็กคนไหนควรถูกต่อว่าถ้าหากเขาจะชอบสีขาว “งาช้าง” ในขณะที่ทั้งห้องชอบขาว “หยวกกล้วย”

ผมเห็นมิตรสหายหลายท่าน บางคนเป็นอาจารย์นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม มีความคิดเชิงวิพากษ์ที่น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกในการสนทนาโต้ตอบเชิงความคิดได้ พวกเขาจึงเป็นผู้ที่มีอิสรภาพทางความคิด แต่กลับพลาดพลั้งตกลงใน “กับดักของความรู้สึก” การสนทนาแลกเปลี่ยนจึงกลายเป็นสงครามที่ปะทุในใจ เกิดความขุ่นข้องหมองใจทั้งสองฝ่าย (หรือหลายฝ่าย)

ด้วยเหตุนี้ ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ ควรจะต้องมาควบคู่ไปกับการภาวนา หรือการเรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลในจิตใจ ซึ่งไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เพราะคำสอนในศาสนาต่างๆ ก็มุ่งสอนให้เกิดการขัดเกลาจิตใจและรู้จักธรรมชาติของจิตใจด้วยกันทั้งนั้น ผมยืนยันว่าสองอย่างนี้อยู่ด้วยกันได้ อยู่กันได้ในลักษณะ “ข้ามพ้นแต่ปนอยู่” หมายถึงเป็นการบูรณาการ ไม่ใช่ต้องเลือกขั้วเลือกข้าง เมื่อเอาด้านนี้ ด้านนั้นต้องไม่เอา อย่างที่เข้าใจผิดกัน

เพราะนักเปียโนย่อมรู้ดีว่าสีขาวบนคีย์เปียโนแต่ละตัวนั้นขาวมากน้อยแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน คีย์สีดำก็เช่นเดียวกัน เปียโนแต่ละคีย์ก็ย่อมให้เสียงที่แตกต่างกัน คงไม่มีใครต้องการฟังเปียโนที่มีแต่คีย์สีขาว หรือสีดำเพียงอย่างเดียว ทุกคนทราบว่านักเปียโนที่ฝึกฝนตนมาอย่างดีจะสามารถสร้างเสียงดนตรีที่ไพเราะประทับใจผู้ฟังได้ เพราะคีย์สีดำและคีย์สีขาวบนเปียโนนั้นเป็นแค่เครื่องหมายที่ชี้ไปสู่เส้นสายที่ซ่อนอยู่ในตัวเปียโนซึ่งมีเอาไว้สร้างเสียงซึ่งมีความกลมกลืนในความแตกต่าง

ฟังกันเถิด จะค่อยได้ยิน



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2557

ในห้องที่เต็มไปด้วยเสียงพูดคุยเซ็งแซ่ของผู้คน ดูเหมือนว่ายิ่งอยากให้คนอื่นได้ยินสิ่งที่เราพูดมากขึ้นเท่าไหร่เราก็จะยิ่งพูดเสียงดังมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งแทบกลายเป็นการตะโกนพูดใส่กัน กลายเป็นว่าเสียงทั้งหมดในห้องก็ยิ่งดังขึ้นและดังขึ้น แต่เรากลับคุยกันแทบไม่รู้เรื่อง

ยิ่งในขณะที่เราพูดอยู่ มีคนพยายามพูดแทรก ไม่ยอมรอให้เราพูดจนจบประโยคหรือเนื้อความ ก็ยิ่งน่าหงุดหงิดโมโห และที่น่าหงุดหงิดยิ่งกว่าคือ ฟังเราไม่เข้าใจ ตีความไปเอง โกรธไปเอง โมโหไปเอง แล้วการสนทนาก็กลายเป็นการเสียดสีเหยียดเย้ยและด่าประนามกัน

เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว เราควรทำอย่างไร?

หลายคนตอบว่า ก็เลิกคุย – น่าเสียดายที่การเลิกคุย มีความหมายเดียวกับการเลิกฟัง

มนุษย์เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ที่สำคัญยิ่งก็คือ การมองเห็น และการได้ยิน

เมื่อปฏิเสธการพูดคุยและปฏิเสธการฟัง การรับรู้ก็ไม่สมบูรณ์ วงจรเรียนรู้ก็ถูกตัดตอน ภาวะอารมณ์ก็ตกร่องเดิม ผูกติดกับความทรงจำเก่า แม้ว่าปัจจุบันตรงหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ยังมีข้อสรุปเดิม-เดิม ตัดสินคุณค่าแบบเดิม-เดิม ปราศจากการทบทวนความรู้ ความเชื่อ ความคิด ของตนเอง อัตตาตัวตนก็ยิ่งขยายใหญ่ขึ้น ถ้าไม่ไปกดทับคนอื่น ก็ดิ้นพล่านเมื่อคนอื่นคิดเห็นหรือปฏิบัติต่างไปจากตนเอง เพราะเข้าใจไปว่าตนเองกลายเป็นสัจจะพจน์ (Axiom) ที่พิสูจน์ไม่ได้ไปเสียแล้ว

การฟังจึงยังสำคัญอยู่แม้จะไม่อยากพูดคุย และอาจจะช่วยให้เริ่มพูดคุยกันไปในทิศทางสร้างสรรค์และหาทางออกร่วมกันได้มากขึ้นในอนาคต

หากอีกฝ่ายมีความโกรธโมโห หรือกระทั่งโศกเศร้าเสียใจ การฟังที่ดีก็เป็นการให้ในรูปแบบหนึ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นการเยียวยาก็ว่าได้ การฟังที่ดีคือการดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะ ฟังโดยไม่ตีความ ฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ต้องมีความคิดเห็นเสนอแนะ และดีที่สุดคือการได้ยินเสียงของตนเองไปพร้อมกับการได้ยินเสียงของคนอื่น

เสียงของความรู้สึกเห็นด้วยไม่เห็นด้วย เสียงของความไม่เชื่อใจไม่ไว้ใจ เสียงของความรักศรัทธา เสียงของการตัดสินถูกผิด เสียงของความเห็นอกเห็นใจหรือสะใจ ฯลฯ – เหล่านี้แหละคือเสียงภายในที่ปรากฏ ถ้าเราฟังเป็นก็จะได้ยิน

หลายครั้งที่เสียงภายในเหล่านี้ส่งเสียงดังมากจนกลบหัวใจเรา และทำให้เราไม่ได้ยินคนอื่น เพราะเสียงของเราที่เป็นเสียงของการตีความ การตัดสินผิดถูก ความรู้สึกรักชอบชังเกลียดริษยา ฯลฯ จะผลักให้เราพูดออกไป แม้ไม่พูดออกมา แต่ก็เป็นเสียงในใจ เซ็งแซ่แกล่กลบเสียงคนอื่น ทำให้เราไม่ได้ยินคู่สนทนาอย่างถูกต้อง เช่น เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดถึง “ประชาธิปไตย” เสียงในใจก็ตีความไปว่าเป็นพวกมุ่ง “ล้มเจ้า” หรือเมื่อฝ่ายหนึ่งพูดถึง “ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เสียงในใจก็ตีความไปว่าเป็นพวกเห็น “คนไม่เท่ากัน”

ในการฟังให้ได้ยินสิ่งที่คนอื่นพูดอย่างแท้จริงนั้น นอกจากเสียงภายในจะเงียบพอและเงี่ยหูฟังเป็น ยังอาจจะต้องได้ยินสิ่งที่ไม่ได้พูดด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก คุณค่าที่ผู้พูดยึดถือหรือให้ความสำคัญ และความต้องการที่แท้จริงของผู้พูด ไม่ว่าจะเป็น “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” หรือ “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” ก็ล้วนแล้วแต่มาจากความต้องการพื้นฐานที่อยากให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิม โดยที่ฝ่ายแรกอาจจะรู้สึกไม่เชื่อถือหรือไว้วางใจกติกาเดิมของผู้มีอำนาจจัดการเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายหลังอาจจะรู้สึกไม่เชื่อถือหรือไว้วางใจกลุ่มคนที่เสนอตัวเข้ามาปฏิรูป ดังนั้น โจทย์ปัญหาพื้นฐานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายจึงอาจจะอยู่ที่การมีศรัทธาและความไว้วางใจต่อกันและกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญและจำเป็นในระบบนิเวศประชาธิปไตย

ในภาวะวิกฤตที่เต็มไปด้วยเสียงตะโกนเซ็งแซ่ การหยุดฟังกันบ้างจึงเป็นเรื่องจำเป็น แน่ล่ะ – อาจจะมีใครบางคนเริ่มโมโหหรือโกรธ และพร้อมจะต่อยตี ถ้าคนรอบข้างไม่ห้ามปราม ก็คงต่อยตีจนหัวร้างข้างแตก และถ้าใช้อาวุธที่รุนแรงขึ้น คนรอบข้างก็อาจจะถูกลูกหลง และ – บางครั้ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือความสงบเรียบร้อยก็จะต้องออกมาป้องปราม

คนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจแนวดิ่ง มักจะเคยชินกับวัฒนธรรมพูดออกคำสั่ง ซึ่งถ้าเขาหรือเธอรำคาญเสียงเซ็งแซ่ ก็อาจจะออกกฎหมายให้ผู้คนปิดปากเงียบ หรือคิดภาษีการพูดให้แพงลิบลิ่วที่สุดในโลก แต่การห้ามพูด – ย่อมไม่อาจหยุดเสียงความคิดความรู้สึกของผู้คนได้เลย ความคิดต่อต้าน ความรู้สึกไม่สยบยอม เมื่อขยายตัวมากขึ้น รวมตัวมากขึ้น ต่อให้มีอำนาจมากเพียงใด ก็ไม่อาจปกครองได้ ผู้มีอำนาจที่มีสติปัญญามักจะมีความกรุณาเป็นฐาน เขาหรือเธอย่อมเปิดพื้นที่ให้กับการฟัง เสริมสร้างบรรยากาศของความเคารพกันและกัน บนพื้นฐานของความไว้วางใจและความรู้สึกปลอดภัยได้กว้างขวางขึ้น ผู้คนที่ไม่หวาดกลัว ย่อมแสดงสติปัญญาที่นำไปสู่การสร้างสังคมที่ไม่หวาดกลัวและก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้

สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในปิรามิดอำนาจ ย่อมรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ โกรธและโมโหต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจที่ปรากฏอยู่ แต่การแสดงอารมณ์ตอบสนองในท่วงทำนองเย้ยหยันเสียดสีประชดประชันต่อปรากฏการณ์รายวันย่อมไม่นำไปสู่หนทางของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน การพยายามทำความเข้าใจปัญหาอย่างเป็นองค์รวม เข้าใจเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างเป็นระบบ และเสนอทางออกจากปัญหานั้นอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่ามาก

ในภาวะวิกฤต สถานการณ์สับสนซับซ้อนวุ่นวาย ความสงบรำงับภายในเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง การฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นเรื่องจำเป็น หากเรายังเศร้าหมองโกรธเกรี้ยว ก็ย่อมชำระทุกข์และนำพาความสงบสุขมาสู่สังคมไม่ได้ ตราบที่เราไม่เข้าใจที่มาของความเศร้าหมองโกรธเกรี้ยวภายในตัวเรา เราก็ย่อมปฏิเสธและไม่เข้าใจคุณค่าที่ผู้อื่นยึดถือ สังคมของเราก็จะเต็มไปด้วยศัตรูมากกว่ามิตร เราก็จะกลายเป็นเผด็จการคนหูหนวกผู้กล้าหาญที่ถือดาบแห่งคุณธรรมเที่ยวไล่ฟาดฟันผู้อื่น แล้วก็พร่ำบูชาถึงความรักต่อเพื่อนมนุษย์และหรือศรัทธาต่อประชาธิปไตย

Back to Top