ปฏิรูปการศึกษาไทย ๓:
ปฏิรูปการวัดและการประเมินการเรียนรู้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 กันยายน 2557

วิวัฒนาการของวิชาการและศาสตร์ทางด้านการวัดและการประเมินผลทางการศึกษา พัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ในประเทศไทยและทั่วโลกมีการเปิดหลักสูตรทางด้านนี้ในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก มีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกเกิดขึ้นมากมายเพื่อทำหน้าที่วัดและประเมินคุณภาพการศึกษาภายในแต่ละสถานศึกษา ในแต่ละประเทศ และเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศ

ศาสตร์และวิชาการด้านการวัดและการประเมินผลจึงเข้มแข็งมาก จนถึงมากที่สุด เมื่อการวัดและการประเมินผลกลายไปเป็นเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ และเป็นตัวกำหนดคุณภาพการศึกษา สถานศึกษาต่างพยายามจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดผลตามตัวชี้วัดและมาตรฐานกลางที่หน่วยงานกลางกำหนดไว้ แต่ตัวที่มีอิทธิพลและได้รับความสนใจมากที่สุดคือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (คะแนนสอบ) ที่ถูกกำหนดให้เป็นตัวแทนของความเก่ง ซึ่งเป็นเพียงมิติเดียวจากสามมิติ (เก่ง ดี มีสุข) ที่เป็นเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาครั้งก่อน



หวังว่าการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่นี้ หากไม่สามารถเพิ่มความสุขได้ ก็ขออย่าไปเพิ่มความทุกข์ให้กับผู้เรียน ผู้สอน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

การเพิ่มหรือลดชั่วโมงเรียนคงไม่ช่วยอะไร ถ้าความคิด ความเชื่อ และการเรียนการสอนยังเป็นแบบเดิม ยิ่งการวัดการประเมิน (ตามแนวเดิม) เข้มข้นขึ้น ความทุกข์คงเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า

ประเทศไทยมีชั่วโมงเรียนมากที่สุดติดอับดับโลก แต่มีคุณภาพ (คะแนน) อยู่อันดับแปดสิบกว่า ถ้าลดชั่วโมงเรียนลง อันดับจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนผกผันหรือไม่ เป็นคำถามที่เราต้องหยุดคิด และพิจารณาอย่างจริงจัง

การวัดการประเมินที่ดำเนินอยู่ก็มุ่งเน้นไปที่การวัดและประเมิน “ผล” การเรียน (การสอน?) ที่ได้จากการทำแบบทดสอบหรืองานที่มอบหมายให้ทำ เพื่อที่จะวัดดูว่าผู้เรียน รู้/เข้าใจ/จำได้/ทำได้ มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับที่สอน แล้วก็ทำการประเมินจากผลการวัด แนวทางนี้สูงสุดคือ รู้/เข้าใจ/จำได้/ทำได้ เท่าที่สอน หรือพูดง่ายๆ คืออย่างเก่งก็แค่ “รู้เท่า” ที่เรียน (สอน?) ส่วน “รู้เท่าทัน” เรื่องที่เรียน (สอน?) หรือไม่ ไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญของการวัดการประเมินผล ส่วนการสร้างแบบทดสอบโดยเฉพาะแบบปรนัย ก็จะมีเทคนิค มีลูกล่อ ลูกหลอก ที่คาดหวังว่าหากผู้เรียนไม่รู้จริง (ตามที่ผู้สอนกำหนด) ผู้เรียนก็จะเลือกผิด ยกเว้นรู้ทันผู้ออกข้อสอบ การวัดและการประเมินผลที่ทำกันโดยทั่วไปจึงอยู่ในลักษณะของการ “รู้เท่า” และ “รู้ทัน” มากกว่าการ “รู้เท่าทัน” เรื่องที่เรียน (สอน)

เท่าที่เป็นอยู่โดยทั่วไปในทางปฏิบัติ เราเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องของการวัดผลมากกว่าการประเมิน และในเรื่องของการประเมิน เราก็เน้นและให้ความสำคัญกับการประเมินผลจากการทำข้อสอบหรือการทำงานของผู้เรียน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้เรียนโดยตรง มากกว่าการประเมินกระบวนการ ปัจจัยป้อนเข้า และบริบท ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้สอนมากกว่าผู้เรียน ใช่หรือไม่?

ทั้งหมดเป็นข้อสังเกต และคำถามของผู้เขียน ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเองทั้งในฐานะที่เคยเป็นผู้เรียน และผู้สอน จึงอยากเชิญชวนให้นักวิชาการด้านการวัดและการประเมินผลทางการศึกษา หันมาให้ความสนใจและร่วมกันพัฒนาการวัดและการประเมินการรู้เท่าทันของผู้เรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม เพื่อจะได้ไม่ติดกับดักของการวัดการประเมินผลแบบเดิมจนมากเกินไป จะทำอย่างไรให้เรื่องของการวัดการประเมินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง/การพัฒนาความสำเร็จให้กับผู้เรียน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การจัดจำแนกระดับและประเภทของผู้เรียนตามผลการวัดการประเมิน แล้วก็ผ่านไปเป็นปกติธรรมดาตามหน้าที่ ผู้เรียนจะเก่ง ดี มีสุขหรือไม่ เป็นเรื่องของผู้เรียน ผู้สอนก็สอน วัดและประเมินผลไปตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนดไว้แล้วก็หมดหน้าที่ แล้วก็ไปเริ่มวงจรเดิมกันใหม่

หากจะปฏิรูประบบการวัดการประเมินใหม่ และให้สอดคล้องกับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทย ที่ผู้เขียนเสนอไว้ในสองบทความแรกในคอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้ การวัดการประเมินก็ต้องเน้นและให้ความสำคัญกับการวัดและการประเมิน “การเรียนรู้” ของผู้เรียนรู้ ซึ่งในสองบทความแรกหมายถึงทั้งผู้เรียน และผู้สอน ที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้เรียน และผู้สอนในความหมายเดิมมาเป็นผู้เรียนรู้ทั้งคู่ ไม่ใช่แค่การวัดและประเมิน “ผลการเรียน” ของผู้เรียนเท่านั้น เพราะผลการเรียนของผู้เรียน ขึ้นอยู่กับบริบท ปัจจัยป้อนเข้า วิธีการที่ผู้สอนใช้ จำนวนผู้เรียน...มิใช่หรือ

หากการปฏิรูปครั้งนี้เน้นและให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อหวังให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงตามที่ผู้เขียนเสนอไว้ในสองบทความแรก และผู้ที่จะเอื้อให้การปฏิรูปการเรียนรู้ครั้งนี้ประสบผลสำเร็จในเบื้องต้นคือครู/อาจารย์ เราก็ต้องเริ่มกระบวนการปฏิรูปที่ครู/อาจารย์

ปฏิรูปครู/อาจารย์จากผู้สอน ผู้บรรยาย มาเป็นผู้เรียนรู้ และผู้ร่วมเรียนรู้ไปกับผู้เรียนซึ่งก็ต้องเปลี่ยนจากผู้เรียนแบบเดิมเป็นผู้เรียนรู้และผู้ร่วมเรียนรู้ แล้วก็ปฏิรูประบบและกระบวนการวัดการประเมินใหม่จากการวัดและการประเมินผลการเรียน มาเป็นการวัดและการประเมินการเรียนรู้

ในเบื้องต้นจึงขอเชิญชวนผู้รู้และนักวิชาการด้านการวัดและประเมิน (ผล) ทางการศึกษา มาช่วยกันพิจารณาและหาทางสร้างสรรค์แนวคิด แนวทาง เทคนิค วิธีการ และกระบวนการวัดการประเมินในเรื่องของการเรียนรู้ในแต่ละด้านต่อไปนี้ และอย่างเป็นองค์รวม ได้แก่

บริบท (Context) ของการเรียนรู้ ปัจจัยป้อนเข้า (Inputs) ของการเรียนรู้ กระบวนการ (Process) ของเรียนรู้ ผลผลิต (Outputs/Results) การเรียนรู้ ผลลัพธ์ (Outcomes) ของการเรียนรู้ และผลกระทบ (Impacts) ของการเรียนรู้

โดยที่การออกแบบและดำเนินการในเรื่องการวัดและการประเมินทั้งหมด จะทำไปในฐานะที่เป็นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงของทั้งครู/อาจารย์และลูกศิษย์ ซึ่งในที่นี้จะเรียกว่าการวัดและการประเมินในฐานะที่เป็นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

โดยสรุป การวัดและการประเมินแนวใหม่นี้ เป็นการวัดและการประเมินการเรียนรู้ ออกแบบและนำไปใช้ในฐานะที่เป็นการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง และดำเนินไปเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง

แนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษาที่ผู้เขียนนำเสนอไว้เป็นระยะๆ ในคอลัมน์นี้สามารถนำมาเป็นแนวทางหรือทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาได้

Back to Top