โบเมียนไดอะล็อค
ภารกิจอันสูงส่งที่จะทำให้การสนทนาเป็นศิลปศาสตร์แห่งการตื่นรู้



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กันยายน 2557

เราแตกต่างจริงหรือ?

เรามักจะคิดว่าเราแตกต่าง แต่ลองใคร่ครวญให้ลึกซึ้งหน่อยไหมว่าแท้ที่จริงแล้ว เราเป็นเพียงปัจเจกที่เหมือนๆ กัน เราโกหกตัวเองว่าแตกต่าง ลองใคร่ครวญอีกสักครั้งสิครับว่าเราแตกต่างจากคนอื่นที่ตรงไหน ที่แท้ พวกเราพากันซ่อนตัวอยู่ในความละม้ายคล้ายคลึงอย่างเงียบงัน ส่วนใหญ่กลัวที่จะยืนเด่นออกมาอย่างแตกต่าง ความกลัวนั้นยิ่งใหญ่มากถึงขนาดที่เราจะไม่กล้าฝ่าข้ามไป




ผลผลิตของยุคสมัยและรุ่นคน (generation หรือเรียกย่อๆ ว่า "เจน" ต่างๆ เช่น เจนเอ็กซ์ เจนวาย เจนแซด เป็นต้น)

แต่ละเจนก็เหมือนกับมีแต่ละกล่องให้เราอยู่ในนั้น และไม่ก้าวออกมาจากกล่อง และเจนต่างๆ ก็ดำรงอยู่ในยุคสมัยซึ่งก็เป็นกล่องอีกใบหนึ่ง แต่ละเจนก็จะมีเลนส์อันหนึ่งที่พวกเขาจะมองโลกออกมาคล้ายๆ กัน แล้วเจนต่างๆ ก็ดำรงอยู่ในกาลสมัยซึ่งก็จะมีเลนส์ของกาลสมัยเช่นเดียวกัน


ชีวิตที่ดาวน์โหลด

ในกระบวนการเรียนรู้ของหลักสูตรต่างๆ ผมจะให้คนได้ใคร่ครวญว่า ชีวิตของเขาเป็นอัตโนมัติกี่มากน้อย ผู้คนก็จะพบว่าชีวิตโดยส่วนใหญ่หรืออาจจะเกือบทั้งหมดเป็นไปอย่างอัตโนมัติ และเนื่องจากเราไม่รู้ตัวเลยว่ามันเป็นอัตโนมัติ จึงเรียกมันได้ว่า "อัตโนมัติ" ที่หลับใหล

เราแทบไม่ได้คิดอะไรใหม่ มันเหมือนมีคำตอบให้เราอยู่แล้วว่า ชีวิตเราจะไปทางไหนอย่างไร


ที่มาของความคิด

คำถามที่ดูเหมือนง่ายๆ ว่า “ที่มาของความคิดเป็นอย่างไร” ของโบห์ม จะนำพาเราไปทางไหนได้บ้าง?

โบห์มกล่าวว่า ความคิดคือแผนที่ คือตัวแทน ไม่ใช่ตัวต้นฉบับ ภูมิประเทศจริงจะไม่ใช่แผนที่ แต่บางทีแม้เรามองต้นฉบับหรือของจริงอยู่ต่อหน้า แต่การทำงานของสมองคือ เรามองอะไรเพียงผ่านๆ แล้วไปดาวน์โหลดภาพรับรู้เดิมในความทรงจำมาตัดแปะ ดังนั้น ด้วยแบบฝึกหัดง่ายๆ โดยให้คนมองไปรอบๆ ห้องอีกครั้ง ที่เราเคยคิดว่า เช่น เรามาอยู่ห้องนี้สองวันแล้ว จริงๆ เราได้เห็นห้องนี้จริงๆ หรือ พอตั้งใจมองอีกที จะเห็นว่า เราไม่ได้เห็นห้องนี้จริงๆ สักเท่าไร หากเราเห็นนิดหน่อยมากๆ โดยเอาสิ่งที่เห็นเพียงเล็กน้อยนี้มาบวกกับความทรงจำเดิมๆ ของเรานั้นเอง


แต่ละครั้งที่เราเห็นอะไรใหม่ เราไม่ได้เห็นอะไรใหม่สักเท่าไร แต่เราอาศัยดาวน์โหลดเรื่องเดิมๆ การเห็นเดิมๆ เข้ามาผสมผสานด้วยตลอดเวลา อันนี้ เป็นไปได้ไหมที่เราจะปิดการเรียนรู้ต่างๆ ใหม่ๆ ไปเสียเลยโดยสิ้นเชิง


เข้าใจอีกหนึ่งมิติของความคิด

การค้นพบสมองสามชั้น ปัญญาสามฐาน ของพอล แมคลีน (Paul MacLean) ว่ามนุษย์มีสมองชั้นต้นเป็นสมองของสัตว์เลื้อยคลาน คือสมองแห่งการอยู่รอด สมองชั้นกลางเป็นสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คือสมองแห่งอารมณ์ความรู้สึก และสมองชั้นนอก คือสมองของความคิด อันที่จริง รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ก็ค้นพบเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้นแล้ว ด้วยการนั่งทางในและแบ่งปัญญาของมนุษย์ออกเป็นสามชั้นเช่นเดียวกัน คือ เจตจำนง ความรู้สึก และความคิด (willing, feeling and thinking) แปลกที่องค์ความรู้ของทั้งสองสวมเข้าด้วยกันได้ เหมือนมือกับถุงมือ

ขอให้เราลองสังเกตดูนะครับว่า เวลาเราตัดสินอะไร เราตัดสินด้วยความคิด หรืออารมณ์ความรู้สึก หรือมันเป็นไปตามปฏิกิริยาของการอยู่รอด? และถ้าเราไม่ได้ตัดสินด้วยการคิดใคร่ครวญล่ะ มันหมายถึงอะไรได้บ้าง?

นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องสมองได้ค้นพบความเกี่ยวพันระหว่างสมองสามชั้นอย่างเหนียวแน่น หากชีวิตเราเป็นเพียงปฏิกิริยาของชีวิต ระบบคิดของเราไม่อาจทำงานได้อย่างปลอดโปร่งเลย และในความเป็นปฏิกิริยาของชีวิตนั้น สมองชั้นต้นจะเข้ามาเป็นนาย ที่สมองชั้นกลางและชั้นนอก หรืออารมณ์ความรู้สึกและความคิดจะกลับมารับใช้สมองสัตว์เลื้อยคลานมากกว่า เราจึงเห็นได้ว่ามนุษย์ยังรบราฆ่าฟันกันอยู่จนถึงทุกวันนี้


ดาวน์โหลดปฏิกิริยา

สมองมนุษย์ในยุคถ้ำ ที่มนุษย์ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดจากภัยอันตรายทั้งหลาย ทั้งสัตว์ร้ายและภัยทางธรรมชาติ สมองจึงสร้างวงจรที่จะพร้อมเข้าสู่โหมดปฏิกิริยาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้รักษาเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ไว้ก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง สร้างสมมาในทางที่จะทำงานอย่างเป็นปฏิกิริยา หรือทำงานอย่างปกป้อง ซึ่งมีกลไกให้สมองสัตว์เลื้อยคลานเข้ามาเป็นนาย กระทำการอย่างรวดเร็วว่าจะสู้ หนีหรือแสร้งตายโดยทำตัวแข็งทื่อ สมองตัดวงจรใคร่ครวญของสมองส่วนหน้า อันเป็นส่วนหนึ่งของสมองชั้นนอกออกไปก่อน กลับมาทำงานด้วยสมองชั้นต้น ชั้นกลาง และสมองชั้นนอกซีกซ้ายที่จะคิดอย่างเร็วๆ อย่างอัตโนมัติก่อน

ตลอดกาลเวลาของมนุษย์บนโลกใบนี้ เราได้กระทำซ้ำโหมดปกป้องหรือโหมดปฏิกิริยานี้มาเป็นหมื่นเป็นแสนปี เราได้แต่ดาวน์โหลดสมองที่สั่งสมประสบการณ์เป็นปฏิกิริยานี้ส่งต่อเรื่อยมาในคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ เราจะเห็นได้ว่า สังคมของเราสร้างรากฐานขึ้นมาจากความกลัว และได้สร้างสมวัฒนธรรมแบ่งเขาแบ่งเรา พร้อมจะแย่งชิง แตกแยก และเข่นฆ่ากันตลอดเวลา


วัฒนธรรมแห่งการตื่นรู้เข้าไปทำอะไรกับกระบวนการคิด

โบเมียนไดอะล็อคได้นำกระบวนการตื่นรู้เข้ามาศึกษาการสนทนา เรียนรู้แลกเปลี่ยน สร้างสมปัญญาปฏิบัติ ที่จะทำให้การสนทนาไม่เป็นสงคราม ไม่ทำให้สมองอยู่ในความกลัวที่จะทำให้เราคุยกันอย่างเป็นปฏิกิริยา

อาร์โนลด์ มินเดล (Arnold Mindel) แห่งจิตวิทยากระบวนการ ก็ให้นำความตื่นรู้เข้ามาในความขัดแย้ง และให้ตื่นรู้ที่จะฟังเสียงจากทุกๆ ฝ่ายทุกๆ เสียง แม้ว่าจะเป็นเสียงของคนที่มีจำนวนน้อยเพียงใดก็ตาม

เมื่อเราตื่นรู้ และตระหนักว่า อะไรบางอย่างที่ดูเหมือนจะคุกคามให้เรากลัวนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นภาพความทรงจำจากอดีตที่เราดาวน์โหลดมา ไม่ใช่ภัยคุกคามจริงๆ ที่ปรากฏต่อหน้า เมื่อเราตระหนักรู้เช่นนั้นได้ เราก็จะย้ายจากโหมดปฏิกิริยามาเป็นโหมดปกติ ผมชอบคำๆ นี้ครับ คำว่า "ปกติ"

เมื่อนั้น สมองส่วนหน้าซึ่งสำคัญมากก็จะทำงาน ใครสนใจอยากศึกษาอย่างลึกซึ้งขอให้ไปอ่านหนังสือเรื่อง Evolve Your Brain ของ โจ ดิสเพนซา (Jo Dispenza) สมองส่วนหน้าจะรื้อวงจรสมองเดิม สร้างวงจรสมองใหม่ที่จะสั่งสมประสบการณ์แห่งความเป็นปกติ เป็นเหมือนผู้กำกับวงออร์เคสตรา ที่หลอมรวมสมองส่วนต่างๆ ที่ดีที่สุดมาทำงานร่วมกัน ภาวะเช่นนั้นจะเรียกว่า ภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด (Optimum Learning State) ที่มนุษย์จะสามารถออกจากนิสัยเดิมๆ ความคุ้นชินเดิมๆ สู่การสร้างใหม่ และเปิดให้โหมดของปัญญาญาณเข้ามาทำงาน

ถ้าเราทำซ้ำเช่นนี้เรื่อยๆ เราจะได้สร้างวิถีการสนทนาแบบใหม่แห่งการตื่นรู้ที่จะรื้อสร้างอารยธรรมใหม่ให้แก่มนุษยชาติได้จริงๆ

Back to Top