โดย
วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มกราคม 2559
ในวาระขึ้นปีใหม่นี้ ผมนึกถึงอะไรบ้าง
ตอนนี้ผมอายุหกสิบสองร่างกายเริ่มส่งสัญญาณเตือน แม้จะยังเล็กๆ น้อยๆ แต่เราควรอยู่ในความไม่ประมาท ผมจึงอยากทำงานให้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันภาระต่างๆ โดยเฉพาะกับการดูแลคนรอบข้างที่ยังมีอยู่ เลยใคร่ครวญว่าในเมื่อคงทำงานน้อยลงไม่ได้ มาดูว่าจะทำงานให้สอดคล้องกับวัยมากขึ้นได้อย่างไร
สร้างงานต้นฉบับ
ผมเป็นคนหนึ่งที่กล้าเอาตัวเองลงมาเล่นกับความฝันความเชื่อต่างๆ และสิ่งหนึ่งที่ทำมาตลอด คือการเรียนรู้นอกสถาบันการเรียนรู้ทั้งหลาย ทั้งนี้ไม่ได้ปฏิเสธความรู้ ไม่ปฏิเสธหนังสือหนังหา ไม่ปฏิเสธครู โดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสก็จะเรียนจากปราชญ์และครูทั้งจากตัวของพวกท่านเองหรือหนังสือของท่าน จะเรียนอย่างเป็นนักวิทยาศาสตร์คือลองผิดลองถูก และเรียนอย่างศิลปินคือลงไม้ลงมือ และเรียนอย่างมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้วยในงานที่เราเลือกสรร และเพื่อความเข้มข้นก็จะย่นย่อลงให้เป็นเรื่องเดียว
เรื่องเดียวที่ผมเรียนและสอนคือ "การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" หรือ transformative learning แต่เรื่องนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายแวดวง และถ้าจะให้กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงกระจายไปทั่วไทยอย่างได้ผล ผมจึงย่อเรื่องให้แคบเข้ามาอีก โดยมุ่งสู่การสร้างกระบวนกรที่มีความสามารถ คือการสร้างกระบวนกรชั้นเซียน
เส้นทางการบ่มเพาะสู่การเป็นกระบวนกรชั้นเซียน
คิดใคร่ครวญในช่วงทำเวิร์กช็อปกระบวนกรภาคปฏิบัติที่ผ่านมาว่า การบ่มเพาะกระบวนกรชั้นเซียน จะต้องทำอะไรบ้าง แล้วได้แนวทางว่าดังต่อไปนี้
หนึ่ง ผู้จะมาเป็นกระบวนกรชั้นเซียนต้องเริ่มต้นจากค้นพบเสียงของตัวเอง สามารถเลือกเดินเส้นทางชีวิตของตัวเอง รับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองเลือกและไม่กล่าวโทษผู้อื่นหรือเงื่อนไขภายนอกหนึ่งใดของชีวิต
สอง เขาจะต้องค้นพบ flow หรือ มณฑลแห่งพลัง อันเป็นสภาวะของจิตที่เป็นสมาธิ เป็น optimum learning state หรือสภาวะที่จิตสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด สามารถบ่มเพาะจิตให้อยู่ในสภาวะนี้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาทำกระบวนการ