ธันวาคม 2012

น้ำลายดิจิตอล



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2555

มีโอกาสได้สนทนากับเพื่อนสมัยเรียน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่สมัยผมไม่เคยมี นั่นคือการสนทนาผ่านการแชตด้วยมือถือสมาร์ตโฟน ผมพบว่าเพื่อนสมัยมัธยมไม่สนใจที่จะสนทนาอะไรมากนักนอกจากอำกันไปมาเรื่องหนีเมียไปเที่ยวซุกซน แต่ส่วนใหญ่ดีแต่พูดเพราะเป็นแฟมิลีแมนกันทั้งนั้น ผู้ชายรุ่นหลักสี่แบบผม หรือบางทีก็แซวกันด้วยคำแรงๆ แบบเจ็บแสบ อาจจะด้วยเพราะในหน้าที่การงานไม่สามารถพูดจา ด้วยภาษาสมัยพ่อขุนรามแบบนี้กับใครได้ จึงออกมาแซวกันเล่น เปื้อนกระเซ็นกันด้วยน้ำลายดิจิตอล

เทคโนโลยีทำให้เราใกล้ชิดกัน!

เพื่อนบางกลุ่มสนทนากันอย่างผิวเผินเหลือเกิน บ้างคุยเรื่องหุ้น บ้างชวนทำบุญสร้างองค์พระ บ้างก็แค่ใช้ช่องทางนี้ในการนัดหมาย แต่ไม่สนทนาลึกลงไปจนแตะความเชื่อความเห็นของแต่ละคน หลายคนบอกว่าการสนทนาด้วยช่องทางแชตที่มีแต่ตัวอักษรนั้น ไม่อาจจะสื่อถึงความรู้สึกได้เหมือนการคุยเห็นหน้ากัน นักจิตวิวัฒน์ไม่ควรจะเชื่อคำที่บอกต่อกันมาแบบนั้น ผมจึงทำการทดลองเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปีเห็นจะได้ คือการตั้งวงสนทนาเรื่องจิตวิวัฒน์เป็นกลุ่มผ่านช่องทางการแชตผ่านมือถือสมาร์ตโฟน

ผมพบความจริงว่าเราอาจจะใช้ช่องทางนี้คุยกันเรื่องจิตวิวัฒน์ได้ และอาจจะดีกว่าการพบเจอพูดคุยต่อหน้าเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุที่บางคนสบายใจที่จะพูดคุยเรื่องเหล่านี้แบบไม่เห็นหน้าค่าตา เพราะเมื่อคุยต่อหน้าไม่กล้าที่จะคุยลงลึก หรือทักษะและความคุ้นชินของการวางตัวต่อหน้าผู้คนเข้ามาแปรเปลี่ยนเจตนาในการสนทนาไป เช่น บางคนพูดเก่งเวลาอยู่ต่อหน้าผู้คน บางคนพอใจที่จะฟังเฉยๆ ไม่ออกความคิดเห็นใดๆ นี่คือตัวบทที่เราแต่ละคนเรียนรู้จากสังคมมาตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาล เวลาผ่านไปนานเข้าเรายึดตัวบทนั้นไว้เป็นอุปนิสัย แต่การแชตผ่านมือถือเป็นกลุ่มได้สร้างระเบียบใหม่ เซาะกร่อนบทบาทเก่า ปรับทุกคนให้เท่าเทียมกันด้วยจำนวนพยัญชนะ ๔๔ ตัวที่ทุกคนมีเท่ากัน จำกัดไว้อยู่เพียงเชาวน์ปัญญาที่จะเปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นตัวอักษรเท่านั้น

ศาสนาพุทธพูดถึงเรื่องอสภาวรูปสองอย่างคือ กายวิญญัติ และวจีวิญญัติ ซึ่งหมายถึงเป็นอาการพิเศษซึ่งเกิดและแสดงออกทางกายและวาจา ถ้าทั่วไปเราอาจจะโมเมเรียกว่า “ภาษากาย” ไปก่อน ที่ผมพูดนี้เพื่อจะแสดงว่าช่องทางการแชตนั้น กายวิญญัติและวจีวิญญัติไม่สามารถจะสื่อและรับกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่ถึงไม่สมบูรณ์ผมก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราสังเกตดีๆ เราก็อาจจะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคู่สนทนาได้มากบ้างน้อยบ้าง เพราะการโต้ตอบกันด้วยภาษาแชต ไม่ใช่มีเพียงแค่ตัวอักษร แต่ยังมีการเว้นจังหวะ การรอคอยให้คู่สนทนาพูดจบในขบวนความคิด การแทรกคั่นจังหวะ การใช้สัญลักษณ์แทนความรู้สึก การเลือกชุดภาษา (ทีเล่นทีจริง หรือเป็นทางการ) การลาออกจากกลุ่ม การโดนแบน การขอเข้ากลุ่มใหม่ การไปเปิดกลุ่มใหม่ลับหลัง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ยังไม่ทิ้งสันดานของความเป็นมนุษย์ให้เราเรียนรู้ได้

กลุ่มสนทนาที่พูดคุยกันเพียงผิวเผิน ผมได้เรียนรู้ว่าบางทีด้วยถ้อยคำบางคำที่สอดใส่เข้าไปราวกับเป็น “ตัวกวนทางควอนตัม” (Strange Attractors) ได้ก่อเกิดปฏิกิริยาสร้างระเบียบใหม่บนความไร้ระเบียบของการสนทนา และผมพบว่ายิ่งผมใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย กักขฬะ กระด้างหู แปลกประหลาด เกินความคาดหมายมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดการจัดระเบียบใหม่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าแบบแผนการสนทนาเดิมๆ ซึ่งย่ำอยู่กับที่และตกร่องของความคุ้นชิน และถ้าผมหยุดสนทนาเมื่อใด พวกเขาก็จะ “หมดเรื่องคุย” หรือดำเนินไปในร่องเดิมๆ ต่อไป

มันเป็นเรื่องแปลกที่พวกเขาต้องการตัวร้าย!

ในสังคมหนูปั่นจักรของพวกเรา พวกเราแยกย้ายกันอยู่ตามกลุ่มและลำดับชั้นทางสังคมกันมากจนเกินไป พวกเราถูกทำให้เหมือนๆ กันไปหมด มีความปรารถนาเหมือนกัน ถูกกรอกหูด้วยข้อมูลชุดเดียวกัน โกรธแค้นและร้องไห้ในเรื่องเดียวกัน การสนทนาจึงเป็นไปอย่างจืดชืดเมื่อมาอยู่รวมกัน คนชั้นกลางรุ่นผมจะคุยกันเรื่องอะไรนอกจากเรื่องหุ้น เรื่องลูก เรื่องกอล์ฟ เรื่องการเมือง เรื่องความอยุติธรรมในสังคมไทยที่ต่างก็ทำอะไรไม่ได้ (แต่สนุกดีที่ได้บ่น) เรื่องคลิปโฆษณา มิวสิควีดีโอ สัพเพเหระ ซึ่งเป็นเรื่องไกลตัวทั้งหมดทั้งสิ้น

แต่ไม่ใคร่จะสนใจคุยเรื่องตัวเอง

คำว่าจิตตปัญญามาจากรากภาษาอังกฤษว่า Contemplation มีผู้รู้แปลว่า “ใคร่ครวญ” ซึ่งสำหรับผมหมายถึงความสามารถในการทบทวนตนเอง แต่ไม่ใช่ทบทวนความผิดจนเคร่งเครียดเกินไป อย่างน้อยรู้ตนอยู่เนืองๆ ว่ากำลังทำอะไร ทำอะไรไปแล้วบ้าง และมันก่อให้เกิดผลอย่างไรให้กับตนเองและผู้อื่น เบียดเบียนตนเองไหม เบียดเบียนผู้อื่นไหม ผมว่าแค่นั้นแหละจิตตปัญญาแล้ว

การใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา และบางครั้งดูเหมือนเป็น “ข้อห้าม”​ (taboo) ที่สังคมไม่พูดกัน แต่แฝงด้วยเจตนาดี ดูเหมือนจะสามารถทำลายกำแพงของการวางฟอร์มของผู้คนลง และเกิดการจัดระเบียบใหม่อย่างที่บอกมาแล้ว มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บางคนจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างรุนแรง บ้างหันไปเล่นบทนักบุญใจพระผู้เมตตาปลอบโยนแต่ไม่รู้จะเลือกข้างไหนดี บางคนเลือกที่จะหลีบหนีออกจากความขัดแย้ง โดยสรุปแล้วผู้คนมักจะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเมื่อได้พบกับถ้อยคำบางคำที่ตรงข้ามกับความเชื่อลึกๆ ในใจของเขา อาจจะเกิดความไม่พอใจ และแสดงออกโดยการโต้เถียง หรือยกเหตุผลมาลบล้าง ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นไม่ต่างอะไรกับการสนทนาแบบเห็นหน้า การประคับประคองให้ผ่านความขุ่นข้องหมองใจในช่วงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ จากประสบการณ์ มีบางกลุ่มที่สามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ และการสนทนาก็ลึกลงไปแตะตัวตนของเขาและเปิดโอกาสให้เกิดการทบทวนตนเองตาม “อัธยาศัย” แต่บางกลุ่มก็ไปต่อไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราคงจะทำให้ทุกคนหันมาคุยเรื่องที่ละเอียดและกระทบตัวตนของเขาไม่ได้ ถ้าหากเขาไม่ประสงค์จะทำเช่นนั้น

ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาบางส่วน (จริงบ้าง สมมุติขึ้นบ้าง) ที่ผมจะหยิบยกมาแบ่งปัน (นิสัยคนออนไลน์ต้องแบ่งปัน)

เพื่อน : “ความดีไม่มี บุญบาปเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น”

ผม : “แล้วเอ็งจะสอนลูกยังไงเวลาให้ไหว้ในหลวง ในเมื่อไม่เชื่อเรื่องคุณความดี?”

เพื่อน : (ไม่ตอบแต่ส่งอันนี้มาให้ผม) “☺”

ความเป็นพลเมืองของนักเรียนอนุบาล



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2555

จำนวนผู้ป่วยจิตเวชเด็กทวีจำนวนสูงขึ้นในทุกโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง


เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาการเรียนถูกนำตัวส่งแผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นของโรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทำงานอยู่โดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลงง่ายๆ

หากเราปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยไป เชื่อได้ว่าเราน่าจะมีเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมรอคิวตรวจเป็นเรือนแสนในเวลาไม่นาน

ณ ปัจจุบัน คิวรอพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นของโรงพยาบาลต่างๆ อยู่ที่ ๒ ถึง ๑๒ เดือน แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละโรงพยาบาล


สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้คือผลลัพธ์ของการทำงานตามกระบวนทัศน์เดิม นั่นคือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรือปัญหาการเรียนเป็นผู้ป่วย เมื่อเป็นผู้ป่วยก็ต้องถูกส่งโรงพยาบาล เมื่อถูกส่งโรงพยาบาลก็ต้องเข้าสู่สายพานการตรวจรักษาของโรงพยาบาล (ซึ่งลอกแบบจากสายพานการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม)

การแพทย์แผนปัจจุบันสามารถช่วยเหลือเด็กได้ด้วยความช่วยเหลือหนึ่งต่อหนึ่งเป็นขั้นเป็นตอน เด็กที่ได้รับการช่วยเหลือทันท่วงทีย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดี (เพราะมาตรฐานที่ดีของการแพทย์แผนปัจจุบันนั่นเอง) แต่เด็กที่ตกค้างรวมทั้งเด็กที่ไม่ควรถูกนำส่งโรงพยาบาลตั้งแต่แรก มักมีอนาคตที่เสียหาย หากไม่ถูกออกจากโรงเรียนกลางคันก็ลงเอยด้วยยาเสพติด

กระบวนทัศน์ใหม่ควรเป็นอย่างไร

หากใช้กรอบการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ มีวิชาที่นักเรียนควรได้เรียนเพียง ๗ วิชา อ้างอิงจากหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่๒๑ ซึ่ง วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อธิป จิตตฤกษ์ แปลจากหนังสือ 21st Century Skills: Rethinking How Students Learn และหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

สามวิชาแรกคือวิชาพื้นฐาน ได้แก่ คณิตศาสตร์ การอ่าน และการเขียน


อีกสี่วิชาถัดมาคือวิชาที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษใหม่คือ สุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง เด็กและเยาวชนควรได้รับการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการเงินของตนเองด้วยตนเองให้ดีที่สุด รู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพและการเงินที่มีหลากหลายทั้งจริงและลวง พูดง่ายๆ ว่าเอาแต่เรียนเก่งแต่ไม่มีปัญญาดูแลสุขภาพและการเงินของตัวเอง มัวแต่คิดพึ่งพิงผู้อื่นอยู่เสมอก็จะเอาตัวรอดยาก


นอกจากนี้ควรรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ซึ่งทรัพยากรลดลงและโลกร้อนมากขึ้นทุกขณะ เราควรมีชีวิตอย่างไรและอยู่กับหายนะภัยอย่างไร

ที่คนพูดถึงน้อยคือเรื่องความเป็นพลเมือง (citizen) เวลาพูดถึงความเป็นพลเมืองมักหมายถึงการอยู่ร่วมกับความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง หรือศาสนา หรือชาติพันธุ์ที่แตกต่าง ด้วยเหตุที่โลกไร้พรมแดนทำให้ชาติพันธุ์และความเห็นต่างมากมายปรากฏตัวขึ้นในทุกภูมิภาคและชายแดนของทุกประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากเรียนเก่งแต่พูดจาหมิ่นชาติพันธุ์อื่นหรือความคิดทางการเมืองที่แตกต่างก็น่าจะเอาชีวิตรอดได้ยาก

สำหรับเด็กเล็ก ตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงชั้นประถม ความเป็นพลเมืองคืออะไร

เด็กเล็กไม่มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์และความเห็นต่างทางการเมือง แต่เด็กเล็กเผชิญกับปัญหาพฤติกรรมที่แตกต่างและผลการเรียนที่แตกต่างเสมอๆ เมื่อครูไม่เข้าใจข้อนี้ แล้วนำเด็กเล็กที่แตกต่างส่งโรงพยาบาลกันหมดทุกห้องเรียนทุกโรงเรียน สถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชเด็กจึงเป็นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

เด็กเล็กที่ถูกตีตราและส่งพบจิตแพทย์ ได้แก่ กลุ่มเด็กพิเศษทั้งหมด คือ เด็กสติปัญญาบกพร่อง เด็กแอลดี เด็กสมาธิสั้น เด็กแอสเปอร์เกอร์ เด็กออทิสติก นอกจากนี้ก็มีเด็กที่ชอบรังแกเพื่อน ที่เหลือก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปัสสาวะราด ขโมยของ ไม่ทำการบ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ถูกนำส่งโรงพยาบาลแทบทั้งสิ้น

มิพักต้องพูดถึงเรื่องที่ว่า เด็กที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลเป็นอย่างที่ว่าจริงหรือเปล่า หรือถูกตีตราล่วงหน้าโดยไม่เป็นธรรม


กระบวนทัศน์ใหม่ของเรื่องนี้คือเรื่องความแตกต่างและการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง หากเราไม่คิดว่าเด็กเล็กเหล่านี้ป่วยหรือเป็นผู้ป่วย พวกเขาเพียงเป็นเด็กที่แตกต่าง วิธีทำงานของครูและของคุณหมอควรต่างออกไป

เด็กพิเศษเป็นเพียงกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการและการเรียนรู้แบบพิเศษในวิถีของตนเอง เขาไม่เรียนตามลำดับขั้นเหมือนเด็กส่วนใหญ่ (ซึ่งมิได้หมายความว่าใครปกติกว่ากัน)

เด็กชอบรังแกเพื่อนเป็นเพียงเด็กที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทักษะสังคม (ซึ่งครูมักถูกผู้ปกครองของเด็กๆ ที่ถูกรังแกกดดันให้นำส่งโรงพยาบาล)

เด็กปัสสาวะราด ไม่ทำการบ้าน หรือขโมยของ (ซึ่งไม่ควรใช้คำนี้เพราะเด็กอาจจะมิได้ขโมย พวกเขาเพียง “หยิบของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนกลับบ้าน”) เหล่านี้เป็นเพียงเด็กที่มีปัญหากับการปรับตัว

ทั้งหมดนี้คือความแตกต่างซึ่งเป็นเรื่อง “ปกติ” การศึกษาและครูควรจัดการกับเรื่อง “ปกติ” นี้อย่างไร แทนที่จะทำให้เป็นเรื่อง “อปกติ” ด้วยการพานักเรียนไปโรงพยาบาล แล้วทางโรงพยาบาลก็รับลูกต่ออีกต่างหาก


วิธีที่ทำได้คือเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอนอย่างถอนรากถอนโคน จัดการศึกษาเสียใหม่ให้นักเรียนชั้นเด็กเล็กได้เรียนรู้เป็นกลุ่มด้วยกระบวนการที่เรียกว่า active learning นั่นคือครูเลิกสอนแต่จ่ายโจทย์ปัญหาให้นักเรียนได้ทำงานเป็นทีม โดยมีเงื่อนไขว่าสมาชิกของทีมมีเด็กๆ ที่แตกต่างหลากหลาย

ระหว่างการทำงานเป็นทีมโดยมีครูคอยโค้ช จะเปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้จักเพื่อนในทีมที่แตกต่างและพัฒนาไปด้วยกันเพื่อการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าความแตกต่างนั้นจะเป็นศาสนา ชาติพันธุ์ ความร่ำรวยหรือยากจน เก่งหรือไม่เก่ง ขยันหรือขี้เกียจ ขี้อายหรือขี้ประจบ นิสัยดีหรือไม่ดี อยู่นิ่งหรือไม่นิ่ง เรียนรู้ช้าหรือเรียนรู้เร็ว พิการหรือไม่พิการ นำมาอยู่ในทีมเดียวกันเสีย

นี่คือการผนวกชีวิตจริงของเด็กๆ เข้าสู่การศึกษาในศตวรรษใหม่

มีรายละเอียดของวิธีการที่ต้องพูดคุยกันมาก แต่ขั้นแรกคือเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่เสียก่อน นั่นคือเด็กเล็กก็มีอะไรที่เรียกว่าความแตกต่าง มีอะไรที่เรียกว่าความเป็นพลเมือง และมีอะไรที่เรียกว่าการอยู่ร่วมกับความแตกต่างเช่นเดียวกับผู้ใหญ่

เรื่องพฤติกรรมเด็กนี้เกินความสามารถของโรงพยาบาล เป็นหน้าที่ที่ต้องทำร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและโรงเรียน

ทางรอดจากความรุนแรง


โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2555

จำนวนคนไทยที่มีความตื่นตัวทางการเมืองขณะนี้ ไม่ว่าจะเรียกว่าสีแดง สีเหลือง หลากสี ไม่มีสี คงจะมีหลายล้านคน การมีคนตื่นตัวทางการเมืองมากขนาดนี้ จึงเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย จุดเปลี่ยนนี้อาจเปลี่ยนไปเกิดความรุนแรงถึงขั้นมิคสัญญีกลียุคก็ได้ หรือเปลี่ยนไปสร้างศานติสุขก็ได้

ถ้าการเมืองยังเป็นการเมืองแห่งความเกลียดชัง ความรุนแรงคงหลีกเลี่ยงไม่พ้น เครือข่ายคนเสื้อแดงอันมีจำนวนมากนั้น มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านรัฐประหาร หากมีรัฐประหารไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ คงนองเลือดขนานใหญ่แน่ เครือข่ายคนเสื้อเหลืองนั้นเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อกล่าวหาว่าคิดล้มล้างสถาบันเป็นข้อหาที่รุนแรงยิ่ง และความขัดแย้งเรื่องสถาบันในที่สุดจะนำไปสู่การนองเลือดครั้งใหญ่ในแผ่นดินไทย

สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเมื่อ ค.ศ.๑๘๖๒ มีคนตายไปกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คน ในอินโดนีเซียการไล่ฆ่าคอมมิวนิสต์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๕ มีคนตายไป ๕๐๐,๐๐๐ คน ในศรีลังกาความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสิงหลกับทมิฬยืดเยื้อถึง ๒๕ ปี และมีคนตายไปหลายหมื่นคน ถามว่าถ้ามีการนองเลือดในประเทศไทย มีการฆ่ากันตายไป ๕๐๐,๐๐๐ คน หรือถ้ายังขัดแย้งรุนแรงเรื้อรังต่อไปอีก ๒๕ ปี ประเทศของเราจะเป็นอย่างไร

ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะ ๘ ประการ เพื่อความรอดพ้นจากความรุนแรง

๑. ทุกฝ่ายต้องมีสติ หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะนำไปสู่ความรุนแรง

๒. พรรคการเมืองต้องทำให้ระบบรัฐสภาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยมีความสุจริต ใช้ความรู้ เหตุผล หลักฐาน ข้อเท็จจริง และสัมมาวาจา นักการเมืองเป็นคนที่เจริญ อย่าเป็นคนไม่เจริญ บ้านเมืองจึงจะรอดพ้นความรุนแรง

๓. การชุมนุมประท้วงรัฐบาลและการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาล ควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และสันติ โดยฝ่ายชุมนุมประท้วงควรมีข้อเสนอเชิงนโยบาย รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีควรมารับข้อเสนอ ข้อเสนอใดดีและปฏิบัติได้ก็สั่งให้มีการปฏิบัติ ข้อเสนอใดดีแต่ยังปฏิบัติไม่ได้ก็ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันไปศึกษารายละเอียดจนถึงขั้นปฏิบัติได้ วิธีนี้จะทำให้ประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยทางอ้อมเข้ามาบรรจบกันอย่างสร้างสรรค์ และลดแรงกดดันที่อาจระเบิดเป็นความรุนแรงได้

๔. ทุกฝ่ายควรจะระลึกรู้ว่า เราต้องมุ่งร่วมสร้างอนาคตประเทศไทยมากกว่าจะติดอยู่กับการทะเลาะกันเรื่องอดีต อดีตมีรากยาวไกลและมีบุคคลเกี่ยวข้องมาก การติดอยู่ในอดีตมากเกินไปทำให้เราเคลื่อนไปสู่อนาคตไม่ได้ และมาจ่ออยู่ปากเหวแห่งมิคสัญญีกลียุคแล้ว

ความจริงประเทศไทยมีทุนต่างๆ มาก ทั้งทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางศาสนธรรม ทุนทางปัญญา ทุนภาครัฐ ทุนภาคธุรกิจเอกชน ทุนเหล่านี้มากเกินพอที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดสำหรับทุกคน การรวมตัวกันทำสิ่งที่ใหม่ที่ดี คนไทยจะไม่ทะเลาะกัน เพราะอนาคตยังไม่มีจำเลย แต่การปัญหาเก่าจะทะเลาะกันมากขึ้น เพราะอดีตมีจำเลย

ประเทศไทยควรเข้าเกียร์ใหม่ เป็นเกียร์หน้า คือมุ่งสร้างอนาคตประเทศไทย แล้วจะรักกันมากขึ้น

๕. ประเทศที่น่าอยู่คือประเทศที่มีความเป็นธรรมและไม่มีความเหลื่อมล้ำมากเกิน อนาคตประเทศไทยที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ทุกฝ่ายควรร่วมสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยมาตรการที่สำคัญ ๒ ประการคือ





๕.๑ กระจายอำนาจไปให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด จัดการตนเองให้ได้มากที่สุด

๕.๒ พัฒนานโยบายเพื่อความเป็นธรรม เช่น การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม


๖. การปฏิบัติตาม ๕.๑ และ ๕.๒ ทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง และนักวิชาการสามารถทำงานเสริมกันได้ ดังนี้





๖.๑ เครือข่ายคนเสื้อแดงจะเตรียมพร้อมต่อต้านรัฐประหารก็เป็นการสมควร แต่ก็สามารถทำให้ยิ่งกว่านั้น ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง และทำให้รัฐประหารทำไม่ได้เลย นั่นคือรวมตัวกันทำเรื่องชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง

การจัดการตนเองหมายถึงจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการและจัดการพัฒนานโยบาย

การพัฒนาอย่างบูรณาการนั้นพัฒนา ๘ เรื่องอย่างเชื่อมโยงกัน คือ เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย เมื่อชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองได้จะเข้มแข็ง หายจน อยู่เป็นสุข รัฐประหารทำไม่ได้เพราะอำนาจกระจายไปอยู่กับชุมชนท้องถิ่นโดยทั่วถึงหมดแล้ว

๖.๒ คนเสื้อเหลือง และนักวิชาการไม่ว่าสีใดๆ หรือไม่มีสี ควรสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น และจังหวัดจัดการตนเอง และพัฒนานโยบายเพื่อความเป็นธรรม เช่นการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม โดยที่นโยบายเพื่อความเป็นธรรมทำได้ยาก แต่ก็ต้องทำ โดยอาศัยพลังทางปัญญา และพลังทางสังคม พลังทางสังคมจากพื้นที่ตาม ๖.๑ จะเป็นพลังที่ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อความเป็นธรรม


๗. เมื่อบ้านเมืองมีสติ มีทิศทาง มีกรอบที่จะร่วมกันสร้างอนาคตประเทศไทยตามที่กล่าวในข้อ ๑-๖ ข้างต้น ระบบราชการทั้งพลเรือนและกองทัพจะตั้งตนไว้ชอบได้ง่ายขึ้น ระบบราชการต้องตั้งอยู่ในความสุจริต มีอิสระ มีความรู้ มีสมรรถนะสูง ที่จะไม่ทำให้เกิดสภาวะรัฐล้มเหลว สนับสนุนการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ

๘. ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่ดี จะทำให้ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๗ เป็นไปได้จริง และประเทศไทยมีความสวัสดี

การที่ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงมิคสัญญีกลียุค และมีอนาคตที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มรรควิธี ๘ ประการดังกล่าวจะทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นไปได้ ถ้าทุกฝ่ายมุ่งร่วมสร้างอนาคตประเทศไทย ยังสามารถทำเรื่องดีๆ อื่นๆ ได้อีกมาก ซึ่งรวมทั้งบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสันติภาพ ประเทศไทยควรมีบทบาทสำคัญในเรื่องสันติภาพโลก

ผ่าตัดโรงเรียน



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2555


เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสทำงานกับโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งในเชียงราย บรรยากาศตอนแรกที่ได้เข้าไป ผมสัมผัสได้ว่าทั้งครูและพนักงานต่างรู้สึกท้อแท้ กังวล และหวาดระแวง ไม่มีใครกล้าพูดอย่างเปิดเผย ความเงียบงำทำให้วงประชุมดูอึมครึม เก็บกดมากกว่าผ่อนคลาย ทั้งๆ ที่ในอดีตโรงเรียนแห่งนี้มีบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุข ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างแข็งขัน ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองต่างรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ แต่มีบางอย่างเกิดขึ้นราวกับโรคระบาดในชุมชนแห่งนี้ จนทำให้เกิดอาการต่างคนต่างอยู่ และทำงานไปวันๆ หลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา แม้แต่ในกลุ่มผู้ปกครองเองก็ได้รับโรคนี้ไปด้วย แบ่งเป็นพรรคเป็นพวก เกิดความไม่มั่นใจในการดำเนินงานของโรงเรียน หลายคนตัดสินใจพาลูกออกไปหาที่เรียนใหม่ จำนวนนักเรียนตกฮวบเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ครูและคนทำงานสนับสนุนต่างเสียขวัญและ กำลังใจในการทำงาน

ครั้งแรกที่ผมเข้าไปจัดประชุมเพื่อเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของทุกคนในโรงเรียน ก็สังเกตเห็นจากสีหน้าท่าทางของผู้คนที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่หลากหลาย มีทั้งรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย และไม่อยากพูดอะไร เพราะคิดว่า “พูดไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น เปลืองเนื้อเปลืองตัว เสียเปล่า” หรือไม่ก็เป็นความรู้สึกโกรธที่ไม่ได้รับการดูแลและใส่ใจให้คุณค่าจากผู้บริหาร หลายคนพูดถึงความห่วงใยที่มีต่อเด็กๆ และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และกังวลว่าอนาคตของโรงเรียนและตัวเองที่ดูง่อนแง่นไม่มั่นคงจะดำเนินไปอย่างไร

การเปิดวงสนทนาเพื่อนำเองความในใจจากมุมมืดทั้งหลายออกมาสู่ที่แจ้ง จากการพูดคุยถึง “คนอื่น” ในกลุ่มย่อยมาสู่ “พื้นที่ร่วม” กันนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ไม่มีใครสามารถบังคับและกะเกณฑ์ให้ใครต้องพูดได้ อำนาจสั่งการและตัดสินของผู้บริหารยิ่งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และดูจะเป็นอุปสรรคต่อการเปิดใจแบบนี้เสียด้วยซ้ำ บางคนบอกว่าที่ไม่อยากพูดเพราะเคยพูดหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้รับความเข้าใจ กลับมีการตีความตัดสินไปต่างๆ นานา

นอกจากจะพยายามรับฟังทุกๆ เสียงอย่างเป็นกลางและด้วยความเห็นอกเห็นใจแล้ว ผมค่อยๆ ให้ ความหมายกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญในการที่ทำให้ทุกคน “ตื่นขึ้น” และเรียนรู้จัก “กันและกันมากขึ้น” และอธิบายถึงธรรมชาติของความขัดแย้งว่าเป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกันที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมที่แตกต่าง และมีความเป็นอัตโนมัติที่ปรารศจากเจตนาของใครคนใดคนหนึ่ง และความขัดแย้งก็ก่อตัวขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่ดูเล็กๆ สองสามเหตุการณ์ ผ่านกระบวนตีความตัดสินอย่างเงียบๆ และการสื่อสารที่ไม่ทั่วถึงหรือตรงไปตรงมา ต่างฝ่ายต่างพูดถึงอีกฝ่ายตามที่ตัวเองรู้สึก กลายเป็นเสียงผีที่คอยหลอกหลอนอยู่ในบรรยากาศของโรงเรียน แม้ทุกคนจะพยายาม “ยิ้ม” สู้ แต่ก็ต่างรับรู้ถึงความคับข้องหมองใจนี้ได้

อาร์โนล มินเดล ปรมาจารย์ในศาสตร์ด้านความขัดแย้งกล่าวว่า ความขัดแย้งคือ “ทางลัด” สู่หัวใจของชุมชน เอกภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเข้าถึงใจของกันและกัน ทะลุทะลวงผ่านความเกรงอกเกรงใจ ความกลัวและอำนาจที่กดทับทั้งหลาย ความขัดแย้งจะกลายเป็น “ของขวัญ” สำหรับองค์กรก็ต่อเมื่อมันได้รับการต้อนรับและดูแลด้วยความเข้าใจ มากกว่ากดข่ม หลีกเลี่ยง หรือกระทำการอย่างก้าวร้าวรุนแรง การสร้างท่าทีที่เป็นมิตรต่อความขัดแย้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเยียวยาตัวเองและองค์กรที่กำลังบาดเจ็บและสิ้นหวัง

ในประสบการณ์ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงองค์กรของผม พบว่าอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ ความไม่เท่าเทียม อำนาจกดทับ ทั้งจากตำแหน่งหน้าที่และความรู้ บางครั้งยิ่งเรารู้มากเท่าไร “ความไม่รู้” ก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่งเรามีอำนาจหรือศักดิ์เหนือกว่าคนอื่นเท่าไร เรายิ่งรับรู้ถึงผลกระทบที่ตัวเรามีต่อคนอื่นมากขึ้นตามลำดับ การมีระดับชั้นระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยก็ยิ่งทำให้เป็นเหมือนกับแปลงเพาะเชื้อโรคที่พร้อมจะผลิตเชื้อพันธุ์แห่งความกลัวและการแบ่งแยกให้แพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว จนเกิดภาวะพิกลพิการทั้งทางความคิดและการกระทำโดยรวม ทั้งๆ ที่โดยเนื้อหาสาระแล้ว การให้เกียรติและเคารพกันนั้นเป็นสิ่งที่ดีหากใช้ในทางที่ไม่ขัดแย้งต่ออิสรภาพและเอกลักษณ์ส่วนบุคคล

หลังจากที่ได้พูดคุยกันไปหลายรอบหลายวาระ เมื่อชุมชนของโรงเรียนกล้าเปิดเผยความรู้สึกที่เป็นจริงของตัวเองออกมา และยอมรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ผู้คนก็ดูมีความหวัง บรรยากาศอืมครึมและหวาดระแวงในโรงเรียนเริ่มคลี่คลายลง ผู้คนกลับมากระตือรือล้นในการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันอีกครั้งหนึ่ง การประชุมกลับมามีพลังชีวิตและสีสันของการมีส่วนร่วมอีกครั้งหนึ่ง มีการแบ่งปันแรงบันดาลและความเป็นไปในชีวิตตัวเองแก่กันและกัน

หลังจากที่ทุกคนได้มีโอกาสไปพักในช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา แล้วกลับมาพบกันอีกครั้ง เราได้รับฟังถึงเรื่องราวสั้นๆ ของแต่ละคนในช่วงปิดเทอมที่มีผลต่อพลังชีวิตของพวกเขา รวมทั้งได้รับฟังความรู้สึกและความตั้งใจที่แต่ละคนมีต่อการเปิดเทอมที่จะมาถึง หลายคนบอกว่า คิดถึงเด็กๆ และโรงเรียน อยากกลับมาทำงานอีก บางคนได้เดินทางไกลกลับไปเยี่ยมครอบครัวของตัวเอง และรู้สึกดีที่จะได้กลับมาทำงานต่อร่วมกัน

ประสบการณ์ครั้งนี้ ช่วยให้ผมเรียนรู้ถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของความขัดแย้งที่มีต่อการอยู่ร่วมกันและการเติบโตของชุมชน ทำให้ผมนึกไปถึงโรงเรียนต่างๆ ในสังคมไทยที่คงยังมี “ครู” ที่มีใจจะสอนและนักเรียนที่มีใจจะเรียนอีกเป็นจำนวนมาก ที่อาจได้รับผลกระทบจากความขัดแยังภายในองค์กรจนเกิดความท้อแท้และไร้แรงบันดาลใจในการทำงาน ปัญหาของระบบการศึกษาคงไม่ได้เกิดจากการขาด “ความรู้” แต่อาจจะขาด “ความสัมพันธ์” ที่มีความเข้าใจภายในองค์กรเสียมากกว่า

Back to Top