กันยายน 2015

พลังของการอนุญาต



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กันยายน 2558

เวลาที่คุณไปหาหมอฟันเพื่อกรอฟัน คุณทำอย่างไร? นอนลงเหยียดยาว อยู่ใต้แสงไฟสว่างจ้าที่ยื่นออกมาจากแขนกล โต๊ะทำฟันเหมือนกับหุ่นยนต์แอนดรอยด์ในนิยายวิทยาศาสตร์ คุณกำลังถูกนักวิทยาศาสตร์ชั่วร้ายที่แอบอยู่หลังหน้ากากและชุดอันปกปิด ยื่นอุปกรณ์ที่ทำด้วยเหล็กเข้ามาในปากที่ถูกบังคับให้เปิดอ้าด้วยเครื่องมือกล ปากของคุณถูกอ้าไว้อย่างนั้นในท่าที่ไม่สบาย กรามของถูกจัดวางอยู่ในมุมที่ปกติแล้วจะใช้เมื่อเวลามองเห็นพลุไฟเจิดจ้าบนท้องฟ้ามืดสนิทในคืนวันเฉลิมฉลอง แต่อนิจจา ตาของคุณมันใช้การไม่ได้เสียแล้ว เพราะผ้าบ้าๆ ที่จู่ๆ ก็เอามาวางทับไว้บนหน้าตาของคุณ อย่างช้าๆ เครื่องมือเหล็กนั้นเล่ามันรุกล้ำเข้ามาอย่างไม่ประนีประนอมกับเนื้อเยื่ออันอ่อนนุ่มในปากของคุณ

คุณกำลังถูกล่วงล้ำ...

แต่แล้วคุณทำอย่างไร...ในวินาทีที่เครื่องมือจักรกลทำเสียงดังหวือ และมันกำลังจะกระทบกับฟันซี่ที่ปวดเสียวแม้กระทั่งการกลืนน้ำลายเพียงหยดเดียว...

บางคนสวดมนต์ หรือภาวนาพุทโธ บางคนใช้การนึกถึงสถานที่ผ่อนคลายเช่น การไปเที่ยวทะเล หรือภูเขา พยายามจะนำสิ่งที่นักการละครเรียกว่า Emotion Memory หรือความทรงจำของอารมณ์แห่งความสุขกลับคืนมา บางคนพยายามจะกลับมาที่ลมหายใจแต่พบว่ามันยากเกินไปที่จะสังเกตลมหายใจในท่าที่อ้าปากแบบนั้น น้ำลายของคุณกระเด็นซ่านออกจากปากและโปรยละอองลงบนผ้าผืนที่ใช้ปิดหน้า ปิดตาของคุณ

ทั้งหมดมันยากเกินไป...

เพราะความเจ็บปวดทำงานอย่างต่อเนื่อง จี๊ดตรงนั้นที จี๊ดตรงนี้ที เวลาก็ดูจะผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน คุณพยายามโยกย้ายความเจ็บไปอยู่ที่อื่นโดยจิกเล็บเข้ากับกำมือของคุณ แต่ก็มีเสียงจากมนุษย์ต่างดาวบอกเป็นระยะๆ

อ่านต่อ »

ผู้ก่อการร้ายจะกลับมา หากเรายังไม่เห็นเงาตัวเอง



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กันยายน 2558

เราไม่สามารถกำจัดผู้ก่อการร้ายให้หมดสิ้นไปจากโลกได้ เขาจะกลับมาใหม่ด้วยโฉมหน้าที่เปลี่ยนไป...

เหตุระเบิดหน้าศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เดือนที่ผ่านมา ผมได้ติดตามข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ด้วยความสนใจ เพราะจากนี้ไป เรื่องนี้คงจะเกี่ยวข้องกับชีวิตและความสงบสุขปลอดภัยของคนไทยอย่างเราไม่น้อย เท่าที่ได้ติดตามข่าวจากสื่อต่างๆ ดูแล้ว วิธีการแก้ไขปัญหาและการกอบกู้สถานการณ์ที่ผ่านมาของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ การพยายามค้นหาตัวผู้ก่อการร้ายและผู้บงการเบื้องหลัง ซึ่งดูแล้วเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก ต้องทุ่มเทเวลาและแรงกายแรงใจในการสืบค้นติดตาม และถึงแม้ตอนนี้ก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะหาตัวผู้บงการที่แท้จริงได้หรือไม่ เพราะเรื่องราวเริ่มจะสลับซับซ้อนเกี่ยวโยงกับผู้ก่อการร้ายสากลมากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงกระนั้นก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่เราควรได้กลับมาทบทวน ตรวจสอบกัน ที่ยังไม่ต้องไปไกลถึงกลุ่มก่อการร้ายนอกประเทศ ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจจะมีบางแง่มุมของเรื่องราวนี้ที่เรามองข้ามไป หรือแม้กระทั่งไม่อยากพูดถึง

หลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเรียนอยู่ในหลักสูตรจิตวิทยา The Art of Conflict Facilitation หรือศิลปะในการคลี่คลายความขัดแย้ง กับ อาร์โนล มินเดล (Arnold Mindell) นักจิตวิทยาและกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับการคลี่คลายความขัดแย้งระดับโลกในหลายๆ ประเทศมากว่า ๓๐ ปี โดยใช้วิธีคิดและมุมมองของจิตวิทยากระบวนทัศน์ใหม่ที่เรียกว่า Process Work เพื่อที่จะมองและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นองค์รวม เขาพบว่า เวลาที่หลายประเทศเกิดการก่อการร้าย วิธีการแก้ปัญหาหลัก มักจะมุ่งไปที่การพยายามค้นหากลุ่มผู้ก่อการร้าย จับตัว และกำจัดให้หมดสิ้น ซึ่งวิธีการนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นที่จำเป็นและควรทำอย่างเอาจริงเอาจังและเป็นมืออาชีพ แต่ในวิถีทางของการแก้ปัญหาระยะยาวเชิงป้องกัน (Preventive action) นั้น หลายประเทศได้ละเลย หลงลืมไป ซึ่งเป็นเหตุให้การก่อการร้ายจะมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

อ่านต่อ »

เอ็นจีโอ: ผู้ท้าทายและสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของสังคม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 กันยายน 2558

“เราคือใคร” เป็นคำถามที่มีนัยเชิงปรัชญาที่หลายครั้งมนุษย์ใช้ถามกับตัวเองเพื่อนำไปสู่การคิดใคร่ครวญ ทบทวนชีวิต ซึ่งคำถามนี้มักจะเกิดขึ้นในยามที่มนุษย์เผชิญกับสภาวะที่ไม่แน่นอนหรือกำลังเปลี่ยนผ่าน จึงย้อนไปตรวจสอบความทรงจำและประสบการณ์ชีวิตในอดีต เพื่อนำมากำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคต

จากคำถามที่ปัจเจกใช้ถามตัวเอง “เราคือใคร” ได้กลายเป็นประเด็นคำถามที่ใช้แลกเปลี่ยนกันในวงคุยของเอ็นจีโอและนักกิจกรรมสังคมตัวจริงเสียงจริงหลายรุ่นหลายวัย*ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมรับฟังการสนทนาในครั้งนี้

ความน่าสนใจของกระบวนการคุยคือการนำเส้นเวลา (Timeline) การทำงานขับเคลื่อนสังคมในรอบ 50 ปี มาให้คนในวงคุยใช้ทบทวน โดยจัดทำข้อมูลที่เป็น “หมุด” ทางประวัติศาสตร์ไว้ก่อนที่เส้นเวลา เช่น การเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2504เหตุการณ์ทางการเมือง เช่น 14 ตุลา 2516 ประกอบกับข้อมูลการขับเคลื่อนงานสังคมที่มีการรวบรวมมาส่วนหนึ่ง เช่น การตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2516และที่สำคัญ คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ร่วมสนทนาได้เพิ่มเติมเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำ และที่เกิดจากการสนทนาร่วมกันเข้าไปในเส้นเวลาด้วย

บทบาทของเส้นเวลา (Timeline) จึงไม่ได้เป็นแค่การรวบรวมเรื่องของคนทำงานภาคสังคมในรอบ 50 ปีเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำ และก่อประกอบชิ้นส่วนเรื่องราวนับร้อยนับพันที่อยู่กระจัดกระจายให้เป็นรูปร่างบางอย่าง ซึ่งผู้เขียนสังเกตว่า เป็นตัวตนที่ชัดเจนร่วมกันของพวกเขา นั่นคือการเป็น “ผู้ท้าทายและสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของสังคม”

อ่านต่อ »

“ใช้กรรม” หรือ “ทำดี”?



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กันยายน 2558

“เจี๊ยบ” มีอาชีพที่มั่นคงพอสมควร แต่วันหนึ่งเมื่อพบว่าแม่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เธอได้ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลแม่ ไม่ใช่เพราะเธอเป็นน้องคนสุดท้อง แต่เพราะไม่มีพี่คนใดสามารถปลีกตัวมาดูแลแม่เต็มเวลาเนื่องจากมีครอบครัวกันแล้วทั้งนั้น ปีแรกๆ พี่ๆ ก็ให้เงินช่วยเหลือไม่ขาดมือ ทั้งค่าอาหาร ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจี๊ยบ แต่เมื่อผ่านไปหลายปี เงินช่วยเหลือจากพี่ๆ ก็เริ่มขาดๆ หายๆ ทั้งๆ ที่ฐานะยังดีอยู่ เธอต้องตามทวงครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะได้เงินมา บางครั้งก็ขอไม่ได้ เธอต้องควักเงินเองขณะที่เงินเก็บก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ

ระยะหลังความจำของแม่เลอะเลือนหนักขึ้น แถมช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ จำเป็นต้องมีคนงานมาช่วยเธอ เช่น อุ้มแม่ขึ้นหรือลงจากเตียง รวมทั้งทำงานบ้านแทนเธอ แต่พี่ๆ กลับไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจ้างคนงาน เธอจึงดูแลแม่คนเดียวต่อไปด้วยความยากลำบาก หลังจากดูแลต่อเนื่องนานนับสิบปีจนอายุเลย ๕๐ แล้ว กายก็เหนื่อยล้ามากขึ้น ส่วนใจก็คับข้องและขุ่นเคืองที่พี่ๆ ไม่เห็นใจเธอเลย แถมไม่สนใจแม่ด้วย จะมาหาแม่ก็ต่อเมื่อเป็นวันแม่ กราบแม่เสร็จ พูดคุยกับแม่สักพักก็ไป แล้วหายไปเป็นปี ทิ้งเธอให้อยู่คนเดียวกับแม่ บ่อยครั้งเวลานึกถึงพี่ๆ ที่สุขสบายขณะที่เธอลำบาก เธอก็อดท้อใจไม่ได้ว่าทำไมทำดีจึงต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ แล้วทำไมคนที่ไม่ไยดีแม่เลยจึงมีชีวิตที่สุขสบาย

วันหนึ่งเธอเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนซึ่งเป็นคนสนใจธรรมะ แทนที่เพื่อนจะเห็นใจเธอ กลับบอกว่า ที่เธอเหนื่อยยากทุกวันนี้เป็นเพราะเคยทำกรรมไม่ดีกับแม่ในชาติก่อน ชาตินี้จึงต้องมาใช้กรรม ส่วนพี่ๆ ของเธอนั้นทำกรรมดีในชาติที่แล้ว ชาตินี้จึงสุขสบาย

อ่านต่อ »

Back to Top