2007

ความสุขปีใหม่ ๒๕๕๑

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2550

เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๑ คอลัมน์จิตวิวัฒน์ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านประสบความสุขสวัสดีทั้งในปีนี้ และมากยิ่งๆ ขึ้นในปีต่อไป อะไรที่ไม่ดีในปีที่ผ่านมาก็ขอให้ผ่านไปพร้อมกับกาลเวลา อะไรที่ดีที่ยังไม่มีมาก็ขอให้สิ่งที่ดีๆ เหล่านั้นบังเกิดแก่ท่านในปีใหม่นี้ ถ้ามีอะไรที่ทำให้ขวัญเสียและเศร้าหมอง ก็ให้ขวัญ ศรี และมงคล กลับคืนมาสู่ท่านในปี ๒๕๕๑ โดยทั่วกัน

ความสุขไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง

ความสุขไม่มีขายจริงๆ ที่มีโฆษณาขายกันบ้างก็ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง มักเป็นมายาคติที่จะกลับกลายเป็นความทุกข์ไป แต่ความสุขสร้างได้ การสร้างสุขภาวะเป็นหน้าที่ของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม และโลก

ในคราวนี้จะนำเสนอวิธีบรรลุความสุขแบบง่ายๆ แต่มีความหมายมาก ๔ ประการ คือ

๑. นิพพานอยู่แค่ปลายจมูกตามสูตรอาจารย์พุทธทาส นิพพานคือสภาวะที่สงบเย็น เป็นสภาวะสุขอย่างยิ่ง มีการบรรยายถึงนิพพานแบบฝันเฟื่องว่าไกลสุดเอื้อม ต้องเกิดอีกเป็นแสนๆ ชาติจึงจะไปถึง ท่านอาจารย์พุทธทาสทำให้นิพพานเป็นเรื่องอยู่ใกล้นิดเดียว ใกล้จนท่านว่าอยู่ที่ปลายจมูกนั่นเอง ทุกคนเคยชิมลองกันมาแล้ว เรามีความเห็นแก่ตัวก็จริง แต่เราไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา บางครั้งเราก็ไม่ได้เห็นแก่ตัว ยามใดที่เราไม่เห็นแก่ตัว เราจะรู้สึกเป็นอิสระ เบาสบาย และเป็นสุขอย่างยิ่งนั่นแหละท่านว่าเป็นนิพพานชิมลองที่ทุกคนเคยประสบมาแล้วทั้งสิ้น ลองคิดทบทวนดูถึงเวลาที่ท่านรู้สึกจิตใจเป็นอิสระ เบาสบาย และเป็นสุขอย่างยิ่ง พยายามทำให้ความรู้สึกอย่างนั้นเกิดบ่อยๆ และอยู่นานขึ้นๆ เมื่อท่านทำเสมอๆ ท่านก็จะชำนาญขึ้นเรื่อยๆ และความสุขอันเป็นทิพย์ก็จะเกิดกับท่านบ่อยขึ้นและอยู่นานมากขึ้นเรื่อยๆ

๒. การเข้าถึงความจริงสูงสุด เมื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดจะประสบอิสรภาพ เบาสบาย ประสบความงามอันล้ำลึก และความสุขอย่างประณีตเกินคำบรรยายหรือความสุขอันเป็นทิพย์ ความรู้ที่ยังบีบคั้นทำให้เกิดความอึดอัดขัดข้อง ยังไม่ใช่ความจริงสูงสุด ความจริงสูงสุดต้องเป็นความงาม และความเป็นอิสระ

ในคติที่ถือว่าพระผู้เป็นเจ้าคือสิ่งสูงสุด การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าก็จะให้ความสุขอันลึกซึ้งดังกล่าว ในทางพระพุทธศาสนานิพพาน หรือ สุญญตา คือสิ่งสูงสุด เข้าถึงได้จากการหลุดพ้นจากความยึดมั่นในตัวตน ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่าเอกภพเป็นหนึ่งเดียวกัน ใครเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่งหรือเอกภพ จะคลายจากความยึดมั่นในตัวตนอันคับแคบ ไปเชื่อมกับความเป็นทั้งหมดซึ่งใหญ่สุดประมาณ ทำให้จิตหลุดพ้นจากความคับแคบในตัวตนไปเป็นอิสระ เสวยทิพยสุข อย่างที่มนุษย์อากาศ ชื่อ เอ็ดการ์ มิทเชล เมื่อยืนบนดวงจันทร์ แล้วมองเห็นโลกทั้งใบอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อกลับมายังโลกจิตเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง มีความรักในเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติทั้งหมด มีความสุขอย่างยิ่ง อย่างนี้เรียกว่าเกิดจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) จิตสำนึกใหม่เป็นจิตใหญ่หรือจิตวิวัฒน์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดใหม่ ที่สำนึกรู้ความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง มีความรักอย่างสากลอันไพศาล มีความสุขและต้องการช่วยให้คนอื่นมีความสุข เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและสัมผัสกับธรรมชาติตลอดเวลา เช่น อากาศที่เราหายใจ สายลม แสงแดด น้ำ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ถ้าเราฝึกให้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งจักรวาลหรือทั้งเอกภพ ทำให้เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ว่าเราคือจักรวาล จักรวาลคือเรา หายใจเข้านำจักรวาลเข้ามาสู่ตัวเรา หายใจออกก็ไปเชื่อมโยงกับจักรวาล การเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลจะให้ความรู้สึกเป็นอิสระ และสัมผัสทิพยสุขทำนองเดียวกับการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า

เนื่องจากความจริงสูงสุดกับความงามเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงหรือเป็นหนึ่งเดียวกัน ศิลปะหรือสุนทรียกรรมต่างๆ สามารถหรือควรต้องนำเราเข้าถึงสิ่งสูงสุดเสมอ

เรามีทางเลือกในการเข้าถึงสิ่งสูงสุด จะเป็นทางศาสนาก็ได้ ทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ หรือทางศิลปะก็ได้ หรือจะรวมกันทั้งศาสนา วิทยาศาสตร์ ศิลปะ โลกจึงเติบโตไปด้วยทางเลือกในการเข้าถึงสิ่งสูงสุด ซึ่งจะเข้าถึงได้เฉพาะมนุษยสภาวะ หรือความเป็นมนุษย์เท่านั้น สัตว์และพืชไม่มีธรรมชาตินี้ ฉะนั้นในความเป็นมนุษย์ของเรา เราต้องสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุด และมีความสุขอันล้นเหลือได้

๓. ความสุขจากงานทุกชนิดด้วยปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ งานเป็นหน้าที่ของมนุษย์ และมนุษย์ทุกคนต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างทุกวัน ถ้าเราทำงานไปแล้วทุกข์ไปเราก็จะขาดทุนอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราทำงานทุกชนิดด้วยความสุขเราก็จะกำไรอย่างยิ่ง เราสามารถทำให้การทำงานทุกชนิดเป็นความสุขได้ โดยไม่ยากนัก ถ้าเราเข้าใจและฝึกไว้ทุกวันๆ

ความทุกข์เกิดจากการคิด

เช่น ล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม เราไม่ชอบ อยากให้พ้นไปจากสภาวะเช่นนั้น หรือโกรธคนที่ทำให้เราต้องล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม ที่จริง การล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม ไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ แต่ความรู้สึกไม่ชอบและความคิดปรุงแต่งจากความรู้สึกเป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์

ถ้าเราล้างชาม กวาดบ้าน ล้างส้วม อย่างมีสติ คือรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับปัจจุบันของการเคลื่อนไหวและอิริยาบถของร่างกาย และสิ่งสัมผัส เช่น ชาม น้ำ ขยะ ส้วม การรู้ปัจจุบันจะทำให้ความคิดปรุงแต่งสงบไป จิตที่สงบจากความคิดปรุงแต่งมีความสุขอย่างยิ่ง ถ้าเราฝึกการเจริญสติไว้เรื่อยๆ และมีสติในการงานทุกอย่างที่ทำจะพบความสุขในงานนั้นๆ ทุกอย่างไป การทำงานจะไม่เป็นความทุกข์ทรมานอีกต่อไป แต่จะเป็นความสุขอย่างมหัศจรรย์

ที่มหาวิทยาลัยแมสสาชูเสต เมืองบอสตัน มีหมอคนหนึ่งเปิดสอนการเจริญสติแบบพุทธ (Buddhist Mindfulness Meditation) ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนเรียนถึง ๘๗,๐๐๐ คน เพราะผู้คนได้ค้นพบมากขึ้นทุกทีว่า การเจริญสติทำให้ชีวิตดีขึ้นหมดทุกด้าน ทั้งสติปัญญา การงาน ความสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์ และความสุขอันประณีต หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เขียนหนังสือชื่อ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ตื่น ท่านหมายถึงการมีสติตื่นรู้ พระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกการเจริญสติซึ่งทรงค้นพบว่าเป็น “ทางอันเอก” หรือเอกะมัคโค

ตามปรกติ มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้เพราะถูกมายาคติจากความรู้สึกและความคิดจองจำไว้ ต่อเมื่อมีสติจิตเป็นกลางจึงสัมผัสความจริงได้ ฉะนั้นแม้การเข้าถึงความจริงสูงสุดตามที่กล่าวถึงในข้อ ๒ ข้างต้น ก็มีสติเป็นเครื่องช่วยอย่างวิเศษ ผู้ที่เจริญสติและเกิดปาฏิหาริย์แห่งความสุขจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งทีแล้วไม่ได้พบการเจริญสติจะน่าเสียดายมาก” ขอเชิญชวนทุกท่านพบความมหัศจรรย์จากจากเจริญสติ

๔. ความสุขตามสูตร “ระพี - เสน่ห์ - ประเวศ” หรือ INN ท่านอาจารย์ระพี สาคริก สอนว่า คนเราควรจะทำอะไรก็ได้ที่ชอบ แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน การได้ทำอะไรที่ชอบจะทำให้มีความสุข ทำได้ทนและนาน นั่นคือวิริยะ วิริยะทำให้เกิดความสุข เมื่อเราชอบในสิ่งนั้นๆ พยายามทำให้ประณีต ความประณีตจะเป็นความงามหรือศิลปะมาพัฒนาจิตใจของเราให้สูงขึ้น งานทุกชนิดเมื่อทำด้วยความชอบ ความสุข และความประณีต จะเกิดความงาม ศิลปะจึงสามารถอยู่ในงานทุกชนิดได้ ท่านอาจารย์ระพี แถมท้ายว่า “จากจุดที่เราชอบ เมื่อค้นคว้าให้ลึกขึ้นๆ แล้วมันก็จะไปเจอกันเอง” หมายความว่า แม้เราเริ่มต้นที่จุดที่ต่างกัน เหมือนเริ่มที่ หู หาง ขา หรือลำตัวของช้าง เมื่อคลำไปๆ มันก็ไปเจอกันเองเพราะมันเป็นช้างตัวเดียวกัน ทำนองเดียวกับการเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งที่กล่าวถึงในข้อ ๒ นั่นแหละครับ

ท่านอาจารย์เสน่ห์ จามริก สอนว่า จิตสำนึกแห่งศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ การสำนึกถึงศักดิ์และสิทธิแห่งการเป็นมนุษย์เป็นสุขภาวะ มนุษย์ถูกมายาคติต่างๆ ครอบงำจนเสมือนติดอยู่ในคุกที่มองไม่เห็น (The Invisible Prison) ไร้อิสรภาพ ไร้ศักยภาพ ไร้ศักดิ์ศรี ไร้สิทธิ จมอยู่ในความบีบคั้นหรือความทุกข์ที่สลัดไม่ออกด้วยเทคนิค เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ต่อเมื่อใดเกิดสำนึกแห่งมนุษยสภาวะของเราเอง ว่าเรามีศักดิ์ศรี คุณค่า ศักยภาพ สิทธิ ตามธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ของเรา จะเกิดสุขสภาวะอย่างล้ำลึก และเปิดศักยภาพมหาศาลในฐานะมนุษย์ที่มีอิสรภาพ หลุดพ้นจากมายาคติด้วยประการต่างๆ

มนุษย์แต่ละคน (Individual) มีค่ามากเหลือเกิน เมื่อสำนึกถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตัวเอง แล้วทำอะไรดีๆ ตามที่ตนถนัดหรือชอบตามนัยที่ท่านอาจารย์ระพีกล่าว ก็จะมีความสุขและความสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

คนที่ชอบอะไรๆ เหมือนกันรวมตัวกันเป็นกลุ่ม (Nodes) อาจจะกลุ่มละ ๕-๖ คน หรือ ๗-๘ คน สุดแต่ความเหมาะสม พบกันบ่อย พูดคุยและทำในสิ่งที่ตนชอบร่วมกัน จะเป็นกีฬา ดนตรี ต้นไม้ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา ธรรมะ ชุมชน การเป็นอาสาสมัคร ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าการพูดคุยเป็นสุนทรียสนทนาที่เน้นการฟังอย่างลึกโดยไม่ด่วนตัดสิน การมีกลุ่มที่รวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันแบบนี้ บางทีเขาเรียกว่ามีความเป็นชุมชน กลุ่มแบบนี้มีใจนำความรู้ตาม ไม่ใช่ความรู้นำแล้วเกิดความยโสโอหังยกหูชูหาง ทำให้เกิดความแตกร้าว เมื่อความเป็นกลุ่มหรือความเป็นชุมชนที่มีใจนำความรู้ตามเกิดขึ้นอย่างแท้จริง สมาชิกของกลุ่มจะเกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน หากมีกลุ่มอันหลากหลายเต็มสังคม สังคมจะเต็มไปด้วยความสุข และความสร้างสรรค์อย่างมหาศาล

คนแต่ละคนและกลุ่มแต่ละกลุ่ม ควรเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย (Networks) กับคนอื่นและกลุ่มอื่นตามความสมัครใจ แต่ละคนแต่ละกลุ่มอาจเป็นสมาชิกของหลายกลุ่มและหลายเครือข่าย ทั้งหมดจะเชื่อมโยงกันเป็นโครงสร้าง INN หรือ บุคคล (Individual) กลุ่ม (Nodes) เครือข่าย (Networks) เป็นโครงสร้างแห่งความหลุดพ้น ที่ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเครือข่าย ต่างมีอิสรภาพ มีศักยภาพ ที่จะเรียนรู้ รัก และร่วมกันทำอะไรดีๆ ทำให้ทั้งสังคมเต็มไปด้วยความสุขและความสร้างสรรค์

สังคมที่ติดขัดบีบคั้นอยู่ทุกวันนี้ เพราะมีโครงสร้างเป็นแท่งอำนาจ ทั้งทางการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา ดังในรูป (ก) ในโครงสร้าง



แบบนี้มีความบีบคั้นมาก มีความรัก และการเรียนรู้น้อย ทำอะไรให้สำเร็จได้ยาก โครงสร้าง INN ตามรูป (ข) เป็นโครงสร้างที่ทุกคนทุกกลุ่มเป็นอิสระ ทำด้วยใจรัก มีการเรียนรู้สูง จึงเรียกว่าเป็นโครงสร้างแห่งความหลุดพ้น ที่ทุกคนสามารถลงมือทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอขออนุมัติจากใคร

โดยสรุป เรื่องความสุขที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ใน ๓ ระดับ คือ

  • การเปลี่ยนขั้นพื้นฐานระดับบุคคล (Personal Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานระดับองค์กร (Organizational Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานระดับสังคม (Social Transformation)


ลองพิจารณาดูลึกๆ เถิดครับ แล้วจะเข้าใจว่าตัวท่านเองมีศักยภาพที่จะสร้างความสุขแท้ที่ลึกซึ้ง
ยาวนาน พร้อมๆ ไปกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานขององค์กรและสังคมอันจะเป็นปัจจัยย้อนกลับให้เกิดสุขภาวสำหรับคนทั้งมวล (Happiness For All)

ขอให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นปีเริ่มต้นแห่งความสุขของท่านแต่ละคน และของคนทั้งมวล

ซักซ้อมในจินตนาการ จิตวิวัฒน์กับสมองส่วนหน้า

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2550

ปัจจุบันนี้ งานวิจัยเรื่องสมองได้พัฒนาไปมาก เร็วๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง Evolve Your Brain: The Science of Changing Your Mind ของ โจ ดิสเปนซ่า (Joe Dispenza) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ที่อยู่ในทีมผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง What the Bleep do We Know!? ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ และในขณะนี้ พวกเราในเครือข่ายจิตวิวัฒน์กำลังแปลหนังสือชื่อเดียวกันนี้ ที่อธิบายเรื่องราวในภาพยนตร์อย่างละเอียดออกมา เพื่อเป็นเกียรติให้กับคนไทยผู้หนึ่งที่นำความรู้วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่เข้ามาในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นจริงเป็นจังที่สุดท่านหนึ่ง และยังเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ประเทศไทยด้วย คือ คุณหมอประสาน ต่างใจ หลายคนที่อยู่ในทีมแปลนี้ นับถือท่านเป็นพ่อทางจิตวิญญาณ และผมเองก็ถือว่าเป็นลูกเขยของท่าน เพราะคนใกล้ชิดของผมคือลูกสาวทางจิตวิญญาณคนหนึ่งของท่าน
เรื่องการซักซ้อมทางจินตนาการ (Mental Rehearsal) นี้ อยู่ในบทที่สิบเอ็ดและสิบสองของหนังสือ Evolve Your Brain เป็นเรื่องราวการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ถูกคลี่คลายความรู้ความเข้าใจมาตามลำดับ สมองส่วนหน้านี้เป็นวิวัฒนาการชั้นหลังสุดของสมองมนุษย์ แม้จะมีอยู่ในลิงด้วย แต่มีพัฒนาการสูงสุดในมนุษย์ ซึ่งมีดีเอ็นเอต่างจากลิงเพียงสองเปอร์เซนต์เท่านั้น
สมองส่วนหน้าจะเติบโตสมบูรณ์เมื่อเราอายุครบบวช คือ ๒๐ ปี โดยที่ตั้งของมันคือ ตาที่สาม ซึ่งเมื่อเปิดออก สติปัญญาของมนุษย์จึงจะสมบูรณ์ การคิดด้วยสมองส่วนหน้าจึงต่างจากการคิดด้วยสมองซีกซ้ายที่เรารู้จักกันดี และให้ความสำคัญมานาน นั่นคือการคิดในกระบวนการของเหตุผล หรือการคิดแบบเรขาคณิตของเพลโต้ อุดมคติของเพลโต้คงอยากจะให้โลกลงตัวดุจเดียวกับที่เทวดาทำเรขาคณิตกันเป็นงานอดิเรกบนสวรรค์ แต่ปัญญาปฏิบัติกำลังจะกลับมาพร้อมวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ และการค้นพบบทบาทที่ชัดเจนขึ้นของสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) แนวปรัชญาแบบอริสโตเติล และวิทยาศาสตร์ของเกอเธ่ จะกลับมาเด่นเป็นสง่าอีกครั้งหนึ่ง อย่างแน่นอน

สมองส่วนหน้าเติบโตหลังสุด ช้าสุด เพราะได้เชื่อมโยงสมองส่วนต่างๆ ชั้นต่างๆ (สมองมีสามชั้น คือ สมองสัตว์เลื้อยคลาน สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสมองมนุษย์หรือลิงชั้นสูง) เข้าด้วยกัน ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการ เหมือนวาทยกรผู้กำกับวงออเครสต้าอย่างไรอย่างนั้น

โจ ดิสเปนซ่า และ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ พูดไว้เหมือนกันว่า เวลาสมองส่วนหน้าทำงาน มันจะตัดขาดออกจาก การบัญชาการของสมองส่วนล่างๆ คือ อารมณ์ความรู้สึก และร่างกาย หรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน สมองส่วนล่างทั้งสองนี้ ออกจะเป็นทรราช เมื่อเราปล่อยตัวปล่อยใจไปกับชีวิต และไม่ได้กุมบังเหียนชีวิตด้วยสมองส่วนหน้า ความเป็นทรราชของสมองชั้นกลางและชั้นล่างหรือชั้นในสุดนั้น น่าสนใจมาก และคงจะต้องเขียนเป็นอีกหนึ่งบทความต่างหากออกไป โจ ดิสเปนซ่า ได้ถอดรหัสการเสพติดทั้งหลายของมนุษย์ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และในทางกลับกัน สมองส่วนหน้านี่เองจะเป็นตัวถอดสลักการเสพติดทั้งหลายในชีวิตมนุษย์ ให้หลุดออกมาจากการย้ำทำย้ำคิดได้ ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า ‘การซักซ้อมในจินตนาการ’

เดวิด เดวิดสัน แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาสมองกับเรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึก อีกทั้งยังทำงานใกล้ชิดกับสมเด็จองค์ทะไลลามะ ได้ค้นพบว่า สมองส่วนหน้ากับอมิกดาลา ทำงานอย่างเป็นปฏิภาคกัน แปลความว่า เมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน อมิกดาลาจะหยุดทำงาน และเมื่ออมิกดาลาทำงาน สมองส่วนหน้าก็จะหยุดทำงาน

อมิกดาลาคือการทำงานของอารมณ์ลบที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นอัตโนมัติ คือมันจะทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ เขียนไว้ว่า เวลาเราเข้าสู่ความตื่นตระหนก ความกลัว หรืออาการปกป้องตนเอง เราจะถูกล็อคโดยสมองส่วนล่างคือ ความกลัวของสมองชั้นต้น อารมณ์ลบของอมิกดาลา และความฉลาดอย่างขี้โกงของสมองซีกซ้ายแบบแคบๆ (คือไม่มองให้รอบด้าน แต่จะคิดเห็นเฉพาะประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น หรือ คือ I in Me ในทฤษฏีตัวยู ของ ออตโต ชาร์มเมอร์ – หนึ่งในคณะองค์กรแห่งการเรียนรู้ของ ปีเตอร์ เซงเก)

ในทางกลับกัน เมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน อมิกดาลาก็จะหยุดการทำงานในวงจรลบๆ ที่เป็นอัตโนมัติของตัวเอง

เพื่อเพิ่มเติมประโยชน์ในการปฏิบัติได้ให้แก่บทความนี้ที่จำกัดด้วยความสั้น เนื่องจากเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ (เดี๋ยวนี้เวลาเขียนหนังสือ ผมจะเขียนเป็นเล่มไปเลย หรือไม่ก็เขียนเป็นบทความยาวๆ ไม่ค่อยได้เขียนเป็นบทความสั้นๆ อีกแล้ว) ผมอยากพูดถึง สี่ขั้นตอนของการซักซ้อมทางจินตนาการเพื่อก่อประสบการณ์ใหม่ พฤติกรรมใหม่ หรือการสร้างโลกใบใหม่ให้กับตัวเอง สี่ขั้นตอนนี้คือ

หนึ่ง Unconsciously unskilled คือ บรรดาวงจรอัตโนมัติทั้งหลายที่เรามีอยู่ สังเกตให้ดี เราจะพบว่า เราทำงานด้วยความเป็นอัตโนมัติ ระหว่างความคิด อารมณ์ความรู้สึก และร่างกายของเรา ทั้งหมดจะทำ คิด รู้สึกไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ครึ่งหลับครึ่งตื่น เราไม่ได้ตื่นเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ ในการปฏิบัติธรรมจึงพยายามทำให้เราตื่นขึ้นมาก่อน ขั้นตอนนี้ ผมสรุปเป็นภาษาไทยว่า “ไม่รู้ตัวว่า ไม่รู้”

ขั้นตอนที่สอง Consciously unskilled ‘เราเริ่มรู้ตัวว่า เราไม่รู้’ คือเริ่มเห็นข้อจำกัดของตัวเอง เมื่อเราเปลี่ยนผ่านจากความหลับใหลไปสู่ความตื่นรู้ เราจะเริ่มตระหนักและมองเห็นข้อจำกัดของตัวเอง

ขั้นตอนที่สาม Consciously skilled เป็นขั้นตอนการฝึกฝน เป็นการซักซ้อมทางจินตนาการพร้อมๆ ไปกับการปฏิบัติจริงในสนามจริง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น การฝึกเล่นสกี การเล่นเปียโน หรือเปลี่ยนวงสวิงกอล์ฟ หรือฝึกการตื่นรู้เพื่อออกจากพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ก็ตาม จะต้องตื่นรู้ในทุกขณะจิต เพื่อตระหนักและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สร้างวงจรสมองอย่างใหม่ขึ้นมา เกอเธ่กล่าวว่า มันเป็นการสร้างอวัยวะแห่งการรับรู้ใหม่ขึ้นมาเพื่อจะเรียนรู้เรื่องใหม่ มิฉะนั้น เราไม่อาจจะเข้าใจเข้าถึงเรื่องใหม่ที่ว่านั้นได้

ขั้นตอนที่สี่ Unconsciously skilled เมื่อฝึกฝนตามขั้นตอนที่สามไปเรื่อยๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ และตื่นรู้ รู้ตัวตลอด จิตตื่นโพลง ทำซ้ำๆๆๆ จนกระทั่งมันค่อยๆ ประสาน ความคิด อารมณ์ และร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่างกายเริ่มจดจำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ จนกระทั่งเราทำสิ่งนั้นได้โดยไม่ต้องคิด อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนเกียร์รถแบบแมนนวลได้โดยที่เราไม่ต้องคิดเลย เป็นธรรมชาติ หรือเล่นสกีได้อย่างไม่ต้องคิดเลย มีจิตตื่นรู้อย่างไม่ต้องคิดเลย เหมือนกับที่ ไดเซตซ์ ไตตาโร สุซุกิ (Daisetz Teitaro Suzuki) ใช้คำว่า Unconsciously conscious หรือ Consciously unconscious ในขั้นตอนนี้ เราจะเริ่มปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา

แต่เขียนมาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าถ้าจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง อาจจะต้องเขียนลงอีกสักสามสี่ตอนกระมัง? แต่อย่างไรเสีย ของดีๆ ก็น่าจะให้ได้ชิมลองกันเสียก่อนจะดีกว่าไม่ได้สัมผัสเสียเลย

ประสาทเทววิทยา (Neurotheology)

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2550

เท่าที่สังเกต ผู้เขียนรู้สึกว่าสาธารณชนคนทั่วไปส่วนใหญ่ในบ้านเรา เพิ่งจะรู้และตระหนักในเรื่องของโลกร้อน “อย่างแท้จริง” เมื่อเพียงไม่นานมานี้เอง มิหนำซ้ำจากการสำรวจโพลล์เมื่อไม่กี่วันก่อนยังพบว่า คนไทยร่วมครึ่งหนึ่งเชื่อว่าสภาพโลกร้อนเกิดจากธรรมชาติของลมฟ้าอากาศที่เป็นไปเอง แม้ว่าอีกครึ่งหนึ่งจะเชื่อว่าเกิดจากฝีมือของมนุษย์กับการพัฒนา กระนั้นผลพวงของความคิดเห็นหรือความเชื่อของประชาชนในกลุ่มแรก ย่อมชี้บ่งความเป็นประชาธิปไตยที่เราส่วนใหญ่คิดว่าถูกต้องชอบธรรม และมองทุกสิ่งออกไปข้างนอก จึงเห็นธรรมชาติประหนึ่งมีความเสถียรและคงที่ตลอดเวลา พูดง่ายๆ คือประชาชนคนไทยดูเหมือนจะเชื่อประวัติศาสตร์กับประสบการณ์อันเป็นสามัญสำนึกของตัวเอง เท่าๆ กับเชื่อในวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคน (มากกว่า ๒,๕๐๐ คนจาก ๑๒๒ ประเทศ ของคณะทำงานติดตามสภาพอากาศไอพีซีซี (IPCC: Intergovernmental Panel on Climate Change) ขององค์การสหประชาชาติที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้เช่นนั้น

นั่นคือตัวอย่างหรือเหตุผลที่ชี้ว่า - ในความเห็นส่วนตัว - คนไทยอย่างน้อยราวๆ ครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่คนส่วนใหญ่ของโลกรู้ เราส่วนหนึ่งจึงยังไม่ตื่นและเปลี่ยนแปลง ซึ่งเมื่อเวลานั้น - เมื่อภัยธรรมชาตินานัปการ – มาถึง เราจึงอาจตื่นตระหนกหรือแม้แต่จะคิดปรับตัวเองไม่ทัน ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

หลายคนในกลุ่มจิตวิวัฒน์เชื่อว่าสังคมโลกจำต้องและกำลังเปลี่ยนแปลงเช่นในอดีตที่เคยเปลี่ยน - อย่างถอนรากถอนโคน - จากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม ตอนนี้เรากำลังจะเปลี่ยนอีก แต่ครั้งนี้กระบวนทัศน์ใหม่จะเป็นกระบวนทัศน์ทางจิต ดังที่นักวิทยาศาสตร์ทางจิตทุกคนพูดไว้เหมือนๆ กัน เพราะมีแต่การเปลี่ยนแปลงทางจิตเท่านั้นที่จะช่วยชาวโลกให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติได้ และขณะนี้โลกตะวันตกก็กำลังเคลื่อนไปในทางนั้นมากขึ้นทุกๆ วัน ดังเรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ซึ่งหลายๆ คนคงไม่อยากจะเชื่อ แต่จะเชื่อหรือไม่ ให้ไปถามกันเอาเอง เพราะทั้งหมดนี้ผู้เขียนได้มาจากรายงานของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางจิตในปีนี้เอง (The 2007 Report: Evidence of a World Transforming)

ปัจจุบันนี้ เรามีวิทยาศาสตร์สาขาใหม่ที่แยกออกมาจากงานวิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ศึกษาประสบการณ์จากการปฏิบัติธรรมปฏิบัติศาสนา ชื่อ “ประสาทเทววิทยา“ อันเป็นคำสมาสของคำว่า “ประสาทส่วนกลาง” โดยเฉพาะสมอง กับคำว่า “เทววิทยา หรือศาสนศาสตร์” ซึ่งแน่ใจว่าประเทศไทยยังไม่มี วิชาดังกล่าวใช้วิธีการของประสาทวิทยาศาสตร์ในการศึกษาวิจัยเรื่องราวใดๆ ที่เกี่ยวกับสภาวะจิตของผู้ทำสมาธิ และกำลังมีประสบการณ์ที่ผู้เขียนเรียกว่า “ความรู้เร้นลับ” (Mysticism) หรือที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า “นิพพานชิมลอง” หรือภังคะ หรือซาโตริในญี่ปุ่น ซึ่งสำหรับศาสนาที่มีพระเจ้า เช่น คริสต์ศาสนา จะเรียกว่า “ประสบการณ์พระเจ้า” (God experiences or GE) และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เช่น การศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของสมอง (EEG) การศึกษาปริมาณการไหลเวียนของเลือดที่ไปสมอง โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านแควนตัมฟิสิกส์ จากการสร้างภาพเหมือน (Imaging) ของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะสมอง เช่น สเป็คต์ หรือ เพ็ตแสกน (SPECT or PET scan) ทำให้นักประสาทวิทยศาสตร์สามารถพิสูจน์เรื่องของสภาวะจิตซึ่งเป็นประสบการณ์ภายใน (Subjective) ซึ่งเกิดขึ้นที่สมองหรือกับสมอง ให้เป็นเรื่องภายนอก (Objective) ที่เราอาจรับรู้ได้ - อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง - พอที่จะทำให้เข้าใจเรื่องของจิตและจิตวิญญาณในเชิงวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น แม้ว่าจะยังห่างไกลจากการรับรู้ความจริงแท้ หรือรู้เรื่องจิตวิญญาณสูงสุด หรือพระจิตของพระเจ้าอีกมาก ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่านักวิทยาศาสตร์คงจะไม่มีทางหาจิตได้พบอย่างเป็นรูปธรรม สามารถมองเห็น ชี้วัด สัมผัสจิตหรือจิตวิญญาณได้ ไม่ว่าเมื่อใดและอย่างไร

ความจริงก็คือ ทั้งเรื่องของจิต (Consciousness) และจิตวิญญาณ (Spirituality) กับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษยชาติมาตั้งแต่เมื่อมีมนุษย์คนแรกเกิดขึ้นมาในโลกจนปัจจุบันรวมถึงในอนาคต ตราบเท่าที่โลกยังคงมีมนุษย์อยู่ ที่กล่าวมานั้นยิ่งเป็นความจริงมากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเรื่องของจิตวิญญาณและพระเจ้าที่เคยถูกปฏิเสธจากวิทยาศาสตร์มานานนับร้อยๆ ปี กลับได้รับการสนับสนุนโดย หลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ใหม่อย่างแทบไม่มีข้อสงสัย โดยเฉพาะฟิสิกส์ใหม่ และจักรวาลวิทยาใหม่ หรือจักรวาลแควนตัม ทำให้ความเป็นไปได้ของการดำรงอยู่ของจิตวิญญาณสูงสุด - ที่เรียกหาต่างกันไปในศาสนาต่างๆ - มีความเป็นไปได้มากขึ้น ทั้งที่ในช่วงเวลาหนึ่งเข้าใจว่าเป็นเรื่องของความงมงาย

ประสบการณ์พระเจ้านั้น กระทรวงสาธารณสุขของอเมริกา (NIH) บอกว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก เพราะจากการสำรวจพบว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันจำนวนถึงหนึ่งในสามเคยมีประสบการณ์ที่ว่านั้น เอ็นไอเอชได้นิยามคำว่าประสบการณ์พระเจ้าไว้กว้างๆ ว่า ประหนึ่งเป็นสภาวะจิตที่เปลี่ยนไปจนทำให้ผู้มีประสบการณ์ดังกล่าวรู้สึกว่าตัวเองเกิดความปีติสุขขึ้นมาอย่างกะทันหัน เสมือนว่าได้สัมผัสกับพระเจ้า เทพ เทวดาในระหว่างการทำสมาธิ สวดมนต์ โยคะ หรือการร่ายรำของซูฟิสม์ รวมทั้งการออกกำลังด้วยการหายใจแรงๆ หรือใช้ยา ฯลฯ ที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงที่สมองของผู้ที่มีความรู้สึกหรือผู้มีประสบการณ์พระเจ้านั้น มีส่วนในการก่อให้เกิดความเครียดได้เหมือนกัน พูดง่ายๆ ก็คือ การมีสมองส่วนหน้าและส่วนขมับ (Enlarged frontal and temporal lobes) โตกว่าปกติดังที่พบในคนบางคน มีส่วนสำคัญต่อการเกิดขึ้นของทั้งสองกรณี คือ ให้ประสบการณ์พระเจ้าก็ได้ หรืออาจก่อความเครียดให้กับผู้ที่มีสมองเช่นนั้นได้เท่าๆ กัน

ในวารสารประสาทวิทยาศาสตร์ นายแพทย์แอนดรูว์ นิวเบิร์ก และสหาย จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ใช้การแสกน (SPECT scan) สร้างภาพเสมือนจริงของสมองเพื่อศึกษากลุ่มพุทธบริษัทชาวทิเบตในขณะทำสมาธิ และกลุ่มแม่ชีนิกายฟรานซิสกันระหว่างการสวดมนต์อย่างลึก (Andrew Newberg, et al: “Cerebral Blood Flow During Meditative Prayer”; Perceptual and Motor Skills, 97 Oct. 2003) ภาพแสกนได้แสดงให้ว่ามีการทำงานเพิ่มขึ้นของสมองที่บริเวณก่อนสมองส่วนหน้า (Pre-frontal lobe) ทั้งสองข้าง ซึ่งเข้ากันได้กับความตั้งใจทำจิตให้แน่วแน่ แต่ขณะเดียวกัน กลีบพาไรอีตัล (Parietal lobe) ที่อยู่ถัดขึ้นไปจากสมองส่วนหน้าจะลดทำงานลงกว่าปกติ กลีบพาไรอีตัลนั้น เชื่อกันว่าทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับที่ว่างและเวลา และการปรับที่อยู่ของเราเข้ากับที่ว่างและเวลา โดยกลีบพาไรอีตัลข้างซ้ายมีหน้าที่รับรู้ความรู้สึกของร่างกายว่า ตั้งต้นและจบลงที่ไหน การที่กลีบพาไรอีตัลข้างซ้ายลดการทำงานลงจะสอดคล้องกับความรู้สึกที่มีการกล่าวไว้ในพุทธศาสนา ถึงความไม่มีที่สิ้นสุดของรูปกายที่เชื่อมโยงอย่างแยกจากกันไม่ได้กับทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล ส่วนพาไรอีตัลข้างขวามีหน้าที่บอกให้รู้ว่าเรากับที่ว่างสัมพันธ์กันอย่างไร และการที่พาไรอีตัลข้างขวาลดทำงานลงทำให้เรารับรู้ว่าที่ว่างอวกาศนั้นกว้างใหญ่ไพศาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การศึกษาคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของผู้ปฏิบัติสมาธิ - โดย ไมเคิล เพอร์ซิงเกอร์ (Michael Persinger) จิตแพทย์ชาวดัทช์ แห่งมหาวิทยาลัยลอเรนเชียล แคนาดา (Laurentian University) - จนถึงระดับสภาวะจิตมีความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล (Cosmic bliss) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับประสบการณ์พระเจ้าที่กล่าวมาแล้ว พบการเปลี่ยนแปลงคลื่นสมองแบบเดียวกับที่ได้จากโรคลมบ้าหมูชักเกิดขึ้นเฉพาะที่กลีบขมับของสมอง (Temporal lobe epilepsy) โดยผู้ที่กำลังมีประสบการณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลในขณะนั้น ไม่มีอาการชักหรือมีกล้ามเนื้อกระตุกเลย ซึ่งเมื่อเพอร์ซิงเกอร์ใช้แท่งแม่เหล็กที่มีโวลเตจต่ำแนบกับบริเวณขมับของผู้ที่อยู่ในสมาธิก็พบว่า ผู้นั้นมีประสบการณ์เร้นลับ (mystical experiences) โดยเฉพาะกับผู้ที่เคยทำสมาธิและเคยมีสภาวะจิตหรือประสบการณ์เช่นนั้นมาก่อน

ดีน แฮมเมอร์ (Dean Hammer) แห่งหน่วยวิจัยยีน สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พยายามค้นหายีนที่บริหาร หรือให้สภาวะจิตวิญญาณ หรือยีนพระเจ้า (Spirituality gene or God gene) เขาพบว่า วีเอ็มเอที-๒ (Vesicular monoamine transporter 2) - ที่มีหน้าที่ขนส่งเอ็นไซม์ซีโรโตนิน โดปามีน กับนอร์แอดรินาลีน คือ สารเคมีที่สำคัญตัวหนึ่งในจำนวนสามตัว (วีเอ็มเอที-๒ กับอีกสองตัวที่ทำหน้าที่ขนส่งเอ็นไซม์หรือฮอร์โมนของสมอง - จากจำนวนสารที่เรารู้แล้วกว่า ๑๐๐ ตัว) ซึ่งสามตัวที่ว่านี้คือ สารเคมีที่ทำหน้าที่ประหนึ่งยีนแห่งจิตวิญญาณ หรือยีนพระเจ้า ที่น่าสนใจคือ สารเคมีทั้งสามตัวดังกล่าว พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับจิตอารมณ์คล้ายๆ กับคนเสพยาบางชนิด เช่น โคเคน กัญชา รวมทั้งยาแอลเอสดี หรือให้อาการคล้ายโรคจิตบางชนิด หรือให้อาการคล้ายยาที่ใช้รักษาโรคจิต เพราะฉะนั้น คนที่ใช้ยาเสพติดหรือคนที่กำลังจะเปลี่ยนสภาวะจิตสู่ระดับจิตวิญญาณจึงสามารถเปลี่ยนแปลงระดับจิตให้สูงขึ้นไปก็ได้ ในขณะที่บางคนอาจเป็นโรคจิตจริงๆ ก็ได้

ทุกวันนี้ มีนักวิจัยทางด้านประสาทเทววิทยาหรือประสาทศาสนศาสตร์ที่ได้พยายามตรวจวัดสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์เร้นลับ หรือพฤติกรรมเหนือธรรมชาติ เช่น การถอดจิต หรือมีปฏิกิริยากับสิ่งเหนือธรรมชาติอื่นๆ เช่น กับผู้ที่ได้ตายไปแล้ว

ริค สตรัสแมน (Rick Strassman: Human psychopharmacology of N,N-dimethyltryptamine; Behavioral Brain Research, 73, Dec. 1995) ได้วิจัยหาค่าของสารเคมีไดเม็ททิลทริปตามีน (DMT) ที่เป็น สารชนิดเดียวกับที่มีอยู่ในพืชอายาฮูอัสก้า (Ayahuasca) ที่คนทรงชาวอินเดียนแดงแถบลุ่มน้ำอเมซอนใช้ก่อนมีความสามารถเหนือธรรมชาติหรือประสบการณ์เร้นลับ หมอสตรัสแมนพบว่า ในบางกรณี สารเคมีดีเอ็มทีจะถูกผลิตออกมาจากต่อมไพเนียล และมีความสัมพันธ์กับสภาวะเหนือธรรมชาติ หรือประสบการณ์ความรู้เร้นลับที่กล่าวมานั้น

การวิจัยประสาทเทววิทยาได้สร้างคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาหลายๆ คำถาม ยกตัวอย่าง สเป็คต์แสกน สามารถให้คำตอบที่แม่นยำสม่ำเสมอสอดคล้องกับหน้าที่และการทำงานของส่วนต่างๆ ของสมอง เหมือนกับว่าเวลานี้เรามีเครื่องมือชี้วัดหรือประเมินผลการทำงานของจิต และประสบการณ์ภายในของผู้ทำสมาธิอย่างล้ำลึกได้ อย่างไรก็ดี การพบคำตอบเช่นนั้นก็ยังอธิบายความจริงแท้ นิพพาน เต๋า หรือจิตวิญญาณสูงสุด หรือพระเจ้าได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เพราะเราไม่สามารถตอบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่สมองนั้น เป็นผลของการรับรู้ภายในของผู้ทำสมาธินั้นๆ หรือว่าสมองทำของมันเอง? พูดง่ายๆ คือ มีผู้ใดอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ที่ให้การรับรู้ที่ว่านั้นแก่เรา? หรือทั้งหมดเป็นผลของกระบวนการจัดองค์กรตนเองของสมอง? หรือว่าตอบคำถามที่ว่าจิตอยู่ที่ไหน? นอกสมองหรือในสมอง? จิตวิญญาณสูงสุดหรือพระเจ้ามีจริงหรือไม่? ดังนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่า เราและวิทยาศาสตร์จะพิสูจน์ประสบการณ์ภายในได้ทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรม อย่างดีที่เราสามารถตอบได้ก็ด้วยการใช้เมตาฟิสิกส์ไปต่อยอดบนฟิสิกส์ใหม่ (ที่รวมแควนตัมเมคานิกส์ และทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์) ใช้ปัญญาหรือปรัชญามาต่อยอดบนวิทยาศาสตร์ใหม่อีกที นั่นคือจริงๆ แล้ว ประสบการณ์ภายในที่ได้จากการปฏิบัติจิตปฏิบัติศาสนา กับประสบการณ์ภายนอกที่ได้มาจากสูตรหรือสมการคณิตศาสตร์กับได้จากห้องทดลองวิทยาศาสตร์ต่างก็ให้ความจริงหนึ่งเดียวกัน ความจริงที่ไม่ว่าแต่ละศาสนาจะเรียกว่าอะไร?//

ทุกวันนี้เช่นเดียวกัน องค์การอาหารและยาของอเมริกาที่เคยห้ามยานี้สารเคมีนั้นที่เกี่ยวข้องกับจิต (ที่ไร้หลักฐานข้อพิสูจน์ในด้านของกายวัตถุ) เป็นต้นว่า ยา หรือสารเคมี หรือสมุนไพร แม้เพื่อการวิจัย แต่ตอนนี้ ได้เปิดกว้างในการใช้สารต่างๆ เหล่านั้นเพื่อการศึกษาและวิจัยแล้ว ซึ่งในไม่ช้าไม่นาน ไทยเราย่อมจะต้องทำตามอเมริกาไปด้วย เพราะดูเหมือนกับว่า ถ้าอเมริกาทำหรือไม่ต่อต้านแล้ว เราจะต้องทำตามไปด้วยหรือถูกไปทั้งหมด อเมริกาในขณะนี้ ดูไปแล้วเหมือนกับยุโรปในต้นยุคฟื้นฟูความรู้และศิลปะ (The Age of Renaissance) ที่ในทางวิชาการกำลังเริ่ม “ตื่น” เริ่มเปลี่ยนแปลง เพราะทางการยอมให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ สามารถศึกษาสารเคมีที่เอฟดีเอไม่เคยอนุญาตมาเป็นเวลานาน เช่น ไซโลไซบิน แอลเอสดี กัญชา โคเคน ฯลฯ//

ความหมายของความสุข

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2550

ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศภูฏาน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจทราบแล้วว่าประเทศภูฏานเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่อง “ความสุข” ประเทศนี้มีดัชนีชี้วัดความสุข (Gross National Happiness) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และเมื่อผู้เขียนได้พูดคุยกับคนภูฏาน ต่างก็พูดตรงกันว่าเป้าหมายในชีวิตของพวกเขาคือ ความสุข และหากสังเกตการใช้ชีวิตของคนภูฏาน จะพบว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และด้วยสาเหตุนี้เอง อาจทำให้พวกเขาเข้าใจตนเองและเข้าถึงความต้องการของชีวิตได้อย่างตรงไปตรงมา

ดังนั้น เมื่อทุกคนในประเทศมีเป้าหมายร่วมกันคือ ความสุข ภารกิจหลักของประชาชนก็คือ การนิยามว่า ความสุข คืออะไร และทำอย่างไรจะทำให้ชีวิตมีความสุข ในฐานะที่คนภูฏานนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก ดังนั้นคำสอนของศาสนาจึงเข้าไปสู่วิถีชีวิตของคนภูฏานในทุกรูปแบบ สังเกตจากการที่ทุกบ้าน ทุกอาคารสถาน จะมีสัญลักษณ์ที่เป็นคำสอนของศาสนาพุทธอยู่ทั่วไปหมด หันไปทางไหนก็จะพบกับสัญลักษณ์ทางศาสนาในมุมต่างๆ ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่า การนิยามความหมายของคำว่า ความสุขของคนภูฏาน ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับคำสอนทางศาสนานั่นเอง

ประเทศภูฏานได้รับการขนานนามว่าเป็นอารยธรรมสุดท้ายของโลก (ที่ยังไม่เป็นวัตถุนิยม) ท่ามกลางหุบเขา และธรรมชาติอันงดงาม ประเทศภูฏานสามารถอนุรักษ์สภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และดูเหมือนผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศนี้ แม้จะเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจด้านการโรงแรม ต่างก็มีจิตสำนึกที่จะธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรมชาติแบบดั้งเดิม แทนที่จะบ่อนทำลายแบบ “ที่ดินฉันเรื่องของฉัน” โดยการสร้างสถาปัตยกรรมที่ไม่เข้าพวกกับใครโดยรอบเลย แต่การสร้างบ้านเรือนหรือสถานที่ต่างๆ ในประเทศภูฏานนั้น เป็นไปอย่างมีแบบแผน อย่างเข้าใจสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม และเข้าใจชุมชน โดยที่ชาวบ้านธรรมดา หรือชาวนานั้น สามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ ในแบบที่เป็นศิลปะดั้งเดิม ที่คนภูฏานภาคภูมิใจ บ้านเรือนมีรูปทรงสวยงาม ประดับประดาด้วยไม้ โดยเฉพาะประตูหน้าต่างทาสีสวยงาม มีรายละเอียดปลีกย่อยที่พิถีพิถัน นอกจากนั้นยังคงทนแข็งแรง บางหลังสร้างขึ้นมาจากดิน แต่สามารถอยู่ได้หลายร้อยปีเลยทีเดียว ผู้เขียนไม่ทราบว่า รัฐบาลภูฏานดูแลเรื่องนี้อย่างไร แต่ที่แน่นอนคือการสร้างบ้านไม่ได้เป็นเรื่องสิ้นเปลืองในชีวิตของคนภูฏานเลย และเมื่อทุกคนมีบ้าน ก็ย่อมมีความมั่นคงในชีวิต สามารถสร้างครอบครัวใหญ่ที่มีคนหลายรุ่นอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน คนภูฏานเป็นคนมีน้ำใจงาม ผู้เขียนมีโอกาสขอเยี่ยมชมบ้านของชาวนา พวกเขาให้การต้อนรับคนไทยเป็นอย่างดี พาไปเยี่ยมชมห้องต่างๆ อย่างเปิดเผย แม้ห้องต่างๆ จะมอมแมมตามการใช้งาน แต่ห้องพระได้รับการจัดไว้อย่างประณีต เพื่อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในครอบครัว ผู้เขียนไม่แปลกใจว่าทำไม ประชาชนภูฏานจึงมีความสุข ถึงแม้รายได้ต่อหัวของประเทศจะต่ำ แต่ความมั่นคงในชีวิตประชาชนนั้นสูงมากเลยทีเดียว นั่นเอง ทำให้พวกเขามีความมั่นใจ เพราะเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิตว่าต้องการอะไร ไม่ต้องอับอายในความยากจนที่ถูกนิยามด้วยประเทศอื่น เพราะมนุษย์ทุกคนก็ต้องเดินสู่เส้นทางของการแสวงหาความสุขที่แท้จริงเช่นกัน

ดังนั้นคนภูฏานโดยทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้สึกอยากจะไปแข่งขันกับใคร เพราะชีวิตค่อนข้างพอเพียงแล้ว รุ่นลูกรุ่นหลานก็สามารถส่งเข้าโรงเรียนได้หมด เด็กชาย เด็กหญิงสามารถบวชเรียนเป็นสามเณร หรือสามเณรีได้ ฆราวาสกับพระมีชีวิตที่ใกล้ชิดกันมาก สถานที่ราชการและวัดก็อยู่ที่เดียวกัน เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมรัฐสภา โบสถ์พระก็อยู่ในรั้วเดียวกันนั่นเอง ทำให้รู้สึกว่าการทำงานกับความศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ถูกแบ่งแยกออกจากกัน อย่างน้อยคนทำงานย่อมจะต้องมีจิตสำนึกในชีวิตประจำวันที่ซื่อสัตย์สุจริตไม่มากก็น้อย

ผู้เขียนรู้สึกว่า มนุษย์ที่ล้วนแสวงหาสัจจธรรมในชีวิตนั้น ย่อมจะต้องมีความพยายามที่จะศึกษาเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น สภาพภายในจิตใจของผู้ที่อยู่บนเส้นทางของความเพียร อย่างเช่นชาวบ้านภูฏานนั้น จึงจะฉายออกมาทางกายภาพ ที่แทรกปรัชญา หรือสัญลักษณ์ทางศาสนาตามสถานที่ต่างๆ เพื่อการศึกษาเรียนรู้ ไว้เตือนสติเตือนใจ แม้ศาสนาพุทธจะเน้นเรื่อง ความว่าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ว่างเปล่าแบบไม่มีอะไรเลย หากแต่ว่างจากกิเลส ว่างจากตัวตน ดังนั้นไม่ใช่ว่าบ้านเรือนจะว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย แต่เป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจ จะเห็นได้ว่าชาวบ้านภูฏานจึงมีความเป็นตัวตนน้อยมาก เด็กนักเรียนมาพูดคุย ร้องเพลง เต้นระบำให้ชาวต่างชาติอย่างพวกเราดูอย่างเป็นมิตร พระภูฏานนำขนมปังมามอบให้พวกเรารับประทานเล่นอย่างเป็นกันเอง เมื่อเห็นคณะคนไทยนั่งประชุมกันในวัดของท่าน ความมีน้ำใจยังคงมีอยู่ในชีวิตประจำวันของคนภูฏานอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้เขียนก็ยังเชื่อว่าในประเทศไทยนั้น คงหลงเหลือธรรมชาติความดีนี้อยู่บ้าง ถ้าไม่ถูกแทนที่ด้วยความหวาดระแวงที่เป็นโรคร้ายแทรกซึมมากับโลกของวัตถุนิยมเสียก่อน

การเยือนประเทศภูฏานครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนได้เห็นว่า ความสุขเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้ออีกต่อไป เพียงแต่จะยอมเปิดใจมองเห็นหรือไม่เท่านั้น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคม และโลก บางครั้งการมีชีวิตอยู่อาจจะต้องเหลือบมองเพื่อนบ้านของเราบ้างว่าอยู่กันอย่างไร และจะดูแลกันอย่างไร หลายครั้งที่ผู้เขียนอดนึกย้อนกลับมาประเทศไทยไม่ได้ว่า จะเป็นอย่างไรหนอ หากบ้านเมืองเราโดยทั่วไป จะมีสถาปัตยกรรมที่เข้าใจความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาจิตใจ เข้าใจสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม โดยไม่แปลกแยกออกจากธรรมชาติ และชาวบ้านธรรมดาก็สามารถมีบ้านในลักษณะนั้น ที่เป็นศิลปะแบบไทยๆ เป็นของตนเองได้ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับการมีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สังคม และประเทศ

คงเป็นการบ้านสำหรับผู้บริหารบ้านเมือง ว่าจะนำพาสังคมไทยให้พบกับความสุขอย่างไร ต้องถามว่าจะลุกขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านจิตใจให้กับเพื่อนร่วมโลกได้หรือยัง หรือจะวิ่งตามประเทศอื่นที่มีความทุกข์อย่างนี้ตลอดไป ซึ่งถ้าหากจะเริ่มวันนี้คงไม่สาย โดยก่อนอื่น คงจะต้องมาร่วมนิยามกันว่า ความสุขที่แท้จริง คืออะไร...

กระตุ้นต่อมจิตสำนึกใหม่: ภาวะโลกร้อนกับชะตาคนไทย

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2550

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climate Change) มีผลกระทบโดยตรงต่อสรรพสิ่งในโลก และโดยเฉพาะมนุษย์

เพราะสรรพสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

เมื่ออุณหภูมิของโลกถั่วเฉลี่ยค่อยๆ ร้อนขึ้น มนุษย์ได้เห็นสัญญาณเตือนภัย (Harbingers) ที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ วิกฤติการณ์น้ำท่วมฉับพลัน โคลนถล่ม ไฟไหม้ป่า พายุบ้า...ที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดขึ้นเหล่านี้ มีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงขั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์เอง

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นภาวะที่มนุษย์และโดยเฉพาะคนไทยจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงหรือไม่

ลองมาพิจารณาสัญญาณเตือนภัยเหล่านี้ดู

มีการพูดถึงภาวะโลกร้อนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับโลกกันมากขึ้นโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จะมีผลทำให้เมืองหลายเมืองทั่วโลกจมหายไปในอนาคตที่ไม่ไกลเกินรอ

มีการค้นพบว่า การแข็งตัวของน้ำแข็งขั้วโลกช้าลง แต่ละลายเร็วขึ้น ส่อสัญญาณอันตรายต่อหมีและสัตว์ขั้วโลก

ความสูงของเทือกเขาหิมาลัยลดลงทุกปีเพราะหิมะที่ปกคลุมยอดภูเขาละลาย อุณหภูมิเฉลี่ยของบริเวณเทือกเขาหิมาลัย ประเทศภูฐานและประเทศเนปาลสูงขึ้นประมาณ ๑ องศาเซลเซียส ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ชี้ให้เห็นถึงปัญหาโลกร้อนว่าได้เข้าสู่ขั้นวิกฤติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ เฉพาะที่ทวีปเอเชียมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่มีสาเหตุมาจากการร้อนขึ้น ของโลกปีละประมาณ ๑ แสน ๗ หมื่นคน ปัญหานี้จะทวีเพิ่มขึ้นและมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีดำเนินชีวิตโดยรวมหากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ

ภัยธรรมชาติ หากเกิดขึ้น ยิ่งรุนแรงหรือเกิดบ่อยเท่าไหร่ ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง ที่ต้องพึ่งธรรมชาติก็จะยิ่งลำบาก เพราะขาดรายได้ สูญเสียที่ทำกิน เป็นหนี้สิน กลายเป็นปัญหาของรัฐบาล กระทบกับระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยทั่วไป

เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

สำหรับประเทศไทย หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วมรุนแรงและนานขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกหลักของประเทศเช่นในภาคกลาง ประกอบกับมีความแห้งแล้งต่อเนื่องในบางพื้นที่เช่นในภาคอีสาน ประเทศไทยจะยังคงเป็นอู่ข้าวอู่อาหารหลักของโลกได้หรือไม่

สัญญาณเตือนภัยสำหรับประเทศไทยมีมากมายพอควรที่นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารวบรวมไว้

พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน บริเวณกรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา กำลังประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรง บ่อกุ้งและบ้านถูกน้ำทะเลรุกเข้ามาในพื้นที่เหล่านี้ตั้งแต่ ๕๐๐ เมตร ถึง ๒ กิโลเมตร

บางพื้นที่พื้นดินชายฝั่งทะเลสูญหายไป เช่นที่ชายทะเลบางขุนเทียน พื้นดินจมหายไปปีละประมาณ ๑๒ เมตร จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ๕ จังหวัดตอนบน ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร ตลอดระยะทาง ๑๐๖.๕ กิโลเมตร ถูกน้ำทะเลกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งไปแล้วกว่า ๑๓,๗๐๐ ไร่

เฉพาะที่ชายทะเลบางขุนเทียน ชุมชนคลองประมง กว่า ๑๐๐ หลังคาเรือน ซึ่งเคยอยู่ห่างจากชายทะเล ประมาณ ๒ กิโลเมตร ปัจจุบันต้องถอยร่นประตูระบายน้ำ เพื่อใช้เลี้ยงกุ้งมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งการย้ายประตูระบายน้ำแต่ละครั้งต้องลงทุนนับแสนบาท บางพื้นที่เคยมีแนวป่าชายเลนหนาแน่น มีต้นแสมหลายไร่ แต่ปัจจุบันถูกน้ำทะเลซัดกัดเซาะอย่างรุนแรง ขุดรากถอนโคนต้นแสมจนหมด น้ำทะเลรุกเข้ามาในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่แก้ปัญหาด้วยการลงทุนนำหินมาถมเป็นเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะ แต่น้ำทะเลก็ยังทะลักท่วมที่ดินเข้ามา ๒๐๐-๕๐๐ เมตร ทำให้ต้องมีหนี้สินมากขึ้น บางครอบครัวต้องย้ายบ้านหนีน้ำถึง ๓ ครั้ง

วัดหงส์ทอง ตำบลสองคลอง ซึ่งมีโบสถ์อยู่กลางน้ำ เดิมทีที่ดินของวัดในโฉนดระบุว่ามีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ แต่ปัจจุบันถูกน้ำทะเลกัดเซาะเหลืออยู่เพียง ๘ ไร่เท่านั้น

ที่ชลบุรี ก็พบว่า ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙ ระดับน้ำทะเลในจังหวัดชลบุรี เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่บริเวณศาลาชายทะเลรวมใจ ในเขต อ.เมือง จ.ชลบุรี ระดับน้ำทะเลสูงกว่าปกติเป็นอันมาก

ที่ภาคเหนือประสบกับปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่องตลอดเป็นเวลานาน ส่งผลให้ดินบนภูเขาถล่มลงมาปิดเส้นทางคมนาคมหลายๆ หมู่บ้าน ชาวบ้านหลายพันครัวเรือนไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับพื้นที่ภายนอกได้ บ้านเรือนหลายแห่งหายไปกับสายน้ำ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เด็กๆ หลายคนไม่ได้ไปโรงเรียนเนื่องด้วยเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ประชาชนตื่นตระหนกกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นระยะๆ

ในแง่ของสุขภาพอนามัย สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก็ทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น เช่นโรคระบบทางเดินหายใจ ไอ หอบ โรคภูมิแพ้ เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก อันเนื่องมาจากความแห้งแล้ง เกิดไฟป่า ทำให้มีควันไฟปกคลุมไปทั่ว บางพื้นที่ก็เกิดภาวะทุโภชนาการเพราะมีความแห้งแล้งยาวนาน เป็นโรคขาดอาหารและน้ำ ผู้คนต้องอพยพหนีความลำบากเข้ามาหางานทำในเมือง บางพื้นที่มีน้ำท่วมใหญ่ ก็มีปัญหา โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า ท้องเดินท้องเสีย และโรคที่มากับน้ำอื่นๆ รวมถึงปัญหาสุขภาพจิต

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรร่วมมือศึกษา วิจัย เพื่อรวบรวมองค์ความรู้อย่างเป็นระบบครบถ้วนเท่าที่มี แล้วเผยแพร่ข้อมูลและผลกระทบที่เป็นไปได้ให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจ มีการคาดการณ์แนวโน้ม และภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของโลกและสังคมไทย ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน มิใช่เพื่อทำให้ประชาชนตื่นตระหนก แต่เพื่อให้ตื่นตัว และตระหนักถึงอนาคตที่ตนเองมีส่วนร่วมสร้าง ร่วมทำลาย

มิใช่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพียงเพื่อการเตรียมตัวเผชิญ หรือหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เพื่อร่วมสร้างอนาคตร่วมกันอย่างมีสติ มีปัญญา และมีความรับผิดชอบต่อโลก ต่อประเทศ ต่อตนเองและสรรพสิ่ง

เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด

การเริ่มต้นวันนี้ ถึงแม้ว่าค่อนข้างจะช้า ก็ยังดีกว่าไม่ได้เริ่มต้น เพราะไม่มีโอกาสจะได้เริ่ม ขอให้วันนี้เป็นวันเริ่มต้นของเวลาที่แต่ละคนมีเหลืออยู่ คิดและทำสิ่งดีๆ ให้กับโลก สังคมไทย ครอบครัว ตนเอง และสรรพสิ่ง เพื่อผ่อนคลายและพ้นภัยจากภาวะโลกร้อน เพื่อสร้างโลกที่สวยงาม สังคมดีมีสันติธรรม คนมีความสุข

ได้เห็นและชื่นชมความงามที่หลากหลายของธรรมชาติ มีอากาศที่บริสุทธิ์สำหรับหายใจ มีน้ำที่ใสสะอาด สำหรับดื่ม มีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สำหรับทุกชีวิตอย่างพอเพียง บนโลกใบเดียวกันนี้

ว่าด้วยเรื่อง 'หยุดการเรียนรู้'

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2550

วันหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสนั่งคุยกับ ณัฐฬส วังวิญญู หลานชาย เรื่อง Evolve Your Brain ซึ่งเขียนโดย โจ ดิสเปนซ่า (Joe Dispenza) บทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ดิสเปนซ่าได้แยกแยะการทำงานของสมองซีกซ้ายซีกขวาไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่าเด็กจะใช้สมองซีกขวา ซึ่งเป็นสมองที่แสวงหาสิ่งใหม่ การเรียนรู้ใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง แต่สมองซีกซ้ายซึ่งเป็นสมองของผู้ใหญ่ จะสรุป แล้วอยู่กับความรู้เก่า ความรู้เดิม

ก่อนอื่น เราต้องไม่ลืมว่าการรับรู้โลกของอายตนะ (senses) ต่าง ๆ ในสมองชั้นต้น การประมวลผลในสมองชั้นกลาง และส่งไปยังสมองซีกขวานั้น สมองซีกขวาจะเป็นความรู้แฝงเร้น (tacit หรือ implicit) เป็นศิลปะ เป็นปัญญาเชิงปฏิบัติ ซึ่งเมื่อถูกแปลความแล้วด้วยสมองซีกซ้าย จะเป็นความรู้เปิดเผย (explicit) เป็นตัวบทหรือเป็นทฤษฎีขึ้นมา

ที่สำคัญ ในหนังสือเล่มดังกล่าวของดิสเปนซ่า เขาได้เขียนถึงเรื่องการเริ่ม ‘หยุดการเรียนรู้’ ของผู้ใหญ่ ณ วัยประมาณยี่สิบตอนปลายและสามสิบตอนต้น กล่าวคือเมื่อคนเราเริ่มจะรู้สึกว่าตัวเองเห็นโลกมามาก มีประสบการณ์มาหลากหลายแล้ว และเริ่ม ‘ใช้ชีวิตด้วยความรู้สึก’

ดิสเปนซ่าได้เขียนไว้ในบทก่อนหน้าของหนังสือแล้วว่า ‘ความรู้สึกคือความทรงจำของประสบการณ์’ กล่าวคือมนุษย์จะจดจำประสบการณ์โดยผ่านความรู้สึก ความรู้สึกเป็นตัวจัดการ จัดแจง และจัดระเบียบประสบการณ์ ความจำ ตลอดจนความคิดที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่ผ่านมาในชีวิตหรือผ่านวัยมา เขาบอกว่า ‘ทุกความคิดจะมีความรู้สึกกำกับอยู่’ ตรงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงความหมายที่แท้จริงของหนึ่งในขันธ์ห้า นั่นคือ ‘สังขาร’ ว่าสังขารคือการปรุงแต่ง คือความคิดที่ปนอยู่ในความรู้สึก หรือความรู้สึกที่ปนอยู่ในความคิดแล้วอย่างแยกไม่ออกและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นอะไรกลาง ๆ ที่สมองใช้ในการจัดระเบียบ จัดหมวดหมู่เพื่อจะนำกลับมาใช้งานได้ และเฉดสีของอารมณ์ความรู้สึกนี้เองที่จะช่วยในการจัดระเบียบความทรงจำแห่งประสบการณ์ รวมทั้งความคิดและความจำได้หมายรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์

เมื่อเชื่อมโยงกับหนังสือว่าด้วยการทำงานของสมองอีกเล่มหนึ่งของ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ เรื่อง From Magical Child to Magical Teen ซึ่งพูดถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามีความสำคัญมากกว่า คือ สมองชั้นล่าง ๆ หรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน และสมองชั้นกลาง จะเรียนรู้ร่วมกับสมองชั้นนอกด้วย ‘วิถีของการทำซ้ำ’ จนกระทั่งชำนิชำนาญ แล้วจะจดจำสิ่งเหล่านั้นเอาไว้อย่างเป็นอัตโนมัติ เมื่อเราคุ้นเคยกับการทำอะไรแล้ว ต่อไป เราก็อาจทำสิ่งนั้นกิจกรรมนั้นได้อย่างเป็นอัตโนมัติ อย่างเป็นกลไก อย่างเป็นเครื่องจักร โดยต้องเข้าใจว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของมนุษย์ที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดในโลก และชุดอัตโนมัติเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้อย่างพร้อมนำกลับมาใช้ได้ตลอดเวลา ความรู้ที่ว่านี้เมื่อเพิ่มเติมด้วยการค้นคว้าของดิสเปนซ่าเข้าไป จะกล่าวได้ว่า ‘ทุกชุดอัตโนมัติเหล่านี้ล้วนมีอารมณ์ความรู้สึกกำกับอยู่ด้วย’

เช่น มีคนเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องการเดินทางว่า เวลาเราเดินทางไปไหน ไปหาใครหรือไปท่องเที่ยว ขาไปและขากลับจะเกิดความรู้สึกแตกต่างกัน โดยเฉพาะความรู้สึกในเรื่องของเวลา คือขาไปจะยาวนานกว่าขากลับ หากลองกลับมาที่ข้อคิดของเพียซซึ่งเป็นนักค้นคว้าประมวลความรู้ทางสมองอย่างเอกอุอีกครั้งหนึ่ง เขาเคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์จะทำซ้ำกับการเรียนรู้หนึ่งใด จนกระทั่งเป็นนายงานของเรื่องนั้น ๆ แล้วจึงจะผ่องถ่ายไปเก็บไว้ในแบบกลไกอัตโนมัติ คือ สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเป็นอัตโนมัติในเวลาต่อมา ดังเราจะสังเกตเห็นได้ว่า หลายกิจกรรมในชีวิตของเราล้วนดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ซึ่งผู้เขียนเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “อัตโนมัติที่หลับใหล” เพราะเราทำไปอย่างเป็นกลไก ทำไปอย่างเป็นเครื่องจักร ทำอย่างไม่ได้ตื่นรู้ แล้วเมื่อถามว่ามีอัตโนมัติอย่าง “ตื่นรู้” ได้ไหม ผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้ อย่างเช่นเวลาเรารำมวยจีน หรือเดินจงกรม หากเราตื่นรู้ มันจะเป็น “อัตโนมัติที่ตื่นรู้”

แต่ชีวิตส่วนใหญ่ของมนุษย์ดำเนินไปใน “อัตโนมัติที่หลับใหล” โดยเฉพาะคนอายุอานามเลยวัยสามสิบขึ้นไป ยิ่งสี่สิบห้าสิบยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเรามักจะคิดว่า ตัวเองรู้แล้ว รู้งานแล้ว รู้เรื่องราวในวิชาชีพตนเองดีแล้ว รู้ประสบการณ์ รู้ชีวิตแล้ว จึงปล่อยชีวิตโดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดให้เป็นไปอย่าง “อัตโนมัติที่หลับใหล”

กลับมาถึงตอนสำคัญของหนังสือ Evolve Your Brain ดิสเปนซ่าบอกว่า ในวัยยี่สิบตอนปลาย และสามสิบตอนต้น เราเริ่มเคลื่อนย้ายท่าทีของชีวิตจากการแสวงหา เรียนรู้ มาเป็นลงหลักปักฐาน เริ่มสร้างบ้านสร้างรถ เลี้ยงลูก ส่งลูกเรียนหนังสือ กล่าวคือชีวิตได้ปรับเข้าสู่การเอาชีวิตรอด หาความมั่นคงปลอดภัยให้กับครอบครัว เป็นการเคลื่อนย้ายออกมาจากวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ ไปสู่วิถีชีวิตแห่งการสร้างความมั่งคงปลอดภัยให้กับครอบครัว และเราอาจจะสรุปไปแล้วโดยไม่รู้ตัวว่า ประสบการณ์ทั้งหมดที่อาจจะมีได้ในโลกนี้ ’ฉันรู้แล้ว’ และตรงนี้เองที่มนุษย์ ’หยุดการเรียนรู้’

ดังนั้น ขอให้ทุกท่านแยกแยะให้ออกระหว่างการเรียนรู้ กับการดาว์นโหลด “ความรู้เดิม” ที่ผู้เขียนมักเรียกว่าเป็น “เทปม้วนเก่า” มาใช้ คือ เรามักจะใช้ความรู้เก่า วิธีเก่า ในการประมวลผลหรือวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และเรามักจะมองปัญหาต่าง ๆ จากมุมมองเดิม ๆ ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาหนึ่งใดได้ จากมุมมองที่เป็นตัวสร้างปัญหาขึ้นมา แม้การจะเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนมุมมองนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราจำต้องออกจาก “อัตโนมัติที่หลับใหล” ต้องออกจากการ “ดาว์นโหลด” เราจึงอาจจะมีมุมมองที่สด มีชีวิต และสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ และเมื่อนั้น การเรียนรู้จึงจะไม่หยุดอยู่กับที่อีกต่อไป

ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า ชีวิตของท่านนั้น นอกจากดาว์นโหลดความรู้เดิม วิธีคิดเดิม มุมมองเดิมไปวัน ๆ แล้ว ท่านได้มีโอกาสมองโลกจากมุมมองใหม่บ้างหรือไม่?

ทำแค่ใช่ ... ไม่ต้องมาก

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550

จดหมายข่าวอิเลคทรอนิกส์ของสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) เดือนตุลาคมนี้ มีการแนะนำให้สมาชิกไปดูคลิปวีดิทัศน์ของ แมรีแอนน์ วิลเลียมสัน นักอบรมชั้นนำคนหนึ่งของโลก เธอเขียนหนังสือขายดีติดอันดับหนึ่งของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์หลายเล่ม และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้มีการจัดตั้งกระทรวงสันติภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา

ในคลิปวิดีโอหนึ่งนาทีนั้น แมรีแอนน์เชิญชวนกึ่งท้าทายให้ผู้ดูร่วมเป็นหนึ่งในประชากรสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เธออ้างถึงงานวิจัยของนักสังคมศาสตร์ที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมโลกหลายครั้งเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มีผู้ที่เชื่อ ต้องการ และเปลี่ยนแปลงก่อนเพียงจำนวนหนึ่ง โดยยกตัวอย่างการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรีในอังกฤษ และการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศสหรัฐอเมริกาจากอังกฤษ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนไม่ต้องมีผู้ต่อสู้เรียกร้องถึงครึ่งหนึ่งของประชากร แต่มีจำนวนที่ “เพียงพอ” โดยเธอบอกว่าเพียงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ตัวเลขนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อเรื่อง มวลวิกฤต (Critical Mass) ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางสังคมศาสตร์พลวัตร อธิบายถึงการมีอยู่ของโมเมนตัมของระบบสังคมที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองและขยายเพิ่มได้ ขออนุญาตยกตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจ เช่น ในเมืองใหญ่ หากมีคนๆ หนึ่งหยุด แล้วแหงนมองดูท้องฟ้า คนอื่นๆ รอบข้างก็จะยังคงเดินไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากมีคนหยุดสักสามสี่คน อาจจะมีบางคนที่สงสัย หันกลับมาดูพวกที่ดูฟ้า แล้วอาจเดินต่อ แต่เมื่อมีคนจำนวนมากพอแหงนหน้าดูท้องฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มากนักในกรณีนี้ (ขึ้นกับหลายปัจจัย) เช่น ประมาณหกถึงเจ็ดคนเท่านั้น คนอื่นๆ ก็จะหยุดแล้วแหงนหน้ามองดูเหมือนกัน จำนวนนี้แหละครับ เรียกว่า มวลวิกฤต

เอาเป็นว่าคุณแมรีแอนน์ เธอท้าให้คนที่เปิดดูคลิปเปลี่ยนแปลงตนเองเสีย จะได้เพิ่มจำนวนผู้เปลี่ยนแปลงไปให้ถึงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ครับ เธอบอกว่าหากตัวเราเองยังไม่เปลี่ยนแปลงก่อน ก็อย่าไปอ้างเลยว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงได้

ผมอยากจะเพิ่มเติมว่า อันที่จริงแล้วเราไม่ต้องรอถึงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์หรอก (ซึ่งสำหรับประชากรโลก ณ วันนี้ สัดส่วน ๑๑ เปอร์เซ็นต์ของหกพันหกร้อยสามสิบกว่าล้านคน ก็ตกราวๆ เจ็ดร้อยสามสิบล้านคน) เพราะจิตของเราแต่ละคนที่เข้าถึงความจริง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

ในมนุษย์จำนวนหกพันหกร้อยสามสิบกว่าล้านชีวิตนี้ แต่ละคนก็ล้วนแต่มีจิตที่คิดสร้างโลกขึ้นมา มีประสบการณ์และสร้างการดำรงอยู่ของตัวตนเราในโลกทางกายภาพนี้ทั้งสิ้น

โลกนั้นดำรงอยู่ในจิตของเรา และเราแต่ละคนต่างเลือกว่าจะมีประสบการณ์ต่อมันอย่างไร สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำ ล้วนก่อประกอบขึ้นเป็นโลกทางกายภาพตามแบบที่เราอยากจะมีประสบการณ์

เราจึงอาศัยอยู่ในโลกแห่งมายาการ ความรู้สึกที่เรามีต่อวัตถุทุกชนิดล้วนเป็นความรู้สึกที่เรามีต่อความสัมพันธ์ของสนามหรือคลื่นพลังงาน เป็นความรู้สึกที่จิตเราแปลผลตีความขึ้นมา และด้วยเหตุที่เราล้วนมีประสบการณ์ต่อมายาการนี้ร่วมกัน เราก็มักคิดตีขลุมเหมาเอาว่าเรานั้นอยู่บนโลกใบเดียวกัน เราเลือกที่จะเชื่อว่าโลกมีอยู่นอกเหนือจากการสร้างของเรา แต่แท้จริงแล้ว โลกนั้นมันอยู่ในจิตของเราเอง

ความพยายามใดๆ ที่เรากระทำเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจเป็นความพยายามที่เปลืองแรง ไปจนถึงขั้นสูญเปล่า เพราะเป็นการไปแก้ไขปรับเปลี่ยนโลกทางกายภาพที่เราต่างสร้างขึ้นและให้ความหมายตีความแตกต่างกัน ในเมื่อโลกเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในใจของเราเองแล้ว การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ควรเริ่มต้นจากตัวเรา เริ่มขึ้นในใจตัวเอง

ตัวอย่างเช่น เรื่องสันติภาพ สันติภาพนั้นมิได้เข้าถึงได้ด้วยการพยายามสร้างให้สันติภาพเกิดขึ้นในโลก หากแต่สันติภาพที่แท้จริงนั้นเข้าถึงได้ผ่านการตระหนักรู้ว่าสันติภาพนั้นมีอยู่แล้ว อยู่ในโลกของคนทุกคน และเส้นทางการเข้าถึงนั้นมีการเดินทางเข้าสู่ด้านในตนเองเป็นบาทฐานสำคัญ

หากหญิงหรือชายใดได้มีสันติในเรือนใจแล้ว ทุกสิ่งที่เธอหรือเขาทำออกมาไม่ว่าด้วยกายหรือวาจาย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำย่อมถูกกระทำด้วยสันติวิธี (นั่นย่อมรวมถึงการพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกด้วย)

อีกทั้งสันติภาพนั้นมิได้เข้าถึงได้ด้วยการพยายามไปเปลี่ยนคนอื่น ความพยายามอันบริสุทธิ์ใจในการสร้างงาน สร้างกิจกรรม สร้างโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมสันติภาพเป็นความพยายามอันน่าชื่นชม หากแต่ต้องชวนผู้คิดและดำเนินการโครงการเหล่านั้นได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเข้าถึงสันติภาพภายในตนแล้วหรือยัง หรืออย่างน้อยได้ใช้งานเป็นโอกาสในการเดินทาง ฝึกฝน และเรียนรู้ในการเข้าถึงสันติภาพที่แท้จริงหรือไม่ เพราะหากโลกภายในไม่มีสันติภาพแล้ว กิจกรรมต่างๆ ก็เป็นเพียงความพยายามอันไปไม่ถึงดวงดาว เป็นกิจกรรมที่ได้แต่รูปแบบ ขาดหัวใจ สาระ หรือจิตวิญญาณของสันติภาพ

โจทย์ของคนทำงานเรื่องสันติภาพหรือสมานฉันท์ รวมทั้งงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงยกระดับสังคมไปสู่การมีจิตใหญ่ ดังเช่น จิตวิวัฒน์ จิตตปัญญาศึกษา พัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ตลอดจนสุขภาวะทางจิตวิญญาณ/ทางปัญญา จึงมีหลายชั้น หนึ่งคือต้องทำการบ้านกับตนเองก่อน หนึ่งคืองานและชีวิตของคนทำงานควรเป็นบทพิสูจน์ของการเดินทางเข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องที่ทำในทุกระดับ ในทุกมิติ และอีกหนึ่งที่สำคัญคือต้องพยายามสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่า เป้าหมายภายในนั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเป้าหมายภายนอก เราไม่สามารถทำงานเรื่องจิตวิวัฒน์โดยไม่ใช้กระบวนการจิตวิวัฒน์ได้

โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ให้ทุน ความตั้งใจที่อยากจะให้เรื่องดีงามแพร่ขยายกระจายไปทั่วแผ่นดินนั้นก็เป็นกุศลเจตนาที่ควรยกย่อง ทว่าจะต้องไม่กระทำอย่างผิวเผินเหมือนกับผลิตสินค้าให้ได้จำนวนมากที่สุดในราคาต่ำสุดและใช้เวลาสั้นที่สุด

ความท้าทายอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตเป็นเรื่องของความปรกติ เป็นเรื่องความสมดุลของการพัฒนาทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ ผสมผสานงาน ครอบครัว และสังคมอย่างพอดี และให้การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมในทุกขณะจิต

ต้องเข้าใจว่าความคาดหวังและคำถามที่ว่า “เปลี่ยนได้กี่คนแล้ว” เพื่อจะได้ถึง ๑๑% เสียทีนั้น ต้องเริ่มนับหนึ่งจากตนเองก่อนเสมอ

“อุดมการณ์” ไม่ใช่คำที่พูดกันพล่อยๆ

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2550

ในช่วงเวลาที่มีความแปรผันและความสับสนวุ่นวายทางการเมือง ขณะนี้ เราได้เห็นความพยายามของคนหลายจำพวก ทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูง นักวิชาการระดับเซียน นักการเมืองรุ่นเก่าแก่ นักการเมืองรุ่นใหม่ กลุ่มการเมืองหัวก้าวหน้า กลุ่มปกป้องรักษาประชาธิปไตย ผู้คนสารพัดกลุ่มต่างก็พากันตั้งพรรคตั้งประชาคม รวบรวมไพร่พลเป็นกลุ่มใหญ่ ยึดโยงกันไว้ด้วยความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ทางความสำนึกในบุญคุณ ทางอำนาจเงิน และที่กล้าพูดออกมาก็คือ ทุกคนมาอยู่ร่วมกันเพราะร่วมอุดมการณ์เดียวกัน

น่าประหลาดใจ ที่ได้เห็นคนหมู่หนึ่งมารวมตัวกันเพราะอุดมการณ์ตรงกัน แค่เพียง ๓ วัน ๗ วัน ก็ไม่สามารถร่วมอุดมการณ์กันได้เสียแล้ว กลุ่มคนที่เคยยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยจนกล้าต่อสู้แบบเอาชีวิตเข้าแลก บัดนี้ เขาก็ยังมีชีวิตอยู่และร่วมหัวจมท้ายกับคนที่ยกย่องเผด็จการ

ผู้เขียนไม่อยากให้บทความจิตวิวัฒน์ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากนัก ความประสงค์ที่แท้จริงก็คือการค้นหาคำตอบว่า อุดมการณ์คืออะไรในแง่ของชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม

พิจารณาจากพระโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งมองในด้านหนึ่งจัดได้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมในวันมาฆบูชา แก่พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูปที่มาเฝ้าพระองค์พร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย พระโอวาทปาฏิโมกข์ถึงพร้อมสมบูรณ์ด้วยอุดมการณ์ หลักการคำสอน และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาซึ่งเน้นในพระธรรมวินัย

พระคาถาบทแรกใน ๓ บทของพระโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นอุดมการณ์สูงสุดของชีวิต ว่าด้วยขันติ (ความอดทน) และนิพพาน

นิพพานไม่ใช่การเสพสุขบนสวรรค์ และผู้ที่จะเข้าถึงอุดมการณ์อันเป็นจุดหมายสูงสุด ก็สามารถบรรลุได้ในชาตินี้ ไม่จำเป็นต้องตายก่อนจึงจะไปสู่นิพพาน

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) อธิบายไว้ในหนังสือพุทธธรรม สรุปได้ว่า นิพพานเป็นจุดหมายสูงสุดในชาตินี้ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่จำกัดชนชั้นหญิงชาย เป็นภาวะที่มนุษย์สามารถประจักษ์แจ้งได้ ถ้าเพียรพยายาม ทำตัวให้พร้อมพอ ก็ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า ชาวพุทธที่ต้องการบรรลุอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา จึงต้องละเว้นความชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม และฝึกพัฒนาจิตให้ผ่องใส จนเกิดภาวะทางปัญญา (คือวิชชา) ภาวะทางจิตที่หลุดพ้น เป็นอิสระ (วิมุตติ) และภาวะทางความประพฤติในการดำเนินชีวิต (กรุณา) ที่เป็นไปเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นให้พ้นทุกข์

ผู้เขียนเชื่อว่า การบำเพ็ญเพียรดับกิเลสให้ลดลงจนดับไม่เหลือนั้น เกิดผลที่ดับแล้วสว่าง เป็นความกระจ่างแจ้งที่จิตใจ ปลอดโปร่ง ใสสะอาด มีความสุขสงบประณีตอยู่ภายในตน

อุดมการณ์ไม่ใช่จุดหมายที่เกิดขึ้นและบรรลุถึงได้โดยง่าย ไม่มีใครที่ประกาศอุดมการณ์ขึ้นมาจากการประดิษฐ์ถ้อยคำอันเลิศหรู แล้วเคลือบแฝงด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ใช้อามิสหลอกล่อให้ผู้คนเป็นเหยื่อได้ชั่วครั้งชั่วคราว

ในระดับบุคคล อุดมการณ์เริ่มต้นด้วยความคิดความเชื่อในหลักการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นความคิดที่มีแบบแผน เป็นระบบ ซึ่งเกิดจากแรงจูงใจ หรือสิ่งเร้า ทั้งที่เป็นภาพบวกและภาพลบ

อุดมการณ์เริ่มต้นจากฐานความรู้และความคิด เกิดความตระหนักในความเสื่อมและความเสี่ยงของชีวิต ความตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ความตระหนักและศรัทธาต่อการสร้างสันติสุขต่อส่วนรวม ความปรารถนาที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งมวล

จากความตระหนักนั้น บุคคลได้ใช้ปัญญาตริตรองอย่างลึกซึ้ง เกิดความตั้งใจ เกิดจิตสำนึกที่จะทำงานอย่างพากเพียร อดทนในวิถีทางที่เป็นสัมมาปฏิบัติ เพื่อให้ความคิดความเชื่อที่ถูกต้องนั้นสำเร็จดังประสงค์ กล้าต่อสู้อย่างเข้มแข็งแม้จะถูกต่อต้าน ขัดแย้ง ก็ไม่ยอมท้อถอย

บนเส้นทางแห่งการสร้างสมอุดมการณ์ย่อมมีผู้มองเห็นคุณค่าของการทำงานอย่างสร้างสรรค์ จึงเกิดกลุ่มคนที่คิดดี มีสัมมาทิฏฐิตรงกัน เกิดเป็นอุดมการณ์ของสังคมที่เป็นปณิธานร่วมกัน ทุกคนมีจิตอาสา เสียสละ มุ่งทำงานเพื่อส่วนรวม เสริมพลังกัน ช่วยเหลือประคับประคองกัน เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายสูงสุดอย่างเดียวกัน

กลุ่มคนร่วมอุดมการณ์ที่แท้จริง จึงมีจิตสำนึกร่วม พร้อมที่จะเป็นผู้ให้ เป็นผู้อาสาทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ของสังคม ของมาตุภูมิ

กลุ่มคนที่มารวมกันโดยมุ่งหมายเพื่อจะเอา กอบโกยมาเป็นของตัว เพื่อประโยชน์ส่วนตัว กลุ่มคนนั้นมีอุดมการณ์จอมปลอม

เส้นทางไปสู่อุดมการณ์นั้นยาวไกล ต้องพากเพียรทำงานร่วมกันเป็นเวลายาวนาน อุดมการณ์จึงมิใช่เป็นเพียงความหวังหรือความใฝ่ฝัน แต่เป็นความคิดที่ใคร่ครวญแล้ว จิตใจตั้งมั่นแล้ว ทุกคนรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว มุ่งหน้าทำงานร่วมกันไปจนกว่าจะบรรลุจุดหมาย

แม้ว่ารายการอะคาเดมี แฟนเทเชีย จะจบไปแล้วถึง ๔ ฤดูกาล แต่แฟนคลับทั้งหลายคงจะจำเนื้อเพลงที่ AF ทั้งหลายร้องร่วมกันมานานถึง ๔ ปีได้ สร้อยเพลงนั้นได้บอกถึงความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาวนับพันนับหมื่นว่าชีวิตของเขาต้องการอะไร

จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า
จะไปไขว่คว้าเอามาเหมือนใจฝัน
จะไปให้ถึงปลายทางในวันนั้น
จะเป็นคนดังที่เด่นในแสงไฟ

ผู้เขียนเชื่อว่า ความใฝ่ฝันดังกล่าวไม่ใช่อุดมการณ์ หากแต่เป็นจุดหมายใกล้ๆ ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง มิช้ามินานก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะความเด่นความดังเป็นเพียงภาพมายา เงินทองที่ท่วมท้นมา ถ้าใช้อย่างขาดสติก็จะสูญหายไป ทั้งนี้เพราะขาดภาวะของวิชชา ภาวะทางจิตอิสระ และภาวะทางการุณยธรรม ดังกล่าวแล้วข้างต้น

พุทธทาสภิกขุได้เขียน “มรดกที่ขอฝากไว้” กล่าวถึงปณิธาน ๓ ประการ ควรแก่ผู้ที่เป็นพุทธทาสทุกคนถือเป็นหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่โลก คือ
๑. พยายามทำตนให้เข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน
๒. พยายามช่วยกันถอนตัวออกจากอำนาจของวัตถุนิยม
๓. พยายามทำความเข้าใจระหว่างศาสนา

ในมรดกข้อสุดท้าย ท่านพุทธทาสภิกขุได้ประกาศอุดมการณ์ว่า “...ธรรมิกสังคมนิยมเป็นหัวใจของพุทธธรรม หรือของศาสนาทุกศาสนาอย่างที่ไม่มีใครมอง. ลัทธินี้มุ่งประโยชน์ร่วมกัน ทั้งของฝ่ายนายทุนและของฝ่ายกรรมกร, และของสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน และแม้แต่ต้นไม้ต้นไร่ โดยถือเอาหลักแห่งการเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เป็นหลักพื้นฐาน...”

พระพรหมมังคลาจารย์ (ท่านปัญญานันทภิกขุ) มีอุดมการณ์ส่วนตัวของท่าน และได้ประกาศสั่งสอนพุทธบริษัทตลอดมาว่า “...งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน ทำงานให้สนุก มีความสุขอยู่กับงาน ชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำเพื่อให้ ไม่ใช่ทำเพื่อเอา...”

พระคุณเจ้าได้ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และมีพุทธบริษัทจำนวนมากปฏิบัติธรรมตามอุดมการณ์ของท่าน

ยังมีฆราวาสจำนวนมากที่ประกาศอุดมการณ์ของชีวิตและการงาน มีผู้ศรัทธาจงรักภักดีเข้าร่วมอุดมการณ์เต็มแผ่นดิน ซึ่งผู้เขียนจะไม่ยกตัวอย่างในบทความนี้ เชื่อว่าผู้อ่านจะสามารถระบุนามได้ นับแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จนถึงประชาชนชาวบ้านในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย

อุดมการณ์จึงมิได้เกิดขึ้นเฉพาะทางการเมืองการปกครองเท่านั้น อุดมการณ์ในชีวิตทั้งที่เป็นของแต่ละบุคคล และกลุ่มมวลชน เป็นอุดมการณ์ร่วม ซึ่งทำให้สังคมมีความเป็นปึกแผ่น มั่นคง สงบสุข เสมอภาค มีความสำคัญยิ่งกว่า

คนมีอุดมการณ์ในชีวิตไม่จำเป็นต้องเรืองอำนาจ เขาอาจเป็นคนเล็กๆ แต่มีจิตใจยิ่งใหญ่ ทำงานไปเงียบๆ เกิดผลงานต่อส่วนรวมยิ่งใหญ่ไพศาล

ผู้เขียนกล้ายืนยันความคิดนี้ เพราะมีพยานที่ประจักษ์ชัดจากหนุ่มสาวที่เคยเป็นศิษย์

เมื่อเขาเหล่านั้นยังเยาว์ เขาเป็นขบถหัวรุนแรงที่รังเกียจการใช้อำนาจเผด็จการ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งชายหญิงก็ร่วมกันอาสาทำงานตามอุดมการณ์ของเขา ต้องเจ็บปวดพ่ายแพ้ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม หนุ่มสาวกลุ่มนี้กลับเข้ามาเรียนต่อจนจบ หลังจากนั้นก็ทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อความอยู่รอดของสังคมไทยตลอดมา จนบัดนี้เขาเป็นผู้ใหญ่และเป็นผู้นำในวงการเล็กๆ

อุดมการณ์ของหนุ่มสาวเหล่านี้ เกิดขึ้น ก่อสานเป็นรูปธรรม ยังคงอยู่เป็นงานต่อเนื่องและสร้างสรรค์แบบอย่างแก่เยาวชนรุ่นต่อไป ผู้เขียนรักและประทับใจอย่างยิ่ง และเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ต้องเขียนเรื่องนี้

คนกร้านโลกทั้งหลายที่กำลังแย่งชิงอำนาจกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นพวกแอบวางแผนอยู่เบื้องหลัง และออกหน้าประกาศอุดมการณ์ชั่วคราวกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โปรดตรวจสอบตนเองว่ามีจิตสำนึกเพื่อบ้านเมืองจริงหรือไม่

โปรดอย่าอ้างอุดมการณ์บนฐานอำนาจและเงินตรากันเลย

อุดมการณ์ไม่ใช่คำที่พูดกันพล่อยๆ

การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่:
มาช่วยกันสร้างจิตสำนึกใหม่ ด้วยการทำให้การเมืองไทยใสสะอาด

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2550

ภายหลังจากรู้ผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เราก็ได้เห็นปฏิกิริยาของนักการเมือง และกลุ่มการเมือง ที่นักวิชาการหลายท่านเรียกว่านักเลือกตั้งและกลุ่มผลประโยชน์แสดงออกอย่างคึกคักในรูปแบบและลักษณะที่หลากหลาย มีทั้งเด่นชัด แอบแฝง สงบนิ่ง และสงวนทีท่า มีทั้งทิ่มแทงท้ารบ ชวนรวมกลุ่ม และกวนให้วุ่น มีทั้งแบ่งค่าย แยกค่าย ตั้งค่าย และรวมคอก (ค่ายเล็กที่เหนียวแน่นในความสัมพันธ์ มารวมแต่ตัว แต่ไม่ร่วมจิตวิญญาณ ในคอกใหม่ที่ใหญ่ขึ้นแต่หลวมความสัมพันธ์ คลึงกันไว้ด้วยผลประโยชน์และอำนาจการต่อรอง)

ปฏิกิริยาที่ปรากฏ ไม่ว่าจะแสดงออกมาในรูปของการกระทำ หรือคำพูด ความคิดหรือความเห็น ส่อแสดงให้เห็นการแฝงเร้นอยู่กับความพยายามที่จะเอาตัวรอด รักษาและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ส่วนกลุ่ม สะท้อนให้เห็นจิตสำนึกทางการเมืองแบบเก่าที่เอาแต่ประโยชน์ส่วนกลุ่ม ส่วนตัว โยนความชั่วให้ผู้อื่น เป็นจิตสำนึกเก่าที่ไม่ได้รับการขัดเกลาให้เกิดจิตสำนึกใหม่ ที่เต็มที่และเต็มใจ ทำการเมืองไทยให้ใสสะอาด ทำการเมืองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติโดยรวมอย่างแท้จริง

มายากลการเมืองที่ผู้ประกอบอาชีพเป็นนักการเมืองบางคนแสดงออกมา จึงเป็นเพียงภาพลวงตา

คำพูดและพฤติกรรมของนักการเมืองเหล่านั้นจึงเป็นเพียงการแสดงละครตบตาประชาชนและนักการเมืองอาชีพด้วยกัน บางคนแสดงเอง กำกับเอง แต่บางคนและบางกลุ่มแสดงตามบทที่มีผู้กำกับการแสดงอยู่เบื้องหลัง

จึงไม่แปลกที่บางคนบอกว่า พฤติกรรมของนักการเมืองจำนวนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นความคิด คำพูด หรือการกระทำ เห็นแล้ว “ขำกลิ้ง ลิงกับหมา”

แต่สำหรับผู้เขียนนอกจากจะไม่ขำกลิ้งแล้ว ยังขำไม่ออก

ถ้าดูเฉพาะความวุ่นวายและการดิ้นรนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนักการเมืองเหล่านั้น เปรียบเทียบกับความวุ่นวายและการดิ้นรนเพื่อให้บรรลุภารกิจของลิงกับหมาใน “ขำกลิ้ง ลิงกับหมา” ก็พอจะเห็นภาพและเห็นด้วยได้ แต่ถ้าดูสาระและบรรยากาศแล้วเป็นคนละเรื่อง เพราะพฤติกรรมนักการเมืองที่ชิงไหวชิงพริบ วิ่งจับขั้ว ทั้งที่ยังหาหัวไม่ได้ ดูแล้วขำไม่ออก ไม่มีความน่ารักเหมือนหมากับลิงในทีวี ที่แม้จะต่างพันธุ์ แต่พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นพวก (พรรค) เดียวกันจริงๆ ไม่ต้องคอยช่วงชิงความได้เปรียบ เพื่อแย่งหรือแสวงหาผลประโยชน์ และที่สำคัญไม่ต้องคอยระแวงว่าจะถูกทิ้ง หรือถูกแทงข้างหลัง

ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งหมดในภาพรวม สะท้อนให้เห็นสภาพการเมือง และคุณภาพของนักการเมืองของประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร และมีคุณภาพระดับไหน

สภาพการเมืองของไทยตอนนี้ นอกจากจะขาดความสมานฉันท์ ความรักความเอื้ออาทรต่อกันเหมือนลิงกับหมาแล้ว ยังเต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงไหวชิงพริบกัน ทำให้ขาดความบันเทิงทางอารมณ์และทำร้ายจิตใจอีกด้วย เพราะยิ่งดูยิ่งรู้สึกหดหู่ สู้ดูลิงกับหมาใน “ขำกลิ้ง ลิงกับหมา” ไม่ได้ น่ารัก น่าลุ้น และมีสาระกว่าเยอะ

หรือนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพเหล่านั้นลืมคิดเพราะขาดสติ หรือไม่เคยคิดเพราะขาดปัญญาว่า พฤติกรรมการแสดงออกของตนอาจเป็นตัวแบบที่ไม่ดีต่อความเป็นประชาธิปไตย ต่อคนในชาติ โดยเฉพาะต่อเยาวชนไทย

ยิ่งใกล้กำหนดวันเลือกตั้งเข้ามามากเท่าใด การแข่งขันช่วงชิง คะแนนเสียง ก็ยิ่งทวีความเข้มข้นและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

การใส่ร้ายป้ายสีทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้คู่แข่งเพลี่ยงพล้ำ บอบช้ำก็เพิ่มขึ้น

เพื่อช่วยกันสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ คนไทยทุกคนที่มีสิทธิ์ต้องออกไปใช้สิทธิ์ เพื่อสร้างความสงบสุขมั่นคงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ทำไมต้องมีความรุนแรง บอบช้ำ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม

ความเป็นประชาธิปไตยควรจะได้มาจากวิถีประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ใช่ “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา ไม่ได้ด้วยเจรจาก็ใช้บาทากระทืบ แต่พอได้คืบจะเอาศอก ปลิ้นปล้อนกลับกลอกตลอดเวลา...”

ความเป็นธรรมในสังคม ก็น่าจะเกิดจากความมีคุณธรรมของคนในสังคม เกิดจากการช่วยกันสร้างความเป็นธรรม ไม่ใช่ความรุนแรง

ทำไมความสามัคคี ความปรองดอง ความสมานฉันท์ จึงไม่เริ่มต้นด้วยความเป็นกัลยาณมิตร คิดดี พูดดี ทำดีต่อกัน

ทำไมโซ่ข้อกลาง ทางสายกลางจึงไม่ดำเนินตามแนวทางมรรคมีองค์แปด (มัชฌิมาปฏิปทา)

ทำไมไม่มาช่วยกันสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการเมือง ด้วยการช่วยกันคิด ช่วยกันพูด ช่วยกันทำการเมืองไทยให้ใสสะอาดเพื่อประเทศชาติและประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริง

มาชวนและช่วยกันก้าวข้ามประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ส่วนกลุ่ม เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมที่ใหญ่กว่าคือประเทศชาติและประชาชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน แผ่นดินอันเป็นที่เกิด ที่เติบโต ที่อยู่อาศัย เพื่อจะได้มีที่ตายอย่างสงบสุข สมสถานะและศักดิ์ศรีความเป็นคนของแผ่นดิน

นักการเมืองไทย พรรคการเมืองไทย ต้องมีจิตสำนึกทางการเมืองใหม่ ต้องมีจิตใหญ่ มีใจให้ประเทศชาติ ด้วยการช่วยกันทำการเมืองไทยให้ใสสะอาด

นักการเมืองไทย พรรคการเมืองไทยต้องไม่ซื้อเสียง ไม่โกงกิน จะได้ไม่สิ้นชาติ ไม่สิ้นความเป็นคนไทย

ตื่นเถิดนักการเมืองไทย อย่ามัว หลับใหล ลุ่มหลง
มีสติ ใช้ปัญญา กล้าชูธง ต้องมั่นคง คุณธรรม การทำดี


คนไทย ต้องมีจิตสำนึกทางการเมืองใหม่ ต้องมีจิตใหญ่ มีใจให้ประเทศชาติ ด้วยการช่วยกันทำการเมืองไทยให้ใสสะอาด มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ออกไปใช้สิทธิ์เลือกสรรคนดี มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถเข้าไปทำงานเพื่อชาติ เพื่อประชาชน

คนดีต้องไม่ให้เสียง เพียงเพื่อตอบแทนบุญคุณ เพราะประโยชน์สุขของประเทศชาติยิ่งใหญ่กว่าการทดแทนบุญคุณส่วนตัว

คนดีต้องไม่ยอมมอบเสียง เพียงเพราะมีความรักใคร่หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว เพราะเรื่องประชาธิปไตยใหญ่กว่าเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว

เรื่องของประเทศชาติ ยิ่งยิ่งใหญ่กว่า สำคัญกว่า และศักดิ์สิทธิ์กว่าการตอบแทนบุญคุณ และความความสัมพันธ์ส่วนตัว

คนไทยต้องไม่ขายเสียง ต้องไปใช้สิทธิ์ ต้องดูแล รักษา และพัฒนาชาติ ด้วยคุณธรรมและปัญญา

ตื่นเถิด ปวงชน คนไทย อย่ามัว หลับใหล ลุ่มหลง
มีสติ ใช้ปัญญา กล้าชูธง ต้องมั่นคง คุณธรรม การทำดี


ออกมาช่วยกันรณรงค์ ช่วยกันพัฒนาชาติ ช่วยกันทำให้การเมืองไทยใสสะอาด และเมื่อถึงเวลาไปลงคะแนนเสียง ช่วยกันออกไปเลือกคนดี มีจิตวิวัฒน์เข้าไปพัฒนาชาติ ไม่เลือกคนจิตวิบัติเข้าไปทำลายชาติ

คนดีไม่ขายเสียง...คนดีไม่ให้เสียง...คนดีไม่มอบเสียง

โลกร้อน – ใช่ว่าไม่เคยมี แต่ครั้งนี้อันตราย

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2550

ผู้เขียนเป็นแพทย์ จึงต้องเรียนวิทยาศาสตร์มาบ้าง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน แต่เนื่องจากไปเรียนต่อทางด้านพยาธิวิทยาที่อเมริกา จึงต้องเรียนวิทยาศาสตร์กายภาพมากเป็นพิเศษ เพราะวิชาพยาธิวิทยาไม่ได้เรียนด้านการรักษา – นอกจากวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน - แพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาคนป่วยจะต้องอาศัยการฝึกฝนหาประสบการณ์ด้วยตัวเอง ทั้งยังต้องอาศัยทักษะและศิลปะว่าด้วยจิตวิทยาพร้อมๆ กันไปด้วย ในขณะที่พยาธิวิทยาจะเรียนหนักไปทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสภาวะผิดปกติ และความเป็นมาของโรค โดยเน้นที่การวินิจฉัยสุดท้ายของเซลล์เนื้อเยื่อและระบบอวัยวะด้วยการผ่าศพผู้ตายจากโรคต่างๆ

ที่พูดมายาวก็เพื่อให้สาธารณชนโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์สายตรงรู้ว่า พยาธิแพทย์ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เน้นการวิจัยเป็นพื้นฐานเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์สายตรงทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้นเรื่องของโลกร้อนจึงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนสามารถแสดงความเห็นเชิงวิทยาศาสตร์ได้ ประเด็นก็คือ ผู้เขียนที่ติดตามเขียนเรื่องของโลกร้อนมานานกว่า ๑๕ ปี ค่อนข้างมีความเห็นที่ตรงไปตรงมาผิดไปจากนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ บ้าง

เมื่อวาน หลานๆ มาเยี่ยมเพราะไม่ค่อยสบาย โดยเริ่มที่เป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดาๆ เพียงแต่ว่ามันเป็นนานเกินกว่า ๕๐ วันเพราะไม่ได้พักผ่อนจริงๆ เลย หลานชายคนหนึ่งที่มีอายุเพิ่งจะ ๑๙ ปี กำลังเรียนวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลและเรียนค่อนข้างดีมากๆ บ่ายวันนั้นแดดจ้าและร้อนมากทั้งยังไม่ค่อยหายดี เราจึงมีเวลาคุยกันไม่นานนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงเวลาจะสั้นแต่เราก็ได้พูดกันถึงสภาวะโลกร้อน ซึ่งเชื่อว่านักเรียนที่เรียนสาขาวิทยาศาสตร์สายตรงในมหาวิทยาลัยทุกคนต้องสนใจเป็นพิเศษมากกว่านักวิชาการปัญญาชนคนทั่วไป เพราะต้องหาสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนจนผิดปกติว่าเกิดจากอะไรอื่นได้บ้าง นอกจากความมักง่ายเอาแต่ได้ของมนุษย์ตามที่พูดๆ กัน อีกประการหนึ่งเพราะว่าสำหรับเด็กในวัยนี้ ในไม่ช้าไม่นาน ทุกคนจะต้องได้รับผลกระทบจากผลพวงของสภาวะโลกร้อนในรูปแบบต่างๆ ด้วยตัวเองทั้งนั้น

ดาวเคราะห์โลกที่เกิดตามมาหลังจากมีดวงอาทิตย์ได้ไม่นานเมื่อประมาณ ๔,๖๐๐ ล้านปีก่อน โดยเริ่มต้นมีวิวัฒนาการของชีวิตขึ้นมาเมื่อราวๆ ๓,๘๐๐ ล้านปีก่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์คลาสสิคที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยก่อนปี ๑๙๘๐ - ๑๙๘๕ แทบทั้งหมดหรือทั้งหมดก็ว่าได้ ล้วนเรียนมาว่าชีวิตมีขึ้นมาในโลกได้โดยความบังเอิญ เพราะสิ่งแวดล้อมบนผิวโลกมีความเหมาะสมที่เอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตสามารถมีวิวัฒนาการขึ้นมาได้ โดยทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากจะยอมรับในทฤษฏีอสุจิสากล (Panspermia Theory) ที่ว่า มีสารอินทรีย์แห่งชีวิต เช่น กรดอะมิโน หรือกระทั่งโมเลกุลของไวรัส ตกลงมาจากฟากฟ้าด้วยการอาศัยมากับอุกกาบาต นั่นทำให้เรานึกถึงเรื่องของอาภัสราพรหมซึ่งมีแสงในตัวเองที่จุติลงมากินง้วนดินบนโลก ใน อัคคัญสูตร ของพุทธศาสนาเรา และหากเป็นเช่นนั้นจริง มันก็จะไม่มีเรื่องของความบังเอิญอีก แต่น่าจะเป็นไปได้ว่าการสรรค์สร้างวิวัฒนาการทั้งหมดของโลกและจักรวาลเป็นไปตามรูปแบบของพิมพ์เขียว ดังที่ พอล เดวีส์ ไมเคิล โปแลงยี เซอร์ เฟรด ฮอยด์ และใครต่อใครคิด รวมทั้งผู้เขียนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์สายตรงด้วย

สำหรับบ้านเรานั้น ตอนนี้ใครๆ ก็รู้ว่าโลกร้อนขึ้นมาก และเกิดจากฝีมือของเราเอง เพราะความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ที่เพียงสิบปีกว่าก่อน พวกนักวิทยาศาสตร์สายสังคมโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองส่วนมากพยายามปฏิเสธคอเป็นเอ็นว่า ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน โลกมันร้อนหรือเย็นเป็นน้ำแข็งของมันเอง คนไม่เกี่ยว แต่วันนี้คงไม่มีใครดันทุรังไม่เชื่ออีก เมื่อนักวิทยาศาสตร์กว่า ๒,๕๐๐ คนของไอพีซีซี (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ก็สรุปเช่นนั้นอย่างเป็นเอกภาพ เมื่อโลกร้อนขึ้นกว่าเก่ามาก แถมแดดก็ร้อนไปตามอายุของดวงอาทิตย์ที่แก่ตัวลงทุกๆ วัน ผิวของน้ำในทะเลในมหาสมุทรก็จะร้อนตามไปด้วย และจะระเหยเป็นเมฆที่ก่อฝนก่อพายุรุนแรงจนทำให้น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มที่โน่นที่นี่บ่อยๆ ตอนนี้และวันนี้ ไม่ว่าใครในโลกไม่เฉพาะที่บ้านเราก็ประสบกับสภาวะโลกร้อนจากภาวะเรือนกระจก ที่มีสาเหตุมาจากการพัฒนาสู่ความเจริญก้าวหน้าบนพื้นฐานของเงินกับระบบเศรษฐกิจเสรี ใครก็ตามที่หน้าดำคร่ำเครียดอยู่กับความโลภและความโลภตลอดเวลา ไม่มีทางที่จะมองเห็น เพราะมัวแต่หวังลมๆ แล้งๆ ว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ก็ขอบอกที่นี่และวันนี้ว่า หากเราไม่เลิกแสวงหาเงินและระบบเศรษฐกิจการตลาดเสรีทั่วโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้หมดภายในสองหรือสามปีนี้ ระหว่างนี้ ไม่ว่าเราจะสามารถหาพลังงานทดแทนอย่างไร หรือปลูกป่าอีกปีละกี่ล้านไร่ – ซึ่งเราควรและต้องทำมาตั้งแต่เมื่อ ๒๐ ก่อน อย่างน้อยก็ควรพิจารณาสิ่งที่ผู้เขียนได้พูดได้เขียนแม้ที่คอลัมน์นี้มานานกว่า ๑๕ ปี - มาถึงวันนี้ อะไรๆ ก็สายเกินไปจนสุดจะช่วย แม้แต่จะผ่อนหนักเป็นเบาอย่างไรได้ ดังที่ ปีเตอร์ รัสเซลล์ นักฟิสิกส์จากเคมบริดจ์กล่าวว่า มันเป็นกรรมร่วมของโลกและเผ่าพันธุ์ที่ต้องผ่านบทเรียนอันสุดเจ็บปวดในครั้งนี้ ที่เราส่วนน้อยนิดผู้สามารถอยู่รอดจากมหันตภัยธรรมชาติที่ต้องเกิดกับเราทั้งโลกในไม่ช้านี้ จะต้องนำไปสะท้อนอย่างล้ำลึกและต่อเนื่องที่ภายใน และหนทางนี้เท่านั้นที่จะช่วยได้

หากเราย้อนกลับไปมองเรื่องของฟิสิกส์ปฐพีวิทยาของโลกกายภาพในอดีต โลกเราเคยปรากฏมีสภาวะโลกร้อนที่คล้ายคลึงกับสภาพที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกในวันนี้พรุ่งนี้มาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้ง สำหรับผู้เขียน ล้วนมีความหมายที่อาจใช้อธิบายจักรวาลที่มีแผนการสร้างสรรค์ไว้ล่วงหน้า สภาวะโลกร้อนครั้งหลังสุดที่เหมือนๆ กับคราวนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงรอยต่อระหว่างปลายยุคพาลีโอซีน (Paleocene) กับอีโอซีน (Eocene) – เมื่อราวๆ ๕๕ ล้านปีมาแล้ว ช่วงเวลาที่ต้นตระกูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเริ่มปรากฏขึ้นมาในโลกเป็นครั้งแรก จากการที่อยู่ๆ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนถึง ๐.๓ – ๓.๐ ล้านล้านตัน (terraton) ถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศโลก ส่วนสาเหตุที่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกอยู่ๆ ก็พรวดพราดถูกปล่อยออกมาจากไหนและอย่างไรนั้น แม้กระทั่งบัดนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ บ้างก็ว่ามาจากการปล่อยของก๊าซมีเธนที่ฝังตัวอยู่ในผลึกน้ำแข็งใต้ท้องมหาสมุทรใกล้ๆ ขั้วโลกเหนือ บ้างก็ว่าเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเหนืออีกเหมือนกัน การระเบิดทำให้ก๊าซคาร์บอนใต้ดินถูกปล่อยออกมา (Nature, Jun. 2004) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่เคยเชื่อหรือยอมรับเรื่องความบังเอิญหรืออุบัติเหตุ เพราะเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับโลกกับจักรวาลรวมทั้งกับมนุษย์แต่ละคนหรือสังคมแต่ละสังคม ล้วนมีแผนหรือพิมพ์เขียวเขียนไว้ล่วงหน้าทั้งนั้น นั่นประกอบด้วยสองกลไกที่แยกกันทำ คือ กรรมร่วมของเผ่าพันธุ์หนึ่ง กับทฤษฏีการจัดองค์กรให้กับตัวเองดังที่เคยอธิบายไปแล้วหลายครั้ง

เพื่อเป็นการเปรียบเทียบระหว่างกัน ตอนนี้เราได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกไปเรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยก็ราวๆ ครึ่งล้านล้านตัน หรือราวๆ ๐.๕ terraton ซึ่งอยู่ในขอบเขตสูงกว่าระดับต่ำที่สุดของสภาวะโลกร้อนเมื่อ ๕๕ ล้านปีก่อน งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้จากหลายมหาวิทยาลัยชี้บ่งว่า เมื่อ ๕๕ ล้านปีก่อน อุณหภูมิเฉลี่ยในแถบอบอุ่นของโลก เช่นที่ยุโรปสูงขึ้นไปกว่าปกติถึง ๘ องศาเซลเซียส ในขณะที่บริเวณแถบร้อนเช่นบ้านเรา สูงขึ้นไปกว่าปกติเพียง ๕ องศาเซลเซียส แต่ก็สูงพอที่จะทำให้ป่าฝนเขตร้อนกลายเป็นพุ่มไม้เตี้ยๆ สลับกับทะเลทรายไปทั้งหมด (Hadley Center 2004) และโลกอาจจะต้องใช้เวลาราวๆ ๑ แสน – ๒ แสนปีในการรักษาความป่วยเจ็บเป็นไข้สูงให้กับตัวเอง ที่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้นก็เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องใช้เวลานานกว่าจะสูญสลาย แม้เมื่อ ๕๕ ล้านปีก่อนอาจเริ่มด้วยก๊าซมีเธน แต่มีเธนก็ย่อมถูกออกซิไดซ์เป็นก๊าซคาร์บอนกับละอองน้ำวันยังค่ำ

ส่วนเรื่องของน้ำท่วมโลกที่พูดๆ กันนั้น เป็นเพียงการเปรียบเปรย เพราะน้ำคงจะไม่มีทางท่วมโลกท่วมแผ่นดินรวมทั้งภูเขาเหมือนหนังเรื่อง Waterworld จริงๆ แล้วการที่น้ำทะเลจะสูงมากกว่า ๘๐ - ๙๐ เมตร คงเป็นได้ยาก เพราะนั่นหมายถึงน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกาต้องละลายกลายเป็นน้ำไปแทบทั้งหมด แต่เป็นไปได้มากที่ระดับน้ำทะเลจะสูงกว่าระดับปัจจุบันขึ้นไปถึง ๒๐ - ๔๐ เมตร ภายใน ๓๐ ปีข้างหน้าตามที่ เจมส์ ลัฟล็อค ยืนยันว่าน่าจะเกิดมากกว่าไม่เกิด แล้วเราคนไทยโดยเฉพาะคนภาคกลางจะไปอยู่กันที่ไหนในเวลานั้น?

ก็เห็นมีแต่นักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนที่ยังคงดันทุรังคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม โดยคาดหวังว่ามนุษย์และสังคมประเทศชาติอาจสามารถรู้ตัวได้ทันและเลิกคิดที่จะแข่งขันกัน ดังนั้นจึงคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่มนุษยชาติโดยรวมจะหวนกลับมาร่วมมือกันลดการเผาผลาญฟอสซิลคาร์บอนลงอย่างฉับพลันทันที (drastic world -wide reduction) ทำให้อุณหภูมิโลกที่คาดว่าจะสูงมากในปลายศตวรรษนี้อาจจะลดลงมาสูงเพียง ๒ องศาเซลเซียสเท่านั้น ทำให้เรื่องของน้ำท่วมโลกเป็นไปได้ยาก เพราะอย่างดีระดับน้ำทะเลที่อาจสูงขึ้นบ้าง ก็คงแค่ไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร (Tom Wigley and G.A. Meehl, Science, Mar. 2005) แต่ก็เห็นได้ชัดว่านักอุตุนิยมทั้งสองคนนั้น ไม่ได้นำเรื่องของสภาวะโลกในปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงของการย้อนกลับไปมาของความร้อนที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ (positive feedbacks) ไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากสภาวะเรือนกระจกที่ทำให้น้ำแข็งในที่ต่างๆ เช่น จากขั้วโลกเหนือหรือยอดเขาสูงละลาย หรือป่าไม้ที่ช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือความร้อนจากการพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น เครื่องทำความเย็น และจากซีเอฟซีที่ยังคงมีใช้อยู่บ้าง และที่สำคัญที่สุดที่รายงานดังกล่าวไม่ได้นำมาคิดเลยคือ ระบบนิเวศของป่าฝนเขตร้อนกับระบบนิเวศของสาหร่ายโฟโตแพลงตอนสีเขียวที่ลดน้อยลงมากเมื่อโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ พืชพันธุ์ไม้สีเขียวพวกนี้ทำหน้าที่ดูดซับ หรือ ปั้ม (pump) ก๊าซคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศอันเป็นกลไกธรรมชาติที่สุดสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องสูญเสียไป ทำให้เกิดฟีดแบ็คกลับไปกลับมาจนอุณหภูมิสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ผู้เขียนเชื่ออย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์กายภาพในเรื่องของแรงที่กระทำไปย่อมจะก่อแรงสะท้อนที่เท่ากันตามกฏการเคลื่อนที่ข้อที่สามของนิวตัน ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนยังรู้ว่าโดยอภิปรัชญาที่ต่อยอดบนแควนตัมเมคานิกส์ซึ่งไม่มีตรรกะเลย แต่ได้รับการยอมรับกันโดยนักฟิสิกส์ระดับนำจำนวนมากของโลก ทำให้พวกเขาเหล่านั้นรวมทั้งผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ไม่มีอะไรในโลกในจักรวาลที่ปรากฏขึ้นมาด้วยความบังเอิญ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีคุณค่าและความหมายหรือมีเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็น ชี้วัดหรือคาดคิดด้วยสติปัญญาหรือสุตมยปัญญาไม่ได้ เราจึงเชื่อว่าเมื่อมองไม่เห็นและคิดไม่ถึงด้วยตรรกะและเหตุผลของตนแล้ว สิ่งนั้นปรากฏการณ์นั้นก็จะต้องไม่มี หรือ “บังเอิญ” มีขึ้นมาอย่างไร้สิ้นซึ่งความหมาย
เพราะฉะนั้น ในความรู้ความเห็นของผู้เขียน อุกกาบาตขนาดยักษ์ที่ตกลงมาชนโลกเมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อนจนทำให้ไดโนเสาร์ต้องตายไปทั้งหมด จะต้องมีความหมายหรือมีความสัมพันธ์กับวิวัฒนาการของชีวิตที่ไล่สูงขึ้นไปกว่านั้น สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดเมื่อ ๕๕ ล้านปีในยุคอีโอซีน ที่ทำให้โลกร้อนอยู่นานร่วมๆ ๒ แสนปี จนชีวิตอยู่แทบไม่ได้ นอกจากพื้นดินบริเวณใกล้ๆ ขั้วโลก ดังที่ปรากฏร่องรอยวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือแมมมอลชี้บ่งว่า เป็นแผนแม่แบบพิมพ์เขียวของจักรวาลที่แผ้วทางเพื่อให้ชีวิตที่อยู่สูงกว่าสามารถมีวิวัฒนาการขึ้นมาได้ ในความเห็นส่วนตัวเช่นเดียวกัน สภาพโลกร้อนเกิน ๕ องศาจะทำให้ชีวิตส่วนใหญ่อยูไม่ได้ในไม่กี่สิบปีข้างหน้า นอกจากแผ่นดินใกล้ๆ ขั้วโลก เช่น กรีนแลนด์ - ที่อาจใช้เเวลา ๑ แสนปีกว่าที่ก๊าซคาร์บอนจะสูญสลายไปหมด - และช่วงเวลาต่อไปจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่มนุษยชาติสามารถวิวัฒนาการต่อไปได้ และคราวนี้ไม่ว่าเราจะเหลือน้อยสักปานใด จะไม่ใช่เรื่องของรูปกายที่วิวัฒนาการจบไปแล้ว แต่จะเป็นวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณ ที่สำหรับผู้เขียน เส้นทางดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายของจักรวาล

บ้านเมืองจะพ้นวิกฤตเพราะจิตวิวัฒน์ (เท่านั้น)

โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 กันยายน 2550

ในประวัติศาสตร์บ้านเมืองใดบ้านเมืองหนึ่ง อาจมียุคที่ติดขัดใหญ่เป็นช่วงระยะเวลายาวนานหาทางออกไม่ได้ แต่ในที่สุดก็หลุดออกจากความติดขัดใหญ่ๆ หรือวิกฤตการณ์ได้ จึงควรศึกษาว่าบ้านเมืองนั้นๆ ในยุคนั้นๆ มีอำนาจอะไรมาทำให้วิกฤต และทำอย่างไรจึงหลุดออกจากสภาวะวิกฤตได้ จะขอยกตัวอย่างสองประเทศ คือ หนึ่ง อินเดีย ถูกอำนาจจักรวรรดินิยมอันเกรียงไกรของอังกฤษยึดและปกครองประเทศเสมือนเสือขยุ้มเนื้ออยู่นานนับร้อยปี ในยุคล่าอาณานิคม ชาวยุโรปมีเรือรบที่ทำด้วยเหล็กสามารถวิ่งไปได้รอบโลกพร้อมทั้งปืนใหญ่และปืนกล อำนาจยิงของชาวยุโรปนั้นมหาศาลอย่างที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่มีอารยธรรมเก่าแก่ใดๆ เช่น อารยธรรม ๕,๐๐๐ ปี ของลุ่มแม่น้ำสินธุหรือลุ่มแม่น้ำฮวงโหจะทานอำนาจยิงอันมหาศาลของชาวยุโรปได้ ที่เมืองอมฤตสระของอินเดีย ประชาชนประท้วงการปกครองของอังกฤษ ถูกทหารอังกฤษใช้ปืนกลยิงตายหมดทุกคน ความพยายามที่จะปลดปล่อยตนเองไปสู่อิสรภาพของคนอินเดียทำอย่างไรๆ ก็ไม่สำเร็จ อินเดียเกิดมีมหาบุรุษ คือ มหาตมะ คานธี ที่นำชาวอินเดียต่อสู้ด้วยอหิงสธรรม เริ่มแรกไม่มีใครเชื่อว่าขบวนการสันติวิธีจะสู้กับปลายกระบอกปืนได้อย่างไร การณ์กลับปรากฏว่าความรุนแรงไม่มีอำนาจในการต่อสู้กับความรุนแรงที่ใหญ่กว่า แต่อหิงสธรรมกลับเอาชนะปลายกระบอกปืนได้ อินเดียได้รับอิสรภาพและหลุดออกจากความติดขัดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ได้

สอง แอฟริกาใต้ คนขาวได้เข้าไปยึดครองแอฟริกาใต้อันเป็นดินแดนของคนผิวสีและใช้นโยบายการปกครองแบบแบ่งแยกผิวที่เรียกว่า อพาร์ธีต (Apartheid) อย่างรุนแรง มหาตมะคานธีเมื่อเป็นทนายความหนุ่มไปว่าความที่แอฟริกาใต้ ก็เคยถูกจับโยนออกจากรถไฟ เพราะเป็นคนผิวสีแต่สะเออะไปนั่งชั้นหนึ่ง คนพื้นเมืองพยายามต่อสู้เท่าใดๆ ก็ไม่สำเร็จ ถูกฆ่าตายบ้างถูกจำคุกบ้าง เนลสัน แมนเดล่า ผู้นำการต่อสู้คนหนึ่ง เคยถูกลอบสังหารหลายครั้ง และถูกจำคุกถึง ๒๗ ปี ท่ามกลางความกดดันของนานาชาติอย่างไรๆ คนขาวก็ไม่กล้าลงจากอำนาจ เพราะกลัวว่าถ้าลงจากอำนาจแล้วจะถูกคนดำฆ่า แต่ เนลสัน แมนเดล่า ประกาศแนวทางอหิงสธรรมว่าจะไม่ฆ่าล้างแค้นคนขาว จนกระทั่งคนขาวเชื่อถือไว้วางใจ ยอมลงจากอำนาจ แอฟริกาใต้ก็ได้ปกครองตนเอง คนขาวกับคนดำที่ขับเคี่ยวเข่นฆ่ากันมากว่า ๑๐๐ ปี ก็สามารถอยู่ร่วมกันด้วยสันติได้ ประเทศหลุดจากความติดขัดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เพราะอหิงสธรรม เนลสัน แมนเดล่า กลายเป็นรัฐบุรุษที่ทั่วโลกให้ความเคารพ

ทั้ง มหาตมะ คานธี และ เนลสัน แมนเดล่า มีจิตใหญ่หรือจิตวิวัฒน์ จึงสามารถใช้อหิงสธรรมเป็นเครื่องมือได้ คนที่มีจิตเล็กอยู่ในระดับของโลภะ โทสะ โมหะ ย่อมเอารัดเอาเปรียบ ใช้อำนาจ จะเป็นอำนาจเงิน หรืออำนาจติดอาวุธ หรืออำนาจรัฐ ย่อมไม่สามารถใช้อหิงสธรรมได้ ในทั้งกรณีอินเดียและแอฟริกาใต้ในที่สุดคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่าย ทั้งคนขาวและคนดำ ต้องมีจิตวิวัฒน์ระดับใดระดับหนึ่งจึงสามารถตกลงยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธีได้

ทั่วโลกที่วิกฤตอยู่ด้วยประการต่างๆ ขณะนี้คงจะไม่มีทางออกด้วยระดับจิตต่ำๆ อันประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ดังจะเห็นได้ว่าไม่สามารถแก้ความยากจนและความอยุติธรรมในสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาความขัดแย้ง ด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจ (โลภะ) หรือวิธีการทางสงคราม (โทสะ) ได้ เพราะทั้งสองล้วนเกิดจากโมหะ ความหลงหรือความไม่รู้ ทำให้ทำการโดยใช้อำนาจ จะเป็นอำนาจเงินหรืออำนาจติดอาวุธก็ตาม มนุษย์ล้วนใช้ “เกียร์อำนาจ” ในการดำเนินการต่างๆ กันมาโดยตลอด “เกียร์อำนาจ” ไม่สามารถพาสังคมมนุษยชาติไปสู่สันติสุขได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์ของการพัฒนา จะพัฒนาด้วยระดับจิตต่ำๆ อยู่ในภพภูมิแห่ง โลภะ โทสะ โมหะ ต่อไปไม่สำเร็จแล้ว จำเป็นต้องยกระดับจิตไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น นั่นคือต้องเปลี่ยนจาก “เกียร์อำนาจ” มาเป็น “เกียร์จิตวิวัฒน์”

ประเทศของเราก็พยายามพัฒนากันมาพักใหญ่แล้ว แต่ต้องเรียกว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก เราไม่สามารถแก้ความยากจนและความอยุติธรรมในสังคมได้ ช่องว่างระหว่างคนรวยยิ่งห่างมากขึ้น อันนำไปสู่ปัญหาทางสังคม จิตใจ และการเมืองอย่างไม่มีทางออก เราแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงได้ การเมืองเรื่องประชาธิปไตยก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับแล้วรวมทั้งฉบับปัจจุบันก็ยังมองไม่เห็นแสงว่าแล้วการเมืองจะดีขึ้นได้อย่างไร ทั้งหมดรวมกันเป็นความติดขัดครั้งใหญ่ของประเทศ ไม่รู้ว่าไปพ้นวิกฤตการณ์เรื้อรังได้อย่างไร

สังคมไทยมีวัฒนธรรมอำนาจ คือคิดเชิงอำนาจ พูดเชิงอำนาจ สัมพันธ์เชิงอำนาจ และใช้อำนาจในการดำเนินการต่างๆ เดิมก็ใช้อำนาจรัฐ ต่อมาก็มีอำนาจเงินเข้ามาอีกอย่าง ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจเงินไม่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและยาก อำนาจรัฐไม่เคยแก้ปัญหาความยากจนและความอยุติธรรมในสังคมได้ แต่มักเป็นตัวสร้างความอยุติธรรมเสียเอง รัฐไม่สามารถรักษาสิ่งแวดล้อมและจัดการการใช้ทรัพยการอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนได้ การปฏิวัติรัฐประหารก็ทำกันมาหลายครั้งแล้วก็ไม่ปรากฏว่าแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ ถ้าดูแบบแผนการออกเสียงเลือกตั้งและประชามติรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นว่าอำนาจรัฐไม่มีน้ำยาต่อการออกเสียงลงคะแนนของประชาชน เมื่อคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เรียกว่ามีอำนาจรัฐและอำนาจเงินสุดๆ แล้วก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ มิหนำซ้ำยังเกิดวิกฤตการณ์ที่มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “วิกฤตที่สุดในโลก”

อันที่จริง คุณทักษิณเป็นคนเก่งมาก แต่ในเมื่อระดับจิตยังต่ำอยู่ในภพภูมิของ โลภะ โทสะ โมหะ จึงสูญเสียโอกาสที่จะพาประเทศหลุดออกจากความติดขัดครั้งใหญ่ ลองนึกภาพว่าถ้าคุณทักษิณมีจิตใหญ่ทำนองเดียวกับ มหาตมะ คานธี หรือ เนลสัน แมนเดล่า ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร หลายคนก็อาจจะหัวเราะว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ นี้ก็เป็นเรื่องของคุณทักษิณจะต้องใช้โยนิโสมนสิการเอาเอง คุณทักษิณเป็นคนชอบเอาชนะ แต่ชนะอะไรก็ไม่เท่าชนะตัวเอง

นักการเมืองทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน คงจะไม่มีทางรวยหรือเก่งเท่าคุณทักษิณ ซึ่งก็เห็นแล้วว่า แม้รวยและเก่งขนาดนั้นยังไปไม่รอด ถ้าขาดจิตวิวัฒน์ แล้วจะทำไปแบบนั้นอีกทำไม นักการเมืองที่จิตอยู่ในระดับต่ำในวังวนของเงินและอำนาจ คงจะช่วยบ้านเมืองไม่ได้ มีแต่จะซ้ำเติมให้วิกฤตมากขึ้น หากนักการเมืองเกิดจิตสำนึกใหม่ มีจิตใหญ่ บ้านเมืองจะพ้นจากความติดขัด

คุณทักษิณจะคิดยังไงต่อไปก็ตามที ประเทศไทยจะหลุดจากความติดขัดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์นี้ไม่ได้ สังคมไทยยังจะเข้า “เกียร์อำนาจ” ต่อไปเห็นจะไม่ได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนเกียร์แห่งการพัฒนามาเป็น “เกียร์จิตวิวัฒน์” คนไทยทุกคนจำเป็นต้องหันมามองทรัพยกรอันยิ่งใหญ่ภายในของตน ทุกคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีซ่อนอยู่ในหัวใจ ทุกคนมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์อยู่ในตัวและมีศักยภาพที่จะทำอะไรดีๆ ขอให้เราสลัดมายาคติที่ครอบงำอยู่ เกิดจิตสำนึกอันใหญ่หลวงว่าเรามีเกียรติและมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน ในความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มีแต่ กิน ขี้ ปี้ นอน เยี่ยงสัตว์เท่านั้น แต่เราสามารถมีจิตสูงที่ทำอะไรดีๆ ได้ มีแต่จิตวิวัฒน์เท่านั้นที่จะพาเราออกจากความติดขัดครั้งใหญ่ของบ้านเมืองและของโลกได้

จิตตปัญญาศึกษากับการบ่มเพาะญาณทัศนะ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 22 กันยายน 2550

ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้ ผมยังรู้สึกว่าอยากจะเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษาอยู่ดี เพราะคิดว่ายังเป็นเรื่องราวที่มีความสำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับสังคมในอนาคตอันใกล้นี้ หลายๆ ท่านพยายามขอให้ช่วย “นิยาม” หรือขอช่วย “ให้คำจำกัดความ” ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านๆ มาหลายๆ ท่านก็อาจจะไปเข้าใจว่า “จิตตปัญญาศึกษา” คือ “การนั่งสมาธิ” หลายๆ แห่ง หลายๆ โรงเรียน หลายๆ หน่วยงานก็จะมีหลักสูตรให้นักเรียนนักศึกษา “ไปเข้าวัดแบบเจ็ดวันเจ็ดคืน” ซึ่งการทำแบบนั้นก็อาจจะ “ทั้งใช่และไม่ใช่” “จิตตปัญญาศึกษา” ในแนวทางที่ผมเข้าใจ

เพราะถ้าจะถามความเห็นของผมเป็นการส่วนตัวอย่างสั้นที่สุดว่า “อะไร” คือ “ข้อแตกต่าง” สำคัญที่สุดที่ “จิตตปัญญาศึกษา” แตกต่างไปจากระบบการศึกษาทั่วไป

ผมอยากจะขอตอบด้วยคำๆ เดียวว่า “ญาณทัศนะ”

กล่าวคือระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปไม่ได้เน้นหรือนำพาหรือหล่อเลี้ยงหรือเอื้อที่จะทำให้เกิด “การบ่มเพาะญาณทัศนะ” แต่ใน “จิตตปัญญาศึกษา” คือระบบการศึกษาที่เน้นถึงการหล่อเลี้ยงให้ก่อเกิดและนำพา “ญาณทัศนะ” มาใช้

“ญาณทัศนะคืออะไร?” ผมคงจะไม่สามารถอธิบายได้โดยละเอียดในบทความชิ้นนี้ แต่ญาณทัศนะเป็นคุณสมบัติเป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน เหมือนกับเป็น “ความรู้สึกพิเศษ” ที่ปิ๊งแว้บออกมาในสภาวะที่เหมาะสม นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ต่างก็อาศัย “ญาณทัศนะ” ในการทำงานและค้นพบ “งานชิ้นโบว์แดง” ของตัวเองมาทั้งหมดทั้งสิ้น

แต่มนุษย์ในปัจจุบัน “ถูกทำให้เชื่อ” เฉพาะเรื่อง “เหตุและผลในเชิงเส้นตรง” เท่านั้น และค่อยๆ ให้ความสำคัญกับ “ญาณทัศนะ” น้อยลงไปเพราะคิดว่าไม่มีเหตุมีผล ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว “ญาณทัศนะ” มีเหตุและมีผลแต่เป็นไปในเชิงที่ซับซ้อนและไม่เป็นเส้นตรง เป็นสมการหลายชั้น

ในบทความชิ้นนี้ผมอยากจะเน้นให้เห็นถึง “ความสำคัญ” ของ “ญาณทัศนะ” ที่ระบบการศึกษาทั่วไปได้ละเลย จนทำให้การเรียนรู้ในเรื่องนี้ตกหล่นและขาดหายไป

ถ้าเราจะลองมาดูเรื่อง “ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของมนุษย์” ของดรายฟัสแอนด์ดรายฟัสที่ได้ทำวิจัยไว้ และพบว่าเราพอจะแบ่ง “ประสิทธิภาพการเรียนรู้” ออกมาได้เป็นห้าขั้นดังต่อไปนี้คือ

ขั้นแรก เมื่อเราเริ่มเรียนรู้อะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็จะเริ่มจากการเป็น “เด็กฝึกงาน” ก่อน เด็กฝึกงานก็จะทำอะไรตามขั้นตามตอน ตามกติกาทุกอย่าง เถรตรง เช่น เมื่อเริ่มเรียนดนตรีเราก็จะเริ่มจากการฝึกทำเสียงเบสิกต่างๆ

ขั้นที่สอง เป็น “เด็กฝึกงานก้าวหน้า” ก็จะเริ่มพลิกแพลงได้มากขึ้น เริ่มมีสถานการณ์บางอย่างเข้ามาทำให้เราไม่ต้องเถรตรงตามทฤษฎีตามขั้นตอนที่กำหนด เพราะเราเริ่มเรียนรู้แล้วว่า เออ ... มันพอจะพลิกแพลงได้บ้างแล้วนะ มันไม่ได้เสียหายอะไรนะ อะไรทำนองนั้น

ขั้นที่สาม เป็น “คนทำงานเป็น” คือเมื่อทำงานไปก็เริ่มสามารถก่อเกิดเป็น “ประสบการณ์” ในการทำงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ทั้งสามขั้นที่ว่านี้ก็เป็นเพียง “การเรียนรู้” ที่อาศัยการทำงานเชิง “เหตุและผล” ที่ใช้เพียงสมองซีกซ้ายที่ทำงานเกี่ยวกับตรรกะเหตุผลเท่านั้น

ขั้นที่สี่ เป็น “คนทำงานเก่ง” ในขั้นตอนนี้จะมีเรื่องราวของ “ญาณทัศนะ” เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ในขั้นที่สี่นี้ คนทำงานเก่งจะเริ่มฝึกฝนตัวเองในการใช้ “ญาณทัศนะ” ซึ่งจะเกิดขึ้นมาได้เมื่อสมองทั้งก้อนสามารถทำงานประสานสอดคล้องกัน

ขั้นที่ห้า เป็น “เซียน” ซึ่งเป็นขั้นตอนการเรียนรู้สูงสุดของมนุษย์ พัฒนาได้เต็มศักยภาพของมนุษย์ คือ สามารถนำ “ญาณทัศนะ” เข้ามาใช้ได้อย่างจริงจังเป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเอง

และในชีวิตความเป็นจริงแล้ว มนุษย์สามารถที่จะ “พลิกแพลง” การทำงานของตัวเองไปได้ไกลกว่าการเรียนรู้ในสามขั้นตอนแรกที่เอ่ยถึงมาเบื้องต้นนี้ เช่น นักการตลาดที่เป็นเซียนจริงๆ แม้จะอาศัยข้อมูลเชิงตัวเลข แต่ในช่วงของการตัดสินใจจริงๆ นั้น พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจเรื่องสำคัญบนฐานของตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาศัย “ความรู้สึกลึกๆ” อะไรบางอย่างและหลายๆ ครั้งการตัดสินใจแบบนั้นดูเหมือนจะ “ขัดแย้ง” กับตัวเลข ขัดแย้งกับเหตุและผลที่ควรจะเป็น

“ความรู้สึกลึกๆ อะไรบางอย่าง” นี่แหละคือ “ญาณทัศนะ”

หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าสองขั้นตอนหลังนั้นเป็นเรื่องของ “ประสบการณ์” ที่ทำงานไปนานๆ ก็สามารถก่อเกิดได้เอง แต่เรื่องราวอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้คนมากมายทำงานมาตลอดชีวิตก็อาจจะทำได้เพียงแค่ “คนทำงานเป็น” หรือขั้นที่สามเท่านั้น ในขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สามารถพัฒนาความสามารถในเรื่องราวบางอย่างได้ตั้งแต่ยังอายุไม่มาก

หลายๆ คนอาจจะไปเรียกขั้นตอนที่สี่และที่ห้านี้ว่า “เป็นพรสวรรค์”

ผู้ช่วยทันตแพทย์ผู้หนึ่งยกมือขึ้นทันทีเมื่อผมถามในเวิร์คช็อปครั้งหนึ่งถึง “ประสบการณ์ในการเป็นเซียน” ของผู้เข้าร่วมแต่ละท่านที่ประกอบไปด้วยพยาบาลอาวุโสหลายท่าน ผมก็งงๆ มากว่า “เอ๊ะ หรือว่าน้องผู้ช่วยท่านนี้จะเข้าใจเรื่องที่ผมอธิบายไปผิด” ผู้ช่วยทันตแพทย์ที่เพิ่งทำงานได้สองวันจะมีประสบการณ์อะไรที่อยู่ในขั้นที่ห้าซึ่งมีญาณทัศนะได้ เธอบอกว่า “เธอมีประสบการณ์เป็นเซียนในเรื่องระนาด” ตอนที่หัดเรียนใหม่ๆ ก็ต้องเรียนตามขั้นตอนต่างๆ ถือไม้ระนาดอย่างไร ตีตรงไหนเป็นเสียงอะไร จนกระทั่งสามารถตีระนาดได้เป็นและตีเก่งมากขึ้นเรื่อยๆ เธอสามารถตีระนาดได้ตามตัวโน๊ตทุกตัวได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ในระหว่างที่เล่นระนาดไปตามตัวโน๊ตในวันนั้น เธอรู้สึกว่า บางตัวโน๊ตเธอไม่อยากจะเล่นตามตัวโน๊ตที่กำหนดไว้ แต่อยากจะตีเสียงไปตามความรู้สึกและพบว่า “กินใจผู้ฟัง” ได้มากกว่าการเล่นตามตัวโน๊ตแบบทื่อๆ

ในความเป็นจริง “ญาณทัศนะ” เป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งหากว่าเราสามารถเข้าใจ เราจะสามารถพัฒนาให้ก่อเกิดขึ้นมาได้จริง ทำซ้ำได้จริง และสามารถทำได้เรียนรู้กันได้ในระบบการศึกษา เช่น ระบบการศึกษาแบบ “จิตตปัญญา” ที่ว่านี้นี่เอง สำหรับผมแล้วปัจจัย “อะไรก็ได้” ที่สามารถเอื้อให้เกิดญาณทัศนะ ล้วนแล้วแต่เป็น “จิตตปัญญาศึกษา” ทั้งสิ้น

และท้ายสุดที่สำคัญที่ไม่อยากจะให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับ “เซียน” ก็คือ เราต้องการให้ผู้คนสัมผัส “ญาณทัศนะ” กันมากๆ และหาหนทางเพื่อการเรียนรู้ “ญาณทัศนะ” กัน แต่ไม่ได้หมายความว่า “เราต้องการให้เกิดความเป็นเลิศ” ในเชิงการแข่งขันนะครับ

สร้างการเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่
ด้วยการสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กันยายน 2550

หากพิจารณานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มนุษย์คิดค้น/พัฒนาขึ้น และมีผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปอย่างทั่วถึง ที่ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ของโลกมนุษย์ จะมีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่สำคัญสามครั้งคือ การปฏิวัติเทคโนโลยีทางเกษตรกรรม (ยุคเกษตรกรรม) การปฏิวัติเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ยุคอุตสาหกรรม) และการปฏิวัติเทคโนโลยีไซเบอร์เนติก (ยุคไซเบอร์) ช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านจะแตกต่างกันออกไป โดยระยะเวลาจะสั้นลง แต่รวดเร็วและรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การปฏิวัติเทคโนโลยีด้านการเกษตร เริ่มเมื่อ ๑๑,๐๐๐ ปีก่อน ส่งผลให้สังคมมนุษย์เปลี่ยนจากการล่าสัตว์และเร่ร่อนมาเป็นการทำเกษตรกรรม ลงหลักปักฐานทำมาหากินทางเกษตรกรรม จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดชุมชนเมือง มีเมืองใหญ่เป็นศูนย์ตลาดการค้าและบริการต่างๆ เกิดอาชีพและการค้าเฉพาะทางเพิ่มขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปมากมาย

การปฏิวัติเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม เริ่มเมื่อประมาณ ปี ค.ศ. ๑๗๐๐ เมื่อมีการผลิตเครื่องจักรไอน้ำมาใช้แทนแรงม้า มีการพัฒนาเครื่องจักรเหล่านั้นไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและการขนส่ง มีรถไฟพลังไอน้ำ มีการผลิตไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า กล้องถ่ายรูป ภาพยนตร์ และอีกหลายๆ อย่าง การปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้แผ่ขยายไปทั่วโลก ส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และวิถีการดำเนินชีวิตที่หลากหลายของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น

การปฏิวัติเทคโนโลยีไซเบอร์เนติก (Cybernetic Technology) เริ่มในปี ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วต่อเนื่อง ในช่วงนี้มีการสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่โดยบริษัท IBM จากนั้นมาวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง โทรศัพท์มือถือ และการพัฒนาระบบอินเตอร์เนท ทำให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) และ นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต ความคิดความเชื่อ และค่านิยมของมนุษยชาติเป็นอย่างมาก

การเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ทั้งสามช่วง ดูเหมือนจะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น และดูเหมือนมนุษย์จะมีการ “พัฒนา” แบบก้าวกระโดดมากขึ้น

แต่ทำไมโลกจึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้ง เรามีสงครามโลกสองครั้ง เรามีสงครามในรูปแบบและลักษณะต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน เช่น สงครามระหว่างประเทศ สงครามภายในประเทศ สงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ สงครามระหว่างศาสนา สงครามเศรษฐกิจ สงครามการเมือง สงครามเย็น ...

ทำไมยิ่งพัฒนา ยิ่งมีความทุกข์ ยิ่งมีความขัดแย้ง ยิ่งต้องมีการแข่งขันช่วงชิง

ทำไมยิ่งมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษย์ยิ่งมีความเครียด อยู่ร้อน นอนทุกข์

ทำไมการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ
การพัฒนาสังคม และการเมืองที่ดำเนินอยู่ จึงไม่สามารถทำให้คนมีความสุข มีความรัก ความเมตตา ไม่สามารถทำให้สังคมเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อม และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ขึ้น และที่สำคัญ ไม่สามารถทำให้โลกมีสันติภาพได้

หรือเราต้องหยุดคิด พินิจพิจารณาอย่างจริงจัง อย่างมีสติและปัญญา เกี่ยวกับทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาที่ไหลไปตามกระแสอย่างขาดสติกันใหม่

โดยเฉพาะระบบการศึกษา แทนที่จะช่วยเตือนสติ สร้างสติ และสร้างปัญญา กลับออกแบบและพัฒนาไปเพื่อรับใช้ทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาตามกระแสหลักดังกล่าวอย่างขาดสติ ขาดจิตสำนึกที่ดีงาม การศึกษาจึงมีแนวโน้มเป็นธุรกิจการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

คงถึงเวลาที่ต้องมาสังคายนาระบบการศึกษากันใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างและพัฒนาจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา เพื่อเปลี่ยนทิศทางหรือรหัสการพัฒนา จากที่เน้นตัวเลขทางเศรษฐกิจ เน้นผลผลิตมวลรวม เน้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มาเป็นการเน้นความสุขมวลรวม เน้นสุขภาวะและความมั่นคงองค์รวม (Holistic/integral Well-Being and Stability) ของคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

จากทุกขภาวะในลักษณะที่รีบเร่ง เร่าร้อน แข่งขันเพื่อโค่นล้มเอาชนะ ตามแนวคิดเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม สู่สุขภาวะแบบองค์รวม ที่สงบเย็นเป็นสุข มีความพอประมาณ พอเหมาะพอดี มีเหตุผล มีคุณธรรม คุณงามความดี และปัญญา เป็นฐานของการพัฒนาตามแนวปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย

การศึกษาที่พึงประสงค์ควรจะเป็นเช่นไร จึงจะสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ที่พึงประสงค์ดังกล่าว

ก่อนที่จะช่วยกันคิดเพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา ลองมาช่วยกันพิจารณาการศึกษาที่เป็นอยู่ว่าเป็นไปในลักษณะใด

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษากระแสหลักโดยรวมที่ดำเนินอยู่ มีลักษณะที่สอดรับ สนับสนุนแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ “ทุ่มถมความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ เพ้อหาความสามารถในการแข่งขัน แย่งชิงกันเป็นหนึ่ง พึ่งพิงอิงติดเทคโนโลยี มีความคับแคบทางความคิด เสพย์ติดความเป็นเลิศ เชิดหน้าใส่ผู้ด้อยผู้น้อยนิด จิตเล็กและมืดมัว เห็นแก่ตัว ไม่กลัวผิด ... ไขว่คว้าไล่ล่าสุดชีวิต ไม่เคยคิดจะเพียงพอ”

การศึกษาที่เป็นอยู่เน้นเพียงให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เข้าใจ และไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง จึงมีวิชาการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ในลักษณะของวิธีและขั้นตอน (How To) ที่เป็นระบบในการบริหาร หรือควบคุมการเปลี่ยนแปลง หาวิธีลดหรือป้องกันผลกระทบในทางลบด้วยวิชา การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) สอนให้คนเป็นคนดีด้วยวิชาศีลธรรม ...

ดูเหมือนการศึกษาในปัจจุบันถูกลดคุณค่าเหลือเพียงการเรียนวิชา แล้วเพิ่มมูลค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มตามระดับวิชา หรือปริญญาที่สูงขึ้น

การศึกษาที่เป็นอยู่ในกระแสหลัก เน้นให้เห็นความสำคัญของการติดตามความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตามทันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทันสมัยมากเท่านั้น

ดูเหมือนการศึกษาถูกลดค่าให้เหลือเพียงการติดตาม แล้วเพิ่มค่าได้ตามความรวดเร็วในการติดตามและปริมาณของสิ่งที่ตามทัน จึงต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี มีการสร้างเครือข่ายที่ทันสมัย เพียงเพื่อตามไล่การเปลี่ยนแปลง ...

การศึกษาที่มีคุณค่าที่แท้จริง ไม่น่าจะเป็นเพียงการวิ่งไล่ตามการเปลี่ยนแปลง เพียงเพื่อให้รู้สึกเสมือนว่าได้ทันสมัย ไม่ตกยุค

ครู อาจารย์ ไม่น่าจะเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลไกในการช่วยป้อนหรือชี้ช่องทางแสวงหาข้อมูล ข่าวสารที่ช่วยให้ผู้เรียนดูเหมือนจะทันสมัย หรือเรียกใหม่ว่า ”ทันสมัยเสมือน” (Virtual Modernization) ด้วยการให้ข้อมูล ข่าวสารสำเร็จรูปที่หยาบและฉาบฉวยให้ลูกศิษย์

นักเรียน นิสิต นักศึกษา จึงไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องรับข้อมูล ข่าวสารที่ “ทันสมัยเสมือน” ปราศจากการกลั่นกรอง สะท้อนคิด (Reflective Thinking) ทั้งจากผู้สอน และตัวผู้เรียนเอง

การศึกษาที่แท้ จึงมิใช่จำกัดแคบแค่เฉพาะการสอน การบรรยายในห้องเรียน การค้นและคว้าจากห้องสมุดหรือแหล่งข้อมูลที่ทันสมัยรูปแบบต่างๆ แล้วนำมาทำเป็นรายงาน หรือนำมาเสนอและอภิปรายในห้องเรียน

การศึกษาที่แท้ ไม่ใช่การโคลนนิ่ง (Cloning) ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ กรอบความคิด ทฤษฎี หรือระเบียบวิธี และโดยเฉพาะไม่ใช่การโคลนนิ่งความคิดความเชื่อของผู้สอนให้กับผู้เรียน

การให้การศึกษาในลักษณะวิ่งไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง หรือเรียนลัดด้วยการลอก/ถอดแบบหรือโคลนนิ่ง อย่างเก่งก็ได้แค่รู้เท่า แล้วก็ต้องคอยตามการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้วิ่งไล่ต่อไป

จริงๆ แล้วการคิดและการให้การศึกษาแบบนี้ ยังไงๆ ก็ไม่มีทางทันการเปลี่ยนแปลง เพราะคอยแต่จะไล่ให้ทัน ไม่เคยคิดที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่เคยมีสติที่จะหยุดคิดและถามตัวเองว่าจะวิ่งไล่การเปลี่ยนแปลงไปทำไม ไล่ให้ทันไปเพื่ออะไร

การจะทันการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การพยายามที่จะไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือเรียนลัดด้วยการลอกเลียนแบบ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุด จึงลอกเลียนไม่ได้ การจะทันการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จึงต้อง “รู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ แค่พยายามจะ “เท่า” หรือ “ไล่ทัน” การเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ จึงต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา พัฒนาการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน (และผู้สอน) ให้เรียนรู้เพื่อที่จะ “รู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง นำไปสู่การเข้าใจ การยอมรับ และเคารพในตนเอง ผู้อื่น วัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เพื่อทำให้

ไม่เป็นคน ยึดติด คิดแคบสั้น
แต่เป็นคน สติมั่น และเข้มแข็ง
มีจิตใหญ่ ใฝ่ดีงาม และแข็งแรง
เพื่อเป็นแหล่ง สร้างเมตตา ปัญญาธรรม


การเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ จึงควรเป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างให้เกิดสังคมคุณภาพ ที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา ที่ความดี ความงาม และความจริงเป็นสิ่งเดียวกัน นำให้เกิดสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เกิดสันติภาพในโลกได้

มองชีวิตและสังคมผ่านวัฒนธรรมความตาย

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กันยายน 2550

จุดหมายเป็นตัวกำหนดวิธีการฉันใด ท่าทีต่อความตายก็เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ในแต่ละสังคมหรือแต่ละยุคสมัย เราสามารถทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนและความเป็นไปในสังคมนั้นได้ จากการศึกษาว่าผู้คนมีทัศนคติหรือปฏิบัติต่อความตายอย่างไร ทัศนคติหรือการปฏิบัติที่กลายเป็นแบบแผนของสังคม เราอาจเรียกได้ว่า “วัฒนธรรมความตาย”

วัฒนธรรมความตายที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อร้อยปีนี้เอง จะเข้าใจได้ชัดก็ต่อเมื่อเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมความตายของสังคมไทยในอดีต ซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบันโดยเฉพาะในชนบท

คนไทยแต่ก่อนมองว่าความตายมิได้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฏสงสารอันไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ในวัฏสงสารนี้มีการเวียนเกิดเวียนตายนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยเหตุนี้จึงยอมรับความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะความตายสามารถเป็นทางผ่านไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่าได้ หากทำบุญมามากพอในชีวิตนี้อีกทั้งรู้จักน้อมจิตให้เป็นกุศลก่อนตาย การตระหนักว่ามีชีวิตหลังความตาย ทำให้ภาวะหลังความตายมิใช่สิ่งลี้ลับ อย่างน้อยก็แน่ใจว่า ถ้าทำดีก็ได้ไปสู่สุคติ ในภาคอีสาน ผู้ป่วยที่เพียบหนักจะประนมมือพร้อมดอกไม้ธูปเทียนเพราะเชื่อว่าตายแล้วก็จะได้ไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ความเชื่อว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของวัฏสงสารอันไม่มีประมาณ ยังทำให้ผู้คนเห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่ในชาตินี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด เพราะเป็นของชั่วคราว และเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของวัฏสงสารอันยาวไกล ขณะเดียวกัน ความเชื่อว่านอกจากชาตินี้แล้ว ยังมีชาติก่อนและชาติหน้า ในด้านหนึ่งทำให้ผู้คนยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ในชาตินี้ แม้ว่าจะยากลำบากเพียงใด ก็ไม่ดิ้นรนเปลี่ยนแปลง เพราะถือว่าเป็นผลกรรมจากชาติก่อน ขณะเดียวกันก็มีความหวังกับชาติหน้า จึงให้ความสำคัญกับชาติหน้ามากกว่าด้วยการมุ่งทำความดี สั่งสมบุญกุศล

การไม่ให้ความสำคัญมากนักกับชีวิตความเป็นอยู่ในชาตินี้ เห็นได้จากการไม่ขวนขวายที่จะสร้างความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ทางวัตถุ ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าความร่ำรวยเป็นจุดหมายของชีวิต จึงทำมาหากินแต่พอเลี้ยงตัวได้ ทรัพย์สมบัติจึงมีไม่มาก ไม่ใช่แต่ทรัพย์สินเท่านั้น แม้แต่ชื่อเสียงก็ไม่ถือว่าสำคัญมาก ศิลปินที่สร้างนฤมิตกรรมชั้นนำในทางศิลปะ ไม่ว่าพระพุทธรูป หรือจิตรกรรมฝาผนัง ไม่เคยมีใครที่จารึกชื่อไว้ในผลงานของตนเลย ความสุขทางโลกหรือสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า “ประโยชน์ปัจจุบัน” มิได้มีความสำคัญยิ่งยวดอย่างที่เป็นกับคนปัจจุบัน

ในวัฒนธรรมดังกล่าว มิติด้านจิตใจสำคัญกว่าร่างกาย วัตถุ หรือชื่อเสียง เพราะสามอย่างหลังนั้นเป็นของชั่วคราว ตายไปแล้วก็ไร้ความหมายเพราะเอาไปไม่ได้ แต่จิตใจนั้นสามารถส่งผลไปถึงภพภูมิในชาติหน้า จิตที่เปี่ยมด้วยบุญกุศลย่อมนำพาไปสู่สุคติ ด้วยเหตุนี้การดำเนินชีวิตของคนในอดีตจึงให้ความสำคัญกับเรื่องบุญกุศลมาก แม้แต่อาชีพการงานก็มุ่งถึงบุญกุศลควบคู่กับการเลี้ยงชีพ ท่านอาจารย์พุทธทาสเมื่อครั้งยังเป็นพระเงื่อม เคยถามชาวนาระหว่างออกบิณฑบาตว่า ทำนาทำไม คำตอบที่ได้รับก็คือ เพื่อมีข้าวไว้ใส่บาตร ไว้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และแจกจ่ายญาติมิตร สำหรับชาวบ้านในเวลานั้น การมีข้าวเพื่อทำบุญนั้น เป็นเรื่องที่มาก่อนการเลี้ยงตนเองและครอบครัวเสียอีก

ในวัฒนธรรมดังกล่าว มิติด้านจิตใจสำคัญกว่าร่างกายหรือวัตถุ ไม่จำเพาะกับวิถีชีวิตในยามปกติเท่านั้น ในยามใกล้ตายก็เช่นกัน การช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่สงบหรือเปี่ยมด้วยบุญกุศล เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการยืดลมหายใจให้นานที่สุด หากจะมีการเยียวยาร่างกายก็ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำจิตให้สงบ

ในระดับสังคม วัฒนธรรมดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจแบบยังชีพ ซึ่งเน้นการพึ่งตนและพออยู่พอกิน มากกว่าที่จะมุ่งความเจริญเติบโตทางวัตถุ ประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจมีความสำคัญน้อยกว่าดุลยภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การทำนาของชาวบ้านไม่ได้มุ่งให้เกิดผลิตผลมากที่สุด แต่มุ่งเจือจานทั้งคนและสัตว์ คาถากันขโมยที่เด็กชายเงื่อมได้รับจากแม่เมื่อถูกสั่งให้ไปเฝ้านาก็คือ “นกกินก็เป็นบุญ คนกินก็เป็นทาน” เศรษฐกิจแบบเจือจาน (gift economy) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดังกล่าว โดยถือว่าอาหารและน้ำเป็นของให้เปล่า มิใช่สินค้าที่จะซื้อขายกันได้

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และเทคโนโลยี ที่เกิดกับสังคมไทยในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ได้ทำให้วัฒนธรรมความตายแปรเปลี่ยนไป จนกระทั่งทัศนคติกระแสหลักคือ เห็นความตายเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับชีวิต (มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดังแต่ก่อน) มีจำนวนไม่น้อยที่เห็นเลยไปอีกว่าความตายเป็นจุดสุดท้ายของชีวิตอย่างสิ้นเชิง ไม่มีอะไรหลังจากนั้น

ความตายจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่พึงหลีกเลี่ยงหรือปกปิดให้มากที่สุด การพูดถึงความตายกลายเป็นเรื่องอัปมงคล แม้กระทั่งคำว่า “ความตาย” ก็กลายเป็นคำอุจาดไป ต้องเลี่ยงไปใช้คำอื่น เช่น “หมดลม” “จากไป” “สิ้นชีวิต” หากจะมีใครตาย ก็ต้องไปตายในที่รโหฐาน คือที่มิดชิดหรือลับตา มีคนรู้เห็นเพียงไม่กี่คน การตายที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในห้องไอซียู จึงถือว่าดูดีกว่าตายที่บ้าน และหากตายแล้ว ก็ไม่ควรตั้งศพที่บ้าน แต่ต้องไปตั้งในวัด ซึ่งมักเป็นที่ที่แยกออกไปจากชุมชน (ลองนึกภาพว่าหากมีการตั้งศพและทำพิธีที่บ้านซึ่งอยู่กลางหมู่บ้านจัดสรร ผู้คนในหมู่บ้านนั้นจะรู้สึกอย่างไร)

วัฒนธรรมดังกล่าวนับว่าตรงกันข้ามกับสมัยก่อนที่ถือว่าความตายเป็นปรากฏการณ์ของชุมชน เป็นเรื่องสาธารณะ ที่ทุกคนในหมู่บ้านรับรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งขณะใกล้ตายและหลังตายแล้ว เช่น พากันไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยที่บ้านและอยู่กับเขาจนหมดลม เมื่อตายแล้วก็ตั้งศพที่บ้านโดยชาวบ้านช่วยกันจัดงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เมื่อจะเผาก็ไปร่วมพิธีทั้งหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีการเปิดโลงเพื่อล้างหน้าศพก่อนเผาด้วย

นอกจากนั้น ในปัจจุบันความตายยังเป็นสิ่งต้องห้าม มิใช่แต่คนทั่วไปเท่านั้นที่ถูกกีดกันไม่ให้รู้เห็น โดยเฉพาะเด็ก แม้กระทั่งผู้ป่วยเอง ส่วนใหญ่ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้รับรู้ว่าวาระสุดท้ายกำลังจะมาถึง ในเวลาเดียวกัน ความตายยังถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ มิใช่ของของแพทย์และพยาบาลเท่านั้น หากยังเป็นความพ่ายแพ้ของเจ้าตัวด้วย วิทยาการสมัยใหม่ทำให้เกิดความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าความตายเป็นสิ่งที่ควบคุมหรือจัดการได้ เช่นเดียวกับที่สามารถปรับเปลี่ยนร่างกายและสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นหากต้องตายท่ามกลางการดูแลของแพทย์และเทคโนโลยีนานาชนิด จึงถือว่าเป็นความล้มเหลวของแพทย์ ขณะเดียวกันการตายก่อนอายุขัยก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวของเจ้าตัวด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ความตายจึงเป็นสิ่งที่ต้องประวิงเวลาให้มาถึงช้าที่สุด อะไรที่สามารถทำได้ต้องทำเพื่อให้มีลมหายใจยืนยาวนานที่สุด แม้จะยังความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายก็ตาม การปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบโดยแพทย์ไม่เข้าไปแทรกแซงเลยนั้นเป็นเรื่องที่แพทย์และญาติยอมรับได้ยาก การเยียวยารักษาจึงเน้นแต่ด้านร่างกาย ขณะที่การเยียวยาหรือดูแลรักษาจิตใจถูกมองข้ามไป ในกระบวนการดังกล่าว ความตายถูกลดทอนให้เหลือแค่มิติทางกาย กล่าวคือดูที่ลมหายใจ การเต้นของหัวใจ หรือการทำงานของสมอง ความตายมีความหมายเพียงแค่ความแตกดับทางกาย ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นกับจิตใจ หรือสามารถเกิดขึ้นได้กับจิต ไม่ต้องคำนึง เมื่อเป็นเช่นนี้ ความตายจึงเป็นได้แค่ “วิกฤต” สถานเดียว ทั้ง ๆ ที่ยังสามารถเป็น “โอกาส” ได้ด้วย กล่าวคือเป็นวิกฤตทางกายก็จริง แต่เป็นโอกาสทางจิตวิญญาณ ถึงแม้กายจะเต็มไปด้วยทุกขเวทนา แต่ใจไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานก็ได้ ซ้ำยังอาจเข้าถึงความสงบอย่างลึกซึ้งได้ด้วย

ทัศนคติและการปฏิบัติต่อความตายดังกล่าว ส่งผลถึงการดำเนินชีวิตของผู้คน กล่าวคือทำให้ผู้คนอยู่อย่างลืมตาย ไม่พยายามนึกถึงหรือพูดถึงความตาย คิดแต่จะทำใจให้เพลิดเพลินกับความสนุกสนาน จนลืมไปว่าสักวันตัวเองก็จะต้องตาย หากนึกถึงเมื่อใดก็คิดว่าไปตายเอาดาบหน้าก็แล้วกัน คือถึงตอนนั้นก็ค่อยว่ากันอีกที ไม่คิดที่จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ขณะที่ยังมีเวลาและมีสุขภาพดี

ในวัฒนธรรมความตายดังกล่าว ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อเรื่องชาติหน้าหรือชีวิตหลังความตาย จึงให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตนี้ ความสุขทางโลกหรือ “ประโยชน์ปัจจุบัน” จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ชีวิตทั้งชีวิตทุ่มเทให้กับการแสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ และสถานะ ยิ่งกว่าการทำความดีหรือสร้างบุญกุศล

ในบรรดาความสุขทางโลก สิ่งที่มาก่อนอื่นใดคือความสุขทางวัตถุหรือทางร่างกาย ดังนั้นควบคู่กับการแสวงหาวัตถุก็คือการหลงใหลในร่างกาย เพราะร่างกายไม่เพียงเป็นอุปกรณ์แสวงหาความสุข (ด้วยการกิน เที่ยว และมีเซ็กส์) เท่านั้น หากยังเป็นเครื่องมือแสวงหาปัจจัยแห่งความสุข (คืองานและเงิน) รวมทั้งเป็นที่มาแห่งความสุขโดยตัวมันเอง กล่าวคือเป็นสุขเพราะมีรูปร่างที่สวยงาม ได้มาตรฐาน จึงหมกมุ่นกับการตกแต่งและเปิดเผยทรวดทรงให้มากที่สุดแม้จะใส่ชุดนักศึกษาก็ตาม

เมื่อมีทัศนคติเช่นนี้ คนส่วนใหญ่จึงกลัวแก่เพราะจะทำให้ไม่ได้เสพสุขจากร่างกายอย่างเต็มที่ ยิ่งความตายแล้ว ไม่ต้องพูดถึง เพราะนั่นหมายถึงการไม่ได้เสพสุข จึงทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะความแก่และความตาย การเป็นอมตะจึงเป็นสุดยอดปรารถนาของคนปัจจุบัน แต่ในเมื่อหลีกความตายไม่พ้น ก็ขอให้มีชื่อเสียงดำรงคงอยู่ต่อไปหรือมีอนุสาวรีย์เป็นเครื่องสืบทอดตัวตน

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมดาที่สังคมปัจจุบันจะเน้นการสร้างความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในเมื่อไม่เชื่อสวรรค์ในชาติหน้า ก็สร้างสวรรค์ในชาตินี้เสียเลย แต่สิ่งที่ตามมาคือการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมกันนั้นก็มีการเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดเพื่อนมนุษย์ จนต้องมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นหิวโหย บังเกิดเป็นนรกขึ้นมาทั่วทุกมุมโลก

มองในแง่นี้วัฒนธรรมความตายในปัจจุบันจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิต นอกจากสร้างความทุกข์แก่สรรพชีวิตแล้ว ยังปิดโอกาสที่บุคคลจะเข้าถึงคุณค่าและสิ่งสุดสุดที่ชีวิตพึงเข้าถึง สิ่งที่ควรทำก็คือ ช่วยกันฟื้นฟูวัฒนธรรมความตายที่เกื้อกูลต่อชีวิต กล่าวคือส่งเสริมให้ผู้คนมีความเอื้ออาทรต่อสรรพชีวิต และช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ปล่อยวางแทนที่จะติดยึดหรือมุ่งตักตวง เพื่อเข้าถึงสภาวะอันประเสริฐสุดที่ชีวิตเข้าถึงได้

วัฒนธรรมความตายดังกล่าวก็คือ การมองความตายเป็นธรรมดาของชีวิต เห็นคุณค่าของการตายอย่างสงบ และรู้จักใช้ความตายให้เป็นโอกาสในการยกระดับทางจิตวิญญาณ โดยอยู่อย่างพร้อมจะตายทุกขณะ หรือดียิ่งกว่านั้นก็คือ เรียนรู้ที่จะ “ตายก่อนตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ

Back to Top