มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กันยายน 2550
จุดหมายเป็นตัวกำหนดวิธีการฉันใด ท่าทีต่อความตายก็เป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ในแต่ละสังคมหรือแต่ละยุคสมัย เราสามารถทำความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนและความเป็นไปในสังคมนั้นได้ จากการศึกษาว่าผู้คนมีทัศนคติหรือปฏิบัติต่อความตายอย่างไร ทัศนคติหรือการปฏิบัติที่กลายเป็นแบบแผนของสังคม เราอาจเรียกได้ว่า “วัฒนธรรมความตาย”
วัฒนธรรมความตายที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อร้อยปีนี้เอง จะเข้าใจได้ชัดก็ต่อเมื่อเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมความตายของสังคมไทยในอดีต ซึ่งยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบันโดยเฉพาะในชนบท
คนไทยแต่ก่อนมองว่าความตายมิได้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น หากยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฏสงสารอันไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ในวัฏสงสารนี้มีการเวียนเกิดเวียนตายนับครั้งไม่ถ้วน ด้วยเหตุนี้จึงยอมรับความตายว่าเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะความตายสามารถเป็นทางผ่านไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่าได้ หากทำบุญมามากพอในชีวิตนี้อีกทั้งรู้จักน้อมจิตให้เป็นกุศลก่อนตาย การตระหนักว่ามีชีวิตหลังความตาย ทำให้ภาวะหลังความตายมิใช่สิ่งลี้ลับ อย่างน้อยก็แน่ใจว่า ถ้าทำดีก็ได้ไปสู่สุคติ ในภาคอีสาน ผู้ป่วยที่เพียบหนักจะประนมมือพร้อมดอกไม้ธูปเทียนเพราะเชื่อว่าตายแล้วก็จะได้ไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ความเชื่อว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของวัฏสงสารอันไม่มีประมาณ ยังทำให้ผู้คนเห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่ในชาตินี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด เพราะเป็นของชั่วคราว และเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของวัฏสงสารอันยาวไกล ขณะเดียวกัน ความเชื่อว่านอกจากชาตินี้แล้ว ยังมีชาติก่อนและชาติหน้า ในด้านหนึ่งทำให้ผู้คนยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ในชาตินี้ แม้ว่าจะยากลำบากเพียงใด ก็ไม่ดิ้นรนเปลี่ยนแปลง เพราะถือว่าเป็นผลกรรมจากชาติก่อน ขณะเดียวกันก็มีความหวังกับชาติหน้า จึงให้ความสำคัญกับชาติหน้ามากกว่าด้วยการมุ่งทำความดี สั่งสมบุญกุศล
การไม่ให้ความสำคัญมากนักกับชีวิตความเป็นอยู่ในชาตินี้ เห็นได้จากการไม่ขวนขวายที่จะสร้างความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ทางวัตถุ ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าความร่ำรวยเป็นจุดหมายของชีวิต จึงทำมาหากินแต่พอเลี้ยงตัวได้ ทรัพย์สมบัติจึงมีไม่มาก ไม่ใช่แต่ทรัพย์สินเท่านั้น แม้แต่ชื่อเสียงก็ไม่ถือว่าสำคัญมาก ศิลปินที่สร้างนฤมิตกรรมชั้นนำในทางศิลปะ ไม่ว่าพระพุทธรูป หรือจิตรกรรมฝาผนัง ไม่เคยมีใครที่จารึกชื่อไว้ในผลงานของตนเลย ความสุขทางโลกหรือสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า “ประโยชน์ปัจจุบัน” มิได้มีความสำคัญยิ่งยวดอย่างที่เป็นกับคนปัจจุบัน
ในวัฒนธรรมดังกล่าว มิติด้านจิตใจสำคัญกว่าร่างกาย วัตถุ หรือชื่อเสียง เพราะสามอย่างหลังนั้นเป็นของชั่วคราว ตายไปแล้วก็ไร้ความหมายเพราะเอาไปไม่ได้ แต่จิตใจนั้นสามารถส่งผลไปถึงภพภูมิในชาติหน้า จิตที่เปี่ยมด้วยบุญกุศลย่อมนำพาไปสู่สุคติ ด้วยเหตุนี้การดำเนินชีวิตของคนในอดีตจึงให้ความสำคัญกับเรื่องบุญกุศลมาก แม้แต่อาชีพการงานก็มุ่งถึงบุญกุศลควบคู่กับการเลี้ยงชีพ ท่านอาจารย์พุทธทาสเมื่อครั้งยังเป็นพระเงื่อม เคยถามชาวนาระหว่างออกบิณฑบาตว่า ทำนาทำไม คำตอบที่ได้รับก็คือ เพื่อมีข้าวไว้ใส่บาตร ไว้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และแจกจ่ายญาติมิตร สำหรับชาวบ้านในเวลานั้น การมีข้าวเพื่อทำบุญนั้น เป็นเรื่องที่มาก่อนการเลี้ยงตนเองและครอบครัวเสียอีก
ในวัฒนธรรมดังกล่าว มิติด้านจิตใจสำคัญกว่าร่างกายหรือวัตถุ ไม่จำเพาะกับวิถีชีวิตในยามปกติเท่านั้น ในยามใกล้ตายก็เช่นกัน การช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่สงบหรือเปี่ยมด้วยบุญกุศล เป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการยืดลมหายใจให้นานที่สุด หากจะมีการเยียวยาร่างกายก็ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำจิตให้สงบ
ในระดับสังคม วัฒนธรรมดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจแบบยังชีพ ซึ่งเน้นการพึ่งตนและพออยู่พอกิน มากกว่าที่จะมุ่งความเจริญเติบโตทางวัตถุ ประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจมีความสำคัญน้อยกว่าดุลยภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การทำนาของชาวบ้านไม่ได้มุ่งให้เกิดผลิตผลมากที่สุด แต่มุ่งเจือจานทั้งคนและสัตว์ คาถากันขโมยที่เด็กชายเงื่อมได้รับจากแม่เมื่อถูกสั่งให้ไปเฝ้านาก็คือ “นกกินก็เป็นบุญ คนกินก็เป็นทาน” เศรษฐกิจแบบเจือจาน (gift economy) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดังกล่าว โดยถือว่าอาหารและน้ำเป็นของให้เปล่า มิใช่สินค้าที่จะซื้อขายกันได้
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และเทคโนโลยี ที่เกิดกับสังคมไทยในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ได้ทำให้วัฒนธรรมความตายแปรเปลี่ยนไป จนกระทั่งทัศนคติกระแสหลักคือ เห็นความตายเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับชีวิต (มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดังแต่ก่อน) มีจำนวนไม่น้อยที่เห็นเลยไปอีกว่าความตายเป็นจุดสุดท้ายของชีวิตอย่างสิ้นเชิง ไม่มีอะไรหลังจากนั้น
ความตายจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว ที่พึงหลีกเลี่ยงหรือปกปิดให้มากที่สุด การพูดถึงความตายกลายเป็นเรื่องอัปมงคล แม้กระทั่งคำว่า “ความตาย” ก็กลายเป็นคำอุจาดไป ต้องเลี่ยงไปใช้คำอื่น เช่น “หมดลม” “จากไป” “สิ้นชีวิต” หากจะมีใครตาย ก็ต้องไปตายในที่รโหฐาน คือที่มิดชิดหรือลับตา มีคนรู้เห็นเพียงไม่กี่คน การตายที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะในห้องไอซียู จึงถือว่าดูดีกว่าตายที่บ้าน และหากตายแล้ว ก็ไม่ควรตั้งศพที่บ้าน แต่ต้องไปตั้งในวัด ซึ่งมักเป็นที่ที่แยกออกไปจากชุมชน (ลองนึกภาพว่าหากมีการตั้งศพและทำพิธีที่บ้านซึ่งอยู่กลางหมู่บ้านจัดสรร ผู้คนในหมู่บ้านนั้นจะรู้สึกอย่างไร)
วัฒนธรรมดังกล่าวนับว่าตรงกันข้ามกับสมัยก่อนที่ถือว่าความตายเป็นปรากฏการณ์ของชุมชน เป็นเรื่องสาธารณะ ที่ทุกคนในหมู่บ้านรับรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งขณะใกล้ตายและหลังตายแล้ว เช่น พากันไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วยที่บ้านและอยู่กับเขาจนหมดลม เมื่อตายแล้วก็ตั้งศพที่บ้านโดยชาวบ้านช่วยกันจัดงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เมื่อจะเผาก็ไปร่วมพิธีทั้งหมู่บ้าน อีกทั้งยังมีการเปิดโลงเพื่อล้างหน้าศพก่อนเผาด้วย
นอกจากนั้น ในปัจจุบันความตายยังเป็นสิ่งต้องห้าม มิใช่แต่คนทั่วไปเท่านั้นที่ถูกกีดกันไม่ให้รู้เห็น โดยเฉพาะเด็ก แม้กระทั่งผู้ป่วยเอง ส่วนใหญ่ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้รับรู้ว่าวาระสุดท้ายกำลังจะมาถึง ในเวลาเดียวกัน ความตายยังถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ มิใช่ของของแพทย์และพยาบาลเท่านั้น หากยังเป็นความพ่ายแพ้ของเจ้าตัวด้วย วิทยาการสมัยใหม่ทำให้เกิดความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าความตายเป็นสิ่งที่ควบคุมหรือจัดการได้ เช่นเดียวกับที่สามารถปรับเปลี่ยนร่างกายและสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นหากต้องตายท่ามกลางการดูแลของแพทย์และเทคโนโลยีนานาชนิด จึงถือว่าเป็นความล้มเหลวของแพทย์ ขณะเดียวกันการตายก่อนอายุขัยก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวของเจ้าตัวด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ความตายจึงเป็นสิ่งที่ต้องประวิงเวลาให้มาถึงช้าที่สุด อะไรที่สามารถทำได้ต้องทำเพื่อให้มีลมหายใจยืนยาวนานที่สุด แม้จะยังความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายก็ตาม การปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบโดยแพทย์ไม่เข้าไปแทรกแซงเลยนั้นเป็นเรื่องที่แพทย์และญาติยอมรับได้ยาก การเยียวยารักษาจึงเน้นแต่ด้านร่างกาย ขณะที่การเยียวยาหรือดูแลรักษาจิตใจถูกมองข้ามไป ในกระบวนการดังกล่าว ความตายถูกลดทอนให้เหลือแค่มิติทางกาย กล่าวคือดูที่ลมหายใจ การเต้นของหัวใจ หรือการทำงานของสมอง ความตายมีความหมายเพียงแค่ความแตกดับทางกาย ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นกับจิตใจ หรือสามารถเกิดขึ้นได้กับจิต ไม่ต้องคำนึง เมื่อเป็นเช่นนี้ ความตายจึงเป็นได้แค่ “วิกฤต” สถานเดียว ทั้ง ๆ ที่ยังสามารถเป็น “โอกาส” ได้ด้วย กล่าวคือเป็นวิกฤตทางกายก็จริง แต่เป็นโอกาสทางจิตวิญญาณ ถึงแม้กายจะเต็มไปด้วยทุกขเวทนา แต่ใจไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานก็ได้ ซ้ำยังอาจเข้าถึงความสงบอย่างลึกซึ้งได้ด้วย
ทัศนคติและการปฏิบัติต่อความตายดังกล่าว ส่งผลถึงการดำเนินชีวิตของผู้คน กล่าวคือทำให้ผู้คนอยู่อย่างลืมตาย ไม่พยายามนึกถึงหรือพูดถึงความตาย คิดแต่จะทำใจให้เพลิดเพลินกับความสนุกสนาน จนลืมไปว่าสักวันตัวเองก็จะต้องตาย หากนึกถึงเมื่อใดก็คิดว่าไปตายเอาดาบหน้าก็แล้วกัน คือถึงตอนนั้นก็ค่อยว่ากันอีกที ไม่คิดที่จะเตรียมตัวเตรียมใจไว้ขณะที่ยังมีเวลาและมีสุขภาพดี
ในวัฒนธรรมความตายดังกล่าว ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อเรื่องชาติหน้าหรือชีวิตหลังความตาย จึงให้ความสำคัญสูงสุดกับชีวิตนี้ ความสุขทางโลกหรือ “ประโยชน์ปัจจุบัน” จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ชีวิตทั้งชีวิตทุ่มเทให้กับการแสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ และสถานะ ยิ่งกว่าการทำความดีหรือสร้างบุญกุศล
ในบรรดาความสุขทางโลก สิ่งที่มาก่อนอื่นใดคือความสุขทางวัตถุหรือทางร่างกาย ดังนั้นควบคู่กับการแสวงหาวัตถุก็คือการหลงใหลในร่างกาย เพราะร่างกายไม่เพียงเป็นอุปกรณ์แสวงหาความสุข (ด้วยการกิน เที่ยว และมีเซ็กส์) เท่านั้น หากยังเป็นเครื่องมือแสวงหาปัจจัยแห่งความสุข (คืองานและเงิน) รวมทั้งเป็นที่มาแห่งความสุขโดยตัวมันเอง กล่าวคือเป็นสุขเพราะมีรูปร่างที่สวยงาม ได้มาตรฐาน จึงหมกมุ่นกับการตกแต่งและเปิดเผยทรวดทรงให้มากที่สุดแม้จะใส่ชุดนักศึกษาก็ตาม
เมื่อมีทัศนคติเช่นนี้ คนส่วนใหญ่จึงกลัวแก่เพราะจะทำให้ไม่ได้เสพสุขจากร่างกายอย่างเต็มที่ ยิ่งความตายแล้ว ไม่ต้องพูดถึง เพราะนั่นหมายถึงการไม่ได้เสพสุข จึงทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะความแก่และความตาย การเป็นอมตะจึงเป็นสุดยอดปรารถนาของคนปัจจุบัน แต่ในเมื่อหลีกความตายไม่พ้น ก็ขอให้มีชื่อเสียงดำรงคงอยู่ต่อไปหรือมีอนุสาวรีย์เป็นเครื่องสืบทอดตัวตน
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมดาที่สังคมปัจจุบันจะเน้นการสร้างความพรั่งพร้อมทางวัตถุ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในเมื่อไม่เชื่อสวรรค์ในชาติหน้า ก็สร้างสวรรค์ในชาตินี้เสียเลย แต่สิ่งที่ตามมาคือการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมกันนั้นก็มีการเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดเพื่อนมนุษย์ จนต้องมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นหิวโหย บังเกิดเป็นนรกขึ้นมาทั่วทุกมุมโลก
มองในแง่นี้วัฒนธรรมความตายในปัจจุบันจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิต นอกจากสร้างความทุกข์แก่สรรพชีวิตแล้ว ยังปิดโอกาสที่บุคคลจะเข้าถึงคุณค่าและสิ่งสุดสุดที่ชีวิตพึงเข้าถึง สิ่งที่ควรทำก็คือ ช่วยกันฟื้นฟูวัฒนธรรมความตายที่เกื้อกูลต่อชีวิต กล่าวคือส่งเสริมให้ผู้คนมีความเอื้ออาทรต่อสรรพชีวิต และช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ปล่อยวางแทนที่จะติดยึดหรือมุ่งตักตวง เพื่อเข้าถึงสภาวะอันประเสริฐสุดที่ชีวิตเข้าถึงได้
วัฒนธรรมความตายดังกล่าวก็คือ การมองความตายเป็นธรรมดาของชีวิต เห็นคุณค่าของการตายอย่างสงบ และรู้จักใช้ความตายให้เป็นโอกาสในการยกระดับทางจิตวิญญาณ โดยอยู่อย่างพร้อมจะตายทุกขณะ หรือดียิ่งกว่านั้นก็คือ เรียนรู้ที่จะ “ตายก่อนตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
แสดงความคิดเห็น