มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กันยายน 2550
ภาพข่าวเล็กๆ หน้า ๕ ของหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ สะดุดตาและกระทบใจผู้เขียนอย่างแรง
ภาพนั้นเป็นงานแสดงเพ็ตแฟชั่นวีคที่นิวยอร์ค ซึ่งนางแบบแต่งชุดไทยงดงาม สวมชฎาอลังการ อุ้มสุนัขพุดเดิลแต่งตัวเฉิดฉาย สวมปะวะหล่ำกำไลแพรวพราว ที่ดูขัดตาเป็นอย่างยิ่งคือสุนัขตัวนั้นสวมชฎาหน้าตาบ้องแบ๊ว
จริงอยู่ งานแฟชั่นสัตว์เลี้ยงนี้เน้นการออกแบบความคิดการแต่งตัวให้สัตว์เลี้ยง จะออกแบบให้สุนัขใส่เสื้อถักด้วยทองคำทั้งตัวประดับสร้อยเพชรเจ็ดล้าน ก็เป็นสิทธิ์ที่จะทำได้ แต่การนำชฎาทรงเครื่องเต็มยศมาสวมให้สุนัขนั้น ใช้สมองส่วนใดคิด
สมัยนี้วงการต่างๆ เน้นการคิดนอกกรอบ ทั้งนี้เพื่อแหวกวงล้อมของฐานคิดแบบเดิมๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคม ผู้เขียนเห็นว่า การรู้จักคิดใหม่ทำใหม่เป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องคิดถึงกาลเทศะ พื้นฐานทางวัฒนธรรม แสดงรสนิยมดีและเป็นไปในทางสร้างสรรค์
การปลูกฝังความคิดและจิตใจที่ละเอียดประณีต รู้จักคิดและทำสิ่งที่ควรนั้น ส่วนหนึ่งเป็นภารกิจของสถานศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา และอีกส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้จากสังคม สื่อมวลชน และสิ่งแวดล้อม
น่าเสียดายที่กระบวนการเรียนรู้ในสถานศึกษานั้น เน้นกลุ่มสาระของหลักสูตรเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผู้ปกครองและนักเรียนรู้สึกเดือดร้อนมาก เมื่อต้องสอบความสามารถทางศิลปะ ดนตรี และกีฬา ยิ่งกิจกรรมอาสาสมัคร ซึ่งจะกล่อมเกลาจิตใจให้ลดความเห็นแก่ตัวและเพิ่มความรักผู้อื่นด้วยแล้ว หาได้มีความสำคัญอันใดเลยกับการที่จะเป็นปัญญาชน
เมื่อดนตรี ศิลปะ กีฬา และจิตใจ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกทอดทิ้ง จึงพอจะทำนายได้ว่า คนไทยรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไป จะขาดความละเอียดประณีต จิตใจหยาบกระด้าง ทำและสร้างสิ่งใด เอาง่ายเข้าว่า เสร็จเร็ว เตะตา กระตุ้นอารมณ์ คนที่สุภาพ อ่อนโยน มารยาทดี จะเสียเปรียบในการดำเนินชีวิต คนที่ขาดวินัย ก้าวร้าว หยาบกระด้าง จะได้ชัยชนะในทุกสนามแข่งขัน
ถ้าไม่อยากให้สังคมไทยเต็มไปด้วยการขับเคี่ยว แข่งขัน ล้มล้างกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ถ้าไม่อยากเห็นคนที่จบปริญญาเอกทำร้ายคู่ครองอย่างโหดเหี้ยม ผู้ดีในละครโทรทัศน์มีกิริยาวาจาหยาบคายเป็นที่ชื่นชอบของแฟนละคร ฯลฯ เราอาจจะต้องคิดถึงการอบรมปลูกฝังความประณีตอ่อนโยนในจิตใจของผู้คนในสังคมไทย ก่อนที่จะสายเกินไป
บทความจิตวิวัฒน์ครั้งที่แล้ว ผู้เขียนได้เสนอการพัฒนาจิตใจและความประณีตอ่อนโยน ตามแผนที่หัวใจ (MAPS : music, art, play or physical and spiritual development) บทความนี้ ผู้เขียนขอขยายความเส้นทางการเรียนรู้ตามแผนที่หัวใจ ที่วงการศึกษาทุกระดับต้องจัดอย่างถูกต้องและจริงจัง
ดนตรี ศิลปะ การเล่น การพัฒนากายและจิต เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เน้นการฝึกฝนอบรมและเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง จุดประสงค์ของการเรียนรู้ไม่ใช่เพื่อให้ผู้เรียนเป็นศิลปิน เป็นนักกีฬา หรือเป็นนักพรตนักบวช แต่เพื่อสร้างสรรค์จินตนาการ การถ่ายทอดความคิด การสร้างวินัยในตนเองระหว่างฝึกฝน และกล่อมเกลาจริตกิริยาให้อ่อนโยน ละเอียดประณีต เข้าถึงความงามความดีของชีวิต
การเรียนรู้ตามเส้นทางแผนที่หัวใจ เป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เคลื่อนไหว แจ่มใส และมีความสุข ดนตรีมีท่วงทำนองและจังหวะที่พาเพลิน ปลุกเร้า กล่อมเกลาอารมณ์ให้เบิกบาน ช่วยพัฒนาความจำและทักษะภาษา เมื่อนำมาสัมพันธ์กับท่วงท่าเคลื่อนไหว ที่สำนวนไทยเรียกว่า ร้องรำทำเพลง ก็เกิดจินตนาการ และซึมซับคุณค่าที่งดงามของการบรรเลงดนตรี
ดนตรีมิได้แยกกันสิ้นเชิงจากศิลปะ เพราะต่างก็ประสานอยู่ในกันและกัน เพียงแต่เครื่องมือและวิธีการแสดง ถ่ายทอดความคิดจินตนาการแตกต่างกัน ศิลปะมีหลายรูปแบบ เท่าที่ได้เรียนรู้กันแพร่หลาย คือ วิจิตรศิลป์ ทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ฯลฯ และที่เด็กๆ เรียนกันอยู่ เช่น งานวาดภาพ งานปั้น งานออกแบบ และงานประดิษฐ์ ดนตรีและศิลปะ ช่วยพัฒนาการรับรู้เชิงสุนทรีย์และเป็นพื้นฐานการมีรสนิยมดี
กีฬา การเล่น การออกกำลังกาย นอกจากเป็นการสร้างเสริมสุขภาพทางกายแล้ว ยังฝึกความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว กระตุ้นและพัฒนาสมอง สร้างระเบียบวินัยในตนเอง ขยัน-อดทน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ดังนั้น สังคมจึงให้อภัยลำบาก เมื่อพบว่านักกีฬาชกต่อยกันในสนามแข่งขัน
ดนตรี ศิลปะ กีฬา และการปลูกฝังคุณธรรม มีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาจิตใจ ช่วยพัฒนาสมอง จิตสำนึก สุนทรียภาพ และบุคลิกภาพ
แพทย์หญิงพัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ กล่าวว่า ศิลปะ เป็นเส้นทางการเรียนรู้ที่เกิดจากความรู้สึกร่วม และการสัมผัสรับรู้ ซึ่งช่วยถักทอเส้นใยประสาทให้เชื่อมโยงกันแข็งแรง เชื่อมโยงโลกภายในตัวตนของเรากับโลกภายนอก แล้วเกิดความสัมพันธ์กันเป็นงานศิลปะ
คุณภัทราวดี มีชูธน อธิบายว่า เด็กและเยาวชนมีพลังงานเหลือมาก ศิลปะ ดนตรี และการเล่น ช่วยให้เขาได้แสดงออก สร้างความภาคภูมิใจ และสามารถตัดสินใจได้ว่าอะไรดี อะไรงาม รู้จักผิดชอบชั่วดี
ปัจจุบัน นักการศึกษาทั้งไทยและเทศ ต่างก็เน้นวิธีการจัดกิจกรรมเล่นปนเรียน (play and learn) ทั้งนี้ต้องจัดให้เหมาะกับวัย ความสนใจ และความถนัดของผู้เรียนด้วย
เส้นทางการเรียนรู้ตามแผนที่หัวใจ (MAPS) แทรกซึมอยู่ได้ทุกสาระเนื้อหาทางวิชาการและวิชาชีพ หรืออาจจะไม่เป็นวิชาอะไรเลย เป็นการเรียนด้วยใจรัก
MAPS เป็นยารักษาโรคใจได้หลายอาการ แก้โรคใจร้อน โรคใจหยาบ ด้วยการกล่อมเกลาจิตและอามรณ์ให้เย็น ละเอียดอ่อน ประณีต
MAPS ช่วยแก้นิสัยมักง่าย ช่วยดัดนิสัยคนที่ทำอะไรอย่างขอไปที เพราะการเข้าถึงสุนทรียรสต้องตั้งใจ พากเพียร ฝึกฝน จึงจะซาบซึ้ง ควบคุมจิตใจของตนเองได้
MAPS ช่วยดับอารมณ์ฟุ้งซ่าน ก่อเกิดสมาธิ มีใจจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่กำลังทำ เกิดความสงบทั้งใจและกาย
MAPS มีความเป็นสากล แต่ก็เชื่อมโยงรากฐานทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติ การแสดงออกและการถ่ายทอดความคิดจินตนาการ จึงต้องมีรสนิยมดี คำนึงถึงศักดิ์ศรีของเผ่าพันธุ์ ไม่คลั่งสมัยนิยมจนลืมรากเหง้าของตนเอง
ความงาม ความดี และความจริง จึงควรเชื่อมโยงผสมผสานกันอย่างสมดุล
เมื่อเราเคาะระฆัง แม้จะหยุดเคาะแล้ว เสียงกังวานก็ยังอยู่อีกชั่วครู่ กิจกรรมตามเส้นทาง MAPS ก็เช่นกัน แม้จะทำหรือปฏิบัติไปแล้ว ความงดงาม ความเข้มแข็ง ความประทับใจก็ยังคงอยู่ เมื่อฝึกทำซ้ำๆ ก็จะตกผลึกสะสมเป็นความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ
เมื่อเยาวชนในสถานศึกษาขาดโอกาสที่จะสัมผัสกับความงาม และไม่เคยลิ้มรสความประณีตกลมกลืนอย่างผ่อนคลาย แต่ละวันเขาได้พบเห็นแต่ศิลปะเชิงพาณิชย์ ความบันเทิงที่โฉ่งฉ่างสุกเอาเผากิน ได้ยินแต่เสียงด่าทอด้วยความก้าวร้าวหยาบกระด้าง เป็นการเรียนรู้ทางสังคมที่รวดเร็วและรุนแรง คนรุ่นใหม่จึงเคยชินกับสิ่งเหล่านั้น และรับเอามาเป็นลีลาชีวิต เน้นราคา ไม่คิดถึงคุณค่า น่าเสียดาย
ผู้ที่รับการศึกษาทั้งในระบบและจากการเรียนรู้ทางสังคม จึงมิได้ดูจากปริญญาหรือวุฒิบัตร ว่าเป็นผู้มีการศึกษา แต่จะดูจากความเป็น “ศึกษิต” ซึ่ง พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ทรงบัญญัติไว้และอธิบายว่า ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๖ ประการ คือ (๑) ใช้ภาษาได้ดีและถูกต้อง (๒) ประพฤติดี มรรยาทดี (๓) รสนิยมดี (๔) คิดตรึกตรองได้ถ่องแท้ (๕) เจริญกาย เจริญปัญญา แสวงหาความรู้ และ (๖) แปลความคิดเป็นการกระทำได้สำเร็จ
ที่ผู้เขียนติดใจมาก คือคำอธิบายข้อที่ว่า “รสนิยมดี” ซึ่ง น.ม.ส. ทรงแปลจากคำว่า good taste เปรียบเทียบคน ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี กุสุมรส และอีกกลุ่มหนึ่งมี สถุลรส (bad taste)
MAPS ช่วยกล่อมเกลาให้คนเติบโตขึ้นและสร้างสรรค์งานอย่างกุสุมรส คือประณีต นุ่ม นวลเนียน เหมือนกลีบดอกไม้
เมื่อโลกมีเสียงดนตรี ทั้งที่เป็นศัพท์สำเนียงจากธรรมชาติและการบรรเลง
เมื่ออารมณ์ของคนแช่มชื่นด้วยเส้นสายลวดลายและสีสัน
เมื่อมนุษย์ได้เคลื่อนไหว ออกกำลังกาย แสดงออกด้วยการละเล่น
เมื่อจิตของทุกคนได้รับการฝึกฝนให้บรรเทาร้อนผ่อนเย็น
ผู้คนก็จะมีกุสุมรส นิยมความเป็นมิตรไมตรีต่อกัน
เป็นรสชื่นชุ่มฉ่ำของชีวิต สด สะอาด สมดุล
เป็นความงอกงาม เติบโตในเส้นทาง แม้จะเลี้ยวลดก็ไม่มีวันหลง
เมื่อจิตมุ่งไปตามทิศของแผนที่หัวใจ
แสดงความคิดเห็น