กันยายน 2006

คำถามที่ง่ายๆ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 11 มกราคม 2551

“Because questions are intrinsically related to action, they spark and direct attention, perception, energy and effort…….Creativity requires asking genuine questions, those to which an answer is not already known.”

Marilee Goldberg



มักจะมีคนชอบถามเสมอๆ ว่า ในวงน้ำชาตอนเช้าหน้าบ้านอาจารย์ฌานเดชที่เชียงรายหรือกลุ่มจิตวิวัฒน์ของเชียงรายนั้น ที่ใช้ “สุนทรียสนทนา” เป็นกระบวนการหลักในการพูดคุยกัน “มีเรื่องอะไรคุยกันนักกันหนา?” นั่งคุยกันได้ทุกๆ วัน วันละหลายๆ ชั่วโมง แถมบางครั้งยังสามารถคุยกันได้วันละหลายๆ รอบอีกต่างหาก และถ้าเป็นวันที่การจัดเวิร์คชอปพวกเราก็มักจะอาศัยรถตู้เป็นสถานที่คุยกันในช่วงที่เดินทาง
บางทีตัวผมเองก็งงๆ เหมือนกันว่าพวกเราคุยอะไรกันนักกันหนา

หรือหลายคนก็อาจจะสงสัยไปถึงว่า “สุนทรียสนทนา” ที่พวกเราคุยกันนั้น “ต้องมีหัวข้อ” ในการพูดคุยกันหรือไม่อย่างไร

ผมก็เลยอยากจะลองตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการพูดคุยหรือการสนทนาไว้ประมาณนี้ว่า

การพูดคุยแบบที่หนึ่ง

เรื่องราวการพูดคุยโดยทั่วๆ ไปนั้นมีความสำคัญมาก การพูดคุยเพื่ออัพเดทเรื่องงานเวิร์คชอปที่แต่ละคนไปทำๆ กันมา หรือพูดคุยกันเรื่ององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานกระบวนทัศน์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับ “วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่” เช่น คลื่นสมอง ปัญญาสามฐานกับสมองสามชั้น โหมดปกติ-โหมดปกป้องและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเมื่อมาย้อนดูก็จะพบว่าองค์ความรู้ที่สำคัญมากต่างๆ เหล่านี้ได้ถูก “กลั่นกรอง” ออกมาจากการพูดคุยของพวกเราใน “วงสุนทรียสนทนา” แบบนี้ทั้งสิ้น
เป็น “องค์ความรู้” ที่ไม่รู้ว่าเป็นของใครแน่ เพราะแต่ละคนก็ได้ “คิดต่อ” จากความคิดของคนอื่นๆ ที่อยู่ในวงแล้วในที่สุดก็หลอมรวมออกมาเป็น “ชุดความรู้” ที่เป็นพลวัตสามารถเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้อย่างเนืองๆ

การพูดคุยแบบที่สอง

มักจะเป็น “การตั้งคำถามที่ง่ายๆ” ง่ายแบบไม่น่าเชื่อว่าการตั้งคำถามแบบนี้จะสามารถ “จุดประกาย” ให้เกิดการเรียนรู้มากมาย “คำถามง่ายๆ” ที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ใช้ถามพวกเราเสมอๆ ก็คือ “ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง?” หรือ “เราได้เรียนรู้อะไรบ้างกับกิจกรรมเวิร์คชอปที่ผ่านมาแต่ละช่วง?” หรือ “เรารู้สึกกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาอย่างไร?” หรืออาจจะกว้างๆ ประมาณว่า “พวกเราเป็นอย่างไรกันบ้าง?”

ต้องขอทำความเข้าใจนะครับว่าในเวิร์คชอปแต่ละวันที่พวกเราจัดนั้น จะถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงเวลาคือ ช่วงเช้า ช่วงบ่าย และช่วงค่ำ พวกเราที่จัดกระบวนการเรียนรู้จะต้องมีการพูดคุยกันทุกช่วง เป็นการประเมินงานที่ผ่านมาและเป็นการพูดคุยถึงแผนงานที่จะทำต่อไป

หลายๆ ท่านอาจจะยังนึกไม่ออกว่าเพียงแค่คำถามง่ายๆ แบบว่า “เราเรียนรู้อะไรบ้าง?” จะสามารถทำให้เกิดเรื่องราวการเรียนรู้ได้อย่างไร ก็คงจะต้องทดลองทำกันดู ประสบการณ์ตรงที่ผมพบนั้นเป็นเรื่องราวที่ดูไม่น่าเชื่อ บางทีผมก็งงๆ เหมือนกันว่า เอ๊ะ ไอ้คำถามนี้มันเหมือนจะซ้ำซากนะ แต่เจ้าคำถามนี้มันก็เป็นการ “ซ้ำแบบไม่ซ้ำ” เพราะจริงๆ แล้วเราก็มีประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา การที่ได้มานั่งใคร่ครวญแล้วลำเลียงเรื่องราวการเรียนรู้ที่เรามีประสบการณ์ใหม่ๆ กับชีวิตตลอดเวลาในการสนทนานั้น ทำให้เราเรียนรู้ ทำให้เราไม่เบื่อไม่เซ็งกับชีวิตที่หลายๆ คนจะนึกว่ามันซ้ำมันซาก

คำถามง่ายๆ ที่ดูเหมือนจะธรรมดาๆ ดูเหมือนจะซ้ำซาก ในบางครั้งกลับช่วยให้เราได้มองเห็น “ความรื่นรมย์” “ความแปลกใหม่” ตลอดเวลาของชีวิต

ในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับ “กระบวนการเรียนรู้” พวกเรามักจะนึกว่า “การได้คำตอบ” ต่อเรื่องราวหนึ่งจะเป็นจุดสำคัญที่สุดที่แสดงว่า “ฉันรู้แล้ว” หรือ “ผู้ที่จะต้องถูกสอน (อาจจะหมายถึงนักเรียนนักศึกษา) รู้แล้ว” บางทีเรามัวแต่ไปนึกถึงคำนึงถึงหรือแม้แต่คาดหวังกับ “ผลบั้นปลาย” มากเกินไปจนทำให้เราลืมนึกถึงองค์ประกอบที่สำคัญมาก ก่อนที่จะนำพาไปสู่ “ผลบั้นปลาย” แบบนั้นสองสามอย่าง ซึ่งนอกจากการที่จะต้องอาศัยเวลาในการบ่มเพาะกระบวนการเรียนรู้แล้ว

องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการเรียนรู้จะอยู่ที่ “การตั้งคำถามที่เหมาะสม” ด้วย ที่เชียงราย อาจารย์วิศิษฐ์จะเรียกการตั้งคำถามที่เหมาะสมแบบนี้ว่า “การใส่ตัวกวน” “ตัวกวน” จึงหมายถึงคำพูดบางอย่างที่ก่อกวนความคิดหรือจิตใจให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ อยากรู้อยากค้นคว้าอยากติดตาม

เราต้องยอมรับว่าในขั้นตอนแรกของกระบวนการเรียนรู้นั้น เราอาจจะต้องรู้สึก “อึดอัดสับสน” แต่ความรู้สึกตรงนี้ไม่ใช่ความรู้สึกอึดอัดสับสนในทางด้านลบที่มาทำลายตัวเราให้ห่อเหี่ยวหมดเรี่ยวหมดแรงเลย แต่มันเป็นความรู้สึกอึดอัดสับสนที่เราจะต้องดิ้นรนเพื่อให้เราได้อะไรบางอย่าง เป็นความอึดอัดสับสนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเราที่จะอยากรู้อยากเห็นอยากค้นคว้าอยากแสวงหา

ผมอยากจะยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เรากำลังจะเริ่มขี่จักรยานเป็น เราจะมีความรู้สึก “สับสน” กับการขี่ตรงนั้น จะทรงตัวยังไงไม่ให้ล้ม จะวางเท้าตรงไหน หรือในช่วงที่เรากำลังจะว่ายน้ำเป็นก็เป็นในทำนองเดียวกัน เรามักจะอึดอัดสับสนอยู่ในช่วงแรกของการเรียนรู้ว่าจะตีเท้ายังไง จะลอยตัวยังไง จะหายใจยังไง แต่เป็นความอึดอัดสับสนที่ช่วยให้เราเพียรพยายามที่จะผ่านพ้นประสบการณ์ตรงนั้นไปให้ได้ ไม่ใช่เป็นความอึดอัดที่มาทำให้เราท้อแท้สิ้นหวัง ผมสังเกตว่าผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้กับพวกเราต่างก็ต้องผ่าน “สภาวะที่อึดอัด” คล้ายๆ แบบนี้กันทุกคนในวันแรกๆ ของกระบวนการตามที่ผมเคยเขียนเล่าไปแล้วในบทความที่ชื่อ “เพราะอะไรถึงต้องช้าลง”

“ตัวกวน” หรือ “คำถามที่เหมาะสม” บางอย่างจึงเป็น “ตัวกระตุ้น” ให้ “ก่อเกิด” กระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะได้ก่อกำเนิดขึ้นมาจากภายในของตัวผู้เรียนเอง

ผมพบว่าในกระบวนการเรียนรู้ เมื่อเรามีคำถามที่เหมาะสม เราก็มักจะได้คำตอบที่ดีตามมาเองอย่างคาดไม่ถึง และบางที “คำถามที่เหมาะสม” นั้นก็เป็นอะไรที่ธรรมดาๆ และแสนที่จะเรียบง่ายเหลือเกิน

“ที่ผ่านมาในวันนี้ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?”

อยู่ร่วมเพื่อจากพราก ฤๅจากพรากเพื่ออยู่ร่วม

















หลังจากที่ดูหนังไทยเรื่อง “โคตรรักเอ็งเลย” จบ คำถามหนึ่งที่โกวเล้งเคยถามก็ผุดพรายขึ้นมา


“มนุษย์เรานั้น อยู่ร่วมเพื่อจากพราก ฤๅจากพรากเพื่ออยู่ร่วม”


หาก “การอยู่ร่วม” นั้นเป็นไปเพื่อจากพรากแล้ว “การมีชีวิตอยู่” นั้น มีความหมายอะไร และหากการจากพรากนั้นเป็นไปเพื่ออยู่ร่วม จากพรากนั้นจากอะไร และไปอยู่ร่วมกับสิ่งใด

สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจยิ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ เห็นจะเป็นมุมมองความหมายที่มีต่อคำว่า “อยู่ร่วม” และ “จากพราก”

มนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างไร จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมที่มีความหมาย และมนุษย์จะพรากจากสิ่งใด เพื่อเข้าถึงความหมายแห่งการอยู่ร่วมกัน

เมื่อมองในระดับสัมพันธภาพของคนสองคน ดังเรื่องชีวิตคู่ของตัวละครหลักในภาพยนตร์ไทยเรื่องดังกล่าว กว่าจะรู้ความหมายของการอยู่ร่วมก็ต้องประสบกับความทุกข์จากการจากพรากเสียก่อน และหากไม่ยอมละทิ้งซึ่งทิฐิมานะตัวตน ก็คงยากที่คนคู่หนึ่งจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีก ดูเหมือนผู้เขียนบทจะมีความกรุณากับตัวละครของตนมากทีเดียว ในการให้โอกาสครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะให้ตัวละครได้เรียนรู้ ยอมรับ และแก้ไขความบกพร่องผิดพลาดของตน

ข้าพเจ้าสงสัยว่า คนดูภาพยนตร์อย่างเราๆ ท่านๆ จะได้รับโอกาสเช่นนั้นมากน้อยเพียงใดในโลกนอกจอ มนุษย์เราจะโชคดี ได้กลับมาแก้ไขความผิดพลาดบางอย่าง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพบกับความจากพรากได้ตลอดไปล่ะหรือ

อันที่จริง เราไม่อาจหนีความตายได้เลยด้วยซ้ำ!

“คุณเชื่อเรื่องโลกหน้าไหม” คำถามนี้ผุดขึ้นมาแทน ก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้รับคำตอบ

ในฐานะของชาวพุทธ เราย่อมเชื่อว่าชีวิตนั้นเป็นสันตติ เป็นกระแสแห่งความต่อเนื่อง ความสิ้นสุดแห่งลมหายใจในกายนี้ ย่อมมิได้หมายถึงการดับสูญอย่างสิ้นเชิง

เปรียบได้กับแม่น้ำ น้ำที่ไหลในแม่น้ำย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่แม่น้ำก็ยังคงเป็นแม่น้ำสายเดิมอยู่เสมอ หากตระหนักได้ว่า เราจะได้กลับมายังแม่น้ำสายเดิมทุกครั้ง แม้ว่าจะไม่มีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดเดิมในโลกก่อนหน้า แต่ในโลกนี้ “โอกาสดีๆ” ที่จะได้เรียนรู้การจากพราก และการอยู่ร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวย่อมอยู่ในมือเราเสมอ

หนุ่มของข้าพเจ้าผู้หนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตคู่ แท้จริงแล้วก็คือการขัดเกลาตนเอง”

ข้าพเจ้านิ่งไปชั่วขณะเพื่อขบเคี้ยวถ้อยคำดังกล่าว

ในยุคสมัยปัจจุบัน ข้าพเจ้าเคยพบเห็นพระโพธิสัตว์จำนวนมาก ในร่างของคนหนุ่มสาวที่อุทิศตนทำงานสาธารณประโยชน์อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ไม่แยแสกับกระแสโลกที่มาล่อหลอกในรูปของเงินเดือนสูงๆ ตำแหน่งงานน่าดึงดูดใจในบริษัทใหญ่ ผู้คนเหล่านี้มีความสุขง่ายๆ หิวก็กิน ง่วงก็นอน ได้ทำงานที่เลือก อ่านหนังสือ พบผู้รู้ สังสรรค์กับเพื่อนฝูง

เหล่านี้ใช้ชีวิตบนหนทางแห่งการภาวนาแตกต่างจากนักบวชที่ตรงไหน คำตอบอาจเป็นว่า เขาเหล่านั้นเป็น “ผู้ครองเรือน”

ฆราวาสที่น่ารักเหล่านั้นหลายคนแต่งงาน หลายคนมีคู่รัก หลายคนมีครอบครัวใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบดูแล หากการภาวนาเป็นวิถีชีวิต ผู้คนเหล่านี้ก็ใช้ชีวิตครองเรือนของตนเป็นเครื่องภาวนา

เธอหรือเขาต่างก็ใช้ชีวิตคู่เป็นหนทางแห่งการภาวนา แค่ลองนึกดู อยู่กันอย่างไรไม่ให้ทะเลาะหรือขัดแย้งกัน หรือปรองดองอย่างไรที่ไม่ใช่เพียงรูปแบบ ต้องอาศัยการรักเคารพและนับถืออีกฝ่ายหนึ่งมากมายเพียงใด ต้องประกอบด้วยขันติ อุเบกขา และความกรุณา พร้อมที่จะให้อภัยกันมากขนาดไหน และสามารถแปรเปลี่ยน “ความรัก” ของคนสองคน ให้กลายเป็น “ความกรุณา” ต่อสรรพชีวิต ได้อย่างหมดจดงดงามได้อย่างไร

คำถามสุดท้ายนี้ ทำให้ข้าพเจ้าพลันนึกถึงคู่ของอาจารย์สมปอง-ประมวล เพ็งจันทร์ ขึ้นมาทันที

อาจารย์ประมวลเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุยในเวลา 66 วัน ไม่พกสตางค์แม้แต่แดงเดียว แต่ละวันได้รับอาหารและน้ำจากการบริจาคของผู้มีน้ำใจที่ได้พบปะระหว่างทาง

การจาริกบุญเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง และเข้าถึงความหมายแห่งชีวิตของอาจารย์ประมวล ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจาก “ความรักความเข้าใจ” อย่างลึกซึ้งของอาจารย์สมปอง ผู้เป็นศรีภริยา

เธอได้เอ่ยปากอนุญาตให้สามีทำในสิ่งที่ดูเหมือนจะเสี่ยงต่อการให้เขาจากไปตายอยู่ข้างถนน หรือแห่งหนใดก็ไม่อาจรู้ได้

เมื่อเขาเดินก็ด้วยความรู้สึกว่ามีภรรยาเดินทางร่วมด้วยตลอด และไม่อาจนำความรักความศรัทธาของภรรยาไปแลกกับการทำลายสัจจะอันเกิดจากความหิวโหยในบางมื้อได้

ธรรมของภรรยากลายเป็นเครื่องคุ้มครองเขาในยามยากไร้

เราใฝ่ฝันถึงชีวิตคู่ดังนี้ได้ไหม เราจะยกมือสาธุบูชาผู้ครองเรือนดั่งนี้ได้ไหม

ณ บรรทัดนี้ คำถามของโกวเล้งที่ว่า “มนุษย์เรานั้น อยู่ร่วมเพื่อจากพราก ฤๅจากพรากเพื่ออยู่ร่วม” ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ปราศจากความหมายไปเสียแล้ว

คำถามเรื่องความแตกต่างในวิถีภาวนาของผู้ครองเรือนและนักบวชก็ปราศจากความหมาย


ความหมายอะไรก็ไร้ความหมาย หากเรื่องราวทั้งหมดนั้นเป็นกรอบประสบการณ์ของคนอื่น

หนังฉายจบแล้ว

โกวเล้งเขียนจบไปนานแล้ว


แล้วไงล่ะ?


อะไรก็อยู่ในคัมภีร์

สิ่งประเสริฐที่สุดในโลกก็มีศาสดาค้นพบไปแล้ว

เมื่อไหร่เจ้าสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ สิ่งที่ศาสดาค้นพบ จะกลายเป็นประสบการณ์อันแสนวิเศษมหัศจรรย์ในชีวิตของเราเสียที


ก็เพียงม่านบังตา











เล่าต่อจากคราวก่อน

ในส่วนของวิทยากรฝ่ายอิสลามนั้น อาจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินีได้อรรถาธิบายไว้ว่า วิถีอิสลามนั้นก็คือการแสดงความเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า กิจกรรมต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง การประกอบอาชีพ ล้วนต้องเป็นไปเพื่อการนี้

สำหรับชาวมุสลิมแล้ว โลกนี้และโลกหน้ามิได้แยกออกจากกัน ความตายเป็นสมบัติของชีวิต ศาสดาก็เคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์ต้องตายก่อนตาย” และย้ำให้ระลึกถึงความตายทุกเวลาทุกนาที

อาจารย์สุชาติยังกล่าวถึงความตาย ๓ ลักษณะในอัลกุรอานไว้ ดังนี้

ความตายคือ
(หนึ่ง) การพบกับพระผู้เป็นเจ้า
(สอง) การกลับคืน
(สาม) การจับ/หยิบดวงวิญญาณไปวางไว้ในอาณาจักรพระผู้เป็นเจ้า

ส่วนเหตุแห่งความกลัวตายของมนุษย์นั้นมี ๓ ประการ ได้แก่ (๑) ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง (๒) เป็นสิ่งที่ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย จึงมีความกังวล และ (๓) ขาดการเตรียมพร้อม เพราะความตายไม่เคยรอให้พร้อม

ตามความเชื่อของชาวมุสลิมนั้น เมื่อตายลง เดินไปไม่ถึงสี่สิบก้าว ก็จะมีผู้ตามทวงหนี้แล้ว ฉะนั้น การสั่งสมกุศลกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น การปฏิบัติดีต่อเพื่อนมนุษย์แท้จริงแล้วก็คือการปฏิบัติดีต่อพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง

เรื่องเล่าหนึ่งในอิสลาม กล่าวถึงชายผู้หนึ่ง ซึ่งถามเพื่อน ๓ คน ว่าหากเขาตาย เพื่อนจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง คนแรกตอบว่าจะเตรียมโลงและผ้าห่อศพให้ คนที่สองตอบว่าจะช่วยแบกโลงไปที่หลุมฝังศพ ส่วนคนที่สามตอบว่าจะลงไปอยู่เป็นเพื่อนในหลุมฝังศพและช่วยตอบคำถามต่อเทวทูต เพื่อนทั้งสามคนเป็นดังอุปมาของสิ่งที่ติดตามตัวเราไปได้เมื่อตายแล้ว เพื่อนคนแรกคือทรัพย์สินเกียรติยศ เพื่อนคนที่สองคือครอบครัวญาติพี่น้อง ส่วนเพื่อนคนสุดท้ายก็คือ อาม้าล หรือกรรมดีกรรมชั่วนั่นเอง

ความตายในอิสลามก็มิใช่ความตายเชิงปัจเจก หากยังมีความอยุติธรรมในสังคม มีความบีบคั้นเบียดเบียน ชาวมุสลิมย่อมไม่อาจดูดายได้เช่นกัน ดังถ้อยคำในพระคัมภีร์ที่ว่า “จะเข้านอนได้อย่างไร หากเพื่อนบ้านยังหิวอยู่”

สำหรับชาวมุสลิมแล้ว ความตายมิได้เป็นเรื่องแยกออกจากชีวิต โลกนี้กับโลกหน้าล้วนเป็นโลกเดียวกัน ทุกคนต้องกลับไปสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ดังบทกวีในสายซูฟี ที่กล่าวว่า


When you leave me in the grave,
Don’t say goodbye.
Remember a grave is only a curtain,
For the paradise behind.

หากเราจากกันชั่วนิรันดร์
อย่าได้กลั่นถ้อยคำแห่งร่ำลา
สุสานนี้ก็เพียงม่านบังตา
แผ่วพริ้วอยู่เบื้องหน้าแดนสวรรค์

ความตายของเธอ ชีวิตของฉัน















เสาร์นี้อยู่เชียงใหม่ ช่วงบ่ายเข้าร่วมประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึก หรือจิตวิวัฒน์เชียงใหม่ ประชุมเป็นครั้งที่ ๑๓ แล้ว

เติ๋นผญายังน่ารักเหมือนเดิม ศาลาร่มรื่น อยู่ท้ายวัดสวนดอก เขตอารามหลวง สถานที่เก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ของเมือง

การประชุมคราวนี้ได้รับความกรุณาจากคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร และอาจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินีมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ความตาย ในทัศนะของคริสต์ และอิสลาม”

เนื้อหาพูดคุยวันนี้น่าประทับใจมาก คุณพ่อนิพจน์พูดได้ลึกซึ้ง ราวกับกลั่นออกมาจากเนื้อตัว ท่านอาจารย์สุชาติก็ช่างถ่อมตน แต่สิ่งที่กลุ่มได้เรียนรู้นั้นมีมากเหลือเกิน

คุณพ่อนิพจน์ได้กล่าวถึงทัศนะต่อความตายในศาสนาคริสต์ไว้ ๓ ประการ คือ

(หนึ่ง) เป็นสภาวะการเปลี่ยนผ่าน “เราจะไม่ไปไหน มีเพียงร่างกายที่เปลี่ยน” ความตายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้ว และกำลังจะมาถึง ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่า “เราจะมีชีวิต โดยใช้ชีวิตอย่างไร”

(สอง) ความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตและความตาย การมีชีวิตจึงต้องเป็นไปเพื่อสร้างความหมาย เพื่อรับใช้สังคมและโลก

(สาม) โลกมิใช่กลไก หากประกอบด้วยชีวิตภายใน ประวัติศาสตร์มนุษย์ไม่ได้มีแต่เพียงประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจ การเมือง หากยังประกอบด้วยมิติทางศาสนธรรม จริยธรรม

ท่านยังได้เล่าถึงประสบการณ์ใกล้ชิดความตายของตนเอง เมื่อป่วยเป็นอัมพฤกษ์ซีกซ้ายเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว โดยชี้ให้เห็นภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของจิตในภาวะเจ็บป่วยใกล้ตายเป็นลำดับ และเน้นย้ำความสำคัญของการเตรียมตัว และความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

นอกจากนี้แล้ว ความตายในทัศนะคริสต์มิได้หมายถึง ความตายของปัจเจกเท่านั้น หากยังรวมถึง ความบีบคั้น เบียดเบียน ความอยุติธรรมในสังคม การทำลายสิ่งแวดล้อมและโลก เหล่านี้ เป็นบาปโครงสร้าง เป็นความตายเชิงคุณค่า ชาวคริสต์ย่อมต้องทำลายบาปเหล่านี้ ด้วยการใช้ชีวิตในการสร้างสังคมที่ดี

โลกทัศน์ของชาวคริสต์ก็คือการมองว่าสรรพสิ่งล้วนประกอบด้วยความมีชีวิต และชีวิตย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ โลกที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เป็นโลกเดียวกับโลกียะ ความอยู่รอดของบุคคลย่อมเป็นสิ่งเดียวกับความอยู่รอดของโลกและจักรวาล

เมื่อเรียนถามถึงการพิจารณา “ตายก่อนตาย” ในวิถีคริสต์

คุณพ่อนิพจน์ยกแก้วน้ำขึ้นมาหนึ่งแก้ว “นี้อย่างไรล่ะ น้องสาวน้ำของเรา ความตายของเธอ ได้มอบชีวิตให้กับเรา”

เมื่อชี้ไปที่จานอาหาร “ขนมปังนี้ ข้าวนี้ ได้มอบขวัญให้กับเรา ความตายของข้าวนั้นเป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงเรา เตือนใจให้เราบริโภคด้วยความระมัดระวัง และดำรงชีวิตที่มีความหมาย”

โอ้... จับใจไหม?

ความฝัน - ที่มาคืออะไรและมาได้อย่างไร?

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กันยายน 2549

มนุษย์เราดำรงอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งข้อมูลโดยไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่รู้ จึงต้องอยู่กับอวิชชาที่เราคุ้นกับมันและจะโกรธหากมีใครมาพูดว่าเราเช่นนั้น เหมือนปลาน้อยที่ว่ายวนเวียนอยู่ในทะเลเพื่อค้นหาว่าทะเลอยู่ที่ไหน ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เชื่อว่านั่นเป็นเจตนาของจักรวาลที่ทำให้เรามัวเมาอยู่กับความรู้สึกที่ได้จากผัสสะสฬายตนะ “มายา” ที่เป็นด้านโลกียะของความเป็นสอง ความเป็นสีสันทุกข์สุขที่เราคุ้นเคยดำรงอยู่กับมัน ทำให้เราคิดว่านั่นคือธรรมชาติของชีวิตหรือของมนุษย์ (human nature) นั่นคือความจริงที่เราไม่มีทางเลือก และต้องอยู่กับมันจนวันตาย และเป็นเพราะอวิชชาความไม่รู้อีกด้านหนึ่งของความเป็นสองเช่นนั้นเอง ที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ทำให้เราต้องเดินทางเพื่อเรียนรู้ความจริงที่อยู่อีกด้านหนึ่งของความเป็นสองนั้น เป็นการเรียนรู้ที่ มาร์กาเร็ต มีด เรียกว่า “การเรียนรู้หมดทั้งกระบวนการ” (whole process learning) ความรู้อีกด้านหนึ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ที่ปรากฏออกมาเป็นครั้งๆ คราวๆ ในรูปของโค้ดหรือสัญลักษณ์ หรือเหตุการณ์ที่พ้องต้องกัน (synchronicity) หรือความฝัน ฯลฯ ประสบการณ์ที่นักวิชาการ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่จริง หรือบังเอิญ โดยบทความนี้ ผู้เขียนจะชี้เฉพาะที่มาของความฝันไปอีกทาง โดยมีหลายอย่างตรงข้ามกับที่เชื่อกันอย่างที่ว่ามานั้น เป็นต้นว่าความฝันเกิดจากคิดมาก อาหารไม่ย่อย อั้นปัสสาวะ หรืออะไรง่ายๆ ของคนขี้เกียจคิด ผู้เขียนเชื่อว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น

ผู้เขียนเชื่ออย่างมีหลักฐานหรือมีเหตุผลที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีหลักฐานหรือเหตุผลที่ดีกว่า ที่ต้องการโต้แย้งหรือคัดค้านความเห็น และ/หรือข้อมูลของผู้เขียนที่มีว่า ความฝัน อย่างน้อยส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่เสียด้วยมีความสัมพันธ์กับ “ความจริงแท้ หรือมหาปัญญาอันสากลของจักรวาล” ดังที่ คาร์ล จี. จุงเชื่อ หรือแม้แต่ เคน วิลเบอร์ เองก็พูดไปในทำนองเดียวกัน

ความคิดเห็นของ คาร์ล จุง ในเรื่องของความฝันมีดังนี้ “ ความฝันเป็นประหนึ่งประตูเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ข้างในสุดเร้นลับที่สุดของจิตไร้สำนึก (psyche = unconsciousness as consciousness) ประตูที่เปิดสู่จักรวาลยามค่ำคืนที่มืดมิด หรือสู่แหล่งที่มาของจิตไร้สำนึกก่อนที่มันจะเปลี่ยนเป็นจิตแห่งอหังการ์ในมนุษย์ – ที่จะยังคงเป็นจิตไร้สำนึกของจักรวาลตลอดไปไม่ว่าจักรวาลจะขยายไปถึงไหน ... จิตนั้นอาจมีหลากหลายรูปแบบ แต่ในฝันเราจะเป็นเสมือนมนุษย์ที่มีความเป็นสากลจริงๆ เป็นความจริงที่แท้จริงกว่านิรันดร ที่ดำรงอยู่ในความมืดสลัวของ “แสงแรกแห่งจักรวาล” (primordial light) มนุษย์ที่เป็นส่วนย่อยของทั้งหมดเท่าๆ กับมีทั้งหมดอยู่ในส่วนย่อย และเป็นสิ่งเดียวกับ “ธรรมชาติที่ไร้อหังการ์” จากหนึ่งที่เป็นทั้งหมด - ทั้งหมดที่เป็นหนึ่งนี้เองที่ความฝันอุบัติขึ้นมา ไม่ว่าความฝันนั้นๆ จะดูไร้เดียงสาหรือว่าจะโอ่อ่าโอฬารหรือว่าจะไร้สิ้นซึ่งคุณธรรมมนุษยธรรมแค่ไหนก็ตาม” (Carl Jung : Memeries, Dreams, Reflections; 1963)

นั้นเป็นการนำเอาความฝันเข้าไปเกี่ยวพันกับไซคี (psyche) หรือจิตไร้สำนึกร่วมสากลของจักรวาลเป็นครั้งแรกในทางจิตวิทยา แต่จริงๆ แล้ว ผู้ที่พูดเรื่องจิตไร้สำนึกที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเป็นคนแรก คือซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่เราทุกคนรู้จักชื่อเสียงของเขาดี ความสัมพันธระหว่าง คาร์ล จุง กับ ซิกมันด์ ฟรอยด์ นั้นล้ำลึกยิ่งนัก เมื่อฟรอยด์ตั้งใจและพยายามที่จะทำให้ประชาชนคนทั่วไปโดยเฉพาะนักวิชาการของยุโรปเข้าใจว่า คาร์ล จุง คือทายาททางวิชาการของเขา หรือยิ่งกว่านั้นเป็นลูกบุญธรรมของเขา ส่วนจุงเองในช่วงหนึ่งก็นับถือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มากประหนึ่งเป็นครูเป็นบิดาของตน จุงนับถือวิธีการของฟรอยด์ในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย (psychoanalysis) ที่นำไปสู่การแปลความฝัน ที่ฟรอยด์ตีพิมพ์เป็นหนังสือ Interpretation of Dreams จุงบอกว่านี่เป็นหนังสือที่ดีที่สุดของฟรอยด์ แต่จุงก็ไม่เห็นด้วย นั่นคือฟรอยด์ได้นำเอาเรื่องของจิตใต้สำนึก (ไร้สำนึก) ที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์มาเขียนเป็นครั้งแรกในโลกแห่งวิชาการ เพียงแต่ฟรอยด์เอาเรื่องของกามารมณ์เพียงอย่างเดียวไปผูกไว้กับพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดตามมาจากจิตไร้สำนีกที่ถูกกดดันเอาไว้ในอดีต

ก่อนที่จุงจะแต่งงานกับเอ็มมา – คนละคนกับคนไข้ของฟรอยด์ที่ชื่อเอ็มมาเหมือนกันที่ทำให้ ฟรอยด์สร้างทฤษฎีความฝันขึ้นมา (Emma’s dream) ทีแรกจุงทำท่าจะรับเป็นทายาท แต่สาเหตุหนึ่งที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคนไม่อาจลุล่วงเช่นนั้นได้ เพราะตอนนั้นจุงต้องการจะเป็นจิตแพทย์ จึงต้องการการรับรองจากสภานักวิชาการที่ไม่ชอบฟรอยด์เท่าไรนัก เพราะ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นคนหยิ่งที่อหังการ์ ผู้ไม่เชื่อในเรื่องของพระเจ้าและจิตวิญญาณอย่างเปิดเผย ช่วงนั้นจุงยังปรารถนาการยอมรับจากวงวิชาการ จึงทำให้ความสัมพันธ์ฉันท์พ่อลูกระหว่างทั้งสองต้องถูกชะลอเอาไว้ก่อน หลังจากนั้นไม่นานนัก ทั้งสองก็เดินทางมาประชุมที่สหรัฐอเมริกานานถึงสามสัปดาห์โดยอยู่ด้วยกันตลอดเวลา และช่วงนั้นเองที่คาร์ล จุง รู้ว่า นอกจากตนจะสืบทอดเจตนารมณ์ของฟรอยด์ไม่ได้แล้ว - โดยหลักการ – แม้โลกทัศน์ของทั้งสองคนก็ดูเหมือนจะอยู่ตรงข้ามกันและกัน การรู้เช่นนั้นเป็นผลจากความฝันของฟรอยด์ที่ตัวฟรอยด์เองต้องการให้จุงช่วยแปล ปรากฏว่าความเห็นในเรื่องของการตีความจิตไร้สำนีกเป็นไปคนละทาง สำหรับฟรอยด์ความฝันเป็นประเด็นทางจิต ความปรารถนาที่ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ในชีวิตจริง จึงหวังจะให้มันสำเร็จในฝัน พฤติกรรมเช่นนั้นฟรอยด์บอกว่าเป็นผลของความเก็บกดทางเพศในขณะยังเป็นเด็ก นั่นคือ พฤติกรรมทั้งหมดเป็นผลของจิตใต้สำนึกของความกดดันทางเพศเท่านั้นและเท่านั้น สัญลักษณ์ที่ปรากฏเป็นความฝันคือความปรารถนาทางเพศในอดีต ซึ่งสำหรับจุง พฤติกรรมที่แสดงออกในฝัน ไม่น่าจะได้มาหรือมีที่มาจากความกดดันทางเพศอย่างเดียวเท่านั้นและเท่านั้น แต่อาจเป็นความทรงจำที่ฝังใจทุกอย่าง เช่นความไม่เป็นธรรม การถูกเหยียดหยามซ้ำซาก ฯลฯ และความทรงจำก็ไม่ได้ยุติที่อดีตที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้เท่านั้น แต่ความทรงจำนั้นๆ ยังอาจจะไล่กลับไปถึงแหล่งความจำของเผ่าพันธุ์ (archetype) และไล่ต่อไปถึงสนามจิตไร้สำนึกร่วมอันเป็นสากลของจักรวาล (universal unconscious continuum)

ในกรณีความฝันของฟรอยด์ที่กล่าวมานั้น เป็นฟรอยด์เองที่ต้องการให้จุงแปลสัญลักษณ์ของจิตไร้สำนึกที่ว่านั่น จุงจึงบอกกับฟรอยด์ว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอดีตของฟรอยด์มีไม่พอ จึงขอให้ฟรอยด์ช่วยเล่าประวัติทั้งหมดที่จำได้มาให้ด้วย และตรงนี้เองที่ฟรอยด์ตอบจุงไปว่า “ในฐานะที่เป็นผู้รอบรู้ที่มีศักดิ์ศรีของนักวิชาการ ผมไม่ยอมเสี่ยงกับการเอาความเป็นอาญาสิทธิ์และศักดิ์ศรีมาแลกกับความเป็นส่วนตัวของผมหรอก” จุงรับการปฏิเสธเช่นนี้ไม่ได้ สำหรับจุงแล้ว ความจริงทางวิชาการอยู่เหนือตัวคนและอหังการ์ หรือเหนือ “อาญาสิทธิ์หรือศักดิ์ศรี”มากนัก

และเรื่องที่ฟังดูแล้วอาจไม่สำคัญกับเรา แต่สำหรับจุงแล้ว เรื่องของตัวตนอหังการ์จะสำคัญกว่าข้อเท็จจริงได้อย่างไร? ในเมื่อเราเอง – ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ตาม – ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้แสวงหาความจริง อย่างไรก็ตาม คาร์ล จี. จุง เก็บเรื่องนี้ไว้ในใจและนำมาเล่าไว้ในหนังสือที่อ้างถึงข้างบน โดยตีพิมพ์หลังจากที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ได้จากโลกไปแล้วหลายทศวรรษ

หากเราเข้าใจที่มาและกระบวนการวิวัฒนาการทางชีววิทยาของสมอง (กายภาพ) หรือ (the trune brain theory) โดยเฉพาะวิวัฒนาการของจิต (spectrum of consciousness) และเชื่อในทฤษฎีว่าด้วยที่มาหรืออุบัติการณ์ของความรู้ เป็นต้นว่า เราได้สูตรคณิตศาสตร์ (หรือวิทยาศาสตร์ หรือญาณทัสสนะ ฯลฯ) มาจากไหนและอย่างไร? ทฤษฎีที่ อมิต โกสวามี นักฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอนอธิบายที่มาของความรู้ (เช่น มาจากโลกแห่งคณิตศาสตร์ของพลาโต้) ที่ อมิต โกสวามี เชื่อว่ามาจากจิตจักรวาลหรือมหาปัญญาจักรวาล(the science within consciousness theory –SWC) ที่ทั้ง อมิต โกสวามี และ เคน วิลเบอร์ รวมทั้งนักคิดคนอื่นๆ ใช้อธิบายที่มาและกระบวนการของความรู้ (valid knowledge accumulation) เราก็จะสามารถแปลความฝันหรือสามารถถอดรหัสสัญลักษณ์ของงานศิลปะที่ไม่ต่างไปจากการแปลความฝันได้ทั้งหมด

ทฤษฎีแรกเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนต่างเคยได้ยินได้ฟังมา นั่นคือทฤษฎีสมองสามส่วนของ พอล แม็คคลีน (Paul McLene’s Triune Brain) ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นเอกภาพ ว่าด้วยวิวัฒนาการทางกายภาพของสมองที่เป็นมาตลอดเวลาของไบโอเจเนสิสกระทั่งมาเป็นสมองของมนุษย์อย่างไร ส่วนทฤษฎีว่าด้วยวิวัฒนาการของจิตนั้นมีนักคิดโดยเฉพาะนักปรัชญาว่าด้วยธรรมจิต หรือจิตวิญญาณมากมาย ไม่ว่า พลาโต้ โพลตินัส ศรีอรพินโท และคนอื่นๆ ที่ผู้เขียนนำมาเขียนในช่วงหลายปีมานี้ นั่นคือสเปคตรัมของจิตที่หากพูดโดยหลวมๆ -ก็มีสามระดับ คือ หยาบ ละเอียด และละเอียดอย่างยิ่ง ที่แต่ละระดับก็แยกย่อยต่อไป รวมกันแล้วจะมี ๘ ระดับ (ดู Ken Wilber : Spectrum of Consciousness, 1973)

ส่วนที่มาและกระบวนการแห่งความรู้ (validity of knowledge) ที่รวมเอาญาณทัสสนะเอาไว้ด้วยนั้น มีสามระดับคือ หนึ่ง การหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด (injunction) สอง การนำข้อมูลมาชงมาวิเคราะห์จนถึงทางตัน (apprehension or incubation) และสาม ความรู้ที่ว่านั้น (สูตรคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ปัญญาญาณทัสสนะก็จะปรากฏขึ้น (intuition – manifestation or confirmation- Aha…Eurada…etc.) มาของมันเอง
การแปลความฝัน หรือการถอดรหัสสัญลักษณ์ที่ประกอบเป็นความฝันนี้ – โดยหลักการ - ไม่ได้ต่างไปจากการแปลงานศิลปะใดๆ ไม่ว่าภาพวาดหรือบทกวี แต่ผู้แปลต้องมีข้อมูลรอบด้านพอ และอย่าลืมว่า การแปลหรือการตีความหมายอะไรก็ตามมีทักษะของศิลปะบูรณาการเป็นบริบทที่สำคัญ หัวใจสำคัญของความฝันคือสัญลักษน์ของความฝันนั้นๆ เช่น เรือ รถ หรือพาหะหนึ่งใด รวมทั้งการเดินไปในที่ต่างๆ ทั้งหมดคือการเดินทาง รวมทั้งเดินทางไปปรภพ ดอกไม้สวยหรือเทียนไขสุกสว่าง คือความเป็นมิตรคือความก้าวหน้า นั่นเป็นภาพรวมๆ ที่จริงๆ แล้ว การแปลความฝันแต่ละความฝัน มันละเอียดและซับซ้อน เป็นองค์รวมกว่านั้น เคน วิลเบอร์ บอกว่าความฝันทุกๆ ความฝันมีสัญลักษณ์เป็น “พาหะ” ที่นำพา “ความหมาย” โดยแต่ละระดับและทุกๆ ระดับของจิต ล้วนให้ความหมายภายใต้สัญลักษณ์เดียวกันแต่มีความแตกต่างกัน (ในภาพรวมของธรรมชาติจะมีสามระดับคือ หยาบ ละเอียด และละเอียดอย่างยิ่ง ในพุทธศาสนาโดยมหาสติปัฏฐานสี่ แยกหยาบเป็นสองคือกายกับเวทนา ละเอียดหนึ่งคือจิต (จิตใจ) กับละเอียดอย่างยิ่งอีกหนึ่งคือธรรม เคน วิลเยอร์ แยกระดับหลักใหญ่ๆ ออกเป็นสี่ระดับเหมือนกัน คือ – physical – emotional – mental or self-rational – และสุดท้าย ระดับจิตไร้สำนึกที่เป็น จิตเหนือสำนึกหรือธรรมจิต (spiritual) ที่แยกต่ออีกเป็นสี่ระดับย่อย – สู่นิพพาน)

การแปลความฝันหนึ่งใดนั้น เราต้องไล่แปลไปตามลำดับเพื่อค้นหา “ความหมาย” ที่ซ่อนอยู่ในความฝัน ให้คล้องจองหรือสอดคล้องกับสเปคตรัมของจิตแต่ละระดับนั้น ไล่ขึ้นไปและเชื่อมโยงเป็นบูรณาการ (from physical meaning to emotional meaning to mental meaning to spiritual meaning) แต่ละระดับจะมีบริบทของมันที่จะต่อเนื่องและคลี่ขยาย – เหมือนวงคลื่นที่ทับซ้อนกัน และแต่ละวงคลื่นนั้นๆ จะประกอบด้วยระลอกน้อยๆ ที่เต็มไปด้วยความหมายทั้งสิ้น

๒๔ ชั่วโมง



โดย เดวิด สปินเลน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 กันยายน 2549

สมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษาเมื่อนานมาแล้ว พวกเรามักจะดื่มเบียร์และพูดคุยเรื่องสัพเพเหระอยู่ในหอพักชายเกือบตลอดคืน นอกจากเรื่องฟุตบอลและผู้หญิงแล้ว พวกเราจะแลกเปลี่ยนกันเสมอๆ ในเรื่องการเมือง ปรัชญา ครูที่เราชอบและไม่ชอบ สิ่งที่เราอยากเป็นหรืออยากทำในอนาคต อยากเป็นหมอ เป็นนักกฎหมาย เป็นนักธุรกิจ ปัจจุบันเมื่อมองย้อนกลับไปในเวลานั้น มันน่าสนใจว่า มีพวกเราเพียงไม่กี่คนที่ได้ทำงานตามที่ฝันไว้ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนสนิทที่สุดของผมในตอนนั้นซึ่งเรียนวารสารศาสตร์และอยากจะเป็นนักเขียน สุดท้ายไปเป็นนายหน้าค้าหุ้น

หัวข้อหนึ่งที่พวกเราชอบแลกเปลี่ยนกันเสมอๆ คือถ้าเราสามารถใช้เวลาตลอด ๒๔ ชั่วโมงอยู่กับใครก็ได้ในโลกนี้ คนๆ นั้นคือใคร? เป็นเรื่องธรรมดา ที่ในวัยขนาดนั้นพวกเราส่วนใหญ่จะเลือกดาราภาพยนตร์ที่สวยหรือมีเสน่ห์เย้ายวนใจ ก็เรายังเป็นหนุ่มอยู่นี่ครับ

ณ วันนี้ ถ้าผมถามตัวเองด้วยคำถามเดิมอีกครั้ง คำตอบของผมคือสัตเปรมและสุชาตา ภรรยาชาวอินเดียของเขา ผมแน่ใจว่าพวกคุณส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินชื่อสัตเปรม คุณอาจจะทึกทักเอาจากชื่อสันสกฤตว่าเขาเป็นชาวอินเดีย อาจจะเป็นคุรุของคนบางกลุ่มบางพวก แต่ที่จริงแล้วสัตเปรมเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ แบร์นาร์ด อ็องจิเนร์ เกิดในปารีสเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๓ และยังมีชีวิตอยู่อย่างสันโดษกับภรรยาในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ผมคิดว่าเขาเป็นคนที่มีเสน่ห์และมีจิตวิญญาณลึกซึ้งที่สุดคนหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกวันนี้

เมื่อสัตเปรมยังเด็ก ครอบครัวของเขาย้ายบ้านไปอยู่ที่บริตตานี แถบชายฝั่งของฝรั่งเศส เขาเป็นคนหัวรั้นมากมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ชอบไปโรงเรียน ไม่ชอบบาทหลวงที่เขาต้องไปฟังเทศน์ในโบสถ์วันอาทิตย์ ไม่ถูกกับพ่อ ผมแน่ใจว่าพ่อแม่ของเขาจะต้องคิดว่าเขาเป็นเด็กมี “ปัญหา”

สัตเปรมหลงใหลการแล่นเรือมาตั้งแต่เด็ก ในวัยสิบขวบต้นๆ เขามีเรือใบเล็กๆ ลำหนึ่งเป็นของตัวเองและมักจะหนีออกไปแล่นเรือในทะเลบ่อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่ออยู่เพียงลำพังกับท้องทะเล ฟ้ากว้าง และเหล่านกนางนวล เขาจะพบความสงบสันติและเข้าสู่สภาวะจิตจักรวาล กลายเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอยู่เสมอๆ

เมื่อเยอรมันบุกโจมตีและพิชิตฝรั่งเศสได้ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ สัตเปรมเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านเยอรมันอย่างลับๆ (คล้ายเสรีไทย) เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี วันหนึ่งเมื่อเขาเดินไปตามถนนในปารีส รถตำรวจคันหนึ่งมาหยุดอยู่ข้างๆ และพวกเกสตาโป (ตำรวจลับของนาซี) ก็จับตัวเขาไปแยกขังเดี่ยวและทรมานอยู่นานกว่า ๑ ปี เพื่อให้เขาบอกชื่อสมาชิกคนอื่นๆ ในขบวนการต่อต้านออกมา แต่เขาไม่เคยเปิดเผยชื่อใดๆ ออกไปเลย จึงถูกตัดสินให้ประหารชีวิต แต่พ่อแม่ของเขาได้มาขอร้องเกสตาโปถึงที่ปารีส พวกนั้นจึงเปลี่ยนคำพิพากษาโดยการส่งสัตเปรมไปยังค่ายใช้แรงงานแทน หนึ่งในเกสตาโปที่เคี่ยวเข็ญทรมานเขายังโน้มน้าวพ่อของเขาให้ไปบอกลูกชายให้เปิดเผยชื่อคนอื่น โดยสัญญาว่าจะผ่อนผันโทษให้ พ่อของเขามองตาชายผู้นั้นและถามว่า คุณทำอย่างนั้นกับลูกคุณได้ไหม?

ในที่สุด สัตเปรมถูกส่งไปที่บูเคนวัลด์ ค่ายกักกันที่น่ากลัวที่สุดแห่งหนึ่งของนาซี เขารอดชีวิตมาได้อย่างน่าอัศจรรย์จนกระทั่งสงครามยุติและได้กลับบ้านเมื่ออายุ ๒๒ ปี พร้อมกับอาการป่วยทั้งทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ จากการเป็นประจักษ์พยานและฝืนทนต่อความขนพองสยองเกล้าอย่างสุดๆ ในเวลาต่อมาเมื่อมองย้อนกลับไป สัตเปรมกล่าวว่าในแง่หนึ่งประสบการณ์นั้นเป็นผลดีกับเขาไม่น้อย เพราะหลังจากนั้นเขาไม่เคยสนใจสิ่งที่เรียกว่าชีวิตสามัญ มหาวิทยาลัย อาชีพการงาน และครอบครัวอีกเลย ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่น่าดึงดูดใจสำหรับเขา สัตเปรมกล่าวว่าเขาจะแสวงหาสัจจธรรมของชีวิตหรือความตายให้พบ

หลังจากสุขภาพของเขาดีขึ้น สัตเปรมเดินทางไปอียิปต์และอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในทะเลทรายใกล้ๆ กับปิรามิดและสฟริงซ์ จากนั้นจึงเดินทางพร้อมกับลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นข้าราชการไปที่ป็องดิแชร์รี อันเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย และเป็นที่ตั้งของอาศรมศรีอรพินโท แม้ว่าสัตเปรมจะไม่รู้อะไรเลย แต่เมื่อเขาไปถึง ศรีอรพินโทและเดอะ มาเธอร์ หรือ “คุณแม่” ผู้ร่วมก่อตั้งอาศรม กำลังทำพิธีไหว้ครู (darshan) โดยการแสดงความเคารพและรับพรจากครู สัตเปรมเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย เมื่อจบพิธี เขามองเข้าไปในดวงตาของพวกท่านแต่ละคน ช่วงเวลานั้นนานไม่เกิน ๒ นาที แต่มันได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะดวงตาของท่านทั้งสองแตกต่างจากคนทั่วไปมาก (ศรีอรพินโทเป็นชาวอินเดีย คุณแม่เป็นชาวฝรั่งเศส) เขาพบว่าการค้นพบสัจธรรมในชาตินี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

แม้กระนั้น เขาก็ออกจากอาศรมและกลับไปฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว คนที่เป็นกบฏมาตลอดชีวิตอย่างเขาย่อมไม่อาจทนใช้ชีวิตอยู่ในอาศรมแห่งใดแห่งหนึ่งได้ เขาไปทำงานในป่าที่กิอานา (อาณานิคมของฝรั่งเศสทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้) ไปทำไร่ที่อเมริกาใต้ ไปขายพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสที่อาฟริกาตะวันตก แต่ในที่สุด เขาก็กลับไปหาคุณแม่ที่อินเดีย ตอนนั้นศรีอรพินโทได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว

เขาได้เป็นศิษย์ของคุณแม่ แม้หลายปีที่ผ่านมาเขาจะไม่ชอบอาศรมที่ตนเคยจากไปก็ตาม อันที่จริง ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นสันยาสีและท่องเที่ยวไปตามท้องถนนในอินเดียและศรีลังกานาน ๒ ปี แต่ในที่สุดเขาก็กลับไปเป็นศิษย์และคนสนิทของคุณแม่ในช่วง ๑๒ ปีสุดท้ายของชีวิตท่าน เมื่อสัตเปรมพูดคุยกับเธอตามลำพัง เขาได้บันทึกการสนทนาเหล่านั้นเอาไว้ หลังจากคุณแม่ถึงแก่กรรมในปี ๑๙๗๓ เมื่ออายุ ๙๕ ปี สัตเปรมตีพิมพ์การสนทนาเหล่านั้นเป็นหนังสือ ๑๓ เล่ม ชื่อ The Mother's Agenda ลองจินตนาการถึงการสนทนาตามลำพังกับคุรุทางจิตวิญญาณวัย ๙๐ ปีคนหนึ่งที่เริ่มปฏิบัติมาตั้งแต่อายุ ๑๕ จะต้องเป็นหนังสือที่พิเศษอย่างแน่นอน ใจความย่อๆ ของหนังสือเหล่านั้นหาอ่านได้ในหนังสือของสัตเปรมเรื่อง The Mind of the Cells

ในปี ๑๙๘๒ สัตเปรมอยู่อย่างสันโดษ เขาปฏิเสธการเป็นคุรุหรือการสร้างอาศรม แม้ว่าจะเขียนและตีพิมพ์หนังสือจำนวนมากอย่างต่อเนื่องทั้งในภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่เขาไม่ต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน ผมสามารถติดต่อทางจดหมายกับเขา ๓ ครั้ง ทำให้มีความสุขมาก แต่ผมก็ยังไม่สามารถใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมงกับเขาได้ ถ้าทำได้ผมจะไปอย่างแน่นอน

แล้วคุณล่ะ คุณต้องการใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมงกับใคร?

ไม่มีคำว่าสายเกินไป

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กันยายน 2549

กานดาวศรี มีอาชีพพยาบาล คราวหนึ่งป่วยหนักถึงกับเข้าสู่ภาวะโคม่าเนื่องจากครรภ์เป็นพิษ เธอเล่าว่าในขณะที่หมดสติอยู่นั้น เธอได้ยินเสียงผู้คนรอบตัว และรู้ว่าหมอและพยาบาลพูดอะไรกันบ้างขณะที่อยู่ข้างเตียงเธอ

ประสบการณ์เกือบ ๓๐ ปีในการเป็นพยาบาล ทำให้เธอรู้ว่ามีผู้ป่วยขั้นโคม่าหลายคนที่มีประสบการณ์คล้ายเธอ บางคนเล่าว่าได้ยินเสียงพระสวดมนต์จากเครื่องอัดเสียงที่ลูกเปิดไว้ข้างศีรษะขณะที่หมดสติ บางคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำพูดของญาติมิตร เช่น น้ำตาไหล หรือถึงกับพนมมือ

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ผู้ที่หมดสติหรือเข้าสู่ภาวะโคม่า ย่อมไม่สามารถรับรู้อะไรได้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรกับเขา ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้หรือมีทีท่าตอบสนอง แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่างน้อยก็มิได้เป็นเช่นนั้นในทุกกรณี การที่เขาไม่สามารถตอบสนองออกมาได้ มิได้หมายความว่า เขาไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เป็นแต่ร่างกายของเขาไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้อย่างคนทั่วไปเท่านั้น

มีผู้ป่วยบางคนที่เจ็บป่วยด้วยความผิดปกติทางสมอง และเข้าสู่ภาวะโคม่า มีสภาพไม่ต่างจาก “ผัก” และมีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมาได้น้อยมาก แต่ในที่สุดก็ฟื้นขึ้นมาได้ เขาเล่าว่าในช่วงที่หมดสติอยู่นั้น เคยถูกหมอทดสอบด้วยการบิดและบีบนิ้วเท้าของเขา เขารู้สึกเจ็บปวดมากจนร้องในใจว่า “หยุดได้แล้ว ๆ” แต่เขาก็ไม่สามารถพูดหรือแสดงอาการเจ็บปวดออกมาได้ ผลคือหมอยังคงบิดและบีบต่อไปจนเลิกไปเอง โดยเข้าใจว่าเขาหมดความรู้สึกเสียแล้ว

มิเพียงแต่ได้ยินหรือรู้สึกทางกายเท่านั้น ผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถ “เห็น” ได้ด้วย คริสเติล เป็นเด็กชาวอเมริกันอายุ ๗ ขวบ มีคนพบเธอหลังจากจมอยู่ใต้สระน้ำเป็นเวลา ๒๐ นาที อาการของเธอเพียบหนัก นอกจากจะอยู่ในภาวะโคม่าแล้ว การตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนพบว่าสมองของเธอบวมมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อีกทั้งเลือดของเธอก็มีความเป็นกรดสูงมาก บ่งชี้ว่าเธอใกล้จะเสียชีวิตแล้ว หมอยอมรับว่ามาถึงจุดนี้แล้วก็ทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว

แต่แล้วเธอก็ฟื้นขึ้นมาหลังจากโคม่าได้ ๓ วัน ทันทีที่เห็นหมอเข้ามาในห้อง เธอก็ทักหมอผู้นั้นทันที เพราะเธอ “เห็น” หมอคนนี้ในขณะที่ยังหมดสติอยู่ เธอยังพูดถึงลักษณะของหมออีกคนที่รักษาเธอได้อย่างถูกต้อง แม้ว่ายังไม่ได้พบกันเลยก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังพรรณนาลักษณะของห้องฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งอุปกรณ์และผู้คนที่อยู่ในห้องนั้น

เมื่อปี ๒๕๔๔ วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษฉบับหนึ่งกล่าวถึงผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน หมอทำการช่วยเหลือด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ แต่ก่อนที่จะใส่ท่อช่วยหายใจพยาบาลได้ถอดฟันปลอมของเขาออก ในที่สุดหัวใจเขาก็เต้นเป็นปกติ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เมื่อผู้ป่วยรายนี้เห็นหน้าพยาบาลคนที่ถอดฟันปลอมให้ เขาก็จำเธอได้ทันที และถามว่า “คุณเป็นคนถอดฟันปลอมให้ผมใช่ไหมครับ” ใช่แต่เท่านั้น เขายังเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นได้อย่างถูกต้อง

ทั้งสองกรณีข้างต้น ผู้ป่วยล้วนหมดสติไร้สัมปฤดี สมองอยู่ในสภาพไม่ปกติเพราะขาดอากาศ แต่เขา “เห็น” ผู้คนและสถานที่รอบตัวได้อย่างไร เขาไม่ได้เห็นด้วยตาอย่างแน่นอน อีกทั้งไม่ได้รับรู้ด้วยระบบประสาทหรือสมองอย่างในภาวะปกติด้วย ทั้งสองกรณีเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเขาจะเห็นด้วย “ใจ”

ทั้งสองกรณีมิใช่กรณีพิเศษหรือยกเว้น มีรายงานการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถรับรู้ได้ เช่น รายงานของนายแพทย์พิมฟอน ลอมเมล ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้ป่วย ๓๔๓ รายที่รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้น ข้อสรุปที่ออกมาก็คือ ผู้ป่วยร้อยละ ๑๘ จดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะไร้ความรู้สึกตัวได้อย่างแม่นยำ รายงานอีกชิ้นหนึ่งของนักวิจัยชาวอังกฤษพบว่าผู้ป่วยร้อยละ ๑๑ สามารถจดจำเหตุการณ์ขณะหมดสติได้

ตัวอย่างที่กล่าวมาบ่งชี้ว่าการรับรู้โลกภายนอกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่สมองเท่านั้น เราสามารถได้ยิน รู้สึก หรือเห็นได้แม้ในภาวะที่สมองไม่อาจทำงานอย่างปกติได้ หากการรับรู้รวมทั้งความจำได้หมายรู้เป็นเรื่องของจิต นั่นก็หมายความว่าจิตไม่ได้ผูกติดกับสมอง หากเป็นอีกส่วนหนึ่งที่แยกต่างหากจากสมอง แต่ทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จิตอาจรับรู้หรือมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยผ่านสมอง แต่ก็มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในภาวะที่สมองหยุดทำงานหรือมิอาจทำงานได้อย่างปกติ จิตก็ยังสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ แต่อาจไม่ชัดเจนเท่าในยามปกติ อีกทั้งไม่อาจบัญชาให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ แม้จิตปรารถนาจะทำเช่นนั้นก็ตาม กระนั้นก็ตามมีบางกรณีที่ผู้ป่วยสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองได้ หากจิตถูกกระตุ้นเร้าเพียงพอดังกรณีที่จะกล่าวต่อไป

จิตกับสมองสัมพันธ์กันอย่างไร จิตเกิดจากสมอง หรือเป็นอีกส่วนที่แยกจากสมอง เหล่านี้เป็นประเด็นที่ยังคงโต้เถียงกันอีกนาน แต่นั่นก็ไม่สำคัญสำหรับคนทั่วไปเท่ากับความจริงที่ว่า ผู้ที่หมดสติหรืออยู่ในภาวะโคม่านั้น ยังมีความสามารถที่จะรับรู้ได้ ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เพราะนั่นหมายความว่า ผู้ที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยยังสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้ป่วยได้ คำพูดหรือการกระทำของหมอ พยาบาล และญาติผู้ป่วย อาจส่งผลในทางบวกหรือลบต่อผู้ป่วยก็ได้ ดังนั้นหากปรารถนาดีต่อผู้ป่วย จึงควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่หมดสติประหนึ่งคนปกติ แม้เขาจะอยู่ในภาวะอย่าง “ผัก” ก็ตาม

มีหลายกรณีที่คำพูดของญาติมิตรสามารถส่งผลในทางบวกต่อผู้ป่วยที่หมดสติ จนเขาสามารถแสดงอาการรับรู้ออกมาได้ หรือถึงกับรู้สึกตัวขึ้นมาได้ มีเรื่องเล่าว่า ติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนาม เคยไปเยี่ยม อัลเฟรด แฮสเลอร์ มิตรชาวอเมริกันที่อยู่ในภาวะโคม่าและใกล้จะหมดลม ท่านนัทฮันห์ได้นั่งข้างเตียงอัลเฟรด และพูดถึงประสบการณ์อันน่าประทับใจที่ทั้งสองได้ผ่านมาร่วมกันเมื่อครั้งเรียกร้องสันติภาพในเวียดนาม ท่านพูดอยู่ประมาณ ๔๐ นาที เมื่อพูดจบ อัลเฟรดทั้ง ๆ ที่ยังโคม่าอยู่ ก็พูดขึ้นมาว่า “วิเศษ ๆ” หลังจากนั้นไม่นานเขาก็จากไปอย่างสงบ

สารคดีของบีบีซีเรื่อง “Human Body” ที่เผยแพร่ไม่นานมานี้พูดถึง ไวโอล่า หญิงวัย ๕๘ ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง จนถึงกับหมดสติ หมอไม่สามารถช่วยให้ฟื้นขึ้นมาได้ จนในที่สุดลูกชายก็พูดกับแม่ว่า “แม่ต้องฟื้นนะ เพราะพ่อกำลังจะพาผู้หญิงอีกคนไปเที่ยว” พอพูดจบ ไวโอล่าก็เปิดตาและรู้สึกตัวขึ้นมาทันที เธอเล่าว่าเธอยอมไม่ได้ที่สามีจะควงผู้หญิงอื่นไปเที่ยว

อีกกรณีหนึ่งซึ่ง “วีรกร ตรีเศศ” นักเขียนประจำมติชนสุดสัปดาห์ ได้อ้าง ดร.สมศักดิ์ ชูโต อีกทีว่า หญิงฝรั่งผู้หนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไทยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนหมดสติ อาการหนักมาก ถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครคิดว่าจะรอด ขณะที่หมอและบุรุษพยาบาลกำลังช่วยชีวิตเธออยู่นั้น มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “อีนี่ไม่น่าตายเลย นมมันสวย” ปรากฏว่าเธอได้ยินและมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาว่า ฉันต้องไม่ตาย ในที่สุดก็กลับฟื้นขึ้นมาได้

ผู้ป่วยขั้นโคม่าที่ฟื้นขึ้นมาก็มี แต่ที่ไม่ฟื้นเลยก็มาก เพราะสังขารไม่อำนวยแล้ว แต่ไม่ว่าผลในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในขณะที่เขายังหมดสติอยู่นั้น อย่าลืมว่าเขายังสามารถรับรู้อะไรได้ ดังนั้นญาติมิตรจึงยังสามารถช่วยเขาได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านจิตใจ เช่น ช่วยให้เขาคลายความวิตกกังวลหรือความหวาดกลัว ด้วยการพูดให้เขาเบาใจ รำลึกถึงบุญกุศลหรือความดีที่เขาเคยบำเพ็ญ หรือน้อมใจให้รำลึกถึงพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ และคลายความกังวลเกี่ยวกับลูกหลานหรือคนรัก การพูดถึงประสบการณ์ในอดีตที่เขาประทับใจหรือภูมิใจ ก็ช่วยเขาได้เช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่งก็ควรระมัดระวังคำพูดหรือการกระทำที่จะทำให้เขาเป็นทุกข์ เช่น ทะเลาะวิวาทกัน หรือร่ำไห้คร่ำครวญข้างเตียง หรือพูดถึงความเจ็บป่วยของเขาในทางที่ไม่สร้างสรรค์

ตราบใดที่ผู้ป่วยยังมีลมหายใจอยู่ ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่เราจะทำสิ่งดี ๆ ให้เขา ไม่ว่าการช่วยเขาทำบุญถวายสังฆทาน ขออโหสิกรรมจากเขา หรือเอ่ยปากให้อภัยเขา (หากคิดว่าความรู้สึกผิดยังค้างคาใจเขาอยู่) หรือแม้แต่การบอกความในใจบางอย่างให้เขารับรู้

หญิงชราผู้หนึ่งนั่งเศร้าซึมข้างเตียงสามีซึ่งอยู่ใกล้ตายและอยู่ในภาวะโคม่า เธอเสียใจที่ไม่เคยบอกสามีว่าเธอรักเขาเพียงใด มาได้คิดก็สายเสียแล้วเพราะเขาหมดสติไม่ตอบสนองใด ๆ แต่พยาบาลแนะให้เธอพูดทุกอย่างที่อยากพูดเพราะเขายังอาจได้ยินคำพูดของเธอได้ เธอจึงขออยู่กับเขาอย่างเงียบ ๆ แล้วบอกเขาว่า เธอรักเขาอย่างสุดซึ้ง และมีความสุขที่ได้อยู่กับเขา หลังจากนั้นเธอก็กล่าวคำอำลาว่า “ยากมากเลยที่ฉันจะอยู่โดยไม่มีเธอ แต่ฉันไม่อยากเห็นเธอทุกข์ทรมานอีกต่อไป ฉะนั้นหากเธอจะจากไป ก็ขอให้จากไปเถิด” พูดจบ สามีของเธอก็หายใจเฮือกยาวออกมาและสิ้นชีวิตอย่างสงบ

สำหรับผู้ป่วยที่หมดสติ ความดีงามที่สื่อตรงจากใจถึงใจนั้นมีอานุภาพเหลือประมาณ สามารถเยียวยาความทุกข์และเป็นกำลังใจให้เขาก้าวสู่ความตายได้อย่างสงบ ชนิดที่เงินจำนวนมหาศาลและเทคโนโลยีอันล้ำเลิศมิอาจทำได้

เวียนว่ายอยู่ในหัว

โดย เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช ถักทอและร้อยเรียง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2549

การภาวนาในบริบทของสังคมยุควัตถุนิยม บริโภคนิยม มักจะหนีไม่พ้นการเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่อยู่กับเนื้อกับตัวของผู้ปฏิบัติ บ่อยครั้งที่เรานั่งสมาธิโดยให้ความสนใจแต่เพียงส่วนคอขึ้นไป พักจิตให้ว่ายเวียนวนอยู่ในหัว ตัดขาดจากชีวิตส่วนอื่นๆ การภาวนาจึงกลับกลายเป็นหนทางแยกขาดออกจากการดำเนินชีวิตในแต่ละวันไปโดยปริยาย เราภาวนาด้วยความเชื่อที่ว่า การฝึกจิตในลักษณะนี้จะเป็นหนทางให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ ความเจ็บปวดทางกาย ความวุ่นวายโกลาหล หรือความไม่แน่นอนของชีวิต หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้ว นั่นมิใช่หัวใจแห่งการฝึกฝนตนเองที่แท้แต่อย่างใด เพราะวิถีแห่งการภาวนา คือหนทางที่จะนำเราไปสู่การมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวทั่วทุกสรรพางค์ เปิดรับเรียนรู้ชีวิตในทุกธรรมสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ จนสามารถเผชิญทุกสัมผัสแห่งชีวิตด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

คุณอาจจะค้านว่าพระพุทธองค์สอนธรรมะเพื่อเป้าหมายแห่งการพ้นทุกข์ไม่ใช่หรือ ซึ่งก็ถูกของคุณ แต่ปัญหาก็คือ ในโลกสมัยใหม่ผู้คนกำลังสับสนระหว่างเป้าหมายกับเส้นทางการปฏิบัติ เราปักใจตีความเอาคำสอนของพระพุทธองค์อย่างเป็นเป้าหมายตายตัว ผลก็คือ พอเราเอาเป้าหมายนั้นมาปฏิบัติ ในหัวกลับเต็มไปด้วยความฟุ้งซ่านที่จะหลุดพ้นท่าเดียว แต่ลึกๆ กลับไม่พบความเติบโตทางจิตวิญญาณจากภายในใดๆ เลย

แม้แต่เมื่อการภาวนาถูกใช้เพื่อฝึกจิตให้สงบ ซึ่งหากเรามีความชำนาญมากพอ ก็อาจจะค้นพบหนทางที่จะภาวนาแล้วหลีกหนีจากความทุกข์ที่รุมเร้า พักจิตไว้ในสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง รับรู้ถึงความสุขสงบอันเป็นที่พึงใจ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เราพยายามฝึกนั้น กลับไม่ใช่หัวใจของการภาวนาแต่อย่างใด เรายิ่งพยายามแยกชีวิตออกเป็นสองส่วน ชีวิตทางโลก กับชีวิตทางธรรม อันเป็นรูปแบบหนึ่งของทวินิยม (Dualism) ที่ยังห่างไกลจากความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ในศักยภาพความเป็นมนุษย์ในทางจิตวิญญาณที่แท้จริง



การมองโลกแบบทวินิยมนั้นเป็นความเคยชินพื้นฐานของจิตที่คับแคบ (อัตตา) ทวินิยมเป็นแรงขับเคลื่อนของวงล้อสังสารวัฎ จิตที่แบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา เวียนว่ายอยู่ในหัว ตัดขาดจากการปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัว ตัดสินผู้คนในกรอบที่คับแคบของความดีเลว สูงต่ำ ดำขาว ฯลฯ รวมถึงการขีดเส้นแบ่งแยกประสบการณ์ทางธรรมกับทางโลก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ทวินิยมสะท้อนถึงความคิดที่ว่า เป้าหมายทางจิตวิญญาณ คือการหนีออกจากเรื่องโลกๆ เพื่อเข้าสู่ภพภูมิเบื้องบนที่ “สูง” กว่า หากสังเกตดูให้ดี วิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม บริโภคนิยม หรือแม้แต่แนวคิดกระแสหลักทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา ก็กำลังเดินตามแนวคิดทวินิยมที่ว่านี้ เรากำลังอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การแบ่งแยก การชิงดีชิงเด่น เพื่อความสำเร็จภายนอก เพื่อชีวิตที่ดีกว่า “สูง” กว่า แม้แต่เป้าหมายของการศึกษาก็กลายเป็นเรื่องนอกตัว เป็นเรื่องของความสำเร็จที่ดูจะตัดขาดจากผู้คนรอบข้าง จากความสมบูรณ์ในชีวิตของเราเอง ณ ปัจจุบันขณะ

ทวินิยมยังเป็นเหตุปัจจัยสำคัญของความไม่อยู่กับเนื้อกับตัวของผู้คนสมัยนี้ ยิ่งสติของเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัวมากเท่าไร จิตใจก็ขาดสมดุลมากขึ้นเท่านั้น แนวโน้มนี้ค่อยๆ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้น จากคุณลักษณะที่น่าสังเกตของวัฒนธรรมโลกยุคใหม่ เช่น การกระตุ้นให้ผู้คนขาดความเป็นตัวของตัวเอง การกดขี่สตรีเพศ และดูถูกพลังแห่งสตรี (feminine qualities) การเลี้ยงลูกน้อยราวกับเป็นวัตถุกลวงๆ ไร้คุณค่า ความพยายามที่จะกำจัดและลบล้างวัฒนธรรมพื้นเมืองอันเก่าแก่ การทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้าย การมองร่างกายเป็นเครื่องจักร เป็นต้น

แม้แต่ในเรื่องของการภาวนา อิทธิพลของหลักทวินิยมก็ยังส่งผลมาถึง ซึ่งในที่นี้จะขอแยกผลกระทบออกเป็นสามส่วน คือ ในทางปริยัติ (ความเข้าใจเชิงหลักการ) ปฏิบัติ (เส้นทางการฝึกฝน) และปฏิเวธ (การเปลี่ยนแปลงภายใน)

๑) ปริยัติ (ความเข้าใจเชิงหลักการ)

ความเข้าใจเชิงหลักการที่มีต่อการภาวนา ว่าเป็นเรื่องของการฝึกจิตที่แยกออกจากกาย นำมาซึ่งความเข้าใจที่ว่า การฝึกจิตเป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังหลงอยู่ในความคิดยึดมั่นที่ว่า การภาวนาคือการถอดถอนตัวเองออกจากกิเลส สิ่งสกปรกทั้งหลายที่มีอยู่ในสภาวะจิตที่ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ยิ่งไปกว่านั้นทุกครั้งที่เรานั่งลงบนเบาะฝึกสมาธิ เราได้นำเอามายาภาพของสภาวะอุดมคติที่เราเสกสร้างขึ้นในหัวไปด้วย ทำให้เราไม่สามารถที่จะค้นพบความหมายของการเรียนรู้ที่แท้ ด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยเมฆหมอกของความคิดเชิงหลักการล่วงหน้า อาจเป็นเพราะเราเลือกที่จะเลียนแบบสิ่งภายนอกที่เราเห็นในธรรมาจารย์ ความทรงจำของประสบการณ์การได้ฝึกฝนกับท่าน หรือสิ่งที่เราได้ยินมาหรืออ่านมาจากหนังสือธรรมะ ผลก็คือ มายาภาพของสภาวะจิตที่เราสร้างขึ้นจะติดตัวเราไปขวางกั้นทุกกระบวนการการปฏิบัติ ไม่ให้เราได้เผชิญหน้ากับพื้นที่ว่างด้านในแห่งการเรียนรู้ที่แท้ อาจเรียกได้ว่า มันคือข้อจำกัดแห่งตัวตนทางจิตวิญญาณที่ถูกสร้างขึ้นจากความยึดมั่นทางความคิด แม้ว่าจะเป็นความคิดต่อการปฏิบัติก็ตามที เราเลือกที่จะจำกัดศักยภาพของตัวเอง ด้วยการว่ายวนอยู่กับความคิดเหล่านั้นในหัว แทนที่จะปล่อยวางความคิดแล้วเปิดใจเพื่อการค้นหา เรียนรู้ จากประสบการณ์ตรงในทุกลมหายใจเข้าออกอย่างแท้จริง

๒) ปฏิบัติ (เส้นทางการฝึกฝนตนเอง)

จากความเข้าใจผิดเชิงหลักการที่กล่าวไปข้างต้น เส้นทางการฝึกฝนก็เช่นเดียวกันที่อาจจะถูกบิดเบือน ยกตัวอย่างเช่น “การกำหนดตามลมหายใจ” อาจถูกเข้าใจว่าเป็นความพยายามที่จะกีดกั้นเอาประสบการณ์ สัญชาตญาณ ความรู้สึก ความตื่นรู้ในกาย การไหลเลื่อนของพลังงาน อารมณ์ แง่มุมทั้งหลายของความเป็นมนุษย์ออกไปให้หมดสิ้น จนเหลือแต่ “สติที่ลมหายใจ” เป็นความสงบนิ่ง สูงส่งเหนือสิ่งใดๆ ทั้งปวง อารมณ์หรือความรู้สึกทางกาย ถูกมองเป็นเรื่องต่ำๆ ทางโลก ที่ไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อการเรียนรู้ ส่งผลให้เรามองการภาวนาแยกขาดออกจากชีวิตทางโลกในที่สุด

๓) ปฏิเวธ (การเปลี่ยนแปลงภายใน)

เมื่อเส้นทางการฝึกฝนเป็นไปเพื่อการแยกตัวเองออกจากชีวิต จากความ “ธรรมดา” ของความเป็นมนุษย์ที่มีเลือด มีเนื้อ มีอารมณ์ ความรู้สึกรู้สา แม้มันอาจจะพาเราให้ได้เข้าไปสัมผัสสภาวะจิตของความสะอาดหมดจน ปราศจากความเจ็บปวด ทุกข์โศกใดๆ อันช่างดูน่าปรารถนาเสียเหลือเกิน แต่ในระยะยาวหาใช่เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะอะไรน่ะหรือ? ก็เพราะคุณรู้ดีว่าหาได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้นกับตัวคุณอย่างแท้จริงแต่ประการใด คุณยังเลือกที่จะ “หนีให้พ้น” แทนการเรียนรู้ที่จะ “เผชิญ” กับทุกแง่มุมของชีวิต ร่างกายทุกๆ ส่วนที่ถูกละเลย เต็มไปด้วยความเครียด ปราศจากการเปลี่ยนแปลงทางจิตสำนึกของผู้คนสมัยนี้ บ่งบอกถึงความไม่ใส่ใจในการเรียนรู้กับรายละเอียดของประสบการณ์ชีวิตในแต่ละขณะ

การฝึกฝนทางจิตวิญญาณเช่นนี้ คือความหายนะเลยทีเดียวก็ว่าได้ เพราะเส้นทางการฝึกฝนตนเองจะเปล่งประกายแห่งคุณค่าและความหมายออกมา ก็ต่อเมื่อเราพร้อมที่จะเปิดใจเข้าสู่โลกแห่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายใน อันเกิดจากการให้คุณค่ากับการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตในทุกขณะ ตรงกันข้ามความพยายามที่จะแยกตัวเองออกจากชีวิต จะยิ่งพาเราออกมาจากคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่แท้ เราอาจจะสามารถดำรงจิตอยู่ในสภาวะไม่อยู่กับเนื้อกับตัวได้พักใหญ่ แต่เมื่อพลังนั้นถูกใช้หมดลง เราก็จะตกกลับมาสู่อวิชชา ความไม่รู้เดิมๆ ที่จะนำมาซึ่งลักษณะนิสัย พฤติกรรมที่ยังถูกขับดันด้วยวงจรทวินิยมแห่งแบบแผนคุ้นชินทางความคิด ท้ายที่สุดมันอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าเศร้า นั่นคือเราจะเริ่มไม่เชื่อในกระบวนการฝึกตน ในผู้คนรอบข้าง ในครูบาอาจารย์ หรือในทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาลเอาเสียเลยทีเดียว

จึงจำเป็นที่เราต้องตระหนักถึงปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในวิถีแห่งพุทธะ ว่าไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะกับเทคนิคการฝึกภาวนาเพียงอย่างเดียว ลึกลงไปยิ่งกว่านั้น ปัญหาได้เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในหลักพื้นฐาน ด้วยการไปยึดเอาวิธีคิดแบบทวินิยมแยกส่วนทางจิตวิญญาณ การฝึกฝนจิตแบบไม่อยู่กับเนื้อกับตัว และการใส่ใจให้คุณค่ากับผลลัพธ์ความสำเร็จแทนที่ประสบการณ์แห่งกระบวนการ ผลก็คือ การเป็นชาวพุทธเพียงแต่ชื่อ ไม่รู้จักการเรียนรู้จักตนเองและผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างคับแคบ “เวียนว่ายอยู่ในหัว” ปราศจากการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในใดๆ

Back to Top