พฤศจิกายน 2013

“เปลี่ยนแปลง” ไม่ใช่แค่ “พัฒนา”



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556

เด็กคนเดิมกลับมาอีกแล้ว คุณหมออาร์มิดา เฟอร์นันเดซแปลกใจ คราวก่อนก็มาด้วยอาการของโรคขาดอาหาร น้ำหนักต่ำกว่าปรกติ ทำไมแม่ของเด็กถึงไม่ดูแลลูกให้ดี? เธอนึกตำหนิผู้เป็นแม่ในใจ ก่อนจะสังเกตเห็นว่าแขนข้างหนึ่งของหญิงสาวเข้าเฝือกอ่อนไว้ ดูเหมือนว่ากระดูกจะหัก คุณหมอนึกเอะใจขึ้นมา เมื่อสอบถามจึงทราบว่าถูกสามีตบตีมา คุณหมอค่อยถึงบางอ้อ เข้าใจแล้วว่า สุขภาพเด็กนั้นขึ้นกับสุขภาพของแม่ – ผู้หญิงในชุมชน – โดยเฉพาะในสลัมธราวี ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมุมไบ เป็นสลัมที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของอินเดียและของโลก และเป็นฉากหลังสำคัญของภาพยนตร์เรื่องสลัมด๊อกมิลเลียนแนร์ที่คว้าออสการ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้น

หลังจากจ้างนักสังคมสงเคราะห์ ๒ คนมาประจำที่โรงพยาบาลเพื่อสำรวจข้อมูลว่าด้วยกรณีความรุนแรงในครอบครัวก็พบว่ามีสถิติค่อนข้างสูง ทางโรงพยาบาลจึงจัดทำบ้านพักฉุกเฉินให้กับผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้มาใช้บริการเลย โดยเหตุที่ผู้หญิงเองมองว่าเรื่องปากท้องของครอบครัวและการงานของสามีนั้นสำคัญกว่าเรื่องที่ตัวเองถูกตบตีเป็นไหน-ไหน พูดโดยสั้นก็คือ ผู้หญิงและชุมชนสลัมทั้งหมดมองว่าเรื่องผัวตบเมียนั้นเป็นเรื่องปรกติธรรมดา

ข่าวดีก็คือ ทีมแพทย์พบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสุขภาพแม่และเด็กในสลัมธาราวีแล้ว นั่นคือสาเหตุในระดับวิธีคิดและหรือจิตสำนึกที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมผัวตบเมีย ข่าวร้ายก็คือ การแก้ไขปัญหาในระดับวิธีคิดและหรือจิตสำนึกนั้นยากมาก คนทำงานต้องทุ่มเทมาก

คุณหมอเฟอร์นันเดซตอบรับงานที่ท้าทายนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เธอระดมทุนและก่อตั้งมูลนิธิเสน่หา (SNEHA – Society for Nutrition, Education and Health Action) โดยมีเป้าหมายที่สุขภาวะของผู้หญิงและเด็ก ซึ่งเป็นจุดคานงัดของสุขภาวะสังคมเมือง

การทำงานเริ่มจากส่งทีมนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปในชุมชนเพื่อสำรวจข้อมูลเชิงรุก แทนที่จะนั่งรอผู้หญิงที่เป็นเหยื่อถูกผัวตบวิ่งโร่ไปใช้บริการบ้านพักฉุกเฉิน และโดยเหตุที่เรื่องผัวซ้อมเมียเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและไม่มีผู้หญิงคนไหนเปิดปากพูดหรือเล่าให้ฟังโดยง่าย คนทำงานจึงต้องเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจให้กับคนในชุมชนด้วยการเข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเรื่องโภชนาการและสุขภาพ

ในขณะที่ผู้ชายไปทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงจะทำงานบ้านเลี้ยงลูกอยู่ในชุมชน เมื่อมีคนเข้าไปให้ความรู้เรื่องอาหารการกินที่ส่งผลต่อสุขภาพรวมทั้งเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ก็ชอบกันมาก เพราะส่วนใหญ่ก็มักจะไม่มีความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวและการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ ทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป

ในช่วงนั้นเอง นักปฏิบัติการทางสังคมที่เข้าไปในชุมชนก็ใช้วิธีการจัดกระบวนการให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เรื่องต่างๆ ร่วมกัน และยกระดับหัวข้อพูดคุยจากเรื่องสุขภาพ โภชนาการ อนามัยเจริญพันธุ์ ไปสู่เรื่องความรุนแรงในครอบครัว ทำให้กลุ่มผู้หญิงในชุมชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

จากนั้นก็มีการจัดกระบวนการกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชน รวมทั้งเรื่องผัวตบเมียด้วย โดยพวกผู้หญิงในสลัมธราวีจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาจับตาความรุนแรงในครอบครัว ดังเช่นกรณีหนึ่งที่ผัวทำร้ายเมีย อาสาสมัครผู้หญิงเหล่านี้ก็พาผู้หญิงที่ถูกทำร้ายไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความ เมื่อตำรวจไม่ยอมลงบันทึกแจ้งความเพราะมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว จิตอาสาผู้หญิงกลุ่มนี้ก็ล้อมโรงพักเพื่อกดดันให้มีการแจ้งความให้ได้ พอกลับมาบ้านสามีขู่ว่าจะกลับมาฆ่าด้วยการเผาบ้าน ก็มีการจัดเวรยามเฝ้าระวัง เมื่อสามียกพวกมาจะเผาบ้าน กลุ่มผู้หญิงจิตอาสาก็ช่วยกันจับตัวสามีไปส่งโรงพัก พูดง่ายๆ ก็คือ จิตอาสาผู้หญิงเหล่านี้ช่วยกันทำให้การใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับต่อไปได้อีก ทั้งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นอาชญากรรมเลยทีเดียว

ในช่วงแรก ผู้คนในชุมชนยังไม่ใคร่เข้าใจนัก กระทั่งผู้ชายที่เป็นสามีของจิตอาสาผู้หญิงเหล่านั้นก็มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เมื่อเวลาผ่านไปราวสิบปี สามีก็เริ่มเข้าใจ บางคนก็สมัครเข้ามาเป็นจิตอาสาร่วมด้วย และสถิติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็ลดลงไป เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพผู้หญิงและเด็กในชุมชนสลัมธราวี

ที่น่าสนใจก็คือ คนทำงานด้านสุขภาพผู้หญิงและเด็กอย่างคุณหมอเฟอร์นันเดซและทีมงานให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาจถือได้ว่าเป็นการใช้กระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงานด้านสุขภาพ นั่นคือ มองทะลุไปถึงรากเหง้าปัญหาสุขภาพในระดับปัจจัยเชิงวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดและจิตสำนึกของผู้คน และดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่ตรงนั้น

ในส่วนของแนวทางและวิธีการดำเนินงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว ครูใหญ่หลักสูตรพัฒนาศักยภาพนักปฏิบัติการทางสังคมเพื่อความเป็นธรรม ได้เคยอรรถาธิบายเกี่ยวกับการทำงานของมูลนิธิเสน่หาไว้ว่า คนทำงานของมูลนิธิส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางมีการศึกษา แต่การเข้าไปทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนสลัมธราวีนั้นไม่ได้เข้าไปในลักษณะสังคมสงเคราะห์ หากแต่เป็นการเข้าไปหนุนเสริมพลังอำนาจของผู้คนในชุมชนนั้น โดยเริ่มจากการออกแบบและจัดกระบวนการให้มีการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหา และมีปฏิบัติการร่วมกันที่นำไปสู่การสั่งสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อย นั่นคือ การทำให้ผู้คนตื่นรู้เข้าถึงอำนาจหรือศักยภาพภายในของตน มีความมั่นใจสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาขอความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ต่อไป เมื่อผู้คนที่มีความมั่นใจเหล่านี้รวมตัวกันได้ก็สามารถต่อรองกับอำนาจที่เหนือกว่าได้ ดังที่กลุ่มจิตอาสาผู้หญิงต่อรองกับตำรวจและผู้ชายที่แข็งแรงกว่าตัวเอง

นอกจากนี้แล้ว นักปฏิบัติการทางสังคมเหล่านี้ทราบดีว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืนจะต้องทำให้รูปแบบของงานที่สร้างขึ้นมาใหม่ ในที่นี้ก็คือ หน่วยให้บริการคำปรึกษาทางสุขภาพสำหรับชุมชน ซึ่งมีทักษะในการจัดกระบวนการหนุนเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มผู้หญิง กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบสุขภาพที่มีอยู่เดิม การดำเนินงานของมูลนิธิเสน่หาที่สลัมธราวีจึงเป็นไปเพื่อสร้างต้นแบบการทำงาน เมื่อประสบผลแล้วก็จะนำเสนอแนวคิดต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อขยายผลเชิงโครงสร้าง

การทำงานของคุณหมอเฟอร์นันเดซและมูลนิธิเสน่หาผ่านประเด็นความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม นั่นคือ ตีโจทย์ทะลุ มองเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และทำงานที่รากอันเป็นสาเหตุนั้น แม้จะยาก ในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและวิธีคิดของผู้คนและชุมชน ซึ่งคนทำงานตระหนักดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลา ความมุ่งมั่นแน่วแน่เพื่อทำงานตามวิสัยทัศน์และความเพียรไม่ย่อท้อของคนทำงาน ทำให้งานสร้างการ “เปลี่ยนแปลง” สังคมที่ฐานรากแตกต่างจากงานพัฒนาที่พึ่งพาตัวชี้วัดความสำเร็จของงาน “พัฒนา” เชิงโครงการซึ่งมุ่งเน้นผลงานที่จับต้องได้ในระยะสั้นอย่างสิ้นเชิง

อยู่กันคนละโลก



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2556

ช่วงนี้มีกระแสความไม่เข้าใจกันในสังคมมาก ต่างฝ่ายต่างก็ไม่เข้าใจว่าฝ่ายอื่นนั้นทำในสิ่งที่พวกเขาทำได้อย่างไร ในบทบาทของสมาชิกจิตวิวัฒน์ผมก็คงจะทำได้ในแง่ของการนำเสนอมุมมองหนึ่ง ซึ่งอาจจะนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ในปัจจุบันได้บ้าง จะมีประโยชน์มากน้อยก็แล้วแต่ท่านจะเลือกรับ

ผมคงต้องพาท่านกลับไปในสิ่งที่เคยพูดถึงหลายครั้งแล้ว คือเรื่องลำดับขั้นของการวิวัฒน์จิต ซึ่งนำมาจากแนวความคิดเรื่อง Spiral Dynamics ซึ่ง แคลร์ เกรฟส์ (Clare Graves) ค้นคว้าวิจัยขึ้นในยุค ๑๙๗๐ และพัฒนาต่อโดยทีมของดอน เบ็ค (Don Beck) หลักการพื้นฐานของ “เกลียวพลวัติ” นี้บอกเอาไว้ง่ายๆ ว่า ในลำดับขั้นการวิวัฒน์จิตสำนึกของมนุษย์เรานั้น จะต้องผ่านลำดับชั้นต่างๆ ที่เรียกว่า “มีม” ซึ่งไม่ได้เป็นขั้นแบบตายตัว แต่ว่าจะสอดไขว้กันในลักษณะการแทรกสอดของคลื่น ซึ่งในแต่ละขั้นย่อมส่งผลต่อกันและกัน ถึงแม้จะข้ามผ่านระดับจิตหนึ่งไปแล้วแต่ก็มีอาการที่เรียกว่า “ข้ามพ้นแต่ปนอยู่” หมายถึงไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

ระดับดับจิตที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง เขาแบ่งออกเป็นสีครับ ในกลุ่มแรก หรือปฐมภูมิจะมีหกสีคือ “น้ำตาลอ่อน” “ม่วง” “แดง” “น้ำเงิน” “ส้ม” “เขียว” เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มพื้นฐาน และระดับทุติยภูมิคือ “เหลือง” และ “เขียวเทอร์คอยส์” เป็นกลุ่มจิตบูรณาการ (สำหรับเคน วิลเบอร์ เมื่อพัฒนางานนี้ร่วมกับเบ็ค ก็ได้นำเสนอกลุ่มที่สามหรือ ระดับตติยภูมิ ซึ่งเป็นระดับข้ามพ้นอัตตา แต่ผมจะไม่ขอพูดถึงในบทความนี้) อาจารย์สุวินัย ภรณวลัย เป็นคนแรกๆ ที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูดถึง โดยแปลลำดับขั้นเหล่านั้นเป็นภาษาไทย ผมขออนุญาตปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และยุคสมัย โดยผมขอเรียกจิตหกระดับแรกเป็น “สัญชาติญาณ”, “ไสยศาสตร์”, “เด็กแว๊น”, “ศรัทธาชน ”, “คนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” และ “หัวก้าวหน้า” ส่วนจิตทุติยภูมิเป็นพวกที่เริ่มจะมองเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง แบ่งได้เป็นสองพวก คือ “จิตบูรณาการ” และ “จิตองค์รวม” ซึ่งมีความสุขุมกว่าจิตในกลุ่มแรก และมีน้อยคนที่สามารถวิวัฒน์จิตของตนให้มาถึงตรงนี้ได้

ปัญหาก็คือจิตหกระดับแรกนั้นไม่สามารถเข้าใจจิตของผู้ที่อยู่ในภูมิเดียวกันแต่ต่างระดับชั้นจากตนเองได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่พบว่าคนในสังคมเดียวกับเราทำไมจึงมีทั้งความคิดและพฤติกรรมที่แตกต่างจากเราราวกับอยู่คนละโลก เพราะอยู่กันคนละ ‘โลก’ จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น พวกหัวสมัยใหม่มักจะยึดเอาสิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นสรณะ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงยังมีคนบางจำพวก “งมงาย” กับเรื่องบั้งไฟพญานาค ทั้งๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแค่ปืนที่ยิงมาจากฝั่งลาว ส่วนคนรุ่นเก่าเมื่อเห็นคน “คนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” ไม่รู้ขนบธรรมเนียม ทำในสิ่งที่ “ผิดผี” หรือ “คะลำ” เช่นนั่งขวางประตู หรือใส่เสื้อใหม่เมื่อยังไม่ถึงเทศกาล ก็ขี้คร้านจะอธิบายถึงภูมิปัญญาโบราณให้ฟังถึงเหตุที่มาที่ไป เพราะพูดไปคนพวกนี้ก็ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เลยไม่รู้ว่าใครโง่กันแน่

ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยหลายต่อหลายครั้งก็คือสงครามระหว่าง “ระดับจิต” ที่แตกต่างกัน เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่กลุ่มกระทิงแดงออกมาทำการร่วมกับลูกเสือชาวบ้าน ก็คือการร่วมมือกันระหว่างระดับจิต “เด็กแว๊น” และ “ศรัทธาชน” เพื่อกระทำรุนแรงกับนักศึกษา ซึ่งก็คือ “หัวสมัยใหม่” กับ “หัวก้าวหน้า” เด็กแว๊น นิยมการใช้กำลังในการแก้ปัญหา ส่วน “ศรัทธาชน” คือผู้ซึ่งมีความเชื่อและพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องอุดมการณ์ของตน โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ กลุ่มนักศึกษาซึ่งประกอบด้วยระดับจิตแบบ “ชนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” จะเชื่อมั่นในหลักเหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์ และ “หัวก้าวหน้า” คือพวกที่มองว่าโลกนี้ไม่มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว หรือเป็นพวกหลังสมัยใหม่ (post modern)

แล้วการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในปัจจุบัน มองในแง่ระดับจิตแล้วก็คือการต่อสู้ที่เริ่มจากคนทำงาน/คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่อดรนทนไม่ไหวต่อความอยุติธรรม ซึ่งผมเห็นว่าในตอนเริ่มต้นนั้นขบวนการนี้เกิดขึ้นจาก “ศรัทธาชน” ซึ่งมีความศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ และอิงกระแสความศรัทธาในสถาบันการศึกษาของตน ติดตามมาด้วย “ชนชั้นกลาง” หรือ “หัวสมัยใหม่” ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะเห็นว่าเรื่องนี้ผิดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนพวก “หัวก้าวหน้า” ก็ยังสงวนท่าที พยายามจะหาข้อมูลจากหลายฝ่าย ไม่พยายามจะชี้ผิดชี้ถูกในเรื่องที่เกิดขึ้น กลุ่มผู้ชุมนุมจึงมาจากหลายระดับจิต ปัญหาเกิดขึ้นตรงที่บางคนในคณะแกนนำนั้นถูกล็อกเอาไว้ที่ระดับจิตแบบหนึ่ง ในขณะที่มวลชนหลายคนอยู่ในระดับจิตอีกแบบหนึ่ง เช่น แกนนำบางคนพยายาม “โหน” สถาบัน โดยหวังว่าจะได้คะแนนจากพวก “ศรัทธาชน” แต่ก็ทำให้พวกกลุ่ม “ชนชั้นกลาง/หัวสมัยใหม่” และ “หัวก้าวหน้า” เกิดความรู้สึกรำคาญ หรือเมื่อการต่อสู้เรียกร้องถูกเบี่ยงเบนจุดประสงค์ไปเป็นการล้มล้างรัฐบาลในทุกรูปแบบ บรรดาพวกหัวสมัยใหม่ที่ชอบหลักการและเหตุผลก็รับไม่ได้ ครั้นพอแกนนำจะถอยหลังกลับไปใช้กลยุทธ์ที่เคยใช้ได้เมื่อช่วงการชุมนุมในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ คือการกระตุ้นระดับจิต “ไสยศาสตร์” เช่น การเผาพริกเผาเกลือ การสาปแช่ง การใช้โหราพยากรณ์ หรือโหนกระแสพระสยามเทวาธิราช ก็ไม่น่าจะใช้ได้กับการชุมนุมในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วยคนวัยทำงานซึ่งยึดในเรื่องการพิสูจน์ด้วยหลักเหตุและผลแบบวิทยาศาสตร์

การปลุกม็อบชนม็อบ แบบการชุมนุมในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ก็ทำได้ยาก เพราะผมเชื่อว่าคนไทยที่อยู่ในระดับจิต “เด็กแว๊น” ก็วิวัฒน์ไปมาก เพราะเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง เห็นความสูญเสียที่เกิดจากการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน ผมเชื่อว่าหลายกลุ่มเริ่มผันตัวเองไปสู่จิตระดับที่สูงขึ้น เช่นหันกลับมามีศรัทธากับกระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการสันติวิธี การไม่ยอมให้มีรัฐประหาร อีกทั้งไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือง่ายๆ เพราะเริ่มหันมาใช้เหตุใช้ผล ซึ่งเป็นอาการของจิตในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม

ที่พูดมานี้จัดว่าแบ่งโดยหยาบ เพราะต้องไม่ลืมว่าแม้แต่จะอยู่ในระดับจิตเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าจะเห็นตรงกันในทุกเรื่อง เช่น ศรัทธาชน ถ้าหากศรัทธากันไปคนละเรื่องก็คงจะคุยกันไม่รู้เรื่อง จะเป็นมิตรกันหาได้ไม่ ที่บอกว่า “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ใช้ได้ผลในตอนที่ยังสงวนจุดต่าง แต่ถ้านำจุดต่างออกมาห้ำหั่นกันเมื่อใด จุดร่วมที่ว่าก็เปราะบางจนช่วยเหลืออะไรไม่ได้

ถ้าหากยังมีการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างระดับจิตทั้งหก ไม่เว้นแม้แต่ในระดับจิตเดียวกัน แล้วจะมีวิธีการใดบ้างเพื่อหลีกเลี่ยง หรือนำพาสังคมไปสู่ความสงบสุข ทางออกของเกลียวพลวัติก็คือ จะต้องยกระดับจิตให้ขึ้นไปถึงระดับทุติยภูมิให้ได้ คือ “จิตบูรณาการ” ซึ่งมี “สีเหลือง” และ “เขียวเทอร์คอยส์” จิตทั้งสองประเภทนี้ได้ข้ามพ้นจิตปฐมภูมิซึ่งยังยึดเอาตัวเองเป็นใหญ่ จิตทุติยภูมิถ่ายถอนความเป็นตัวกูของกูออกไปได้บ้างแล้ว จนเป็นจิต “ใหญ่” ที่มีเมตตากรุณาในระดับที่เห็นองค์รวม หรือบูรณาการเป็นสารัตถะและเป็นกิจอันสำคัญ จิตระดับนี้จึงมีความเข้าใจ เห็นใจจิตปฐมภูมิทุกระดับที่ผ่านมาอย่างลุ่มลึก ไม่ใช่แค่ยึดความดีและนำความดีของตนไปกดทับผู้อื่น

ในทุกศาสนามีคำสอนเรื่องการเจริญคุณธรรมด้านนี้ ทางพุทธมีเมตตาบารมี ทางคริสต์มีความรักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ทางอิสลามมีธรรมนูญสอนให้มนุษย์อยู่กันอย่างมิตร ไม่ว่าจะเป็นศาสนิกชนหรือไม่ ถ้าหากสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ส่งเสริมความรักในเพื่อนมนุษย์ และเห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งต่างๆ ไม่มองอย่างแยกส่วน นั่นก็แสดงว่าคุณกำลังก้าวไปสู่การวิวัฒน์จิตไปสู่ระดับทุติยภูมิ ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือทางรอดเพียงอย่างเดียวของมนุษยชาติ

เด็กได้อะไรจากปฏิรูปการศึกษา



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556

การปฏิรูปการศึกษาใดๆ ควรเตือนตนเองเสมอว่าทำไปเพื่อเด็กนักเรียน จึงต้องถามตนเองเสมอว่าเด็กๆ ได้อะไร

การปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงฯ ปฏิรูปครู ปฏิรูปสื่อการสอน ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการสอบวัดผล ปฏิรูปการตรวจคุณภาพโรงเรียน รวมทั้งการลดจำนวนเวลาเรียน เหล่านี้ทำไปเพื่อเด็กๆ ทั้งสิ้น จึงควรหาคำตอบให้ได้ว่าในท้ายที่สุดแล้วเด็กได้อะไร

แต่กว่าจะได้คำตอบว่าเด็กได้อะไรมักใช้เวลานาน หลายครั้งเราไม่ได้ประเมิน


มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ร่วมกับโรงเรียนจำนวนหนึ่งประกอบด้วยกลุ่มโรงเรียนทางเลือกและกลุ่มโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางแผนร่วมกันที่จะปฏิรูปการศึกษาโดยเริ่มด้วยการแสดงผลลัพธ์ว่าเด็กได้อะไรตั้งแต่ต้น ในทางปฏิบัติคือมาบอกเล่ากันตั้งแต่แรกว่าเด็กนักเรียนได้อะไร

ปัจจุบันนี้ โรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนในระบบจำนวนหนึ่งมีการจัดการเรียนการสอนที่เรียกว่า “สอนน้อยได้มาก” หรือ “teach less learn more” อยู่ก่อนแล้ว นั่นคือลดชั่วโมงการสอนแบบดั้งเดิมและจัดการเรียนการสอนแบบที่เรียกว่า “การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน” หรือ “problem-based learning: PBL” แทน บ้างเรียกว่า “การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน” หรือ “project-based learning”


การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานควรประกอบด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้

๑.โจทย์ปัญหานั้นสัมพันธ์กับชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่

๒. มีการแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้ทำงานเป็นทีม

๓. สมาชิกของแต่ละกลุ่มมีความหลากหลายในทุกมิติ เช่น เชาวน์ปัญญา ผลการเรียน เศรษฐานะ ชาติพันธุ์ เป็นต้น

๔.ในกระบวนการหาคำตอบเปิดโอกาสให้นักเรียนต้อง “ลงมือทำ” ดังที่เรียกว่า “การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ” หรือ “active learning: AL” ดังนั้นการไปทัศนศึกษาหรือการเข้าห้องสมุดทำรายงานจึงยังมิใช่การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน

๕. มุ่งเน้นกระบวนหาคำตอบมากกว่าตัวคำตอบเอง ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าโลกที่ซับซ้อนนี้ไม่เคยมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว

๖. ไม่ละทิ้งวิชาพื้นฐาน ๓ วิชา คือ การอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสมองโดยตรง

๗. ควรบูรณาการเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย และภาษาอังกฤษเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อคงความเป็นเลิศทางวิชาการ

๘. ควรตอบสนองวิชาอนาคต ๔ วิชาซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ นั่นคือความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ ความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม และวิชาความเป็นพลเมือง กล่าวคือเราจัดการศึกษาก็เพื่อให้เด็กๆ มีสุขภาวะที่ดี มีเงินใช้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับความแตกต่าง

๙. ไม่มุ่งเน้นมอบความรู้ แต่มุ่งเน้นมอบทักษะ ๓ ประการคือ ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ และทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการใช้เครื่องมือไอทีอย่างชาญฉลาด

๑๐. จะต้องมีการประเมินผลหลังปิดโครงการเสมอ ดังที่เรียกว่า after action review (AAR) เพื่อตอบให้ได้ว่านักเรียนได้อะไรและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

๑๑. ครูที่มีประสบการณ์จัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานจะต้องมีกลุ่ม after action review เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีการศึกษา

๑๒. สุดท้าย สามารถพิสูจน์ได้ว่านักเรียนพัฒนาตนเองไปเป็นบุคคลที่มีทักษะชีวิตที่ดี มีความใฝ่รู้และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จากทุกสถานที่และเวลา

ในความเป็นจริง โรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนในระบบที่จัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานไม่สามารถสร้างโจทย์ปัญหาที่ดีที่สุดครบทั้ง ๑๒ องค์ประกอบสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปีด้วยตนเอง แต่ก็ดีกว่าการสอนอย่างแข็งกระด้างและมุ่งมอบความรู้จำนวนมากดังที่โรงเรียนส่วนใหญ่ทำกันอยู่ โรงเรียนเหล่านี้ควรมีเครือข่ายช่วยเหลือกันพัฒนาโจทย์ปัญหาที่ดีที่สุด

ดังนั้นมูลนิธิสดศรีฯ จึงเชิญชวนโรงเรียนในภาคีเครือข่ายมาแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิธีออกแบบการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานให้แก่นักเรียนตามที่เป็นจริง ให้ครูที่ได้ทำงานนี้จริงๆ ได้บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่นักเรียนของตนเป็นรายบุคคล นั่นคือ “เด็กได้อะไร”

จากการแลกเปลี่ยนตามด้วยการเรียนรู้ โรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนในระบบที่เข้าร่วมงานกับมูลนิธิฯ จะได้เรียนรู้การจัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานของกันและกันอย่างละเอียด เพื่อให้ได้แนวคิดในการปรับปรุงการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานที่มีอยู่ให้มีองค์ประกอบที่ดีที่สุด

โดยมีนักวิชาการศึกษาที่เข้าใจแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ทักษะ ๓ ประการของเด็ก ทำหน้าที่จดบันทึก ยืนยันงานที่ครูทำ ตีความ และวิเคราะห์การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานนั้นอย่างเป็นระบบ

การปฏิรูปการศึกษาที่มูลนิธิฯ และโรงเรียนเครือข่ายพยายามช่วยเหลือตนเองนี้ เริ่มดำเนินงานโดยไม่มีทุนสนับสนุน แต่มีความตั้งใจจะช่วยกันปฏิรูปการศึกษาประเทศไทยโดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และลงมือทำตั้งแต่วันแรกภายใต้คำถามว่า “เด็กได้อะไร”

การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จะสำเร็จได้ โรงเรียนหรือคุณพ่อคุณแม่ควรเป็นฝ่ายลุกขึ้นเรียกร้อง และร่วมมือผลักดันให้โรงเรียนที่ยังจัดการสอนแบบเดิมเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้เสียใหม่

โรงเรียนทางเลือกหลายแห่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลผลิตคือนักเรียนที่ดี แต่ติดขัดที่ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายยังสูงเกินกว่าที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ของประเทศจะรับได้ ดังนั้นเราควรเรียกร้องและผลักดันให้โรงเรียนในระบบทั้งหมดเปลี่ยนตนเองเป็นโรงเรียนทางเลือกที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน

เป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมด้านการศึกษาโดยมีผลลัพธ์ที่ดี

เชื่อมโยง นพลักษณ์ ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) จิตวิทยา พุทธธรรม



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556

นพลักษณ์ มีความเย้ายวน เหมือนวิชาหมอดู แต่ไม่ถึงกับทำนายอนาคต ตรงที่ทำให้คนเราสามารถมีเงื่อนไขให้ได้พูดถึงตัวเอง และคนเราก็ชอบพูดถึงตัวเอง

จริงๆ แล้วนพลักษณ์เป็นการมาพบกันของศาสตร์โบราณกับจิตวิทยา เหมือนกับนักจิตวิทยารุ่นเก่าชั้นเซียน ที่เป็นทั้งปราชญ์และผู้ฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ได้นำเอาความพร่องของมนุษย์ในแบบต่างๆ หลอมรวมเป็นลักษณ์ทั้งเก้า ในปัญญาสามฐาน คือฐานกาย-สัญชาตญาณ ฐานใจ-อารมณ์ความรู้สึก และฐานหัว-ความคิด น่าจะเป็นทั้งการสังเกตธรรมชาติของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และศึกษาความพร่องทางจิตวิทยาของฐานต่างๆ อีกด้วย

มีการนำเสนอนพลักษณ์ในแนวทางที่ว่า ลักษณ์ต่างๆ แท้จริงคือกับดัก และการนำเสนอนพลักษณ์ที่แท้จริง คนสร้างมันขึ้นมา ต้องการให้เราหลุดออกจากกับดักทางจิตวิทยาของตัวเอง น่าสนใจที่ฐานทั้งสามคือ โลภ โกรธ หลงนั้นเอง โดยฐานคิดหลงและติดอยู่กับความกลัว ฐานใจติดอยู่กับความอยากหรือความโลภ และฐานกายมีปัญหากับเรื่องความโกรธ

จะเห็นว่า ในระดับโดยเฉลี่ยและป่วย (unhealthy) ของแต่ละลักษณ์นั้น คำทำนายบุคลิกภาพจะเที่ยงตรงมาก และทั้งหมดมีร่องรอยของความพร่องทางการเชื่อมโยงของสมองด้วย ความพร่องทางจิตวิทยาเหล่านี้ คือการที่สมองเติบโตหรือไม่เติบโตอย่างขาดสมดุล และได้เกิดความพร่องทางกายภาพที่ปรากฏอยู่ในเนื้อสมอง ในวงจรของสมองด้วย

แต่หากได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาในระดับแข็งแรง (healthy) คนคนนั้นจะกลับมาเป็นบุคลิกภาพแบบปะปนและข้ามลักษณ์ ซึ่งในระบบนพลักษณ์จะมีปีกและลูกศรอยู่ด้วย คือความเป็นลักษณ์ค่อยๆ เบลอ ค่อยๆ จางกลายเป็นการพัฒนาระดับจิตวิญญาณ ซึ่งเอาเข้าจริงคือการหลอมรวมปัญญาสามฐานเข้ามาเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน


ประโยชน์ชั้นต้นของนพลักษณ์

ประโยชน์ชั้นต้นของนพลักษณ์จะคล้ายประโยชน์ของผู้นำสี่ทิศ เหมือนกัน ในแง่ที่ว่ามันทำให้เราเห็นว่า คนแต่ละคนนั้นต่างกัน ไม่ใช่จะไปเปลี่ยนให้ทุกคนมาเหมือนตัวเอง

เมื่อเรียนนพลักษณ์จนเข้าใจรายละเอียดอันสุขุมมากขึ้น ก็อาจจะเห็นวิธีปฏิบัติกับคนอื่นๆ ที่มีลักษณ์แตกต่างไปจากเรา และไม่เหมาเอาว่า พวกเขาต้องรับรู้ ตอบสนองเหมือนกับเรา ความแตกต่างจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ และที่สำคัญเราจะตื่นรู้ที่จะรับรู้ถึงความแตกต่างเหล่านั้นมากขึ้น ไปถึงขั้นยอมรับความแตกต่างได้ และเลือกที่จะออกจาก "ความเป็นปฏิกิริยา" ไปสู่การตอบสนองด้วยสติปัญญาและความรัก

นี่เป็นอีกหนึ่งหนทางของการฝึกการตื่นรู้ในทางพุทธธรรมได้ไหม?


ตัวตนในวอยซ์ไดอะล็อค

วอยซ์ไดอะล็อค ไม่แบ่งเป็นลักษณ์ หรือเป็นแบบแผนของตัวตนต่างๆ แต่บอกว่าเราทั้งหมด คือแต่ละคน ประกอบด้วยบุคลิก หรือส่วน หรือเสี้ยวส่วนต่างๆ ที่ก่อประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา เช่นลูกจีนอาจจะมีตัวขยัน ส่วนลูกไทยจะมีตัวสบายๆ แล้วจะเห็นได้ว่าสองตัวนี้ ตัวขยันกับตัวสบายๆ เป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นหยินกับหยาง วอยซ์ไดอะล็อคเป็นทฤษฎีที่แสวงหาความสมดุล และแสวงหาความเป็นอิสระจากตัวตนหรือบุคลิกภาพต่างๆ ที่ครองเราอยู่เช่นเดียวกับที่กล่าวถึงไปแล้วในกรณีนพลักษณ์ ซึ่งในที่สุดแล้วเราต้องการพ้นไปจากการกักกันของลักษณ์

ในวอยซ์ไดอะล็อคจะบอกว่า เราจะเอียงข้างไปทางใดทางหนึ่งมาก และติดอยู่ตรงนั้นได้เหมือนกัน เช่น ติดกับตัวขยัน และหากขยันมากๆ มันไม่เพียงขยัน แต่มันบ้างานจนเครียด ผลักดันตัวเองจนป่วยไม่สบายก็มี เป็นต้น เช่นเดียวกัน พวกรักสบายก็อาจจะผ่อนคลายจนเกินพอดี ไม่ทำมาหากินเป็นเรื่องเป็นราว ก็อาจจะมีปัญหาความอยู่รอดได้


พัฒนาการของตัวตนต่างๆ ในวอยซ์ไดอะล็อค

ตัวตนต่างๆ ในวอยซ์ไดอะล็อคมีส่วนคล้ายลักษณ์ในเรื่องพัฒนาการ มีระดับแข็งแรง ป่วย และ โดยเฉลี่ย เหมือนๆ กันกระมัง ตัวตนหลัก (primary selves) ต่างๆ นั้นมีที่มา คือพวกเขามาปกป้องเด็กน้อยผู้เปราะบาง (นี้เป็นเรื่องใหญ่ในวอยซ์ไดอะล็อคอีกเรื่องหนึ่ง คงยังไม่ขยายความในบทความสั้นๆ นี้) หากตัวตนหลักต่างๆ มาด้วยอาการปกป้องมากน้อยแค่ไหน ก็จะอยู่แบบปกป้องหรือปกติ แข็งแรงหรือป่วย มากน้อยแค่นั้นเช่นกัน

หากป่วยมาก ปกป้องมาก เราก็จะยึดฉวย กอดรัดตัวตนนั้นๆ บุคลิกนั้นๆ ไว้หนาแน่นมาก อันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในนพลักษณ์นั้นเอง

วอยซ์ไดอะล็อคมีวิธีการพัฒนาเพื่อให้เกิด aware ego ซึ่งคำว่า ego ไม่ได้แปลว่าอัตตาตัวตนที่ใช้ในพุทธศาสนา แต่แปลว่า ผู้กระทำการ หรือ การกระทำการ มากกว่า ที่มาก่อเกิดความตื่นรู้ ความรู้เท่าทัน หรือจะเรียกว่าตัวรู้ก็ได้ วอยซ์ไดอะล็อคต้องการพัฒนาตัวรู้นี้ให้ รู้ ตื่นรู้ รู้เท่าทัน และสามารถ "แยก" (separate) ออกจากตัวตนหลัก แยกออกจากไม่ได้หมายความว่า ทิ้งไป เราไม่ทิ้งตัวตนหลัก แต่เมื่อเราเป็นอิสระจากตัวตนหลักได้เท่าไร ตัวตนหลักก็จะแข็งแรงได้มากเท่านั้น และเราเป็นผู้เลือกใช้ ไม่ได้เป็นทาสตัวตนหลักอีกต่อไป


จิตวิทยากระบวนการและพุทธธรรม

จิตวิทยากระบวนการ (process psychology) ของอาร์โนลด์ มินเดล ยิ่งให้อิสรภาพมากขึ้นไปอีก คือแทนที่จะกล่าวถึงส่วนต่างๆ ด้วยตัวตนต่างๆ กลับกล่าวถึงส่วนต่างๆ ในนามของกระบวนการ คือเห็น ส่วนต่างๆ เป็นพลวัตมากขึ้นไปอีก

ส่วนพุทธธรรมตั้งอยู่บนฐานของความไม่มีตัวตนตั้งแต่แรก แต่ไประบุ หรือใส่ชื่อให้กับองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นกระบวนการต่างๆ อันกำลังเป็นไปในจิตของเรา ที่ประชุมกันขึ้น เป็นครั้งๆ คราวๆ ไป เช่น ตัวโกรธ ตัวเมตตา ตัวสมาธิ ตัวสติ เป็นต้น อภิธรรมบ้านเราเรียกว่าเจตสิก ทางมหายานเรียกพีชะ ที่อาจจะแปลว่าเมล็ดพันธุ์ก็น่าจะได้

ในความเข้าใจแบบพุทธธรรม การเคลื่อนย้าย แปรเปลี่ยน และการประชุมพลกันขึ้น ของพีชะ หรือเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ ผมได้อาศัยหนังสือ Understanding Our Mind ของหลวงปู่นัทฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม หรือฉบับแปลของ ส. ศิวรักษ์ ที่ใช้ชื่อว่า สู่ชีวิตอันอุดม เป็นหลัก ช่วงหลังมานี้ ผมกลับเอามาเทียบเคียงกับแนวคิดเรื่องจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกในประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) อีก อย่างสนุกสนาน โดยเทียบให้อัตโนมัติที่หลับใหลอันเราไปหลงยึดเป็นตัวเป็นตนของเราว่าเป็น "มนัส" และการตื่นรู้เพื่อสร้างอัตโนมัติที่ตื่นรู้ ว่าเป็นอิสรภาพที่ "มโนวิญญาณ" หรือ จิตสำนึก จะทำงานได้อย่างไร้ขอบเขตเงื่อนไขจำกัดโดยตรงกับ "อาลัยวิญญาณ" หรือจิตไร้สำนึกร่วม (collective unconscious)

ซึ่งคงจะต้องเขียนถึงในโอกาสต่อไป


1 ศาสตร์แห่งการรู้จักตนเอง แบ่งอุปนิสัยของคนออกเป็น ๙ ลักษณ์ หรือนพลักษณ์ (http://www.enneagramthailand.org)

กล้าที่จะสอน (The Courage to Teach)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

ในที่สุด หนังสือ กล้าที่จะสอน ที่ พาร์คเกอร์ พาล์มเมอร์ เขียน ก็ได้รับการตีพิมพ์ในภาษาไทย (โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) และออกวางตลาดแล้ว หลังจากที่หลายคนรอคอยมาหลายปี หนังสือเล่มนี้ พาล์มเมอร์เขียนมาจากประสบการณ์ของความเป็นครูที่ยาวนานถึง ๓๐ ปี และใช้เวลาเขียนถึง ๑๐ ปี เรียกได้ว่าเป็นการเจียระไนประสบการณ์มาเป็นเรื่องเล่าและแนวคิดที่มีพลังอย่างยิ่ง

เมื่อผมได้เปิดอ่านเมื่อหลายปีก่อนถึงกับวางไม่ลงเลยทีเดียว เพราะเขียนได้อย่างเปิดเผยและลงลึกถึงแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และความเป็นครู รวมทั้งนำเสนอมุมองที่ลึกซึ้งในเรื่องการสอนที่สร้างความมนุษย์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือเล่มสำคัญในการนำเสนอทางออกให้กับการปฏิรูปการศึกษาของสังคมโลกอย่างเป็นรูปธรรม (ทำได้จริง) และรักษาจิตวิญญาณเดิมแท้ของการศึกษาไว้ได้อย่างสง่างาม

หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ การฟื้นฟูและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของครู ที่อาจตกหล่น เหือดหายไปในระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเพียงแต่เป้าหมายเชิงรูปธรรม ผลลัพธ์ที่วัดผลได้เท่านั้น และการเติบโตทางวิชาชีพ

พาล์มเมอร์พูดถึงหัวใจความเป็นมนุษย์ที่รู้จักและเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น รวมทั้งความใฝ่ฝันและ เป้าหมายของตัวเอง (identity) และมีความซื่อตรงต่อตัวเอง (integrity) โดยกล้าใช้ชีวิตตามความเชื่อ ความฝันและแรงบันดาลใจภายใน อย่างไม่กดข่มเพื่อสยบยอมกับระบบการศึกษาที่กำลังเป็นไปอย่างลุ่มหลงเมามันกับวัตถุภายนอกโดยละเลยคุณค่าของจิตใจ

นอกจากนั้น พาล์มเมอร์ก็ยังพูดถึงตัววิชาความรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่จำต้องได้รับการปรับปรุงฟื้นฟู โดยเอา “ชีวิต” หรือ “สิ่งที่เรียน” เป็นตัวตั้ง มากกว่า “ข้อมูล” เกี่ยวกับ “สิ่งที่เรียน” ที่เราเรียกว่า “ความรู้” เป็นตัวตั้ง ยิ่งอิทธิพลของแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ถือเอาเหตุผลและสิ่งที่วัดผล จับต้องได้ทางรูปธรรมเป็นตัวตั้งในระบบการศึกษา ก็ยิ่งทำให้ผู้เรียนมอง “สิ่งที่เรียน” ว่าเป็นเพียง “วัตถุ” หรือ “วิชา” มากกว่าการเข้าถึงแก่นสารของสิ่งที่ศึกษา จนถึงกับต้องตัดเอา “ความรู้สึก” ส่วนตัวออกไปจากกระบวนการเรียนรู้แทบทุกแขนงเลยทีเดียว เมื่อไม่รู้สึกก็ไร้ความสัมพันธ์ เมื่อไร้ความสัมพันธ์ ชีวิตก็แบ่งแยกและแห้งแล้ง

ในหัวข้อข้างต้น มีรายละเอียดที่ลึกซึ้งมาก แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจ หากเราต้องการฟื้นฟูหรือปฏิรูปการศึกษาให้กลับมามีพลัง มีส่วนร่วม มีชีวิตชีวา และส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนค้นพบศักยภาพภายในตัวเอง และรู้ตำแหน่งหน้าที่ รวมถึงคุณค่าที่ตัวเองมีต่อสังคมอย่างถ้วนหน้า อย่างไม่เลือกเฟ้นเฉพาะ “เด็กเก่ง” แบบ “แพ้คัดออก” แล้วสร้าง (แล้วทิ้ง) เด็กที่รู้สึกด้อยค่าที่กลายเป็นเหยื่อจำนวนมากของระบบการศึกษา

เรื่องที่สาม ที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้สองหัวข้อแรก คือการสร้างชุมชนและองค์กรที่ส่งเสริม หล่อเลี้ยง การเรียนรู้ของครูและนักเรียน ที่มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตร สร้างสรรค์และเป็นธรรม มากกว่าการบริหารจัดการแบบอำนาจนิยมที่ยึดเอาวาระของตัวเองเป็นหลักและไม่พยายามรับรู้ความต้องการของครู

อุปสรรคในเรื่องวัฒนธรรมและการบริหารจัดการขององค์กรแบบเก่านี้ พบได้หลากหลาย ไม่จำเพาะองค์กรทางการศึกษาเท่านั้น องค์กรประชาชน ภาครัฐและภาคธุรกิจอื่นๆ ก็มีลักษณะโครงสร้างอำนาจคล้ายๆ กัน และก่อให้เกิดผลกระทบคล้ายๆ กัน นั่นคือสร้างช่องว่างในความสัมพันธ์และปิดกั้นการสื่อสาร แบ่งพรรคแบ่งพวก ปกป้องอาณาเขตตัวเองภายใต้อิทธิพลของความกลัว จนส่งผลถึงแรงบันดาลใจในการสอนหรือการทำงานของสมาชิกในองค์กร

สิ่งที่ผมชอบมากเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือ นอกจากผู้เขียนจะเขียนจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ของครู และนักการศึกษาที่เขาได้พูดคุยสัมภาษณ์มาเป็นจำนวนมากในอเมริกาแล้ว เขายังเสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเขาเองก็ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ตัวเองและเพื่อนๆ ตั้งใจไว้แล้วอย่างได้ผลยิ่ง จนมีงานวิจัยแสดงถึงผลลัพธ์ดังกล่าวออกมา และมีเครือข่ายของศูนย์เพื่อการฟื้นฟูกำลังใจและความกล้า ที่มีชื่อว่า Center for Courage and Renew ที่ไม่เพียงจัดโปรแกรมฟื้นฟูกำลังใจให้กับครูเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปถึงผู้คนในวิชาชีวิตอื่นๆ ด้วย โดยมีการจัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๒ ปีต่อหนึ่งรุ่น (รุ่นละ ๓๐ คน) จนทำให้เกิดชุมชนกัลยาณมิตรที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ “ไม่แบ่งแยก” แต่สอดคล้องกับธรรมชาติภายในของตัวเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

จากข้อสังเกตของพาล์มเมอร์ แยกแยะลำดับของการแปรเปลี่ยนระบบการศึกษาไว้ ๔ ระยะ ได้แก่

ระยะที่ ๑ บุคลากรทางการศึกษาตระหนักรู้ถึงพลังและคุณค่าภายในตัวเอง และเลือกที่จะใช้ชีวิต อย่างสอดคล้องกับคุณค่าและแรงบันดาลใจนั้น

ระยะที่ ๒ สร้างชุมชนและเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มของผู้ที่เลือกจะใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติภายในของตัวเอง สนับสนุนและฝึกฝนทักษะในการสื่อสารเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

ระยะที่ ๓ เปิดตัวและสื่อสารต่อสาธารณะในวงกว้างออกไป เพื่อเชื้อเชิญให้เกิดการมีส่วนร่วมที่แพร่หลายมากขึ้น โดยไม่กล่าวโทษหรือทำลายใคร

ระยะที่ ๔ สร้างระบบทางเลือกที่เกื้อกูลและตอบแทนหน้าที่และวิชาชีพใหม่ที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา

หนังสือเล่มนี้ได้เสนอสิ่งที่อาจถูกละเลยในการปฏิรูปการศึกษา นั่นคือ หัวใจของครู ท่ามกลาง บรรยากาศของความวุ่นวาย ความเหนื่อยหน่ายและสิ้นหวังของการปฏิรูปการศึกษา การเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ อาจจะเกิดจากจุดเล็กๆ ในพื้นที่ของการดูแลจิตใจของครู ที่อาจไม่ใช่ “การอบรม” ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเรื่องเทคนิคการสอน การวัดผลประเมินผล หรือการใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ หรืออบรม “คุณธรรม” ที่มีมากมายก่ายเกลื่อนอยู่แล้ว แต่เป็นดูแลใส่ใจ ส่งเสริมการสำรวจและเรียนรู้โลกภายในชีวิตครู เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์การสอนที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

Back to Top