“เปลี่ยนแปลง” ไม่ใช่แค่ “พัฒนา”



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556

เด็กคนเดิมกลับมาอีกแล้ว คุณหมออาร์มิดา เฟอร์นันเดซแปลกใจ คราวก่อนก็มาด้วยอาการของโรคขาดอาหาร น้ำหนักต่ำกว่าปรกติ ทำไมแม่ของเด็กถึงไม่ดูแลลูกให้ดี? เธอนึกตำหนิผู้เป็นแม่ในใจ ก่อนจะสังเกตเห็นว่าแขนข้างหนึ่งของหญิงสาวเข้าเฝือกอ่อนไว้ ดูเหมือนว่ากระดูกจะหัก คุณหมอนึกเอะใจขึ้นมา เมื่อสอบถามจึงทราบว่าถูกสามีตบตีมา คุณหมอค่อยถึงบางอ้อ เข้าใจแล้วว่า สุขภาพเด็กนั้นขึ้นกับสุขภาพของแม่ – ผู้หญิงในชุมชน – โดยเฉพาะในสลัมธราวี ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมุมไบ เป็นสลัมที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของอินเดียและของโลก และเป็นฉากหลังสำคัญของภาพยนตร์เรื่องสลัมด๊อกมิลเลียนแนร์ที่คว้าออสการ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้น

หลังจากจ้างนักสังคมสงเคราะห์ ๒ คนมาประจำที่โรงพยาบาลเพื่อสำรวจข้อมูลว่าด้วยกรณีความรุนแรงในครอบครัวก็พบว่ามีสถิติค่อนข้างสูง ทางโรงพยาบาลจึงจัดทำบ้านพักฉุกเฉินให้กับผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้าย แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้มาใช้บริการเลย โดยเหตุที่ผู้หญิงเองมองว่าเรื่องปากท้องของครอบครัวและการงานของสามีนั้นสำคัญกว่าเรื่องที่ตัวเองถูกตบตีเป็นไหน-ไหน พูดโดยสั้นก็คือ ผู้หญิงและชุมชนสลัมทั้งหมดมองว่าเรื่องผัวตบเมียนั้นเป็นเรื่องปรกติธรรมดา

ข่าวดีก็คือ ทีมแพทย์พบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสุขภาพแม่และเด็กในสลัมธาราวีแล้ว นั่นคือสาเหตุในระดับวิธีคิดและหรือจิตสำนึกที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมผัวตบเมีย ข่าวร้ายก็คือ การแก้ไขปัญหาในระดับวิธีคิดและหรือจิตสำนึกนั้นยากมาก คนทำงานต้องทุ่มเทมาก

คุณหมอเฟอร์นันเดซตอบรับงานที่ท้าทายนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เธอระดมทุนและก่อตั้งมูลนิธิเสน่หา (SNEHA – Society for Nutrition, Education and Health Action) โดยมีเป้าหมายที่สุขภาวะของผู้หญิงและเด็ก ซึ่งเป็นจุดคานงัดของสุขภาวะสังคมเมือง

การทำงานเริ่มจากส่งทีมนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปในชุมชนเพื่อสำรวจข้อมูลเชิงรุก แทนที่จะนั่งรอผู้หญิงที่เป็นเหยื่อถูกผัวตบวิ่งโร่ไปใช้บริการบ้านพักฉุกเฉิน และโดยเหตุที่เรื่องผัวซ้อมเมียเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและไม่มีผู้หญิงคนไหนเปิดปากพูดหรือเล่าให้ฟังโดยง่าย คนทำงานจึงต้องเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจให้กับคนในชุมชนด้วยการเข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเรื่องโภชนาการและสุขภาพ

ในขณะที่ผู้ชายไปทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงจะทำงานบ้านเลี้ยงลูกอยู่ในชุมชน เมื่อมีคนเข้าไปให้ความรู้เรื่องอาหารการกินที่ส่งผลต่อสุขภาพรวมทั้งเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ก็ชอบกันมาก เพราะส่วนใหญ่ก็มักจะไม่มีความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวและการดูแลตนเองขณะตั้งครรภ์ ทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป

ในช่วงนั้นเอง นักปฏิบัติการทางสังคมที่เข้าไปในชุมชนก็ใช้วิธีการจัดกระบวนการให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้เรื่องต่างๆ ร่วมกัน และยกระดับหัวข้อพูดคุยจากเรื่องสุขภาพ โภชนาการ อนามัยเจริญพันธุ์ ไปสู่เรื่องความรุนแรงในครอบครัว ทำให้กลุ่มผู้หญิงในชุมชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว

จากนั้นก็มีการจัดกระบวนการกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชน รวมทั้งเรื่องผัวตบเมียด้วย โดยพวกผู้หญิงในสลัมธราวีจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาจับตาความรุนแรงในครอบครัว ดังเช่นกรณีหนึ่งที่ผัวทำร้ายเมีย อาสาสมัครผู้หญิงเหล่านี้ก็พาผู้หญิงที่ถูกทำร้ายไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความ เมื่อตำรวจไม่ยอมลงบันทึกแจ้งความเพราะมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว จิตอาสาผู้หญิงกลุ่มนี้ก็ล้อมโรงพักเพื่อกดดันให้มีการแจ้งความให้ได้ พอกลับมาบ้านสามีขู่ว่าจะกลับมาฆ่าด้วยการเผาบ้าน ก็มีการจัดเวรยามเฝ้าระวัง เมื่อสามียกพวกมาจะเผาบ้าน กลุ่มผู้หญิงจิตอาสาก็ช่วยกันจับตัวสามีไปส่งโรงพัก พูดง่ายๆ ก็คือ จิตอาสาผู้หญิงเหล่านี้ช่วยกันทำให้การใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับต่อไปได้อีก ทั้งยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นอาชญากรรมเลยทีเดียว

ในช่วงแรก ผู้คนในชุมชนยังไม่ใคร่เข้าใจนัก กระทั่งผู้ชายที่เป็นสามีของจิตอาสาผู้หญิงเหล่านั้นก็มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่เมื่อเวลาผ่านไปราวสิบปี สามีก็เริ่มเข้าใจ บางคนก็สมัครเข้ามาเป็นจิตอาสาร่วมด้วย และสถิติปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็ลดลงไป เช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพผู้หญิงและเด็กในชุมชนสลัมธราวี

ที่น่าสนใจก็คือ คนทำงานด้านสุขภาพผู้หญิงและเด็กอย่างคุณหมอเฟอร์นันเดซและทีมงานให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาจถือได้ว่าเป็นการใช้กระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงานด้านสุขภาพ นั่นคือ มองทะลุไปถึงรากเหง้าปัญหาสุขภาพในระดับปัจจัยเชิงวัฒนธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิธีคิดและจิตสำนึกของผู้คน และดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่ตรงนั้น

ในส่วนของแนวทางและวิธีการดำเนินงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจารย์อวยพร เขื่อนแก้ว ครูใหญ่หลักสูตรพัฒนาศักยภาพนักปฏิบัติการทางสังคมเพื่อความเป็นธรรม ได้เคยอรรถาธิบายเกี่ยวกับการทำงานของมูลนิธิเสน่หาไว้ว่า คนทำงานของมูลนิธิส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางมีการศึกษา แต่การเข้าไปทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนสลัมธราวีนั้นไม่ได้เข้าไปในลักษณะสังคมสงเคราะห์ หากแต่เป็นการเข้าไปหนุนเสริมพลังอำนาจของผู้คนในชุมชนนั้น โดยเริ่มจากการออกแบบและจัดกระบวนการให้มีการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหา และมีปฏิบัติการร่วมกันที่นำไปสู่การสั่งสมความสำเร็จทีละเล็กละน้อย นั่นคือ การทำให้ผู้คนตื่นรู้เข้าถึงอำนาจหรือศักยภาพภายในของตน มีความมั่นใจสามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาขอความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ต่อไป เมื่อผู้คนที่มีความมั่นใจเหล่านี้รวมตัวกันได้ก็สามารถต่อรองกับอำนาจที่เหนือกว่าได้ ดังที่กลุ่มจิตอาสาผู้หญิงต่อรองกับตำรวจและผู้ชายที่แข็งแรงกว่าตัวเอง

นอกจากนี้แล้ว นักปฏิบัติการทางสังคมเหล่านี้ทราบดีว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืนจะต้องทำให้รูปแบบของงานที่สร้างขึ้นมาใหม่ ในที่นี้ก็คือ หน่วยให้บริการคำปรึกษาทางสุขภาพสำหรับชุมชน ซึ่งมีทักษะในการจัดกระบวนการหนุนเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มผู้หญิง กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบสุขภาพที่มีอยู่เดิม การดำเนินงานของมูลนิธิเสน่หาที่สลัมธราวีจึงเป็นไปเพื่อสร้างต้นแบบการทำงาน เมื่อประสบผลแล้วก็จะนำเสนอแนวคิดต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อขยายผลเชิงโครงสร้าง

การทำงานของคุณหมอเฟอร์นันเดซและมูลนิธิเสน่หาผ่านประเด็นความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม นั่นคือ ตีโจทย์ทะลุ มองเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา และทำงานที่รากอันเป็นสาเหตุนั้น แม้จะยาก ในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและวิธีคิดของผู้คนและชุมชน ซึ่งคนทำงานตระหนักดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องใช้เวลา ความมุ่งมั่นแน่วแน่เพื่อทำงานตามวิสัยทัศน์และความเพียรไม่ย่อท้อของคนทำงาน ทำให้งานสร้างการ “เปลี่ยนแปลง” สังคมที่ฐานรากแตกต่างจากงานพัฒนาที่พึ่งพาตัวชี้วัดความสำเร็จของงาน “พัฒนา” เชิงโครงการซึ่งมุ่งเน้นผลงานที่จับต้องได้ในระยะสั้นอย่างสิ้นเชิง

Back to Top