โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2555
ประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดของผม ทั้งราบเรียบ น่าเบื่อหน่าย ทั้งตื่นเต้น ท้าทาย ทั้งสับสน ไร้ทิศทาง ทั้งมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ทั้งดีและร้าย ได้หลอมรวมเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตเมื่อได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยการทำวิจัยเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ให้กับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งเป็นที่มาของการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกของกลุ่มจิตวิวัฒน์ และเชื่อมต่อด้วยการร่วมบุกเบิกและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล นำไปสู่การระเบิดแนวคิดและแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาของผมในแวดวงวิชาการ (โดยเฉพาะวงการศึกษา) วงการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมไทย
โดยเฉพาะในช่วงสามสี่ปีหลังนี้ ผมมีส่วนโดยตรงและโดยอ้อม ก่อให้เกิดงานวิจัยด้านจิตตปัญญาศึกษาเกือบสองร้อยเรื่อง การระเบิดครั้งใหญ่สุดในช่วงสามปีหลังคือการร่วมงานกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลัยและกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง (SP2) จัดการอบรมและพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมากกว่าสี่หมื่นคน ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรระดับต่างของหน่วยงานของรัฐ เอกชนและอื่นๆ
การระเบิดประสบการณ์ทางจิตตปัญญาทัศน์และจิตตปัญญาปฏิบัตินี้ ผมเรียกว่าเป็นการระเบิดใหญ่สีขาว (The White Big Bang) ของความคิดและจิตวิญญาณของผม ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมประสบการณ์ทั้งหมดของชีวิตผ่านการสั่นสะเทือนด้วยพลังบวกของกลุ่มจิตวิวัฒน์ ซึ่งเปรียบเสมือนหลุมขาวของชีวิตของผม ผนวกควบรวมกับพลังความรักความเมตตาของกัลยาณมิตรเครือข่ายจิตตปัญญศึกษา ผสมผสานกับการใคร่ครวญทบทวนตนเองเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง กลั่นกรอง ทดลองปฏิบัติ คลุกเคล้า ควบแน่น ตกผลึก แล้วระเบิดออกมาเป็นระเบิดสีขาว ระเบิดแห่งความปีติสุขที่ได้ทำ ได้เผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
และต่อไปนี้คือผลึกจิตตปัญญาศึกษาของผม ที่ผมเต็มใจ สุขใจ และยินดีนำเสนอเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ร่วมเดินทางบนถนนสายที่เรียกว่า จิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Contemplative Education and Transformative Learning)
จิตตปัญญาศึกษาเป็นทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ผมเรียกว่าจิตตปัญญาทัศน์ และจิตตปัญญาปฏิบัติโดยภาพรวม เป็นการศึกษาที่เน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาความตระหนักรู้ การเรียนรู้และการรู้เท่าทันมิติ/โลกภายใน (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ทัศนะ/มุมมองต่อชีวิต โลก และสรรพสิ่ง) ของตนเอง ให้คุณค่าในเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ซึ่งหมายถึงการสังเกตอย่างมีสติต่อการเปลี่ยนแปลงภายในของตนเองที่เกิดขึ้นจากการเผชิญกับผู้อื่นและโลกภายนอก ผ่านกระบวนการ/วิธีการและกิจกรรมที่หลากหลาย มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างลึกซึ้งทางความคิดความเชื่อและจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับตนเอง โลก และสรรพสิ่ง ส่งผลต่อการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิตอย่างมีสติ อย่างมีปัญญา มีความรักความเมตตาต่อตนเองและสรรพสิ่งทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
ในทางการศึกษา จิตตปัญญาศึกษาเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงภายใน หรือที่วิจักขณ์ พาณิชเรียกว่า การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จิตตปัญญาศึกษาให้ความสำคัญกับการตระหนักรู้โลกภายในของตนเองที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินแบบจิตตปัญญาศึกษาจะอยู่บนฐานของการเป็นกัลยาณมิตร หรือที่เรียกว่ากัลยาณมิตรเรียนรู้และกัลยาณมิตรประเมิน (Amicable Learning and Evaluation) ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเองเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกัน จิตตปัญญาศึกษาให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ภายในของแต่ละคน ไม่วิพากษ์ วิจารณ์ ไม่ตัดสิน ภายใต้บรรยากาศของการเคารพยอมรับระหว่างกันแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นบรรยากาศแบบเปิด เอื้อให้ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่จะเปิดเผย รู้จักตนเองและผู้อื่น
โดยนัยดังกล่าว จิตตปัญญาศึกษาได้ผนวกควบรวมการคิดวิเคราะห์เชิงระบบไว้ในแนวคิด อีกทั้งขยายการคิดวิเคราะห์เชิงระบบ ให้ครอบคลุม และตระหนักในความสำคัญของระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ความต้องการ อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นมิติด้านในของบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้เสียกับการจัดการเรียนการสอนและการบริหารสถานศึกษา เพราะมิติด้านในดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว”
ในทางการบริหาร การวินิจฉัยองค์การที่ขาดข้อมูลเกี่ยวกับมิติด้านในของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ จะนำไปสู่ระบบการบริหารที่ถูกโน้มนำด้วยข้อมูล ข่าวสาร ความรู้มิติด้านนอก การวางแผน กระบวนการวางแผน และการบริหารจัดการ จึงมีลักษณะค่อนข้างจะเป็นเส้นตรง จากบนลงล่าง เน้นปริมาณของผลผลิตหรือกำไร มากกว่าผลกระทบที่ดีงามต่อสังคม เน้นการแข่งขันมากกว่าการร่วมมือ จึงแปลกแยก แบ่งส่วน ไม่สมดุล ไม่เป็นองค์รวม เป็นแฟชั่น (ชั่วคราว) ไหลตามกระแส ขาดความเป็นเอกลักษณ์ จึงไม่ยั่งยืน
ในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์บริบท (ทั้งภายนอกและภายใน) องค์กรที่ไม่พิจารณามิติภายในของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในฐานะที่เป็นบริบทภายในที่แท้จริง ก็มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ระบบการบริหารที่เน้น “งาน” มากกว่าเน้น “คน” เป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่รู้ว่าหัวใจของการได้ผลงานที่มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ อยู่ที่คุณภาพ (จิตสำนึก+ความรู้ความสามารถ+ทักษะ) ของคนทำงานที่มีความเข้าใจ ความเต็มใจ มุ่งมั่น มีความภูมิใจ ผสมผสานกับการมีความรู้ ความถนัด ความสามารถและทักษะในการทำงาน
ในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ในส่วนของการศึกษาก็มุ่งเน้นเชิงปริมาณ เร่งรีบ รวบรัด ย่อและแยกส่วน ทั้งเรื่องการวัด การประเมินผล ทั้งเรื่องการสอน การเรียน มากกว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงอย่างเป็นองค์รวมและเป็นธรรมชาติ
ที่สำคัญ ผู้บริหารต้องตระหนักรู้ตลอดเวลาว่าองค์กร/สถานศึกษา เป็นสถานที่สำหรับการศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ สร้างและสะสมองค์ความรู้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง
จิตตปัญญาทัศน์ และจิตตปัญญาปฏิบัติที่ผมใช้เป็นกรอบกว้างๆ เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ สรุปโดยย่อเพื่อช่วยความจำคือ “๔ – ๓ – ๓”
โดยที่ ๔ หมายถึง ความเชื่อพื้นฐาน/หลักการ ๔ ประการ คือ
เชื่อมั่นและเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง มนุษย์มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มนุษย์เรียนรู้และพัฒนาได้ จึงต้องเปิดและสร้างโอกาสและบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดและสร้างพื้นที่ที่มั่นคงปลอดภัยให้กับตนเองและกลุ่ม เพื่อเปลี่ยน “ที่ทำงาน” หรือ “ที่เรียนที่สอน” ให้เป็น “ชุมชนปฏิบัติการเรียนรู้”
ยอมรับและเคารพในความไม่เหมือน/ความแตกต่างของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง จึงไม่เปรียบเทียบกับใคร แต่เรียนรู้จากผู้อื่นได้ เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) สำหรับตนเองและหน่วยงาน เพราะแต่ละคนและแต่ละหน่วยงานมีบริบทไม่เหมือนกัน จึงต้องเรียนรู้และสร้าง Best Practice ของตนเอง
เชื่อในความเป็นองค์รวม (Holism) ที่มีความหมายมากกว่าการเอาส่วนย่อยมากองรวมกัน องค์รวมจึงไม่ใช่กองรวม หรือองค์ร่วม (Aggregation/ Compilation) ไม่แยกส่วน จึงต้องมีสติและเตือนสติอย่างต่อเนื่องว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ (ความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กร) ที่เกิดขึ้น เพราะหากขาดสติก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการ “องค์ลง” หรือที่ศรชัย ฉัตรวิริยะชัยเรียกว่า “จักรวรรดินิยมทางจิตวิญญาณ”
เชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ สอนไม่ได้ ผู้สอนจึงต้องเปลี่ยนบทบาทของผู้สอนแบบเดิม ไปเป็นผู้ร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับผู้เรียน ทั้งผู้สอนและผู้เรียนจึงมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้เรียนรู้ ไม่ใช่ผู้สอน และผู้เรียนแบบเดิม
บนความเชื่อและหลักการทั้งสี่ประการดังกล่าว การอบรมและพัฒนาบุคลากรในองค์การ และการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา จึงไม่เน้นการถ่ายทอด การบรรยายแบบเดิมๆ แต่ใช้การจัดกระบวนการการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การสงบนิ่งอยู่กับตนเอง/การเจริญสติ ภาวนา การสะท้อนการเรียนรู้ในตนและกลุ่ม สานเสวนา/สุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง การเขียนอนุทิน/บันทึกเส้นทางการเรียนรู้ กิจกรรมอาสาสมัคร/บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ศิลปะ ดนตรี การฝึกปฏิบัติและการเรียนรู้ผ่านการทำงานแบบ On the job training การอ่านบทความ หนังสือ งานวิจัย... ไปจนถึงพิธีกรรมและการปฏิบัติทางศาสนา... โดยกิจกรรมทั้งหมดจะร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน ๓ กระบวนหลัก และ ๓ ฐานการเรียนรู้
โดยที่ ๓ กระบวนการหลักตามแนวจิตตปัญญาศึกษา ได้แก่
- สุนทรียสนทนา (Dialogue)
- การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เพื่อเข้าใจผู้พูดอย่างเป็นองค์รวม ไม่ใช่แค่ภาษาหรือคำพูด ไม่ตัดสินผู้พูด
- การสะท้อนการเรียนรู้ (Learning Reflection) ทั้งส่วนบุคคล และกลุ่ม เพื่อการตระหนักรู้ เรียนรู้ และรู้เท่าทันตนเองและผู้อื่น เกิดปัญญาและปัญญาร่วม
และ ๓ ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ การเรียนรู้ผ่านฐานกาย ฐานหัว และ ฐาน (หัว) ใจ ด้วยกิจกรรมและกระบวนการที่หลากหลาย
กิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามแนว “๔ – ๓ – ๓” หรือ ๔ หลักการ ๓ กระบวนการ ๓ ฐานการเรียนรู้ ที่ผู้เขียนออกแบบไว้เป็นแนวทางกว้างๆ มีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิด/พัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่าปัญญาร่วมในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นแนวทางที่พึงประสงค์ พอเพียง และเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับสังคม/วัฒนธรรมไทย
และเพื่อให้ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีพื้นความเข้าใจที่ตรงกันเป็นเบื้องต้นก่อนเข้ากระบวนการ ควรมีการทำความเข้าใจความหมายของคำ/ชุดภาษาที่ใช้อย่างน้อย ๖ ชุด ได้แก่
- การเรียน – การรู้ – การเรียนรู้
- ผู้สอน/วิทยากร – กระบวนกร – วิทยากรกระบวนการ
- Systematic – Systems – Systemic/General Systems
- การบรรยาย - การอภิปราย (กลุ่มย่อย-กลุ่มใหญ่) – สุนทรียสนทนา
- มิติภายนอก - มิติภายใน - มิติภายในที่สัมพันธ์กับมิติภายนอก
- การเปลี่ยนแปลง (Change) – การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Fundamental Transformation) หรือการเปลี่ยนฐานคิด//จิตสำนึก (Consciousness Transformation)
โดยที่จิตตปัญญาศึกษาเน้นและให้ความสำคัญกับคำสุดท้ายของแต่ละชุดภาษา
หากครู อาจารย์ และผู้บริหารการศึกษา นำแนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษา (๔ – ๓ – ๓) ไปใช้เป็นแกนการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารสถานศึกษา ก็น่าจะมีโอกาสได้รับความสำเร็จในการสร้างและพัฒนาผู้เรียน (ลูกศิษย์) ให้เป็นผู้เรียนรู้อย่างยั่งยืน (การเรียนรู้ตลอดชีวิต) ได้
หากผู้บริหารนำแนวคิดและแนวปฏิบัติจิตตปัญญาศึกษา (๔ – ๓ – ๓) ไปใช้เป็นแกนการพัฒนาและขับเคลื่อนคน งาน และกระบวนการบริหาร โอกาสที่จะได้รับความสำเร็จทั้งการได้ผลงานที่ดีมีคุณภาพ และความสุขความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็น่าจะเพิ่มขึ้น สังคมโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น สังคมคุณภาพ สังคมคุณธรรมก็จะเป็นความฝันที่เป็นจริงได้ในอนาคต
อนาคต ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว และรอให้เราเดินเข้าไปหา แต่อนาคตเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นได้ ตั้งแต่ปัจจุบัน นี่จึงเป็นความท้าทายที่แท้จริง ที่ผู้บริหารต้องดำเนินการอย่างมีสติ ใช้ปัญญาและปัญญาร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันสร้างอนาคตที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นร่วมกัน