การฟังอย่างลึกซึ้ง



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2555

ผมไปทำจัดการเรียนรู้ให้กับงานของคอตโต้ บริษัทในเครือ SCG หลังจบกิจกรรม ฟาระ (ฟาซิลิเตเตอร์ หรือกระบวนกรชื่อ “ระ”) ก็ตั้งคำถามว่า "การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นอย่างไร” ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ขอตอบแบบเป็นบทความหนึ่งเลยดีกว่า

ครั้งหนึ่งมีสาวคนหนึ่งมาบอกผมว่า ผมช่วยชีวิตเธอไว้ เธอรู้สึกว่า การฟังของผมมันเหมือนสระน้ำที่ไม่มีก้น เหมือนหุบเขาที่ลึกลงไปอย่างไม่อาจหยั่งความลึกได้ คือมันรับความเป็นไปของตัวเธอได้ทั้งหมด อย่างไม่มีเงื่อนไข ในความนิ่งสงบของการรับฟังนั้น เธอค่อยๆ นำตัวเองขึ้นมาจากหุบเหว และในที่สุดเธอก็เข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

จากสาวคนนี้ ผมได้คำว่า “หุบเขา” เมื่อก่อนผมเคยใช้คำว่า “ภาชนะ” คือเป็นภาชนะบรรจุความเป็นตัวตนของอีกคนหนึ่งเข้าไป เข้าไปอยู่ในนั้นได้ทั้งหมด ทั้งหมดของความเป็นตัวเขา

แล้วเราจะบรรจุคนคนหนึ่ง ทั้งหมดของเขาเข้าไปในตัวตนของเราได้อย่างไร?

ในกระบวนการเรียนรู้ที่จะฟังอย่างลึกซึ้งนั้น เราจะต้องเริ่มที่ “รู้จักตัวเอง” ก่อน แล้วรู้จักตัวเองอย่างไรล่ะที่จะเป็นภาชนะบรรจุคนอื่นทั้งตัวลงไปในเราได้?

ชีวิตได้สร้างโลกภายในขึ้นมาล้อกับโลกภายนอก จึงจะทำให้ชีวิตอ่านโลกภายนอกได้ เราจะเข้าใจโลกภายนอกได้ เราต้องสร้างแบบจำลองโลกภายในขึ้นมาล้อกัน

ในกิจกรรมที่พวกผมจัด เราจะเรียนเรื่องบุคลิกภาพของผู้คนอย่างง่ายๆ โดยแบ่งเป็นสี่ทิศสี่แบบ1 หากบุคลิกภาพในตัวเราไม่มีทิศของคนอื่น เช่นเราเป็นทิศเหนือกระทิง แต่ไม่มีหนูทิศใต้ เราก็จะไม่เข้าใจหนู เป็นต้น

เราก็ต้องเติมความเป็นหนูเข้ามา แต่ส่วนใหญ่เวลาเราเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็ยากที่จะเป็นอะไรที่ไม่ใช่เรา แต่ความลับมีอยู่ว่า ที่จริงเรามีเมล็ดพันธุ์ของทุกอย่างอยู่แล้ว เพียงเรารดน้ำพรวนดิน เมล็ดพันธุ์นั้นก็จะงอกงาม หากเรารดน้ำความเป็นหนูของเรา เราก็จะเพิ่มเติมความเป็นหนูเข้ามาได้ และหากเรามีความเป็นหนู หรือบ่มเพาะความเป็นหนูให้ชัดเจนขึ้นมา เราก็จะเริ่มเข้าใจคนอื่นที่เป็นหนู

อันนี้เป็นเพียงการเทียบเคียงกับบุคลิกภาพสี่ทิศสี่แบบ ซึ่งรายละเอียดเรื่องสี่ทิศสามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ไม่ยากนัก

เมื่อเรามีแบบจำลองภายในอย่างหนึ่ง เราก็จะเข้าใจโลกภายนอกอย่างหนึ่ง เหมือนมีซอฟต์แวร์ตัวหนึ่ง เราก็จะมองโลกกว้างและลึกได้เท่ากับซอฟต์แวร์ตัวนั้น หากเพิ่มซอฟต์แวร์เข้ามา เราก็รับรู้โลกได้มากขึ้น ลึกขึ้น กว้างขึ้น หลากหลายขึ้นไปอีก

"ที่ยากที่สุด เราจะมีสิ่งที่เราไม่เคยมีได้อย่างไร"

เช่นเราเป็นกระทิงที่ดุดัน แล้วเราอยากจะเติมความอ่อนโยนของหนูเข้ามา เราจะทำอย่างไร?

วิธีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นวิธีการของเกอเธ่ ปราชญ์ชาวเยอรมัน คือ "สังเกต สังเกต สังเกต" ใช้คำๆ เดิมสามครั้งติดต่อกัน คือให้สังเกตอย่างเดียวเลย ฟัง มองอย่างตั้งใจต่อเนื่อง ซึมซับ "จนกระทั่งก่อเกิดอวัยวะแห่งการรับรู้เรื่องนั้นๆ ขึ้นมา" ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา สังเกต สังเกต สังเกต จนกระทั่ง ภายใน จะเรียกว่าสมองก็ได้ คือวงจรสมอง (อันนี้แบบสมัยใหม่) เริ่มก่อตัววงจรใหม่ขึ้นมา จนกระทั่งกลายเป็นอวัยวะ คือเป็นวงจรที่สมบูรณ์ขึ้นมาเพื่อจะรับรู้ได้ ต้องใช้เวลา คนมาเข้าร่วมกิจกรรมสี่วันที่ผมจัดขึ้น วันแรกจะงง วันที่สองจะเริ่มเห็นเบาะแส วันที่สามเริ่มสนุก ท้าทาย ปิ๊งแว้บ วันที่สี่ไม่อยากกลับบ้าน เป็นต้น

หรือใช้วิธีสร้างจินตนาการซ้ำๆ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า mental rehearsal แปลตรงๆ ว่า "ซักซ้อมในจินตนาการ" บางสำนักให้ก๊อปปี้เลย อย่างตอนผมยังเด็กๆ ความเป็นกระทิงยังไม่ชัด พอได้เห็นแบบในครูของผม คือ ส. ศิวรักษ์ ผมซึมซับมาแบบฟองน้ำเลย กลายเป็นกระทิงได้เลย เหมือนองค์ลงอย่างไรอย่างนั้น แล้วเมื่อทำซ้ำบ่อยๆ ความเป็นกระทิงมันก็ฝังลึกลงไปในความเป็นตัวตนของเรา

คำถามต่อมา "จะแก้ไขการฟังอย่างไร ให้มีพลัง ให้การฟังเป็นพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงของเรา?"

ไม่มีค่ายเรียนรู้ครั้งไหนเลยที่ผมจะไม่พูดถึงคำว่า "อัตโนมัติ" ระบบอัตโนมัติได้ถูกจัดตั้งไว้ในการทำงานของสมอง ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น แต่ทุกครั้งที่ได้อะไรมา ก็จะมีอะไรที่อาจเสียไปด้วย "อัตโนมัติ" ที่ว่านี้ ในคนส่วนมากก็จะเป็น "อัตโนมัติที่หลับใหล" เรามักจะไม่รู้ว่าชีวิตเราดำเนินไปด้วยอัตโนมัติที่หลับใหล

ผมอยากจะพูดถึงอีกสองอย่างที่จะมาเกี่ยวข้องกับความเป็นอัตโนมัติ นั่นคือ "ความคิด" กับ "อารมณ์ความรู้สึก" หรือ emotion ซึ่งมาจากคำสองคำ คือ energy กับ motion แปลว่า พลังงานที่ไหลไปมา หรือพลังงานที่เคลื่อนไหว

ความคิดเป็นวิวัฒนาการล่าสุดของสิ่งมีชีวิต ที่มาบรรลุจุดสูงสุดในมนุษย์ ความคิดก็คือ "แผนที่" ผมนึกถึงหนังสือ The Guide for The Perplexed ที่ผมแปล แล้วอาจารย์สุลักษณ์ช่วยตั้งชื่อให้ว่า แผนที่คนทุกข์ คือสิ่งที่ชีวิตสร้างขึ้นมาล้อกับโลกภายนอก คือสร้างโลกภายในขึ้นมา ประกอบด้วยโครงสร้าง แบบแผน และกระบวนการ (อันนี้เอามาจาก The Web of Life ของ ฟริตจ๊อฟ คราปา) สมองสร้างโลกภายในให้เนียนขึ้นอีก และสร้างแผนที่ของโลกภายนอกด้วยโลกภายในที่เรียกว่า "ความคิด" แต่ความคิดเป็นแผนที่ ส่วนอารมณ์ความรู้สึกเป็นพลังขับเคลื่อน

ความคิดที่ก่อประกอบเป็นโลกภายใน ที่ล้อกับโลกภายนอก เพื่อจะรับรู้ เรียนรู้และเข้าใจโลกภายนอก เพื่อที่จะกระทำต่อโลกภายนอกได้อย่างเหมาะสมนั้น ไม่ได้มีอิสระไปเสียเลยทีเดียว แต่ยังผูกพันอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก ผูกพันทั้งที่รับรู้ได้ และผูกพันแบบเราไม่ได้รับรู้ หลายคนคิดว่าตัวเองมีแต่ความคิด ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก จริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?

งานวิจัยทางสมองระบุว่า ความคิดกับอารมณ์ความรู้สึกไม่สามารถแยกออกจากกันได้ พอไปผนวกกับความเป็นอัตโนมัติด้วยแล้ว ทั้งความคิดและอารมณ์ที่ไปด้วยกันนั้น ก็จะเป็นไปอย่างอัตโนมัติและหลับใหลด้วย ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตของเราได้ง่ายๆ เพราะชีวิตของเรามีแผนที่เดิมๆ ด้วยความรู้สึกเดิมๆ อย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับใหล

ทีนี้ ชีวิตมีอยู่สองโหมด โหมดปกติกับโหมดปกป้อง ในโหมดปกป้องนั้น เราถูกผูกติดอยู่กับปมทางจิตวิทยาอันเกิดจากการที่เราถูกทำร้ายทางจิตใจ (บางกรณีก็พร้อมไปกับการทำร้ายทางร่างกายด้วย) ในอดีต อาจจะในวัยเด็ก และแล้วในโหมดปกป้อง เราจะจมอยู่ในหลุมหรือร่องเดิมๆ ที่เราไม่อาจก้าวออกมาได้ ทำให้หลายคนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต ปมจิตวิทยาเหล่านี้ทำงานในจิตไร้สำนึก หรือจิตใต้สำนึก มันฉุดเราไว้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปทางใดได้ แต่ให้เราอยู่ที่เดิม อยู่ในหลุม ในกรอบแคบๆ ของสิ่งที่เราเรียกว่า "อัตลักษณ์" หรือ "ความเป็นตัวของตัวเอง"

โหมดปกติก็ไม่ได้ดีกว่าโหมดปกป้องนัก งานวิจัยล่าสุดมากๆ เหมือนกัน ระบุว่า สมองที่หยุดจากการทำงานไม่ได้รับรู้โลกภายนอก และไม่ได้กระทำการกับโลกภายนอก สมองในเวลาว่างๆ ที่อาจจะเพลินๆ นั้น ปรากฏว่าสมองกำลังเคี้ยวเอื้อง หรือ ruminate กำลังคิดย้อนอดีต และคาดการณ์อนาคตอย่างอัตโนมัติและหลับใหล ดังนั้น ความรู้สึกลบๆ ความคิดลบๆ แบบอัตโนมัติก็จะค่อยๆ เข้ามาครอบครอง แล้วเราก็อาจจะตกลงไปในโหมดปกป้องได้อีก มันเป็นการทำงานของสมองที่ขาดความตั้งใจ ความใส่ใจและความตื่น พระพุทธองค์จึงทรงพูดถึง "การปรารภความเพียร" บ่อยครั้งมาก

ทีนี้ หากสมองทำงานด้วยความตื่น ด้วยความใส่ใจ การจะเป็นไปอย่างตรงกันข้าม มันเป็นการกระตุ้น หรือปลุกเร้าสมองส่วนหน้าให้ทำงาน สมองส่วนหน้าเป็นวิวัฒนาการล่าสุดและสูงสุด มันคือตาที่สาม อยู่ในตำแหน่งตาที่สามพอดีๆ มันทำให้เราตื่นตัว เท่าทันความคิดความรู้สึกได้ ถอยตัวออกมาได้ ไม่ติดกับดักหลุมพรางของอัตตาตัวตนอีกต่อไป หากสามารถเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายได้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงการฟังของเราได้ ให้ไปพ้นจากกรอบแคบของอัตตา อัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวของตัวเอง เราสามารถรื้อสร้าง รื้อโลกภายในของเราออกและสร้างใหม่ ซึ่งได้แก่ความคิดและความรู้สึก เมื่อเกิดความคิดใหม่ๆ ความรู้สึกๆ ใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้!!!



1 ศาสตร์ว่าด้วยการเข้าใจตัวเองและผู้อื่นของอินเดียนแดง แบ่งบุคลิกภาพของผู้คนเป็นสี่ทิศ โดยใช้สัตว์สี่ชนิดเป็นสัญลักษณ์ ได้แก่ ทิศเหนือ กระทิง มีบุคลิกกล้าได้กล้าเสีย ทำอะไรรวดเร็ว ชัดเจน ปัญหาอยู่นอกตัว โทษคนอื่น รักพวกพ้อง รักความยุติธรรม ฯลฯ ทิศใต้ หนู ไวต่อความรู้สึกของคนรอบข้าง ยืดหยุ่น ให้คุณค่ากับคนอื่นมากกว่าตัวเอง ไม่ชอบกระทบกระทั่ง ฯลฯ ทิศตะวันตก หมี รอบคอบ เป็นระเบียบ ยึดหลักเกณฑ์ ไม่ชอบเข้าสังคม ฯลฯ ทิศตะวันออก เหยี่ยว คิดนอกรอบ สร้างสรรค์ ชอบความแปลกใหม่ เปลี่ยนแปลงเร็ว ขี้เบื่อ ฯลฯ

Back to Top