โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2555
เปรมนักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตถามผมว่า “ผมต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าชาติหน้ามีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง ชาติที่แล้วมีจริง” ผมถามเขาว่าเขาต้องการไปเพื่ออะไร เขาว่า “มันมีผลต่อการใช้ชีวิตของผม ทุกวันนี้ผมไล่คนออกเยอะมาก จ่ายเงินใต้โต๊ะ ฮั้วประมูล แล้วผมก็ใช้ชีวิตไปวันๆ หาความสำราญใส่ตัว กินอาหารอร่อย ตีกอล์ฟ ฟังเพลง เพราะผมเชื่อว่าคนเรามีชีวิตแสนสั้น อยู่ได้ไม่นานก็ตาย ควรหาความสุขใส่ตัวให้มากที่สุด… ถ้าผมรู้แน่ว่ามีโลกหน้า ผมก็คงไม่ทำตัวอย่างที่ผมทำอยู่”
ผมบอกว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ผมหาให้เขาไม่ได้หรอก และต่อให้นักวิทยาศาสตร์ที่อัจฉริยะที่สุดในโลกก็ไม่อาจจะหาหลักฐานมาให้เขาได้ แต่ผมสามารถชี้ให้เห็นเป็นนัยๆ ได้ว่ามันเป็นไปได้ ถ้าเขาจะตอบคำถามผมสักสองสามคำถาม เขาตกลง ผมจึงถามเขาว่า
“เมื่อวานนี้มีไหม” เขาตอบว่ามี ผมจึงถามต่อไปว่า “ถ้ามีจริงก็เอามาให้ดูหน่อยสิ”
“เอามาให้ดูไม่ได้เพราะมันผ่านไปแล้ว แต่ยังจำได้อยู่”
“แล้วตอนอายุสามขวบ คุณจำเรื่องราวได้ไหม” ผมถามต่อ เขาตอบว่าจำไม่ได้ “แล้วถ้าหากว่ามีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งจำได้ว่าคุณเคยไปเล่นที่บ้านเขา ทำแจกันของเขาหล่นแตก แต่พอเขาเล่าให้คุณฟัง คุณเกิดจำไม่ได้ ส่วนญาติก็ไม่ได้เก็บหลักฐานอะไรว่าเคยมีแจกันใบนั้นอยู่เลย คุณจะเชื่อไหมว่าคุณเป็นคนทำแจกันแตกเมื่อตอนอายุสามขวบ!”
เขานิ่งไปเล็กน้อย ใบหน้าครุ่นคิด ผมจึงบอกเขาเบาๆ ว่า
“ถ้าคุณจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงตอนสามขวบไม่ได้ แล้วทำไมถึงคิดว่าจะจำเรื่องของชาติที่แล้วได้”
สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจเรื่องการวิวัฒน์จิต ไม่ช้าก็เร็วคุณก็จะต้องถูกซักด้วยคำถามในลักษณะนี้ เพราะการพูดถึงเรื่อง “จิต” ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่อาจตรวจวัดด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนที่ติดอยู่ในกระบวนทัศน์ (Paradigm) หรือวิธีการมองโลกแบบวิทยาศาสตร์เก่าไม่สามารถจะยอมรับได้ ที่ไม่อาจยอมรับก็เพราะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นไปขัดแย้งกับกระบวนการเสาะหาความรู้ความจริงของเขา
โธมัส คุห์น (Thomas Kuhn) กล่าวใน The Structure of Scientific Revolutions ว่า “กระบวนทัศน์” ไม่ใช่เป็นเพียงทฤษฎีที่เขียนเอาไว้ในหนังสือ แต่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า คือ “วิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่า ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการมองโลกความเป็นจริงแบบหนึ่ง” กระบวนทัศน์มีความสำคัญมาก เพราะฐานการมองโลกย่อมมีผลต่อพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย ยกตัวอย่างเรื่องของเปรม ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่เกิดความเฉลียวใจและเกิดความสงสัยในกระบวนทัศน์ที่ตนเองดำรงอยู่ เหมือนปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำย่อมไม่รู้จักว่ามีโลกที่อยู่บนบก หรือผู้ที่อยู่ในเมทริกซ์ (The Matrix) ย่อมไม่สงสัยว่าตัวเองดำรงอยู่ในโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์
การศึกษาเรื่องของ “จิต” จึงต้องเรียนรู้ด้วยวิธีการอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่อาจจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการคิดวิเคราะห์ ด้วยตรรกะ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดและมีความวิจิตรพิสดาร เครื่องมือที่เหมาะสมที่จะใช้เข้าถึงก็ต้องเป็นสิ่งที่มีความละเอียดพิสดารพอกัน ก็คือต้องอาศัย “จิต” เพื่อเข้าใจ “จิต” จิตเป็นต้นทุนที่ทุกคนมีอยู่แล้วเพียงแต่ไม่เท่ากัน เฉกเช่นเดียวกับร่างกายของคนเราที่มีความสามารถไม่เท่ากัน คุณภาพของจิตใจของแต่ละคนก็ย่อมมีไม่เท่ากัน ความยากอยู่ที่วิชาจิตวิวัฒน์ไม่ได้มีสอนกันในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ แต่เป็นเรื่องของวิชาชีวิตที่จะต้องประจักษ์ต่อตนเอง จึงจะเกิดความรู้ความเข้าใจที่จะทำให้ก้าวข้าม “กระบวนทัศน์” เก่าของตัวเอง ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับคุณวุฒิทางการศึกษา หรือจำนวนปริญญาที่มี
ในสถาบันการศึกษาบางแห่งเริ่มเปิดการเรียนในหลักสูตรทางด้าน “จิตตปัญญาศึกษา” กันบ้างแล้ว โดยสอดแทรกเข้าไปอยู่ในวิชาปกติบ้าง หรือมีอยู่ในลักษณะเต็มรูปแบบบ้าง แต่ถ้าหากผู้บริหารไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะเอาเกณฑ์ทางวิชาการกระแสหลักเข้าจับ ตั้งแต่การคัดเลือกอาจารย์ วิธีการจัดการเรียนการสอน หรือวิธีการประเมิน ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดฝาผิดตัวตั้งแต่ทีแรก
ในมหาวิทยาลัยของรัฐในระดับภูมิภาคบางแห่ง อย่างที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผมได้เห็นพลังของอาจารย์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่มาจากสหสาขาวิชา ซึ่งมีความสนใจจะนำจิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาทั่วไป โดยใช้ชื่อเรียกวิชาว่า “มนุษย์กับการเรียนรู้” และถึงแม้เป็นเพียงการเริ่มต้นก้าวเล็กๆ แต่ก็น่ายกย่อง เพราะเป็นความพยายามที่จะใส่มิติทางจิตวิญญาณเข้าสู่สถาบันการศึกษากระแสหลัก ซึ่งนับวันจะถูกครอบงำด้วยกระแสทุนนิยมจนความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนให้เหลือน้อยลงทุกที
การนำวิชาที่ว่าด้วยการเรียนรู้เรื่อง “จิต” เข้าสู่มหาวิทยาลัย ไม่สามารถจะทำโดยใช้ช่องทางปกติ หมายถึงว่าเราไม่สามารถที่นำความรู้เรื่องนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัยโดยการก๊อบปี้หลักสูตรจากส่วนกลางแล้วนำมาใช้กับภูมิภาคอย่างเป็นแท่ง เพราะการศึกษาเรื่อง “จิต” ต้องคำนึงถึงภูมิธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยเฉพาะแผ่นดินอิสานซึ่งมีรากเหง้าของพุทธธรรมหยั่งลงอย่างมั่นคงโดยทั่วไปในจิตวิญญาณของคนท้องถิ่น หากความรู้ที่เรานำมาไม่สอดบรรสานเป็นเนื้อเดียวกับรากที่มีอยู่ ก็จะเกิดการต่อต้านไม่ยอมรับ จึงควรต้องคำนึงว่าวิชาความรู้ทาง “จิต” ที่เราอิมพอร์ตมาจากต่างประเทศจะไปขัดแย้งกับวิถีชีวิตของเดิมของท้องถิ่นหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นเราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำลายรากวัฒนธรรมซึ่งเชื่อมโยงแนบแน่นอยู่กับจิตวิญญาณของท้องถิ่นโดยไม่รู้ตัว กระบวนการบ่อนเซาะฐานความเข้าใจเรื่องจิตซึ่งกระทำต่อชุมชนท้องถิ่นและนำองค์ความรู้ใหม่แปลกปลอมเข้าไปแทนที่นี้ผมเรียกมันว่า “จักรวรรดินิยมทางจิตวิญญาณ” (Spiritual Colonization)
การแก้ไขมิให้เกิดจักรวรรดินิยมทางจิตวิญญาณ ผู้บริหารระดับสูงจะต้องทำความเข้าใจกับกระบวนการจิตตปัญญา เพราะผู้ที่ทำงานด้านนี้ล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย และมีวิธีการจัดกระบวนการที่แตกต่างกัน จึงต้องเลือกสรรให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น และให้เหมาะกับรากเหง้าทางจิตวิญญาณของบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้กล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งเรื่องการข้ามผ่านทางกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ของสังคมไทย ผมมองเห็นพลังของคนกลุ่มเล็กๆ ผู้เริ่มมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของจิตวิวัฒน์ กำลังถักทอสอดประสานกันเพื่อนำพาสถาบันการศึกษากระแสหลักทั่วประเทศเข้าสู่กระแสการวิวัฒน์ทางจิต ส่วนตัวผมไม่ได้ตั้งความหวังใหญ่ขนาดนั้น เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องตั้งต้นที่ความงามของตัวผู้เดินทางเป็นปฐม เพราะเรื่องการวิวัฒน์จิตเป็นภารกิจเฉพาะตัว เมื่อเราเข้าใจและปฏิบัติได้ผลกับตัวเองแล้ว จึงเป็นปัจจัยให้กับผู้อื่นและสังคมไทยของเราได้ต่อไป
แสดงความคิดเห็น