ธันวาคม 2014

หนุ่มสาวสร้างโลก (๒)
ทำงานกับคนจน สร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2557

อาณีช ธิลเลนเคอรีย์ (Aneesh Thillenkery) ชายหนุ่มหนวดเคราครึ้มดำ ผมดำ ตาดำ แววตาจริงจังมีประกายครุ่นคิดอยู่เสมอ เป็นโฆษกของขบวนการเคลื่อนไหวเอ็กตา ปาริฉัด (Ekta Parishad) ซึ่ง - ประกอบด้วยองค์กรระดับท้องถิ่น ๑๑,๐๐๐ องค์กร มีสมาชิกหลายแสนคน กระจายตัวอยู่ใน ๑๑ รัฐของอินเดีย และมีเป้าหมายในการผลักดันประเด็นสิทธิที่ดินของคนยากไร้ในอินเดีย - เขาเป็นผู้ประสานงานระดับชาติของขบวนการฯ และเข้าร่วมในแวดวงการเจรจาว่าด้วยนโยบายการปฏิรูปที่ดินระดับชาติของอินเดีย

อ่านต่อ »

เมื่อผู้นำกล้าเปราะบาง…
หัวใจแห่งการสร้างความไว้วางใจ ท่ามกลางภาวะวิกฤติ



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2557

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้ถูกขอความช่วยเหลือให้เป็นที่ปรึกษาองค์กรแห่งหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาความขัดแย้งและวิกฤติครั้งสำคัญ หลังจากผู้บริหารได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ แต่พนักงานระดับผู้จัดการรวมถึงระดับล่างไม่เข้าใจ เกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจ จนกลายเป็นเรื่องความไว้วางใจระหว่างผู้บริหารและพนักงาน สุดท้ายเกิดการประท้วง ตามมาด้วยการลาออกของพนักงานอีกหลายคน ทุกคนในองค์กรล้วนตกอยู่ในความทุกข์ ท้อและสิ้นหวังกับวิกฤติองค์กรในครั้งนี้ มองไม่เห็นทางออก

อ่านต่อ »

จิตวิวัฒน์หรือจิตตปัญญา คือการกล้านำ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2557

ช่วงที่ผ่านมา ได้ฟังหนังสือ (เดี๋ยวนี้มีทางเลือกในการอ่านหนังสือมาเป็นฟังหนังสือแทน) The Wisdom of Your Cells ของบรูซ ลิปตัน นักชีวะฟิสิกส์ (biophysicist) เขาเล่าเรื่องคลื่นว่า สสารทุกอย่างมีสภาพที่เป็นทั้งมวลสารและคลื่น เวลาคลื่นของคนสองคนมาพบกัน จะมีสภาพทั้งหักล้างหรือเสริมส่งกันก็ได้ หากเสริมส่งกัน เราก็จะสบายใจ มีกำลังใจ มีความสุข มีพลังชีวิตในการทำสิ่งต่างๆ แต่หากหักล้างกัน เราก็จะเหี่ยวแห้ง ไร้พลัง

ไม่กี่วันมานี้ ผมได้ไปพูดคุยกับองค์กรแห่งหนึ่งที่ต้องการจะให้เข้าไปทำเรื่องเสริมสร้างพลังให้ทีม แต่บางคนในองค์กรกลับต้องการอีกอย่างหนึ่ง เขาคิดว่าองค์กรของพวกเขายังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินไปอย่างไร มีแผนอนาคตอย่างไร และอยากจะทำความเข้าใจเป้าหมายองค์กรและแผนงานต่างๆ ให้ชัดเจนมากกว่า บางคนไม่สนใจการอบรมแบบจิตตปัญญา ออกจะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ บางคนในที่นี้คือคนที่เรียกกันว่ามีการศึกษาสูง จะบอกว่าการศึกษาสูงเป็นอุปสรรคกับการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาได้ไหม แน่นอน การศึกษาที่เป็นอยู่ยังอยู่ในโครงข่ายของกระบวนทัศน์เก่า (ใครสนใจรายละเอียดที่ลึกซึ้งขึ้นขอให้อ่านหนังสือเรื่อง Leadership and The New Science ของมาการ์เร็ต วีตเลย์) และจากประสบการณ์ทำค่ายอบรมจิตตปัญญามานาน เราจะพบว่าคนอยู่ในตำแหน่งสูงและมีการศึกษาสูงจะเรียนรู้เข้าใจได้ยากและช้ากว่าคนที่มีตำแหน่งล่างๆ และการศึกษาน้อย การปรึกษาหารือกันในครั้งนี้ สังเกตว่าคลื่นพลังชีวิตของตัวเองเหี่ยวแห้งอย่างไรพิกลอยู่

พอกลับมาถึงบ้าน ได้มีโอกาสมองลึกลงไปในอีกมิติหนึ่ง ผมชอบคำว่า มิติ หรือ dimensions หมายถึงการมองเรื่องเดียวกันได้หลายแง่ หลายมุมมอง มุมมองมีความหมายคล้ายกับคำว่ามิติ เหมือนจะใช้แทนกันได้ แต่สุ้มเสียงยังต่างกันอยู่บ้าง ผมคิดว่า คำว่ามิติจะลึกกว่าคำว่ามุมมอง

อีกมิติหนึ่งที่ปรากฏในใจในภายหลังคือ (ซึ่งจริงๆ ก็ปรากฏออกมาในการพูดคุยอยู่แล้วระดับหนึ่ง) มิติที่เกี่ยวพันกับซีอีโอขององค์กรที่ผมเข้าไปพูดคุยด้วย เรื่องนี้อธิบายยากสักหน่อย จะว่าไปผู้บริหารอันดับหนึ่งขององค์กรท่านนี้ดูเหมือนจะแสดงจุดยืนชัดเจน อย่างน้อยในระดับภาษา ว่าเขามีวิสัยทัศน์อย่างไร และต้องการให้องค์กรเติบโตไปในทางใด แต่ในระดับ episodic (ความรู้เชิงประสบการณ์) การฉายให้เห็นภาพที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ยังไม่ชัดในระดับพอที่จะเป็นภาพยนตร์แห่งอนาคตในใจคนได้

อีกฟากหนึ่ง ทีมงานส่วนใหญ่ซึ่งยังคงไม่เข้าใจกระบวนทัศน์ที่ผู้นำองค์กรต้องการจะพาไป และพวกเขาเองยังดำรงชีวิตอยู่ในโลกของกระบวนทัศน์เก่า อุโมงค์ประสบการณ์ของพวกเขายังเป็นเรื่องราวเก่าๆ ของโลกใบเก่า อันผุกร่อน ตีบตัน และไม่มีทางออก ไม่มีทางไป

ผมเล่าให้ซีอีโอท่านนี้ฟัง เรื่ององค์กรอีกแห่งหนึ่งที่มีพนักงานกว่าสองหมื่นคน ผู้นำอันดับสองขององค์กรยอมรับแนวทางการฝึกอบรมแบบจิตตปัญญาอย่างเต็มที่ ท่านวางยุทธศาสตร์ให้พนักงานสมัครมาเรียน ไม่บังคับหรือยัดเยียด ใครสนใจและพร้อมก็มา ท่านบอกว่า สำหรับคนไม่สมัคร พอมาทราบทีหลังว่าการอบรมดีอย่างไร ก็ปล่อยให้รู้สึก "เสียดายเสียให้เข็ด" เวลานี้ โปรแกรมอบรมสี่วันต่อหนึ่งรุ่นดังกล่าว เริ่มมีคนแย่งกันสมัครเข้ามาเรียนแล้ว และเริ่มมีคนระดับผู้จัดการสมัครเข้ามามากกว่าเดิมรอบละหลายคน ตอนนี้ ผู้บริหารท่านนั้นไม่ต้องโฆษณาประชาสัมพันธ์แล้ว เพราะพนักงานเริ่มบอกปากต่อปาก และเริ่มเห็นประโยชน์ของการอบรมแบบนี้

ผมเรียนซีอีโอขององค์กรที่ไปคุยด้วยว่า หากเรียนรู้จากองค์กรมหาชนแห่งนี้ ท่านไม่ต้องไปงอนง้อคนที่ไม่สนใจหรือเห็นประโยชน์ของการอบรมแบบนี้ แต่ให้มาสนใจกลุ่มคนที่อยากจะเรียนมากกว่า และทุ่มเทให้พวกเขาได้เรียนอย่างเข้มข้นเป็นมรรคเป็นผล เริ่มจากสิบคน สิบห้าคน หรือร้อยละห้าร้อยละสิบขององค์กรก็นับว่าวิเศษแล้ว และถ้าพวกเขาได้เรียนอย่างหยั่งรากลึกลงไปในวิถี ก็จะกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความสุข มีพลังที่จะขับเคลื่อนการก่อร่างสร้างองค์กร ให้มีวิถีวัฒนธรรมชัดเจน มีอัตลักษณ์ มีพลัง และมีเสน่ห์ดึงดูดให้คนเข้าร่วมกระบวนการ สร้างสิ่งใหม่ที่วิเศษสุดขึ้นในสังคมไทย

กลับไปที่เสียงแย้งเสียงโต้อีกครั้ง พวกเขาบอกว่า ไม่อยากมาเรียนเรื่องทำนองผู้นำสี่ทิศ เรื่องเล่าวัยเด็ก ซึ่งบางคนเคยทำกับกระบวนกรสำนักหนึ่งใดมาแล้ว และไม่เห็นประโยชน์ของกิจกรรมเหล่านี้ บอกว่าปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นเด็กอมมือ เอากิจกรรมเด็กๆ มาให้เรียน เหมือนดูถูกสติปัญญาพวกเขา

ในใจผมขณะที่พูดคุยกับซีอีโอท่านนี้และกลุ่มคนทำงานโปรแกรมนี้ เห็นภาพว่า คนที่แย้งกำลังเข้าใจผิดในเรื่องใหญ่มากๆ หนึ่ง เขาเห็นว่า งานของผมเหมือนงานโอดี (พัฒนาองค์กร) บางประเภท (ที่ใช้บางประเภท เพราะอยากจะมองว่างานอบรมแบบโอดี หรือ organization development เท่าที่ทำกันอยู่ ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนี้) ซึ่งต้องยอมรับว่า งานอบรมโอดีแบบนั้นมีกิจกรรมแบบเด็กๆ ที่ดูถูกสติปัญญาผู้คนจริงๆ แต่การที่เขาเอาเราไปรวมกับโอดีแบบนั้น แสดงให้เห็นว่า เขาไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างงานจิตตปัญญากับงานโอดีแบบนั้นซึ่งแตกต่างกันราวฟ้ากับดินได้ เขาปราศจากสุขุมรสในทางสติปัญญาขนาดนี้เลยหรือ หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว เขาหรือพวกเขาไม่ต่างกับพวกไม้ล้ม หรือ dead wood ขององค์กรต่างๆ ที่ขังตัวเองอยู่ในความรู้เดิมๆ ในทัศนคติเดิมๆ กรอบการมองโลกเดิมๆ ไม่มีคุณลักษณะที่จะเป็นนักวิชาการที่ดีได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ หากได้คนแบบนี้มาร่วมกระบวนการเป็นส่วนใหญ่ องค์กรที่ทำงานด้านสติปัญญาแห่งนี้คงล้มเหลวเสียก่อนจะทำอะไรได้

หมอประสาน ต่างใจ เคยบอกผมว่า ท่านเคยสอนพวกวิศวกร แต่พวกเขาไม่สามารถเข้าใจอะไรได้สักเท่าไร ฟังแล้วไม่หือไม่อือ ผิดกับพวกสถาปนิก ที่สนใจและซักถามกันมาก หรือว่าทุกวันนี้ สถาบันสายวิทยาศาสตร์ของไทยเราผลิตได้เพียงแต่ระดับนักเทคนิค มากกว่าจะเป็นผู้นำความคิดหรืออาจหาญเป็นปัญญาชนชั้นนำได้ นี้นับว่าน่าเสียดายยิ่งนัก

หลังจากพูดคุยกันมาทั้งหมด สุดท้าย องค์กรแห่งนี้เพียงแต่ให้ผมไปทำโปรแกรมอบรมสองวันเท่านั้น ซึ่งน้อยมาก แม้เพียงแค่จะทำความเข้าใจจิตตปัญญาศึกษาในระดับพื้นฐานไม่ลงลึกมากนัก (เพราะเวลาเท่านี้ยากจะทำให้ลุ่มลึก แตะลงไปถึงโลกภายในอย่างจริงจังได้) และหากผู้นำยังขลาดกลัว ไม่กล้าชนกับคนส่วนน้อยที่เอาแต่ใจตัวเองและแข็งตัวอยู่ในกระบวนทัศน์อันคับแคบ เพียงแค่เปิดทางความคิดยังเป็นไปไม่ได้ แล้วจะให้เปิดใจเข้าไปสัมผัสเรียนรู้โลกภายในของตนได้อย่างไรกัน หากเป็นเช่นนี้ อย่าหวังเลยว่าจะทำอะไรอย่างที่ฝันอย่างใหญ่โตมโหฬารได้

ชุมชนกับคนทำงานภาคสังคม



โดย พรรัตน์ วชิราชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2557

ในฐานะของคนรุ่นกลางๆ ที่เติบโตในเมือง ฉันไม่รู้จักชีวิตที่เป็น “ชุมชน” หากเมื่อได้ทำงานนักเขียน นักข่าว นักพัฒนาสังคม ก็ได้พบเจอชุมชนทางเลือกมากมาย ทั้งชุมชนทางศาสนา เช่น หมู่บ้านพลัม ซึ่งมีวิถีการปฏิบัติธรรมและการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง พันพรรณ ศูนย์การเก็บเมล็ดพันธุ์และการพึ่งพาตนเอง หรือชุมชนชาวบ้านที่จัดการดูแลตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น ดูแลป่า ป้องกันภัยพิบัติ ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้ล้วนเป็นความหวังของทางรอดในสังคมยุคปัจจุบันที่พึ่งพาระบบที่เบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่รู้ตัว เราได้ตัดขาดตัวเองจากตัวเอง ตัดขาดตัวเองจากคนอื่น และตัดขาดตัวเองจากธรรมชาติ

อ่านต่อ »

Back to Top