มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 มีนาคม 2556
ข้าพเจ้านึกถึงใบหน้ากึ่งบึ้งกึ่งยิ้มของผู้คนที่ตำบลหนองแหน ฉะเชิงเทรา ในวันนั้นได้ดี – ภาพของหมูที่คลอดลูกตายครอกแล้วครอกเล่าของเจ้าของฟาร์มหมูนั้นน่าสลดใจมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงก็รู้สึกสับสน เธอเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนยา ทดสอบปัจจัยที่เกี่ยวข้องทีละอย่าง จนกระทั่งตั้งข้อสงสัยต่อน้ำที่ใช้
รถค่อยๆ เคลื่อนตัวไปสู่พื้นที่สูงของแถบนั้น หลุมดินลูกรังขนาดใหญ่จำนวนมากปรากฏแก่ตา ผู้คนแถบนี้มีอาชีพขุดดินไปถมที่ และทำต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน บ่อดินขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นน่าจะใช้เป็นที่กักเก็บน้ำได้ แต่เมื่อลงไปดูน้ำในบ่อ สิ่งที่น่าสนใจเห็นจะเป็นสีของน้ำ น้ำแต่ละบ่อมีสีต่างกัน บางแห่งน้ำเป็นสีเขียวและมีเมือกลอยบนผิวหน้า บางแห่งน้ำเป็นสีเหลืองและมีคราบคล้ายน้ำมัน
สีของน้ำมาจากไหน? – มีบ่อขยะบริเวณนั้นหลายแห่ง รถจากจังหวัดอื่นขนขยะมาทิ้งในบ่อดินเหล่านี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอหลายปี และมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของพื้นที่ อย่างไรก็ดี ไม่มีการเปิดเผยว่าขยะประเภทไหนที่นำมาทิ้งในบ่อดินเหล่านี้ และพบว่าไม่มีการปูพื้นก่อนเทขยะ
ไม่น่าแปลกใจ หากขยะเหล่านี้เป็นกากพิษอุตสาหกรรม ดินและน้ำย่อมปนเปื้อนสารเคมีเหล่านี้ เข้าไปสู่พืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ที่เรากิน เข้าไปในร่างกายของเรา และเป็นเหตุแห่งความเจ็บป่วยได้
ทำไมเกษตรกรที่ประกอบสัมมาชีพอย่างขยันขันแข็งและดำรงชีวิตอย่างสมถะ ต้องประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรลดลง หมูในฟาร์มป่วยแท้งลูกตาย?
เราอาจจะมีสมมุติฐานได้ว่า ก็บ่อขยะนั่นไง ไม่ใช่เชื้อโรคที่ไหนหรอก แล้วขยะนั้นมาจากไหนเล่า?
หากนึกเปรียบเทียบดู ถ้าเพื่อนบ้านกวาดขยะหน้าบ้านตัวเองมาไว้หน้าบ้านเรา หรือเอาขยะมาทิ้งใส่ถังขยะบ้านเรา คงมีความขัดเคืองและเกิดเหตุทะเลาะกันเป็นแน่แท้ มีอย่างที่ไหน ขยะตัวเอง เอามาทิ้งบ้านคนอื่น - ผู้คนที่หนองแหนก็คงคิดและรู้สึกเหมือนกัน
แต่ถ้าจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ล่ะ – เอ... ค่าผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากเดิม ค่าหมูที่ตายไป แล้วขนาดหมูยังตาย อีกหน่อยก็คงถึงตาคนกระมัง แล้วยังค่าความเสียหายของระบบนิเวศอีกล่ะ การล้างพิษออกจากดินและน้ำที่ปนเปื้อนให้เหมือนเดิม ค่าใช้จ่ายควรจะเป็นเท่าไหร่?
อ้อ... ทำไมเราต้องเป็นผู้เสียสละด้วยล่ะ เมืองในฐานะพื้นที่หัวใจทางเศรษฐกิจของประเทศไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือ?
เออ... ก็รู้อยู่ว่าขยะเยอะ และต้องหาทางกำจัดทำลาย – ว่าแต่ว่า ไม่เคยสังเกตบ้างหรือ ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวบนโลกนี้ที่ผลิตขยะ? เราจะไม่หาวิธีคิดในการสร้างหรือผลิตข้าวของที่ขยะน้อยลงเลยหรือ?
อ้าว... ถ้าเราไม่อยากให้ใครมาทิ้งขยะที่บ้านของเรา เราจะมีสิทธิปฏิเสธไหม?
คำถามสุดท้ายนั้น ผู้คนที่คลิตี้ มาบตาพุด เหมืองทองเมืองเลย เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี พื้นที่ท่าเรือ
เชฟรอน ฯลฯ ก็คงคิดและรู้สึกเหมือนกัน
ไม่มีใครปฏิเสธว่าการพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็น อุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในกระบวนการตัดสินที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขาและเธอเหล่านี้ เหตุใดจึงไม่มีพื้นที่ให้เข้าไปร่วมรับรู้รับทราบข้อมูลและตัดสินใจร่วมกันล่ะ?
ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์ที่คนเล็กคนน้อยเหล่านี้ปราศจากเสียงและตัวตนในการแสดงความต้องการของตนเอง และมีอำนาจในการตัดสินใจในประเด็นเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตของตน จะเกิดขึ้นเกือบทั่วทุกแห่งในประเทศ ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นแบบแผนที่เกิดขึ้นซ้ำ-ซ้ำ เหมือนร่องรอยของทางน้ำไหล ซึ่งตามหลักของการคิดกระบวนระบบ (System Thinking) ยืนยันว่ามีโครงสร้างบางอย่างที่กำหนดให้เกิดแบบแผนดังกล่าวนี้ หากสามารถค้นหาและระบุสาเหตุเชิงโครงสร้างได้ ก็จะสามารถสร้างเหตุปัจจัยที่ทำให้แบบแผนของการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป
โครงสร้างสำคัญที่ทำให้เกิดแบบแผนของการที่คนเล็กน้อยปราศจากสิทธิปราศจากเสียง และ/หรือปราศจากอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง - ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่อยากจะทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์แต่เป็นไปไม่ได้ในพื้นที่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม/เหมืองแร่/บ่อขยะ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่อยากจะทำงานวันละแปดชั่วโมงเพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อน และมีเวลาสำหรับการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเอง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ในโรงงานที่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำก็ต่อเมื่อคิดรวมกับค่าล่วงเวลาอีกสี่ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิการทางร่างกายที่อยากจะเรียนหนังสือแต่ห้องเรียนที่อยู่บนตึกชั้นสามของโรงเรียน ทำให้ไม่อาจตะกายขึ้นไปเรียนร่วมกับเพื่อนคนอื่นได้ทุกวัน – ก็คือ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอำนาจการตัดสินใจ ซึ่งเกิดจากฐานคิดที่มองข้ามหรือไม่เห็นความสำคัญของคนเล็กคนน้อยเหล่านี้นั่นเอง
หนทางของการลดความเหลื่อมล้ำ ก็คือการมองเห็นและยอมรับตัวตนของผู้คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม แรงงานในระบบ/นอกระบบ/ข้ามชาติ คนพิการ ผู้หญิงทำงาน คนไร้บ้าน ฯลฯ – เพราะเมื่อมองเห็นก็จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมเพื่อการตัดสินใจอย่างถูกต้องสมเหตุสมผล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการให้แต้มต่อกับคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ ในฐานะที่มีทุนทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าคนกลุ่มอื่น และทำให้ผู้คนที่แทบไม่ปรากฏอัตลักษณ์ตัวตนเหล่านี้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วยคนเล็กคนน้อยในประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร สิ่งแวดล้อม อาหาร แรงงาน คนพิการ เด็กและเยาวชน ฯลฯ แท้จริงก็เป็นการเมืองภาคประชาชนเช่นกัน แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ถูกกีดกันให้อยู่แต่เพียงชายขอบและไม่ถูกนับว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนด้วยซ้ำ ทั้งที่การสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องแนบแน่นกับปากท้อง วิถีชีวิต และความเป็นความตายของผู้คนมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่ต้องถกเถียงโดยแนวคิดทฤษฎีหรือตำราแต่อย่างใด – การเมืองแห่งความเป็นความ
ตายเช่นนี้จะต้องไม่ถูกกีดกันให้อยู่แต่เพียงชายขอบของการเคลื่อนไหวและการต่อรองอีกต่อไป