มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2558
มีอยู่ครั้งหนึ่งผมนิมนต์พระอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน ไปเปิดวงสนทนาจิตตปัญญาที่นครสวรรค์ นักธุรกิจหญิง สาวมั่นแห่งปากน้ำโพคนหนึ่ง บ่นลูกน้องให้พระอาจารย์ฟังว่า รู้สึกเบื่อหน่ายที่ลูกน้องและคนใกล้ชิดไม่ได้ดั่งใจ พระอาจารย์ตอบกลับไปว่า
“ใจของเราเองยังไม่ได้ดั่งใจเลย แล้วจะให้ใจใครมาได้ดั่งใจเรา”
ประโยคนี้ประโยคเดียว ทำให้เธออยู่อบรมต่อเป็นเวลาสามวัน จากเดิมที่แอบกระซิบว่าจะ “มาแวบเดียว”
อะไรคือความปรารถนาลึกๆ ของคนทุกคน? เป็นคำถามที่ผมเฝ้าถามตัวเอง จากการเรียนในสถาบันศึกษา ผมได้รู้จักกับมาสโลว์ที่พยายามแยกแยะความต้องการของมนุษย์ออกเป็นขั้นๆ แต่พอถึงวันนี้ ผมพบว่าโมเดลแบบนั้นไม่เพียงพอที่จะใช้มาอธิบายความซับซ้อนของมนุษย์ได้
จนผมมาเจอคำอธิบายของจิตวิเคราะห์สายลากอง (lacan)1 ที่ผมเห็นว่าเป็นคำอธิบายที่เข้าท่าอยู่ เพราะเขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะสามารถล่วงรู้ได้ว่าตัวเองปรารถนาอะไร ท่านผู้อ่านอาจจะเถียงในใจว่าไม่จริงหรอก ฉันรู้ดีว่าเดี๋ยวเที่ยงนี้ เย็นนี้ฉันอยากจะทานชาบูให้หนำใจ แต่ช้าก่อนครับ ในทางจิตวิเคราะห์เขาไม่เรียกการอยากทานชาบูว่าเป็นความปรารถนา เพราะมันเป็นเพียงความต้องการ และยังพูดต่อไปว่า เราสามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ เช่น อยากทานอาหารอร่อยก็ไปทาน อยากไปเที่ยวก็ไป แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ “ความปรารถนา”
การไม่อาจรู้ความปรารถนา ตรงกับคำของพระอาจารย์ที่บอกว่า “ใจของเราเองก็ยังไม่ได้ดั่งใจ”