แผนที่ชีวิต แผนที่สมอง



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2558

(๑)


เด็กเล็กๆ ยังไม่มีแผนที่ชีวิต เราผู้ใหญ่ต้องจูงมือเขาไป วางแผนที่ง่ายๆ ให้เขาเข้าถึงความดีและความชั่วอย่างง่ายๆ ดังปรากฏในนิทานอีสป คือมีกรอบให้เขาเดิน เด็กยังไม่ได้คิด ยังไม่ต้องให้อิสรภาพทางความคิด การไปให้อิสรภาพหรือไปยอมต่ออาการดึงดันของเขา ปล่อยให้การเอาชนะแบบสมองสัตว์เลื้อยคลานเกิดขึ้นเป็นปกติประจำวัน จะทำให้เขามองเห็นโลกอย่างบิดเบือนไปจากความดี กลายเป็นอสูรร้ายประจำบ้าน และสิ่งที่จะติดตัวเขาไป คือการเรียกร้องต้องการอย่างเอาแต่ใจตัวเอง ไม่รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

อีกด้านหนึ่ง เราควรปล่อยให้เขาสำรวจโลกทางกายภาพอย่างอิสระ ไม่ต้องเอามาตรฐานกรอบเกณฑ์เกินจำเป็นของผู้ใหญ่ไปจับ น่าสงสารเด็กบางคนเกลียดกลัวดินกลัวหญ้ามาจนถึงวันที่เป็นผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้เขาได้ดิ้นรนบ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น ให้รู้จักรอบ้าง ให้รู้จักทำสิ่งที่ยากลำบากบ้าง ให้เขาทุกข์บ้าง โดยมีเราอยู่เป็นเพื่อนคอยปลอบประโลมใจ จะทำให้เขาสามารถรับความยากลำบากและความทุกข์ได้ด้วยความมั่นคงภายในและด้วยทัศนคติที่เป็นบวก ซึ่งเรื่องนี้ ลูกคนรวยจะเสียเปรียบลูกคนธรรมดาที่จะมีโอกาสช่วยพ่อแม่บ้างตามความจำเป็น


(๒)


เมื่อเด็กโตขึ้นมาอีกหน่อย เป็นช่วงประถม คลื่นสมองอัลฟา (คลื่นสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ทำงาน เด็กจะอยู่ในแดนฝัน อารมณ์ความรู้สึกเริ่มใช้ได้แล้ว ช่วงก่อนหน้าจะเป็นช่วงวัยเด็กเล็กแรกเกิดจนถึงอนุบาล มีคลื่นสมองแบบเทต้า ภาพแผนที่ชีวิตของพวกเขายังเป็นขาวดำ เป็นชีวิตที่เรียบง่าย เพียงเพื่ออยู่รอดและเรียนรู้การใช้ร่างกายที่จะดำรงอยู่ในโลกอย่างปลอดภัย ไม่ได้มีเรื่องราวอะไรมากนัก แต่พอขึ้นช่วงประถม แผนที่ชีวิตของพวกเขาจะมีรายละเอียดมากขึ้น เป็นภาพสีหลากหลายโทน ยิ่งการรับรู้มีโทนสีหลากหลายเท่าไร ปัญญายิ่งก่อเกิดงอกงามเท่านั้น อันเป็นบทบาทของสมองชั้นกลางและสมองซีกขวา ได้แก่เรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึก ความงาม และมิตรภาพ

เด็กเล็กควรได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยความดีของพ่อแม่ เมื่อเด็กอยู่รอดปลอดภัย ไม่ถูกทำร้าย เขาจะเติบโตอย่างเป็นปกติ ต่อมาในช่วงที่สอง เด็กยังควรได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างต่อเนื่อง อันเป็นความรักที่สัมผัสได้ บางทีพ่อแม่บางท่านพยายามจะให้เหตุผลกับลูกมากมาย คือเลี้ยงลูกด้วยเหตุและผล ทั้งที่กระบวนการคิดของเขายังเป็นเพียงหน่ออ่อน และต้องอาศัยอารมณ์ความรู้สึกเป็นฐานให้ความคิดค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมา คือยังไม่ได้คิดแบบผู้ใหญ่ แต่คิดแบบเด็กๆ ที่อิงอาศัยอารมณ์ความรู้สึก

โลกทุกวันนี้ แยกความคิดกับอารมณ์ออกจากกัน แท้ที่จริงในการทำงานของสมอง อารมณ์กับความคิดจะอิงกันอยู่ ยากที่จะแยกออกจากกันได้ หากเราไม่เข้าใจ และนำเหตุผลแห้งๆ ไปใช้กับเด็ก พวกเขาจะเติบโตขึ้นมาอย่างไม่สมบูรณ์

ลูกศิษย์ของผมคนหนึ่งระลึกได้ว่า ตอนอยู่ชั้นอนุบาล เขาได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างอบอุ่น และมีความสุขมาก แต่พอขึ้นชั้นประถม พ่อแม่เริ่มใช้เหตุผล และไม่ได้สัมผัสเขาอย่างที่เขาเคยได้รับมา ทั้งยังทำโทษด้วยการไม่พูดคุยด้วย ซึ่งเลวร้ายมากสำหรับเด็กๆ ทำให้เขาห่างเหินจากพ่อแม่ จนในที่สุดห่างเหินจากคำว่ารัก แม้จะเรียนเก่ง แต่ปัญญาทางด้านอารมณ์ของเขายังไม่มีโอกาสพัฒนา ต่อมาด้วยจังหวะชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีส่วนนำพาเขาเข้าสู่การเสพยาจนติดยาอยู่สามปี ดีว่าพ่อแม่ส่งเขามาอยู่กับผม และเขาได้รับการเยียวยาด้วยสัมผัสที่อบอุ่น และได้มาเรียนรู้เข้าใจจนกลับคืนสู่ความเป็นปกติ สู่ความสมดุลที่เป็นคนเต็มคนได้ แต่เด็กหลายๆ คนอาจจะไม่ได้รับการเยียวยาเช่นว่านี้

คนเราทั้งหมด ต้องการรักที่สัมผัสได้ด้วยกันทั้งนั้น ผมทำงานฝึกอบรมให้ผู้ใหญ่มากมายหลากหลายวัยและตำแหน่งหน้าที่ในทางสังคม พบว่าผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับความรักเพียงพอในวัยเด็ก ชีวิตของพวกเขาจะขาดพร่อง หากไม่ได้รับโอกาสเยียวยา จะกลายเป็นปมและบาดแผลที่ยังคงอยู่ พวกเขายังคงอุ้มเด็กน้อยที่ถูกทำร้ายติดตัวไปตลอด หากยังไม่ได้รับการใส่ใจดูแล บาดแผลเหล่านี้ก็จะแสดงออกในทางทำร้ายซึ่งกันและกัน เป็นเหตุแห่งความรุนแรงต่างๆ ในชีวิตวัยผู้ใหญ่


(๓)


เด็กในช่วงวัยที่สาม คือช่วงอายุ ๑๔-๒๑ ปี เป็นช่วงของการพัฒนาทางความคิด เมื่อสมองชั้นนอก โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าเริ่มงอกงามขึ้นและค่อยๆ บรรลุถึงความสมบูรณ์พร้อม (ซึ่งกว่าจะเต็มพิกัดจริงๆ เมื่อประมาณอายุยี่สิบห้าแล้ว แต่สมองชั้นนอกเริ่มมีบทบาทเด่นชัดขึ้นในช่วงวัยนี้ โดยปัญญาญาณเริ่มต้นเป็นหน่ออ่อนและค่อยๆ งอกงามขึ้นมา)

จากการเฝ้าดูลูกชายตัวเอง เขาบอกผมเมื่อช่วงอายุประมาณ ๑๒ ปีว่า เขารู้สึกว่าสิ่งต่างๆ มีความแจ่มชัดยิ่งขึ้น โดยอาจกล่าวได้ว่า ชีวิตก่อนหน้านี้คงยังฝันๆ อยู่ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นแบบฝันๆ ผมอ่านหนังสือเล่มล่าสุดของ ดร.โจ ดิสเปนซ่า (Dr. Joe Dispenza) เรื่อง Breaking the Habit of Being Yourself: How to Lose Your Mind and Create a New One แปลเป็นไทยประมาณว่า “หักล้างนิสัยที่ทำให้เราเป็นเรา ทิ้งจิตเก่าสร้างจิตใหม่” เขาบอกว่าเด็กช่วง ๖-๑๒ ปี น่าจะยังอยู่ในคลื่นสมองแบบอัลฟา คือสมองชั้นกลางและสมองซีกขวาน่าจะเติบโตพร้อมแล้วในช่วงนั้น และจากนี้ไปคลื่นสมองแบบเบต้าจะเริ่มทำงาน เป็นหน่ออ่อนความคิดอันจะแจ่มกระจ่างขึ้นโดยลำดับ อย่างที่ลูกชายของผมรายงานว่า เขาเริ่มเห็นเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตแจ่มกระจ่างขึ้น เริ่มมองเห็นทิศทางและแผนที่ชีวิตของตัวเอง เริ่มตั้งคำถามว่าเขาจะทำอย่างไรกับชีวิตของตัวเอง


(๔)


แม้สมองแต่ละส่วนจะทำงานเฉพาะด้าน แต่ส่วนต่างๆ ที่แยกย่อยออกไปก็สามารถหลอมรวมทำงานด้วยกันด้วย แยกออกไปและหลอมรวมกลับเข้ามา แต่เรากลับหลงทาง ไปเน้นย้ำแต่เรื่องความคิดอย่างแยกออกไปเป็นเชิงเดี่ยว แม้ความคิดจะเป็นสิ่งวิเศษมาก แต่ว่าความคิดเองไม่สามารถมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ หากไม่ได้หลอมรวมกับฐานกาย คือการลงมือทำ และฐานใจคือพลังขับเคลื่อน เครื่องยนต์หากปราศจากพลังขับเคลื่อนก็ไร้คุณค่า

สุดท้าย เมื่อเราละทิ้งการหลอมรวมความคิดกับอารมณ์ความรู้สึกเข้าด้วยกัน ทำให้สิ่งที่ขาดแคลนที่สุดคือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก อันได้แก่การสร้างบรรยากาศแห่งความรักและสัมผัสที่อบอุ่นด้วยการเชื่อมโยงเข้าหากันของมนุษย์ ของคนสองคน ของครอบครัว ของชุมชน มันเป็นการเชื่อมโยงที่บรรสานสอดคล้องดุจดังการประสานเสียงของวงดนตรีแจ๊ส เป็นการประสานเสียงของหัวใจระหว่างกันที่สมบูรณ์ หากรอยต่อตรงนี้กลับมาเชื่อมโยงกันได้เมื่อไร เมื่อนั้น เราจึงจะกู้คืนอารยธรรมมนุษย์ขึ้นมาได้

Back to Top