ซำสวาทโมเดล: โรงเรียนขนาดเล็กที่ยิ่งใหญ่



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2558

จากโรงเรียนขนาดเล็กที่จะต้องยุบตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมีจำนวนนักเรียนน้อย ครูไม่ครบชั้น ครูไม่ตรงวิชาเอก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำ สู่การเป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัลหลากหลาย เช่น รางวัลสถานศึกษาพอเพียง รางวัลพลังคิดสะกิดโลก และรางวัลระดับศูนย์เครือข่ายสถานศึกษาเป็นต้น และที่สำคัญคือในปัจจุบัน นักเรียนอ่านออกเขียนได้ ๑๐๐ % (ป.๑-๓ อ่านออกเขียนได้ ป.๔-๕ อ่านคล่องเขียนคล่อง) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นทุกปี ผลการสอบเอ็นทีเป็นอันดับหนึ่งของเขตพื้นที่การศึกษา ผลการสอบโอเน็ตสูงขึ้น ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (LAS) สูงขึ้น ผ่านการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในระดับดี และนักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรม ๘ ประการของกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งหมดเป็นที่ภาคภูมิใจของคนในชุมชน ครู นักเรียน ผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เป็นตัวอย่างที่งดงามมากของการทำงานแบบมีส่วนร่วม ร่วมปรึกษา ร่วมหาทางออก ร่วมมือกันทำ ร่วมฝ่าฟันอุปสรรค ร่วมกันสร้างความสำเร็จ ร่วมกันปรับปรุงพัฒนา ร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ และเต็มเวลา และที่สำคัญด้วยความเต็มใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โรงเรียนจึงเป็นส่วนหนึ่งและส่วนเดียวกับชุมชนอย่างแท้จริง ครูเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของนักเรียน ครูสอนลูกอย่างไรก็สอนนักเรียนอย่างนั้น รักลูกศิษย์เหมือนรักลูกตัวเอง โรงเรียนคือบ้าน บ้านคือโรงเรียน ที่โรงเรียนมีครูสอน ที่บ้านมีพ่อแม่สอน


จึงไม่แปลกที่โรงเรียนหนึ่งของซำสวาทโมเดลมีนักเรียนเพิ่มขึ้นจาก ๑๘ คน เป็น ๑๐๕ คน ในเวลาไม่นาน ทั้งที่อัตราการเกิดของประชากรในท้องที่มีน้อยมากคือ ๑-๒ คนต่อปี แต่มีเด็กจากโรงเรียนอื่นทั้งของรัฐบาลและเอกชนเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นจากกิตติศัพท์ด้านคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน

ผู้อ่านบางคนเมื่ออ่านมาถึงตอนนี้อาจมีคำถามอยู่ในใจ ยังมีโรงเรียนดีๆ แบบนี้อยู่ในประเทศไทยอีกหรือ? โรงเรียนนี้อยู่ที่ไหน? เขาทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ บนความไม่พร้อม และปัญหารอบด้าน?

ผู้เขียนขอตอบคำถามสองข้อแรกก่อนเพราะตอบง่าย คือ มีโรงเรียนนี้อยู่จริงๆ และที่จริงไม่ใช่แค่โรงเรียนเดียว แต่มีสองโรงเรียน สองโรงเรียนนี้มีปัญหาคล้ายกันดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คือเข้าเกณฑ์ต้องยุบตามนโยบายของกระทรวง แต่เพราะความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหาร กรรมการสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชน ทั้งสองแห่งจึงก้าวพ้นนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงไปได้ ภายใต้รูปแบบการบริหารจัดการที่พวกเขาเรียกว่า “ซำสวาทโมเดล”

ซำสวาทโมเดล เป็นการรวมตัวและที่สำคัญคือการร่วมมือ รวมหัว และหลอมใจของสองโรงเรียนและสองชุมชนเป็นหนึ่งเดียวคือ โรงเรียนซำขอนแก่นวิทย์กับโรงเรียนบ้านโนนสวาทหนองไพบูลย์ ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ที่ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำพู

คำถามที่สามค่อนข้างจะตอบยาก โดยเฉพาะในเวลาและเนื้อที่ที่จำกัดเช่นในบทความนี้ และในความเป็นจริง ภาษาเขียนไม่สามารถอธิบายหรือบรรยายให้ครบถ้วน รอบด้าน และอย่างเป็นองค์รวมได้ทั้งหมด โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นมิติภายใน เช่น พลังใจ ความมุ่งมั่นทุ่มเท และจิตวิญญาณของคนที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของทั้งสองโรงเรียน ต้องไปสัมผัสโดยตรงด้วยตนเอง

ผู้เขียนโชคดีที่มีโอกาสพานักศึกษาปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดร ไปลงพื้นที่ เพื่อให้มีประสบการณ์ตรงภาคสนาม สัมภาษณ์ผู้บริหารของทั้งสองโรงเรียน ทำสนทนากลุ่มกับคณะครูของทั้งสองแห่ง และกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านโนนสวาทหนองไพบูลย์ และสำรวจบริบทของโรงเรียนไปด้วย ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวภายนอก แต่ผู้เขียนเชื่อว่าพวกเราที่ไปเยี่ยมทั้งหมดรู้สึกสงบเย็น เป็นสุขภายใน จากการต้อนรับด้วยมิตรไมตรีของผู้บริหาร คณะครู และคนในชุมชน มีความสุข ตื่นตาตื่นใจที่เห็นและได้ยินสิ่งที่พวกเขาทำ และพูดคุยให้พวกเราฟัง ได้แก่

- รวมจุดแข็งเข้าด้วยกัน ช่วยลดจุดอ่อนของกันและกันไปในตัว

- ป. ๑-๓ เรียนที่โรงเรียนบ้านโนนสวาทหนองไพบูลย์

- ป. ๔-๖ เรียนที่โรงเรียนซำขอนแก่นวิทย์

- เคยเคลื่อนนักเรียน แต่มีปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของ นักเรียน และความไม่สบายใจของผู้ปกครอง จึงเปลี่ยนมาเป็นการเคลื่อนครูมาสู่ผู้เรียน

- โรงเรียนบ้านโนนสวาทไม่มีรั้ว เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน

- อาคารสถานที่ ชุมชนรับผิดชอบ การจัดการเรียนการสอน ครูและผู้บริหารรับผิดชอบ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางประการของการคิดและการทำแบบพอเพียงที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความสุขความพึงพอใจกับสิ่งที่ทำและกับผลที่เกิดขึ้น

ความสำเร็จและความภาคภูมิใจทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะเขาทำด้วยใจ จริงจัง และจริงใจ เพื่อนักเรียน โรงเรียนจึงเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนเดียวกันกับชุมชน โรงเรียนคือบ้านของชุมชน พวกเขามีเป้าหมายชัดเจน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท ร่วมคิด ร่วมทำและร่วมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ผู้อ่านที่รู้ภาษาอิสาน หรือถ้าไม่รู้ก็ลองถามผู้ที่รู้ ว่าข้อความต่อไปนี้มีความหมายอย่างไร มีความลุ่มลึกมากน้อยแค่ไหน เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและจิตวิญญาณของคนที่อยู่ใน “ซำสวาทโมเดล” ได้เป็นอย่างดี ได้แก่

รกไก่ฮ้างให้เป็นสวรรค์, อยากอวยหัวรถ, อันใดผิดมาซอยกันแก้ อันใดแพ้มาซอยกันซ่อม, เหยียบแผ่นดินให้มันเดี้ยงให้ได้

ในซำสวาทโมเดล ครูจะมองว่านักเรียนเป็นคนป่วย (โรคอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้) ครูเป็นหมอที่จะรักษาโรคอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียน

ผู้เขียนเห็นด้วยกับคณะครูที่พูดด้วยความมั่นใจว่า ระยะทางไม่ใช่ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

ขอคารวะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในซำสวาทโมเดลด้วยหัวใจ ขอบคุณที่จุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเรา

Back to Top