ความปรารถนาที่ไม่อาจจะเติมเต็ม



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 มิถุนายน 2558

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมนิมนต์พระอาจารย์ไพบูลย์ ฐิตมโน ไปเปิดวงสนทนาจิตตปัญญาที่นครสวรรค์ นักธุรกิจหญิง สาวมั่นแห่งปากน้ำโพคนหนึ่ง บ่นลูกน้องให้พระอาจารย์ฟังว่า รู้สึกเบื่อหน่ายที่ลูกน้องและคนใกล้ชิดไม่ได้ดั่งใจ พระอาจารย์ตอบกลับไปว่า

“ใจของเราเองยังไม่ได้ดั่งใจเลย แล้วจะให้ใจใครมาได้ดั่งใจเรา”

ประโยคนี้ประโยคเดียว ทำให้เธออยู่อบรมต่อเป็นเวลาสามวัน จากเดิมที่แอบกระซิบว่าจะ “มาแวบเดียว”

อะไรคือความปรารถนาลึกๆ ของคนทุกคน? เป็นคำถามที่ผมเฝ้าถามตัวเอง จากการเรียนในสถาบันศึกษา ผมได้รู้จักกับมาสโลว์ที่พยายามแยกแยะความต้องการของมนุษย์ออกเป็นขั้นๆ แต่พอถึงวันนี้ ผมพบว่าโมเดลแบบนั้นไม่เพียงพอที่จะใช้มาอธิบายความซับซ้อนของมนุษย์ได้

จนผมมาเจอคำอธิบายของจิตวิเคราะห์สายลากอง (lacan)1 ที่ผมเห็นว่าเป็นคำอธิบายที่เข้าท่าอยู่ เพราะเขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะสามารถล่วงรู้ได้ว่าตัวเองปรารถนาอะไร ท่านผู้อ่านอาจจะเถียงในใจว่าไม่จริงหรอก ฉันรู้ดีว่าเดี๋ยวเที่ยงนี้ เย็นนี้ฉันอยากจะทานชาบูให้หนำใจ แต่ช้าก่อนครับ ในทางจิตวิเคราะห์เขาไม่เรียกการอยากทานชาบูว่าเป็นความปรารถนา เพราะมันเป็นเพียงความต้องการ และยังพูดต่อไปว่า เราสามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ เช่น อยากทานอาหารอร่อยก็ไปทาน อยากไปเที่ยวก็ไป แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่ใช่ “ความปรารถนา”

การไม่อาจรู้ความปรารถนา ตรงกับคำของพระอาจารย์ที่บอกว่า “ใจของเราเองก็ยังไม่ได้ดั่งใจ”

นักจิตวิเคราะห์มองว่า ความปรารถนานั้นประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกถูกกำหนดด้วยสังคม (discourse of the Other) เกิดจากการประกอบร่างของอัตตาช่วงที่เด็กเปลี่ยนผ่านมาเป็นผู้ใหญ่ (ego-ideal) ซึ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ เด็กต้องยอมสละตัวตนในอุดมคติของตน (ideal-ego) ผู้ที่ได้อ่านหรือเรียนรู้เรื่อง Voice Dialogue จะเข้าใจได้ดีว่า ช่วงเติบโตนี้เองเป็นช่วงที่มีตัวตนที่ (อาจารย์วิศิษฐ์​ วังวิญญู) เรียกว่า ผู้พิทักษ์ (Protectors) ขึ้นมาทำหน้าที่แทนตัวเด็กน้อย หรือ ideal-ego ทำให้พัฒนาการของเด็กน้อยถูกกดทับเอาไว้ในระดับจิตใต้สำนึก และจะเป็นที่มาของการพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ในทางจิตวิญญาณของคนผู้นั้น

แต่ในทางจิตวิเคราะห์ไม่ได้มองว่าตัวเด็กน้อยนี้เป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะมันทำให้เกิดสิ่งที่เป็นความปรารถนาส่วนที่สอง นั่นคือ การถือเอาความปรารถนาของผู้อื่นมาเป็นของเรา (desire of the Other) พูดง่ายๆ คือ เราไม่รู้ว่าตัวเองปรารถนาอะไร แต่เราอยากได้ อยากมี อยากเป็นตามแบบคนอื่น พอนานๆ เข้าเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองรับสิ่งนี้มาจากไหน แต่มันกลายมาเป็นความปรารถนาของเราไปเสียแล้ว

ข้อแตกต่างระหว่างความปรารถนาทั้งสองแบบคือ แบบแรกเป็นภววิสัยที่มาจากสังคม ส่วนแบบที่สองเกิดจากตัวเราเอง หรือจะพูดให้ง่ายคือ เป็นความปรารถนาจากภายนอกและภายใน ยกตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนหลายคนเลือกเรียนแพทย์ เพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ได้รับการยอมรับจากสังคม นี่คือความปรารถนาที่ถูกกำหนดจากสังคม แต่ยังมีนักเรียนบางส่วนที่เลือกเรียนไปตามเพื่อนๆ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ แต่เรียนตามๆ เขาไป ในกรณีนี้เด็กคนนั้นใช้ความปรารถนาจากภายในซึ่งรับจากผู้อื่นมาเป็นของตัว

ท่านผู้อ่านอาจจะถามว่า แล้วมีกรณีไหนที่เด็กเลือกเรียนด้วยความปรารถนาที่แท้จริงของตน

นักจิตวิเคราะห์บอกว่า “ไม่มี” เพราะมนุษย์ไม่รู้ว่าตนเองปรารถนาอะไรอย่างที่ได้บอกไปแล้ว แต่การกระทำของมนุษย์นั้นเป็นการ “ดิ้นรน” เพราะถึงแม้จะไม่รู้ว่าปรารถนาอะไร แต่ก็ไม่อาจหยุดการไขว่คว้าไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะไม่พบเลยตลอดชีวิตก็เป็นได้

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากคนเราไม่สามารถดิ้นไปตามที่ใจปรารถนาได้ ลากองบอกว่า จะเกิดอาการสองแบบคือ การเก็บกดและการเบี่ยงเบน สำหรับพวกเก็บกดคือ คนที่ใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ทำไปตามความคาดหวังจากสังคมเท่านั้น เช่น ในกรณีของลูกชายคนจีนที่ต้องกลับไปสืบทอดกิจการของทางบ้าน ถ้าหากเขาทำไปเพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคม โดยที่ลึกๆ รู้ว่าตัวเองไม่ชอบและไม่ต้องการ จัดอยู่ในพวกเก็บกด ผมรู้จักลูกชายเจ้าของห้างร้านใหญ่โตในนครสวรรค์ที่เรียนจบจากต่างประเทศ และทำงานในตำแหน่งสูงๆ ที่กรุงเทพฯ พอต้องลาออกมาขายของจิปาถะ ทอนเศษสตางค์ในร้านให้ชาวบ้านอยู่ได้ไม่นาน เขาก็เกิดอาการป่วยแปลกๆ เช่น อาเจียนไม่หยุด ต่อมาพ่อแม่จึงให้เลิกขายของและไปหางานประจำทำ

ส่วนอีกรายหนึ่งเป็นเพื่อนผู้หญิง ซึ่งมีคำขวัญประจำใจว่า “ความสุขของเธอคือการทำให้ผู้อื่นมีความสุข” ดูอย่างผิวเผินแล้วเธอเป็นเจ้านายที่ดีของลูกน้อง เป็นลูกน้องที่ดีของเจ้านาย เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน และเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ แต่สิ่งที่เธอต้องแลกมาคือ การทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ผู้อื่น “พอใจ” โดยไม่คำนึงว่าตัวเองจะถูกเอาเปรียบหรือถูกหลอกใช้ และบ่อยครั้งที่ผมฟังเธอพร่ำบ่นเรื่องราวความทุกข์ของตัวเอง ที่ถูกใครต่อใครมาฉกฉวยโอกาสจากเธอ แต่ถ้าหากผมพูดแนะนำอะไรไป คำแนะนำเหล่านั้นจะไม่ถูกนำไปใช้ เพราะเธอบอกว่า “ไม่อยากทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น”

ในกรณีเพื่อนของผมคนนี้ อาจจะพูดได้ว่าเป็นตัวอย่างของการเบี่ยงเบน ซึ่งหมายถึงว่าเธอได้ละทิ้งความปรารถนาของตัวเองไป เพื่อแลกกับการเป็นเครื่องมือสำหรับความปรารถนาของผู้อื่น คนประเภทนี้จะไม่ตั้งคำถามว่าตัวเองปรารถนาอะไร ทั้งนี้เพราะไปเอาความสุขของผู้อื่นเป็นที่ตั้งแห่งความสุขของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นความเก็บกดหรือเบี่ยงเบน ล้วนแต่เป็นความไม่ปกติของจิตใจ ในบทสวดมนต์ของพุทธศาสนา เวลาแผ่เมตตา คนแรกที่จะต้องแผ่ให้ก่อนคนอื่นและสรรพสัตว์คือตนเอง นั่นแสดงให้เห็นว่าจิตใจที่ไม่เมตตาตนเองย่อมเมตตาคนอื่นไม่ได้ การทำเพื่อผู้อื่นอาจจะเป็นเพียงการถูกอัตตาของเราหลอกเอา แบบที่นักวิชาการสายมาร์กซิสม์บอกว่า เป็นเพียงตัวตนจอมปลอม (false consciousness) หาใช่การพาตนไปสู่ความเจริญงอกงามทางจิตวิญญาณไม่

ถึงแม้ว่านักจิตวิเคราะห์จะมองว่าความปรารถนาของมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะไปถึงได้ แต่ก็ไม่ละเลยที่จะชวนให้มนุษย์ตั้งคำถามเพื่อเตือนสติตัวเองว่า “Che Voui?” ฉันต้องการอะไร เพื่อมิให้ตกเป็นทาสของความต้องการของผู้อื่น สำหรับผู้ที่ไม่เคยตั้งคำถามว่าตนต้องการอะไร เขาย่อมจมปลักอยู่กับความปรารถนาที่ผู้อื่นอยากให้เขาเป็น


1 จาค ลากอง (Jacqus Lacan) นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้พัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ และพยายามที่จะตีความและนำเสนอแนวความคิดของฟรอยด์ในรูปของกรอบทฤษฎีที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยผสมผสานทฤษฎีจิตวิเคราะห์และภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง (Structural Linguistics) เข้าด้วยกัน

Back to Top